บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เนื่องจากกระทู้ - คำให้การของนักบวช - คลิก ก่อนหน้านี้ดำเนินมาถึง ๒๐๐ ตอนแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ ๒๐๑ เป็นต้นไป จนถึงตอนสุดท้ายของเรื่องนี้นั้น ผู้โพสต์จึงขอยกมาไว้ในกระทู้นี้แทนครับ • อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑ - ๑๐๐ คลิก • อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑๐๑ - ๒๐๐ คลิก
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ ตอนที่ - ๒๐๑ - พวกเรากลับจากกระทิงลายบางละมุงเข้าอยู่วัดมหาธาตุฯท่าพระจันทร์ตามเดิม ทางมูลนิธิฯ เตรียมการที่จะมอบวุฒิบัตรและบัตรประจำตัวพระหน่วยพัฒนาการทางจิตแก่พวกเรา โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณฯ (จวน อุฏฐายี) ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ ขณะรอเวลาที่จะรับวุฒิบัติและบัตรประจำตัวนั้นก็ปล่อยให้พวกเราพักผ่อนกันตามอัธยาศัย ข้าพเจ้าจึงไปเที่ยวเยี่ยมเยือนเพื่อนตามวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ บ้าง ไปเยี่ยมเยือนเพื่อนนักกลอนตามสถานีวิทยุที่เขาจัดรายการกลอนกันบ้าง สถานีวิทยุที่อยู่ใกล้วัดมหาธาตุฯ คือ สทร. ตั้งอยู่ในพื้นที่สโมสรทหารเรือติดกับท่าช้าง ที่นี่ ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร ส.เชื้อหอม และ กรองแก้ว เจริญสุข จัดรายการกลอนอยู่ จึงนำกลอนหลายสำนวนที่เขียนไว้ไปให้พวกเขาอ่านกัน มีกลอนสำนวนหนึ่งเขียนเรื่องการเข้ารับการอบรมเป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิต ข้อความยาวหน่อย ข้าพเจ้าไม่ให้อ่านออกอากาศ แต่เอาไปลงในหนังสือรุ่นของพระหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ทางมูลนิธิฯ จัดพิมพ์แจกพวกเราเป็นที่ระลึก
มีการประชุมแนะนำแนวทางในการจัดตั้งหน่วยพัฒนาการทางจิตประจำจังหวัด และให้ลำดับเลขที่ประจำหน่วยต่าง ๆ ในกลุ่มของข้าพเจ้านั้นจังหวัดพิจิตรเป็นหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๖ พิษณุโลกเป็นหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๗ สุโขทัยเป็นหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๘ อุตรดิตถ์เป็นหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๙ สำหรับจังหวัดอุตรดิตถ์นี้ เจ้าคณะจังหวัดมิได้ส่งพระเข้ารับการอบรม จึงให้ข้าพเจ้าเลือกพระในส่วนกลางที่เข้ารับการอบรมพร้อมกันองค์ใดองค์หนึ่งเป็นหัวหน้าหน่วย ข้าพเจ้าเลือกเอาพระมหาบุญช่วย โอวาทกาโม วัดเกาะ ดอนเมือง ไปเป็นหัวหน้าหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๙ และให้เลือกพระในหน่วยที่ไร้สังกัดไปอยู่ช่วยงานตามความพอใจ
ก่อนถึงวันรับวุฒิบัตรและบัตรประจำตัวหนึ่งวัน ก็มีการซ้อมวิธีการรับจากพระหัตถ์สมเด็จพระสังฆราชเพื่อความถูกต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ทางมูลนิธิอภิธรรมฯถวายผ้าไตรสีกรักและย่ามปักตรามูลนิธิฯ ชื่อหน่วยพัฒนาการทางจิต พร้อมหนังสือรุ่นเป็นที่ระลึก และปัจจัยเป็นค่าเดินทางกลับวัดครบทุกองค์ เรื่องปัจจัยนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ตลอดเวลาหกเดือนที่พวกเราเข้ารับการอบรมนี้ ไม่ได้รับกิจนิมนต์ใด ๆ เลย เงินที่เคยมีตัวตัวมาบ้างก็ใช้จ่ายจนหมดสิ้นแล้ว จริง ๆ แล้วก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมากหรอก อาหารหวานคาวเราก็กินฟรี สำหรับข้าพเจ้าแล้ว มีรายจ่ายสำคัญคือ ซื้อบุหรี่สูบประจำวันละ ๑ ซอง เพราะติดบุหรี่มาตั้งแต่เป็นเด็ก-เณรจนบวชพระ เคยเลิก ๒ ครั้งแล้วแต่เลิกได้ไม่นาน กลับมาติดอีก และหนักกว่าเดิมอีกด้วย อาจารย์มหาอ่อนท่านเล่าว่าเคยติดบุหรี่งอมแงมมาก่อนเหมือนกัน ต่อมาท่านต้องการเลิกหลายครั้งแต่เลิกได้ไม่เด็ดขาด จนถึงวันหนึ่งตั้งใจจะเลิกให้เด็ดขาด จึงโยนบุหรี่ครึ่งมวนสุดท้ายลงตรงหน้าสุนัขข้างกุฏิแล้วบอกว่า
“วันนี้กูตัดขาดกับมึงเสียที ขอให้หมาเป็นพยานด้วย”
เวลาอยากสูบท่านก็คิดถึงบุหรี่ครึ่งมวนสุดท้ายที่โยนทิ้งต่อหน้าสุนัข ทำให้คิดว่าถ้าสูบอีกก็อายหมามัน จึงเลิกสูบได้แต่นั้นเป็นต้นมา ข้าพเจ้าก็คิดจะเอาอย่างอาจารย์มหาอ่อนเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงเวลา (แฮ่ ๆ)
อาจารย์กิตติวุฑโฒ กับอาจารย์ พระครูประกาศสมาธิคุณ ท่านไม่หยิบจับเงินทอง แต่ก็มีคนหยิบจับแทนท่าน มีคนบอกข้าพเจ้าว่าคนที่รับเงินบริจาคเข้ามูลนิธิฯ วัน ๆ เป็นแสนเป็นล้าน อาจารย์กิตติฯ ไม่ได้รับเอง เจ้าหน้าที่รับบริจาคหลายคนรับแทนทั้งหมด บางคนรับแล้วไม่นำเข้าบัญชีบ้าง เข้าเพียงครึ่งหนึ่งบ้าง จนคนรับบริจาคที่ไม่ซื่อสัตย์ร่ำรวยไปตาม ๆ กัน ข้าพเจ้าสังเกตดูแล้วเห็นว่าน่าจะจริงอย่างเขาว่า ศิษย์อาจารย์ พระครูประกาศฯ ก็เหมือนกัน เมื่อมีคนถวายเงินอาจารย์ท่านก็ไม่หยิบจับ ถ้าศิษย์ไม่อยู่ท่านก็บอกให้เขาใส่พานไว้หน้าห้อง ศิษย์กลับจึงเก็บไปเข้าบัญชี เข้าบ้างไม่เข้าบ้าง ศิษย์ก็สบายไป ท่านรู้ก็ไม่ว่ากล่าวตำหนิติเตียน ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไปเสียอย่างนั้น
พวกข้าพเจ้า ๓๐๐ องค์เข้ารับการประทานวุฒิบัตรและบัตรประจำตัวจากสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตโดยสมบูรณ์ ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ และวันนั้นเองพระอาจารย์กิตติวุฑโฒ แจ้งให้พวกเราทราบว่า โครงการเปิดโรงเรียนสอนสามเณรตามที่พวกเราเสนอนั้น บัดนี้สมเด็จพระวันรัต (สมเด็จป๋า) ประธานฯของเราเห็นชอบด้วยแล้ว และให้เร่งดำเนินการในปีนี้ ขอให้พวกเรากลับไปคัดเลือกเด็กและจัดการบรรพชาเป็นสามเณรแล้วส่งให้ทางมูลนิธิอภิธรรมของเราได้เลย ทางมูลนิธิฯ ได้ตกลงกับเจ้าของที่ดินบริเวณกระทิงลายเป็นที่ตั้งโรงเรียนตามโครงการแล้ว ข่าวนี้เป็นข่าวดี และเป็นงานชิ้นแรกของพวกเรา
วันรุ่งขึ้นพวกเราก็ถือหนังสือองค์สมเด็จพระวันรัตประธานพระหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ท่านมีไปถึงเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด ฝากให้ช่วยสนับสนุนดูแลพระหน่วยพัฒนาการทางจิตด้วย แล้วเราก็แยกย้ายกันเดินทางกลับวัดในจังหวัดของตน ข้าพเจ้า พระมหาคำสิงห์ พระไพฑูรย์ เดินทางโดยรถไฟพร้อมกับ พระธรรมธรสำลี พระสมุห์ประจวบ พระดำรง ไปจังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึงพิษณุโลกแล้วนั่งรถเมล์ประจำทางต่อไปสุโขทัยโดยสวาดิภาพ/๒๐๑
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ ตุลาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, malada, เป็น อยู่ คือ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), คิดถึงเสมอ, เฒ่าธุลี, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๐๒ - เมื่อกลับมาอยู่วัดราชธานีตามเดิมแล้วครูเหรียญชัย จอมสืบ ก็เอาเรื่องยุ่งยากมาให้ข้าพเจ้าทำ คือรายการกลอน “สายธารใจ” ทางวิทยุ ป.ช.ส.ตาก (ปัจจุบันชื่อ สวท.ตาก) ที่เขาทำหน้าที่อ่านกลอนอยู่นั้นโอนมาให้ข้าพเจ้าดำเนินรายการ ทั้งรวมกลอน อ่านกลอน บันทึกเสียงลงเทปส่งไปให้ทางสถานี บางครั้งเขามาร่วมอ่านกลอนกับข้าพเจ้าด้วย มีคนเขียนกลอนส่งเข้าร่วมรายการในระยะแรก ๆ นั้นไม่มากนัก ข้าพเจ้าจึงต้องเขียนเองโดยตั้งนามปากกาขึ้นมาใช้มากมายจนจำไม่ได้ เฉพาะนามที่ใช้ดำเนินรายการนั้นใช้ “เพลิน พจน์มาลย์” ที่ใช้มาตั้งแต่เขียนกลอนเล่นกันทางรายการกวีสวรรค์ ของ จทล.ลพบุรีแล้ว เป็นนามคนเขียนกลอนมาจัดรายการกลอนอีกคนหนึ่ง วิธีจัดรายการค่อนข้างจะยุ่งยากสักหน่อย ทางสถานีเขาส่งเทปเปล่าเป็นม้วนขนาดใหญ่มาให้ ครูเหรียญชัยจัดหาเครื่องบันทึกเสียงมาไว้ประจำที่กุฏิของข้าพเจ้า เราพูด, อ่านกลอนกันด้วยเสียงเปล่า ๆ ไม่มีเสียงดนตรีประกอบ เว้นระยะไว้ให้ทางเจ้าหน้าที่สถานีเปิดเสียงดนตรีเพลงไทยเดิมคลอเสียงอ่านบทกลอนและคั่นเสียงพูด ดนตรีไทยเพลงไทยเดิมนั้น เป็นเสียงเครื่องสายบ้าง มโหรีบ้าง ปี่พาทย์บ้าง ตามแต่เจ้าหน้าที่ทางสถานีวิทยุจะเลือกใช้
ดำเนินรายการไปได้เกือบ ๑ เดือน ก็มีคนเขียนกลอนส่งเข้าร่วมรายการมากขึ้นจนข้าพเจ้าไม่ต้องเขียนกลอนเอง แต่ต้องแก้ไขตกแต่งกลอนของแฟนรายการที่เขียนส่งมา ซึ่งส่วนมากเขาเขียนไม่ถูกฉันทลักษณ์ บางคนเขียนหนังสือไม่ถูกต้องใช้ภาษาพูดแบบชาวบ้าน (นอก) เพราะเขามีการศึกษาน้อย แต่มีวิญญาณกลอนอยู่ไม่น้อย ข้าพเจ้าบอกไปทางอากาศว่าขอให้ทุกท่านแจ้งที่อยู่อย่างชัดเจนมากับบทกลอนด้วย หากต้องการสงวนชื่อและที่อยู่ก็จะไม่อ่านออกอากาศ ทุกคนที่แจ้งทีอยู่มาข้าพเจ้าก็ยอมเสียเวลา และแสตมป์ เขียนด้วยพิมพ์ดีดอธิบายให้เขารู้ว่าเขียนกลอนผิดอย่างไร อย่างไรจึงจะถูกต้อง แล้วส่งไปรษณีย์ไปให้เขา มีหลายคนส่งซองจดหมายจ่าหน้าถึงตนเองพร้อมติดแสตมป์ส่งมากับบทกลอนของเขาด้วย ครูเหรียญชัยเสนอแนะว่าเราควรพูดอธิบาย (สอน) เขาทางอากาศดีกว่าไหม ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะเสียเวลาในการฟังสำนวนกลอนของผู้ฟัง และสร้างความอับอายแก่คนเขียนผิดด้วย
มีแฟนรายการคนหนึ่งใช้นามว่า “เปีย ขายผัก” ที่อยู่คือตลาดสดเมืองตาก เธอเขียนหนังสือผิด ๆ ถูก ๆ แต่สำนวนลีลาดี เนื้อหาสาระดี ข้าพเจ้าช่วยเกลาบ้างเล็กน้อย เธอบอกว่าเรียนจบแค่ ป.สี่ เป็นพี่คนโตจึงเสียสละให้น้อง ๆ เรียนต่อโดยตัวเธอมาทำอาชีพเป็นแม่ค้าขายผักหาเงินส่งน้อง ๆ เรียน ตรงข้ามกับอีกคนหนึ่งใช้นามว่า “รัชนี” ที่อยู่ว่า “บ้านร้างใจ” อ.แม่พริก จ.ลำปาง เขียนหนังสือลายมือสวยงาม เขียนกลอนดีไม่น้อย ส่งกลอนมาทีละหลายสำนวน คนนี้ครูเหรียญชัยสนใจเป็นพิเศษ สันนิษฐานว่าคงจะเป็นครูสาวสวย จึงใช้วิชา ”จอมสืบ” ของเขาเดินทางไปแอบดูตัวจริง แล้วกลับมาด้วยความผิดหวัง เพราะตัวจริงของเจ้าของนามนี้ เป็นครูเก่าเกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้วและเป็นหม้ายด้วย จึงเป็นเรื่องฮาอีกเรื่องหนึ่งในวงการสนทนาของพวกเรา
ครูเหรียญชัยคิดการใหญ่ขึ้นมาเรื่องหนึ่ง คือการสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง เสนอในที่ชุมนุมสมาชิกชมรมกวีศาลาลายสือไทย ทุกคนเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ ท่านสุธรรม วงศ์โดยหวัง ปลัดจังหวัด ประธานชมรมนำเรื่องนี้ไปเสนอ นายสมาส อมาตยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ท่านเห็นด้วย แต่ติดปัญหาเรื่องเงินงบประมาณ เมื่อปลัดสุธรรมนำความมาแจ้งให้พวกเราทราบ จึงออกหัวคิดกันหลายอย่างแล้วสรุปว่า ให้ออกข่าวรณรงค์หาทุนสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง โดยขอให้คนที่รู้หนังสือไทย (อ่านออกเขียนได้) บริจาคเงินคนละ ๑ บาท เพื่อเป็นการบูชาคุณพ่อขุนรามฯ ผู้ให้กำเนิดลายสือไท เรื่องนี้ทางการให้ความสนับสนุน ทางรัฐบาลจึงให้กรมศิลปากรออกแบบอนุสาวรีย์ เขียนภาพออกมาว่าพ่อขุนรามคำแหงมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นเรื่องใหญ่สำหรับนักวิชาการกรมศิลปากรมาก ถึงกับมีการเข้าทรงดูรูปร่างหน้าตาพ่อขุนรามคำแหงกันเลยทีเดียว ที่สุดก็ได้รูปร่างหน้าตาพ่อขุนรามคำแหงดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อได้รูปแบบเป็นที่ยุติแล้ว ทางรัฐบาลเห็นว่าการเรี่ยไรเงินคนละบาทจากคนรู้หนังสือไทยคงไม่ประสบความสำเร็จ จึงให้จัดสร้างเหรียญรูปพ่อขุนรามคำแหงให้ประชาชนเช่าบูชาเหรียญละ ๓ บาท โดยตั้งให้พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิระวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทวงมหาดไทยเป็นประธานดำเนินงาน พร้อมกันนั้นทางชมรมกวีศาลาลายสือไท ก็จัดประกวดกลอนสุภาพในหัวข้อ “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” ใช้รายการสายธารใจทางวิทยุ ป.ช.ส.ตากเป็นสื่อเท่านั้นยังไม่พอ ครูเหรียญชัยไปขอเวลาทางสถานีวิทยุพล ๔ (ว.พล ๔) ของกองทัพภาคที่ ๓ พิษณุโลก จัดรายการกลอนชื่อ “แจกันใจ” อีกรายการหนึ่ง รายการนี้ก็มอบให้เป็นภาระแก่ เพลิน พจน์มาลย์ อีกนั่นแหละ
ข้าพเจ้าต้องจัดรายการกลอนทางวิทยุ ๒ แห่ง รายการธรรมวิจารณ์ทางวิทยุ ทหารอากาศ ๐๑๐ นั้น จึงไม่มีเวลาไปเทศน์ออกอากาศอีกแล้ว ให้พระเกรียงศักดิ์ พระสอน วัดเขาสมอแครงจัดทำกันต่อไป ระยะหลังนี้ได้พระอีกองค์หนึ่งมาร่วมงานด้วย ท่านชื่อ กรองสร้อย เทศน์ได้ดีไม่แพ้ใครเลย
รางวัลการประกวดกลอนชนะที่ ๑ เป็นถ้วยทองคำหนัก ๑๐ บาท เราตกลงกันว่าให้เป็นถ้วยรางวัลจากจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ดังนั้นครูเหรียญจึงต้องเข้าทำเนียบฯ ไปขอรางวัลนี้จากท่านจอมพลถนอม แทนที่จะเอาคนอื่นไปเป็นเพื่อนเขากลับขอให้ข้าพเจ้าไปด้วย ให้เหตุผลว่าเอาพระไปจะทำให้เขาเกรงใจ ตอนนั้นเป็นเวลาพรรษา วันที่เข้าทำเนียบรัฐบาลเพือพบจอมพลถนอมนั้น ต้องผ่านด่านสำคัญหลายด่านจนลุล่วงไปถึงหน้าห้อง “ชอบ หัศบำเรอ” ถามข้าพเจ้าว่าในพรรษาอย่างนี้ท่านมาได้อย่างไร พรรษาไม่ขาดหรือ ข้าพเจ้าตอบว่า รับกิจนิมนต์โยมย่านฝั่งธนบุรี จึงทำสัตตาหะมาฉลองศรัทธาโยม ท่านร้องอ้อ...รอเดี๋ยวนะครับ เข้าไปในห้องจอมพลถนอมแล้วออกมานำพวกเราเข้าไปพบท่าน จอมพลถนอมเป็นเรียบร้อยนุ่มนวล โอภาปราศรัยอย่างเป็นกันเอง เมื่อทราบจุดประสงค์แล้วท่านบอกว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหา ยินดีให้ ขอให้ดำเนินการได้เลย ทำถ้วยให้สวย ๆ หน่อยก็แล้วกันนะ เสร็จแล้วมาเก็บเงินจากคุณชอบก็แล้วกัน จะอนุมัติไว้ให้ คุยกันเรื่องพ่อขุนรามคำแหงพอสมควรแล้วเราก็ลาท่านด้วยความดีใจที่สมความปรารถนา
พอประกาศว่ารางวัลการประกวดกลอนในหัวข้อ “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” ชิงรางวัลถ้วยทองคำหนักสิบบาทของจอมถนอม นายกรัฐมนตรี เท่านั้นเอง มีเพื่อนนักกลอนเขียนกลอนประกวดเข้ามามากมาย ข้าพเจ้าคัดเลือกสำนวนที่ไม่ผิดฉันทลักษณ์ทยอยอ่านออกอากาศทางรายการสายธารใจและแจกันใจ เป็นลำดับ ทางชมรมกวีศาลาลายสือไทยตั้งคณะกรรมการรับ คัดเลือก และตัดสินกลอน โดยกรรมการตัดสินนั้นจัดเป็นรอบแรก รอบสอง และรอบสาม ตัดสินเด็ดขาด/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, ต้นฝ้าย, มนชิดา พานิช, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, malada, เป็น อยู่ คือ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), คิดถึงเสมอ, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
ศาลพระแม่ย่า เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๐๓ - ยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น พวกเรายังคิดหาเงินสมทบทุนสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงอีก โดยเสนอโครงการให้ทางจังหวัดสุโขทัยจัดสร้างพระเครื่องศิลปะสุโขทัยคือ พระลีลาถ้ำหีบ พระนางเสน่ห์จันทน์ พระร่วงหลังรางปืน และที่สำคัญคือเหรียญพระแม่ย่า (เป็นรุ่นแรก) นายสมาส อมาตยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความเห็นชอบ มอบหมายให้ครูเหรียญชัยประสานงานหาช่างทำพระเครื่องและพระแม่ย่าตามที่เสนอนั้น สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เรื่องพระเครื่องพระบูชาแล้วได้ข้อมูลว่า นายบุญชู ทิมเอม อยู่ที่เมืองเก่าเป็นช่างทำพระเครื่องพระบูชาได้ดีที่สุดในสมัยนั้น เย็นวันหนึ่งครูเหรียญชัยจึงชวนข้าพเจ้าไปติดต่อนายบุญชูที่เมืองเก่าตามคำแนะนำของผู้รู้ดี
อาคารไม้เก่า ๆ เป็นห้องแถวตั้งอยู่ริมถนนหลวง ด้านทิศใต้ระหว่างวัดเจดีย์สูง-ตระพังทองหลางคือที่อยู่ของบุญชู ทิมเอม เราได้พบเขาพร้อมภรรยาสาวสวย (ชื่อน้ำค้าง) ได้บอกเล่าเรื่องการสร้างพระเครื่องดังกล่าวให้เขาทราบ เขารับว่าทำได้ทั้งหมด สำหรับพระลีลาถ้ำหีบ พระเสน่ห์จันทน์ พระร่วงหลังรางปืน ไม่ยากนัก ใช้องค์จริงกดพิมพ์แล้วแต่งพิมพ์เล็กน้อยก็ใช้ได้แล้ว แต่พระแม่ย่าออกจะยากหน่อย เพราะไม่มีองค์จริงกดพิมพ์เป็นแบบ ต้องออกแบบแกะพิมพ์ใหม่ทำบล็อก สรุปว่าเขายินดีรับทำให้ทั้งหมด โดยขอเงินมัดจำเป็นค่าดำเนินงานสร้างแบบและพัสดุบ้าง เพราะเขาไม่มีทุนเลย ส่วนราคาองค์ละเท่าไรยังกำหนดไม่ได้ ขอเวลาสัก ๗ วันจึงจะแจ้งให้ทราบได้
การที่จัดสร้างพระลีลาถ้ำหีบและพระนางเสน่ห์จันทน์ เพราะพระสองพิมพ์นี้งดงามที่สุด พระลีลาเป็นศิลปะเอกลักษณ์ของสุโขทัยที่สร้างขึ้นสมัยพญาลิไท นัยว่าพญาลิไทโปรดให้สร้างพระพิมพ์หรือพระเครื่องเนื้อดินเผาบรรจุไว้ในเจดีย์วัดถ้ำหีบ ในแดนอรัญญิกเมืองสุโขทัย จึงเรียกกันว่าพระถ้ำหีบ ส่วนพระพิมพ์นางเสน่ห์จันทน์นั้น พระนางศรีธรรมราชมาตา มเหสีพญาลิไทสร้างบรรจุไว้ในเจดีย์วัดต้นจันทน์จึงเรียกว่าพระนางเสน่ห์จันทน์ แม้ต่อมาพบในเจดีย์วัดตาเถรขึงหนังอีกก็รวมเรียกว่าพระนางเสน่ห์จันทน์เช่นกัน
พระแม่ย่าเป็นเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสุโขทัย ชาวสุโขทัยเชื่อกันว่าเป็นรูปพระนางเสืองราชมารดาพ่อขุนรามคำแหง ทนายอุปถัมภ์ เหล่าไพโรจน์ พี่มหาประเสริฐ นุตาลัย เป็นผู้นำในการค้นคว้ารวบรวมเรื่องพระแม่ย่าได้มา แล้วนำลงพิมพ์ในหนังสือสุโขทัยสาร มีความว่าเป็นเทวรูปสตรีแกะสลักด้วยหิน ราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพยายามค้นหาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเขตเมืองเก่าสุโขทัย โดยเปรียบเทียบกับศิลาจารึกหลักต่าง ๆ โดยเฉพาะ "หลักที่ ๑" ซึ่งมีข้อความกล่าวถึง "เทพารักษ์ประจำเมือง" ที่สถิตปกปักรักษาอยู่ ณ เขาหลวง ปรากฏชื่อในศิลาจารึกว่า "พระขะพุงผี" ดังปรากฏความว่า
"เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้...มีพระขะพุงผี เทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้มบ่เกรง..เมืองนี้หาย"
ในคราวที่ค้นหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนี้นั้น สมเด็จฯ ก็ได้พบ "เทวรูปเทวสตรี" สลักจากหิน อยู่ในลักษณาการยืน ซึ่ งสร้างมาตั้งแต่สมัยโบราณ และเนื่องจากไม่สามารถค้นหาเทวรูปอื่นในเทือกเขาหลวงได้อีกเลย ประกอบกับชาวบ้านแถบนั้นเคารพนับถือเทวรูปสตรีดังกล่าวมาก จึงเชื่อว่าเทวรูปสตรีที่ค้นพบคือ พระขะพุงผี ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญของชาวสุโขทัย
ความเกี่ยวพันกับตำนานความเชื่อที่ว่า เทวรูปดังกล่าวเป็นเทวรูปที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงยกให้เป็นผีที่เหนือผีทั้งหลาย ชาวสุโขทัยจึงเชื่อว่าเทวสตรีดังกล่าวก็คือ "นางเสือง" ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพ่อขุนบานเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ทรงเป็นเอกอัครมเหสีของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้สถาปนาอาณาจักรสุโขทัย และทรงเป็นพระขนิษฐาของพ่อขุนผาเมืองแห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถม ผู้ช่วยกันกับพระสหายกอบกู้บ้านเมืองให้พ้นจากอำนาจของขอมอีกด้วย สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงดำริให้นำไปเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ไม่เช่นนั้นอาจจะสูญหายได้ พระยารามราชภักดีเจ้าเมืองสุโขทัยในเวลานั้นจึงได้อัญเชิญองค์เทวรูปองค์นี้มาเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางจังหวัด โดยมีชาวเมืองสุโขทัยช่วยกันแห่อย่างเนืองแน่น เกิดฝนตกหนักเป็นอัศจรรย์ เพราะขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง ไม่ใช่ฤดูฝน และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อจังหวัดสุโขทัยถูกเปลี่ยนเป็นจังหวัดสวรรคโลก รูปเคารพพระแม่ย่าก็ถูกย้ายไปประดิษฐานในศาลากลางจังหวัดสวรรคโลกในระยะหนึ่ง จนเมื่อจังหวัดสวรรคโลกเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดสุโขทัยตามเดิม รูปเคารพพระแม่ย่าจึงกลับมาอยู่ ณ ศาลากลางจังหวัดสุโขทัยอีกครั้ง และเรียกนามสืบต่อกันมาว่า "พระแม่ย่า" อันหมายถึง สตรีที่มีฐานะสูงสุด เป็นทั้งพระมารดาและพระอัยยิกาแห่งเมืองสุโขทัย เพราะเทวรูปสตรีที่ชาวสุโขทัยเชื่อว่าเป็นรูปพระนางเสืองพระราชมารดาของพ่อขุนรามคำแหง ดังนั้นเมื่อเรียกขุนรามคำแหงว่า “พ่อ” จึงเรียกนางเสืองพระมารดาของท่านว่า “พระแม่ย่า” ในทางโบราณคดีเชื่อว่า เทวรูปสตรีนี้คือ “พระขะพุงผี....” ตามความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ เป็นแน่แท้ องค์เทวรูปสตรีนี้เป็นศิลปะขอมโบราณ น่าจะมีอายุสมัยปาปวน (พ.ศ.๖๐๐) เป็นต้นมา ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในศาลพระแม่ย่าริมแม่น้ำยม หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย /๒๐๓
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๐๔ - ครูเหรียญชัย จอมสืบ เป็นคนอยู่นิ่งไม่ได้จริง ๆ คนที่ไม่ชอบเขาก็จะเรียกกันลับหลังเขาว่า เหรียญชัย จอมเสือก บ้าง วุ่นวายจังหวัดบ้าง เรื่องที่เขาคิด (ให้คนอื่นทำ) นั้นเป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมไม่น้อย ข้าพเจ้ารับร่วมงานกับเขาก็เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมนี่แหละ งานทางด้านสื่อสารของเขานอกจากเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์รายวันส่วนกลางหลายฉบับแล้ว เขายังมีโครงการขยายเครือข่ายงานข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นโดยเชื่อมเครือข่ายสุโขทัย-พิษณุโลกเข้าด้วยกัน หนังสือพ์ท้องถิ่นสุโขทัยมีฉบับเดียวคือ “เสียงชนบท” ของสุเทพ เสาวแสง พิษณุโลกมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับ เช่น “ตระกูลไทย”, “เผ่าไทย” ของพี่น้อง ประเสริฐ-ศักดิ์ รัตนาคม “อิสระ” ของสมพงษ์ พลวัย และ “ประชากร” ของ วิทูรย์ กวยปาณิก
“ประชากร” หนังสือพิมพ์ของวิทูรย์เป็นหนังสือพิมพ์ออกใหม่ พี่วิทูรย์ผู้เจ้าของเป็นหนุ่มใหญ่ไฟแรง อายุรุ่นราวคราวเดียวกับครูเหรียญชัย และเขาเป็นเพื่อนรักกัน จึงจับมือกันทำข่าวในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก แพงเพชร ลงพิมพ์ในเสียงชนบท และ ประชากร พร้อมส่งเข้าเป็นข่าวรายวันส่วนกลาง พี่วิทูรย์เป็นนักข่าวภูธรของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งแต่นั้นมา ในเชิงข่าวแล้วพี่วิทูรย์จะเข้มคมมากกว่าครูเหรียญชัย เดิมหนังสือพิมพ์ประชากรไม่มีคอลัมน์กวี เมื่อครูเหรียญชัยเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงเปิดบัญชรกลอนขึ้น เป็นสนามกลอนของคนรักกลอนอีกแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าเป็นตัวหลักที่เขียนกลอนลงในคอลัมน์กลอนในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้
เท่านั้นยังไม่พอ ครูเหรียญชัยยังหาทุนจัดตั้งโรงพิมพ์ของตนขึ้นที่เมืองสุโขทัย ตั้งอยู่ในห้องแถวไม้ริมถนนสิงหวัฒน์ พิมพ์หนังสือสุโขทัยสารของจังหวัด ไม่ต้องหอบต้นฉบับไปพิมพ์ที่พิษณุโลกอีกต่อไป โรงพิมพ์สมัยนั้น แท่นพิมพ์เป็นแบบที่เรียกกันว่า “แท่นฉับแกละ” ต้องใช้มือป้อนแผ่นกระดาษเข้าแท่นพิมพ์ทีละใบ ตัวอักษรเป็นตัวที่ทำด้วยตะกั่วหลายขนาด สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ ใส่เคสในกระบะไม้ไว้ให้ช่างเรียงจับเรียงทีละตัว การเรียงพิมพ์ไม่ใช่เรื่องง่าย ช่างต้องมือไว ตาดี เหมือนช่างพิมพ์ดีดนั่นแหละ ครูเหรียญชัยไม่ออกหนังสือพิมพ์ของตนเอง เพราะเกรงใจพี่มหาสุเทพเจ้าของเสียงชนบท เขารับจ้างพิมพ์สิ่งพิมพ์ทั่วไป เช่น การ์ด ใบปลิว ซองฎีกากฐิน ผ้าป่า และหนังสือยก (เป็นเล่ม) เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในกิจการโรงพิมพ์ เช่น ค่ากระดาษ หมึกพิมพ์ และค่าจ้างช่างพิมพ์ ช่างเรียงพิมพ์ เป็นต้น
สมัยนั้นหนังสือการ์ตูนเป็นที่นิยมอ่านกันไม่น้อย ครูเหรียญชัยนึกสนุกอะไรของเขาก็ไม่รู้ ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนกลอนเรื่องศรีธนนชัยให้ แล้วขอให้ครูประพันธ์ผู้เป็นครูสอนศิลปะ รร.วัดคูหาสุวรรณช่วยเขียนภาพประกอบคำกลอน เขาบอกว่าจะพิมพ์ขายเอาเงินมาแบ่งกันใช้ ข้าพเจ้าไม่สนใจรายได้ดอก แต่เขียนกลอนให้เพราะนึกสนุกและชอบความเจ้าเล่ห์เพทุบายเจ้าศรีธนนชัยนั่นแหละ สำนวนกลอนที่เขียนก็ไม่ไพเราะเพราะพริ้งอะไร เนื้อเรื่องเน้นความเจ้าเล่ห์แสนกลให้อ่านอย่างสนุก ๆ เท่านั้น ครูประพันธ์วาดภาพดีมากเลย
ยุคนั้นการพิมพ์ภาพต้องทำบล็อกเป็นแบบพิมพ์ เมื่อครูประพันธ์วาดภาพประกอบคำกลอนเสร็จแล้ว ครูเหรียญชัยก็หอบภาพการ์ตูนเรื่องศรีธนนชัยนั้นเข้ากรุงเทพฯ ให้ร้านทำบล็อกย่านวงเวียน ๒๒ กรกฎา ทำบล็อกให้ เมื่อได้บล็อกแล้วก็พิมพ์เป็นเล่มหนังสือการ์ตูนเล่มขนาดดัด ๑๖ (คือ ๑๖ หน้ายก) เขาเน้นขายให้นักเรียนตามโรงเรียน เล่มละเท่าไหร่ข้าพเจ้าไม่ได้จำ
แม้จะถูกครูเหรียญชัยชักนำออกสู่สังคมฆราวาสมากหน่อย ข้าพเจ้าก็มิได้ทอดทิ้งหน้าที่การเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม วัดราชธานียังคงสอนวิชาธรรมะตามเดิม แต่เพิ่มชั้นสอนขึ้น กล่าวคือในปีแรกที่เปิดสอนนักธรรมชั้นตรีนั้น ส่งนักเรียนเข้าสอบความรู้สนามหลวง ๑๑ องค์ สอบได้ ๙ องค์ ปีที่ ๒ จึงเปิดสอนนักธรรมชั้นโทขึ้น ให้นักเรียนเก่าเลื่อนชั้นขึ้นมาเรียนต่อ และก็ยังสอนวิชาธรรมวิภาค อันวิชาธรรม วิภาคนักธรรมชั้นโทนี้สอนยากกว่าชั้นตรี อาจารย์องค์อื่นไม่กล้าสอน แต่ข้าพเจ้ากล้าสอนทุกชั้นเลย
ปีนั้นมีปัญหาทางโรงเรียนปริยัติธรรมวัดไทยชุมพล คืออาจารย์ผู้สอนวิชาพุทธประวัติเหลือเพียงองค์เดียว สอนทั้งชั้นตรี ชั้นโท ไม่ไหว หลวงพี่พระครูสุภัทรธีรคุณ (มหาดำรงค์) จึงขอร้องให้ข้าพเจ้าไปช่วยสอนวิชาพุทธประวัตินักธรรมชั้นตรี จึงต้องแบ่งเวลาไปสอนให้ตามคำขอ ซึ่งก็ไม่เป็นการยุ่งยากอะไรนัก วัดราชธานี วัดคูหาสุวรรณ วัดไทยชุมพล อยู่ไม่ห่างไกลกันเท่าไหร่ เดินไปมาหาสู่กันได้สบายอยู่แล้ว/๒๐๔
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๐๕ - งานของพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตในแต่ละจังหวัดแม้จะมีแนวทางเดียวกัน แต่ในรายละเอียดไม่เหมือนกัน เป็นไปตามกาลเทศะคือเวลาและสถานที่ บางจังหวัดถูกต่อต้านอย่างเงียบ ๆ จากพระผู้ใหญ่ชั้นปกครอง คือท่านไม่ขัดขวางห้ามปราม แต่ไม่สนับสนุนส่งเสริม ปล่อยให้พวกเราทำงานกันไปตามลำพัง บางหน่วยบางองค์ไม่รู้จะเริ่มต้นทำอะไรดีก็อยู่เฉย ๆ ไปก่อน ส่วนหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๘ ของข้าพเจ้านั้น หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยก็ให้พวกข้าพเจ้าทำอะไรก็ทำไป มีอะไรจะให้ช่วยก็บอกมา ข้าพเจ้าจึงใช้เวทีแสดงธรรมเป็นงานเผยแผ่ตามแนวของหน่วยพัฒนาการทางจิตของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย งานเพื่อสังคมสงเคราะห์งานแรกคือ คัดเลือกสามเณรน้อยได้สององค์ซึ่งเป็นลูกศิษย์ข้าพเจ้าที่โยมพ่อแม่เห็นชอบแล้ว ส่งไปให้มูลนิธิฯ ตามที่ตกลงกันไว้
นายสมาส อมาตยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยจัดทำโครงการพบปะประชาชนในอำเภอต่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัด โดยนำคณะข้าราชการระดับหัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวงทบวงกรมไปพบประชาชน ให้ความรู้แก่ประชาชน รับฟังและแก้ไขปัญหาประชาชน ในการนี้ท่านนิมนต์ข้าพเจ้าในนามพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตไปด้วย เพื่อให้แสดงปาฐกถาธรรมอบรมประชาชนตามแนวทางของหน่วยพัฒนาการทางจิต ข้าพเจ้าจึงมีผลงานของหน่วยพัฒนาการทางจิตจากโครงการพบปะประชาชนของท่านผู้ว่าฯ สมาสนี้เอง
วิธีการพบปะประชาชนของท่านผู้ว่าฯ สมาสคือ ให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นัดประชาชนในปกครองของตนมารวมกันที่ห้องประชุมใดห้องประชุมหนึ่งตามที่เห็นสมควร การประชุมจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา ๒.๓๐ น. เป็นต้นไป (ในเวลาราชการ) นายสมาส อมาตยกุล ในนามผู้ว่าฯเป็นผู้กล่าวเปิดประชุม ชี้แจ้งข้อราชการต่าง ๆ พอสมควรแก่เวลา แล้วนิมนต์ข้าพเจ้าแสดงปาฐกถาธรรม ข้าพเจ้าเลือกหัวข้อธรรมที่เห็นว่าควรแสดงให้ประชาชนฟังเตรียมไว้หลากหลาย เมื่อถึงเวลาพูดก็เลือกเรื่องที่เห็นว่าเหมาะแก่สถานการณ์สถานที่ และกลุ่มบุคคลผู้ฟัง เวลาพูดก็สังเกตดูอากัปกิริยาผู้ฟังว่าพอใจหรือไม่อย่างไร เมื่อเห็นคนฟังไม่ค่อยสนใจฟัง ก็ออกมุกคำพูดขำขันให้พวกเราหันมาสนใจฟัง เห็นเขาง่วงก็เล่านิทานสนุก ๆ ที่จำมาจากอาจารย์มหาอ่อน บุญพันธ์ แก้ง่วงให้เขา วิธีการเล่านิทานธรรมะแบบตลก ข้าพเจ้าจดจำลีลาอาจารย์มหาอ่อนได้มากจนเพื่อน ๆ เรียกข้าพเจ้าว่า “มหาอ่อนน้อย” ดังนั้นการแสดงปาฐกถาของข้าพเจ้าจึงเป็นที่พอใจของประชาชนและข้าราชการที่ได้ฟัง ข้าพเจ้าจะเปลี่ยนเรื่องเปลี่ยนแนวไม่ให้ซ้ำกัน มีนายอำเภอคนหนึ่งท่านจำมุกตลกในการพูดและนิทานธรรมะสนุก ๆ ของข้าพเจ้าไว้ได้มาก และนำไปพูดที่ทั่วไป
วันหนึ่งจังหวัดสุโขทัยจัดโครงการพบปะประชาชนในท้องที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม ผู้ว่าฯสมาสให้คนเอารถมารับข้าพเจ้าแต่เช้า เดินทางไปถึงสถานที่ประชุมทันเวลาพอดี หลังจากผู้ว่าฯ กล่าวเปิดประชุมชี้แจงข้าราชการแล้ว ก็นิมนต์ข้าพเจ้าแสดงปาฐกถาธรรมตามปกติ ชาวอำเภอทุ่งเสลี่ยมส่วนใหญ่เป็นชาวไทยล้านนาเคลื่อนย้ายมาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง วันนั้นข้าพเจ้าพูดเรื่อง ศาสนากับวัฒนธรรมประเพณี ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าติดตามหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณไปตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยม ได้พบเห็นวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวกับศาสนาของชาวทุ่งเสลี่ยมดังที่กล่าวมาแล้วในบทก่อนหน้านี้ เหตุการณ์ที่รับนิมนต์ไปสวดมนต์ฉันเช้ายังฝังใจอยู่ คิดว่าในโอกาสนี้ควรพูดในเชิงวิพากย์วิจารณ์เรื่องนั้น
เริ่มต้นก็กล่าวยกย่องชมเชยที่ชาวทุ่งเสลี่ยมมีความรักสมัครสมานสามัคคีกันดี รักษาวัฒนาธรรมประเพณีของล้านนาไทยไว้อย่างมั่นคง จากนั้นก็กล่าวถึงวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นลักษณ์เอกราชของชาติ แยกวัฒนธรรมออกเป็นส่วน ๆ คือ วัฒนธรรมด้านภาษา วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย วัฒนธรรมด้านกิริยามรรยาท วัฒนธรรมด้านอาหารการกิน เหล่านี้บ่งบอกให้รู้ว่าเป็นชนเชื้อชาติใด ถ้าหากขาดวัฒนธรรมเหล่านี้แล้วจะรู้ไม่ได้ว่าเป็นชนชาติใด ส่วนเรื่องประเพณีคือเรื่องที่กระทำสืบต่อกันมาอันเป็นส่วนประกอบของวัฒนธรรมนั้นก็สำคัญ ประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อบางอย่างก็ดี บางอย่างก็ไม่ดี พูดถึงตรงนี้ก็วกเข้าเรื่องการทำบุญ ควรศึกษาให้เข้าใจว่าการทำอย่างไรเป็นบุญ ทำอย่างไรไม่เป็นบุญ มิใช่แต่จะทำตาม ๆ กันไป พอเห็นคนฟังชักจะง่วงเหงาหาวนอนก็เล่านิทานของอาจารย์มหาอ่อน เรื่องปลดหางกระเบนกราบพระรับศีล พอจบประโยคที่ว่า ** “ไอ้เซ่อ ไม่ปลดหางกระเบนแล้วศีลมันจะเข้าทางไหนเล่า” เท่านี้ก็เรียกเสียงฮาครืนหายง่วงไปเลย (**อ่านทวนได้ในตอนที่ ๑๘๒)
ครั้นเสียงหัวเราะสงบลงแล้ว ก็พูดถึงการทำบุญถวายทานตอนเช้ามีพิธีกรรมยึดยาดเยิ่นเย้อเกินไป การกล่าวคำไหว้พระด้วยภาษาบาลีแล้วแปลเป็นภาษาไทย (ล้านนา) การกล่าวชุมนุมเทวดาแทนพระก็ดีอยู่ แต่การแปลความในบทชุมนุมเทวดา (สัคเค กาเม....) ยาวเกินไป ครั้นพระสวดถวายพรพระจบแล้วแทนที่จะถวายอาหาร แต่กลับกล่าวคำถวายทาน โดยเริ่มที่ ชุมนุมเทวดา อีก แปลทั้งบทชุมนุมเทวดาและคำถวายสังฆทานยืดยาวมาก พระท่านหิวจนท้องร้องจ๊อก ๆ แล้วก็ยังกล่าวคำถวายไม่จบ ประเพณีอย่างนี้ไม่ดี แทนที่จะเป็นบุญกลับเป็นบาป เพราะทำให้ความหิวมันทรมานท้องพระมาก แล้วสรุปว่าทำบุญอยากได้บุญต้องทำให้ถูกวิธี ถูกเวลาและสถานที่ (กาลเทศะ) ขอฝากความคิดเห็นนี้ไว้ให้พิจารณาด้วยด้วย
แสดงปาฐกถาจบแล้วลงจากโพเดียมเดินออกไปนอกห้องประชุม เห็นท่านผู้ว่าสมาสนั่งคุยอยู่กับเถ้าแก่คนหนึ่งกลางสนามหญ้า มีเก้าอี้ว่างอยู่จึงเดินไปหา ท่านนิมนต์ให้นั่งสนทนาด้วย เถ้าแก่คนนั้นยกมือไหว้แล้วกล่าวว่า ท่านเทศน์ดี แต่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ สำหรับรุ่นผมต้องเทศน์ทำนองแบบ “คาบลูกคาบดอก” ข้าพเจ้าก็ตอบว่า อาตมาเทศน์ให้คนรุ่นใหม่ฟัง รุ่นโยมนี่อาตมาไม่ถนัดที่จะเทศน์ให้ฟังเลย เถ้าแก่ก็นิ่งไป ผู้ว่าฯ คุยเสไปเรื่องอื่นสักครู่หนึ่ง ชั ยวัฒน์ ลิมปะพันธุ์ ก็ขับรถจี๊ปเข้ามา เถ้าแก่นั้นก็ยกมือไหว้กล่าวว่าผมลาก่อนนะครับ พอเขาขึ้นรถไปแล้วท่านผู้ว่าฯ ก็พูดว่า “ท่านกล้าพูดกับขุนเพ่งอย่างนั้นเชียวหรือ” ข้าพเจ้าค่อนข้างตกใจร้อง อ้าว...คนนี้น่ะหรือคือขุนเพ่ง อาตมาไม่เคยรู้จักตัวเขามาก่อนเลย ได้ยินแต่ชื่อเท่านั้นเอง
วันต่อมาได้พบ ชัยวัฒน์ ลิมปพันธุ์ จึงสอบถามถึงเรื่องราวของขุนเพ่งจนได้ข้อมูลย่อ ๆ ว่า เดิมท่านชื่อ เพ่งอัน แซ่ลิ้ม เป็นน้องชายพ่อของชัยวัฒน์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุน มีนามว่า ขุนเพ่งจีนานุเคราะห์ สมัยสงคามโลกครั้งที่ ๒ ปี ๒๔๘๘ ญี่ปุนเข้ายึดไทย มีการตั้งขบวนเสรีไทยขึ้นต่อต้าน ขุนเพ่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองสวรรคโลกอยู่ ได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยระดับแนวหน้าด้วยคนหนึ่ง เมื่อสิ้นสงครามแล้วท่านเล่นการเมืองระดับชาติ ประมาณปี ๒๔๙๑ ได้เป็น สส.สุโขทัย มีชื่อเสียงโด่งดังพอสมควร /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ ตุลาคม ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๐๖ - เรื่องการคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยที่ค้างคาอยู่เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากคือ เรื่องของพระมุนินทรานุวัตต์ อดีตเจ้าคณะอำเภอศรีสัชนาลัย เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (พระปรางค์) พระอารามหลวงชั้นเอก ต้องอธิกรณ์ในข้อหาปฐมปาราชิก แล้วถูกพักตำแหน่งไว้ในขณะดำเนินคดี ทางคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยยังมิอาจตัดสินได้เป็นเวลานานหลายปีแล้ว จะแต่งตั้งพระภิกษุเข้าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ใหม่ก็มิได้ เพราะเจ้าอาวาสเดิมถูกพักคาตำแหน่งอยู่ จะแต่งตั้งพระภิกษุเป็นเจ้าคณะอำเภอศรีสัชนาลัยก็มิได้ เพราะเจ้าคณะอำเภอองค์เดิมถูกพักตำแหน่งคาอยู่ เรื่องนี้เป็นอุปสรรคในการบริหารงานปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยไม่น้อยเลย
พระครูสมุห์แถวเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยนำเรื่องนี้มาปรึกษาหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย หลวงพ่อเจ้าคุณเรียกข้าพเจ้าและทนายความประจำตัวท่าน ๓ คน เข้าร่วมปรึกษาหารือกัน เอกสารเรื่องนี้มีอยู่เป็นแฟ้มใหญ่ เปิดอ่านสำนวนการสอบสวนแล้วดูวกวนสับสนมาก เรื่องนี้เกิดขึ้นจากแม่ชีคนหนึ่งฟ้องร้องว่าเจ้าคุณมุนินทรฯ ล่วงละเมิดทางเพศเธอ เจ้าคุณมุนินทรฯ จึงฟ้องศาลยุติธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ว่าแม่ชีหมิ่นประมาทใส่ความ แม่ชีต่อสู้คดีด้วยพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ศาลเห็นว่าแม่ชีมิได้ใส่ความจึงยกฟ้องให้พ้นคดีหมิ่นประมาทและใส่ความในที่สุด
เรื่องในสำนวนสอบสวนของคณะกรรมการสงฆ์ที่เจ้าคณะจังหวัด (องค์ก่อน) ตั้งให้สอบสวนตัดสินคดี ได้กล่าวถึงมูลเหตุว่า เจ้าคุณมุนิทรานุวัตต์เปิดสอนพระปริยัติธรรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยภาคปฏิบัตินั้นมีการอบรมการปฏิบัติสมถะวิปัสสนากรรมฐาน มีฆราวาสชายหญิงเข้าร่วมศึกษาอบรมมาก เฉพาะหญิงที่เข้าร่วมการอบรมนั้นมีทั้งสาวและแก่ และส่วนหนึ่งก็บวชเป็นแม่ชีอยู่ประจำในวัดเพื่อปฏิบัติธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน ที่พักแม่ชีเรียงรายอยู่ในป่าละเมาะของวัด เจ้าคุณมุนินทรฯ เดินตรวจตราเป็นประจำทุกคืน แล้วแม่ชีคนหนึ่งก็ฟ้องร้องว่าเจ้าคุณฯ ล่วงละเมิดทางเพศ โดยทางคณะกรรมการสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานใดประกอบสำนวน คณะทนายที่ปรึกษาของหลวงพ่อเจ้าคุณอ่านสำนวนการสอบสวนแล้วก็บอกว่า สำนวนการสอบสวนบกพร่องมาก
ข้าพเจ้าไปนอนคุยกับพระครูบวรธรรมนุศาสน์เจ้าอาวาสวัดหาดเสี้ยวบ่อย ๆ ถามถึงประวัติเจ้าคุณมุนินทรฯ ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน ทราบว่า เจ้าคุณมุนินทรฯเป็นชาวหาดเสี้ยว เข้าไปอยู่วัดสามพระยากรุงเทพฯ เมื่อสอบได้นักธรรมและเปรียญได้จนเป็นที่พอใจแล้วจึงกลับมาอยู่บ้านเกิด ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหาดเสี้ยว และเจ้าคณะอำเภอศรีสัชนาลัย มีสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูมุนินทรานุวัตต์ ต่อมาย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระปรางค์ได้เลื่อนสมณะศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ พระมุนินทรานุวัตต์ เมื่อถามเรื่องคดีที่เกิดขึ้น พระครูบวรฯ ตอบแบ่งรับแบ่งสู้ (ภาคเสธ) ก็เลยไม่ได้ข้อมูลอะไร ทราบแต่เพียงว่าขณะเกิดเรื่องขึ้นท่านไม่ค่อยอยู่วัด มักเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปพักอยู่วัดสามพระยานานเป็นเดือน ๆ จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าท่านเข้าไปขอพึ่งบารมีของท่านเจ้าคุณพระธรรมปัญญาบดี (ฟื้น ชุตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา ผู้เป็นอาจารย์ ซึ่งสมัยนั้นท่านเจ้าคุณฟื้นเป็นพระมหาเถระผู้มีอิทธิพลทางการปกครองคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายมาก (ต่อมาท่านได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ขุตินฺธโร) จึงอยู่รอดมาจนถึงปีที่ข้าพเจ้าไปอยู่วัดราชธานีสุโขทัย
ในการปรึกษาหาทางออกของเรื่องนี้ เพื่อให้มีการตั้งพระภิกษุเป็นเจ้าอาวาสวัดพระปรางค์องค์ใหม่ และเจ้าคณะอำเภอศรีสัชนาลัยองค์ใหม่บริหารงานปกครองคณะสงฆ์ต่อไปได้ ข้าพเจ้าเสนอให้ทางหวัดมีคำสั่งตัดสินเจ้าคุณมุนินทรานุวัตต์พ้นความผิดกลับเข้าดำรงตำแหน่งเดิม แล้วยกขึ้นเป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์เสีย และตั้งพระภิกษุองค์ใหม่เข้าดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ นอกจากทางออกนี้ ยังมองไม่เห็นทางออกอื่นเลย พระครูสมุห์แถวไม่เห็นด้วย ท่านอ้างว่าเจ้าคุณมุนินทรฯ ล่วงอาบัติปฐมปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุไปแล้ว หลักฐานคือคำสั่งศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่แม่ชีกล่าวหาเจ้าคุณมุนินทรฯ ว่าเสพเมถุนเธอ เจ้าคุณมุนินทรฯ ฟ้องว่าหมิ่นประมาทใส่ความ เมื่อสืบพยานกันในศาลแล้ว เจ้าคุณมุนินทรฯ แพ้ความ ศาลเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงตามที่แม่ชีกล่าว จึงยกฟ้อง แม่ชีไม่ผิด เจ้าคุณมุนินทรฯ จึงเสพเมถุนจริงตามคำกล่าวหาของแม่ชี คำค้านของพระครูสมุห์แถว พวกเราต้องอึ้งไปอย่างปราศจากข้อโต้แย้ง หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบอกให้รอเรื่องนี้ไว้ก่อนก็แล้วกัน
เจ้าคุณมุนินทรานุวัตต์ มีความรู้ด้านประวิศาสตร์โบราณคดีเป็นอย่างมาก ท่านได้รวบรวมและเรียบเรียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีแล้วพิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง “ตำนานเมืองสวรรคโลก” เล่มหนึ่ง เป็นเรื่องน่ารู้มากทีเดียว ข้าพเจ้ามารู้เรื่องของท่านเมื่อได้พบรู้จักกับพันเอกสุดใจ กิจประมวญ นายทหารสารบรรณกระทรวงกลาโหม ท่านเล่าว่าเคยเป็นเพื่อนกับเจ้าคุณมุนินทรฯ สมัยเป็นพระแล้วลาสิกขาออกไปสมัครเป็นอนุศาสนาจารย์ ต่อเมื่อเจ้าคุณมุนินทร์ฯ มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นจึงมาหาท่านปรึกษาทางแก้ไข ท่านจึงขอร้องหลวงจบกระบวนยุทธ (พ่อตาจอมพลถนนอม) แล้วพากันไปขอพบท่านเจ้าคุณวัดสามพระยา บอกเล่ารายละเอียดให้ท่านทราบเพื่อหาทางแก้ไข ท่านเจ้าคุณฟื้นทราบรายละเอียดแล้ว บอกว่าช่วยอะไรไม่ได้หรอก “ขอให้ไปพิจารณาตัวเอง” เรื่องจึงหยุดอยู่แค่นั้น พ.อ.สุดใจบอกว่า “มหามุนินท์พิจารณาตนเองแล้วเห็นว่าตัวเองไม่ผิดจึงขออยู่ในบรรพชิตเพศต่อไป” ข้าพเจ้าก็ถึงบางอ้อว่า เป็นอย่างนี้นี่เอง/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ ตุลาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๐๗ - เรื่องดี ๆ ของพระภิกษุมีมากมายแต่ไม่เป็นข่าว เพราะเรื่องดี ๆ เป็นเรื่องปกติ แต่เรื่องไม่ดี (ร้าย) ของพระภิกษุเป็นเรื่องผิดปกติ จึงมักเป็นข่าวอยู่เสมอ ท่านที่อ่านคำให้การฯ นี้มาแต่ต้นคงจำได้ว่า ข้าพเจ้าเคยช่วยนายทหารอากาศยศพันจ่าอากาศเอกคนหนึ่งออกจากห้องขังโรงพักตำรวจ แล้วจัดการบวชให้เป็นพระ หลวงพ่อห้อมผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ส่งไปอยู่วัดศรีสังวร (ท่าช้าง) พระองค์ดังกล่าวคือพระคารพ คารโว ท่านเกิดและโตในตระกูลผู้ดีมีการศึกษาดี (แต่มีความประพฤติไม่ค่อยดี) จึงเป็นพระที่ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยได้ในด้านระเบียบกฎหมาย ใครมีเรื่องเดือดร้อนอะไรก็ไปปรึกษาท่านให้ช่วยแก้ไข เช่นเรื่องการไฟฟ้าจะเดินสายไฟเชื่อมต่อระหว่างเมืองสุโขทัย-อำเภอศรีสำโรง ปักเสาไฟฟ้าในที่ของชาวบ้านโดยพลการ ชาวบ้านไม่ยอมจึงปรึกษาพระคารพ ท่านก็ออกหน้าเจรจา ขอให้ปักเสาไฟฟ้าในเขตทางหลวง ถ้าจะปักนอกเขตทางหลวงเข้าไปในที่ชาวบ้านต้องเสียเงินให้เจ้าของที่ตามกฎหมาย เรื่องนี้เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้านมาก พระคารพเป็นที่เคารพนับถือยำเกรงของชาวบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ
พระผู้รักษาการเจ้าอาวาสซึ่งมีอายุมากประมาณ ๕๐ ปีแล้ว มีความประพฤติไม่ค่อยเรียบร้อย พระคารพเคยบอกถึงพฤติกรรมของ รก.เจ้าอาวาสว่า แอบสูบกัญชาและดื่มสุรา ข้าพเจ้าเคยไปว่ากล่าวตักเตือนขอให้เลิกพฤติกรรมนั้นเสีย ท่านโต้เถียงว่า ดื่มสุราเป็นอาบัติเพียงแต่ปาจิตตีย์ แสดงอาบัติเสียก็พ้นโทษได้ ข้าพเจ้าก็ว่าจริงดังนั้น แต่มันเป็นโลกวัชชะ คือชาวโลกติเตียน โทษโลกวัชชะนี้ปลงอาบัติไม่ได้ จะติดตนไปจนตาย ท่านรับปากว่าจะเลิกเสพทั้งกัญชาและสุรา ต่อมาท่านคงทนความอึดอัดใจไม่ได้จึงลาออกจาก รก.เจ้าอาวาส ไปอยู่วัดพระพายหลวง เมืองเก่า เป็นลูกวัดของพระอาจารย์สายัณห์ ทางเจ้าคณะตำบลจึงตั้งพระคารพเป็น รก.เจ้าอาวาสแทน
อยู่มาวันหนึ่ง ข้าพเจ้ากลับจากไปวัดคูหาสุวรรณ เดินผ่านซุ้มกระดังงาจะเข้ากุฏิ พบนายตำรวจแต่งเครื่องแบบติดยศร้อยตำรวจโทนั่งอยู่ในลักษณะเมาสุรา ก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก พอจะเข้ากุฏิ พระศิษย์ข้าพเจ้าองค์หนึ่งก็มาบอกว่าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเรียกหา จึงเดินเลยไปพบท่านที่อาคารโรงเรียนวินัยสาร พบพระองค์หนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้จัก คือพระชัย นั่งอยู่ หลวงพ่อคุณเห็นข้าพเจ้าเข้าไปหาก็บอกว่า “แกไปกะข้าเดี๋ยวนี้เลย” ถามท่านว่าไปไหนครับ ท่านว่าไปจับพระกินเหล้า ข้าพเจ้านั่งลงแล้วถามเรื่องราวที่จะไปทำกัน ได้ความว่า พระชัยไปแจ้งความที่โรงพักกองเมืองว่า พระคารพจัดเลี้ยงสุราอาหารแก่พระลูกวัด ถามว่าทั่นรู้ได้อย่างไร เขาบอกว่าเคยร่วมวงกับพระคารพมาหลายครั้งแล้ว ถามว่าทั่นก็ดื่มกินกับเขาด้วยใช่ไหม “ผมไม่กินเหล้ากินแต่กับ” ฟังคำตอบแล้วก็รู้ได้ว่าพระชัยเคยร่วมวงดื่มเหล้ากับพระคารพมาหลายครั้ง คราวนี้คงจะผิดใจกันจึงมาแจ้งให้ตำรวจไปจับ
ข้าพเจ้าไม่คิดจะไปจับพระคารพสึกตามความต้องการของพระชัย จึงถามอีกว่า เหล้าที่เอามาดื่มกินกันนั้นเป็นเหล้าเถื่อนหรือเหล้าโรง เขาตอบว่าเป็นเหล้าโรงอย่างดี ข้าพเจ้าจึงเรียนหลวงพ่อเจ้าคุณว่า เหล้าโรงเป็นเหล้าไม่ผิดกฎหมาย พระดื่มก็ผิดเฉพาะวินัยสงฆ์ ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง จับเขาสึกไม่ได้หรอก พระชัยว่า ตอนนี้ตำรวจมานั่งรออยู่แล้วไปกันเถิดครับ ข้าพเจ้าก็ว่าตำรวจร้อยโทใต้ต้นกระดังงานั่นหรือ ก็เห็นเขาเมาเหล้าอยู่เหมือนกันนะ หลวงพ่อเจ้าคุณฟังดังนั้นก็ก็ร้อง ฮะ ตำรวจก็เมาเหรอ งั้นข้าไม่ไปละ แกไปกันเองเถอะ ว่าแล้วท่านเปลื้องจีวรออกแล้วนั่งนิ่งเฉยเสีย ข้าพเจ้าก็กลับเข้ากุฏิโดยไม่สนใจพระชัยกับตำรวจอีกต่อไป
ได้ทราบเรื่องในวันรุ่งขึ้นว่า พระชัยพา “หมวดวิเชียร” และตำรวจจำนวนหนึ่งเดินทางไปวัดท่าช้าง พอเข้าไปในวัดพระคารพก็เปิดไฟฟ้าสว่างพรึบขึ้นเป็นการต้อนรับ แล้วติดเครื่องกระจายเสียงประกาศให้ชาวบ้านทราบว่ามีตำรวจบุกรุกเข้ามาในวัดยามวิกาล ชาวบ้านได้ยินเสียงประกาศก็พากันเข้าวัดกันจำนวนมาก เขาว่าตอนนั้นหมวดวิเชียรหายเมาเป็นปลิดทิ้ง ยกมือไหว้ขอโทษแล้วรีบกลับโรงพักทันที เรื่องไม่จบลงเพียงแค่นั้น เพราะวันรุ่งขึ้นพระคารพเข้าพบผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัย ขอให้สอบสวนดำเนินคดีหมวดวิเชียรและพวกที่บุกรุกเข้าไปในวัดยามวิกาล ด้วยอ้างว่าพระคารพจัดเลียงสุราอาหาร ซึ่งไม่เป็นความจริง หมวดวิเชียรและพวกเป็นตำรวจกองเมืองไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปตรวจค้นวัดศรีสังวรซึ่งอยู่ในท้องที่ของ สภ.อ.ศรีสำโรง และที่สำคัญคือ หมวดวิเชียรเมาสุราทั้ง ๆ ที่แต่งเครื่องแบบติดยศนายร้อยตำรวจโท
๓ วันต่อมา ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัยเข้าไปพบข้าพเจ้าที่วัด ขอยอมรับผิดที่หมวดวิเชียรและพวกทำลงไปด้วยความเขลา ตามคำฟ้องของพระคารพนั้น ทางตำรวจไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ ขอให้ข้าพเจ้าช่วยประนีประนอมเรื่องนี้ด้วย โดยทางกองกำกับการฯ จะลงโทษทางวินัยต่อไป ข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจตำรวจ จึงนัดวันให้ทางตำรวจมาพบกับพระคารพพูดจากันต่อหน้าพลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ หมวดวิเชียรนำดอกไม้ธูปเทียนมาพร้อมที่จะทำการขอขมาโทษ หลวงพ่อเจ้าคุณกล่าวตำหนิและสั่งสอนหมวดวิเชียรและคณะได้ดีมาก พวกเขากล่าวยอมรับผิดทุกประการ หลวงพ่อจึงกล่าวแก่พระคารพว่า
“เป็นพระที่ดีต้องมีเมตตาแก่คนทั่วไปไม่ว่าเขาจะเป็นคนชั่วหรือคนดี ดังนั้น จงอภัยโทษให้แก่พวกเขาเถิด”
เรื่องจึงยุติลงด้วยดี/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๐๘ - ภาษาพระที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ เพราะคนชอบพูดกันมากคือศรัทธาที่แปลว่า ความเชื่อ ประสาทะ แปลว่าความเลื่อมใส และมักจะพูดควบว่า ศรัทธาประสาทะ แปลว่า ความเชื่อความเลื่อมใส ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าศรัทธากับประสาทะ (สัทธา ปสาทะ) เป็นอันเดียวกัน ในปัจจุบันเราใช้คำว่า “ศรัทธา” ในความหมายว่าความเชื่อซึ่งเป็นคำกลาง ๆ มิได้หมายถึงความดีหรือความชั่ว แต่คำว่าศรัทธาที่เป็นคำพระ (ภาษาธรรม) หมายถึงความเชื่อที่ดีมี ๔ ประการ คือ
“กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการ จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น
วิปากสัทธา เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว
กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก เป็นไปตามกรรมของตน
ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง ๙ ประการ ตรัสธรร ม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้”
ข้าพเจ้าแปลความหมายของ ศรัทธาประสาทะ ว่าความเชื่อที่ซาบซึ้ง แล้วสรุปง่าย ๆ ว่า งมงาย ซึ่งก็เป็นได้ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ไม่ตรงตามความหมายของศรัทธา ๔ ประการที่ยกมากล่าวข้างต้น ศรัทธาของชาวบ้านที่ไม่ใช่ชาวพุทธแท้เป็นศรัทธาประเภท “มงคลตื่นข่าว” คือเชื่อเรื่องที่ได้ยินได้ฟังโดยไม่มีเหตุผล เช่น เชื่อว่าควายออกลูกเป็นวัว หมูออกลูกเป็นหมา ต้นตะเคียนให้เลขหวยเบอร์ นั้นนี้ ศักดิ์สิทธิ์ให้โชคให้ลาภ เป็นต้น
เรื่องศรัทธาประสาทะแบบบ้าน ๆ ของชาวบ้านเป็นเรื่องแก้ไขยาก เพราะเขาเชื่ออย่างปักใจลงจนยากที่จะถอน อย่างความเชื่อในตัวพระภิกษุองค์ใดองค์หนึ่ง แม้พระองค์นั้นจะทำผิดพระวินัยอย่างร้ายแรงะถึงขั้นปาราชิก เขาก็ยังเชื่อมั่นว่าพระองค์นั้นเป็นพระดีไม่มีความผิด จึงปรากฏในสังคมชาวพุทธยุคปัจจุบันว่ามี “ภิกษุทุศีลมียศมีตำแหน่งอยู่ในหมู่สงฆ์ ”เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนไม่น้อย
ที่กล่าวแบบ “ขี่ม้าเลียบค่าย” มายืดยาวก็เพื่อจะเข้าเรื่องจริงที่ข้าพเจ้าสัมผัสด้วยตนเองสมัยเป็นพระภิกษุอยู่ในจังหวัดสุโขทัย ในฐานะเป็นพระนักเทศน์เผยแผ่ธรรมะ ข้าพเจ้าชอบเทศน์ธรรมะล้วน ๆ มากกว่าจะเทศน์แบบสมมุติเป็นตัวละครธรรมะ และ “คาบลูกคาบดอก” คือกล่าวธรรมะผสมการร้องแหล่เป็นทำนอง แต่คนฟังเทศน์ในภาคเหนือตอนล่างคือ สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร ส่วนมากเขาชอบฟังเทศน์แบบคาบลูกคาบดอก พระบางองค์เทศน์คาบลูกคาบดอกเหมือนนักแสดงตลกโปกฮา บางองค์ก็เทศน์สุภาพเรียบร้อยได้สาระดี
พระนักเทศน์แบบคาบลูกคาบดอกที่มีชื่อเสียงในจังหวัดสุโขทัยสมัยนั้น มีพระครูอุดมธรรมปฏิภาณ เจ้าคณะอำเภอสวรรคโลก องค์หนึ่ง พระอาจารย์สำราญ บ้านสวน เมืองสุโขทัยองค์หนึ่ง สำหรับพระครูอุดมธรรมปฏิภาณนั้นเป็นพระผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือมาก ท่านมีนามเดิมว่า สำเภา เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าทอง เจ้าคณะอำเภอสวรรคโลก ข้าพเจ้าเคยเทศน์คู่กับท่านหลายครั้ง ครึ่งหนึ่งไปเทศน์ที่วัดคลองแห้ง เมืองบางขลัง ต้องเดินลัดตัดท้องทุ่งไปกลับ คิดว่าท่านคงจะเดินไม่ไหว เพราะมีวัยถึงกลางคนแล้ว แต่ท่านกลับเดินได้เร็วกว่าข้าพเจ้ามากเลย ท่านเทศน์คาบลูกคบดอกเก่ง ร้องเสียงดี เมื่อข้าพเจ้าตอบคำถามอธิบายความหมายของข้อธรรมใด ท่านก็จะนำความไปใส่ทำนอง ร้องแหล่สั้น ๆ คนฟังพากันยกมือสาธุทุกครั้ง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าท่านเป็นนักร้องที่เชี่ยวชาญชำนาญมาก
พระนักเทศน์คาบลูกคาบดอกอีกองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงมากไม่น้อย คือพระอาจารย์สำราญ ท่านผู้นี้ไม่มียศตำแหน่ง เพราะท่านบวชแล้วสึกหลายครั้ง ความประพฤติไมค่อยดี แต่ก็มีคนเลื่อมใสศรัทธาไม่น้อย นัยว่าในปีที่ข้าพเจ้ามาอยู่วัดราชธานีนั้น ท่านบวชเป็นครั้งที่สามแล้ว หลังพรรษาปีนั้น (๒๕๐๙) พระอาจารย์สำราญต้องคดีฆ่าคนตาย เรื่องมีอยู่ว่า อดีตพระปลัดยก ชาวบ้านสวนถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงจนเสียชีวิต ตำรวจจับมือปืนได้ เขาซัดทอดว่ามีคนจ้างวานเป็นทอด ๆ มา ตัวการใหญ่ผู้จ้างวานคือ พระอาจารย์สำราญ สืบหาสาเหตุได้ว่า พระอาจารย์สำราญมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสีกาใกล้วัด อดีตพระปลัดยกรู้เห็นเข้าก็ว่ากล่าวตักเตือน อาจารย์สำราญโกรธจึงจ้างคนมายิงทิ้งเสีย พ.ต.ต.สุภรณ์ ผดุงชีวิตร ผู้กองเมืองสุโขทัยจึงจับกุมตัวมาดำเนินคดี
ข่าวการจับกุมตัวอาจารย์สำราญแพร่ไปอย่างรวดเร็ว คุณนายสมบุญ (บ้านใหญ่) ผู้เป็นญาติจึงให้คนไปนิมนต์ท่านเจ้าคุณ พระราชรัตนมุนี (แช่ม) วัดใหญ่พิษณุโลก ซึ่งมีตำแหน่งรองเจ้าคณะภาคมาเพื่อให้ความช่วยเหลือ หลวงอาแช่มรีบมาหาข้าพเจ้าที่กุฏิชวนขึ้นไปปรึกษากันที่ชั้นบน ขณะที่คิดหาทางช่วยเหลือกัน ยังหาทางออกไม่ได้นั้น ผู้กองสุภรณ์ก็นำตัวผู้ต้องหามา ข้าพเจ้าพาหลวงอาแช่มลงมานั่งในที่ประชุมห้องชั้นล่าง มีหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณและคนจากบ้านใหญ่นั่งอยู่ด้วยหลายคน พอผู้กองนำตัวผู้ต้องหามาถึง อาจารย์สำราญก็รีบเข้ากราบเท้าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณพร้อมกับร้องให้เสียงดัง กล่าวพรรณนาความดีของตน ที่สุดก็ขอร้องว่าขอให้นุ่งขาวห่มขาวเถิด อย่าเอาตัวผมเข้าคุกเลย หลวงอาแช่มเห็นเช่นนั้นก็หันมามองข้าพเจ้าพูดเบาๆว่า
“มันรับสารภาพตำรวจไปหมดแล้ว เราจะช่วยอะไรมันได้เล่า”
หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณก็บอกคุณเล็กให้หาผ้าขาวมา แล้วพูดกับอาจารย์สำราญว่า
“แกพ้นโทษออกมาแล้วข้าจะเอาไตรแพรมาแล้วบวชให้แกใหม่ก็แล้วกัน”
ผู้กองสุภรณ์นำตัวผู้ต้องหานุ่งขาวห่มขาวกลับไปดำเนินคดีต่อ หลวงอาแช่ม (พระราชรัตนมุนี) บอกว่า “เป็นกรรมของเขา”
หลังจากอาจารย์สำราญถูกจับสึกปรากฏว่ามีคนบ้านสวน ตาลเตี้ย บ้านหลุม ถูกยิงตายหลายคนโดยตำรวจยังจับมือปืนไม่ได้ ผู้กองสุภรณ์มาปรารภกับข้าพเจ้าว่า
“คนสุโขทัยนี่แปลกนะครับท่าน มีหญิงวัยกลางคนหลายคนไปขอเยี่ยมนายสำราญที่ห้องขังโรงพัก บางคนยกมือไหว้แล้วร้องไห้ บางคนก็กราบ ถามว่าไปกราบทำไม เขาเป็นผู้ต้องหาฆ่าคนตาย ไม่ใช่พระนะ คนพวกนั้นก็บอกว่า คนนี้เทศน์เสียงดีมากค่ะ คดีนี้เห็นจะยุ่งยากมาก พยานปากสำคัญ ๆ ถูกยิงตายไปหลายคนแล้ว เป็นการฆ่าปิดปากอย่างแน่นอน ถ้าคดีนี้ศาลยกฟ้อ ง ผมจะเลิกจับกุมคนร้ายไม่ทำคดีใดอีกต่อไป” คดีนี้จบลงด้วยศาลยกฟ้องเพราะหาพยานหลักฐานไม่ได้ ผู้กองสุภรณ์ขอย้ายไปรับราชการที่อื่น จากนั้นไม่ได้พบกับข้าพเจ้าอีกเลย ส่วนอาจารย์สำราญนั้นพ้นข้อกล่าวหาแล้วก็กลับมาบวชเป็นพระนักเทศน์คาบลูกคาบดอกต่อไป/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๐๙ - ในสมัยนั้นวิชาธรรมกายของหลวงพ่อสดวักปากน้ำ ภาษีเจริญ กำลังแผ่ขยายไปในท้องถิ่นต่างๆมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จังหวัดสุโขทัยมีผู้นำมาเผยแผ่ในเมืองสุโขทัย เป็นแม่ชีท่านหนึ่งชื่อ แม่ชีจันทร์ มาอย่างไรข้าพเจ้าไม่ทราบเรื่องเดิม ทนายบุญมี (สันต์ อัมพวะศิริ) ที่ปรึกษาคนหนึ่งของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ นำพาแม่ชีจันทร์พร้อมทนายมหากร่ะจ่าง เข้าพบหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ แนะนำให้รู้จักแม่ชีจันทร์ว่าเป็นศิษย์หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ มาเผยแผ่วิชาธรรมกาย และขออนุญาตใช้อุโบสถวัดราชธานีเป็นที่ฝีกอบรมวิชาธรรมกาย หลวงพ่อเจ้าคุณบอกว่าอุโบสถเป็นที่ฝึกอบรมสมถะ วิปัสสนา ของพระผู้เฒ่าในวัดราชธานี โดยมีพระอภินันท์เป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่ ต้องปรึกษาและขออนุญาตเขาก่อนนะ ทนายบุญมีจึงนิมนต์ข้าพเจ้าไปพบแม่ชีจันทร์ที่รออยู่ต่อหน้าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเพื่อปรึกษากัน
แม่ชีจันทร์วันนั้นอายุประมาณ ๕๐ เศษ ข้าพเจ้าเรียกเขาว่า “โยมพี่” แม่ชีบอกว่าสำเร็จวิชาธรรมการได้ดวงธรรมแล้ว ตั้งใจมาสอนชาวสุโขทัยให้บรรลุวิชาธรรมกายบ้าง ข้าพเจ้าซักถามเรื่องธรรมกายแล้วได้ความว่า ท่านใช้คำว่า “สัมมา อะระหัง” เป็นองค์ภาวนาในการทำสมาธิจนเกิดดวงธรรมเป็นดวงแก้วใสสะอาด และเห็นกายหยาบกายละเอียด แม่ชีอธิบายยืดยาว ข้าพเจ้าฟังแล้วเห็นว่าไม่ใช่ สมถะ-วิปัสสนากรรมฐาน ตามหลักปริยัติที่เล่าเรียนมา จึงบอกว่า “เป็นคนละแนวทางที่ฉันสอนพระของฉันนะโยมพี่ เห็นจะอนุญาตให้มาฝึกปฏิบัติที่วัดนี้ไม่ได้หรอก” ทนายบุญมีถามว่าถ้าอย่างนั้นจะได้สถานที่ใดฝึกอบรมได้เล่า จึงแนะนำว่า วัดพระพายหลวงเมืองเก่าเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุด ลองไปหาหลวงตาสายัณห์ขอใช้สถานที่นั้นเถิด
เรื่องราวของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำนี้ข้าพเจ้าเคยได้ทราบมาบ้าง พระอาจารย์กิตติวุฑโฒดูเหมือนจะเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของหลวงพ่อสด ตามประวัติหลวงพ่อมรณภาพปีพ.ศ. ๒๕๐๒ อันเป็นที่ข้าพเจ้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุพอดี พระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระกล่าวกันว่าหลวงพ่อสดท่าน “เพี้ยน” ไปแล้ว เพราะการพิจารณาให้เห็นกายในกายตามมหาสติปัฏฐานนั้น มิใช่เห็นดวงแก้วดวงธรรมอะไรเลย อย่างไรก็ดีหลวงพ่อสดก็เป็นพระที่มีคนเชื่อและเคารพนับถือมากทีเดียว ท่านมีประวัติที่พอกล่าวโดยย่อได้ดังต่อไปนี้
“พระมงคลเทพมุนี มีนามเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ฉศก จ.ศ. ๑๒๔๖ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่สองของนายเงินและนางสุดใจ มีแก้วน้อย มีพี่น้องร่วมมารดาบิดา ๕ คน อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๔๙ ณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ คู่สวดทั้งสองรูปอยู่วัดเดียวกัน คือ วัดสองพี่น้อง เริ่มปฏิบัติสมถะ-วิปัสสนากับพระอนุสาวนาจารย์ นับแต่วันบวช แล้วต่อกับพระอาจารย์เนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า ได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจึงเดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อศึกษาด้านคันถธุระต่อ ขณะที่ท่านเรียนทางด้านคันถธุระอยู่นั้น วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ท่านก็มักไปแสวงหาครูสอนฝ่ายปฏิบัติสมถะ-วิปัสสนาอยู่เสมอ ๆ โดยการศึกษากับพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในสำนักต่าง ๆ เช่น พระสังวรานุวงษ์ (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) พระครูฌานวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพน พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ จนได้ผลการปฏิบัติเป็นที่พอใจของพระอาจารย์ เมื่อได้ศึกษาภาวนาวีธีจนมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งจากพระอาจารย์ ทั้งจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ มีมูลกัจจายน์ ธรรมบททีปนี และสารสังคหะ เป็นต้น ท่านจึงแสวงหาที่หลีกเร้น มีความวิเวกเป็นสัปปายะต่อการปฏิบัติธรรม ในพรรษาที่ ๑๒ จึงได้กราบลาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ เพื่อไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
วันที่ได้ดวงธรรมนั้นท่านเล่าว่า “วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปนั่งสมาธิเจริญภาวนาในอุโบสถ ขณะนั้นเวลาประมาณ ๘ โมงเศษ ๆ ก็เริ่มทำความเพียร โดยตั้งใจว่าหากยังไม่ได้ยินเสียงกลองเพล จะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจดังนั้นแล้ว ก็หลับตาภาวนา "สัมมา อะระหัง" ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งความปวดเมื่อย และอาการเหน็บชาค่อย ๆ เพิ่มทีละน้อย ๆ และมากขึ้นจนมีความรู้สึกว่า กระดูกทุกชิ้นแทบจะระเบิดหลุดออกมาเป็นชิ้น ๆ เกือบจะหมดความอดทน ความกระวนกระวายใจก็ตามมาอย่างไม่เคยเป็นมาแต่ก่อน คิดว่าไม่เคยรู้สึกเช่นนี้เลย พอตั้งสัจจะลงไปว่า ถ้ากลองเพลไม่ดังจะไม่ลุกจากที่ เหตุใดมันจึงเพิ่มความกระวนกระวายใจมากมายอย่างนี้ ผิดกว่าครั้งก่อน ๆ ที่นั่งภาวนา เมื่อไรหนอ กลองเพลจึงจะดังสักที คิดไปจิตก็ยิ่งแกว่งและซัดส่ายมากขึ้น จนเกือบจะเลิกนั่งหลายครั้ง แต่เมื่อได้ตั้งสัจจะไปแล้วก็ต้องทนนั่งต่อไป ในที่สุดใจก็ค่อย ๆ สงบลงทีละน้อย แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ในใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก ความปวดเมื่อยหายไปไหนไม่ทราบ ในเวลาเดียวกันนั้นเสียงกลองเพลก็ดังขึ้น ตั้งแต่วันนั้นมาดวงธรรมขั้นต้นซึ่งเป็นดวงใสก็ยังเห็นติดอยู่ตรงศูนย์กลางกายตลอดเวลา วันหนึ่งหลังจากได้ร่วมลงฟังพระปาติโมกข์กับเพื่อนภิกษุ แล้วก็เข้าไปในพระอุโบสถตั้งสัตยาธิษฐานว่า "แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที ถ้านั่งลงไปแล้ว ไม่บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเห็น จะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต"
เมื่อตั้งความปรารถนาแล้ว ก็เริ่มนั่งขัดสมาธิเข้าที่ภาวนาได้ประมาณครึ่งหรือค่อนคืน เมื่อใจหยุดเป็นจุดเดียวกัน ก็มองเห็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ซึ่งยังติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายจากเมื่อเพล ยิ่งมองยิ่งใสสว่างมากขึ้น และขยายใหญ่ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ ดวงใสยังคงสว่างอยู่อย่างนั้น ท่านไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะทุกสำนักที่ท่านได้ศึกษามาไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน ขณะที่ใจหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น ก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาจากจุดกลางดวงนั้นว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" แต่ขณะที่เสียงนั้นดังแผ่วขึ้นมาในความรู้สึก ก็เห็นจุดเล็ก ๆ เรืองแสง สว่างวาบขึ้นมาจากกลางดวงนั้น เสมือนจุดศูนย์กลางของวงกลม ความสว่างของจุดนั้นสว่างกว่าดวงกลมรอบ ๆ จึงมองเรื่อยไป พลางคิดในใจว่า นี่กระมังทางสายกลาง จุดเล็กที่เราเพิ่งจะเห็นเดี๋ยวนี้อยู่กึ่งกลางพอดี ลองมองดูซิจะเกิดอะไรขึ้น จุดนั้นค่อย ๆ ขยายขึ้นและโตเท่ากับดวงเดิม ดวงเก่าหายไป มองไปเรื่อย ๆ ก็เห็นดวงใหม่ลอยขึ้นมาแทนที่ เหมือนน้ำพุที่พุ่งขึ้นมาแทนที่กันนั่นแหละ ต่างแต่ใสยิ่งขึ้นกว่าดวงเดิม ในที่สุดก็เห็นกายต่าง ๆ ผุดซ้อนกันขึ้นมาจนถึงธรรมกาย เป็นรูปพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าพระพุทธรูปบูชาองค์ใด เสียงพระธรรมกายกังวานขึ้นมาในความรู้สึกว่า "ถูกต้องแล้ว" เท่านั้นแหละ ความปีติสุขก็เกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน.....”
นี่คือที่มาของวิชาธรรมกายของหลวงพ่อสุด แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์สำคัญคนหนึ่งของหลวงพ่อสดได้วิชานี้แล้วสอนใคร ๆ ให้ได้ตามเป็นหลายคน เมื่อข้าพเจ้าปฏิเสธมิให้เปิดสอนในโบสถ์วัดราชธานี แม่ชีแสดงความไม่พอใจออกมาให้เห็นชัดเจน ทนายบุญมีกับทนายมหากระจ่างพาไปวัดพระพายหลวงตามคำแนะนำของข้าพเจ้า พระอาจารย์สายัณห์ที่ชอบวิชาธรรมกายอยู่แล้วจึงรับแม่ชีจันทร์ไว้ให้เปิดการสอนอบรมวิชาธรรมกายที่วัดพระพายหลวงทันที ผลเป็นอย่างไรบ้างข้าพเจ้ามิได้ติดตามดูแล เพราะไม่เห็นด้วยกับวิชานี้/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๑๐ - พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระพุทธศาสนา มีตำนานที่มาของการสร้างพระพุทธรูปว่า “เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปประทานเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ค้างอยู่ในดาวดึงส์สวรรค์พรรษาหนึ่งนั้น พระเจ้าปเสนชิต (ปเสนทิ) กรุงโกศลราฐ มิได้เห็นพระพุทธองค์ช้านาน มีความรำลึกถึง จึงตรัสสั่งให้นายช่างทำพระพุทธรูปขึ้นด้วยแก่นจันทน์แดง ประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ ครั้นพระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์มาถึงที่ประทับ พระแก่นจันทน์ลุกขึ้นทำปฏิสันถารพระพุทธองค์ด้วยปาฏิหาริย์ แต่พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้พระแก่นจันทน์กลับไปยังที่ประทับ เพื่อรักษาไว้เป็นตัวอย่างพระพุทธรูป ซึ่งสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่างสร้างพระพุทธรูปเมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว” ถ้าจริงตามตำนานนี้ พระแก่นจันทน์แดงก็เป็นพระพุทธรูปองแรกในโลก
ต่อมามีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นอีกหลายยุคหลายสมัยและหลายรูปแบบ เช่น
ศิลปะแบบคันธาระ สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชจากกรีกเข้ามาครอบครองอาณาจักรคันธาระในอินเดีย, ศิลปะแบบมถุรา เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. ๗๕๐ เมืองมถุราอยู่บริเวณที่ลุ่มน้ำยมนา ตอนเหนือของอินเดีย และเป็นเมืองขึ้นของแคว้นคันธาระ
ศิลปะแบบคุปตะ ยุคราชวงศ์คุปตะอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๘๐๐-๑๑๐๐ ถือเป็นยุคทองของศิลปะอินเดีย นิยมสร้างเป็นรูปสลักขนาดใหญ่ แสดงภาพเต็มตัว พระพักตร์มีลักษณะกลมอิ่ม สีพระพักตร์สงบค่อนข้างขรึม พระโอษฐ์อิ่ม พระนาสิกไม่โด่งเหมือนพระพุทธรูปที่สร้างสมัยแรก
ศิลปะแบบปาละ-เสนะ สร้างในยุคราชวงศ์ปาละและราชวงศ์เสนะ ประมาณ พ.ศ.๑๔๐๐-๑๘๐๐ ในสมัยนี้มีลักษณะอ้วนเตี้ย พระเศียรใหญ่ พระพักตร์อูม
ศิลปะแบบอานธระ-อมราวดี ราชวงศ์อานธระ (หรือศาตวาหนะ) เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. ๓๒๓
ศิลปะแบบปาลวะ ประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐ เนื่องจากกษัตริย์ปาลวะมีอำนาจอยู่ในอินเดียตอนใต้ แผ่อำนาจทางทะเลไปถึงศรีลังกา เลยไปถึงชวาและสุวรรณภูมิ ในประเทศไทยจะปรากฏพระพุทธรูปศิลปะแบบปาลวะอยู่ทั่วไป เช่น ทางภาคใต้ที่ตะกั่วป่า ไชยา นครศรีธรรมราช ภาคกลางที่นครปฐม อยุธยา ในประเทศใกล้เคียงก็ปรากฏศิลปะแบบปาลวะ เช่น กัมพูชาและเวียดนามใต้
ศิลปะแบบโจฬะ ประมาณ พ.ศ. ๑๕๐๐-๒๐๐๐ กษัตริย์แห่งแคว้นโจฬะทรงให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนามาก ทำให้เกิดศิลปะแบบโจฬะ เนื่องจากแคว้นโจฬะอยู่ใกล้เกาะลังกา (อยู่บริเวณใกล้เมืองมัทราสในปัจจุบัน) ทำให้ศิลปะนี้มีอิทธิพลต่อศิลปะในศรีลังกา พระพุทธรูปองค์แรกของไทยเห็นจะเป็น พระพุทธรูปสลักบนผนังถ้ำที่เรียกว่าถ้ำฤๅษี เป็นรูปแบบประทับห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวาอยู่ในปางแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายวางในพระเพลา เป็นต้นแบบพระพุทธรูปในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ และอีกหลายองค์ ซึ่งเรียกกันว่าศิลปะทวาราวดี พระองค์นี้นักประวัติศาสตร์ไทยมิได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร นอกจากพระพุทธรูปองค์นี้แล้วก็เกิดพระพุทธรูปในเมืองไทยอีกหลายยุคสมัย เช่นสุวรรณภูมิ อู่ทอง เชียงแสน สุโขทัย อยุธยา เป็นต้น ว่ากันว่าพระพุทธรูปที่สร้างในเมืองไทย พุทธศิลป์แบบสุโขทัยงดงามที่สุด มีพระพุทธชินราชเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี
หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบอกเล่าให้ฟังว่า เมืองเก่าสุโขทัยตอนที่ท่านมาอยู่สุโขทัยใหม่ ๆ นั้นเป็นป่าเป็นดง มีบ้านเรือนไม่มากนัก ตามวัดต่าง ๆ เหลือแต่ซากโบสถ์ วิหาร เจดีย์ พระพุทธรูป (ปูนปั้น) ปรักหักพังด้วยความเก่าตามธรรมชาติบ้าง ถูกเจาะ ขุด ทำลาย หาทรัพย์สมบัติบ้าง ท่านเห็นแล้วสลดใจ จึงซ่อมแซมตามกำลังความสามารถที่จะทำได้ ต่อมาได้พระหนุ่มศิษย์ท่านองค์หนึ่งมีฝีมือในทางช่างปูนปั้น จึงแต่งตั้งเป็นฐานนานุกรมของท่าน (เจ้าคณะอำเภอเมือง) ที่ พระปลัด ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดตระพัง ซึ่งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่เพียงวัดเดียว (สมัยนั้น) พระปลัดบุญธรรมเป็นกำลังสำคัญในการซ่อมแซมพระพุทธรูปเนื้อปูนปั้น ต่อเศียร ต่อแขน ต่อขา องค์ใดหาเศียรไม่พบก็ปั้นเศียรใหม่มีลักษณะศิลปะสุโขทัยให้มากที่สุด พระปลัดบุญธรรมใช้พระพุทธรูปเก่า ๆ ของสุโขทัยเป็นแบบบูรณะซ่อมแซมองค์ที่ชำรุดให้สมบูรณ์จนดูเหมือนของเดิม
เมื่อทางการเข้ามาควบคุมดูแลโบราณสถานเมืองเก่าสุโขทัย พระปลัดบุญธรรมลาสิกขามีครอบครัวแล้ว ยึดอาชีพรับจ้างปั้นพระพุทธรูปให้วัดและชาวบ้านทั่วไป มีร้านค้าอยู่ใกล้ประตูเข้าวัดราชธานีด้านทิศใต้ ข้าพเจ้าได้รู้จักและทำความคุ้นเคยกับท่าน ซึ่งคนทั่วไปเรียกท่านว่าปลัดบุญธรรม ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาบูรณะเมืองเก่าสุโขทัย ได้ว่าจ้างท่านให้ทำการซ่อมแซมพระพุทธรูปทั้งหมดในและนอกกำแพงเมืองสุโขทัย โดยเฉพาะหลวงพ่ออจนะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในมณฑปวัดศรีชุม
พระอจนะวัดศรีชุมองค์เดิมชำรุดเสียหายมาก มีประวัติการซ่อมแซมบูรณะของกรมศิลปากรว่า “เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๙๖-๒๔๙๙ หรือตรงกับสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม อันเป็นระยะเวลาของการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย ได้มีการบูรณะวัดศรีชุมเป็นการใหญ่ มีการซ่อมแซมพระพระพุทธรูป (พระอจนะ) โดย อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ เป็นผู้เขียนแบบ ตามแบบอย่างพระพุทธรูปสำริดศิลปะสุโขทัย และได้ว่าจ้าง นายบุญธรรม พูลสวัสดิ์ เป็นช่างฝีมืองานบูรณะ” ข้าพเจ้าถามโยมปลัดบุญธรรมว่าองค์เดิมมีรูปลัษณะอย่างไร ท่านบอกว่าองค์เดิมพระพักตร์ชำรุดจนดูไม่ออกว่าเป็นแบบใด สังฆาฏิเห็นเลา ๆ ว่าสั้นแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง แต่ไม่ใช่ น่าจะเป็นแบบสุวรรณภูมิมากกว่า อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ผู้ออกแบบ วาดภาพเป็นเขียงแสน กับสุโขทัยยุคกลาง คณะกรรมการเลือกเอาแบบสุโขทัยดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เราเป็นช่างปั้นรับจ้างก็ต้องปั้นตามใจผู้ว่าจ้าง/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๑๑ - พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยยุคต้นที่งดงามซึ่งถือว่าเป็นแบบครูนั้น พบในกรุวัดตระกวน มีคำอธิบายของกรมศิลปากรว่า
“วัดตระกวนมีการค้นพบพระพุทธรูปสุโขทัยแบบหนึ่งที่ลักษณะทางศิลปกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะเชียงแสนกับศิลปะสุโขทัย เรียกว่า พระพุทธรูปแบบหมวดวัดตระกวน หรือหมวดเบ็ดเตล็ด ลักษณะโดยทั่วไปของพระพุทธรูปหมวดนี้คือ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร มีลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์ หนึ่งในศิลปะล้านนา อันได้รับอิทธิพลมาจากวิวัฒนาการของพระพุทธรูปปาละ ผ่านมาทางพุกามของพม่า และเข้ามาในศิลปะหริภุญชัยและล้านนา ลักษณะที่สำคัญคือขัดสมาธิเพชร เห็นฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองข้าง พระพักตร์กลมอมยิ้ม ขมวดพระเกศาใหญ่ รัศมีเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วน ชายสังฆาฏิสั้นอยู่เหนือพระถัน อายุของพระพุทธรูปหมวดวัดตระกวนมีผู้สันนิษฐานไว้ว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกของศิลปะสุโขทัย เนื่องจากมีอิทธิพลจากศิลปะเชียงแสนรุ่นแรก”
ส่วนพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่ถือว่างดงามที่สุดคือยุคกลางสุโขทัย เรียกกันว่า “สุโขทัยบริสุทธิ์” เป็นยุคสมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชา (ลิไท) ปางประทับนั่งสมาธิราบงามที่สุดคือพระพุทธชินราช, พระพุทธชินสีห์, พระพุทธศาสดา ปางประทับยืนคือพระพุทธลีลา (องค์ที่อยู่วัดเบญจมบพิตร) งดงามอย่างไรเห็นจะไม่ต้องพรรณนา เพราะงดงามเกินถ้อยคำพรรณนา
ช่างประติมากรรมพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยฝีมือดีออกจะหายากอยู่สักหน่อย แม้ในกรมศิลปากรสมัยนั้นก็ดูเหมือนไม่มี ดังนั้นทางกรมศิลปากรจึงว่าจ้าง บุญธรรม พูลสวัสดิ์ ช่างชาวบ้านทำการบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปในเมืองเก่าสุโขทัย รวมทั้งองค์พระอจนะวัดศรีชุมด้วย โยมปลัดบุญธรรมบอกว่าในการซ่อมพระในเมืองเก่านั้นมีผู้ช่วย (ลูกมือ) หลายคน แต่ที่มีฝีมืออยู่ในขั้นใช้ได้คือนายโหน่งกับนายสด ทั้งสองคนนี้ต่อมาก็รับจ้างปั้นพระพุทธรูปทั่วไป
ทนายสันต์ อัมพวะศิริ (บุญมี) เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า พระพุทธประทานพรกลางวัดราชธานีนี้เป็นฝีมือการปั้นของปลัดบุญธรรม พูลสวัสดิ์ ที่ตรงนั้นเดิมเป็นสระน้ำขนาดเล็กมีพระพุทธรูปปางป่าลิไลยก์อยู่กลางสระ หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณให้ถมสระนั้นแล้วสร้างพระพุทธประทานพรหุ้มองค์พระปาลิไลยก์ ปลัดบุญธรรมเป็นนายปติมากรรมปั้นพระพุทธประทานพรโดยไม่มีแบบให้ดู ขณะปั้นหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณกับทนายสันต์เฝ้าดูและคอยติโน่นตินี่ (ช่างติ) อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะตรงพระโอษฐ์พระนั่นแหละ ต้องทุบปั้น ๆ เป็นหลายครั้ง ปั้นเสร็จแล้วเราดูก็เห็นเป็นเหมือนปากคุณประทินภรรยาปลัดบุญธรรม แปลกจังเลย เราติให้แก้กันจนอ่อนใจก็เลยปล่อยไปอย่างที่เห็น อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วพระพุทธประทานพรองค์นี้ก็ดูงดงามกว่าองค์ที่มีอยู่ทั่วไป
วัดราชธานีนอกจากมีพระพุทธประทานพรที่งดงามเป็นสง่าแก่วัดแล้ว ยังมีพระพุทธรูปเก่าในอุโบสถอีกหลายองค์ หลวงพ่อโตองค์ใหญ่เนื้อสัมฤทธิ์ในวิหารก็งามมาก พระพุทธเนื้อสัมฤทธิ์ในสุโขทัยสมัยนั้นไม่มีองค์ใดใหญ่กว่าหลวงพ่อในวิหารวัดราชธานี ส่วนพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองสุโขทัยคือ หลวงพ่อเป่า หรือหลวงพ่อเป๋า (เรียกตามสำเนียงคนสุโขทัย) พระพุทธรูปองค์นี้หลวงพ่อเจ้าคุณเคารพนับถือมาก เป็นพระปางมารวิวัยขัดสมาธิราบ ศิลปะสุโขทัย มีลักษณะผิดจากพระพุทธรูปทั่วไปคือ พระโอษฐ์ (ปาก) จู๋ มีรูลึกเข้าไปภายใน เป็นลักษณะเป่าปาก ว่ากันว่ามีคนบนบานขออย่างใดอย่างหนึ่งแล้วสำเร็จตามที่ขอ จึงนำบุหรี่มาแก้บน บางคนจุดบุหรี่แล้วเอาทางก้นมวนบุหรี่ใส่ในรูปากนั้น แล้วมีคนทำตามกันเรื่อย ๆ มา จนเชื่อกันว่าหลวงพ่อเป่าชอบสูบบุหรี่ ศิษย์ฆราวาสหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณที่มอบหมายให้ดูแลวิหารหลวงพ่อเป่าเป็นคนติดกัญชา-บุหรี่ ไม่ต้องซื้อบุหรี่สูบเพราะมีคนนำมาแก้บนทุกวัน บางวันก็มีหลายซอง เขาเอามาถวายข้าพเจ้าก็หลายครั้ง
ถามหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณถึงความเป็นมาของหลวงพ่อเป่า ท่านบอกว่าพระองค์นี้ได้มาจากวัดสวะ ตำบลเมืองบางยม สวรรคโลก ท่านเลาให้ฟังว่าตอนนั้นวัดสวะเป็นวัดร้าง ไม่มีพระสงฆ์ โบสถ์วิหารปรักหักพัง เวลานั้นท่านกำลังเที่ยวไปเก็บโบราณวัตถุตามสถานที่ต่าง ๆ มารวบรวมไว้ที่วัดราชธานี ทราบว่ามีพระพุทธรูปถูกทอดทิ้งอยู่ที่วัดสวะ (ปัจจุบันคือบ้านสวะหมู่ ๓ ต.เมืองบางยม) จึงไปดู พบพระพุทธรูป (หลวงพ่อเป่า) หลงเหลืออยู่สองสามองค์ ทราบว่าองค์งาม ๆ ท่านเจ้าสังวรกิจโกศล วัดหนองโว้งเอาไปไว้ที่วัดท่าน เหลืออยู่แต่องค์ไม่งาม จึงลำเลียงมาไว้วัดราชธานี พระพุทธรูปวัดสวะที่เจ้าคุณสังวรเอาไปก็น่าจะได้แก่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดหนองโว้ง คือหลวงพ่อสองพี่น้องกระมัง ส่วนที่เอามาไว้วัดราชธานี ก็คือหลวงพ่อเป่าพระศักดิ์สิทธิ์นี้เอง
เจ้าคุณพระสังวังกิจโกศล วัดหนองโว้ง ต.เมืองบางยม ท่านมีนามเดิมว่า ทองคำ แจ้งการ เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู จ.ศ. ๑๒๑๕ ตรงกับวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ณ บ้านหนองป่าตอ ตำบลท่าทอง (อำเภอวังไม้ขอน จังหวัดสวรรคโลก ในอดีต) อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย อายุประมาณ ๑๘ ปีเข้ากรุงเทพฯบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่วัดปทุมคงคาราม กลับมาอุปสมบทที่วัดเกาะ อ.ศรีสำโรง สุโขทัย ได้รับฉายาว่า ยสสุวณฺโณ เรียนจบนักธรรมชั้นเอกแล้วไม่ศึกษาต่อ จึงกลับมาอยู่วัดหนองโว้ง พระทองคำ ยสสุวณฺโณ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโว้ง ต่อมาได้รับสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูอรรถกิจโกศล และเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ พระสังวรกิจโกศล ผลงานสาธารณะประโยชน์ของท่านคือ เป็นประธานจัดสร้างโรงพยาบาลศรีสังวร, เป็นประธานจัดสร้างวัดศรีสังวร, เป็นผู้อุปถัมภ์จัดสร้างอาคารผู้ป่วยโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก, เป็นผู้อุปถัมภ์จัดสร้างอาคารผู้ป่วยโรงพยาบาลสุโขทัย, อุปถัมภ์สร้างโรงเรียนวัดหนองโว้ง (อรรถกิจวิทยาคาร) ว่ากันว่าท่านเทศน์มหาชาติกัณฑ์กุมาร มัทรี ไพเราะนัก เสียดายที่ข้าพเจ้าขึ้นมาอยู่จังหวัดสุโขทัยไม่ทันพบเห็น เพราะท่านมรณภาพไปก่อนแล้ว/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๑๒ - พระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๗ จังหวัดพิษณุโลก เริ่มเคลื่อนไหวด้วยการจัดทำโครงการ “ปริวาสกรรม” ข้าพเจ้าจากสุโขทัย พระมหาบุญช่วยจากวัดท้ายตลาด อุตรดิตถ์ เดินทางเข้าร่วมปรึกษาหารือกันที่วัดท่ามะปรางค์ เมืองพิษณุโลก อันเป็นที่ตั้งของหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๗ หลวงพี่พระธรรมธรสำลี วัดท่ามะปรางเป็นหัวหน้าหน่วยนี้ ผลการปรึกษาหารือเป็นที่ตกลงกันว่า จะปริวาสกรรมกัน ๑๕ วัน ใช้ป่าไผ่หลังวัดจันทร์ตะวันตกเป็นสถานที่ให้พระภิกษุอยู่กรรม พระสมุห์ประจวบ เจ้าอาวาสวัดจันทร์ตะวันออก (อยู่ฝั่งแม่น้ำน่านด้านตะวันออกตรงกันข้ามกับวัดจันทร์ตะวันตก) เป็นผู้รับผิดชอบด้านสถานที่ พระธรรมธรสำลี กับพระดำรง วัดท่ามะปรางรับผิดชอบด้านเสบียงอาหารเลี้ยงดูพระภิกษุที่อยู่กรรม ข้าพเจ้ากับพระมหาบุญช่วยรับผิดชอบด้านวิชาการ สวดมานัตต์ อัพภาน ฝึกอบรมด้านสมถะ-วิปัสสนา ให้ประกาศไปทั่วจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร กำแพงเพชร ตาก รับพระภิกษุที่ประสงค์จะเข้าอยู่ปริวาสกรรมตามโครงการ
เมื่อถึงวันเปิดโครงการอยู่ปริวาสกรรม ปรากฎว่ามีพระภิกษุแจ้งความจำนงขอเข้าอยู่ปริวาสกรรม ๗๒ รูป บางองค์มีกลดมา บางองค์ไม่มีกลดแต่มีมุ้งมา พระสมุห์ประจวบผู้รับผิดชอบด้านสถานที่ก็จัดให้ ปักกลด ทำซุ้ม พักแรมด้วยความเรียบร้อย ป่าด้านตะวันตกวัดนั้นมีไม้ใหญ่ให้ร่มเงาอย่างดีอยู่หลายต้น ใต้ร่มไม้เป็นลานกว้างเหมาะสำหรับเป็นที่ประชุมฟังคำบรรยายและเป็นที่นั่งปฏิบัติสมถะ-วิปัสสนา ถัดจากลานร่มไม้ใหญ่ไปเป็นป่าไผ่ ป่าช้าเก่าของวัด พิธีเปิดการอยู่ปริวาสกรรมของเรา ไม่มีพระผู้ใหญ่มาเป็นประธานเปิด เพราะแต่ละองค์ท่านไม่ว่างจากภาระ มีแต่พระครูเจ้าคณะอำเภอเมืองแม้ไม่ติดภาระใด แต่ท่านก็ไม่ยอมมา เพราะไม่เห็นด้วยกับการอยู่ปริวาสกรรม
ดังนั้นจึงนิมนต์ท่านจ้าอาวาสวัดจันทร์ตะวันตก (ซึ่งเป็นคนเงียบหงิม) ในฐานะเจ้าของสถานที่กล่าวต้อนรับพระภิกษุที่มาอยู่ปริวาสกรรม ข้าพเจ้ากล่าวปฐมนิเทศชี้แจงความเป็นมาของการอยู่ปริวาสกรรม และวัตถุประสงค์ของการจัด แจ้งให้ทราบวิธีปฏิบัติหลังจากพระภิกษุทุกองค์ขอมานัตต์แล้ว ภาคกลางวันหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว ประชุมฟังคำบรรยายเรื่องสมถะ-วิปัสสนาและธรรมะอื่น ๆ ทั้งเช้าและบ่าย ตอนพลบค่ำเข้าประชุมทำวัตรสวดมนต์ในโรงอุโบสถ หลังการทำวัดค่ำ เจริญสมถะ-วิปัสสนา ที่กลดหรือซุ้มของตนก็ได้ ที่ลานธรรมในร่มไม้ก็ได้ โดยจะมีอาจารย์องค์หนึ่งเป็นผู้นำในการปฏิบัติ ก่อนรุ่งอรุณตื่นแล้วลุกขึ้นเดินจงกรมโดยมีอาจารย์เป็นผู้นำ แล้วเข้าโรงอุโบสถทำวัตรเช้า กติกานี้ให้ถือเป็นกิจวัตรประจำวัน
วัดจันทร์ตะวันตก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่บริเวณสะพานสุพรรณกัลยา อยู่ตรงข้ามกับวัดจันทร์ตะวันออก มีประวัติว่า “วัดจันทร์ตะวันตกตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เดิมเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านที่เป็นป่าดง ในอดีตมี "วัดรังเงิน" ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาก คงสร้างมาพร้อมการสร้างเมืองพิษณุโลก ต่อมาชาวลาวจากเวียงจันทน์ได้อพยพมาอาศัย จนเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้เผาผลาญบ้านเรือนของผู้อุปถัมภ์วัดที่อยู่รอบ ๆ วัดก็ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถดับไฟได้เพราะในหมู่บ้านมีแต่บ่อน้ำที่ขุดใช้เอง ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอที่สู้ภัยจากไฟได้ อีกทั้งหมู่บ้านอยู่ห่างไกลจากแม่น้ำน่าน ชาวบ้านจึงเห็นสมควรว่าหาที่ตั้งวัดใหม่ที่อยู่ติดแม่น้ำ นายเทศ นางทองคำ มีจิตศรัทธาได้มอบที่ดินของตนให้กับวัดจำนวน ๑๖ ไร่ ๓ งาน เหตุผลที่ตั้งชื่อว่าวัดจันทร์เพราะมีตันจันทน์ใหญ่อยู่ ๑ ต้น แ ละต้นจันทน์เล็ก ๆ อีกหลายต้นขึ้นอยู่ในวัด วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐”
ปี ๒๕๑๐ ที่ข้าพเจ้าไปจัดปริวาสกรรมนั้น มีกุฏิสงฆ์ไม่เกิน ๕ หลัง ศาลาการเปรียญเก่าหลังไม่ใหญ่โตนัก อุโบสถกลางเก่ากลางใหม่ ไม่มีกำแพงล้อมวัด มีถนนสายเล็ก ๆ เลียบริมแม่น้ำน่านจากสะพานนเรศวรล่องลงมา สะพานข้ามแม่น้ำไม่มี ต้องใช้เรือในการข้ามฝั่งแม่น้ำน่าน ข้าพเจ้าเดินมาข้ามเรือตรงโรงสี ญาติโยมในเมืองและที่ต่าง ๆ เดินทางมาถวายอาหารพระอยู่กรรม ก็ต้องใช้เรือข้ามแม่น้ำน่านเช่นกัน ซึ่งก็ไม่ลำบากนัก
เย็นวันหนึ่งหลังจากพระทำวัดสวดมนต์แล้ว ข้าพเจ้าออกมานั่งลานหญ้าหน้าโบสถ์ มีญาติโยมมานั่งล้อมวงสนทนากันหลายคน ข้าพเจ้าปรารภว่าพระพุทธรูปประธานในโบสถ์ไม่งามเท่าที่ควร พระพักตร์แบน ตาโตหูกาง เวลากราบแล้วเงยหน้ามองท่านรู้เสียวหลังวาบทุกครั้งที่กราบ โยมสายทองสมุห์บัญชีโรงเหล้าที่อยู่เหนือวัดจันทร์ตะวันตกบอกว่า
“ผมก็มีความรู้สึกเหมือนอาจารย์นั่นแหละ คิดจะสร้างใหม่ แต่หาช่างยาก อาจารย์หาช่างอย่างคนที่ปั้นพระพุทธรูปในเมืองเก่าได้ไหม ถ้าได้ผมยินดีออกเงินค่าจ้างให้เอง“
ข้าพเจ้าก็รับปากว่าได้ เพราะคนที่ปั้นพระอัจนะวัดศรีชุมคือโยมปลัดบุญธรรมยังอยู่ดี เล่าเรื่องโยมปลัดบุญธรรมให้เขาฟัง เขาดีใจมากบอกให้รีบไปพามาเลย จึงกลับสุโขทัยแล้วติดต่อพาตัวโยมปลัดบุญธรรมไปวัดจันทร์ตะวันตก ให้เขาเจรจาตกลงว่าจ้างกันเอง ตกลงว่าจ้างกันในราคา ๕๐,๐๐๐ บาท โดยทุบบางส่วนขององค์พระ ตั้งศูนย์ใหม่ ปั้นพระพักตร์ พระพาหาใหม่ โยมปลัดบุญธรรมบอกว่า องค์เดิมเป็นฝีมือปั้นของช่างลาวล้านช้าง
เวลาล่วงเลยมานานแล้ว วัดจันทร์ตะวันตกมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ทราบเหมือนกันว่าพระพุทธรูปประธานในโบสถ์ที่โยมปลัดบุญธรรมปั้นใหม่จะยังคงอยู่หรือไม่ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๑๔ - ข้าพเจ้ากลายเป็นพระนักเทศน์ นักปาฐกถา นักสอน ที่มีชื่อเสียงในท้องที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิจิตร ด้วยการพูดถึงของพระที่เข้าอยู่ปริวาสกรรมส่วนหนึ่ง และในแวดวงสถานศึกษาส่วนหนึ่ง กับนักฟังธรรมอีกส่วนหนึ่ง กิจนิมนต์แสดงธรรมจึงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เฉพาะการสอนเด็กนักเรียนนั้น ที่โรงเรียนวัดคูหาสุวรรณยกเลิกไป เพราะให้เด็กมาเรียนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แล้ว ปีนั้นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี (นางสาวจำรูญรัตน์ ชมภูมิ่ง) มานิมนต์ให้ไปเปิดอบรมศีลธรรมนักเรียนที่โรงเรียนนี้ โดยขอให้ไปสอนสัปดาห์ละครั้ง ทางโรงเรียนมีโครงการตั้งสมาคมยุวพุทธขึ้นเป็นแบบถาวร ข้าพเจ้ารับไปตามคำนิมนต์นั้นโดยไม่ลังเล
อาจารย์ใหญ่ (สมัยนั้นยังไม่เรียกผู้อำนวยการ) เป็นอาจารย์หญิงสาวโสดนิสัยดี กิริยามรรยาทเรียบร้อย เพราะเป็นธิดาที่เกิดในตระกูลผู้ดี โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณีเป็นระดับมัธยมศึกษา เดิมน่าจะมีเด็กหญิงเรียนกันล้วน ๆ เหมือนโรงเรียนอุอมดรุณีของสุโขทัย วันแรกที่เปิดอบรมวิชาพุทธศาสนามีปัญหาด้านการใช้เครื่องขยายเสียง จนถึงเวลาพูดแล้วช่างเสียงก็ยังแก้ไขไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าจึงขอพูดโดยไม่มีเครื่องขยายเสียง ห้องประชุมของโรงเรียนวันนั้นมีเด็กนักเรียนนั่งกันเต็ม ดูจะไม่น้อยกว่าห้าร้อยคน ข้าพเจ้าเคยเทศน์ในศาลาวัดหลังใหญ่ ๆ โดยไม่มีเครื่องขยายเสียงมาไม่น้อยแล้ว การพูดในห้องประชุมวันนั้นจึงพูดตั้งแต่ต้นจนจบ เด็กฟังกันได้ยินเสียงพูดอย่างชัดเจน พวกเขาฟังกันอย่างไม่ง่วง เพราะข้าพเจ้าแทรกมุกตลกในบทพูดบ้าง เล่านิทานตลกบ้าง จบรายการแล้ว อาจารย์จำรูญรัตน์ ชมพูมิ่ง กล่าวชื่นชมว่า
“ท่านอาจารย์พูดได้ดี เสียงดังฟังขัดมาก ทำไมอาจารย์เสียงดังจังเลย สัปดาห์หน้าเครื่องเสียงคงไม่เสียอีกแล้วค่ะ”
เมื่อลากลับ ท่าน อจญ.ให้อาจารย์ชายของโรงเรียนพาส่งขึ้นรถเมล์ประจำทางกลับสุโขทัย โดยเอาปัจจัยใส่ย่ามให้เป็นค่ารถด้วย
ครั้งต่อ ๆ มาเครื่องเสียงไม่มีปัญหา ข้าพเจ้าขอให้ทางโรงเรียนจัดไมค์มีขาตั้งไว้กลางห้องประชุม เพื่อให้นักเรียนถามข้อสงสัยในเรื่องที่ข้าพเจ้าพูดด้วย ตอนท้ายของการแสดงปาฐกถา เปิดโอกาสให้นักเรียนถามว่า
“ใครสงสัยอะไรในเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ถามได้เลยนะ”
เมื่อเด็กเงียบไม่มีใครถาม ก็บอกว่า “ถามเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำบรรยายวันนี้ก็ได้เอ้า”
เมื่อนักเรียนยังเงียบอยู่ก็กล่าวย้ำอีก “หนู ๆ ไม่กล้าพูดก็ผิดหลักการของนักปราชญ์นะ หลักนักปราชญ์มีอยู่ว่าคนจะฉลาดต้อง “ฟังคนอื่นพูด ฟังแล้วก็ต้องคิดหาเหตุผลว่าเขาพูดจริงหรือเท็จ คิดแล้วก็ต้องถามข้อที่สงสัย ถามแล้วก็ต้องจดจำเอาไว้ ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องอาย ถามผิดก็ไม่มีโทษเสียหายอะไร ถือเสียว่าเรามาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดความเห็นกันนะ”
คะยั้นคะยอหนัก ๆ เข้าก็มีคนกล้าพูดกล้าถามมากขึ้นเรื่อย ๆ การอบรมศีลธรรมนักเรียนของข้าพเจ้าก็เริ่มมีสีสันสนุกขึ้น เด็ก ๆ คิดหาเรื่องมาถามเกี่ยวกับเรื่องศาสนาหลากหลายเรื่อง
ระยะใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว ข้าพเจ้าขอให้พระมหาบุญช่วยหัวหน้าหน่วยพัฒนาการทางจิตที่ ๑๙ วัดท้ายตลาด เมืองอุตรดิตถ์ มาร่วมรายการด้วย ให้เขาตอบปัญหาธรรมของเด็ก ๆ ที่บางคนฉลาดถามมาก สัปดาห์สุดท้ายก่อนเข้าพรรษาข้าพเจ้ากล่าวอำลาท่านผู้อำนวยการโรงเรียน และเด็กนักเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี ขอมอบให้พระมหาบุญช่วยรับงานแทนข้าพเจ้าต่อไป ดูท่าว่าพระมหาบุญช่วยกับนางสาวจำรูญรัตน์ อาจารย์ใหญ่ และเด็ก ๆ จะไปกันได้ด้วยดี ไม่น่าเป็นห่วง
ออกพรรษาแล้วนัดพระหน่วยพัฒนาการทางจิตในกลุ่มของข้าพเจ้าพบปะวางแผนงานจัดปริวาสกรรมครั้งต่อไป พบพระมหาบุญช่วยก็ถามเขาว่า งานตั้งยุวพุทธโรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี ดำเนินไปถึงไหนแล้ว ท่านบอกว่า “เลิกล้มไปแล้ว“ สาเหตุเพราะวันหนึ่งมีงานสำคัญของทางราชการ รับนิมนต์จากผู้ว่าฯ ไปร่วมทำพิธีสงฆ์ด้วย ขณะเดินผ่านข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลายที่นั่งอยู่เป็นแถว เห็นอาจารย์จำรูญรัตน์นั่งอยู่ในกลุ่มนั้น ก็กล่าวทักทายท่านว่า “อ้อ อาจารย์ก็มาด้วยเหมือนกันรึ” เท่านั้นแหละ อาจารย์เขาโกรธ หาว่าเราไม่มีมรรยาท อันที่จริงพระมหาบุญช่วยท่านเป็นคนภาคอีสาน มีนิสัยใจคอเรียบง่ายชอบเป็นกันเอง คำทักทายของท่านก็ซื่อ ๆ ตามแบบคนอีสาน แต่อาจารย์ใหญ่โรงเรียนท่านไม่คุ้นกับมรรยาทแบบอีสาน คำทักที่ว่า “อาจารย์ก็มาด้วยเหมือนกันรึ ” ฟังแล้วชวนให้คิดว่า “งานอย่างนี้อาจารย์ก็สะเออะมากะเขาด้วยหรือ” อะไรทำนองนั้น
การทักทายในงานพิธีสำคัญ ๆ เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย มักจะทักทายกับคนที่รู้จักคุ้นเคยและไม่คุ้นเคย ทำกันแต่เพียงเห็นหน้าแล้วยิ้มให้กันบ้าง พยักหน้าให้กันบ้าง ค้อมหัวให้กันเชิงคำนับบ้าง ยกมือไหว้เฉย ๆ บ้าง เท่านั้นก็พอ แต่พระมหาบุญช่วยท่านไม่รู้กาลเทศะ จึงกล่าวคำทักออกไปอย่างนั้น อาจารย์จำรูญรัตน์ท่านเห็นว่าพระมหาบุญช่วยไม่มีมรรยาท เป็นอันว่าโครงการดี ๆ ของท่านผู้อำนวยการโรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี ต้องล้มเลิกไปเพียงเพราะคำทักทายอันไร้มรรยาทของพระมหาบุญช่วยนี่เอง ข้าพเจ้าก็ไม่กล้าแบกหน้าไปพบเพื่อปรับความเข้าใจกับท่าน และก็ไม่ได้พบกับท่านในสถานที่ใดอีกเลย เป็นเรื่องน่าเสียดายจริง ๆ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๓)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๑๕ - ในวัดราชธานีมีพระพุทธรูปเก่า ๆ ศิลปะสมัยสุโขทัยเนื้อทองสำริดหลายขนาดหลายองค์ที่มิได้นำไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหงเมืองเก่าสุโขทัย ยังคงอยู่ในอุโบสถและหน้าอุโบสถ องค์หนึ่งที่หน้าอุโบสถนั้นว่ากันว่าเป็นพระกินคน จึงไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ ข้าพเจ้าถามหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณว่า พระพุทธรูปองค์ที่มีชาดทาปากแดงนั้นกินคนจริงหรือ ท่านหัวเราะก่อนตอบว่าเป็นเรื่องหลอกเด็กไม่ให้เข้าไปเล่นจนพระพุทธรูปเกิดการเสียหายน่ะ
พระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนี่งอยู่ในวิหารเก่าอายุรุ่นราวคราวเดียวกับอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อทองสำริด ศิลปะสุโขทัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒๐๙ ซม. สูง ๒๙๐ ซม. ชาวบ้านเรียกกันว่า "หลวงพ่องาม" เพราะมีพุทธลักษณะงดงามมาก นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่งของสุโขทัย ได้ถูกอันเชิญจากเมืองสุโขทัย เข้าประดิษฐาน ณ วัดราชธานีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ วิหารที่ประดิษฐานพระองค์นี้ปีที่ข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดราชธานีถูกปิดตาย ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๙ หลังจากที่กลับจากการอบรมเป็นพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตแล้ว ปรึกษากับพระครูสมุห์แถวเรื่องการจัดระเบียบศาสนสมบัติของวัด ได้เปิดวิหารดูเห็นพระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดใหญ่และงดงามมาก จึงขอให้หลวงพ่อเจ้าคุณอนุญาตเปิดวิหารทำความสะอาดองค์พระและภายในวิหาร ให้ประชาชนเข้าไปกราบไหว้บูชา กำหนดเปิด-ปิดวิหารตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๒๐.๐๐ น. ทุกวัน
ส่วนศาสนสมบัตินอกวัดนั้นคือ อาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นบริษัท, ห้าง, ร้าน ที่เอกชนเช่าทำฌธุรกิจการค้าอยู่รายรอบวัด การเก็บค่าเช่าไม่เป็นระเบียบ ไวยาวัจกรทำอะไรอย่างไรทางเจ้าอาวาสไม่ทราบ พระครูสมุห์แถวกับข้าพเจ้าจึง “ยึดอำนาจไวยาวัจกร” มาดำเนินการจัดเก็บผลประโยชน์ (ค่าเข่า) กันเอง เดิมทีนั้นไม่มีเงินในบัญชีวัด เราจึงเชื่อกันว่าไวยาวัชกรเก็บเงินเข้าบัญชีของตนมากกว่าเข้าวัด หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ “เสียรู้” ไวยาวัจกรด้วยความซื่อของท่าน หลังจากเราจัดการเก็บผลประโยชน์ก็มีเงินเข้าบัญชีวัดเป็นหมื่นเป็นแสน
สำหรับอุโบสถวัดราชธานีนั้น หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณกล่าวว่าสร้างมาแต่สมัยรัชกาบที่ ๕ ข้าพเจ้าถ่ายภาพไว้แต่ตัวโรงอุโบสถโดยมิได้เก็บรายละเอียดไว้ มีรายงานการบูรณะของกรมศิลปากรให้รายละเอียดว่า “อุโบสถเก่าก่ออิฐถือปูน ตัวอาคารมีมุขหน้า-หลัง มีประตูด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกด้านละ ๒ ประตู หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ประกอบด้วยชั้นลดสามชั้น ชั้นละสี่ตับ ส่วนชั้นหลังคาของมุขโถงหน้า-หลังนั้นมีเพียงสามตับล่าง โดยหน้าบันเป็นชุดของหลังคาชั้นถัดขึ้นไป ดังนั้น หน้าบันกับหลังคามุขหน้าหลังจึงเป็นหลังคาคนละชุด ภายในอุโบสถปูพื้นด้วยกระเบื้องเคลือบลวดลายพันธุ์พฤกษา มีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป ตัวอาคารล้อมรอบด้วยพนักระเบียงซึ่งมีพื้นปูนเป็นทางเดินรอบ พนักระเบียงมีบันไดทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ ๒ ช่อ ง โดยมีประติมากรรมสิงห์ปูนปั้นประดับที่เชิงบันไดทั้ง ๒ ข้าง ซุ้มเสมา หลักฐานจากภาพถ่ายเก่าพบว่า เป็นซุ้มเสมาทรงกูบตั้งอยู่ทั้ง ๘ ทิศ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่ สันนิษฐานว่า อาคารหลังนี้น่าจะก่อสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์”
หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณท่านมองการณ์ไกล จึงจัดการถมดินรอบโรงอุโบสถสูงประมาณ ๓ เมตรเห็นจะได้ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่มีอำนาจใดจะคัดค้านท่านได้ เพียงกล่าวกับท่านว่า หลวงพ่อถมดินสูงกว่าพื้นโบสถ์มากมายอย่างนี้ ไม่กลัวว่าฝนตกลงมาน้ำจะไหลลงท่วมพื้นโบสถ์หรือ ท่านก็ว่า กลัวอะไร เราก็สูบน้ำออกซี ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ข้าพเจ้าก็ต้องยอมรับท่านโดยดุษฎี หลังจากนั้นประมาณ ๕-๖ เดือน มีท่านขุนจากกรุงเทพฯ นำผ้าป่าขึ้นมาทอดที่วัดศรีสังวร (ท่าช้าง) ท่านขุนผู้นี้ชื่อ ขุนศิริวัฒนาทร ทราบว่าเป็นอาของพระคารพที่ข้าพเจ้าจัดการบวชให้ดังกล่าวมาแล้ว ท่านขุนมาแวะที่วัดราชธานีกราบหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ นิมนต์ให้ไปเป็นประธานรับองค์ผ้าป่าที่ท่านนำเงินมาบำรุงวัดศรีสังวรที่พระหลานชายรักษาการเจ้าอาวาสอยู่ แต่ไม่ไว้วางใจพระหลานชายจึงขอให้หลวงพ่อเจ้าคุณไปเป็นประธานรับผ้าป่าเพื่อให้พระคารพยำเกรง ไม่กล้าเอาเงินไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก
ท่านขุนผู้นี้นัยว่าเป็นนักประวัติศาสตร์โบราณคดี จึงรู้จักหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ เห็นหลวงพ่อเจ้าคุณถมดินรอบโบสถ์ก็กล่าวชมว่า “ท่านเจ้าคุณแลการณ์ไกลนัก” นิมนต์หลวงพ่อเจ้าคุณเทศน์อานิสงส์การทอดผ้าป่าด้วย แต่ท่านให้ข้าพเจ้าเทศน์แทน ท่านขุนรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นคนเอาตัวพระคารพออกจากห้องขังแล้วจัดการบวชให้ก็ชื่นชม ท่านว่าพระหลานชายองค์นี้เป็นลูกของพี่ชายที่มีบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวง ยศทหารอากาศเป็นเรืออากาศโท พระคารพเรียนเก่งแต่นิสัยเกเร หวังว่าเขาคงบวชไม่สึกเพราะได้บทเรียนจากความเกเรมามากแล้ว วันนั้นข้าพเจ้าเทศน์อานิสงส์การทอดผ้าแล้วแว้งเข้าอบรมสั่งสอนพระคารพไปด้วย ท่านขุนศิริวัฒนาทรชอบใจมาก หลังจากท่านขุนกราบลาไปแล้ว หลวงพ่อเจ้าคุณหันมากล่าวกับข้าพเจ้าว่า “นั่นไง เห็นไหม ขุนศิริวัฒน์ยังชมว่าข้าถมดินรอบโบสถ์ดีแล้ว แกมองยังไงว่าไม่ดี” ข้าพเจ้าก็ยกมือไหว้พร้อมกล่าวว่า ”ผมยอมแล้วครับ” /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|