บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๔๖ - ประสบการณ์ในการเทศน์ของข้าพเจ้ามีเรื่องขำขันมากมาย วันนี้จะเล่าให้ฟังพอเป็นสังเขปสักเรื่องหนึ่ง คือรับนิมนต์เทศน์เรื่องมฆมาณพที่วัดคลองโป่ง ในตำบลสามเรือน อ.ศรีสำโรง สุโขทัย วัดนี้เป็นวัดที่เคยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังชื่อ “หลวงพ่อเอม” (พระครูธรรมภาณโกศล) พระองค์นี้มีประวัติชีวิตพอที่จะสรุปได้ว่า ท่านมีนามเดิมว่า เอม สนทิม เป็นชาวศรีสำโรงโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๕ ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ เป็นบุตรคนสุดท้องของโยมบิดาชื่อ สน โยมมารดาชื่อ ทิม เมื่ออายุประมาณ ๑๗ ได้ปีบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดคลองโป่ง แล้วเข้าไปอยู่สำนักวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ เพื่อเรียนนักธรรม บาลี อายุครบบวชเป็นพระจึงกลับมาอุปสมบทอยู่ที่วัดคลองโป่ง และอยู่มาจนถึงปีที่เจ้าอาวาสวัดคลองโป่งมรณภาพ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดคลองโป่ง ต่อมาได้เป็นเจ้าคณะแขวง (อำเภอ) ศรีสำโรง และเป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นพระครูสัญญาบัตรมีพระราชทินนามว่า ”พระครูธรรมภาณโกศล” ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย (อายุ ๕๐ ปี) ต่อมาจังหวัดสุโขทัยถูกยุบไปรวมกับจังหวัดสวรรคโลกในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ซึ่งพระครูธรรมภาณโกศล (เอม) ครองอยู่นั้น จึงถูกยุบไปด้วย หลวงพ่อเอมเป็นพระนักปกครอง นักเทศน์ และเกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านยกย่องกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศรีสำโรง หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเล่าถึงหลวงพ่อเอมว่าเคยขี่ม้าไปเทศน์ด้วยกันหลายครั้ง ท่านเทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูกชกได้ดีไม่มีใครเทียมทัน
วันที่ข้าพเจ้ารับนิมนต์ไปเทศน์ที่วัดคลองโป่งนั้น หลวงพี่ยกศิษย์วัดไทยชุมพลซึ่งไปเป็นสมภารวัดนี้เจาะจงนิมนต์ไปเทศน์ร่วมกับหลวงพ่อพระครูจันทโรภาส วัดป่าข่อย และ พระใบฎีกาวิโรจน์ วัดท่าทอง อ.สวรรคโลก หลวงพ่อพระครูจันทโรภาสองค์นี้เห็นจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณและหลวงพ่อเอม (พระครูธรรมภาณโกศล) เป็นชาวอำเภอสวรรคโลก บวชอยู่วัดอนงคาราม (วัดเดียวกับเจ้าคุณโบราณ) ท่านสุภาพเรียบร้อยเป็นที่เคารพนับถือของชาวสวรรคโลกและที่ใกล้เคียง ข้าพเจ้าไม่เคยเทศน์กับท่านมาก่อนเลย ส่วนพระใบฎีกาวิโรจน์นั้นเป็นศิษย์พระครูอุดมธรรมปฏิภาณ (เภา) วัดท่าทองที่เคยเทศน์กับข้าพเจ้ามาหลายครั้งแล้ว พระใบฎีกาวิโรจน์เป็นพระเทศน์แบบคาบลูกคาบดอก ยังไม่เคยเทศน์กับข้าพเจ้าเลยเช่นกัน
การเทศน์วันนั้นเราตกลงแบ่งตำแหน่งหน้าที่กันว่า พระครูจันทโรภาส (จันทร์) เป็นมฆมาณพ (พระเอก) ข้าพเจ้าเป็นคามโภชก (กำนัน ตัวโกง) พระใบฎีกาวิโรจน์ เป็นเจ้าเมืองผู้ตัดสินคดี เมื่อข้าพเจ้าแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์สมมุติตำแหน่งหน้าที่แล้ว พระครูจันทโรภาส ก็ดำเนินเรื่อง กล่าวถึงเรื่องราวของมฆมาณพสร้างความดีงามร่วมกับเพื่อน ๓๒ คน และชักชวนให้ชาวบ้านในตำบลนั้นพากันรักษาศีลห้าจนหมู่บ้านอยู่ในความสงบเรียบร้อย ไร้โจรขโมย ไม่มีคดีฟ้องร้องให้คามโภชก (กำนัน)ชำระความ ถึงหน้าที่ซึ่งข้าพเจ้าต้องแสดงความคดโกงออกมา เมื่อไม่มีคดีฟ้องร้องมาถึงผู้บริหารปกครองหมู่บ้าน (กำนัน) จึงไม่มีโอกาสกินสินบนเหมือนแต่ก่อน พิจารณาเห็นว่าเป็นเพราะมฆมาณพกับเพื่อน ๆ เป็นตัวการชักชวนชาวบ้านถือศีลห้านั่นเอง
คามโภชกหาทางกำจัดมฆมาณพกับพวกด้วยวิธีการนานา จนถึงสุดท้ายนำความขึ้นฟ้องร้องต่อเจ้าเมือง (พระราชา) ว่า มฆมาณพและเพื่อน ๆ รวมหัวกันยุยงให้ชาวบ้านเป็นขบถ ไม่อยู่ในกฎหมายบ้านเมือง ข้าพเจ้าสรรหาคำเท็จเพ็ดทูลเพื่อให้เจ้าเมืองลงโทษมฆมาณพและเพื่อน เจ้าเมืองก็หูเบาเชื่อคำเท็จของกำนันที่ปั้นขึ้นมากล่าวหามฆมาณพ ตรงนี้แหละโยมหญิงผู้เฒ่าเกิดอารมณ์โกรธกำนันขึ้นจนลืมตัว ถึงกับลุกขึ้นกลางศาลาชี้หน้าข้าพเจ้าส่งเสียงดังว่า
“โกง กำนันขี้โกง อย่างนี้ต้องเอาตะบันหมาก.....”
คนฟังในศาลาหัวเราะฮาครืน เพื่อน ๆ จึงจีบตัวนางกดให้นั่งลง พระครูจันทโรภาสกล่าวปรามว่า
“โยม...นี่เป็นเรื่องเทศน์ไม่ใช่เรื่องจริง ในตำนานเรื่องจริงนั้น กำนันมันโกงมฆมาณพยิ่งกว่าที่พระเทศน์เสียอีกนะ”
โยมหญิงคนนั้นได้สติ กล่าวว่า “อีชั้นกราบขอโทษที่ลืมตัวไปเจ้าค่ะ”
พระครูจันทร์ท่านก็สรุปเรื่องมฆมาณพว่าเมื่อพ้นโทษแล้วได้เป็นกำนันคนใหม่แทนคนเก่าที่ถูกถอดถอน แล้วสร้างถนนหนทาง ศาลา สระน้ำ ทำสิ่งสาธารณะประโยชน์นานา เมื่อสิ้นอายุไขก็ไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วเป็นพระอินทร์ปกครองสวรรค์ชั้นนี้ในที่สุด
ข้าพเจ้าเทศน์สมมุติเป็นตังละครตามเรื่องทีไรไม่เคยได้บทเป็นพระเอกนางเอกกับเขาสักที ต้องรับตำแหน่งตัวโกงอยู่เรื่อย เพราะเพื่อน ๆ เขาว่าข้าพเจ้าโกงเก่ง เทศน์ที่วัดคลองโป่งเกือบโดนตะบันหมากยายแก่ขี้โมโหเสียแล้ว ก็คงเพราะโกงเก่งนั่นเอง/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ต้นฝ้าย, ชลนา ทิชากร, เป็น อยู่ คือ, มนชิดา พานิช, หยาดฟ้า, คิดถึงเสมอ, ข้าวหอม, malada
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 พระครูบริหารคุณวัตร (ชม สิรินฺธโร) เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๔๗ - วัดในกรุงเทพฯ ทุกวันพระจะมีญาติโยมผู้สูงวัยเข้าไปรักษาอุโบสถศีลกันมากบ้างน้อยบ้าง ที่วัดใหม่อมตรสก็เช่นกัน มีโยมชายหญิง (ส่วนมากเป็นหญิง) อย่างน้อย ๕ คนเข้าไปรักษาอุโบสถอยู่ในโบสถ์ ทางวัดจึงจัดพระแสดงธรรมให้ผู้รักษาอุโบสถฟังเป็นกิริยาบุญ พระที่เป็นองค์แสดงธรรมมีอยู่ไม่กี่องค์ แต่ละองค์จะอ่านคัมภีร์เทศน์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ใบลานที่ร้าน ส.ธรรมภักดี พิมพ์จำหน่ายทั่วไป คำเทศน์ส่วนใหญ่เป็นชาดกซึ่งแต่งโดยพระผู้ใหญ่ที่ถนัดเขียนเรื่อง เช่น ท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิเมธี (เจีย เขมิโก ป.ธ. ๙) มหาปุ้ย แสงฉาย เป็นต้น ครั้นข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดนี้เป็นปีที่ ๒ จึงมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการแสดงธรรมขึ้นโดยข้าพเจ้าเอง
ปีนั้นมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสองค์ใหม่ เจ้าคณะอำเภอพระนคร (วัดพระเชตุพนฯ) เจ้าคณะตำบล (วัดสังเวชวิศยาราม) มาประชุมพระที่วัดใหม่อมตรสเพื่อทำการเลือกตั้งเจ้าอาวาส ข้าพเจ้าทราบอยู่แล้วว่าทางพระผู้ใหญ่ต้องการให้พระครูบริหารคุณวัตร (ชม) เป็นเจ้าอาวาส ถึงเวลาเลือกตั้ง ท่านทำไม่ถูกระเบียบปฏิบัติ กล่าวคือท่านเจ้าคุณเจ้าคณะอำเภอเป็นผู้เสนอชื่อพระครูชมให้ที่ประชุมลงมติเลือก ข้าพเจ้าจึงยกมือค้าน ท่านถามว่าคุณจะเสนอองค์อื่นมาเป็นคู่แข่งหรือ ข้าพเจ้าตอบว่า ไม่เสนอคู่แข่ง แต่ขอคัดค้านการดำเนินงานของท่านเจ้าคณะอำเภอที่ทำไม่ถูกต้อง เกรงว่าจะเป็นโมฆะ ท่านถามว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ข้าพเจ้าเคยเป็นเจ้าคณะตำบลมาแล้วจึงรู้และจำระเบียบได้ดี อธิบายวิธีการเลือกตั้งเจ้าอาวาสให้ท่านฟังว่า
“เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลมีหน้าที่เรียกประชุมพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาของวัดนั้นร่วมประชุม อ่านระเบียบข้อบังคับในการเลือกตั้งผู้สมควรเป็นเจ้าอาวาส คือภิกษุมีอายุพรรษา ๕ ขึ้นไปที่อยู่ในวัดนั้น จากนั้นจึงให้ที่ประชุมเสนอชื่อพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือหลายรูป ให้ที่ประชุมลงมติเลือกเป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ซึ่งมิได้เป็นพระภิกษุในวัดนั้นไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อพระภิกษุรูปใด ๆ เป็นเจ้าอาวาส ดังนั้นการที่ท่านเจ้าคณะอำเภอเสนอชื่อพระภิกษุให้ที่ประชุมลงมติเลือกนั้นเป็นการทำผิดระเบียบนี้ ต้องให้พวกเราเป็นผู้เสนอครับ”
ท่านเจ้าคณะอำเภอหันไปปรึกษากับเจ้าคณะตำบลแล้วสั่งปิดการประชุม นัดเปิดประชุมใหม่ภายใน ๗ วัน (ในกรณีนี้มีข้อแม้อยู่ว่า ถ้าพระในวัดนั้นไม่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็นเจ้าอาวาส เช่น มีอายุพรรษาไม่ถึง ๕ ก็ให้นำพระจากวัดอื่นย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสก็ได้)
ข่าวการคัดค้านวิธีการเลือกตั้งเจ้าอาวาสของข้าพเจ้าดังไปถึงสมเด็จป๋า (สมเด็จพระวันรัต) วัดโพธิ์ ท่านหัวเราะชอบใจ กล่าวว่า
“เจ้าคุณองค์นี่โง่อวดฉลาด ให้เด็กมันถอนหงอกเสียบ้างก็ดีแล้ว”
หลังจากนั้นอีก ๖ วันก็มีการเรียกประชุมใหม่ คราวนี้เจ้าคณะอำเภอเป็นมวยขึ้นแล้ว หลังจากกล่าวเปิดประชุมแล้วถามว่า ท่านใดจะเสนอใครเป็นเจ้าอาวาสก็เสนอมา ข้าพเจ้ายกมือ ท่านเห็นแล้วกล่าวติดตลกว่า ท่านนั่นจะค้านอีกรึ ข้าพเจ้าตอบว่า ไม่ค้านขอรับ แต่ขอเสนอชื่อพระครูบริหารคุณวัตรเป็นเจ้าอาวาสครับ ท่านถามว่ามีใครสนับสนุนไหม ที่ประชุมก็ยกมือสนับสนุนกันพรึบเกือบทั้งหมดในที่ประชุม ท่านถามต่อไปว่ามีใครจะเสนอองค์อื่นอีกไหม ทุกคนเงียบ ศิษย์พระครูสังฆรักษ์ลำภูมีจำนวนน้อยเห็นว่าหากเสนอชื่ออาจารย์เข้าแข่งก็แพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงพากันนิ่งเสีย ท่านจึงถามอีกทีว่า ใครเห็นด้วยว่าให้พระครูบริหารคุณวัตรเป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรสเป็นองค์ต่อไปยกมือขึ้น ทุกคนยกมือพรึบอีกครั้ง พระครูชมจึงได้เป็นเจ้าอาวาสองค์ใหม่โดยไม่มีเสียงค้าน
หลังจากพระครูชมได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่ฯ แล้ว พระเพื่อน ๆ ของท่านต่างวัดมาแสดงความยินดีกัน และบอกให้พระครูชมตั้งข้าพเจ้าเป็นรองเจ้าอาวาส ข้าพเจ้ารู้เข้าก็รีบไปห้ามไม่ให้ท่านทำเรื่องเสนอให้ข้าพเจ้าเป็นรองเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการ อ้างว่ามีโครงการจะลาสิกขา ท่านบอกว่าให้ข้าพเจ้าเป็นรองเจ้าอาวาสนอกทำเนียบพระสังฆาธิการก็แล้วกัน จึงตกลงกันตามนั้น หลังจากนั้นท่านมอบหน้าที่ให้ข้าพเจ้าคอยดูแลให้ความสะดวกสบายแก่ญาติโยมที่มาทำบุญรักษาศีลในวัด ข้าพเจ้าจึงเปลี่ยนวิธีการเทศน์ในให้ผู้รักษาอุโบสถฟังเสียใหม่ ถามพระในวัดว่าใครจะเทศน์โดยปฏิภาณของตนให้โยมรักษาอุโบสถฟังได้บ้าง เมื่อไม่มีใครกล้าเทศน์ข้าพเจ้าจึงทำหน้าที่นี้เสียเอง วันพระใดที่ข้าพเจ้าไม่อยู่วัดก็ให้พระที่เคยอ่านคัมภีร์เทศน์อ่านคัมภีร์ให้โยมฟัง วันพระใดข้าพเจ้าอยู่วัดก็จะเทศน์ตามแบบของข้าพเจ้า
มีพระนักเทศน์หลายองค์เคยบ่นให้ฟังว่า ไปเทศน์ที่นั่นที่โน่นมีคนฟังน้อยกว่าเสาศาลาเสียอีก ไม่อยากไปเทศน์อีกเลย คนฟังน้อยไม่มีกะใจจะเทศน์ ข้าพเจ้าแย้งว่าลองคิดย้อนไปถึงสมัยพุทธกาลซี พระพุทธเจ้าศาสดาจารย์ของเราท่านแสดงธรรมไม่เลือกบุคคลและสถานที่ มีคนฟังแค่คนเดียวพระองค์ก็เทศน์ เราเป็นศิษย์ตถาคตควรเอาอย่างพระองค์ ความคิดเห็นนี้ข้าพเจ้ายึดถือมาโดยตลอด ไปเทศน์ที่ไหนมีคนฟังน้อยมากอย่างไรไม่สนใจ คิดแต่จะแสดงธรรมให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟังเท่านั้น มีคนฟังเพียงคนเดียวข้าพเจ้าก็เคยเทศน์ให้เขาฟังมาแล้ว ดังนั้นคนรักษาศีลอุโบสถในโบสถ์วัดใหม่แม้มีเพียง ๓-๕ คน ข้าพเจ้าก็เทศน์ให้เขาฟัง บางครั้งเมื่อเขากล่าวคำอาราธนาธรรมแล้ว ข้าพเจ้าตั้งนโมเป็นการนอบน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาค แล้วไม่กล่าวธรรมิกถา หากแต่หยุดพนมมือแล้วกล่าวกับโยมที่นั่งฟังอยู่ว่า
“วันนี้เรามาสนทนาธรรมกันดีไหมโยม ใครมีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับข้อธรรม หรือ สงสัยเกี่ยวกับศาสนพิธีกรรมใด ก็ขอให้โยมนำมาถามได้เลย ถือว่าแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกันนะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า การสนทนาธรรมเป็นมงคล ดังนั้นวันนี้เรามาสนทนาธรรมสร้างสิ่งอันเป็นมงคลกันบ้างเถิด”
การเทศน์แบบนี้ได้ผลดีไม่น้อย โยมอุบาสกอุบาสิกาถามปัญหากันหลากหลาย วิธีนี้ข้าพเจ้านำ “ลานธรรมลานอโศก” ในวัดมาธาตุมาปรับใช้ ทำให้คนเข้ามารักษาอุโบสถในโบสถ์วัดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเพื่อไม่ให้เกิดความจำเจ ข้าพเจ้าจึงใช้วิธีเทศน์สลับกับการสนทนาธรรมไปเรื่อย ๆ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๔๘ - วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เดิมเรียกว่าวัดกลางนา ต่อมายกสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร วัดนี้อยู่ไม่ไกลจากวัดใหม่อมตรสนัก พระสองวัดนี้เดินบิณฑบาตถึงกัน ออกจากวัดใหม่ฯ จากซอยวรพงศ์ (สามเสน ๖) เลี้ยวขวาเดินตามฟุตบาทถนนสามเสนผ่านซอยพระสวัสดิ์ (สามเสน ๔) ซอยนานา (สามเสน ๒) พ้นเขตถนนสามเสนข้ามสะพานบางลำพูเข้าเขตถนนจักรพงษ์ ข้ามถนนพระสุเมรุ บางลำพู ไปหน่อยเดียวก็ถึงวัดชนะสงครามแล้ว วัดนี้มีความเป็นมาที่น่าสนใจพอสรุปได้ดังนี้:-
“เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุด วัดที่ตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ ตลอดจนเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมาะสม โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดกลางนาเป็นวัดตองปุ และให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เช่นเดียวกับวัดตองปุที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อเทิดเกียรติทหารชาวรามัญในกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่าในสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ สงครามที่ท่าดินแดงและสามสบ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙ และสงครามที่นครลำปาง ป่าซาง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง ๓ ครั้ง”
ได้ความว่าวัดนี้เดิมชื่อวัดกลางนา เปลี่ยนชื่อเป็นตองปุ แล้วเปลี่ยนเป็นชนะสงคราม ใช้นามนี้มาจนถึงปัจจุบัน คำว่า “ตองปุ” เป็นภาษามอญแปลว่า “ที่ชุมนุมพลก่อนออกรบ” สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นวัดสำหรับพระภิกษุสงฆ์ชาวมอญโดยเฉพาะ ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย เจ้าอาวาสและพระลูกวัดไม่จำเป็นต้องเป็นชาวรามัญ (มอญ) เท่านั้น วัดชนะสงครามเป็นวัดที่สวยงามมากอีกวัดหนึ่งของกรุงเทพฯ สิ่งสำคัญคือพระอุโบสถของวัดนี้แปลกแตกต่างจากพระอุโบสถวัดอื่น ๆ กล่าวคือ เป็น “พระอุโบสถก่ออิฐถือปูนเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็น ๑๓ ห้องเสา ไม่มีพาไล ฐานพระอุโบสถเป็นฐานบัวลูกแก้ว หลังคาทำเป็นชั้นลด ๓ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเจาะเป็นช่องหน้าต่าง บานหน้าต่างเป็นลายเทพพนมเหนือบานหน้าต่างเป็นลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ลวดลายพื้นหน้าบันแตกต่างกันคือ หน้าบันด้านหน้าลายพื้นเป็นลายเทพพนม ส่วนหน้าบันด้านหลังลายพื้นเป็นลายก้านแย่งใบเทศ ประดับกระจกสีปิดทอง ซุ้มประตู หน้าต่างซ้อนสองชั้น เป็นลายก้านขดปูนปั้นบานหน้าต่างด้านในเป็นภาพเขียนทวารบาล บานประตูด้านนอกเป็นไม้แกะสลักปิดทองลายก้านแย่ง บานหน้าต่างด้านนอกลงรักสีดำ ไม่มีลวดลาย ด้านหลังพระอุโบสถข้างหลังพระประธานเป็นเฉลียงกั้นห้องทำเป็นคูหาที่บรรจุอัฐิเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล เจาะเป็นช่อง ๆ มีคันทวยรองรับชายคา โดยรอบพระอุโบสถเป็นลวดลายเถาวัลย์พันตลอดคันทวย ใบเสมาพระอุโบสถจะติดที่ผนังตรงมุมด้านนอกทั้ง ๔ มุมและผนังด้านใน นอกจากใบเสมาติดผนังแล้วยังมีใบเสมาตั้งบนแท่นอีก ๑ แห่ง หลังพระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ใบเสมานี้เป็นใบคอดตรงเอว มีลายที่กลางอก ๔ ใบ ตั้งบนฐานแก้วรองรับด้วยฐานบัวอีกชั้นหนึ่ง”
พระมหาบำรุงเป็นพระเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดแสดงธรรมโปรดญาติโยมที่เข้าไปรักษาอุโบสถศีลทุกวันพระ มีพระเปลี่ยนเวรกันเทศน์เช้า-กลางวัน พระที่เทศน์ประจำคือพระอาจารย์ลอย พระอาจารย์ลอยรูปนี้นัยว่าเทศน์ธรรมะเก่ง โดยเฉพาะเรื่องพระอภิธรรม เคยเทศน์กับพระมหาบำรุงและ “ไล่พระมหาบำรุงจน” มาแล้ว วันพระหนึ่งพระมหาบำรุงนิมนต์ข้าพเจ้าไปเทศน์ปุจฉา-วิสัชนากับพระอาจารย์ลอย เจาะจงให้เทศน์พระอภิธรรม บอกว่าญาติโยมที่รักษาอุโบสถในวัดชนะสงครามชอบฟังเทศน์ธรรมะมากกว่าชาดก จึงรับไปเทศน์โดยไม่คิดอะไร
ในโรงอุโบสถอันกว้างใหญ่สวยงามของวัดชนะสงครามวันนั้นมีอุบาสกอุบาสิการักษาอุโบสถศีลจำนวนมาก คะเนดูแล้วไม่ต่ำกว่า ๕๐ คน พระอาจารย์ลอยอยู่ในวัยกลางคนอายุประมาณ ๕๐ เศษ ข้าพเจ้าเรียนท่านว่าหลวงพี่ ก่อนเทศน์ก็ตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้ถามใครเป็นจะผู้ตอบ หลวงพี่ลอยขอทำหน้าที่เป็นผู้ถาม ข้าพเจ้าก็ไม่เกี่ยงที่จะเป็นผู้ตอบ หลวงพี่ลอยท่านไม่ถามอภิธรรมตามแนวของอภิธรรมสังคหะ แต่ถามตามแนวอภิธรรม ๗ คัมภีร์เริ่มที่ กุสลา ธัมมา... ด้วยคำถามตื้น ๆ ว่า ท่านแปลว่าอะไร ก็ตอบแบบตื้น ๆ ว่า แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล ถามอีกว่า ธรรม คำนี้หมายถึงอะไร ตอบว่าหมายะถึงสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ ถามว่า ได้แก่อะไร ตอบว่า กุศล อกุศล ถามว่า กุศลคืออะไร ตอบว่าคือฉลาด ถามว่า ฉลาดยังไง ตอบว่า ไม่โง่ ถามว่า โง่คืออะไร ตอบว่า โมหจิต ถามไล่มาถึงตรงนี้หลวงพี่นิ่ง ข้าพเจ้าจึงถามย้อน (ปฏิปุจฉา) ว่า ท่านอาจารย์รู้จักจิตไหมครับ ท่านตอบว่า รู้จัก ถามว่า คืออะไร มีเท่าไร ตอบว่า จิตคือใจหรือหัวใจ มีสี่ห้อง คำตอบนี้แสดงว่าท่านไม่ได้เรียนอภิธรรมสังคหะ จึงตอบพลาดไป
เมื่อเป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าจึงร่ายยาว คืออธิบายความหมายของจิตคือสภาพที่รู้สึกนึกคิด รับรู้อารมณ์ สั่งสมอารมณ์ เรียกภาษาชาวบ้านว่าใจ จิตหรือใจ ประกอบกับเจสิกที่เกิดและดับพร้อมกับจิต สภาพของมันเกิดดับ ๆๆๆ ตลอดกาล เป็น กุศลจิต และอกุศลจิต จิตกับหัวใจต่างกัน เพราะจิต เป็นนาม ส่วนหัวใจเป็นรูป เรียกว่า หทัยรูป หัวใจสี่ห้องนั้นไม่มีหน้าที่ในการรู้สึกนึกคิด แต่มีหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตเลี้ยงร่างกาย เมื่อข้าพเจ้อภิปรายความยาวอย่างนี้ หลวงพี่ลอยถามต่อไปไม่เป็นเลย ขอให้ข้าพเจ้าอธิบายความต่อแล้วสรุปพระธรรมเทศนา เอวัง....
พระมหาบำรุงรับฟังข่าวจากโยมชายที่ชอบพอกันไปเล่าให้ฟังถึงการเทศน์ของข้าพเจ้าในวันนั้นแล้วหัวเราะชอบใจ กล่าวว่า “อาจารย์ลอยของเราตกม้าตายเสียแล้ว” ข้าพเจ้าไม่เจตนาจะให้หลวงพี่ลอยจนทางออก เรื่องเทศน์ธรรมะอย่างนี้หลวงพี่ไม่เป็นมวย อันที่จริงมีลูกเล่นมากมายให้เล่น ท่ านถามไล่มาตั้งแต่ต้น ข้าพเจ้าแกล้งตอบให้มีแง่เพื่อท่านซักถาม ท่านก็ไม่เข้าแง่ โดยเฉพาะ โมหจิต ที่ตอบนั่นท่านก็ไม่ซักต่อ ข้าพเจ้าจึงแย็ปเล่น ๆ จนท่านพลาดท่าไปในที่สุด/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 วัดสุทัศน์เทพวราราม เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๔๙ - คราวหนึ่งพระครูกิตติสุนทร (สมนึก) วัดเทพากรแจ้งให้ทราบว่าท่านเจ้าคุณพระธรรมวิสุทธาจารย์ (เสงี่ยม) เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์เทพวราราม ให้พระครูสมนึกจัดพระนักเทศน์รุ่นเดียวกันไปเทศน์ ๓ ธรรมาสน์เรื่องนางวิสาขาในพระวิหารวัดสุทัศน์ จึงกำหนดตัวเทศน์ไว้ คือ พระครูสมนึก พระมหาบำรุง พระปลัดอภินันท์ เสนอชื่อไปให้ท่านเจ้าคุณแล้ว จึงรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ไปเทศน์ในวัดใหญ่ที่มีเจ้าอาวาสเป็นพระนักเทศน์รุ่นเดียวกับหลวงพ่อไวย์อุปัชฌาย์ของข้าพเจ้า
ท่านเจ้าคุณธรรมวิสุทธาจารย์ เป็นพระนักเทศน์มีชื่อเสียงที่คนในกรุงเทพฯ อยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรีและทุกจังหวัดในภาคกลางรู้จักกันดี ท่านมีประวัติย่อ ๆ ดังนี้ :-
มีนามเดิมว่า เสงี่ยม วิโรทัย เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นบุตรของนายเขียว-นางประกอบ วิโรทัย ภูมิลำเนาอยู่ตำบลหันสัง อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เข้าอยู่กับพระอาจารย์ทอง คณะ ๕ วัดสุทัศน์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ วุฒิการศึกษา น.ธ.เอก, ป.ธ.๖ มีสมณะศักดิ์เริ่มที่ พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็น พระครูปลัดซ้าย ที่ พระครูจุลคณานุสาสน์ ฐานานุกรมในสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นพระครูปลัดขวา ที่ พระครูมหาคณานุสิชฌน์ ฐานานุกรมใน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีสมโพธิ แล้วเลื่อนขึ้น เป็น พระราชาคณะเสมอชั้นราช,ชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม และ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวิสุทธาจารย์สุทัศนวิหารกิจบริรักษ์ อัครวโรปการ ธรรมภาณคุณธาดา มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี (สมณะศักดิ์ครั้งสุดท้ายองท่านคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์)
ท่านเจ้าคุณเสงี่ยม (ธรรมวิสุทธาจารย์) กำหนดเรื่อ่งให้พวกเทศน์เรื่องนางวิชาขามหาอุบาสิกาด้วยท่านมีเจตนาใดเราไม่ทราบ เรื่องนี้มีอยู่ในธัมมปทัฏฐกถาได้กล่าวถึงประวัตินางวิสาขาไว้ว่า นางวิสาขาเป็นบุตรสาวของธนญชัยเศรษฐี (บุตรคนโตของเมณฑกเศรษฐี) กับนางสุมนาเทวี (ธิดาอนาถบิณฑิกเศรษฐี) ภูมิลำเนาอยู่ภัททิยนคร แคว้นอังคะ มีน้องสาวคนหนึ่งชื่อสุชาดา (คนละคนกับนางสุชาดา มารดาพระยสะ) เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ ปู่ของท่านได้มอบหมายให้ท่านและบริวาร ๕๐๐ คนไปต้อนรับพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมจนนางวิสาขาและบริวารทั้งหมดได้บรรลุโสดาบัน ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จมาหาพระเจ้าพิมพิสาร ทูลขอเศรษฐีคนหนึ่งไปอยู่ประจำแคว้นโกศล พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้ธนัญชัยเศรษฐีย้ายตามพระเจ้าปเสนทิโกศลไป เมื่อถึงสถานที่เหมาะสมแห่งหนึ่งซึ่งห่างจากกรุงสาวัตถี ๗ โยชน์ เศรษฐีได้กราบทูลพระเจ้าโกศลว่า กรุงสาวัตถีคับแคบไป ขอตั้งเมืองอยู่ที่นี่ พระเจ้าโกศลจึงให้สร้างเมืองสาเกตพระราชทานแก่ธนญชัยเศรษฐี ทางเมืองสาวัตถีมีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อมิคาระ ประสงค์จะหาคู่ครองให้ปุณณวัฒนะบุตรชายของตน ปุณณวัฒนะขอให้หาหญิงสาวที่เพียบพร้อมด้วยเบญจกัลยาณี มิคารเศรษฐีจึงส่งพราหมณ์ ๘ คน ไปหาหญิงสาวที่มีคุณสมบัติตามนั้น แล้วฝากพวงมาลัยทองคำไปเป็นของหมั้น เมื่อพวกพราหมณ์ได้พบนางวิสาขามีคุณสมบัติตามที่ตามหา จึงได้มอบมาลัยทองคำและเดินทางไปสู่ขอนางวิสาขากับธนญชัยเศรษฐีจนเป็นที่ตกลง พระเจ้าโกศลและมิคารเศรษฐีจึงเดินทางไปรับนางวิสาขามาอยู่เมืองสาวัตถี
กาลมิคารเศรษฐียังมิได้นับถือพระพุทธศาสนา จึงวันหนึ่งเกิดเรื่องทะเลาะกันกับนางวิสาขาจนถึงขั้นฟ้องขับไล่นางออกจากตระกูลสามี เหตุเกิดเมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งมายืนอุ้มบาตรอยู่หน้าบ้าน ขณะมิคารเศรษฐีกำลังรับประทานอาหารอยู่ นางกระซิบกับภิกษุรูปนั้นให้ไปโปรดข้างหน้า เพราะพ่อนาง (บิดาสามี) กำลัง “กินของเก่า” อยู่ โกสิยอำมาตย์ผู้พิจารณาความตัดสินว่านางไม่มีความผิด เพราะตามคำอธิบายของนาง “กินของเก่า” หมายถึง กินบุญเก่า มิใช่คำหยาบหรือด่าว่าเสียดสีแต่ประการใด บิดาสามีก็ยอมไม่เอาเรื่องต่อไป การณ์กลับเป็นว่า หลังจากนั้นไม่นาน บิดาสามีกลับมีความเลื่อมใสในตัวลูกสะใภ้มากขึ้น จนถึงกับหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามลูกสะใภ้ ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาได้สมญานามคล้าย ๆ สร้อยนามเพิ่มขึ้นว่ า วิสาขามิคารมาตา (นางวิสาขาผู้เป็นมารดาแห่งมิคารเศรษฐี)
ถึงวันพระอุโบสถที่กำหนดให้เทศน์เรื่องนี้ พวกเราไปพร้อมกันที่กุฏิท่านเจ้าคุณธรรมวิสุทธาจารย์ เพื่อกราบคาราวะท่านตามธรรมเนียม พระครูสมนึกเรียนถามท่านว่าจะให้พวกกระผมเทศน์กันอย่างไร กราบเรียนขอคำแนะนำด้วยครับ ท่านหัวเราะแล้วกล่าวว่า นักเทศน์รุ่นนี้ยั้งต้องมาขอคำแนะนำอีกรึ ก็ว่าไปตามความถนัดของพวกท่านเถิด เราก็ปรึกษาแบ่งตำแหน่งหน้าที่กันต่อหน้าท่านเจ้าคุณ ได้เวลาเทศน์ก็เดินเข้าสู่พระวิหารหลวงพ่อโต (พระศรีศากยมุนี) เห็นมีเก้าอี้ตั้งเรียงรายอยู่รอบพระวิหารไม่มีคนนั่ง เข้าไปในพระวิหารเห็นมีอุบาสกอุบางสิกานั่งกันอยู่บางตา กราบพระแล้วเราก็มองหน้ากัน พระมหาบำรุงกล่าวเสียงเบา ๆ ว่า “มีคนฟังน้อยจัง” ข้าพเจ้าพูดปลอบใจว่า อย่าสนใจว่ามีคนฟังมากหรือน้อยเลย เราเทศน์กันให้ดีที่สุดก็แล้วกันนะ พระครูสมนึกสนับสนุนว่า ปลัดอภินันท์พูดถูกแล้ว
วันนั้นข้าพเจ้ารับหน้าที่เป็นมิคารเศรษฐี กับทำหน้าที่แสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์ สมมุติตำแหน่งให้พระครูกิตติสุนทรเป็นนางวิสาขา พระมหาบำรุงเป็นโกสิยอำมาตย์และธนัญชัยเศรษฐีกับปุณณะวัฒนะอีกตำแหน่งหนึ่ง การแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์ไม่ยืดเยื้อเพราะจะต้องใช้เวลาในเนื้อเรื่องให้มากหน่อย ใจจริงอยากจะเป็นตัวนางวิสาขา (นางเอก) ให้พระครูสมนึกเป็นมิคารเศรษฐี (ตัวโกง) แต่ท่านไม่ยอม ข้าพเจ้าจึงต้องเป็นตัวโกงอึกตามเคย
เราเทศน์ออกลูกเล่นกันสองตอน คือตอนที่ปุณณะวัฒนะจะยอมมีภรรยาต่อเมื่อหาหญิงงามตามความต้องการของตนได้เสียก่อน กับตอนที่ มิคารเศรษฐีทะเลาะกับนางวิสาขา เราถกกันว่าการมีคู่ครองนั้นสำคัญอย่างไร หญิงงามพร้อมด้วยเบญจกัลยาณี อย่างไร มีอะไรงามบ้าง แล้วออกลูกเล่นในการให้พราหมณ์ ๘ คน เที่ยวแสวงหาหญิงงามด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี เมื่อพบนางวิสาขาแล้วจึงมีการอาวาหะมงคล คือเชิญเจ้าสาวไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว (ส่วนวิวาหะมงคลคือเจ้าบ่าวไปอยู่บ้านเจ้าสาว) ตอนนี้เราเล่นกันสนุกไม่น้อย
ตอนพ่อผัวกับลูกสะใภ้ทะเลาะกันตอนนี้ถือเป็นตอนสำคัญ เมื่อนางวิสาขากล่าวกับพระภิกษุว่าขอให้ไปโปรดข้างหน้าเถิด พ่อสามีดิฉันกำลังกินของเก่าอยู่ ข้าพเจ้าแสดงอาการโกรธกริ้ว ด่าว่านางวิสาขาด้วยคำหยาบนานาแล้วขับไล่นางออกจากตระกูล โดยไปฟ้องร้องให้โกสิยอำมาตย์ชำระคดี ตรงนี้ข้าพเจ้ากล่าวหานางวิสาขาด้วยเรื่องไม่ดีไม่งามนานา เช่นหาว่าเป็นชู้กับพระภิกษุ คอยเอาอาหารให้พระภิกษุทุกเช้า และกระซิบกระซาบกันอย่างน่าเกลียดน่าชัง นางวิสาขาแก้ข้อกล่าวหาหลุด ข้าพเจ้าก็ตั้งข้อกล่าวหาอื่นอีกข้อแล้วข้อเล่า จนมีเสียงโยมหญิงคนหนึ่งพูดว่า “เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นพ่อผัวรังแกลูกสะใภ้อย่างนี้” ข้าพเจ้าได้ยินแว่ว ๆ จึงกล่าวข้อหาสุดท้าย ที่นางวิสาขาหาว่า “กินของเก่า” นางก็แก้ว่า หมายถึงคุณพ่อกินบุญเก่า ด้วยชาติปางก่อนได้ทำคุณงามความดีไว้มาก เกิดมาชาตินี้ผลบุญเก่าบันดาลให้ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองเป็นมหาเศรษฐี อย่างนี้เรียกว่า “กินของเก่า” จนลืมทำของใหม่ ในตอนนี้การแสดงของพวกเราเข้มข้นมาก เรียกว่าแสดงกันถึงบทบาทจริง ๆ
หลังจบการแสดงท่านเจ้าคุณเข้ามาในพระวิหารกล่าวกับญาติโยมว่า เป็นไงพระเทศน์ชุดนี้ใช้ได้ไหม โยมหญิงหลายคนกล่าวว่าถูกใจมากค่ะ ท่านบอกว่าได้เกณฑ์พระเณรของวัดมานั่งฟังอยู่รอบ ๆ พระวิหาร ให้เขาฟังและจำเอาไว้เป็นแบบอย่างของการเทศน์ที่ดีนั้นเป็นอย่างนี้ พวกเราฟังแล้วก็ถึงบางอ้อ... เป็นเช่นนี้เอง/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๕๐ - เพราะเป็น “นักกลอนบ้านนอก” คำร้อยกรองของข้าพเจ้าจึงขาดความอ่อนหวานละมุนละไม คารมไม่คมคายขาดศิลปะวาที ไม่เหมือนนักกลอนเมืองกรุงที่เขาได้รับการศึกษาอบรมเป็นอย่างดี ครั้นได้คบค้าสมาคมกับนักกลอนเมืองกรุงมากหน้าหลายตา ข้าพเจ้าได้ปรับปรุงตนเองด้านความรู้ความเข้าใจในการแต่งคำร้อยกรองมากขึ้น แผงขายหนังสือสนามหลวงเป็นเหมือนขุมทรัพย์ของข้าพเจ้า นอกจากได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับนักกลอนทุกรุ่นทุกเพศทุกวัยแล้ว ยังได้หนังสือตำรับตำราเก่าใหม่มาอ่านอีกมากมาย ส่วนใหญ่ก็ได้จากแผงขายหนังสือของพี่ประทุม กลัดอ่ำ ปกติข้าพเจ้าเป็นคนชอบอ่านหนังสือชนิดที่เรียกกันว่า “หนอนหนังสือตัวหนึ่ง” อ่านเร็วและจำแม่นทั้งทำความเข้าใจได้เร็วอีกด้วย
แต่เดิมมาก็แต่งแต่กลอน ส่วนโคลง ฉันท์ กาพย์ ร่าย ไม่ประสีประสาเอาเสียเลย มีนักกลอนรุ่นพี่หลายคนแนะนำว่า ควรจะหัดแต่งโคลง ฉันท์ บ้าง จึงเริ่มหัดแต่งโคลงโดยนำหนังสือ โคลงนิราศนรินทร์ เป็นแบบ ทำ ความเข้าใจในฉันทลักษณ์ของร่ายสุภาพ โคลงสี่สุภาพ ที่มีลักษณะสัมผัสคำและบังคับให้ใช้ วรรณยุกต์ อย่างไรบ้าง อย่างร่ายสุภาพนั้น ส่งคำสัมผัสด้วยวรรณยุกต์อะไรต้องรับคำสัมผัสด้วยวรรณยุกต์นั้น เป็นต้น ส่วนโคลงสี่สุภาพก็ต้องจำให้แม่นว่า กำหนดให้วางวรรณยุกต์ เอก โท ลงตรงไหนบ้าง และยังต้องเรียนรู้วิธีการอ่านให้ถูกจังหวะทำนองด้วย
อ่านคำโคลงนิราศ (กำสรวล) ศรีปราชญ์ นิราศนรินทร์ นิราศพระยาตรัง แล้วเปรียบเทียบดู ศรีปราชญ์ท่านใช้คำโบราณมาก บางคำอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจความหมาย ส่วนนิราศนรินทร์ พระยาตัง ใช้คำไม่โบราณมากนัก จึงเข้าใจความหมายได้ไม่ยาก อ่านไป ๆ ก็ชักจะชอบคำโคลงมากกว่าคำกลอน เพราะว่าโคลงใช้คำรวบรัดชัดเจน ไม่ฟุ่มเฟือยเหมือนกลอน แต่ละคำอมความหมายไว้ลึกซึ้ง ให้จินตนาการบรรเจิดจ้า
เช่นบทครวญยามจากนางของนายนรินทร์ธเบศร์ (อิน) เริ่มต้นก็กินใจเหลือหลายว่า
๏ แถลงปางบำราศห้อง โหยครวญ เสนาะเสน่ห์กำสรวล สั่งแก้ว โอบองค์ผอูนอวล ออกโอษฐ์ อรเอย ยามหนึ่งฤๅแคล้วแคล้ว คลาดคล้ายขวบปี ฯ
อ่านแล้วมองเห็นภาพชัดเลยว่า นายอินมหาดเล็กหุ้มแพรนอนกับภรรยาในคืนก่อนจากไปราชการสงครามนั้น เขานอนกอดภรรยาที่รักแล้วร่ำรำพันคำสั่งเสีย ข้าพเจ้าชอบคำว่า “โอบองค์ผอูนอวล” มาก ตอนแรกอ่านแล้วไม่รู้ความหมายของคำว่า “ผอูน” ก็รู้สึกเฉย ๆ มารู้ทีหลังว่า ผอูน คือน้องหญิง จึงได้ความว่า กอดกายน้องหญิงที่หอมกรุ่น ก็ฝันเตลิดไปเลย
บทที่ซาบซึ้งตรงใจยิ่งนัก คือ:-
๏ โอ้ศรีเสาวลักษณ์ลํ้า แลโลม โลกเอย แม้ว่ามีกิ่งโพยม ยื่นหล้า แขวนขวัญนุชชูโฉม แมกเมฆ ไว้แม่ กีดบ่มีกิ่งฟ้า ฝากน้องนางเดียว ฯ
๏ โฉมควรจักฝากฟ้า ฤๅดิน ดีฤๅ เกรงเทพไท้ธรณินทร์ ลอบกลํ้า ฝากลมเลื่อนโฉมบิน บนเล่า นะแม่ ลมจะชายชักชํ้า ชอกเนื้อเรียมสงวน ฯ
๏ ฝากอุมาสมรแม่แล้ ลักษมี เล่านา ทราบสยมภูวจักรี เกลือกใกล้ เรียมคิดจบจนตรี โลกล่วง แล้วแม่ โฉมฝากใจแม่ได้ ยิ่งด้วยใครครอง ฯ
๏ บรรจถรณ์หมอนม่านมุ้ง เตียงสมร เตียงช่วยเตือนนุชนอน แท่นน้อง ฉุกโฉมแม่จักจร จากม่าน มาแฮ ม่านอย่าเบิกบังห้อง หับให้คอยหน ฯ
ข้าพเจ้าเรียนโรงเรียนผู้ใหญ่ระดับ ๔ อาจารย์สอนวิชาภาษาไทยของโรงเรียนนี้เป็นเจ้าของโรงเรียนด้วย ท่านชื่ออาจารย์กราย เขาว่าท่านเก่งภาษาไทยมาก ตามหลักสูตรของชั้นเรียนนี้มีการเรียนเรื่องนิราศนรินทร์ อาจารย์สอนตอนที่มีความว่า
๏ โบสถ์ระเบียงมรฑปพื้น ไพหาร ธรรมาสน์ศาลาลาน พระแผ้ว หอไตรระฆังขาน ภายค่ำ ไขประทีปโคมแก้ว ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์ ฯ
ท่านแปลคำ “พระแผ้ว” ว่า “ผ่องแผ้วบริสุทธิ์” ตามแบบที่แปลกันสืบมา ข้าพเจ้าแย้งว่า คำว่าพระแผ้วไม่น่าจะแปลว่า ผ่องแผ้วบริสุทธิ์ ท่านถามว่า แล้วท่านแปลว่าอย่างไร ข้าพเจ้าตอบด้วยความมั่นใจว่า “พระปัดกวาดทำความสะอาดโบสถ์ระเยียงมณฑปพิหารธรรมาสน์ศาลาลานวัด” ท่านพูดอย่างไม่พอใจว่า แปลยังงั้นได้ไง ข้าพเจ้าก็ว่า “ดูบริบทแล้ว เห็นว่าพื้นโบสถ์ ระเบียง มณฑป วิหาร ธรรมาสน์ ศาลากาเปรียญ ลานวัด เป็นตัวถูกกระทำ คำว่าพระแผ้ว เป็นตัวกระทำ พระก็คือภิกษุ แผ้ว คือถากถางปัดกวาด ทำความสะอาด ถ้าหากจะใช้คำว่า “ผ่องแผ้วบริสุทธิ์” ท่านก็น่าจะใช้คำโคลงว่า “เพริดแพร้ว” ไม่ผิดฉันทลักษณ์และได้ความไพเราะด้วย”
ฟังคำตอบประกอบเหตุผลแล้วอาจารย์โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง กล่าวว่าผมสอนทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอย่างนี้มานานแล้ว ไม่เห็นมีใครค้าน ถ้าออกข้อสอบท่านตอบอย่างนี้ผมจะให้ตกเลย เอากะท่านซี/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๕๑ - ว่ากันว่าเมืองใดไม่มี “โสเภณี” เมืองนั้นถือว่ายังไม่เจริญ เห็นจะจริงดังว่า ด้วยในชมพูทวีปสมัยโบราณก่อนพุทธกาลมาแล้ว มีการตั้งหญิงงามให้เป็นโสเภณี เมืองใหญ่ ๆ ต้องมีหญิงโสเภณีไว้ประดับเมืองเรียกว่า “นครโสเภณี” สืบค้นตำนานดูแล้วพบว่า “โสเภณี” คือหญิงงามเมืองสมัยโน้น จะแต่งตั้งโดยพระราชาผู้ครองแคว้น มิใช่ชาวบ้านชาวช่องจะตั้งกันเองได้ นางโสเภณีจะต้องมีความสวยงามทั้งกิริยาวาจา และเชี่ยวชาญชำนาญในการร้องรำทำเพลงบรรเลงคนตรีให้ความบันเทิงเริงรมย์แก่แขกบ้านแขกเมือง มีนางงามเป็นบริวารเรียกว่านางคณิกา ถ้าเทียบกับเมืองไทยก็คือ โสเภณีได้แก่แม่แม่เล้า นางคณิกาได้แก่ กะหรี่ อีตัว ผู้ให้บริการทางเพศ อะไรทำนองนั้น สำหรับในเมืองไทยมีบันทึกเรื่องราวความเป็นมาของโสเภณีไว้พอสรุปได้ดังนี้:-
“ในอดีตสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีหรือพระเจ้าอู่ทองเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๑๙๐๔ อาชีพค้าบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย จนกระทั่งรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการจดทะเบียนนครโสเภณี สามารถเก็บภาษีและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ในนามของ ‘ภาษีบำรุงถนน’ จนกระทั่งเกิดโรคระบาด ‘กามโรค’ หรือ ‘โรคบุรุษ’ จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค พ.ศ. ๒๔๕๑ โดยมีการกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพโสเภณีทั้งหญิงไทย จีน และชาติอื่น ๆ ต้องมาจากความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ สถานบริการทางเพศ หรือ ‘ซ่อง’ ก็ต้องจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย อีกทั้งให้ควบคุม ดูแล โสเภณีต้องมีการตรวจโรค ๓ เดือนครั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อและให้บริการเอง แต่ก็ไม่วายพบปัญหาที่ยากต่อการปราบปรามการซื้อขายบริการตามท้องถนนอย่างยาวนาน จนกระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออก ‘พระราชบัญญัติการค้าประเวณี พ.ศ. ๒๕๐๓’ จึงทำให้อาชีพขายบริการทางเพศถูกทำให้เป็นอาชญากรรม (criminalization) หรือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามมีการค้าประเวณี มีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับแก่ผู้ให้บริการ นายหน้า และเจ้าของสถานประกอบการ อีกทั้งเมื่อผู้ให้บริการพ้นโทษแล้วต้องเข้ารับการรักษาและฝึกอบรมอาชีพไม่เกิน ๑ ปีหลังพ้นโทษ”
ที่ “กล่าวความยาวสาวความยืด” มาข้างต้นนั้น เพื่อจะบอกว่า สมัยที่ข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดใหม่อมตรสนั้น เหมือน “เข้าอยู่ในดงโสเภณี” ก็ปานกัน ยุคนั้นธุรกิจการค้าขายบริการทางเพศกำลังเฟื่องฟู ในย่านบางขุนพรหมมีโรงแรมหลายโรง เช่น โรงแรมสุขสวัสดิ์, นครพิงค์, มิตรไพศาล, จูไล, จูน เป็นต้น แต่ละโรงแรมชั้นล่างเปิดเป็น “ม่านรูด” ชั้นบนเป็นที่พักแรมคืนและชั่วคราว มีนางคณิกาให้บริการทางเพศโรงละหลายสิบคน บางโรงเป็นร้อย ชุมชนรายรอบวัดมีสำนักโสเภณีหรือ ซ่อง ประมาณ ๑๓ ซ่อง เจ้าของซ่องผู้ชายเรียกว่า “พ่อเล้า” ผู้หญิงเรียกว่า “แม่เล้า” ชายผู้คุมซ่องเรียกว่า “แมงดา” ในความหมายว่าเกาะผู้หญิงหากินอะไรทำนองนั้น
ที่ข้าพเจ้ารู้ค่อนข้างละเอียดก็จากคำบอกเล่าของคนรอบวัดนั้นเอง ตัวเองก็เข้าซ่องด้วยนะ ไม่ได้เข้าไปเที่ยวหญิงคณิกา (กะหรี่) ดอก แต่เพราะว่าบรรดาพ่อเล้าแม่เล้าเขาจะมีการทำบุญประจำปีของเขาทุกซ่อง ในฐานะที่เขาเป็นพุทธศาสนิกชน จึงนิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์และเลี้ยงอาหารเพลรพระในซ่องของเขา พระครูชมเจ้าอาวาสวัดท่านไม่ไป แต่มอบภาระให้ข้าพเจ้าเป็นประธานสงฆ์ นำภิกษุในวัดไปฉลองศรัทธาพวกเขาทุกซ่องที่ทำบุญกัน ก็ต้องทำใจโดยคิดว่าสมัยพุทธกาลพระภิกษุก็รับนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในสำนักโสเภณี เช่น นางสิริมา หญิงงามเมืองแห่งกรุงราชคฤห์ นางผู้นี้ เป็นน้องสาวของหมอชีวกโกมารภัทร ภายหลังได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดมรรคผลเป็นพระโสดาบัน นอกจากนางสิริมาแล้วก็มี นางอัมพปาลี, นางวิมลา, นางอัฒกาสี ,นางปทุมวดี ทั้ง ๔ คนนี้หลังจากเลิกอาชีพโสเภณีแล้วหันหน้าเข้าวัด ออกบวชเป็นภิกษุณีบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
ได้ความรู้จากเจ้าสำนักโสเภณีย่านบางขุนพรหมว่า สาวในซ่องส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือของไทย มาเป็นโสเภณีด้วยความสมัครใจบ้าง มาด้วยความจำใจบ้าง พวกที่มาด้วยความจำใจนั่นเพราะพ่อแม่นำมาขายซ่อง พวกนี้เมื่อมอบเงินให้พ่อแม่ไปแล้วต้องค้นตัวไม่ให้มีเงินติดตัว ไม่อย่างนั้นนางจะหลบหนีไป บางนางแม้ไม่มีเงินติดตัวก็หนีไปได้ เพราะพ่อแม่นัดแนะไว้ว่าเมื่อหนีออกมาได้แล้วให้ไปพบกันที่นั่นที่นี่ จนทางสำนักเสียเงินฟรี ตอนนั้นวิธีการ “ตกเขียว” มีมาก กล่าวคือทางเจ้าสำนักเดินทางขึ้นไปทางภาคเหนือ ติดต่อชาวบ้านในชนบทที่มีลูกสาวอายุน้อย ๆ ชักชวนให้เข้ามาขายบริการทางเพศในกรุงเทพฯ เมื่อโตจนใช้การได้แล้ว มีการวางมัดจำครึ่งหนึ่งบ้าง จ่ายเต็มจำนวนตามที่ตกลงกันบ้าง แล้วก็ทำสัญญากู้เงินผูกมัดไว้
ทุกครั้งที่พระฉันอาหารและอนุโมทนาแล้ว เจ้าสำนักจะให้พระผู้เป็นหัวหน้าคณะ (ก็ข้าพเจ้าน่ะแหละ) ประพรมน้ำพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล โดยผู้คุมซ่อง (แมงดา) ถือบาตรน้ำมนต์เดินนำหน้าไปตามห้องต่าง ๆ ให้ข้าพเจ้าใช้มัดใบหญ้าคาจุ่มน้ำมนต์ในบาตรซัดไปทั่วห้อง หมดทุกห้องเป็นอันเสร็จพิธี
มีคราวหนึ่งข้าพเจ้าเดินตามผู้คุมซ่องพรมน้ำมนต์เรื่อยไปถึงห้องหนึ่ง พอเขาเปิดประตูห้อง ข้าพเจ้ายกมือค้างพรมน้ำมนต์ไม่ได้ เพราะบนเตียงนอนเบื้องหน้านั้นมีร่างหญิงสาวนอนเปลือยกายล่อนจ้อนร่างขาวโพลนอยู่ แมงดาบอกว่าอาจารย์หลับตาซัดน้ำมนต์ไปเลย นางนี่เป็นเด็กใหม่เมื่อคืนรับแขกทั้งคืนมันคงไม่ตื่นขึ้นมาดอก ว้าว..../
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๕๒ - หากจะพูดว่าในช่วงเวลาก่อนถึงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นยุคที่การกลอนของไทยฟูเฟื่องที่สุดก็ว่าได้ มีการจัดตั้งกลุ่มชุมนุมชมรมกลอนทั้งในกรุงและต่างจังหวัดมากมาย จนจำชื่อไม่หวาดไหว ส่วนใหญ่จะตั้งในวัด และโรงเรียนระดับมัธยม สมาชิกของชมรมเป็นพระเณรและนักเรียนระดับมัธยมเสียเป็นส่วนมาก สื่อหรือสนามประลองฝีมือคือหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ คลื่นเสียงวิทยุ คนแต่งกลอนสมัยนั้นเขียนกันโดยมิได้หวังค่าจ้างรางวันเป็นเงินตรา มากไปกว่าความสุขใจที่ได้เผยแผ่งานฝีปากฝีมือของตนสู่สาธารณชน
มีการจัดประกวดกลอนชิงถ้วย โล่ แถมด้วยเงินรางวัลค่าเดินทางเล็กน้อย นาน ๆ จึงมีการประกวดชิงรางวัลเป็นเงินก้อนใหญ่อย่างเช่น รางวัลชนะเลิศ ในการประกวดบทประพันธ์ชิงรางวัลทางวรรณคดี ของมูลนิธิ จอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๑๔ บทประพันธ์ที่ชนะเลิศชื่อ “บรรพชาปวัตน์คำกลอน” เงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท ซึ่งพระมหาทองย้อย วรกวินโท (แสงสินชัย) เป็นผู้แต่งส่งเข้าชิงรางวัล ปีนั้นชื่อเสียงของพระมหาทองย้อยจึงโด่งดังในวงการกลอนมาก ท่านผู้นี้มีผลงานร้อยกรองมากมาย เฉพาะกาพย์เห่เรือของท่านที่แต่งต่างวาระนั้นยอดเยี่ยมไร้เทียมทาน
แต่ละชมรมกลอนนิยมจัดกิจกรรมด้วยการแข่งขันกลอนสดประเภทวง และประกวดกลอน ในการแข่งขันกลอนสดประเภทวงนั้นไม่จำกัดเพศ-วัยของผู้เข้าแข่งขัน ชมรมรื่นฤดีของข้าพเจ้ายามนั้นมีสมาชิกเป็นพวกรุ่นใหญ่อย่าง อรัญ สิทธิศรี, ข้าพเจ้า และนายทหารชั้นประทวนในสวนรื่นจึงไม่สะดวกในการเข้าร่วมการแข่งขัน ได้ไปร่วมงานและรับเป็นกรรมการตัดสินเท่านั้น ต่อมามีเด็กนักเรียนระดับ ม.ปลายจาก รร. สตรีนนทบุรีเข้ามาเป็นสมาชิกหลายคน จึงส่งพวกเธอเข้าร่วมแข่งจันกลอนสดประเภทวงกับเขาบ้าง ผลงานของพวกเธอก็พอใช้ได้ กล่าวคือตกรอบแรกบ้าง เข้ารอบ ๑-๒ บ้าง เข้ารอบสุดท้ายได้รางวัลรองชนะเลิศบ้าง เท่านี้ก็เป็นที่พอใจแล้ว
รายการกลอนทางวิทยุสมัยนั้นแม้มีมาก แต่ที่ข้าพเจ้าเล่นสนุกที่สุดคือ “ชั่วโมงโคลงกลอน” ทางวิทยุ ท.ท.ท. สี่แยกคอกวัว จัดโดย นคร มงคลายน ข้าพเจ้าถือว่าท่านผู้นี้เป็นครูโคลง ฉันท์ คนหนึ่ง ท่าน “เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๖๘ ในย่านบางรัก พระนคร บิดาเป็นชาวจีนชื่อ นายบ๊วยอุ่ยดี้ แซ่จิว มารดาชื่อนางนวม มงคลายน (สู่สวัสดิ์) ที่บ้านมีอาชีพทำโรงยาฝิ่น จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษารุ่นโตโจ (ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ) เคยหันเหชีวิตไปเล่นละครเร่อยู่หลายปี จากนั้นก็เริ่มหันมาเล่นตลกละครเวที แต่งเพลง ร้องเพลงแปลง เต้นรำ เนื่องจากครูนครเป็นคนที่มีอารมณ์ดี สนุกสนานเฮฮา จึงมีเพื่อนฝูงมาก และทุกคนต่างรักครูนครทั้งนั้น ในด้านแต่งเพลง ครูนครมีความสามารถแต่งเพลงได้หลายแนว ตัวเองก็นิยมร้องเพลงตลก หากเป็นแนวอื่นก็แต่งให้นักร้องชื่อดังในขณะนั้นร้อง อย่างเช่น สุเทพ วงศ์กำแหง เพ็ญศรี พุ่มชูศรี สวลี ผกาพันธ์ ชาญ เย็นแข จินตนา สุขสถิต เป็นต้น” เป็นศิลปินที่หากินมารุ่นราวคราวเดียวกับครูพยงค์ มุกดา อายุอานามก็ใกล้เคียงกัน พูดถึงความสามารถเฉพาะตัว สมัยก่อนยากจะหาใครมาทัดเทียม หรือแม้แต่สมัยนี้จะหาศิลปินที่มีทุกอย่างในตัวคนเดียวก็ใช่จะหาได้ง่าย มองแทบไม่เห็นเอาซะเลย”
ครูนครสู่วงการวิทยุโดยได้ไปจัดรายการวิทยุที่สถานีวิทยุ ว.พ.ท. และ อสมท ชื่อรายการว่า "หนุ่มน้อยฝอยข่าว" สร้างชื่อเสียงให้แก่ครูนคร มงคลายน มาก เพราะผู้ฟังต่างชื่นชอบในการพูดคุยเรื่องข่าวชาวบ้านที่มีมุขตลกผสมผสานไปด้วยตามถนัด ดังนั้นคนส่วนมากจึงรู้จักท่านในนามนักแสดงและนักแต่งเพลง นักพูด ดังกล่าวมากว่าจะรู้จักว่า ครูนครเป็นนักกวีที่เก่งทางกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่าย อย่างหาตัวจับยาก
รายการ “ชั่วโมงโคลงกลอน” ที่ท่านจัดทางวิทยุ ท.ท.ท. (คือ อสมท. ในปัจจุบัน) เป็นรายการที่ท่านจัดได้สนุกและให้ความรู้ความบันเทิงมากมาย มีคนเขียนบทร้อยกรองส่งเข้าร่วมรายการทั้งคนเก่าคนใหม่ พวกมือใหม่หัดเขียนที่เขียนไม่ถูกฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ชนิดใด ท่านก็จะพูดแนะนำ (สอน) ให้ทุกคน ข้าพเจ้าเขียนฉันท์ได้หลายอย่างจากรายการนี้ มีบางคืนข้าพเจ้านำฉันท์ที่หัดแต่งไปรอพบท่านที่สถานีวิทยุ (บางขุนพรหมกับสี่แยกคอกวัวอยู่ไม่ไกลกันนัก) ท่านก็อ่านและติชมแนะนำให้ด้วยความเมตตา
นักกลอนรุ่นลายครามท่านหนึ่งใช้นามปากกาว่า “พลายท่อก” ครูนครไม่ยอมเปิดเผยชื่อจริงท่านผู้นี้ พลายท่อกออกมายืนท้าชนกันในสนามชั่วโมงโคลงกลอน อีกนามหนึ่งคือ “เอราพต” ข้าพเจ้าฟังสำนวนลีลานกลอนแล้วเชื่อแน่ว่าเป็นคนเดียวกันกับ พลายท่อก พวกนิยมช้างพลาย ช้างพัง ทั้งหลาย ออกมาประคารมกับพลายท่อก เอราพต อย่างสนุกสนาน ข้าพเจ้าใช้นามปากกาล้อเลียนท่านว่า “แท่ก โทงเทง” แต่งกลอนโต้ตอบกัน ค้นหาคำที่เป็นไวพจน์ของช้างออกมาแสดง ทำให้รู้จักชื่อของช้างอีกหลากหลาย พลายท่อก ขยันเขียนกลอนมาก จึงเผลอใช้นามจริงอกมาว่า “ลุงฟัก ปากช่อง” เราจึงรู้กันว่าพลายท่อก เอราพต คือลุงฟัก (ไม่ทราบนามสกุล)
มีนักกลอนในรายการชั่วโมงโคลงกลอนท่านหนึ่ง อายุใกล้ ๖๐ แล้ว เป็นพระภิกษุชื่อบุญเลี้ยง ท่านแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เก่งไม่น้อย ทราบว่าอยู่วัดแถว ๆ ราษฎร์บูรณะ นั่งรถเมล์สายพระประแดง-บางขุนพรหม มาหาข้าพเจ้าบ่อย ๆ ก็มานั่งเขียนกลอนโต้ตอบกับลุงฟักนั่นแหละ ระยะหลัง ๆ ท่านเข้ามาในห้องข้าพเจ้าพร้อมกลิ่นสุรา จึงรู้ชัดว่าท่านดื่มสุราเป็นประจำด้วยข้ออ้างว่าถ้าไม่ดื่มจะคิดอะไรไม่ออก จึงถูกข้าพเจ้าอบรมสั่งสอนตามระเบียบ สั่งว่ามาหาผมคราวต่อไปขออย่าให้มีกลิ่นเหล้าติดตัวมาอีกเป็นอันขาด ไม่อย่างนั้นจะถูกจับสึก หลังจากนั้นทราบว่าไม่ได้ถูกใครจับสึกหรอก แต่ท่านสึกของท่านเอง แล้วหายไปเลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๕๓ - มีคำกล่าวสืบ ๆ กันมาว่า ”ฝนจะตก ขี้จะแตก พระจะสึก” ห้ามกันไม่ได้ คำกล่าวนี้เป็นเรื่องจริงที่เถียงมิได้ วันหนึ่งข้าพเจ้าเลิกเรียนแล้วไปหาพระมหาอรัญ ที่วัดโบสถ์สามเสนตามปกติ คุยกันตามประสาคนคุ้นเคย ตอนหนึ่งมหาอรัญกล่าวว่า “หลวงพี่ครับ ผมคงอยู่เป็นพระต่อไปไม่ได้แล้ว/ อ้าว เกิดอะไรขึ้นหรือ/ เกิดความเบื่อหน่ายความเป็นพระครับ/ มีสีกามาชวนสึกหรือ/ ก็มีบ้าง แต่คนที่มาชวนสึกนั้นไม่ถูกใจเลยสักคนเดียว ผมไม่คิดสึกเพราะสีกาหรอก แต่มันเบื่อความเป็นพระอย่างไรบอกไม่ถูก จึงอยากจะเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นฆราวาสบ้าง” เราพูดคุยกันเรื่องเป็นพระดีอย่างไร เสียอย่างไร เป็นที่ยุติว่าออกพรรษาแล้วพระมหาอรัญลาสิกขาแน่นอน ข้าพเจ้าเชื่อในคำที่ว่า “พระจะสึก ฝนจะตก ขี้จะแตก” ห้ามกันไม่ได้ จึงไม่ห้ามการสึกของพระมหาอรัญ เพราะถึงห้ามก็ห้ามไม่ได้แน่นอน
ครั้นมหาอรัญเปลื้องผ้าเหลืองพ้นตัวลาสิกขาไปแล้ว ตำแหน่งประธานชมรมรื่นดีศรีวรรณศิลป์เขาก็ปล่อยวางพ้นมือไปด้วย ภาระจึงตกมาอยู่กับข้าพเจ้า นักกลอนในชมรมรื่นฤดีขอร้องแกมบังคับให้ข้าพเจ้ารับเป็นประธานชมรมคนต่อไป สำนักงานหรือที่ประสานงานของชมรมจึงย้ายจากกุฏิมหาอรัญวัดโบสถ์มาเป็นกุฏิพระปลัดอภินันท์วัดใหม่อมตรส กุฏิของข้าพเจ้ากว้างขวางกว่ากุฏิมหาอรัญ จึงใช้เป็นที่ประชุมพบปะสังสรรค์ของนักกลอนทั้งที่เป็นสมาชิกของชมรมรื่นฤดีและจากขมรมอื่นได้เป็นอย่างดี ข้าพเจ้าเสนอในที่ประชุมใหญ่ขอเปลี่ยนชื่อชมรมรื่นฤดีศรีวรรณศิลป์ โดยตัดคำว่า ”ศรี” ทิ้งไป ให้เป็น “ชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์” ที่ประชุมเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ นอกจากเปลี่ยนชื่อดังกล่าวแล้วยังมีมติให้ทำตราประจำชมรมเป็นรูปคนธรรพ์ดีดพิณอีกด้วย
ในเวลานั้นกุฏิของข้าพเจ้ามีผู้คนคึกคัก มิใช่เพราะมีนักกลอนไปเยี่ยมเยือนพบปะสังสรรค์กันเท่านั้น แต่คึกคักเพราะคนไข้หลากหลายอาชีพจากจาตุรทิศเดินทางมาเข้ารับการรักษาโรคด้วยวิธีการปักเข็ม ทั้งนี้เนื่องจากสมาคมแพทย์แผนไทยจากวัดโพธิ์มาขอใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสำนักงานและเปิดการเรียนการสอนวิชาแพทย์แผนโบราณทั้งแผนกเภสัชโบราณและเวชโบราณ นัยว่านายกสมาคม (เป็นทหารยศพันเอก) ท่านเป็นโรคอัมพฤกษ์ รักษาตามแผนโบราณและแผนปัจจุบันไม่หาย ได้ข่าวว่ามีหมอจีนแดงมารักษาโรคด้วยวิธีการปักเข็มอยู่ในประเทศลาว จึงให้คนแอบไปเชิญหมอจีนแดงเข้ามาอย่างลับ ๆ หมอจีนปักเข็มรักษาอัมพฤกษ์ได้ไม่นานก็หาย จึงขอให้หมอจีนเปิดสอนการปักเข็ม (แบบลับๆ) ที่ชั้นล่างของศาลาการเปรียญวัดใหม่ฯ มีนักเรียนสมัครเรียนกันเกือบร้อยคนโดยมีข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วย
ตำราเรียนปักเข็มชื่อ “จำกู่เก็ง” แต่คนไทยเรียกว่า “ฝังเข็ม” ซึ่งไม่ตรงความจริง ที่จริงเขาใช้เข็มเงินปักลงตรงขุดต่าง ๆ ของร่างกาย ปักลงไปแล้วถอนออก มิได้ปักฝังเข้าไว้ในร่างกาย ข้าพเจ้าเป็นโรคไซนัสมานานปี ขอให้หมอแดง (จีน) ปักเข็มรักษาให้ในระหว่างการเรียนการสอนนั้น เดือนกว่าไซนัสก็ทุเลาลงจนหายในที่สุด หมอแดง (เราเรียกกันอย่างนั้น) เปิดการสอนตั้งแต่เล่าประวัติความเป็นมาของวิชาปักเข็มครั้งสมัยโบราณไม่น้อยกว่าสองพันปี ท่านบรรยายเป็นภาษาจีน (เพราะพูดไทย ลาว ไม่ได้) มีคนแปลเป็นภาษาไทย นายแพทย์ไทยท่านหนึ่งจาก รพ. ศิริราช (ขณะให้การนี้ลืมชื่อท่านเสียแล้ว) สมัครเข้าเรียนด้วย ท่านบอกว่าได้เรียนแพทย์แผนไทยในส่วนเวชศาสตร์มาแล้ว จึงมาเรียนวิชาปักเข็มของจีน ต้องการประยุกต์วิชาเส้นสายต่าง ๆ ของไทยเข้ากับจุดประสาทต่าง ๆ ของจีน วิชาปักเข็มของจีนสำคัญที่สุดคือการเรียนรู้จุดประสาทต่าง ๆ ในร่างกาย และเส้นสายต่าง ๆ ในร่างกาย จำตำแหน่งให้แม่นยำเพื่อมิให้ปักเข็มลงไปถูกเส้นเลือด เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ “จุดฝังเข็ม (输穴 ซู่เซฺวีย) คือ ตำแหน่งบนร่างกายที่เลือดและชี่จากอวัยวะภายในไหลเวียนมาเพิ่มเติมและกระจายออก โดยอาศัยการทำงานของระบบเส้นลมปราณ ในทางเวชปฏิบัติ จุดฝังเข็ม หมายถึง จุดที่แพทย์จีนใช้ฝังเข็มหรือกระตุ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อการรักษาโรค จุดฝังเข็มส่วนใหญ่เรียงรายอยู่บนเส้นลมปราณต้น ๑๔ เส้น ซึ่งอยู่ลึกระดับใต้ผิวหนัง หรือเอ็นและกล้ามเนื้อ จุดฝังเข็มมีตำแหน่งแน่นอน ซึ่งสามารถใช้ฝังเข็มได้อย่างปลอดภัย การรักษาของแพทย์จีนในการกระตุ้นจุดฝังเข็มด้วยวิธีการที่เหมาะสม สามารถใช้ในการรักษาโรค บรรเทาอาการผิดปกติ เสริมสร้างสุขภาพ เสริมภูมิคุ้มกันโรค และปรับสมดุลการทำงานของร่างกายได้อย่างน่าอัศจรรย์”
หมอแดงนำหุ่นร่างคนที่ทำด้วยยางมีเครื่องหมายจุดประสาทต่าง ๆ และสายเส้นเลือดทั้งหมดมาตั้งประกอบการสอน เมื่อนักเรียนพอจำได้แล้วก็เปลี่ยนเป็นหุ่นยางที่ไม่มีเครื่องหมายให้นักเรียน ทดลองปักเข็มลงตามจุด่าง ๆ ที่ท่านบอกชื่อออกมา เช่น หะเกาะ อุ่ยตง เป็นต้น ถึงตอนนี้สนุกมากเลย ข้าพเจ้าลองปักจุดตามคำบอกบ้าง แต่ไม่มากนัก เปิดโอกาสให้นักเรียนในบัญชีเขาฝึกหัดกัน เพื่อนำวิชานี้ไปรักษาโรคต่อไป
หมอแดงสอนครบตามกำหนดแล้วก็ลากลับไปอยู่ในประเทศลาว ปรากฏว่านักเรียนเกือบร้อยคนนั้น มีผู้สามารถปักเข็มรักษาโรคได้ดีจริง ๆ ไม่เกิน ๒๐ คน หนึ่งในนั้นคือ หมอมานะ ไทยวิบูลย์วงศ์ ผู้จัดการโรงเรียนแพทย์โบราณของสมาคมฯ หลังจากหมอแดงไปแล้ว หมอมานะก็เปิดรักษาโรคนานาด้วยวิธีปักเข็มที่ชั้นบนของศาลาการเปรียญ ส่วนชั้นล่างเปิดสอนวิชาแพทย์แผนไทยโบราณตามปกติต่อไป
เพราะหมอมานะเปิดรักษาโรคด้วยวิธีปักเข็มหรือฝังเข็นนี่แหละ หน้ากุฏิข้าพเจ้าจึงมีคนไข้และญาติคนไข้มาชุมนุมกันมากมาย มีเรื่องสนุกเกิดขึ้นมาก เอาไว้แล้วจะเล่าให้ฟัง /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๕๔ - คำกล่าวที่ว่า “ปากคนยาวยิ่งกว่าปากกา” นี้หมายถึงปาก (คำพูด) ของคนยาวยิ่งกว่าปาก (นก) กา เพราะคำพูด “ปากต่อปาก” (เสียงลือเสียงเล่าอ้าง) ส่งข่าวไปได้ยาวไกลกว่าเสียงร้องของกา อีกคำหนึ่งว่า “ปากคนยาวไม่เท่าปากกา” นี้หมายถึงคำพูดของคนยาว (ดัง) ไม่เท่าปากกาที่เขียนเป็นลายอักษรบอกเล่าเรื่องราวนานา
การเปิดเรียนวิชาปักเข็มและการเปิดรักษาโรคด้วยวิธีปัก (ฝัง) เข็มแบบจีนที่วัดใหม่อมตรส ไม่มีการเผยแผ่ข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะต้องการปิดไว้เป็นความลับ ด้วยเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายไทย วงการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ให้การยอมรับ แม้กระนั้นก็หนีไม่พ้นพุทธวจนะที่ว่า “ชื่อว่าที่ลับไม่มีในโลก” ข่าวการเปิดรักษาโรคนานาด้วยวิธีฝัง (ปัก) เข็มที่วัดใหม่อมตรส แพร่ออกไปจากปากต่อปากเป็น “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” คนที่ได้ยินได้ฟังข่าวจากปากต่อปากจึงพากันมาขอรับการรักษาโรคนานาที่วัดใหม่อมตรสเป็นอันมาก
ระยะเวลานั้น (ปีพ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๑๘) คนเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ พากันไปขอรับการรักษาตามแบบแพทย์แผนจีนที่วัดวัดใหม่ฯ เป็นจำนวนมาก โรคที่คนไข้มาขอรับการรักษาก็มีโรคปวดหัว ปวดแขนขา อัมพฤกษ์ อัมพาต เหน็บชา เป็นต้น ผลการฝังเข็มรักษาบางคนอาการทุเลาลง บางคนอาการที่เป็นนั้นหายไปเลย หมอมานะจัดหาเตียงสำหรับคนไข้นอนฝังเข็มบนศาลาการเปรียญหลายเตียง คนไข้ฝังเข็มเสร็จแล้วก็กลับไปแล้วมาใหม่ตามนัด พวกนี้ไม่มีปัญหา แต่ผู้ป่วยจากต่างจังหวัดที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต พวกนี้มีปัญหาเรื่องที่พัก ข้าพเจ้ายอมให้พวกเขานอนที่ชานกุฏิ ศาลา จนดูระเกะระกะไปหมด
คนไข้หลายคนที่ป่วยเป็นอัมพาต ญาติหามร่างร่องแร่งเข้ามาขอการรักษา พอปักเข็มได้ ๒-๓ วัน ร่างกายก็เริ่มเคลื่อนไหวได้ ภายเวลา ๗ วันเขาก็ลุกเดินได้และกลับไปพักฟื้นที่บ้านตนเอง บางคนใช้เวลารักษาอยู่นานเป็นเดือนก็หายแล้วกลับบ้านได้ บางคนก็ไม่ดีขึ้น จึงมีคนไข้นอนอยู่ระเบียงข้ากุฏิข้าพเจ้าไม่ต่ำกว่า ๑๐ คน ตอนค่ำ ๆ ข้าพเจ้ามักจะไปนั่งคุยกับผู้ป่วยอัมพาตที่พอพูดจากันรู้เรื่อง ถามถึงการเป็นอัมพาตในระยะเริ่มต้น เป็นความรู้ไว้เพื่อบอกต่อไปยังคนที่ไม่เป็นโรคนี้ให้เขาระวังเนื้อระวังตัว ป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้
ผู้ป่วยบางคนนอนปัสสาวะ อุจจาระ ไหลไม่รู้ตัว ผู้ปฏิบัติดูแลต้องคอยเช็ดคอยล้างทำความสะอาด ข้าพเจ้าเห็นสภาพแล้วสลดใจมาก เคยกล่าวกับบางคนที่นอนป่วยว่า “ถ้าเป็นฉันป่วยอย่างนี้นะโยม ฉันจะไม่ทนทรมานหรอก ต้องฆ่าตัวตายแน่ ๆ” โยมคนนั้นก็กล่าวตอบว่า “ตอนที่ไม่ป่วย เห็นคนอื่นเขาป่วยก็คิดอย่างท่านนี่แหละ แต่พอเป็นเข้าจริง ๆ ก็คิดว่ายังมีความหวังว่าจะรักษาให้หายได้ จึงเป็นอยู่อย่างที่ท่านเห็นนี่แหละ” ฟังเขากล่าวอย่างนั้นก็ต้องกล่าวขอโทษเขา เป็นบทเรียนให้จำมาสอนคนต่อไปว่า ชีวิตของคนทุกคนควรมีความหวัง ไม่ควรท้อแท้ทอดทิ้งความหวัง ชีวิตคนเราอยู่ได้ก็ด้วยความหวังนี้เอง
กุฏิของข้าพเจ้ากาลนั้นเป็นที่รวมของสมาชิกนักกลอนชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์ คนที่มาประจำอยู่คือ เจ้าช่อตำแย จักรกฤษ หรือประจักษ์ สิทธิกรทวีชัย ตามด้วย สุขสันต์ จึงสง่า ประสิทธิ์ ครองเพชร จิตกร เมืองสวรรค์ (มังกร แพ่ง่าย) ส. เชื้อหอม ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร สมพงษ์ โหละสุต สำหรับ อรัญ สิทธิศรี หลังจากลาเพศไปแล้วทำตัวค่อนข้างลึกลับ นาน ๆ โผล่มาที (ดูเหมือนมีปัญหาในการดำรงชีพ)
ส่วนเด็กสาวก็มี อักษร ธัญญะวานิช พริ้มเพรา จิวสกุล ชูศรี จันทรพิชัย สิน สมุทรสกุลเปี่ยม เมธินี หอมไกล สุวภี ผิวชื่น เก๋ แก่นใจ อัฎฐพร พร้อมเพรียงพันธุ์ ทิพย์วัลย์ สอนนวม กุลพรรณ ชัยบุตร เป็นต้น สมพงษ์ โหละสุต ขณะนั้นมียศเป็นจ่าเอก สนใจเรื่องการรักษาโรคด้วยวิธีปักเข็มมาก จึงสมัครเข้าเรียน ซึ่งยามนั้นทางสมาคมเปิดสอนวิชานี้โดยมีลูกศิษย์หมอแดงหลายคนมีความรู้มากพอที่จะเป็นครูสอนแทนหมอแดงได้ จ่าสมพงษ์ไม่ได้สมัครเรียนคนเดียว เขายังชักชวนเจ้านาย (ผู้บังคับบัญชา) ของเขาคือ พ.อ.(พิเศษ) หาญ พงศิฏานนท์ มาร่วมเรียนด้วย /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๕๕ - นักกลอนในรั้วอารามยุคนั้น รุ่นใหญ่ก็มี พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) พระธรรมทัศนาธร (ทองสุก สุทสฺโส) พระเถระทั้งสองรูปนี้มีอายุอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (ชอบ) ชาวอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นราชบัณฑิตภาคีสมาชิกสาขาวิชากวีนิพนธ์ ประเภทวิชาวรรณศิลป์ ท่านประพันธ์เรื่องทั้งร้อยแก้วร้อยกรองไว้หลายเรื่องในนามปากกาว่า ธรรมสาธก เดิมเป็นเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี ต่อมามียศตำแหน่งสูงขึ้นจึงกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ อันเป็นวัดที่ท่านอุปสมบท ข้าพเจ้าเป็นเพื่อนพระศิษย์ใกล้ชิดท่านจึงได้รู้จักกับท่านด้วย, ท่านเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร (ทองสุก) เป็นชาวอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ท่านผู้นี้ข้าพเจ้าไม่รู้จักมักคุ้นเป็นส่วนตัว แต่รู้จักผลงานการประพันธ์บทกวีของท่านที่แต่งเป็นกลอนธรรมะสอนใจได้ดียิ่ง
พระเณรนักกลอนที่อยู่ในรุ่นเดียวและใกล้เคียงกับข้าพเจ้าที่ยังพอจำได้ก็มี เสถียรพงษ์ วรรณปก, เวทิน ศันสนียเวศน์, มังกร แพ่งต่าย, ทองเลี่ยม มาละลา, วิน อยู่ยอด, สมโพธิ ผลเต็ม, ทองย้อย แสงสินชัย, อรัญ สิทธิศรี, สมหวัง สารภะ, ประสิทธิ์ ครองเพชร, สุธี พุ่มกุมาร, ภูวดล กมลมาลย์, ทวน ธารา (ประทวน เกาะแก้ว), ทายาท เพชรงาม, บุญชู คำเมืองปลูก, อุทัย เนาว์โนนทอง, สมปอง (ตุ้ม) พ้นภัย, ไพศาล คัมภิรานนท์, พีรพัชร คงเพ็ชร, ธรรณพ ธนะเรือง, และ สวรรค์ แสงบัลลังค์ เป็นต้น พระนักกลอนดังกล่าวนี้ลาสิกขาแล้วบางท่านก็เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน เช่น ทองย้อย แสงสินชัย รับราชการในกองทัพเรือ เป็นอนุสาสนาจารย์ เกษียณอายุราชการที่ยศนาวาเอก (พิเศษ) ต่อมาทางกองทัพเห็นผลงานกาพย์เห่เรืออันทรงคุณค่ายิ่ง จึงเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลเรือตรี, สมโพธิ์ ผลเต็ม รับราชการในกองทัพอากาศ เป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพอากาศ เกษียณอายุราชการตรงยศที่นาวาอากาศเอก, เสถียรพงษ์ วรรณปก ท่านผู้นี้เป็นนักวิชาในตำแหน่งต่าง ๆ คือ เป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาปรัชญาศาสนา มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาศิลปากร, จุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และเป็นอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและจริยธรรมตามสถาบันต่าง ๆ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ เป็นนักเขียนมีผลงานมากมาย
นักกลอนที่เราเรียกกันว่าเป็น “นักล่ารางวัล” สมัยนั้นมีหลายคน เมื่อมีการจัดประกวดกลอน (ที่เราเรียกกันว่า “กลอนแห้ง”) มีรางวัลงาม ๆ นักกลอนมือดีอย่าง ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร, ส. เชื้อหอม, นนท์ ภราดา, สันติ ชนะเลิศ, ณรงค์ อิ่มเย็น มักไม่พลาด การแข่งขันกลอนสดประเภททีม (หรือวง) สมัยนั้น “วงรถไฟ” ดูจะเกรียงไกรกว่าใครหมด วงนี้เป็นนักกลอนที่ทำงานอยู่การรถไฟไทย ประกอบด้วย ประสิทธิ์ โรหิตเถียร, เจตน์ อติจิต, ผัน วงษ์ดี, ประเวศ ขำแตร, ฝีมือพวกเขาฉกาจฉกรรจ์นัก วงที่ไม่น้อยหน้าใคร ๆ คือวงของชมรมเทพศรีกวีศิลป์ ที่มี นาถ กิตติวรรณกร เป็นประธาน ยามนั้นตั้งอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส ใช้ศาลากวีเนรมิตเป็นที่ทำกิจกรรม (ข้าพเจ้าเคยไปร่วมกิจกรรมของเขา) นักกลอนคนสำคัญคือ สันติ ชนะเลิศ นงนุช นพคุณ อิทธิเทพ รอดผึ้งผา ชมรมนี้มีการพัฒนาไม่หยุดยั้ง ในขณะที่ชมรมอื่น ๆ ล้มหายสลายไป แต่ชมรมนี้พัฒนาขึ้นเป็นสมาคมและอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน
ที่กุฏิของข้าพเจ้าซึ่งเป็นสำนักศูนย์ประสานงานชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์จะเปิดไว้ทุกวัน วันที่ข้าพเจ้าไปเทศน์ต่างบ้านต่างเมือง ประตูห้องก็ไม่ปิด จะเปิดไว้ให้นักกลอนมาพบปะกันตลอดเวลา โดยขอให้พระมหาอุดม (แดน เวียงเดิม) ช่วยดูแล ที่โต๊ะเขียนหนังสือมุมห้องริมหน้าต่างด้านใต้จะมีสมุดสำหรับให้นักกลอนมาเขียนต่อกลอนกันเล่น สมุดกลอนนั้นเล่มแรกตั้งชื่อว่า “พันใจ” จบแล้วต่อด้วย “ไขคำ” –“จ้ำจี้” วันหนึ่งกลับจากสุโขทัยเปิดสมุดเล่มที่ชื่อจ้ำจี้อ่านดูพบกลอนของ “ปีเตอร์ซุง” เขียนในนามจริงไว้ว่า
“เล่นจ้ำจี้จ้ำไช...ต้องใช้นิ้ว ถ้าเล่นหิ้วพ้าทเน่อร์มีเบอร์ง่าย อย่ามัวไปใช้นิ้ว..หิ้วสบาย เอาเชิงชายเชี่ยวช่ำจ้ำจี้เลย
อยากยืมเงินหลงพี่ไปตีห.... กลัวบาปก่อบุญกุดสุดจะเอ่ย เป็นมนุษย์กุดหมดก็อดเชย ของที่เคยเล่นจำจี้มีแต่ตอ
โอ้ก้มหน้าลากลับอาภัพนัก จำต้องพักเรื่องจ้ำจี้ไว้ทีหนอ เพียงเขียนเล่นเค้นเรื่องกระเดื่องคอ ที่ละไว้...อ่านว่าหม้อก็แล้วกัน !! ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร”
นี่เป็นกลอนของนักกวีฝีมือชั้นครู ในสมุดกลอนนี้ยังมีกลอนที่เพื่อนนักกลอนเขาเขียนต่อสัมผัสตอบโต้กันสนุก ๆ หลายสำนวนหลากหลายอารมณ์ เดี๋ยวจะเลือกคัดลอกมาให้อ่านกัน /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๕๖ - สมาชิกชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์คนที่ไปประจำอยู่กุฏิของข้าพเจ้ามากกว่าใคร ๆ คือ ประจักษ์ สิทธิกรทวีชัย หลานชายของ ส. เชื้อหอม (แม่เขาเป็นพี่สาวแท้ ๆ ของ ส.) ใช้นามปากกาว่า จักรกฤษณ์ สิทธิกรทวีชัย เขียนกลอนเก่งและขยันเขียนมาก จึงต้องใช้นามปากกาอีกหลายนามจนเจ้าตัวก็จำนามปากกาของตนไม่ได้ (เช่นเดียวกับข้าพเจ้านี่แหละ) เขาเคยไปทำงานโรงพิมพ์อยู่จังหวัดนครพนมหลาย กลับเข้ากรุงเทพมีครอบครัวและตั้งโรงพิมพ์เป็นของตนเองย่านบางซื่อ จำไม่ได้ว่าเข้าร่วมชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์เมื่อไร จำได้แต่ว่าเป็นแขกขาประจำของข้าพเจ้า เขามีความคิดทางการเมืองในแนวของ อนันต์ เสนาขันธ์ จึงร่วมงานหนังสือพิมพ์ชื่อ “ชนวน” ของอนันต์ เสนาขันธ์ ที่โด่งดังในช่วงเวลานั้น
นักคิดนักเขียนในหนังสือชนวนนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพวกเขาเป็นพวก “หัวเอียงซ้าย” ไปหน่อย ส่วนประจักษ์จะเอียงซ้ายด้วยหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะเขามากุฏิข้าพเจ้าอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๔-๕ ครั้ง ไม่เคยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองออกมาทั้งการเขียนกลอนและการสนทนากันเลย มีแต่เรื่องกลอนตามประสา “คนบ้ากลอน” ดังความที่เขาเขียนลงในสมุด “ไขคำ” ของข้าพเจ้าไว้ว่า
“อ่านกลอนนักการเมืองคุยเรื่องโก้ มิใช่โม้แต่ให้เปรียบได้แจ๋ว เปรียบเป็นพืชที่ปลูก...ถูกแนว ฟังแว่วแว่วใจเราว่าเข้าที เรื่องการเมืองพูดมากไม่อยากมุ่ง เรื่องการมุ้งเก่าใหม่แล้วไม่หนี รู้นะมุ้งบ้านใครดีไม่ดี มุ้งหลวงพี่อภินันท์ยุงมันกลัว (ครับ) “ช่อตำแย”
กลอนนี้เขาแต่งต่อสัมผัสกลอนที่ข้าพเจ้าเขียนถึงประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ที่เขาว่าประชาธิปไตยเบ่งบาน ฟ้าสีทองผ่องอำไพประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินอะไรนั่นแหละ ข้าพเจ้าแสดงความคิดเห็นว่า
“โอ้ประชาธิปไตยของไทยเอ๋ย พอเริ่มเผยให้ชนยลโฉมหน้า ชีวิตเลือดเนื้อหลายคนปนน้ำตา ถูกเซ่นสรวงบูชาบารมี ปลูกประชาธิปไตยมิให้เผือด รดด้วยเลือดน้ำตาคนบ้าจี้ เนื้อเป็นปุ๋ยให้ความงอกงามดี ชีพเป็นที่เพาะปลูกก็ถูกแล้ว “อาว์”
วันหนึ่งเขาบอกข้าพเจ้าว่า “หลวงพี่ครับ ผมจะบวช ช่วยจัดการให้ทีนะ” ข้าพเจ้าไม่ถามเหตุผลในการจะบวชของเขา แต่ก็รับเป็นธุระให้ โดยกำหนดวันเวลาสถานที่ นิมนต์พระอุปัชฌาย์ พระคู่สวด พระอันดับ ให้เรียบร้อย งานบวชเขาจัดแบบเงียบ ๆ มีแต่คนในครอบครัวกับญาติใกล้ชิด และบุคคลสำคัญของเขา คือ พ.ต.ต. อนันต์ เสนาขันธ์ มาร่วมงาน ข้าพเจ้าได้รู้จักตัวตนของอนันต์ เสนาขันธ์ มากขึ้นว่า เขาเป็นคนเคร่งครัด ประเภท “ตึงเกินไป” กำชับไม่ให้พระประจักษ์ฟังวิทยุ ดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่สนทนาสมาคมกับใคร ๆ พระประจักษ์จึงต้องปฏิบัติธรรมอยู่ในโบสถ์จนครบ ๗ วันแล้วลาสิกขา
เพื่อน ๆ ในชมรมรื่นฤดีเรียกเขาอีกชื่อหนึ่งว่า “พ่อปลาไหล” ในความหมายว่าเขาลื่นจนจับไม่อยู่ นัยว่ามีหญิงสาวและไม่สาวหลายคนพยายามจับเขาแต่ไม่สำเร็จ แต่จริง ๆ แล้วข้าพเจ้ารู้ว่าเขาเป็นคนรักเมีย และเกรงใจเมียมาก แม้จะไม่มีลูกด้วยกันเขาก็รักและซื่อสัตย์ต่อภรรยา เคยมีเพื่อนชวนเข้าซ่องย่านบางขุนพรหมเขาก็ปฏิเสธ หากชวนกินเหล้าแล้วเขาไม่ปฏิเสธเลย มีกลอนในสมุดไขคำ ที่ประจักษ์เขียนหยอกล้อกับเพื่อนอยู่ตอนหนึ่ง เพื่อนคนนี้ชื่อจริงเขาคือ ฉลอง ผาสุกธรรม ใช้นามปากกาหลายนาม นัดเจอประจักษ์ที่กุฏิข้าพเจ้าแล้วผิดนัดกันอย่างไรไม่ทราบ จึงเขียนกลอนต่อว่าเพื่อนไว้ในสมุดนี้ว่า
“อุตส่าห์รีบเกือบตายหมายมาหา นัดกันว่า“เจอที่วัด”อรรถาเผย เราก็รีบเร่งงานเสร็จการ(เหมือน)เคย แล้วเพื่อนเอ๋ยอุตส่าห์มานั่งรอ จาก(บ่าย)สองโมงมานี่สี่โมงแล้ว เพื่อไม่แน่วแน่มาหาเลยหนอ เรามานั่งเหงาเหงาเศร้าจนพอ จึงต้องขอลากลับไปหลับนอน เสียใจ(จริงแฮะ)ที่เพื่อนมาลวงหลอ เอ่ยปากบอกแล้วไม่มาไม่น่าหลอน คนเดียวตั้งใจมาจึงอาวรณ์ ก่อนจะย้อนกลับ(อยากว่า)ไม่น่าทำ (กันเลย) พิณ พิษณุ
“ ทำใจน้อยน้อยใจทำไมเพื่อน แหมหน้าเจื่อนเต๊ะท่าทำตาคว่ำ บ่นเป็นหมีกินผึ้งถึงงุมงำ ไอ้ต้มยำปากม้าเดี๋ยวด่าเลย ที่รอแฟนรอได้ไม่เคยบ่น แหมเพียงหนรอเพื่อนทำเอื้อนเอ่ย อย่างงี้ต้องซ้ายขวาให้หน้าเงย ท้ายสุดเฮ้ย “ไอ้หลอง” ต้องยึดเมีย “ช่อมะไฟ”
นามปากกาของประจักษ์ในสมุดกลอนรับแขกของข้าพเจ้ามีอีกหลายนาม “ช่อตำแย” ก็ใช่ เพราะเขาชอบเขียนเย้าแหย่คนโน้นคนนี้อยู่เรื่อย อีกนามหนึ่งคือ “จักรกฤษณ์ ยอดแก้ว” เขาเขียนต่อกลอนเรื่องสุรามรัยในสมุดไขคำไว้ว่า
“วันนี้ชักหิวเหล้าเลยเมาดิบ จะวางหยิบสิ่งใดใจละห้อย ขื่นอารมณ์ก่อนอำลาทำตาปรอย อยากจะย่อยเขียนต่อก็บ้อแรง เพราะนัดกับวิจิตรก่อน(เขา)ติดคุก ไปสนุกตามประสาคนหน้าแห้ง ต่างคนก็ต่างกลุ่มสุมแทรกแซง เฮ้อ เราแข่งกินเหล้าแข่งเมาเทอะ ! จักรกฤษณ์ ยอดแก้ว
“ห่า ! จักรกฤษณ์คิดบอเขียน”ค”(ขวด)เหล้า กำลังเมามันสะกิดเลยคิดเปรอะ เขียนไขคำกำ(ไข่)กวมกลัวไหลเลอะ ประเดี๋ยวเหอะหกหมดอด,เมาเรีย.... โอ้แรงฤทธิ์ความคิดถึงซึ้งดวงจิต คิดถึงมิตรทุกคนจนละเหี่ย (อย่าเสือกเติมไม้โท) คิดถึงวันหวานหวามบนความเพลีย ซึ่งต่างเสีย-สละรวมร่วมจัดงาน (ที่วัดเทพฯ) ถ้าหากเราเข้าใจกันไม่ยาก “วันลาจาก”คงไม่เอ่ยไขขาน มีแต่คำพร่ำว่าจักรัก(กัน)นานนาน หวานรักหวานเติมรักสามัคคี โอ้ว่าวันนั้นยังฝังซึ่งจิต และจะคิดถึงไว้มิหน่ายหนี เทพโปรดอุ้มสมชื่น-“รื่นฤดี ให้เพื่อนพี่-น้องสนิท...มิตรสัมพันธ์ “หลวงพบสุราคลาน”
“หลวงพบสุราคลาน” เป็นนามที่คอเหล้ามอบให้แก่ มังกร แพ่งต่าย นามในทีมนี้มี หลวงแสวงลาดตระเวน(หาเหล้า) หลวงเจนสุราจบ หลวงพบสุราคลาน ขุนบานกงสี เขาว่ามังกร แพ่งต่าย หรือ จิตรกร เมืองสวรรค์ กร แภ้วไทย คนนี้คออ่อนมากกว่าเพื่อน ดื่มเหล้าทีไรเป็นต้องคลานทีนั้น ฟังแต่เขาว่าข้าพเจ้าไม่เคยร่วมวงก๊งสุรากะเขาสักที /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๕๗ - เหตุการณ์ชุมนุมใหญ่เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ วัดใหม่ฯ เหมือนอยู่ในสมรภูมิรบ คนไข้อัมพฤกษ์อัมพาตที่นอนรักษาตัวอยู่ข้างกุฏิข้าพเจ้าต่างหวาดกลัวกันมาก ข่าวการเผาสถานที่ราชการแถวถนนราชดำเนินเขย่าขวัญชาววัดใหม่ฯ กลัวว่าเขาจะมาเผาสำนักงานสื่อสารตำรวจที่อยู่ไม่ไกลนัก ขณะที่ ฮ. บินร่อนตรวจการณ์อยู่บนท้องฟ้ามีข่าวว่าคนถูกกระสุนปืนจาก ฮ. ยิงลงมาที่สะพานบางลำพู สังกะสีหลังคากุฏิข้าพเจ้ามีลูกปืนตกใส่ด้วยเหมือนกัน การสื่อสารสมัยนั้นยังไม่ดีนัก ทั้งวัดใหม่ฯ มีโทรศัพท์ใช้เพียง ๒ เครื่อง คือที่กุฏิพระครูชมเจ้าอาวาสกับกุฏิพระครูสังฆรักษ์ลำพู ญาติคนไข้จากสุโขทัย นครสวรรค์ มีเบอร์โทร.ของเจ้าอาวาส พวกเขาโทร.มาขอพูดกับข้าพเจ้าเพื่อสอบถามความปลอดภัยของญาติเขาวันละนับ ๑๐ ครั้ง ทำให้ข้าพเจ้าขึ้น ๆ ลง ๆ กุฏิข้าพเจ้ากับกุฏิเจ้าอาวาสจนเหนื่อยมาก เรื่องราวรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาเป็นอย่างไร จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้นะครับ
ในปีที่เป็นประธานชมรมรื่นฤดีวรรณศิลป์อยู่นั้น ดูเหมือนข้าพเจ้าจะขยันคิดเขียนกลอนมากทีเดียว กลอนของข้าพเจ้ามีตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐคอลัมน์ “ประกายเพชร, เกล็ดดาว” ทุกสัปดาห์ ยังมีกลอนยาว ๖ บทลงในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันรายสัปดาห์ รายเดือน อีกหลายฉบับ คู่คิดของข้าพเจ้ายามนั้นก็คือประจักษ์ สิทธิกรทวีชัย นี่แหละ บางวันเราก็คิดหาคำผวนแปลก ๆ มาใช้กัน คำผวนนี้สำนักงานราชบัณฑิตท่านว่า “เป็นการเล่นทางภาษาอย่างหนึ่งในภาษาไทยที่ใช้วิธีการสลับคำหรือสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ของคำ ตั้งแต่สองพยางค์ขึ้นไปเพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ เรียกว่า การผวนคำ โดยมีจุดประสงค์หลักให้เกิดความสนุกสนาน คำที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะออกเสียงคล้องจองกับเสียงของคำในรูปเดิม เช่น คึกฤทธิ์-คิดลึก สวัสดี-สะวีดัด การผวนคำเป็นการบริหารสมองทั้งสองซีก คือซีกซ้ายจะทำหน้าที่สลับตำแหน่งของเสียงหรือคำไปในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนซีกขวาจะทำหน้าที่ตกแต่งเสียงและความตามต้องการ เช่น มาแลดูกัน-มาลันดูแก แจ๊วหลบ-จบแล้ว”
การเล่นคำผวน (กลับคำ) อย่างสุภาพ เช่น เรอทัก-รักเธอ นั้นเล่นไม่สนุก นักเล่นคำผวนจะชอบเล่นสนุก ๆ แบบ “สรรพลี้หวน” เช่นว่า “...นครรังยังมีเท่าผีแหน กว้างยาวแสนหนึ่งคืบสืบยศถา เมืองห้างกวีรีหับระยับตา พันหญ้าคาปูรากเป็นฉากบัง” ที่มาของคำผวนนี้ดูเหมือนว่า จะมาจากรั้วอาราม พระท่านว่าเป็นคำบาลีหวน เช่นว่า “โสติง=สิงโต” เจ้าคุณอาจารย์ข้าพเจ้าเคยเล่าให้ฟังว่า พระสมัยก่อนถ้ามีชื่อเดิมลงท้ายด้วยสระอี เรียนบาลีแล้วสอบได้เป็นพระมหา มักจะขอเปลี่ยนชื่อไม่ให้ลงท้ายด้วยสระอี พระลูกศิษย์เจ้าคุณเจียวัดโพธิ์องค์หนึ่งชื่อมณี พอสอบบาลีได้เป็นพระมหา เจ้าคุณอาจารย์ชอบเรียกท่านว่า “มหานี” จนท่านสึกไปรับราชการแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ธวัช วันหนึ่งไปเยี่ยมอาจารย์ กล่าวก่อนอาจารย์จะเรียกชื่อเดิมว่า อาจารย์ครับ กระผมเปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว/ เออ ชื่ออะไรล่ะ/ ธวัชครับ/ อื้อ ธวัชแปลว่าธงใช่ไหม/ ใช่ครับ / เอ้อ...แล้วมันเป็น ธงจริงหรือ “ธงหลอก” ล่ะ/ โธ่..อาจารย์ เอาผมอีกจนได้นะครับ
คำผวนดังกล่าวประจักษ์กับข้าพเจ้าเห็นร่วมกันว่าเป็นคำผวน “ชั้นเดียว” ไม่ต้องคิดมากก็รู้ความหมาย เช่น มหานี ธงหลอก โสติง แจ๊วหลบ เป็นต้น คำผวนสองชั้น เช่น มาลันดูแก ถือบากันช่อง อย่างนี้ก็รู้ได้โดยไม่ต้องคิดมาก เราคิดคำผวนแบบสามชั้นกันออกมาได้หลายคำ เช่น สีลอยลม คำนี้มาจากคำผวนชั้นเดียวและสองชั้นที่วา สีเหย สีระเหย คำว่าลอยลมก็หมายถึง ระเหย นั่นเอง คำผวนส่วนใหญ่ประจักษ์เป็นคนคิดได้ก่อนเพราะเขาหัวไวกว่าข้าพเจ้า
เพราะคิดถึงคำผวนชั้นเดียวสองชั้นสามชั้นดังกล่าวเนี่ย เป็นผลดีและผลเสีย คือทำให้ได้ความหมายของคำที่นำมาร้อยกรองมากขึ้น เช่น คำว่า ลอยคอ-รอคอย เป็นต้น ทำให้ระวังระแวงการใช้คำในบทกลอนมากจนไม่กล้าเขียนคำที่เป็นคำผวนแบบหยาบ เช่น “หนีหาย” เป็นต้น เราได้ข้อมูลว่า คำที่ใช้ ส,ศ,ษ, ช.ซ, นำหน้า อักษร ห,ฮ. ไม่ควรใช้สระอีที่อักษรนำนั้น เพราะมันจะผวนเป็นคำหยาบ
เวลานั้นข้าพเจ้าคิดแบบกลอนกลบทได้หลายแบบ พอคิดได้แล้วก็เปิดตรากลอนกลบทดูว่าแบบที่คิดขึ้นมานั้น ตรงกับกลบทใดของท่านโบราณาจารย์หรือไม่ เมื่อเห็นว่าไม่ซ้ำแบบครู ก็คิดตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ ยังจำได้ว่ากลอนบทแรกที่คิดแบบขึ้น กลบทวิหคคืนคอน คลิก แต่งความว่า
“กลับมาแล้วแก้วจิตขนิษฐา เอาใจมามอบสมรวอนถนอม ขอหนุนตักพักชีวาถ้านุชยอม อดีตหอมหวานล้วนหวนกลับมา
จากไปนานปานไหนไม่ลืมหลง ใจยังคงซื่อสึงคะนึงหา ด้วยความรักหนักมนัสซื่อศรัทธา ตราบชีวาวายซากมิจากไป”
ข้อบังคับของกลบทนี้ไม่ยาก คือบังคับให้ใช้สองคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ เป็นคำเดียวกับสองคำแรกของวรรคที่ ๑ เช่น “กลับมา” แบบนี้คิดได้แล้วยังไม่ตั้งชื่อ รอให้ประจักษ์มาหาก่อนจึงปรึกษาว่าควรตั้งชื่ออะไรดี คิดกันหลายชื่อแล้ว ตกลงให้ใช้ว่า “วิหคคืนคอน” ซะเก๋ไปเลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๕๘ - อยู่วัดใหม่ฯ บางขุนพรหมกาลนั้น นอกจากจะสนุกกับการแต่งกลอนและสมาคมกับเพื่อนนักกลอนแล้ว ข้าพเจ้ายังสนุกกับการได้อ่านหนังสือนิยายจีนประเภทกำลังภายในอีกด้วย มีร้านจำหน่ายและให้เช่าหนังสืออยู่ในซอยนานาแถวหน้าโรงหนังบางลำพูที่เคยเป็นวิกลิเกคณะหอมหวลนั่นแหละ หนังสือนิยายจีนดังกล่าวเขาให้เช่าอ่านเล่มละ ๕๐ สตางค์ หนังสือใหม่จะออกวางแผงตอนบ่าย ๓-๔ โมง ข้าพเจ้าเดินจากวัดไปตอนเย็น เช่ามาอ่านที่กุฏิตอนกลางคืน เย็นวันรุ่งขึ้นก็เอาไปคืนร้าน และเช่าเล่มใหม่มาอ่าน เป็นอย่างนี้ทุกวัน ตอนนั้นนิยายจีนกำลังภายในจากบทประพันธ์ของโกวเล้งเป็นที่ถูกอกถูกใจข้าพเจ้ามาก ผู้แปลเป็นภาษาไทยก็มี ว.ณ เมืองลุง กับ น.นพรัตน์ สำนวนการแปลของ ว. จะละเมียดละไม (คลาสสิก) ให้อารมณ์กวีดีนัก เหมาะกับคนใจเย็นวัยสูงหน่อย ส่วนสำนวนการแปลของ น.นพรัตน์ จะตรง โผงผาง ไม่อ้อมค้อม เหมาะกับคนใจร้อนแบบวัยรุ่น แต่ข้าพเจ้าก็ชอบอ่านทั้งสองสำนวนนั่นแหละ
รายการกลอน “สายธารใจ” ทางวิทยุ ป.ช.ส.ตาก ข้าพเจ้าก็ยังต้องจัดอยู่ ส่งเทปที่บันทึกเสียงแล้วส่งไปทางการบินไทย ซึ่งทางสถานีเขามีงบประมาณค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ไปขอใช้ห้องบันทึกเสียงของ ว.ป.ถ. ๑๔ แถวลุมพินีซึ่งมี บุญส่ง แก้วน้อย สมาชิกรื่นฤดีเป็น จนท. อยู่ที่นั่นบ้าง บันทึกเสียงที่ห้องนอนในกุฏิของข้าพเจ้าบ้าง ในการบันทึกเสียงที่กุฏิข้าพเจ้านั้น บางวันก็ได้เด็กสาวสมาชิกชมรมรื่นฤดีคนหนึ่งช่วยอ่านกลอน เธอเป็นนักเรียนหญิงชั้น ม.ปลาย รร. สตรีนนทบุรี ชื่อพริ้มเพรา ข้าพเจ้าตั้งฉายาเธอ ตามตัวนิยายจีนว่า “เฮกหงส์” เพราะเธอเป็นคนผิวคล้ำ (ดำสวย) เฮกหงส์ เขียน อ่าน ภาษาไทยได้ดี แต่งกลอนดี จึงไม่ยากที่จะอ่านกลอนในรายการของข้าพเจ้าได้ดี เด็กอีกคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าตั้งชื่อตามนิยายจีนว่า “แป๊ะหงส์” เป็นคู่กันกับเฮกหงส์ (หงส์ขาว, หงส์ดำ)
แป๊ะหงส์ มีผิวสีขาว ลูกคนจีนย่านสำโรง สมุทรปราการ เด็กคนนี้น่าสงสารที่เธออยากจะเรียนต่อสูง ๆ แต่เตี่ยไม่ยอมให้เรียน เธอเล่าว่าทางครอบครัวมีโรงงานทำรถจักรยานจำหน่าย มีรายได้ดี ฐานะดี เรียนจบชั้น ป.๗ ตามภาคบังคับแล้วเตี่ยไม่ให้เรียนต่อ อ้างว่าเป็นผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนสูง ให้พี่ชาย น้องชาย เรียนสูง ๆ ได้ทุกคน เธออยากเรียนข้าพเจ้าจึงแนะนำให้แอบไปเรียนในโรงเรียนผู่ใหญ่ (สมัยนี้เรียก กศน.) อย่างที่ข้าพเจ้าเรียน เธอก็ทำตามคำแนะนำของข้าพเจ้า สิน สมุทรสกุลเปี่ยม หรือแป๊ะหงส์ของข้าพเจ้ามาที่ทำการชมรมรื่นฤดีทุกอาทิตย์ จึงรู้จักชอบพอสนิทนมกับ “เฮกหงส์” พริ้มเพรา จิวสกุล “เหมยเหวิน” อักษร ธัญญะวานิช (แมว, ชะแอว) สามสาวรุ่นนี้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ข้าพเจ้ารักพวกเธอเหมือนน้องแท้ ๆ ทีเดียว น้องแมว (อักษร) เป็นเด็กสาวจากฉะเชิงเทรา เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์ ม.จุฬาลงกรณ์ (ปีนั้นอยู่ปี ๑) น้องพริ้มเพรา เป็นเด็กชาวบ้านสวนใหญ่ เมืองนนท์ เรียนอยู่ชั้น มศ.๕ มุ่งมั่นตามรอยน้องแมวและสอบเข้าเรียนครุศาสตร์จุฬาฯ สมความมุ่งหมาย ส่วนน้องสิน ก็แอบเรียนศึกษาผู้ใหญ่จนสำเร็จการศึกษาในที่สุด น้องอีกคนหนึ่งแม้จะมากุฏิข้าพเจ้ามากกว่าน้องทุกคน แต่เธอไม่ค่อยสนิทสนมกับเพื่อน ๆ นัก เป็นคนค่อนข้างเงียบขรึมและเป็นนักกลอนที่ไม่ยอมเข้าสังกัดชมรมใด เป็นคนนครศรีธรรมราช เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดูเหมือนจะเป็นคณะบัญชีหรือไรนี่แหละ ในสมุดกลอนรับแขกของข้าพเจ้าทุกเล่มจะมีกลอนของเธออยู่หลายสำนวน ส่วนมากจะเป็นกลอนเศร้าๆ อย่างเช่น
“ถ้าหากว่าลืมกันแล้วขวัญสุข ถึงจะทุกข์มหันต์ฉันทนได้ จะหนีหน้าอยู่อย่างคนห่างไกล สักวันใจคงแข็งแกร่งชาชิน *ฉันก็ยังเป็นฉันแม้วันหน้า อาจปวดปร่ารันทด...หวังหมดสิ้น อาจทนทุกข์ทรมาน้ำตาริน เมื่อไม่ใช่คนใจหิน....ใช่สิ้นคิด * เธอ.......... รักเสมอทั้งที่ใจฉันไร้สิทธิ์ แต่ก็ไม่ยอมแพ้รอยแผลพิษ ทางชีวิตฉันอยู่ได้...แม้ไร้เธอ เมธินี หอมไกล
ข้าพเจ้าถามเธอว่า เม เขียนกลอนอยู่แนวเดียวอย่างนี้ไม่คิดเบื่อบ้างเลยหรือ เธอตอบว่า “ไม่เบื่อหรอกค่ะ หนูไม่เหมือนหลวงพี่นี่นา หลายใจจังเลย เขียนกลอนไปได้ไม่รู้กี่แนวทาง” อ้าว..แว้งด่าหลวงพี่เข้าให้แล้ว
การแต่งกลอนของข้าพเจ้า “เหมือนเป็ด” คือ เป็ดขันอย่างไก่ก็ได้ แต่เสียงไม่เหมือนไก่ บินอย่างนกก็ได้ แต่ไม่ไปไกลเหมือนนก ว่ายน้ำดำน้ำอย่างปลาก็ได้ แต่ไม่เก่งเหมือนปลา ข้าพเจ้าแต่งกลอนได้ทุกแนว แต่ไม่ดีสักแนวเดียว คงจะจริงอย่างที่น้องเมธินีเธอว่า “หลวงพี่หลายใจจัง เลยเขียนกลอนไปได้ไม่รู้กี่แนว” นั่นแหละ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 หลวงพ่อห้อม อมโร เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๕๙ - ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องของพระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน) เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ในช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่วัดใหม่ฯ บางขุนพรหมนั้น ไม่ค่อยได้พบท่านนัก เวลาขึ้นไปเทศน์ที่สุโขทัยท่านก็ไม่ค่อยได้อยู่สุโขทัย เพราะเข้าโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ บ้าง ไปดูงานก่อสร้างพระพุทธรูปปางประทานพรวัดมหาดไทย เมืองอ่างทอง บ้านของท่านบ้าง ครั้งล่าสุดได้พบกัน เมื่อท่านนิมนต์ไปเทศน์ฉลองพระพุทธรูปปางประทานพรของท่านที่วัดมหาไทย เจาะจงให้ให้พระครูสุภัทรธีรคุณ (มหาดำรงค์) วัดไทยชุมพล พระครูอุทัยสุขวัฒน์ (สวง) วัดบางคลอง และข้าพเจ้า ไปเทศน์ร่วมกัน หลังจากพบกับท่านที่วัดมหาหาดไทยนี้แล้วก็ไม่ได้พบกันอีกเลย
ทราบข่าวหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณว่า อาการป่วยของท่านเป็นบ้างหายบ้างตลอดมา ด้วยปีนั้นมีอายุได้ ๘๙ ปีแล้ว ต่อมาได้ข่าวว่าเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านเดินทางจากสุโขทัยเข้ากรุงเทพฯ ประสงค์จะไปโรงพยาบาลศิริราช ได้แวะไปเยี่ยมบ้านอ่างทองก่อน พักอยู่วัดมหาดไทย ๒ วัน ถึงวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ในขณะที่กำลังฉันอาหารเช้า ท่านเกิดเป็นลมจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ บรรดาญาติโยม ศิษยานุศิษย์ ได้ช่วยกันจัดการตั้งศพสวดที่วัดมหาดไทย จังหวัดอ่างทอง เป็นเวลา ๓ คืน และศิษยานุศิษย์ทางจังหวัดสุโขทัย ได้ลงมานำศพของท่านกลับขึ้นไปตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดราชธานี จังหวัด สุโขทัย เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๓ ตั้งศพบำเพ็ญกุศลครบ ๗ วันแล้วเก็บศพไว้รอกำหนดพระราชเพลิงศพต่อไป
ครั้นหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณมรณภาพแล้ว เจ้าอาวาสวัดราชธานีว่างลง พวกกรรมการวัดและพระผู้ใหญ่ต้องการให้ข้าพเจ้ากลับไปเป็นเจ้าอาวาสแทนหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณตามที่ท่านเคยปรารภไว้ ข้าพเจ้าปฏิเสธอย่างเด็ดเดี่ยว ทางพระผู้ใหญ่ปรึกษาหารือกันในการสรรหาผู้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ โดยจะขอให้พระครูอุทัยสุขวัฒน์ วัดบางคลอง ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกับเจ้าคุณโบราณมาแทน ท่านไม่ยอมมา ขอให้พระครูวิมลกิจโกศล จากวัดคุ้งยางใหญ่บ้านสวนมาท่านก็ไม่ยอม สุดท้ายจึงให้พระมหาเฉลิม กุสลธมฺโม วัดไทยชุมพล เลขาฯเจ้าคณะอำเภอเมืองฯ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดราชธานีตามคำเสนอของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้ารอดตัวจากการเป็นสมภารวัดราชธานี แต่ไม่รอดตัวจากการที่ต้องจัดงานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ
ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยสืบต่อจากพระราชประสิทธิคุณไม่น่าจะมีปัญหา เพราะพระครูสุขวโรทัย (ห้อม อมโร) มีตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดอยู่แล้ว แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้นจนได้ เหตุเพราะนายนาคผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ของวัดราชธานี อ้างว่าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณอนุญาตให้เขายืมเงินค่าผาติกรรมของวัดไปเป็นทุนก่อสร้างอาคารดังกล่าว ทางวัดไม่ยินยอม เขาจงวิ่งเต้นให้พระผู้ใหญ่ (เจ้าคณะภาค) ช่วยเจรจา ทางพระผู้ใหญ่ยื่นข้อเสนอให้หลวงพ่อห้อม รักษาการเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย บีบบังคับให้ทางวัดยอมให้นายนาคนำเงินวัดไปสร้างอาคารพาณิชย์ ถ้าหลวงพ่อห้อมไม่ทำตามจะไม่ตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัด หลวงพ่อห้อมปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเมือง เจ้าคณะตำบลธานี เจ้าอาวาสวัดราชธานี แล้วตกลงกันว่าไม่ยอมทำตามข้อเสนอนั้น ท่านผู้ใหญ่ดังกล่าวจึงตั้งให้พระครูเจ้าคณะอำเภอคีรีมาศเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย แล้วให้ใช้อำนาจบีบบังคับเจ้าอาวาสวัดราชธานียอมตามต้องการของผู้รับเหมานั้น
ครั้นทางวัดไม่ยอมทำตามความต้องการดังกล่าว จึงมีคำสั่งออกมาให้พักตำแหน่งพระครูสุภัทรฯ เจ้าคณะอำเภอเมือง พระสมุห์วรรณา เจ้าคณะตำบลธานี พระมหาเฉลิม เจ้าอาวาสวัดราชธานี คราวนี้ก็เกิดคดีความกันยาวนานเลย ผู้รับเหมาฟ้องศาลให้วัดจ่ายเงินตามคำอนุมัติอดีตเจ้าอาวาส ทางวัดจึงไปขอให้สำนักงานทนายเสนีย์ ปราโมช ส่งทนายความมาว่าความให้วัด คุณชายเสนีย์จึงส่งนายไพฑูรย์ โมกขมรรคกุล มาเป็นทนายให้วัด ครั้นเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสถูกสั่งพักตำแหน่ง ทางวัดจึงให้ทนายไพฑูรย์ฟ้องศาลว่าผู้ออกคำสั่งนั้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เรื่องนี้ร้อนถึงข้าพเจ้าต้องพาผู้ถูกสั่งพักตำแหน่งทุกองค์เข้าขอพึ่งบารมี “สมเด็จป๋า” (สมเด็จพระวันรัต ปุน) “ วัดพระเชตุพนฯ กราบเรียนเรื่องราวทั้งหมดให้ท่านทราบ สมเด็จป๋าเรียกเจ้าคณะภาคมาพบ แล้วสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเสียทั้งหมด ยกเว้นตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด เมื่อตั้งแล้วก็ให้แล้วกันไป
เสร็จเรื่องการที่พระผู้ใหญ่ใช้อำนาจโดยมิชอบแล้ว หลวงพ่อห้อมก็หันมาจับงานเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณต่อไป งานนี้มีกรมศิลปากรเข้ามาเกี่ยวข้องอด้วย เพราะหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณมีคุณูปการต่อกรมศิลปากรเป็นอย่างมาก ผู้แทนกรมศิลปากรมีนายมะลิ โคกสันเทียะ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เข้าร่วมดำเนินการด้วย โดยกรมศิลปากรจัดพิมพ์หนังสือศิลาจารึกสุโขทัยแจกในงานพระราชเพลิงศพ ทางวัดจัดทำเหรียญรูปเหมือนพระราชประสิทธิคุณ (ทิม) แจกในงานนี้ หลวงพ่อห้อม กับพระครูสุภัทรฯ มอบหมายให้ข้าพเจ้าดำเนินการจัดทำเหรียญดังกล่าว และให้ติดต่อนิมนต์พระผู้ใหญ่มาเป็นประธานและเทศน์ในงานพระราชทานเพลิงศพนี้ ซึ่งมีกำหนดวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๑๕ ด้วยวัดราชธานีตอนนั้นยังไม่มีเมรุเผาศพ จึงให้หาเมรุลอยมาติดตั้ง เยื้อง ๆ หน้าพระพุทธประทานพร หลังจากได้ผู้รับทำเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อโบราณแล้ว ข้าพเจ้าต้องไปว่าจ้างเจ้าของเมรุลอยที่วัดหัวเวียง อ.เสนา ไปตั้งที่วัดราชธานีด้วย
สำหรับพระผู้ใหญ่ที่จะมาเทศน์และเป็นประธานงานพระราชทานเพลิงศพดังกล่าวมีปัญหาไม่น้อย ทีแรกจะนิมนต์สมเด็จป๋าวัดโพธิ์ แต่ปีนั้นท่านได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เวลาใกล้ถึงงานแล้วจึงตัดสินใจเข้ากราบเรียนอาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสโก) วัดสังเวชวิศยาราม ใกล้ ๆ กับวัดใหม่ฯบางขุนพรหมนั่นเอง ท่านเพิ่งได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระวันรัตแทนสมเด็จป๋าในปีนั้นเอง สมเด็จองค์นี้ท่านมีนามเดิม ทรัพย์ สุนทรัตต์ เป็นชาวตำบลวัดร้อยไร่ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปกตินิสัยเป็นคนดุ ข้าพเจ้าใจกล้าไม่กลัวถูกดุ เข้าไปกราบเรียนนิมนต์ท่านแบบ “ทำใจดีสู้เสือ” หะแรกท่านก็ดุว่าเป็นพระเด็ก ๆ มาทำเรื่องใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างไร จึงต้องเล่าเรื่องความเป็นมาอย่างยืดยาว ท่านนั่งฟังนิ่ง ๆ สุดท้ายบอกท่านว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อไวย์เจ้าคณะอำเภอบางซ้าย ท่านร้องอ้อ เพราะรู้จักหลวงพ่อไวย์ดี จึงยอมรับนิมนต์
งานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณสำเร็จได้ด้วยดี เสร็จพิธีแล้วข้าพเจ้าไม่มีเวลาสำรวจความสำเร็จ เพราะวันรุ่งขึ้นจะต้องสอบเพื่อจบชั้นเรียนระดับ ๓ รร.ผู้ใหญ่วัดอินทร์ จึงขอติดรถพระผู้ใหญ่วัดอนงคารามที่ไปงานศพ กลับถึงกรุงเทพฯ ก็ดึกมากแล้ว/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 นายประจวบ ไชยสาส์น เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๖๐ - เรื่องของวัดราชธานีเมืองสุโขทัยหลังจากสิ้นหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณแล้วยุ่งมากเลย นายนาคผู้รับเหมาคนนี้พยายามจะเอาเงินค่าผาติกรรมของวัดมาเป็นทุนสร้างตึกให้ได้ จึงมีการฟ้องร้องกันอีรุงตุงนัง( อีนุงตุงนัง) ทางฝ่ายพระครูสุภัทรฯ เจ้าคณะอำเภอเมืองก็หนุนให้ทางวัดสู้อย่างเต็มที่ กรรมการวัดราชธานีคนสำคัญสองสามคน (ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม) เข้ากรุงเทพฯ ขอให้ข้าพเจ้าช่วยวางแนวทางในการต่อสู้ มีนายทหารยศพันเอกท่านหนึ่งเป็นอดีตมหาเปรียญชาวอยุธยา และเป็นเขยสุโขทัย ชื่อ สุดใจ กิจประมวญ ขณะนั้นประจำอยู่กระทรวงกลาโหม เดิมมหาสุดใจ (ป.ธ.๖) สอบบรรจุเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพบก ครั้นได้ยศเป็น พ.ท.แล้ว โอนเข้าไปอยู่กระทรวงกลาโหม ด้วยเส้นสายของหลวงจบกระบวนยุทธ (พ่อตาจอมพลถนอม) ท่านผู้นี้นับได้ว่าเป็นกำลังสำคัญอีกคนหนึ่งของวัดราธานี ข้าพเจ้ากับกรรมการวัดราชธานีไป “สุมหัวคิด” กันที่บ้าน พ.อ.สุดใจ ร่างหนังสือเล่าเรื่องของวัดราชธานีหลังไฟไหม้แล้วเกิดขัดแย้งกับพระผู้ใหญ่ที่เข้ากับฝ่ายผู้รับเหมาก่อสร้าง ข่มเหงรังแกพระระดับผู้น้อยเมืองสุโขทัย ครั้นร่างข้อความเสร็จแล้วอ่านทบทวนกันเป็นที่พอใจ นำให้พลวงพ่อห้อม กับพระครูสุภัทรฯ อ่านดูเป็นที่พอใจแล้ว พ.อ.สุดใจ ใช้อุปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม พิมพ์กระดาษไข โรเนียว ข้อความนั้นจัดส่งไปยังเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอทั่วประเทศ และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
เรื่องก็เลยดังไปทั่วประเทศ
เอกสารที่นายนาคนำมาแสดงว่าพระราชประสิทธิคุณ ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชธานี อนุมัติให้นายนาคยืมเงินค่าผาติกรรมสามล้านบาทนั้น ทางวัดว่าเป็นหนังสือปลอม เพราะลายเซ็นนั้นไม่ใช่ลายมือของพระราชประสิทธิคุณ เรื่องนี้ก็ต้องพิสูจน์กันนานทีเดียว ข้อเท็จจริงก็คือ นายนาคจับมือหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเซ็นตอนที่นอนป่วยอยู่โรงพยาบาลศิริราช ลายเซ็นจึงผิดเพี้ยนไป
ในช่วงเวลาที่ทางวัดราชธานีกับผู้รับเหมาก่อสร้างต่อสู้คดีความกันทางศาลยุติธรรมอยู่นั้น มีการเลือกตั้งซ่อม สส. สุโขทัยขึ้นในปี ๒๕๑๔ ด้วยนายทองสุข แสนโกศิก ส.ส.สุโขทัย สิ้นชีวิตลง ข้าพเจ้าถูกกระแสการเมืองดึงเข้าสู่แวดวงการเมืองโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ ครูเหรียญชัย จอมสืบ สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคแนวประชาธิปไตย ของ ดร.ไพฑูรย์ เครือแก้ว ณ ลำพูน การไปเทศน์ตามวัด บ้าน ต่าง ๆ ในสุโขทัย ครูเหรียญชัยจะตามไปด้วยเพื่อแนะนำตัวให้ชาวบ้านชาววัดรู้จัก เวลาเทศน์ข้าพเจ้าก็จะเปิดโอกาสให้คนฟังถาม ถ้าเขาไม่กล้าถามก็ให้บอกคำสงสัยของตนให้ครูเหรียญชัยถาม ทำอย่างนี้หลายครั้งหลายคราจนคนสุโขทัยส่วนมากรู้จักครูเหรียญชัยมากขึ้น ครั้นเขาสมัคร สส. ได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครแล้ว เขาก็เที่ยวแจกใบปลิวและกล่าวปราศรัยในที่ต่าง ๆ ซึ่งเคยไปกับข้าพเจ้านั้น ๆ
ครูเหรียญชัยมีกระแสเสียงตอบรับดีมาก เพราะเขาเป็นคนพูดเก่งและดี คอการเมืองเห็นพ้องกันว่าเลือกตั้งงวดนั้นเขาต้องชนะอย่างแน่นอน คู่แข่งในสนามเลือกตั้งนี้ของเขาคือ คุณหมอทัศนัย แสนโกศิก บุตรชายของ สส. ทองสุขนั่นเอง หมอคนนี้ไปเรียนแพทย์ที่ประเทศรัสเซียเพิ่งกลับมาไม่นาน ยังเป็นแพทย์ตามระเบียบของการแพทย์ไทยไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ใบรับรองการเป็นแพทย์ไทย อะไรทำนองนั้นแหละ หมอทัศนัยไม่ได้ออกหาเสียงเหมือนครูเหรียญชัย แต่คนในพรรครัฐบาล (จอมพลถนอม กิตติขจร) ซึ่งมีพล.ต.ต.สง่า กิตติขร มาตั้งกองบัญชาการเลือกตั้งของพรรครัฐบาลอยู่ที่เมืองตาก มาช่วยหาเสียงให้คุณหมอทัศนัยกันอย่างคึกคัก ใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พรรคแนวประชาธิปไตยได้กำหนดการจัดปราศรัยใหญ่ขึ้นที่สนามวัดไทยชุมพล เมืองสุโขทัย ในวันอาสาฬหบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ )
ในการปราศรัยใหญ่นั้นมีกำหนดการว่า ดร.ไพฑูรย์ เครือแก้ว ณ ลำพูน จะมาเป็นเป็นผู้นำในการปราศรัย มีการอภิปรายก่อนปราศรัย ครูเหรียญชัยขอร้องให้ข้าพเจ้าเข้าร่วมการอภิปรายด้วย ข้าพเจ้าบ่ายเบี่ยงว่าไม่เหมาะที่พระจะขึ้นเวทีอภิปรายทางการเมือง แต่เขาเสนอหัวข้อการอภิปรายว่าใช้ชื่อแบบวัดก็ได้ ข้าพเจ้าจึงคิดหัวข้อว่า “ศาสนากับการเมือง” เป็นหัวข้อกว้าง ๆ มีผู้ร่วมอภิปรายคือ ข้าพเจ้า ครูเหรียญชัย และนายประจวบ ไชยสาส์น สำหรับประจวบ ไชยสาส์น ผู้นี้เป็นชาวอุดรธานี ตอนนั้นเขาเรียนจบรัฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาหมาด ๆ เรียกว่า “กำลังร้อนวิชา” เลยทีเดียว
วันนั้นครูเหรียญชัยเป็นผู้นำอภิปราย ให้ประจวบ ไชยสาส์น อภิปรายเรื่องการเมือง เขากล่าวถึงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการได้ดีทีเดียว ครูเหรียญยชัยกล่าวสรุปคำอภิปรายของประจวบแล้วให้ข้าพเจ้าอภิปรายเรื่องศาสนา ข้าพเจ้ากล่าวถึงความสำคัญของศาสนาว่ามีความสำคัญต่อสังคมและประเทศชาติอย่างไร สังคมของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์จะขาดศาสนามิได้ เมื่อกล่าวถึงศาสนาโดยภาพรวมแล้วก็หันมากล่าวถึงการเมืองที่ประจวบอภิปรายว่า มีระบอบเผด็จการ กับ ประชาธิปไตย ข้าพเจ้ากล่าวถึงคำว่า “อธิปไตย” (ความเป็นใหญ่) ว่าในพุทธศาสนาเรา พระพุทธเจ้าตรัสถึงอธิปไตยคือความเป็นใหญ่มี ๓ ระบอบ คือ อัตตาธิปไตย ถือเอาความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ อย่างที่เรียกในปัจจุบันว่าเผด็จการ ๑ โลกาธิปไตย ถือเอาเสียงคนหมู่มากเป็นใหญ่ อย่างที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ๑ ธรรมาธิปไตย ถือเอาเหตุผล (คือธรรม) เป็นใหญ่ ๑ ทรงยกย่องธรรมาธิปไตยว่าเป็นดีกว่าเผด็จการและประชาธิปไตย แล้วสรุปว่า พวกอัตตาธิปไตยหรือเผด็จการ ถ้าเอาธรรมะคือเหตุผลเข้าไปประกอบด้วย เผด็จการนั้นก็จะดี พวกประชาธิปไตยถ้าเอาธรรมะคือเหตุผลเข้าไปประกอบด้วย ประชาธิปไตยนั้นก็จะดี ทั้งเผด็จการและประชาธิปไตยไม่มีธรรมะคือเหตุผล อธิปไตยนั้นก็จะเสียหายไร้ความดี
แล้วข้าพเจ้าก็กล่าวถึงนักการเมืองว่า นักการเมืองส่วนมากไม่ค่อยมีธรรมะในใจ แสดงว่าเหินห่างศาสนา นักเผด็จการก็ไร้เหตุผล (ธรรมะ) นักประชาธิปไตยก็ไร้เหตุผล (ธรรมะ) เราจึงพบเห็นว่ากฎหมายที่นักการเมืองเขียนออกมามีข้อบกพร่องมากมายไม่เอื้อประโยชน์ต่อสงคมมนุษย์ ในการอภิปรายของพวกเรามีรายละเอียดมากกว่าที่นำมาเขียนให้การนี้ หลังจบการอภิปราย ดร.ไพฑูรย์กล่าวปราศรัย ตอนหนึ่งท่านว่า ”ผมอยากนิมนต์พระองค์นี้ไปเทศน์ในสภาฯ จังเลย ไอ้พวก “สส. ฝักถั่ว” จะได้หูตาสว่างขึ้นมาบ้าง”
เสร็จสิ้นงานแล้ว สส. ชวินทร์ สระคำ ขับรถไปส่งข้าพเจ้าที่พิษณุโลกขึ้นรถไฟขบวนเที่ยงคืนเข้ากรุงเทพเพื่ออธิษฐานจำพรรษา ขณะนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ นั้นมีสส. จังหวัดขอนแก่นที่ไปช่วยหาเสียงให้หมอทัศนัย และไปฟังการอภิปราย-ปราศรัย ที่วัดไทยชุมพล มาในขบวนรถเดียวกัน เข้ามาไหว้และขอนั่งคุยด้วย ท่านชื่อวิญญู จำนามสกุลไม่ได้ หลังจากวันนั้นเพียงสัปดาห์เดียวก็มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผลปรากฏว่าครูเหรียญชัยได้คะแนนเสียงแพ้หมอทัศนัยไปพันกว่าคะแนน ข่าวว่ามีการโกงคะแนนกัน เขาโกงอย่างไรข้าพเจ้าไม่รู้หรอก ทราบว่าทางพรรคแนวประชาธิปไตยของ ดร.ไพฑูรย์ ไม่ยอมรับผลการลงคะแนนจึงมีการฟ้องร้องกันอย่างยืดเยื้อ ยังไม่รู้ผลการฟ้องร้องก็มีการยุบสภาฯ เรียบร้อยโรงเรียนจอมพลถนอมไป/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ ธันวาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|