
- กลอนนิราศ -
นิราศ เป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่ง ที่มีมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน นิยมเขียนทั้งแบบคำโคลงและคำกลอน (หรืออื่น ๆ แล้วแต่ผู้เขียนจะเลือกใช้) อนึ่ง โดยตัวคำว่า “นิราศ” นั้น มีความหมายตามตัวอักษรว่า พราก จาก ไปจาก การระเหระหนด้นดั้น ฯลฯ หรือโดยนัยก็คือการเดินทางจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง ฉะนั้น นิราศ จึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของผู้ประพันธ์ที่เขียนด้วยคำประพันธ์ร้อยกรองเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นร้อยกรองประเภทไหนก็ตาม นิราศ จึงไม่กำหนดรูปแบบคำประพันธ์ตายตัว แต่เป็นการเรียกตามลักษณะของเนื้อหานั่นเอง
ในส่วนของ "กลอนนิราศ" จริง ๆ แล้วก็รูปแบบเหมือนกลอนเพลงยาว คลิก เพียงแต่ว่านิราศเป็นคำประพันธ์ที่เนื้อหามุ่งเน้นบอกเล่าถึงการเดินทางอย่างที่กล่าวไปแล้ว ว่าระหว่างทางผ่านที่ไหน พบเห็นอะไรบ้าง แล้วก็เชื่อมโยงสถานที่หรือสิ่งที่ตนพบเห็นเข้ากับความรู้สึกในใจของตนเองเป็นช่วง ๆ เช่น ความหลัง หรือ คนรักที่ต้องจากมา เป็นต้น กลอนนิราศจึงเป็นลักษณะของการเดินทางคร่ำครวญโดยปริยาย เช่นนี้จึงทำให้กลอนนิราศแยกตัวจากกลอนเพลงยาวโดยสิ้นเชิง หรือว่านิราศส่วนใหญ่ที่พบเห็น กวีจะเป็นผู้ชายกันนะ เนื้อความจึงเป็นไปในทางนั้น สมัยนั้นผู้ชายอาจเดินทางบ่อย และสังคมเปิดโอกาสให้แสดงความรู้สึกได้มากกว่า ส่วนผู้หญิงอยู่เหย้าเฝ้าเรือน หากเป็นสมัยนี้ เป็นกวีผู้หญิงที่ต้องเดินทาง และเขียนกลอนนิราศ ก็อาจจะครวญห่วงหาถึงสัตว์เลี้ยงแสนรัก ก็น่าจะได้นะ เพราะหากครวญถึงชายผู้เป็นที่รัก ก็คงจะประดักประเดิดน่าดู อันนี้ข้าพเจ้าคิดเอาเองนะ
ฉะนั้นแล้ว กลอนนิราศ ลักษณะการเขียน กฎเกณฑ์ สัมผัส และเสียงท้ายวรรคจึงเหมือนกลอนเพลงยาว คลิก ทุกอย่าง คือขึ้นต้นกลอนด้วยวรรคที่ ๒ (วรรครับ) อาจขึ้นต้นด้วยคำว่า “นิราศ” หรือไม่ก็ได้ แล้วพรรณาเล่าเรื่องราวเรื่อยไป แล้วจบท้ายด้วยคำว่า “เอย” จุดเด่นจึงอยู่ที่เนื้อหา และคำครวญที่เชื่อมโยงความรู้สึกดังที่กล่าวไปแล้วนั่นเอง
- โคลงนิราศ -
ว่าถึงนิราศที่เป็นคำกลอนไปแล้ว ก็เอ่ยถึงนิราศที่เป็นคำโคลงไว้ด้วยในที่นี้เลย "โคลงนิราศ" ลักษณะเนื้อหาก็เช่นเดียวกับกลอนนิราศ เพียงแต่เปลี่ยนเป็นประพันธ์ด้วยโคลงสี่เท่านั้น จะเป็นโคลงสี่สุภาพหรือโคลงสี่ดั้นก็ได้ โดยลักษณะแล้ว จะเริ่มต้นด้วย “ร่าย” บทหนึ่ง กล่าวประณามพจน์ยกย่องบ้านเมืองหรือสิ่งทีเคารพก็แล้วแต่ จากนั้นก็เขียนเป็นโคลงสี่ยาวเรื่อยไปจนจบ ตอนจบส่วนมากมักจะเป็นโคลงบอกชื่อผู้แต่งและวันเวลาที่เขียนนิราศนั้นขึ้นมา บางทีก็จบด้วยร่าย หรือจบไปเฉย ๆ ด้วยเนื้อหาก็ได้ (เว้นนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ที่ไม่มีร่ายประณามพจน์)
การตั้งชื่อนิราศ มักตั้งชื่อตามสถานที่ที่กำลังมุ่งไป เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศพระบาท เป็นต้น หรือตั้งชื่อตามสิ่งอ้างอิงในเนื้อหา เช่น นิราศเดือน นิราศหวยเลิก (รำพันถึงความเศร้าโศกที่มีการยกเลิกหวยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙) แต่ที่ตั้งชื่อตามชื่อของผู้เขียนก็มี เช่น นิราศนรินทร์ แต่อันนี้ก็ผู้อื่นตั้งให้ เพราะเจ้าตัวไม่ได้ระบุชื่อนิราศเอาไว้ สรุปว่า ตั้งชื่อตามสถานที่ที่กำลังจะไปหรือตามเนื้อหานั้นเหมาะดีแล้ว
ฉะนั้น สรุปได้ว่า ไม่ว่านิราศเรื่องใด แต่งในสมัยใด แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดใด มีลักษณะการพรรณาอย่างไรก็ตาม จะมีเนื้อหาสาระอยู่สองประการเท่านั้น คือ
๑. พรรณาถึงการเดินทาง
๒. พรรณาคร่ำครวญถึงผู้ที่รัก หรือผู้ที่ห่วงหา ที่ต้องจากมา
ทั้งสองประการนี้ อาจปรากฏเพียงประการเดียว หรือทั้งสองประการก็ได้ เช่น มีการพรรณาบันทึกการเดินทางแต่ไม่มีการมีการคร่ำครวญ (เชิงจดหมายเหตุ) หรือมีทั้งการพรรณาการเดินทางและคร่ำครวญถึงคนรัก หรือมีแต่การคร่ำครวญ แต่ไม่มีการเดินทาง เช่น คร่ำครวญเทียบกับเวลาที่คล้อยผ่านไปทีละเดือน ๆ ที่ต้องห่างกัน ก็ได้เช่นกัน
ข้าพเจ้าเคยคิดแผลง ๆ กลับด้านกันในเรื่องของนิราศ ว่า หากปกติ นิราศคือการเล่าถึงการเดินทางจากที่เคยอยู่ ต้องจากผู้ที่รัก เวลาผ่านไปยิ่งไกลห่าง จึงมีการครวญโศกขึ้น แต่.. หากว่า เรากำลังเดินทางเช่นกัน แต่เป็นการเดินทางไปหาผู้ที่เป็นที่รัก เวลาผ่านไปก็รู้ว่ายิ่งใกล้ขึ้น ๆ แล้วเราเขียนเชื่อมโยงสถานที่ที่ผ่านเทียบกับความรู้สึกที่ยิ่งใกล้ก็ยิ่งเป็นสุขในใจเรา อย่างนี้ก็น่าจะเรียกว่า นิราศ เช่นกันหรือเปล่า
ส่วนด้านล่างนี้ จะเป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของ "กลอนนิราศ" และ "โคลงนิราศ"
00000000000000000000000000000000000000000
- ตัวอย่างคำประพันธ์ “กลอนนิราศ” บางส่วน -
- นิราศพระบาท -
๐ โอ้อาลัยใจหายไม่วายห่วง
ดังศรสักปักซ้ำระกำทรวง เสียดายดวงจันทราพะงางาม
เจ้าคุมแค้นแสนโกรธพิโรธพี่ แต่เดือนยี่จนย่างเข้าเดือนสาม
จะหน่อพระสุริย์วงศ์ทรงพระนาม จากอารามแรมร้างทางกันดาร
ด้วยเรียมรองมุลิกาเป็นข้าบาท จำนิราศร้างนุชสุดสงสาร
ตามเสด็จโดยแดนแสนกันดาร นมัสการรอยบาทพระศาสดา ฯ
๐ วันจะจรจากน้องสิบสองค่ำ พอจวนย่ำรุ่งเร่งออกจากท่า
รำลึกถึงดวงจันทร์ครรไลลา พี่ตั้งตาแลแต่ตามแพราย
ที่ประเทศเขตเคยได้เห็นเจ้า ก็แลเปล่าเปลี่ยวไปน่าใจหาย
แสนสลดให้ระทดระทวยกาย ไม่เหือดหายห่วงหวงเป็นห่วงครัน ฯ
๐ ถึงคลองขวางบางจากยิ่งตรมจิต ใครช่างคิดชื่อบางไว้กางกั้น
ว่าชื่อจากแล้วไม่รักรู้จักกัน พิเคราะห์ครันหรือมาพ้องกับคลองบาง
............... ฯลฯ ...............
ได้วันครึ่งถึงเวียงประทับวัด โทมนัสอาดูรค่อยสูญหาย
นิราศนี้ปีเถาะเป็นเคราะห์ร้าย เราจดหมายตามมีมาชี้แจง
ที่เปล่าเปล่ามิได้เอามาเสกใส่ ใครไม่ไปก็จงจำคำแถลง
ทั้งคนฟังคนอ่านสารแสดง ฉันขอแบ่งส่วนกุศลทุกคนเอย ๚ะ๛
(สุนทรภู่)
- นิราศลอนดอน -
๐ นิราศเรื่องเมืองลอนดอนอาวรณ์ถวิล
จำจากมิตรขนิษฐายุพาพิน เพียงจะสิ้นชีวาด้วยอาลัย
ถ้าแม้ผิดมิใช่กิจนรินทร์ราช ไม่คลาคลาศคลายชิดพิสมัย
โดยภักดีมีประสงค์จำนงใน อาสาไทจอมจักรหลักนคร
มะเสงศุกรเดือนเก้าขึ้นสามค่ำ แสนระกำด้วยจะไปไกลสมร
เข้าชิดโฉมโลมลาพงางอน กล่าวสุนทรปลอบน้องอย่าหมองนวล
ค่อยอยู่เถิดนงเยาว์ลำเพาพักตร์ จะร้างรักแรมชมภิรมย์สงวน
ใช่แกล้งหน่ายแหนงขวัญให้รัญจวน อย่าคร่ำครวญโศกสร้อยน้อยฤทัย
ครั้นเสร็จสั่งยอดมิ่งทุกสิ่งสรรพ์ ก็ผายผันมายังท่าชลาไหล
ลงเรือเร่งรีบร้อนจรครรไล ล่องลงไปจอดนาวาท่าขุนนาง
เข้าประตูศรีสุนทรสท้อนจิตต์ ให้หวนคิดหวังสวาทไม่ขาดหมาง
เดินเข้าในราชฐานพระลานกลาง ดูสล้างเกณฑ์แห่แลวิไล
............... ฯลฯ ...............
หวังจะให้ไว้จงเห็นเปนฉบับ ได้สืบดูรู้สำหรับตรับตรองสาร
แนะสังเขปในสิ่งข้อพอประมาณ ทราบแถวถิ่นสิ้นที่ถานบ้านเมืองเอย ๚ะ๛
(หม่อมราโชทัย)
00000000000000000000000000000000000000000
- ตัวอย่างคำประพันธ์ “โคลงนิราศ” บางส่วน -

- โคลงนิราศนรินทร์ -
ร่าย
๑. ศรีสิทธิ์พิศาลภพ เลอหล้าลบล่มสวรรค์ จรรโลงโลกกว่ากว้าง แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า แจกแสงจ้าเจิดจันทร์ เพียงรพิพรรณผ่องด้าว ขุนหาญห้าวแหนบาท สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน ส่ายเศิกเหลี้ยนล่งหล้า ราญราบหน้าเภริน เข็ญข่าวยินยอบตัว ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว ทุกไทน้าวมาลย์น้อม ขอออกอ้อมมาอ่อน ผ่อนแผ่นดินให้ผาย ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว เลี้ยงทแกล้วให้กล้า พระยศไท้เทิดฟ้า เฟื่องฟุ้งทศธรรม ท่านแฮ
โคลงสี่
๒. อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ
สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง ฯ
๓. เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น พันแสง
รินรสพระธรรมแสดง ค่ำเช้า
เจดีย์ระดะแซง เสียดยอด
ยลยิ่งแสงแก้วเก้า แก่นหล้าหลากสวรรค์ ฯ
๔. โบสถ์ระเบียงมรฑปพื้น ไพหาร
ธรรมาสน์ศาลาลาน พระแผ้ว
หอไตรระฆังขาน ภายค่ำ
ไขประทีปโคมแก้ว ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์ ฯ
๕. เสร็จสารพระยศซ้อง สรรเสริญ
ไป่แจ่มใจจำเริญ ร่ำอ้าง
ตราตรอมตระโมจเหิน หวนสวาท
อกวะหวิวหวั่นร้าง รีบร้อนการณรงค์ ฯ
๖. แถลงปางบำราศห้อง โหยครวญ
เสนาะเสน่ห์กำสรวล สั่งแก้ว
โอบองค์ผอูนอวล ออกโอษฐ์ อรเอย
ยามหนึ่งฤๅแคล้วแคล้ว คลาดคล้ายขวบปี ฯ
............... ฯลฯ ...............
๑๔๒. นรินทร์นเรศไท้ บริบาล
นิพนธ์พจน์พิสดารญาณ ยศไว้
กวีวรโวหาร นายหนุ่ม
ควรแก่ปราชญ์ใดได้ อ่านแล้วเยียรยอ ฯ
๑๔๓. ใดใดโอษฐ์โอ่อ้าง ตนดี
เอาปากเป็นกวี ขล่อยคล้อย
หากหาญแต่วาที เฉลยกล่าว ไฉนนา
ดุจหนึ่งแสงหิ่งห้อย ส่องก้นตนเอง ฯ
๑๔๔. โคลงเรื่องนิราศนี้ นรินทร์อิน
รองบาทบวรวังถวิล ว่าไว้
บทใดปราชญ์ปวงฉิน เชิญเปลี่ยน แปลงพ่อ
ปรุงเปรียบเสาวคนธ์ไล้ เลือกลิ้มดมดู ๚ะ๛
(นายนรินทรธิเบศร์ (อิน))
- โคลงนิราศวัดสมุหประดิษฐ์ -
ร่ายดั้น
๐ สรวมชีวชุลี ศรีรัตนตรัยางค์ โลกุตมางคพิจิตร สฤษดิบังคม บรมบาทนฤบดี ศรีอโยทธยา มหาดิลกราช นรนาถธราดล สากลรัตนโกสินทร์ เวียงอินทรสงกาศ ปรเทศราษฎร์ทุกแขวง ใฝ่แฝงพึ่งพรเดช น้อมเกศชูมาศมาลย์ อรินท์รานเร่งปรา ปวงประชาแช่มชื้น ทั่วพ่างพื้นปรัถพี พระบารมีปูปกเกล้า สุขทุกค่ำคุ้งเช้า ฉ่ำใจ ยิ่งนา ฯ
วิวิธมาลี
๑. อโยทธเยนทรยศยิ่งสร้อย สรวงสวรรค์
เพียงพิมานแมนไข เขตหล้า
เกริกเกียรดิขจรบรร เจิดทวีป เว้นฤๅ
ชูพิภพฟื้นฟ้า เฟื่องดิน ฯ
๒. สมภารสมภพพร้อม ไพรบูลย์
เรืองรัตนโกสินทร์ สุขล้ำ
เพิกพื้นพิภพพูน เผยโลก กว้างแฮ
บุญพระฟื้นฟ้าขว้ำ ไขว่หงาย ฯ
๓. เสร็จยอพระยศอ้าง ออกแสดง
ปางรํ่านิราศสาย สวาดิน้อง
จำจากเจ็บจิตแหนง ขนางเสน่ห์ นางนา
ฝากโศกยอดสร้อยซ้อง สั่งสาร ฯ
๔. เด็ดใจเจียรจากแก้ว กับอก อรเอย
ทุบทุ่มอุราราน ร่ำเศร้า
สะอื้นอัดอุรกรรศก สังเวช ตนแฮ
หวนคิดคืนเข้าห้อง สั่งขวัญ ฯ
๕. อ้าโอษฐ์ฤๅอาจกลั้น ชลนา
กรกอดสมรศัลย์ ซบสะอื้น
สั่งกระซิบอรยุพา พูนเทวษ ยิ่งแฮ
เฟือนสติตื้นตั้ง แต่กรม ฯ
๖. กรรโหยลำโหกไห้ หวนถวิล
โอบผโอนผอืดสม สั่งห้อง
ปลอบนุชสุชลริน รํ่ารัก วายฤๅ
เรียมจะห่างน้องเต้า ต่างเมิล ฯ
............... ฯลฯ ...............
๒๐๔. นิราศสมุหประดิษฐ์นี้ นามถฤก
วิวิธมาลีคือ คิดไว้
เนาดำแหน่งกรมศึก ษาธิ การนา
ผิวผิดปราชญ์ได้ให้ อภัย ฯ
๒๐๕. ใดบทพจนแผกเพี้ยน พึงตัด เติมแฮ
ใช่จะอวดโอษฐ์ไข แข่งรู้
เชิญชาวกระวีทัศน์ ทวนท่วน เทอญพ่อ
อย่าด่วนแย้มเย้ยผู้ พากย์แถลง ๚ะ๛
(หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก))
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)

•
กลับสู่หน้า สารบัญ กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก 