- กลอนดอกสร้อย -
กลอนดอกสร้อย เป็นคำประพันธ์ประเภทกลอนชนิดหนึ่ง แล้วยังเป็นกลอนที่ใช้ร้องเล่นเพื่อความบันเทิง หรือร้องแก้โต้ตอบกันด้วย มีลักษณะการเขียน กฎเกณฑ์ สัมผัส และเสียงท้ายวรรคเหมือนกลอนสุภาพทุกประการ ต่างเพียงรูปแบบเฉพาะ ๓ ประการ ดังนี้
๑) ความยาว
หนึ่งบทดอกสร้อยมี ๘ วรรค หรือ ๔ คำกลอน (๒ วรรคถือเป็นหนึ่งคำกลอน) จะเขียนยาวหรือสั้นกว่านี้ไม่ได้ แต่ละวรรคมีจำนวนคำ ๖ - ๙ คำ ตามความเหมาะสม (ในผังแสดงไว้แบบ ๘ คำ)
๒) การขึ้นต้น
วรรคที่ ๑ หรือวรรคแรกของกลอนดอกสร้อย มี ๔ คำ ให้คำที่ ๑ และคำที่ ๓ ต้องซ้ำคำกัน และคำที่ ๒ เป็นคำว่า “เอ๋ย” เสมอ เช่น ข้าวเอ๋ยข้าวปลา ดอกเอ๋ยดอกสะเดา เป็นต้น
๓) การจบ
วรรคที่ ๘ ซึ่งเป็นวรรคสุดท้ายของกลอนดอกสร้อย ต้องจบคำสุดท้ายของวรรค ด้วยคำว่า "เอย" เพียงเท่านั้น ถ้าจบด้วยคำอื่น ถือว่าผิดรูปแบบ
- ตัวอย่างคำประพันธ์บางส่วน -
- แมวเหมียว -
๐ แมวเอ๋ยแมวเหมียว รูปร่างประเปรียวเป็นนักหนา
ร้องเรียกเหมียวเหมียวเดี๋ยวก็มา เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดู
รู้จักเอารักเข้าต่อตั้ง ค่ำค่ำซ้ำนั่งระวังหนู
ควรนับว่ามันกตัญญู พอดูอย่างไว้ใส่ใจเอย
(ดอกสร้อยสุภาษิต : พระประสิทธิ์อักษร (ทัด เปรียญ))
- ดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า -
๑. วังเอ๋ยวังเวง หง่างเหง่ง! ย่ำค่ำระฆังขาน
ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาล ค่อยค่อยผ่านท้องทุ่งมุ่งถิ่นตน
ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับ ตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน
ทิ้งทุ่งให้มืดมัวทั่วมณฑล และทิ้งตนตูเปลี่ยวอยู่เดียวเอย
๒. ยามเอ๋ยยามนี้ ปฐพีมืดมัวทั่วสถาน
อากาศเย็นเยือกหนาวคราววิกาล สงัดปานป่าใหญ่ไร้สำเนียง
มีก็แต่จังหรีดกระกรีดกริ่ง ! เรไรหริ่ง ! ร้องขรมระงมเสียง
คอกควายวัวรัวเกราะเปาะเปาะ ! เพียง รู้ว่าเสียงเกราะแว่วแผ่วแผ่วเอย
๓. นกเอ๋ยนกแสก จับจ้องร้องแจ๊กเพียงแถกขวัญ
อยู่บนยอดหอระฆังบังแสงจันทร์ มีเถาวัลลิ์รุงรังถึงหลังคา
เหมือนมันฟ้องดวงจันทร์ให้ผันดู คนมาสู่ซ่องพักมันรักษา
ถือเป็นที่รโหฐานนมนานมา ให้เสื่อมผาสุกสันติ์ของมันเอย
(พระยาอุปกิตศิลปสาร)
- เจ็ดดอกสร้อยแด่ชาวนาไทย -
๑. ชาวเอ๋ยชาวนา เช็ดน้ำตาดินฟ้าอย่าร้องไห้
เหงื่อรินหยดรดผืนแผ่นดินไทย เลือดรินไหลโลมผืนแผ่นดินชีวิต
เดินข้ามทุ่งประหนึ่งข้ามสนามรบ ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต
สถานถมเถ้ากระดูกทั่วทุกทิศ เซ่นศักดิ์สิทธิ์บูชาชาวนาเอย ฯ
๒. แม่เอ๋ยแม่โพสพ ไถแผ่นดินหลายตลบไม่พบแม่
เมื่อวานนี้ทุ่งสะเทือนเหมือนพ่ายแพ้ ตราบวันนี้ชะเง้อชะแง้แม่ไม่มา
เที่ยวถามทวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ถามดวงใจชำรุดทรุดซบหญ้า
ถามพรุ่งนี้พลีพิสุทธิ์สุดขอบฟ้า ผีชาวนาตะโกนกู่ไม่รู้เอย
๓. ขวัญเอ๋ยขวัญข้าว ขวัญแม่เหนื่อยแม่หนาวรวดร้าวขวัญ
ขวัญแม่เหมือนสูญลับชั่วกัปกัลป์ กลับมาเถิดรำพึงรำพันอนันตกาล
ขวัญชาวนาบุตรธิดาอำลาถิ่น ขวัญแม่ดินแม่น้ำอำลาบ้าน
ขวัญปู่ย่าตายายท้ายตำนาน ขวัญของข้าวแต่ละจานสะท้านเอย
๔. ข้าวเอ๋ยข้าวปลา กินด้วยกันเถิดหนาสักมื้อหนึ่ง
หนึ่งมื้อแห่งชาติภพพบคำนึง ร่วมคิดถึงท้องธารถิ่นทุ่งทาง
ในท้องน้ำมีปลา ในท้องนามีข้าว ในท้องฟ้ามีดาวดวงใดบ้าง
ในดงหนี้มีมนุษย์สุดอ้างว้าง อารมณ์ค้างตะโกนข้าชาวนาเอย
๕. ข้าวเอ๋ยข้าวขาย ข้าวกระจายบ้านนอกถึงเมืองไหน
ผ่านเมืองเล็กเมืองหลวงล่วงเมืองใด ราคาข้าวขายได้ใครซื้อดี
แรมทารุณทุนหายกำไรหด ซื้อข้าวกินแกมประชดโขมดผี
ชีพเกิดนาตายนาทั้งตาปี เป็นไทที่เป็นทาสอนาถเอย
๖. ข้าวเอ๋ยข้าวหาย ไม่ซื้อขายลงแขกแจกให้เห็น
สู้ทั้งศึกเพลี้ยกระโดดโลดลำเค็ญ อุทิศโจรเพื่อเป็นชาวนาไทย
อุทิศทั้งรัฐบาลท่านผู้เจริญ อุทิศทั้งผู้เหินเหาะเมฆได้
ทุเรศทุรังทั้งชีวิตและจิตใจ คนกับคนปล้นไปนานแล้วเอย
๗. กินเอ๋ยกินข้าว กินอิ่มแล้วอ่านข่าวข้าวขื่นขม
ชาวนาแขวนคอตายในสายลม ทิ้งความลับทับถมทุ่งสุดท้าย
ชาวนาคืออะไรใครใคร่รู้ ให้ขุดดินค้นดูซึ่งความหมาย
อาจแท้แล้วชาวนาฆ่าตัวตาย ก็เพื่อท่านทั้งหลายได้อยู่เอย
(ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต : ไพวรินทร์ ขาวงาม)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)
•
กลับสู่หน้า สารบัญ กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก