
- กลอนนิทาน -
กลอนนิทาน หรือนิทานคำกลอน หรือกลอนนิยาย สุดแต่จะเรียกกันแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น มีลักษณะกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งคณะ รูปแบบ สัมผัสทั้งหลายนั้นก็คือกลอนสุภาพโดยทั่วไป จำนวนคำในวรรคก็คละกันไป เพียงแต่เนื้อเรื่องมุ่งเน้นไปในทางบันเทิงประโลมโลก มีพระเอก นางเอก มีตัวละคร เหตุการณ์ โครงเรื่องต่าง ๆ การดำเนินเล่าเรื่องไปอย่างนิยายหรือนิทานเช่นเดียวกับกลอนบทละคร คลิก เพียงแต่ไม่ได้ใช้เพื่อขับร้องประกอบดนตรีหรือประกอบการรำ เป็นกลอนอ่านสำหรับคนทั่วไป เนื้อเรื่องอาจนำมาจากนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ หรือนวนิยายสมัยใหม่ หรือจินตนาการขึ้นใหม่ก็ได้ทั้งนั้น ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้กลอนนิทานมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไปโดยปริยาย ความจริงแล้วจะแต่งเป็นกาพย์เป็นฉันท์หรือคำประพันธ์อย่างอื่นก็ได้ทั้งนั้น เพียงแต่คำกลอนสามารถอ่านและเสพเข้าถึงได้ง่ายกว่า จึงเป็นที่นิยมรู้จักแพร่หลายสำหรับคนทั่วไป
ดังนั้น เช่นเดียวกับกลอนนิราศ คลิก คือกลอนนิทานไม่ได้ถูกเรียกหรือถูกกำหนดโดยรูปแบบฉันทลักษณ์ แต่เป็นการเรียกตามลักษณะของเนื้อหาเนื้อเรื่องดังที่กล่าวไปแล้ว กลอนนิทานที่เป็นที่รู้จักกันดีก็อย่างเช่นกลอนนิทานของสุนทรภู่ เช่น พระอภัยมณี โคบุตร สิงหไกรภพ เป็นต้น
การขึ้นต้นของกลอนนิทาน จะขึ้นต้นอย่างกลอนสุภาพทั่วไป หรือขึ้นอย่างกลอนเพลงยาวกลอนนิราศก็ได้ทั้งนั้น การจบก็เช่นกัน จบด้วยคำว่าเอยหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ความต้องการของผู้ประพันธ์

•
กลับสู่หน้า สารบัญ กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก 
00000000000000000000000000000000000000000
- ตัวอย่างคำประพันธ์ "กลอนนิทาน" บางส่วน -
- พระอภัยมณี -
๐ แต่ปางหลังยังมีกรุงกษัตริย์
สมมุติวงศ์ทรงนามท้าวสุทัศน์ ผ่านสมบัติรัตนานามธานี
อันกรุงไกรใหญ่ยาวสิบเก้าโยชน์ ภูเขาโขดเป็นกำแพงบุรีศรี
สะพรึบพร้อมไพร่ฟ้าประชาชี ชาวบุรีหรรษาสถาวร
มีเอกองค์นงลักษณ์อัครราช พระนางนาฏนามปทุมเกสร
สนมนางแสนสุรางคนิกร ดังกินนรน่ารักลักขณา
มีโอรสสององค์ล้วนทรงลักษณ์ ประไพพักตร์เพียงเทพเลขา
ชื่ออภัยมณีเป็นพี่ยา พึ่งแรกรุ่นชันษาสิบห้าปี
อันกุมารศรีสุวรรณนั้นเป็นน้อง เนื้อดังทองนพคุณจำรูญศรี
พึ่งโสกันต์ชันษาสิบสามปี พระชนนีรักใคร่ดังนัยนา
สมเด็จท้าวบิตุรงค์ดำรงราชย์ แสนสวาทลูกน้อยเสน่หา
จะเสกสองครองสมบัติขัตติยา แต่วิชาสิ่งใดไม่ชำนาญ
จึงดำรัสเรียกพระโอรสราช มาริมอาสน์แท่นสุวรรณแล้วบรรหาร
พ่อจะแจ้งเจ้าจงจำคำโบราณ อันชายชาญเชื้อกษัตริย์ขัตติยา
ย่อมพากเพียรเรียนไสยศาสตร์เวท สิ่งวิเศษสืบเสาะแสวงหา
ได้ป้องกันอันตรายนครา ตามกษัตริย์ขัตติยาอย่างโบราณ
พระลูกรักจักสืบวงศ์กษัตริย์ จงรีบรัดเสาะแสวงแห่งสถาน
หาทิศาปาโมกข์ชำนาญชาญ เป็นอาจารย์พากเพียรเรียนวิชา ฯ
๐ บัดนั้นพี่น้องสองกษัตริย์ ประนมหัตถ์อภิวันท์ด้วยหรรษา
จึงทูลความตามจิตเจตนา ลูกคิดมาจะประมาณก็นานครัน
หวังแสวงไปตำแหน่งสำนักปราชญ์ ซึ่งรู้สาตราเวทวิเศษขยัน
ก็สมจิตเหมือนลูกคิดทุกคืนวัน พอแสงจันทร์แจ่มฟ้าจะลาจร
แล้วก้มกราบบิตุราชมาตุรงค์ ทั้งสององค์ลูบหลังแล้วสั่งสอน
จะเดินทางกลางป่าพนาดร จงผันผ่อนตรึกจำคำโบราณ
จะพูดจาสารพัดบำหยัดยั้ง จนลุกนั่งน้ำท่ากระยาหาร
แม้นหลับนอนผ่อนพ้นที่ภัยพาล อดบันดาลโกรธขึ้งจึงสบาย
พระพี่น้องสององค์ทรงสดับ เคารพรับบังคมด้วยสมหมาย
พระเชษฐาบัญชาชวนน้องชาย มาสรงสายสาคเรศบนเตียงรอง
แล้วแต่งองค์สอดทรงเครื่องกษัตริย์ เนาวรัตน์เรืองศรีไม่มีสอง
แล้วลีลามาสถิตบนแท่นทอง จนย่ำฆ้องสุริยนสนธยา
จึงชวนกันจรจรัลจากสถาน ออกทวารเบื้องบูรพทิศา
ศศิธรจรแจ้งกระจ่างตา ทั้งสองราเดินเรียงมาเคียงกัน ฯ
๐ ล่วงตำบลชนบทไปหลายบ้าน เข้าดอนด่านแดนไพรพอไก่ขัน
เสียงเสือกวางกลางเนินพนมวัน ให้หวั่นหวั่นวังเวงหวาดฤทัย
จนแสงทองรองเรืองอร่ามฟ้า พระสุริยาเยื้องเยี่ยมเหลี่ยมไศล
คณานกเริงร้องคะนองไพร เสียงเรไรจักจั่นสนั่นเนิน
ทั้งสององค์เหนื่อยอ่อนเข้าผ่อนพัก หยุดสำนักลำเนาภูเขาเขิน
ครั้นหายเหนื่อยเมื่อยล้าอุตสาห์เดิน พิศเพลินมิ่งไม้ในไพรวัน
บ้างผลิดอกออกผลพวงระย้า ปีบจำปาสุกรมนมสวรรค์
พระอภัยมณีศรีสุวรรณ ต่างชิงกันเก็บพลางตามทางมา
............... ฯลฯ ...............
(พระอภัยมณี : สุนทรภู่)
- สัตว์สอพลอ -
ขอเล่าเรื่องโบราณแต่กาลก่อน พนาดรเกิดยุคทุกข์สมัย
สิ้นอาหารน้ำแห้งทุกแห่งไป ต่างร้อนใจถ้วนทั่วด้วยกลัวตาย
จึงท่านท้าวสิงหราพระยาสัตว์ หวังกำจัดเหตุร้อนให้ผ่อนหาย
เรียกประชุมสัตว์ทุกตัวแม้วัวควาย ต่างผันผายสู่ลานชานพงพี
พอพร้อมกันจึงตรัสดำรัสว่า องค์อินทราเจ้าฟ้าในราศี
ทรงพิโรธโกรธเราชาวโลกี เราคงมีบาปโตโขอนันต์
ขอพวกท่านทุกคนจำนนบาป สารภาพความจริงทุกสิ่งสรรพ์
ใครผิดมากก็จงมาบูชายัญ เพื่อผ่อนผันให้พระเจ้าบรรเทาเคือง
จะแรกเริ่มด้วยข้าเจ้ามีคราวหนึ่ง เคยกัดทึ้งแกะน้อยใหญ่ในป่าเหลือง
ตั้งหลายตัวโดยไม่มัวกลัวใครเปลือง ถือว่าเขื่องเรืองเดชาบารมี
อันแกะน้อยมิได้ทำข้าช้ำจิต นับว่าผิดหนักหนาน่าบัดสี
มีเคี้ยวกินจนมันดิ้นสิ้นชีวี ขอมนีจงปรึกษาโทษข้าเทอญ
แถมบางคราคนเลี้ยงแกะแวะนอนหลับ ข้าก็จับฟาดลงในดงเขิน
ฉีกอุทรฟอนกินไส้ใกล้แนวเนิน ริมทางเดินสู่บุรีศีวิไลซ์
ถ้ามุนีเห็นว่าข้าผิดมาก ทุกคนอยากให้เราชีพตักษัย
เราก็ยอมมรณาขอลาไป ถวายไทจอมฟ้าบูชายัญ
แต่ใจข้าว่าควรฟังท่านทั้งหมด ไม่พูดปดใช้ลิ้นเอกแสร้งเสกสรร
แจ้งความผิดด้วยใจจริงทุกสิ่งอัน ให้ทั่วกันจึงค่อยตริคิดพิจารณ์
จะกล่าวฝ่ายนายสี่ขาหมาจิ้งจอก จึงก้าวออกจำนรรจาอย่างกล้าหาญ
ขอเดชะวรวงศ์ผู้ทรงชาญ พระผู้ผ่านพงชัฎสัตว์ทั้งมวล
พระองค์ทรงรอบคอบเกินขอบเขต ด้วยมีเจตน์กรุณาจนน่าสรวล
ชีวิตแกะไร้ค่าบาทากวน นับคำนวณมันคือเหี้ยอันเตี้ยทราม
ที่ทรงโปรดลดเกียรติมาเหยียดฆ่า ด้วยบาทาพระคุณพ้นจนล้นหลาม
มันตายไปดั่งไร้มดไปหมดชาม นับเป็นความกรุณาแสนปรานี
เป็นความชอบยิ่งใหญ่อันไร้โทษ อีกทั้งโปรดปลดทุกข์ให้สุขี
คนเลี้ยงแกะเนาคงแนงพงพี สิ้นชีวีเขาอาจไปในวิมาน
เราทั้งปวงบควรเมินสรรเสริญท่าน ผู้ก่อการดับทุกข์นำสุขศานติ์
ด้วยการปลิดคนถ่อยให้ม่อยปราณ สู่สถานแดนสวรรค์ชั้นเทวา
สัตว์ทั้งหลายได้ฟังต่างสาธุ ทุกตัวมุสอพลออย่างพ่อหมา
จิ้งจอกแกล้งแสร้งสรรจำนรรจา ต่างวันทาบารมีสีหะพลัน
แล้วถึงเวรสัตว์ไพรใหญ่อื่นอื่น ออกมายืนสารภาพบาปมหันต์
ล้วนโทษหนักมิควรด่วนผ่านกัน คำบิดผันของจิ้งจอกกลับกลอกดี
............... ฯลฯ ...............
(นิทานสุภาษิตคำกลอน : หลวงจรัสการครุกรรม (จรัส บุนนาค))
- จันทโครบ -
๐ จะกล่าวกาลกิณีนารีร้าย ให้แจ้งชายกุลบุตรที่ฝึกสอน
ยังมีราชนิเวศน์เขตนคร นรินทรพรหมทัตกระษัตรา
มีเมืองขึ้นอัติเรกเสกรฉัตร กรุงกระษัตริย์มีองค์โอรสา
ชื่อพระจันทโครบกุมารา พระชันษาถ้วนถึงสิบสองปี
ด้วยสมเด็จพระบิดาชรานัก พระลูกรักจะให้ครองบูรีครี
พระตรึกความตามในประเพณี จึ่งมีเทวราชเรียกโอรสพลัน
เจ้าพ่อเอ๋ยพระบิดาชราแล้ว อันลูกแก้วจะให้ครองมไหศวรรย์
ประเพณีมีมาแต่สามัญ ทุกเขตขัณฑ์แว่นแคว้นในแดนดิน
กระษัตริย์ใดให้เมืองกับโอรส ย่อมปรากฏเรียนรู้ธนูศิลป์
เจ้าจะสืบสุริวงศ์ดำรงดิน ไปเรียนศิลปศาสตร์ให้เชี่ยวชาญ
อันฤๅษีชีไพรวิไสยเพท ย่อมเรืองเดชวิทยามหาศาล
สันโดษเดียวเปลี่ยวองค์ในดงดาล นมัสการกองกูณฑ์ทุกเวลา ฯ
๐ บัดนั้นพระจันทโครบ ก็นอบนบอภิวันท์ด้วยหรรษา
ลูกตั้งจิตคิดไว้แต่ไรมา ขอกราบลาสององค์พระทรงธรรม์
แล้วทรงเครื่องกัมพลสุคนธรส ละไมหมดแม้นเทพรังสรรค์
เครื่องบุปผามาลัยกระแจะจันทน์ สารพันธูปเทียนปทุมา
จึงกราบลาพระบิดาแลมารดร ก็อวยพรลูกน้อยเสน่หา
พอฆ้องคํ่าย่ำแสงพระสุริยา กุมาราออกจากพระบูรี
ตั้งพระพักตร์จำเพาะหิมพานต์ เข้าดงดาลแดนด้าวคิรีศรี
สันโดษเดียวเปลี่ยวองค์ในพงพี จนไขศรีแสงหิรัญอร่ามพราย
ละอองนํ้าอำมฤคก็โรยร่วง ผกาดวงชื่นแช่มแย้มขยาย
แมลงภู่เคียงประคองละอองอาย ขจรจายรื่นรสมารวยริน
วายุว่องต้องใบก็ไกวกวัด สารพัดผลไม้ในไพรสิน
บ้างร่วงโรยหล่นตกวิหคกิน พระนรินทร์เก็บเสวยสว่างใจ
แล้วเดินชมพนมพนาเวศ สาคเรศกรวยกรอกซอกไศล
เป็นธารนํ้าอำมฤคพิลึกไป คงคาใสดั่งแสงมณีดี
ในท้องธารลานแลล้วนกรวดแก้ว บ้างพรอยแพรวพร่างพรายเป็นหลายสี
มัจฉาว่ายรายเรียงในวารี ประกอบมีปทุมมาศดาษดา
เป็นเหง้างอกดอกแซงขึ้นแฝงฝัก พรรณผักขึ้นสลับกับบุปผา
ทั้งก้ามกุ้งบัวผันสันตะวา ยื่นระย้าทอดยอดไปตามธาร
ที่หว่างเขาเงาเงื้อมชะโงกโกรก ชลกระโชกสาดซัดฉะฉัดฉาน
กระแทกดังพังแผ่นศิลาลาน กระทบธารโกงก้องกะกางกัง
พระกุมารลานแลละเลิงจิต พลางพินิจพรรณไม้พระทัยหวัง
เป็นเซิงซุ้มพุ่มพันเถาวัลย์บัง ต้นฝรั่งรังนกประจำนอน
............... ฯลฯ ...............
(จันทโครบ : สุนทรภู่)
- สงครามภารต คำกลอน -
๐ เสร็จสำนวนคำประณามตามขนบ เสร็จปรารภกรณีย์ชี้เฉลย
ขอจับบทบรรยายภิปรายเปรย เพื่อสังเวยโสตเสริมเพิ่มสราญ
สมัยก่อนพุทธุปบาทศาสนา ในแหล่งหล้าชมพูอินดูสถาน
ในภาคแคว้นแดนอุตดรแต่ก่อนกาล เป็นถิ่นฐานกุรุรัฐพิพัฒน์พูน
มีกรุงไกรไพศาลอุฬารล้ำ เป็นราชสำนักปิ่นบดินทร์สูร
นามนครหัสดินถิ่นพิบูล อันจรูญรุ่งเรืองดังเมืองแมน
มีมหาปราสาทราชฐาน มีโรงธารข้าเจ้าเข้าเฝ้าแหน
มียอดเด่นเห็นไปได้ไกลแดน ดูงามแม้นตำหนักมัฆวาน
กำแพงวังตั้งล้อมป้อมประดับ ประตูสับแซงป้อมพร้อมทหาร
มีสวนหลวงช่วงโชติวโนทยาน อันตระการพฤกษชาติดาษดา
มีโรงม้าโรงรถคชสาร โรงทหารแหนวังตั้งรักษา
โรงอาวุธยุทธพัสดุ์และศัสตรา คลังมหาสมบัติชัชวาล
ริมถนนใหญ่น้อยซอยสลับ ล้วนคั่งคับคฤหาสน์นิวาสฐาน
ท้องถนนคนกลาดไม่ขาดกาล เสียงประสานแซ่อยู่มิรู้วาย
กำแพงกั้นชั้นนอกดังคอกเพ็ชร์ เป็นที่เข็ดขามหมู่ศัตรูหลาย
ตั้งป้อมใหญ่ได้ระยะจังหวะราย มีคูภายนอกกว้างเป็นทางชล
ประตูเมืองมั่นคงตรงวิถี สะพานมีข้ามคูอยู่ทกหน
มีเรือกสวนไร่นาประชาชน ตั้งอยู่กล่นเกลื่อนรอบขอบนคร
อุตดมแดนแน่นหนาประชาราษฎร์ ผลโอภาสภีย์โยสโมสร
ศิลปศาสตร์วิทยาสถาพร ข่าวขจรลือชาทั่วธาตรี
องค์พระจอมหัสดินบุรินทร์ราช กษัตริย์ชาติจันทรวงศ์ผู้ทรงศรี
นามพระเจ้า ‘ศานดนู’ ภูบดี ครองบุรีรุ่งเรืองกระเดื่องดิน
เชื้อพระเจ้า ‘ภรต’ ยศมหันต์ โอรสท้าว ‘ทุษยันต์’ อันเรืองศิลป์
กับนาง ‘สกุนตลา’ พระนารินทร์ พระเกียรติ์ภิญโญใหญ่ในบุราณ
สืบกษัตริย์หัสดินปิ่นประเทศ ถึงภูเบศ ‘ศานดนู’ ผู้พิศาล
ด้วยพระราชจรรยาสมาจาร ตามโบราณจารีตอดีตมา
ยิ่งพระญาณเยี่ยมยอดคอยสอดส่อง ทุกข์สุขผองราษฎร์แจ้งทุกแหล่งหล้า
พระการุณย์ร่มเกล้าชาวประชา ดังบิดาคุ้มครองผองดนัย
มิตรพระองค์จงรักสมัครมั่น บูชาฉันเทวดามหาศัย
ไพรีราบหลาบท้อไม่ก่อภัย พระเกียรติไกรเกริกหล้าทั่วสากล
พระทัยท้าวน้าวธรรม์เป็นบรรทัด ปฏิบัติราชการอุฬารผล
ไม่ถือองค์ทรงยึดประพฤติตน เป็นเยี่ยงยลยุกติธรรมส่ำประชา
สำนักท้าวข่าวคุณพิบุลเลิศ ประชาเชิดบูชิตทุกทิศา
สิ้นศัตรูดูหมิ่นและนินทา พระเดชกล้ากลัวแกลนทุกแดนดิน
............... ฯลฯ ...............
(สงครามภารต คำกลอน : พระยาอุปกิตศิลปสาร)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)

•
กลับสู่หน้า สารบัญ กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก 