- กลอนเก้า (กลอน ๙) -
กลอนเก้า (กลอน ๙) คือกลอนสุภาพชนิดหนึ่ง เป็นกลอนที่กำหนดให้มีวรรคละ ๙ คำ ลักษณะรูปแบบเหมือนกลอนสุภาพอื่นทุกประการ แต่ต่างกันตรงที่จำนวนคำมากกว่า จึงทำให้จังหวะการอ่านและตำแหน่งการรับสัมผัสนอกจะอยู่ในตำแหน่งคำที่เหมาะสมกับรูปแบบลักษณะเฉพาะของกลอนเก้านี้
๑.) รูปแบบของกลอนเก้า (กลอน ๙) (ดูผังด้านบนประกอบ)
๑.๑) จำนวนคำ
กลอนเก้าหนึ่งบทนั้น จะมี ๒ บาท (ยุคต้นนั้นเรียก “บาท” ว่า “คำกลอน”)
แต่ละบาทแบ่งเป็น ๒ วรรค
แต่ละวรรคมี ๙ คำเป็นพื้น (บางครั้งอาจยืดหยุ่นตามความเหมาะสม)
ทั้งนี้ กลอนสำนวนหนึ่ง จะมีความยาวกี่บทก็ได้ ไม่มีข้อบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและความพอใจของผู้เขียน แต่ให้ทำความเข้าใจเสมอว่า กลอน ๑ บท คือ กลอน ๔ วรรค (หรือ ๒ บาท (๒ คำกลอน))
และแต่ละวรรคทั้ง ๔ วรรคภายในบทกลอนนั้น มีชื่อเรียกเฉพาะ คือ
วรรคที่ ๑ เรียกว่า “วรรคสดับ” ...... วรรคที่ ๒ เรียกว่า “วรรครับ”
วรรคที่ ๓ เรียกว่า “วรรครอง” ....... วรรคที่ ๔ เรียกว่า “วรรคส่ง”
โดยกลอนเก้า (กลอน ๙) แต่ละวรรคจะแบ่งช่วงและจังหวะการอ่านเป็น ๓ ช่วงคือ ๓ / ๓ / ๓ เหมือนกันทุกวรรค (ยักเยื้องได้บางกรณี แต่ยังคง ๓ ช่วงเช่นเดิม)
หมายเหตุ : การนับคำในกลอนนั้น นับตามเสียงพยางค์ที่เปล่งออกมาหนึ่งครั้งต่อหนึ่งคำ แต่หากคำใดที่เป็นคำมูลที่มีสระเสียงสั้นประกอบ เช่น สวรรค์ พินิจ กุสุม เกษม วิหค กระจิบ ฯลฯ นั้น ผู้ประพันธ์สามารถนับได้ให้เป็น ๑ คำ หรือ ๒ คำก็ได้ แล้วแต่เจตนาของผู้เขียน
๒.) ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)
๒.๑) สัมผัสภายในบท
สัมผัสระหว่างวรรคภายในบทของกลอนเก้า (กลอน ๙) นั้น มีดังนี้
๑) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ เชื่อมสัมผัสไปยัง คำที่ ๓ (หรือ ๖) ของวรรคที่ ๒
๒) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยัง คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
๓) คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ เชื่อมสัมผัสไปยัง คำที่ ๓ (หรือ ๖) ของวรรคที่ ๔
๒.๒) สัมผัสระหว่างบท
สัมผัสระหว่างบทของกลอนเก้า (กลอน ๙) นั้น คือ
คำสุดท้ายของบทก่อนหน้า ส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายในวรรคที่ ๒ ของบทถัดไป
๓.) เสียงท้ายวรรค
กลอนสุภาพถือเป็นบทร้อยกรองชนิดเดียวที่มีกฎเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับการใช้เสียงท้ายวรรคแต่ละวรรค ถือเป็นฉันทลักษณ์บังคับสำคัญ
กลอนเก้า (กลอน ๙) ก็เช่นเดียวกับกลอนสุภาพชนิดอื่น ๆ ที่เสียงท้ายวรรคแต่ละวรรคือประกอบด้วยข้อห้ามและข้ออนุญาต ดังต่อไปนี้
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ใช้ได้ทุกเสียง (ข้อนี้หลายแห่งบอกว่าถึงใช้ได้ทุกเสียง แต่ไม่นิยมใช้เสียงสามัญ เนื่องจากไม่ไพเราะเพราะเสียงราบเรียบ แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นต่างออกไป ว่าถึงแม้จะเป็นเสียงสามัญ ก็ไพเราะไม่แพ้เสียงอื่น ๆ หากว่ามีการไล่เรียงระดับเสียงสูงต่ำของคำแต่ละคำที่ใช้ภายในวรรคนี้อย่างเหมาะสม ขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้เขียนเสียมากกว่า)
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ใช้ได้เฉพาะ เสียงเอก โท จัตวา ห้ามใช้เสียงสามัญและตรี
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ ใช้ได้เฉพาะ เสียงสามัญและเสียงตรี ห้ามใช้เสียงเอก โท จัตวา
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ใช้ได้เฉพาะ เสียงสามัญและเสียงตรี ห้ามใช้เสียงเอก โท จัตวา (เหมือนวรรคที่ ๓)
* หลักการจำง่าย ๆ คือ จำกฎเสียงท้ายวรรคที่ ๒ ให้แม่นยำ ส่วนวรรคที่ ๓ และ ๔ ให้จำว่า ตรงข้ามกับวรรคที่ ๒ เท่านั้นเอง
- ตัวอย่างคำประพันธ์ กลอนเก้า (กลอน ๙) บางส่วน -
- รุไบยาต -
ปากของเจ้า /สงบนิ่ง /จริงจริงนะ "เพื่อหัวใจ /ชัยชนะ" /มะ...เติมใหม่
ดื่มเถิดเพื่อน /ดื่มเถิดเรา /ดื่มเข้าไป เฉลิมโชค /ฉลองชัย /ได้ทุกวัน
จำเพื่อลืมดื่มเพื่อเมาเหล้าเพื่อโลก สุขเพื่อโศกหนาวเพื่อร้อนนอนเพื่อฝัน
ชีวิตนี้มีค่านักควรรักกัน รวมความฝันกับความจริงเป็นสิ่งเดียว
............ ฯลฯ ............
(รุไบยาต : แคน สังคีต)
- ชัยชนะจะสมปองต้องต่อสู้ -
ชัยชนะจะสมปองต้องต่อสู้
มิใช่อยู่ที่กราบไหว้ให้เขาหยัน
ให้พระคุณอุ่นเกล้าเห็นเป็นสำคัญ
โลกจะพลันเยาะเย้ยเอ่ยให้อาย
ศักดิ์ของเราเราต้องคงทะนงล้ำ
ความเป็นธรรมศรัทธาอยู่อย่ารู้หาย
เกียรติของเราเรารักษากว่าจะตาย
มิยอมขายวิญญาณให้แก่ใครกัน
เหนืออื่นใดในมนุษย์สุดสูงส่ง
คือธำรงสิทธิ์และศักดิ์รักษามั่น
สู้เถิดสู้! สู้ด้วยแรงแกร่งกล้านั้น
จงร่วมมานสมานฉันท์ต่อสู้ไป!
(จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย : ทวีปวร)
- กี่ขดก็กดขี่ -
ไดโนเสาร์เฝ้ายโสอวดโอ่สี
คอยแยกเขี้ยวเคี้ยวแล้วขี่ขึ้นตีขลุม
แบ่งชมรมก้มชำเราเข้าชุมรุม
มือเขย่าเท้าขยุ้มเข้ารุมยัด
หน้าก็ทนก้นก็ถ่างพุงกางเถือก
ดินไหวเฮือกเมือกตัณหาท่วมสาหัส
ขนอาวุธขุดจากเวียงแว้งเหวี่ยงวัด
บ้านแสนเคืองเมืองแสนขัดคนฟัดคน
ห้ามใครซ่าถ้าเขาเสือกง้างเกือกส่าย
ช่วยกันหามความฉิบหายให้หลายหน
แย่งสมบัติซัดกันบ้างทั้งล่างบน
นี่นายพันนั่นนายพลโน่นนายพวย
เคลื่อนรถถังคลั่งไล่เทียบเหยียบกระทืบ
ผลัดกันสานผ่านกันสืบคืบกินส่วย
เถือจนอิ่มทิ่มจนเอ่อแถกเอออวย
เสียงคนแซ่แย่กันซวยห่วยกันเซ็ง
ชาตินักสู้บู๊ปานสิงห์กระทิงเสือ
สยามเหยื่อเนื้อมันหยดมันซดเหย็ง
บินอย่างครุฑทุดทั้งครอกออกเส็งเคร็ง
นอกบ้านใบ้ในบ้านเบ่งเก่งบวมบอ
มุดการมุ้งมุ่งการเมืองมาดเขื่องมาก
มือถือศีลตีนถือสากน้ำปากสอ
คือโคนคุ้มคุมขุนขุนเคยคุ้นคอ
ร่วมกันกอบลอบกันก่อล่อกันโกง
รัฐทหารร่านประหัตรัฐประหาร
ล้มลงคลุกลุกขึ้นคลานพล่านทั้งโขลง
คล้ายหุ่นยนต์คนชักใยหวังใช้โยง
ค้ำฐานะต๊ะติ๊งโหน่งฉ้อโกงนาน
เกือบครึ่งศตวรรษซึ่งเห็นพึงเศร้า
เขียวทอดเถาเข้าแทนที่การมีฐาน
แผ่ทะมึนขึ้นขม่อมเหนือจอมมาร
เทียบขนาบทาบขนานจวบป่านนี้
ฆ่าเพื่ออยู่ขู่เพื่อยังขังเพื่อย่ำ
ขยำทับขยับทำขย้ำถี่
ขยี้ทิ่มขยิ้มแทงแขยงที-
อุบาทว์ถ่ายอุบายที่ภูติผีทำ
ยังจำมั่นวันที่หมางเมื่อทางหมอง
ศพรรเรียงเสียงแรกร้องยังก้องร่ำ
น้ำตาตกอกถูกตอกเหมือนหอกตำ
เห็นเต็มตาหญ้าราบต่ำยิ่งย้ำเตือน
ปวดจนเหน็บเจ็บจนหนาวในสาวหนุ่ม
ถูกไล่เชือดเลือดไหลชุ่มเขารุมเฉือน
สู่ดงดอยสอยดวงดาวสาวดวงเดือน
แอบสะทกอกสะเทือนกลาดเกลื่อนทิศ
เถาเลื้อยทอดยอดทุกทางแผ่กางทั่ว
อยู่เหนือหัวรัวระร่ำอำมหิต
คนหวั่นหวาดคนพลาดหวังทั้งชีวิต
ต้องมืดมิดจิตมัวเมาใต้เท้าทมิฬ
(นาฏกรรมบนลานกว้าง : คมทวน คันธนู)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)
•
กลับสู่หน้า สารบัญ กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก