- กลอนแปด (กลอน ๘) -
กลอนแปด (กลอน ๘) คือกลอนสุภาพชนิดหนึ่ง ที่อาจเรียกได้ว่าได้รับความนิยมที่สุดในหมู่กลอนสุภาพด้วยกัน เป็นกลอนที่กำหนดให้มีวรรคละ ๘ คำ ลักษณะรูปแบบเหมือนกลอนสุภาพอื่นทุกประการ แต่ต่างกันตรงที่จำนวนคำเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวกำหนดจังหวะการอ่านและตำแหน่งการรับสัมผัสนอก จะอยู่ในตำแหน่งคำที่เหมาะสมกับรูปแบบลักษณะเฉพาะของกลอนแปดนี้
๑.) รูปแบบของกลอนแปด (กลอน ๘) (ดูผังด้านบนประกอบ)
๑.๑) จำนวนคำ
- กลอนแปดหนึ่งบทนั้น จะมี ๒ บาท (ยุคต้นนั้นเรียก “บาท” ว่า “คำกลอน”)
- แต่ละบาทแบ่งเป็น ๒ วรรค
- แต่ละวรรคมี ๘ คำเป็นพื้น (บางครั้งอาจยืดหยุ่นตามความเหมาะสม)
ทั้งนี้ กลอนสำนวนหนึ่ง จะมีความยาวกี่บทก็ได้ ไม่มีข้อบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและความพอใจของผู้เขียน แต่ให้ทำความเข้าใจเสมอว่า กลอน ๑ บท คือ กลอน ๔ วรรค (หรือ ๒ บาท (๒ คำกลอน))
และแต่ละวรรคทั้ง ๔ วรรคภายในบทกลอนนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะ คือ
วรรคที่ ๑ เรียกว่า “วรรคสดับ” ...... วรรคที่ ๒ เรียกว่า “วรรครับ”
วรรคที่ ๓ เรียกว่า “วรรครอง” ....... วรรคที่ ๔ เรียกว่า “วรรคส่ง”
โดยกลอนแปด (กลอน ๘) แต่ละวรรคจะแบ่งช่วงและจังหวะการอ่านเป็น ๓ ช่วงคือ ๓ / ๒ / ๓ เหมือนกันทุกวรรค (ยักเยื้องได้บางกรณี แต่ยังคง ๓ ช่วงเช่นเดิม)
หมายเหตุ : การนับคำในกลอนนั้น นับตามเสียงพยางค์ที่เปล่งออกมาหนึ่งครั้งต่อหนึ่งคำ แต่หากคำใดที่เป็นคำมูลที่มีสระเสียงสั้นประกอบ เช่น สวรรค์ พินิจ กุสุม เกษม วิหค กระจิบ ฯลฯ นั้น ผู้ประพันธ์สามารถนับได้ให้เป็น ๑ คำ หรือ ๒ คำก็ได้ แล้วแต่เจตนาของผู้เขียน
๒.) ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)
๒.๑) สัมผัสภายในบท
สัมผัสภายในบทของกลอนแปด (กลอน ๘) นั้น มีดังนี้
๑) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ เชื่อมสัมผัสไปยัง คำที่ ๓ (หรือ ๕) ของวรรคที่ ๒
๒) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยัง คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
๓) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ เชื่อมสัมผัสไปยัง คำที่ ๓ (หรือ ๕) ของวรรคที่ ๔
๒.๒) สัมผัสระหว่างบท
สัมผัสระหว่างบทของกลอนแปดนั้น คือ
คำสุดท้ายของบทก่อนหน้าส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายในวรรคที่ ๒ ของบทถัดไป
๓.) เสียงท้ายวรรค
กลอนสุภาพถือเป็นบทร้อยกรองชนิดเดียวที่มีกฎเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับการใช้เสียงท้ายวรรคแต่ละวรรค ถือเป็นฉันทลักษณ์บังคับสำคัญ
กลอนแปด (กลอน ๘) นี้ก็เช่นเดียวกับกลอนสุภาพชนิดอื่น ๆ ที่เสียงท้ายวรรคแต่ละวรรคือประกอบด้วยข้อห้ามและข้ออนุญาต ดังต่อไปนี้
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ใช้ได้ทุกเสียง (ข้อนี้หลายแห่งบอกว่าถึงใช้ได้ทุกเสียง แต่ไม่นิยมใช้เสียงสามัญ เนื่องจากไม่ไพเราะเพราะเสียงราบเรียบ แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นต่างออกไป ว่าถึงแม้จะเป็นเสียงสามัญ ก็ไพเราะไม่แพ้เสียงอื่น ๆ หากว่ามีการไล่เรียงระดับเสียงสูงต่ำของคำแต่ละคำที่ใช้ภายในวรรคนี้อย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้เขียนเสียมากกว่า)
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ใช้ได้เฉพาะ เสียงเอก โท จัตวา ห้ามใช้เสียงสามัญและตรี
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ ใช้ได้เฉพาะ เสียงสามัญและเสียงตรี ห้ามใช้เสียงเอก โท จัตวา
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ใช้ได้เฉพาะ เสียงสามัญและเสียงตรี ห้ามใช้เสียงเอก โท จัตวา (เหมือนวรรคที่ ๓)
* หลักการจำง่าย ๆ คือ จำกฎเสียงท้ายวรรคที่ ๒ ให้แม่นยำ ส่วนวรรคที่ ๓ และ ๔ ให้จำว่า ตรงข้ามกับวรรคที่ ๒ เท่านั้นเอง
00000000000000000000000000000000000000000
- ตัวอย่างคำประพันธ์ กลอนแปด (กลอน ๘) บางส่วน -
- แทบตักเทวิน -
เรากำลัง/จะหลับ/กับความหลัง เงี่ยหูฟัง/วังเวง/เพลงสายฝน
ฟ้าย่ำฆ้อง/กลองร่ำ/รัวคำรณ สาวอัปสร/โสภณ/พรมดนตรี
ประนมแนบแอบอุ่นหนุนเมฆนุ่ม ฝันถึงกลุ่มเกลียววาววงดาวคลี่
ดอกไม้แห่งหุบผาวนาลี รอเทวีแห่งทิวาจะมาเยือน
ดั่งนานนับกัปกัลป์ได้ฝันถึง
คืนวันซึ่งซึ้งละมุนอบอุ่นเหมือน
ความสุขอันผ่านมาแล้วพร่าเลือน
สัมผัสเตือนตาหลับกับภวังค์
ลมระเรื่อยเฉื่อยเฉี่ยวเคียวใบข้าว
กังหันน้าวระหัดน้ำทำนบขัง
ระลอกนองกรองใสร่มใบบัง
แพงพวยหยั่งยอดพันสันตะวา
เราย่ำน้ำนองไหลไปตามน้ำ
เย็นเย็นฉ่ำชื่นเนื้อเย็นเสื้อผ้า
กลีบผีเสื้อโสนรายที่ปลายนา
ปลิวว่ายฟ้าลอยฟ่องเหมือนทองคำ
ลมฝนโชยชื่นกลิ่นไอดินหอ
สะแกค้อมกิ่งก้มร่มฝนฉ่ำ
เราเป่าใบไม้ขับรับลำนำ
ดอกระบำน้ำฝนบนลานดิน
วันเช่นนั้นนานไกลในความคิด
ซึ้งสนิทนุ่มนวลชวนถวิล
เอื้อมเด็ดช่อปาริฉัตรทัดเทวิน
น้ำตารินรินซับกับตักเธอ ฯ
(คำหยาด : เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
- เล่นกับไฟ -
เห็นกองเพลิงเริงแสงแผดแรงจ้า
แมงเม่าถาร่างโถมเข้าโลมแสง
ประกายไฟลามโรจน์ลุกโชติแดง
ปีกกรอบแห้งแรงร้อนจะมรณ์ไป
ทั้งที่รู้ว่าร้อนใครสอนเจ้า
เอากายเข้าเคลียคลุกให้ลุกไหม้
โน่นเพื่อนพ้องพ่างพับอยู่วับไว
เหตุไฉนไม่เห็นเอาเป็นครู
อันแมงเม่า
เปรียบก็เท่าหญิงที่อวดดีอยู่
ทุ่มกายใจเข้าค้ำรักดำรู
ทั้งที่รู้รักร้ายมาหลายคราว
หยิ่งว่าตนคือหญิงรักยิ่งใหญ่
ทะนงใจเมื่อแรกคราแตกสาว
คิดว่าความไยดีที่ค่าพราว
อาจโน้มน้าวคนทรามดื่มความดี
แมงเม่าเริงเพลิงเล่นจนเป็นผง
เพราะใหลหลงรุนแรงในแสงสี
การคบชายชั่วช้าของนารี
รัก คือที่เสี้ยมสอนให้หล่อนทำ
ฉันก็เช่นหญิงอื่นที่ดื่นอยู่
เมื่อรักกรูกลบกมลจนถลำ
จำทอดใจไยดีเหมือนมีกรรม
กว่าวันช้ำชอกตายคล้ายแมลง ฯ
(คืนวันที่ผันผ่าน : นิภา บางยี่ขัน)
- ดอกไม้ปักแจกัน -
เมื่อพี่มอบดอกไม้ให้ช่อหนึ่ง
น้องคงซึ้งแก่ใจมิใช่หรือ
ใช่เพียงพี่มั่นหมายให้ด้วยมือ
แท้นั้นคือสื่อแสงจากแรงใจ
กลีบแรกแม้นแทนใจที่ใฝ่รัก
สองความภักดิ์มิ่งมิตรหมายชิดใกล้
สามคือความอาวรณ์ก่อนจากไกล
สี่เลื่อมใสศรัทธาที่เธอมี
ห้าสายใยไมตรีไม่มีขาด
หกชีวาตม์ซึ่งรักในศักดิ์ศรี
เจ็ดความห่วงและหวงดวงฤดี
แปดปรานีนงพงากว่าชีวิต
แม้ดอกไม้นี้มีกลีบกี่ร้อย
จริงจากถ้อยเท่านี้ไม่มีผิด
เพราะเป็นพากย์จากใจไม่ต้องคิด
ควรมิ่งมิตรปักมั่น...แจกันใจ ฯ
(สุดสงวน - ประยอม ซองทอง)
- แม่ -
ดื่นดึกหนาวดาวเด่นเย็นยะเยียบ
เสียงความเงียบเสียดแทงในแท่งหิน
ล้อแห่งกาลผ่านเลื่อนเหมือนโบยบิน
เสียงแม่ดินรินร่ำคำห่วงใย
แม่โอบเอื้อเผื่อแผ่แก่ลูกสิ้น
อกแม่ดินตระหนี่เคยมีไหม
หากลูกรักรักคืนแม่ชื่นใจ
แม้ลูกไหนไม่รักไม่หักราน
ในรวงข้าวแม่ผสมนมอร่อย
ในลำอ้อยแม่ผสมน้ำนมหวาน
กลีบดอกเอื้องแม่แต่งสีแบ่งบาน
ชูช่อก้านคลี่พวงยวงระย้า
เรียงลำไผ่แม่สอนให้อ่อนพลิ้ว
ขับเพลงผิวแผ่วกล่อมถนอมป่า
หยาดน้ำค้างพร่างแพรวแนววนา
คือน้ำตาเต็มตื้นแม่ชื่นชม
ขอลูกผองของแม่แผ่ความรัก
ร่วมทอถักแทนแพรให้แม่ห่ม
คุ้มแรงร้อนผ่อนแสงร้อนแรงลม
หยุดเคืองข่มงอแงรังแกกัน ฯ
(ข้ามขอบฟ้า : มะเนาะ ยูเด็น)
- ลืม -
จากสายตาสบกันวันสุดท้าย
บอกความหมายสิ้นมิตรสิ้นคิดถึง
สิ้นความหวังสิ้นรอยรักร้อยรึง
และสิ่งซึ่งหวังดีมีต่อกัน
แววตาเธอวันนั้นบอกฉันว่า
"ที่ผ่านมาลืมเลือนเหมือนความฝัน
มิอาลัยความจริงสิ่งผูกพัน
เมื่อถึงวันชีพหมองต้องแยกทาง"
เราจากกันนานเนิ่นมากเกินแล้ว
คิดถึงแววตามองยังหมองหมาง
รักเคยชื่นยืนยืดกลับจืดจาง
สวาทร้างชีพคล้อยฝันลอยลม
โอ้รื่นรื่นชื่นกลิ่นประทิ่นโฉม
เคยไล้โลมเลื่อนลูบจูบปอยผม
หอมรินรินกลิ่นนวลชื่นชวนชม
อาบอารมณ์จับใจลืมไม่ลง
งามละม่อมหอมละมุนกรุ่นกลิ่นแก้ม
ราวจะแย้มความงามให้ตามหลง
สวาทเวียนวนรักพะวักพะวง
แต่ก็คงพลัดพรากจากกันไกล
อารมณ์ลอยคล้อยตามสู่ความหลัง
รักเธอยังรางรางอยู่บ้างไหม
ถ้าจูบแรกด่ำดื่มก็ลืมไป
ก็จะไม่ติดตามถามอีกเลย ฯ
(สนธิกาญจน์ : สนธิกาญจน์ กาญจนาสน์)
- ความจริงที่น่ารังเกียจ -
ถ้าเธอถามความทุกข์เพื่อปลุกปลอบ
จะเอ่ยตอบข้อความที่ถามไถ่
ถามเพื่อเย้ยเอ่ยคำถามทำไม
เพื่อไยไพถากถางอย่างเลือดเย็น
ถ้าฉันเป็นเช่นฉันในวันก่อน
คงง้องอนทุกทีอย่างที่เห็น
จะมารยาสาไถยทำไม่เป็น
ไม่ซ่อนเร้นอำพรางทุกอย่างไป
เมื่อมีเล่ห์เพทุกบายกันหลายเล่ห์
ความคงมั่นหันเหเป็นเฉได้
โลกจึงมีสีคล้ำด้วยช้ำใจ
ฉันจึงเป็นเช่นใครในวันนี้
เชื่ออะไรในนิยามความเป็นมิตร
เมื่อความคิดซื่อตรงไม่คงที่
มิตรหรือผู้คู่ความก็ตามที
ไม่เห็นมีที่ต่างกันอย่างไร
อยู่กับถ่านพาลเปรอะเลอะลามก
สกปรกล้วนเลวพาลเหลวไหล
ยังเป็นเพลิงเริงแรงโรจน์แสงไฟ
ลุกลามไหม้เผาผลาญรานกมล
หากใจคนทนช้ำได้ซ้ำซาก
คงไม่ยากหากช้ำซ้ำอีกหน
แต่ทุกวันฉันซึ้งค่าคำว่าคน
ไม่อดทนผู้ใดในคราบมิตร ฯ
(สนธิกาญจน์ : วันเนาว์ ยูเด็น)
- ขอบฟ้าขลิบทอง -
มิ่งมิตร
เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น
ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน
ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม
ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว
ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม
ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม
ที่จะขมขื่นลึกโลกหมึกมน
ที่จะแล่นเริงเล่นเช่นหงษ์ร่อน
ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน
ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน
ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ
ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก
ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม
ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร
ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง
ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก
ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง
ที่จะมุ่งจุดหมายปรายทะนง
ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา
เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น
เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา
เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ ฯ
(ขอบฟ้าขลิบทอง : อุชเชนี)
- ซับทรวงเป็นสรวงสร้อย -
กวีที่ดีซื้งหยั่งถึงโลก
ราวโศลกรินร่วงจากสรวงสวรรค์
ดนตรีที่ดีเพราะเสนาะกรรณ
รินรินหลั่นไหลล่องทำนองเนื้อ
แต่โลกยังคั่งคับผู้หลับใหล
เห็นบอดใบ้สมองเบาโง่เขลาเหลือ
วิถีบาปหยาบสุมพิษคลุมเครือ
ทั้งออกตกใต้เหนือรกเรื้อคาว
สังเวชปราชญ์อนาถเห็นไม่เป็นปราชญ์
ทำเป็นศาสดาสอนกระฉ่อนฉาว
ลูกของตัวชั่วฉลฆ่าชนชาว
ปากปาวปาวปกป้องไม่ร้องปราม
คนเมาให้ไกลเลยอย่าเฉยนิ่ง
คนบ้าวิ่งอย่าใกล้อย่าไต่ถาม
คนชั่วให้ไกลตาสุดฟ้าคราม
คนโลภห้ามคบหาสมาคม
แก้ผลพิษฉีดยารักษาหาย
แก้กรรมร้ายเลวทรามเอาธรรมข่ม
ปัญหาซ้อนซ่อนแง่ต้องแก้ปม
แก้ตัณหาอารมณ์อย่าแก้กาย
............ ฯลฯ ............
(ซับทรวงเป็นสรวงสร้อย : คมทวน คันธนู)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)
•
กลับสู่หน้า สารบัญ กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก