Black Sword
ผู้บริหารเว็บ
จำนวนผู้เยี่ยมชม: 65535
ออฟไลน์ID Number: 88
จำนวนกระทู้: 10091
เมื่อ มยุรธุชกางปีกฟ้อน... มวลอักษรก็ร่อนรำ
|
Permalink: - กาพย์ยานี ๑๑ - วรรณศิลป์อันงดงามในความเรียบง่าย
กาพย์ยานี ๑๑
คำประพันธ์ประเภทกาพย์ มีมากมายหลายประเภท แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือกาพย์ยานี 11 อาจเพราะว่าความเรียบง่ายไม่ยุ่งยากในการแต่งและจังหวะการอ่าน ไม่บังคับวรรณยุกต์อย่างโคลง ไม่บังคับครุ ลหุ อย่างฉันท์ และเป็นอิสระไม่เคร่งครัดสัมผัสอย่างกลอน บางท่านเรียกว่า "ยานีรจนา" หรือ "ยานีลำนำ"
แต่แม้จะบอกว่า กาพย์ยานี 11 นี้ แต่งง่ายอ่านง่าย มีความกระชับกระฉับกระเฉงในจังหวะ แต่การจะแต่งให้ดีและมีพลังนั้น ไม่ใช่สิ่งง่ายนัก พลังในที่นี้ มิได้หมายถึงการใช้คำที่แข็งกร้าวกระโชกโฮกฮากหรือรุนแรง แต่หมายถึงพลังที่จะขับเคลื่อนให้กาพย์ดำเนินไปอย่างน่าสนใจ พลังที่จะดึงดูดผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านอ่านกาพย์ไปจนจบ โดยไม่เอียนระอาเสียก่อนกลางคัน
เพราะความเรียบง่ายของกาพย์ยานีนี้ ทำให้หลาย ๆ คนนั้นสามารถแต่งกาพย์ยานีได้ก่อนคำประพันธ์ประเภทอื่น ว่าแล้วมาลองทบทวนเรื่องกาพย์ยานีกันอีกสักครั้งดีกว่าครับ : - Black Sword - (หมู มยุรธุชบูรพา)
๑. หมวดรูปแบบฉันทลักษณ์ของกาพย์ คลิก ๒. หมวดลีลาเสริมเสน่ห์ให้กาพย์ คลิก
กระทู้ที่เกี่ยวข้อง - โคลงกระทู้ คลิก - โคลงสองสุภาพ คลิก - โคลงสามสุภาพ คลิก - โคลงสี่สุภาพ : วรรณศิลป์แห่งความสง่างาม คลิก - กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ คลิก - กาพย์สุรางคนางค์ ๓๒ (กาพย์ธนัญชยางค์ ๓๒) คลิก
รายนามผู้เยี่ยมชม : กร กรวิชญ์, เนื้อนาง นิชานาถ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, หนูหนุงหนิง, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ตูมตาม, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู, Mr.music, อิงดาว พราวฟ้า, อารไง, มนชิดา พานิช, เส้นชีวิต ดำเนินไป
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Black Sword
ผู้บริหารเว็บ
จำนวนผู้เยี่ยมชม: 65535
ออฟไลน์ID Number: 88
จำนวนกระทู้: 10091
เมื่อ มยุรธุชกางปีกฟ้อน... มวลอักษรก็ร่อนรำ
|
Permalink: Re: กาพย์ยานี ๑๑ - วรรณศิลป์อันงดงามในความเรียบง่าย
๑. รูปแบบฉันทลักษณ์การแต่งกาพย์ยานี ๑๑
๑.๑) จำนวนคำ
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า กาพย์ยานี เป็นคำประพันธ์ที่แต่งได้ไม่ยาก เทียบจากผังฉันทลักษณ์ที่แสดงไว้ จะเห็นได้ว่า
- กาพย์ยานี ๑๑ นั้น ในหนึ่งบทมี ๒ บาท บาทต้นเรียกว่า "บาทเอก" บาทท้ายเรียกว่า "บาทโท" - และในหนึ่งบาทนั้น มี ๒ วรรค วรรคหน้ามี ๕ คำ วรรคหลังมี ๖ คำ (รวมแล้วแต่ละบาทนั้นเป็น ๑๑ คำทั้ง ๒ บาท จึงเรียกว่ากาพย์ยานี ๑๑ นั่นเอง)
ดังคำกาพย์ที่ว่า
กาพย์ยานีลำนำ สิบเอ็ดคำจำอย่าคลาย วรรคหน้าห้าคำหมาย วรรคหลังหกยกแสดง ครุ ลหุนั้น ไม่สำคัญอย่าระแวง สัมผัสต้องจัดแจง ให้ถูกต้องตามวิธี (กำชัย ทองหล่อ)
หมายเหตุ : การนับคำในกาพย์นั้น นับตามเสียงพยางค์ที่เปล่งออกมาหนึ่งครั้งต่อหนึ่งคำ แต่ว่าหากคำใดที่ประกอบด้วยคำที่เป็นลหุแท้ เช่น สวรรค์ พินิจ กุสุม เกษม วิหค ฯลฯ นั้น ผู้ประพันธ์สามารถนับได้ให้เป็น ๑ คำ หรือ ๒ คำก็ได้ แล้วแต่เจตนาของผู้เขียน แต่หากเป็นลหุลอย เช่น จะ มิ เพราะ และ เตะ ฯลฯ จะนับเป็น ๑ คำเท่านั้น
๑.๒) การรับ-ส่งสัมผัส
ภายในหนึ่งบทของกาพย์ยานีนั้น การรับ-ส่งสัมผัสระหว่างวรรค และสัมผัสระหว่างบท มีอยู่ว่า
- คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่ง ส่งสัมผัสสระไปยังคำที่ ๑, ๒ หรือ ๓ ของวรรคที่สอง - คำสุดท้ายของวรรคสอง ส่งสัมผัสสระไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่สาม
สัมผัสระหว่างวรรคภายในหนึ่งบทนั้น มีแต่เท่านี้ ส่วนวรรคที่สี่ นั้น ให้เป็นอิสระ ละไว้ไม่ต้องรับสัมผัสสระจากวรรคที่สาม จะมีหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม
ส่วนสัมผัสระหว่างบท นั้น เช่นเดียวกับกลอน คือ ให้คำสุดท้ายของบทแรก(คำที่ ๖ ของวรรคสี่) ส่งสัมผัสสระไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่สอง ของบทถัดไป ดังตัวอย่างนี้
๐ เรือครุฑยุดนาคหิ้ว | ลิ่วลอยมาพาผันผยอง | พลพายกรายพายทอง | ร้องโห่เห่โอ้เห่มา | ๐ สรมุขมุขสี่ด้าน | เพียงพิมานผ่านเมฆา | ม่านกรองทองรจนา | หลังคาแดงแย่งมังกร | | (กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร) | ที่เน้นสีแดงคือ สัมผัสสระระหว่างวรรค และที่เน้นสีน้ำเงินคือ สัมผัสสระระหว่างบท ดังที่กล่าวไว้นั่นเอง
๑.๓) เสียงท้ายวรรค
เสียงท้ายวรรคของกาพย์ยานีแต่ละวรรคนั้น ลงได้ทุกเสียง จะลงเสียงใดก็ได้ ไม่เคร่งครัดหรือบังคับเช่นกลอน หากที่นิยมกันคือลงเสียงสามัญเป็นส่วนมาก และเสียงจัตวา (ยกเว้นวรรคที่ ๔ ไม่นิยมลงเสียงเอก หรือโทเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้เสียงของกาพย์หลุบห้วนขาดหายไป)
๑.๔) จังหวะการอ่าน
ช่วงจังหวะการอ่านของกาพย์ยานี ๑๑ นั้น เรียบง่ายและลงตัว ด้วยการแบ่งจังหวะวรรคหน้าเป็น ๒-๓ และวรรคหลังเป็น ๓-๓ จึงง่ายต่อการจดจำยามท่องอาขยาน เช่น
๐ เรือครุฑ-ยุดนาคหิ้ว | ลิ่วลอยมา-พาผันผยอง | พลพาย-กรายพายทอง | ร้องโห่เห่-โอ้เห่มา | แต่หากอ่านแผลงเป็นอีกอย่าง เช่น แบ่งวรรคหลังเป็น ๒-๒-๒ เช่นกลอนหก เช่น
๐ เรือครุฑ-ยุดนาคหิ้ว | ลิ่วลอย-มาพา-ผันผยอง | พลพาย-กรายพายทอง | ร้องโห่-เห่โอ้-เห่มา | อ่านแล้วพิลึกพิลั่นน่าดูครับ : บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล - Black Sword - (หมู มยุรธุชบูรพา)
รายนามผู้เยี่ยมชม : กร กรวิชญ์, เนื้อนาง นิชานาถ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, หนูหนุงหนิง, ฟองเมฆ, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ตูมตาม, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู, อิงดาว พราวฟ้า, เส้นชีวิต ดำเนินไป
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Black Sword
ผู้บริหารเว็บ
จำนวนผู้เยี่ยมชม: 65535
ออฟไลน์ID Number: 88
จำนวนกระทู้: 10091
เมื่อ มยุรธุชกางปีกฟ้อน... มวลอักษรก็ร่อนรำ
|
Permalink: Re: กาพย์ยานี ๑๑ - วรรณศิลป์อันงดงามในความเรียบง่าย
๒. ลีลาเสริมเพิ่มเสน่ห์กาพย์ยานี ๑๑ (มิใช่ข้อบังคับ)
จากข้อบังคับ มาถึงบทเสริมการแต่งกาพย์ยานีกัน แน่นอนว่าการแต่งกาพย์ยานีให้มีเสน่ห์และพลังนั้น สิ่งที่สำคัญเป็นหลัก ก็คือ "คำ ,เนื้อความ และน้ำหนักเสียง" ของคำแต่ละคำภายในวรรค
ซึ่ง"คำ" และ "เนื้อความ" ของกาพย์นั้น เหมือนกับการประพันธ์ร้อยกรองประเภทอื่น คือ เนื้อความมีเลือกวางคำอย่างเหมาะสมกับเนื้อหา และการเดินเนื้อความอย่างน่าสนใจ ไม่ซ้ำซ้อนพร่ำเพ้ออย่างวกวนเวียน จนรู้สึกว่าระอาอ่าน ในขณะที่เรื่องของ "น้ำหนักเสียง" นั้น ควรให้มีการเหลื่อมล้ำของเสียงในคำแต่ละคำกันสลับไปมาภายในวรรค ซึ่งผู้เขียนต้องพิจารณาจากประสบการณ์และความเหมาะสมเอา ว่าจะวางเสียงอย่างไรให้น่าสนใจ เช่น
สายหยุดพุดจีบจีน เจ้ามีสีนพี่มีศักดิ์ ทั้งวังเขาชังนัก แต่พี่รักเจ้าคนเดียว
ตัวอย่างกาพย์บทนี้ อ. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้ให้คำพิจารณาไว้ในหนังสือ "เรียงร้อยถ้อยคำ" ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว ว่า
กาพย์บทนี้ผู้แต่งได้ลำดับความเหลื่อมล้ำของเสียงคำได้สละสลวย และมีระเบียบทำให้เกิดน้ำหนักในเสียงคำตามสมควรดังนี้
วรรค ๑ คำ หยุด เป็นเสียงเอก ซึ่งรับด้วยเสียงเอกของคำ จีบ โดยมี คำ "พุด" เสียงตรีซึ่งเป็นเสียงเบามาคั่น แล้วมีคำ จีน ซึ่งเป็นเสียง สามัญ มาช่วยให้เสียงเอกได้ทอดเสียงลงพอดี ลำดับเสียงที่เหลื่อมล้ำกันเช่นนี้ช่วยเน้นให้คำน่าฟังขึ้น
วรรค ๒ เสียงโทกับเสียงสามัญของคำ เจ้ามี กับ พี่มี นี้ ช่วยให้จังหวะของวรรคสละสลวยขึ้น เสียงคำที่เด่นในวรรคนี้คือ เสียงเอก ของคำ ศักดิ์ ท้ายวรรค ซึ่งทำให้คำมีน้ำหนักมากที่สุด.
วรรค ๓ เสียงสามัญของคำ วัง กับ ชัง รับกันอยู่ในที่คำ นัก ซึ่งเป็นเสียงตรีท้ายวรรค ช่วยเน้นความแตกต่างเป็นตรงกันข้ามกับคำ ศักดิ์ ที่ส่งสัมผัสมาจากวรรคบนคือ ศักดิ์ กับ นัก เสียงเอกกับตรีที่เป็นเสียงตรงกันข้ามกัน เหมือนดั่งตัวโน้ตคนละบันไดเสียง ช่วยเสริมน้ำหนักให้โดดเด่นชัดเจนขึ้น
วรรค ๔ เสียงเอก โท ตรี จากคำว่า แต่พี่รัก นั้น เป็นเสียงเรียงลำดับจากต่ำไปสูง เน้นตรงคำว่า รัก ซึ่งเป็นเสียง ตรี รับกับเสียงตรีที่ส่งมาจากคำว่า นัก ในวรรคสามพอดี เสียง สามัญคู่ ท้ายวรรค คือคำว่า คนเดียว ช่วยให้เสียงทอดลงสมที่จะลงจบได้พอดีอีกเช่นกัน
ลองอ่านทบทวนกาพย์นี้ใหม่โดยสังเกตุน้ำหนักของเสียงแต่ละคำที่เหลื่อมล้ำรับรองกันอยู่ ก็จะรู้สึกได้ถึงความสละสลวยของการจัดวางลำดับเสียงอย่างดียิ่ง
สรุปก็คือ ความไพเราะของคำนั้น นอกจากเกิดจากจังหวะของคำอันกำหนดด้วยสัมผัสแล้ว ก็ยังเกิดจากเสียงของคำที่เหลื่อมล้ำกันอยู่นั้นด้วย : บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล - Black Sword - (หมู มยุรธุชบูรพา)
รายนามผู้เยี่ยมชม : กร กรวิชญ์, เนื้อนาง นิชานาถ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, หนูหนุงหนิง, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ตูมตาม, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู, อิงดาว พราวฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Black Sword
ผู้บริหารเว็บ
จำนวนผู้เยี่ยมชม: 65535
ออฟไลน์ID Number: 88
จำนวนกระทู้: 10091
เมื่อ มยุรธุชกางปีกฟ้อน... มวลอักษรก็ร่อนรำ
|
Permalink: Re: กาพย์ยานี ๑๑ - วรรณศิลป์อันงดงามในความเรียบง่าย
จากเรื่องหลัก คือการเดินความและน้ำหนักเสียง มาถึงลีลาเสริมเล็กน้อย ซึ่งทำให้กาพย์น่าสนใจขึ้น ดังนี้
๒.๑) การเล่นเสียงสัมผัสสระภายในวรรค
การเล่นเสียงสัมผัสสระภายในวรรคนั้น เป็นที่คุ้นเคยกันสำหรับบทร้อยกรองต่าง ๆ แม้แต่กาพย์ก็เช่นกัน การเล่นสัมผัสสระภายในวรรคนั้น ก็ช่วยเสริมลีลาของกาพย์ได้ไม่น้อย ทั้งสัมผัสเคียงและสัมผัสคั่น หากแต่ต้องใช้ใช้ตามความเหมาะสม เช่น
ราชสีห์ทีผาดเผ่น ดูดั่งเป็นเห็นขบขัน ราชสีห์ทียืนยัน คั่นสองคู่ดูยิ่งยง เรือม้าหน้ามุ่งน้ำ แล่นเฉื่อยฉ่ำลำระหง เพียงม้าอาชาทรง องค์พระพายผายผันผยอง เรือสิงห์วิ่งเผ่นโผน โจนตามคลื่นฝืนฝ่าฟอง ดูยิ่งสิงห์ลำพอง เป็นแถวท่องล่องตามกัน (พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร)
แลลำแม่น้ำกว้าง ทั้งสองข้างทางชลธี หญิงชายมากมายมี มาชื่นชมราชสมภาร สวยสวยแม่สาวสาว ผัดหน้าขาวในคราวงาน นวลแป้งแต่งตระการ เจ้านวลพริ้งยิ่งนวลปลา นั่นแน่แม่คนนั้น เบือนหน้าหันหนีนัยนา อย่าอายเลยสายตา จักถูกว่าปลาคางเบือน (พระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)
เครื่องหลังที่รั้งไหล่ วางแอบไว้ในซอกผา บรรทุกเนิ่นนานมา รอยบ่าช้ำยังย้ำเตือน เอนร่างหว่างโขดหิน สัมผัสดินใต้แสงเดือน ถอนใจไหวสะเทือน สะท้านลมห่มราตรี ความเงียบยังเยียบลึก ความรู้สึกยังล้นปรี่ พึมพำคำกวี เป็นข่าวฝากจากดอยไกล (จิรนันท์ พิตรปรีชา) : บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล - Black Sword - (หมู มยุรธุชบูรพา)
รายนามผู้เยี่ยมชม : กร กรวิชญ์, เนื้อนาง นิชานาถ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, หนูหนุงหนิง, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ตูมตาม, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู, อิงดาว พราวฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Black Sword
ผู้บริหารเว็บ
จำนวนผู้เยี่ยมชม: 65535
ออฟไลน์ID Number: 88
จำนวนกระทู้: 10091
เมื่อ มยุรธุชกางปีกฟ้อน... มวลอักษรก็ร่อนรำ
|
Permalink: Re: กาพย์ยานี ๑๑ - วรรณศิลป์อันงดงามในความเรียบง่าย
๒.๒) วรรคที่สี่ กับการเล่นรับสัมผัส
การเล่นรับสัมผัสในวรรคที่สี่นั้น ซึ่งเป็นวรรคอิสระ ที่ถูกละไว้ในฉันทลักษณ์หลักนั้น ก็สามารถเล่นได้ทั้งทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร โดยรับจากคำท้ายของวรรคที่สาม โดยเลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น
- ๒.๒.๑) การรับสัมผัสสระ
การเล่นสัมผัสสระวรรคสี่นั้น มิได้ผิดแต่ประการใด ในชั้นต้นนั้น กวีสมัยก่อนนิยมเล่นสัมผัสสระโดยใช้คำแรกหรือคำที่สองของวรรคที่สี่ มารับสัมผัสกับคำท้ายของวรรคที่สาม เช่น
เรือครุฑยุดนาคหิ้ว ลิ่วลอยมาพาผันผยอง พลพายกรายพายทอง ร้องโห่เห่โอ้เห่มา สรมุขมุขสี่ด้าน เพียงพิมานผ่านเมฆา ม่านกรองทองรจนา หลังคาแดงแย่งมังกร สมรรถชัยไกรกาบแก้ว แสงแวววับจับสาคร เรียบเรียงเคียงคู่จร ดั่งร่อนฟ้ามาแดนดิน สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์ เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม เรือชัยไวว่องวิ่ง รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม เสียงเส้าเร้าระดม ห่มท้ายเยิ่นเดินคู่กัน (พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร)
ฉาบฉมอมชราบชู บินวี่วู่สู่ภุมรี โกสุมหุ้มอับศรี วารีเพรียวเหี่ยวดูดาย ทรามสงวนด่วนเดาถนัด บดุจสัตว์กัดกลิ่นอาย รักแก้วแล้วฤๅคลาย บผายจากพรากนฤมล ตัวเรียมเทียมจามรี เชื้อชาตรีถี่ถนอมขน ข้องหนามท่ามกลางคน เสียชนม์สู่อยู่ปลดไป กลชายหลายลิ้นแลบ คมปแปลบแสบเสียวใจ เคียวคดกดตรงไฉน ปราไศรยแสร้งแกว่งทอดตัว (กาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถ)
เทโพพื้นเนื้อท้อง เป็นมันย่องล่องลอยมัน น่าซดรสครามครัน ของสวรรค์เสวยรมย์ ความรักยักเปลี่ยนท่า ทำน้ำยาอย่างแกงขม กลอ่อมกล่อมเกลี้ยงกลม ชมไม่วายคลับคล้ายเห็น ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ รสพิเศษใส่ลูกเอ็น ใครหุงปรุงไม่เป็น เช่นเชิงมิตรประดิษฐ์ทำ เหลือรู้หมูป่าต้ม แกงคั่วส้มใส่ระกำ รอยแจ้งแห่งความขำ ช้ำทรวงเศร้าเจ้าตรากตรอม (พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒))
พระเสด็จยาตรยั้งยับ ขึ้นประทับบนพลับพลา พร้อมพรั่งพลนาวา มาน้อมเกล้าเฝ้าบาทบงสุ์ โสมนัสจัดถวายลำ เรือจำนำที่นั่งทรง แต่งไฟฝีพายลง ส่งเสียงถวายพายเพียงบิน สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งอนชดช้อยลอยหลังสินธุ์ เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ บินแต่ฟ้ามาสู่บุญ (พระนิพนธ์สมเด็จพระราชบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)
ต่อมาในในชั้นหลังนั้น เริ่มเล่นรับสัมผัสสระในคำที่ ๓ มากขึ้น เช่น
แดนดินถิ่นมนุษย์ เสียงดังดุจพระเพลิงโพลง ตึกกว้านบ้านเรือนโรง โคลงคลอนเคลื่อนเขยื้อนโยน บ้านช่องคลองเล็กใหญ่ บ้างตื่นไฟตกใจโจน ปลุกเพื่อนเตือนตะโกน ลุกโลดโผนโดนกันเอง พิณพาทย์ระนาดฆ้อง ตะโพนกลองร้องเป็นเพลง ระฆังดังวังเวง โหง่งหง่างเหง่งเก่งก่างดัง (สุนทรภู่)
ธูปเทียนประทีปทอง ทุกหับห้องส่องสว่าง ทุกที่ทุกถิ่นทาง แจ่มกระจ่างเพียงกลางวัน รวยรินกลิ่นผกา หอมบุปผาสารพัน รายเรียงแข่งเคียงกัน ช่างจัดสรรค์มาสอดกรอง เป็นพุ่มเป็นพวงห้อย มาลัยร้อยมาสอดรอง แท่นที่ประเทืองทอง ครบสิ่งของเครื่องบูชา (กาพย์เห่เรือนายฉันท์ ขำวิไล)
สตรีมีสองมือ มั่นยึดถือในแก่นสาร เกลียวเอ็นจักเป็นงาน มิใช่ร่านหลงแพรพรรณ สตรีมีสองตีน ไว้ป่ายปีนความใฝ่ฝัน ยืนหยัดอยู่ร่วมกัน มิหมายมั่นกินแรงใคร สตรีมีดวงตา เพื่อเสาะหาชีวิตใหม่ มองโลกอย่างกว้างไกล มิใช่คอยชะม้อยชวน สตรีมีดวงใจ เป็นดวงไฟมิผันผวน สร้างสมพลังมวล ด้วยเธอล้วนก็คือคน สตรีมีชีวิต ล้างรอยผิดด้วยเหตุผล คุณค่า"เสรีชน" มิใช่ปรนกามารมณ์ ดอกไม้มีหนามแหลม มิใช่แย้มคอยคนชม บานไว้เพื่อสั่งสม ความอุดมแห่งแผ่นดิน (จิรนันท์ พิตรปรีชา)
จะเห็นได้ว่า การมีสัมผัสสระในวรรคที่สี่นั้น ความไพเราะคมคายของกาพย์มิได้ลดลงเลย หากแต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม มิเพียงเน้นมุ่งสรรหาคำมาใส่ให้ได้ จนทำให้อรรถรสและเนื้อความนั้นจางลง จนเหลือแต่คำสัมผัสจนขาดรสความนั่นเอง
- ๒.๒.๒) การเล่นรับสัมผัสอักษร
ยังอยู่กันในวรรคที่สี่นะครับ ซึ่งการเล่นรับสัมผัสอักษรวรรคสี่นั้น ผู้ประพันธ์สามารถเล่นได้โดยให้คำที่ ๑ ๒ หรือ ๓ ของวรรคที่สี่ มารับสัมผัสอักษรกับคำท้ายของวรรคที่สาม เป็นการเพิ่มเสน่ห์และความไหลลื่นให้กาพย์มิใช่น้อย เช่น
เริงรำระบำใบ ระลอกไหวค่อยคลายวง นุ่มนวลเนียนผจง จุมพิตแผ่วเพียงเพลงลา เลื่อนโล้กับสายลม หยุดดอมดมกับดอกหญ้า ผ่อนพิงกับชิงช้า เมื่อแดดเช้ากระจายพราย (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
พลเรือเสื้อแดงดาษ ดูผุดผาดเอี่ยมอาจองค์ มือกรายพายยรรยง ยกร่อนร่าท่านกบิน เรือขบวนยวนตายล เรี่ยวแรงพลในชลสินธุ์ งามองค์ทรงแผ่นดิน ดังเจ้าหล้ามาธรณี แลลำแม่น้ำกว้าง ทั้งสองข้างทางชลธี หญิงชายมากมายมี มาชื่นชมราชสมภาร (พระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)
จับรำระบำขับ บ้างร้องรับบรรเลงเพลง แตรสังข์ก็วังเวง วิเวกแว่วเจื้อยแจ้วเสียง สถานพิมานมาศ บขาดศัพทสำเนียง สุเมรุก็เอนเอียง อุโฆษครื้นคระครืนคราง (กาพย์เห่เรือนายฉันท์ ขำวิไล)
รังนกนึ่งน่าซด โอชารสกว่าทั้งปวง นกพรากจากรังรวง เหมือนเรียมร้างห่างห้องหวน ไตปลาเสแสร้งว่า ดุจวาจากระบิดกระบวน ใบโศกบอกโศกครวญ ให้พี่เคร่าเจ้าดวงใจ (พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒))
หุ่นทอดจอดลอยลำ ริมฝั่งน้ำคนหลามแล หนุ่มสาวคราวงานแปร ปรุงแต่งหน้าอ่าอวดทรง ดูงานการฉลอง ฟังเห่ร้องต้องใจจง ลืมเรือนลืมเพื่อนปลง ปลิดทุกข์ร้อนห่อนห่วงใย (กาพย์เห่เรือนายหรีด เรืองฤทธิ์)
ระกำหนามระกะ เหมือนอุระเรียมระกำ ไม้จากเหมือนจากจำ เพราะจากเจ้าเฝ้าทุกข์ทน ชงโคคิดคู่ชงฆ์ โฉมอนงค์นฤมล นางแย้มดุจเรียมยล น้องแย้มยิ้มพริ้มพรายงาม ลำดวนหอมหวนชื่น เหมือนรสรื่นนุชนงราม นมสวรรค์เล่ห์บัวกาม บงกชเจ้าลำเพาพาน (พระราชนิพนธ์สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕))
ฟุ้งฝุ่นในทางฝุ่น ยังอาจอุ่นธุลีอวล ฝุ่นหมองเมื่อรวมมวล มณีฝุ่นจักฉายฝัน เรียนแอบในห้องอับ ฤๅจะรับรู้นิรันดร์ ท่องเที่ยวให้รู้ทัน ย่อมรู้ถึงด้วยเดินทาง (ไพวรินทร์ ขาวงาม)
- ๒.๒.๓) การเล่นซ้ำคำ
นอกจากการสัมผัสอักษรดังกล่าวแล้ว ท่าน น.ม.ส. ได้ฝากลีลากาพย์ของท่านไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน ด้วยการเล่นซ้ำระหว่างวรรคสามและวรรคสี่ไว้ดังนี้
คาบนี้มีศุภฤกษ์ ดังบัวเบิกเบิกบานใจ งามเวียงอันเกรียงไกร ไกรเกรียงแม้นแมนมาทำ กรุงเทพเทพรังสฤษฏ์ เจิดแจ่มจิตวิศวกรรม เพริศแพร้วแก้วแกมคำ คำแกมมุกสุขนัยนา ปราสาทราชมณเทียร คือวิเชียรเชิดชูตา ลอยล้ำค้ำนภา นภาผ่องส่องรับกัน ปราการตระการกล้า ท่วงทีท่าท้าโรมรัน หอยุทธ์เย้ยยุทธ์ยัน ยรรยงเยี่ยมเอี่ยมอัมพร (พระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.)) : บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล - Black Sword - (หมู มยุรธุชบูรพา)
รายนามผู้เยี่ยมชม : กร กรวิชญ์, เนื้อนาง นิชานาถ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, หนูหนุงหนิง, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ตูมตาม, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู, อิงดาว พราวฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Black Sword
ผู้บริหารเว็บ
จำนวนผู้เยี่ยมชม: 65535
ออฟไลน์ID Number: 88
จำนวนกระทู้: 10091
เมื่อ มยุรธุชกางปีกฟ้อน... มวลอักษรก็ร่อนรำ
|
Permalink: Re: กาพย์ยานี ๑๑ - วรรณศิลป์อันงดงามในความเรียบง่าย
๒.๓) การเล่นเสียงสัมผัสอักษรภายในวรรค
การเล่นเสียงสัมผัสอักษรนั้น เป็นลักษณะคำประพันธ์ของไทยอย่างหนึ่ง และสำหรับกาพย์ยานีแล้ว ด้วยจำนวนคำและจังหวะที่กระชับ การสัมผัสอักษรภายในวรรคนั้น เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้กับคำกาพย์ได้อย่างอักโขทีเดียว หากใช้อย่างเหมาะสม ดังตัวอย่างเช่น
บุษบงก็เบิกบาน ขึ้นชูก้านกลีบขยาย น้ำค้างพร่างพร่างพราย ลมโชยชายพิรุณเชย ชุ่มชื่นชื้นบุปผา หอมผกากลิ่นระเหย เย็นธรรมพระรำเพย ที่พัดพื้นพสุธา ปักษินก็บินร่อน แลวะว่อนว่ายเวหา วนเวียนเปลี่ยนไปมา ระเริงร่าสำราญใจ (กาพย์เห่เรือนายฉันท์ ขำวิไล)
ต่อมา ท่านคมทวน คันธนู ได้ฝากลีลาอันอหังการไว้ให้สะท้านวงการกาพย์ เฉกเช่นเดียวกับนายผี (อัศนี พลจันทร์) ด้วยลักษณะอันโดดเด่นคมคาย ด้วยลักษณะเพลงกาพย์ลีลาเฉพาะตัวอันโลดลิ่วในทำนองน้ำหนักเสียง ด้วยการใช้สัมผัสอักษรระหว่างช่วงภายในวรรคอย่างลงตัวเป็นหลัก คือ วรรคหน้าสัมผัสคำที่ ๒-๕ วรรคหลังสัมผัสคำที่ ๓-๖ และทิ้งสัมผัสสระแบบเคียงภายในวรรคไป และหันมาใช้สัมผัสสระแบบคั่นแทน ทำให้กาพย์มีความคมคายขึ้นอีกเท่าตัว ดังตัวอย่างเช่น
ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม แดดเปรี้ยงปานหัวแตก แผ่นดินแยกอยู่ทึบทึม แผ่นอกที่ครางครึม ขยับแยกอยู่ตาปี มหาห้วยคือหนองหาน ลำมูลผ่านเหมือนลำผี ย้อมชีพคือลำชี อันชำแรกอยู่รีรอ (อัศนี พลจันทร์ (นายผี))
มองฟ้ายังฝ่าฝน อันมืดมนเสมอมี มัวซัวสลัวสี ยะเยือกหนาวอยู่ยาวนาน
พฤกษ์ไพรไสวพริ้ว วะไหวหวิวกับวันวาร เสียงขับส่งศัพท์ขาน คือสัตว์ส่ำซึ่งร่ำเสียง
เริงเร้าเหนือเงาร่ม สำราญรมย์แลรายเรียง ร้องขานผสานเคียง ผสมคู่สมสู่คา
ไม้ดอกพันลอกดวง ผลิผลพวงรำเพยพา ห้อมให้หัวใจหา และหอมให้หัวใจเห็น
ชื่นฉ่ำถึงธรรมชาติ หลังน้ำหยาดละอองเย็น ชีพปวงลุล่วงเป็น ชีวิตบ่มเพาะสมบูรณ์
เหม่อมองแล้วหมองหม่น ทวีคนทวีคูณ โลกสวยพลันม้วยสูญ มิหอมหวานเช่นวานวัน ฯ (คมทวน คันธนู)
ที่เน้นด้วยสีแดงคือสัมผัสอักษรระหว่างช่วงจังหวะการอ่านภายในวรรค ขณะเดียวกันสัมผัสสระภายในวรรคก็หันใช้สัมผัสแบบคั่นแทน เช่น "เสียงขับส่งศัพท์ขาน คือเสียงส่ำซึ่งร่ำเสียง" นั่นเอง ลีลากาพย์เฉพาะตัวเช่นนี้ ได้แพร่หลายเป็นที่รู้จักและยอมรับมิน้อยทีเดียว เช่น
พยับยับโพยมเย็น ตะวันเห็นก็หายห่าง เหย้าเรือนอยู่เลือนราง แต่แสงทองยังส่องทา แสงทองที่ส่องทาง ที่สร้างโลกและเวลา มืดนักในอาณา ก็ทอแสงค่อยสาดแสง (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
จะอิ่มในความอด จะใสสดในความโซ ต่ำต้อยจะเติบโต จะเจือเจิมจะเติมใจ แสนมืดมาปิดกั้น แต่แสนฝันจะจุดไฟ เปลี่ยวเปลี่ยวจะเที่ยวไป ทุกรอยย่ำจะย้ำยิน เป็นนกจะกำหนด กล้าขบถในการบิน เป็นดินจะคงดิน ผนึกแนบธุลีนาน เป็นฝนจะชุ่มฟ้า จะชุ่มท่าและอิ่มธาร เป็นใบจะเบิกบาน ด้วยมวลดอกอันดื่นแดน (ไพวรินทร์ ขาวงาม)
ลีลากาพย์ลักษณะนี้ของท่านคมทวน ข้าพเจ้าเองก็ชื่นชอบเป็นการส่วนตัวเช่นกัน ทุกครั้งที่ได้เขียนกาพย์ จึงมักจะใช้ลีลาเช่นนี้เสมอ ๆ อ้อ และยังนำประยุกต์ใช้กับฉันท์ประเภทฉันท์ ๑๑ หรือฉันท์ ๑๒ ได้ด้วยเช่นกัน เช่น อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑, สาลินีฉันท์ ๑๑, ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ เป็นต้น : บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล - Black Sword - (หมู มยุรธุชบูรพา)
รายนามผู้เยี่ยมชม : กร กรวิชญ์, เนื้อนาง นิชานาถ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, หนูหนุงหนิง, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ตูมตาม, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู, อิงดาว พราวฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Black Sword
ผู้บริหารเว็บ
จำนวนผู้เยี่ยมชม: 65535
ออฟไลน์ID Number: 88
จำนวนกระทู้: 10091
เมื่อ มยุรธุชกางปีกฟ้อน... มวลอักษรก็ร่อนรำ
|
Permalink: Re: กาพย์ยานี ๑๑ - วรรณศิลป์อันงดงามในความเรียบง่าย
๒.๔) การใช้สัมผัสซ้ำ เพื่อย้ำคำ ย้ำความ
ดังที่เคยกล่าวไว้ว่ากาพย์ยานีเป็นอิสระในการสัมผัส และคำว่าสัมผัสซ้ำ ถ้าเป็นในกลอนอาจถือว่าพร่องผิด แต่เมื่อเป็นกาพย์ยานีแล้ว ด้วยจำนวนคำที่กระชับไม่เยิ่นเย้อ หากว่าใช้อย่างเหมาะสม กลับเพิ่มพลังและความหนักแน่นให้กาพย์ได้อย่างชัดเจน ยิ่งเมื่อได้อ่านออกเสียง ยิ่งชัดเจนมาก ๆ ดังตัวอย่างเช่น
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน (จิตร ภูมิศักดิ์)
อาไทที่เมืองทอง บ่มีทองมาทาบทอ มีคราบน้ำตาคลอ อยู่เต็มด้าวนภาดล (คมทวน คันธนู)
ทำทางให้ถูกทาง ที่หลงทางยังพอทน คลำทางไปกลางหน พอเป็นทางที่ถูกทาง มีทางแต่ทางผิด ก็ก้าวผิดไปกันพลาง ถูกย่ำและถูกย่าง ตามยถาประดาตาย (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
ความรักจะถักรุ้ง เป็นโค้งรุ้งในดวงใจ และใจจะถักใจ เป็นใยรุ้งรักนิรันดร์ (ไพวรินทร์ ขาวงาม)
ปิดตาทั้งสองตา อย่าให้ตาไปใฝ่ดู ปิดหูทั้งสองหู อย่าให้หูไปใฝ่ฟัง นับนิ้วยี่สิบนิ้ว กระดิกนิ้วอยู่ลำพัง ทรุดขาทั้งสองนั่ง อยู่นิ่งโดยดุษฏี (ไพวรินทร์ ขาวงาม)
เห็นได้ชัดว่า ที่เน้นสีแดงไว้นั้น เป็นสัมผัสซ้ำในกลอน แต่พอมาเป็นกาพย์ ซึ่งมีจำนวนคำที่กระชับ จังหวะที่หนักแน่นในการอ่าน ยิ่งเมื่อมาใช้ร่วมกับการสัมผัสอักษรอย่างเหมาะสมแล้วด้วย ทำให้ตรงที่เป็นสัมผัสซ้ำนั้น โดดเด่นไพเราะคมคายขึ้นทั้งคำและความอย่างปฏิเสธไม่ได้เลยทีเดียว เพียงแต่ต้องใช้อย่างเหมาะสมเท่านั้น มิฉะนั้นอาจการเป็นทำให้เนื้อความไม่เดินไปเสียได้ : บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล - Black Sword - (หมู มยุรธุชบูรพา)
รายนามผู้เยี่ยมชม : กร กรวิชญ์, เนื้อนาง นิชานาถ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, หนูหนุงหนิง, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ตูมตาม, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู, อิงดาว พราวฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Black Sword
ผู้บริหารเว็บ
จำนวนผู้เยี่ยมชม: 65535
ออฟไลน์ID Number: 88
จำนวนกระทู้: 10091
เมื่อ มยุรธุชกางปีกฟ้อน... มวลอักษรก็ร่อนรำ
|
Permalink: Re: กาพย์ยานี ๑๑ - วรรณศิลป์อันงดงามในความเรียบง่าย
บทเสริม
ในยุคแรกนั้น กาพย์ยานี (และฉันท์ต่าง ๆ) มิได้มีสัมผัสสระระหว่างวรรค มีเพียงสัมผัสระหว่างบาทเท่านั้น (ท้ายวรรคที่ ๒ และวรรค ๓) เช่นในอนิรุทธ์คำฉันท์ เป็นต้น ต่อมาในชั้นหลังจึงค่อยมีสัมผัสระหว่างวรรคขึ้น ด้วยเหตุนี้ กวีหลายท่านจึงละสัมผัสสระระหว่างวรรคเสีย เหลือเพียงหลักการสัมผัสระหว่างบาท และหันมาใช้การจัดน้ำหนักเสียง หรือการสัมผัสอักษรแทน ทำให้เกิดคมคายเช่นกัน ดังตัวอย่างเช่น ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางอันเหยียดยาว จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ (จิตร ภูมิศักดิ์)
หยดย้อยค่อยหยดหยาด เป็นน้ำใหญ่ในวังเย็น ซ่าซัดกระเซ็นเซ็น เป็นสาครพระคงคา (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
หนทางเมื่อก้าวทอด แม้คือทางที่ทึบทึม มัวโศกมัวเศร้าซึม ก็พ่ายสิ้นสังคมโทรม (คมทวน คันธนู)
โอบกอดการก่อเกิด อุ่นใจกายตลอดกาล แว่วยินถึงวิญญาณ อันระเหิดระเหยหาย (ไพวรินทร์ ขาวงาม)
จะสังเกตเห็นได้ว่า ทั้งสี่วรรคนั้น ต่างเป็นอิสระต่อกัน ลงสัมผัสสระเสียงเดียวกันเพียงแค่วรรคสองและวรรคสามเท่านั้น แต่กลับได้อรรถรสของจังหวะของคำ น้ำหนักเสียง หรือสัมผัสอักษร ทำให้กาพย์มิได้ลดความคมคายลงเลย เมื่อได้อ่านออกเสียงจริง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือการเสริมเสน่ห์ให้กาพย์ยานีได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ คำ ความ และเสียง ซึ่งเป็นหลัก ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ หากใช้ ควรใช้ด้วยความเหมาะสม ไม่ยัดเยียดหรือฝืนใช้เกินไปจนได้แต่ "คำ" แต่กลับไม่ได้ "ความ" บางท่านอาจไม่ต้องใช้สิ่งเหล่านี้ ก็สามารถสร้างเสน่ห์และพลังให้กับกาพย์ได้ด้วยการวางคำ การเดินความ และน้ำหนักเสียงอันเหมาะสม ได้เช่นกันครับผม : บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล - Black Sword - (หมู มยุรธุชบูรพา)
• กลับสู่หน้า สารบัญ กาพย์ คลิก • กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก • กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก • กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก • กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก • กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก • กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก
รายนามผู้เยี่ยมชม : กร กรวิชญ์, เนื้อนาง นิชานาถ, ลมหนาว ในสายหมอก, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ปลายฝน คนงาม, ฟองเมฆ, หนูหนุงหนิง, น้ำหนาว, รพีกาญจน์, ตูมตาม, กอหญ้า กอยุ่ง, ก้าง ปลาทู, อิงดาว พราวฟ้า, มนตรี ประทุม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|