- กลอนเจ็ด (กลอน ๗) -
กลอนเจ็ด (กลอน ๗) คือกลอนสุภาพชนิดหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่ากลอนแปด เป็นกลอนที่กำหนดให้มีวรรคละ ๗ คำ ลักษณะรูปแบบเหมือนกลอนสุภาพอื่นทุกประการ แต่ต่างกันตรงที่จำนวนคำเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวกำหนดจังหวะการอ่านและตำแหน่งการรับสัมผัสนอก ให้เป็นไปตามรูปแบบลักษณะเฉพาะของกลอนเจ็ดนี้
๑.) รูปแบบของกลอนเจ็ด (กลอน ๗) (ดูผังด้านบนประกอบ)
๑.๑) จำนวนคำ
- กลอนเจ็ดหนึ่งบทนั้น จะมี ๒ บาท (ยุคต้นนั้นเรียก “บาท” ว่า “คำกลอน”)
- แต่ละบาทแบ่งเป็น ๒ วรรค
- แต่ละวรรคมี ๗ คำเป็นพื้น (บางครั้งอาจยืดหยุ่นตามความเหมาะสม)
ทั้งนี้ กลอนสำนวนหนึ่ง จะมีความยาวกี่บทก็ได้ ไม่มีข้อบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและความพอใจของผู้เขียน แต่ให้ทำความเข้าใจเสมอว่า กลอน ๑ บท คือ กลอน ๔ วรรค (หรือ ๒ บาท (๒ คำกลอน))
และแต่ละวรรคทั้ง ๔ วรรคภายในบทกลอนนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะ คือ
วรรคที่ ๑ เรียกว่า “วรรคสดับ” ...... วรรคที่ ๒ เรียกว่า “วรรครับ”
วรรคที่ ๓ เรียกว่า “วรรครอง” ....... วรรคที่ ๔ เรียกว่า “วรรคส่ง”
โดยกลอนเจ็ด (กลอน ๗) แต่ละวรรคจะแบ่งช่วงและจังหวะการอ่านเป็น ๓ ช่วงคือ ๒ / ๒ / ๓ เหมือนกันทุกวรรค (ยักเยื้องได้บางกรณี แต่ยังคง ๓ ช่วงเช่นเดิม)
หมายเหตุ : การนับคำในกลอนนั้น นับตามเสียงพยางค์ที่เปล่งออกมาหนึ่งครั้งต่อหนึ่งคำ แต่หากคำใดที่เป็นคำมูลที่มีสระเสียงสั้นประกอบ เช่น สวรรค์ พินิจ กุสุม เกษม วิหค กระจิบ ฯลฯ นั้น ผู้ประพันธ์สามารถนับได้ให้เป็น ๑ คำ หรือ ๒ คำก็ได้ แล้วแต่เจตนาของผู้เขียน
๒.) ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)
๒.๑) สัมผัสภายในบท
สัมผัสภายในบทของกลอนเจ็ด นั้น มีดังนี้
๑) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ เชื่อมสัมผัสไปยัง คำที่ ๒ (หรือ ๔) ของวรรคที่ ๒
๒) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยัง คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
๓) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ เชื่อมสัมผัสไปยัง คำที่ ๒ (หรือ ๔) ของวรรคที่ ๔
๒.๒) สัมผัสระหว่างบท
สัมผัสระหว่างบทของกลอนเจ็ดนั้น คือ
คำสุดท้ายของบทก่อนหน้าส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายในวรรคที่ ๒ ของบทถัดไป
๓.) เสียงท้ายวรรค
กลอนสุภาพถือเป็นบทร้อยกรองชนิดเดียวที่มีกฎเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับการใช้เสียงท้ายวรรคแต่ละวรรค ถือเป็นฉันทลักษณ์บังคับสำคัญ
กลอนเจ็ด (กลอน ๗) นี้ก็เช่นเดียวกับกลอนสุภาพชนิดอื่น ๆ ที่เสียงท้ายวรรคแต่ละวรรคือประกอบด้วยข้อห้ามและข้ออนุญาต ดังต่อไปนี้
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ใช้ได้ทุกเสียง (ข้อนี้หลายผู้บอกว่าถึงใช้ได้ทุกเสียง แต่ไม่นิยมใช้เสียงสามัญ เนื่องจากไม่ไพเราะเพราะเสียงราบเรียบ แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นต่างออกไป ว่าถึงแม้จะเป็นเสียงสามัญ ก็ไพเราะไม่แพ้เสียงอื่น ๆ หากว่ามีการไล่เรียงระดับเสียงสูงต่ำของคำแต่ละคำที่ใช้ภายในวรรคนี้อย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้เขียนเสียมากกว่า)
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ใช้ได้เฉพาะ เสียงเอก โท จัตวา ห้ามใช้เสียงสามัญและตรี
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ ใช้ได้เฉพาะ เสียงสามัญและเสียงตรี ห้ามใช้เสียงเอก โท จัตวา
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ใช้ได้เฉพาะ เสียงสามัญและเสียงตรี ห้ามใช้เสียงเอก โท จัตวา (เหมือนวรรคที่ ๓)
* หลักการจำง่าย ๆ คือ จำกฎเสียงท้ายวรรคที่ ๒ ให้แม่นยำ ส่วนวรรคที่ ๓ และ ๔ ให้จำว่า ตรงข้ามกับวรรคที่ ๒ เท่านั้นเอง
00000000000000000000000000000000000000000
- ตัวอย่างคำประพันธ์ กลอนเจ็ด (กลอน ๗) บางส่วน -
- ขับไม้มโหรี -
๘๖. หน้าหนาว /หนาวเยือก /อยู่เย็นเยียบ เย็นเฉียบ /น้ำค้าง /พรมผสม
เร่งฟ้า /เร่งฝน /หล่นระดม ระบม /บอบช้ำ /ทุกช่อใบ
๘๗. ต้องปลิดต้องปล่อยต้องลอยลับ เพื่อให้ที่กับการเกิดใหม่
การเกิดทุกครั้งทุกคราวไป เป็นทุกข์ยิ่งใหญ่ทุกคราวครั้ง
๘๘. ขอแสงแดดอุ่นอย่ารุนแรง ขอแสงแห่งดวงตะวันหวัง
ชีวิตนิดน้อยคอยพลัง หยัดยั่งเหยียดยืนจากพื้นดิน
๘๙. ขอสีสักหน่อยนะสายรุ้ง
ช่วยปรุงเป็นสีกระบวนศิลป์
ไขสีเขียวสดค่อยรดริน
ประประทิ่น ทิพย์หอม ละม่อมละมุน
๙๐. ประดอกประดับระยับระย้า
ลดแสงแดดกล้าให้กรายอุ่น
สีเหลืองเรืองรามความการุณย์
ว้าวุ่นหวั่นไหวคลายระงับ
๙๑. พิกุลกรุ่นกลิ่นกระจายหอม
กลีบล้อมกลีบเลี้ยงเพียงอัจกลับ
น้อยน้อยพร้อยพราวดาวระยับ
จีบจับจีบจดที่กลางใจ
๙๒. ชื่นชิดสนิทนานปานแป้งร่ำ
สดฉ่ำน้ำปรุงประพรมใหม่
ดอกนิดดอกน้อยร้อยมาลัย
ขวัญเอยอย่าไปอยู่ไกลตัว
๙๓. อยู่เถิดจงดีที่ลานร่ม
แดดพรมพร้อยลายฉลุทั่ว
ดอกดวงร่วงลมละลานรัว
มิ่งขวัญอย่ากลัวอย่าเกรงเลย
๙๔. เจ้าคือความจริงอันยิ่งใหญ่
ปรากฏเป็นไปอย่างเปิดเผย
คล้องจองจังหวะประกอบเกย
ไม่เคยผิดพรากจากเคยเป็น
............ ฯลฯ ............
(ขับไม้มโหรี : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
- เพลงปี่ซังข้าว -
เพลงปี่ซังข้าวของใครหนอ
ถักทอทรมานกังวานไหว
ข้าวโรยทุ่งร้างหรืออย่างไร
เพลงคนยากไร้หรือใครกัน
หรือแส้ลมหนาวโบยดาวดับ
บาดแผลจึงระยับในคืนฝัน
หรือใจใครทุกข์ถูกลงทัณฑ์
จึงร้องทุกข์นั้นต่อฟ้าดิน
หรือคือลำนำแห่งชีวิต
ขับฝันเนรมิตคีตศิลป์
หมื่นชอกแสนช้ำจนชาชิน
จดจำย้ำยินด้วยวิญญาณ
เพลงปี่ซังข้าวคืนหนาวเหน็บ
บอกความปวดเจ็บระคนหวาน
บอกว่าความหวังจะกังวาน
แว่วผ่านค่ำคืน... ชื่นอรุณ ฯ
(คือแรงใจและไฟฝัน : ไพวรินทร์ ขาวงาม)
- เหลืองทองอันว่องวับ -
พร้อมกับแสงทองขึ้นผ่องฟ้า
เหลืองทองผ่องตาก็ปรากฏ
เคลื่อนไหวระหว่างทางค้อมคด
สืบบทแห่งบาตรองอาจนัก
สำรวมผ้าเหลืองเมื่อเยื้องย่าง
เบิกถนนหนทางอย่างรู้จัก
ผ่านบ้านทุกบ้านไม่คร้านพัก
แม้บ้านนั้นมักมิไยดี
แต้มแวววาบวับแล้วลับหาย
โดดเดี่ยวเดียวดายไม่คลายคลี่
สงบด้วยดวงตาและท่าที
สานต่อประเพณีซึ่งมีมา
ท่าวทบลบทางที่ย่างย่ำ
ใกล้ไกลได้กล้ำจนเกินค่า
ร่วงรุ้งตะวันถะถั่นทา
เริ่มหวาดหวั่นหว่าในอารมณ์
ผ่านไปในทางกระจ่างแสง
อิดล้าโรยแรงเหลือจะข่ม
นิ่มนวลเนิ่นช้ายังน่าชม
ยังน่านิยมอยู่เยี่ยมยง
ครองบทครองบาตรลีลาศรุด
ครองใจชาวพุทธเคยสูงส่ง
บาตรเปล่าเท้าเปลือยล้าเรื่อยลง
เหลืองทองผ่องพงศ์ใกล้พรับตา ฯ
(แรคำ : แรคำ ประโดยคำ)
- แกงฟักซี่โครงไก่ -
คือเขาทั้งสองในห้องพัก
มื้อแลงแกงฟักซี่โครงไก่
พัดลมตัวเก่าช่วยเป่าไอ
ข้าวสวยเม็ดใหม่หอมให้ฟุ้ง
ทุกมื้อข้าวเหนียวสร้างเรี่ยวแรง
มื้อนี้มีแกง-แต่งข้าวหุง
รีบกินรีบตักให้หนักพุง
ฝูงยุงบ้าคลั่งกำลังมา
เทียวตักชิ้นไก่ส่งให้เธอ
เขี่ยเจอความหมายระบายหน้า
ส่งเคียงข้าวสุกให้ทุกครา
ปรารถนาเจ้าลิ้มให้อิ่มท้อง
เขาตักกี่คำล้วนน้ำแกง
เน้นแต่ฟักแฟงจนแกงพร่อง
ลมค่ำลอยครืนชื้นละออง
ทำนองเพลงใจแฝงในนั้น
เป็นอีกมื้อก่ออิ่มพอดี
เพื่ออีกมื้อมีตามที่ฝัน
บางสิ่งเกิดมาเพื่อคู่กัน
ไก่พันธุ์แกงฟักตระหนักรส ฯ
(ชายคาเดียวกาล : องอาจ สิงห์สุวรรณ)
- บ่วง -
ความรักถักบ่วงชื่อห่วงใย
โอบรัดมัดใจมิให้หนี
แมงมุมสุมกายท่วมใจนี้
ขึงใยไมตรีแนบชีวิต
บาง ใส ไร้แก่นแต่แสนเหนียว
โน้มเหนี่ยวเกี่ยวกอดสานสอดจิต
ละมุนละไมยามใกล้ชิด
ก่อนติดเต็มร่างขึงหว่างใจ
ทุกข์สุขสำราญร่วมผ่านพบ
เกินลบภาพหลังสะพรั่งไหล
ความรักถักบ่วงชื่อห่วงใย
ซี่กรงโปร่งใสเกินบ่ายบิน
นกน้อยตัวหนึ่งถูกรึงรัด
สัมผัสใจอยู่มิรู้สิ้น
เหมือนจันทร์พันดวงในห้วงจินต์
ส่องใสไหลรินเกินบินคว้า ฯ
(ฝูงนกเหนือวิหาร : โชคชัย บัณฑิต)
- พลัน -
มองยังสังคมที่ซมไข้
มองไปเห็นปมอันขมขื่น
มองย้อนก่อนกาลถึงวานซืน
ยากขืนคิดย้อนถึงก่อนมา
สิ้นหวังทั้งที่หวังมิสิ้น
แทบดิ้นแดโดยในโหยหา
ตาตกอกช้ำอุ้มน้ำตา
เหมือนว่าชีวิตโดนปิดตาย
หนาวในใจนักเกินหักหนาว
เหงาร้าวราวร้างมิห่างหาย
สนสับจับต้นมิชนปลาย
แผลรวดปวดร้ายเข้าว่ายวน
เต็มวิ่นสิ้นหวังเต็มสังเวช
ไร้ขอบไร้เขตไร้เหตุผล
มืดหมองครองทั่วบนตัวตน
ไหลท้นท่วมทางที่ย่างเท้า
ค่ำคืนขื่นขมอันซมไข้
วันวันสั่นไหวด้วยใจเศร้า
มองไปไม่พ้นตัวตนเรา
ยากห้ามความเหงากับเงามัน
ทันใดใจนึกรำลึกเห็น
ความเป็นทั้งปวงมีช่วงสั้น
ความตายคล้ายมีช่วงนิรันดร์
พลันเห็นเช่นนั้นจึงพลันรู้! ฯ
(จตุรงคมาลา : คมทวน คันธนู)
- ก่อนการเคลื่อนไหว -
หลังฟืนในเตา เริ่มเผาไหม้
เปลวไฟคุกรุ่นบอกคุณค่า
ข้าวเหนียวปั้นคำ จะนำพา
ศรัทธาหอบแรงเพื่อแปลงลง
น้ำพริกถ้วยนั้นของวันวัย
เยื่อใยภาระ ยังประสงค์
กระถินยอดใหม่จากไพรพง
ซื่อตรงในคำ ตามสมควร
ก่อนมุกของแดด จะแผดซ่าน
เหงื่องานปลุกปั้น ความผันผวน
มิเคยลดละ ในขบวน
หลากล้วนเหนื่อยยาก ผู้ตรากตรำ
ฤดูผลัดแปลง ความแล้งร้อน
ตะกอนภาวะโหมกระหน่ำ
กลางความอึงอล รอฝนพรำ
หลังแดดแผดย้ำ กับนัยน์ตา
ใกล้การไถพรวน แห่งมวลหมู่
รับรู้เปิดเผย การเอ่ยอ้า
รอความเฟื่องฟุ้งเต็มทุ่งนา
ข้าวกล้าใบเรียว เขียวขจี
หลังฟืนในเตา เริ่มเผาไหม้
ดวงใจผลัดแปลงต่อแสงสี
มุกแดดแผดเงา เถ้าธุลี
นาทีเคลื่อนผ่านกาลเวลา
แอกไถในลาน ของวานวัน
รอการปลุกปั้นผู้สรรหา
สู่งาน, สู่คุ้ง, สู่ทุ่งนา
เถิดฟ้า เถิดฝน ดลบันดาล ฯ
(ดวงตาแห่งมาตุภูมิ : อิสระ คำวงศ์)
กลับไปเยี่ยมวัยเยาว์
- ครกกระเดื่อง -
จดตีนเหยียบยกแล้วตกตึง
แปรเป็นข้าวนึ่งจึงหอมหวาน
เบิกยิ้มบานใจในเหงื่องาน
เริ่มไถแรกหว่านสู่ลานดิน
ผุดภาพชีวิตอันชิดเชื้อ
ฝนอาบมาเอื้อแต่ทุ่งถิ่น
ผักหญ้าปลาปูพออยู่กิน
อุ่นเอื้อมิสิ้นใจดินฟ้า
เหยียบตกยกตึงจึงกังวาน
แดดอุ่นอาบลานและอาบหล้า
เสียงก้องเข้าไปในวิญญาณ์
เช้าชื่นตื่นตามาเติมไฟ
ตื่นเถิดตื่นตาละผ้าอุ่น
มาอาบละมุนอายแดดใหม่
ผลัดตีนเปลี่ยนตำทำนองใคร
ชักจูงฝูงไก่มาจิกกิน
อยู่เห็นเป็นเราในเช้าหนึ่ง
ฝันนึกลึกซื้งถึงกรวดหิน
ทุ่งหญ้านกหนอนทุกก้อนดิน
โบกบินเบิกบานถึงด้านใน
จึงเหยียบจึงยกจึงตกเต้น
จึงฝัดจึงเฟ้นเป็นข้าวใหม่
เห็นเทือกเห็นเถาลำเนาไท
เห็นเคียวงอบไถไปพรักพร้อม
รินเหงื่อแปรเหงื่อเป็นเนื้องาน
สายเหงื่อเจือจานแสนหวานหอม
จึงคนเกี่ยวกอบนั้นนอบน้อม
โค้งรวงจึงค้อมไปพร้อมกัน
ใต้ถุนอุ่นลานมานานแล้ว
ถิ่นทุ่งเถื่อนแถวสลายฝัน
ครกผุไถพังไปทั้งนั้น
เคียวงอบเงียบงันพลันเหงาใจ
เคยเร้าเฝ้าปลุกอยู่ทุกเช้า
ตึกตักหนักเบาหอมข้าวใหม่
ซึมซับรับรู้อยู่ด้านใน
กังวานก้องไหวอยู่ในเรา
เกิดท่วงทำนองของชีวิตต
หนึ่งนี้น้อยนิดจะเปื่อยเน่า
ดินน้ำถนอมคอยกล่อมเกลา
แผ่รากฝากเหง้าอยู่แต็มงาน
เปลี่ยนท่วงทำนองของชีวิต
หนึ่งนี้ถือสิทธิ์แผ่ไพศาล
จิบน้ำจอกจ้อยกินน้อยจาน
พลิกลอมพอลาน-สู่ด้านใด
จึงโกยจึงกอบไม่นอบน้อม
ตะวันยังยอมอ้อมข้าวได้
โค้งรวงยังค้อมยังพร้อมใจ
กราบไหว้ในพุทธะแผ่นดิน ฯ
(แม่น้ำรำลึก : เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)
•
กลับสู่หน้า สารบัญ กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก