บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๙๑ - พุทธศาสนาในจีนซึ่งถือได้ว่าเป็นมหายานขนานแท้ มีสภาพล้มลุกตามเหตุการณ์บ้านเมืองที่มีกษัตริย์ (ฮ่องเต้ )ปกครองหลายราชวงศ์ ในช่วงปี พ.ศ. ๑๘๒๓ - ๑๙๑๑ นั้น เป็นเป็นราชวงศ์หงวน รัชกาลพระเจ้าซีโจ้ว หรือ กุบไลข่าน ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เช่น โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นใหม่ ยกเลิกเก็บภาษีวัด เป็นต้น โดยเฉพาะทรงส่งเสริมพระลามะเป็นพิเศษ โดยมุ่งผลทางการปกครองเป็นสำคัญ จึงไม่สู้เป็นผลดีแก่พระศาสนาเท่าใดนัก แม้กษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ มาในราชวงศ์หงวน ก็ยึดถือนโยบายอย่างนี้, ตกมาถึงราชวงศ์หมิงหรือเหม็ง พ.ศ. ๑๙๑๑ – ๒๑๘๗ รัชกาลพระเจ้าซีจง กษัตริย์องค์นี้เลื่อมใสลัทธิเต๋ามาก และเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจึงถูกทำลายครั้งใหญ่อีก เริ่มแต่ทำลายพระพุทธรูป ทำลายวัด ให้นักบวชเต๋าเข้าอยู่ในวัด วัดถูกแปลงเป็นสำนักเต๋า ภิกษุครองจีวรแบบเต๋า พิธีกรรมพุทธกับเต๋าปะปนกันไปหมด สมัยราชวงศ์ชิง หรือ เช็ง ซึ่งเป็นเผ่าแมนจู ขึ้นครองมหาอาณาจักรจีน ก็ได้บังคับให้ประชาชนไว้ผมเปีย แทนไว้ผมยาว และให้แต่งกายแบบแมนจู มีชาวจีนที่ขัดขืนถูกประหารชีวิตไปนับล้าน ในครึ่งแรกของราชวงศ์นี้ มีกษัตริย์ยิ่งด้วยบุญญาธิการ ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าคังฮี และ พระเจ้าเคียงล้ง ทรงเป็นนักรบที่เก่งกาจ เป็นนักปกครองที่สามารถ ส่งเสริมวรรณกรรมการศึกษา วิชาการต่าง ๆ แต่ในทางพระพุทธศาสนา กลับทรงกวดขันการบวช ต้องให้ได้รับอนุญาตจากทางการก่อน ห้ามสร้างวัดใหม่หรือขยายเขตวัดเก่า ส่วนในทางวิชาการทรงช่วยสนับสนุนบ้าง เช่น ให้รวบรวมพระไตรปิฎกถวายวัดทุกวัด ให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาแมนจูเรีย ทรงอุปถัมภ์บำรุงเฉพาะพระลามะเท่านั้น
โดยสรุป พระพุทธศาสนาในจีนเจริญถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ถัง หลังจากนั้นก็เสื่อมโทรมลง กลับฟื้นฟูทรงตัวขึ้นได้ในสมัยราชวงศ์สุง หรือ ซ้อง แล้วก็เสื่อมโทรมลงอีกนับแต่สมัยราชวงศ์หงวนของมงโกลเป็นต้นมา มีแต่พระเจ้าไท่โจ้ว ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหม็งองค์เดียว ที่บำรุงพระพุทธศาสนาจริงจัง เพราะเคยผนวชมาก่อน นอกนั้น ยกย่องพระพุทธศาสนาบางคราวเพียงเพื่อผลในการปกครอง โดยเฉพาะเอาใจพระลามะเพื่อครอบครองทิเบตไว้โดยง่าย เป็นเหตุให้การศึกษาธรรมวินัยเสื่อมโทรมอย่างยิ่ง มีแต่ความเชื่อถือทางไสยศาสตร์และพิธีกรรมอ้อนวอน หนำซ้ำกษัตริย์บางองค์ยังเลื่อมใสลัทธิเต๋าแล้วทำลายพระพุทธศาสนาอีก พระพุทธศาสนาเสื่อมถึงขั้นที่วัดใหญ่พระต้องทำนาและอาศัยค่าเช่านาเป็นอยู่ ส่วนวัดเล็กก็อาศัยการให้เช่ากุฏิบ้าง ประกอบพิธีกงเต๊กบ้าง ไม่มีกำลังบำรุงให้ศึกษาธรรมวินัยได้ จนถึงปลายราชวงศ์เช็ง จึงมีข้าราชการบางท่านช่วยฟื้นฟูประคับประคองไว้บางส่วน
นิกายมนตรยานที่เข้าสู่จีนสมัยราชวงศ์ถัง โดยพระศุภกรสิงห์ ซึ่งจาริกมาจากอินเดีย เข้ามาพำนักในพระราชวัง ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขสงฆ์ หลังจากนี้ก็มีพระวัชรโพธิ และพระอโมฆวัชระ เป็นกำลังสืบงานเผยแพร่ต่อมาอีก เป็นเหตุให้นิกายมนตรยานเริ่มเจริญแพร่หลายตั้งแต่ พ.ศ. ๑๓๗๔ นิกายนี้เกิดขึ้นจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในอินเดียราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ โดยการนำสิ่งใหม่เข้ามาสู่พุทธศาสนามีพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เพื่อการบรรลุธรรม โดยนำเอา มันตระ มุทรา มัณฑละ และเทพเจ้าเข้ามาในพุทธศาสนาอย่างไม่เป็นระบบ เช่น การท่องบ่นมนต์ หรือ ธารณีแตกต่างกัน บูชาเทพเจ้า หรือพระโพธิสัตว์องค์ใดก็ได้ แล้วทำเครื่องหมาย มุทรา หรือนิ้วมือให้ถูกต้องก็จะศักดิ์สิทธิ์หรือสำเร็จผลได้ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าชาวพุทธในประเทศไทยจะนิยมชมชอบปฏิบัติตามวิธีการของนิกายนี้ไม่น้อย
พุทธศาสนาในจีนยังมีเรื่องให้เรียนรู้อีกมาก แต่ขอพักไว้ก่อน จะขอพาไปดูพุทธศาสนาในพม่าหรือเมียนมาร์บ้าง
“ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนายุคแรกในพม่ายังเลือนลางอยู่ ตามตํานานฝ่ายลังกาและคัมภีร์อรรถกถาต่าง ๆ เล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งพระโสณะ กับ พระอุตตระ มาประกาศพระศาสนาในสุวรรณภูมิ ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่า สุวรรณภูมิได้แก่ นครปฐม ในประเทศไทย แต่บางท่านว่า ได้แก่ เมืองสะเทิม ในพม่าตอนใต้ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าพระพุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายในพม่ายุคแรกนี้
ยุคที่พอจะแน่ใจได้ว่าพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาในพม่าแล้ว ก็คือในพุทธศตวรรษที่ ๖ เพราะได้พบคําจารึกเป็นภาษาบาลีในพม่าภาคใต้ และ ตารนาถ นักประวัติศาสตร์ทิเบตก็ได้เล่าว่า มีการสั่งสอนพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในพะโค พม่า และ อินโดจีน มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก ต่อมาไม่นานศิษย์ของพระวสุพันธุ ได้นําพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้าไปเผยแพร่ ทําให้มหายานกับเถรวาทมีเคียงคู่กันมาในพม่าเป็นเวลาหลายศตวรรษ พระพุทธศาสนาซึ่งเผยแพร่เข้ามาในระยะที่ผ่านมานี้ คงเข้ามาโดยเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ และปรากฏว่ารุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรโบราณของพวก Pyus ที่เรียกว่าอาณาจักร ศรีเกษตร
เหตุการณ์สําคัญครั้งต่อมาคือ ใน พ.ศ. ๙๔๖ พระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อแปลอรรถกถาจากสิงหลเป็นมคธแล้ว ได้เดินทางออกจากลังกาและได้มาแวะที่เมืองสะเทิมของพม่า พร้อมกับนําเอาพระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถาต่าง ๆ มาที่นั่นด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้คงจะเป็นเครื่องเร้าความสนใจให้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพม่าเข้มแข็งขึ้น หลังจากนั้นก็มีปราชญ์ภาษาบาลีเกิดในพม่าหลายคนเขียนตําราไวยากรณ์บาลีบ้างอภิธรรมบ้าง”
นามสุวรรณภูมิ = แผ่นดินทอง ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทหลายครั้ง นักวิชาการทางภูมิประวัติศาสตร์ชี้ตรงกันว่า เมืองหลวงของสุวรรณภูมิได้แก่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน แต่ทางพม่าก็ยังเชื่อว่า สุวรรณภูมคือเมืองสะเทิมของเขาอยู่ พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทคงจะเข้าสู่พม่าในเวลาไล่เลี่ยกับไทย ถ้าไม่นับเรื่องสองพี่น้องชาวมอญที่แสดงตนเป็นอุบาสกคนแรกในสมัยต้นพุทธกาล ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้าสู่พม่าในราวพ.ศ. ๖๐๐ เศษ ตามคำกล่าวของชาวทิเบต นั่นเอง เรื่องนี้ไว้ดูกันต่อวันพรุ่งครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของเรื่องและภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, malada, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, เป็น อยู่ คือ, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช, คิดถึงเสมอ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๙๒ - มีคำกล่าวสืบทอดกันแบบ “ปากต่อปาก” (มุขปาฐะ) ที่ชาวมอญเชื่อว่า “มุขปาฐะคำพระเถระท่านว่า สุวรรณภูมินี้มี ๒ เมือง เมืองหนึ่งเบื้องอุดร เรียกว่า ทวารวดี มีนครอยู่นครปฐมทุกวันนี้ อีกเมืองหนึ่งอยู่เบื้องปัจจิม เรียกว่า สุธรรมวดี มีนครชื่อสุธรรม นครสุธรรม คือ เมืองสะเทิม รัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ ทุกวันนี้ คนมอญคนเมียนมาร์เชื่อว่า พระโสณะ พระอุตตระ นำพระศาสนามาประกาศที่สุวรรณภูมิ ณ เมืองสะเทิมแห่งนี้ จึงเชื่อถือกันว่า สะเทิม คือ สุวรรณภูมิที่แท้จริง และพุทธศาสนาก็รุ่งเรืองอย่างมาก แต่เมืองนี้สูญสิ้นไปเมื่อพระเจ้าอนิรุธแห่งพุกาม ยกทัพมาตีแล้วอัญเชิญพระไตรปิฎก ๓๐ ชุด พระสงฆ์รู้ธรรม ๑,๐๐๐ รูป กับพระบรมธาตุ แล้วจับพระเจ้ามนูหะ กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรสะเทิมไปอยู่ด้วยกันที่พุกาม”
ชื่อเมืองสุธรรมวดี สุธรรมนคร จะปรากฏในตำนานของไทยอยู่หลายตำนาน บางตำนานว่าตั้งอยู่ที่เมืองตาก บางตำนานว่าตั้งอยู่เมืองมอญ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบยืนยันแน่นอนแล้วว่าได้แก่เมืองสะเทิม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของชนชาติมอญหรือรามัญ มีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าเมือง-ประเทศใด ๆ ในภูมิภาคแหลมทอง (สุวรรณภูมิ) นี้ ในความเชื่อของชาวมอญที่ว่า พระเจ้าอโศกส่งพระโสณะ-อุตตรเถระนำพระไตรปิฎกที่ได้จากการสังคายนาครั้งที่ ๓ มายังสุวรรณภูมิโดยทางเรือนั้น คณะพระโสณะเดินทางโดยเรือพาณิชย์จากอินเดียมาขึ้นฝั่งสุวรรณพภูมิที่เมืองสะเทิม แล้วเริ่มประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายไปทั่วสุวรรณภูมิ
แต่ทางไทยเราเชื่อว่าคณะพระโสณะเดินทางจากอินเดียโดยเรือมาขึ้นฝั่งที่สามรัฐ (สมเรส คือนครไชยศรี) เมืองท่าของอู่ทอง (สุวรรณภูมิ) แล้วปักหลักประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายไปทั่วดินแดนสุวรรณภูมิ ความเป็นข้อขัดแย้งกันนี้คงติดอยู่ในชาตินิยมต่อไป ยากจะลบล้างให้หมดได้ อย่างไรก็ดี เรื่องราวของพระพุทธศาสนาในพม่าที่มีการเรียบเรียงเผยแผ่ไว้ก็น่าศึกษาดังความเรียงต่อไปนี้
“มีหลักฐานซึ่งเชื่อได้ว่า ชาวมอญฮินดู หรือ ตะเลง ในเมืองพะโค (หงสาวดี) เมืองสะเทิม (สุธรรมวดี) และถิ่นใกล้เคียงที่เรียกรวม ๆ ว่า รามัญประเทศ ได้นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทรุ่งเรืองมาเป็นเวลานานพอสมควร พอถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ก็ปรากฏว่า เมืองสะเทิมได้กลายเป็นศูนย์กลางที่สําคัญยิ่งแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาเถรวาทแล้ว ส่วนชนอีกเผ่าหนึ่ง คือ มรัมมะ หรือ พม่า (เผ่าทิเบต-ดราวิเดียน) ก็ได้มาตั้งอาณาจักรอันเรืองอํานาจของตนขึ้น มีเมืองหลวงอยู่ที่พุกามและเรียกชื่อประเทศของตนว่าพุกาม พวกมรัมมะนี้กักขฬะ ไร้การศึกษา นับถือพระพุทธศาสนาแบบ ตันตระ ที่เสื่อมทรามสืบมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ นั้นเอง พระเจ้าอนุรุทธ หรือ อโนรธามังช่อ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งมรัมมะ (พ.ศ. ๑๕๘๘ - ๑๖๒๑) ได้มีพระตะเลงแห่งเมืองสะเทิมรูปหนึ่งชื่อ พระอรหัน หรือ ธรรมทรรศี (ธรรมทัสสี ?) สามารถเปลี่ยนพระทัยพระเจ้าอนุรุทธให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทอันบริสุทธิ์ได้ พระเจ้าอนุรุทธได้ทรงร่วมกับพระธรรมทรรศีรอนลัทธิตันตระลง ทําพระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพุกามประเทศ
รัชกาลพระเจ้าอนุรุทธนี้ เป็นยุคสําคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและชาติพม่า เมื่อพระองค์หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทแล้ว ก็ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้า ได้ทรงมีพระราชสาส์นไปขอคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากกษัตริย์แห่งสะเทิม แต่กษัตริย์สะเทิมไม่ยินยอม พระองค์จึงกรีฑาทัพไปตีเมืองสะเทิมได้ ทรงนําพระไตรปิฎก ๓๐ จบ วัตถุเคารพบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ กับพระภิกษุชาวตะเลงผู้รู้ธรรมแตกฉาน บรรทุก ๓๒ หลังช้างกลับมานครพุกาม เหตุการณ์ครั้งนี้ทําให้พม่ารวมเข้าเป็นอาณาจักรอันเดียว และพุกามผู้ชนะก็รับเอาวัฒนธรรมตะเลงเกือบทั้งหมดมาเป็นของตน ตั้งแต่ตัวอักษร ภาษา วรรณคดี และศาสนาเป็นต้นไป พระเจ้าอนุรุทธทรงแลกเปลี่ยนศาสนทูตกับลังกา ทรงนําพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์มาจากลังกา ๓ จบ และนํามาชําระสอบทานกับฉบับที่ได้จากเมืองสะเทิม ทรงอุปถัมภ์ศิลปกรรมต่าง ๆ การบําเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทําให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชนชาวพม่าทั่วทั้งประเทศ กษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ มา ก็ได้เจริญรอยพระปฏิปทาในการทํานุบํารุงพระศาสนาเช่นเดียวกับพระองค์ ส่วนศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูก็เสื่อมหมดไป และในระหว่างสมัยที่พุกามรุ่งเรื่องนี้ พระภิกษุจํานวนมากได้เดินทางไปศึกษาในลังกาทวีป บางท่านไปศึกษาแล้วรับอุปสมบทใหม่กลับมาตั้งคณะสงฆ์เถรวาทคณะใหม่ ๆ สายลังกา แยกออกไปก็มี เช่น พระจปฏะ ใน พ.ศ. ๑๗๒๕ ซึ่งทําให้มีการแข่งขันกันระหว่างสงฆ์ต่างคณะมาเป็นเวลาประมาณ ๓ ศตวรรษ
อาณาจักรพุกามได้สลายลงเพราะถูกทอดทิ้งหลังจากการรุกรานของ กุบไลข่าน ใน พ.ศ. ๑๘๓๑ หลังจากนี้แม้บ้านเมืองจะระส่ำระสายแต่พระพุทธศาสนาก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองสืบมา จนถึงรัชกาลพระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ. ๒๐๐๔ - ๒๐๓๕) สมัยนั้นในพม่ามีคณะสงฆ์เถรวาท ๖ คณะ (จากเขมร ๑ จากลังกา ๕) พระองค์ได้อาราธนาพระสงฆ์มาจากลังกา แล้วให้พระสงฆ์พม่าทั้งหมดอุปสมบทใหม่รวมเข้าเป็นนิกายเดียวกันแต่นั้นมา พระพุทธศาสนาก็ประดิษฐานมั่นคง และการศึกษาพระอภิธรรมได้รุ่งเรืองขึ้น สองศตวรรษต่อมา ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในเรื่องการครองจีวรออกนอกวัด ทําให้พระสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ พวก คือ ฝ่ายห่มคลุมพวกหนึ่ง กับฝ่ายลดไหล่ขวาพวกหนึ่ง พระมหากษัตริย์โปรดฝ่ายห่มคลุม และได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช ขึ้นปกครองสงฆ์เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในทางพระวินัย ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ พระพุทธศาสนาในพม่ามั่นคงแข็งแรงดี จนมีพระสงฆ์จากลังกามารับอุปสมบทกรรมใหม่ไปตั้งคณะสงฆ์แบบพม่าขึ้นในประเทศของตน มีการแปลพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ มีการสังคายนาครั้งที่ ๕ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้ามิน ดง ณ กรุงมัณฑะเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ และจารึกพุทธพจน์ทั้ง ๓ ปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น ในระยะตั้งแต่นี้มีการเลือกตั้งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ชั่วสมัยหนึ่ง
อังกฤษได้เข้ามาแสวงอาณานิคมและมีอํานาจในพม่าเริ่มแต่ พ.ศ. ๒๓๖๘ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าคือ พระเจ้าธีบอ แห่งราชวงศ์อลองพญาได้สิ้นวงศ์ลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ประเทศพม่าได้คืนสู่เอกราช เกิดเป็นสหภาพพม่าเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๒ (เซ็นสัญญาอิสรภาพ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๙๑) เมื่อพม่าเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้ว ตําแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็เลิกล้มไป รัฐบาลได้แต่งตั้งประมุขขึ้นใหม่สําหรับนิกายสงฆ์ทั้งสามของพม่านิกายละ ๑ รูป ตลอดระยะเวลาเหล่านี้ มีพระภิกษุพม่าที่เป็นปราชญ์มีความรู้แตกฉาน รจนาหรือนิพนธ์ตํารับตําราพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นจํานวนมาก รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพจัดการ ฉัฏฐสังคีติ คือสังคายนาครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงร่างกุ้ง เนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้อาราธนาพระสงฆ์และผู้แทนชาวพุทธในประเทศต่าง ๆ ไปร่วมศาสนกิจครั้งนี้เป็นจํานวนมาก และได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกพร้อมด้วยคัมภีร์อรรถกถา และปกรณ์พิเศษต่าง ๆ ขึ้นใหม่ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทําได้”
กษัตริย์พม่า (มรัมมะ)ผู้ เกรียงไกรนามว่า “พระเจ้าอนุรุทธ หรือ อโนรธามังช่อ” มีนามและเรื่องพ้องกับกษัตริย์ไทยพระององค์หนึ่ง คือพระเจ้ากากวัณดิสราช หรืออนุรุทธธรรมิกราช แห่งตักสิลามหานคร (นครไชยศรี) พระองค์เสด็จขึ้นไปแคว้นโยนกแล้วตั้งวงศ์กษัตริย์ขึ้นใหม่พร้อมประกาศให้ใช้ปีจุลศักราชเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๑๑๘๑ นับรอบปีตั้งแต่ ๑๖ เมษายน ถึง ๑๕ เมษายน เดิมเข้าใจกันว่าเป็นศักราชของพม่า ปรากฏอยู่ตามตำราโหราศาสตร์ แต่ทว่าเมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่าปีที่ตั้งจุลศักราชนั้น เป็นเวลาก่อนปีที่พระเจ้าอโนรธามังช่อประสูติ กล่าวคือตั้งจุลศักราชเมื่อพ.ศ. ๑๑๘๑ อโนรธา เกิด-ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗-๑๖๒๐ กาลเวลาห่างไกลกันถึง ๔๓๙ ปีทีเดียว ก็หมายถึงว่าพระเจ้าอโนรธาเกิดหลังการตั้งจุลศักราช ๔๐๐ ปีเศษ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของเรื่องและภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลิตเติลเกิร์ล, เป็น อยู่ คือ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ต้นฝ้าย, ชลนา ทิชากร, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, มนชิดา พานิช, malada, คิดถึงเสมอ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๙๓ - ดูเหมือนข้าพเจ้าจะเข้าตำราที่ว่า “ยิ่งเรียนยิ่งโง่” พวกข้าพเจ้าถูกอัดวิชาการเช้าสมองอย่างหนักมาสองเดือนกว่าแล้ว วิชาอภิธรรมเอย วิชาเทศนาเอย ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเอย เฉพาะข้าพเจ้ารู้สึกสับสนในเรื่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ตำราของวิชานี้คือพระไตรปิฎกทั้งฝ่ายเถรวาทและอาจาริยวาท (หินยาน มหายาน) ล้วนมีการปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามกาลเทศะจนจดจำกันไม่หวาดไหว พระไตรปิฎกของไทยที่พระโสณเถระและคณะนำมาหลังจากสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้น เป็นฉบับ “มุขปาฐะ” คือท่องจำกันมาด้วยปากต่อปาก ฉบับขององลังกาที่พระมหินทเถระนำจากอินเดียไปลังกาพร้อมกับพระโสณะก็เป็นฉบับมุขปาฐะเช่นกัน
ตามประวัติว่ามีการจารึกพระไตรปิฏกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าทำกันเมื่อปี พ.ศ. ๔๓๓ ที่ประเทศลังกานั้น จารึกเป็นอักษรภาษาสิงหล ต่อมาพระพุทธโฆสะจากอินเดียไปแปลจากภาษาสิงหลเป็นบาลี ฉบับนี้เองที่ไทยยึดถือไว้มั่นและเชื่อว่าถูกต้องที่สุดดีที่สุด เป็นพระธรรมวินัยที่เป็นพรพุทธวจนะแท้จริง พระไตรปิฎกของลังกาเขาก็ว่าเป็นของแท้จริง พม่าเขาก็ว่าเป็นของแท้จริง ในฝ่ายมหายานเขาก็ว่าของเขาเป็นพุทธวจนะแท้จริง แต่ในความเป็นจริงแล้วตามประวัติที่เรียนกันนั้นพบว่า ไทยขอพระไรปิฎกจากลังกาบ้าง ลังกาขอพระไตรปิฎกจากไทยบ้าง พม่าขอพระไตรปิฎกจากลังกาบ้า ง ขอกันไปมาเป็นหลายครั้ง จนไม่รู้ได้ว่าของใครเป็นของใคร
ข้าพเจ้าเกิดความสับสนจนสงสัยว่าพระไตรปิฎกฉบับของใครเป็นพุทธวจนะจริงกันแน่ ในห้องเรียนวันหนึ่งท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า) บรรยายใกล้จบแล้วก็เปิดโอกาสให้พวกเราถามความสงสัยในเรื่องที่บรรยายตามปกติ ข้าพเจ้าจึงเรียนถามท่านว่า
“ก่อนจะเป็นลายลักษณ์อักษรมีการสืบทอดพระพุทธวจนะกันด้วยปากต่อปาก ท่องจำกันสืบมา จะเชื่อได้อย่างไรว่าพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎกนี้ถูกต้องจริงแท้แน่แล้ว”
ท่านตอบว่า “เชื่อได้แน่ เพราะพระที่ท่องจำสืบทอดกันมานั้นล้วนแต่เป็นพระอรหันต์จำพุทธวจนะไม่ผิดพลาดแน่นอน”
ข้าพเจ้าแย้งว่า “พระอรหันต์ก็เชื่อได้ว่าไม่ผิดพลาด แต่ศิษย์พระอรหันต์ที่เป็นพระกัลยาณชนปุถุชนเล่าจะจำคำอาจารย์ได้แม่นยำไม่ผิดเพี้ยนบ้างเลยหรือ”
ท่านก็ตอบว่า ไม่ผิดดอก เพราะภาษาที่ใช้เป็นภาษาบาลีที่ชัดเจน”
ข้าพเจ้าแย้งอีกว่า “ภาษาบาลี แต่สำเนียงของผู้พูดไม่เหมือนกัน พระไทยมีสำเนียงอย่างหนึ่ง พระลาว เขมร พม่ามอญ ก็มีสำเนียงอย่างหนึ่ง (ยกตัวอย่างออกเสียงสวดมนต์แบบล้านนา อีสาน ให้ท่านฟังด้วย)”
ท่านก็ตอบว่า “สำเนียงที่ออกไม่ตรงกันก็จริง แต่รากศัพท์ก็เป็นอันเดียวกัน”
ข้าพเจ้าไม่ซักถามในเรื่องสำเนียงภาษาต่อ แต่กลับไปถามเรื่องลายลักษณ์อักษรว่า
“การสังคายนาครั้งที่ ๕ ในลังกาทราบว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรลงในเปลือกไม้ ใบลาน อักษรภาษาเป็นแบบสิงหลใช่ไหม”
ท่านรับว่า ”เป็นอย่างนั้น”
จึงถามต่อว่า “พระพุทธโฆสะ เป็นพระอรหันต์ที่บรรลุ นิรุตติปฏิสัมภิทา ไหมขอรับ”
ท่านตอบว่า “ไม่บรรลุ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์”
ถามต่อว่า “ถ้าอย่างนั้นท่านทำไมจึงเก่งถึงขนาดแปลอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลีได้เล่า แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าภาษาสิงหลที่ท่านแปลมาแต่งเป็นภาษาบาลีนั้นจะเป็นพุทธวจนะอย่างแท้จริง เพราะท่านมิใช่พระอรหันต์ที่บรรลุนิรุติปฏิสัมภิทา มีปัญญา แตกฉานในภาษา”
ท่านนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ยังไม่ทันตอบ เสียงออดสัญญาณบอกหมดเวลาชั่วโมงบรรยายก็ดังขึ้น ท่านจึงลงจากโพเดียมบรรยายไป ทิ้งความสงสัยให้ค้างคาใจข้าพเจ้าไว้อย่างนั้น
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนจบการอบรม ไมค์ที่ตั้งไว้กลางห้องเรียนถูกเก็บไป พวกเราไม่สามารยืนหน้าไมค์ถามผู้บรรยายได้เหมือนก่อน ทราบภายหลังว่าอาจารย์กิตฺติวุฑฺโฒ สั่งเก็บไมค์โดยไม่ห้ามซักถามผู้บรรยาย ใครอยากถามอะไรก็เข้าไปยืนใกล้ ๆ ผู้บรรยายแล้วส่งเสียงถามกันดัง ๆ จริง ๆ แล้วข้าพเจ้ามิได้เจตนาจะถามให้พระอาจารย์จนคำตอบ หากแต่ถามด้วยความสงสัยจริง ๆ หลังเลิกเรียนเย็นวันนั้นข้าพเจ้าไปหาท่านอาจารย์เจ้าคุณในที่พัก แล้วกราบขอขมาท่านด้วยความเคารพ
นอกจากวิชาหลักดังกล่าวที่ทางมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุให้ความรู้พระหน่วยพัฒนาการทางจิตแล้ว ยังมีวิชาทางด้านสังคม-การเมืองอีกด้วย ข้าพเจ้ามาทราบหลังจากเข้ารับการอบรมไปได้ ๓ เดือนแล้วว่า พระอาจารย์กิตฺติวุฑฺโฒ เกลียดชังและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ หลังจากให้ความรู้ในวิชาอภิธรรม วิชาการเทศนา และประวิศาสตร์พุทธศาสนาพอสมควรแล้ว ผู้บรรยายถวายความรู้พวกเราก็เปลี่ยนหน้ามาเป็น ทหารตำรวจนักวิชาการที่เรียกกันว่า “ขวาจัด” เช่น พล.ต.ท.สมควร หริกุล ผู้ก่อกำเกิดลูกเสือชาวบ้าน วัฒนา เขียววิมล เป็นต้น และท่านให้ความรู้เรื่องคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามสถาบันหลักของไทย และแนะวิธีการแก้ไข ต่อต้านหลายรูปแบบ เรื่องที่ท่านนำมาเปิดเผยนั้นมีเรื่องเหลือเชื่อในความรู้สึกของข้าพเจ้า แต่ก็ฟังไว้เป็นความรู้เพื่อนำไปพูดคุยกับชาวบ้านชาวเมืองได้ ดีกว่าไม่รับรู้อะไรเลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ กันยายน ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
 ประเพณีการทำขวัญผึ้ง - จังหวัดสุโขทัย เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๙๔ - ในบรรดาอาจารย์พิเศษที่ทางอภิธรรมหาธาตุวิทยาลัยเชิญมาถวายความรู้แก่พระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้านั้น มีท่านหนึ่งที่ข้าพเจ้าชอบมากท่านคือคุณหลวงบุเรศบำรุงการ (เจริญ วงศ์ตลาดขวัญ) ไม่ทราบประวัติความเป็นมาของท่าน ดูนามสกุลเดิมว่าวงศ์ตลาดขวัญแล้วน่าจะเป็นชาวเมืองนนท์ คุณหลวงขณะนั้นมีอายุมากแล้วและดูท่านกระฉับกระเฉงเหมือนคนอายุไม่เกินหกสิบปี ท่านมีความรู้เรื่องป่าไม้ ต้นไม้ ดอกไม้ และอะไร ๆ ที่เกี่ยวกับป่าไม้ พืชพันธุ์ธัญญามากมาย จึงบรรยายให้ความรู้เรื่องป่าไม้ การอนุรักษ์ป่าไม้ การปลูกป่า ปลูกดอกไม้นานาได้ดีมาก มิใช่แต่จะบรรยาย (ปาฐกถา) ได้ดีเท่านั้น ท่านยังเขียนเรื่องต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วย ข้อเขียนของท่านใช้เป็นตำรา อ้างอิงทางวิชาการได้ทุกเรื่อง เช่น “ต้นไม้ผลในเมืองไทยบางชนิด, ต้นไม้สำคัญในพระพุทธประวัติ หลักการใหม่ ๆ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, ต้นไม้ในวรรณคดี, น้ำผึ้งและประโยชน์ของแมลงผึ้ง ชีวิตและงานของแมลงผึ้ง และ การถนอมอาหาร, วิธีปลูกต้นไม้นอกอาคาร (การจัดสวน) และสวนญี่ปุ่น, วิธีปลูกและบำรุงรักษาไม้ผลบางชนิด และ “เรามาดื่มน้ำผึ้งกันเถิด” เป็นต้น
ข้าพเจ้าคิดและเชื่อว่าไม่มีใครเชี่ยวชาญเรื่องน้ำผึ้งมากไปกว่าคุณหลวงบุเรศบำรุงการท่านนี้เป็นแน่ จากการฟังที่ท่านบรรยายเรื่องผึ้งและน้ำผึ้งแล้ว เห็นว่าท่านรู้ลึกและแท้จริงมาก สามารถชี้ได้ว่าน้ำผึ้งจากป่าไหน พื้นที่จังหวัดไหน ภาคใด มีสรรพคุณทางยามากน้อยเพียงใด ท่านว่าน้ำผึ้งมีสรรพคุณมากและดีที่สุดคือ น้ำผึ้งจากเขาหลวงสุโขทัย รองลงไปคือจากแม่สอดจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ และหลายจังหวัดในภาคเหนือ รองจากภาคเหนือคือภาคะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ เหตุผลที่ว่าน้ำผึ้งดีที่สุดซึ่งได้จากผลการวิจัยจากเครื่องมือทางการแพทย์ พบว่าน้ำผึ้งจากเขาเหลวงสุโขทัยมีสารว่านยาสมุนไพรมากเป็นอันดับหนึ่ง เพราะสารสมุนไพรของว่านยาบนเทือกเขาหลวงเป็นว่านยาสมุนไพรดีมาก (ข้าพเจ้าเคยถามท่านว่า เป็นว่านยาจากสวนขวัญที่เรียกว่าสวนสมุนไพรพระร่วงใช่ไหม ท่านว่าน่าจะใช่) อย่างไรก็ตามทีเถิด น้ำผึ้งเป็นยาสมุนไพรในตำรายาไทยเรียกว่า “เกสรร้อยแปด” ใช้เป็นกระสายยาดีเยี่ยม มีสรรพคุณมากเกินพรรณนา สีน้ำผึ้งจะบอกให้เรารู้ได้ว่าเป็นนำผึ้งจากป่าไม้อะไร เช่น ป่าไม้แดง เต็ง รัง น้ำจะเป็นสีแดงสีเหลืองจะเป็นป่าว่านสมุนไพร บทสรุปของท่านว่า “เรามาดื่มน้ำผึ้งกันเถิด”
เรื่องน้ำผึ้งเขาหลวงสุโขทัยนี้มีตำนานสืบมายาวนานแล้วว่า ชาวคีรีมาศจังหวัดสุโขทัยมีประเพณีการทำขวัญผึ้ง สืบเนื่องมาจากการส่งส่วยผึ้งแทนแรงงานราษฎรของชาวศรีคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราธานี กล่าวคือ ชายไทยที่เป็นไพร่หลวงต้องเข้ารับราชการ ในช่วงอายุ ๑๘-๖๐ ปี โดยการเข้ารับราชการปีละ ๖ เดือน เข้าเดือนเว้นเดือนสลับกันไป หรือที่เรียกว่า “เข้าเดือนออกเดือน” ครั้นมาถึงอยุธยาตอนปลาย ได้ลดหย่อนให้ไพร่หลวงที่เกินความต้องการ การใช้แรงงานซึ่งไม่ต้องการรับราชการก็ให้เสียส่วยแทนแรงงานในการรับราชการได้ ในหัวเมืองที่ห่างไกลเมืองหลวง ศรีคีรีมาศ อาศัยอยู่บริเวณเชิงเขาหลวง ซึ่งอุดมด้วยป่าไม้และรังผึ้งมากมาย จึงถูกกำหนดให้มีการส่งส่วยน้ำผึ้งแทนแรงงาน ดังนั้นชาวคีรีมาศจึงอนุรักษ์เลี้ยงดูผึ้งเพื่อส่งส่วยน้ำผึ้งติดต่อกันมาเป็นเวลานาน การหารังผึ้ง การตีผึ้ง การทำขี้ผึ้ง จึงเป็นสิ่งที่ผูกพันกับการดำรงชีวิตของชาวศรีคีรีมาศตลอดมา
ด้วยเหตุที่ต้องการให้มีผึ้งมาทำรังตามต้นไม้มาก ๆ เพื่อจะได้มีน้ำผึ้งเพียงพอแก่การส่งส่วยตามจำนวนที่เมืองหลวงกำหนด จึงได้เกิดประเพณีการทำขวัญผึ้งขึ้น ซึ่งเป็นการอัญเชิญผึ้งให้มาทำรวงรังตามต้นไม้ที่ผึ้งเคยเกาะอยู่ ประเพณีการทำขวัญผึ้งจึงได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แล้วสูญหายไปชั่วระยะหนึ่ง ต่อมาจึงได้มีการฟื้นฟูประเพณีทำขวัญผึ้งขึ้นในตำบลศรีคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัยขึ้นมาอีก วิธีการทำขวัญผึ้งคือ ทำรั้วเตี้ย ๆ รอบโคนต้นไม้ที่จะทำพิธี ตรงโคนต้นไม้มีนั่งร้านวางของ, ตั้งศาลตีนเดียวตามประตูรั้วไม้ทั้งแปดประตู ทั้งนี้เป็นไปตามความเชื่อเรื่องเทวดาประจำทิศทั้งแปด ต้องอัญเชิญมาร่วมในพิธีกรรมการทำขวัญผึ้งด้วย โดยเทวดาจากทุกทิศจะชักนำหรือเบิกทางให้ผึ้งมาลงยังต้นไม้ต้นนี้จากทุกทิศทุกทางได้ ศาลตีนเดียวศาลใหญ่ตรงกลางติดกับโคนต้นไม้ที่ทำพิธี ทั้งนี้เป็นไปตามแนวคิดที่ว่ารูปแบบการปกครองสังคมต้องมีผู้นำที่เป็นใหญ่สูงสุด และผู้ได้ปกครอง เทวดาผู้เป็นใหญ่สูงสุดก็ถูกเชิญมาประทับศาลใหญ่ เสมือนเป็นประธานของพิธีกรรม คาดผ้าเขียว ผ้าแดง รอบโคนต้นไม้ที่จะทำพิธี, แขวนพวงเงินพวงทอง นับเป็นสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจของสังคมว่าถ้ามีเป็นพวงแสดงว่าเศรษฐกิจดี, พันด้ายขาวแดงรอบโคนต้นไม้นั้น ๙ รอบ, วางเครื่องเซ่นบนร้านข้างศาลใหญ่ที่โคนต้นไม้ ประกอบด้วย บายศรี ๑ ปาก หัวหมู ๑ หัว ตีนหมู ๘ ตีน หางหมู ๑ หาง เหล้า ไก่ต้ม ๑ ตัว ผักหญ้าปลายำ ข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวแดง ขนมต้มแดง ข้าวสุกจากปากหม้อ มะพร้าวอ่อน ๑ ผล หมากพลู อย่างละ ๓ คำ ธูป ๓ ดอก เทียน ๓ แท่ง เครื่องเซ่นเหล่านี้จะแบ่งเป็นชิ้นเล็ก ๆ วางเครื่องสังเวยตามศาลตีนเดียวทั้งแปดศาล รอบต้นไม้ใหญ่และต้นไม้เล็กในบริเวณใกล้ ๆ ที่ทำพิธี ติดด้วยรังผึ้งปลอม ซึ่งทำด้วยขนมแดกงา ทำจากข้าวเหนียว น้ำอ้อย และงา หลังจากเสร็จพิธีแล้ว รังผึ้งปลอมเหล่านั้นจะใช้บริโภคร่วมกัน
การทำขวัญผึ้งดังกล่าวชาวศรีคีรีมาศถือเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน แต่ผึ้งมาทำรวงรังน้อยลงเรื่อย ๆ อาจจะเป็นเพราะดอกหญ้าดอกไม้บริเวณเทือกเขาหลวงมีน้อยลง และที่มีอยู่ก็มีสารยาฆ่าแมลงเจือปนจนผึ้งไม่อาจดูดเกสรนำน้ำหวานมาใส่รวงรังได้ ไม่ทราบเหมือนกันว่า น้ำผึ้งเขาหลวงสุโขทัยจะยังมีคุณภาพสรรพคุณเป็นที่ ๑ ของประเทศดังที่คุณหลวงบุเรศบำรุงการกล่าวหรือไม่/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลิตเติลเกิร์ล, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, malada, เฒ่าธุลี, มนชิดา พานิช, คิดถึงเสมอ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๙๕ - ยุคสมัยนั้นสื่อที่ชาวบ้านชาวเมืองนิยมชมชอบคือ วิทยุ-หนังสือพิมพ์ มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุฯมีสถานีวิทยุยานเกราะเป็นสื่อเผยแผ่ธรรมและกิจกรรมองมูลนิธิฯ นำเงินรายได้ที่ประชาชนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสนำมาบริจาคเข้ามูลนิธิฯ ทุกวันไม่ขาดสาย พระหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้า ๓๐๐ องค์ มีอาหารขบฉันอย่างอุดมสมบูรณ์ก็มาจากสื่อวิทยุยานเกราะนี้เอง ทางมูลนิธิฯ มีสื่อทางวิทยุแล้วยังไม่เป็นที่พอใจอยากมีสื่อทางสิ่งพิมพ์ด้วย จึงออกหนังสือนิตยสารอีกฉบับหนึ่งชื่อว่า “ช่อฟ้า” ฟังเพียงชื่อก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นหนังสือของวัด เพราะ ช่อฟ้า คือตัวไม้ที่ติดอยู่บริเวณหน้าจั่วรูปเหมือนหัวนาคชูขึ้นเบื้องบน เป็นเครื่องประดับหลังคาโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญของวัดทั่วไป
ช่อฟ้า นิตยสารรายเดือน มีบรรณาธิการชื่อ สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ท่านให้มอบวัยรุ่น ๓ คนทำทั้งหมดอย่างเสรีโดยไม่มีแทรกแซงใด ๆ เท่ากับเปิดประตูเริ่มแรกสุดเข้าสู่โลกของคนทำหนังสือ แล้วคืบคลานต่อไปสู่โลกของหนังสือพิมพ์อันไพศาล บก.สำราญมีประวัติย่อ ๆ ว่า
“สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ เกิดที่ย่านตลาดพลู ฝั่งธนบุรี กำพร้ามารดาตั้งแต่เด็ก และอาศัยอยู่กับบิดาสองคน จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ และเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ภาคค่ำ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ รุ่นเดียวกับสมบูรณ์ วรพงษ์ และสุรชัย ดิลกวิลาศ เริ่มงานเขียนในเครือ ไทยพาณิชยการ ใน "กะดึงทอง รายเดือน" กับ สาทิส อินทรกำแหง ต่อมาจึงออกมาทำหนังสือ "สัปดาห์สาส์น" กับ นิลวรรณ ปิ่นทอง แล้วไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายรายการที่วิทยุเสียงสามยอด แล้วลาออกไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "เจ้าพระยารายสัปดาห์" และทำหน้าที่เป็นผู้เขียนบทรายการ "ข่าวสารทางอากาศ" ทางสถานีวิทยุ ททท. ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๖ – ๒๕๒๗ ทำงานกับหนังสือพิมพ์สยามนิกร สยามสมัย และพิมพ์ไทย งานเขียนที่มีชื่อเสียงคือเรื่องชุด "นาฏกรรมเมืองหลวง" ใช้นามปากกา "หลวงเมือง" ต่อมาได้เป็นนักเขียนให้กับสยามรัฐ และเริ่มใช้นามปากกา "หมอทรัพย์ สวนพลู" เขียนคอลัมน์ "ดวงใครดวงมัน" ทำนายโชคชะตา จนกระทั่ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เสียชีวิต จึงลาออกจากสยามรัฐ ไปเป็นนักเขียนประจำที่ มติชน และข่าวสด”
วัยรุ่น ๓ คนที่บก.สำราญให้ทำหนังสือช่อฟ้าอย่างเสรีไม่มีการแทรกแซงใดนั้นคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุญปาน เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ทั้ง ๓ วัยรุ่นร่วมกันทำช่อฟ้าอยู่ ๓-๔ ปี “ทำให้คับคั่งด้วยพี่น้องญาติมิตรสนิทสนมทางงานวรรณกรรมกับศิลปกรรม รวมกลุ่มเป็น “หนุ่มเหน้าสาวสวย” หลังจากนั้นก็ต้องคืนช่อฟ้าให้ทางมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ เอาไปทำเองในแนวเผยแพร่อภิธรรมตรง ๆ ซึ่งเขา ๓ คนบอกว่าไม่สันทัดทางธรรมอย่างนั้น เลยต้องถอนตัวออกไปโลดแล่นอยู่ในบรรณพิภพ (ข้าพเจ้าเคยส่งกลอนลงพิมพ์ในนิตยสารช่อฟ้าหลายสำนวนเหมือนกัน) บก.สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ ท่านเก่งทางด้านโหราศาสตร์อีกด้วย ใช้นามปากกา “หมอทรัพย์ สวนพลู” เขียนคอลัมน์ทำนายโชคชะตาในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และเมื่อออกจากสยามรัฐหลัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แล้วไปเขียนต่อในมติชน จวบจนลาโลกไป
ทางด้านสื่อวิทยุยุคนั้นมีนักจัดรายการดัง ๆ หลายท่าน เช่น “วุฒิ เวณุจันทร์” จัดรายการข่าวสี่มุมเมือง ข่าวชาวบ้าน ที่คนติดตามรับฟังกันมากที่สุด อีกท่านหนึ่งคือ “ปรีชา ทรัพย์โสภา” จัดรายการข่าวหกโมงเช้า ท่านนี้มีเสียงเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง พูดเร็วรัวเป็นเสียงปืนกลจนคนเป็นโรคหัวใจไม่กล้าฟังเลย แม้จะพูดเร็วรัวแต่ก็ชัดเจนมาก อีกท่านหนึ่ง คือ “อาคม ทันนิเทศ” ท่านนี้มีประวัติย่อ ๆ ว่า “เรืออากาศตรีอาคม ทันนิเทศ เดิมชื่อ “คมบาง” มีชื่อเล่น “หรั่ง” เป็นบุตรคนที่ ๕ ของนายวินัยและนางบุญช่วย ทันนิเทศ ในจำนวนพี่น้อง ๑๔ คน ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาย้ายไปอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก จบโรงเรียนจ่าทหารอากาศ รับราชการที่สถานีวิทยุทหารอากาศ AM ๐๑ บางซื่อ (สถานีวิทยุทหารอากาศ AM ๐๑ มีนบุรี) ท่านจัดรายการและนำเรื่องต่าง ๆ มาเล่าออกอากาศทางวิทยุ เช่น กฎแห่งกรรมของ ท.เลียงพิบูลย์ , สามก๊ก ฉบับ เจ้าพระยาพระคลังหน , ผู้ชนะสิบทิศ – ยาขอบ , พม่าเสียเมือง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ประวัติพระสงฆ์ เช่น ประวัติหลวงพ่อชา สุภัทโท , หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ฯลฯ เป็นต้น”
นายทหารอากาศ (ไม่ขาดรัก) ท่านนี้มีเสียงทุ้มนุมนวลชวนฟัง จัดรายการประจำอยู่ทางสถานีวิทยุทหารอากาศบางซื่อ เรื่องที่ท่านอ่านให้คนติดกันอย่างงอมแงมคือเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ ข้าพเจ้าชอบฟังและจำลีลาการทอดเสียงหนักเบา วางจังหวะจะโคน เรื่องที่คนติดกันมากอีกเรื่องหนึ่งคือ “กฎแห่งกรรม” ของ ท.เลียงพิบูลย์ ส่วนเรื่องสามก๊กในสำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่อ่านค่อนข้างยาก แต่ท่านอาคมก็อ่านให้คนฟังเข้าใจได้ไม่ยากด้วยลีลาการอ่านอันยอดเยี่ยมของท่านนั้นเอง
พวกเรารับความรู้ในวิชาการต่าง ๆ ด้านทฤษฎีมาได้ ๔ เดือนเศษ ทางมูลนิธิฯ ก็จะปิดการอบรมด้านทฤษฎี โดยให้เข้ารับการอบรมด้านปฏิบัติบ้าง จะต้องย้ายจากวัดมหาธาตุไปที่ริมทะเลย่านบางละมุงจังหวัดชลบุรี ตอนนี้เกิดปัญหากับข้าพเจ้าคือ พระมหาคำสิงห์วัดราชธานีปรารภกับข้าพเจ้าว่าไม่อยากไปอบรมด้านปฏิบัติแล้ว ซักถามแล้วได้ความว่าเขาได้รับจดหมายจากสีกาสาวผู้คุ้นเคยกันที่สุโขทัย เขียนมาว่า “หลวงพี่คิดจะไม่กลับมาสุโขทัยแล้วใช่ไหม.......” ข้อความตัดพ้อต่อว่ามากมาย ทำให้พระมหาคำสิงห์อยากกลับสุโขทัยทั้ง ๆ ที่อบรมยังไม่เสร็จสิ้น ข้าพเจ้ากับพระไพฑูรย์ต้องห้ามปราม เกลี้ยกล่อมกันอยู่นานจึงยอมอยู่รับการอบรมจนกว่าจะจบโครงการ “หญิงเป็นมลทินต่อพรหมจรรย์” อย่างนี้นี่เอง /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๙๖ - การไปเข้ารับการอบรมภาคปฏิบัติที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีนั้น มีการเตรียมการด้านสถานที่รองรับงานนี้ไว้ ณ บริเวณริมทะเลหาดกระทิงลาย หนองปลาไหล ทราบว่าเป็นที่ดินของคุณหญิงเชิญ พิศลยบุตร และ นาวสาวเล็ก ล่ำซำ ผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของมูลนิธิอภิธรรมฯ และการอบรมพระหน่วยพัฒนาการทางจิต ส่วนทางพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตนั้น ให้ท่องคำขอคำมานัตต์ อัพภาน เพราะการเรียนภาคปฏิบัตินั้นจะต้องเข้ากรรม คืออยู่ปริวาสกรรมพร้อมปฏิบัติวิปัสสนา นอนกลางดินกินกลางทราย มีกลดเป็นที่อาศัยหลับนอน พอไดทราบว่าจะต้อง “อยู่ปริวาสกรรม” มีพวกเราหลายองค์คัดค้าน ไม่เห็นด้วยที่จะต้องอยู่ปริวาสกรรม เพราะไม่เคยต้องอาบัติสังฆาทิเสสเลยแม้แต่ข้อเดียว ทำไมจึงต้องให้เข้ากรรมเป็นพระนักโทษด้วยเล่า
อาบัติสังฆาทิเสส เมื่อภิกษุต้องเข้าแล้วต้องอยู่กรรมนั้นมี ๑๓ ข้อ คือ
๑. ปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน ๒. เคล้าคลึง จับมือ จับช้องผม ลูบคลำ จับต้องอวัยวะอันใดก็ตามของสตรีเพศ ๓. พูดจาหยาบคาย เกาะแกะสตรีเพศ เกี้ยวพาราสี ๔. การกล่าวถึงคุณในการบำเรอตนด้วยกาม หรือถอยคำพาดพิงเมถุน ๕. ทำตัวเป็นสื่อรัก บอกความต้องการของอีกฝ่ายให้กับหญิงหรือชาย แม้สามีกับภรรยา หรือแม้แต่หญิงขายบริการ ๖. สร้างกุฏิด้วยการขอ ๗. สร้างวิหารใหญ่ โดยพระสงฆ์มิได้กำหนดที่ รุกรานคนอื่น ๘. แกล้งใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล ๙. แกล้งสมมุติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล ๑๐ ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน ๑๑. เป็นพวกของผู้ที่ทำสงฆ์ให้แตกกัน ๑๒. เป็นผู้ว่ายากสอนยาก และต้องโดนเตือนถึง ๓ ครั้ง ๑๓. ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ประจบคฤหัสถ์
ท่านเจ้าคุณอาจารย์ฝ่ายวินัยอธิบายให้พวกเราเข้าใจว่า การอยู่ปริวาสกรรมเป็นการ “รวบยอด” ผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส กล่าวคือพระบางองค์ต้องสังฆาทิเสสโดยรู้ตัวอยู่ว่าเป็นอาบัติแล้ว ปกปิดไว้ เช่น มีความกำหนัดมากจนระงับไม่ได้ต้องทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนเพื่อความคลายกำหนัดนั้น เป็นต้น บางองค์ต้องอาบัติโดยไม่รู้ตัวว่าเป็นอาบัติ เช่น สร้างกุฏิหลังใหญ่โดยสงฆ์มิได้กำหนดที่ให้ เป็นต้น บางองค์สงสัยว่าตนเองเป็นอาบัติหรือไม่ เช่น พูดเป็นสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกันสำเร็จหรือไม่ก็ตาม อย่างนี้เป็นต้น การอยู่ปริวาสกรรมก็เพื่อแก้ไขโทษดังกล่าว ในคำกล่าวขอมานัตต์จะมีคำว่า “รู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม” เมื่อเข้าอยู่กรรมและขออัพภานออกจากรรมแล้วก็เป็นอันหมดโทษ หมดความสงสัยว่าตนบริสุทธิ์หรือไม่ ท่านได้ให้เหตุผลว่าทำไมพวกเราจึงต้องเข้าอยู่ปริวาสกรรมอีกมากมาย เช่น เล่าที่มาของเรื่องการอยู่ปริวาสกรรมว่ามีตำนานเล่าสืบกันมาว่า
"ในสมัยพุทธกาล ในช่วงที่พระภิกษุสงฆ์จะเข้าปริวาสกรรมมีพระสงฆ์รูปหนึ่ง ล่องเรือไปตามแม่น้าคงคา ได้เอามือไปจับใบตะไคร่น้ำขาดเพียงเล็กน้อย การทำลายชีวิตในครั้งนั้นเข้าใจว่าเป็นเพียงบาปเล็กน้อย เป็นอาบัติอย่างเบา จึงไม่แสดงอาบัติ แต่เหตุในครั้งนั้นก็ยังคงค้างคาอยู่ในใจของภิกษุรูปนั้นอยู่เสมอตลอดระยะเวลาในช่วงเวลาที่ปฏิบัติธรรมในป่าและคงอยู่เป็นเวลานาน แต่เมื่ออยากแสดงอาบัติในการทำใบตะไคร่น้ำขาดในครั้งนั้นก็ไม่มีภิกษุรูปใดรับฟัง เมื่อภิกษุรูปนี้ได้มรณภาพลง บาปกรรมก็ยังติดตัวไปยังภพใหม่ด้วย"
ที่สุดพวกเราก็ยอมรับโดยดุษฎีภาพ
ทางมูลนิธินำกลดอันเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเข้าอยู่ปริวาสกรรมมาให้พวกเราครบทุกองค์ เปลี่ยนสีจีวรเป็นสีกรัก (เหลืองคล้ำจนดูดำ) ข้าพเจ้าเคยออกเดินธุดงค์มาแล้วจึงไม่คิดอะไรมากไปกว่า ”ได้เวลาออกธุดงค์อีกแล้ว” การอยู่ปริวาสกรรมข้อปฏิบัติคล้ายการประพฤติธุดงค์ กล่าวคือพิธีกรรม ในหนังสือวินัยมุขกล่าวว่า พระสงฆ์ผู้เข้ากรรมต้องประพฤติมานัตต์แปลว่า "นับราตรี" ครบหกราตรี แล้วสงฆ์จึงจะสวดระงับอาบัติเรียกว่า "อัพภาน" แปลว่า "เรียกเข้าหมู่" แต่พระต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ล่วงเลยนานวันเท่าใดต้องอยู่ปริวาส ซึ่งแปลว่า "อยู่ใช้ให้ครบวัน เท่านั้น" ก่อนจึงควรประพฤติมานัตต์ได้ต่อไป ถ้าในระหว่างอยู่ปริวาสต้องบัติอีก จะต้องกลับอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์ใหม่ เรียกว่า "ปฏิกัสสนา" แปลว่า กิริยาชักเข้าหาอาบัติเดิม เรียกว่า "อยู่ปริวาส"
เมื่อจะเข้าปริวาสให้กล่าวคำสมาทานต่อสงฆ์ โดยกราบพระภิกษุผู้แก่พรรษากว่าซึ่งสามารถสวดให้ปริวาสได้รูปหนึ่งว่า “ปริวาสัง สมาทิยามิ หรือ วัตตัง สมาธิยามิ” ๓ หนก็ได้ และถ้าไม่อาจอยู่ปริวาสต่อไปได้จะเก็บปริวาสก็กล่าวว่า ”ปริวาสัง นิกขิปามิ หรือวัตตังนิกขิปามิ” ๓ หน ต่อหน้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง และตอนหกราตรีต่อมาเรียกว่า “อยู่มานัตต์” ซึ่งมีคาถาสวดเพื่อเข้ามานัตต์ต่อหน้าสงฆ์ โดยกราบพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้แก่พรรษา ซึ่งสามารถสวดให้มานัตต์ได้ โดยกล่าวขอสมาทานมานัตต์ก่อน แล้วจึงสมาทานวัตตังดังนี้ “มานัตตัง สมาทิยามิ วัตตัง สมาทิยามิ” ๓ หน แล้วประพฤติให้ครบหกราตรี แต่ถ้ามีเหตุอันจำเป็นต้องพักเก็บมานัตต์ จะกล่าวคำเก็บมานัตต์ต่อหน้าพระภิกษุผู้แก่พรรษา โดยว่าวัตต์ก่อนแล้วจึงว่าเก็บมานัตต์ ดังนี้ “วัตตัง นิกขิปามิ มานัตตัง นิกขิปามิ” ๓ หน ถ้าต้องการเข้ามานัตต์ต่ออีก ก็ขอสมาทานมานัตต์ดังกล่าวแล้ว เมื่อเข้ากรรมครบกำหนดคืออยู่มานัตต์ครบหกราตรีแล้ว จึงอัพภาน คือออกจากรรมได้แก่การออกจากอาบัติสังฆาทิเสส กลับเป็นพระปกติปราศจากอาบัติ
การประพฤติธุดงค์ก็มีการสมาทานธุดงค์ เก็บธุดงค์ เช่นเดียวกับการเข้าปริวาส เก็บปริวาส ต่างกันแต่เพียงสมาทานธุดงค์เก็บธุดงค์ ไม่ต้องทำต่อหน้าพระภิกษุเหมือนเข้าและเก็บปริวาสเท่านั้น ที่พระหน่วยพัฒนาทางจิตพวกข้าพเจ้าค้านการเข้าอยู่ปริวาสก็เพราะ พระที่เข้ากรรมหรืออยู่ปริวาสกรรมนี้จะต้องถูกลดฐานะของตนเองลงไม่มีสังวาสเสมอสงฆ์ นั่งเสมอพระภิกษุปกติไม่ได้ เดินนำหน้าพระปกติก็ไม่ ทำอะไร ๆ ที่เคยทำเหมือนพระปกติไม่ได้ กลายเป็นพระนักโทษไปเลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๙๗ - วันนั้นรถบัสหลายคันบรรทุกพวกเราพระภิกษุ “หน่วยพัฒนาการทางจิต” ๓๐๐ องค์ จากวัดมหาธาตุฯท่าพระจันทร์ไปเข้าค่ายอบรมด้านปฏิบัติที่กระทิงลาย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เป็นขบวนยาว มีรถตำรวจนำหน้าและปิดท้ายขบวน ตามรายทางถนนสุขุมวิทก็มีตำตรวจคอยดูแลรักษาการณ์ระวังเหตุเป็นระยะ ๆ ไป ชาวบ้านร้านตลาดที่พบเห็นจะชื่นชมอนุโมทนาบุญหรือก่นด่าอย่างไรบ้าง พวกเราไม่รู้เลย
ไปถึงสถานที่ภาคปฏิบัติตามโครงการแล้ว เข้าห้องประชุมที่กางเต็นท์ทำเป็นโรงปรำขนาดใหญ่ รับฟังกฎกติกาข้อปฏิบัติต่าง ๆ ในการอยู่ค่ายอบรมภาคปฏิบัติที่นี่ หลังจากฉันอาหารเพลแล้วรับเสื่อกกสำหรับปูนั่งนอนคนละผืน แบกกลดเดินหาทำเลที่ชอบเพื่อปักกลด ข้าพเจ้าเลือกที่ถูกใจได้ใกล้ต้นกระทิงลายซึ่งยืนต้นโดดเดี่ยวกลางสนามหญ้าบนผืนดินปนทราย บริเวณที่พวกเราปักกลดนั้นนัยว่าเป็นป่าระกำที่ดินของนางสาวเล็ก ล่ำซำ ซึ่งไม่ได้ทำประโยชน์อะไร อุปกรณ์หรือสัมภาระของพวกเราไม่มีอะไรมาก มีเพียงแปรงและยาสีฟันเป็นสำคัญ สบง จีวร สังฆาฎิ ผ้าอาบ อย่างละผืน ย่ามที่ใส่ของใช้จุกจิกเช่นปากกากระดาษสมุดสำหรับขีดเขียนอะไร ๆ ที่อยากจะเขียน รวมทั้งโน้ตข้อความที่อาจารย์กล่าวในการอบรมเท่านั้น
บ่ายวันนั้นในพื้นที่ปาระกำสิบไร่เศษริมทะเลย่านกระทิงลาย เต็มไปด้วยกลดขาวของพระหน่วยพัฒนาการทางจิต ปักกางขาวพรึดแลดูราวดอกเห็ด เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็น
พวกเราได้รับการอุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัยสี่จากญาติโยมทั่วไป พระเถระเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดชลบุรี เป็นผู้นำคณะญาติโยมในกลุ่มศรัทธาของตนมาจองคิวขอเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเช้า-กลางวัน และน้ำปานะ (เครื่องดื่ม) เวลาเย็นกันมากมาย มิใช่แต่ชาวจังหวัดชลบุรีเท่านั้น แม้ในจังหวัดใกล้เคียงคือระยอง ฉะเชิงเทรา และชาวกรุงเทพฯ ก็ตามไปขอเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารพวกเราด้วย
ค่ำวันนั้นมีการประชุมชี้แจงระเบียบปฏิบัติ แนะนำให้รู้จักพระอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าฝึกอบรมเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน คือ พระครูใบฎีกาพยนต์ เขมเทโว วัดเกตุมดีศรีวราราม ตำบลบางโทรัด อำเภอเมืองสมุทรสาคร (ภายหลังได้เป็นพระครูภาวนาวรคุณ) ท่านมีประวัติว่า เกิดเมื่อ ๑๙ กพ. ๒๔๗๖ ที่บางโทรัค อ.เมืองสมุทรสาคร เมื่อเจริญวัยได้สมัครเข้าเรียนวิชาเครื่องยนต์และวิชาเดินเรือ จบแล้วประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเดินเรือ เป็นผู้ควบคุมเรือชื่อศรีสมุทร คุณแม่เห็นมีนิสัยชอบเดินทะเล จึงได้ซื้อเรือเดินทะเลให้ ๑ ลำ ชื่อเรือศรีบุญล้อม โดยให้เป็นผู้ควบคุมเรือเดินทะเลระหว่างกรุงเทพฯ ไปจังหวัดชายทะเลต่าง ๆ ทิศใต้ไปถึงสงขลา ทิศตะวันออกไปถึงจันทบุรี และตราด เมื่ออายุ ๒๐ ปีไปสมัครเรียนโรงเรียนนายสิบ เป็นตำรวจน้ำนอกเกณฑ์ในกองบัญชาการตำรวจน้ำ จบแล้วบรรจุเป็นตำรวจน้ำ ได้ไปปราบโจรสลัดจีนในทะเลร่วมกับพลตำรวจตรีนิจ สุขุม ผู้บังคับการตำรวจน้ำ โดยเรือตำรวจชาติตระการโกศล สู้รบกับโจรจีนในทะเล สามารถจับโจรจีนและได้เรือโจร ๔ ลำ นำเข้าไปควบคุมไว้ดำเนินคดีที่ปากน้ำชุมพร แล้วกลับมาประจำที่แผนก ๑ กอง เมื่อมียศเป็น สิบตำรวจเอก ได้ลาบวชตามประเพณี ลาบวชได้ ๑๒๐ วัน ลาสิกขาไปรับราชการตามเดิม แล้วลาออกจากราชการกลับมาบวชใหม่ ได้เรียนพระกรรมฐานจากท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์ (เจิม คุณาบุตร) พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์ นิมนต์ให้เข้าไปอยู่ในสำนักเกตุมดีย์ฯ ขณะนั้นเรียกว่า พุทธเจดีย์กลางทุ่ง เริ่มจัดปริวาสกรรมและดิถีปริวาสของคฤหัสถ์ โดยการอุปถัมภ์ของท่านพ่อบัณฑูรย์สิงห์ จนกระทั่งท่านมรณกรรม จึงได้จัดการขอยกสำนักเกตุมวดีย์ขึ้นเป็นวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในที่สุด
วันรุ่งขึ้นพวกเราถูกจัดเป็นกลุ่มแยกย้ายกันไปทำพิธีกรรมขอมานัตต์ต่อสงฆ์ในอุโบสถวัดต่าง ๆ ที่ใกล้บริเวณนั้น เปลี่ยนฐานะของตนจากพระภิกษุปกติ เป็น “พระอยู่กรรม” (นักโทษ) โดยทั่วถึงกัน ค่ำลงก็ประชุมทำวัตรสวดมนต์ที่ลานกลางแจ้งซึ่งจัดทำไว้อย่างดี ที่ตรงนี้เป็นศูนย์กลางของพวกเรา ในวันต่อ ๆ มาหลังทำวัดสวดมนต์แล้วก็จะนั่งกรรมฐานเจริญภาวนา
วันที่ ๓ จึงเริ่มเรียนพระกรรมฐานที่พระครูใบฎีกาพยนต์บรรยายทฤษฎีตามแนวของท่าน ตอนท้ายให้นั่งเจริญภาวนา แนวทางปฏิบัติกรรมฐานที่ท่านบรรยายไม่ตรงกับหลักปริยัติที่พวกเราเรียนกันมาจากตำราเรียน หลายคนจึงคัดค้าน ซักถามกันวุ่นวายไปหมด ส่วนมากลงความเห็นว่าพระอาจารย์องค์นี้ไม่มีความรู้พอที่จะสอนพวกเราได้ เพราะคำสอนท่านผิดเพี้ยนไปจากแบบเรียนตามหลักสูตรปริยัติธรรม บางองค์ถึงกับขอร้องให้อาจารย์กิตติวุฑโฒ เปลี่ยนตัวผู้สอนเป็นองค์อื่น เช่นขอท่านเจ้าคุณโชดก หรือพระครูประกาศสมาคุณ วัดมหาธาตุฯมาแทน แต่อาจารย์กิตติไม่ยอม บอกว่าองค์นี้แหละดีแล้ว ขอให้อดทนรับฟังท่านต่อไปเถิด แล้วเตือนสติพวกเราว่า
“อย่าลืมว่าขณะนี้พวกท่านเป็นพระอยู่กรรม มิใช่พระปกติแล้ว”
ฟังคำเตือนสติดังกล่าวพวกเราก็ได้คิด รู้ตัวเองว่าไม่ใช่พระปกติ ตอนนี้จะไปอยู่ที่ไหน ๆ ก็ไม่มีฐานะเป็นพระภิกษุที่มีสิทธิเสมอภิกษุปกติทั่วไป จนกว่าจะขออัพภานออกพ้นกรรม จึงอดทนรับการอบรมจากท่านพระครูใบฎีกาพยนต์ต่อไป
ตอนนั้นวิทยุปักกิ่งส่งกระจายเสียงมาจากประเทศจีนประกาศข่าวว่า “พวกโจรห้าร้อย สุนัขตามก้นรับใช้อเมริกา ย้ายสถานที่ส้องสุมไปชุมนุมอยู่ชายทะเลในเมืองชลแล้ว” หลายคนได้ฟังข่าวนี้แล้วพากันเป็นเดือดเป็นแค้น แต่ข้าพเจ้าฟังแล้วกลับรู้สึกขำขัน ที่ตนเองกลายเป็นพวกโจรห้าร้อยในสายตาของพวกคอมมิวนิสต์ไปเสียแล้ว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), หยาดฟ้า, ลิตเติลเกิร์ล, มนชิดา พานิช, ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, malada, เฒ่าธุลี, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๙๘ - “ลานธรรมกระทิงลาย” พวกเราเรียกชื่อสถานที่ซึ่งเราไปนอนกลางดินปฏิบัติธรรมในฐานะพระนักโทษนั้นอย่างเพราะพริ้ง ที่ตรงนั้นเวลากลางวันแดดร้อนมาก ดีที่พวกเราไม่ได้นั่งนอนอยู่ในกลดกลางแดด แต่ไปอยู่ในเต็นท์ฟังคำบรรยายเรื่องการปฏิบัติสมถะกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานที่มีผู้รู้หลายท่านมาบรรยายสลับกับพระครูใบฎีกาพยนต์ตั้งแต่เช้ายันเพล พักฉันอาหารกลางกันแล้วก็หาที่พักผ่อนตามร่มไม้ชายคาที่มีอยู่ในพื้นที่ของโยมคุณหญิงเชิญ พิศลยบุตร ร่มไม้ที่ข้าพเจ้ากับพวกยึดเป็นร่มเงาคือต้นขนุนกับสาเกที่แผ่ร่มเงาใหญ่พอสมควร ร่มไม้แห่งนี้ถูกเรียกชื่อว่า “ขนุนสาเกไขว้” เพราะกิ่งก้านสาขาไขว้กัน ดังนั้นกลุ่มของข้าพเจ้าก็พลอยถูกเรียกว่า กลุ่มขนุนสาเกไขว้ไปด้วย
กลุ่มขนุนสาเกไขว้มี พระครูปิยธรรมภาณี(บุญมา) เป็นประธานกลุ่ม พระครูสาครสังวรกิจ (ชุบ) เป็นรองประธาน พระมหาอุดม เป็นเลขาฯ สมาชิกกลุ่มประกอบด้วย ข้าพเจ้า, พระปลัดวิชัย, พระธรรมธรสำลี,พระดำรง, พระสมุห์ประจวบ, พระใบฎีกาสวง, พระมหาสุเมธ, พระมหาน้ำเงิน. พระวิเชียร, พระมหาบุญช่วย, พระมหาคำสิงห์. พระไพฑูรย์, สามเณรประสิทธิ์ และที่จำชื่อไม่ได้อีกนับสิบองค์ซึ่งเป็นขาประจำ และยังมีขาจรอีกหลายสิบองค์ ท่านพระครูปิยธรรมภาณี นามเดิมว่าบุญมา มาจากวัดดอนชัย อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ พระครูสาครสังวรกิจ นามเดิมว่าชุบ มาจากวัดยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ท่านทั้งสองนี้ลักษณะนิสัยตรงกันข้าม พระครูปิยธรรมภาณี มีนิสัยอ่อนโยนสุภาพเรียบร้อยมีเมตตาธรรมสูง พวกเราให้ความเคารพนับถือท่านมาก พระครูสาครสังวรกิจ มีนิสัยค่อนไปทางนักเลง พูดจากโผงผางตรงไปตรงมาซื่อสัตย์จริงใจ พวกเราก็เคารพรักท่าน
กลุ่มขนุนสาเกไขว้ของเราพูดคุยกันหลากหลายเรื่องความรู้ บางวันก็นำเอาคำสอนคำบรรยายองอาจารย์มาวิเคราะห์ วิพากย์ วิจารณ์ กันอย่างสนุก ส่วนมากเพื่อน ๆ จะตั้งประเด็นให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำในการอภิปราย โดยมีเพื่อน ๆ ช่วยกันเสริมต่อ เฉพาะเรื่องที่พระครูใบฎีกาพยนต์บรรยายเรื่องวิปัสสนาตามแนวของท่านนั้น ข้าพเจ้าไม่คิดค้าน และอภิปรายให้เพื่อน ๆ ยอมรับฟังด้วยเหตุผลที่ว่า คำสอนในแบบเรียนพระปริยัตินั้นเป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น การปฏิบัติกรรมฐานก็วางแนวไว้กว้าง ๆ เช่น สมถะ ที่ให้อารมณ์หรือองค์ภาวนาไว้ถึง ๔๐ อย่าง ให้เลือกใช้กันตามจริตของแต่ละคน คือ กสิณ ๑๐ มี ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เป็นต้น อสุภ ๑๐ มี อุทธุมาตกะ วินีลกะ เป็นต้น อนุสสติ ๑๐ มี พุทธานุสสติ ธรรมมานุสสติ เป็นต้น อาหาเรปฎิกูลสัญญา ๑ คือ การพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร จตุธาตุววัฎฐาน ๑ คือ พิจารณา ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น เฉพาะอนุสติ ๑๐ นั้น นิยมเลือกคำในพุทธานุสสิ ที่ว่า พุทโธ บ้าง อะระหัง บ้าง อะระหังสัมมา บางท่านก็ว่า สัมมาอะระหัง ถือว่าเป็นพุทธานุสสติได้เช่นกัน
ทราบมาว่าบางท่านใช้กสิณ ๑๐ ข้อใดข้อหนึ่งเป็นอารมณ์ และนิยมใช้เตโชกสิณ จุดเทียนหรือตะเกียงน้ำมัน นั่งเพ่งเปลวไฟภานาว่าไฟ ๆๆๆ จนบางท่านถึงกับสติวิปลาสไปเลยก็มี บางท่านใช้ อสุภะ เป็นองค์ภาวนา เพ่งซากศพน้ำเลือดน้ำหนองเห็นเป็นปฏิกูล จนถึงกับเอามูตรคูถมาถูทาตัวก็มี อาการเหล่านี้ท่านเรียกว่ากรรมฐานแตก สมัยเป็นเณรออกเดินธุดงค์ได้พบปะพระอาจารย์กรรมฐานมากมาย สอบถามองค์ภาวนาและวิธีการปฏิบัติแล้วพบว่าแนวทางขอ่งแต่ละท่านไม่ค่อยเหมือนกัน อย่างพระอาจารย์พยนต์ของเรานี่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง
พระเพื่อน ๆ ต่างก็ซักถามและต่อเติมกันตามความคิดเห็นของตน ๆ ข้าพเจ้าจึงกลายเป็นวิทยากรประจำกลุ่มไปโดยปริยาย การตั้งกลุ่มและมีพฤติกรรมดังกล่าว ท่านอาจารย์กิตติวุฑโฒทราบแล้วก็มิได้ห้ามปราม กลุ่มของข้าพเจ้าจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกครั้งที่ “ธรรมสากัจฉา” กันแล้ว ก็จะพร้อมกันนั่งเจริญภาวนาก่อนแยกย้ายกันไป
วันหนึ่ง พระมหาอุดมเสนอความคิดว่า
“พวกเราสิ้นสุดการอบรมแล้วก็ต้องแยกย้ายกันไปตั้งหน่วยพัฒนาการทางจิตประจำจังหวัดของตนเพื่อเผยแผ่ธรรมตามโครงการของหน่วยพัฒนาการทางจิต คงไม่มีโอกาสกลับมารวมกันที่นี่อีก จึงควรทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่สังคม และเป็นอนุสรณ์ของพวกเรา ใครเห็นว่าเราควรทะอะไรกันดี”
มีหลายคนเสนอให้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้หลายโครงการ ข้าพเจ้าไม่คัดค้าน แต่เสนอโครงการตามความคิดของตนว่า
“เราควรเสนอให้มูลนิธิอภิธรรมเราจัดตั้งโรงเรียนสำหรับสามเณรขึ้น โดยพวกเราที่กลับไปจังหวัดของตนแล้วคัดเลือกเด็กชายที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาเพราะฐานะยากจน ชักชวนให้เขาบรรพชาเป็นสามเณร แล้วส่งเข้าเรียนในโรงเรียนของมูลนิธิฯ เป็นการสงเคราะห์ชาวบ้านผู้ยากจนอีกทางหนึ่ง”
ข้อเสนอของข้าพเจ้า พระครูปิยธรรมภาณี พระครูสาครสังวรกิจ พระมหาอุดมและเพื่อนหลายคนเห็นด้วยทันที
เมื่อข้อเสนอของข้าพเจ้าได้รับการสนับสนุนเป็นเอกฉันท์หลังการอภิปรายของเพื่อน ๆ จบลงแล้ว พระมหาอุดม จึงนำพระครูปิยะพระครูสาครและข้าพเจ้าเข้าพบอาจารย์กิตติวุฑโฒ เรียนให้ท่านทราบข้อเสนอของพวกเรา ท่านเห็นด้วยและรับว่าจะเร่งทำรายละเอียดการจัดตั้งโรงเรียนคามโครงการไปกราบเรียนเสนอสมเด็จป๋า (สมเด็จพระวันรัต ) ประธานหน่วยพัฒนาการทางจิตให้ทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๙๙ - อากาศชายทะเลที่พวกเราไปอยู่ค่ายอบรมภาคปฏิบัติกันนั้นไม่เป็นดั่งใจปรารถนาของพวกเราเลย กลางวันร้อนอบอ้าวมาก แม้จะหลบแดดเข้าอยู่ตามร่มไม้ชายคาก็หนีร้อนไม่พ้น ลมทะเลที่พัดมาแทนที่จะเป็นลมเย็น ก็เป็นลมร้อน อากาศจะเริ่มร้อนตั้งแต่เวลาประมาณ ๙ โมงเช้า ทวีความแรงขึ้นแล้วผ่อนลงเวลาประมาณ ๔ โมงเย็น เวลา ๑ ทุ่มอันเป็นเวลาที่พวกเราร่วมกันทำวัตรสวดมนต์และนั่งเจริญกรรมฐาน เดินจงกรม อากาศจะเย็นสบาย ลมที่เคยร้อนก็กลายเป็นลมเย็นและทวีความเย็นขึ้นเรื่อย ๆ จนรูสึกหนาวมากในเวลาเที่ยงคืน ความเปลี่ยนแปลงของอากาศดังกล่าวทำให้พระพวกเราหลายองค์ปรับสภาพร่างกายไม่ทัน จึงเกิดการเจ็บป่วยกันหลายองค์ ดีที่ทางโรงพยาบาลสมเด็จฯ ส่งแพทย์พยาบาลมาอยู่ดูแลพวกเราเป็นประจำทั้งวันทั้งคืน
# โรงพยาบาลสมเด็จฯมีความเป็นมาที่ควรรู้ดังนี้
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เป็นโรงพยาบาลที่เก่าแก่ที่สุดในสังกัดสภากาชาดไทย เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย สร้างขึ้นตามพระประสงค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หลังจากพระองค์เสด็จประพาสและประทับพักฟื้น ณ พระตำหนัก ตำบลบางพระ จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ในการนี้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ได้จัดสร้างเรือนไม้ยื่นลงในทะเลตำบลศรีราชา เพื่อเป็นพระตำหนักแห่งใหม่และเชิญเสด็จจากตำบลบางพระมาประทับที่นี่ แต่พระตำหนักเรือนไม้ดังกล่าวอยู่ในน้ำ คับแคบและไม่แข็งแรง ราว ๑ ปีหลังสร้างเสร็จ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงทรงพระดำริเลือกหาพื้นที่บนชายฝั่งตำบลศรีราชาสำหรับสร้างพระตำหนัก จนกระทั่งพระองค์พอพระทัยพื้นที่บริเวณเนินเขาชายทะเลด้านทิศใต้ของพระตำหนักไม้เดิม ตามที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์และเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีถวายความเห็น ต่อมามีพระกระแสรับสั่งให้จัดสร้างพระตำหนักใหญ่ ๓ ชั้นขึ้นหลังหนึ่งสำหรับเป็นที่ประทับ และเรือนหลังย่อม ๆ อีก ๔-๕ หลัง ระหว่างที่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีประทับอยู่ที่ตำหนักแห่งนี้ มีข้าราชบริพารและเจ้าหน้าที่รักษาพระองค์เป็นจำนวนมากที่เจ็บป่วย ประชาชนในเขตตำบลนี้ย่อมต้องเจ็บป่วยเช่นเดียวกัน ด้วยพระทัยเต็มไปด้วยการกุศลสาธารณะจึงทรงมีดำริให้สร้างสถานพยาบาลขึ้นในบริเวณใกล้เคียงพระตำหนักของพระองค์ ในช่วงก่อตั้งมีพระบำบัดสรรพโรค (หมอเอช. อาดัมสัน) เป็นผู้ช่วยในการวางแผนผังการก่อสร้าง โดยสร้างเป็นเรือนหลังคามุงจาก ๒ ชั้นขึ้นก่อน ๑ หลัง แล้วเพิ่มขึ้นอีก ๔ หลังเป็นกลุ่มอาคารเดียวกันยื่นลงไปในทะเล การก่อสร้างสถานพยาบาลใหม่นี้แล้วเสร็จในต้นเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา อธิบดีกรมพยาบาล กระทรวงธรรมการ เสด็จประกอบพิธีเปิดสถานพยาบาลนี้ในวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ มีชื่อเรียกในขณะนั้นว่า “โรงพยาบาลศรีมหาราชา” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าพระราชทานนามโรงพยาบาลนี้ว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ”
วันหนึ่งช่วงเช้าฟังคำบรรยายเรื่องสติปัฏฐานของพระครูใบฏีกาพยนต์ ท่านร่ายยาวจนถึงเวลาฉันเพลเลย ภาคบ่ายไม่มีการบรรยายพวกเราในกลุ่มขนุนสาเกไขว้ ๕ องค์จึงถือโอกาสหนีเที่ยวนั่งรถเมล์ไปศรีราชา ช่วงเวลานั้นน้ำทะเลลดลงจนแห้งตั้งแต่ชายฝั่งไปถึงเกาะลอย จึงพากันเดินจากหาดทรายไปเที่ยวเกาะลอยได้สะดวกสบาย บนเกาะลอยอากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนเหมือนที่หาดกระทิงลาย พวกเราจึงพักผ่อนกัน ข้าพเจ้ากันสามเณรประสิทธิ์ขึ้นไปนั่งทำสมาธิเจริญอานาปานสติกำหนดลมหาบใจเข้าออกกันบนฐานเจดีย์เรียงหิน อยู่บนเกาะลอยจนตะวันชายลงบ่ายโข น้ำทะเลกำลังเริ่มขึ้น จึงพากันจากเกาะลอยกลับกระทิงลาย
คืนนั้น ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนอนหลับสบายในสายลมอันเยือกเย็นต้องสะดุ้งตื่น เมื่อพระดำรงมาปลุกให้ไปดูเณรประสิทธิ์ที่กลดห่างจากข้าพเจ้าประมาณ ๑๐ เมตร ไปถึงก็พบว่ามีเพื่อนพระ ๓-๔ องค์พร้อมแพทย์พยาบาลกำลังจะนำตัวเณรไปโรงพยาบาล ทราบคร่าว ๆ ว่าเณรประสิทธิ์มีอาการ น้ำอสุจิเคลื่อนไหลไม่หยุด หมอต้องรีบนำตัวไปโรงพยาบาลสมเด็จฯ พระดำรงขอให้ข้าพเจ้านั่งรถโรงพยาบาลไปกับเณรด้วยในฐานะเจ้าของไข้ เพราะสามเณรประสิทธิ์ไปเข้ารับการอบรมในนามของจังหวัดพิตรซึ่งเป็นจังหวัดกลุ่มเดียวกันกับสุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พระในกลุ่มจังหวัดนี้ตกลงให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้ากลุ่ม ดังนั้นจึงต้องไปในฐานะเจ้าของไข้ของน้องเณรอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
พระดำรงเล่าให้ฟังว่า ใกล้เที่ยงคืนวันนั้นเขานอนไม่หลับก็คิดจะไปชวนเณรคุยกัน พอไปถึงกลดได้ยินเสียงเณรร้องคราง เปิดมุ้งกลดดูก็ได้กลิ่นเหม็นคาวคลุ้ง เณรประสิทธิ์ส่งเสียงครางเบา ๆ รู้สึกตกใจมาก รีบไปแจ้งแพทย์ที่กองอำนวยการให้มาดูพบว่าน้ำอสุจิเณรไหลนองไม่หยุดจึงต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เมื่อหมอทำการรักษาพยาบาลจนปลอดภัยแล้ว ข้าพเจ้าถามหมอว่าเณรเป็นโรคอะไร ท่านบอกว่าน้ำกามไหลไม่หยุด หากมาช้ากว่านี้สัก ๑๐ นาทีคนไข้ไม่รอดแน่เลย เมื่อถามถึงสาเหตุ หมอตอบในเชิงสันนิษฐานว่า คนไข้นอนบนพื้นดินทรายที่เก็บความร้อนในตอนกลางวันไว้ กลางคืนจึงคายความร้อนในขณะที่ลมหนาวเย็นพัดมา ร่างกายคนไข้ต้องรับความร้อนกับความเย็นพร้อมกันจึงปรับสภาพร่างกายไม่ทัน เป็นเหตุให้ถุงน้ำกามเปิดอ้าจนน้ำไหลออกไม่หยุด หมอคิดว่าเป็นดังกล่าวนี้นะ ไม่รู้ว่าจะถูกหรือเปล่า เพราะเพิ่งพบคนไข้มีอาการอย่างนี้เป็นรายแรก ฟังคำตอบของหมอแล้วก็รู้สึกมีนงงไปเลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ ตุลาคม ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๐๐ - จบการอบรมภาคปฏิบัติตามกำหนด พวกเราแยกย้ายกันไปเข้าพิธีสังฆกรรมขออัพภานตามวัดต่าง ๆ ใกล้บริเวณนั้น กลับเป็น “พระปกตัตตะภิกษุ” คือเป็นภิกษุตามเดิม ซึ่งเขาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เหมือนพระบวชใหม่ ค่ำวันนั้นทางมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยจัดงานใหญ่รับการกลับเป็นภิกษุปกติของพวกเรา ก่อนปิดการอบรมแลอำลาสะถานที่กระทิงลาย งานใหญ่นั้นมิใช่งานลี้ยง แต่เป็นงานพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลเป็นที่ระลึก
ตามปกติแล้วมูลนิธิอภิธรรมไม่เคยจัดสร้างพระพุทธรูปและวัตถุมงคลใด ๆ ให้ประชาชนเช่าบูชาหาเงินเข้ามูลนิธิเลย เงินเป็นร้อยล้านที่เข้าสู่มูลนิธินั้นได้มาจากการพูดของพระอาจารย์กิตติวุฑโฒอย่างเดียวเท่านั้น สมัยนั้นวัดต่าง ๆ จัดทำวัตถุมงคล ปลุกเสกวัตถุมงคลให้เช่าบูชาหาเงินเข้าวัดกันเกร่อไป มีมูลนิธิอภิธรรมนี้แห่งเดียวที่ใช้ธรรมะจากปากพระกิตติวุฑโฒหาเงินเข้ามูลนิธิฯ คราวนี้เป็นครั้งแรกที่ทางมูลนิธิฯ สร้างวัตถุมงคลเป็นเหรียญพระพุทธรูปศิลปะคุปตะกะไหล่ทอง มิได้มีความประสงค์สร้างให้คนเช่าบูชาหาเงินเข้ามูลนิธิฯ หากแต่สร้างให้เป็นที่ระลึกของพระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิต และมอบแก่ญาติโยมที่ให้การสนับสนุนงานของมูลนิธิฯ เท่านั้น
สถานที่ทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลก็คือลานธรรมกระทิงลายที่พวกเราใช้นั่งทำวัตรสวดมนต์และเจริญกรรมฐานกันนั่นเอง พระเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสกวัตถุมงคลนั้นก็คือ พวกเราทุกองค์ที่ออกจากปริวาสกรรมเป็นพระภิกษุบริสุทธิ์แล้ว ในหมู่พวกเรานั้นมีพระผู้ใหญ่ที่มีวิทยาคมอยู่หลายองค์ เช่น พระครูปิยธรรมภาณี หรือหลวงพ่อบุญมา วัดดอนชัย อ.สันป่าตอง เชียงใหม่ พระครูสาครสังวรกิจ หรือหลวงพ่อชุบ วัดยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว สมุทรสาคร และ พระครูใบฎีการพยนต์ วัดเกตุมวดีย์ อาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาของพวกเราเป็นต้น สำหรับเจ้าพิธีคืออาจารย์สังเวียน พระครูประกาศสมาธิคุณ เจ้าของรายการวิญญาณพเนจรอันโด่งดัง ผู้เป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรมของพวกเรานั่นเอง
ในขณะที่พวกเราแยกย้ายกันไปขออัพภานตามวัดต่าง ๆ นั้น ทางกระทิงลายก็มีการจัดสถานที่ประดับตกแต่งลานธรรม ปักราชวัตรฉัตรธงรายรอบบริเวณ ปูลาดอาสนะเรียบร้อย ขออัพภานเสร็จแล้วพวกเราก็กลับเข้าประชุมในโรงปรำที่นั่งรับการอบรมประจำวันนั้น เพื่อฟังปัจฉิมนิเทศตามทำเนียมการอบรม อาจารย์พระใบฎีกายนต์น่ารักมากกล่าวขอโทษพวกเราที่เป็นพระผู้ใหญ่ผู้น้อ ย ถ้าหากว่ามีการล่วงเกินไปบ้างในขณะให้การอบรมสั่งสอน อาจารย์พระครูประกาศสมาธิคุณกล่าวชี้แจงวิธีการทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคล โดยทางมูลนิธิฯจะแจกเหรียญรูปพระศิลปะคุปตะคนละ ๑ เหรียญให้ทุกคน ถือเป็นเหรียญประจำตัวตลอดไป เวลานั่งภาวนาให้กำไว้ในมือจนกว่าจะเสร็จพิธี องค์ภาวนาขอให้ใช้พระพุทธคุณบทใดบทหนึ่งตามที่ตนถนัด เช่น ภควา, พุทโธ เป็นต้น วันนี้ได้นิมนต์พระวัดมหาธาตุมาสวดพุทธาภิเศก นิมนต์หลวงพ่อโด่มาเป็นประธานนั่งปรกปลุกเสก พวกเราฮือฮาเมื่อได้ยืนชื่อองค์ประธานนั่งปรกปลุกเสกว่าหลวงพ่อโด่ซึ่งเป็นชื่อแปลก ไม่เคยได้ยินมาก่อน
สอบถามจากผู้รู้แล้วพอได้ทราบประวัติเจ้าของนามนี้อย่างคร่าวๆว่าท่านมีนามสณะศักดิ์ที่ “พระครูพินิจสมาจาร” ตามประวัติท่าน “เกิดในสกุล ชัยเสมอ ที่บ้านเนินมะกอก ต.นามะตูม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี บิดาชื่อแพ มารดาชื่อจีน ยามเยาว์บิดา-มารดาได้ให้ไปอยู่ในความอุปการะของนายฮวดและนางแตงกวา คหบดีบ้านหัวสะพาน เรียนหนังสือขอมและหนังสือไทยจนแตกฉาน กระทั่งอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดนามะตูม โดยมีพระอาจารย์เพ็ง วัดหน้าพระธาตุ เป็นพระอุปัชฌาจารย์, พระอาจารย์ปั้น วัดนามะตูม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์คง วัดประชาระบือธรรม (วัดบางกระบือ) กรุงเทพฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้นามฉายาว่า อินฺทโชโต ภายหลังอุปสมบท พระภิกษุโด่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยตามควรแก่พระนวกะสมัยนั้น ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนามะตูม เป็นเจ้าคณะตำบลนามะตูม เป็นพระอุปัชฌาย์ และ เป็นเจ้าคณะอำเภอพนัสนิคม ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูพินิจสมาจาร แล้วได้รับพระราชทานเลื่อนสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม ท่านได้ศึกษาวิทยาคมอีกหลายแขนงจากหลวงพ่อเอี่ยม วัดนอก จ.ชลบุรี ส่วนด้านการแพทย์แผนโบราณนั้นท่านก็ได้ศึกษาจากหลวงพ่อปั้นและโยมจอกอย่างรอบรู้ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีศิษยานุศิษย์มากมาย”
ฟังชื่อเดิมของท่านพวกเราก็นึกขำขันกันแล้ว พอฟังนามนามสกุลท่านผสมชื่อ พวกเราก็ฮาเลย ใครไม่รู้อยู่ข้างหลังข้าพเจ้าร้องว่า “โด่ ไชเสมอ” ผู้บอกเล่าแย้งว่า ไม่ใช่ ไช นะครับ แต่เป็น ชัย ที่แปลว่า ชนะนั่นแหละ พระมหาอุดม กล่าวเสริมว่า โด่ ชัยเสมอ น่าจะหมายถึง ธงชัย ก็ได้นะ วันนี้พวกเราได้อาจารย์ดีแล้วหละ
ใกล้จะเริ่มทำพิธีปลุกเสก ปรากฏว่ามีฝนตั้งเค้ามืดครึ้มมาในทะเลด้านตะวันตก ทุกคนพากันหวั่นวิตกกลัวฝนจะเทลงมาในงานพิธีเรา พระครูประกาศฯ ปรึกษาว่าเราจะเลื่อนกำหนดทำพิธีไปก่อนดีไหม หลวงพ่อโด่บอกว่าไม่ต้องเลื่อนหรอก ทำพิธีกลางฝนน่ะดีนัก ดังนั้นพิธีของเราจึงดำเนินไปตามกำหนดการ พอเริ่มกล่าวชุมนุมเทวดา สัคเค กาเม..... ลมก็พัดมาอย่างแรงประมาณ ๒ นาทีก็สงบเงียบไป พระสวดพุทธาภิเศกเริ่มสวดพวกเราก็เริ่มนั่งเจริญภาวนา ใครใช้บทอะไรเป็นองค์ภาวนาบ้างก็ไม่รู้ ส่วนข้าพเจ้าใช้ “อรหัง” ที่หลวงพ่อโบ้ยวัดมะนาวอาจารย์ธุดงค์สอนมา พิธีพุทธาภิเศกเริ่มตั้งแต่ ๑ ทุ่ม ไปจบตอน ๕ ทุ่มครึ่ง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีฝนโปรยปรายลงมาแม้แต่หยดเดียว พวกเรานั่งภาวนากันอย่างสงบเหมือนเข้าฌานสมาบัติกระนั้นเทียว
หลังเสร็จพิธีแล้วมีคนมาแจ้งว่า ที่หมู่บ้านโรงโป๊ะและใกล้เดียงซึ่งอยู่เหนือกระทิงลายขึ้นไปทางศรีราชานั้น ถูกพายุฝนถล่มเสียหายยับเยิน ใต้กระทิงลายลงไปทางพัทยา ก็ถูกพายุฝนถล่มเช่นกัน พระมหาอุดม กล่าวว่า “เราไม่ถูกฝนเพราะอานุภาพหลวงพ่อโด่ของเราแท้ ๆ เหรียญที่เราปลุกเสกกันกับมือต้องขลังแน่ ๆ เก็บไว้ให้ดีนะเพื่อน ๆ”/
สำหรับเรื่องราวแวดวงในดงขมิ้น “คำให้การของนักบวช” ได้ดำเนินมาถึง ๒๐๐ ตอนแล้ว ในตอนต่อไปที่ ๒๐๑ ถึงตอนสุดท้ายของเรื่องนี้ ผู้โพสขอตัดยกไปเป็นอีกกระทู้หนึ่ง โดยวางลิงก์เชื่อมโยงไว้ให้ผู้สนใจอ่านสามารถ คลิก >> ที่นี่ << เข้าอ่านต่อได้ครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ ตุลาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, เป็น อยู่ คือ, ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, มนชิดา พานิช, malada, คิดถึงเสมอ, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|