![](https://img5.pic.in.th/file/secure-sv1/---ok-cov-17ed7668468509ae8.png)
- กลอนหก (กลอน ๖) -
กลอนหก (กลอน ๖) คือกลอนสุภาพชนิดหนึ่ง ที่กำหนดให้มีวรรคละ ๖ คำ ลักษณะรูปแบบเหมือนกลอนสุภาพอื่นทุกประการ แต่ต่างกันตรงที่จำนวนคำเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวกำหนดจังหวะการอ่านและตำแหน่งการรับสัมผัสนอก ให้เป็นไปตามรูปแบบลักษณะเฉพาะของกลอนเจ็ดนี้
๑.) รูปแบบของกลอนหก (กลอน ๖) (ดูผังด้านบนประกอบ)
๑.๑) จำนวนคำ
- กลอนหกหนึ่งบทนั้น จะมี ๒ บาท (ยุคต้นนั้นเรียก “บาท” ว่า “คำกลอน”)
- แต่ละบาทแบ่งเป็น ๒ วรรค
- แต่ละวรรคมี ๖ คำเป็นพื้น (บางครั้งอาจยืดหยุ่นตามความเหมาะสม)
ทั้งนี้ กลอนสำนวนหนึ่ง จะมีความยาวกี่บทก็ได้ ไม่มีข้อบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและความพอใจของผู้เขียน แต่ให้ทำความเข้าใจเสมอว่า กลอน ๑ บท คือ กลอน ๔ วรรค (หรือ ๒ บาท (๒ คำกลอน))
และแต่ละวรรคทั้ง ๔ วรรคภายในบทกลอนนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะ คือ
วรรคที่ ๑ เรียกว่า “วรรคสดับ” ...... วรรคที่ ๒ เรียกว่า “วรรครับ”
วรรคที่ ๓ เรียกว่า “วรรครอง” ....... วรรคที่ ๔ เรียกว่า “วรรคส่ง”
โดยกลอนหก (กลอน ๖) แต่ละวรรคจะแบ่งช่วงและจังหวะการอ่านเป็น ๓ ช่วงคือ ๒ / ๒ / ๒ เหมือนกันทุกวรรค (หากเป็น ๒ ช่วง ก็จะเป็นทำนองกาพย์ไปเสียเท่านั้น)
หมายเหตุ : การนับคำในกลอนนั้น นับตามเสียงพยางค์ที่เปล่งออกมาหนึ่งครั้งต่อหนึ่งคำ แต่หากคำใดที่เป็นคำมูลที่มีสระเสียงสั้นประกอบ เช่น สวรรค์ พินิจ กุสุม เกษม วิหค กระจิบ ฯลฯ นั้น ผู้ประพันธ์สามารถนับได้ให้เป็น ๑ คำ หรือ ๒ คำก็ได้ แล้วแต่เจตนาของผู้เขียน
๒.) ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)
๒.๑) สัมผัสภายในบท
สัมผัสภายในบทของกลอนหก (กลอน ๖) นั้น มีดังนี้
๑) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ เชื่อมสัมผัสไปยัง คำที่ ๒ (หรือ ๔) ของวรรคที่ ๒
๒) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยัง คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
๓) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ เชื่อมสัมผัสไปยัง คำที่ ๒ (หรือ ๔) ของวรรคที่ ๔
๒.๒) สัมผัสระหว่างบท
สัมผัสระหว่างบทของกลอนหกนั้น คือ
คำสุดท้ายของบทก่อนหน้าส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายในวรรคที่ ๒ ของบทถัดไป
๓.) เสียงท้ายวรรค
กลอนสุภาพถือเป็นบทร้อยกรองชนิดเดียวที่มีกฎเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับการใช้เสียงท้ายวรรคแต่ละวรรค ถือเป็นฉันทลักษณ์บังคับสำคัญ
กลอนหก (กลอน ๖) นี้ก็เช่นเดียวกับกลอนสุภาพชนิดอื่น ๆ ที่เสียงท้ายวรรคแต่ละวรรคือประกอบด้วยข้อห้ามและข้ออนุญาต ดังต่อไปนี้
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ใช้ได้ทุกเสียง (ข้อนี้หลายผู้บอกว่าถึงใช้ได้ทุกเสียง แต่ไม่นิยมใช้เสียงสามัญ เนื่องจากไม่ไพเราะเพราะเสียงราบเรียบ แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นต่างออกไป ว่าถึงแม้จะเป็นเสียงสามัญ ก็ไพเราะไม่แพ้เสียงอื่น ๆ หากว่ามีการไล่เรียงระดับเสียงสูงต่ำของคำแต่ละคำที่ใช้ภายในวรรคนี้อย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้เขียนเสียมากกว่า)
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ใช้ได้เฉพาะ เสียงเอก โท จัตวา ห้ามใช้เสียงสามัญและตรี
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ ใช้ได้เฉพาะ เสียงสามัญและเสียงตรี ห้ามใช้เสียงเอก โท จัตวา
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ใช้ได้เฉพาะ เสียงสามัญและเสียงตรี ห้ามใช้เสียงเอก โท จัตวา (เหมือนวรรคที่ ๓)
* หลักการจำง่าย ๆ คือ จำกฎเสียงท้ายวรรคที่ ๒ ให้แม่นยำ ส่วนวรรคที่ ๓ และ ๔ ให้จำว่า ตรงข้ามกับวรรคที่ ๒ เท่านั้นเอง
00000000000000000000000000000000000000000
- ตัวอย่างคำประพันธ์ กลอนหก (กลอน ๖) บางส่วน -
- กนกนคร -
๐ อ้ากูรู้ข่าวป่าวร้อง ทำนองที่เขากล่าวเผย
ร้อยครั้งไป่ผิดนิดเลย เราเฉยเพราะเหลือเบื่อยิน
ฟังฟังยั้งใจได้คิด กูนี้ชีวิตจักวิ่น
เหตุมีใจจงปลงจินต์ เกลียดสิ้นเลือดเนื้อเบื่อนัก
จักเชือดคอตายวายชืพ ไป่ควรด่วนรีบเร็วหนัก
ใจปองลองเล่นสักพัก ใครจักรู้เท่าเราทำ
เรื่องที่ตีฆ้องร้องป่าว สืบข่าวเวียงงามความขำ
หาผู้รู้เรื่องเมืองคำ จดจำมาได้ไม่มี
แม้นกูจู่เข้าเล่าแจ้ง หลักแหล่งเวียงทองผ่องศรี
ใครจักเปนผู้รู้ที กูนี้กล่าวบอกหลอกลวง
อาจเสร็จสมหวังดังใจ จวบได้ตำแหน่งเขยหลวง
ใครเล่าเชาวน์ล้นชนปวง จักล่วงคัดค้านฐานใด
(กนกนคร : กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.))
- เทือกถนนธงชัย -
ภูเหือดผาแห้งแล้งผาก ถ่านซากเศษเถ้าผ่าวผง
ไผ่ผากกรากพรูกรูพง ดื่นดงด่างดำภูดอย
ห่มพรมแพรหญ้าพะเยิบไหว เครืออ่อนพาดไพรเพียงสร้อย
ผาตั้งผาแต่งตัวคอย ดอกฝนมาร้อยมาริน
มาโลกมาร่ำลำห้วย แม่สอดแม่สวยไม่สิ้น
คู่ลำแม่เมยตองยิน ทวนลงสาละวินถิ่นไกล
น้ำพลอยดอยเพชรผาคง เทือกทิวเทียวธงด่านไสว
บรรเจิดเชิดภูชูไพร เทือกถนนธงชัยชีวี ๚ะ๛
(เขียนแผ่นดิน : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
- ใต้กะลามีฟ้ากว้าง -
ข้ารักกะลาข้านี้ เพราะมีกะลาใบหนึ่ง
สมบัติชีวิตติดตรึง เก็บไว้ลึกซึ้งส่วนตัว
กะลาของใครใครรัก เป็นแหล่งหลบพักคุ้มหัว
ลี้ใจจากเรื่องน่ากลัว ลี้ตัวจากโลกน่าชัง
ข้าสร้างกะลาข้าแล้ว ย่อมวาดวับแวววาวหวัง
ก่อนวันกะลาข้าพัง คงวับวาวทั้งกะลา
กะลาข้ามีฟ้ากว้าง มีทางทอดผ่านแนวป่า
มีภูพันภูพุ่งฟ้า มีมหาสมุทรสุดลึก
มีสรวงแดนสรวงช่วงชั้น มีฝันแสนฝันเฟ้นฝึก
มีขุมแสนขุมนรกนึก มีสันติสุขศึกเสรี
ใครว่ากะลาข้าแคบ ข้าแอบยักไหล่สุขี
ภาคภูมิกะลาข้ามี เพียงกบน้อยที่ฝันเป็น ฯ
(ม้าก้านกล้วย : ไพวรินทร์ ขาวงาม)
- เราชุบด้วยใด -
ฉันใคร่เห็นเธอก้าวไป กลางไพรเกลื่อนพฤกษ์ลึกหนา
กลางแดดแผดลวกมรรคา กลางฟ้าปริปรวนครวญครืน
กลางน้ำกรรชากกรากเชี่ยว กลางเกลียวฝนกราดฟาดฝืน
กลางโคลนคลุกครูดดูดกลืน กลางคืนครอบคิดมิดมูล
ก้าวไปแม้ไฟล่มโลก ก้าวไปแม้โชคดับสูญ
ก้าวไปแม้ไร้คนทูน ก้าวไปแม้พูนคนชัง
สัจจะอาจถูกถมทับ ความดีแหลกยับคับคั่ง
อธรรมอาจเปรื่องประดัง ความชั่วฉายชั่งนั่งเนือง
น้ำตาฟายฟกตกดิน รวยรินยิ้มกร้าวเข้าเปลื้อง
ปวดเหน็บเจ็บหายรายเรือง พิศเฟื่องแสงลิบขลิบฟ้า
คนแพ้คือคนชะนะ แม้จะถูกเข็ญเข่นฆ่า
คนล้มเพื่อลุกทุกครา เหล็กกล้าเราชุบด้วยใด?
(ขอบฟ้าขลิบทอง : อุชเชนี)
"อู่ข้าว - อดข้าว"
อู่ข้าวอดข้าวคราวนี้ เคยมีคิดมั่นขันหมาย
เริดร้างห่างมอดวอดวาย ปรากฏอดตายใกล้มา
มืองข้าวอดข้าวข่าวใหญ่ นาไร่แลโรยโหยหา
เปลี่ยนคนเป็นควายไถนา กินหญ้าแทนข้าวข่าวดี
ไชโยโห่ร้องก้องกึก อึกทึกอู่เปล่าข้าวหนี
นังนุงยุ่งยิ่งสิงคลี คนมีข้าวหมดอดตาย
อู่ข้าวอดข้าวคราวยาก ชอกช้ำลำบากเหลือหลาย
ในน้ำมีปลาน่าสบาย อับอายข้าวไร้ในนา
ชาตินี้เกิดมาอาภัพ รอกลับเกิดใหม่ชาติหน้า
ตื่นเช้าทำไร่ไถนา โลกบ้าหน้ามืดฝืดคอ
อู่ข้าวอดข้าวคราวยาก ทรกรรมลำบากลูกพ่อ
ข้าวหมดอดตายใจคอ จักรอชาติหน้าบ้าแล้ว !
(จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย : ทวีปวร)
- นั่นไง -
โลกนี้มิใช่ภพนี้ (ถ้ามีการพบภพหน้า)
มิใช่การไปการมา (มีบ้างบางคราคล้ายคล้าย)
เมื่อมีชีวิตมีหวัง หวังยังชีพอยู่ง่ายง่าย
(เห็นอยู่ปู่ย่าตายาย สุดท้ายกลับเห็นเป็นเงา)
ลึกไปในเนื้อเหลือนิ่ม พออิ่มตัวเนื้อเหลือเน่า
เริ่มต้นผลคือของเรา จบคือ (ของเขา) เอาคืน
หนีทุกข์รุกแฝงโดยฝัน ฝันดันดันตาเปิดตื่น
ความจำฉ่ำหวานวานซืน ไยขื่นขมครันวันนี้
เงินทองล้วนของนอกร่าง (ช่างอ้างอิงทุกทุกที่
เห็นเข้าเคล้าคลุกทุกที) น้องพี่ต่างหากพรากกัน
ใจนี้มิใช่เหล็กหลอม แต่พร้อมแกร่งไม่ไหวหวั่น
ใจนี้พลีให้ใจนั้น เสริมแต่งแบ่งปันเป็นใจ
(จตุรงคมาลา : คมทวน คันธนู)
- ได้แต่ฝัน -
ถ้าใครถามฉันวันนี้ คนที่ฉันรักคนไหน
ฉันคงอัดอั้นตันใจ สุดชี้ผู้ใดให้ดู
ช้ำชอกบอกได้เพียงว่า ดวงหน้าเขาไซร้ใช่หรู
แต่ตาคู่นั้นฉันรู้ กล้าสู้ตาต่อทรกรรม
อีกอย่างร่างกายใช่ว่า สง่างามสมคมขำ
แต่ในกายยอบบอบช้ำ แกร่งเกินอธรรมกล้ำกราย
มือสองของเขาเท่านั้น ใช่เพียงโอบขวัญหวั่นหาย
หากหาญประหารมารร้าย ไม่ป้ายสีมั่วกลั้วคน
สุดท้ายหัวใจของเขา ใช่เฝ้าภักดิ์ฉันฝันหม่น
แต่จักยืนยันรั้นล้น ซื่อสัตย์ต่อตนกว่าใคร
คนที่ฉันรักภักดี วันนี้ไม่รู้อยู่ไหน
ได้แต่ฝันหวังฝังใจ อย่าไร้เลยหนอธรณิน ฯ
(คืนวันที่ผันผ่าน : นิภา บางยี่ขัน)
- ปลาตีน นกยาง และนางนวล -
กระดืบคืบคลานผ่านเลน ครีบต่างตีนเผ่นไต่แผ่ว
ปลาตีนเต็มหาดพาดแนว หลากแถวชายเลยเย็นลม
ยางเปียปักหลักเล็มปลา น้ำพาตกคลั่กปลักหล่ม
ตลิ่งชายเลนเย็นลม พลางชมจิกพลางยางเปีย
ปลาตีนไต่เลนลงน้ำ ผุดดำดั่งกบครีบเกลี่ย
น้ำฟาดฟองคลื่นคลอเคลีย โผล่ตาขึ้นเรี่ยผิวน้ำ
ฝูงพรานทะเลเร่ฟ้า เหยียดปีกถลาร่อนต่ำ
โฉบปีกฉีกปลาป้อนคำ ดิ่งฟ้าฟาดน้ำนางนวล
กระดืบคืบคลานผ่านโคลน แผ่โผนผิวน้ำคลื่นป่วน
กางครีบค่อยว่าพายทวน ปันส่วนภักษาฟ้าดิน ฯ
(บ้านเก่า : โชคชัย บัณฑิต)
- นกกระดาษ -
หยิบเศษกระดาษวาดหวัง ว่ายังความจริงยิ่งใหญ่
จักมุ่งสู่สวนดอกไม้ จะไล้ขนนุ่มของนก
กรีดนิ้วพลิ้วแผ่วเพียงว่า จักดาษดาขนดก
วูบนั้นแว่วเสียงวนวก หริ่งหริ่งตระหนกตกใจ
ฝันถึงนกสวยสีขาว บินตัดตะวันวาวสดใส
ถึงกิ่งฟ้ากว้างทางไกล ถึงอวลแดดไอด้วยกัน
กระดาษขาวยับยู่ยี่ บัดนี้คลี่เป็นนกฝัน
ปีกกางเงียบกริบงำงัน เหมือนท่ามุ่งมั่นมองทาง
คืนเงียบคลายเหงาเราสอง ไปเถอะไปท่องแผ้วถาง
สู่ขอบฟ้าสวยรางราง ด้วยสายแดดสางดังนี้
ขว้างนกผกโผด้วยแขน คว้างด้วยแรงแสนเร็วรี่
นกกระดาษวาดในท่าที จะปล่อยฝันที่ปลายฟ้า
เป็นยามแดดอ่อนสยาย พร้อมอวลพล่านอายหมอกหนา
นกน้อยคล้อยต่ำเพียงตา แรงล้าร่วงสงบซบพื้น ฯ
(เสียงกู่ร้องของเมล็ด : สันต์ธวัช ศรีคำแท้)
- แด่ ผู้สร้างโลก -
สหายรัก ค้อนหนักในมือถือมั่น
ฟาดลงด้วยแรงแกร่งนั้น สร้างสรรค์โลกให้ไพบูลย์
ทำงานทานทุกข์ทวนถวิล ไร้สิ้นราชศักดิ์ไอศูรย์
หลั่งเลือดน้ำตาอาดูร แอกทูนทับบ่าสารพัน
ชีพนี้มีค่าคราเมื่อ หยาดเหงื่อขายแรงแข็งขัน
ไร้ผู้อยู่เพื่อเกื้อกัน เว้นแต่ชนชั้นของตน
สหายเอ๋ย คงเคยได้ประสบพบผล
แดนดินถิ่นกว้างกลางสกล มหาชนคนงานผ่านทุกข์
หลายร้อยล้านแล้วแผ้วถาง แสงสว่างสัจธรรมนำสุข
เคยสู้เคยล้มเคยลุก บั่นบุกกว่าได้ชัยมา
เราควรรู้คิดอดีตเขา คืออนาคตเราเมื่อหน้า
มือสองต้องพลิกพสุธา จนกว่าจะพิชิตจิตจง
สหายรัก หน้าที่ทรงศักดิ์สูงส่ง
แม้เข่าจักคู่ลู่ลง แม้หลังจักคงค้อมไป
ชีวิตยังอยู่สู้เถิด ก่อเกิดอนาคตสดใส
สู้เถิดด้วยแรงด้วยใจ เพื่อมหาประชาชัยไกรฟ้า
ชัยชนะที่เหนื้อชัยชนะ ย่อมจะคงอยู่คู่หล้า
สัจธรรมที่ท่านศรัทธา ย่อมจะโรจน์โชตินภาชั่วนิรันดร์
(จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย : ทวีปวร)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)
![](http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/AJ.png)
•
กลับสู่หน้า สารบัญ กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก ![](http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/AJ.png)