Username:
Password:
บ้านกลอนน้อยฯ
ช่วยเหลือ
ค้นหา
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล
>>
บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา
>>
ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม
>>
เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
หน้า:
1
[
2
]
3
4
...
6
ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓) (อ่าน 67403 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #15 เมื่อ:
24, กรกฎาคม, 2566, 11:44:15 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
<<<
ก่อนหน้า
ต่อไป
>>>
.
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๖ -
ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังสนุกอยู่กับการทำงานศาสนาและสังคมอยู่นั้น ก็มีเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ แทรกเข้ามาโดยไม่รู้ตัว มารู้ภายหลังว่าโยมปวารณาคนหนึ่งเป็นหญิงม่ายอายุ ๖๐ เศษแล้ว โยมคนนี้รักข้าพเจ้าเหมือนลูกชายคนหนึ่ง นางมีลูกชายสองคนอยู่แล้วเป็นข้าราชการตำรวจและมีอายุมากกว่าข้าพเจ้า เย็นวันหนึ่งโยมหญิง (ขอสงวนนาม) คนนั้นเข้ามาหาที่กุฏิแสดงอาการท้อแท้ กล่าวกับข้าพเจ้าว่า “โยมหมดปัญญาแล้วลูกพระ” จึงถามว่ามีเรื่องอะไรหรือโยม นั่นแหละโยมแม่ก็เล่าให้ฟัง เป็นเรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าตกใจมาก
เรื่องมีอยู่ว่า หลวงตาสอน พระสูงอายุวัยเจ็ดสิบเศษอยู่กุฏิด้านใต้โรงเรียนวินัยสาร ไม่รู้หลวงตานึกสนุกอะไรขึ้นมา แกเห็นโยมหญิงปวารณาเข้ามาหาข้าพเจ้าเป็นประจำจึงบอกว่า “ลูกพระจะสึกแล้ว หาเมียให้ลูกพระสักคนนะ” โยมหญิงฟังดังนั้นก็ไม่ได้ถามข้าพเจ้าว่าจะสึกจริงหรือไม่ นางไปเที่ยวติดต่อหญิงสาวในตลาดเมืองสุโขทัยหลายคน แต่ละคนที่นางไปทาบทามแล้วนำไปบอกหลวงตาสอนนั้นให้ถามข้าพเจ้าว่าชอบไหม หลวงตาสอนเก็บเรื่องไว้สองสามวันจึงบอกนางว่าคนนี้ลูกพระไม่ชอบ นางก็ไปทาบทามคนใหม่แล้วมาบอกหลวงตาสอน หลวงตาบอกว่าคนนี้ลูกพระก็ไม่ชอบ เป็นอย่างนี้หลายคน จนนางมาบอกข้าพเจ้าว่า “โยมหมดปัญญาแล้ว” เมื่อฟังเรื่องราวที่นางบอกเล่าหลังจากหายตกใจแล้วก็บอกนางว่า ไม่รู้เรื่องที่หลวงตาสอนก่อขึ้นเลย และยังไม่เคยคิดจะสึกด้วย ขออย่าได้ไปติดต่อทาบทามใครให้ลูกพระเสียหายอีกนะ
หญิงสาวที่โยมปวารณาไปติดต่อนั้น บางคนข้าพเจ้าก็รู้จักหน้าค่าตาแต่ไม่เคยสนทนาวิสาสะด้วย บางคนก็ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาเธอเลย รู้สึกแปลกใจอยู่เหมือนกันที่ทุกครั้งเมื่อพบหน้าหญิงสาวบางคนเธอมักจะยิ้มให้ในอาการขวยเขิน ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร พอมารู้เรื่องที่โยมปวารณาไปติดต่อทาบทามเธอ จึง “ถึงบางอ้อ” อย่างเช่นสาวใหญ่เจ้าของร้านทองคนหนึ่ง เธอมีอายู่รุ่นเดียวกับพี่สาวของข้าพเจ้า จึงเรียกเธอว่าพี่ ทุกเช้าที่เดินออกบิณฑบาตต้องผ่านหน้าร้านเธอ ระยะหลัง ๆ เธอจะรอใส่บาตรข้าพเจ้าทุกวัน ทุกวันพระตอนเช้าก็จะปิดร้านขึ้นไปทำบุญและฟังข้าพเจ้าแสดงปาฐกถาธรรมบนศาลาไม่ยอมขาด โยมปวารณาบอกข้าพเจ้าว่าสาวเจ้าของร้ายทองคนนี้เขารักลูกพระมาก สึกเมื่อไหร่ไปอยู่กับเขาได้เลย บอกโยมหญิงไปว่าลูกพระยังไม่คิดเรื่องอย่างนั้น ยังไม่ต้องไปพูดเรื่องนี้กับเขานะ
ดูเหมือนโยมหญิงของข้าพเจ้าประสาทไม่ปกติ วันหนึ่งนางมาบอกข้าพเจ้าอีกว่า
“คนโน้นก็ไม่ชอบ คนนี้ก็ไม่ชอบ งั้นลูกพระรอหน่อยนะ รอให้หลานหมูเรียนจบก่อน เอาหลานสาวโยมก็แล้วกัน”
จะไปกันใหญ่แล้วโยมเรา หลานสาวโยมคนนั้นเป็นนักเรียนมัธยมกำลังเป็นสาววัยใส ปกติมักจะนำอาหารใส่ปิ่นโตมาถวายข้าพเจ้าที่กุฏิ ระยะหลัง ๆ เธอถวายปิ่นโตโดยไม่มองหน้าข้าพเจ้า เห็นจะเป็นเพราะโยมหญิงซึ่งเป็นคุณย่าของเธอบอกเรื่องว่าเรียนจบแล้วจะให้เป็นภรรยาข้าพเจ้านี่เอง เธอคงอายหรือไม่พอใจก็ได้ ด้วยเกรงว่าเรื่องจะไปกันใหญ่ วันหนึ่งเมื่อเธอนำปิ่นโตมาถวายตามปกติ ข้าพเจ้าบอกให้นั่งรอก่อน
“หลวงอามีเรื่องที่จะต้องพูดกับเธอนะ โยมย่าพูดกับเธอหลังจากเรียนจบจะให้มีคู่ครองแล้วใช่ไหม”
เธอก้มหน้านิ่ง จึงกล่าวต่อไปว่า “หลวงอาไม่เคยคิดกับเธอในเรื่องอย่างนั้นเลยนะ อย่าไปฟังคุณย่า ขอให้ตั้งใจเรียนจนจบด้วยดีแล้วแต่งงานกับคนที่เธอชอบ เพราะการแต่งงานเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต ต้องคิดให้รอบคอบ รักใครชอบใครก็รักด้วยเหตุผล ชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ หลวงอายังไม่คิดจะสึก เธอไม่ต้องกังวลในหลวงอา หลวงอามีความรู้สึกจริง ๆ ว่าเธอคือหลานสาวคนหนึ่งไม่เคยคิดเป็นอื่น เรื่องที่พูดกับเธอวันนี้ขออย่าไปบอกกับโยมย่าและใคร ๆ นะ” /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ข้าวหอม
,
หยาดฟ้า
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
ต้นฝ้าย
,
มนชิดา พานิช
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
เป็น อยู่ คือ
,
malada
,
คิดถึงเสมอ
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #16 เมื่อ:
25, กรกฎาคม, 2566, 10:46:27 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
วัดตระพังทอง
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๗ -
ที่คณะศาลาการเปรียญวัดราชธานีมีพระภิกษุพิการทางสายตาองค์หนึ่งชื่อพระเพ็ญ อายุ ๓๐ ปีเศษ เดิมเป็นคนชาวบ้านขวาง อายุพรรษาได้เกณฑ์เป็นเจ้าอาวาสได้แล้ว แต่เพราะเป็นผู้พิการทางสายตา จึงไม่เป็นที่ยอมรับของกรรมการวัดบ้านขวาง ท่านเล่าว่าสมัยเด็กสายตาดีเหมือนคนทั่วไป ต่อเมื่อบวชเป็นพระแล้วสายตาเริ่มพร่ามัว หลังจากสอบนักธรรมชั้นตรีได้แล้วสายตายพร่ามัวมากจนอ่านหนังสือไม่ได้ หัดเทศน์มหาชาติตั้งแต่บวชได้ ๒ พรรษา กัณฑ์ที่ถนัดคือ กุมาร มหาพน นอกนั้นก็เทศน์ได้ทุกกัณฑ์ ท่านแหล่กัณฑ์มหาพนได้โดดดิ้นดีนัก มีผู้มานิมนต์ไปเทศน์ตามวัดต่าง ๆ ทั่วไป จนชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนชอบฟังเทศน์แหล่ในสุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ข้าพเจ้าบอกให้ท่านหัดเทศน์ธรรมะแบบคาบลูกคาบดอกบ้าง เทศน์เรื่องสมมุตติเป็นตัวละครบ้าง ท่านก็พยายามทำตามคำแนะนำ ข้อเสียของท่านคือสายตาพิการ เดินเหินไม่สะดวกนัก ต้องมีคนคอยช่วยในการเดินผ่านกลุ่มคนที่นั่งในศาลาไปขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ไม่อย่างนั้นจะเดินสะดุดสำรับกับข้าวและผู้คน
ในพรรษาปี ๒๕๑๐ นั้น พระมหาธวัชวัดตระพังทองจัดเทศน์มหาชาติ ๖ ธรรมาสน์ที่เรียกกันว่า “หกกษัตริย์” นิมนต์พระเทศน์ในเมืองสุโขทัยทั้งหมด มีพระครูอุทัยสุขวัฒน์ (สวง) วัดบางคลอง พระครูสุภัทรธีรคุณ (ดำรงค์) วัดไทยชุมพล พระครูใบฎีกาประคอง วัดกำแพงงาม (บ้านกล้วย) อาจารย์เพ็ญ และ ข้าพเจ้า วัดราชธานี กับพระมหาธวัชด้วยเป็น ๖ องค์ กำหนดเทศน์ในเวลากลางคืน ก่อนเทศน์ก็ตกลงแบ่งตำแหน่งหน้าที่กัน พระครูสุภัทรธีรคุณ เป็นพระเวสสันดรและพรานเจตบุตร พระครูอุทัยสุขวัฒน์ เป็นพระพระเจ้ากรุงสญชัยและพระอินทร์แปลง พระครูใบฎีกาประคอง เป็นพระนางผุสดี และพราหมณ์ที่รับฝากทองของชูชก พระมหาธวัช เป็นพระนางมัทรี พระอาจารย์เพ็ญ เป็นชาลี-กัณหา และนางอมิตตดา ในที่สุดข้าพเจ้าก็หนีไม่พ้นตำแหน่งชูชก ซึ่งเขาว่ากันว่าเป็นตัวเอกของเรื่อง
เป็นความบังเอิญหรืออย่างก็ไม่ทราบ คืนนั้นโรงหนังที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดตระพังทองมีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายตรงกับเวลาที่พวกเราเทศน์กันพอดี เสียงโฆษณาชวนเชิญชมภาพยนตร์จากโรงหนังดังเข้ามาในวัดเหมือนเขาจงใจชวนคนในวัดออกไปดูหนังในโรงของเขา ทางวัดตระพังทองก็บรรเลงเพลงปี่พาทย์ออกเครื่องกระจายเสียงประชันกับเสียงโฆษณาหนัง พอได้เวลาเทศน์พวกเราขึ้นธรรมาสน์ ทางโรงหนังเขาก็ได้เวลาฉายหนังจึงปิดเสียงภายนอกโรง เสียงจากวัดไม่ปิด ข้าพเจ้าเริ่มดำเนินเทศนาอานิสงส์หน้าธรรมาสน์และสมมุติตำแหน่งหน้าที่ จากนั้นก็เข้าเรื่องเทศน์ตามตำแหน่งหน้าที่ต่อไป เสียงพูดเสียงร้องแหล่ด้วยเครื่องกระจายเสียงดังไปทั่วบริเวณ พอเรื่องดำเนินถึงกัณฑ์ชูชก ทั้งเพื่อนพระเทศน์และคนฟังขอให้ชูชกร้องเพลงขอทาน จริง ๆ แล้วข้าพเจ้าร้องไม่เป็น จึงขอให้อาจารย์เพ็ญร้องนำ เขาร้องไปได้หน่อยก็ขอให้ข้าพเจ้าร้องต่อ ข้าพเจ้าก็เกิดหน้าด้านขึ้นมา แทนที่จะร้องเพลงขอทานกลับร้องเพลงหนังตะลุงมโนราห์ คราวนี้พวกเราทุกคนบนธรรมาสน์ก็ร้องตะลุง โนราและขอทานกันสนุกสนาน เสียงดังเข้าไปในโรงหนัง คนดูหนังไม่ทันจบเรื่องก็ทยอยกันออกจากโรงหนังมาดู (ฟัง) พระเทศน์แทบหมดโรง
เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่าพระเทศน์จะชนะภาพยนตร์ได้ โดยที่พวกเราไม่คิดจะเอาชนะเลย วันนั้นพวกเราเทศน์กันสนุกจนลืมตัวขาดสมณะสารูปอย่างไม่ตั้งใจ
วันต่อมาได้พบกับกำนันจิตร พ่วงแผน เจ้าของโรงหนัง เขาต่อว่าพระเทศน์อะไรกันอย่างนั้น ดีที่ขายตั๋วโรงหนังเก็บเงินหมดแล้ว หาไม่ทางโรงหนังก็ขาดทุนยับเยินแน่ ๆ ต่อไปจะไม่เอาหนังเข้าโรงตรงกับวันที่พระเทศน์อีกแล้ว
ขอกล่าวถึงวัดตระพังทองอีกครั้ง “วัดนี้ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๔๔ ไร่ อาณาเขต ทิศเหนือยาว ๕ เส้น ๑๐ วา ทิศใต้ยาว ๓ เส้น ๑๐ วา ติดต่อกับสวนป่ากล้วยของชาวบ้าน ทิศตะวันออก ยาว ๘ เส้น ติดต่อกับหมู่บ้านประชาชน ทิศตะวันตกยาว ๘ เส้น ติดต่อกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ที่มุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และมีสระน้ำโบราณหลายสระบริเวณพื้นที่วัดตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเก่า สภาพแวดล้อมเป็นหมู่บ้าน ประชาชนและมีถนนหนทางติดต่อคมนาคมสะดวก อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถ หอสวดมนต์ กุฎีสงฆ์ จำนวน ๗ หลัง สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” เป็นพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย รอยพระพุทธบาทจำลองขนาดกว้าง ๔ ฟุต ๑๐ นิ้ว ยาว ๖ ฟุต ๘ นิ้ว สลักบนแผ่นหินศิลาเป็นรอยพระบาทเบื้องขวาที่ขอบมีดอกจันโดยรอบ ๕๔ ดอก ภายในเป็นรูปชาดกต่าง ๆ ผู้สร้างคือพระมหาธรรมราชาที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒ และมีเจดีย์ทรงลังกาขนาดฐานกว้าง ๘ วา สูง ๑๒ วา ศิลปะการก่อสร้างเป็นสกุลช่างสมัยสุโขทัย” ความนี้คัดย่อ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้อมูลที่ว่า “รอยพระพุทธบาทจำลองขนาดกว้าง ๔ ฟุต ๑๐ นิ้ว ยาว ๖ ฟุต ๘ นิ้ว สลักบนแผ่นหินศิลาเป็นรอยพระบาทเบื้องขวาที่ขอบมีดอกจันโดยรอบ ๕๔ ดอก ภายในเป็นรูปชาดกต่าง ๆ ผู้สร้างคือพระมหาธรรมราชาที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒” นั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ที่จริงรอยพระพุทธบาทนี้ พระยาเลอไทธรรมิกราช พระราชโอรสพ่อขุนรามคำแหง ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๔๒ – ๑๘๖๖ นาน ๒๔ ปี ทรงให้ช่างชาวสุโขทัยไปขอจำลองรอยพระพุทธบาทจากเขาสุมนกูฏลังกามาประดิษฐานบนยอดเขาพระบาทใหญ่ เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัย ต่อมาหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณอัญเชิญลงมาประดิษฐานบนเกาะกลางตระพังทอง เมืองเก่า มีเอกสารและสื่อต่าง ๆ เข้าใจผิดว่า พระยาลิไท กับ พระยาเลอไท เป็นองค์เดียวกัน จึงว่าพระมหาธรรมราชาลิไทสร้างรอยพระบาทนี้ ที่จริงพระยาลิไทเป็นพระราชโอรสในพระยาเลอไท เมื่อทรงครองราชย์แล้วโปรดให้ช่างทำการจำลองรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาพระบาทใหญ่ (สุมนกูฏ) ของพระราชบิดา แล้วนำประดิษฐานที่ต่าง ๆ เช่น เขาอินทร์ ศรีสัชนาลัย ๑ วัดพระบาทน้อย ในแดนอรัญญิก ๑ เมืองบางพาน ๑ (กำแพงเพชร) บนเขากบ เมืองพระบาง ๑ (ริมน้ำเจ้าพระยาเชิงสะพานเดชาฯเมืองนครสวรรค์) และอีกหลายแห่ง
รอยพระพุทธบาทในมณฑปเกาะลอยวัดตระพังทอง เป็นรอยพระพุทธบาทที่พระยาเลอไทธรรมิกราชให้ช่างไปจำลองมาจากลังกา มิใช่รอยที่พระยาลิไทสร้างขึ้นเมื่อปี ๑๙๐๒ วัดตระพังทองที่ข้าพเจ้ามารู้จักนั้น มิได้มีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน การจะเช้าไปในเกาะลอยต้องเดินตามสะพานไม้แคบ ๆ ตรงกลางลานวัดมีศาลาการเปรียญ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือศาลาการเปรียญ เป็นตลาดของวัด ขายสินค้าเหมือนนตลาดทั่วไป ชาวเมืองเก่าซื้อของกินของใช้ในตลาดนี้ ท้ายพื้นที่ของวัด(ด้านใต้)เป็นหมู่กุฏิสงฆ์ นอกเขตวัดด้านตะวันออกเป็นหมู่บ้านเรือนประชาชน ด้านใต้เป็นหมู่บ้านเรือนประชาชน ด้านตะวันตกเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแหง โบราณสถานและบ้านเรือนประชาชน ด้านเหนือเป็นถนนหลวง (ชื่อจรดวิถีถ่อง) ริมถนนถนนเป็นอาคารร้านค้าและโรงมหรสพ และหมู่บ้านเรือนประชาชน ปัจจุบันสภาพที่กล่าวนี้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว/ /๒๑๗
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
หยาดฟ้า
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ต้นฝ้าย
,
เป็น อยู่ คือ
,
malada
,
ข้าวหอม
,
คิดถึงเสมอ
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #17 เมื่อ:
26, กรกฎาคม, 2566, 10:45:53 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
หลวงพ่อปี้ วัดลานหอย
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๘ -
จังหวัดสุโขทัยมีพระเกจิ อาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังองค์หนึ่งชื่อมีแปลกคือ “หลวงพ่อปี้” วัดลานหอย เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทมีพระราชทินนามว่า พระครูสุวิชานวรวุฒิ ท่านมีประวัติความเป็นมาพิสดารพอจะสรุปได้ว่า พระครูสุวิชานวรวุฒิ มีนามเดิมก่อนบวชว่า ปี้ ชูสุข (คำว่า "ปี้" หมายถึง เงินตราสมัยโบราณ) เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๔๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีขาล ณ ตำบลลานหอย อำเภอเมืองสุโขทัย (ต่อมาตั้งเป็นอำเภอบ้านด่านลานหอยเมื่อปี ๒๕๐๖) อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๖๕ ณ พัทธสีมาวัดสังฆาราม ตำบลบ้านด่าน มีพระครูวินัยสาร (ทิม ยสฺทินโน) วัดราชธานี เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการน้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า ทินโน เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเชิงคีรี ตำบลลานหอย แล้วย้ายไปอยู่วัดลานหอย ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชาวสุโขทัย ที่มีวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ มีประวัติการเดินทางธุดงค์เป็นเวลาหลายปีในหลายจังหวัด คือ เมืองร่างกุ้ง ประเทศพม่า ปาดังเบซา ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น
ข้าพเจ้ามาอยู่วัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย หลังจากกิ่งอำเภอบ้านด่านลานหอยยกขึ้นเป็นอำเภอบ้านด่านลานหอยแล้ว ๑ ปี ทางฝ่ายบ้านเมืองมีนายอำเภอแล้วแต่ทางฝ่ายการปกครองคณะสงฆ์ยังไม่มีการแต่งตั้งพระภิกษุเป็นเจ้าคณะอำเภอ ขณะนั้นหลวงพ่อปี้เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านด่านลานหอย กิติศัพท์หลวงพ่อปี้เป็นที่ได้ยินเลื่องลือไปทั่วประเทศ มีคำบอกเล่าว่าท่านเลี้ยงสัตว์ป่าไว้ในวัดลานหอยหลากหลายชนิด เสือ หมี เก้ง กวาง นกนานา ไก่ป่า ไก่ฟ้า และอื่น ๆ มากมาย ท่านเข้ามาพักที่วัดราชธานีอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบ่อยจนรู้จักคุ้นเคยกับข้าพเจ้า ความขลังของท่านว่ากันว่าทางอยู่ยงคงกระพันศักดิ์สิทธิ์นัก “ฟันไม่เข้ายิงไม่ออก” อะไรทำนองนั้น
ยามมีเวลาว่างข้าพเจ้ามักไปนอนคุยกับท่านที่วัดลานหอย ซึ่งเวลานั้นสัตว์เลี้ยงประเภทเสือ หมี เก้ง กวาง ไม่มีเหลืออยู่แล้ว มีข่าวลือกันว่าหลวงพ่อปี้ “สรงน้ำในขวดโหล” บางคราวข้าพเจ้าไปนอนค้างคืนที่กุฏิท่านนานถึง ๕ วัน ไม่เคยเห็นท่านสรงน้ำ (อาบน้ำ) เลย จึงคอยจับตาดูว่าท่านจะแอบสรงน้ำในขวดโหลดังข่าวลือหรือไม่ ก็ไม่เคยเห็น วันหนึ่งจึงถามท่านว่าหลวงพ่ออาบน้ำในขวดโหลจริงไหม ท่านหัวเราะแล้วกล่าวว่า “ชิบผาย ใครจะเข้าไปอาบน้ำในขวดได้ มันลือกันส่งเดชไปเอง” ยังสงสัยชื่อของท่านอยู่ว่าจริงหรือ คำว่า "ปี้" หมายถึง เงินตราสมัยโบราณ ดังที่ว่ากัน เมื่อถามเจ้าตัวท่านก็ว่า “ปี้” เป็นภาษาล้านนา หมายถึง “พี่” ไม่ใช่อาการของไก่ นก มันปี้กัน หรือ เงินตราอะไรหรอก และเงินโบราณเขาก็เรียกกันทั่วไปว่า ”เบี้ย” นี่นา ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๒ แต่นั่งอุปัชฌาย์เพียงปีละครั้งเดียว มีการบวชนาคที่วัดก็มักจะนิมนต์หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณไปนั่งพระอุปัชฌาย์ตลอดมา ถึงสมัยที่ข้าพเจ้ามาวัดราชธานี ทุกครั้งที่นิมนต์หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณไปเป็นพระอุปัชฌาย์ก็นิมนต์ข้าพเจ้าไปเป็นพระคู่สวดด้วย ข้าพเจ้าถามว่า ทำไมหลวงพ่อไม่ยอมเป็นพระอุปปัชฌาย์เอง (ภาษาวัดเรียกว่านั่งอุปัชฌาย์) ท่านตอบว่า “ชิบผาย หนังอุปัชฌาย์นานเป็นฉัวโมงได้ยี่ซิบส่ามซิบบาท เป๋าหั่วทีเดียวได้เป็นร้อยเป็นพัน กูเป๋าหั่วดีกว๋า” ท่านพูดเป็นสำเนียงสุโขทัยว่าอย่างนั้น ฟังอย่างนั้นข้าพเจ้าก็ได้แต่ร้อง อ้อ....
หลวงพ่อปี้ใช้คาถาอาคมเสกเป่าได้เงินทองมาก็สร้างวัดวาอารามและสาธารณกุศลต่าง ๆ ไม่เก็บสะสมเงินทองไว้เป็นสมบัติของตน สิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์สำคัญชิ้นหนึ่งของท่านคือ อาคารตึกสงฆ์อาพาธโรงพยาบาลสุโขทัย (ตึกสุวิชานวรวุฒิ) ทางคณะสงฆ์สุโขทัยก็ร่วมกันระดมทุนสมทบทุนของหลวงพ่อปี้สร้างขึ้นมา มิใช่อาคารเท่านั้น หากแต่อุปการการแพทย์ด้วย หลวงพ่อปี้เป็นหนึ่งใน ๑๐๘ เกจิอาจารย์ที่เข้าร่วมนั่งบริกรรมในพิธีปลุกเสกพระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ แต่ความภูมิใจของท่านคือคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๗ ดังที่ปรากฏในข้อมูลของกรมศิลปากรว่า
"...เวลาประมาณ ๑๓.๓๐ น. อธิบดีกรมศิลปากรนำเสด็จออกจากบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานฯ ทรงพระราชดำเนินโดยพระบาทไปตามถนนระหว่างพิพิธภัณฑ์สถานฯ ไปยังวัดมหาธาตุ มีประชาชนเฝ้าอยู่เนืองแน่นสองฟากถนน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียน สักการะพระมหาธาตุเสร็จแล้ว พระครูสุวิชานวรวุฒิ (ปี้) ถวายพระพิมพ์แบบซุ้ม ก. จำนวน ๙๙๙ องค์ ทรงรับแล้ว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร..."
ในระยะหลัง ๆ หลวงพ่อปี้เจ็บป่วยบ่อย มานอนรักษาในโรงพยาบาลสุโขทัย อาการดีขึ้นก็มาพักฟื้นอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณผู้เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ เวลานั้นข้าพเจ้ามีพระศิษย์ใกล้ชิดองค์หนึ่ง ชื่อพระเกี๊ยก ลูกชายพ่อค้าชาวจีนในตลาด จึงมอบหน้าที่ให้ปฏิบัติดูแลหลวงพ่อปี้ พระเกี๊ยกกลั่นแกล้งหลวงพ่อปี้ด้วยการอุ้มเข้าห้องน้ำจัดการอาบน้ำให้ ท่านร้องโวยวาย “ปล่อยกู ๆๆๆ ชิบผาย...ปล่อยกู” ท่านมีคำพูดติดปากว่า “ชิบผาย” ซึ่งเราถือว่าเป็นคำด่าที่หยาบ หลวงพ่อเจ้าคุณก็มีคำพูดติดปากอยู่คำหนึ่งว่า “ไอ้เหี้ย” คราวหนึ่งข้าพเจ้านั่งอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ มีข้าราชการแต่งเครื่องแบบติดขีดเหลืองที่บ่าสามขีดใหญ่ (เป็นเครื่องหมายชั้นเอก) พร้อมภรรยาเข้ามาพบ ขณะท่านผู้นั้นกราบ หลวงพ่อเจ้าคุณก็เพ่งมองและพูดว่า ใครหว่า ๆๆ พอเขากราบเสร็จก็จำได้ ร้องว่า “ไอ้เหี้ยนี่เอง” ภรรยาที่มาด้วยฟังดังนั้นแล้วสีหน้าไม่ดีเลย หลังจากเขาลากลับไปข้าพเจ้าก็ถามว่าหลวงพ่อไปด่าเขาว่าไอ้เหี้ยทำไม เขาเป็นข้าราชการผู้ใหญ่นะ ท่านตอบว่า ไอ้นี่เป็นศิษย์ใกล้คนหนึ่งมันเกเรมาก ก็ดีใจที่มันได้ดิบได้ดีไปแล้ว
วันหนึ่งกำลังฉันอาหารเพลกันอยู่ หลวงพ่อปี้ไม่ได้ฉันร่วมวงด้วย นั่งข้างหลังหลวงพ่อเจ้าคุณ พูดคำด่าคำกับพระเกี๊ยก หลวงเจ้าคุณโบราณคงจะรำคาญก็พูดว่า พระครูปี้นี่นิสัยไม่ดี พูดคำด่าคำ หลวงพ่อปี้ย้อนว่า “ผ่มเป็นซิดหล่วงพ้อก๋อน หล่วงผอด๋าเก๋งผ่มก็ต้องด๋าเก๋งเหมื่อนหล่วงผอก๋อน” (ผมเป็นศิษย์หลวงพ่อนะ หลวงพ่อด่าเก่งผมก็ต้องด่าเก่งเหมือนหลวงพ่อ) หลวงพ่อเจ้าคุณหันไปค้อน แล้วนิ่งไป ฉันเพลเสร็จแล้วก็นั่งคุยกันต่อ หลวงพ่อปี้บ่นว่าไม่อยากเป็นเจ้าคณะตำบล เหนื่อยงานปกครองมันมีแต่ความยุ่งยาก บอกข้าพเจ้าให้ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบล (ชั้นตรี) “ผ่มไม่เอาแล้วยศถาบรรดาศักดิ์ ลาออกแล้วผ่มจะเข้าป่า ไล่ให้ข้าพเจ้ารีบไปพิมพ์ใบลาที่ห้องเลขาเจ้าคณะจังหวัด พระครูปลัดแถวถามว่าเขาจะลาออกจริง ๆ หรือ หาพระแทนยากมากนะ ข้าพเจ้าก็ว่ามีตัวแทนอยู่แล้ว คือพระจงวัดบ้านด่านศิษย์หลวงพ่อปี้นั่นแหละ
พิมพ์ใบลาเสร็จจึงเอาไปให้ก็พบหลวงพ่อห้อมมานั่งคุยกับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณอยู่ หลวงพ่อปี้ถามว่าพิมพ์เสร็จแล้วหรือเลข่าเอามานี่ หลวงพ่อห้อมถามว่าอะไรนั่นน่ะ ข้าพเจ้าบอกว่าใบลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบล หลวงพ่อปี้จะลาออกจากตำแหน่ง หลวงพ่อห้อมบอกว่า อย่าเพิ่งส่งใบลา กำลังส่งเรื่องขอเลื่อนสมณะศักดิ์ขึ้นเป็นพระครูชั้นโท ถ้าลาออกตอนนี้เขาจะไม่เลื่อนยศให้ รอให้มีคำสั่งเลื่อนเป็นพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นโทออกมาก่อน จึงค่อยลาออก หลวงพ่อปี้ได้ฟังดังนั้นก็ร้อง อ้อ...เอาไว้ก๋อนเลข่า เอาไว้ก๋อน หลวงพ่อคุณโบราณหัวเราะหึ ๆ และในปลายปีนั้นเองมีคำสั่งเลื่อนสมณะศักดิ์พระครูสุวิชานวรวุฒิ เป็นพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นโทในนามเดิม ใบลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบลบ้านด่านลานหอยที่พิมพ์รอไว้ท่านก็เซ็นชื่อส่งเจ้าคณะอำเภอ และจังหวัด แต่ข้าพเจ้าเรียนต่อเจ้าคณะจังหวัดว่า ควรขอยกพระครูสุวิชานวรวุฒิขึ้นเป็นเจ้าตำบลกิตติมศักดิ์ดีกว่าให้พ้นไปจากตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ดังนั้นหลวงพ่อปี้จึงเป็นเจ้าคณะตำบลกิตติมศักดิ์ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ เป็นต้นไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตท่าน /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
หยาดฟ้า
,
เป็น อยู่ คือ
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
malada
,
ข้าวหอม
,
ต้นฝ้าย
,
คิดถึงเสมอ
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #18 เมื่อ:
27, กรกฎาคม, 2566, 10:50:20 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๑๙ -
เรื่องดี ๆ ของพระมีมาก แต่เรื่องไม่ดีก็มีไม่น้อย วัดราชธานีเป็นวัดใหญ่ในเมืองสุโขทัย ผ่านความเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงยุคเสื่อมโทรมลงตามกฎธรรมะที่ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนแปร แตกดับ ข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดนี้ในช่วง “ขาลง” ของวัด จึงต้องพยายามแก้ไขปรับปรุงเพื่อจะให้ดีขึ้น พระหลวงตาหลายองค์เป็นปัญหาที่ต้องค่อย ๆ แก้ ส่วนมากท่านดื้อรั้น เราเป็นเด็กจะว่ากล่าวตักเตือนท่านด้วยถ้อยคำแรง ๆ ก็ไม่เหมาะไม่ควร บางองค์มีลูกหลานญาติพี่น้องและคนเคารพนับถือท่านมาก ทำให้ไม่กล้าทำอะไรรุนแรงกับท่าน บางองค์เช่น อดีตพระครูเปลี่ยน เป็นหลวงตาที่น่ารักน่านับถือ แม้จะเคยมีอดีตเป็นพระครูสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอมาแล้ว แต่ท่านก็สุภาพอ่อนน้อมนุ่มนวลประพฤติปฏิบัติชอบ และหลวงตาอีกหลายองค์ก็เป็นผู้ว่าง่าย
มีข้าราชการสรรพสามิตจังหวัดสุโขทัยคนหนึ่งนำบิดาอายุประมาณ ๗๐ ปีเห็นจะได้ เป็นอดีตข้าราชการกรมสรรพสามิต มาขอให้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบวช แต่บิดาเขาไม่ขอบวชเป็นพระ อ้างว่ามีสิกขาวินัยมากเกินไป เกรงจะประพฤติปฏิบัติตามสิกขาวินัยของพระไม่ไหว เพราะอายุมากแล้วความจำหลง ๆ ลืม ๆ จึงขอบวชเป็นเพียงสามเณรซึ่งมีศีลน้อย ทำอะไรพลาดพลั้งไปจนศีลขาดก็ต่อใหม่ได้ หลวงพ่อเจ้าคุณก็บวชให้เป็นสามเณรอยู่ในความดูแลของข้าพเจ้า สามเณรกรมีอุปนิสัยใจคอดี สุภาพเรียบร้อย ไม่มีพระเณรองค์ใดรังเกียจความเป็นสามเณรเฒ่าของท่าน
เวลากลางคืนหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณท่านมิได้จำวัดที่โรงเรียนวินัยสาร แต่ไปจำวัดอยู่ที่วิหารหลวงพ่อ่เป่า กล่าวคือ วิหารหลวงพ่อเป่านั้นมีขนาดใหญ่ ปีกวิหารด้านเหนือเป็นห้องเก็บของ ด้านใต้ที่ที่นอนของหลวงพ่อเจ้าคุณ ที่ว่างระหว่างวิหารหลวงพ่อเป่ากับวิหารหลวงพ่องามเป็นที่โยมปลัดบุญธรรมขออนุญาตหลวงพ่อเจ้าคุณทำเป็นโรงปั้นพระพุทธรูป ด้านหลังวิหารหลวงพ่อเป่าเป็นบ่อปลามีทางเดินเป็นถนนคอนกรีตไปถึงวิหารหลวงพ่องาม ด้านหน้าวิหารหลวงพ่อเป่าเป็นถนนราชธานี คืนวันหนึ่งเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม หลวงพ่อเจ้าคุณให้คนมาตามข้าพเจ้าไปพบที่ห้องท่าน (วิหารหลวงพ่อเป่า) ข้าพเจ้าไปถึงก็พบนายตำรวจหนุ่มยศร้อยโทกับนายสิบตำรวจสองคน และพระหนุ่มองค์หนึ่ง พอเห็นข้าพเจ้าเข้าไปในห้องท่านก็บอกว่า
“ทั่นนันท์จัดการเรื่องนี้ที ตำรวจเขาจับไอ้ทั่นนี่มา”
ข้าพเจ้านั่งพิจารณาดูสารูปของพระ “ไอ้ทั่นนี่” ที่หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณว่า เห็นเขายังห่มจีวรคลุมไหล่อยู่ นั่งก้มหน้านิ่งไม่พูดไม่จาอะไร นายตำรวจเจ้าของเรื่องกล่าวรายงานว่า
“ผมร้อยตำรวจโทประยุทธ์ วันนี้เป็นร้อยเวร ขณะทำงานในหน้าที่ร้อยเวรอยู่ที่โรงพัก มีประชาชนไปแจ้งความว่าเห็นพระนั่งดื่มสุราอยู่ในร้านอาหารโรงแรม จึงมาพบเห็นแล้วควบคุมตัวมาให้เจ้าคณะจังหวัดสึกเพื่อนำตัวไปทำการสอบสวนดำเนินคดีต่อไปครับ”
จึงถามว่าพระนี้ชื่อไรล่ะ หมวดตอบว่ายังไม่ทราบชื่อ เพิ่งเอาตัวมาสึกก่อนสอบสวน ข้าพเจ้าให้ตำรวจค้นย่ามพระดูว่ามีหนังสือสุทธิ (เป็นเสมือนบัตรประจำตัวประชาชน) และของผิดกฎหมายหรือไม่ พบหนังสือสุทธิ ผ้าเช็ดหน้า แปรง และยาสีฟัน กับเงินห้าร้อยบาทเศษ หนังสือสุทธิระบุชื่อ สมพงศ์ จบการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นชาวจังหวัดสนะบุรี บวชเป็นพระได้ ๓ พรรษาแล้ว ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายใด ๆ ในย่ามท่านเลย
ถามว่ามาอย่างไร จะไปไหนอย่างไร ทำไมจึงมาดื่มเหล้าอยู่ในโรงแรม คราวนี้เขาเงยหน้าขึ้นตอบคำถามทั้งหมดได้ความว่า อยู่วัดหนองโดนสระบุรีจะไปหาเพื่อนที่จังหวัดตาก นั่งรถไฟมาลงที่พิษณุโลก รถเมล์ต่อไปจังหวัดตากไม่มี เพราะหมดเวลาแล้ว จึงนั่งรถเมล์มาลงสุโขทัย กะว่าพรุ่งนี้จึงค่อยต่อไปจังหวัดตาก ยอมรับว่าดื่มสุราบ่อย ๆ ได้ความดังนั้นจึงบอกหมวดยุทธ์ให้ตรวจสอบว่าเคยมีประวัติต้องคดีอะไรอะไรที่ไหนมาบ้างไหม คดีดื่มสุราไม่ผิดกฎหมายยังจับสึกไม่ได้ แต่เขาผิดวินัยบัญญัติเป็นอาบัติปาจิตตีย์ พอพูดเท่านี้เขาลุกขึ้นเปลื้องจีวรที่ห่มคลุม แล้วห่มเฉวียงบ่านั่งคุกเขาลงตรงหน้าข้าพเจ้าพร้อมกล่าวว่า
“กระผมเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ขอแสดงอาบัติครับ” แสดงความเป็นคนหัวหมอความขึ้นมาทันที ข้าพเจ้าห้ามว่าไม่ได้ คุณกำลังเมาสุราอยู่ สติไม่สมบูรณ์ แสดงอาบัติขณะเมาไม่ได้ ต้องรอให้หายเมาก่อน หมวดยุทธ์จึงกล่าวว่าขอเวลาตรวจสอบประวัติก่อนว่าเขามีคดีอาญาอะไรอยู่บ้างไหม คืนนี้ผมขอฝากตัวไว้ที่วัดก่อน โดยจะให้ตำรวจมาคอยดูแลไม่ให้เขาหลบหนีไปได้ คืนนั้นข้าพเจ้าจึงให้เขานอนที่โรงเรียนวินัยสารโดยมีตำรวจสองนายนั่งเฝ้าประตูเข้าออก ตอนสายของวันรุ่งขึ้น หมวดยุทธ์จึงให้ตำรวจมาบอกว่าพระสมพงศ์ไม่มีประวัติต้องคดีจึงปล่อยตัว ก่อนจากไปเขาเข้าไปกราบหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ หลวงพ่อก็ให้โอวาทอบรมสั่งสอนพอสมควร เขารับปากกว่าจะเลิกดื่มสุราตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป
เรื่องพระสมพงศ์ผ่านพ้นไปได้ไม่ถึง ๗ วัน ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งสนทนาลูกชายของสามเณรกรอยู่ในห้องทำงานหน่วยพัฒนาการทางจิต หลวงตาคำจากคณะศาลาฯเดินสะเปะสะปะเข้ามา มีกลิ่นเหล้าคลุ้งเลย จึงถามว่ามาทำไมหลวงตา แกบอกว่าจะมาหาเณรปลาย ซึ่งอยู่ด้านข้างกุฏิ ลูกชายสามเณรกรเห็นดังนั้นแสดงอาการตกใจที่พบพระเมาเหล้า หายตกใจแล้วรีบออกไปกราบหลวงพ่อเจ้าโบราณเรียนให้ทราบว่ามีพระเมาเหล้า หลวงพ่อจึงเรียกให้ข้าพเจ้าพาหลวงตาคำไปพบ แล้วถามว่า
“แกกินเหล้าหรือ”
หลวงตารับว่า ”จริงครับ ไม่กินไม่ได้เพราะผมไม่สบายต้องกินเหล้ารักษาโรค”
หลวงพ่อก็ด่าด้วยคำชินปากว่า “ไอ้เหี้ย...” แล้วอบรมสั่งสอน วันนั้นท่านพูดถึงโทษสุราดีมาก หลวงตาคำฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งจนถึงกับหมอบกราบใกล้ตักท่าน ตอนท้ายท่านกล่าวเน้นว่า พระพุทธเจ้าของเราสอนว่า “พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต พึงสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมะ (ศีล)” หลวงคำร้องไห้โฮ กล่าวคำสาบานว่าจะยอมตายโดยไม่ดื่มเหล้าอีก ขอรักษาศีลไปตลอดชีวิต
หลวงตาคำองค์นี้ท่านเป็นคนชาวเขมร มาจากทางบุรีรัมย์หรือสุรินทร์โน่นแหละ นอกจากแกจะดื่มสุราเป็นประจำแล้ว ความประพฤติอื่นใดไม่มีเสียหาย หลังจากหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณอบรมสั่งสอนวันนั้นแล้ว ท่านก็งดดื่มเหล้าได้อย่างเด็ดขาด อยู่มาจนถึงปีที่ไฟไหม้เมืองสุโขทัยแล้วท่านหายไป เข้าใจว่าคงกลับบ้านเดิมของท่าน เพราะวัดราชธานีถูกไฟไหม้พระเณรอยู่กันลำบากแล้ว/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
เป็น อยู่ คือ
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
หยาดฟ้า
,
malada
,
ข้าวหอม
,
ต้นฝ้าย
,
คิดถึงเสมอ
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #19 เมื่อ:
28, กรกฎาคม, 2566, 10:54:07 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
ขอบคุณรูปภาพต้นแบบจาก Internet
Cr. Photo By
สวนผลไม้บ้านดงย่าปา
คลิก
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๐ -
ครูเหรียญชัย จอมสืบ เที่ยวซอกแซก คือ ดั้นด้น ไปทุกหนทุกแห่งที่ไม่น่าไปตามนิสัย “จอมสืบ” ของเขา จนไปพบสวนป่าไม้ผลแห่งหนึ่ง เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ด้วยพรรณไม้นานา โดยเฉพาะทุเรียน ลางสาด ป่าแห่งนั้นชื่อ “ดงย่าปา” อยู่เชิงเขาที่เป็นเขตแดนกันระหว่างเมืองลับแลกับศรีสัชนาลัย อยู่ในเขตการปกครองของตำบลบ้านตึก ถ้าเดินจากหมู่บ้านนี้ข้ามภูเขาลงไปก็เป็นเขตพื้นที่เมืองลับแล ที่เป็นสวนป่าไม้ผลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทุเรียน ลวงสาด และไม้ผลนานา ครูเหรียญชัยนำเรื่องที่ไปพบสวนป่าทุเรียน ลางสาด ดงย่าปา มาแจ้งให้นายสมาส อมาตยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยทราบ ท่านผู้ว่าฯ สนใจมากจึงวางกำหนดการที่จะไปเยี่ยมราษฎรและชมสวนผลไม้ดงย่าป่า
สมัยนั้น (ปี ๒๕๑๐) การเดินไปบ้านดงย่าปาเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากมาก ทางเป็นถนนดินลูกรังขนาดเล็ก บางตอนถนนขาดหายกลายเป็นทางล้อทางเกวียน บางตอนมีสะพานไม้เก่า ๆ ข้ามลำห้วย ครูเหรียญชัยบอกเล่าสภาพทางไปดงย่าปาให้ท่านผู้ว่าฯ ทราบ ท่านจึงสั่งให้ทำการบูรณะเส้นทาง ตรงไหนเป็นหลุมเป็นบ่อก็ให้เอาดินลูกรังไปลง สะพานไม้ที่จะพังแหล่มิพังแหล่ก็ให้เร่งซ่อมแซมจนแข็งแรงพอที่รถจะข้ามได้อย่างปลอดภัย
ลุกาลปลายปีสิ้นฝนแล้ว ผู้ว่าฯ สมาสให้นัดหมายราษฎรตำบลบ้านตึกไปประชุมรับฟังข้าราชการที่โรงเรียนบ้านดงย่าปา ท่านพร้อมด้วยคณะข้าราชการกรมการจังหวัด ซึ่งมีข้าพเจ้าร่วมคณะด้วย เดินทางโดยการนำพาของครูเหรียญชัยออกจากเมืองสุโขทัยแต่เช้า ผ่านศรีสำโรง สวรรคโลก ศรีสัชนาลัย เลยบ้านหาดเสี้ยวไปตามถนนสายสุโขทัย-แพร่ แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังสู่ดงย่าปา ถึงโรงเรียนกลางป่าซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีราษฎรมารอพบคณะผู้ว่าฯ อยู่หนาตา เป็นชาวบ้านดงย่าปาเละหมู่บ้านใกล้เคียงกับกำนันผู้ใหญ่บ้านในตำบลบ้านตึก และข้าราชการจากที่ว่าการอำเภอศรีสัชนาลัย เมื่อผู้ว่าฯ เปิดการประชุมแจ้งข้อราชการแก่ราษฎรแล้ว ก็นิมนต์ข้าพเจ้าแสดงปาฐกถาธรรมเหมือนเคย วันนั้นท่านให้หัวหน้าส่วนราชการที่พูดกับราษฎรเพียงคนเดียวคือเกษตรจังหวัด
เมื่อหมดวาระสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับราษฎรแล้ว ท่านผู้ว่าฯ พร้อมคณะเดินเที่ยวชมสวนผลไม้นานา ทุเรียน ลางสาด เหมือนกับของลับแลเพราะพื้นที่ภูมิอากาศไม่ต่างกัน แต่มีทุเรียนต้นหนึ่งไม่เหมือนใคร เป็นทุเรียนต้นใหญ่มีอายุเกือบร้อยปีแล้ว เนื้อทุเรียนต้นนี้ก็ไม่เหมือนใคร ทุเรียนลับแลและดงย่าปาสมัยนั้นมีผลเล็ก เมล็ดโตเนื้อน้อยเรียกกันว่าทุเรียนปลาร้า หมอนทอง ก้านยาว ซึ่งมีเนื้อมากเมล็ดเล็กยังไม่มีขึ้นไปปลูกในพื้นที่นั้น แต่ทุเรียนต้นใหญ่ของดงย่าปา ชาวบ้านเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า “พันธุ์ตะเข้” เป็นทุเรียนยักษ์พันธุ์โบราณ มีเนื้อมากเมล็ดไม่โต รสชาติหวานมัน ชื่อ “ตะเข้” น่าจะคือ “ตะเฆ่” หมายถึงเครื่องทุ่นแรงสำหรับลากเข็นของหนัก รูปเตี้ย ๆ มีล้อตั้งแต่ ๒-๔ ล้อ แต่เพี้ยนเป็นจระเข้ไปแล้ว ทุเรียนต้นนี้อยู่ที่บ้านห้วยตมติดกันกับดงย่าปา มีความเป็นมาจากการบอกว่าเล่าต่อ ๆ กันมาพอสรุปได้ว่า “นายมูล ไหวคิด ชาวบ้านหมู่ ๗ ต.บ้านตึก เป็นคนเอามาปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๐ โดยได้เมล็ดพันธุ์มาจากในป่าพื้นที่ชายแดนเขตติดต่อพม่าในช่วงที่นายมูลรับราชการเป็นทหารเกณฑ์ แล้วระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็ไปเจอลูกทุเรียนตกหล่นอยู่ใต้ต้น จึงได้ลองแกะกิน และพบว่าเนื้อในหนา สีเหลือง รสชาติหอม หวาน มัน อร่อย กลิ่นไม่แรง จึงได้เก็บเอาเมล็ดพันธุ์กลับมาปลูกที่สวนดังกล่าว” จากข้อมูลนี้ ทุเรียนตะเฆ้ต้นนี้ก็มีอายุเกือบ ๒๐๐ ปีทีเดียว
เป็นที่น่าเสียดายว่าเวลาที่คณะผู้ว่าฯ สมาสไปดงย่าปานั้นหมดหน้าทุเรียนแล้ว จึงไม่ได้ลิ้มรสชาติทุเรียนตะเฆ่ และทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง แม้ลางสาดก็ไม่มี ท่านผู้ว่าฯ สั่งให้เกษตรจังหวัดช่วยอนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์ตะเฆ่ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์แปลกนี้ไว้ให้ดี ในท้องที่ตำบลบ้านตึกทางแถบบ้านดงย่าปา บ้านห้วยตม และใกล้เคียง ดินดีอากาศดี เหมาะแก่การปลูกพืชผักไม้ผลนานาพันธุ์ ท่านผู้ว่าฯ จึงสั่งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องพัฒนาถนนหนทาง เพื่อให้ชาวบ้านนำผลิตผลทางการเกษตรออกไปจำหน่ายในเมืองศรีสัชนาลัยและที่อื่น ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ในเวลาต่อมาปรากฏว่าพืชผักผลไม้จากชาวบ้านแถบนี้ออกสู่ตลาดมากขึ้น ทุเรียนพันธุ์หมอนทองเริ่มเข้ามาปลูกมากขึ้น แต่พันธุ์ตะเฆ่ไม่เติบโตเท่าที่ควร /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
หยาดฟ้า
,
malada
,
ข้าวหอม
,
ต้นฝ้าย
,
เป็น อยู่ คือ
,
คิดถึงเสมอ
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #20 เมื่อ:
30, กรกฎาคม, 2566, 11:07:41 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
พระครูไกรลาศสมานคุณ (ย่น ฑิสฺสโร)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๑ -
อาบัติหนักถึงขั้นปาราชิกของพระภิกษุมี ๔ อย่างคือ
- เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉาน (ร่วมสัมพันธ์ทางเพศกับมนุษย์ หรืออมนุษย์ หรือสัตว์ แม้แต่ซากศพก็ไม่ละเว้น) ๑
- ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย) ได้ราคา ๕ มาสก ๑
- พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน) แสวงหาและใช้เครื่องมือกระทำเอง หรือจ้างวานฆ่าคน หรือพูดพรรณาคุณแห่งความตายให้คนนั้น ๆ ยินดีที่จะตาย (โดยมีเจตนาหวังให้ตาย) ไม่เว้นแม้แต่การแท้งเด็กในครรภ์ ๑
- กล่าวอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีจริง อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวเองว่า เรารู้อย่างนี้ เราเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง) ยกเว้นเข้าใจตัวเองผิด ๑
ปาราชิก (เป็นผู้พ่าย) ทั้ง ๔ ข้อนี้ คนส่วนมากเพ่งเล็งคอยจับผิดพระภิกษุที่ทำผิดในข้อที่ ๑ มากกว่าผิดในข้ออื่น ๆ ด้วยเห็นว่าการเสพเมถุนเป็นเรื่องเสียหายมาก ส่วนเรื่องลักทรัพย์ ฉ้อโกงทรัพย์ ฆ่ามนุษย์ และพูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนนั้นเป็นเรื่องเสียหายไม่มากเท่าเสพเมถุน
ดังนั้นจึงมี “ข่าวคาว” ของพระกับสีกาออกทางสื่อต่าง ๆ มากมาย พระธรรมดา (ผู้น้อย) ไม่ค่อยเป็นข่าวนักเพราะคนสนใจน้อย แต่พระที่มียศตำแหน่งเป็นพระผู้ใหญ่ (มิใช่พระธรรมดา) อยู่ในสายตาของคนหมู่มาก ถ้ามีอะไรกับสีกาจะเป็นข่าวดังขึ้นมาทันที บางองค์ไม่ถึงขั้นปาราชิก เพียงถูกเนื้อต้องตัวหญิงถูกก็หาว่าศีลขาด (ปาราชิก) แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องทำให้พระฝ่ายปกครองปวดหัวไม่น้อยทีเดียว ข้าพเจ้ามาอยู่สุโขทัยพบกับเรื่องทำนองนี้หลายเรื่อง อย่างเรื่องที่จะให้การวันนี้เรื่องหนึ่ง
เรื่องเกิดจากที่ พระครูไกรลาสสมานคุณ (ย่น) เจ้าคณะอำเภอกงไกรลาศ มีคำสั่งปลดพระครูอ๋อยออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลบ้านกร่าง เพราะถูกร้องเรียนว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสีกา (หญิงม่าย) คนหนึ่ง พระครูอ๋อยเป็นพระครูชั้นประทวน เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านกร่างซึ่งเป็นวัดใหญ่ และมีชื่อเสียงโด่งดังจากหลวงพ่ออุย อดีตเจ้าอาวาสที่เป็นพระเกจิอาจารย์ทางคงกระพันชาตรี พระครูอ๋อยเป็นศิษย์หลวงพ่ออุย จึงมีคนเคารพนับถือมากพอสมควร พระครูย่น (ไกรลาศสมานคุณ) เคยบวชอยู่วัดนี้และเป็นเพื่อนกับพระครูอ๋อยก่อนย้ายไปอยู่วัดกงไกรลาศ และได้เป็นเจ้าคณะอำเภอกงไกรลาศ ท่านสอบสวนตามคำร้องเรียนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงสั่งปลดพระครูอ๋อยออกจากตำแหน่งหมดทุกตำแหน่ง พระครูอ๋อยจึงออกจากวัดบ้านกร่างไปพำนักอยู่วัดพระพายหลวง เมืองเก่าสุโขทัย
การปลดพระครูอ๋อยออกจากตำแหน่งจนท่านต้องย้ายออกจากวัดไป ทำให้ชาวบ้านศิษยานุศิษย์พระครูอ๋อยไม่พอใจ จึงชุมนุมเรียกร้องให้พระครูอ๋อยกลับมาดำรงตำแหน่งดังเดิม พระครูไกรลาศสมานคุณ นำเรื่องเข้าปรึกษาหารือเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย โดยมีพระครูปลัดแถวเลขาฯ และข้าพเจ้าร่วมรับฟัง หลวงพ่อย่นเล่าว่าท่านเชื่อว่าพระครูอ๋อยมีความสัมพันธ์กับหญิงม่ายคนนั้นจริง ได้ว่ากล่าวตักเตือนในฐานเพื่อนเก่าให้เลิกรา พระครูอ๋อยกลับโกรธท่านไม่ยอมเชื่อฟัง จึงต้องมีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งเพื่อรักษาพระธรรมวินัยและศาสนา
ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกับพระครูอ๋อยดี เพราะเขาไม่ยอมรับ หญิงม่ายคนนั้นก็ไม่ยอมรับ ถ้าหญิงนั้นยอมรับและเป็นโจทก์ก็จะจัดการพระครูอ๋อยได้ง่ายขึ้น การมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงโดยการสมยอมยินดีทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องส่วนตัว แม้จะผิดพระวินัย แต่ก็ไม่ผิดกฎหมาย ถ้าภิกษุข่มขืนกระทำชำเราหญิงจึงผิดกฎหมายตำรวจจับกุมดำเนินคดีให้สึกเสียได้ ข้าพเจ้าคิดหาทางออกยังไม่เห็น พอดีวันรุ่งขึ้น “โกเต้า” เต้า รูปสุวรรณ กำนันตำบลกง ซึ่งเป็นคนดังของกงไกรลาศ นำพาชาวบ้านเดินทางมาเกือบร้อยคน เรียกร้องให้เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยแต่งตั้งพระครูอ๋อยกลับเข้าดำรงตำแหน่งเดิม หลังจากเจรจากันกันอยู่นานพอสมควรแล้วตกลงกันว่าอีกสองวันเจ้าคณะจังหวัดจะเดินทางไปประชุมชาวบ้านที่วัดบ้านกร่างเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้
ถึงวันนัด หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณพร้อมด้วยพระครูปลัดแถว ข้าพเจ้า พระไพฑูรย์ พระมหาคำสิงห์ ร่วมเดินทางไปวัดบ้านกร่าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านกร่างพร้อมด้วยกรรมการวัดและชาวบ้านรวมตัวกันอยู่ในศาลาการเปรียญประมาณ ๒๐๐ คนเศษ ข้าพเจ้ากระซิบถามโยมผู้ชายกรรมการวัดคนหนึ่งว่า คนที่มาทั้งหมดนี้เป็นฝ่ายพระครูอ๋อยใช่ไหม เขาตอบว่าไม่ใช่ทั้งหมดหรอก เป็นฝ่ายพระครูอ๋อยไม่ถึงครึ่ง ดังนั้นเมื่อเริ่มการประชุม หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณกล่าวนำแล้วให้พระครูปลัดแถวอ่านระเบียบการถอดถอนและแต่งตั้งพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสเจ้าคณะตำบลให้ที่ประชุมฟัง แล้วสรุปว่าเป็นอำนาจของเจ้าคณะอำเภอไม่ใช่อำนาจของเจ้าคณะจังหวัด กำนันเต้าซึ่งเป็นคนนอกเขตตำบลบ้านกร่างขออนุญาตถามว่า เจ้าคณะจังหวัดจะสั่งให้เจ้าคณะอำเภอเพิกถอนคำสั่งถอดถอนได้ไหม หลวงพ่อหันมาทางข้าพเจ้ากล่าวว่า “ท่านนันท์ชี้แจงแทนข้าทีซิ”
ข้าพเจ้ากล่าวว่า จังหวัดสั่งให้อำเภอเพิกถอนคำสั่งถอดถอนได้ ถ้าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม แต่เรื่องนี้จังหวัดได้ดูเรื่องเหตุที่มีคำสั่งถอดถอนแล้ว เห็นว่าอำเภอได้ให้เหตุผลในการถอดถอนตำแหน่งของพระครูอ๋อยในเรื่องละเมิดจริยาพระสังฆาธิการร้ายแรง คือเป็นผู้ดื้อรั้น ไม่เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบธรรม ข้อนี้สมควรถูกถอดออกจากตำแหน่งได้แล้ว อีกข้อหนึ่งคือ พระครูอ๋อยถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับมาตุคาม (หญิง) คนหนึ่ง มีพยานหลายปากที่ควรเชื่อถือได้ยืนยัน จึงให้พ้นจากตำแหน่งเพื่อการสอบสวนดำเนินคดีทางวินัยร้ายแรงต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้จังหวัดจึงไม่อาจสั่งให้เจ้าคณะอำเภอเพิกถอนคำสั่งถอดถอนนั้นได้
กรรมการวัดคนหนึ่งถามว่า เอาพระครูอ๋อยกลับมาเป็นสมภารไม่ได้ ตอนนี้วัดว่างสมภารจะทำยังไงครับ ข้าพเจ้าตอบว่าให้เลือกพระองค์ใดองค์หนึ่งของวัดนี้เป็นสมภารองค์ใหม่ เขาก็บอกว่ามีแต่พระใหม่ ๆ เป็นสมภารไม่ได้สักองค์เดียว มีเสียงโยมหญิงคนหนึ่งดังขึ้นว่า ขอองค์ที่พูดนี่มาเป็นสมภารแทนพระครูอ๋อยได้ไหม หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณยกมือขึ้นโบกพร้อมพูดว่า ไม่ได้ องค์นี้ต้องอยู่ทำงานกับข้า ข้าพเจ้าจึงแนะนำว่า พระหนุ่มอีกสององค์นี่เป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิต คือพระมหาคำสิงห์ กับพระไพฑูรย์ เป็นพระมีความรู้ดี เลือกเอาเป็นสมภารสักองค์หนึ่งไหม พระมหาคำสิงห์กับพระไพฑูรย์รับปฏิเสธพัลวัน จึงเสนอต่อไปว่าตามระเบียบการปกครองคณะสงฆ์เมื่อยังหาพระเป็นเจ้าอาวาสไม่ได้ ก็ให้เจ้าคณะตำบลรักษาการแทน วัดบ้านกร่างนี้เจ้าอาวาสว่าง เจ้าคณะตำบลก็ว่าง ดังนั้นเจ้าคณะอำเภอก็ต้องหาพระมารักษาการเจ้าอาวาสองค์หนึ่ง รักษาการเจ้าคณะตำบลอีกองค์หนึ่ง เมื่อยังหาไม่ได้ เจ้าคณะอำเภอก็ต้องรักษาการเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลเอง
วันนั้นตกลงว่าให้พระครูไกรลาสสมานคุณ (ย่น) รักษาการเจ้าคณะตำบลบ้านกร่างและเจ้าอาวาสวัดบ้านกร่างไปพลางก่อน โดยทางจังหวัดจะสรรหาพระมาเป็นเจ้าอาวาสองค์ใหม่ให้ในเร็ววัน เรื่องจึงยังไม่จบสิ้นครับ/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ต้นฝ้าย
,
ข้าวหอม
,
malada
,
เป็น อยู่ คือ
,
หยาดฟ้า
,
คิดถึงเสมอ
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #21 เมื่อ:
01, สิงหาคม, 2566, 12:48:20 AM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๒ -
พระครูไกรลาศสมานคุณ (ย่น ติสฺสโร) บอกเล่าความเป็นมาของท่านว่า สถานะเดิมชื่อ นายย่น บุญสิงห์ บิดาชื่อ นายพล บุญสิงห์ มารดาชื่อ นางสุดใจ บุญสิงห์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๘ ณ บ้านวังแร่ ตำบลชุมแสงสงคราม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ พัทธสีมาวัดบ้านกร่าง ตำบลบ้านกร่าง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย โดยมีพระครูวิมลปรีชา (มา) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดยิ้ม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระหมวดเณร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายา ดิสฺสโร บวชอยู่วัดบ้านกร่างระยะหนึ่งแล้วย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดกงไกรลาศ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดกง เป็นวัดที่สร้างมานานตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๓๔ มีเนื้อที่ ๔๑ ไร่ ๑ งาน ๙๒ ตารางวา ผู้ขออนุญาตวัดครั้งแรก คือ คุณพระกงไกรลาศ นายอำเภอคนแรกของกงไกรลาศ แล้วคงจะเอานามของท่านมาตั้งเป็นชื่อวัด เพื่อเป็นที่ระลึก วัดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นวัดที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต (วิหารลอย) ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของคนอำเภอกงไกรลาศและคนทั่วไป
พระครูไกรลาศสมานคุณ (ย่น) ถือได้ว่าเป็นพระที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบที่น่าเคารพนับถือองค์หนึ่ง แม้ภายนอกดูท่านจะเงอะ ๆ งะ ๆ เก้ ๆ กังๆ แบบบ้านนอกไปหน่อย แต่ก็ไม่น่าเกลียด การพูดการกระทำของท่านค่อนไปทางข้างโบราณ ในความรู้สึกของข้าพเจ้าเห็นว่าน่ารักดี พระผู้ใหญ่ของสุโขทัยระดับเจ้าคณะอำเภอเรียกท่านว่า “พญากง” เป็นการล้อเลียนว่าท่านเป็นพระโบราณอะไรทำนองนั้น งานเอกสารคิดต่อทางราชการคณะสงฆ์ของท่านไม่มีอะไรบกพร่อง มีเพียงคำเดียวที่ท่านแก้ไขไม่ได้คือ คำว่า “กราบเรียน” ท่านจะพิมพ์ว่า “กลาบเรียนเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย” เสมอ ข้าพเจ้าขอให้ท่านแก้เป็น “กราบเรียน” ท่านก็รับปากว่าจะจำไว้ แต่เวลาใช้จริง ๆ ท่านก็ยังคงพิมพ์ว่า “กลาบเรียน” อยู่นั่นแหละ
เรื่องคดีพระครูอ๋อยท่านยังทำอะไรไม่ได้ จึงเกิดความเบื่อหน่ายในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอของท่าน วันหนึ่งมีหนังขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอส่งมาจังหวัด พระครูปลัดแถวเอามาให้ข้าพเจ้าดูก่อนส่งให้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ และปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี ข้าเจ้าเห็นว่ายังไม่ควรอนุมัติให้ลาออก เพราะหากลาออกจะหาพระมาแทนท่านไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งท่านก็เป็นพระที่ดีมากองค์หนึ่ง หากให้พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอก็จะเสียสิทธิ์การเป็นพระอุปัชฌาย์นอกวัดท่าน รอไว้ให้หาพระมาเป็นเจ้าคณะอำเภอแทนท่านก่อน จึงค่อยเสนอเรื่องยกท่านขึ้นเป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์ดีกว่า จึงเก็บหนังสือลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอของท่านไว้
ส่งหนังสือลาออกมาเป็นเดือนแล้วทางจังหวัดยังไม่ตอบรับ พระครูไกรลาศสมานคุณจึงเข้ามาพบเลขานุการเจ้าคณะเจ้งหวัดเพื่อติดตามเรื่อง พระครูปลัดแถวถามข้าพเจ้าว่าจะเอายังไงกันดี จึงเรียนด้วยวาจากับท่านพระครูไกรลาศฯว่า ท่านพระครูอย่าลาออกจากตำแหน่งเลย ถ้าลาออกแล้วจะไปนั่งอุปัชฌาย์ตามวัดต่าง ๆ ในอำเภอกงฯ ไม่ได้ นั่งได้เฉพาะในวัดกงเท่านั้น ผมอยากให้ท่านพระครูรักษาสิทธิ์การเป็นพระอุปัชฌาย์ไว้เพื่ออนุเคราะห์กุลบุตรชาวอำเภอกงไกรลาศต่อไป กำลังจะเสนอขอให้ท่านพระครูเป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอต่อไป ท่านแย้งว่า ผมเป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์ได้หรือ ข้าพเจ้าว่าได้แน่ เพราะคุณงามความดีของท่านพระครูมีมากพอที่จะเป็นได้ เมื่อได้รับคำรับรองดังนั้นท่านก็กลับไปรอฟังข่าวด้วยอาการสงบ
ยังไม่ทันที่จะยกพระครูไกรลาศฯ ขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ พระครูอ่อยคูกรณีของท่านก็ลาสิกขาเมื่อรู้ว่าไม่มีสิทธิ์ได้กลับคืนไปอยู่ในตำแหน่งเดิมได้แล้ว พระครูอ๋อยเป็นใครข้าพเจ้าไม่รู้จักพบเห็นท่านเลย รู้แต่เรื่องที่พระครูไกรลาศฯ บอกเล่าให้ฟังเท่านั้น ต่อมาข้าพเจ้าปรึกษาท่านพระครูสุภัทรธีรคุณ (ดำรงค์) เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย ว่าจะเอาใครในอำเภอเมืองไปเป็นเจ้าคณะอำเภอกงฯ ดี เพราะพระผู้ใหญ่ในอำเภอกงฯ หาตัวผู้ที่เหมาะสมไม่ได้แล้ว คิดกันอยู่หลายวันจึงตกลงใจว่าให้แต่งตั้งพระครูวิมลกิจโกศล (เกียว โกวิโท) วัดคุ้งยางใหญ่ บ้านสวน เป็นเจ้าคณะอำเภอกงไกรลาศ หลังจากขอยกพระครูไกรลาสสมานขึ้นเป็นเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์แล้ว
ต่อมาพระครูไกรลาศสมานคุณผู้ว่างจากงานปกครองคณะสงฆ์แล้ว ท่านก็มุ่งทำประโยชน์เพื่อสังคมในด้านอื่น ๆ เพราะท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อมาก พระเกจิชื่อดังของจังหวัดสุโขทัย มีคาถาอาคมศักดิ์สิทธิ์และมีชื่อเสียงด้านการหุงน้ำมันสุมนไพรรักษาโรคต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธามาก ท่านจึงดำเนินตามรอยของอาจารย์ จนชื่อเสียงหลวงพ่อย่นเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะพระเกจิอาจารย์องค์หนึ่งแห่งลุ่มลำน้ำยม /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ข้าวหอม
,
หยาดฟ้า
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
malada
,
เป็น อยู่ คือ
,
คิดถึงเสมอ
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ต้นฝ้าย
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #22 เมื่อ:
01, สิงหาคม, 2566, 10:33:27 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๓ -
พระนักเทศน์มีไม่น้อยที่รับนิมนต์เทศน์ด้วยหวังได้เงินกัณฑ์เทศน์เป็นสำคัญ โดยมิหวังให้ความรู้เรื่องสาสนธรรมแก่ผู้ฟังนัก ในวงการเพื่อนนักเทศน์ของข้าพเจ้าก็มีเช่นนั้น สำหรับข้าพเจ้าแล้วมิได้มุ่งหวังได้เงินกัณฑ์เทศน์มากไปกว่าได้แสดงธรรมให้ผู้ฟังได้ความรู้ความเข้าใจในสาสนธรรม แสดงธรรมตามความถูกต้องพูดตรง ๆ อย่าง “ไม่เอาใจ” ผู้ฟัง ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ช่างใคร ทุกครั้งที่เจอคู่เทศน์พูดจาเอาอกเอาใจประจบประแจงผู้ฟังแล้วรู้สึกสะอิดสะเอียน บางครั้งก็สะกิดเตือนเขาว่า “อย่าประจบประแจงญาติโยมมากนักมันจะเข้าข่าย “กุลทูสก” ความหมายของคำนี้คือ “กุลทูสก (อ่านว่า กุ-ละ-ทู-สก, กุ-ละ-ทู-สะ-กะ) แปลว่า "ผู้ประทุษร้ายตระกูล" เป็นภาษาพระวินัย หมายถึงภิกษุผู้ประจบเอาใจคฤหัสถ์ที่ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือผู้มียศศักดิ์ด้วยอาการที่ผิดพระวินัย เพื่อให้เขาศรัทธาในตัว เพื่อหวังลาภผลจากเขา เช่นให้ของกำนัล ทำสวนดอกไม้ไว้ให้เขาชื่นชม พูดประจ๋อประแจ๋ อุ้มลูกเขา ยอมตัวให้เขาใช้สอย รับเป็นหมอรักษาไข้ รับฝากของต้องห้าม เป็นต้น กุลทูสกเป็นผู้ทำลายศรัทธา ทำให้เขาดูหมิ่นเสื่อมถอยในพระรัตนตรัย และทำให้เขาพลาดจากบุญกุศล เพราะมัวหลงชื่นชมต่อสิ่งที่ได้รับ ไม่หาโอกาสบำเพ็ญบุญอย่างอื่น จึงเรียกผุ้ประทุษร้ายตระกูล หรือผู้ทำร้ายตระกูล” ภิกษุประจบคฤหัสถ์ผิดพระวินัยบัญญัติเป็นอาบิสังฆาทิเสสข้อที่ ๑๓ ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นโทษได้
วันหนึ่งข้าพเจ้ามีกำหนดแสดงธรรมปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรม ฉลองพระบวชใหม่ที่บ้านบางแก้ว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จึงไปนอนค้างที่วัดท่ามะปราง หน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๗ ซึ่งอยู่ใกล้กับกุฏิเจ้าอาวาส (พระครูนิยมสีลาจารย์ – เอียง) ท่านพระครูเจ้าอาวาสเห็นข้าพเจ้าไปที่วัดก็ถามว่าจะไปเทศน์ที่ไหนหรือ ข้าพเจ้าตอบว่าพรุ่งนี้ไปเทศน์ที่บางแก้วครับ ท่านก็บอกว่า แลกกันดีไหม พรุ่งนี้ผมไปบางแก้วแทนท่าน ท่านเทศน์ที่วัดท่ามะปรางนี่แหละไม่ต้องเดินทางไกลดี ข้าพเจ้าก็ตอบตกลง พระดำรงหัวหน้าหน่วยพัฒนาการทางจิตเพื่อนคู่หูข้าพเจ้าบอกว่า ท่านไปแลกสถานที่เทศน์กับพระครูเอียงทำไม เมื่อซักถามรายละเอียดแล้วได้ความว่า วัดบางแก้ว ตำบลท่างาม บางระกำนั้น พระนักเทศน์พิษณุโลกล้วนอยากไปเทศน์กัน เพราะที่นั่นเขาติดกัณฑ์เทศน์แพงมาก บางทีก็ติดเป็นพันบาทเลย อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ในที่ทั่วไปติดกัณฑ์เทศน์ร้อยสองร้อย อย่างมากไม่เกินสามร้อย พระครูเอียงอยากได้เงินกัณฑ์เทศน์มาก ๆ จึงขอไปบางแก้ว ด้วยเห็นว่าที่วัดท่ามะปรางจะได้กัณฑ์เทศน์ไม่เกินสามร้อยบาท เพราะเขาจัดงานศพกันอย่างเงียบ ๆ ไม่มีมหรสพ แม้ปี่พาทย์ก็ไม่มี ข้าพเจ้าก็บอกเพื่อนว่า ไม่เป็นไรหรอก ผมเทศน์โดยไม่หวังได้เงินกัณฑ์เทศนากมายอะไร เขาถวายค่ารถเดินทางกลับวัดได้พอใจแล้ว
งานศพวัดท่ามะปรางวันนั้น ก่อนเทศน์ข้าพเจ้าถามญาติผู้ตายได้ความว่า ผู้ตายมีอดีตเป็นนายอำเภอเกษียณอายุราชการมาได้สิบปีเศษจึงเสียชีวิต ก่อนตายท่านสั่งว่าขอจัดการทำศพอย่างเงียบ ๆ ไม่ต้องทำเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพ ญาติจึงเก็บศพไว้ร้อยวันแล้วเอาออกมาทำบุญมีเทศน์แจงในวันนี้ เขาตั้งศพสวดพระอภิธรรมคืนเดียว ตอนเช้าถวายอาหารพระสงฆ์ ตอนบ่ายมีเทศน์แจง ๑ ธรรมาสน์ นิมนต์พระนั่งอันดับแจง ๕๐ รูป ทำแบบเรียบง่ายจริง ๆ
ข้าพเจ้าเทศน์แจง (ปฐมสังคีติกถา) ธรรมาสน์เดียว ก่อนเข้าเรื่องปฐมสังคายนาก็กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของผู้ตาย แล้วอนุโมทนาเจตนารมณ์ของผู้ตายและญาติที่จัดงานแบบเรียบง่าย ทั้งที่ผู้ตายมีฐานะทางการเงินดี มีเกียรติสูง พอที่จะจัดงานศพอย่างใหญ่โตได้ เรื่องนี้ควรแก่การเป็นตัวอย่างของการจัดงานศพที่ดี ด้วยเป็นบุญกุศลล้วน ๆ แก่ผู้ตายและญาติผู้จัดการศพ เคยพบเห็นงานศพมาหลายงานที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านและที่วัดเป็นหลายวัน มีการเลี้ยงเหล้ายาและเล่นพนันกันในงานอย่างไม่เกรงกลัวบาปกรรม แทนที่จะเป็นบุญบริสุทธิ์อุทิศให้ผู้ตาย กลับเป็นได้บาปให้ผู้ตายไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
จากนั้นก็ดำเนินเรื่องกล่าวถึงการทำปฐมสังคายนาตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วสรุปว่า ผู้เป็นเจ้าภาพจัดให้มีการเทศน์แจงเรื่องปฐมสังคายนานี้เชื่อว่าเป็นการช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะพระไตรปิฎกที่ได้จากการทำปฐมสังคายนานั้น เป็นหลักหรือธรรมนูญแห่งพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ในโลกตั้งแต่ พ.ศ. ๑ มาจนถึง พ.ศ.นี้ นานถึงสองพันห้าร้อยกว่าปี เพราะมีพระไตรปิฎกนี้เป็นหลักให้ยึดถือของชาวพุทธ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและพุทธสาวกที่รวมอยู่ในพระไตรปิฎกนี้มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยชาวพุทธช่วยกันบำรุงรักษา
หลังจบการเทศน์ลงจากธรรมาสน์ เจ้าภาพนำขันกัณฑ์เทศน์มาถวายบนอาสนสงฆ์ ทายกรวบรวมจตุปัจจัยในขันกัณฑ์เทศน์ห่อผ้ากราบที่เอาปูรองรับประเคนจากโยมหญิง แล้วใส่ย่ามข้าพเจ้า เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์นำศพลงจากศาลาการเปรียญขึ้นสู่เมรุ ข้าพเจ้าถือสายสิญจน์เดินนำหน้าขบวนจูงศพเวียนรอบเมรุ เจ้าภาพนิมนต์ชักผ้าบังสุกุล วางดอกไม้จันทน์ประชุมเพลิงในที่สุด เสร็จพิธีแล้วไปพักอยู่ในสำนักงานหน่วยพัฒนาการทางจิต รอพระดำรงกลับจากบางแก้ว เอาห่อผ้าที่ทายกใส่ย่ามออกมาคลี่ดู เห็นมีซองใส่เงิน ๑ ซอง มีแบ๊งค์ร้อยแบ๊งค์ยี่สิบนับได้สี่ร้อยบาทเศษ เปิดดูในซองมีเงินหนึ่งพันห้าร้อยบาท รวมแล้วเงินติดกัณฑ์เทศน์วันนั้นเกือบสองพันบาท
ใกล้ค่ำแล้วพระครูเอียงกับพระดำรงที่ไปเทศน์วัดบางแก้วกลับมา ทราบว่าเขาได้เงินติดกัณฑ์มาคนละห้าร้อยบาท ข้าพเจ้านึกสมน้ำหน้าพระครูเอียงที่โลภมากในลาภ พอรู้ว่าเงินกัณฑ์เทศน์ที่วัดท่ามะปรางมากกว่าวัดบางแก้วก็บ่นเสียดาย
ทำความรู้จักวัดวัดท่ามะปรางกันหน่อยครับ วัดนี้เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าชื่อนี้กร่อนมาจาก "ท่าพระปรางค์" จากจารึกหรือการเขียนชื่อวัดลงในภาชนะหรือของใช้ เช่น โอ่งดินเผาสีแดงที่สมบูรณ์จารึกชื่อบนขอบโอ่ง ว่า "…ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ วัดท่าพระปรางค์" อีกทั้งป้ายไม้สักทองก็แกะสลักว่าชื่อวัดท่าพระปรางค์ รวมถึงวัดพระปรางค์โบราณที่อยู่คู่มาแต่ดั้งเดิม น่าจะสร้างในสมัยสุโขทัย บริเวณอุโบสถ์เดิมน่าจะมีความเก่าสมัยสุโขทัยตอนปลาย มีการขุดใต้อุโบสถ พบอิฐครึ่งวงกลมหนา ๓ นิ้ว กว้าง ๑๔ นิ้ว น่าจะเป็นอิฐของเสายุคเดิม และบริเวณกำแพงแก้วพบกระเบื้องเคลือบที่มีการเคลือบที่ไม่เหมือนสมัยสุโขทัย น่าจะเก่ากว่า มีนัยว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๐
เมื่อปี ๒๕๐๙ พระธรรมธรสำลี พระดำรง แห่งหน่วยพัฒนาการทางจิต ขออนุญาตเจ้าอาวาสจัดสร้างพระพิมพ์ทามะปรางเนื้อดินเผา (พิมพ์เงี้ยวทิ้งปืน) ขึ้น โดยข้าพเจ้าเข้าร่วมด้วย วันทำพิธีพุทธาภิเศกได้นิมนต์พระอาจารย์ พระครูประกาศสมาธิคุณ จากวัดมหาธาตุกรุงเทพฯ มาเป็นเจ้าพิธี วัตถุประสงค์ในการสร้างพระพิมพ์นี้ เพื่อหาเงินสร้างโรงอุโบสถที่ทรุดโทรงลงมากแล้ว การทำพระพิมพ์ท่ามะปรางให้ประชาชนเช่าบูชาสำเร็จด้วยดี จึงทำการสร้างอุโบสถหลังใหม่ทับหลังเก่าสำเร็จในปี ๒๕๑๒/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ข้าวหอม
,
คิดถึงเสมอ
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
malada
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
เป็น อยู่ คือ
,
กรกันต์
,
หยาดฟ้า
,
ต้นฝ้าย
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #23 เมื่อ:
02, สิงหาคม, 2566, 11:04:34 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๔ -
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุหรือวัดใหญ่พิษณุโลก สมัยนั้นมีพระนักเทศน์อยู่หลายรูป รุ่นใหญ่ก็มีท่านเจ้าคุณพระราชรัตนมุนี หรือหลวงอาแช่มของข้าพเจ้า พระครูวิธานเรขกิจ (ตุ๊) รุ่นรองลงมาอยู่ในรุ่นข้าพเจ้าก็มี พระมหาเกษม พระมหาสุรศักดิ์ พระมหาสว่าง พระมหาชมพู และพระมหาธีรพงศ์ สำหรับมหาธีรพงศ์ เดิมอยู่วัดไทยชุมพล เมืองสุโขทัย ย้ายไปอยู่สำนักวัดเบญจมบพิตรฯกรุงเทพฯ เพื่อนพระที่อยู่วัดทองย้ายจากฝั่งธน คือพระมหาบำรุงกลับมาอยู่วัดใหญ่ มหาธีรพงศ์จึงไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดเบญจะ-วัดใหญ่-วัดไทยชุมพล เขาจึงเป็นตัวเชื่อมให้ข้าพเจ้ารู้จักคุ้นเคยกับพระมหาบำรุง, สุรศักดิ์, เกษม, ชมภู แห่งวัดใหญ่ไปด้วย พระมหาบำรุงอยู่ในฝ่ายท่านเจ้าคุณพระพิษณุบุราจารย์ (แพ) เจ้าอาวาสวัดใหญ่และเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก เป็นศูนย์กลางของพวกเราไปโดยปริยาย
สำหรับพระมหาสว่างนั้น ท่านเป็นชาวปักษ์ใต้ ไม่ค่อยสมาคมกับพวกพระมหาบำรุง จึงไม่คุ้นเคยกับพวกเรา เขาว่าพระมหาองค์นี้เทศน์เก่งมาก ถ้าเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาแล้วมักจะหักหน้าเอาชนะคู่เทศน์จนไม่มีใครอยากเทศน์ด้วย ข้าพเจ้าไม่เคยเทศน์กับท่านและไม่เคยฟังท่านเทศน์ด้วย ดูเหมือนว่าอายุของท่านจะแก่กว่าข้าพเจ้าสักปีหรือสองปีกระมัง พระครูวิธานเรขกิจ หรือพระครูตุ๊ เป็นนักเทศน์ที่พระเทศน์ในพิษณุโลกให้ความยำเกรงกันมาก ท่านแม่นยำในตำราจนพรรคพวกเรียกกันว่า “พระไตรปิฎกเคลื่อนที่” เขาว่าเคยเทศน์กับมหาสว่างยังถูกมหาสว่างถามจนตอบไม่ได้มาแล้ว มหาศรี (ชื่อเดิมของพระมหาธีรพงศ์) เคยพูดขู่ว่า “อย่างนี้ต้องเจอกับอภินันท์สักทีแล้วจะเข็ดจนตาย” หมายความว่า พรรคพวกนักเทศน์ของข้าพเจ้ายกย่องกันว่าข้าพเจ้าเทศน์เก่งกว่าพวกเขา ความจริงก็ไม่ใช่เป็นเช่นนั้น ว่าโดยความรู้แล้วข้าพเจ้าจะอ่อนด้วยกว่าพวกเขา ด้านไหวพริบปฏิภาณโวหารการโต้ตอบพวกเขาสู้ข้าพเจ้าไม่ได้เท่านั้นเอง
พรรคพวกอยากให้ข้าพเจ้าพบกับมหาสว่างบนธรรมาสน์เทศน์สักครั้งก็ไม่ได้พบกันสักที จนอยู่มาวันหนึ่ง พระครูวิธานเรขกิจนิมนต์ข้าพเจ้าไปเทศน์แจง ๓ ธรรมาสน์ที่วัดกระทุ่มยอดน้ำ ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ วัดนี้อยู่ที่ไหน ไปอย่างไร ข้าพเจ้าไม่รู้เลย แต่ก็ไม่เป็นการยุ่งยากอะไร ท่านบอกให้เดินทางไปพร้อมกับท่าน เมื่อถึงวันเทศน์ข้าพเจ้าไปพบท่านที่วัดใหญ่แต่เช้า จึงพร้อมกันไปขึ้นรถเมล์สายบางระกำเพื่อจะลงเรือต่อไปวัดกระทุ่มยอดน้ำ ข้าพเจ้าเพิ่งได้ทราบว่า คู่เทศน์อีกองค์หนึ่งคือพระมหาสว่าง ซึ่งเดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ท่านพระครูวิธานฯ ไม่บอกให้รู้ก่อนว่าต้องเทศน์กับมหาสว่าง แต่พวกมหาเกษม, สุรศักดิ์ รู้ก่อนแล้ว เพราะเดิมเขานิมนต์องค์ใดองค์หนึ่งในกลุ่มนี้ แต่เขาขอให้พระครูวิธานฯ นิมนต์ข้าพเจ้าไปแทน เพื่อต้องการให้พบกับมหาสว่าง มหาศรีพูดขู่มหาสว่างว่า
”พรุ่งนี้แหละหว่างเอ๋ยได้พบอภินันท์แน่ อวดเก่งนักต้องเจอดีซะบ้าง”
ท่านพระครูวิธานฯ บอกเล่าให้ให้ข้าพเจ้าฟังระหว่างเดินทางไปวัดกระทุ่มยอดน้ำ
ถึงวัดกระทุ่มยอดน้ำได้เวลาฉันเพลงพอดี พระมหาสว่างไปนั่งฉันอาหารอยู่กับพระที่เขานิมนต์มาสวดแจง ไม่ยอมมานั่งฉันรวมกับเรา พระครูวิธานฯ กล่าวกับข้าพเจ้าว่า
”มันตั้งท่าจะเล่นงานเราแล้วหละ”
ข้าพเจ้าก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่ตื่นเต้นอะไร เพราะเคยเทศน์กับพระเก่ง ๆ มามากแล้ว หลังฉันเพลแล้วมหาสว่างก็มานั่งรวมกับเรา ก่อนขึ้นเทศน์ก็แบ่งหน้าที่ตำแหน่งกัน พระครูวิธานฯ ถามถึงอายุพรรษาของพระมหาสว่างกับข้าพเจ้าว่าใครแก่อ่อนกว่ากัน ข้าพเจ้าอ่อนกว่ามหาสว่าง ๒ ปี ท่านก็ว่าถ้าอย่างนั้นคนอาวุโสสูงสุดต้องเป็นพระอานนท์ อาวุโสน้อยกว่าเพื่อนเป็นพระมหากัสสป ดังนั้นมหาสว่างจึงต้องเป็นพระอุบาลี ดูเหมือนพระครูวิธานฯ จงใจให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ถาม มหาสว่างเป็นผู้ตอบเรื่อ่งในวินัยปิฎก ส่วนท่านจะตอบในพระสุตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก มหาสว่างก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะซักถามอะไรได้
เมื่อเริ่มเทศน์ ข้าพเจ้าให้ศีลจบแล้วพระครูวิธานฯ แสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์ และสมมติองค์แสดงในตำแหน่งหน้าที่ตามที่ตกลงกันไว้ ข้าพเจ้าในตำแหน่งพระมหากัสสปดำเนินเรื่องปฐมสังคายนาด้วยสำนวนโวหารตามแบบแผนที่พระผู้ใหญ่ว่าไว้ ปรารภเรื่องอันเป็นเหตุให้ทำสังคายนา จนเริ่มสังคายนาพระวินัยเป็นอันดับแรก แล้วถามพระอุบาลีตามแบบที่เทศน์กันทั่วไปว่า “ปะฐะมัง ปาราชิกัง ปฐมปาราชิกสิกขาบทองค์สมเด็จศรีสุคตทรงตรัสบัญญัติ ณ ที่ใดนะขอรับ”
พระมหาสว่างผู้เป็นพระอุบาลีอบว่า “อันตะรา จะ ราชะคะหัง อันตะรา จะ นาลันทัง “
พระครูวิธานฯ ร้อง “อ๊าว....เอาคำของพระอานนท์ไปตอบ เดี๋ยวพระมหากัสสปมาถามผม ผมจะเอาอะไรที่ไหนไปตอบได้เล่า”
เท่านั้นเองคนฟังหัวเราะกันฮาครืนเลย มหาสว่างนั่งอึ้งด้วยรู้ตัวว่าตอบผิดไปแล้ว ที่ถูก้องตอบว่า “เวสาลิยัง ภันเต” ท่านคงประหม่าหรือไรก็ไม่รู้นะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็กลบเกลื่อนว่า ขอถามใหม่ว่า อาบัติปาราชิกข้อแรกที่พระพุทธทรงบัญญัติ ณ เมืองเวลสาลีนั้นปรารภถึงใคร เรื่องอะไร พระคุณเจ้าช่วยบอกเล่าให้ทราบหน่อยเถิด ท่านได้สติแล้วจึงตอบเรื่องพระสุทินเสพเมถุนกับภรรยาเก่า มีผู้โจษจันกันมาก พระพุทธองค์ทรงทราบจึงบัญญัติเป็นวินัยห้าม จากนั้นข้าพเจ้าก็ถามเรื่องพระวินัยให้ท่านอธิบายพอสังเขปแล้วสรุปจบไป
เมื่อมาถึงหน้าที่พระอานนท์จะต้องตอบเรื่องพระสูตรพระอภิธรรม ข้าพเจ้ากล่าวตลก ๆ กับพระครูวิธานฯว่า กระผมจะไม่ถามว่า พรหมชาลสูตรว่าพระพุทธองค์ตรัสที่ไหนปรารภถึงใคร ความว่าย่างไร เพราะคำตอบนั้นถูกพระอุบาลีหยิบยืมไปแล้ว (คนฟังส่งเสียงฮา...)
พระครูวิธานฯ ก็รับมุกว่า “อ้าว..จบกัน งั้นก็ลงธรรมาสน์กลับวัดได้ละซิ”
ไม่ได้นะเรื่องยังไม่จบ พระอภิธรรมไงล่ะ เรื่องพระอภิธรรมนี่ส่วนมากพระไม่ค่อยได้เทศน์กัน มัวเทศน์กันแพระวินัย พระสูตร จนหมดเวลา วันนี้กระผมขอถามเรื่องพระอภิธรรมว่า อภิธรรมคืออะไร พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ใคร ที่ไหน เมื่อไร
พระครูวิธานฯ ตอบว่า “แหม ถามยังกะออกข้อสอบนักธรรมเลยเชียว” แล้วนท่านก็อบว่า อภิธรรม แปลว่า ธรรมอันยิ่งและพิเศษ เป็นปรมัตถ์ธรรมคือธรรมอันสูงสุด ทรงแสดงโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ ๗ หลังการตรัสรู้ ใช้เวลาแสดง ๓ เดือนจึงจบ พระพุทธมารดาได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน แทนค่าน้ำนมได้สิ้น
ข้าพเจ้าถามลึกเข้าไปอีกว่า ใจความสำคัญของพระอภิธรรมมีเท่าไร อะไรบ้าง
ท่านตอบว่า ความสำคัญมี ๔ คือ จิ เจ รุ นิ...
ตอบชัด ๆ ให้ฟังรู้เรื่องหน่อยซีครับ...
ฟังนะ จิ คือจิต เจ คือเจตสิก รุ คือรูป นิ คือนิพพาน....
จิตคืออะไร เจสิกคืออะไร ตอบให้แจ้งหน่อยครับ....
จิต คือสภาพที่รู้สึกนึกคิด รับรู้อารมณ์ สั่งสมอารมณ์ เจตสิกคือสภาพที่เกิดพร้อมกับจิตดับพร้อมดับจิต ใจก็เรียก วิญญาณก็เรียก จิตนี้ในพระอภิธรรมว่ามีจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง...
ข้าพเจ้าแย้งว่า ไม่จริงละมั๊ง คนอะไรมีหัวใจมากมายอย่างนั้น....
จิตกับหัวใจเป็นคนละอย่างกันนะ หัวใจเป็นรูป เรียกว่าหทัยรูป ไม่มีความรู้สึกนึกคิด อะไร ทำหน้าสูบฉีดโลหิตบำรุงเลี้ยงร่างการอย่างเดียว แต่จิตหรือใจ ไม่มีรูป มีหน้าที่รับรู้อารมณ์สั่งสมอารมณ์ เมื่อเจตสิกเข้ามาประกอบแล้วทำให้จิตเป็นกุศลจิต อกุศลจิต รู้สึกเป็นบาป รู้สึกเป็นบุญ เป็นดีเป็นชั่วแตกแยกออกไปมากมาย...
ที่เขาพูดกันว่า ฉันมีใจเดียว คุณเป็นคนหลายใจ นั่นจริงไหมครับ...
อ๋อ ว่าตามหลักอภิธรรมนี้ ใจเดียวน่ะไม่จริงหรอก หลายใจนั่นแหละถูกต้องเลย ฯลฯ
วันนั้นข้าพเจ้าเทศน์กันเรื่องพระอภิธรรมสนุกมาก คนฟังชอบอกชอบใจ หลังลงจากธรรมาสน์รับขันกัณฑ์มีโยมทายกหลายคนเข้ามาบอกว่า วันนี้ฟังเทศน์ได้ความรู้จุใจ ท่านเทศน์เรื่องพระอภิธรรมได้รู้เรื่องดีมาก ไม่เคยฟังเรื่องพระอภิธรรมมาก่อนเลย มีแจงคราวหน้าจะขอนิมนต์มาเทศน์เรื่องพระอภิธรรมต่อนะครับ มหาสว่างไม่พูดไม่จา เมื่อรับกัณฑ์แล้วก็เดินลงจากศาลามารอเรืออยู่ท่าน้ำ แล้วลงเรือลำเดียวกันกันกลับวัดอย่างเงียบขรึม มหาศรีเล่าให้ฟังว่า เย็นวันนั้นพรรคพวกนั่งรอดูมหาสว่างอยู่ที่กุฏิปากทางเข้าวัด เห็นท่านเดินก้มหน้าเข้าวัดไม่ยอมเงยหน้ามองดูใคร มหาสุรศักดิ์ ร้องบอกเพื่อน ๆ ว่า “เฮ้ย พวกไปเจอดีมาแล้วโว้ย !” แล้วก็พากันหัวชอบอกชอบใจ มหาศรีไปถามพระครูวิธานฯ ว่ามหาสว่างโดนคำถามอะไรที่ตอบไม่ได้หรือ พระครูวิธานฯก็เล่าให้ฟัง มหาศรีก็มาเล่าต่อให้เพื่อน ๆ ฟัง มหาสุรศักดิ์บอกว่า “ควายเอ๊ย หญ้าปากคอกก็ไม่รู้จักกิน” /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
มนชิดา พานิช
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
ข้าวหอม
,
เป็น อยู่ คือ
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
หยาดฟ้า
,
malada
,
คิดถึงเสมอ
,
ต้นฝ้าย
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #24 เมื่อ:
04, สิงหาคม, 2566, 12:35:14 AM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๕ -
พระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้าแม้จะถูกอบรมนานถึง ๖ เดือน วิชาการด้านพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม การแสดงธรรม และความรู้ด้านสังคมการเมือง อัดลงในสมองมากมาย แต่ก็มีพระภิกษุไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ๓๐๐ นั้นจะแสดงธรรมในแบบเทศน์เดี่ยวเทศน์คู่ได้เหมือนเช่นข้าพเจ้า ส่วนมากท่านจะถนัดงานด้านทำกิจกรรมนานา เช่นสร้างวัดวาอาราม เป็นต้น พระในกลุ่มข้าพเจ้ามีเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาที่เรียกว่าพอใช้ได้ ก็มีพระดำรง วัดท่ามะปราง พระสมุห์ประจวบ วัดจันทร์ตะวันออก พระไพฑูรย์ วัดราชธานี พระมหาบุญช่วย วัดท้ายตลาด อุตรดิตถ์ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีกิจนิมนต์เทศน์มากกว่าเพื่อน
วันหนึ่งข้าพเจ้ารับนิมนต์ไปเทศน์วัดหนองนา ตำบลบ่อทอง อำเภอบางระกำ ตามกำหนดต้องเทศน์คู่กับพระดำรง วัดท่ามะปราง แต่พระดำรงมีเหตุขัดข้องไปเทศน์ไม่ได้ จึงให้พระมหาสมนึก พระนักเทศน์ใหม่ที่กำลังฝึกหัดเทศน์ไปแทน พระองค์นี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าท่านจะเป็นคนเบลอ ๆ กิริยาอาการเชื่องช้า พูดไม่ค่อยชัดถ้อยชัดคำ ก็นึกหนักใจที่จะต้องเทศน์กับท่าน พระดำรงบอกว่า “ช่วยประคับประคองน้องใหม่ด้วยนะ” ท่านก็มีอัธยาศัยดีกล่าวฝากเนื้อฝากตัวด้วยความนอบน้อม
การเดินทางไปวัดหนองนาสมัยนั้นต้องไปทางเรือ ล่องลำน้ำยมลงไป เพราะยังไม่มีถนนหลวงตัดผ่านอย่างเช่นปัจจุบัน ลงเรือหางยาวจากบางระกำผ่านวังเป็ดไปเล็กน้อยก็ขึ้นบกเดินเท้าต่อไปไม่ไกลนัก วัดนี้อยู่ในตำบลบ่อทอง ส่วนวัดหนองนาอีกวัดหนึ่งนั้นอยู่ตำบลหนองกุลาที่ข้าพเจ้าเคยเดินจากวัดบางระกำไปเทศน์มาแล้ว วัดหนองนาบ่อทองนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านกลางทุ่งนา ดูสภาพวัดเห็นว่ามีอายุไม่เก่าเกิน ๕๐ ปีเป็นแน่ ศาลาการเปรียญสูงโปร่งคงสร้างเสร็จใช้งานมาไม่เกิน ๓ ปี เจ้าอาวาสเป็นคนพื้นบ้านบ่อทอง อายุประมาณ ๔๐ เห็นจะได้ ท่านร่วมฉันเพลกับพระเทศน์แล้วขอตัวจำวัด (นอน) ก่อน เพราะเมื่อคืนนี้ไม่ได้นอน ด้วยต้องดูแลวัดที่จัดงานมีมหรสพแสดงกันจนค่อนแจ้ง
วันนั้นเราเทศน์กันด้วยธรรมะง่าย ๆ ว่าด้วยบันไดไต่ไปสวรรค์ คือ ทาน ศีล ภาวนา ข้าพเจ้าเป็นผู้ถาม พระมหาสมนึกเป็นผู้ตอบ การเทศน์ปุจฉา-วิสัชนานี้สำคัญที่องค์ปุจฉา (ถาม) เป็นผู้ดำเนินเรื่อง ตั้งคำถามที่คิดว่าคนอยากรู้อยากฟัง เทศน์ไปเดาใจผู้ฟังไปด้วย เคยเทศน์กับนักเทศน์ใหม่ ๆ เขาขอเป็นผู้ถาม เพราะกลัวว่าเป็นผู้ตอบแล้วจะจนคำตอบ ข้าพเจ้าก็ยอมให้เขาเป็นผู้ถาม คำถามของเขาค่อนข้างจะไร้สาระไม่เข้าประเด็นของเรื่อง บางทีถูกข้าพเจ้า “ปฏิปุจฉา” คือถามย้อนเข้าบ้างก็ตอบไม่ได้ คู่เทศน์ของข้าพเจ้าหลายองค์รู้เชิงกัน ถามแบบมีลูกล่อลูกชน ตอบแบบมีลูกล่อลูกชน คนฟังไม่ง่วง คนเทศน์ก็สนุก
ขณะที่ข้าพเจ้าถามเรื่องทานให้มหาสมนึกตอบแยกแยะประเภทของทานอยู่นั้น ปรากฏว่ามีชายขี้เมาคนหนึ่งอายุสักสามสิบปีเศษ เขาถือปืนลูกซองยาวเข้ามาในวัดแล้วยิงปืนขึ้นฟ้าในที่ใกล้ ๆ ศาลาซึ่งมีคนฟังเทศน์อยู่ไม่น้อย ทุกคนตกใจ โยมหญิงร้องวี๊ดว๊าย พระมหาสมนึกทำท่าขยับจะลงจากธรรมาสน์หลบภัย ข้าพเจ้าบอกให้เขานั่งนิ่ง ๆ คอยดูทาทีอยู่ มีทายกใจกล้าลงจากศาลาวิ่งไปที่กุฏิเจ้าอาวาสท่ามกลางเสียงปืนยิงขู่ขึ้นฟ้าอีกสองนัด ข้าพเจ้าก็บอกให้ทุกคนบนศาลานั่งอยู่นิ่ง ๆ ไม่ต้องตื่นตกใจกลัวไป สมภารวัดถูกทายกไปปลุกให้ตื่นขึ้น พอรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นก็เอาจีวรคาดเอวรีบลงจากกุฏิ เดินตรงแน่วเข้าหามือปืนขี้เมาคนนั้นอย่างไม่เกรงกลัว พอไปถึงก็ตบหน้าขี้เมาฉาดใหญ่ เจ้าขี้เมานั่งลงวางปืนแล้วกราบแทบเท้าด้วยความเกรงกลัว ท่านก็ลากตัวไปที่กุฏิเพื่ออบรมสั่งสอนตามระเบียบ
เหตุการณ์สงบลงแล้วข้าพเจ้าก็ดำเนินการเทศน์ไปจนจบ ต้องขออภัยด้วยที่กำลังให้การอยู่นี้ นึกชื่อสมภารคนเก่งนั้นไม่ออก (ดูเหมือนท่านจะชื่อทองหล่อ) เพราะเวลาผ่านมานานเกือบห้าสิบปีแล้ว จากการเทศน์ที่ปากกระบอกปืนแล้วขอพาไปเทศน์ประชันลิเกกลางวันในจังหวัดพิษณุโลกอีกวัดหนึ่ง พระดำรงวัดท่ามะปรางพาขึ้นรถไฟไปวัดท่านา ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม ลงจากรถไฟเดินทางต่อไปไม่ไกลนัก วันนี้เทศน์ ๒ ธรรมาสน์คู่กับพระดำรง วัดท่ามะปราง เนื่องในงานประจำปีของวัด
ทางวัดเขามีการแสดงลิเกตอนกลางวันด้วย ลิเกเริ่มแสดงตอนพระฉันเพล ถึงตอนบ่ายโมงพระก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ แม้โรงลิเกอยู่ห่างไกลศาลาการเปรียญที่พระเทศน์ก็จริง แต่เสียงการแสดงลิเกก็ดังถึงศาลาเทศน์ แม้จะหันปากดอกลำโพงไปทางอื่น เสียงก็ยังดังแข่งเสียงพระเทศน์อยู่ดีแหละ เทศน์เข้าเรื่องได้หน่อยหนึ่ง การแสดงลิเกก็ถึงตอนที่มีการลุยไฟ คนฟังเทศน์บนศาลาได้ยินเสียงลิเกว่าจะทำการลุยไฟ ก็ผละการฟังเทศน์ ทยอยลงจากศาลาไปดูลิเกลุยไฟ จนเหลือคนฟังเทศน์แก่ ๆ อยู่สามสี่คนเท่านั้นเอง ข้าพเจ้าเห็นดังนั้นก็สรุปการแสดงพระธรรมเทศนา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
เคยเทศน์ชนะการฉายภาพยนตร์ในโรงหนังที่เมืองเก่าสุโขทัยมาแล้ว วันนี้มาเทศน์แพ้ลิเกลุยไฟอย่างหมดรูปเลย /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
หยาดฟ้า
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
เป็น อยู่ คือ
,
ข้าวหอม
,
คิดถึงเสมอ
,
ต้นฝ้าย
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #25 เมื่อ:
04, สิงหาคม, 2566, 11:34:56 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๖ -
ชื่อบ้านนามเมืองโบราณของไทยส่วนมากฟังดูแปลก ๆ คนรุ่นใหม่หาความหมายไม่ได้ และเห็นว่าไม่เป็นมงคลก็เปลี่ยนชื่อเสียใหม่มากมายหลายแห่ง ข้าพเจ้าชอบชื่อบ้านแปลก ๆ มากกว่าชื่อใหม่ ๆ เพราะว่า แม้จะไม่รู้ความหมายก็ฟังดูขลังดี จังหวัดพิษณุโลกมีวัดและบ้านชื่อแปลกอยู่หลายวัด เช่น วัดสะอัก เป็นต้น มีวัดหนึ่งชื่อว่าท้อแท้ อยู่ในเขตอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก พระมหาบำรุงวัดใหญ่ (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะภาค ๕ สมณะศักดิ์สุดท้ายเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่พระพรหมวชิรเจดีย์) นิมนต์ข้าพเจ้าให้ไปเทศน์ที่วัดท้อแท้ แนะนำว่าเดินทางโดยรถไฟไปลงที่สถานีบ้านแควน้อย จะมีคนนำรถมอเตอร์ไซค์มารับไปวัดนี้สะดวกรวดเร็วว่าที่จะเดินทางโดยรถยนต์ เพราะถนนสายพิษณุโลก-วัดโบสถ์ถนนสร้างใหม่เป็นดินลูกรัง มีฝุ่นมาก และมีรถเข้าออกน้อย หากรอไปรถยนต์ต้องตอนบ่ายแก่ ๆ จึงจะมีรถ และต้องไปนอนค้างคืนก่อนวันเทศน์
ข้าพเจ้าไม่ชอบเดินทางไปนอนค้างวัดที่เทศน์ก่อนวันเทศน์ จึงตกลงทำตามคำแนะนำของเพื่อน โดยนั่งรถไฟไปลงที่สถานีบ้านแควน้อย ซึ่งอยู่บริเวณปากแม่น้ำแควน้อย พอลงจากรถไฟก็มีชายหนุ่มเข้ามายกมือไหว้ถามว่า หลวงพี่จะไปเทศน์ที่วัดท้อแท้ใช่ไหม พยักหน้ารับว่าใช่ เขาก็นิมนต์ให้นั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ ข้าพเจ้าไม่เคยนั่งซ้อนท้ายรถอย่างนี้มาก่อนก็รู้สึกเกร็งมาก เขาออกจากสถานีรถไฟไปตามทางลูกรังเลียบริมแม่น้ำแควน้อยด้วยความเร็วเลี้ยวลดคดโค้งไปมาตามความคดโค้งของแม่น้ำแควน้อยพร้อมร้องบอกว่าหลวงพี่เกาะแน่น ๆ นะครับ จึงต้องนั่งเกร็งตัวไปจนถึงวัดท้อแท้ ถึงแล้วก็นั่งตัวแข็งอยู่บนอานรถเพราะขยับตัวลงเดินไม่ได้ มันแข็งชาไปหมดทั้งตัว เจ้าคนขับรถต้องจับลงจากอานรถประคองขึ้นบนกุฏิ นอนแผ่หลาให้ทายกช่วยกันนวดขานวดแขนอยู่เป็นนาน
วัดท้อแท้ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย ห่างไกลจากตัวอำเภอวัดโบสถ์ประมาณ ๕ กม. เขาว่าเป็นสนามแข่งเรือยาวไทยที่มีชื่อเสียงใน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก วัดนี้มีตำนานกล่าวขานสืบต่อหลายชั่วอายุคนว่า ในอดีตการเดินทางแสนลำบาก ทางบกใช้เดินด้วยเท้า ดีที่สุดคือขี่ม้านั่งเกวียน ทางน้ำใช้เรือพายตามลำน้ำ กาลครั้งหนึ่งเจ้าเมืองพิษณุโลกจะเดินทางไปที่บ้านท่าสาวงาม (ปัจจุบันคือตำบลท่างาม อำเภอวัดโบสถ์) โดยทางเรือ ตามลำน้ำน่านแล้วแยกเข้าแควน้อย แบบพายเรือทวนกระแสน้ำ การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก จนเกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย ข้าวปลาอาหารที่นำไปก็เกิดบูดเน่าจึงได้หยุดพัก ท้องถิ่นที่หยุดพักให้ชื่อหมู่บ้านตำบลว่าท้อแท้ คำท้อแท้มีคนรุ่นใหม่เห็นว่าไม่ไพเราะ พยายามเปลี่ยนใหม่ แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม จึงคงเปลี่ยนเฉพาะชื่อวัด จากวัดท้อแท้เป็นวัดทองแท้ แม้กระนั้นชื่อวัดท้อแท้ก็ไม่เลือนหายไป
พระคู่เทศน์ของข้าพเจ้าวันนั้นเป็นนักเทศน์ประเภท “คาบลูกคาบดอก” ชื่ออาจารย์โปรย ท่านบอกว่าอยู่วัดใหญ่ แต่ข้าพเจ้าไม่รู้จักมาก่อน เราตกลงกันว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ถาม อาจารย์โปรยเป็นผู้ตอบ ถามเขาว่าจะให้ถามเรื่องอะไรบ้าง เขาก็ว่าถามเรื่องที่ผมแหล่ได้ก็แล้วกัน ถามแหล่อะไรได้บ้างล่ะ เขาว่าแหล่เรื่องขันธ์ห้า จึงตกลงว่าจะเทศน์เรื่องขันธ์ห้า คิดว่าเขาคงอธิบายเรื่องขันธ์ห้าได้แน่จึงไม่นัดแนะว่าจะถามอย่างไรให้ตอบอย่างไร
ครั้นได้เวลาขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ข้าพเจ้าก็เหนื่อย เพราะต้องแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์เองแทนที่องค์ตอบจะแสดงตามธรรมเนียม อาจารย์โปรยบอกก่อนขึ้นธรรมาสน์ว่าขอให้ข้าพเจ้าว่าอานิสงส์แล้วดำเนินเรื่องเข้าถามเลย นี่แสดงว่าเขาเป็นมวยประเภทมวยสากล พอขึ้นเวลาไม่ต้องไหว้ครูก็ชกเลย พระนักเทศน์ในภาคเหนือตอนล่างส่วนมากเป็นอย่างนั้น เทศน์กันอย่างไร้แบบแผน ไม่มีลีลาโวหารอะไร ดังนั้นข้าพเจ้าจึงร่ายยาวไปจนถึงตอนที่ปุจฉาว่า ขันธ์คืออะไร มีเท่าไร อะไรบ้าง เป็นการถามแบบคำถามในการสอบธรรมสนามหลวง ไม่มีลีลาอะไร อาจารย์โปรยแทนที่จะตอบคำถามตรง ๆ ท่านกลับแหล่เรื่องขันธ์ห้าทันที ความในแหล่นั้นพอสรุปได้ว่า คนที่จะมาเกิดนั้นต้องไปขอขันธ์ห้าจากพระอินทร์ พระอินทร์ประทานขันธ์ห้าให้จึงได้มาเกิดเป็นตัวเป็นตน.... เมื่อจบแหล่ข้าพเจ้าถามย้ำอีกว่า ขันธ์ห้าที่พระอินทร์ให้มานั้นมีอะไรบ้าง เ ขาตอบอึก ๆ อัก ๆ ว่า ก็คือขาแขนเนื้อตัวนี้แหละ... เอากะพ่อซี
แสดงว่าเขาไม่รู้จักขันธ์ห้า ข้าพเจ้าจึงต้องอธิบายกลบเกลื่อนว่า ...อ้อ ขาแขนเนื้อตัวนี้คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ห้าอย่างนี้รวมเป็นขันธ์ห้าใช่ไหม รับว่าใช่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าก็ไม่ซักถามอะไรอีก เพราะรู้ชัดว่าเขาไม่มีความรู้ในหลักปริยัติธรรมเท่าที่ควร จึงอธิบายความหมายของขันธ์ห้าให้ญาติโยมฟังจนสมควรแก่เวลาแล้ว... เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
เป็นความซวยของข้าพเจ้าทีไปเทศน์วัดท้อแท้ ท้อแท้ในการเดินทางยังไม่พอ ยังต้องท้อแท้กับคู่เทศน์อีก เทศน์จบแล้วกลับไม่ได้ ต้องนอนค้างที่วัดท้อแท้รอรถจากวัดโบสถ์เข้าเมืองผ่านมายามเช้าวันรุ่งขึ้น ทราบว่าเดี๋ยวนี้ทั้งวัดทั้งหมู่บ้าน ตำบล ท้อแท้ กระทรวงมหาหาดไทยเปลี่ยนชื่อให้เป็นทองแท้แล้ว ส่วนจะเป็นทองเหลืองทองแดงทองคำอย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
เป็น อยู่ คือ
,
ข้าวหอม
,
หยาดฟ้า
,
คิดถึงเสมอ
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #26 เมื่อ:
05, สิงหาคม, 2566, 10:59:45 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๗ -
งานเทศน์จะมีมากในช่วงเดือน ๓-๖ เป็นงานประจำปีของวัดบ้าง งานแจงรวมญาติบ้าง งานบวชนาคบ้าง งานศพที่เก็บไว้ ๑๐๐ วันบ้าง งานแจงรวมญาติและงานศพที่เก็บไว้นาน ๆ เอามาตั้งบำเพ็ญบุญ โดยจัดให้มีเทศน์แจงนี้ภาษาพระนักเทศน์เราเรียกกันว่า “แจงแห้ง”
ครั้งหนึ่งพระดำรงวัดท่ามะปรางรับนิมนต์เทศน์แจงรวมญาติที่วัดนาอิน เจ้าภาพเจาะจงให้นิมนต์ข้าพเจ้าองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งแล้วแต่พระดำรงจะจัดให้ จึงนิมนต์พระสมุห์ประจวบ วัดจันทร์ตะวันออกอีกองค์หนึ่ง เป็นครั้งแรกที่พระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตได้เทศน์ร่วมกัน พวกเราเดินทางโดยรถไฟไปลงที่สถานีพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วต่อรถยนต์สองแถวไปนอนค้างคืนวัดที่จะเทศน์ในวันรุ่งขึ้น
เป็นการเดินทางอย่างวิบากอีกครั้งหนึ่ง รถยนต์ที่นั่งเก้าอี้ยาวแบบสองแถวเป็นรถโดยสารระหว่างนายาง นาอิน – เมืองพิชัย รับคนโดยสารออกจากนายาง นาอิน ในช่วงเวลาเช้า แล้วจอดรอรับคนกลับนาอิน นายาง ในเวลาบ่ายแก่ ๆ ระยะทางประมาณ ๒๒ กม. ถนนเป็นดินลูกรัง บางตอนเป็นดินธรรมดา เป็นหลุมเป็นบ่อมากไปด้วยฝุ่น วัดที่จะไปเทศน์คือวัดนาอิน อยู่ตอนใต้วัดนายาง วัดนาอินมีหลักฐานว่าตั้งขึ้นแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ยังไม่มีอุโบสถ พวกเรานั่งรถลุยฝุ่นไปถึงวัดในตอนเย็น คลี่จีวรสะบัดฝุ่นออกแล้วอาบน้ำพักผ่อนตามอัธยาศัย
ได้พูดคุยกับกรรมการวัด เขาบอกเล่าความเป็นมาของพื้นที่ นาอิน นายาง ว่า ตรงนาอินนี้ “ในสมัยพระพุทธกาล นางมัทรีได้เสด็จตามองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่านมา และได้มานั่งอิงแผ่นหินบริเวณนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “นางอิง” ได้เพี้ยนมาเป็น “นาอิน” และได้เรียกตาม ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนนายางที่อยู่ตอนเหนือนาอิน ก็มีความเป็นมาว่า เดิมชื่อ “นางยั้ง ” ตามประวัติเล่าว่า เมื่อสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับที่เขาวงกต ซึ่งอยู่ในเขตรอบอำเภอพิชัยกับอำเภอตรอน พระนางมัทรีได้เสด็จพระราชดำเนินตามและได้มาพักบริเวณป่าที่มีความร่มรื่น ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “นางยั้ง” ได้เพี้ยนมาเป็น “นายาง” และได้เรียกขานมาจนถึงปัจจุบัน” ฟังคำบอกเล่าแล้วก็รู้สึกขำขัน ไม่รู้เขานำเอานางมัทรีไปเชื่อมโยงกับพระพุทธเจ้าได้อย่างไร
จากคำบอกเล่าพอรู้ได้ว่า แต่เดิมนั้น นาอินกับนายางอยู่ในเขตปกครองเดียวกันเรียกว่า นาอินนายาง เป็นบ้านเมืองเก่าแก่มีซากอิฐเครื่องปั้นดินเผาจมดินอยู่ไม่น้อย ดูเหมือนว่าจะเป็นเมืองร้างจมดินอยู่จนกลายเป็นป่าเป็นดง ต่อมาผู้คนอพยพเคลื่อนย้ายมาจากทางฝั่งลาวหลวงพระบาง หักล้างถางพงสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยทำไร่ทำนาดำรงชีพสืบต่อกันมาเป็นเวลานานแล้ว ฟังภาษาสำเนียงของชาวบ้านที่นี่คล้าย ๆ กับชาวหล่มเก่า ด่านซ้าย นครไทย ที่เคยได้ฟังมา
วันนั้นเป็นงานแจงรวมญาติ เราเทศน์กันอย่างไม่เร่งร้อนรวบรัด เพราะรู้อยู่แล้วว่าอย่างไรเสีย คืนนั้นก็ต้องนอนค้างที่วัดนาอินอีกคืนหนึ่ง เพราะตอนเย็นไม่มีรถยนต์ออกไปเมืองพิชัย ต้องรอตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ดังนั้นจึงเทศน์กันอย่างสบาย ๆ ข้าพเจ้าเป็นพระมหากัสสปซักถามเรื่องพระวินัยกับพระดำรงที่เป็นพระอุบาลี เฉพาะเรื่องปาราชิกเราถามตอบกันอย่างละเอียดลออ เรื่องพระสุทินเสพเมถุนกับภรรยาเก่าแล้วผลเป็นอย่างไร พระเทศน์ไม่ค่อยได้ให้รายละเอียด เรื่องนี้ในรายละเอียดมีอยู่ว่า บิดามารดาและภรรยาเก่าของพระสุทินต้องการมีบุตรสืบสกุล จึงอ้อนวอนพระสุทินขอให้เสพเมถุนกับภรรยาเก่า หลังจากเสพเมถุนแล้วภรรยาเก่าก็ตั้งครรภ์สมใจ ชาวบ้านพากันโจษจันนินทา พระภิกษุนำเรื่องนี้กราบทูลพระพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติของห้ามเป็นวินัยข้อแรก ต่อมาภรรยาเก่าพระสุทินคลอดลูกเป็นชายจึงได้ชื่อว่า พีชะ แปลว่าพืช ส่วนพระสุทินนั้นคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เป็นอาบัติปาราชิก ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะท่านเสพเมถุนก่อนที่พระพุทธเจ้าจะบัญญัติข้อห้าม จึงไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ท่านก็เป็นเศร้าหมอง
ข้าพเจ้าซักถามเรื่องนี้อย่างละเอียด ให้ทราบว่าการเสพเมถุนที่ต้องเป็นอาบัติปาราชิกมิใช่แต่เสพทางอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น แม้เสพเมถุนกับหญิงและชายทางทวารหนัก ทางปาก อวัยวะล่วงเข้าไปเพียงเมล็ดงาเดียวก็เป็นอาบัติปาราชิก ไม่เสพในมนุษย์แต่เสพในสัตว์เดรัจฉานก็เป็นอาบัติปาราชิกเช่นกัน ต่อจากเรื่องเสพเมถุนก็ว่าด้วยเรื่องลักของเขา ภาษาวินัยว่า ถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้มีราคา ๕ มาสก (๑ บาท) ก็เป็นอาบัติปาราชิก หมายถึงว่าทรัพย์สินเงินทองคนอื่นที่เขามิได้ให้ ภิกษุถือเอาด้วยการลักขโมยชิงปล้นฉ้อโกงเขา ได้ของที่มีมูลค่า ๑ บาทต้องเป็นอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ศีลข้อนี้พระภิกษุไม่ค่อยเข้าใจ บางองค์ไปตัดไม้ในป่ามาสร้างกุฏิ ศาลา บางองค์ทำเรื่องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้อำเภอจังหวัด เจ้าหน้าที่ป่าไม้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อนุญาต พระศีลขาดเพราะเรื่องนี้มานักต่อนักแล้ว เพราะไม้บางชนิดป่าไม้ไม่มีสิทธิ์อนุญาต เช่นไม้สัก ต้องเสนอเรื่องขอต่อรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีอนุมัติจึงจะได้ ไม่อย่างนั้นถือว่า “ถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้” ผิดสิกขาบทที่ ๒ ของอาบัติปาราชิก
กว่าจะซักถามกันเรื่องวินัยบัญัติจบก็เป็นเวลานาน จากนั้นก็ถามพระสมุห์ประจวบที่เป็นพระอานนท์ เรื่องพรหมชาลสูตรตามแบบที่เทศน์กันทั่วไป ข้าพเจ้าไม่ซักเรื่องนี้มากนัก ไปซักเรื่องพระอภิธรรม เรื่อง จิต เจสิก พอสังเขป ซักถามเรื่องรูปเป็นพิเศษ ตั้งแต่มหาภูตรูป คือรูปใหญ่ที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งสี่ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ แยกแยะให้เห็นว่าธาตุดินมีลักษณะอย่างไร ธาตุน้ำมีลักษณะอย่างไร ธาตุลมมีลักษณะอย่างไร ธาตุไฟมีลักษณะอย่างไร อุปาทายรูปคือรูปอาศัยนั้น ได้แก่อะไร มีอะไรบ้าง เรื่องนี้พระสมุห์ประจวบไปอบรมพระอภิธรรมมาด้วยกันจึงตอบได้อย่างชัดเจน เราเทศน์กันจนถึงบ่ายสี่โมง จึง เอวัง ก็มี.....ด้วยประการฉะนี้
หลังจบเทศน์ลงจากธรรมาสน์มานั่งบนอาสนสงฆ์รับประเคนขันกัณฑ์เทศน์ โยมชายหลายคนเข้ามายกมือไหว้กล่าวชื่นชมว่า ท่านเทศน์กันดีเหลือเกิน พวกผมไม่เคยฟังเรื่องราวละเอียดอย่างนี้มาก่อนเลย ข้าพเจ้าก็กล่าวว่าพวกอาตมาเป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิต ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะให้ญาติโยมรู้และเข้าใจในเรื่องที่แสดงเป็นสำคัญ โยมสงสัยอะไรหลังการเทศน์ก็ซักถามได้เลยนะ/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ข้าวหอม
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
หยาดฟ้า
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
คิดถึงเสมอ
,
เป็น อยู่ คือ
,
ต้นฝ้าย
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #27 เมื่อ:
06, สิงหาคม, 2566, 10:39:47 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๘ -
ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเทศน์แจง ๓ ธรรมาสน์ในอำเภอพิชัยอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่วัดนาอิน-นายาง ตามที่ให้การไปแล้ว แต่เป็นวัดกองโค ตำบลคอรุม ทั้งนี้เนื่องมาจากการไปเทศน์ที่วัดนาอิน มีคนที่วัดกองโคไปฟังแล้วชอบใจ ครั้นวัดกองโคมีแจงรวมญาติเขาจึงเสนอให้กรรมการวัดนิมนต์ข้าพเจ้าไปเทศน์ด้วยองค์หนึ่ง คราวนี้ต้องเทศน์กับพระนักเทศน์รุ่นใหญ่คือ เจ้าคุณพระพิศาลธรรมภาณี วัดกระบังมังคลาลาม (อาจารย์ของพระมหาบำรุง) ซึ่งเป็นนักเทศน์ที่เก่งมากจนเป็นที่เคารพยำเกรงของพระนักเทศน์ทั่วไปในภาคเหนือตอนล่าง อีกองค์หนึ่งคือท่านเจ้าคุณพระมุนินทรานุวัตต์ วัดพระปรางค์ ศรีสัชนาลัย ท่านทั้งสองนี้ข้าพเจ้ายังไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อน
วัดกองโคตั้งอยู่ริมแม้น้ำน่าน บ้านกองโค หมู่ที่ ๓ ต.คอรุม ฟังชื่อแล้วพอจะรู้ได้ว่าวัดนี้เป็นที่ชุมนุมของโค เมื่อเดินทางโดยรถไฟลงที่สถานีพิชัยไปถึงวัดแล้วได้พูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในวัด จึงทราบข้อมูลว่าที่นี้ “เป็นกลุ่มชุมชนกองโค ที่มีเฉพาะหมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๖ ของตำบลคอรุม เป็นชุมชนลาวที่ได้อพยพมาจากเวียงจันทน์ จึงมีวัฒนธรรม ภาษาพูดที่ใช้ในท้องถิ่นตำบลคอรุมเหมือนกันเฉพาะสองหมู่บ้านนี้เท่านั้น จึงทำให้วิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่เป็นของตนเอง และภายในชุมชนมีเจ้าอาวาสวัดกองโค ผู้มีใจรักและเห็นคุณค่าความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงนำชาวบ้านอนุรักษ์และส่งเสริมไม่ให้สูญหาย ทำการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านขนบธรรมเนียม ประเพณี ทั้งการพูดและการเขียนภาษากองโคให้เด็ก ๆ” จึงรู้แล้วว่าคนฟังเทศน์วันนี้ส่วนใหญ่เป็นคนลาวเวียงจันทน์
ก่อนขึ้นเทศน์ก็สนทนาวิสาสะกับคู่เทศน์ตามธรรมเนียม ท่านเจ้าคุณมุนินท์ไม่ค่อยพูดคุยนัก แต่ท่านเจ้าคุณพิศาลเมื่อทราบว่าข้าพเจ้าเป็นเพื่อนกับพระมหาบำรุงศิษย์รักของท่าน ก็พูดคุยด้วยอย่างเป็นกันเอง การกำหนดตำแหน่งหน้าที่ในการเทศน์นั้น เจ้าคุณมุนินท์ขอเป็นพระมหากัสสป ให้เจ้าคุณพิศาลเป็นพระอุบาลี ข้าพเจ้าเป็นพระอานนท์ และแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์ (อานิสงส์หน้าธรรมาสน์ก็เหมือนลิเกกออกแขกนั่นแหละ) ก็ไม่มีปัญหาอะไร
การแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์วันนั้น ข้าพเจ้ากล่าวชมเชยชาวบ้านในชุมชนกองโคที่รักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีชาวลาวสืบทอดสู่อนุชนรุ่นต่อรุ่นไว้ได้เป็นอย่างดี หวังว่าขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามนี้จะดำรงคงอยู่กับชาวกองโคตลอดไปนานเท่านาน ผู้รักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีที่ตกทอดมาแต่บรรพชนได้ชื่อว่าเป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อบรรพชน บุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่าเป็นคนดี เพราะความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี อย่างเช่น การจัดให้มีแจงรวมญาตินี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ควรแก่การรักษาไว้เช่นกัน ครั้นแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์แล้ว ก็มอบหน้าที่ให้ท่านคุณมุนินท์ดำเนินเรื่องต่อไป
เจ้าคุณมุนินท์ในตำแหน่งพระมหากัสสปท่านเทศน์แบบไม่มีลีลาอะไร เล่าเรื่องการทำสังคายนาย่อ ๆ แล้วก็ถามเจ้าคุณพิศาลเรื่องวินัยทันที (แบบจู่โจม) ท่านคงจะอวดภูมิความเป็นมหาเปรียญจึงขอให้เจ้าคุณพิศาลตอบว่า วินัยแปลว่าอะไร ขอให้ตั้งวิเคราะห์ศัพท์ด้วย เจ้าคุณพิศาลแม้ไม่ได้เป็นมหาเปรียญท่านก็เรียนภาษาบาลีมาเหมือนกัน จึงตั้งวิเคราะห์ศัพท์วินัยได้อย่างไม่ผิด เจ้าคุณมุนินท์ถามต่อไปว่า วินัยกับศีลเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร เจ้าคุณพิศาลตอบว่า วินัยคือกฎข้อบังคับ ระเบียบแบบแผน การจัดระเบียบระบบ ก็เรียกว่าวินัย ตัวระเบียบระบบ หรือตัวกฎนั้น ก็เรียกว่าวินัย การฝึกคนให้ตั้งอยู่ในระบบระเบียบ ก็เรียกว่าวินัย ส่วนศีลนั้นแปลว่า ปกติ กล่าวคือ เมื่อคนปฏิบัติตามวินัย จนเกิดเป็นคุณสมบัติของเขาขึ้นมา คุณสมบัติที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้นเรียกว่า ศีล มีกาย วาจา เรียบร้อยเป็นปกติ เช่นกายไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มน้ำเมา วาจาไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดสำรากเพ้อเจ้อ วินัย เป็นเหตุ ศีล เป็นผล
ได้ฟังคำตอบอย่างนั้นแล้วเจ้าคุณมุนินท์หันมาถามข้าพเจ้าว่า
“ท่านอานนท์ ศีลที่เป็นจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล นั้นอย่างไร”
เจ้าคุณพิศาลค้านว่า “อ้าว....ท่านเจ้าคุณถามเรื่องในพระวินัยปิฎกกับผมยังไม่จบเลย ทำไมข้ามไปถามพระสูตรกับพระอานนท์เล่า จะคิดรังแกเด็กหรือไง เทศน์ไปโดยลำดับอย่าตัดลัดให้ขาดข้อความสิครับ”
เจ้าคุณมุนินท์นั่งอึ้ง ข้าพเจ้าจึงว่า “ไม่เป็นไรดอกครับ เรื่องจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลในพรหมชาลสูตรนี่ผมยังแบบได้อยู่ครับ”
เจ้าคุณพิศาลก็ว่า “ควรเทศน์ตามระเบียบแบบแผนนะ ว่าไงครับท่านเจ้าคุณ ไม่ถามเรื่องปฐมปาราชิกสิกขาบทหรือ”
เจ้าคุณมุนินท์เหมือนได้สติ จึงว่า “เอางั้นก็ได้ ท่านอุบาลีช่วยอธิบายเรื่องต้นบัญญัติปาราชิกทั้งสี่สิกขาบทมาให้ฟังโดยละเอียดหน่อยซิ”
เจ้าพิศาลฯ ก็กล่าวถึงบุคคลที่เป็นต้นบัญญัติอาบัติปาราชิกทั้งสี่ข้อ อธิบายถึงปฐมปาราชิกมากหน่อย และดูเหมือนจะกระแนะกระแหนเจ้าคุณมุนินท์กลาย ๆ จากนั้นกล่าวถึงอาบัติอื่น ๆ คือสังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ นิสสัคคีย์ฯ ทุกกฎ .. ไปจนจบเสขิยวัตร เมื่อจบแล้วก็ขออนุญาตกล่าวถึง จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ด้วยอ้างว่านับเนื่องเข้าในพระวินัย ว่าแล้วท่านก็อธิบายเรื่องจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล เสียยืดยาว จนสรุปธรรมขันธ์ของพระวินัยปิฎก เจ้าคุณมุนินท์ไม่คิดจะถามอะไรข้าพเจ้าต่อ ขอให้อธิบายความในพระสูตร พระอภิธรรมไปจนจบ ข้าพเจ้าอธิบายเรื่องพรหมชาลสูตรโดยเน้นถึงโลกธรรมแปดประการ และพระสูตรอื่น ๆ พอสังเขป แล้วอธิบายเรื่องพระอภิธรรมตามแนวอภิธัมมัตถสังคหะของพระอนุรุทธาจารย์ คือเรื่อง จิต เจตสิก รูป นิพพาน อธิบายความค่อนข้างละเอียดด้วยเจตนาจะอวดภูมิแก่เจ้าคุณมุนินท์ มองดูนาฬิกาพกที่วางไว้บนธรรมาสน์ เห็นเป็นเวลาใกล้บ่ายสี่โมงแล้วจึงสรุป... เอวัง ก็มี ด้วยประการฉะนี้
จบการเทศน์แล้ว ข้าพเจ้านั่งรถไฟกลับพร้อมกับเจ้าคุณพิศาลธรรมภาณี จึงได้คุยกับท่านบนรถไฟ ท่านพูดถึงเจ้าคุณมุนินท์ว่าเป็นนักเทศน์แบบ “มวยวัด” คงโกรธที่ถูกผมหักหน้าบนธรรมาสน์ ก็ช่างเถอะจะได้รู้เข็ดรู้จำบ้าง คุณปลัดลีลาโวหารดี ต่อไปจะเป็นนักเทศน์ที่ดีมากองค์หนึ่ง เราคุยกันได้ไม่มาก เมื่อรถไฟถึงสถานีบ้านแควน้อยท่านก็ลงเข้าวัดกระบังมังคลารามของท่านไป/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
หยาดฟ้า
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
คิดถึงเสมอ
,
ข้าวหอม
,
เป็น อยู่ คือ
,
ต้นฝ้าย
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #28 เมื่อ:
07, สิงหาคม, 2566, 11:11:24 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๒๙ -
วัดที่ข้าพเจ้าไปเทศน์ในเขตอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกอีกวัดหนึ่งหลังจากไปเทศน์ประชันลิเกและแพ้ลิเกจากวัดท่านามาแล้ว วัดนี้ชื่อเนินกุ่มอยู่เลยวัดท่านาไปทางทิศตะวันออกอยู่ในกลุ่มวัดตายม พระเกรียงศักดิ์คู่เทศน์วิทยุของข้าพเจ้าเป็นผู้รับนิมนต์ โดยทางวัดเจาะจงให้เอาตัวข้าพเจ้าไปเทศน์ให้จงได้ จะนั่งรถไฟไปลงที่สถานีบางกระทุ่มก็ได้แต่ไม่สะดวก ข้าพเจ้าเลือกเดินทางโดยรถยนต์จากวังทองไปทางวัดตายม เพราะว่าพอดีในช่วงนั้นมีวันว่างงานทางสุโขทัยอยู่ ๕ วัน จึงถือโอกาสไปเยี่ยมเยือนชาววังทองด้วย ไปนอนค้างแรมที่วังทองคืนหนึ่งแล้วเดินทางต่อไปวัดเนินกุ่ม เหตุที่ไม่เข้าไปนอนค้างคืนที่วัดเขาสมอแครงก็เพราะไม่พอใจพระสอน เพื่อนที่ให้เขาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ทราบว่าระยะหลังจากที่เป็นสมภารวัดแล้วมีสีกาช่างเสริมสวยในเมืองไปตีสนิทชิดใกล้ พระสอนนำเงินทุนสร้างพระพุทธชินราชจำลองให้นางใช้ เคยกล่าวเตือนแล้วเขายังเฉยเมย จึงตัดความสัมพันธ์ไปในที่สุด
วันนั้นไปถึงวัดเนินกุ่มแล้วพักผ่อนก่อนได้เวลาฉันเพลโดยไม่ได้พูดคุยกับญาติโยม เพราะเห็นพวกเขาไม่ค่อยสนใจข้าพเจ้านัก ครั้นถึงเวลาฉันเพลข้าพเจ้ากับพระเกรียงศักดิ์ก็เข้านั่งในที่เขาจัดให้พระเทศน์นั่ง ขณะฉันอาหารกรรมการวัดก็บ่นว่า
“จนป่านนี้แล้วพระอภินันทะภิกขุยังมาไม่ถึง คงไม่มาเสียละกระมัง”
พระเกรียงศักดิ์ก็ว่า ท่านอภินันท์มาแล้วนั่งฉันข้าวอยู่นี่ไงล่ะ
อีกคนหนึ่งแย้งว่า องค์นี้ใช่หรือ ไม่ใช่หรอก คงเป็นตัวแทนละซี
ข้าพเจ้าฟังแล้วก็หัวเราะบอกว่า โยม อาตมาไม่มีตัวแทนหรอกนะ เขาก็ยังทำท่าแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง อีกคนหนึ่งกล่าวว่า พระอภินันท์น่าจะมีอายุมากกว่านี้ องค์นี้ดูยังหนุ่มอยู่เลย อันที่จริงพระเกรียงศักดิ์มีอายุน้อยกว่าข้าพเจ้า ๑ ปี แต่ดูหน้าตาเขาแก่กว่าข้าพเจ้ามาก ข้าพเจ้าอายุมาก (ตอนนั้น ๒๙ ปี) แล้ว แต่หน้าตาดูยังเป็นเด็กหนุ่มในวัยเบญจเพส ให้ใคร ๆ เข้าใจผิดอยู่เสมอมา
ถามพะระเกรียงศักดิ์ว่า ตอนไปนิมนต์เขากำหนดเรื่องเทศน์ไว้ด้วยหรือเปล่า / ไม่ได้กำหนด/ งั้นเราเทศน์เรื่องธรรมนิยามก็แล้วกันนะ วันนี้เปลี่ยนหน้าที่กัน ผมจะเป็นผู้วิสัชนา ทั่นเป็นผู้ปุจฉา ผมให้ศีล ทั่นว่าอานิสงส์หน้าธรรมาสน์แล้วดำเนินเรื่อง พระสักวาทีเข้าหาพระปรวาทีเลยก็แล้วกัน /
ครั้นได้เวลาเทศน์พวกเราขึ้นธรรมาสน์ มรรคนายกกล่าวอาราธนาศีล ข้าพเจ้าให้ศีล พอเสียงดังออกจากไมค์ผ่านเครื่องกระจายเสียงออกไป โยมที่บ่นว่าพระอภินันท์ไม่มาเทศน์ได้ยินเสียงแล้วร้องว่า ใช่แล้ว องค์นี้คือพระอภินันท์ เขาจำเสียงที่เคยฟังทางวิทยุได้ เสียงข้าพเจ้าคงจะเหมือนเสียงคนแก่ พอเห็นตัวจริงยังไม่แก่จึงคิดว่าไม่ใช่เจ้าของเสียงที่เคยฟังทางวิทยุ เป็นไปได้นี่เอ้า!
พระเกรียงศักดิ์แสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์แล้วสมมติตำแหน่งหน้าที่ กล่าวยืนยันตัวตนว่าวันนี้ พระอภินันทะ ภิกขุ กับ กิตฺติวัณณะ ภิกขุ เป็นตัวจริง เสียงจริง โยมอย่าสงสัยว่าเป็นตัวปลอมเลย ก็เรียกเสียงฮือฮา ๆ ได้พอสมควร เริ่มเข้าเรื่องเทศน์ พระเกรียงศักดิ์ถามว่าหายไปไหนมาเสียนาน/ ไปเข้ารับการอบรมเป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิตมาแล้วมีงานเยอะแยะยั้วเยี้ยวไปหมด จนไม่มีเวลาร่วมเทศน์ทางวิทยุเลย/ วันนี้ผมมาเข้าพบท่านพร้อมด้วยความสงสัยในธรรมะหลายประการ ขอให้ท่านช่วยคลี่คลายความสงสัยให้จะได้ไหม คือว่า อ้า.../ ไม่ต้องอ้า ถามได้เลย/ อ้อ ไม่อ้าปากจะถามได้ไง/ เอ้อ จริงซี/ คือ สงสัยว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีอะไรจริงแท้แน่นอนบ้าง/ อ้อ...ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน/ เอ๊ะ ไม่รู้แล้วจะเป็นนักเทศน์ได้ไง/ ได้ซี ก็เทศน์ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้นี่แหละ/ ท่านไม่รู้แล้วใครจะรู้ได้เล่า/ มีสิผู้รู้น่ะ คือพระศาสดาของเราไงล่ะ/ อ้อ พระพุทธเจ้าของเรารู้หรือ พระองค์รู้ว่าอย่างไรครับ/ ทรงรู้ว่าในโลกนี้มีสิ่งจริงแท้แน่นอนคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีชื่อเรียกว่าธรรมฐิติ หรือ ธรรมนิยาม เป็นธรรมประจำโลกแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง
พระเกรียงศักดิ์ก็ซักถามเรื่องอนิจจังที่แปลว่าไม่เที่ยงนั้นไม่เที่ยงอย่างไร ข้าพเจ้าตอบชี้แจงหลายประเด็น แล้ววกเข้าหานิทานว่า หากจะให้อธิบายธรรมะล้วน ๆ เรื่องอนิจจังนี้คนฟังก็จะง่วง โยมบางคนอาจะหลับไปเลย ท่านเองก็อาจจะหลับจนลืมถาม ขอยกนิทานเป็นตัวอย่างของอนิจจังให้ฟังก็แล้วนะ จะฟังมั้ย/ ฟังซีครับ ไหนลองเล่ามาซิ/ ฟังนะ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้และโลกไหนล้วนแตตกอยู่ในอนิจจัง ไม่เที่ยงตรงคงมั่น เชื่อไหมว่า แม้ความรักความใคร่ก็เป็นอนิจจัง/ อ้อ ความรักความใคร่เป็นอนิจจังยังไง/
คือยังงี้ นานมาแล้วมีครอบครัวหนึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา เขามีลูกสามคน เป็นหญิงล้วนอย่างที่เรียกว่าสามใบเถา คนโตเริ่มเป็นสาวอายุราว ๆ สิบเจ็ดสิบแปดกำลังงามเหมือนดอกบัวแรกแย้ม มีชายหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่มาติดพันหลายคน เธอตกลงปลงใจกับเจ้าหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันแล้วก็จัดการแต่งให้เป็นสามีภรรยากัน อยู่มาภรรยาตั้งครรภ์แล้วคลอดบุตร ความรักใคร่ในภรรยาของเจ้าหนุ่มนั้นก็เริ่มเป็นอนิจจังไม่คงที่ ในขณะที่น้องเมียคนรองกำลังโตเป็นสาวสวยอวบอั๋น เจ้าหนุ่มนั้นมองภรรยาสุดที่รักของตนไม่สวยงามเหมือนก่อนเก่าแล้ว พอมีลูกเธอก็ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ผมเผ้าไม่สะสาง ปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้โทรมลง หันไปมองน้องเมียที่เหมือนกุหลาบแรกแย้ม คิดว่าทำไงจะได้เชยชมน้องเมียคนนี้หนอ ความรักใคร่มันเป็นอนิจจังเลื่อนลงไปหาน้องเมีย แล้วในที่สุดก็ใช้เล่ห์เพทุบาย เอาน้องเมียเป็นเมียเสียงจนได้ พ่อตาแม่ยายไม่รู้จะทำย่างไร เมื่อเห็นว่าข้าวสารมันเป็นข้าวสุกไปแล้ว ก็ให้มันอยู่ด้วยกันแบบเลยตามเลย
อยู่มาไม่นานเมียคนที่สองตั้งท้องแล้วคลอดลูก ความรักใคร่ของเจ้าหนุ่มนั่นก็เป็นอนิจจังเลื่อนลงไปหาน้องเมียคนที่สามที่กำลังโตเป็นสาว ใช้เล่ห์กลเอาน้องเป็นเมียเสียอีกคน คราวนี้พ่อตาแม่ยายทนไม่ไหว ขับไล่ทั้งสองออกไปจากบ้าน เขาจึงพากันไปอยู่บ้านเจ้าหนุ่มนั่น พอเมียที่สามคลอดลูก เลี้ยงลูกจนโต เดินได้แตะพูดจาอ้อ ๆ แอ้ ๆ กำลังน่ารัก เมียที่สามก็พาลูกไปเยี่ยมพ่อแม่และพี่ ๆ พ่อตาแม่ยายก็รักหลาน อยากให้หลานมาอยู่ด้วย จึงรับลูกสาวลูกเขยกลับเข้าบ้าน หนึ่งผัวสามเมียอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขไม่นานนัก ความรักใคร่ของเจ้าหนุ่มก็เป็นอนิจจังตามกฎของมัน คราวนี้มันเลื่อนขึ้น แม่ยายอายุยังไม่ถึงหกสิบปี เขามองดูแม่ยายด้วยความคิดอยากรู้อยากลองว่า สาว ๆ ก็รู้แล้วว่ารักใคร่เป็นอย่างไร แต่คนแก่นี่สิมันเป็นอย่างไรหนอ เขาพยายามตีสนิทชิดใกล้ตัวแม่ยาย เดินกระทบไหล่บ้าง จับมือบ้าง จับแขนบ้าง หนักเข้าไปเรื่อย ๆ ฝ่ายแม่ยายนั้นอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ยังไม่แก่เกินแกง” เมื่อหนุ่มถูกเนื้อต้องตัวบ่อย ก็มีอารมณ์ ความรักใคร่ของแม่ยายก็เป็นอนิจจังเลื่อนลงมาหาลูกเขย แล้วในที่สุดก็เสร็จลูกเขยเจ้าเล่ห์ ฝ่ายพ่อตารู้ความจริง อดรนทนไม่ได้ก็หนีออกจากบ้าน ไปบวชเป็นพระอยู่วัดในตำบลที่ห่างไกลบ้านไม่ให้ใครรู้เห็น
อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนของพ่อตาที่ถูกลูกเขยเล่นบทพระยาเทครัวนั้น เดินทางไปถึงวัดที่เพื่อนบวชอยู่นั้นด้วยธุระอย่างหนึ่ง พบเพื่อนมาบวชอยู่ที่วัดนี้ จึงทักทายกันแล้วต่อว่า ทำไมท่านจึงหนีมาบวชอยู่ที่นี่เล่า/ อ้าว มึงไม่รู้หรือไอ้ลูกเขยระยำของกูน่ะ/ รู้ซี ใครก็รู้ว่ามันเอาลูกสาวท่านเสียหมดทั้สามคนน่ะ/ แล้วเมียกูอีกคนล่ะ / นี่ก็รู้ แล้วก็แล้วไปแล้ว ท่านไม่น่าจะหนีมาเงียบ ๆ นี่นา/ ไอ้นี่มึงไม่รู้อะไรจริง/ ทำไมล่ะ/ ก็ถ้ากูไม่หนีมาบวช มันก็ล่อกูอีกคนน่ะซี/
เล่ามาจบตรงนี้คนฟังพากันหัวเราะฮาครืนเลย พระเกรียงศักดิ์คู่เทศน์ถึงกับปล่อยเสียงหัวเราะก้ากใหญ่!
ความไม่เที่ยงแท้แปรเปลี่ยนที่เรียกว่า อนิจจัง นี่แหละเป็น “นิจจัง” ดำรงอยู่ในสามโลก เป็นธรรมะประจำโลกทั้งสาม พระพุทธทรงค้นพบธรรมะข้อนี้พร้อมกับ ทุกขัง คือสภาพที่ทนอยู่ได้ยาก และอนัตตา คือความไม่มีตัวตน เมื่ออธิบายมาถึงตรงนี้พระเกรียงศักดิ์ก็ซักถามเรื่องของตัวตน ข้าพเจ้าตอบอธิบายโดยแยกส่วนประกอบของร่างกายออกเป็นชิ้น ๆ ให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน แต่เราสมมติให้เป็นตัวตน แม้สิ่งของต่าง ๆ ก็ล้วนสมมติให้เป็นให้สิ่งของเท่านั้น การเทศน์วันนั้นก็จบลงด้วยดีเมื่อเวลาบ่าย ๔ โมง/๒๒๙
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ข้าวหอม
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
หยาดฟ้า
,
คิดถึงเสมอ
,
เป็น อยู่ คือ
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
ต้นฝ้าย
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
«
ตอบ #29 เมื่อ:
08, สิงหาคม, 2566, 11:09:25 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๒๓๐ -
ในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๑๐ หลวงพ่อเจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (เจ้าคุณโบราณ) เริ่มมีอาการเจ็บป่วย (อาพาธ) ด้วยโรคชรา ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อย ๆ งานด้านบริหารการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดส่วนใหญ่ก็มอบหมายให้พระครูสุขวโรทัย (หลวงพ่อห้อม) รองเจ้าคณะจังหวัดทำการแทน พระครูปลัดแถว เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดก็เป็นงานมากขึ้นจนข้าพเจ้าไม่ต้องเข้าไปช่วยแล้ว งานด้านสังคมชาวบ้านที่ข้าพเจ้าถูกครูเหรียญชัยดึงเข้าไปช่วยยังค้างคาอยู่คือ การจัดประกวดกลอน “บารมีพ่อขุนรามคำแหง” ปิดรับบทกลอนไปแล้ว มีกลอนที่กำลังพิจารณาตัดสินรอบที่ ๒ อยู่เกือบร้อยสำนวน ครูเหรียญชัยไปติดต่อร้านทองเพื่อให้ทำถ้วยรางวัลด้วยทองคำหนัก ๑๐ บาท ทางร้านทองบอกว่า ทองคำหนัก ๑๐ บาท แม้จะตีทองคำเป็นแผ่นบาง ๆ ก็ทำเป็นถ้วยได้ใบเล็กว่านิ้วก้อยเสียอีก ค่าจ้างแพงหน่อยนะจะเอามั้ย ครูเหรียญชัยกลับมาปรึกษากับชาวชมรมกวีศาลาลายสือไทยว่าจะเอายังไงกันดี จะว่าเป็นความโง่ของครูเหรียญชัยกับข้าพเจ้าก็ได้ ที่คิดว่าทองคำหนัก ๑๐ บาทจะเป็นก้อนโต ที่แท้ก็เล็กนิดเดียวเอง พี่มหาประเสริฐออกความคิดเห็นว่า ใช้ทองเหลืองทำถ้วยกะไหล่ทองแล้วเอาทองคำหนัก ๑๐ บาททำเป็นรูปพ่อขุนรามคำแหงแปะติดถ้วยรางวัลดีมั้ย ความคิดนี้พวกเราเห็นด้วย แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการอะไร
กาลลุล่วงเข้าไปในเดือนมีนาคม ๒๕๑๑ หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณมีอาการอาพาธหนักขึ้น จึงเดินทางไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ แล้วเหตุอันไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นที่เมืองสุโขทัย กล่าวคือ ค่ำคืนนั้นเวลาประมาณ ๔ ทุ่มเห็นจะได้ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังจะเข้านอน ก็มีเสียงคนเอะอะโวยวายตะโกนว่า ไฟไหม้ ๆๆๆ จึงลงจากกุฏิมาดูเหตุการณ์ ทราบว่าเกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ร้านค้าริมถนนนิกรเกษมทางทิศใต้วัดราชธานี จึงกลับเข้ากุฏิเอาจีวรจีบพาดบ่าแล้วใช้ผ้าอาบเคียนเอวทับจีวร เดินออกจากวัดหวังจะไปช่วยชาวบ้านร้านค้าเท่าที่จะช่วยได้ เพลิงลุกโชติโชนเผาไหม้อาคารร้านค้าอย่างรวดเร็วมาก เพราะอาคารร้านค้าเป็นอาคารไม้เก่าแก่แห้งจนไร้ยางจึงติดไฟง่าย ยามนั้นผู้คนแตกตื่นวุ่นวายแบบที่เรียกว่า “เจ๊กตื่นไฟ” เพลิงลุกลามขึ้นทางเหนือ แล้วแผ่ความร้อนระอุเปลวเพลิงแลบข้ามถนนนิกรเกษมไปเผาไหม้อาคารร้านค้าฝั่งตะวันตกบริเวณริมแม่น้ำยม อาคารบ้านเรือนร้านค้าทั้งหมดบริเวณนั้นล้วนเป็นอาคารไม้เก่าแก่เช่นกัน ทางฝั่งตะวันออกเพลิงเผาไหม้ลามขึ้นถึงถนนจรดวิถีถ่องบริเวณหน้าวัดราชธานี เปลวเพลิงร้อนแรงมาก ไม่น่าเชื่อว่าความร้อนจะแรงถึงกับแผดข้ามถนนไปเผาไหม้อาคารร้านค้าที่อยู่ฝั่งวัดราชธานีได้
เมื่อเห็นเพลิงไหม้ร้านค้าทางฝั่งวัดราชธานี ข้าพเจ้าตกใจมาก คิดว่าจะต้องลามถึงกุฏิพระเป็นแน่ จึงวิ่งออกทางประตูเหนือวัด ตั้งใจจะไปเกณฑ์สามเณรศิษย์ข้าพเจ้าที่วัดไทยชุมดพลมาช่วยดับไฟ ขณะวิ่งบ้างเดินบ้างไปวัดไทยชุมพลนั้น เห็นชาวตลาดพากันขนของหนีไฟ เจ้าของร้านขายจักรเย็บผ้าคนหนึ่งเอาจักรใส่บ่าข้างละตัว อีกสองตัวเข็นไปข้างหน้า มีคนหนึ่งแบกโอ่งมังกรกึ่งวิ่งกึ่งเดิน ทุกคนมุ่งหน้าไปทางวัดไทยชุมพล ข้าพเจ้าพาเณรมาถึงวัดราชธานีในขณะที่เพลิงเผาไหม้กุฏิพระแล้ว จึงวิ่งออกไปทางประตูวัดทิศใต้ ซึ่งไฟโทรมลงด้วยไหม้ร้านค้าตลาดวัดและห้องแถวด้านนั้นสิ้นแล้ว พบรถดับเพลิงของ สภ.อ. กงไกรลาศมาถึงบริเวณนั้นพอดี จึงขอร้องให้เข้าไปช่วยดับเพลิงในวัด ผู้กองที่ควบคุมรถดับเพลิงด้วยตนเองไม่ยอมเอารถเข้า ท่านอ้างว่ากลัวเครื่องยนต์รถถูกความร้อนแล้วจะระเบิด เพราะไฟกำลังไหมวิหารหลวงพ่องามอยู่ ข้าพเจ้าจึงแนะนำว่าเอาท่อดับเพลิงฉีดน้ำนำเข้าไปซี่ ท่านก็ทำตามจนนำรถเข้าไปได้อย่างปลอดภัย ให้ท่านนำรถไปจอดริมบ่อปลา สูบน้ำในบ่อขึ้นใช้ ฉีดน้ำเลี้ยงวิหารหลวงพ่อเป่าไว้ให้จงได้ รถดับเพลิงตั้งหลักสูบน้ำในบ่อปลาขึ้นฉีดเลี้ยงวิหารหลวงพ่อเป่าได้แล้ว จึงไปยืนพักเหนื่อยอยู่หน้าพระประทานพร หลวงพ่อห้อมลงมาจากศาลาการเปรียญพบกับข้าพเจ้าด้วยเนื้อตัวเปียกน้ำมอมแมม เพราะท่านช่วยพระเณรสาดน้ำรักษาหมู่กุฏิและศาลาการเปรียญ ถามว่าเณรกรอยู่ไหน ข้าพเจ้าจึงนึกได้ว่าสามเณรกรยังอยู่ในกุฏิ ข้าพเจ้าจึงวิ่งนำหลวงพ่อห้อมไปในขณะที่เพลิงกำลังไหม้หมู่กุฏิใกล้จะถึงกุฏิข้าพเจ้าแล้ว
สามเณรกรผู้เฒ่าเดินจับโน่นจับนี่อยู่ในกุฏิ ข้าพเจ้าบอกให้รีบหนีไป ไฟกำลังจะไหม้กุฏิเราแล้ว ท่านไม่ยอมไป หลวงพ่อห้อมเข้ามาจับแขนกระชาก “ไปเร็วไฟมาถึงกุฏิแล้ว” เณรเฒ่าบอกว่าไปไม่ได้หลวงพ่อเจ้าคุณสั่งให้ดูแลของในกุฏินี้ หลวงพ่อห้อมดุด้วยเสียงตะโกน “ไอ้แก่ไฟจะไหม้ตายอยู่แล้วยังจะห่วงอะไรอีกรีบหนีเร้ว” ตอนนั้นไฟไหม้กุฏิพระครูปลัดแถวสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดแล้วลามเข้ากุฏิข้าพเจ้า เณรเฒ่าจับโน่นหยิบนี่ใส่ห่อผ้าจีวรออกจากกุฏิพร้อมกับหลวงพ่อห้อมและข้าพเจ้าไปยืนหอบแฮ่ก ๆ อยู่หน้าพระประทานพร ซึ่งเป็นที่ปลอดภัยที่สุดเวลานั้น
โรงเรียนวินัยสารและกุฎีสกลพลากรอาคารไม้สองชั้นใหญ่ที่สุดในวัดถูกเพลิงเผาผลาญวอดวาย ตอนที่เพลิงลุกโชติโชนชั้นบนกุฏิข้าพเจ้านั้น ลูกไฟจากการปะทุไหม้กระจายไปถึงหน้าจั่วหลังคาอุโบสถ ทำให้เกิดเพลิงไหม้รังนกนกพิราบแล้วลุกลามอย่างรวดเร็ว เพลิงได้ลุกลามเผาผลาญบ้านเรือนร้านค้ารอบวัดราชธานีจนสิ้น บริเวณประตูวัดด้านเหนือมีบ้านหมอเฉิน หมอเปลื่องทำฟั น อาจารย์ผึ่ง ญาณโสภณ มหาสงวน ศรีม่วง คนคุ้นเคยกับข้าพเจ้าก็ถูกเผาผลาญเรียบ สำหรับหมอเฉิน ศรีสุคนธ์ นั้น กำลังป่วยติดเตียง ญาติ ๆ จึงหามเตียงออกมาวางไว้ที่แท่นของพระประทานพร ข้าพเจ้าเกรงว่าวิหารหลวงพ่อเป่าจะไหม้ จึงให้คนเอาพระปางอุ้มบาตรเนื้อเงินที่ใช้เป็นประธานในขบวนแห่เทโวฯ ออกมาตั้งไว้ที่แท่นพระประทานพร เปลวเพลิงร้อนแรงจากฝั่งวัดขามถนนประพนธ์ไปเผาไหม้โรงหนังประพนธ์และอาคารบ้านเรือนในฝั่งเหนือ ทางด้านะวันออกเฉียงเหนือวัดนั้น เพลิงได้ข้ามถนนไหม้จากวงเวียนหอนาฬิกา จากร้านพี่มหาเลื่อน อินทรโชติ (โรงพิมพ์สกุลไทย) ขึ้นเหนือไปตลอดแนว จนถึงเวลาประมาณตีสามเศษ ตลาดเมืองสุโขทัยไม่มีเหลือให้เพลิงเผาผลาญอีกแล้ว
ข้าพเจ้ายืนตรงหน้าพระประทานพร มองไปข้างหน้า ขวา ซ้าย เห็นแต่เสาอาคารบ้านเรือนติดไฟส่งแสงเหลืองอร่ามงามดั่งทอง เป็นภาพงามบนความพินาศ ที่หาดูที่ไหนไม่ได้อีกเลย/
<<<
ก่อนหน้า
ต่อไป
>>>
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
หยาดฟ้า
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
คิดถึงเสมอ
,
ข้าวหอม
,
ต้นฝ้าย
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
หน้า:
1
[
2
]
3
4
...
6
ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา
-----------------------------
=> อ่านข้อกำหนด กฎระเบียบต่าง ๆ - สมาชิกใหม่ ทักทาย แนะนำตัวที่นี่
=> ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม
=> ห้องกลอน คุณคนบอ มือสี่
=> สารบัญกลอน สมาชิกนักกลอน
-----------------------------
ห้องเรียน
-----------------------------
=> ห้องเรียนรู้คำประพันธ์ ประเภทกลอน
=> ห้องเรียนฉันท์
=> ห้องเรียน กลบท
=> ห้องเรียน โคลงกลบท
=> ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท
=> ห้องศึกษา กาพย์ โคลง ร่าย
=> ห้องหนังสือ บ้านกลอนน้อย
=> ห้องฟัง การขับ เสภา และอื่น ๆ
-----------------------------
คำประพันธ์ แยกตามประเภท
-----------------------------
=> กลอน ร้อยกรองหลากลีลา
=> คำประพันธ์เนื่องในโอกาสพิเศษต่าง ๆ
=> กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม
=> กลอนเปล่าสบาย ๆ
=> กลอนจากที่อื่น และจากกวีที่ชื่นชอบ
=> โคลง-กาพย์-ฉันท์-ร่าย-ลิลิต
=> กลบท
=> นิยาย-เรื่องสั้น-บทความ-ความเรียง-เรื่องเล่าทั่วไป
=> ห้องนั่งเล่นพักผ่อน
===> เส้นคั่นสวย ๆ
===> รูปภาพน่ารัก
กำลังโหลด...