บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 คุณไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๖๑ - ทนายไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล ทำหน้าที่ว่าความให้วัดราชธานีได้ดีเป็นที่พอใจของพระผู้ใหญ่ และยังรับว่าความให้เอกชนได้รับความเป็นธรรมหลายคดี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง พระผู้ใหญ่ในจังหวัดสุโขทัยนำโดยหลวงพ่อห้อม พระครูสุภัทรธีรคุณ ขอร้องให้ทนายไพฑูรย์ลงสนามเลือกตั้งสมัครเป็น สส. สุโขทัยในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขาไม่กล้ารับ เพราะเป็นคนใหม่ของสุโขทัย ไม่มีฐานคะแนนเสียงเหมือนคนเก่า ๆ แต่พระผู้ใหญ่รับรองว่าพระส่วนใหญ่ของจังหวัดจะเป็นฐานคะแนนเสียงให้ เขาจึงรับลงสมัครตามคำขอของพระ ปีนั้นทางพรรคประชาธิปัตย์มอบหมายให้ นายเพ่ง ลิมปะพันธ์ อดีต สส. สุโขทัยนักการเมืองรุ่นลายครามมีอิทธิพลทางการเมืองมาก เป็นผู้คัดเลือกตัวบุคคลลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ขุนเพ่งไม่ยอมรับทนายไพฑูรย์ ท่านว่า
“ไอ้ตี๋คนนี้หิ้วกระเป๋ามาจากกรุงเทพฯ ไม่เหมาะที่จะสมัครเป็นสส. สุโขทัย”
เมื่อถูกขุนเพ่งปฏิเสธดังนั้น พระผู้ใหญ่เมืองสุโขทัยจึงทำหนังสือถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรค ปชป. ขอให้ส่งทนายไพฑูรย์ลงสมัคร สส.สุโขทัย โดยพระเจ้าอาวาสทุกวัดในจังหวัดนี้จะสนับสนุน ถ้าทางพรรคไม่ส่งทนายไพฑูรย์ลงสมัคร พระทั้งหมดจะไม่สนับสนุนพรรค ปชป. คุณชายเสนีย์จึงรับทำตามความต้องการของพระดังกล่าว
จังหวัดสุโขทัยสมัยนั้นมี สส.ได้ ๓ คน ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งเพียงเขตเดียว พรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัคร ๓ คน ประกอบด้วย นายไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล, นายเยื้อน มหาปัญญาวงศ์, นายธวัช สุรินทร์คำ เป็นคนหน้าใหม่ในวงการเมืองทั้งหมด ผู้สมัครต้องหาเสียงทั้งจังหวัด สนามการเมืองนี้มีอดีต สส. ที่อยู่ยืนยงมานานถึง ๓ คน คือ นายบุญธรรม ชุมดวง นายสำรวย ธรรมสุนทรา นายพจน์ เกิดผล ผู้สมัครของพรรค ปชป. เป็นเด็กหน้าไหม่ จึงต้องออกเดินหาเสียงกันอย่างหนัก ดีที่มีพระหัววัดช่วยกันหนุนหลัง ขอให้ญาติโยมลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายช่วยกันลงคะแนนให้ด้วย เวลานั้นเพื่อนทนายความของไพฑูรย์จากสำนักเสนีย์คนหนึ่งคือ นายชวน หลีกภัย ไปลงสมัคร สส. จังหวัดตรัง ได้เป็น สส. หนุ่มที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะปราศรัยเก่ง ครั้นนายไพฑูรย์ลงสมัคร สส. สุโขทัย เขาจึงขึ้นมาช่วยปราศรัยหาเสียงให้ด้วย
สมัยนั้นชาวบ้านยังศรัทธาในคำพูดของพระอยู่มาก ดังนั้นผลการเลือกตั้งสุโขทัยครั้งนั้นจึงพลิกสภาพที่เป็นรองให้กลับเป็นผู้ชนะ พรรค ปชป. ไม่เคยมีที่นั่ง สส. ในจังหวัดสุโขทัยมาก่อนเลย
ผลการเลือกตั้งปีนั้น ปรากฏว่าคนของ ปชป. ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. ๒ คน คือ นายไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล, นายธวัช สุรินทร์คำ ส่วนนายเยื้อน มหาปัญญาวงศ์ (เปรียญ) แพ้ให้แก่นายพจน์ เกิดผล (คนหาดเสี้ยวบ้านเดียวกัน) ไปอย่างน่าเสียดาย แม้กระนั้นก็ถือได้ว่า นายไพฑูรย์ นายธวัช ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้แก่พรรค ปชป. ที่มี สส. สุโขทัยเป็นครั้งแรก
ก่อนหน้านั้น สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าคณะใหญ่หนเนือ ได้เรียกหลวงพ่อห้อมไปพบที่วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ ท่านไปพักที่วัดใหม่ฯ บอกว่าไม่รู้ผู้ใหญ่ท่านเรียกมาพบเพื่ออะไร วันนัดพบข้าพเจ้าเป็นห่วง จึงขอติดตามไปด้วย พบว่าในที่นัดพบนัดนั้นมีท่านเจ้าคุณพระเทพวิริยาภรณ์ เจ้าคณะภาค นายนาคผู้รับเหมาก่อสร้าง และเจ้าหน้านี้ของกรมการศาสนานั่งอยู่ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สอบถามเรื่องวัดราชธานีตามข้อมูลของเจ้าคณะภาคและนายนาคหลายเรื่อง หลวงพ่อห้อมตอบปฏิเสธด้วยคำว่า “ไม่ทราบ ไม่รู้” เมื่อถามว่าจะยอมให้นายนาคยืมเงินไหม ท่านก็ยันว่า “ไม่” นายนาคกล่าวคำอ้อนวอนว่า
“เมตากระผมเถิดขอรับใต้เท้า กระผมหมดเนื้อหมดตัวแล้ว”
ข้าพเจ้านั่งฟังนานเป็นเวลาเกือบสองชั่วโมง อดรนทนไม่ไหวจึงยกมือขอพูดบ้าง สมเด็จฯ ถามว่าท่านเป็นใคร มาจากไหน จึงกราบเรียนว่า
“เกล้ากระผมพระปลัดอภินันท์ นาคเขโม มากับท่านพระครูสุขวโรทัย เคยเป็นเลขาส่วนตัวของพระราชประสิทธิคุณเจ้าอาวาสวัดราชธานี เกล้ากระผมทราบเรื่องราวเหล่านี้ดีพอสมควร ขอโอกาสให้กระผมกราบเรียนรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ไหมขอรับ”
เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ อนุญาต ข้าพเจ้าก็กล่าวตั้งแต่ไฟไหม้เมืองเมืองสุโขทัยแล้วทางการจัดทำผังเมืองใหม่ขอเวนคืนที่ดินของวัด โดยให้เงินผาติกรรมอันเป็นที่มาของการฟ้องร้องกัน เมื่อกล่าวถึงรายละเอียดต่าง ๆ แล้วก็สรุปว่า เงินค่าผาติกรรมนี้ทราบว่ามีระเบียบกฎหมายห้ามมิให้ใช้จ่ายในกิจการใด ให้ใช้ได้แต่เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น การที่จะบังคับให้พระครูสุขวโรทัยเซ็นยินยอมนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะท่านไม่ใช่พระวัดราชธานีและไม่มีอำนาจ พระวัดราชธานีและกรรมการวัดกับประชาชนชาววัดนี้คงไม่ยินยอม ทางที่ดีควรไปประชุมที่วัดราชธานีแล้วขอมติสงฆ์และประชาชนชาววัดนี้จึงจะควร สมเด็จ ฯ นั่งฟังนิ่งมาโดยตลอด ถึงตรงนี้ท่านกล่าวว่า
“เออ ท่านนี่พูดดีแล้ว”
หันไปสั่งเจ้าหน้ากรมการศาสนาว่า “ไปบอกมหาปิ่น (พ.ท.ปื่น มุทุกันต์) อธิบดีกรมดการศาสนาให้ไปจัดประขุมเรื่องนี้ที่วัดราชธานี ตามข้อเสนอของพระปลัดองค์นี้เถิด”
เรื่องวันนั้นจบลงตรงที่ยังไม่จบเรื่องคดีความ เรื่องลากยาวต่อมานานเป็นปี
อาจจะเป็นเพราะไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล ทนายความของวักราชธานี ได้รับเลือกตั้งเป็น สส. จังหวัดสุโขทัยนั้นเอง ทางผู้รับเหมาก่อสร้างที่เป็นคดีความฟ้องร้องกันอยู่ จึงได้ขอเจรจาประนีประนอมยอมความกัน หลวงพ่อห้อมไปนอนค้างปรึกษาหารือข้าพเจ้าที่วัดใหม่ฯ ข้าพเจ้าก็เห็นว่าทั้งวัดและนายนาคเป็นความกันมาอย่างยาวนานจนอ่อนเปลี้ยไปทั้งคู่แล้ว จึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายนาคที่ให้ประนีประนอมยอมความกัน โดยไม่มีใครแพ้ใครชนะ เรื่องของวัดราชธานีจึง เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ /๒๖๑
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี, คิดถึงเสมอ, เป็น อยู่ คือ, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช, ลายเมฆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) Cr. Photo By บ้านกลอนน้อยฯ เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๖๒ - ข้าพเจ้าเป็นประธานชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์อยู่เพียงปีเดียว สมาชิกมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากชื่อเสียงชมรมปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ที่สมาชิกส่งกลอนไปลงพิมพ์ คนอ่านพบเห็นแล้วถูกใจจึงติดต่อขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก เมื่อเห็นว่าชมรมเข้ารูปเข้ารอยดีแล้ว จึงขอวางมือ ให้จ่าสมพงษ์ โหละสุต รับหน้าที่เป็นประธานชมรมแทน โดยข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษาให้ สถานที่ตั้งชมรมก็ใช้กุฏิของข้าพเจ้านั้นต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง มิใช่แต่วางมือจากตำแหน่งประธานชมรมเท่านั้น ยังติดต่อทาบทามแฟนรายการ “สายธารใจ” หลายคนขอให้เขารับจัดทำรายการนี้แทนข้าพเจ้า ได้ครูล้วน สาลี อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสามเงารับทำงานนี้ จึงแจ้งให้ทางสถานี ป.ช.ส. ตาก ทราบและอนุญาตให้ครูล้วนจัดรายการสายธารใจต่อไป ครูล้วน ร่วมกับอาจารย์สมชาย นทีประสิทธิพร, อาจารย์สุเทพ วิเศษศักดิ์ศรี ที่อยู่ในเมืองตาก อาจารย์เหล่านี้เกิดในวงการกลอนได้ด้วยรายการ “สายธารใจ” เขารักรายการนี้มาก จึงร่วมกันรักษาไว้ให้เป็นสนามกลอนของชาวเมืองตาก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนระดับมัธยมของโรงเรียนผดุงปัญญาและตากวิทยาคมต่อไป
เมื่อปลดภาระงานกลอนออกได้แล้ว ข้าพเจ้าถือว่าว่างงานจึงไปสมัครเรียนภาษาอังกฤษที่วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเปิดสอนเฉพาะพระเณรเท่านั้น มีนักเรียนประมาณ ๕๐ คน ข้าพเจ้าแก่กว่าเพื่อน พวกพระเรียกหลวงพี่ พวกเณรเรียกหลวงน้าหลวงอา เรียนกับเด็กนี่ก็สนุกดี อาจารย์ผู้สอนสอนมีคนเดียวชื่อ อาจารย์ผ่อง เป็นคนอารมณ์ดี สอนสนุก อาจารย์ผ่องไม่ได้เรียนจบปริญญาอะไร ท่านบอกว่าเรียนจบแค่ ม.๖ (เดิม) เท่านั้น ความรู้ด้านภาอังกฤษของท่านได้จากทหารอเมริกัน โดยท่านเข้าไปทำงานในกองทัพอเมริกาซึ่งมาตั้งฐานทัพอยู่ที่อุดรธานี เพื่อรบกับคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม เขมร ลาว อยู่ฐานทัพนี้ต้องพูดภาษาอังกฤษตลอดเวลา เพราะพวกทหารพูดไทยไม่ได้ อาจารย์ผ่องจึงต้องเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเองจนมีความรู้ถึงระดับเป็นล่ามได้ดี
ภาษาอังกฤษของอาจารย์ผ่องเป็นแบบอเมริกัน ไม่ยึดติดในไวยากรณ์อังกฤษ สอนเน้นให้พูดกับฝรั่งได้รู้เรื่องเท่านั้น จึงมีคำสแลงต่าง ๆ มาสอนให้นักเรียนสนุกไม่รู้เบื่อ เวลาเณรทะเลาะกันในห้อง ด่ากันด้วยคำหยาบ ๆ อาจารย์จะบอกว่า อย่าด่าอย่างนั้นไม่ดี ต้องด่าด้วยภาษาอังกฤษว่าอย่างนี้ ๆ พวกเราก็จดจำกันไว้ด่ากันอย่างสนุกสนานไปเลย
ในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษนี้ มีพระญวนจากวัดวัดคั้นเยิงตื่อ (วัดอุภัยราชบำรุง) อยู่ที่หลังตลาดน้อย (ริมถนนเจริญกรุง) ในอำเภอสัมพันธวงศ์ มาเรียนด้วยองค์หนึ่ง คำว่าญวนคือเวียดนามในปัจจุบัน ความเป็นมาของพระญวนมีอยู่ว่า “ในช่วงแรกที่ชาวญวนอพยพเข้ามาในประเทศไทย ได้มีการสร้างวัดเพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศลของพวกตน ชาวญวนนั้นได้รับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมาจากประเทศจีน ชาวจีนให้การนับถือ เพราะอยู่ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานด้วยกัน จึงมีการนิมนต์พระญวนมาทำพิธีต่าง ๆ ด้วยกัน เช่น พิธีกงเต๊ก พิธีเชิญเจ้าในช่วงกินเจ ซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ มีความคล้ายพระสงฆ์จีน ต่างกันแค่เพียงบทสวดมนต์ ที่จะเป็นภาษาเวียดนาม และการแต่งกายเสื้อของพระสงฆ์ญวนจะเป็นกระดุมเรียงตรงลงมาจากด้านบนลงล่าง ต่างจากพระสงฆ์จีนสาบเสื้อจะเฉียงไปผูกด้านข้างลำตัว พระสงฆ์จีนเรียกว่าจีนนิกาย พระสงฆ์ญวนเรียกว่า อนัมนิกาย คณะสงฆ์อนัมนิกายในประเทศไทย ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อปฏิบัติต่างจากพระสงฆ์ในเวียดนามไปมาก โดยมีการหันมาใช้ข้อปฏิบัติตามอย่างพระสงฆ์ไทย เช่น การถือสิขาบทไม่ฉันอาหารในยามวิกาล ครองผ้าสีเหลืองแต่เพียงสีเดียว อีกทั้งยังมีการออกบิณฑบาตเสมือนพระสงฆ์ไทย แทนการฉันอาหารเจ แต่ยังคงอัตลักษณ์ไว้ในแบบพระญวน คือการไม่โกนคิ้ว และนุ่งกางเกงแทนสบงแต่ครองจีวรแบบพระสงฆ์ไทย”
วันหนึ่งหลังเลิกเรียนก่อนแยกย้ายกันกลับวัด พระอนัมนิกายองค์นั้น จับมือข้าพเจ้าจูงไปทางที่ตั้งศิวลึงค์ บอกว่า
“ขอปรึกษาหลวงพี่หน่อยครับ”/ “มีอะไรก็ว่ามา” ข้าพเจ้าเปิดการสนทนา
“หลวงพี่ช่วยปิดเป็นความลับด้วยนะครับ”
ข้าพพยักหน้ารับคำ เขาก็บอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวของเขาว่า
“ผมเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามา ก คิดว่าจะบวชไม่สึก ก่อนบวชจึงได้ตัดองคชาติทิ้งไปด้วยคิดว่าเจ้าองคชาตินี่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นพระของผม ครั้นบวชมานานได้ ๕ ปีกว่า ๆ ผมมีความทุกข์ทรมานใจมาก ด้วยอารมณ์ทางเพศเกิดขึ้นอย่างรุนแรง คิดจะสึกออกไปมีครอบครัวก็ทำไม่ได้ เพราะ “ไอ้นั่น” ของผมเหลือแต่ตอ จะให้ผมทำอย่างไรดีครับ” (ว้าว....เรื่องอย่างนี้ก็มีด้วย)
ข้าพเจ้าฟังแล้วก็อึ้งไปนาน เพราะคิดไม่ออกบอกไม่ถูก จนกระทั่งเขาจับแขนข้าพเจ้าเขย่าแล้วย้ำคำถามว่า
“บอกหน่อย ผมจะทำอย่างไรดี”
ข้าพเจ้าตอบปลอบใจเขาแล้วว่า
“เรื่องสึกไปมีครอบครัวผมแนะนำไม่ได้ เพราะไม่เคยมีครอบครัวมาก่อน แต่หากจะให้คลายความกำหนัดในกามพอจะมีวิธีแนะนำได้บ้าง คือเมื่อท่านเห็นรูปสวยงามของสตรีแล้วเกิดความกำนัดขึ้น ขอให้เจริญอสุภกรรมฐาน คือพิจารณาให้เห็นร่างกายสตรีนั้นเป็นของสกปรกตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ...... แยกส่วนออกมาพิจารณา ให้เห็นเป็นของบูดเน่า หนังเนื้อก็จะเหี่ยวย่น ผุพังไปตามธรรมดาของสังขาร เมื่อพิจารณาไป ๆๆ ความกำหนัดก็จะคลายลงไปได้”
ข้าพเจ้าเทศน์ให้เขาฟังเสียกัณฑ์ใหญ่ เขายกมือไหว้กล่าวขอบคุณว่าจะทำตามคำแนะนำ พระเณรศิษย์อาจารย์ผ่อง เรียนภาษาอังกฤษพอรู้เพียง “งู ๆ ปลา ๆ” ส่วนมากก็จะหัดพูดกับฝรั่งมังค่าที่เข้ามาเดินเที่ยวในวัดโพธิ์ บางคนเห็นฝรั่งเหมือนเด็กเห็นขนมหวาน รีบเข้าหาทักทาย ฝรั่งบางคนนิสัยดีพอพระเณรพูดผิดเขาก็จะสอนคำที่ถูกต้องให้ บางคนนิสัยร้ายก็ด่าว่าด้วยความรำคาญ เรื่องนี้ต่อมาทางวัดออกประกาศห้ามไม่ให้พระเณรไปเที่ยวพูดจากับฝรั่งนักท่องเที่ยว สร้างความรำคาญให้แก่นักท่องเที่ยวเหล่านั้น แต่ก็ยังมีพระเณรละเมิดข้อห้ามนั้นอยู่เรื่อย ๆ เหมือนกัน /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ ธันวาคม ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๖๓ - ในบรรดาพระเครื่อง (หรือพระพิมพ์) ด้วยกัน พระสมเด็จที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมฺรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม (บางหว้าใหญ่) เป็นพระที่มีเสน่ห์มหานิยมแรงที่สุด สังเกตรู้ได้จากการที่เอาพระพิมพ์นานามาวางเรียงกันไว้ในแผงพระ คนที่นิยมพระเครื่องจะสนใจดูและหยิบจับพระสมเด็จวัดระฆังมากกว่าพระพิมพ์อื่น พระสมเด็จจึงเป็นที่ต้องการของคนนิยมพระเครื่องทั่วไป จนกลายเป็นพระของเก่าที่หายากยิ่ง มีการหาเช่าบูชากันในราคาแพงจนคนระดับกลางระดับล่างเอื้อมไม่ถึง ดังนั้นจึงมีการสร้างพระพิมพ์สมเด็จใหม่ ๆ ในวัดทั่วไป มิหนำยังมีการสร้างปลอมขึ้นมาอีกมากมายเสียด้วยซ้ำไป
พระสมเด็จบางขุนพรหมทั้งกรุเก่ากรุงใหม่หายากยิ่งพอ ๆ กันกับสมเด็จวัดระฆัง แม้สมเด็จบางขุนพรหมที่ทางวัดสร้างเมื่อปี ๒๕๐๙ ก็หายากยิ่งแล้วเหมือนกัน ในวาระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มรณภาพครบ ๑๐๐ ปี วัดระฆังโฆสิตารามได้จัดสร้างพระพิมพ์สมเด็จเพื่อเป็นอนุสรณ์ ทางวัดใหม่ก็ไม่ยอมน้อยหน้า จึงจัดสร้างพระพิมพ์สมเด็จเพื่อเป็นอนุสรณ์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ด้วยเช่นกัน ทางวัดระฆังนั้นดำเนินการได้รวดเร็ว พระสมเด็จ ๑๐๐ ปีวัดระฆังจึงสร้างเสร็จตามกำหนดในปี ๒๕๑๖ ทางวัดใหม่อมตรสดำเนินการช้าไปหน่อย จึงเสร็จในปี ๒๕๑๗ ช้ากว่าวัดระฆัง ๑ ปี
การสร้างพระพิมพ์สมเด็จบางขุนพรหม (ทุกแบบพิมพ์) ทางวัดมีวัตถุประสงค์ที่นอกเหนือเพื่อเป็นอนุสรณ์ครบ ๑๐๐ ท่านประประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แล้ว ยังเป็นการหารายได้สร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนวัดใหม่อมตรสอีกด้วย ใช้ห้องบริเวณด้านหลังกุฏิเจ้าอาวาส (พระครูบริหารคุณวัตร์) เป็นโรงงานผลิตพระพิมพ์ดังกล่าว พระครูชม (เจ้าอาวาส) มอบหน้าที่ให้พระบำรุงเป็นหัวหน้างาน สามเณรเจริญ เป็นผู้ช่วย พระเณรเด็กวัดที่ว่างจากเรียนและงานช่วยกันในการโขลก ตำผงที่ใส่ส่วนผสมครบแล้ว ในการโขลกตำผงมิใช่งานเบาเลย ส่วนผสมที่ใช้ทำเนื้อพระพิมพ์สมเด็จใช้ปูนเปลือกหอยเป็นหลัก ตัวเชื่อมส่วนผสมใช้กล้วยน้ำว้าบ้าง กล้วยหอมบ้าง น้ำอ้อยบ้าง น้ำมันตังอิ๊วบ้าง กว่าจะโขลกตำจนผงนั้นเหนียวแน่นเป็นเนื้อเดียวกันได้ต้องใช้เวลานาน ผู้โขลกตำต้องภาวนาด้วยบทพุทธคุณตลอดเวลา เมื่อเนื้อแข็งจวนได้ที่แล้ว พระครูชมก็จะนำผงพระเก่ากรุมาใส่ผสมลงไปก่อนจะนำใส่แม่พิมพ์กดเป็นองค์พระ แม่พิมพ์แรก ๆ นั้นนายช่างเกษม มงคลเจริญ (เป็นจ่าทหารเรือ) ใช้วัตถุที่ทำเหงือกฟันปลอมมาทำ แต่กดพิมพ์พระไปนาน ๆ ก็สึกหรอ ต้องเปลี่ยนแม่พิมพ์บ่อย ๆ ระยะหลังเขาเอาทองเหลืองแกะเป็นแบบพิมพ์และทำเครื่องปั๊ม พิมพ์พระออกมาคมชัดสวยงามมากกว่าเดิม บางวันข้าพเจ้าไปช่วยโขลกตำผงและกดพิมพ์พระด้วย
เริ่มดำเนินงานสร้างพระสมเด็จร้อยปีบางขุนพรหมตั้งปี ๒๕๑๖ มาสร้างเสร็จในปี ๒๕๑๗ จึงกำหนดการทำพิธีพุทธาภิเศกขึ้นในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๑๗ ณ อุโบสถวัดใหม่อมตรส มีคณาจารย์ (เกจิอาจารย์) ร่วมปลุกเสกหลายรูปด้วยกัน อาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง หลวงปู่เทียม วัดกษัตรา หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์ อาจารย์นอง วัดทรายขาว และ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่เป็นต้น พระที่จัดสร้างมี ๑๓ แบบแม่พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่, พิมพ์เส้นด้าย, พิมพ์ทรงเจดีย์ , พิมพ์เกศบัวตูม, พิมพ์สังฆาฏิ, พิมพ์ปรกโพธิ์, พิมพ์ฐานคู่,พิมพ์ฐานแซม, พิมพ์อกครุฑ, พิมพ์ไสยาสน์, พิมพ์คะแนน, พิมพ์จันทร์ลอย, และ พิมพ์รูปเหมือนสมเด็จโต ทางวัดไม่ได้ทำตำหนิหรือโค้ตอะไรในพระทุกพิมพ์นั้นเลย ที่ปรากฏว่ามีจุดต่าง ๆ อยู่ในพิมพ์พระนั้น เป็นเพราะแม่พิมพ์ที่ทำใช้ตอนแรก ๆ บางพิมพ์เป็นรอย (แม่พิมพ์ไม่สมบูรณ์) เมื่อกดผงลงไปในแม่พิมพ์นั้น ๆ จึงปรากฏเป็นจุด ๑-๓ จุดดังที่เซียนพระทั้งหลายเอามาเล่นกัน
วันทำพิธีพุทธาภิเศก ท่านพระครูชมมอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นคนจัดสถานที่ตั้งวางวัตถุมงคล และจัดอาสนะให้พระคณาจารย์นั่งปลุกเสก วันนั้นทางวัดได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนมหาเถระ) วัดราชบพิตรมาเป็นองค์ประธานในพิธิพุทธาภิเศก บรรดาพระคณาจารย์ทุกองค์เข้านั่งประจำที่อยู่พร้อมแล้ว สมเด็จพระสังฆราชก็เสด็จมาประทับที่รอเพื่อทำพิธีอยู่ แต่อาสนาที่ตรงกันข้ามกับหลงปู่โต๊ะนั้นยังว่าอยู่ พระครูชมให้ข้าพเจ้ารีบไปตามหลวงพ่อคูณที่กุฏิท่านมาเร็ว ๆ
กาลนั้นหลวงพ่อคูณ (เพื่อนพระครูชม) ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก ข้าพเจ้าไม่เคยรู้เรื่องของท่านมาก่อน ไปตามตัวที่กุฏิพระครูชมเห็นท่านกำลังนั่งดูมวยทางทีวี. ท่านนุ่งสบงและใส่อังสะตัวเดียวเชียร์มวยอย่างสนุก ข้าพเจ้าเข้าไปบอกว่า
“หลวงพ่อครับไปร่วมพิธีปลุกเสกได้แล้ว พระสังฆราชกำลังรออยู่”
ท่านพูดโดยไม่หันมามองดูข้าพเจ้าว่า “รอก็ช่างมันประไร กูจะดูมวย”
ข้าพเจ้ารีบกลับไปบอกพระครูชมตามนั้น พระครูจึงให้ข้าพเจ้ากลับไปยกคัทเอ้าท์ไฟฟ้าหลังกุฏิดับไฟทีวี. เสีย เมื่อทำตามคำสั่งพระครูชม ทีวี. ดับแล้วท่านก็ลุกขึ้นห่มจีวรพร้อมบ่นงึมงำว่า ”มึงเล่นแกล้งกูนี่หว่า” ข้าพเจ้าเดินนำหน้าพาท่านเข้าไปนั่งประจำที่ตรงข้ามกับหลวงปู่โต๊ะเรียบร้อยแล้วพิธีกรรมจึงเริ่มขึ้น และดำเนินไปจนจบ
ขณะพระสวดพุทธาภิเศก พระเกจิอาจารย์นั่งภาวนา ครั้นพระสวดจบเป็นตอน ๆ แล้วพระเกจิบนอาสนะท่านเปลี่ยนอิริยาบถกันเป็นระยะ ๆ มีอยู่องค์เดียวที่นั่งนิ่งโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลยคือหลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลี ท่านนั่งนิ่งยืดตัวตรงดูเหมือนหุ่นปั้น ว่ากันว่าท่านเคร่งครัดในระเบียบวินัยยิ่งนัก เวลาเดินไปไหนท่านจะเดินแลไปข้าหน้าไม่เหลียวหลัง เวลานั่งในพิธีใด ๆ ก็จะนั่งนิ่งด้วยอาการสำรวม เสร็จพิธีเมื่อเวลาใกล้เที่ยงคืนวันนั้น ก่อนออกจากอุโบสถหลวงพ่อคูณเดินผ่านมาถึงข้าพเจ้าเจ้าแล้วหยุดยืนมองหน้า และล้วงมือลงไปในย่าม กำเหรียญรูปเหมือนของท่านยื่นให้บอกว่า
“เอ้า มึงเอาไป”
ข้าพเจ้ายกมือไหว้แล้วรับไว้ พวกพระชาวโคราชหลายองค์รู้เข้าก็มาขอไปคนละ ๑ เหรียญ พวกเขาเลื่อมใสหลวงพ่อคูณกันมาก แต่ข้าพเจ้าไม่รู้สึกอะไรนัก ภายหลังทราบว่าเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นปี ๒๕๑๗ โด่งดังมีราคาแพงมาก คงจะเป็นเพราะพระคณาจารย์ที่มาร่วมปลุกเศกพระสมเด็จบางขุนพรหมช่วยอธิฐานจิตใส่เหรียญหลวงพ่อคูณด้วยกระมัง เสียดายว่าเหรียญหลวงพ่อคูณที่ท่านให้มากับมือนั้น ข้าพเจ้าแจกไปหมดแล้ว/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๖๔ - ยาสูบที่ปลูกในภาคเหนือของไทยมี ๒ พันธุ์ คือ พันธุ์เวอร์จิเนียกับพันธุ์เบอร์เลย์ ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จะปลูกพันธุ์เตอร์กิช ซึ่งใบยาสูบทั้ง ๓ สายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่ทางโรงงานยาสูบ (ของไทย) จะรับซื้อไปผสมกัน มวนเป็นบุหรี่ไทยตราต่าง ๆ เช่น ตราฆ้อง ตราพระจันทร์ ตราเกล็ดทอง เป็นต้น ก่อนจะกล่าวถึงใบยาสูบในไทย ขอย้อนไปดูเรื่องราวความเป็นมาของยาสูบโลกหน่อยเป็นไร เรื่องต่อไปนี้คัดมาจาก “วิกิพีเดีย” ในกูเกิล
“ยาสูบ (อังกฤษ: common tobacco ชื่อวิทยาศาสตร์: Nicotiana tabacum L.) มีแหล่งกำเนิดในบริเวณตอนกลางของทวีปอเมริกา แม้มนุษย์จะรู้จักใบยาสูบมาประมาณสองพันปีแล้ว แต่ไม่ได้สูบกันอย่างจริงจังจนเป็นนิสัย จนกระทั่งพวกอินเดียนแดง ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของอเมริกา (American Indian) รู้จักใช้ยาสูบกันอย่างแพร่หลาย จึงได้มีการทำไร่ยาสูบกันทั่วไป การบันทึกประวัติของยาสูบมีขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๐๓๕ เมื่อโคลัมบัส (Christopher Columbus) ขึ้นฝั่งที่ซานซัลวาดอร์ (San Salvador) ในหมู่เกาะอินดีสตะวันตก เห็นชาวพื้นเมืองเอาใบไม้ชนิดหนึ่งมามวน จุดไฟตอนปลาย แล้วดูดควัน ตามบันทึกกล่าวว่า ชาวพื้นเมืองมวนยาสูบด้วยใบข้าวโพด สเปน เรียกยามวนนี้ว่า ซิการา (cigara) ต่อมาเพี้ยนเป็นคำว่า ซิการ์ (cigar) แต่คนบางคนก็ใช้คำว่า ซิการา อยู่ จากการขุดพบซากปรักหักพังของเมืองเก่าของพวกมายาในเม็กซิโก ได้พบกล้องยาสูบสมัยโบราณ ซึ่งตรงโคนสำหรับดูดแยกออกเป็นสองง่าม สำหรับอัดเข้าไปในจมูก ด้วยเหตุนี้ ชาวอเมริกัน (American) โบราณสูบยากันทางจมูก กล้องชนิดนี้คนพื้นเมืองเรียกว่า ตาบาโก (tabaco) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า โทแบกโก (tobacco) การเพาะปลูกยาสูบในแหล่งอื่น ๆ ได้เริ่มที่เฮติ (Hiti) เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๔ โดยได้เมล็ดพันธุ์จากเม็กซิโก และขยายไปยังหมู่เกาะข้างเคียง จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๑๒๓ จึงได้เริ่มปลูกในคิวบา และต่อไปจนถึงกายอานา และบราซิล ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ แพร่หลายไปยังทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา มีหลักฐานแสดงว่า มนุษย์ในสมัยโบราณรู้จักการปลูกยาสูบ เพื่อนำใบไปซอยและมวนสูบ นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันว่า ยาสูบมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อโรคที่ดีอย่างหนึ่งด้วย
ประเทศแรกในทวีปเอเชียที่เริ่มปลูกยาสูบคือ ฟิลิปปินส์ แล้วแพร่หลายต่อไปยังอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยไม่มีหลักฐานว่า ใครเป็นผู้นำเข้ามา และมาถึงเมื่อใด มีเพียงบันทึกของหมอสอนศาสนาว่า เมื่อเขาเข้ามาเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นพบว่า คนไทยสูบยากันทั่วไปแล้ว และจากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องบุหรี่ ทรงกล่าวว่า เมอร์สิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๑๑ ได้เขียนเล่าเรื่องประเทศสยามว่า คนไทยชอบใช้ยาสูบอย่างฉุน ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง ใบยาที่ใช้กันในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ได้จากกรุงมะนิลา (Manila) บ้าง จากเมืองจีน (China) บ้าง และที่ปลูกในประเทศไทย (Thailand) บ้าง”
การปลูกยาสูบขายกันในสุโขทัยมีมาตั้งแต่เมื่อใดข้าพเจ้าไม่ทราบ มาพอทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการปลูกยาพันธุ์เบอร์เลย์กันมากในเขตท้องที่อำเภอศรีสำโรงหลายตำบลแล้ว ตอนนั้นนายอำเภอศรีสำโรงชื่อนายเกรียง คชรัตน์ ได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการปลูกยาสูบพันธุ์เบอร์เลย์อย่างจริงจัง มีครูเหรียญชัย จอมสืบ เป็นผู้วิ่งเต้นประสานงาน เช่น หาเครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำยมขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นยาสูบ เป็นต้น พื้นที่การเพาะปลูกยาสูบขยายจากเขตศรีสำโรงเข้าสู่เขตอำเภอเมืองสุโขทัยอย่างรวดเร็ว ชาวไร่ยาสูบส่วนมากสร้างฐานะจนอยู่ดีกินดีจากการปลูกยาสูบขายให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยรายใหญ่ตามกลไกของการค้า พ่อค้าแม่ค้าใบยาก็ร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น ข้าพเจ้าอยู่กรุงเทพฯ จึงไม่ได้สัมผัสกับชาวบ้านทางสุโขทัยเหมือนก่อน อยู่มาครูเหรียญชัย ไปหาข้าพเจ้าที่วัดใหม่ฯ ขอใช้เครื่องพิมพ์พิมพ์เรื่องร้องเรียนกล่าวหานายอำเภอศรีสำโรงทุจริตในการสนับสนุนส่งเสริมชาวไร่ยาสูบ ส่งเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยหลายครั้งหลายครา ข้าพเจ้าไม่รู้รายละเอียดอะไร รู้แต่ว่าเขาเป็นคู่หูกันกับนายอำเภอแล้วเกิดแตกคอกัน คาดว่าคงเป็นเรื่องผลประโยชน์นั่นแหละ
ดังได้ให้การไปแล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นคนติดบุหรี่ เริ่มสูบควันหลงจากบ้องกัญชาของพ่อมาตั้งแต่ดินได้เตาะแตะ ๆ แล้วพัฒนาจากควันหลงเป็นสูบบ้อง จนอายุ ๑๘ ปี บวชเป็นเณรแล้วเลิกกัญชาและสูบบุหรี่เรื่อยมา เคยเลิกสูบมาแล้วสองครั้งเลิกได้ไม่เด็ดขาด กลับมาสูบหนักกว่าเดิม อยู่มาจนถึงปีที่มีอายุ ๓๒ จึงเลิกได้เด็ดขาด !
วันที่เลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดคือวันที่ไปเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรมาสน์ ที่วัดทุ่ง ตำบลเกาะตาเลี้ยง อำเภอศรีสำโรง กลางดงยาสูบนั่นเอง วันนั้นเทศน์ธรรมะล้วน ๆ กับพระที่มาจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ท่านมีวัยอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า เป็นพระที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อยดีมาก ท่านไม่สูบหรี่ ไม่กินหมาก ขณะเทศน์กันอยู่เวลาท่านอธิบายความธรรมะตอบคำถามของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าฟังไปคิดไปถึงเรื่องสุรายาเสพติดนานา ตัดสินใจว่าวันนี้จะต้องเลิกสูบบุหรี่ให้ได้อย่างเด็ดขาด ก่อนเทศน์จบลงธรรมาสน์จึงสูบบุหรี่มวนสุดท้ายได้ครึ่งมวนแล้วทิ้งลงกระโถน ซองบุหรี่ที่เหลือในพานก็ไม่หยิบใส่ยามเหมือนเคย
กลับถึงวัด (ไทยชุมพล) แล้ว เก็บบุหรี่ทั้งหมดที่มีอยู่ในกุฏิใส่ถุงไปถวายหลวงตา ที่ท่านยังสูบบุหรี่อยู่ ตั้งใจมั่นว่าตั้งแต่วันนั้นจนตราบวันตายจะไม่ขอสูบบุหรี่อีกเด็ดขาด ผลของหารเลิกสูบยุหรี่วันแรก ๆ มันมีความหงุดหงิดใจมาก คอยแต่ยกมือที่เคยคีบมวนบุหรี่ขึ้นมาดมอยู่เรื่อย ๆ ยามหลับนอนก็มักฝันว่าสูบบุหรี่ ในฝันบางทีก็เสียใจว่าตนเองเสียสัจจะที่หันมาสูบบุหรี่อีก กว่าอาการหลอนดังกล่าวจะหายไปก็เป็นเวลาเดือนเศษแล้วทีเดียว
ตอนที่สูบบุหรี่อยู่ไม่ค่อยมีใครถวายบุหรี่นัก ส่วนมากต้องควักย่ามซื้อเอง ครั้นเลิกสูบบุหรี่แล้วมีคนถวายบุหรี่กันมาก ข้าพเจ้าต้องรับแล้วก็วางเฉยเสีย ใจก็คิดว่านี่มารมันมาผจญเราอีกแล้ว มาหลอกล่อให้เรากลับเข้าไปติดบ่วงมันอีกละซี เมินเสียเถอะ ฮึ่ม ! /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 หลวงปู่โต๊ะ เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๖๕ - เนื่องมาจากการสร้างพระพิมพ์สมเด็จบางขุนพรหมปี ๒๕๑๗ นั้นเอง หลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลีพอใจเนื้อพระที่ทางวัดใหม่ฯ ทำกันมาก จึงให้พระมหาไพโรจน์ศิษย์กันกุฏิของท่านติดต่อพระมหาอุดมวัดใหม่ฯ (มหาอุดม จากวัดหัวเวียงมาอยู่วัดประดู่กับหลวงปู่โต๊ะก่อนมาอยู่วัดใหม่ฯ) ขอว่าจ้างให้ทำพระพิมพ์เนื้อผงให้ท่านบ้าง พระมหาอุดม กับพระบำรุง (อยู่ชั้นบนของกุฏิข้าพเจ้า) จึงร่วมมือกันรับทำพระผงตามความต้องการหลวงปู่โต๊ะ ให้ทำพระปิดตา พระนางสามเหรี่ยมขาโต๊ะ พระสมเด็จปรกโพธิ์ โดยขอให้ทางผู้รับจ้างออกแบบด้วย พระมหาอุดมขอให้ข้าพเจ้าออกแบบทำแม่พิมพ์พระดังกล่าว จึงได้ไปว่าจ้างร้านเอนก ชโลธร หน้าวัดมหรรณพฯ ให้ออกแบบและทำแม่พิมพ์ให้ พระบำรุงทำเรื่องขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดใหม่ฯ ใช้สถานที่ทำพระให้วัดประคู่ฉิมพลี ท่านก็ยินดีอนุญาต แถมยังมอบผงเก่าบางขุนพรหมให้ใส่ผสมผงใหม่ด้วย
วัดประดูฉิมพลีอยู่ที่ไหนมีความเป็นมาอย่างไร มีคำตอบย่อ ๆ ดังนี้
:- วัดประดู่ฉิมพลีเดิมมีชื่อว่า “ วัดฉิมพลี ” (เพราะมีต้นงิ้วมาก) ตั้งอยู่ในแขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย สร้างขึ้นในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และเสร็จสมบูรณ์ในต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ใช้เวลา ๘ ปีจึงเสร็จบริบูรณ์ โดยมีพระศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) เป็นประธานดำเนินการ
ประวัติหลวงปู่โต๊ะมีอยู่ว่า เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรของนายพลอย และนางทับ รัตนคอน มีพี่น้องอยู่ร่วมกัน ๒ คน ในวัยเด็กได้เข้าเรียนวิชาอยู่ที่วัดเกาะแก้ว สมุทรสงคราม ใกล้บ้านเกิดของท่าน เมื่อมารดาถึงแก่กรรม พระภิกษุแก้ว จึงได้พาเด็กชายโต๊ะ มาฝากอยู่กับพระอธิการสุข เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้น ท่านได้มาเรียนหนังสืออยู่ที่วัดประดู่ฉิมพลีอยู่เป็นเวลาอยู่ ๔ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดประดู่ฉิมพลี จนกระทั่งเมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ณ พัทธสีมา วัดประดู่ฉิมพลี โดยมีพระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูธรรมวิรัต (เชย) วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า อินฺทสุวณฺโณ อยู่มาจนพระอธิการคำ เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีมรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีสืบมาตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ท่านได้ออกธุดงค์จาริกไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย และเรียนพุทธาคม โดยฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาอาจารย์รูปสำคัญหลายรูป เช่น หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชสิทธาราม ส่วนสหธรรมิกของท่านที่มีชื่อเสียงได้แก่ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง หลวงพ่อกล้าย วัดหงส์รัตนาราม และอีกหลายท่านด้วยกัน
หลวงปู่โต๊ะมีสมณศักดิ์ โดยเริ่มที่พระครูสังฆวิชิตฐานานุกรมในสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ต่อด้วยเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูวิริยกิตติ์ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นชั้นโท ชั้นเอก ชั้นพิเศษ ในพระราชทินนามเดิม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสังวรวิมลเถร และสมณศักคิ์สุดท้ายคือ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสังวราภิมณฑ์ โสภณภาวนานุสิฏฐ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
พระพิมพ์ที่จ้างพระมหาอุดม พระบำรุงทำให้นั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบจำนวนและค่าจ้าง เพราะจัดทำแบบพิมพ์ให้แล้วก็ไม่ได้ติดตามงานของเขา ด้วยเวลานั้นมีงานจรคือเดินสายไปเทศน์ตามจังหวัดต่าง ๆ ค่อนข้างมาก หลังจากทำพระเสร็จแล้วพระมหาอุดมนำเครื่องบันทึกเสียง (เทป) ยี่ห้อดีชนิดสองหัวมาให้ข้าพเจ้าเครื่องหนึ่ง บอกว่าเป็นค่าจ้างทำแม่พิมพ์พระให้ พระมหาไพโรจน์วัดประดู่ฉิมพลีขอนิมนต์ข้าพเจ้าไปเทศน์เดี่ยวหาเงินสร้างวัดที่บ้านเกิดท่านในจังหวัดนครนายกวันหนึ่ง ไปเห็นสภาพวัดค่อนข้างโทรมแล้ว หลังเทศน์ข้าพเจ้าจึงมอบเงินกัณฑ์เทศน์ทั้งหมดเข้าวัดไปเลย พระมหาไพโรจน์ชอบใจจึงเอาพระพิมพ์และเหรียญรุ่นต่าง ๆ ของหลวงปู่โต๊ะมาให้ข้าพเจ้ามากมาย ข้าพเจ้ารับแล้วก็แจกจ่ายไปเรื่อย ๆ จนหมดมือไม่มีเหลือเลย ภายหลังขอท่านอีกก็ไม่ได้ ท่านว่าหมดแล้ว
สมัยนั้นพระพิมพ์และเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่โต๊ะเป็นที่ต้องการของนักนิยมพระเครื่องมาก แต่ทราบว่าพระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ที่ข้าพเจ้าทำพิมพ์ให้นั้น ท่านเก็บไว้ก่อน เพราะพิมพ์คล้ายกับสมเด็จปรกโพธิ์ของวัดใหม่ พระเครื่องหลวงปู่โต๊ะรุ่นปี ๒๕๑๘ จึงไม่เหมือนรุ่นอื่น ๆ ที่ดังไม่มีตกเลย ทราบต่อมาว่าท่านปลุกเสกพระสมเด็จปรกโพธิ์พิมพ์นี้นานถึง ๖ ปี จึงนำออกมาให้บูชากัน และก็กลายเป็นของหายากมากที่สุด/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 ปราสาทเมืองต่ำ อ. ประโคนชัย จ. บุรีรัมย์ เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๖๖ -
พระที่บวชนานมีอายุพรรษามากขึ้นย่อมต้องมีภาระในการบริหารงานงานปกครองมากขึ้นเป็นธรรมดา ถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ข้าพเจ้ามีอายุพรรษาอยู่ในขั้นพระเถระแล้ว เห็นว่าถ้าไม่หลบหนีสังคม “ปลีกวิเวก” เข้าไปอยู่ตามป่าตามถ้ำแล้ว ก็ต้องรับภาระตำแหน่งสมภารเจ้าวัดแน่นอน ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์นี้ข้าพเจ้าไม่นิยมชมชอบเลย หลบหนีมาตลอดเวลา ตัดสินใจว่าจะลาสิกขาตรงปีที่ ๒๐ ของการครองเพศเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาเสียที
ประมาณเดือนมีนาคมปีนั้น พระมหาวิรัตน์ ป.ธ. ๙ วัดพระเชตุพนฯ จัดรายการเทศน์แบบผสมผสานขึ้นที่วัดกลางประโคนชัย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ว่า “ผสมผสาน” นั้นก็คือ มีพระไทยภาคกลาง ๓ องค์ พระไทยโคราช ๑ องค์ พระเขมรบุรีรัมย์(เขมรสูง) ๒ องค์ เทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก (หกกษัตริย์) พระภาคกลางคือ พระมหาวิรัตน์ อุนนาทรวรางค์กูร วัดพระชุตุพนฯ พระมหาบำรุง จันทร์เชื้อ วัดชนะสงคราม พระปลัดอภินันท์ วัดใหม่อมตรส พระไทยโคราช คือพระมหาสวัสดิ์ ชาวโคราช ที่เข้ามาอยู่ประจำที่วัดเลียบ (ราชบูรณะ) พระชาวเขมรสูง ๒ องค์ นัยว่าเป็นพระนักเทศน์ชื่อดังในแถบบุรีรัมย์ สุรินทร์ ข้าพเจ้าจำชื่อของท่านไม่ได้แล้ว
พวกเราเดินทางไปบุรีรัมย์โดยรถไฟไทย (ร.ฟ.ท.) ออกจากหัวลำโพงยามพลบค่ำแล้วไปถึงเมืองบุรีรัมย์เวลาประมาณตีสี่เห็นจะได้ จากสถานีรถไฟบุรีรัมย์ไปประโคนชัยต้องนั่งรถยนต์ ๖ ล้อ ซึ่งเป็นรถสำหรับบรรทุกข้าวของโรงสีข้าวประโคนชัยที่มาจอดรอรับอยู่ ดูเหมือนว่าไม่มีรถยนต์รับจ้างประจำทาง หรือมีแต่ก็น้อยนัก รถบรรทุกข้าวพาพวกเราออกจากเมืองบุรีรัมย์ไปตามทางดินลูกรัง บางตอนเป็นทางล้อเกวียน ถึงโรงสีไฟเวลาประมาณ ๖ โมงเช้ากว่า ๆ เจ้าของโรงสีจัดอาหารเช้าถวายเป็นข้าวต้มทรงเครื่องอย่างดี ฉันข้าวต้มเรียบร้อยแล้วจึงนั่งรถคันเดิมไปวัดที่จะเทศน์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงสีไฟนั้นนัก ถึงวัดแล้วข้าพเจ้าขอนอนสักงีบ เพราะนั่งหลับนกในรถไฟทั้งคืน ง่วงมากเลย
อำเภอประโคนชัยอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองบุรีรัมย์มีความเป็นมาดังนี้:-
“เดิมคือเมืองตะลุง อยู่ที่บ้านตะลุงเก่า ตำบลโคกม้า ย้ายมาอยู่บริเวณเนินกลางทุ่งประโคนชัย และก่อตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นชัยภูมิเหมาะแก่การตั้งเมือง มีคลองน้ำธรรมชาติได้แก่ห้วยตะโก และห้วยด้ามมีดล้อมรอบเนินบริเวณนี้ คำว่า "ตะลุง" หมายถึง เสาใหญ่ หรือ เสาหิน สำหรับผูกช้าง (ซึ่งเชื่อกันว่า ร.๑ ทรงผูกช้าง หลังกลับจากการทำสงครามกับเขมร ณ บริเวณวัดโคน อำเภอประโคนชัย) เมื่อ ร.ศ. ๑๑๖ เมืองตะลุงได้ตั้งเป็นอำเภอชื่อ อำเภอประโคนไชย ในปี ๒๔๖๐ เปลี่ยนเป็น อำเภอตะลุง ต่อมาได้เปลี่ยนกลับเป็น อำเภอประโคนชัย คำว่าประโคนชัย เพี้ยนมาจากคำว่า "ปังกูล" ในภาษาเขมรที่แปลว่า เสาหิน ในปี ๒๔๘๒ ในท้องที่อำเภอนี้มีโบราณสถานที่สำคัญคือ “ปราสาทหินเมืองต่ำ“ ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านโคกเมือง ตำบลจระเข้มาก ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ ง ปราสาทหินเมืองต่ำ เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ศิลปะขอมโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ มีลักษณะเป็นกลุ่มปราสาทอิฐ ๕ องค์ ตั้งอยู่บนศิลาแลงอันเดียวกัน ปราสาททั้ง ๕ จะล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีทับหลังและซุ้มประตูแกะสลักด้วยหินทรายอย่างงดงาม มีสระน้ำ หรือบาราย กรุด้วยศิลาแลง ทั้ง ๔ ทิศ มุมสระมีพญานาคหินทราย ๕ เศียร ทอดตัวยาวรอบขอบสระน้ำ ชั้นนอกปราสาทมีกำแพงศิลาแลงอีกชั้น”
ได้เวลาฉันเพลข้าพเจ้ากับพระมหาบำรุงตื่นนอน ล้างหน้าล้างตาเตรียมฉันอาหาร เห็นอาหารคาวหวานแบบบ้าน ๆ มีแปลกตาอย่างหนึ่งคือข้าวสุก เป็นข้าวเมล็ดเล็กสีแดงเหมือนดอกมะขาม ดูแล้วไม่น่ากินเลย กระซิบถามมหาบำรุงว่า “ข้าวอะไรเนี่ย จะกินไหวรึ” มหาบำรุงบอกว่า “ไม่รู้ซี ก็ต้องลองดู” พอตักข้าวใส่ปากแล้วรู้สึกผิดคาดมาก ข้าวนั้นมีกลิ่นหอม เนื้อนุ่ม ไมแข็งกระด้างอย่างที่คิด รสชาติอร่อยอย่างบอกไม่ถูก หันไปถามพระมหาวิรัตน์ว่า “นี่ข้าวอะไรครับหลวงพี่” ท่านตอบว่า “ข้าวหอมประโคนชัย มีเพาะปลูกที่ประโคนชัยนี้แห่งเดียว” พวกญาติโยมที่นั่งล้อมรอบพระฉันเพลนั้นพูดคุยกันด้วยภาษาเขมรที่ฟังไม่รู้เรื่องเลย ฟังแล้วใจหาย ถามพระมหาวิรัตน์อีกว่า พวกเขาเป็นเขมรพูดเขมรจะฟังเทศน์ของเราได้อย่างไรนี่ ท่านหัวเราะบอกว่าเขาพูดไทยได้ ฟังไทยรู้เรื่อง แต่เวลาเขาพูดคุยในหมู่พวกเขาจะใช้ภาษาของเขา ไม่ต้องห่วงหรอกเราเทศน์กันได้อย่างเต็มที่
ก่อนขึ้นธรรมาสน์เทศน์ก็แบ่งสรรตำแหน่งหน้าที่กันตามระเบียบ ข้าพเจ้าไม่พ้นที่จะต้องเป็นชูชกอีกตามเคย การเทศน์วันนั้นไม่สนุกอย่างที่พระมหาวิรัตน์หวังไว้ คนฟังแน่นศาลาเลยก็จริง แต่เวลาพระไทยพูด (เทศน์) พวกเขาจะนั่งฟังนิ่งด้วยความเคารพ พอพระเขมรพูด (เป็นภาษาเขมร) พวกเขาจะหัวเราะกันครืน....เลย พระไทยจึงไม่มีกะจิตกะใจจะเทศน์ หลังจากเทศน์จบแล้ว ทายกทายิกาพากันเอาของเครื่องกัณฑ์เทศน์เข้าประเคนพระเทศน์ทุกองค์ มีหมอนนั่งอิง (หมอนสามเหลี่ยมหรือหมอนขวาน) หมอนนอน (หนุน) เส้นด้ายไหมสีต่าง ๆ เป็นมัด ๆ และอื่น ๆ อีกมาก ข้าพเจ้ารับแล้วจะถวายให้วัด พวกเขาไม่ยอมขอให้นำเข้ากรุงเทพฯ ด้วย มหาวิรัตน์กระซิบว่า “ท่านไม่เอาผมจะเอาเอง ขอให้รับไว้ก่อนเถอะ”
เสียดายเหลือเกินที่ไม่ได้ไปเที่ยวชมโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำและปราสาทพนมรุ้งที่เขาว่าสวยงามนัก เพราะเย็นวันนั้นทางเจ้าของโรงสีให้รถบรรทุกพาพวกเรากลับเข้าเมืองนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯเลย มารู้ภายหลังว่า เจ้าของโรงสีนั้นกับพระมหาวิรัตน์คุ้นเคยกัน (เป็นคนไทยเชื้อสายจีนเหมือนกัน) ลูกสาวเถ้าแก่โรงสีชื่อ วัจนา จดที่อยู่พระเทศน์ทุกองค์ไว้ แล้วมีจดหมายมาคุยกับข้าพเจ้าด้วย หลังจากนั้นไม่ถึงปีมหาวิรัตน์ก็ลาสิกขา และแต่งงานกับอาหมวยวัจนาลูกสาวเถ้าแก่โรงสีประโคนชัย นั้นแล/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๖๗ - การเขียน (หรือแต่ง) กลอนของข้าพเจ้าส่วนมากเป็นกลอนตลาด (หรือกลอนสุภาพ) ความยาวตามความนิยมสมัยนั้น คือ ๖ บทกลอน และหากส่งลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะยาว ๒-๓ บทกลอน เคยแต่งเป็นกลอนยาวครั้งแรกสำนวนหนึ่ง คือ นิราศสงขลา เริ่มตั้งแต่หัวลำโพงกรุงเทพฯ ไปจบที่วัดชัยมงคล เมืองสงขลา กลอนยาวกี่บทจำไม่ได้แล้ว (เพราะต้นฉบับก็หายหมดแล้ว) คุณประยูร กั้นเขต อ่านในรายการกวีสวรรค์คืนละ ๖ บท ตั้งหลายเดือนจึงจบ ครั้งที่ ๒ แต่งเป็นกวีวัจนเทศนา เขียนและแสดงในงานพระศพสมเด็จพระสังฆราช ด้วยชมรมนักกลอนฯ โดย กรองแก้ว เจริญสุข ประธานชมรมและคณะร่วมกันบำเพ็ญบุญเป็นทักษิณานุสรณ์อุทิศถวายสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณณสิริ มหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก องค์อุปถัมภ์ชมรมนักกลอนผู้สิ้นพระชนม์ครบ ๕๐ วัน ณ หอประชุมสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังลาราม ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ เวลา ๑๙.๐๐ - ๒๑.๐๐ น.
ในเวลานั้นชมรมนักกลอนกำลังดำเนินการก่อตั้งเป็นสมาคมนักกลอน โดยมีสมเด็จป๋า (พระสังฆราช ปุ่น) เป็นผู้อุปถัมภ์มาแต่แรกเริ่มจนใกล้จะมีการยื่นขอจดทะเบียนเป็นสมาคมตามกฎหมายแล้ว พระองค์ก็มาสิ้นพระชนม์เสียก่อน คุณกรองแก้ว เจริญสุข ประธานชมรมนักกลอนได้ปรึกษาหารือสมาชิกชมรมแล้วเห็นพ้องต้องกันให้จัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระองค์เนื่องในวาระครบ ๕๐ วัน ในการบำเพ็ญบุญปัญญาสมวารนั้นจัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาด้วย พระที่จะขอให้แสดงธรรมในงานนี้ขอให้เป็นพระนักกลอน และเทศน์เป็นกลอน เวลานั้นมีพระเณรนักกลอนหลายองค์ เป็นพระมหาเปรียญธรรม ๙ ประโยคก็มี แต่ทางชมรมคิดเรื่องนี้ในเวลากระทันหัน นิมนต์พระแต่งกลอนและแสดงไม่ทันการณ์ กรองแก้วจึงมาขอร้องแกมบังคับให้ข้าพเจ้าแต่งคำเทศน์เป็นบทร้อยกรองและนำไปแสดงงานนี้ด้วย
ข้าพเจ้าจำต้องรับไว้ ใช้เวลาแต่งคำเทศน์เป็นบทกวีวจนะ ชื่อว่า “กวีวัจนเทศนา” เขาให้เวลาแต่ง ๑๐ วัน ข้าพเจ้าแต่ง ๗ วันจบ อ่านทบทวนตรวจทานอยู่ ๒ วันจนเป็นที่พอใจ จึงพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีตลงกระดาษพับสอดใบลานเพื่อนำไปอ่านตามวันเวลาที่กำหนด คำร้อยกรองที่แต่งเทศน์วันนั้น เริ่มด้วยร่ายสุภาพ ต่อด้วยโคลงสี่สุภาพ ฉันท์ กาพย์ และกลอน รวมกันเป็นบทกวีวัจน์ ใช้เวลาอ่าน (เทศน์) ๓๐ นาทีเศษ เทศน์จบแล้ว “หลวงเตี่ย” ให้คนมาขอต้นฉบับเทศน์นั้นไปเก็บไว้ (เพื่ออะไรข้าพเจ้าไม่ทราบ) ยังดีที่ข้าพเจ้ามีสำเนาเก็บไว้ที่กุฏิ ความในบทกวีวัจน์นั้นมีอย่างไรบ้าง ในที่นี้จะขอนำความทั้งหมดมาทยอยลงในหน้าเว็ปนี้ให้ท่านผู้สนใจได้อ่านกันดังต่อไปนี้ :- .........
- กวีวัจนเทศนา - (ร่ายสุภาพ) ...ณ โอกาสบัดนี้ จะชี้แจงเทศนา เสริมศรัทธาชาวกลอน สอนสัมมาทิฐิ ให้ตริแต่ทางบุญ หนุนให้เนากุศล ดลให้ทำสิ่งถูก ปลูกความดีในใจ พาตนไกลความชั่ว กิเลสยั่วไม่ตาม อยู่ในความสุจริต ให้ญาติมิตรชื่นชม ทำตนสมชาวพุทธ มีมนุษยธรรม ประจำในดวงกมล เป็นมงคลแก่ชาติ พระศาสนารุ่งเรือง ทั้งบ้านเมืองเจริญงาม สมสยามเมืองยิ้ม ลิ้มรสสุขสงบ พบวิธีหนีทุกข์ ลุกขึ้นสู่อาธรรม์ เทศน์วันนี้มีเรื่อง โดยสืบเนื่องกันแล้ว คุณกรองแก้ว เจริญสุข เป็นพระมุขของงาน บริวารชนพร้อม ต่างนอบน้อมเคารพ ในพระศพสมเด็จ ผู้เป็นเพชรวงวรรณ สู่สวรรคาลัย ชาวกลอนใจอาดูร เกินจะทูลทักท้วง ต่างตกห้วงโศกา จึ่งศรัทธาบำเพ็ญ กุศลเป็นกองบุญ บูชาคุณพระองค์ อุทิศสงฆ์ถวาย หมายวิบากบุญญา ทักษิณานุสรณ์ ถึงอมรมาศสถาน น้อมสักการสมเด็จฯ ให้สำเร็จดั่งจินต์ โดยถวิลดังกล่าว ข่าวกุศลคนกลอน ไป่ถูกรอนแจ้งแล้ว คุณกรองแก้วนำมิตร มาสถิตแหล่งนี้ คอยฟังคำนำชี้ เรื่องล้วนทางธรรม แลนา....
(โคลงสี่สุภาพ) เทศนาในบัดนี้ ทำนอง คำกล่าวเป็นร้อยกรอง ทั่วถ้วน พากเพียรแต่งมาสนอง เสริมส่ง ศรัทธา ผิดตกใดใดล้วน โง่แล้ววานอภัย
ไม่เคยเทศน์ต่อถ้อย เป็นกลอน โดยที่กรองแก้ววอน วากย์ให้ กวีวัจน์เพื่อนุสรณ์ “สมเด็จ ป๋า”เฮย ควรแต่งคำเทศน์ไว้ เชิดเชื้อชูกวี
มีปัญญาอยู่น้อย ในตน ตรองแต่งโคลงฉันท์ปน ร่ายด้วย กาพย์กลอนก็กังวล เวียนกล่าว ไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วย ใส่ท้องเลยเทียว
เชี่ยวชาญกานท์กว่านี้ จำนรรจ์ คงไม่งกเงิ่นงัน ดั่งนี้ ฟังเถิดท่านคำอัน จักกล่าว ลำดับข้อคำชี้ เรื่องล้วนควรแถลง
(วิชชุมมาลาฉันท์ ๘) การบำเพ็ญบุญ เป็นคุณแก่ตน ทั้งยังแผ่ผล ทุกหนทุกแห่ง วันนี้ชาวกลอน อ่อนน้อมรอมแรง สามัคคีแจ้ง แต่งบุญสุนทร
เครื่องหมายคนดี กาลนี้ปรากฏ ชาวกลอนทั้งหมด ลดหลั่นผันผ่อน งดการงานมา ศรัทธาแน่นอน ยกค่าอาวรณ์ ซ้อนบุญหนุนทาน
(กาพย์ยานี ๑๑) บูชาพระคุณใน จอมสงฆ์ไทยผู้วายปราณ แม้ไม่ได้นิพพาน ท่านก็หลามล้นความดี ฟังก่อนชาวกลอนใหม่ เข้าสู่ในวงการนี้ นับได้ไม่นานปี มิรู้ชัดประวัติเดิม “ชมรมนักกลอน”นี้ นับแต่ปีที่แรกเริ่ม ได้“ป๋า”เมตตาเสริม ส่งไม่ละอุปถัมภ์ นาม “ป๋า”มีอาถรรพ์ รู้จักกันแล้วมั่นจำ เรียกกันนานฉนำ สม่ำเสมอหลายสมัย ขอกล่าวความเป็นมา ให้รู้ว่า “ป๋า”คือใคร รู้จริงแล้วนิ่งไว้ คนไม่รู้เชิญรู้ตาม .......
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 คุณกรองแก้ว เจริญสุข เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๖๘ -
กวีวัจนเทศนา / ๒
(กลอนสุภาพ) ๐ ท้องทุ่งนาสวนไร่ไพรทั้งผอง แผ่นดินทองในเขตประเทศสยาม เมืองสุพรรณคนซื่อดุลือนาม ทุกเขตคามมองเห็นความเป็นไทย กล่าวเฉพาะที่มาของ“ป๋า”เถิด ถิ่นกำเนิดริมชลตำบลใหญ่ สองพี่น้องท้องนาห่างป่าไกล อยู่ตอนใต้เขตขัณฑ์สุพรรณบุรี ชาวนาไทยสมบูรณ์ตระกูลหนึ่ง ฐานไม่ถึงวิเศษขั้นเศรษฐี เป็นชาวบ้านไร้หนี้สินอยู่กินดี เรียกว่ามีอันจะกินในถิ่นนั้น พ่อบ้าน“เน้า”หนึ่งคำชื่อจำง่าย สมชาติชายมากมานะแข็งขยัน มีแม่บ้านคนซื่อชื่อว่า“วัน” สกุลสรรค์ “ศุขเจริญ”ดำเนินมา
“วันอังคารเดือนสี่ปีวอก”ตก พุทธศก“สองสี่สามเก้า”หนา วันที่สามสิบพอดีเดือนมีนาฯ เป็นเวลายี่สิบสี่นอเศษแล้ว เด็กชายหนึ่งตกฟากจากครรภ์แม่ ภายหลังแปรเปล่งปลั่งดั่งดวงแก้ว “เน้า”บิดาใจเย็นมองเห็นแวว จึ่งวางแนวที่ถูกให้ลูกตน “วัน”มารดากล่อมเกลี้ยงเลี้ยงด้วยรัก คอยฟูมฟักกายใจเหนื่อยไม่บ่น พ่อแม่ให้นามลูกผูกกมล เป็นมงคลว่า“ปุ่น”คุณนาม
วัยหกขวบบิดาสอนหนังสือ เริ่มฝึกปรือปัญญาไว้ไม่แบกหาม แบบเรียนเร็วสองเล่มจบครบข้อความ แล้วก็ตามต่อไปในโรงเรียน อยู่โรงเรียนหนึ่งปีวิชาฉาน จึงจากบ้านจากมิตรชีวิตเปลี่ยน เข้าอยู่วัดสองพี่น้องลำพองเพียร เพลินอ่านเขียนอักษรากับอาจารย์ ทั้งบาลีแลขอมเรียนพร้อมด้วย พระให้ช่วยสอนเด็กวัดหัดเขียนอ่าน “มูลบทบรรพกิจ”ชิดชำนาญ “ประถมกอกา”ชาญสอนผ่านเลย ต่อสวดมนต์หนังสือค่ำตามลำดับ อาจารย์รับต่อให้ไม่นิ่งเฉย ความรู้“ปุ่น”เด็กบ้านนอกงามงอกเงย เสียงหยันเย้ยจากใครใครย่อมไม่มี
วัยสิบห้า“อาจารย์หอม”ไม่ยอมสอน แม้“ปุ่น”อ้อนเรียนต่อไม่ท้อหนี “อาจารย์หอม”ยอมแพ้แก่เด็กดี มิรู้ที่จะสอนเนื่องต่อเรื่องใด จึงพาจากสองพี่น้องล่องเมืองหลวง พ่อแม่ห่วงก็จะทำไฉน เพื่อลูกรักรู้ดีปรีชาไว ยินยอมให้เข้ากรุงมิยุ่งกวน ณ วัดมหาธาตุอาวาสใหญ่ “ปุ่น”อาศัยอยู่กะพระชื่อ “ป่วน” ครบหนึ่งปีย้ายวัดใหม่ไม่เรรวน เข้าสู่ส่วนวัดพิเศษ“เชตุพนฯ” มี“หลวงอา”พระเป็นญาติผู้ปราศยศ ชื่อ“พระสด”กายใจไม่หมองหม่น รับหลานไว้ในสำนักพักรวมตน “ปุ่น”ไม่ซนเรียนร่ำรักตำรา
วัยสิบหกกลับบ้านที่สองพี่น้อง หวังฟูฟ่องเป็นปราชญ์ในศาสนา ให้“พระครูเหนี่ยง”ท่านบรรพชา ถือสิกขาเป็นเชื้อเนื้อนาบุญ บวชเป็นเณรไม่นานสงสารแม่ พ่อก็แก่งานก็หนักเรื่องชักวุ่น ด้วยมีความกตัญญูมากรู้คุณ สามเณรปุ่นจงลาสิกขาไป ช่วยพ่อแม่ทำนารักหน้าที่ เพียงหนึ่งปีกลับเป็นสามเณรใหม่ จากสองพี่น้องอีกครั้งโดยตั้งใจ เข้าอยู่ในวัดโพธิ์หรือเชตุพนฯ เรียนบาลีหวังจะเป็น “มหา” ความปรารถนาเพียรนำสำเร็จผล สอบประโยคสามได้ดั่งใจตน กลายเป็นคนค่ามากไม่ยากเลย
พอเป็น“สามเณรมหา”ท่าทางโก้ ญาติมิตรโอ๋เอาใจไม่เมินเฉย ความสำคัญมากมีที่คุ้นเคย ล้วนลงเอยทุกอย่างต่างเปลี่ยนแปร ฯ |
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) Cr. Photo By บ้านกลอนน้อยฯ เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๖๙ -
กวีวัจนเทศนา / ๓
อายุยี่สิบสองจึงถึงกำหนด อุปสมบทฉลองบุญคุณพ่อแม่ ณ วัดสองพี่น้องบ้านเดิมนั่นแล ญาติมิตรแห่แหนช่วยด้วยศรัทธา อุปสมบทแล้วก็แคล้วคลาด จากหมู่ญาติมิตรที่มีทั่วหน้า เข้ากรุงเทพฯ เรียนเพิ่มเติมวิชา จำพรรษาวัดโพธิ์อู่เคยอยู่เดิม สอบเปรียญได้หกประโยคแล้ว ละจากแนวบาลีมิมีเพิ่ม ภาษาจีน, อังกฤษคิดเรียนเติม ทั้งริเริ่มศาสนกิจอนันต์ เป็นครูสอนบาลีที่สามารถ เฉลียวฉลาดทรงคุณไม่หุนหัน “พระมหาปุ่น ปุณณสิริ”พลัน เป็นสำคัญเด่นชัดในวัดโพธิ์
บำเพ็ญกิจศาสนามหาศาล หากจะจารก็จักแสนอักโข ผลงานงามหนุนทวีให้ “ดีโต” ภาพย์ภิญโญโยงใยไม่เสื่อมทราม สอนภิกษุสามเณรอยู่เป็นนิตย์ สานุศิษย์สับสนมีล้นหลาม เป็น“ คณาจารย์เอก”เสกธรรมงาม ประสบความสำเร็จทางเทศน์ธรรม์
เป็น“ กรรมการแปลวินัย”ไตรปิฎก เหมือนได้ยกย่องความเก่งตามขั้น การคณะสงฆ์เล่าเข้าผูกพัน เป็นพระชั้นเชี่ยวชาญการปกครอง เป็น“ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิ์” ก่อน นับเป็นตอนเริ่มต้นที่ถูกต้อง แล้วเป็น“เจ้าคณะภาค” งานมากกอง บูรพาแล้วภาคสองสนองงาน เป็น“ สมาชิกสังฆสภา”ต่อ ไม่ทอดท้อกิจหนักอัครฐาน จนเป็น“สังฆมนตรี”โดยมินาน และ“สมภารวัดโพธิ์”ที่โสภณ เกียรติที่ก่อยอเยียดให้เกียรติยศ เป็นตามกฎของกรรมดีนำผล “พระมหาปุ่น”ที่ถูกดีดล เปลี่ยนชื่อตนตามที่ความดีนำ
สมณศักดิ์ “เจ้าคุณ”ชั้นสามัญก่อน นาม“อมรเวที”มิต้อยต่ำ เลื่อนเป็น “ราชสุธี” ปรีชาธรรม แล้วเลื่อนล้ำ “เทพเวที” ปิฎกคุณ เลื่อนอีกที่เป็น “พระธรรมดิลก” ความดียกนำหน้าปรีชาหนุน แล้วขึ้นสู่ “หิรัญบัฏ” จรัสบุญ นามละมุน“พระธรรมวโรดม” เป็นชั้นรองสมเด็จพิเศษศักดิ์ มิใช่จักด่วนประสงค์ดำรงสม เพราะความดีมีธรรมตามอบรม นามนิยมตามฐานันดร์จึงผันเยือน อีกครั้งหนึ่งเลื่อนขึ้นชั้น “สุพรรณบัฏ” ซึ่งจำกัดตำแหน่งนี้มิมีเกลื่อน หากจะเปรียบก็ดาวใหญ่ใกล้ดวงเดือน หรือเสมือนทายาทกษัตรา คือ“สมเด็จพระวันรัต” นั่น เป็นศักดิ์ชั้นสูงสาดล้อวาสนา โดยที่ “พระมหาปุ่น” มีบุญญา จึ่งนำพาถึงได้ไม่ยากเย็น สมณศักดิ์เลื่อนหยุดครั้งสุดท้าย สูงสุดสายศักดิ์แท้ให้แลเห็น “สมเด็จพระสังฆราช” ผู้อาจเป็น ต้องบำเพ็ญบารมีเต็มที่แล้ว
สามัญชนจากที่สองพี่น้อง ได้ขึ้นครองศักดิ์เด่นเป็นยอดแก้ว ประมุสงฆ์วงศ์สยามงามเพริดแพร้ว ชูเชื้อแถวเด่นชัดจรัสจรูญ บารมีดีงามความศักดิ์สิทธิ์ สิงสถิตไม่ลับลอยดับสูญ มีแต่วันสรรค์เสริมสุขเพิ่มพูน ยกประยูรญาติมิตรติดตามตน ในตำแหน่งสมเด็จพิเศษสงฆ์ ได้ดำรงบรรลุด้วยกุศล เหมือนจอมทัพธรรมไทยคุมไพร่พล เป็น“สกลมหาสังฆปรินายก” มีพระเมตตาธรรมประจำจิต บรรพชิตคฤหะสถ์ไม่ขาดตก ผู้ดีไพร่ใหญ่ชราหรือทารก แม้ยาจกพระเมตตาเอื้อปรานี ไม่เคยถือพระองค์ว่าทรงศักดิ์ ถึงแม้จักทรงยศสูงสดศรี วางพระองค์ธรรมดาอยู่ตาปี ไม่ยินดียินร้ายในฐานันดร์...... |
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ประทานผ้าไตรแด่สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 เมื่อเสด็จเยือนสำนักวาติกัน เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๗๐ -
กวีวัจนเทศนา / ๔
จากพระมหาเป็นเจ้าคุณบุญสำเร็จ ถึงสมเด็จสูงสุดดุจความฝัน มี“เมมิตกนาม”เรียกตามกัน “ป๋า”สำคัญเนาเนียนไม่เปลี่ยนแปลง “เจ้าคุณป๋า”เป็นพิเศษ“สมเด็จป๋า” ยืนยันว่าพระทัยท่านปานพ่อแม่ รักลูกศิษย์มิตรญาติสะอาดแท้ ไม่มีแม้เสี้ยวพระจิตจะคิดร้าย พระเกิดมาเพื่อรับระงับโศก บำรุงโลกสร้างสุขดับทุกข์หาย เป็นบุญชาวพุทธล้ำบาปสำราย ทุกนิกายสงฆ์ดื่นต่างชื่นชม
“วัดพระเชตุพนฯ”แต่หนหลัง มี“พระสังฆราช”ปราชญ์ปฐม เป็นองค์ที่เจ็ดแจ้งแสดงอุดม ทรงสะสมกวีปราชญ์แห่งชาติไทย “กรมสมเด็จพระปรมานุชิต- ชิโนรส”นักสิทธิ์บัณฑิตใหญ่ พระนามหอมจอมกวีปรีชาไว ผลงานได้ทรงอยู่คู่แผ่นดิน จอมสงฆ์องค์ที่เจ็ดเสด็จสวรรค์ วัดโพธิ์พลันซบเซาเหมือนเสาหิน ร้อยปีกว่ายังอยู่คู่ธานินทร์ แต่ว่าปิ่นสงฆ์ไทยยังไกลวัด มีการตั้งสังฆราชอยู่วัดอื่น วัดโพธิ์ยืนทุกยามด้วยความขัด เหมือนไร้บุญวาสนาอาภัพชัด แม้กระษัตริย์สร้างนำบำรุงมา วัดคู่เมืองเบื้องบรรพ์มาชั้นหนึ่ง อดีตซึ้งใจตัวปราชญ์ทั่วหน้า อนาถหนอรอผู้มีบุญญา เข้าเสริมค่าให้เด่นเช่นก่อนกาล
ต่อเมื่อ“สมเด็จพระวันรัต- ติสสะทัตต”ผู้มีปรีชาฉาน ยอ“พระมหาปุ่น”เด่นเป็นอาจารย์ จากนั้นผ่านดีเริ่มเพิ่มเจริญ สังฆาวาสพุทธาวาสสะอาดสะอ้าน เป็นสถานที่คนก่นสรรเสริญ นักท่องเที่ยวต่างนิยมชมเพลิดเพลิน วัดงามเกินที่จะพรรณนา “ป๋า”สร้างและบูรณะพระอาวาส ด้วยฉลาดรู้หลักเสริมรักษา ปวงชาวพุทธชูช่วยด้วยศรัทธา ปมปัญหายุ่งมีมากคลี่คลาย นามวัดโพธิ์จึงแซ่แผ่ทั่วทิศ ศิลป์ประสิทธิ์ทุกอย่างต่างแพร่หลาย เขาเรียก“เมืองตักสิลา”วิชาปราย เหมือนนิยายยุคทองของโบราณ เรียนวิชาสารพัดในวัดนี้ โรงเรียนมีประจักษ์หลายหลักฐาน ใครจะสอนใครจะเรียนสับเปลี่ยนวาร “ป๋า”ให้การสนับสนุนและจุนเจือ ประสบการงานดี “ป๋า” มีมาก เพราะได้ตรากตรำตนมาล้นเหลือ ความดีเด่นเห็นได้ไม่คลุมเครือ เป็นดั่ง“เกลือรักษาเค็ม”อยู่เต็มตัว เกียรติคุณ “ป๋า” ได้แผ่ไพเศษ ต่างประเทศพากันสรรเสริญทั่ว ศีลคุณบุญกุศลไม่หม่นมัว ภัยพาลกลัวเกรงผละจากพระองค์
“ป๋า”ออกสู่โลกกว้างอันว้างเวิ้ง ก่อนเถลิงตำแหน่งประมุขสงฆ์ คือการไปต่างประเทศโดยเจตน์จง จะเสริมส่งมิตรแลแผ่ใบบุญ ไป “อินเดีย,ลังกา,พม่า,เขมร” นำเรื่องเด่นทำลายความวายวุ่น สู “เนปาล” ไม่เปะปะชุลมุน เพราะว่าทุนซึ่งถือคือความดี เยือน“อังกฤษ,เนเธอร์แลนด์”แดนยุโรป เขาอ้อมโอบรับรองกันขมันขมี “ฝรั่งเศส,สวิสส์,อิตาลี เยอรมันนี,เบลเยี่ยม”ก็เยือนแล้ว “สหรัฐ”ศรัทธา “ป๋า”มากล้น จึงนิมนต์เยือนบ้างอย่างแน่แน่ว อเมริกาที่ว่าเลิศงามเพริดแพร้ว “ป๋า”มิแคล้วคลาดเคลื่อนไปเยือนยล “อุปทูตวาติกัน”ยกสรรเสริญ เข้าชวนเชิญเยือน“สำนักโรม”สักหน “ป๋า”ยินดีเยือนได้ไม่กังวล รับนิมนต์โดยมิอ้างว่าทางไกล ในฐานะ “สมเด็จพระวันรัต” ตำแหน่งชัดชี้เห็นจะเป็นใหญ่ ประมุขสงฆ์องค์พุทธสุดวิไล เขาจึงได้รับรอง “ป๋า” เป็นตราตรู “พระสันตะปาปาปอล”ทรงต้อนรับ ชิดกระชับสัมพันธ์ให้ได้คงอยู่ เกียรติสงฆ์ไทยได้“ป๋า”พาเชิดชู ชาวโลกรู้คุณค่าพากันชม การเยือนย่างต่างประเทศ “สมเด็จป๋า” เหมือนราชาหวังไว้จะได้สม เป็น “จักรพรรดิราชเจ้า” เนาภิรมย์ จึ่งปรายพรมพระเดชาบารมี เมื่อกลับจากกรุงโรมไม่ซมโศก ไปรอบโลกล้า “ป๋า” เลิศราศี องค์พระประมุขชาติประกาศพิธี สดุดีสถาปนามิช้านาน ขึ้นเป็นพระสังฆราชประภาสศรี นับองค์ที่สิบเจ็ดวิเศษสาร สมยศสมศักดิ์สมหลักการ ทั้งชาวบ้านชาววัดมีใจปรีดา ชาวสุพรรณบุรีสองพี่น้อง ต่างแซ่ซร้องสาธุการกันทั่วหน้า จัดสมโภชโอฬารธารศรัทธา หลั่งสู่ “ป๋า” พร่างพรูมิรู้วาย..... |
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๗๑ - กวีวัจนเทศนา / ๕
(กาพย์ยานี) อ้าองค์สงฆ์พิเศษ บารเมศร์ล้ำบรรยาย ความดีมีมากมาย ถ่ายทอดไว้ในโลกา จากงานด้านปกครอง ที่ร้อยกรองเรื่องราวมา ไม่ถึงครึ่งเลยหนา “ป๋า”ความดีมีเกินนั้น ในงานด้านศึกษา ทรงเห็นค่าความสำคัญ ส่งเสริมสารพัน สรรค์สร้างเห็นคนเป็นคน ในส่วนพระองค์นั้น งานประพันธ์ทรงนิพนธ์ ร้อยแก้วแววปราชญ์ปน ผลงานเห็นดีเป็นนิตย์
(สุรางคณางค์) เขียนบทความก่อน โดยนำคำสอน พุทธสรรค์บัณฑิต สำคัญวันใด เขียนไว้ให้คิด “เดลิเมล์”ติด- ต่อตามนำลง
นาม “ป.ปุณณะ- สิริ”บอกพระ ประจักษ์ตามตรง อีก “สันติวัน” “ศรีวัน”ยรรยง “ป๋า”ใช้ไม่หลง วงบรรณบูชา
เรื่องที่แต่งไว้ ดีรึงตรึงใจ ใน “เกียรติการดา” 1“เบื้องหลังชีวิต” ไม่ปิดปัญหา เบื้องหลังนานา จี้ตาตำใจ
“คุณนายชั้นเอก” เรื่องช่างสรรเสก เฉกเห็นเป็นได้ “พุทธชยันตี” “อ้ายตี๋”อีกไซร้ “พรสวรรค์”เขียนไว้ ไม่อ่อนหย่อนดี
“หนี้กรรมหน้าเวร” สันทัดจัดเจน เด่นแท้เมธี “ลิขิตสมเด็จฯ” เรื่องเท็จไป่มี สร้างคำนำชี้ ที่แท้แน่นอน
เรื่องแน่นแก่นสาร “อภินิหาร- อาจารย์แก้ว”สอน น่าทำตามได้ ถ้าใจไม่อ่อน ทางบุญสุนทร จรได้ไป่ทราม
เรื่องราวกล่าวแล้ว เป็นถ้อยร้อยแก้ว แพร้วอยู่คู่สยาม มีค่าไม่น้อย ทั้งถ้อยทั้งความ ชวนจิตติดตาม ยามอ่านผ่านตา
“ป๋า”เป็นปราชญ์ชัด เรื่องบ้านเรื่องวัด สันทัดทุกท่า พระนิพนธ์ “สอง” “ร้อยกรอง”ฟ่องค่า จักขอยกมา เนื่องหนุนสุนทร
(พระนิพนธ์) “ชมรมนักกลอนแจ้ง วจะแปลงริกาพย์กลอน กรองแก้วเผดียงวอน ดนุให้ประพันธ์ฉันท์ จึ่งเริ่มประเดิมเรื่อง ระยะเนื่องติดต่อกัน ชมรมนักกลอนขันธ์ ขณะเริ่มและก่อการณ์ วันเดือนลุเป็นวัส ทสะพัสประสบกาล นักกลอนริเริ่มงาน อนุสรสุมงคล บำเพ็ญกุศลสืบ วรกิจวิบูลผล บูชิตบูชายญ กวิขาติฉลาดกลอน จึงเร่งประดิษฐ์เขียน วิระเวียนประสิทธิพร ก้มเกล้าและกล่าววอน วระพุทธพิสุทธิศิล สรวมเดชพระเมตตา กรุณาทยาจิณ เทเวศร์และเทวินทร์ มหะศักดิเดชา ขอโปรดถนอมรัก- ษะพิทักษ์คณานา นักกลอนผดุงกา- ยะนิโรคนิราศภัย พรรณผ่องพิมลจิต ประไพพิศรพีไข ชาญเชี่ยวประจักษ์ใจ ผิจะโต้ฤตอบตาม เจริญสุขจรูญศักดิ์ อุฬารทรัพย์ระบือนาม สรวมเดชมเหศร์สาม รตนาทิคุณคุณ รุ่งโรจน์ประพันธ์กิจ ประสบสิทธิ์ประสิทธิ์สุนทร์ เฉลิมเกียรติกวีกุล ดุจะธุชประเทืองพงษ์ ทวยทั่วคณาญาติ ปิยะมาดอันใดจง สมดังดนูปลง มนะเอื้ออำนวยเทอญฯ”
(ภุชงค์ฯ ฉันท์) พจีแจ้งประจักษ์ปราชญ์ กวีวาทสดับเพลิน จะจำนรรจ์สิสรรเสริญ เจริญพจน์มิหมดดี ประจักษ์ผลนิพนธ์พจน์ ก็รื่นรสสุวาที ประเมินค่า ธ “ป๋า”มี อเนกขันธ์อนันต์คุณ กวีชาติมิขาดสาย จะเริ่มวายก็รับหนุน ประกายก่องฉลองบุญ เฉลิมชาติเพราะปราชญ์นำ กระนี้ “ป๋า” มหาสงฆ์ พระเสริ่มส่งมิให้ต่ำ กวีวรรณประวีณคำ จรัสรุ่งจรุงใจ ประเทศชาติผิขาดกาพย์ ประชาหยาบมิสดใส มนัสหมองมิยองใย กระนี้แจ้งมิแกล้งวอน.......
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๗๒ -
กวีวัจนเทศนา / ๖
(กลอนสุภาพ) การกวีศรีศักดิ์หลักภาษา “สมเด็จป๋า”ยกยอไม่ย่อหย่อน “อุปถัมภ์ชมรมนักกลอน” นับแต่ตอนเริ่มต้นด้วยหวังดี “ชมรมนักกลอน”กระฉ่อนชื่อ คนร่วมมือร้อยกรองฉันน้องพี่ ตั้งประจำตำหนักวาสุกรี ตราบวันนี้ยังอยู่คู่วัดโพธิ์ จากปีหนึ่ง,สอง,สามตามลำดับ เดือน,ปีลับล่วงผ่านมานานโข การกวีก็ได้ใหญ่ภิญโญ ความเติบโตของชมรมฯ ไม่ซมเซา สิบสี่ปีที่“ป๋า”เมตตาหนุน ประธานหมุนเวียนตั้งทั้งใหม่เก่า ด้วยใจรักหนักสู้มิดูเบา ทนรับเอาความยุ่งยากซ้ำซากไว้ ประธานคนปัจจุบันมั่นหมายมาก ทนลำบากเสริมสานสร้างงานใหญ่ เพื่อชมรมนักกลอนแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ในฐานะ “สมาคม” เป็น“สมาคมร้อยกรอง”ไม่ข้องขัด ทะเบียนจัดจดให้ได้เสร็จสม “ป๋า”แนะให้ประกาศตั้งดังนิยม เปลี่ยนชมรมเป็นสำคัญ“วันจักรี” แต่ “ป๋า” อยู่ไม่ทันถึงวันตั้ง เห็นความหวังสำเร็จแล้วแววริบหรี่ องค์ผู้เด่นเป็นหลักนักกวี ถึงกาลที่วางละสิ้นพระชนม์
ดั่งเดือนดับลับดวงจากห้วงหาว ประดาดาวล้วนหรี่แสงสีหม่น ฟ้าวงบรรณวรรณกวีเคยมีมนต์ จลาจลเมื่อเดือนเลือนร้างลา “ป๋า”เป็นปราชญ์เสริมศรีกวีสยาม เหมือนเพชรงามน้ำหนึ่งซึ่งมากค่า เฉกมิ่งขวัญคนยาก “โลกปากกา” ดั่งดวงตราวรรณกรรมที่ลำยอง เป็นที่รวมศรัทธาสักการะ ชาวพุทธะบริษัทใจกลัดหนอง เมื่อพระชนม์“ป๋า”สิ้นจากถิ่นทอง ทุกข์เข้าครองใจคนไทยหม่นมัว เสียงที่ดังฟังชัดไม่ขัดหู เห็นยิ้มอยู่ผุดผาดปราศเยาะยั่ว เป็นสมบัติของ “ป๋า” เหมือนตราตัว คนทั่วทั่วรู้จักรักเคารพ นับแต่นี้ต่อไปจักไม่เห็น ทุกอย่างเป็นร้างละพร้อมพระศพ เหลือความดีมีไว้ให้นอบนบ ไม่รู้จบจางจนคือผลงาน
นับแต่วันสิ้นพระชนม์จนบัดนี้ ประชาชีมากมายหลายถิ่นฐาน ต่างมาร่วมจงรักเทิดสักการ จับจองวารไม่เว้นบำเพ็ญบุญ ลางคนกราบพระศพแล้วซบหน้า ปล่อยน้ำตาหลั่งไหลใจคิดวุ่น เคารพรักรัดรึงซึ้งพระคุณ อาลัยรุนรุดหน้าลุยอาวรณ์ ไม่มีแล้วแก้วเกศ “สมเด็จป๋า” เหลือเพียงค่าสูงสุดอนุสรณ์ นับแต่นี้ศรัทธาของนาคร ก็จะร่อนเร่ไกลไปนานวัน ดูโกศทองรองรั้งตั้งพระศพ ใจท่าวทบวิปโยคแสนโศกศัลย์ โอ้...”ป๋า”เอ๋ยเคยเด่นดุจเพ็ญจันทร์ สู่สวรรค์ทิ้งโลกโศกมัวมน พระคุณ“ป๋า”ดำรงวงการนี้ เรารู้ดีเห็นค่ามาแต่ต้น พระองค์เป็น “บุพการีบุคล” พระทศพลตรัสว่าหายากเย็น....... |
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, Thammada, มนชิดา พานิช, ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, คิดถึงเสมอ, ลายเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เป็น อยู่ คือ, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, malada
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๗๓ -
กวีวัจนเทศนา / ๗
ในวันนี้ชาวกลอนไม่นอนนิ่ง ทั้งชายหญิงต่างพร้องความตรองเห็น รู้คุณค่า “ป๋า” มีดีบำเพ็ญ จึงร่วมเป็นเอกฉันท์ “กตัญญู” “กตเวที”ทำกรรมกุศล ถวายผลบุญแม้จักไม่อักขู แต่ก็เต็มกำลังที่หวังชู ทำตามทางอย่างผู้ที่รู้คุณ อันคนดีที่เห็นเป็นส่วนมาก ดีขึ้นจากเงินทองกองเกื้อหนุน การศึกษาเกียรติยศทดเป็นทุน อีกสกุลมูลนายถ่ายทอดมา ดีเพราะรูปงามสมขำคมสัน การจำนรรจ์หวานประจบชวนคบหา และดีเพราะลักษะถูกชะตา ดีเพราะว่าอ่อนไหวตามใจตน คนดีงามตามพระพุทธพจน์ มีกำหนดสังเกตด้วยเหตุหล ศักดิ์ตระกูลเกียรติทรัพย์ประดับตน มิอาจยลแล้วยันว่านั่นดี คนที่พูดอ่อนหวานคล้อยตามเพื่อน ใจเลอะเลือนไม่รักในศักดิ์ศรี การศึกษาสูงรุดสุดดีกรี จิตอาจไพร่ไม่มีความดีงาม ตนที่ทำพูดคิดรับผิดชอบ อยู่ในเขตขอบคลองของข้อห้าม เว้นการเบียดเบียนใครให้ร้อนลาม ระวังความทุกข์ที่จะกระทบใคร การพูดทำย้ำให้ใครเดือดร้อน ต้องสังวรมิละเมิดปล่อยเกิดได้ เขาแหละคือ “คนดี”มิมีภัย ควรคบไว้เคียงเรานานเท่านาน แต่การดูคนดีนี้แสนยาก เนื่องมาจากไม่ประจักษ์แจ้งหลักฐาน มายาคนพ้นกำหนดจดประมาณ พวกคนพาลปลอมเป็นดีมีมากมาย
เครื่องพิสูจน์พุทธองค์ทรงชี้ไว้ คนดีให้ดูเนื่องในเครื่องหมาย “คนที่รู้คุณคน”ทั้งต้นปลาย และขวนขวายโดยชอบ “ทำตอบแทน” การรู้และแทนคุณบุญสนอง เครื่องหมายของคนดีมีฝากแขวน เป็นคนดีเกินผู้คนดูแคลน เขาหนักแน่นในบุญคุณธรรม ตัวอย่างดีอุดม “สมเด็จป๋า” เทิด “หลวงอาสด”ไม้มิให้ต่ำ ส่งไปเป็น “เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ” และคอยค้ำจุนทวีชั่วชีวิต อีก “สมเด็จพระวันรัต-เผื่อน” เทิดเสมือนบิดาตนสูงพ้นผิด เพราะสมเด็จองค์นี้มีความชิด “ป๋า”เป็นศิษย์แต่ครั้งยังเป็นเณร กัญญูกตเวที “ป๋า” มีอยู่ ถ่ายทอดสู่ศิษย์ซ่านถึงหลานเหลน มีข้อวัตรปฏิบัติอยู่ชัดเจน มิได้เกณฑ์ผู้คนทนทำตาม
อนุชนเมื่อเห็นถือเป็นแบบ มิได้แอบปลดแอกแหกข้อห้าม สมัครใจเอออวยด้วยเห็นงาม ประกาศความดีเลิศเกิดโดยตรง “จดหมายสองพี่น้อง”ของ “ป๋า”นั้น ยืนกตัญญูเด่นไม้เร้นหลง การอยู่ในพรหมจรรย์อย่างมั่นคง เป็นการปลงใจปองสนองคุณ... |
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, Thammada, ลายเมฆ, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล, คิดถึงเสมอ, เป็น อยู่ คือ, มนชิดา พานิช, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, malada
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๗๔ -
กวีวัจนเทศนา / ๘
ที่ชาวกลอนรวมกันมั่นประกอบ กุศลนอบน้อมถวายหมายเกื้อหนุน ดวงพระวิญญาณ “ป๋า” ผู้การุณย์ เสวยบุญสมบัติตามศรัทธา ชื่อว่ามี “กตัญญู” รู้คุณยิ่ง ไม่เนานิ่งเหมือนผู้มิรู้ค่า ทดแทนคุณแด่ผู้...ตนบูชา เห็นชัดว่าทุกคนเป็นคนดี คุณความดีมีประโยชน์ไร้โทษแท้ ร่มเงาแผ่ปกปักสุขศักดิ์ศรี ผู้หวังความเจริญไว้ในชีวี เข้าวิถี “กตัญญู” ถูกลู่ทาง ชีวิตสัตว์อุบัติแล้วแน่วที่สุด ล้วนไปหยุดตรงตายสลายร่าง อำลาโลกโยกย้ายกระจายจาง มีตัวอย่างเห็นซ้ำอยู่จำเจ เมื่อคนตายลายมีเป็น “ดี,ชั่ว” อยู่แทนตัว..วิญญาณลอยหันเห ร่างกายสูญมิอาจชมสมคะเน จมทะเลโลกีย์ธารสีดำ ผม,ขน,เล็บ,ฟัน,หนัง,เนื้อ,เอ็น,กระดูก เป็นที่ปลูกสิเนหาอาลัยร่ำ เมื่อวิญญาณซานไกลไปตามกรรม ร่างก็คว่ำฟาดป่นอยู่บนดิน ไม่มีเหลือเนื้อหนังให้หวังหวง ทุกสิ่งร่วงล่วงลับดับไปสิ้น เหลือดีชั่วกลั้วไว้ให้ยลยิน สมวาทินปราชญ์กวีท่านชี้แจง... |
“ พฤษภกาษร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ความดีก็ปรากฏ กฤยศฤๅชา ความชั่วก็นินทา ทุรยศยินขจร..” |
“กฤษณาสอนน้อง” ความถ่องแท้ ไม่ต้องแปลก็ประจักษ์ตามอักษร มิใช่มุ่งหมายนำคำสุนทร เหนี่ยวอาวรณ์อาลัยล่อใจคน โคกระบือช้างทั้งหลายล้มตายแล้ว เหลือวี่แววแทนร่างไม่ร้างผล งา.เขา,หนังยังประโยชน์ไร้โทษปน อยู่ให้ยลแทนซากที่จากไป คนเมื่อตายใจหมุนตามบุญ,บาป ชั่ว,ดีทาบติดโลกาหาสูญไม่ กฎความจริงแจ้งแท้อยู่แก่ใจ หมั่นตรึกไว้เถิดชาวเราแก้เมามัว
“สมเด็จป๋า”สิ้นพระชนม์เหมือนคนอื่น แต่ภพพื้นภูมิดีไม่มีชั่ว พระองค์วายตายแน่ก็แต่ตัว ความดีทั่วท่วมใจชนไม่ตาย “กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม” นี่พระนาม“ป๋า”ระบือฤๅแล้งหาย ในสำนึกโดยจริงจิตหญิงชาย “ป๋า”ไม่วายเว้นพรากจากห้วงจินต์..... |
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๗๕ -
กวีวัจนเทศนา / ๙
ขออนุโมทนาบรรดาท่าน ที่ร่วมการกุศลจนเสร็จสิ้น วอนพระวิญญาณ “ป๋า” มายลยิน รับระบิลบุญวิบากจากชาวกลอน “สรวงสวรรค์ชั้นกวีรุจีรัตน์” เป็นสมบัติ “ป๋า” พึงเข้าถึงก่อน เสวยสวรรค์พิมานมาศปราศอาทร มีอมรแห่ห้อมน้อมบูชา บุญกุศลที่คนกลอนวอนถวาย “ป๋า”โปรดถ่ายเทเติมลงเพิ่มค่า ให้วิบากมากคุณยิ่งบุญญา เป็น “มหาโพธิสัตว์” ในบัดดล
อาวสานการเทศน์พิเศษนี้ ขอผู้ที่มารวมร่วมกุศล น้อมดวงจิตรวมลงเป็นมงคล ดำรงตนในวารกตัญญู อุทิศส่วนพระกุศลพิมลค่า ถวาย “ป๋า” ด้วยจิตไม่ผิดลู่ พระวิญญาณ “ป๋า” เห็นแล้วเอ็นดู อวยพรผู้ “กตเวทิตามัย” ขออานุภาพยิ่งใหญ่แห่งไตรรัตน์ มาบำบัดทุกข์โศกโรคน้อยใหญ่ ความอัปมงคลต้นเหตุภัย จงเสื่อมสิ้นภินท์ไปในเร็วพลัน พร้อมสร้างสรรค์บันดลมงคลให้ ประสบชัยโชติช่วงดวงชีพฉัน (พุ่งออกไป) อยู่ในร่มเย็นระรื่นทั้งคืนวัน บาปอาธรรม์ถอยพ้นหมดมลทิน ขออำนาจความดีมีต่างต่าง ซึ่งท่านสร้างเสริมงามตามถวิล มี “ให้ทาน-ฟังธรรม”ชื่นฉ่ำจินต์ รักษาสินศีลงามตามกำลัง “กตัญญูกตเวที”สองนี้ด้วย ร่วมกันช่วยสร้างผลมงคลขลัง ให้“ชาวกลอน”กระฉ่อนชื่อระบือดัง ผลงานยั่งยืนยงติดวงวรรณ เจริญชนม์มากพลังปลั่งวรรณะ มากพันธะสนุกแสนสุขสันต์ ธนสารสมบัติมีมากนิรันดร์ ปัญญาชั้นเมธีที่เกรียงไกร ประสงค์ใดสมหวังดังประสงค์ ความคิดตรงพูดตามทำดีได้ เว้นจากการส่อเสียดเบียดเบียนใคร ทั้งกายใจชอบธรรมกระทำการ
สมดังได้ชี้แจงแสดงแล้ว พอเป็นแนวเน้นหนักตามหลักฐาน เทศนาดำเนินมาเนิ่นนาน ก็ถึงวารที่หวัง.....เอวังเอยฯ
“พป.อภินันท์ นาคเกษม” ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ |
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|