บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๓๑ - ควรจะถือได้ว่าสุโขทัยเป็นเมืองเดียวในประเทศไทย ที่ถูกเพลิงไหม้เผาผลาญอาคารร้านค้าแทบจะหมดทั้งเมืองในคราวเดียว ในกลางซากปรักหักพังเถ้าถ่านนั้นยังมีหลงเหลืออยู่เพียงศาลาการเปรียญและกุฏิรายรอบศาลา วิหารหลวงพ่อเป่าในวัดราชธานี และบ้านไม้หลังหนึ่งซึ่งเป็นบ้านของปลัดพจน์ เกิดผล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลธานี มีเสียงโจษจันกันว่าบ้านปลัดพจน์ไม่ถูกไฟไหม้เพราะปลัดพจน์สั่งให้รถดับเพลิงช่วยฉีดน้ำเลี้ยงบ้านตัวเองไว้ เท็จจริงอย่างไรข้าพเจ้าไม่รู้ ส่วนศาลาการเปรียญนั้นรอดจากถูกเพลิงเผาผลาญได้เพราะหลวงพ่อห้อมว่ายน้ำข้ามมาจากวัดคูหาสุวรรณ สั่งพระเณรพังฝากุฏิทุกหลังแล้วระดมตักน้ำในแม่ยมขึ้นมาช่วยกันสาดทั่วกุฏิศาลาให้เปียกชื้นจึงพ้นจากเพลิงผลาญได้ในที่สุด วิหารหลวงพ่อเป่ารอดพ้นจากการเป็นเหยื่อเพลิงกาฬได้เพราะรถดับเพลิงของสถานีตำรวจภูธรอำเภอกลไกรลาศ ที่ข้าพเจ้านำเขาให้ช่วยสูบน้ำในบ่อปลาฉีดเลี้ยงวิหารไว้ แต่มีเสียงเล่าลือกันถึงความศักดิ์ของหลวงพ่อเป่าว่า ท่านปัดเป่าเปลวเพลิงให้พ้นไปจากวิหาร ทำให้วิหารรอดพ้นจากเพลิงเผาไหม้ ข้าพเจ้าฟังแล้วก็ไม่แก้ข่าวด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่ช่วยให้ความขลังศักดิ์หลวงพ่อเป่าเพิ่มมากขึ้นไปอีกมาก บอกกับผู้กองกงไกรลาศให้คิดว่า “ปิดทองหลังพระ” ก็แล้วกันนะ
สำรวจตัวเองยามนั้นมีสบงนุ่งผืนหนึ่ง อังสะตัวหนึ่ง จีวรผืนหนึ่ง ผ้าอาบน้ำผืนหนึ่ง ที่ติดตัวอยู่ ยังดีตอนที่วิ่งไปเอาเณรเฒ่าออกมาจากกุฏินั้นได้คว้าย่ามประจำตัวติดมือมาด้วย ในย่ามมีเงินไม่มากนัก เณรเฒ่าคลี่ห่อผ้าที่หยิบจับสิ่งของใส่ห่อจีวรมา มีกาน้ำชากับที่เขี่ยบุหรี่ของข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วย สมบัติของข้าพเจ้าเหลื่อเพียงเท่านั้นจริง ๆ ที่เสียไปอย่างน่าเสียดายคือ เครื่องบันทึกเสียงและม้วนเทปรายการกลอน บทกลอนจากเพื่อน ๆ นักกลอน และกลอนประกวด “บารมีพ่อขุนรามคำแหง” ที่เข้ารอบสองกลายเป็นเหยื่อเพลิงไปสิ้น โครงการประกวดกลอนชิงถ้วยทองคำหนัก ๑๐ บาทต้องยกเลิกไปโดยปริยาย มีคำถามว่ า ทองคำหนักสิบบาทที่จอมพลถนอมให้มาทำถ้วยรางวัลประกวดกลอนนั้น เอาไปทำอะไรต่อไปหรือ ตอบได้ว่า ทองคำนั้นจอมพลถนอมอนุมัติให้ว่า จัดทำถ้วยเสร็จแล้วนำใบเสร็จไปยื่นขอรับเงินได้เลย เมื่อยังไม่ได้ทำถ้วยทองก็ไม่มีใบเสร็จไปยื่นรับเงิน มีแต่เรื่องยกเลิกประกวดกลอนไปแจ้งให้ท่านรับทราบเท่านั้นเอง
ทรัพย์สินของวัดสูญเสียไปที่สำคัญคือโรงอุโบสถโบราณที่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยสุโขทัยหลายองค์ วิหารเก่าที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อสำริดองค์ใหญ่ที่เรียกชื่อว่าหลวงพ่องาม หลวงพ่อถูกเพลิงเผาจนแตกเป็นเสี่ยง ๆ (ชิ้นส่วนพระองค์นี้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณให้มหาสงวน ศรีม่วง เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์นำไปฝากเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง) สรุปคร่าว ๆ ว่า โบสถ์ วิหาร พระพุทธรูป โรงเรียน กุฏิสงฆ์ ถูกเผาไหม้สูญหายไปโดยประเมินค้ามิได้
เมื่อเพลิงมอดหมดแล้ว ก็เร่งซ่อมแซมกุฏิรายรอบศาลาที่พังฝาออกตอนเพลิงกำลังลุกไหม้นั้นให้คืนสู่สภาพเดิม ข้าพเจ้าขึ้นไปอยู่กุฏิหลังเล็กข้างหอระฆังด้านหน้าศาลาการเปรียญ พระครูปลัดแถวปรับปรุงปีกวิหารหลวงพ่อเป่าด้านเหนือเป็นที่อยู่และสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ทางฝ่ายบ้านเมืองนั้น ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด (นายสมาส อมาตยกุล) ประชุมกรมการจังหวัดหาทางช่วยเหลือประชาชน เริ่มจากการแจกอาหาร ไปจนถึงสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวรายเรียงตั้งแต่โรงเรียนอุดมดรุณีถึงหน้าวัดไทยชุมพล ข้าพเจ้ารายงานขอความช่วยเหลือไปยังมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยในนามของพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิต สิ่งของที่ต้องการด่วนคือหนังสือเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา พร้อมเครื่องเขียนและเครื่องแบบนักเรียน ทดแทนที่ถูกไฟไหม้จนหมดสิ้นนั้น โดยขอเป็นสิ่งของ หากให้เงินไปก็หาซื้อไม่ได้
พระอาจารย์กิตติวุฑโฒ รับเรื่องแล้วเร่งประกาศรับบริจาคทางรายการวิทยุของท่านทุกรายการ หลังสงกรานต์ปีนั้นได้สิ่งของตามต้องการแล้ว ท่านนำขึ้นมาด้วยตนเองแจกให้ทุกครอบครัวที่ถูกไฟไหม้โดยไม่ตกหล่น ไม่ลืมที่จะนำผ้าไตรจีวรมาถวายพระวัดราชธานีทุกองค์ด้วย พระหน่วยพัฒนาการทางจิตที่วัดราชธานีเหลือข้าพเจ้าเพียงองค์เดียว เพราะพระมหาคำสิงห์ออกไปอยู่วัดวังทองแดง เพื่อทำป่าให้เป็นเมืองตามอุดมการณ์ของท่าน พระไพฑูรย์ลาสิกขาเมื่อออกพรรษาปี ๒๕๑๐ ไปทำงานอยู่กับมหาบุญเรืองที่ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอศรีสำโรง แล้วตั้งบริษัทแหลมทองทำธุรกิจเกี่ยวกับการฌาปนกิจศพ เขาทั้งสองจึงถือได้ว่าโชคดีที่ไม่ถูกไฟไหม้เหมือนข้าพเจ้า แต่ก็ยังดีที่ไม่ถูกทางมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยทอดทิ้ง ญาติโยมผู้อุปถัมภ์บำรุงมูลนิธิและพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิต ได้ร่วมกันบริจาคเงินให้เจ้าหน้าที่มูลนิธินำขึ้นมาช่วยหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๘ ของข้าพเจ้าเป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควร/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, เฒ่าธุลี, เป็น อยู่ คือ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), หยาดฟ้า, malada, ต้นฝ้าย, คิดถึงเสมอ, กรกันต์, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 ภาพร่องรอยจากไฟไหม้ตลาดสุโขทัย และบริเวณตรงวัดราชธานี จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2511 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๓๒ - ไฟไหม้เมืองสุโขทัยวัดราชธานีเสียหายมากที่สุด กล่าวคืออาคารพาณิชย์ที่ให้เอกชนเช่าทำการค้าสองข้างถนนนิกรเกษม กับถนนจรดวิถีถ่อง และฝั่งหนึ่งของถนนประพนธ์บำรุง อีกทั้งตลาดในวัดราชธานีทั้งหมด ไม่รวมกุฎิสงฆ์ โรงเรียน อุโบสถ วิหาร พระพุทธรูป ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่า ต้นเพลิงเกิดจากร้านค้าใดแน่ เป็นอุบัติเหตุหรือจงใจวางเพลิงเผาร้านตนเอง และหรือมีคนลักลอบเผากันแน่ ที่แน่ ๆ คือจะต้องสร้างอาคารพาณิชย์ขึ้นมาใหม่ ทางการจึงวางผังเมืองใหม่ในบริเวณที่ถูกเพลิงไหม้ มีการตัดถนนใหม่ ๒ สาย ผ่านในที่ของวัด และจัดทำสวนสาธารณะด้านสะพานพระร่วงริมถนนนิกรเกษม ที่ถนนสายตัดใหม่กับสวนสาธารณะ จะต้องออกกฎหมายเวนคืนและจ่ายเงินเป็นค่าผาติกรรมแก่วัดราชธานี เป็นเงินประมาณ ๓ ล้านบาทเศษ
เมื่อวางผังเมืองเสร็จแล้วจึงมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์สองฟากฝั่งถนน ขั้นตอนนี้แหละยุ่งยากมาก ทางวัดมอบให้ทางจังหวัดเป็นผู้ออกแบบอาคารพาณิชย์ในที่ดินของวัด โยธาธิการจังหวัดออกแบบเป็นอาคาร ๒ ชั้น สรรพากรจังหวัดเป็นผู้กำหนดราคาค่าเช่า เมื่อประกาศแบบและราคาออกมาก็มีเสียงร้องคัดค้านเฉพาะเรื่องราคาว่าแพงเกินไป มีการชุมนุมกันที่ศาลาการเปรียญของวัด ซึ่งยามนั้นหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณหายจากการอาพาธกลับมาอยู่วัดแล้ว นั่งฟังเสียงชาวบ้านชาวเมืองด้วยอาการสงบ ทนายความชื่อดังคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนของผู้ร้องกล่าวย้ำ ๆ ว่า
“หลวงพ่ออย่าให้ทางผู้ว่าฯ ดำเนินการเลยนะ ถ้าเขาดำเนินการตามประกาศนี้ ชาวบ้านร้านค้าเหล่านี้ไม่มีเงินเช่าซื้อร้านค้าได้หรอก พวกเขาทำบุญวัดนี้ควรให้เขาอยู่ในที่วัดต่อไป ไม่อย่างนั้นเขาก็จะไปทำบุญที่วัดอื่น”
พอได้ยินประโยคสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดความโมโหจนลืมตัวจึงกล่าวว่า
“คนจะทำบุญที่วัดนี้ต้องจ้างให้อยู่ในที่ด้วยหรือ”
หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณยกมือขึ้นโบกไปมาแสดงอาการปฏิเสธและกว่าว่า
“ข้ามอบให้ทางราชการเขาดำเนินการแล้ว ถูกแพงอย่างไรพวกแกก็ไปเจรจากับเขาเถิด”
ทนายความกับอดีตนายกเทศมนตรี (ขอสวนนาม) ก็พาชาวบ้านชาวเมืองเฮกันไปชุมนุมที่หอประชุมจังหวัด
วันรุ่งขึ้นท่านผู้ว่าราชการจังหวัด (สมาส อมาตยกุล) มาพบข้าพเจ้าที่วัดกล่าวว่า
“งานสร้างอาคารพาณิชย์ผมขอคืนให้วัดดำเนินการเอง ทางจังหวัดจะทำเฉพาะถนนกับสวนสาธารณะอันเป็นส่วนของทางราชการเท่านั้นนะครับ”
ข้าพเจ้าถามถึงเหตุผล ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อวานนี้เขาไปชุมนุมคัดค้านเรื่อราคาค่าเช่า (หมายถึงค่าสิทธิ์ในการเช่า) ว่าแพงเกินไป ทางจังหวัดบอกว่าราคานี้เป็นราคาประเมินของสรรพากร ถ้าเห็นว่าแพงก็ต่อรองกันได้เขาก็ไม่ยอมต่อรอง กลับกล่าวหาว่าผู้ว่า ”จะโกงจะกิน” อย่างเดียว จึงบอกเลิกไปแล้ว เมื่อทางจังหวัดบอกเลิกทางวัดก็ขอแบบที่โยธาออกไว้แล้วนั้นเพื่อหาคนมาก่อสร้างตามแบบต่อไป
มีผู้รับเหมาหลายรายวิ่งเต้นติดต่อขอเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ แต่ยังตกลงกันไม่ได้ ขณะนั้น พระครูปลัดแถวปรึกษาว่าจะเอาเงินที่เก็บจากค่าเช่าร้านค้าสองปีที่แล้วมาสร้างกุฏิใหม่ในบริเวณวิหารหลวงพ่องามดีไหม ข้าพเจ้าเห็นด้วยจึงกราบเรียนขออนุญาตจากหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ ท่านไม่ขัดข้อง จึงดำเนินการปรับพื้นที่ขุดลอกพื้นคอนกรีต รื้อฐานพระแล้วพบมาว่ามีพระพุทธรูปเนื้อสำริดฝังไว้ตรงใต้ฐานพระเป็นอันมาก บางองค์ชำรุดบางองค์สมบูรณ์ดี ลำเลียงไปเก็บไว้ในห้องพระครูปลัดแถวแล้วทำบัญชีคุมไว้ ปรับพื้นที่เสร็จแล้วก็ว่าจ้างช่างทำการสร้างกุฏิเป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้นได้ ๓ หลัง ให้พระที่ยังไม่มีที่อยู่ซึ่งอาศัยซึ่งนอนรวมกันอยู่บนศาลา ลงมาอยู่กุฏิที่สร้างใหม่จนหมดสิ้น ส่วนข้าพเจ้าขอพักอยู่ที่เดิมเพราะชอบกุฏิไม้มากกว่าคอนกรีต
มีผู้รับเหมาก่อสร้างรายหนึ่งในเมืองพิษณุโลก ชื่อนายนาค เข้ามาติดตามรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ ข้าพเจ้าพูดกะพระครูปลัดแถวว่า จับตาดูให้ดี คนนี้แหละคือผู้ที่จะได้สิทธิ์ในการสร้างอาคารพาณิชย์ของวัดเรา และก็เป็นจริงดังที่ข้าพเจ้าพูด ไม่นานนักเขาได้รับสิทธิ์สร้างอาคารพาณิชย์ของวัดทั้งหมด หลังจากเจรจาตกลงกับชาวตลาดที่เคยเช่าอาศัยอยู่ในที่ดินของวัดมาก่อนเกิดไฟไหม้ เงื่อนไขที่ตกลงทราบคร่าว ๆ ว่า สร้างอาคารพาณิชย์ตามแบบที่โยธาเขียนไว้ โดยนายนาคเป็นผู้ลงทุนเอง เมื่อสร้างเสร็จอาคารทั้งหมดตกเป็นของวัดตามกฎหมาย ผู้เข้าอยู่ในอาคารต้องจ่ายเงินให้นายนาคในราคาตามที่ตกลงกัน ค่าเช่าจะจ่ายเป็นรายเดือนรายปีอย่างไรเท่าไรแล้วแต่จะตกลงกับทางวัดผู้เป็นเจ้าของอาคาร ก็เป็นอันว่าเรื่องนี้ “หวานคอนายนาค” ไป
ข้าพเจ้าค่อย ๆ ปล่อยวางมือ จากเรื่องราวของวัดราชธานี เพราะมีความเหนื่อยหน่ายเต็มที เวลานั้น จ่าตำรวจเกษม สุทธาจารเกษม (ภายหลังเปลี่ยนเป็น สร้อยเพชรเกษม) คนที่ร่วมกับข้าพเจ้าจัดการบวชให้พระคารพตามที่ให้การมาแล้วนั้น ไม่ทราบว่าเกษียณอายุราชการแล้วหรือยัง แต่ว่าเวลานั้นจ่าเข้ามาอยู่ในเมืองสุโขทัยและไป ๆ มา ๆ ระหว่างสุโขทัย-หาดเสี้ยวบ้านของจ่า วันหนึ่งจ่าถือถุงใหญ่ใส่เม็ดพระศกพระพุทธรูปเนื้อปูนขาวมาหาที่กุฏิ ชักชวนข้าพเจ้าทำพระพิมพ์ ด้วยรู้ว่าหลังไฟไหม้นั้นข้าพเจ้ามักชอบเอาพระเครื่องมากดทำพิมพ์แล้วเอาพระเนื้อดินที่หัก ๆ มาตำเป็นผงกดพิมพ์แก้เหงา จ่าบอกว่าเม็ดพระศกขนาดใหญ่นี้เก็บมาจากวัดสังฆราชาวาส เมืองเก่า เรามาช่วยกันทุบตำเป็นผงทำพระกันเถอะ จึงร่วมมือกับจ่า ทุบเม็ดพระศกปูนขาวแตกแล้ว ปรากฏในกลางเม็ดพระศกนั้นกลวง มีก้อนอะไรสีขาวผ่องขนาดไข่จิ้งจกอยู่ ๑ เม็ด ก็ไม่ได้สงสัยอะไร เอาบดรวมกันเป็นผงทำพระไปหมด
แบบพิมพ์ก็ขอยืมพระองค์จริงเป็นพระถ้ำหีบและพระอื่น ๆ ที่เห็นงามมาดกพิมพ์กับปูนซิเมนขาวบ้าง ปูนพาสเตอร์บ้าง ภายหลังพระครูประคอง (สุธรรมโกวิท) วัดกำแพงงามมาเห็นเข้า เล่าให้ฟังถึงเรื่องเม็ดขาว ๆ ในเม็ดพระศก ท่านบอกว่าเป็นพระสารีริกธาตุนะ ทุบเม็ดต่อ ๆ มาพบเม็ดขาว ๆ นั้นทีไรจ่าเกษมเก็บใส่กล่องกลับบ้านหมด เมื่อเม็ดพระศกหมดจ่าเกษมก็ไปเที่ยวเก็บมือ แขน ขา อก พระปูนขาวที่ตกหล่นอยู่ทั่ว ๆ ไปตามวัดเก่า ๆ มาช่วยกันตำเป็นผงพิมพ์พระได้มากมาย ยามมีหัวหน้าคณะลิเกคนหนึ่งอยู่ทาง อ.พรานกระต่าย เอาแบบพระกำแพงศอกเป็นหินเขียวมีรอยร้าวมาจำนำจ่าไว้ จ่าจึงเอามาให้ข้าพเจ้าใช้พิมพ์เป็นพระกำแพงศกสวยงามได้ ๑๐ องค์ จ่าเอาไปบ้าน ๘ องค์ เหลือให้ข้าพเจ้า ๒ องค์ วันเข้าพรรษาปีนั้นข้าพเจ้ารวบรวมพระพิมพ์ทั้งหมดใส่บาตรเต็ม ๕ บาตร ไปมอบหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ ฝากให้ท่านปลุกเสกตลอด ๓ เดือน บอกว่าวันออกพรรษาจะมารับคืน
เสียดายจัง วันออกพรรษาไปรับพระคืนที่วิหารหลวงพ่อเป่า หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบอกว่า “แจกเขาไปหมดแล้ว” อ้าว....หลวงพ่อแจกเขาไปได้ไง ท่านหัวเราะหึ ๆ บอกว่า “ก็ใครมามันขอแต่พระ ของข้าแจกหมดแล้ว ก็ต้องเอาของแกแจกละซี่” โฮ่....หลวงพ่อนะหลวงพ่อ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เฒ่าธุลี, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, malada, ต้นฝ้าย, คิดถึงเสมอ, กรกันต์, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๓๓ -
ทางราชการได้เวนคืนที่ดินวัดราชธานีไปทำถนนและสวนสาธารณะดังกล่าวแล้ว การเวนคืนมิใช่จะเอาไปได้ตามใจชอบ เพราะที่ดินของวัดได้ชื่อว่าเป็นของสงฆ์ มิใช่ของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือของกรรมการวัดคนใดคนหนึ่ง มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า “ของสงฆ์มิใช่ของเสื่อม” หมายความว่า ของสงฆ์หรือของวัดเป็นของที่ใคร ๆ จะเอาเป็นของตนมิได้ พระภิกษุในวัดนั้นทุกองค์มีสิทธิ์เป็นเจ้าของคุ้มครองดูแลมิให้ใคร ๆ ถือเอาเป็นของตนเอง พระภิกษุในวัดนั้นย้ายออกไปอยู่ที่อื่นได้ มรณภาพได้ แต่ของสงฆ์วัดนั้นจะคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เว้นแต่ได้มีการกระทำผาติกรรม
คำว่า “ผาติกรรม” แปลว่าการทำให้เจริญ ใช้ในวินัยว่า การจำหน่ายครุภัณฑ์เพื่อประโยชน์สงฆ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาของเลวแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์ เช่น เอาที่วัดไปทำอย่างอื่น แล้วสร้างวัดถวายใหม่เป็นการชดใช้ หรือเวนคืนที่วัดเพื่อสร้างทางสาธารณะแล้วจ่ายเงินทดแทนเป็นค่าผาติกรรม การผาติกรรมที่ดินวัด คือการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินวัด ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ ให้แก่ส่วนราชกา ร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ที่ดินวัดในการก่อสร้างต่าง ๆ เช่น สะพานข้ามแม่น้ำ ถนนหลวง คลองชลประทาน เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ โดยการผาติกรรมดังกล่าวนี้ต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาโอนกรรมสิทธิ์ที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์ให้หน่วยราชการนั้น ๆ หรือมีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งค่าทดแทนที่ดินที่ถูกส่วนราชการใช้นั้นหากเป็นเงินก็เรียกว่า “เงินค่าผาติกรรม”
เงินค่าผาติกรรมที่ดินของวัดราชธานีเป็นเหตุให้มีการฟ้องร้องกันอีรุงตุงนัง กล่าวคือ นายนาคผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ของวัดราชธานี ทราบว่าทางวัดจะได้เงินเป็นค่าเวนคืนที่ดิน ซึ่งทางวัดได้ทำผาติกรรมให้ทาง ทางการให้เงินด่าเชยสามล้านบาทเศษ เขาจึงขอยืมเงินสามล้านบาทนั้นมาเป็นทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์ให้วัด ทางวัดเห็นว่าเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง ด้วยนายนาคใช้วิธีที่เรียกว่า “เนื้อมันยำมัน” หรือ “เนื้อเต่ายำเต่า” เอาเงินวัดสร้างอาคารพาณิชย์ให้วัดแล้วเก็บค่า ”เซ้งห้อง” เป็น “แป๊ะเจี๊ยะ” ไปอย่างสบายมือ เขาเป็นคนเก่งในการติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่ เข้าหาเจ้าคณะภาค ๕ ที่ปกครองการคณะสงฆ์ในภาคเหนือตอนล่าง ให้ช่วยจัดการรับเงินค่าผาติกรรมแล้วให้เขายืมมาลงทุนสร้างอาคารดังกล่าว
ปีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย โดยนายสมาส อมาตยกุล พ้นจากตำแหน่งไปตามวาระ นายรังสรรค์ รังสิกุล มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยแทน ผู้ว่าฯ คนใหม่ทันเกมของผู้รับเหมาก่อสร้าง วันที่ทางกระทรวงการคลังโอนเงินค่าผาติกรรมมาให้คลังจังหวัดสุโขทัยนั้น นายนาคไปนิมนต์เจ้าคณะภาค ๕ จากวัดยานนาวา กรุงเทพฯ นั่งเครื่องมาพิษณุโลก พามารับเงินค่าผาติกรรมแทนวัดราชธานี แต่เมื่อถึงศาลากลางเขาก็พบความผิดหวัง เพราะท่านผู้ว่าฯ รังสรรค์ รับเงินแทนวัดและโอนเงินเข้าบัญชีวัดราชธานีไปเรียบร้อยแล้ว
เงินค่าผาติกรรมนี้มีกฎระเบียบอยู่ว่า ให้นำเงินฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มั่นคง ห้ามมิให้นำเงินค่าผาติกรรมไปใช้จ่ายในกิจการใด ๆ อนุญาตให้ใช้ได้แต่เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น เงินค่าผาติกรรมก้อนนั้นถือว่าเป็นของสงฆ์วัดราชธานี ที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งนำไปใช้จ่ายได้ นายนาคเป็นคนหัวหมอ เขาพยายามตื้อจะเอาให้ได้
โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดราชธานีปิดตายหลังจากถูกไฟไหม้แล้ว ข้าพเจ้าไปเป็นครูสอนนักธรรมที่วัดไชยชุมพลอย่างเต็มตัว ในปีนั้นพระปลัดฐานานุกรมเจ้าคณะอำเภอเมืองว่างลงด้วยผู้ดำรงตำแหน่งองค์ก่อนลาสิกขา พระครูสุภัทรธีรคุณ เจ้าคณะอำเภอจึงขอให้ข้าพเจ้ารับการแต่งตั้งเป็นพระปลัดแทนองค์ที่ลาเพศไป ใจจริงข้าพเจ้าไม่อยากมียศศักดิ์อะไร ถ้าอยากมีก็เป็นพระครูฐานุกรมเข้าคณะจังหวัดสุโขทัยไปแล้ว จึงบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับยศพระปลัดของเจ้าคณะอำเภอ แต่พรรคพวกในวงการนักเทศน์ด้วยกัน เช่นพระครูสวง (อุทัยสุขวัฒน์) พระครูประคอง (สุธรรมโกวิท) พระครูเกียว (วิมลกิจโกศล) เป็นต้น ท่านให้เหตุผลว่าพวกเรามีสมณะศักดิ์กันทุกองค์ ท่านก็ต้องมีสมณะศักดิ์บ้างจึงควร ในที่สุดก็ยอมรับสมณะศักดิ์เป็นที่ พระปลัดฐานานุกรมเจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย
ปลายปี ๒๕๑๑ นั้น พระเพื่อน ๆ ในกรุงเทพฯ นำโดยพระมหาอุดมวัดใหม่อมตรสบางขุนพรหม จัดผ้าป่าขึ้นกองหนึ่งนำมาทอดถวายเจาะจงให้ข้าพเจ้านำเงินเป็นทุนดำเนินงานตามโครงการหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๘ สิ่งที่ถูกใจข้าพเจ้ามากมิใช่เงินก้อนหนึ่ง หากแต่เป็นเครื่องพิมพ์ดีดแบบกระเป๋าหิ้ว กับเครื่องบันทึกเสียง (เทป) อย่างละเครื่อง รุ่งขึ้นปี ๒๕๑๒ ข้าพเจ้าย้ายจากวัดราชธานีไปอยู่ในสำนักวัดไทยชุมพล ท่านพระสุภัทรธีรคุณยกกุฏิหลังหนึ่งให้เป็นที่ตั้งสำนักงานหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๘ และมอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ดำเนินงานปรับปรุงโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่ทางยุวพุทธิกสมาคมสุโขทัยทิ้งไปแล้ว ข้าพเจ้าไปขอระเบียบแบบแผนและหลักสูตรโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์วัดมหาธาตุ มาใช้กับโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดไทยชุมพล และขอเป็นสาขาของมหาจุฬาฯ ด้วย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), malada, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, กรกันต์, มนชิดา พานิช, หยาดฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๓๔ - โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของยุวพุทธิกสมาคมสุโขทัย ดำเนินงานแบบ “สุกเอาเผากิน” มาจนถึงปี ๒๕๑๑ หลังไฟไหม้เมืองสุโขทัยก็ขาดผู้เป็นหลักในการดำเนินงาน ด้วยนายสำราญ พร้อมมูล ตัวตั้งตัวตีของสมาคมนี้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่จังหวัดอื่นแล้วไม่มีใครรับงานต่อ พระครูสุภัทรธีรคุณ เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัยผู้เป็นกำลังหลักของฝ่ายสงฆ์ ไม่อยากให้โรงเรียนนี้ต้องล้มเลิกไป ปรึกษากับข้าพเจ้าว่าทางพระเราควรรับช่วงมาทำต่อในนามของวัดเลยจะดีไหม ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย จึงเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ยุวพุทธิกสมาคม เป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดไทยชุมพล ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารงานโดยมีพระครูสุภัทรธีรคุณเป็นประธาน ข้าพเจ้าเป็นเลขานุการคณะกรรมการ โรงเรียนนี้รับเด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าเรียนกันทุกวันอาทิตย์ เพราะเหตุที่ร่วมจัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์นี้เอง ทำให้ข้าพเจ้าต้องย้ายจากวัดราชธานีเข้าอยู่ในสำนักวัดไทยชุมพล เพื่อทำงานได้อย่างเต็มตัว
ข้าพเจ้าขอหลักสูตรและแบบเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของมหาจุฬาฯ จากวัดมหาธาตุมาทั้งหมด การแต่งกายของนักเรียนกำหนดให้นักเรียนชายใส่เสื้อสีขาว นุ่งกางเกงขาสั้นสีขาว นักเรียนหญิงใส่เสื้อสีขาวนุ่งกระโปรงสีชมพู จะติดโบว์หูกระต่ายสีชมพูก็ได้ไม่ติดก็ได้ วิชาที่เรียนจะเริ่มที่ศาสนพิธี การแสดงความเคารพด้วยการไหว้การกราบ ที่ถูกต้องและสวยงาม การจุดเทียนธูป การกล่าวคำนมัสการ การกล่าวคำอาราธนาศีล อาราธนาธรรมอาราธนาพระปริตร และการใช้กิริยามรรยาท เป็นต้น วิชาพระพุทธศาสนาภาคธรรมะจะเน้นในส่วนแห่งคิหิปฏิบัติ คือข้อประพฤติปฏิบัติของขาวบ้าน, ความรู้เรื่องพระพุทธประวัติและพระสาวก และประวัติศาสนาพุทธศาสนา เด็ก ๆ ที่สมัครเข้าเรียนด้วยตนเองและที่ปกครองนำมาสมัครเข้าเรียน ส่วนมาเป็นเด็กระดับชั้นประถมฯปลายและมัธยมต้น “เป็นไม้อ่อน” ที่เหมาะแก่การอบรมสั่งสอน แม้พวกเขาจะซนไปบ้างก็ไม่เป็นไร ครูอาจารย์ที่ทำการสอนส่วนใหญ่เป็นครูสอนปริยัติธรรมวัดไทยชุมพล มีจากต่างวัดบ้างเช่นพระครูสวง (อุทัยสุขวัฒน์) วัดบางคลอง เป็นต้น อาจารย์ทุกองค์จะต้องทำบันทึกการสอนตามระเบียบ
สมัยนั้นคณะสงฆ์ในจังหวัดต่าง ๆ เริ่มตื่นตัวในการเปิดสอนนักเรียนพุทธศาสนาวุนอาทิตย์กันไม่น้อย มีการจัดทำเอกสารเผยแผ่ในรูปแบบวารสารรายเดือน รายสามเดือน วารสารนั้นส่วนมากไม่ได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม เพราะค่าจัดพิมพ์มีราคาแพงเกินกำลังเงินของวัด จึงจัดทำเป็นรูปเล่มแบบฉบับโรเนียวอย่างที่เรียกว่า “วรรณกรรมพิมพ์ดีด” ของวัดไทยชุมพลก็จัดทำแบบฉบับโรเนียว โดยข้าพเจ้าเป็นผู้พิมพ์เองทั้งหมดด้วยเครื่องพิมพ์ดีดประจำตัว ทางวัดมีกระดาษไข เครื่องโรเนียวสำหรับใช้งานของเจ้าคณะอำเภออยู่แล้ว คนที่เป็นกำลังในการผลิตก็คือลูกศิษย์ของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นเด็กระดับชั้นมัธยมหลายคน เด็กคนหนึ่งชื่อทุเรียน สุขสำราญ คนนี้เป็นมือถ่ายโรเนียว คนอื่น ๆ ช่วยเรียงหน้ากระดาษและเย็บเล่ม เสร็จแล้วแจกอ่านกันเองบ้าง ให้ผู้ปกครองบ้าง จัดส่งไปยังโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์จังหวัดต่าง ๆ บ้าง หลายโรงเรียนที่ทำวารสารเขาก็จัดส่งมาให้เราเช่นกัน
งานที่ยังติดตัวจนยากจะแกะทิ้งคือ การจัดรายการกลอนทาง ป.ช.ส. ตาก ครูเหรียญชัยไม่มีเวลาช่วยข้าพเจ้าเลย จะเลิกจัดเสียก็ไม่ได้ ทางสถานีขอร้องให้จัดต่อด้วยเป็นรายการที่คนฟังมีมาก นักกลอนก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต้องบันทึกเสียงลงเทปที่สำนักงานหน่วยพัฒนาการทางจิตแล้วส่งไปทางไปรษณีย์ ทางสถานีเขาก็จัดส่งม้วนเทปมาให้ไม่ขาด ดีหน่อยคือเด็กที่เป็นศิษย์คนเก่งของข้าพเจ้าคือทุเรียน สุขสำราญ (ซึ่งกำลังโตเป็นสาวรุ่น) มีแววในการใช้ภาษาไทยได้ดี จึงให้เธอช่วยอ่านกลอนลงเทป เบาแรงข้าพเจ้าไปมาก
งานเทศน์มีมากก็จริง แต่ไม่ทำให้งานด้านโรงเรียนพุทธศาสนาเสียหาย คนส่วนมากมองว่าข้าพเจ้าต้องมีเงินมากเพราะเทศน์มาก แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เงินกัณฑ์ไม่มากมายอะไร ข้าพเจ้าไม่คิดจะสะสมเงินทองด้วยคิดว่าเงินที่เขาถวายนั้นส่วนมาก เขากล่าวคำถวายว่า “ถวายสงฆ์” ไม่ได้กล่าวว่าถวายข้าพเจ้า ดังนั้นเมื่อรับมาแล้วก็สละไปโดยการนำมาใช้จ่ายในกิจการโรงเรียนวันอาทิตย์บ้าง ให้สามเณรลูกศิษย์ที่เรียนนักธรรมบ้าง บางรายเขาถวายผ้าไตร (ในการเทศน์แจง) พอกลับมาถึงวัดก็เปลื้องออกให้เณรที่ขาดแคลนไป เด็กนักเรียนบางคนก็อ้อน “ขอตังค์กินหนมบ้างอาจารย์” ก็ให้เธอไปซื้อขนมแจกกัน เด็ก ๆ ส่วนมากจึงรักพระอาจารย์องค์นี้
โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดไทยชุมพลมีกิจกรรมบ้างเหมือน อย่างเช่นวันปิยมหาราช สมัยนั้นทางการจัดเป็นงานใหญ่ในการถวายความเคารพ โรงเรียนต่าง ๆ จัดทำพวงมาลาแห่ไปถวายบังคมพระบรมรูปที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด การนี้โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดไทยชุมพลก็จัดทำพวงมาลาโดยฝีมือเด็ก ๆ ทำกันทั้งคืน รุ่งเข้าก็เอาขึ้นรถแห่ไปเข้าขบวนกับเขา นักเรียนของเราแต่งเครื่องแบบขาวชมพูอันเป็นสีประจำพระองค์สมเด็จพระปิยมหราช แปลกกว่าโรงเรียนอื่น ๆ และในวันสำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนาเช่นวันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา นักเรียนก็ร่วมกิจกรรมเวียนเทียนกับพุทธศาสนิกชน
เฉพาะวันมาฆบูชานั้น วัดไทยชุมพลจัดเป็นงานใหญ่ประจำปีของวัด กล่าวคือ วัดในเมืองสุโขทัยมี ๓ วัด วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาก็มี ๓ วัน จึงตกลงกันไว้ว่า งานมาฆบูชาให้วัดไทยชุมพลจัดงานเวียนเทียน วันวิสาขบูชา วัดราชธานีจัดงานเวียน วันอาสาฬหบูชา วัดคูหาสุวรรณจัดงานเวียนเทียน ถือกันเป็นประเพณีสืบมายาวนานแล้ว แต่วัดราชธานีกับวัดคูหาสุวรรณมิได้จัดงานใหญ่เหมือนวัดไทยชุมพล วัดไทยชุมพลจัดเป็นงานไหว้พระพุทธบาทจำลองในวิหาร พระพุทธรูปชื่อหลวงพ่อโตในอุโบสถ และหลวงพ่องามในวิหาร สำหรับรอยพระพุทธบาทในวิหารนั้น มีความเป็นมาสับสนอยู่ บ้างก็ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่ยอดเขาสุมณกูฏ (เขาพระบาทใหญ่) ถูกอัญเชิญลงมาไว้ที่วัดไทยชุมพล บ้างก็ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พรญาลิไททรงสร้างไว้ที่เขาน้อยในแดนอรัญญิก แล้วถูกอัญเชิญมาไว้ที่วัดไทยชุมพล แต่หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณยืนยันว่ารอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสมณกูฏนั้น ท่านอัญเชิญลงมาไว้ในเกาะวัดตระพังทองด้วยตนเอง ไม่ใช่รอยที่วัดไทยชมพล อย่างไรก็ตามรอยพระพุทธบาทในวิหารวัดไทยชุมพลก็มีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า ๖๐๐ ปีเศษแล้ว
นักเรียนพระพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ของเราจัดแสดงกิจกรรมบนเวที การแสดงในงานประจำปีของวัดไทยชุมพลได้เป็นที่ชื่นชมของผู้ปกครองและผู้ชมได้ไม่น้อย การร้องรำทำเพลงที่เด็ก ๆ แสดงกันนั้น ข้าพเจ้ามิได้สอนดอก หากแต่มีครูอาจารย์ฆราวาสเข้าช่วยฝึกสอนให้เป็นพิเศษ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, malada, ต้นฝ้าย, ลิตเติลเกิร์ล, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, กรกันต์, มนชิดา พานิช, หยาดฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๓๕ - งานบริหารการปกครองคณะสงฆ์เป็นงานยาก ข้าพเจ้ามองเห็นความยากจึงไม่ยอมรับตำแหน่งทางการปกครอง เห็นว่าพระเณรที่อยู่ในปกครองมาจาก “คนร้อยพ่อพันแม่” นิสัยใจคอต่างกัน ชาติตระกูลต่างกัน ระดับการศึกษาอบรมต่างกัน จึงยากในการปกครองดูแล แม้จะมีพระวินัยให้ยึดถืออย่างเดียวกัน ก็ยากที่จะให้เขาประพฤติปฏิบัติตนตามพระวินัยทั้งหมดได้ และแม้จะมีกฎระเบียบคณะสงฆ์ออกมาใช้บังคับให้เอื้อต่อพระวินัย ก็ยังยากที่จะใช้บังคับได้ เวลานั้นผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเมืองเก่าว่างลง หาพระภิกษุที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งไม่ได้ หลวงพ่อห้อม และหลวงพี่มหาดำรง ซึ่งเป็นพระผู้บังคับบัญชาช่วยกันเกลี้ยกล่อมให้ข้าพเจ้ารับตำแหน่งนี้ จึงรับด้วยความจำใจ แต่มีข้อแม้ว่า ขอรับเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลไปพลางก่อน จนกว่าจะหาตัวเจ้าคณะตำบลองค์ใหม่ได้แล้ว จะขอพ้นจากตำแหน่งนี้
การมียศมีตำแหน่ง หลายคนชอบที่จะมี แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบมีด้วยเห็นว่า “ยศช้าง ขุนนางพระ” กล่าวคือ การอวยยศให้ช้างเหมือนอวยยศขุนนางให้พระ หาประโยชน์อันใดมิได้ พระบางองค์มียศมีตำแหน่งไว้อวดคนเล่นโก้ ๆ การงานในตำแหน่งไม่ทำ (ทำไม่เป็น) ข้าพเจ้าเป็นคนเคร่งครัดในระเบียบข้อบังคับของคณะสงฆ์ จึงเข้มงวดกวดขันในพระสังฆาธิการระดับผู้ช่วยเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ในปกครองดูแลของข้าพเจ้า ให้ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์และระเบียบแบแผนต่าง ๆ
ในเวลาที่ข้าพเจ้ารักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเมืองเก่านั้น มีคดีสำคัญเกิดขึ้นแก่พระเจ้าอาวาสในปกครองคดีหนึ่ง คือ มีคนร้ายลอบใช้อาวุธปืนยิงพระมหาธวัช เจ้าอาวาสวัดตระพังทอง กระสุนปืนถูกขาขวาบาดเจ็บค่อนข้างสาหัส หัวกระสุนฝังใน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสุโขทัย แพทย์ทำการผ่าตัดเอาหัวกระสุนปืนออกแล้วให้นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ๑๕ วัน เจ้าหน้าที่จับกุมตัวมือปืนได้ เขารับสารภาพว่ายิงเพื่อสั่งสอน ด้วยไม่พอใจที่พระมหาธวัชยุ่งเกี่ยวกับภรรยาเขาในทำนองชู้สาว ส่วนชาวบ้านเมืองเก่าก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าสมภารวัดเป็นชู้กับเมียชาวบ้านจริง บ้างก็ว่าเจ้ามือปืนคนนั้นเป็นคนรักและหึงหวงเมีย เมื่อเห็นเมียเข้าไปสนทนาปราศรัยกับสมภารบ่อย ๆ ก็เกิดความหึงหวงจนถึงกับใช้ปืนยิงดังกล่าว ข้าพเจ้าไปสดับฟังเสียงจากปากชาวบ้าน และไปถามสีกาที่เป็นต้นเหตุ ว่าพระมหาธวัชเคยมีเพศสัมพันธ์กับเธอไหม เธอปฏิเสธว่าไม่เคยเลย จึงรอให้พระมหาธวัชออกจากโรงพยาบาลแล้วจึงจะทำการสอบสวนดำเนินคดีทางวินัยต่อไป
หลักการสอบสวนทางวินัยข้าพเจ้าใช้ “อนิยต” คือประเภทของโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภทกึ่งกลางระหว่างครุกาบัติหรือลหุกาบัติที่เรียกว่า อาบัติอนิยต ซึ่งอาบัตินี้ขึ้นอยู่กับว่าพระวินัยธรจะวินิจฉัยว่าควรจะให้ปรับอาบัติแบบไหนตามแต่จะได้โทษหนักหรือเบาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีทั้งหมด ๒ ประการดังนี้
๑. ภิกษุนั่งในที่ลับตากับสตรีสองต่อสอง มีบุคคลที่ควรเชื่อได้กล่าวต้องอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น หรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น
๒. ภิกษุนั่งในที่ลับหูกับสตรีสองต่อสอง มีบุคคลที่ควรเชื่อได้กล่าวว่าต้องอาบัติ สังฆาทิเสส หรือ ปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น หรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น
คำว่า อนิยต แปลว่า อาบัติที่ไม่แน่นอน ว่าจะให้ปรับเป็นอาบัติปาราชิก, สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ กล่าวคือเมื่อมีผู้พบเห็นหรือได้ยินว่าพระภิกษุอยู่กับสตรีด้วยกันสองต่อสองโดยที่ไม่มีบุคคลที่สาม (ชายผู้ที่รู้เดียงสา) อยู่ด้วย จึงได้ไปรายงานต่อพระวินัยธรให้ได้รับทราบ จากนั้นพระวินัยก็จะทำการไต่สวนกับพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหา หากพระภิกษุนั้นยอมรับสารภาพว่าได้กระทำใด ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งกับสตรีที่อยู่ด้วยกันตามที่โจทก์คฤหัสถ์ได้กล่าวหา ทางพระวินัยธรก็จะทำการวินิจฉัยว่าควรจะให้ปรับอาบัติแบบไหน ตามแต่หนักหรือเบาตามทางของพระวินัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าพระภิกษุยอมรับว่าเสพเมถุนกับสตรี จึงให้ปรับอาบัติเป็นปาราชิก ถ้าพระภิกษุยอมรับว่าแตะต้องหรือพูดจาเกี้ยวพาราสีกับสตรี จึงให้ปรับอาบัติเป็นสังฆาทิเสส ถ้าพระภิกษุไม่ได้กระทำใด ๆ กับสตรี แต่อยู่ด้วยกันสองต่อสอง จึ งให้ปรับอาบัติเป็นปาจิตตีย์
ข้าพเจ้ามิได้ทำการสอบสวนมหาธวัชอย่างเป็นทางการ แต่สอบสวนอย่างเพื่อนพี่น้อง กล่าวคือ ไปปิดห้องคุยอย่างกันเองในฐานะที่เคยร่วมเทศน์ด้วยกันมาหลายธรรมาสน์แล้ว ขอให้เปิดอกพูดกันตรง ๆ ท่านเล่าว่า สีกาคนนั้นบ้านอยู่ในเขตวัด มีฐานะไม่ค่อยดีนัก นางมารับใช้ทำความสะอาดปัดกวาดกุฏิเป็นประจำ ท่านก็ให้เงินใช้เลี้ยงลูกและครอบครัวบ้าง สารภาพว่าเคยจับเนื้อต้องตัวถึงขั้นกอดจูบเธอบ้าง แต่ไม่เคยเสพเมถุนเธอเลย ข้อนี้สาบานได้ ในที่สุดข้าพเจ้ากล่าวกับท่านว่า
“ผมเชื่อว่าหลวงพี่ไม่ได้เสพเมถุน เพราะสีกาก็ยืนยันว่าไม่เคยมีความสัมพันธ์ถึงขั้นนั้น แต่อย่างไรก็ดี หลวงพี่อาบัติหนักตามปากชาวบ้าน เป็นโลกวัชชะ ที่แก้ไขไม่ได้แล้ว ทางพระวินัยนั้นขอปรับท่านเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ให้ไปอยู่กรรมตามพระวินัยบัญญัติเสีย และ ผมขอเสนอให้หลวงพี่ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส แล้วย้ายไปอยู่วัดใดวัดหนึ่งที่ไกลปากและตาหูชาวบ้านเมืองเก่าเถิด”
พระมหาธวัชเชื่อและทำตามข้อเสนอของข้าพเจ้า ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส เข้าอยู่ปริวาสกรรม และไปอยู่กับหลวงพ่อไซร้ วัดจูงนาง อ.เมืองพิษณุโลก เรื่องฉาวโฉ่ของท่านก็เงียบหายไปจากเมืองสุโขทัย หลวงพ่อห้อม กับหลวงพี่มหาดำรงค์ชอบใจที่ข้าพเจ้าจัดการเรื่องนี้ได้เรียบร้อยดี ส่วนคดีทางฝ่ายบ้านเมืองนั้นข้าพเจ้าไม่ได้ติดตามข่าวว่า ผลของการดำเนินคดีกับมือปืนนั้นเป็นอย่างไร/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๓๖ - ขอกล่าวถึงพระเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าที่วัดจันทร์นอก บางคอแหลม ๓ องค์ คือ พระลิขิต พระมหาเฉลิม พระมหาบุญหนา ทุกองค์เป็นชาวตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) พระลิขิตเคยมาพักอยู่เขาสมอแครงพร้อมกับข้าพเจ้า จะให้เขาเป็นเจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่งในอำเภอวังทอง (ที่ว่างเจ้าอาวาสอยู่) เขาไม่ยอมรับแล้วกลับไปกรุงเทพฯ ต่อมาได้ลาสิกขาออกไปมีครอบครัว, พระมหาบุญหนาเรียนจบปริญญาจากมหามงกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) ต่อมาสิกขาสอบเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ, ยังเหลือแต่พระมหาเฉลิม กุสลธมฺโม เขาเรียนจบมหาจุฬาฯ (มจร.) แต่ยังไม่ได้รับปริญญา นัยว่าต้องให้ทำงานตามระเบียบของมหาวิทยาลัย ๒ ปีจึงได้สิทธิ์รับปริญญา และกำลังหาที่ปฏิบัติงานตามเงื่อนไขอยู่ มหาเฉลิมบอกกับข้าพเจ้าอย่างนั้น ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้เขามาอยู่วัดไทยชุมพล เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม และนักเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นการทำงานตามเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย
กุฏิสงฆ์วัดไทยชุมพลสมัยนั้นเป็นกุฏิทรงไทยประยุกต์ครึ่งตึกครึ่งไม้มีห้องน้ำในตัว ปลูกเรียงเป็นแถวสองแถว (ตะวันออก-ตก) แถวเหนือ ๔ หลัง แถวใต้ ๔ หลัง ตรงกลางแถวเป็นกุฏิใหญ่สองชั้น ชั้นล่างทำเป็นหอฉัน ชั้นบนแต่เดิมนั้นเป็นที่อยู่ของเจ้าอาวาส พระครูสุภัทรฯ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันนั้น ท่านอยู่กุฏิทรงไทยประยุกต์แถวเหนือ ส่วนกุฏิหลังใหญ่นั้นจัดไว้เป็นที่พักพระผู้ใหญ่ซึ่งมาเป็นแขกของวัด พระมหาเฉลิม จากกรุงเทพฯ มาอยู่วัดไทยชุมพล ข้าพเจ้าให้เขาอยู่กุฏิข้าพเจ้าชั้นบน ข้าพเจ้าลงมาอยู่ชั้นล่างที่เป็นสำนักงานหน่วยพัฒนาการทางจิต และโรงเรียนพุทธสานาวันอาทิตย์ โดยให้ช่างไม้ต่อตู้ใส่หนังสือขนาดใหญ่ตั้งกั้นกลางห้อง หน้าตู้หนังสือเป็นที่ทำงาน ด้านหลังตู้มีเตียงนอนสำหรับข้าพเจ้า ในตู้หนังสือที่ทำเป็นชั้น ๆ นั้นเป็นที่เก็บเอกสารชั้นหนึ่ง นอกนั้นข้าพเจ้าใช้เงินที่ได้จากผ้าป่าซึ่งพระมหาอุดมนำมาถวายตอนที่อยู่วัดราชธานี จัดซื้อหนังสือเกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสารคดีต่าง ๆ ใส่ไว้จนเต็มตู้เลย
พระมหาเฉลิมไม่เคยสอนนักเรียนและไม่เคยเทศน์มาก่อน ข้าพเจ้าต้องเหนื่อยกับการแนะนำเขาในเรื่องการสอนนักธรรมและนักเรียนวันอาทิตย์ ให้เขาฝึกเทศน์ในงานเล็ก ๆ เช่น อานิสงส์หน้าศพไปถึงการเทศน์แจงธรรมาสน์เดียว จนถึงการเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา รู้สึกว่าเขาเก่ง “ธรรมาสน์เตี้ย” คือคุยกับญาติโยมเก่ง แต่พอขึ้นธรรมาสน์เทศน์แล้วกลับตรงกันข้าม ข้าพเจ้าไม่กล้าให้เขาไปเทศน์ต่างถิ่นโดยไม่มีข้าพเจ้าไปด้วย เพราะเกรงคู่เทศน์ต่างถิ่นจะทำให้เขาเสียหน้า เขามาอยู่วัดไทยชุมพลได้ปีเศษ พระมหาทองสุข เลขานุการเจ้าคณะอำเภอลาสิกขาไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งเลขาฯ จึงว่างลง พระครูสุภัทรฯ จะตั้งข้าพเจ้าเป็นเลขาฯ แทน ข้าพเจ้าขอให้ท่านตั้งพระมหาเฉลิมแทน ตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะอำเภอมีนิตยภัตต์ (เงินเดือน) พระมหาเฉลิมได้รับเงินเดือนจากจากวัดไทยชุมพลอยู่แล้วเดือนละ ๗๐๐ มาได้จากตำแหน่งเลขาฯ อีกทางหนึ่ง รวมแล้วเขามีเงินเดือนพันกว่าบาท
มีกฎระเบียบที่ออกตาม พรบ. คณะสงฆ์ให้ทุกวัดทั่วประเทศจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของวัดและให้จังหวัดรวบรวมบัญชีนั้นส่งไปยังเจ้าคณะภาค เจ้าคณะภาคส่งต่อเจ้าคณะหน เจ้าคณะหนนำเข้าสู่มหาเถรสมาคมต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับสมภารเจ้าวัด เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอเป็นอย่างมาก มีวัดในปกครองของข้าพเจ้าวัดหนึ่ง เจ้าอาวาสเป็นพระครูสัญญาบัตรผู้เฒ่า ทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่งข้าพเจ้าไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าให้ไปทำใหม่ ท่านก็เอาไปให้ครูที่เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนใกล้วัดช่วยทำให้แล้วส่งมา ตรวจดูแล้วก็ไม่ถูกต้องอีก ทางอำเภอ จังหวัดก็เร่งให้ส่ง เพราะใกล้เวลาที่จะต้องส่งไปให้ภาคแล้ว ข้าพเจ้าก็เรียกเอาตัวมาเพื่อช่วยทำบัญชีให้ถูกต้อง ถามถึงรายรับว่า รายนี้รับมาจากไหน ท่านบอกว่าจำไม่ได้ รายจ่ายนี้จ่ายไปไหน ก็บอกว่าไม่รู้ ซักไปซักมาท่านตอบวนเวียนจนข้าพเจ้าโมโหมากถึงกับจับคอท่านเค้น เด็กลูกศิษย์นักเรียนวันอาทิตย์ต้องเข้าห้ามแกะมือออก หลวงพ่อห้อม รองเจ้าคณะจังหวัดผู้ทำงานแทนหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ (ที่อาพาธรักษาตัวอยู่กรุงเทพฯ) บอกให้ข้าพเจ้าเสนอเรื่องถอดถอนพระครูองค์นี้ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ข้าพเจ้ารีบทำเรื่องเสนอถอดถอนผ่านอำเภอขึ้นไปถึงมือหลวงพ่อห้อม ท่านเก็บเรื่องเงียบอยู่ ๗ วัน จึงไปตามเรื่อง ท่านบอกว่า “อย่าเพิ่งถอดออกเลย สงสาร มันแก่มากแล้ว ถอดออกจากตำแหน่งมันก็จะอายเขา” ข้าพเจ้าฟังแล้วพูดไม่ออกบอกไม่ถูกเลย
กลับมานอนคิดอยู่สามวันสามคืน จึงตัดสินใจทำใบลาออกจากรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเมืองเก่า ให้เหตุผลว่าจะเข้าไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าจะเรียนต่อจริง ๆ คราวนี้ไม่คิดจะเรียนบาลีดอก แต่จะเรียนวิชาการทางโลก ด้วยตอนนั้นไม่มีวุฒิการศึกษาทางโลกกะเขาเลย ตั้งใจจะไปเรียนในโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม ติดต่อพระมหาอุดมไว้แล้วว่าจะเข้าอยู่สำนักวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามวัดอินทรวิหาร/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล, ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, กรกันต์, คิดถึงเสมอ, เป็น อยู่ คือ, มนชิดา พานิช, malada, หยาดฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 วัดใหม่อมตรส (วัดบางขุนพรหม) เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๓๗ - วัดใหม่อมตรส (อ่านว่า อะมะตะรด)ที่ข้าพเจ้าจากวัดไทยชุมพล เมืองสุโขทัย เข้าไปอยู่นี้มีประวัติความเป็นมาย่อ ๆ ว่า “วัดใหม่อมตรส หรือ วัดบางขุนพรหม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๒ แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๓ งาน ๔ ตารางวา สร้างขึ้นสมัยกรุงธนบุรี ประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๑ ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๑ เดิมทีนั้นวัดมีชื่อว่า วัดวรามะตาราม แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น วัดอำมาตยรส หรือ วัดอมฤตยรสในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑–๒๔๑๓ ได้ทำการก่อสร้างปฎิสังขรณ์วัดใหม่เริ่มดำเนินการโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ว่ากันว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีมาแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี และอยู่บนที่ดอนห้อมล้อมไปด้วยเรือกสวนและไร่นา เข้าใจว่าเป็นวัดที่ประชาชนในละแวกนั้นช่วยกันสร้างและบูรณะสืบต่อ ๆ กันมา เมื่อปีจอ พุทธศักราช ๒๓๒๑ เจ้าอินทรวงศ์ราชโอรสในพระเจ้าธรรมเทววงศ์ ผู้ครองนครศรีสัตนาครหุต ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ต่อมาครั้นสร้างกรุงเทพมหานครเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าวัดบางขุนพรหมไม่เคยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เลยสักครั้งเดียว สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ได้ปรักหักพังลง สืบต่อมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๕ เสมียนตราด้วง พร้อมกับชาวบ้านในย่านบางขุนพรหมและท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ร่วมใจกันบริจาคจตุปัจจัยจัดการสร้าง และซ่อมแซมวัดบางขุนพรหมขึ้นมาใหม่ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ นอกจากนั้นแล้วยังได้จัดสร้างพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ประดิษฐานไว้ที่หน้าวัดบางขุนพรหมเป็นพิเศษอีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างถนนวิสุทธิกษัตริย์ผ่านกลางวัด จึงกลายเป็น ๒ วัด คือวัดบางขุนพรหมใน (วัดใหม่อมตรส) และวัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหาร) วัดใหม่อมตรสมีชื่อเสียงในด้านวัตถุมงคล คือ พระสมเด็จกรุบางขุนพรหม โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม รับเป็นประธานในการจัดสร้าง พระพิมพ์สมเด็จ (พระเครื่อง) ที่สร้างจากผงอิทธิเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห และมหาราช ตามที่เสมียนตราด้วง ต้นตระกูล ธนโกเศศ ได้ขออนุญาตจัดสร้างขึ้น เพื่อบรรจุในองค์เจดีย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓–๒๔๑๕ โดย เจ้าประคุณสมเด็จได้โขลกตำผง ผสมผงวิเศษ และอธิษฐานจิตปลุกเสกด้วยตัวท่านเอง”
วัดที่อยู่ในกลุ่มวัดใหม่อมตรสซึ่งพระเดินบิณฑบาตถึงกัน ทางด้านตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือก็มี วัดตรีทศเทพ (ธรรมยุติ) วัดปรินายก (มหานิกาย) วัดมงกุฏกษัตริยาราม (ธรรมยุติ) ทางด้านเหนือก็มีวัดอินทรวิหาร (มหานิกาย) วัดนรนาถสุนทริการาม (ธรรมยุติ) ทางด้านใต้ก็มีวัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุติ) วัดชนะสงคาม (มหานิกาย) ทางด้านตะวันตกก็มี วัดเอี่ยมวรนุช (มหานิกาย) วัดสามพระยา (มหานิกาย) วัดสังเวชวิศยารามหรือวัดบางลำพู (มหานิกาย) แม่น้ำลำคลองก็มีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางด้านตะวันตก คลองบางลำพูอยู่ทางด้านใต้ คลองผดุงกรุงเกษมอยู่ทางด้านเหนือ ถนนสายสำคัญก็มีถนนสามเสนอยู่ทางด้านตะวันตก ถนนวิสุทธิกษัตริย์ และกรุงเกษมอยู่ทางด้านเหนือ ถนนประชาธิปไตยอยู่ทางด้านตะวันออก มีซอยสำคัญ ๆ อยู่ทางด้านใต้วัด ๓ ซอย คือซอยวรพงศ์ ซอยพระสวัสดิ์ ซอยนานา และยังมีซอย/ตรอก ซอกเล็กซอกน้อยอีกหลายตรอกซอกซอย
ปีพ.ศ. ๒๕๑๓ ที่ข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดใหม่อมตรสนั้น วัดนี้ว่างเจ้าอาวาสด้วยพระครูอมรคณาจารย์ (เส็ง) มรณภาพลงในปี ๒๕๑๒ เจ้าคณะตำบลได้ตั้งพระครูสังฆรักษ์ลำภูผู้เป็นพระอายุพรรษาสูงสุดในวัดนั้นให้รักษาการเจ้าอาวาส พระครูบริหารคุณวัตร (ชม สิรินธโร) ผู้มีบทบาทสำคัญในวัดนี้จัดให้ข้าพเจ้าอยู่กุฏิไม้สองชั้นรูปทรงแบบโบราณ ซึ่งเป็นกุฏิพระครูอมรคณาจารย์ (เส็ง) อดีตเจ้าอาวาส ชั้นล่างที่เคยเป็นห้องอยู่ประจำของอดีตเจ้าอาวาสว่าง ยังไม่มีใครกล้าเข้าอยู่แทนอดีตเจ้าอาวาสที่มรณภาพไปไม่นาน ข้าพเจ้าจึงเข้าอยู่แทนอดีตท่านเจ้าอาวาสนั้น ชั้นบนมีพระบำรุงเพื่อนข้าพเจ้าจากวัดจันทร์นอก กับพระมหาอุดม จากวัดประดู่ฉิมพลี (องค์เป็นน้องเณรของพระเต็มสมัยอยู่วัดหัวเวียง) อยู่ด้วยกันสององค์ สำหรับพระครูเส็ง (อมรคณาจารย์) เจ้าของกุฏิผู้ล่วงลับแล้วนั้น ทราบว่าท่านเป็นชาวเขมรมาจากเมืองพระตะบองสมัยเดียวกันกับนายควง อภัยวงศ์/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 พระครูบริหารคุณวัตร (ชม สิรินฺธโร) เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๓๘ - รอบ ๆ กุฏิที่ข้าพเจ้าอยู่นั้น ทางด้านตะวันออกคือกุฏิสงฆ์ที่อยู่ของพระชาวอยุธยามีพระครูสังฆรักษ์ลำภู รักษาการเจ้าอาวาสเป็นประธานกลุ่ม ด้านเหนือเป็นศาลาสำหรับตั้งศพบำเพ็ญกุศลและเมรุเผาศพ, อุโบสถ ด้านตะวันตกเป็นศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์เป็นตึกสองชั้นสองแถว พระเณรที่อยู่ด้านนี้เกือบทั้งหมดเป็นชาวอีสาน ด้านใต้เป็นกำแพงวัดกั้นบ้านเรือนชาวชุมชนวัดใหม่อมตรส และกุฏิหลังใหญ่ติดกับกุฏิของข้าพเจ้าเป็นที่อยู่ของพระครูบริหารคุณวัตร (ชม) ศาลาการเปรียญเป็นอาคารตึกสองชั้นมีชานและหลังคาติดเชื่อมกันกับกุฏิของข้าพเจ้า และเป็นที่ตั้งของสมาคมแพทย์แผนโบราณที่แยกมาจากวัดโพธิ์ท่าเตียน
พระครูบริหารคุณวัตร (ชม) เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา (เพื่อนกันกับหลวงพ่อคูณ) ที่ข้าพเจ้าว่าท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในวัดนี้มากก็เพราะ ท่านในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาส (พระครูอมรคณาจารย์(เส็ง) เป็นผู้ดำเนินการเปิดกรุสมเด็จบางบางขุนพรหมเมื่อปี ๒๕๐๐ ท่านเล่าให้ฟังว่า ด้วยมีคนร้ายลอบขุดเจาะเจดีย์ซึ่งเป็นกรุพระพิมพ์สมเด็จฯ หลายครั้งแล้ว จนถึงปี ๒๕๐๐ มีการขุดเจาะทำให้องค์เจดีย์เสียหายมาก จึงตัดสินใจทำการเปิดกรุ โดยเชิญพลเอกประภาส จารุเสถียร รมต. กระทรงมหาดไทยมาเป็นประธาน นำพระสมเด็จทั้งองค์ที่สมบูรณ์และที่แตกหักให้ประชาชนเลือกเช่าบูชา รายได้ทั้งหมดสมทบทุนสร้างอุโบสถของวัดขึ้นใหม่ เงินรายได้ไม่มากพอ จึงคิดจัดทำพระพิมพ์สมเด็จขึ้นมาใหม่ โดยใช้พิมพ์เดิมส่วนผสมเนื้อตามสูตรท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แล้วใช้พระสมเด็จที่แตกหักจากกรุเจดีย์ของวัดนั้นผสมเพื่อความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เริ่มสร้างพระพิมพ์สมเด็จแต่ปี ๒๕๐๑ เป็นต้นมา พร้อมกับการก่อสร้างอุโบสถ และบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์กรุพระสมเด็จฯ มาแล้วเสร็จในปี ๒๕๐๘ ทั้งอุโบสถ เจดีย์และพระพิมพ์สมเด็จฯ ๑๒ พิมพ์ รวม ๑๖๘,๐๐๐ องค์
ครั้นการสร้างทุกอย่างเสร็จแล้ว จึงกำหนดการพิธีพุทธาภิเศกและผูกพทธสีมาอุโบสถขึ้นตามกำหนดการดังนี้:
- วันอังคารที่ ๔ มกราคม พ. ศ . ๒๕๐๙ เวลา ๑๕.๕๕ น. พล. อ. ประภาส จารุเสถียร จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พล .ท. กฤษณ์ สีวะรา อ่านรายงานและประธานกล่าวตอบ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เวลา ๒๐.๒๗ น. พระสงฆ์ ๔ รูป เริ่มสวดพุทธาภิเศก พระคณาจารย์นั่งปรกบริกรรมปลุกเสก วันพุธที่ ๕ มกราคม ทำการแจกสมนาคุณ พระรูปฯ และพระพิมพ์ให้ประชาชนร่วมบูชาทำบุญ ทั้งนำบรรจุกรุ และนำบูชาติดตัวกลับบ้าน วันพฤหัสบดี ที่ ๖ - 8 มกราคม พ .ศ. ๒๕๐๙ บำเพ็ญกุศลปิดทองลูกนิมิต พร้อมทั้งให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคบูชาพระพิมพ์ วันอาทิตย์ ที่ ๙ มกราคม เวลา ๑๖.๔๐ น. อันเชิญศิลาจารึกพระปรมาภิไธย และพระฤกษ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประดิษฐาน ณ พระอุโบสถแล้วประกอบประกอบพิธีเททองหล่อ พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตัก ๑๖ นิ้ว จำนวน ๑ องค์ รูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) หน้าตัก ๑๖ นิ้ว จำนวน ๑ องค์ ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว จำนวน ๑๐๙ องค์ วันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม เวลา ๑๙.๓๐ น. พระสงฆ์ ๘๔ รูป เจริญพระพุทธมนต์ภายในอุโบสถ เวลา ๒๑.๐๑ น. สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ ประกอบพิธีผูกพันธสีมา
พระสมเด็จทั้ง ๑๒ พิมพ์ที่สร้างใหม่นี้ บรรจุไว้ในเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ อีก ๘๔,๐๐๐ องค์จัดจำหน่ายให้ประชาชนเช่าบูชาเพื่อหารายได้ก่อสร้างกุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญหลังใหม่ ในเวลาไม่กี่ปีก็ได้เงินสร้างศาลาการเปรียญ ๑ หลัง กุฏิสงฆ์เป็นตึกห้องแถวสองชั้น สองแถว และยังมีส่วนสมทบทุนสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดใหม่อมรสอีกด้วย
พระครูชม (บริหารคุณวัตร) เป็นคนมีอัธยาศัยไมตรีดี จึงมีผู้คนเคารพนับถือมาก ในวงการพระสงฆ์มีเพื่อนสนิทกันหลายองค์ เช่น พระครูถาวรวรคุณ (ม.ล.ประดิษฐ์ ศิริวงศ์) เจ้าอาวาสวัดเอี่ยมวรนุช พระครูวิริยานุวัตร (ฟุ้ง นรสาโร) วัดบางขัน อ .คลองหลวง และพระครูแจ่ม วัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น ท่านพระครูวัดเอี่ยมวรนุช เป็นต้นสื่อให้พระครูชมได้รู้จักคุ้นเคยกับพระครูทิม วัดช้างให้ ปัตตานี ผู้สร้างหลวงพ่อทวดจนโด่งดัง ท่านเข้ากรุงเทพฯทุกครั้งก็มาพักกับพระครูวัดเอี่ยม มาคุยกับพระครูชมบ้าง พระครูชมไปคุยกับท่านที่วัดเอี่ยมบ้าง และเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้รู้จักมักค้นกับท่านไปด้วย นอกจากท่านจะรู้จักคุ้นเคยกับพระผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว ยังรู้จักข้าราชการพลเรือน ทหารตำรวจผู้หลักผู้ใหญ่มากมาย ข้าพเจ้ากับท่านก็ถูกอัธยาศัยกันดี เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าไม่ขาดเอกลาภ ข้าราชการ พ่อค้า มีงานทำบุญอะไร ๆ ก็มานิมนต์พระครูชม และมักจะมีข้าพเจ้าติดไปด้วยเสมอ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๓๙ - กุฏิของข้าพเจ้ามีห้องน้ำอยู่ด้านนอก ข้างห้องน้ำด้านเหนือมีกุฏิเล็กอีกหลังหนึ่งเป็นอาคารไม้ ไม่มีพระอยู่ประจำจึงให้เด็กที่เป็นศิษย์พระบำรุงจากพรหมพิราม พิษณุโลก กับศิษย์พระมหาอุดมจากหัวเวียง อยุธยา เข้าอยู่อาศัย เด็กสองคนนี้เรียนระดับ ป.ว.ช. ในสถานที่เดียวกันคือช่างกลบางซ่อน ข้าพเจ้าทั้งสามองค์ฉันอาหารรวมกันที่หน้าห้องกุฏิที่อยู่ ยามเช้าพวกเราออกเดินรับอาหารบิณฑบาต โดยต่างคนต่างเดินไปคนละสายทางตามอัธยาศัย ไม่มีศิษย์ติดตาม เพราะเด็กทั้งสองต้องไปโรงเรียนกันแต่เช้า เมื่อกลับจากเดินรับบิณบาตรก็เอาอาหารที่ได้มารวมกัน ฉันเช้าแล้วเก็บบางส่วนไว้ฉันเพล ฉันเพลแล้วส่วนที่เหลือเก็บไว้ให้เด็กลูกศิษย์ พวกเขากลับจากเรียนก็กินอาอาหารที่เหลือจากพวกเรา จัดการล้างบาตรและภาชนะที่ใส่อาหารเรียบร้อยทุกวัน
ดังได้กล่าวแล้วว่ากุฏิของข้าพเจ้าเป็นอาคารไม้รูปทรงโบราณหลังใหญ่ กว้างสองห้องยาวสองห้อง สูงสองชั้น ชั้นล่างห้องหน้าปล่อยโล่งเป็นที่รับแขกและที่ฉันอาหาร ห้องหลังทำฝาไม้กระดานกั้นเป็นห้องนอน ในห้องนี้มีตู้ชั้วตั้งกั้นห้องทางด้านเหนือมีเตียงนอน ด้านใต้มีโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือและที่วางกาน้ำชา มีบันไดขึ้นชั้นบนตรงประตูเปิดปิดเข้าออก พรรคพวกเรียกกันว่า กุฏิสีฟ้า เพราะทาสีฟ้าทั้งหลัง ข้าพเจ้านอนบนเตียงที่พระครูอมรคณาจารย์ (เส็ง) อดีตเจ้าอาวาสเคยนอนประจำ มีบางคนถามว่าไม่กลัวผีพระครูเส็งหรือ ข้าพเจ้าก็ว่าไม่เคยเจอผีมาก่อนจึงไม่กลัว ถึงแม้จะเจอผีก็ไม่กลัว อยากเจออยู่เหมือนกัน
การกลับเข้าอยู่กรุงเทพฯ อีกครา ข้าพเจ้าได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนนักกลอนมากขึ้น และได้รู้จักตัวจริงของนักกลอนระดับแนวหน้ามากขึ้น เพื่อนนักกลอนในรายการกวีสวรรค์หลายคนที่จากภูธรเข้าอยู่กรุงเทพฯ เขาเป็นพระบ้าง เป็นฆราวาสบ้าง รู้จักแต่ชื่อและผลงานของเขาทางรายการกวีสวรรค์ และรายการกลอนอื่น ๆ โดยไม่เคยรู้จักตัวตนกันมาก่อน ผู้ที่ถือว่าเป็นเพื่อนรักที่ไม่รู้จักหน้าค่ากันจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ก็มี อรัญ สิทธิศรี จากสิงห์บุรี จิตรกร เมืองสวรรค์ จากนครสวรรค์ อรัญ สิทธิศรี เป็นพระมหาอยู่วัดโบสถ์ สามเสน จิตรกร เมืองสวรรค์ (มังกร แพ่งต่าย) ลาสิกขาและมีครอบครัวอยู่ที่ราษฎร์บูรณะ วัดโบสถ์สามเสนอยู่ไม่ไกลจากวัดใหม่อมตรสนัก มีรถเมล์ประจำทางจากสนามหลวง ตามถนนสามเสนขึ้นไปทางเหนือหลายสาย ข้าพเจ้านั่งรถเมล์จากบางขุนพรหมไปวัดโบสถ์สามเสนได้อย่างสะดวกสบาย จึงไปหาพระมหาอรัญบ่อยมาก
การไปหาอรัญ สิทธิศรี บ่อย ๆ ทำให้รูจักคุ้นเคยกับนายทหารชั้นประทวนที่ชอบกลอนเช่นเดียวกัน ซึ่งทำงานอยู่สวนรื่นฤดีหลายนาย เป็นเหตุให้รวมตัวกันจัดตั้งชมรมกลอนขึ้นอีกชมรมหนึ่งตอนแรกชื่อว่า “รื่นฤดีศรีวรรณศิลป์” ที่ชื่ออย่างนั้นเพราะพวกนายทหารชั้นประทวนเหล่านั้น มี จ่าเอกสมพงษ์ จ่าเอกวิจิต สิบเอกสุขสันต์ สิบเอกบุญส่ง และอีกหลายคน ทำงาน กอ.รมน. อยู่ในสวนรื่นฤดี จึงขอใช้ชื่อนี้มาเป็นชื่อชมรมกลอนของเรา ที่สำคัญคือเราใช้เครื่องมือเช่นพิมพ์ดีด กระดาษ กระดาษไข เครื่องโรเนียว ของ กอ.รมน.ผลิตสื่อของพวกเรา ข้าพเจ้าได้รู้จักนายทหารผู้ใหญ่ใน กอ.รมน. สองท่าน คือ พ.อ. (พิเศษ) หาญ พงศิฏานนท์ และ พ.อ.นิวัติ สุนทรภู่ ท่านนิวัตินี้เป็นชาวอำเภอศรีสำโรงจังหวัดสุโขทัย นายทหารทั้งสองท่านนี้เองที่ “ไฟเขียว” ให้เราใช้วัสดุอุปการณ์ของทางราชการได้ โดยท่านทำไม่รู้ไม่เห็นเสีย
ประธานชมรื่นฤดีวรรณศิลป์คนแรกยกให้อรัญ สิทธิศรี เป็นไปอย่างไร้คู่แข่ง เพราะเขาเขียนกลอนเก่งและดีกว่าทุกคนในพวกเรายามนั้น อรัญ แต่งกลอนรักหวานมาก ชื่อเสียงของเขาโด่งดังจากคอลัมน์กลอนชื่อ “ประกายเพชร, เกล็ดดาว” ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตอนนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้แต่งกลอนลงในคอลัมน์นี้ เพราะไม่ถนัดแต่งกลอนขนาดสั้นอย่างพวกเขา ถนัดแต่กลอนยาว ๖ บทขึ้นไป
“รื่นฤดีศรีวรรณศิลป์” แม้จะเป็นชมรมนักกลอนที่ตั้งขึ้นใหม่แต่เติบโตเร็ว จ่าเอกวิจิตร กับจ่าเอกสมพงษ์ และ สิบเอกสุขสันต์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดทำวารสารรื่นฤดีศรีวรรณศิลป์ฉบับโรเนียวแจกจ่ายให้สมาชิกและชมรมกลอนต่าง ๆ เป็นรายเดือน นักเขียนของเรามีหลายคน (รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย) จึงไม่มีปัญหาในเรื่องต้นฉบับ ในปีเดียวกันนั้น (๒๕๑๓) ได้เข้าร่วมงานกับคณะสงฆ์ตำบลบางพลัด-บางอ้อเขต ๒ อ.บางกอกน้อย จ.ธนบุรี ได้จัดทำโครงการสอน “นักเรียนชั้นนวกภูมิ“ ขึ้น โดยพระครูรัตโนภาสสุนทร เจ้าอาวาสวัดฉัตรแก้วจงกลนี (บางอ้อ) เจ้าคณะตำบลบางพลัด-บางอ้อ เขต ๒ เป็นผู้อำนวยการ พระครูกิตติสุนทร (สมนึก) เจ้าอาวาสวัดเทพากรเป็นอาจารย์ใหญ่ “นวกะ” เป็นชื่อเรียกพระภิกษุผู้บวชใหม่ วัดต่าง ๆ ในเขตตำบลนั้นได้ส่งพระบวชใหม่ในพรรษานั้นเข้าเรียน คือ วั ดฉัตรแก้วจงกลณี ๒๓ รูป วั ดบางพลัด ๑๙ รูป วัดเทพนารี ๑๒ รูป วัดเทพากร ๖ รูป วัดภาณุรังสี ๖ รูป วัติวิมุตยาราม ๖ รูป วัดนอกเขตที่ส่งเข้าเรียนสมทบ คือ วัดแก้วฟ้า ๑๑ รูป วัดเชิงกระบือ ๒ รูป รวม ๘๒ รูป สามเณร ๑ รูป เป็น ๘๓ รูป
ก็แล้วข้าพเจ้าอยู่ต่างวัดต่างถิ่น เข้าไปร่วมโครงการนี้ได้อย่างไร ไว้วันพรุ่งจะเล่าให้ฟังครับ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๔๐ - การที่ข้าพเจ้าข้ามฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากตะวันออกไปตะวันตก ข้ามจังหวัดกรุงเทพฯ ไปกรุงธน เพื่อสอนพระนวกะนั้นก็เพราะพระครูกิตติสุนทร (สมนึก ป.ธ.๕) เจ้าอาวาสวัดเทพากร บางพลัด เป็นผู้ชักนำไป พระครูกิตติสุนทร เป็นศิษย์เจ้าคณะภาค ๕ ที่ปกครองดูแลวัดในภาค ๕ (จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง) ท่านเคยติดตามเจ้าคณะภาคขึ้นไปตรวจการคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัย จึงรู้จักกับข้าพเจ้าและคบหาสมาคมกันในฐานะนักเทศน์เรื่อยมา จนเมื่อท่านเจ้าคุณไสว (พระเทพวิริยาภรณ์) เจ้าคณะภาค ๕ ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดยานนาวา พระมหาสมนึกจึงเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพากรแทนท่านเจ้าคุณอาจารย์ ครั้นทราบว่าข้าพเจ้าย้ายเข้ามาอยู่วัดใหม่อมตรส จีงติดต่อชักชวนเข้าร่วมงาน “โครงการสอนนักเรียนชั้นนวกภูมิ” ของคณะสงฆ์ตำบลบาพลัด-บางอ้อ ที่ท่านเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งขึ้น ด้วยรู้ฝีมือในการสอนพระปริยัติธรรม และนักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของข้าพเจ้าที่สุโขทัยดีอยู่แล้ว
ก่อนจะเปิดโครงการสอนพระนวกะ (พระบวชใหม่) พระครูกิตติสุนทรกับข้าพเจ้าได้พบกันในงานวัดแห่งหนึ่งที่วังน้อย อยุธยา โดยมีผู้นิมนต์ทั้งพระครูกิตติสุนทรและข้าพเจ้าไปเทศน์ ท่านปรารภกับข้าพเจ้าว่าใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว พระบวชใหม่ที่จะเอา (จำ) พรรษามีน้อยเหลือเกิน เปิดสอนนักธรรมในแต่ละวัดก็มีนักเรียนแค่ไม่กี่องค์ ดูโหรงเหรง ไม่มีกำลังใจทั้งผู้เรียนและผู้สอน อยากจะชวนหัววัดต่าง ๆ ในตำบลบางพลัด-บางอ้อ เขต ๒ เอาพระนวกะเข้ารวมเรียนในที่เดียวกันจะเป็นไปได้ไหม ข้าพเจ้าก็เห็นดีเห็นงามด้วย เพราะเคยทำที่วัดไทยชุมพลมาแล้วได้ผลดีมาก ดังนั้นเมื่อกลับจากเทศน์ ท่านก็ไปปรึกษากับพระครูรัตโนภาสสุนทร เจ้าคณะตำบลบางพลัด-บางอ้อ เขต ๒ ท่านจึงประชุมเจ้าอาวาสในปกครองของท่าน ชักชวนให้นำพระนวกะเข้าร่วมเรียนกันในวัดฉัตรแก้วจงกลณีของท่าน พระครูกิตติสุนทรจึงขอให้ข้าพเจ้าเข้าร่วมโครงการนี้ ข้าพเจ้าว่างงานสอนอยู่แล้วจึงรับทำงานด้วยความเต็มใจ
พระครูกิตติสุนทรกับข้าพเจ้าร่วมกันวางโครงการสอนพระนวกะใช้ชื่อว่า “นักเรียนชั้นนวกภูมิ” รวมพระภิกษุผู้บวชใหม่จำพรรษาในวัดต่าง ๆ (ดังได้กล่าวแล้วเมื่อวันวานนี้) วิชาที่สอนก็เลือกเอามาจากนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ในส่วนที่ควรให้พระบวชใหม่เพียงพรรษาเดียวได้เรียนรู้กัน คณะอาจารย์ผู้สอนประกอบด้วย
พระครูกิตติสุนทร ทำหน้าที่สอนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม และ ธรรมะ โดยเน้นเรื่องมงคลสูตร วิชาพุทธประวัติ พระปลัดอภินันท์ นาคเขโม ทำหน้าที่สอน เริ่มเรื่องแต่ชมพูทวีปและประชาชนก่อนพุทธกาล จนเข้าสู่ยุคปฐมโพธิกาล มัชฌืมกาล ปัจฉิมกาล ให้รู้เรื่องวงศ์ศากยะ-โกลิยะ การประสูติ ออกผนวช บำเพ็ญความเพียร ตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า การบำเพ็ญพุทธกิจ จนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน และประวัติศาสตร์พุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพาน วิชาวินัย พระปรีชา เขมจิตฺโต วัดเทพากร ทำหน้าที่สอน พระองค์นี้มีความรู้ทางกฎหมาย จบ น.บ. จากม.ธรรมศาสตร์แล้วมาบวชเรียนจบ น.ธ.เอก จึงนำเรื่องกฎหมายทางบ้านเมืองมาเปรียบเทียบกับพระวินัยบัญญัติได้เป็นอย่างดี วิชาธรรมะภาคคิหิปฏิบัติและศาสนพิธี พระมหาประยงค์ สุวโจ วัดบางพลัด ทำหน้าที่สอน นอกนี้ยังมีผู้ช่วยอาจารย์ คือ พระครูวิมุตยาภรณ์ (สง่า ป.ธ. ๕) วัดวิมุตยาราม พระมหาพิกุล ธมฺมรํสี ป.ธ. ๖ วัดเทพากร พระมหาผล กมโล ป.ธ.๖ วัดบางพลัด ทำหน้าที่สอนในช่วงเวลาที่อาจารย์ประจำไม่ว่างมาสอนได้
การเดินทางไปสอนนักเรียนนวกภูมิของข้าพเจ้า นั่งรถเมล์ประจำทางจากบางขุนพรหมไปลงที่เกียกกาย เดินต่อไปไม่ไกลนัก ลงเรือข้ามฟากที่ท่าน้ำวัดแก้วฟ้าจุฬามณีซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดฉัตรแก้วจงกลณี การสอนนักเรียนพระนวกะที่นี่ไม่หนักเหมือนสอนพระเณรที่สุโขทัย เพราะพระนักเรียนที่นี่มีระดับความรู้ใกล้เคียงกัน อย่างต่ำท่านก็เรียนจบชั้นมัธยมต้น มีบ้างที่จบชั้นปริญญาตรีแล้ว ข้าพเจ้าปรับระดับการสอนให้สูงขึ้นกว่าที่เคยสอนมาเพื่อให้เหมาะแก่คุณวุฒิของผู้เรียน แทนที่จะสอนแบบจ้ำจี้จ้ำไชในแบบเรียน ก็เป็นสอนแบบบรรยายเป็นช่วง ๆ ให้นักเรียนซักถามเป็นระยะ ๆ การสอนการเรียนวิชาพุทธประวัติของข้าพเจ้าจึงสนุก ถูกอกถูกใจของนักเรียน พวกเขาซักถามเรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่ได้ยินได้ฟังมาไม่ตรงกับที่ข้าพเจ้าบรรยาย ว่า “อย่างนั้นจริงมั้ย อย่างนี้จริงมั้ย” เป็นต้น ปรากฏว่าในวันที่ข้าพเจ้าสอนวิชาพุทธประวัติจะไม่มีนักเรียนขาดเรียนเลย
การทำงานร่วมกันคราวนี้เป็นสายใยโยงให้เราผูกพันกันใกล้ชิดมากขึ้น จนกลายเป็นเพื่อนคู่เทศน์อีกคูหนึ่งในวงการพระนักเทศน์ “แห่งลุ่มเจ้าพระยา” (ว่าเข้าไปนั่น) ท่านพระครูกิตติสุนทรเป็นชาวอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี จึงมีสนามเทศน์อยู่ในแถบตั้งแต่ชัยนาทลงมาสิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ข้าพเจ้ากับท่านได้วนเวียนเทศน์อยู่ในท้องถิ่นดังกล่าว พระครูกิตติสุนทรถนัดเทศน์แบบสมมุติเป็นตัวละครในเรื่องชาดกต่าง ๆ และนิทานธรรมบท ถ้าว่าด้วยธรรมะล้วน ๆ ท่านไม่ค่อยถนัดนัก เวลามีใครนิมนต์ท่านเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา ธรรมะล้วน ๆ ท่านจะรับแล้วขอให้ข้าพเจ้าไปแทนเสมอ เพราะข้าพเจ้าไม่เกี่ยงที่จะเทศน์ทุกรูปแบบอยู่แล้ว/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๔๑ - ณ ปากตรอกวัดอินทรวิหารตรงข้ามกับวัดใหม่อมตรส มีร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่ง เป็นร้านกาแฟดัง เพราะเป็นที่ชุมนุมนักกลอนอาวุโสเช่น อนันต์ สวัสดิพละ สนธิกาญน์ กาญจนาศน์ สำรอง สิทธิแพทย์ เป็นต้น ท่านใช้ชื่อชมรมนี้ว่า “จิบน้ำชาวันอาทิตย์” ข้าพเจ้าเป็นนักกลอนรุ่นเยาว์สำหรับพวกท่านเหล่านั้น มีบางวันที่ข้าพเจ้า “เอี้ยง” เข้าไปในชมรมนี้ ไม่กล้าเข้าไปบ่อย ๆ เพราะชื่อชมรมที่ว่า “จิบน้ำชา” แต่ความจริงคือการจิบสุรา เป็นที่อโคจรสำหรับพระภิกษุ เมื่อได้สมาคมกับนักกลอนเมืองกรุงมากเข้า ข้าพเจ้าก็เริ่มแต่งกลอนสั้นขนาด ๒-๓ บทได้เหมือนเพื่อน ๆ จึงมีชื่อกำกับบทกลอนในคอลัมน์ประกายเพชร (กลอน ๒ บท) เกล็ดดาว (กลอน ๓ บท) ของหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมากขึ้นเรื่อย ๆ
สถานที่พบปะสังสรรค์ของนักกลอนที่ข้าพเจ้าไปบ่อย ๆ คือ หน้าห้องส่งกระจายเสียงสถานีวิทยุ ป.ช.ส. ๗ อยู่ใต้สะพานพุทธฝั่งธนบุรี ที่นั้นคุณพี่นเรศ นโรปกรณ์ นักกลอนนักหนังสือพิมพ์ใหญ่ ไปปักหลักจัดรายการกลอนชื่อ “จักรวาลกวี” รวมกับ กิจจา ปุรณัน กับเพื่อนนักกลอน ที่นี่ข้าพเจ้าได้รู้จักนักกลอนรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นเล็ก ทั้งพระและฆราวาสหลายท่าน พี่นเรศจัดสมุดเล่มใหญ่ไว้ให้นักกลอนที่ไปเยี่ยมเยือยแต่งกลอนต่อสัมผัสผันในชื่อว่า “เกลียวกลอน” (สมุดเล่มนี้ดูเหมือน เวทิน ศันสนียเวศน์ จะเก็บไว้) การที่ข้าพเจ้าไปที่นี่บ่อย ๆ มิใช่แต่ไปพบปะสังสรรค์เพื่อนนักกลอนเท่านั้น แต่ไป “นั่งโขกหมากรุก” เพราะมีกระดานหมากรุกให้เล่นกันด้วย
ที่นี่ย้อนหลังไป “ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๐๐ นเรศ ร่วมกับเพื่อน ๆ คือ คุณกิจจา ปูรณัน คุณกรองแก้ว เจริญสุข และคุณวันเพ็ญ วงศ์สวัสดิ์ จัดรายการจักรวาลกวี ที่สถานีวิทยุ ปชส.๗ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของนักกลอนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ในยุคนั้น เช่น คุณปิยะพันธุ์ จำปาสุต คุณเอนก แจ่มขำ คุณประเสริฐ จันดำ คุณสุรชัย จันทิมาธร เป็นต้น” ตอนที่ข้าพเจ้าไปที่นี่ก็เป็นช่วงตอนปลาย ๆ แล้ว
อีกแห่งหนึ่งคือ แผงขายหนังสือเก่า ที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมสนามหลวงตรงบริเวณพระแม่นางธรณีบีบผมมวย แผงขายหนังสือของคุณพี่ประทุม กลัดอ่ำ จะมีนักกลอนไปชุมนุมพบปะกันที่นี่มาก เพราะพี่ประทุมเป็นนักกลอนผู้มีอัธยาศัยไมตรีดีมาก รู้ว่าข้าพเจ้าชอบอ่านหนังสือที่พิมพ์แจกในงานศพ เมื่อมีใครไปงานศพผู้หลักผู้ใหญ่ได้หนังสือที่ระลึกมาก็มักเอามาขายให้แผงหนังสือ พี่ประทุมจะซื้อเก็บไว้ให้ข้าพเจ้าเสมอ
สถานที่ข้าพเจ้าชอบไปและไปบ่อย ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับวงการกลอน แต่เป็นที่ชุมนุมของนักพู ดนักคิด นักโต้วาที ที่นั่นคือ “ลานอโศก” ในวัดมหาธาตุฯท่าพระจันทร์ ที่แห่งนี้เริ่มมีมาแต่สมัยที่ข้าพเจ้าเข้ารับการอบรมเป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิต ดังที่ได้ให้การไปแล้ว ข้าพเจ้าชอบไปฟังเขาพูดแสดงความคิดเห็น ตีความธรรมะ โต้วาที บางคนพูดดี ความคิดเห็นดี บางคนก็ไม่เอาไหน บางวันข้าพเจ้าก็เข้าวงแสดงความคิดเห็นสนับสนุนและโต้แย้งความคิดเห็นของบางคน จนกลายเป็นนักพูดนักโต้วาทีไม่ด้อยกว่าใครเหมือนกัน
นักพูดแสดงความคิดเห็นที่นี่ส่วนมากเป็นฆราวาสที่เป็นนักบวชเก่าบ้าง ไม่ใช่นักบวชแต่เป็นผู้ศึกษาศาสนธรรมบ้าง มีพระภิกษุสามเณรบ้าง ในบรรดานักคิดนักพูดนักโต้วาทีเหล่านั้น มีท่านผู้หนึ่งเป็นฆราวาส คนในลานอโศกรู้จักกันในนามว่า “โพธิรักษ์” ทุกครั้งที่เขาไปร่วมแสดงความคิดเห็นและโต้วาที จะแต่งกายด้วยเสื้อกางเกงสีขาว เขาแสดงความคิดเห็นในเรื่องธรรมะแบบแปลก ๆ แปลคำบาลีเป็นคำไทยตามใจชอบ เช่นว่า ปาณา ก็แปลว่าปลาในนา ไม่ใช่ปลาทะเล เป็นต้น (คำนี้ที่ถูกต้องแปลว่า “สัตว์มีลมปราณ) ก่อนที่จะเข้าร่วมวงสนทนาธรรมลานอโศก นัยว่าเขาเป็นดาราและทำงานประจำอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ย่านบางขุนพรหม เป็นนักแต่งเพลง มีเพลงดังเช่น “ผู้แพ้” และอีกหลายเพลง
วันหนึ่งเขากล่าวว่า “ผมสำเร็จแล้ว” ข้าพเจ้าถามว่า สำเร็จอะไรหรือ เขาเล่าว่า “เมื่อเย็นวานนี้ผมเข้าห้องน้ำถ่ายปัสสาวะ เสร็จแล้วรูดซิปปิดเป้ากางเกง พอรูดซิปสุด สมองก็สว่างโล่งจนรู้สึกว่าสำเร็จธรรมแล้ว” หลายคนฟังแล้วก็หัวเราะ อีกหลายคนฟังแล้วก็รู้สึกทึ่ง พากันอึ้งไป ข้าพเจ้ากล่าวแบบประชดเขาไปว่า “เมื่อสำเร็จแล้วก็ไปบวชเป็นพระเสียซี อย่ามัวนุ่งขาวห่มขาวกินข้าวค่ำอยู่ทำไม” นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าคำพูดประชดของข้าพเจ้ า ทำให้เขาตัดสินใจออกบวช ทราบว่าไปขอบวชเป็นพระที่วัดอโศการาม สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพระธรรมยุติ หลังจากนั้นชีวิตความเป็นพระของท่านก็มีสภาพระหกระเหิน จนสุดท้ายมาเป็นสมณะโพธิรักษ์ อยู่นอกกฎหมายคณะสงฆ์ไทย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี อดีตนางเอกยอดนิยมละครโทรทัศน์หนังทีวีจอแก้วเมืองไทย เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๔๒ - การกลับเข้าอยู่กรุงเทพฯ ของข้าพเจ้ามีจุดประสงค์สำคัญคือเรียนวิชาการทางโลกหรือที่เรียกว่า วิชาสามัญ ในโรงเรียนผู้ใหญ่วัดอินทรวิหาร (ปัจจุบันเรียกการศึกษานอกโรงเรียน เรียกย่อว่า กศน.) เพราะไม่มีพื้นฐานจึงต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับ ๓ เป็นต้นไป การเรียนไม่สม่ำเสมอ เพราะมีกิจที่ต้องขึ้นไปสุโขทัยบ่อย ๆ ส่วนใหญ่ก็ไปเทศน์ตามที่ทางเจ้าภาพเจาะจงนิมนต์ให้ขึ้นไปเทศน์ การเดินทางสุโขทัย-กรุงเทพฯ สมัยนั้นแม้จะมีรถ บ.ข.ส.ประจำทางก็ไม่สะดวกนัก ข้ าพเจ้าเลือกใช้การรถไฟสายเหนือจากกรุงเทพฯ ถึงพิษณุโลก แล้วต่อรถเมล์ประจำทางไปสุโขทัย ค่าโดยสารรถไฟข้าพเจ้าไม่ต้องเสีย เพราะมีหนังสือยกเว้นค่าโดยสารจากกองงานพระธรรมทูต (ข้าพเจ้าเป็นพระธรรมทูตภายในประเทศ) ยื่นหนังสือยกเว้นค่าโดยสารให้นายสถานีรถไฟ เขาก็รับเอาไปเก็บเงินจากกองงานพระธรรมทูตตามระเบียบราชการ เพื่อนพระนักเทศน์จังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลกจะรับรายการเทศน์ไว้ให้ข้าพเจ้าไปเทศน์เหมือนสมัยที่ยังอยู่สุโขทัย บางเที่ยวก็ไปแค่พิษณุโลก เทศน์หมดรายการแล้วก็กลับเข้ากรุงเทพฯ เรียนหนังสือต่อ เป็นอย่างนี้เสมอ
ชุมชนชาววัดใหม่อมตรสด้านใต้วัดมีตรอกทางเดินเลียบกำแพงวัดที่มีบ้านเรือนหนาแน่น ตรงข้ามกุฏิข้าพเจ้าเป็นบ้านดาราดังหลังใหญ่ตั้งอยู่ เจ้าของชื่อ แฉล้ม บัวเปลี่ยนสี เป็นบ้านครอบครัวดาราก็ว่าได้ ข้าพเจ้ากับโยมแฉล้ม บัวเปลี่ยนสีคุ้นเคยกัน เพราะเข้ามาสนทนากันเป็นประจำที่กุฏิพระครูชม ตอนนั้นเขาอายุมากแล้ว เป็นตาแก่ผมขาวโพลน พูดเสียงสั่น มือสั่น เหมือนคนแก่อายุ ๘๐ ปีขึ้นไป ได้ทราบว่าโยมแฉล้ม บัวเปลี่ยนสี (สกุลเดิม ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นอดีตดาราภาพยนตร์ไทยยุคบุกเบิก พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๕๐๐ พระเอกหนังบู๊คนแรกของเมืองไทย (ซึ่งเริ่มแสดงหนังและละครเวทีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖) ข้าพเจ้าเรียกเขาว่า โยม เพื่อความสะดวกปาก โยมแฉล้ม มีลูก ๖ คน คนสุดท้องเป็นหญิงชื่อ ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี นางเอกยอดนิยมละครโทรทัศน์หนังทีวีจอแก้วเมืองไทย และนางรองหนังไทยแสดงภาพยนตร์คู่กันกับ เพชรา เชาวราษฎร์ หลายสิบเรื่องด้วยกัน ลูกสาวอีกคนหนึ่งเป็นภรรยาของดารานักแสดงและผู้กำกับชื่อดัง พฤหัส บุญหลง ผู้นำขวัญตา บัวเปลี่ยนสี น้องภรรยาเข้าสู่วงการแสดงจนโด่งดัง ดาราดังอีกคนหนึ่งเป็นลูกสาวนักการเมืองจากจังหวัดนครสวรรค์ รุ่นเดียวกับขวัญตา โยมแฉล้มรักเหมือนลูกสาวคือเยาวเรศ นิสากร จึงเอามาเลี้ยงดูอยู่ในบ้านนี้ เยาวเรศมีสามีชื่อ สมชาย จันทวังโส นักถ่ายภาพมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมช่างภาพ คนนี้อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า และชอบพอคุ้นเคยกับข้าพเจ้าพอสมควร
โยมแฉล้มมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับพระสมเด็จบางขุนพรหม โดยเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการเปิดกรุพระสมเด็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นคนมองการณ์ไกล จึงเช่าบูชาพระสมเด็จบางขุนพรหมไว้มาก ยิ่งไปกว่านั้น ยังขอเช่าบูชาพระสมเด็จองค์ที่ชำรุด บิ่น หัก กู้เงินของธนาคารโดยเอาบ้านไปค้ำประกัน นำเงินมาเช่าบูชาพระสมเด็จที่แตกหักไปทำการบูรณะซ่อมแซมจนเป็นองค์สมบูรณ์ ในการจัดสร้างพระสมเด็จบางขุนพรหมใหม่ที่เรียกกันว่าสมเด็จบางขุนพรหม ๐๙ นั้น โยมแฉล้ม ช่วยแกะทำแม่พิมพ์ด้วยหลายพิมพ์ สมัยนั้นพระสมเด็จบางขุนพรหมมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่นิยมของคนทั่วไปมาก พระสมเด็จบางขุนพรหมที่โยมแฉล้มซ่อมแซมจนเป็นองค์สมบูรณ์หารอยต่อไม่ได้นั้น มีคนขอเช้าบูชาไปหมดสิ้นในเวลารวดเร็ว ไถ่ถอนบ้านดาราจากธนาคารคืนมาในเวลาไม่ถึงสองปี เงินที่เหลือ เป็นกำไรสร้างความร่ำรวยให้แก่โยมแฉล้มไม่น้อย สมัยนั้นฝีมือการซ่อมพระสมเด็จโยมแฉล้มเป็นที่หนึ่งไม่มีมีใครสู้ รอยเชื่อมต่อของพระแกใช้ผงเก่าบางขุนพรหมเป็นตัวเชื่อมจึงดูเก่าเป็นเนื้อเดียวกัน
ทุกครั้งที่รู้ว่าข้าพเจ้าจะเดินทางขึ้นสุโขทัย โยมแฉล้มจะเข้ามาสั่งให้ถือน้ำผึ้งสุโขทัยติดมือกลับไปฝากด้วย แกชอบกินนำผึ้งมาก และรู้เสียด้วยว่าน้ำผึ้งสุโขทัยดีที่สุด ข้าพเจ้าเอาอกเอาใจด้วยหวังได้พระสมเด็จที่แกซ่อมสมบูรณ์ดีแล้วสักองค์ จึงถือน้ำผึ้งติดมือกลับไปฝากแกเสมอ แต่ก็ไม่เคยได้พระสมเด็จสักองค์ ได้เพียงเศษเสี้ยวพระสมเด็จทีละเล็กทีละน้อยเก็บสะสมไว้ ตาแกคนนี้ขี้เหนียวชะมัดเลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๔๓ - มีนักกลอนรุ่นใหญ่ท่านหนึ่งชื่อ พิชัย สันตภิรมย์ รู้จักกับข้าพเจ้าครั้งแรกที่ศาลาลอยหน้ากุฏิสุนทรภู่ คณะ ๖ วัดเทพธิดาราม ตั้งแต่สมัยที่ข้าพเจ้ายังอยู่วัดราชธานี สุโขทัย ทุกครั้งที่ล่องลงกรุงเทพฯ จะแวะเยือนกุฏิสุนทรภู่อันเป็นที่ชุมนุมนักกลอนเสมอ ดูเหมือนว่า พิชัย สันตภิรมย์ จะเป็นทนายความหรือทำงานเกี่ยวกับด้านกฎหมายอะไรนี่แหละ เขาเป็นคนสนใจเรื่องศิลาจารึกสุโขทัยมาก ตอนนั้นข้าพเจ้ากับครูเหรียญชัย จอมสืบ จัดประกวดกลอนและรณรงค์หาเงินสร้างพระอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พิชัย สันตภิรมย์ คนนี้ให้การสนับสนุนเต็มที่ ดูเหมือนว่าตอนนั้นเขากำลังจัดตั้งชมรมนักกลอนแห่งประเทศไทย และตัวเขาเองได้เป็นประธานชมรมนี้ด้วย ในช่วงเวลาที่หลังจากไฟไหม้สุโขทัย ข้าพเจ้เหินห่างว่างเว้นการติดต่อกับท่านผู้นี้ไป
ครั้นกลับเข้าอยู่กรุงเทพฯ อีกครั้ง ก็เป็นเวลาที่ท่านเพลามือจากวงการกลอนแล้ว สำนักงานหรือร้านค้าของท่านชื่อ พิมลชัยศึกษาการณ์ ร้านของเล่น อยู่ริมถนนประชาธิปไตย ข้างวัดมงกุฎกษัตริยาราม ไม่ไกลจากวัดใหม่อมตรสนัก ข้าพเจ้าจึงเดินจากวัดไปพบท่านที่ร้านนี้บ่อย ๆ ในร้านของท่านจะตั้งหลักศิลาจารึกสุโขทัยจำลองหลักที่ ๑ ไว้ดูเด่นเป็นสง่า ได้สนทนากับท่านแล้วเพิ่มพูนความรู้แก่ข้าพเจ้ามากขึ้น ท่านเล่าว่าแต่ก่อนนี้พูดไม่คล่อง ตะกุกตะกักเหมือนคนติดอ่าง จึงเข้าร่วมในชมรมฝึกพูดเพื่อหัดพูดและวางท่าทางบุคลิกลักษณะ สมาชิกในชมรมเป็นกรรมด้วยผู้ร่วมฝักหัดด้วย คือทุกคนต้องเป็นผู้ฝึกหัดเหมือนกันหมด เวลาเราฝึกหัดทุกคนจะนั่งดูผู้ที่จะเริ่มฝึกหัดพูด คอยจับผิดตั้งแต่ลุกยืน เดินจากที่จนถึงจุดที่กำหนดให้ยืนพูด การยืนพูด การใช้เสียงพูด การพูดนั้นมีเอ้อ มีอ้า กี่คำ เมื่อพูดจบแล้วก็ให้สมาชิกกล่าวตำหนิว่ามีอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข คำชมไม่ต้องกล่าว หลายคนที่เข้าฝึกหัดในชมรมนี้กลายเป็นนักพูดที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เป็นต้น ท่านพิชัยเองก็หายอาการติดอ่างแต่นั้นมา
สมัยนั้นมีการตั้งชมรมฝึกหัดการพูดขึ้นหลายแห่ง ทั้งในวัดและในสถาบันการศึกษา จึงปรากฏว่ามีนักพูดเก่ง ๆ บุคลิกดีหลายท่าน ข้าพเจ้าเคยเข้าร่วมชมรมฝึกหัดการพูดกับเขาด้วย เมื่อถึงคิวพูดข้าพเจ้าก็เดินสู่โพเดียมแบบธรรมดาเหมือนที่เคยเดินขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เวลาพูดก็พูดแบบที่เคยแสดงปาฐกถาธรรมเหมือนอย่างท่านอาจารย์ปัญญานันทะ พูดจบแล้วได้รับคำตำหนิจากสมาชิกที่เป็นกรรมการน้อยที่สุด อาจารย์ผู้ควบคุมการฝึกหัดพูดถามว่าท่านเคยฝึกหัดพูดที่ไหนมาก่อนหรือ ข้าพเจ้าตอบว่าไม่เคยเลย เคยแต่เทศน์และแสดงปาฐกถาตามวัดตามบ้านตามโรงเรียนเท่านั้น อาจารย์ร้องอ้อ... แล้วว่า ต่อไปนี้ท่านไม่ต้องฝึกหัดกับเขาแล้ว ขอนิมนต์มาเป็นผู้ควบคุมการฝึกหัดพูดเถิด
ข้าพเจ้าจับจุดได้ว่าการพูดในที่ชุมชนทั่วไป สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ เตรียมเรื่อง แนวทางพูดไว้ในใจ แล้วพูดด้วยความเชื่อมั่นในความคิดเห็นของตนเอง พูดโดยไม่ต้องกลัวผิด ไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนชอบหรือไม่ชอบ คนที่ฝึกหัดการพูดบางคนเดินสู่โพเดียมที่ยืนพูดด้วยลักษณะอาการขาแขว่งเหมือนคนเมากัญชายาฝิ่น เพราะใจขลาดหวาดกลัว ขาดความองอาจสง่าผ่าเผย เวลาพูดก็วางระดับเสียงไม่ถูก บางคนส่งเสียงดังแบบตะโกน บางคนพูดเสียงเบาแบบกระเส่า พูดเอ้อ ๆ อ้า ๆ เป็นคนติดอ่าง คิดอะไรไม่ออก บอกอะไรไม่ถูก พระนักเทศน์จะผ่านอาการเหล่านั้นมาแล้ว เมื่อมาฝึกหัดการพูดจึงไม่มีปัญหาอะไรนัก
น้อง ๆ นักกลอนย่านวัดพระยาไกร ยานนาวา จัดตั้งชมรมฝึกหัดการพูดที่วัดราชสิงขร ขอให้ข้าพเจ้าไปเป็นวิทยากรประจำ ที่นี่มีสมาชิกเข้าฝึกหัดการพูดทั้งพระ เณร และนักเรียนนักศึกษาเกือบร้อยคน หลังจากเปิดอบรมฝึกหัดกันได้เดือนกว่า ๆ สมาชิกค่อย ๆ หดหายไปทีละคนสองคน สอบถามเพื่อน ๆ ที่ยังอยู่แล้วได้ความว่า พวกเขาพิจารณาตัวเองแล้วเห็นว่าจะเอาดีทางการพูดไม่ได้ จึงเลิกราไป นี่ก็เพราะการเป็นนักพูดที่ดีนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๔๔ - มีนักกลอนอาวุโสท่านหนึ่งที่ควรเรียกได้ว่า “เป็นปูชนียบุคคลของชาวนักกลอน” เมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน ท่านคือคนที่พวกเราเรียกกันด้วยความเคารพรัก นามว่า “สถิตย์ เสมานิล” ข้าพเจ้าพบและรู้จักมักคุ้นท่านที่ศาลาลอยของสุนทรภู่ในวัดเทพธิดาราม ซึ่งตอนนั้นท่านมีอายุมากแล้วคะเนดูว่าใกล้จะ ๗๐ ปีกระมัง ท่านมักจะไปนั่งที่ศาลาลอยหน้าห้องพักนอนของสุทรภู่ มีนักกลอนหนุ่มสาว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปนั่งรายล้อมสนทนาปราศรัยรับความรู้นานาจากท่าน เท่าที่ยังจำได้ก็มี ทวีสุข ทองถาวร ถาวร บุญปวัตน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นิภา บางยี่ขัน ดวงใจ รวิปรีชา วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นต้น นอกจากนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์แล้ว ก็มีจาก ม.จุฬาฯ เช่น จินตนา ปิ่นเฉลียว และอีกหลายคน นักกลอนนอกรั้วมหาวิทยาลัย เท่าที่จำได้ก็มี ส.เชื้อหอม กรองแก้ว เจริญสุข ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร นุกูล บัวทอง ยุรี คุณกิตติ วัลภา พาทยกุล นิรันดร์ แสงจันทร์ มนัส แช่มเชี่ยวกิจ เจตน์ อติจิต ผันวงษ์ดี เป็นต้น
วันใดที่พวกหนุ่มสาวนักกลอนจากรั้วมหาวิทยาลัยติดการเรียน ไม่ได้ไปที่ศาลาลอยนั้น ข้าพเจ้าก็จะมีโอกาสได้สนทนากับท่านได้อย่างเต็มอิ่ม ประวัติชีวิตของท่านเป็นมาอย่างไรท่านไม่เคยบอกเล่า จึงรู้แต่เพียงว่าท่านเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์อาวุโส เวลานั้นท่านประจำอยู่หนังสือพิมพ์ชาวไทย เป็นนักคิดนักเขียนที่มีคุณภาพมาก ข้อเขียนของท่านที่มีการพิมพ์รวมเป็นเล่มคือ วิสาสะ ๑-๒ ที่นักอ่านคุ้นกันดี ข้าพเจ้าชอบฟังท่านเล่าเกร็ดวรรณดคีเรื่องต่าง ๆ เช่นขุนช้างขุนแหน อิเหนา เป็นต้น เฉพาะเรื่องอิเหนานั้น ท่านเล่าตอนที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แต่งบทละครเรื่องอิเหนาตอนบุษาเล่นธารตามรับสั่งพระราชบิดา ความตอนหนึ่งว่า
“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัว ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร ตูมตั้งบังใบอรชร”
เมื่อทรงแต่งเสร็จแล้ว ตอนเย็นวันนั้นก็นำไปให้ขุนสุนทรโวหาร (ภู่) อ่านทานแก้ไขดูก่อนที่จะนำขึ้นถวายในที่ประชุมกวีในวันพรุ่ง ขณะนั้นสุนทรภู่ร่ำสุราเข้าไปจนเมาได้ที่ อ่านบทกลอนทั้งหมดแล้ว ถูกใจตรง ๔ วรรคนี้มาก ถึงกับตบเข่าฉาด กล่าวชมว่าตรงนี้ไพเราะมาก เห็นภาพชัดแจ๋วเลย วันรุ่งขึ้น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นำกลอนละครสำนวนนี้เข้าสู่ที่ประชุมกวีต่อหน้าพระพักตร์ ทรงอ่านถึงตรงที่ว่า ”น้ำใสไหลเย็นเห็นตัว ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว” สุนทรภู่ทักว่า “เห็นตัวอะไร” พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับคำทักนั้น จึงเปลี่ยนความเสียใหม่ว่า “น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว” กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงโกรธสุนทรภู่มาก กลอนละครเรื่องอิเหนาตอนบุษยาเล่นธารหรือบุษบาลงสรงจึงมีความเต็ม ๆ ว่าดังนี้
“นางจึงสรงสนานในสระศรี กับกำนัลนารีเกษมศานต์ หอมกลิ่นโกสุมปทุมมาลย์ อายอบชลธารขจรไป น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว นิลุบลพ้นน้ำขึ้นรำไร ตูมตั้งบังใบอรชร ดอกขาวเหล่าแดงสลับสี บานคลี่ขยายแย้มเกสร บัวเผื่อนเกลื่อนกลาดในสาคร บังอรเก็บเล่นกับนารี นางทรงหักห้อยเป็นสร้อยบัว สวมตัวกำนัลสาวศรี แล้วปลิดกลีบปทุมมาลย์มากมี เทวีลอยเล่นเป็นนาวา ลางนางบ้างกระทุ่มน้ำเล่น บ้างโกรธว่ากระเซ็นถูกเกศา บ้างว่ายน้ำแซงแข่งเคียงกันไปมา เกษมสุขทุกหน้ากำนัลใน ฯ”
อันที่จริงกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงแต่งกลอนหมายใจให้ออกรสกวีเป็นนารีปราโมทย์ เพื่อคนอ่านจินตนาการเห็นนางบุษบากับนางกำนัลเปลือยกายลงเล่นน้ำในสระศรีที่เต็มไปด้วยกอบัว น้ำในสระใสจนมองเห็นตัวนางบุษยาและนางกำนัลว่ายแหวกกอบัวกันอยู่ แลเห็นปทุมถันที่ปริ่มน้ำบ้าง โผล่ขึ้นพ้นน้ำบ้าง (มีทั้งบัวตูมบัวบาน) เป็นที่น่าทัศนายิ่งนัก แต่เมื่อถูกสุนทรภู่ทักจนต้องเปลี่ยนไปเป็นเห็นตัวปลาแทนตัวนาง กลอนก็แปรรสนารีปราโมทย์เป็น เสาวรจนี คือการพรรณนาธรรมชาติไปอย่างน่าเสียดาย
อาจารย์สถิตบอกเล่าเกร็ดอิเหนาตรงนี้แล้วก็สรุปว่า “ผมชอบต้นฉบับที่กรมหมื่นเจษฎาฯ ทรงแต่งมากกว่าฉบับที่แก้ไข หรือท่านเห็นอย่างไร” ข้าพเจ้าก็คล้อยตามว่า อาตมาเห็นด้วยกับอาจารย์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๔๕ - ข้าพเจ้าอยู่กรุงเทพฯ โดยไม่ตัดขาดสุโขทัย จึงมีสภาพเป็น ”พระสองวัด” ว่างจากการเรียนก็ขึ้นไปอยู่วัดไทยชุมพลเมืองสุโขทัย ช่วยงานท่านพระครูสุภัทรธีรคุณ (มหาดำรงค์) ซึ่งระยะหลัง ๆ นี้พระมหาเปรียญศิษย์ท่านที่ช่วยงานอยู่ได้สึกหาลาเพศไปเกือบหมดแล้ว ส่วนทางวัดราชธานีนั้นเกิดเรื่องไม่ดีหลายอย่าง กล่าวคือ พระพุทธรูปที่ขุดขึ้นมาจากใต้ดินตรงวิหารหลวงพ่องามและเก็บรวมไว้ในห้องพระครูปลัดแถว อันเป็นสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดด้วยนั้น ถูกคนร้ายงัดแงะในขณะที่พระครูปลัดแถวลงไปทำธุระในกรุงเทพฯ พระพุทธรูปองค์งาม ๆ นับสิบองค์หายไปอย่างไร้ร่องรอย หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณก็มีอาการเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ บางคราวป่วยหนักจนต้องนำตัวเข้ากรุงเทพฯ ให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ทราบว่าในการดูแลเรื่องการเจ็บป่วยของท่านนั้น นายนาคผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารพาณิชย์องวัดคือผู้รับเป็นธุระจัดการทั้งหมด
กลับจากสุโขทัยไปเยี่ยมไข้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ ท่านเห็นหน้าข้าพเจ้าแล้วดีใจมาก ในการสนทนาถึงเรื่องราวของวัดราชธานีตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า
“แกกลับไปอยู่วัดราชธานีตามเดิมเถอะ วัดเราไม่มีใครจัดการดูแลได้ดีกว่าแกแล้ว เมื่อสิ้นข้าเสียคนหนึ่งคงจะวุ่นวายมาก”
ข้าพเจ้าบอกท่านว่า “ผมมีโครงการจะสึกในไม่นานนี้แล้วครับ คงกลับไปอยู่วัดราชธานีไม่ได้หรอก แต่จะช่วยดูแลอยู่ห่าง ๆ ก็แล้วกัน หลวงพ่อไม่ต้อเป็นห่วง ขอให้ทำใจสบาย ๆ อาการป่วยจะได้หายเร็วขึ้น” พอนายนาคโผล่เข้าไปในห้องผู้ป่วย ข้าพเจ้าก็กราบลาท่านกลับวัด เพราะไม่ชอบหน้านายนาคนัก การที่บอกกับท่านว่ามีโครงการลาสิกขาก็เพื่อให้ท่านหมดหวังที่จะเอาตัวข้าพเจ้ากลับไปอยู่วัดราชธานีนั่นเอง
รายการเทศน์ของข้าพเจ้ามีมากขึ้นกว่าเดิม เพราะสนามเทศน์มีทั้งสุโขทัย พิษณุโลก แล้วเพิ่มในพื้นที่ภาคกลางอีก โดยพระคู่เทศน์ในกรุงเทพฯ มีหลายองค์ เช่น พระครูกิตติสุนทร (สมนึก) วัดเทพากร พระมหาบำรุงวัดชนะสงคราม พระมหาสวัสดิ์วัดเลียบ และ พระมหาวิรัติ ป.ธ.๙ วัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น พระกลุ่มนี้มีรายการเทศน์มาก คู่เทศน์ที่ถูกคอกันมีน้อย จึงนับข้าพเจ้าเข้ากลุ่มด้วย พระมหาบำรุงเป็นชาวจังหวัดพิจิตรจึงรับเทศน์ในจังหวัดพิจิตรด้วย คราวหนึ่งท่านรับเทศน์หกกษัตริย์ (พระเวสสันดร) ที่วัดเทวประสาท อ.ตะพานหิน เรื่องนี้เทศน์แบบสมมุติเป็นตัวละครต้องใช้พระเทศน์ ๖ องค์ กำหนดตัวไว้จากกรุงเทพฯ ๓ องค์ คือพระมหาวิรัตน์ วัดโพธิ์ พระมหาบำรุง วัดชนะสงคราม พระมหาสวัสดิ์ วัดเลียบ จากสุโขทัย ๓ องค์ มี ข้าพเจ้า พระครูประคอง พระอาจารย์เพ็ญ พระสองคณะนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ และพิษณุโลกไปเจอกันที่ตะพานหินตามนัด
“วัดเทวประสาท ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยเกตุ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หลวงพ่อโต ปางประทานพร ขนาดใหญ่ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "พระพุทธเกตุมงคล" ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง หน้าตักกว้าง ๒๐ เมตร เฉพาะองค์พระสูง ๓๐ เมตร แท่นสูง ๔ เมตร รวมความสูงทั้งสิ้น ๓๔ เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสวยงามได้สัดส่วนและใหญ่ที่สุดของจังหวัดพิจิตร” พระพุทธรูปใหญ่องค์นี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าไปเทศน์ที่วัดนี้ไม่นานนัก ดูเหมือนว่าทางจัดจัดเทศน์หกกษัตริย์ขึ้นเพื่อฉลองหลวงพ่อโต “พุทธเกตุมงคล” เป็นอีกแบบหนึ่งของพระพุทธรูปปางประทานพร ที่พบเห็นทั่วไปจะเป็นแบบพระพุทธรูปประทับนั่งหรือยืน ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นในท่าประทานพร แต่หลวงพ่อโตวัดเทวประสารทนี้ ประทับนั่งสมาธิราบ วางพระหัตถ์ขวาแบบนพระเพลา พระมหาวิรัติพูดหยอกเย้าพระมหาบำรุงว่า พระประทานพรของพิจิตรดูเหมือน “พระขอพร ไม่ใช่ให้พร” นะเนี่ย
เทศน์วันนั้นหลังจากจัดสรรตำแหน่งหน้าที่กันแล้ว พระมหาวิรัติ เป็นพระเวสสันดร พระมหาบำรุงเป็นพระนางมัทรี พระครูประคองเป็นพระเจ้ากรุงสญชัย พระมหาสวัสดิ์เป็นพระนางผุสดี พระอาจารย์เพ็ญเป็นชาลีกัณหา ข้าพเจ้าหนีไม่พ้นตำแหน่งชูชก พระครูประคองบอกว่าไม่มีใครเป็นชูชกได้ดีกว่าข้าพเจ้า สำหรับพระมหาวิรัตินั้นท่านเป็นรุ่นพี่ข้าพเจ้า จากลูกคนจีนชาวอำเภอบางเลน สายตาสั้นใส่แว่นสายตาหนาเตอะ ถ้าถอดแว่นแล้วมองอะไรไม่ค่อยเห็น จำหน้าใครไม่ได้ เป็นคนขยันเรียน บวชเป็นเณรเรียนนักธรรม บาลี จนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ความจำดี เทศน์ดี เพราะเป็นสมาชิกสภาธรรมกถึกวัดพระเชตุพนฯ การเทศน์วันนั้นอยู่ในความควบคุมของท่านทั้งหมด
หลังจากข้าพเจ้าแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์แบบย่อและสมมุติตำแหน่งหน้าที่แล้ว พระมหาวิรัติก็ดำเนินเรื่องตั้งแต่กัณฑ์ทศพรจนเข้าเรื่องทานกัณฑ์ กัณฑ์นี้พระมหาบำรุงผู้เป็นพระนางมัทรีแหล่เรื่องหญิงม่ายทั้งแหล่นอกแหล่ในได้ดีมาก จากทานกัณฑ์ผ่านวันประเวศที่ไม่มีลูกเล่นอะไร พระมหาวิรัติจึงบรรยายความผ่าไปเข้าสู่กัณฑ์ชูชก ในกัณฑ์ชูชกนี้เรามีลูกเล่นกันมากหน่อย พระอาจารย์เพ็ญเป็นนางอมิตดาอีกตำแหน่งหนึ่ง เขาแหล่ตอนชูชกพานางได้ดีมากทีเดียว เรื่องดำเนินไปจนถึงชูกชกขอชาลีกัณหาได้แล้วก็พาเดินป่ากลับเมือง ในกัณฑ์มหาราชที่ชูชกพาสองกุมารรอนแรมในป่า ชูชกที่ฉุดกระชากลากตีสองกุมารจากอาศรมมาถึงกลางป่าแล้วเอาเถาวัลย์ผูกมัดชาลีกัณหาไว้โคนไม้ ตนเองเองขึ้นไปผูกแปลนอนเอกเขนกอยู่บนคาคบไม้ ตอนนี้อาจารย์เพ็ญที่เป็นกัณหาก็แหล่นอกในความที่กัณหาคร่ำครวญหวนไห้อย่างน่าสงสาร คนฟังที่เป็นหญิงใจอ่อนถึงกับร้องไห้โฮ แล้วตะโกนด่าชูชกด้วยความโกรธแค้น
หลังจบเทศน์มหาวิรัติชอบใจมาก บอกว่าข้าพเจ้ากับอาจารย์เพ็ญแสดงเข้าถึงบทบาทได้ดีจนคนฟังเกิดปฏิกิริยาดังกล่าวแล้ว โธ่....ข้าพเจ้าไม่คิดจะให้คนเกลียดชูชกซักกะหน่อย /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|