บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๗๖ - ปีนั้น (๒๕๐๘) หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณได้รับหนังสือจากเอาวาสวัดกลาง เมืองนครพนม แจ้งว่า
“เจดีย์เก่าแก่ของวัดที่สร้างตั้งยุคสมัยศรีโคตรบูรได้ปรักหักพังลง ทางวัดได้ทำการขุดรื้อซากเพื่อบูรณะใหม่ พบว่าภายใต้เจดีย์นั้นมีโบราณวัตถุเป็นอันมาก โดยเฉพาะพระพุทธารูปทองศิลปะล้านช้างหลายองค์ จึงดำริจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของวัดขึ้น และกำหนดจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อหาเงินสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ ในการนี้ขอความกรุณาท่านเจ้าคุณช่วยจัดผ้าป่าไปร่วมทอดตามกำหนดการที่แนบมากับหนังสือนี้”
หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณได้รับหนังสือของเจ้าอาวาสวัดกลางดังกล่าวเมื่อเวลาใกล้จะถึงวันทอดผ้าป่าแล้ว ท่านบอกว่าไม่มีเวลาจัดกองผ้าป่าหาเงินไปช่วยให้มากได้ แต่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของวัดนี้เป็นความดีที่ควรสนับสนุนมาก จึงมอบหมายให้ข้าพเจ้าจัดกองผ้าป่าไปร่วมงานนี้ ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น แต่ไม่ควรจะน้อยกว่า ๕ พันบาท ภาระหนักก็ตกมาลงที่ข้าพเจ้าอีกจนได้
ดีที่หลวงพ่อคุณโบราณท่านบอกบุญแก่บรรดาคนมีฐานะดีที่เคารพนับถือท่าน ให้บริจาคเงินสร้างพิพิธภัณฑ์ในนามผ้าป่าวัดราชธานี ได้เงินรวม ๖,๗๐๐ บาทเศษเป็นกองทุนไว้ก่อน ข้าพเจ้าประกาศบอกบุญบนศาลาการเปรียญของวัดทุกวันพระรวมเงินบริจาคได้อีก ๔,๐๐๐ บาทเศษ ไปปรึกษาหลวงพี่มหาประคองวัดคลองกระจงถึงวิธีการที่จะนำกองผ้าป่าไปทอดที่นครพนม ท่านแนะนำว่าควรชักชวนญาติโยมร่วมเป็นคณะผ้าป่าเหมารถบัสโดยสารไปแบบ “นำเที่ยว” เก็บเงินผู้ร่วมคณะสักคนละสองสามร้อยพอเป็นค่าเช่ารถ เรื่องการทำแบบนี้หลวงพี่แกจัดจนชำนาญแล้ว จากนั้นจึงวางแผนนำเที่ยวตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เริ่มด้วยการวางเส้นทาง ออกจากสุโขทัยผ่านจังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ตากฟ้า คลี ลพบุรี สระบุรี โคราช พักแรมคืนที่อำเภอบ้านไผ่ รุ่งเช้าทอดผ้าป่าแก่วัดที่พักแรมกองหนึ่ง แล้วเดินทางต่อไปผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ข้ามเทือกเขาภูพานไปนครพนม หลังทอดผ้าป่าแล้วจะขึ้นไปหนองคาย ข้ามไปเที่ยวเวียงจันทน์ประเทศลาวแล้วกลับสุโขทัย วางเส้นทางแล้วก็จัดหารถที่จะไป ได้รถเมล์สายที่วิ่งประจำทางสวรรคโลก-พิษณุโลก เจ้าของชื่อบุญมี ชื่อรถว่า “บุญมีบริการ” บอกเล่าวันเวลาและเส้นทางสถานที่ให้พี่บุญมีทราบแล้ว เขาคิดค่าจ้างเห็นว่าไม่พอแพงนัก คิดเก็บค่าโดยสารของญาติโยมคนละ ๓๐๐ บาท พอให้ค่าจ้างรถที่จ้างไป
เส้นทางและสถานที่ซึ่งจะไปนั้นข้าพเจ้าไม่รู้จักไม่เคยไปเลย ก็ได้แต่สอบถามจากผู้รู้เท่านั้น กะว่าจะพาญาติโยมไปประมาณ ๕๐ คนเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงมีไปเกินจำนวนเป็น ๖๘ คน ชาวพิษณุโลกโดยเฉพาะพวกสาววังทอง พอรู้ว่าจะไปดังนั้นก็มาอ้อนขอไปด้วย บอกว่าจะเก็บเงิน ๕๐๐ บาทก็ยอม เพราะอยากไปเที่ยวลาวน่ะ เอากะแม่ซี
วันเดินทางเราออกจากสุโขทัยเวลาประมาณ ๙.๐๐ น. คนในคณะเราส่วนมากเป็นโยมหญิงมีอายุมากแล้ว โยมผู้ชายมีประมาณ ๑๐ คน พระ ๓ องค์ คือพระกนกศักดิ์ พระไพฑูรย์ และข้าพเจ้า ผ่านจังหวัดตากข้ามสะพานกิตติขจรไปไม่ไกลนัก รถเราก็เกิดอุบัติเหตุ ยางรถล้อหลังเกิดรั่วแฟบ ต้องเสียเวลาเปลี่ยนยางกันอยู่นาน กะว่าจะไปฉันเพลที่กำแพงเพชรก็อดฉันเพล เพราะไปไม่ทัน ถนนสายนี้ยังไม่เรียบร้อย บางตอนเป็นดินลูกรังฝุ่นตลบเลย
เลยนครสวรรค์ถึงตาคลีเป็นเวลาบ่ายโขแล้ว พวกเราปะสบเรื่องร้ายอีก เปล่า รถไม่เสียหรอก แต่รถสมัยนั้นไม่มีแอร์ เวลาวิ่งไปก็ต้องเปิดกระจกหน้าต่าง ผ่านป่าเขาลำนำไพรย่านตากฟ้าคลีไป ปรากฏว่ามีขนหมามุ่ยปลิวลมเข้ามาในรถถูกเนื้อตัวพวกเราคันคะเยอไปตาม ๆ กัน
กำหนดว่าจะไปถึงวัดจันทรประสิทธิ์ บ้านไผ่ไม่เกินเวลา ๕ ทุ่ม แต่ไปถึงจริงเวลาประมาณตี ๕ ชาวบ้านชาววัดรอต้อนรับพวกเราหลับไปตั้งหลายตื่นแล้ว อาหารที่เขาจัดรอเลี้ยงตอนกลางคืนก็ต้องเปลี่ยนมาเลี้ยงตอนเช้า บอกเล่าเรื่องการเดินทางแบบวิบากของเราให้เขาฟัง ทุกคนเห็นใจพวกเรา คนเฒ่าชาวบ้านไผ่บอกว่า ขนหมามุ่ยต้องถอนมันด้วยข้าวเหนียว คือเอาขาวเหนี่ยวนึ่งนี่แหละ คลึงตามเนื้อตัวที่ถูกขนหมามุ่ย โยมหญิงเราหลายคนที่ยังไม่หายคันก็พากันเอาข้าวเหนียวนึ่งคลึงแขน คอ ใบหน้า ขาแข้ง กันเป็นการใหญ่ ไม่นานก็หายเป็นปลิดทิ้ง
ครั้นรุ่งแจ้งแสงทองของวันนั้น ชาวบ้านไผ่ก็เลี้ยงหารเช้าแก่พวกเรา เสร็จแล้วเราก็ตั้งองค์ผ้าป่าทอดถวายวัด ก่อนอำลาเดินทางไปนครพนม ผ่านมหาสารคาม ร้อยเอ็ดขึ้นเขาภูพานจะลงทางอำเภอนาแก ขึ้นไปยังไม่ทันถึงยอดเขารถเราก็เกิดอุบติเหตุร้ายแรงอีก คราวนี้ “แหนบหัก” ดีที่ตัวรถไม่ลื่นไถลลงเขา พวกโยมหญิงตกอกตกใจกันมาก ไม่ได้กลัวรถตกเขาดอก แต่โยมกลัว “คอมมิวนิสต์” ซึ่งตอนนั้นผีคอมมิวนิสต์ถูกอเมริกาปลุกขึ้นมาหลอกหลอนชาวโลก คนไทยหวาดกลัวกันไปทั่วประเทศ “ผ.ก.ค.” เป็นชื่อที่เรียกกันในไทยเวลานั้นกำลังลุกฮือก่อการ้ายอยูในภาคอีสานอย่างหนัก เขาใช้เทือกเขาภูพานเป็นศูนย์กลางสู้รบกับรัฐบาลไทย โยมหญิงหลายคนพอรู้ว่ารถเรามาเกิดแหนบหักอยู่บนเขาภูพาน ก็กลัวว่าพวกคอมมิวนิสต์จะมาจับตัว บางคนเอามีดเจียนหมากมือมั่น บอกว่ามันขึ้นมาบนรถจะแทงมันด้วยมีดนี้ ข้าพเจ้าหัวเราะแล้วพูดปลอบว่า “โยมอย่ากลัวเลย คอมมิวนิสต์มันไม่มาทำอะไรคนดีอย่างพวกเราหรอก” โยมบุญมีกับลูกน้องช่วยกันถอดแหนบที่หักออกแล้วใส่แหนบใหม่ได้สำเร็จเรียบร้อยก็เป็นเวลาบ่ายโขแล้ว
รถเราคลานขึ้นยอดเขาและลงจากภูพานผ่าน อำเภอนาแกแดน ผ.ค.ก.ได้อย่างปลอดภัย ไปถึงจุดหมายปลายทางคือวัดกลางนครพนม เวลาประมาณ ๖ โมงเย็น ท่านเจ้าอาวาส (พระมหาวิจิตร) ต้อนรับพวกเราด้วยความยินดียิ่ง ยามนั้นญาติโยมกำลังเอาแบ๊งค์ติดไม้เป็นธงปักองค์ผ้าป่ากันอยู่ ข้าพเจ้ามอบเงินจำนวน ๑๒,๐๐๐ บาทให้ท่านติดองค์ผ้าป่าด้วย เรียนว่าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบอกว่าเสียดายที่ได้รับหนังสือจากท่านมหาช้าไป จึงรวบรวมเงินได้เท่านี้เอง ท่านก็ว่าเท่านี้ก็ดีมากแล้ว ฝากกราบพระคุณมาก ท่านให้จัดอาหารเลี้ยงญาติโยมคณะของเรา เป็นอาหารไทยภาคกลางอย่างดี ในขณะที่ญาติโยมทานอาหารกันนั้น ข้าพเจ้าก็พูดคุยกับท่านเจ้าอาวาส พอได้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดนี้ว่า
“วัดกลางเป็นวัดทีมีอายุเก่าแก่มีหลักฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๒๐๐ อยู่ริมแม่น้ำโขงเป็นวัดที่สวยงาม และเด่นที่สุดเมื่อมองมาจากฝั่งท่าแขกของประเทศลาว ภายในอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อองค์ตื้อ” ซึ่งจากคำบอกเล่า มีความเชื่อว่า ผู้ใดได้กราบไหว้หลวงพ่อองค์ตื้อแล้วเชื่อกันว่าหากมีของหาย ถูกใส่ความ ใส่ร้าย จะได้รับความเป็นกลางเป็นธรรม ทำให้ชีวิตครอบครัว ตลอดจนการทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองมั่นคง “ตื้อ” คำนี้แปลว่าหนักมาก พระพุทธรูปองค์ตื้อที่ทราบมีหลายองค์ คือ “พระเจ้าเก้าตื้อ” วัดสวนดอกเชียงใหม่ “หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ” วัดศรีชมพู อ.ท่าบ่อ หนองคาย “พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ”อยู่ที่วัดใต้ ในเมืองอุบลราชธานี อีกองค์อยู่ที่ วัดองค์ตื้อวรวิหาร นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และหลวงพ่อองค์ตื้อ วัดกลาง เมืองนครพนมนี้ หนักตื้อคือหนักขนาดไหนหรือ ท่านว่าน้ำหนัก ๑ พันกิโลกรัม อย่างองค์ที่อยู่วัดสวนดอกเชียงใหม่นั้น เรียกพระเจ้าเก้าตื้อ คือหนัก ๙,๐๐๐ กก.ครับ
คืนนั้นห้องกุฏิไม่พอให้พวกเรานอนแรมคืน เพราะมีผู้ใจบุญจากทุกสารทิศเดินทางไปร่วมงานบุญผ้าป่ากันมาก เขาจึงให้พวกเราไปนอนตามบ้านที่ไม่ห่างไกลวัดนัก อากาศหนาวเย็นมาก ญาติโยมส่วนใหญ่ไม่ยอมอาบน้ำเพียงแต่เอาผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวกันก็พอ รุ่งขึ้นทานอาหารเช้ากันแล้วได้รับการอำนวยความสะดวกให้ข้ามไปเที่ยวท่าแขกของลาวที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับนครพนม เป็นการแก้กำหนดการที่ว่าจะข้ามไปลาวตรงเวียงจันทน์ มาเป็นข้ามที่ท่าแขกแทน เพราะท่าแขกก็คือลาวเช่นเดียวกับเวียงจันทน์
“เมืองท่าแขก เป็นเมืองศูนย์กลางของแขวงคำม่วน เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ลาวมายาวนาน เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน (พนม) และ อาณาจักรเจนละ โดยมีเมืองหลวงชื่อว่า ศรีโคตรบูร หรือ ศรีโคตรบอง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองบริเวณปากห้วยศรีมังค์ ปัจจุบันคือวัดพระธาตุสีโคดตะบูน และปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ เช่น รอยเท้าไดโนเสาร์บ้านนาไก่เขี่ย ตลอดจนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยศรีโคตรบูร (ทวารวดีลาว) และสมัยขอม เช่น พระธาตุศรีโคตรบอง ใบเสมาโบราณ ชิ้นส่วนแกะสลักของประติมากรรมขอม แนวกำแพงหินยักษ์บ้านนาไก่เขี่ย ตลอดจนซากปรักหักพังของเจดีย์โบราณ และซากพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ในสมัยอาณาจักรล้านช้าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นซากเมืองโบราณ อาทิ เมืองอรันรัตจานา และเมืองเวียงสุรินทร์ ทางตอนเหนือของเมืองท่าแขกด้วย หลังยุคขอมเสื่อมอำนาจแล้วเมืองแห่งนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง จากนั้นได้รกร้างไปแล้วพัฒนากลายมาเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ขึ้นกับอาณาเขตของเมืองนครบุรีราชธานีศรีโคตรบูรหลวง (นครพนม)”
พวกเราไม่ได้ไปเที่ยวชมโบราณสถานใด ๆ ของท่าแขก เพราะเวลาไม่มีพอ เพียงแต่เดินชมตลาดและซื้อสิ่งของเป็นที่ระลึกกัน ได้เวลาพอสมควรแล้วข้ามฟากกลับมานครพนม เจ้าของรถบุญมีบริการรับสารภาพว่าเขา “คาดการณ์ผิดแต่แรก ใช้ยางรถยนต์เก่าใส่มาด้วยหวังว่าเมื่อข้ามไปเวียงจันทน์แล้วจะเปลี่ยนยางใหม่ เพราะยางรถยนต์ที่เวียงจันทน์ราคาถูกมาก ขออภัยที่ทำให้ท่านผิดหวังที่ไม่มีเวลาข้ามไปเวียงจันทน์ และผมเองก็ผิดหวังเช่นกันครับ เรื่องนี้ผมขอยอมรับผิด”
ในการเดินทางเดินกลับสุโขทัย ผ่านทางนครราชสีมา พอมีเวลาเหลืออยู่บ้างก็แวะชมปราสาทหินพิมาย และ ไทรงาม แล้วกลับถึงสุโขทัยโดยได้สวัสดิภาพ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ลิตเติลเกิร์ล, กรกันต์, malada, ข้าวหอม, เป็น อยู่ คือ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ต้นฝ้าย, มนชิดา พานิช, คิดถึงเสมอ, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๗๗ - งานทางสุโขทัยมีมากจนทำให้ข้าพเจ้าห่างเหินวัดเขาสมอแครงวังทองมากขึ้นเรื่อย ๆ ทางวัดเขาสมอแครงก็มีการเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ หลวงพี่ไฮ้รักษาการเจ้าอาวาสวัดนั้นรับมอบที่ดินแปลงใหญ่ของคุณโยมสายบัว เศรษฐินีชาววังทองให้สร้างวัดใหม่ ที่หนองคล้าทางไปใกล้วัดตายม ท่าหมื่นรามโน้น พระเกรียงศักดิ์ก็รับถวายที่ดินจากชาวบ้านทรัพย์ไพรวัลย์ให้สร้างวัดใหม่ ใกล้ตลาดทรัพย์ไพรวัลย์ หลวงพ่อพันธ์เจ้าคณะอำเภอวังทองจึงตั้งให้พระสอนรักษาการเจ้าอาวาสวัดเขาสมอแครงต่อไป ส่วนรายการเทศน์ทางวิทยุ ๐๑๐ นั้น ข้าพเจ้าให้พระเกรียงศักดิ์เป็นหลัก พระสอนก็จำต้องปรับปรุงตัวเองเพื่อเป็นคู่เทศน์ของพระเกรียงศักดิ์ ข้าพเจ้าไปบ้างไม่ไปบ้าง แล้วแต่ว่าจะว่างหรือไม่ว่าง และในที่สุดก็มีเหตุให้เลิกจัดรายการเทศน์ทางวิทยุไปเลย
กลับจากการนำคณะผ้าป่าไปทอดที่วัดกลางเมืองนครพนมแล้วไม่นาน หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณได้รับหนังสือจากมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ ลงนามโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตประธานกรรมการมูลนิธิ ซึ่งมีไปถึงเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้คัดเลือกพระภิกษุจังหวัดละ ๓ องค์ส่งไปเข้ารับการอบรม “พัฒนาการทางจิต” เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาตามแนวทางของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งมีพระกิตฺติวุฑฺโฒ ภิกขุ เป็นผู้ดำเนินงาน หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ ตกลงใจส่งข้าพเจ้า พระไพฑูรย์ พระมหาคำสิงห์ ๓ ครูปริยัติธรรมวัดราชธานีไปเข้ารับการอบรม ข้าพเจ้าขอให้ท่านส่งองค์อื่นไปท่านก็ไม่ยอมเปลี่ยนใจ
ข้าพเจ้าจำต้องไปเข้ารับการอบรมในโครงการนี้ เพราะประธานโครงการหน่วยพัฒนาการทางจิตคือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตน์ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) หรือที่เรียกกันว่า “สมเด็จป๋า” ซึ่งยามนั้นเป็นพระมหาเถระผู้มีอำนาจอิทธิพลสูงสุดในวงการสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ท่านเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เมืองเดียวกับข้าพเจ้า ที่สำคัญสมัยที่ท่านเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ข้าพเจ้าเป็นสามเณรเคยพบท่านที่วัดใหม่สุพรรณภูมิในเมืองสุพรรณ ถูกเรียกใช้ให้นวดท่านหลายครั้ง ท่านเคยชวนให้เข้ากรุงเทพฯอยู่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิท่าเตียน) กับท่าน ข้าพเจ้าไม่ยอมเข้าอยู่กรุงเทพฯ ในตอนนั้น ครั้นหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณส่งเข้าอบรมตามคำขอของสมเด็จพระวันรัต แม่กองงานพระธรรมทูต จึงจำต้องเข้าร่วมงานนี้
สถานที่เข้าร่วมรับการอบรมคือวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ อันเป็นที่ตั้งสำนักงานมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย โดยมีพระกิตฺติวุฑฺโฒ เป็นผู้อำนวยการ พระองค์นี้มีอายุอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า ยามนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ท่านบรรยายธรรมทางสถานีวิทยุยานเกราะ บางกระบือ มีคนฟังจนติดกันงอมแงม เป็นพระหนุ่ม รูปหล่อ เสียงพูดนุ่มนวลชวนฟัง ทราบประวัติของท่านเพียงเล็กน้อยว่าเป็นคนไทยเชื้อสายจีน เกิดและโตที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม “หลังอุปสมบทแล้วได้ศึกษาปริยัติธรรมจนจบนักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นศิษย์หลวงพ่อสดองค์หนึ่ง ต่อมาไปเรียนอภิธรรมที่โรงเรียนพระอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนอภิธรรมเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุฯ และได้ศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น มูลกัจจายน์ วิสุทธิมรรค อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น กับพระเตชินทะ ธัมมาจริยะ อภิธัมมกถิกาจริยะชาวพม่า และพระครูประกาศสมาธิคุณ (สังเวียน ญาณเสวี) และเรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์อินทวังสะ กัมมัฎฐานาจริยะชาวพม่า จนมีผลงานทางด้านการพัฒนาการศึกษาของสงฆ์ การประพันธ์ และแต่งหนังสือเป็นจำนวนมาก”
ก่อนที่จะทำหนังสือให้เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตลงนามหนังสือเวียน ขอให้เจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศส่งพระภิกษุเข้ารับการอบรมดังกล่าว พระกิตฺติวุฑโฒ ได้ทดลองเปิดการอบรม (เป็นการภายใน) พระจบไปรุ่นหนึ่งแล้ว เห็นว่าประสบความสำเร็จด้วยดี จึงขอเปิดอบรบอย่างเป็นทางการในนามของ “หน่วยพัฒนาการทางจิต” โดยมีเป้าหมายว่าเมื่อฝึกอบรมเสร็จแล้วในเวลา ๖ เดือน จะให้ผู้รับการอบรมทั้งหมดกลับไปตั้งหน่วยเผยแผ่ธรรมตามแนวของมูลนิธิฯ ประจำจังหวัดของตน จังหวัดใดไม่มีพระมาเข้ารับการอบรมก็จะส่งพระกองกลางออกไปตั้งหน่วยพัฒนาการทางจิตประจำจังหวัดนั้น พระภิกษุหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้านี้เรียกว่า “พระหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นที่ ๒” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจากจังหวัดทั่วประเทศ และที่รับสมัครในส่วนกลางรวมจำนวนได้ ๓๐๐ องค์
พระภิกษุสามเณร ๓๐๐ องค์ หาที่พักค่อนข้างยากหน่อย กุฏิวัดมหาธาตุย่อมไม่พอให้พักอาศัยแน่ บางองค์มีเพื่อนอยู่ตามวัดไม่ไกลจากวัดมหาธาตุนักก็ไปขอพักพาอาศัยเพื่อน ข้าพเจ้าจะไปพักวัดจันทร์นอกก็ได้ แต่ไม่ไป มีเพื่อนพระที่มาร่วมอบรมขอพักอาศัยในพระวิหารวัดมหาธาตุบ้าง วิหารคดรอบพระอุโบสถบ้าง ข้าพเจ้าเลือกที่จะขออยู่ในพระวิหารรวมกับพระมหาคำสิงห์ พระไพฑูรย์ และเพื่อนพระอีกประมาณ ๒๐ องค์ กลางคืนก็กางมุ้งนอนเรียงกัน ไม่มีมุ้งรับรองว่านอนไม่ได้ เพราะยุงชุมมากเลย ห้องน้ำไม่มีให้ใช้ มีแต่บ่อโบกปูนเทพื้นคอนกรีตรอบบ่อ พวกเราตักน้ำในบ่อขึ้นมาอาบกันเอง เครื่องใช้ไม้สอยอะไรก็ไม่มีอะไรมาก ขันน้ำ สบู่ แปรงและยาสีฟัน รองเท้าฟองน้ำ จีวร ๒ ผืน สบง ๒ ผืนผ้าอาบ ๑ ผืน ย่าม ๑ ถุง เท่านี้เพียงพอแล้ว เป็นพระนี่อยู่ง่ายกินง่ายสบายมาก
ห้องเรียนของพวกเราคือพระตำหนักสมเด็จที่จุนักเรียนได้ถึง ๕๐๐ คนทีเดียว กิจวัตรของพวกเราคือ ประมาณ ตี ๕ ตื่นท่องทบทวนแบบเรียน ประมาณ ๐๗.๓๐ น. ฉันอาหารที่วิหารคดซึ่งเขาจัดตั้งสำรับเรียงรายไว้ มีญาติโยมนำมาถวายกันมากมาย เพราะแรงโฆษณาทางวิทยุยานเกราะของพระกิตฺติวุฑฺโฒนั่นแหละ เวลา ๐๒.๓๐ น. ขึ้นห้องเรียน วิชาหลักที่ต้องเรียนคือ พระอภิธรรม, การเทศนา. พระไตรปิฎก, ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา, สังคมศึกษา, เป็นต้น อาจารย์ที่มาสอนมีทั้งพระละฆราวาสระดับแนวหน้าทั้งนั้น พวกเราต้องท่องแบบเรียนพระอภิธรรมกันอย่างหนัก ถ้าไม่ท่องจำก็จะเรียนไม่รู้เรื่อง หนักกว่าตอนเรียนนักธรรมและบาลีมากนักเชียว/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๗๘ -
วิชาพระอภิธรรม อภิธัมมัตถสังคหะ เรียนเรื่อง จิต, เจตสิก,รูป, นิพพาน ต้องท่องจำจำนวนจิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ, วิญญาณ มี ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง ท่องจำเจตสิกคือองค์ประกอบของจิต อาการหรือการแสดงออกของจิต จัดเป็นสมรรถนะหรือคุณสมบัติของจิต มีลักษณะที่เกิดดับพร้อมกับจิต เป็นอารมณ์ของจิต มีวัตถุที่อาศัยเดียวกับจิต เป็นกฎเกณฑ์ให้ประกอบเป็นจิต มี ๕๒ ดวง ท่องจำรูป คือ สภาวะที่แปรปรวนแตกสลายเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, ร่างกายและส่วนประกอบฝ่ายวัตถุพร้อมทั้งพฤติกรรมและคุณสมบัติของมัน ที่เป็นมหาภูต รูป และ อุปาทายรูป รวม ๒๘ รูป ท่องจำนิพพาน คือ ธรรมชาติที่พ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด โดยปริยายมี ๒ ลักษณะคือ ๑. สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ยังเป็นไปกับขันธ์ ๕ หมายถึงยังมีชีวิตอยู่ ๒. อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ปราศจากขันธ์ ๕ ได้แก่นิพพานของพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว ๔ เรื่องนี้มีความวิจิตรพิสดารที่ต้องศึกษาเล่าเรียนกันอย่างหนัก
อาจารย์ที่สอนวิชาพระอภิธรรมมีพระครูประกาศสมาธิคุณเป็นหัวหน้า ผู้ช่วยเท่าที่จำได้ก็มี พระกิตฺติวุฑฺโฒ อาจารย์บุญมี เมธังกูร อาจารย์ (นางสาว) สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นต้น พระครูประกาศสมาธิคุณผู้นี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ท่านมีนามเดิมว่าสังเวียน บัวสุวรรณ เป็นชาวบ้านงิ้วราย อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จบการเรียนชั้นประถมศึกษาแล้ว บรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดป่าธรรมโสภณ เรียนนักธรรมชั้นตรี สอบสนามหลวง ๒ ครั้งไม่ได้ เจ้าอธิการฉายจึงนำเข้ากรุงเทพฯ ฝากเป็นศิษย์เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี (หลวงปู่โต๊ะ) บางกอกใหญ่ เรียนนักธรรมและบาลีควบคู่กัน ในสำนักเรียนวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ จนสอบได้นักธรรมชั้นโทแล้ว หลวงปู่โต๊ะจึงนำตัวไปมอบเป็นศิษย์เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ(พระธรรมไฅรโลกาจารย์ ช้อย ฐานทตฺโต ป.ธ. ๖) และบรรพชาเป็นสามเณรใหม่ (ปี ๒๔๘๗) อยู่ประจำที่คณะ ๖ และสอบนักธรรมชั้นเอกได้ในปีนั้น ย้ายจากคณะ ๖ ไปอยู่คณะ ๑๖ และ ๒๕ ในที่สุด เมื่ออายุครบอุปสมบทท่านก็บวชเป็นภิกษุที่วัดมหาธาตุโดยมีพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถระ ป.ธ ๖) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายานามว่า ญาณเสวี เมื่อ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๙๐
วาสนาพระสังเวียน ญาณเสวี ไม่มีพอที่จะได้เป็น “พระมหา ”กับเขา ทั้ง ๆ ที่เรียนบาลีอย่างหนัก สอบกี่ครั้งก็ไม่ได้สักที แม้กระนั้นท่านก็ไม่ละความพยายาม ค้นคว้าคัมภีร์บาลีและปกรณต่าง ๆ ด้วยตนเองบ้าง ศึกษาจากผู้ชำนาญการคัมภีร์บาลีเบ็นพิเศษบ้าง ว่ากันว่าท่านสามารถแปลบาลีได้คล่องแคล่วเก่งกว่าพระมหาเปรียญเอกบางองค์เสียอีก สามารถพูดภาษาบาลีกับชาวอินเดียที่พูดภาษาบาลีได้รู้เรื่องเป็นอย่างดี นอกจากนั้นท่านยังศึกษาเล่าเรียนอภิธรรมมัตถะสังคหะธรรม- สังคินีวิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมกัมมัฏฐาน กับพระอาจารย์สำคัญ ๆ ในยุคนั้น และได้เข้าวิปัสสนากัมมัฎฐานทีพระอุโบสถวัดมหาธาตุ มีอาจารย์เตชินทธรรมาจริยะ และอาจารย์อินทวังสะเถระ เป็นผู้สอนและควบคุมการปฏิบัติ ว่ากันว่าการเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐานดังกล่าว ในเวลาต่อมาท่านเกิดกัมมัฏฐานแตกในการเล่นเตโชกสิณ แต่พระอาจารย์ก็ช่วยแก้ให้ท่านปลอดภัยในที่สุด
อาจารย์พระครูประกาศสมาธิคุณเป็นคนประเภท “ปากร้ายใจดี” เวลาสอนอภิธรรมพวกเรา ท่ามักจะดุด่าคนที่ท่องแบบเรียนไม่ได้ ด่าแล้วก็หัวเราะ “เหอๆๆๆๆ (๙ ชั้น) ตามแบบของท่านที่ไม่มีใครเหมือน ในสมัยนั้นท่านจัดรายการบรรยายทางสถานีวิทยุกรมการรักษาดินแดน ชื่อรายการว่า “วิญญาณพเนจร” เป็นรายการที่มีคนฟังกันมาก ไม่แพ้รายการบรรยายธรรมของพระอาจารย์กิตฺติวุฑฺโฒ ที่เป็นคนละแนวทางกัน
นอกจากอาจารย์พระครูประกาศสมาธิคุณและพระอาจารย์กิตฺติวุฑฺโฒ เป็นตัวหลักในการสอนวิชาอภิธรรมในภาคเช้าแล้ว บางวันอาจารย์บุญมี เมธังกูร ผู้สอนอภิธรรมแบบประยุกต์วิทยาศาสตร์ ก็มาบรรยายและตอบคำถามพวกเรา บางวันอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ก็มาบรรยายตอบคำถามพวกเราเช่นกัน อาจารย์สุจินต์ เป็นนางสาวรูปงามเสียงพูดไพเราะมาก ท่านเป็นธิดาของคุณหลวงบริหารวนเขตต์ อายุดูแล้วไม่เกิน ๔๐ ปี เขาว่ากันว่าเป็นนักเรียนจบปริญญาโทมาจากต่างประเทศ (จริงหรือเปล่าไม่รู้) แต่มีความรู้เรื่องพระอภิธรรมในระดับเชี่ยวชาญมาก ท่านฉลาดในการตอบโต้คำถามแบบ “ปฏิปุจฉา” กล่าวคือเมื่อถูกถามปัญหาที่ตอบยากก็จะไม่ตอบทันที จะถามย้อนว่า “แล้วในความคิดเห็นของท่านว่าอย่างไรคะ” เมื่อผู้ถามตอบไปถูกแล้วท่านก็รับรองว่าใช่แล้ว หากไม่ถูกต้องท่านจึงให้คำตอบที่ถูกต้องแก่ผู้ถาม พวกพระหนุ่มนักเรียนรุ่นข้าพเจ้าพยายามหาคำถามยาก ๆ มาถามต้อนท่านมากมาย ท่านไม่เคยจนปัญหา
ยังไม่ได้บอกให้รู้ว่า พระนักเรียนรุ่นข้าพเจ้านี้แต่ละองค์มีพื้นฐานความรู้ทางปริยัติธรรมขั้นต่ำคือ นักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรมสูงสุดคือ ๘ ประโยค มีสมณะศักดิ์เป็นพระมหาบ้าง พระฐานานุกรมบ้าง พระครูประทวนบ้าง พระครูสัญญาบัตรบ้าง ส่วนใหญ่เป็นพระนักเทศน์ด้วย อาจารย์สุจินต์มาบรรยายเรื่องอภิธรรมคราวไรพระก็จะรุมถามกันคราวนั้น แต่มิเคยปรากฏว่าอาจารย์ท่านจะตอบไม่ได้เลย อาการกิริยาของท่านในการบรรยายและตอบคำถามท่านนิ่มนวล สุภาพอ่อนโยน จนพวกเราพากันรัก-นับถือท่านเป็นยิ่งนัก/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๗๙ - วิชาเทศนา ทางมูลนิธิอภิธรรมถือว่าเป็นสำคัญอีกวิชาหนึ่งที่นักเรียนของหน่วยพัฒนาทางจิตต้องศึกษาเล่าเรียน คำว่าเทศนาหมายถึงการแสดงธรรมสั่งสอนอบรม มีหลายรูปแบบ เช่นการเทศน์ การปาฐกถา แม้การที่บิดามารดาผู้หลักผู้ใหญ่ด่าว่า ก็เรียกรวมในคำว่าเทศนา ด้วยเช่นกัน ดังนั้นทางมูลนิธิอภิธรรมจึงบรรจุเป็นหลักสูตรอบรมพระหน่วยพัฒนาการทางจิตอีกวิชาหนึ่ง ผู้ทำหน้าที่ให้การสอนและอบรมมีทั้งพระนักเทศน์และฆราวาสที่เป็นอดีตนักเทศน์ พระนักเทศน์ที่เป็นตัวหลักคือท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (สนิธ เมจารี ป.ธ.๙) วัดเพชรสมุทร (ต่อมาย้ายเข้ามาเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคารามและได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระธีรญาณมุนี) พระองค์นี้เป็นนักเทศน์เก่งที่สุดในสมัยนั้น ความเป็นมาของท่านพอที่จะกล่าวถึงโดยย่อได้คือท่าน มีนามเดิมว่า สนิธ ทั่งจันทร์ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ณ บ้านเบิกไพร ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อผล ทั่งจันทร์ เป็นชาวเบิกไพร โยมมารดาชื่อหลวน นามสกุลเดิมผลาภิรมย์ เป็นชาวตำบลเกาะเรียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา แต่ได้ไปเรียนที่โรงเรียนบุรคามบำรุง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ต่อมาคุณยายได้นำท่านมาฝากกับพระวิเชียรธรรมคุณาธาร (ยัง ปุญฺญวฑฺฒโน) ขณะยังเป็นมหาเปรียญ เพื่อให้ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยมีพระเทพมุนี (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่าเขมจารี
ท่านสอบนักธรรมชั้นตรี โท เอก เปรียญธรรมประโยค ๓-๘ ได้ในนามสำนักเรียนวัดพระเชตุพนฯ สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ในนามสำนักเรียนวัดเพชรสมุทร เมื่อสอบเปรียญธรรม ๗ ประโยคได้แล้ว ทางการคณะสงฆ์แต่งตั้งให้ท่านไปเป็นเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านโป่งและเจ้าคณะอำเภอบ้านโป่งแทนรูปเดิมที่ขอลาสิกขาและลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นมาอีก ๑๒ ปี พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) เจ้าคณะภาค ๑ ได้ย้ายให้ท่านไปอยู่วัดเพชรสมุทรเพื่อจัดการคณะสงฆ์ให้เรียบร้อย และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงครามในปี พ.ศ. ๒๔๙๑
อาจารย์ฝ่ายฆราวาสล้วนเป็นอดีตพระมหาเปรียญนักเทศน์หลายท่าน เช่น นท.อ่อน บุญญพันธุ์ (ภายหลังเลื่อนยศขึ้นเป็นนาวาเอก พิเศษ) อนุศาสนาจารย์กองทัพเรือ นอ.แย้ม ประพัฒน์ทอง อนุศาสนาจารย์ ทหารอากาศ พอ.ปิ่น มุทุกันต์ อธิบดีกรมการศาสนา (อดีตอนุศาสนาจารย์ทหารบก) เป็นต้น อาจารย์มหาแย้มกับมหาปิ่นไม่ค่อยได้มาสอนมากนัก แต่อาจารย์มหาอ่อน จะมาสอนมากกว่าเพื่อน เพราะพวกเราเรียกร้องให้ท่านมาสอนบ่อย ๆ วันไหนอาจารย์มหาอ่อนมาสอนพวกเราจะรู้สึกครึกครื้นกันมาก
อาจารย์มหาอ่อนเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี บวชเรียนอยู่ที่สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร จนสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค ท่านเล่าว่าตอนเป็นพระมหาหนุ่มมีไฟแรง เจ้าอาวาสวัดเบญจฯ ไม่ชอบหน้า จึงหาวิธีไล่ให้ออกจากวัดด้วยการส่งไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปรินายก และได้สมณะศักดิ์เป็นเจ้าคุณที่ พระวิสุทธินายก (อ่อน ฐิตสุทธิ ป.ธ.๗) เจ้าคุณอ่อนเป็นคนพูดเสียงดังโผงผางตามลักษณะนิสัยของคนสุพรรณ สมัยที่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปรินายกท่านเป็นพระนักเทศน์ชื่อเสียงโด่งดังมากองค์หนึ่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นเจ้าอาวาสและนักเทศน์อยู่นานพอสมควรแล้ว ท่านตัดสินใจลาสมณะศักดิ์และตำแหน่งเจ้าอาวาส ลาเพศภิกษุออกมาสมัครเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพเรือ เจริญก้าวหน้าในชีวิตข้าราชการเรื่อยมาจนถึงกาลที่มาเป็นอาจารย์สอนเทศนาพวกข้าพเจ้าในปีนั้น
อาจารย์มหาอ่อนเป็นอาจารย์ที่พวกข้าพเจ้ารัก-นับถือมาก ท่านสอนสนุกทุกเรื่องทุกแนว นิทานที่ท่านนำมาเล่าประกอบเรื่องให้เห็นง่าย ๆ เช่น ท่านพูดถึงว่าการเทศน์เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ให้คนฟังรู้สึกง่วงนอนก็ได้ โดยนำนิทานเรื่องอนิจจังคือความไม่แน่นอน มันมีขึ้นมีลงไม่คงที่ อย่างเรื่องความรักความความใคร่นี่แหละ นิทานอาจารย์อ่อนเรื่องนี้พวกเราจำกันได้แม่นยำเลย ท่านเล่าว่า
“ครอบครัวหนึ่งมีลูก ๓ คน เป็นหญิงล้วน ไม่มีชายปนเลย ลูกหญิงสามใบเถาเจริญวัยขึ้นเป็นสาวไล่เลี่ยกัน คนโตมีสามีก่อนตามธรรมเนียมไทยโบราณ
อยู่มาลูกสาวคนโตที่มีสามีนั้นก็ตั้งครรภ์คลอดลูกออกมา แรก ๆ เจ้าลูกเขยก็รักเมียรักลูกดีอยู่ ครั้นได้ลูกคนที่ ๒ รักของเขาเริ่มเป็นอนิจจังเลื่อนลง เห็นเมียปล่อยเนื้อปล่อยตัวสกปรกมอมแมมด้วยขี้เยี่ยวลูก เขาหันไปเล็งแลน้องเมียคนรองที่กำลังเป็นสาวเต็มตัวดูเปล่งปลั่งน่าเชยชม คิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้น้องคนนี้เป็นเมียอีกสักคนหนอ เขาใช่เล่ห์เพทุบายให้น้องเมียอุ้มหลานหยอกล้อลูกกระทบไปถึงน้องเมียบ่อย ๆ ในที่สุดก็เสร็จสมอารมณ์หมาย ได้น้องเมียออีกคน พ่อตาแม่ยายพูดไม่ออกบอกไม่ถูก เพราะข้าวสารมันกลายเป็นข้าวสุกไปแล้ว ก็ยอมให้มันอยู่ร่วมกันไป เมียที่สองมีลูกอีกคน ความรักเจ้าเขยนั้นมันเป็นอนิจจังเลื่อนลงไปที่น้องเมียคนสุดท้าย เรื่องความรักความใคร่นี่เขาว่าหญิงมีมารยาห้าร้อยเล่มเกวียนก็อาจจะจริง แต่ชายมีมารยาเท่าไหร่ไม่รู้ เจ้าเขยตัวแสบนั่นใช้มารยาผูกมัดเอาน้องเมียคนสุดท้องมาเป็นเมียเสียจนได้ พ่อตาแม่ยายโกรธมากขับไล่ออกจากบ้านไปกับเมียคนเล็ก เขาก็พาเมียเล็กไปอยู่บ้านเดิมกับพ่อแม่ตน มีลูกกับเมียเล็กอีกตามธรรมดาของสัตว์มันจะเกิดก็ต้องให้มันเกิด เมื่อลูกใหม่เติบโตจนเดินได้เตาะแตะพูดได้อ้อแอ้ ก็ให้เมียเล็กพาไปเยี่ยมตายาย ความรักความผูกพันในสายเลือดนี่มันมีอำนาจอิทธิพลมากนักเชียว ตายายเห็นหลานกำลังน่ารักน่าเอ็นดูก็ลืมความโกรธเกลียดลูกเขยลูกสาวเสียสิ้น ปรึกษากันว่าว่าไหน ๆ มันก็ได้กันมาถึงขั้นนี้แล้ว เรียกมันกลับมาอยู่ร่วมกันเถิด
ในที่สุดลูกเขยก็ได้กลับมาอยู่ร่วมกับเมียทั้งสามในบ้านเดียวกัน อยู่มาไม่นานนักความรักเจ้าลูกเขยมันก็เป็นอนิจจังเลื่อนขึ้น คราวนี้มันคิดว่า “รักกับสาว ๆ กูก็รู้รสหมดแล้วว่ามันเป็นฉันใด แต่คนแก่นี่ซีชักอยากรู้เสียแล้ว” จากนั้นเขาก็ใช้เล่ห์มารยาให้แม่ยายป้อนข้าวอาบน้ำหลานโดยมีเขาคอยช่วยจับโน่นฉวยนี่ถูกเนื้อต้องตัวแม่ยาย บางทีก็จูบลูกที่แม่ยายอุ้มอยู่ไพล่ไปแขนแม่ยายบ้าง แม่ยายอายุยังไม่เกินหกสิบปี “ไม่แก่เกินแกง” เมื่อลูกเขยหนุ่มถูกเนื้อต้องตัวบ่อย ๆ ก็เกิดอารมณ์กำหนัดขึ้นบ้างเป็นธรรมดา และในที่สุดของที่สุดแม่ยายก็เสร็จลูกเขยอีกคน คราวนี้พ่อตาเดือดร้อนทนอยู่ไม่ได้ หนีออกจากบ้านหายไปเป็นแรมเดือน
อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนคนในหมู่บ้านนั้นเดินทางไปเยี่ยมเยือนพระเพื่อนเก่าอยู่วัดในตำบลหนึ่ง ได้พบเพื่อนที่เป็นพ่อตาเจ้าเขยเทครัวนั้นบวชเป็นพระอยู่กับพระที่วัดนี้ เมื่อโอภาปราศรัยกันพอสมควรแล้วกามเพื่อนว่า
“ทำไมท่านหนีมาบวชอยู่ที่นี่ล่ะ” “มึงไม่รู้หรือไอ้เขยระยำของกูน่ะ”
“รู้ มันเอาลูกสาวท่านหมดทั้งสามคน” “อ้าว เมียกูอีกคนล่ะ”
“อ้อ นี่ก็รู้ แล้วก็แล้วกันไปซี ทำไมต้องหนีมาบวชเงียบ ๆ ด้วย” “ไอ้นี่ มึงไม่รู้อะไร”
“มีอะไรอีกล่ะ” “อ้าว...มึงไม่รู้อะไร ถ้ากูไม่หนีมาบวช มันก็เอากูอีกคนละซี...”
จบนิทานท่านก็สรุปว่า เทศน์เรื่องความรักเป็นอนิจจังอย่างนี้รับรองคนฟังไม่ง่วงนอนแน่ ๆ ขอให้พระคุณเจ้าจำไว้ใช้เป็นมุกในการแสดงธรรมต่อไป/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๘๐ - อาจารย์มหาปิ่น มุทุกันต์ กับ อาจารย์มหาแย้ม ประพัฒน์ทอง ท่านก็สอนดี ให้หลักการและแนวทางการเทศนาแก่พวกเราไว้มาก โดยเฉพาะพันเอกปิ่น มุทุกันต์ ผู้นี้เป็นนักรบลูกอีสานได้ชื่อว่าเป็นนักรบผู้ปกป้องศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพระธรรมทูตที่ท่านรื้อฟื้นขึ้นมา ดำเนินการโดยรับสมัครพระนักเปรียญธรรมจากกรุงเทพฯ เดินทางไปเผยแผ่ศาสนายังพื้นที่หุบเขาที่ห่างไกลทางภาคเหนือ และอีสาน พระธรรมทูตเหล่านี้ยังเป็นตัวนำความเจริญด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปยังชนบทเพื่อจุดประสงค์หลักคือต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ท่านมีประวัติย่อ ๆ ว่า บวชในสังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย วัดสุปัฏนาราม อุบลราชธานี และได้เข้ามาจำวัดอยู่ที่วัดสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร ต่อมา ลาสิกขาเพื่อสอบเข้ารับราชการตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ทหารบก เป็นข้าราชการกระทรวงกลาโหม ท่านใช้ความสามารถในการเทศน์ปากเปล่าที่ฝึกฝนมาตั้งแต่ตอนที่อยู่สำนักวัดสัมพันธวงศ์ จนทำให้อนุศาสนาจารย์เป็นที่รู้จักในที่สาธารณะในฐานะนักพูดผู้บรรยายธรรมะ ระหว่างพ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา “ในปีพุทธชยันตีหรือปีกึ่งพุทธกาล (พ.ศ.๒๕๐๐) ขณะนั้นมียศเป็นพันโท ได้มีส่วนร่วมสร้างปรากฏการณ์เพื่อฉลองวาระสำคัญทางศาสนานี้ โดยชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมศึกษาธรรมะผ่านรายการวิทยุธรรมนิเทศ ออกอากาศทางสถานีวิทยุของกรมทหารสื่อสาร แรกเริ่มจัดรายการวิทยุเพื่ออบรมทหาร แต่ได้กลายมาเป็นช่องทางในการเชื่อมประชาชนให้เข้าถึงธรรมะโดยการชักชวนให้ผู้ฟังทั่วไปให้ร่วมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษกับทางราชการซึ่งจัดเป็นพิธีใหญ่โต การบรรยายเริ่มตอนที่หนึ่งเมื่อวันพุธที่ ๒๔ พฤษภาคม ปี พ.ศ.๒๔๙๙ “พ.ศ.๒๕๐๖ ท่านรับตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา ทำงานเผยแผ่ธรรมะร่วมกับงานพัฒนาวัดทั่วประเทศ และปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านได้มาเป็นอาจารย์พิเศษอบรมวิชาเทศนาแก่พระหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้านี้
ทั้งพระและฆราวาสที่มาอบรมสั่งสอนวิชาเทศนาแก่พวกข้าพเจ้า แล้วแต่เน้นในหลักคุณสมบัติหรือหัวใจนักเทศน์ ได้แก่ นักเทศน์จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการคือ ๑. แสดงธรรมไปโดยลำดับไม่ตัดลัดให้ขาดความ ๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ ๓ ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ ๕ ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น. การเทศน์หรือการสอนนั้นให้ใช้รูปแบบการสอนครบทั้ง ๔ ประการได้แก่ ๑. สันทัสสนา คือ การอธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง ๒. สมาทปนา คือ การชักจูงใจให้เห็นจริง ๓. สมุตเตชนา คือ การเร้าใจให้แกล้วกล้าบังเกิดกำลังใจ ๔ สัมปหังสนา คือ การชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง
ท่านเจ้าคุณ พระธรรมปิฎก (สนิธ) บอกให้พวกเราเทศน์และปาฐกถาอยู่ในกรอบ ๔ นา หรือนา ๔ แปลง คือ สันทัสสนา สมาทปนา สมุตเตชนา สัมปหังสนา อาจารย์มหาอ่อน ก็บอกให้แสดงอยู่กรอบ ๔ โก คือสันทัสสโก สมาทปโก สมุตเตโก สัมปหังสโก ซึ่งก็แปลได้ความหมายเดียวกัน สันทัสสนา หรือสันทัสสโก มีความหมายว่า “การกล่าวให้เห็นชัดแจ้ง หรือชี้ให้ชัด คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดเจน มองเห็นเรื่องราวและเหตุผลต่าง ๆ แจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นประจักษ์กับตา” เช่นกล่าวคำว่า “ขันธ์ห้า” แล้วต้องอธิบายว่า ขันธ์คือ อะไร ห้า คืออะไรบ้าง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ อย่างที่รวมกันเข้าเป็นกองนี้แต่ละอย่างมีความหมายว่าอย่างไร มิใช่สักแต่ว่าพูดๆไปโดยไม่อธิบายความหมายให้คนฟังรู้และเข้าใจ พระบางองค์พูดเก่งจำคำภาษาพระได้มาก เทศน์ให้คนฟังจ้อยๆอย่างนกแก้วนกขุนทอง แต่พอถูกถามว่าขันธ์ห้าคืออะไรก็ตอบไม่ได้ รูปคืออะไร มีเท่าไร อะไรบ้าง ก็ตอบไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า ไม่มีสันทัสสนาหรือสันทัสสโก คนฟังก็สักแต่ว่าฟังไปหวังเพียงได้บุญ ได้ฟังคำพระบาลีก็ยกมือสาธุ ถือว่าได้บุญแล้ว อาจารย์มหาอ่อน เล่านิทานประกอบเรื่องนี้แก้ง่วงว่าดังนี้
ย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีก่อน คนไทยส่วนมากไม่รู้หนังสือ ตามชนบทบ้านนอกอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย ณ หมู่บ้านใหญ่ตำบลหนึ่งมีประชากรหลายร้อยครัวเรือน ทุกคนไม่มีใครอ่านออกเขียนได้เลย พวกเขากล่าวคำไหว้พระสมาทานศีลได้ด้วยการท่องจำกันมาอย่างผิด ๆ เพี้ยน ๆ อยู่มามีชายวัยกลางคนคนหนึ่งชื่อ โฉม อายุเฉียด ๆ หกสิบปีแล้ว เกิดมีความคิดอยากบวชเรียน ยามนั้นภรรยาก็ย่างเข้าวัยชรา ลูกเต้าโตเป็นหนุ่มสาวหมดแล้ว เป็นอันหมดห่วง จึงลาลูกเมียญาติมิตรเดินทางเข้าตัวเมืองไปกราบถวายตัวแก่พระอุปัชฌาย์เจ้าอาวาสและเจ้าคณะเมือง แจ้งความประสงค์ว่าจะขอบวชเรียน หลวงพ่อท่านก็เมตตาจัดการบวชให้ตามประสงค์ บวชเป็นพระแล้วก็ร่วมเรียนหนังสือไทยกับพระหนุ่มเณรน้อย เริ่มเรียนจำสระ พยัญชนะ แจกรูป ไปตามแบบเรียนโบราณ (ประถม ก.กา จินดามณี) พระโฉมอายุมากแล้วความคิดความจำสู้เด็กไม่ได้ ท่านก็ไม่ท้อ พระเณรเรียนจบไปเกือบหมดแล้วท่านก็ยัง “ย่ำต๊อก” อยู่ที่เดิม ผ่านไปสามปีเศษก็อดทนต่อไปไม่ไหว เพราะเจ้าเณรที่เรียนผ่านไปแล้วพากันพูดเยาะเย้ยกันว่า “เฮ้ย...คอยดูสากกะเบือออกดอกเน้อ” คำนี้มีความหมายว่าคนมีอายุมากหากเรียนสำเร็จก็เหมือนสากกะเบือที่ตำพริกนั้นออกดอก คือเป็นไม่ไม่ได้นั่นเอง
พระโฉมเลิกเรียนกราบลาพระอุปัชฌาย์กลับไปอยู่วัดบ้านเดิม ครั้นกลับมาอยู่บ้านเดิมแล้วท่านก็กลายเป็นพระที่มีความสำคัญมาก เพราะไปบวชเรียนอยู่ในเมืองมาหลายปี ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเชื่อฟังกันในฐานะผู้มีความรู้ดี มีงานบุญอะไร ๆ ก็นิมนต์ท่านเทศน์ ทั้ง ๆ ที่อ่านคัมภีร์เทศน์ไม่ได้นั่นแหละ ท่านก็รักษาเชิง เทศน์ปากเปล่า คือ นำเอาแบบเรียนที่ท่องจำได้มาเทศน์ “อะอาอิอีอุอูเอะเอแอะแอโอไอเอาอำ....อะ/ กะขะคะฆะงะ จะฉะชะฌะญะ....” เรือยไปจนจบ ตอนจบก็จะลากเสียงยาว คนฟังก็ยกมือพนมท่วมหัวกล่าวคำว่า สาธุ... แล้วกล่าวชมว่าพลวงพ่อโฉมเทศน์เก่งมาก
อยู่มาวันหนึ่งพ้นฤดูการเก็บเกี่ยวแล้ว พระอุปัชฌาย์ท่านออกเดินธุดงค์ไปถึงหมูบ้านวัดพระโฉม ปักกลดอยู่ริมหมู่บ้าน ญาติโยมพากันไปต้อนรับดูแลด้วยความยินดีที่เห็นพระธุดงค์มา ในการสนทนากันนั้นตอนหนึ่ง โยมชายถามว่าหลวงพ่อเทศน์เป็นไหม ท่านตอบว่าก็พอได้ คนหนึ่งบอกว่าหลวงพ่อที่วัดนี้ท่านเทศน์เก่งมาก อยากนิมนต์หลวงพ่อเทศน์กับท่านจะได้ไหม คนที่นี่ยังไม่เคยฟังพระเทศน์คู่กันเลย ท่านอุปัชฌาย์ก็รับปากแล้วนัดกันว่าวันมะรืนเป็นวันพระ ขอให้จัดเทศน์วันพระนี้เลย เทศน์แล้วก็จะเดินทางต่อไป พวกเขาก็นำข่าวนี้ไปบอกหลวงพ่อโฉมของเขาให้เตรียมตัวเทศน์กับพระธุดงค์ พระโฉมกินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดแผนที่จะเทศน์ในวันพระนี้
ถึงวันเทศน์ พระอุปัชฌาย์เข้าวัดและขึ้นศาลาการเปรียญก่อน ได้เวลาเทศน์แล้วพระโฉมยังไม่ลงจากกุฏิ อุปัชฌาย์จึงขึ้นไปนั่งรออยู่บนธรรมาสน์เทศน์ เพราะไม่เคยฟังพระเทศน์คู่กันวันนั้นจึงมีคนพากันไปรอฟังเทศน์เต็มศาลาเลย บ้างก็กระซิบถามกันว่าแกว่าเทศน์วันนี้ใครจะเป็นผู้ชนะ สักครู่หนึ่งพระหลวงตาโฉมก็เดินลงจากุฏิขึ้นศาลาการเปรียญ มือซ้ายถือตาลปัตรบังหน้า ขึ้นศาลาแล้วแทนที่จะขึ้นอาสนสงฆ์กราบพระพุทธประธานก่อนขึ้นธรรมาสน์เทศน์ตามธรรมเนียม ท่านกลับเดินก้มหน้าตรงขึ้นธรรมาสน์เทศน์ พระอุปัชฌาย์นั่งมองดูอยู่ด้วยความสงสัย จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะเป็นพระโฉมศิษย์ของท่าน ครั้นพระโฉมนั่งเรียบร้อยแล้ว เอาตาลปัตรตั้งบังหน้านิ่ง พระอุปปัชฌาย์ส่งเสียงกระแอม ก็สะดุ้ง เพราะจำได้แล้วว่าพระองค์นี้คืออุปัชฌายาจารย์ตนเอง ก่อนดุด่ามักจะกระแอมเสียงอย่างนี้ พระอุปัชฌาย์ถามว่า “ใครน่ะ โฉมเรอะ” เท่านั้นเองพระโฉมก็ว่าแบบเรียนที่ท่องได้ว่า “ฉมฉัมฉามฉิมฉีมฉึมฉืมฉุมฉูมเฉมแฉมโฉมไฉเฉาฉำ...ฉะ” แจกรูปในแม่กมจบ คนฟังทั้งศาลายกมือพนมท่วมหัวเปล่งเสียง สา..ธุ พระอุปัชฌาย์กล่าวว่า “จะบ้าเรอะ” พระโฉมก็แจกรูปแม่ ก.ก่า ว่า “บอบะบาบี..........เบาบำบะ” คนฟังก็ยกมือสาธุอีก ถึงตรงนี้รู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร พระอุปัชฌาย์จึงลงจากธรรมาสน์กลับไปเก็บกลดออกเดินธุดงค์ไปทันที
พวกลูกศิษย์พระโฉมเห็นดังนั้นก็ว่า ข้าว่าแล้วหลวงพ่อเราต้องชนะ อีกคนย้ำว่าจะไม่ชนะได้ยังไง องค์นั้นถามคำเดียว หลวงพ่อเราตอบยาวเป็นวาเล้ย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๘๑ - การเป็นนักเทศน์ นักบรรยายธรรมหรือนักพูดที่ดีนั้น มิใช่พูดคล่องตามบทที่ท่องจำมา (เหมือนหลวงตาโฉม) แต่พูดให้คนฟังเข้าใจในเรื่องที่พูด ชี้ให้คนฟังเห็นชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร เรื่องใดควรพูดเรื่องใดไม่ควรพูด คิดก่อนว่าเรื่องนั้นเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้ฟัง และที่สำคัญคือต้องพูดในเรื่องที่ตนรู้และเข้าใจถูกต้องแล้วเท่านั้น เรื่องที่ยังไม่รู้ไม่ควรพูด จึงจะได้ชื่อว่ามี “สันทัสสโก” หรือที่เรียกว่าเป็นผู้มีความสันทัด ถนัด ชัดเจน ชำนาญ นี้เป็นรูปแบบแรกที่พระนักเทศน์ต้องมี รูปแบบที่ ๒ นั้นคือ สมาทปนา หรือ สมาทปโก ได้แก่การพูดชักจูงใจให้เห็นจริง รูปแบบนี้ในอดีตกาลพระมหาเถระที่แสดงได้ดีที่สุดคือ พระมหาโมคคัลลานเถระอัครสาวก เวลาท่านพูดถึงนรกก็สามารถอธิบายเปรียบเทียบให้คนฟังเห็นภาพพจน์ได้อย่างชัดเจนจนคนไม่กล้าทำบาปด้วยกลัวตกนรก พูดถึงสวรรค์ก็อธิบายเปรียบเทียบให้คนฟังเห็นภาพพจน์ได้อย่างชัดเจนจนคนมุ่งแต่จะทำบุญเพื่อไปเกิดบนสวรรค์ พระนักเทศน์รุ่นต่อ ๆ มาแสดงอย่างท่านไม่ได้แล้ว
รูปแบบสมาทปโกนี้ อาจารย์มหาแย้ม ประพัฒน์ทอง ท่านพูดจูงใจคนฟังด้วยคำอุปมาอุปไมยได้ดีมากคนหนึ่ง เพราะท่านเป็นนักภาษาผู้สามารถทั้งโบราณและปัจจุบัน คำอุปมาอุปไมยนี้มีความสำคัญในการพูดสื่อความหมายให้คนฟังเข้าใจและคล้อยตามได้ง่าย คนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยใช้กันนัก ขอนำตัวอย่างการใช้คำอุปมาอุปไมยมาแสดงย่อ ๆ ดังนี้ “คำอุปมาอุปไมย การพูดการเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิดให้ผู้อื่นได้รับรู้ได้เข้าใจ ในบางครั้งต้องยกข้อความมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นจริงและเป็นที่เข้าใจได้ง่าย คำที่ยกมาเปรียบนั้นเรียกว่า คำอุปมา แปลว่า การเปรียบหรือสิ่งที่นำมาเปรียบ คำอุปมาจึงถือเป็นถ้อยคำที่เกี่ยวกับการเปรียบเทียบ หรือถ้อยคำที่ใช้ในการเปรียบเทียบให้ผู้ฟังผู้อ่านเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สำหรับสิ่งที่รับเอามาเปรียบเทียบเรียกว่า อุปไมย เช่น อุปไมยว่า ดำ อุปมาว่า อย่างสำลีเม็ดใน อุปไมยว่า เงียบ อุปมาว่าเหมือนเป่าสาก อุปไมยว่า สวย อุปมาว่าราวเทพธิดา อุปไมยว่า คอย อุปมาว่า เหมือนข้าวคอยฝน อุปไมยว่า สมกัน อุปมาว่า ราวกิ่งทองใบหยก อุปไมยว่า นิ้วเรียว อุปมาว่า เหมือนลำเทียน. บางครั้งการยกอุปมาก็นำมาจากวรรณคดีหรือตำนานนิทาน เช่น อุปไมว่า พูดจาวกวน อุปมาว่า เหมือนเขาวงกต อุปไมว่า ทำท่าจองหอง อุปมาว่าเหมือนกิ้งก่าได้ทอง
วิธีอุปมา อาจทำได้ดังนี้ ๑. ใช้คำที่บอกอุปมา คือ จะมีคำที่บอกอุปมาคั่นระหว่างคำอุปมาและคำอุปไมย คือ “ราว, เสมอ, เหมือน, อย่าง, เพียง, ดุจ, เสมือน, เหมือน, เหมือนกับ, ประหนึ่งว่า, เปรียบ คล้าย, แบบ ๒. แสดงอุปมาโดยอรรถ คือ เป็นข้อความที่แสดงอุปมาอยู่ในตัวของมันเอง คือ คำพังเพย หรือสำนวน เช่น กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ เกลือเป็นหนอน จุดไต้ตำตอ เขียนเสือให้วัวกลัว ๓. แสดงอุปมาโดยใช้สัญลักษณ์ คื อ การเอาสัญลักษณ์ที่มีความหมายโดยนัยมากล่าวอ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้อ่านว่าจะตีความว่าอย่างไร ๔. ใช้สำนวนหรือคำที่มีความหมายโดยนัย เช่นผู้ดีแปลกสาแหรก ทันควัน ถอยหลังเข้าคลอง ใจไม้ไส้ระกำ กินน้ำใต้ศอก ปากหอยปากปู เป็นต้น
ขอยกตัวอย่างหนังสือคัมภีร์สุโพธาลังกา เป็นคัมภีร์คาถาบาลีเขียนอธิบายวิธีการแต่งหนังสือ ซึ่งนาวาเอกแย้ม ประพัฒน์ทอง ได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยกล่าวถึงลักษณ์ของการใช้อุปมา ๑๑ ลักษณะซึ่ง ประภาศรี สีหอำไพ ได้สรุปไว้ดังนี้คือ ๑) ธมฺโมปมา เปรียบธรรม ๒) ธมฺมหิโนปมา เปรียบทรามจากธรรม ๓) วิปริโตปมา เปรียบวิปริต ๔) อญฺญมญฺโญปมา เปรียบกันและกัน ๕) อพฺภูโตปมา เปรียบด้วยสิ่งน่าอัศจรรย์ ๖) สิเลโสปมา เปรียบด้วยบทสละสลวย ๗) สนฺตาโนปมา เปรียบต่อกัน ๘) นินฺโทปมา เปรียบเชิงตำหนิ ๙) ปฏิเสโธปมา เปรียบเชิงปฏิเสธ ๑๐) อาสาธารโณปมา เปรียบไม่ทั่วไป ๑๑) อภููโตปมา เปรียบด้วยวัตถุที่ไม่มี
อุปมาพึงรู้ด้วยศัพท์ที่เชื่อมมีความหมายว่า เพียงดัง หรือเท่าเทียมกับ หรือเปรียบได้กับ พระองค์มีพระพักตร์เพียงดังดวงจันทร์ ดวงจันทร์เป็นอุปมา พระพักตร์เป็นอุปไมย”
สำหรับประวัติอาจารย์มหาแย้ม ประพัฒน์ทอง นั้น ท่านเป็นชาวตำบลบางพลัด เขตบางกอกน้อย เกิดเมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๕๒ ศึกษาเล่าเรียนที่วัดภคินีนาถตั้งแต่เป็นเด็ก แล้วบรรพชาเป็นสามเณร และอุปสมบทเป็นภิกษุ เรียนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมและบาลี สอบ น.ธ.เอกได้ปี พ.ศ. ๒๔๔๗๓ สอบเปรียญธรรม ประโยค ๙ ได้ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ลาสิกขาพ.ศ. ๒๔๗๙ หลังจากลาสิกขาแล้วได้สมัครเข้ารับราชการในหน้าที่พนักงานจัดทําอักขรานุกรมอยู่ประมาณ ๖ เดือน ได้ลาออกไปอยู่กับพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ซึ่งทรงเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ประมวญสาร (รายสัปดาห์) ประมวญวัน (รายวัน) พ.ศ. ๒๔๘๑ สมัครเข้ารับราชการในแผนกอนุศาสนาจารย์กรมยุทธศึกษาทหารบก หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ท่านย้ายไปเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารอากาศอยู่จนเกษียณอายุราชการ ผลงานทางวิชาการของท่าน เช่น มหาบัณฑิตแห่งมิถิลานครภาคที่ ๑, คัมภีร์สุโพธาลังกา, ปาฐกฐาเรื่องพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญาและสัทธรรมปฏิรูป, ปาฐกฐาเรื่องค่าของคน, รวมเรื่องชาดก, อภิธรรมมัตถสังคหะ พระคัมภีร์สัจจสังเขป, พระสัทธรรมโฆษเถระ, โลกบัญญัติ, โลกทีปสาร, พระสังฆราชเมธังกรแต่ง แย้ม ประพัฒน์ทองแปล. เป็นต้น ท่านเป็นปูชนีบุคคลหนึ่งในวงวิชาการ
สมาทปโก รูปแบบการแสดงชักจูงใจให้เห็นจริง ท่านอาจารย์มหาแย้มกล่าวว่าไม่ต้องใช้นิทานอะไรประกอบก็ได้ ขอให้ใช้คำอุปมาอุปมาไมยตามคัมภีร์สุโพธาลังกาซึ่งเป็นคัมภีร์คาถาบาลีเขียนอธิบายวิธีการแต่งหนังสือ ที่ท่านอาจารย์ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้นั้นก็ใช้ได้แล้ว เพราะคำอุปมาอุปไมยจะพูดให้เห็นภาพได้ชัดเจน เช่นว่า “ดำเหมือนนิล ,ขาวเหมือนปุยนุ่น กรอบเป็นข้าวเกรียบ” เป็นต้น ข้าพเจ้าฟังอาจารย์มหาแย้มบรรยายแล้วไม่ง่วง แต่เพื่อนหลายคนบอกว่าง่วง เป็นงั้นไปได้นี่/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๘๒ – รูปแบบการเทศน์ที่พระนักเทศน์ต้องมีคือ สันทัสสนา สมาทปนา ดังกล่าวแล้วนั้นยังไม่พอ ต้องมี สมุตเตชนา คือ การเร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจอีกรูปแบบหนึ่ง ความหมายของแบบที่ ๓ นี้ สมัยใหม่เขาเรียกกันว่า “ปลุกระดม” แต่ความหมายของ สมุตเตชนา หรือสมุตเตชโก นี้ เป็นการปลุกระดมให้ใจเกิดความหวัง แกล้วกล้าในการทำความดีเท่านั้น มิได้หมายถึงการปลุกระดมให้ฮึกเหิมในการรบราฆ่าฟันกัน นักเทศน์นักปาฐกถาบรรยายธรรมต้องมีจิตวิทยาในการพูดให้คนฟังที่ห่อเหี่ยวเหนื่อยหน่ายไร้ความกระตือรือร้นในการทำความดี หรือเกียจคร้านในการงาน ให้เขาเกิดความรู้สึกอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น มีกำลังใจแกล้วกล้าขยันหมั่นเพียรขึ้นเมื่อได้ฟังคำพูดของเราแล้ว หลักสำคัญของหัวข้อนี้ อาจารย์มหาแย้มกับมหาอ่อนให้ไว้ตรงกันว่า ให้ยกพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ = ตนแลเป็นที่พึ่งของตน”
โดยกล่าวถึงการพึ่งตนนั้นอย่างไร ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตลงสู่ครรภ์มารดา แล้วคลอดออกมา หายใจด้วยตนเอง กระดุกกระดิกร่างกายด้วยตนเอง กินอาหารด้วยตนเอง คลาน เดิน ด้วยตนเอง ส่งเสียงร้อง พูดด้วยตนเอง ขับถ่ายด้วยตนเอง กินนอน นั่ง ยืน เดิน ด้วยตนเอง ศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างได้ด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครทำแทนเราได้ ในการประกอบอาชีพการงานแม้จะมีคนคนช่วยบ้างก็ต้องอาศัยตนเองเป็นหลัก คนที่ไม่ยอมพึ่งตนเอง มัวแต่คอยให้คนอื่นช่วย เช่นพ่อแม่พี่น้องญาติกาและเพื่อนฝูงเขาอาจช่วยได้บ้างในยามที่เขารัก สงสารเรา ยามสิ้นรัก สงสาร เขาก็จะทิ้งเรา หรือยามเขาล้มหายตายจากไป เราก็ไร้ที่พึ่งทันที หากจะอ้อนวอนของเทวดาอารักษ์เทพเจ้าทั้งหลายให้ช่วยเหลือ ก็เหมือนกับนอนใต้ต้นส้ม อ้าปากรอให้ผลส้มหล่นลงปาก เป็นความหวังที่เปล่าดาย การพึ่งตนนั้นต้องทำอะไรที่อยากได้อยากมีด้วยตนเอง อยากกินผลส้มต้องเด็ดผลมันมากินเอง อย่านอนอ้าปากรอให้ผลส้มหล่นใส่ปาก อยากกินข้าวก็อย่าอ้าปากรอข้าวลอยมาเข้าปาก อยากได้ดีต้องทำดี อยากได้ทรัพย์สมบัติต้องทำการงาน นี่คือหลักการพึ่งตนที่ถูกต้อง
รูปแบบสุดท้ายที่นักเทศน์ต้องมีได้แก่ สัมปหังสนา หรือ สัมปหังสโก คือ การชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง รูปแบบนี้สำคัญ เพราะทำให้คนฟังไม่เบื่อ ไม่ง่วง อาจารย์มหาอ่อนกล่าวว่า คนไทยมักฟังเทศน์ด้วยหวังได้บุญเป็นส่วนมาก เราจะเห็นว่าคนมีอายุหน่อยมักจะนั่งพับเพียบพนมมือ แล้วค่อย ๆ หมอบตัวลงกับพื้นเพราะความเมื่อย บางคนก็หลับไปเลย ถามว่าได้อะไรจากการฟังเทศน์บ้าง ก็มักได้คำตอบว่า “ได้บุญ” อย่าถามเลยว่า บุญคืออะไร รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แกตอบไม่ได้หรอก แต่แกจะรู้ตามที่พระบอกว่า ผลของบุญจะได้ตอนที่ตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์ อย่างสัตว์เดรัจฉานจำนวนมากที่ฟังพระสวดธรรมตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์นั่นและ คนไทยจึงฟังเทศน์กันตามประเพณีมากกว่าจะฟังเพื่อเอาความรู้จากพระเทศนาธรรม
เรื่องวัฒนธรรมประเพณีไทยนี้ อาจารย์มหาอ่อนท่านว่ามีทั้งคุณและโทษ โดยท่านเล่านิทานพื้นบ้านประกอบเรื่องว่า ....
สมัยเมื่อร้อยปีก่อนนี้ มีหมู่บ้านใหญ่ในชนบทแห่งหนึ่งอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ด้อยพัฒนา” โยมทายกวัดกลางหมู่บ้านมีลูกชายคนหนึ่ง ครั้นเจริญวัยขึ้นสมควรแก่การศึกษาเล่าเรียนแล้ว หวังให้ลูกได้ดีจึงพาเข้ากรุงเทพฯ ฝากเป็นศิษย์พระวัดใหญ่แห่งหนึ่ง เด็กชายคนนั้นชื่อว่า “เนียน” เขาเรียนหนังสือไทยจนจบแล้วเจ้าอาวาสให้เรียนนักธรรม-บาลีต่อ โดยให้บรรพชาเป็นสามเณร สามเณรเนียนเรียนนักธรรม บาลีจนสอบนักธรรมชั้นโท อุปสมบทเป็นภิกษุต่อแล้วสอบบาลีได้เป็นเปรียญธรรม ๕ ประโยค เป็นพระมหาเนียน โก้ไปเลย
พระมหาเนียนสอบเปรียญธรรม ๖ ประโยค ตกถึง ๓ ครั้ง ก็หมดกำลังใจจะเรียนต่อ จึงกลับไปอยู่วัดที่บ้านเดิม พระมหาจากกรุงเทพฯ ออกไปอยู่บ้านนอกก็เหมือนเทวดาลงมาจากสวรรค์กระนั้นเทียว พระมหาเนียนได้รับการยกย่องเคารพยำเกรงจากพระเณรและชาวบ้านเป็นอย่างมาก อยู่วัดบ้านตนไม่นานนักสมภารวัดซึ่งชราภาพมากแล้วก็มรณะ พระมหาเนียนจึงได้เป็นสมภารแทน ท่านสั่งสอนอบรมพระเณรและชาวบ้านให้รู้รักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีไทยอย่างเคร่งครัด ชาววัดชาวบ้านก็เชื่อฟังทำตามท่านเป็นอันดี เป็นพระดี ดัง เด่น อยู่ได้ประมาณ ๕ ปี ท่านก็พ่ายแพ้แก่ธิดาพญามาร ลาสิกขาออกไปมีภรรยาตามวิสัยแห่งโลกิยชน แม้มหาเนียนจะสึกออกไปมีครอบครัวแล้ว แต่ก็ยังเป็นเหมือนสมภารวัด พระเณรและชาวบ้านยังให้ความเคารพนับถือท่านอยู่เหมือนเดิม ทุกวันพระท่านจะเข้าวัดทำหน้าที่เป็นมรรคนายกและรักษาอุโบสถศีลไม่ว่างเว้น มีงานบุญทั้งในวัดและตามบ้านมหาเนียนจะต้องได้รับเชิญไปเป็นหัวหน้ามรรคนายกทุกงาน
อายุมหาเนียนมากขึ้นจนเฉียด ๆ ๖๐ ปีแล้ว ร่างกายผิวคล้ำต่ำเตี้ยก็เริ่มอ้วนท้วนพุงพลุ้ย แถมศีร์ษะล้านให้อีกด้วย สงกรานต์ปีนั้น ลูก ๆ ออกเงินร่วมกันซื้อผ้าไหมหางกระรอกสีม่วงอันเป็นสีประจำวันเกิดให้ผืนหนึ่ง สมัยนั้นคนไทยชายหญิงนิยมแต่งตัวด้วยการนุ่งผ้าโจงกระเบน มหาเนียนนุ่งผ้าไหมที่ลูกซื้อให้เข้าวัดทำบุญตามปกติ พอเดินขึ้นบันไดศาลาการเปรียญไป ชาวบ้านก็พากันมองท่านมหาเนียนของเขาด้วยความชื่นชม บางคนใจกล้าหน่อยก็ทักว่า แหม..พ่อมหา วันนี้แต่งตัวภูมิฐานจัง มหาเนียนยิ้มอย่างพอใจ กล่าวตอบว่า ไหมม่วงหางกระรอกผืนนี้ลูกเขาซื้อมาไหว้พ่อเนื่องในวันสงกรานต์น่ะ
พระลงศาลานั่งบนอาสน์สงฆ์เรียบร้อยแล้ว มหาเนียนก็ทำหน้าที่เหมือนเดิม จุดเทียนธูปบูชาพระแล้ว หันหน้าหาประชาชนประกาศว่า “ต่อไปนี้ตั้งใจไหว้กราบพระรับศีลพร้อมกันทุกคนเจ้าข้า” แล้วก็หันหน้าเข้าหาพระกล่าวคำ “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ” ตอนกราบนี่แหละเกิดปัญหาขึ้นแก่มหาเนียน กล่าวคือแกกราบไม่ลง เพราะตัวอ้วนพุงพลุ้ยอยู่แล้ว ผ้าม่วงผืนใหม่ของแกเห็นทีว่าจะมีหน้าสั้นแคบไปหน่อย พอกราบหางกระเบนก็รั้งไว้ให้กราบไม่ลง มหาเนียนจึงต้องปลดหากระเบนออกแล้วกราบ ประสกสีกาที่นั่งข้างหลังเห็นเช่นนั้นก็พากันปลดหางกระเบนของตนออกแล้วกราบพระตามอย่างมหาเนียน กราบครบ ๓ ครั้งแล้ว ก็อาราธนาศีล รับศีลจบแล้วแล้วจึงจับหางกระเบนเหน็บไว้ตามเดิม ประสีกาในศาลาก็ทำตามมหาเนียนพร้อมกันทั้งหมดเลย เมื่อประกาศเชิญให้ทุกคนไหว้กราบพระรับศีลแล้ว มหาเนียนไม่ได้หันมามองข้างหลัง จึงไม่รู้ว่าคนข้างหลังทำอะไรกันบ้าง ตั้งแต่วันนั้นมามหาเนียนไปเป็นมรรคนายกงานบุญไหนก็จะนุ่งผู้ม่วงผืนนั้นและปลดหางกระเบนออกก่อนไหวักราบพระทุกครั้ง คนทั้งตำบลก็ถือเป็นระเบียบประเพณีการไหว้กราบพระต้องปลดหางกระเบนออกก่อน ไม่มีใครกล้าถามมหาเนียนว่าทำไมต้องทำเช่นนั้น ด้วยเชื่อมั่นว่าท่านเป็นคนมีความรู้มากกว่าทุกคนในตำบลนั้น ทำอะไรย่อมถูกต้องไม่ผิดพลาดเป็นแน่
มหาเนียนสิ้นชีวิตไปนานแล้ว มรรคนายกคนต่อ ๆ มาก็รับมรดกทำตามแบบย่างมหาเนียนสืบมาจนกระทั่ง มีไอ้ทิดคนหนึ่งเป็นคนต่างบ้านต่างเมืองมาได้สาวตำบลนั้นเป็นภรรยา และวันหนึ่งเขาเข้าวัดทำบุญกับภรรยาและแม่ยาย พอบุญพิธีเริ่มขึ้นมรรคนายกประกาศให้ไหว้กราบพระรับศีล เขาเห็นทุกคนปลดหางกระเบนออกก็นั่งงงอยู่ แม่ยายเห็นเช่นนั้นก็เอาศอกกระแทกกระทุ้งลูกเขย บุ้ยปากให้ดูชาวบ้านในศาลานั้น เป็นเชิงบอกให้เขาทำตาม เขาก็จำต้องทำตาม เพราะ ”เข้าเมืองตาหลิ่ว” เสียแล้วต้อง “หลิ่วตาตาม” ครั้นเลิกทำบุญแล้วกลับมาบ้านเขาทนพกความสงสัยไว้ไม่ได้ จึงถามแม่ยายว่า
“ตอนไหว้พระรับศีลทำไมทุกคนจึงต้องปลดหางกระเบน”
แม่ยายถามว่า ไอ้ทิดเองเคยบวชเรียนมาแล้วใช่ไหม เขาตอบว่า ใช่จ้ะ
แม่ยายกล่าวว่า ”ไอ้ทิดเอ้ย เอ็งบวชก็เสียผ้าเหลือง สึกมาก็เปลืองผ้าลาย” เขาก็ว่า “อ้าว....เป็นไงอย่างงั้นล่ะแม่”
เอ็งบวชเรียนแล้วทำไมไม่รู้เรื่องอย่างนี้ล่ะ ไม่รู้จริง ๆ แม่ วัดที่บ้านฉันไม่มีการเรียนการสอนเรื่องนี้เลย
อืมม...วัดที่บ้านแกคงยังไม่เจริญด้านการศึกษานักหรอกนะ เอาเถอะ ไม่รู้แม่ก็จะบอกให้ จำไว้นะไอ้เซ่อ ... ไม่ปลดหางกระเบนออกแล้วศีลมันจะเข้าทางไหนเล่า !!!!”
อาจารย์มหาอ่อนจบนิทานด้วยคำถามว่า ประเพณีนี้เป็นคุณหรือเป็นโทษ พระคุณเจ้าทั้งหลายคิดเอาเองก็แล้วกันครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
อ.เสถียร โพธินันทะ เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๘๓ - เหตุที่ทางหน่วยพัฒนาการทางจิตนำอดีตพระนักเทศน์ดัง ๆ มาให้การอบรมสั่งสอนพวกเราหลายท่าน ก็เพื่อให้พวกเรากลับไปเทศนา บรรยายธรรม แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี นอกจากที่กล่าวมาแล้วก็มี มหาปัน นกแก้ว และอีกหลายท่านที่จำนามท่านไม่ได้ เพราะท่านมาอบรมพวกเราน้อยกว่าอาจารย์มหาอ่อน มหาแย้ม มหาปิ่น ดังกล่าวแล้ว พร้อมกันนั้นก็เชิญผู้มีความรู้ในวิชาการแขนงต่าง ๆ มาถวายความรู้แก่พวกเราด้วย ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา-พระไตรปิฎก ก็เป็นความสำคัญที่พวกเราต้องเรียนรู้ จึงนิมนต์ท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปัญโญ ป.ธ. ๙) จังหวัดนครสวรรค์ มาบรรยายให้ความรู้เรื่องพระไตรปิฎกแก่พวกเรา เชิญอาจารย์เสถียร โพธินันทะ มาบรรยายเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาแก่พวกเรา ท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์นั้น อาจารย์กิตฺติวุฑฺโฒ ว่าเป็นพระผู้ใหญ่ที่เก่งเรื่องพระไตรปิฎกมากที่สุด ขอพักเรื่องของท่านไว้ก่อน ในที่นี้จะขอกล่าวถึงอาจารย์เสถียร โพธินันทะ บุคคลผู้นี้มีประวัติที่น่าสนใจยิ่งนัก ขอประมวลย่อประวัติของท่านมาให้ทราบดังต่อไปนี้
อ.เสถียร โพธินันทะ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาคนหนึ่งของไทย ผู้บุกเบิกการศึกษาพระพุทธศาสนามหายาน และอดีตเลขาธิการคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ท่านเกิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่บ้านในตรอกอิศรานุภาพ บริเวณตลาดเก่าเยาวราช ใกล้ ๆ กับวัดกันมาตุยาราม บิดาเป็นชาวจีนชื่อนายตั้งเป็งท้ง มารดาชื่อนางมาลัย กมลมาลย์ มีพี่สาวสองคน ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อมารดาตั้งครรภ์อาจารย์เสถียร บิดาก็มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางกลับไปประเทศจีนและได้ถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา ในวัยเด็ก เด็กชายเสถียรใช้นามสกุลว่า “กมลมาลย์” ตามมารดา จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๑ เมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี จึงได้เปลี่ยนนามสกุลตนเองเป็น “โพธินันทะ” อันหมายถึงผู้ยินดีในความรู้แจ้ง ด้วยประสงค์จะให้ใกล้ชิดกับพระศาสนาและได้ใช้นามสกุลนี้ตลอดมาจนถึงแก่กรรม ด้วยอายุ ๓๗ ปี
ย้อนไปดูชีวิตของท่าน เมื่อมีอายุพอจะรับการศึกษาได้ มารดาจึงได้นำไปฝากให้เรียนในโรงเรียนราษฎรเจริญของครูชม เปาโรหิตย์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับวัดจักรวรรดิราชาวาส หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุขจนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๕ จึงได้ลาออก ด้วยประสงค์ความเป็นอิสระ และปรารถนาจะมีเวลาทำการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ที่ต้องการด้วยตนเอง โดยเฉพาะความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ นายแพทย์ตันม่อเซี้ยงได้เล่าว่า “คุณเสถียรเริ่มรู้จักกับข้าพเจ้าเมื่ออายุ ๑๕ ปี ครั้งนั้นคุณเสถียรกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข เป็นเด็กฉลาดเฉียบแหลม มีปฏิภาณดีมาก และมีความจำยอดเยี่ยมด้วย ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่คุณเสถียรได้รู้จักคุ้นเคยกับอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ แต่ครั้งยังอุปสมบทอยู่ที่วัดกันมาตุยาราม ซึ่งคุณเสถียรได้ศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทจากอาจารย์ท่านนี้ เพียงระยะเวลาไม่นานก็มีความรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ทั้งนี้ได้จากอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถเป็นเยี่ยมท่านหนึ่ง ประกอบกับสติปัญญาอันเฉียบแหลมของคุณเสถียรเองด้วย” ในเรื่องนี้มารดาของอาจารย์เสถียร โพธินันทะก็ได้เล่าว่า อาจารย์เสถียรสนใจทางพระศาสนามาตั้งแต่เล็ก เมื่ออายุประมาณได้ ๓ ขวบก็เริ่มนำดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้พระแล้ว
ในสมัยเด็ก เมื่ออยู่ในที่แวดล้อมเป็นคนจีน เด็กชายเสถียรก็ชอบเล่นแต่งกายเป็นพระจีน การวาดเขียนที่ชอบมากคือเขียนรูปพระพุทธเจ้าและรูปบุคคลประกอบเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา เมื่ออายุได้ ๑๓-๑๔ ปีก็ชอบท่องเที่ยวไปตามวัดต่าง ๆ ทั้งวัดจีน วัดญวน และวัดไทย วัดไทยที่ชอบไปคือวัดจักรวรรดิราชาวาส เพื่อไปสนทนาไต่ถามเรื่องราวต่าง ๆ ทางศาสนากับพระสงฆ์ โดยเฉพาะวัดจีนและวัดญวนนั้นชอบไปดูพิธีทิ้งกระจาด การทำกงเต๊ก และการสวดมนต์ ส่วนในด้านความรู้นั้นก็ได้ศึกษาความรู้เรื่องพระพุทธศาสนามหายานจากหนังสือลัทธิของเพื่อนของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป แต่ก็รู้จักใช้ถ้อยคำสำนวนได้ถูกต้องตามหลักวิชา ประกอบกับมีความจำเป็นเลิศจึงจดจำเรื่องราวที่อ่านไว้ได้มาก สามารถอธิบายรูปปฏิมาต่าง ๆ ในวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ได้ถูกต้องและถี่ถ้วน ยิ่งกว่านั้นการซักถามพระจีนพระญวนที่มีความรู้โดยละเอียดก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มีความรู้ในเรื่องของจีนและญวนแตกฉานขึ้น
ภายหลังจบชั้นมัธยมปีที่ห้าแล้ว จึงได้เข้าศึกษาภาษาจีนที่โรงเรียนเผยอิง ชั่วเวลาเพียงสองปีก็มีความรู้ภาษาจีนแตกฉาน สามารถใช้ศัพท์สูง ๆ ยาก ๆ ในภาษาจีนกลางได้ดี สามารถอ่านพระไตรปิฎกจีนซึ่งอุดมไปด้วยสำนวนโวหารโบราณที่ลึกซึ้งได้อย่างเข้าใจ ทักษะทางด้านภาษาจีนนี้ถือเป็นอัจฉริยภาพอีกประการหนึ่งของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ซึ่งนายแพทย์ตันม่อเซี้ยงได้เล่าว่า "เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าไปแสดงปาฐกถาที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณเสถียรได้ทำหน้าที่ล่ามให้ถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกคุณเสถียรมีอายุเพียง ๑๗ ปีเท่านั้น แต่ก็สามารถถ่ายทอดคำปาฐกถาจากภาษาจีนสู่พากย์ไทยได้อย่างดียิ่ง สามารถแปลได้ถูกต้องและครบถ้วนตามเจตจำนงของข้าพเจ้าทุกกระบวนความ คุณเสถียรได้แสดงความเป็นปราชญ์ให้เป็นที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายแต่เยาว์วัยทีเดียว และได้แสดงปาฐกถาด้วยตนเองครั้งแรกที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยเมื่ออายุ ๑๘ ปี" นายแพทย์ตันม่อเซี้ยงซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านเสถียรคนหนึ่งจึงรู้เรื่องท่านเสถียรเป็นอย่างดี
อ.เสถียรคนนี้คือผู้ให้กำเนิด “ยุวพุทธิกสมาคม” ดังมีเรื่องเล่าว่า “เมื่ออาจารย์เสถียร โพธินันทะ มีอายุราว ๑๗ ปี ท่านสุชีโว ภิกขุ หรืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้เชิญให้อาจารย์เสถียร โพธินันทะซึ่งเป็นศิษย์ในวัดกันมาตุยารามไปบรรยายธรรมะให้พุทธศาสนิกชนฟัง ที่ตึกมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร (ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง) อาจารย์เสถียรไปถึงที่บรรยายทั้ง ๆ ที่ใส่ชุดนักเรียน โดยที่ท่านสุชีโว ภิกขุได้ตามไปเป็นพี่เลี้ยงให้ด้วย การบรรยายในวันนั้น สร้างความประทับใจแก่ผู้ฟังเป็นอย่างมาก ที่เห็นวัยรุ่นอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีสามารถบรรยายธรรมได้อย่างแตกฉาน ทำให้เกิดกระแสความต้องการของประชาชนที่จะก่อตั้งเป็นกลุ่มเยาวชนพุทธขึ้นมา เพื่อสร้างศาสนทายาทในฝ่ายฆราวาสขึ้น ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีอีกคนในยุคนั้น คือ นายบุญยง ว่องวาณิช นายห้างอังกฤษตรางู ซึ่งสมัยนั้น ติดตามฟังปาฐกถาของสุชีโว ภิกขุ และอาจารย์เสถียร โพธินันทะ เป็นประจำ ต่อมา สุชีโว ภิกขุก็นำเรื่องนี้ไปปรึกษาพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่ออาจารย์เสถียร โพธินันทะอายุได้ ๒๐ ปีเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสมาคม พระพรหมมุนี จึงตั้งชื่อให้ว่ายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่บัดนั้น อาจารย์เสถียร ก็ทำหน้าที่ระดมชาวพุทธวัยหนุ่มสาวให้มาทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาร่วมกัน ผลการก่อตั้งยุวพุทธิกสมาคม ปรากฏว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัย พ่อค้า ข้าราชการ ที่มีความเห็นตรงกันจำนวนมากสนใจในพระพุทธศาสนา ต่อมา ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นองค์กรทางศาสนาที่มีบทบาทสำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศและมีชื่อเสียงไปถึงระดับนานาชาติ”
เกียรติคุณด้านความรอบรู้ในทางวิชาการพระพุทธศาสนาของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ได้แผ่ขยายออกไปสู่สังคม เมื่ออายุได้ ๒๓ ปีจึงได้รับเชิญจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ให้ไปเป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และวิชาพุทธศาสนามหายาน เป็นอาจารย์ที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาการศึกษา ฯ แต่ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง และในระหว่างที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ อาจารย์เสถียรได้เขียนบทความและหนังสือไว้เป็นอันมาก ซึ่งผลงานเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งต่อวงการศึกษาพุทธศาสนา ที่ใช้เป็นตำราประกอบการศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงมาจนทุกวันนี้ หนังสือเล่มสำคัญ ๆ ได้แก่ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา , พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย , ปรัชญามหายาน , พุทธศาสนาในอาเซียกลาง และบทความทั้งสั้นและยาวรวมเล่มอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ หนังสือเมธีตะวันออกของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ก็ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และมีการพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และผลงานสำคัญที่สุดที่ถือได้ว่าเป็นผลงานอมตะคืองานแปลพระสูตรฝ่ายมหายาน จากภาษาจีน คือ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร และ วิมลเกียรตินิทเทศสูตร นอกจากหน้าที่ในการเป็นอาจารย์แล้ว อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ยังเป็นนักปาฐกถาอีกด้วย งานสำคัญที่ปฏิบัติตลอดมาคือการแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา ปรัชญา และประวัติศาสตร์ และก็เป็นนักปาฐกถาชั้นเยี่ยมที่มีคนนิยมมาก เพราะเป็นผู้มีความรู้กว้างขวาง มีความจำดี ชอบค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งยังชอบขบคิดหรือค้นคว้าเรื่องยาก ๆ เรื่องอะไรที่เห็นว่าสำคัญพอจะท่องจำไว้ได้ก็ท่องจำไว้ทีเดียว และด้วยมีความรู้หลายภาษาจึงสามารถศึกษาได้กว้างขวางลุ่มลึก เป็นที่ถูกอกถูกใจแก่บรรดาปัญญาชนผู้ใฝ่หาความรู้ เมื่อมีประกาศทางหนังสือพิมพ์ว่าอาจารย์เสถียรจะไปพูด ณ ที่ใด ก็จะมีคนติดตามไปฟังแน่นขนัดเสมอ งานแสดงปาฐกถานี้เป็นงานที่กระทำต่อเนื่องกว่าสิบปี ทั้งที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย และที่พุทธสมาคมอื่น ๆ หลายแห่ง รวมถึงตามมหาวิทยาลัยและตามโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่าเด็กและเยาวชนให้ความสนใจกันมาก
วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๐๙ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ได้กลับมาบ้านในเวลา ๒๑.๐๐ น. แล้วอาบน้ำชำระร่างกาย จากนั้นเมื่อเลยเที่ยงคืนไปแล้วจึงได้เข้านอน ถึงวันรุ่งขึ้นในเวลาเช้า เด็กรับใช้ขึ้นไปเรียกเห็นเงียบก็ลงมาบอก มารดาเข้าใจว่ายังหลับอยู่จึงออกไปซื้อของนอกบ้าน จนสายราว ๘.๐๐ น. กลับมาเห็นยังไม่ตื่นจึงได้ขึ้นไปดูเห็นอาการนอนนิ่ง เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็ตกใจ จึงให้หลานชายไปตามแพทย์มาตรวจ แพทย์สันนิษฐานว่าสิ้นลมมาราว ๖-๗ ชั่วโมงแล้ว ลักษณะการถึงแก่กรรมของท่านเหมือนคนนอนหลับธรรมดา หน้าตาเปล่งปลั่งมีรอยยิ้มน้อย ๆ ไม่มีร่องรอยว่ามีทุกขเวทนาใด ๆ แม้เมื่อนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดจักรวรรดิราชาวาสแล้วและยังมิได้ปิดฝา ในหัวค่ำวันที่ ๑๐ ธันวาคมนั้น ใคร ๆ ไปเยี่ยมศพก็จะเห็นว่าร่างท่านสมบูรณ์ ยังมีหน้าตาเปล่งปลั่งมีเลือดฝาดเหมือนกับคนนอนหลับ นับได้ว่าจากไปด้วยอาการอันสงบ ต่อมาได้มีการจัดงานพระราชทานเพลิงศพขึ้น ณ วัดเทพศิรินทราวาส รวมสิริอายุได้ ๓๗ ปี ตลอดมาได้ดำรงตนเป็นฆราวาสมุนี ถือพรหมจรรย์ และประพฤติธรรมตราบจนสิ้นอายุขัย”
ให้อ่านประวัติย่อของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ พอสมควรแก่เวลา ในปีท่านถึงกาลกิริยานั้นเป็นปีเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าเข้าอบรมเป็นพระหน่วยพัฒนาการทางจิต อาจารย์เสถึยรไปสอนวิชาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานแก่พวกเราจนจบการอบรมเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๙ หลังจากนั้นอีก ๗ เดือนเศษท่านก็ขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดุสิตตามเจตนารมณ์ของท่าน/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, malada, เป็น อยู่ คือ, หยาดฟ้า, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), คิดถึงเสมอ, มนชิดา พานิช, ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
สุชีพ ปุญญานุภาพ เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๘๔ - หลายสิบปากว่า เสถียร โพธินันทะ เป็นเด็กอัจฉริยะมีความจำเป็นเลิศ ความในพระไตรปิฎกไทยทั้งหมดจำได้ไม่มีตกหล่น เคยมีคนลองภูมิว่า พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๑๐ ความว่าอย่างไร ก็ตอบได้ถูกต้อง ลองถามหน้าที่ บรรทัดที่ต่อไป ก็ตอบได้หมดอย่างน่าอัศจรรย์ เคยนุ่งกางเกงขาสั้นในชุดนักเรียนขึ้นโต้วาทีกับนักสอนศาสนาคริสต์จนชนะมาแล้ว และยังว่ากันว่าอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับท่านผู้นี้ ขณะที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังในวงการนักพูดปาฐกถา โต้วาที นั้น อ.เสถียร โพธินันทะ รับเชิญจากมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัยมาบรรยาย (สอน) วิชาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท-มหายาน ให้ความรู้แก่พระหน่วยพัฒนาการทางจิตรุ่นข้าพเจ้า พวกเราล้วนรู้สึกตื่นเต้นยินดีที่มีอาจารย์เสถียร โพธินันทะ รับเชิญมาสอนพวกเรา
อาจารย์ที่เป็นฆราวาสทุกท่านที่มาสอนพวกเราจะแต่งตัวตามสากลนิยม คือผูกเนกไทใส่เสื้อนอก หรือใส่เสื้อแขนยาวผูกเนกไท หรือไม่ก็แต่งเครื่องแบบข้าราชการตามสังกัดของท่าน มีบ้างที่ใส่เสื้อแขนยาวให้ดูสุภาพ เมื่อยืนตรงแท่นบรรยาย (โพเดียม) ก็ดูมีสง่าราศี แต่อาจารย์เสถียร โพธินันทะ แต่งตัวไม่เหมือนใคร กล่าวคือท่านไม่แต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูหรูหราเหมือนใคร ๆ นุ่งกางเกงขายาว ใส่เสื้อแขนสั้น สวมรองเท้าผ้าใบ เสื้อแขนสั้นของท่านบางวันก็เป็นเสื้อลายดอกจนพวกเราบางคนเรียกท่านว่า “อาจารย์จิ๊กโก๋” บนแท่นบรรยายยืนพูดนั้นจะมีน้ำดื่มใส่แก้วบ้างน้ำอัดลมบ้าง ตั้งวางไว้ เพื่อว่าผู้บรรยายพูดมาก ๆ แล้วคอแห้งจะได้จิบดื่มตามอัธยาศัย ทุกท่านมักจะจิบดื่มกัน แต่อาจารย์เสถียรไม่เคยแตะต้อง ท่านพูด ๆๆๆ จนหมดชั่วโมงลงจากโพเดียม เดินทางไปออกนอกวัดแล้วบางวันท่านจะแวะร้านเครื่องดื่มเปิดตู้เย็นหยิบน้ำขวดมาเปิดยืนดื่มตรงนั้น แล้วเดินไปยืนรอรถเมล์ตรงป้ายจอดรถ ขึ้นรถเมล์นั่งไปตามจุดหมายของท่าน คนเก็บค่าโดยสารมาเก็บเงินท่านก็ยืนกระเป๋าสตางค์ให้เปิดหยิบเอาเอง พฤติกรรมดังกล่าวนี้มีคนติดตามดูแล้วมาบอกเล่าให้เราฟังกัน
การบรรยายทุกวิชาและทุกท่านจะเปิดโอกาสให้พวกเราถามข้อสงสัยทุกครั้งที่ท่านบรรยายกันนั้น โดยมีไมค์ใส่ขาตั้งไว้กลางห้องเรียนเป็นประจำ ในการบรรยายของอาจารย์เสถึยร วันหนึ่งข้าพเจ้าถูกเพื่อน ๆ ยุให้ถามท่านว่า
“อาจารย์ไม่หยิบจับเงินทอง เพราะอาจารย์เป็นศิษย์พระธรรมยุติ จึงถือวินัยตามอาจารย์ใช่ไหม ?”
เท่านั้นเองท่านตอบแจกแจงเสียยืดยาวเลยว่า
“เรื่องนี้อย่าเข้าใจผิด บ้านผมอยู่ใกล้วัดพระนิกายธรรมยุติ ผมเป็นเด็กศิษย์พระธรรมยุติก็จริง แต่ผมไม่ยึดนิกาย เช่นเดียวกัน ผมเติบโตในนิกายเถรวาท แต่ก็ไม่ยึดติดในนิกายเถรวาท ผมเป็นชาวพุทธของนิกายเถรวาทและนิกายมหายาน พูดง่าย ๆ ว่าเป็นชาวพุทธทุกนิกาย โดยไม่ยึดติดนิกายใด แต่ยึดติดธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างมั่นคง ส่วนเรื่องที่ไม่หยิบจับเงินทองนั้น ไม่ใช่เคร่งครัดในพระวินัยบัญญัติ แต่เคร่งครัดในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ท่านรู้ไหม เงินธนบัตรละเงินเหรียญทั้งหลายนั้น ก่อนจะมาถึงมือเรามันผ่านมือคนที่เป็นโรคอะไรบ้าง โรคร้ายติดเงินมาหากเราหยิบจับมัน เชื้อโรคที่ติดเงินมาก็จะเข้าตัวเรา เพราะเหตุนี้ผมจึงไม่หยิบจับเงิน”
ฟังเหตุผลของท่านแล้วข้าพเจ้าก็หมดข้อโต้แย้ง พระปลัดวิชัยจากวัดตูมอยุธยาเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าที่เพื่อน ๆ ให้คำถามไว้ถามต่อจากข้าพเจ้าก็ถามต่อทันที
“อาตมาขอถามว่า เขาพูดกันว่าอาจารย์เสถียรเกลียดผู้หญิงจึงยังไม่ยอมมีภรรยา แสดงว่าอาจารย์เคยถูกผู้หญิงหักอกใช่ไหม “
คำถามนี้เรียกเสียงหัวเราะฮาทั้งห้องเรียน สิ้นเสียงหัวเราะของพวกเรา อาจารย์เสถียรก็หัวเราะต่อ ก่อนตอบอธิบายความในใจของท่านว่า
“จะมีผู้หญิงคนไหนมาหักอกผมได้เล่าพระคุณเจ้าที่เคารพ เพราะผมไม่เคยยื่นอกให้นางใดเลย (ท่านพูดติดลกเป็นครั้งแรก) จริง ๆ แล้วผมรักผู้หญิงทุกคน เริ่มตั้งรักแม่ รักพี่สาวทั้งสอง รักผู้หญิงทั่วไป แต่ไม่คิดจะเชยชม เพราะมองเห็น “เป็นปฏิกูลสัญญาความสำคัญว่าน่าเกลียด เนื่องจากเคยพบเห็นคนตายมีร่างกายน่าเกลียดมาแล้ว ครั้นเห็นคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มองเห็นไปว่าเป็นร่างที่น่าเกลียด” ผมตั้งความปรารถนาไว้ว่าจะประพฤติพรหมจรรย์ รักษาพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิต ละจากโลกนี้แล้วขอบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตอันเป็นที่อยู่แห่งพระโพธิสัตว์เจ้า จุติจากชั้นดุสิตแล้วบังเกิดในมนุษย์อีกเพียงครั้งเดียวสำเร็จอรหันต์แล้วนิพพานเลย”
คำตอบของท่านพวกเราฟังแล้วพากันอึ้งไปเลย
ที่ตั้งคำถามดังกล่าวข้างต้นนั้น เพราะอาจารย์เสถียรเป็นศิษย์รักของพระสุชีโว ภิกขุ (บุญรอด) วัดกันมาตุยาราม พระมหาบุญรอด สุชีโว เป็นพระเปรียญธรรม ๙ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในทางแสดงธรรม เป็นนักคิดนักเขียนที่หาตัวจับได้ยากในยุคนั้น อ.เสถียรเติบโตในวงวิชาการพระพุทธศาสนาด้วยพระสุชีโวผู้นี้ หลังจากท่านลาสิกขาแล้วก็สร้างผลงานทางวิชาการมากมายในนามของท่านคือสุชีพ ปุญญานุภาพ สมัยเป็นพระภิกษุนั้นท่านเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันให้ตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นที่วัดบวรนิเวศน์ ให้ชื่อว่า สภาการศึกษามหามงกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งรัฐบาลได้ตรากฎมายรับรองเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๗
อ.เสถียรบอกว่าไม่ยึดติดนิกายเห็นจะจริงของท่าน แม้นิกายใหญ่อย่าง เถรวาท (หินยาน) กับ อาจาริยวาท (มหายาน) ท่านก็ไม่ยึดติด แต่ดูเหมือนท่านจะเอียงไปทางมหายานหน่อย ๆ ต่อมาท่านประกาศตนเป็น “ฆราสมุนี” ฟังชื่อแล้วก็เหมือนจะเป็นฝ่ายมหายานมาก ท่านแปล "วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร" ซึ่งเป็นพระสูตรชั้นหลักอันสำคัญยิ่งสูตรหนึ่งของพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน พุทธมามกชนฝ่ายมหายานทั้งจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลี ฯลฯ ย่อมรู้จักคุ้นเคยกับพระสูตรนี้ดี โดยเฉพาะในวงการพุทธบริษัทจีน ได้จัดพระสูตรนี้เป็นปาฐะที่จะต้องสวดสาธยายในงานพิธีศราทธพรต ดุจเดียวกับการสวดอธิธรรมของบ้านเรา ข้าพเจ้าเคยได้อ่านฉบับแปลของท่านเหมือนกัน /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ลิตเติลเกิร์ล, คิดถึงเสมอ, มนชิดา พานิช, malada, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, ข้าวหอม, เฒ่าธุลี, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๘๕ - การเรียนประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเริ่มต้นหลังจากพุทธปรินิพพาน เมื่อถวายเพลิงพระบรมศพแล้ว มีการทำสังคายนาคือการรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ดังเป็นที่ทราบกันอยู่ในหมู่ชาวพุทธฝ่ายเถรวาทแล้วนั้น ความจริงความเป็นมาของการสังคายนาเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ สมัยนั้นพระพุทธเจ้าและพระสาวกองค์สำคัญ โดยเฉพาะพระสารีบุตร ได้คำนึงว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว หากไม่มีการรวบรวมประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็จะสูญสิ้น ดังนั้น แม้พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ได้การริเริ่มเป็นการนำทางไว้ให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังว่า ให้มีการรวบรวมคำสอนของพระองค์ เรียกว่าสังคายนา ขณะนั้นล่วงปลายพุทธกาลแล้ว พระมหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตลง สาวกของท่านไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้เป็นหมวดหมู่ และไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ชัดเจน ปรากฏว่าเมื่อศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตไปแล้ว เหล่าสาวกก็แตกแยกทะเลาะวิวาทกันว่า ศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร ครั้งนั้นพระจุนทเถระได้นำข่าวนี้มากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวง ร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน
เวลานั้น พระสารีบุตรอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่ ท่านปรารภเรื่องนี้แล้วกล่าวว่า ปัญหาของศาสนาเชนเกิดขึ้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้ เพราะฉะนั้นพระสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ควรจะได้ทำการสังคายนา คือรวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลักเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วพระสารีบุตรก็ได้แสดงวิธีการสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่าง ๆ มาแสดงตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ คือเป็นธรรมหมวด ๑ ธรรมหมวด ๒ ธรรมหมวด ๓ ไปจนถึงธรรมหมวด ๑๐ เมื่อพระสารีบุตรแสดงจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานสาธุการ หลักธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้นี้ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร (พระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือสังคีติ) เป็นตัวอย่างที่พระอัครสาวกคือพระสารีบุตรได้กระทำไว้ แต่ท่านพระสารีบุตรเองได้ปรินิพพานไปก่อนพระพุทธเจ้า ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ภาระจึงตกอยู่กับพระมหากัสสปเถระ ซึ่งตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เป็นพระสาวกผู้มีอายุพรรษามากที่สุด
ความในพระไตรปิฎกคัมภีร์พุทธศาสนาสำคัญที่สุดของฝ่ายเถรวาทกล่าวว่า “พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่ ณ เมืองปาวาพร้อมด้วยหมู่ศิษย์จำนวนมาก เมื่อได้ทราบข่าวนั้น เหล่าศิษย์ของพระมหากัสสปะซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น จึงมีพระภิกษุบวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะวุฒฑบรรพชิต ( ผู้บวชเมื่อวัยแก่) ได้กล่าวขึ้นว่า
"หยุดเถิด หยุดเถิด ท่านอย่าร่ำไรไปเลย พระสมณะ นั้นพ้น (ปรินิพพาน) แล้ว เราจะทำอะไรก็ได้ตามพอใจ ไม่ต้องเกรงบัญชาใคร"
พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้น คิดจะทำนิคคหกรรม (ทำโทษ) แต่เห็นว่ายังมิควรก่อน และดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้ จึงควรจะทำการสังคายนาและจะชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มาประชุมกัน เพื่อช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้ จากนั้นท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว พระมหากัสสปะได้ปรารภเรื่องการทำสังคายนาขึ้นท่ามกลางหมู่สงฆ์ คณะสงฆ์จึงมีมติให้จัดทำสังคายนาขึ้นโดยมอบหมายให้พระมหากัสสปะเป็นประธานดำเนินการจัดทำขึ้นที่ถ้ำสัตบรรณคูหาเชิงเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ ๗ เดือนจึงแล้วเสร็จ ในครั้งนั้น พระมหากัสสปเถระเป็นประธานซักถาม พระอุบาลีเถระ เป็นองค์วิสัชนา (ตอบ) พระวินัยปิฎก วางระเบียบพระธรรมวินัย ทั้งที่เป็นพุทธบัญญัติและอภิสมาจาริกาสิกขา พระอานนท์เป็นองค์วิสัชนา (ตอบ) ในหมวดพระสุตตันตปิฎก และ ยกพระพุทธวจนะก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา แปลว่า ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป”
เมื่อมีการถาม-ตอบสอบทานพระธรรมวินัยกันเรียบร้อยเห็นว่าถูกต้องดีแล้ว ก็ให้สงฆ์องค์อรหันต์ทั้งห้าร้อยองค์ในที่ประชุมนั้นสวดสังวัธยาย คือออกเสียงดัง ๆ ให้ได้ยินกันทั่วจนไม่มีผิดเพี้ยนแล้ว ถือว่าจบการทำสังคายนา มอบภาระพระเถระทั้งหลายนำไปสอนให้ศิษย์ของคนท่องจำและสังวัธยายเผยแผ่ต่อไป การทำสังคายนาดังกล่าวนี้เรียกกันในฝ่ายสงฆ์เถรวาทว่า “ปฐมสังคีติ" หรือปฐมสังคายนา ความในเรื่องนี้ข้าพเจ้าเรียนรู้รายละเอีดมาเพียงเท่านี้ เมื่อมาเข้าอบรมในพระหน่วยพัฒนาการทางจิต ได้รับความรู้เรื่องนี้จากอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ที่ให้รายละเอียดมากขึ้นไปอีกว่า
หลังจากการสังคายนาผ่านไปได้ไม่นาน พระเถระรูปหนึ่งชื่อว่า ปุราณะ พร้อมด้วยบริวารประมาณ ๕๐๐ พำนักจำพรรษาอยู่ที่ทักขิณาคิรีชนบท เมื่อทราบว่าสังคายนาทำเสร็จแล้ว ท่านและบริวารจึงได้เข้าสู่กรุงราชคฤห์ พระสังคีติกาจารย์ได้เข้าไปแจ้งให้ท่านทราบว่าพระสงฆ์ได้ทำการสังคายนากันแล้ว ขอให้ท่านยอมรับด้วย พระปุราณะกลับกล่าวว่า เมื่อทำสังคีติเสร็จแล้ว "ท่านทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยกันเรียบร้อยก็ดีแล้ว แต่ผมได้ฟังได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธองค์ว่าอย่างไร จักถือปฏิบัติตามนั้น"
เมื่อได้ชี้แจงกันพอสมควรแล้ว ปรากฏว่าพระปุราณะมีความเห็นตรงกับพระสังคีติกาจารย์ส่วนมาก แต่มีความเห็นขัดแย้งกันเรื่องวัตถุ ๘ ประการ ซึ่งเป็นพุทธานุญาตพิเศษที่ทรงอนุญาตให้พระทำได้ในคราวเกิดทุพภิกขภัย แต่เมื่อภัยเหล่านั้นระงับ ก็ทรงบัญญัติห้ามมิให้กระทำอีก เรื่องทั้ง ๘ นั้น คือ ๑ อันโตวุฏฐะ เก็บของที่เป็นยาวกาลิก คืออาหารไว้ในที่อยู่ของตน ๒. อันโตปักกะ ให้มีการหุงต้มอาหารในที่อยู่ของตน ๓. สามปักกะ พระลงมือหุงต้มด้วยตนเอง ๔. อุคคหิตะ คือการหยิบของเคี้ยวของฉันที่ยังไม่ได้ประเคน ๕. ตโตนีเหตะ ของที่นำมาจากที่นิมนต์ ซึ่งเป็นพวกอาหาร ๖. ปุเรภัตตะ การฉันของก่อนเวลาภัตตาหาร กรณีที่รับนิมนต์ไว้ในที่อื่นแต่ฉันอาหารอื่นก่อนอาหารที่ตนจะต้องฉันในที่นิมนต์ ๗. วนัฏฐะ ของที่เกิดและตกอยู่ในป่า ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ ๘. โปกขรัฏฐะ ของที่เกิดอยู่ในสระ เช่น ดอกบัว เหง้าบัว วัตถุทั้ง ๘ นี้เป็นพุทธานุญาตพิเศษในคราวทุพภิกขภัย ๒ คราว คือ ที่เมืองเวสาลีและเมืองราชคฤห์ แต่เมื่อทุพภิกขภัยหายไปแล้ว ทรงห้ามมิให้พระภิกษุกระทำ พระปุราณะและพวกของท่านคงจะได้ทราบเฉพาะเวลาที่ทรงอนุญาต จึงทรงจำไว้อย่างนั้น เนื่องจากการอยู่กระจัดกระจายกัน การติดต่อบอกกล่าวกันบางเรื่องทำไม่ได้ จะถือว่าท่านดื้อรั้นเกินไปก็ไม่ถนัดนัก เพราะท่านถือตามที่ได้สดับมาจากพุทธสำนักเหมือนกัน เมื่อฝ่ายพระสังคีติกาจารย์ชี้แจงให้ท่านฟัง ท่านกลับมีความเห็นว่า
"พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระสัพพัญุตญาณ มิควรที่จะบัญญัติห้ามแล้วอนุญาต อนุญาตแล้วกลับบัญญัติห้ามมิใช่หรือ"
"เพราะพระองค์ทรงมีพระสัพพัญุตญาณนั่นเอง จึงทรงรู้ว่ากาลใดควรห้ามกาลใดควรอนุญาต" พระมหากัสสปเถระกล่าว และได้กล่าวเน้นให้พระปุราณะทราบว่าสมติของที่ประชุมได้ตกลงกันว่า "จักไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่ทรงบัญญัติไว้แล้วจักสมาทานศึกษาสำเหนียกในสิกขาบททั้งหลาย ตามที่ทรงบัญญัติไว้" พระปุราณะยืนยันว่าท่านจักปฏิบัติตามมติของท่านที่ได้สดับฟังมา
หลักฐานฝ่ายมหายานบอกว่า พระปุราณะไม่ยอมรับเรื่องวัตถุ ๘ ประการนี้ แล้วนำพวกของตนไปจัดการสังคายนาขึ้นอีกต่างหากซึ่งแน่นอนว่า วัตถุ ๘ ประการนี้ ซึ่งตามพระวินัยห้ามมิให้ทำและปรับอาบัติปาจิตตีย์บ้าง ทุกกฎบ้างนั้น ฝ่ายพระปุราณะถือว่ากระทำได้ จึงเป็นอันว่าความแตกแยกในข้อปฏิบัติ คือ ความเสียแห่งสีลสามัญญตา ได้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาหลังจากพุทธปรินิพพานผ่านไปเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ความไม่เสมอกันในด้านการปฏิบัติอย่างน้อยได้แตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ยอมรับนับถือมติของพระสังคีติกาจารย์ ในคราวปฐมสังคายนา และฝ่ายที่สนับสนุนคล้อยตามมติของพระปุราณะกับพวก อย่างน้อยฝ่ายนี้ต้องมีไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ รูป ซึ่งในที่สุดฝ่ายพระปุราณะจะต้องได้พวกเพิ่มขึ้น
พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเริ่มแตกออกเป็นสองฝ่าย สองนิกาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ยังมิได้ชื่อว่า ฝ่ายเถรวาท (หินยาน) อาจาริยวาท (มหายาน) /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๘๖ - ความแตกแยกของพุทธศาสนาในความจริงมีมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล กล่าวคือพระเทวทัตเสนอให้พระพุทธเจ้าออกพุทธบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุฉันเนื้อสัตว์ พระพุทธองค์มิทรงเห็นด้วย ตรัสว่าภิกษุควรทำตนให้เป็นคนเลี้ยงง่าย ชาวบ้านเขาบริโภคอาหารอย่างไรก็ควรฉันอย่างนั้น มีผู้เห็นตามพระเทวทัตจำนวนไม่น้อย พระเทวทัตต้องการโค่นล้มพระพุทธเจ้าจึงใช้วิธีการนานาเพื่อปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า จนในที่สุดถูกแผ่นดินสูบลงนรกขุมอเวจีไปแล้ว ผู้ที่เห็นด้วยกับพระเทวทัตที่ไม่ให้พระภิกษุฉันเนื้อสัตว์ก็ยังคงมีอยู่ และมีมาจนถึงกาลนี้ นั่นเป็นความแตกแยกรอยใหญ่ในพุทธศาสนารอยแรก
การที่พระปุราณเถระไม่ยอมรับการทำปฐมสังคายนา เป็นรอยแตกแยกของพุทธศาสนาอีกรอยหนึ่ง พระปุราณเถระองค์นี้เป็นใคร ไม่มีหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎกไทยหลังจากการทำสังคายครั้งแรกแล้ว แต่เชื่อได้ว่าท่านจะต้องเป็นพระเถระที่มีความสำคัญมากองค์หนึ่ง มิเช่นนั้นคงไม่มีบริวารมากถึง ๕๐๐ เป็นแน่ เมื่อท่านไม่ยอมรับพระไตรปิฎกที่คณะสงฆ์ฝ่ายพระมหากัสสปะทำกันนั้น ท่านก็ไปทำทำสังคายนากันต่างหาก ซึ่งฝ่ายพระมหากัสสปะก็ไม่ยอมรับการสังคายนาของพระปุราณเถระเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงไม่รู้ว่าพระพุทธวจนะที่พระปุราณเถรกับพวกรวบรวมเป็นปิฎกนั้นมีความว่าอย่างไรบ้าง อาจารย์เสถียรกล่าวว่า การทำสังคายนาของพระปุราณะนั้น น่าจะเป็นการเริ่มต้นของนิกายอาจาริยวาท คือมหายานในกาลต่อมา
หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปได้ ๑๐๐ ปี ก็เกิดความแตกแยกของคณะสงฆ์ในฝ่ายเถรวาทขึ้น เป็นเหตุให้มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี โดยปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ นอกธรรม นอกวินัย พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวน ได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป ประชุมทำสังคายนา พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา โดยมีพระเจ้ากาลาโศกราชเป็นศาสนูปภัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ เรื่องที่พระภิกษุในเมืองเวสาลี (ไพสาลี) ได้ประพฤติผิดวินัย ๑๐ ประการเรียกว่าวัตถุ ๑๐ ประการคือ
“๑. ภิกษุจะเก็บเกลือไว้ในเขนง (ภาชนะที่ทำด้วยเขาสัตว์) แล้วนำไปฉันปนกับอาหารได้ ๒. ภิกษุจะฉันอาหารหลังจากตะวันบ่ายผ่านไปเพียง ๒ องคุลีได้ ๓. ภิกษุฉันภัตตาหารในวัดเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้วเข้าไปสู่บ้านจะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนและไม่ได้ทำวินัยกรรมตามพระวินัยได้ ๔. ในอาวาสเดียวมีสีมาใหญ่ ภิกษุจะแยกกันทำอุโบสถได้ ๕. ในเวลาทำอุโบสถ แม้ว่าพระจะเข้าประชุมยังไม่พร้อมกันจะทำอุโบสถไปก่อน โดยให้ผู้มาทีหลังขออนุมัติเอาเองได้ ๖. การประพฤติปฏิบัติตามพระอุปัชฌายะอาจารย์ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกพระวินัยก็ตาม ย่อมเป็นการกระทำที่สมควรเสมอ ๗. นมส้มที่แปรมาจากนมสดแต่ยังไม่กลายเป็นทธิ (นมเปรี้ยว) ภิกษุฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว จะฉันนมนั้นทั้งที่ยังไม่ได้ทำวินัยกรรม หรือทำให้เดน ตามพระวินัยก็ได้ ๘. สุราที่ทำใหม่ ๆ ยังมีสีแดง เหมือนสีเท้านกพิราบ ยังไม่เป็นสุราเต็มที่ ภิกษุจะฉันก็ได้ ๙. ผ้าปูนั่งคือนิสีทนะอันไม่มีชาย ภิกษุจะบริโภค ใช้สอยก็ได้ ๑๐. ภิกษุรับและยินดีในทองเงินที่เขาถวายหาเป็นอาบัติไม่”
วัตถุ ๑๐ ประการดังกล่าวนี้ ภิกษุชาวเมืองเวสาลีเห็นว่าควรทำได้ไม่เป็นอาบัติ ย้อนกลับไปต้นเรื่องนี้มีพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อพระยสกากัณฑกบุตร จากเมืองโกสัมพีได้ไปที่เมืองเวสาลี ได้พบเห็นพระภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี นำถาดทองสำริดเต็มด้วยน้ำ นำมาวางไว้ที่โรงอุโบสถ แล้วประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านบริจาคเงินใส่ลงในถาดนั้น โดยบอกว่าพระมีความต้องการด้วยเงินทอง แม้พระยสเถระ จะห้ามปรามไม่ให้มีการถวายเงินทองในทำนองนั้น พระภิกษุวัชชีบุตรก็ไม่เชื่อฟัง ชาวบ้านเองก็คงถวายตามที่เคยปฏิบัติมา พระเถระจึงตำหนิทั้งพระวัชชีบุตรและชาวบ้าน ที่ถวายเงินทองและรับเงินทองในลักษณะนั้น เมื่อพระภิกษุวัชชีบุตรได้รับเงินแล้ว นำมาแจกกันตามลำดับพรรษา นำส่วนของพระยสกากัณฑบุตรมาถวายท่าน พระเถระไม่ยอมรับและตำหนิอีก ภิกษุวัชชีบุตรไม่พอใจที่พระเถระไม่ยอมรับและตำหนิ จึงประชุมกันฉวยโอกาสลงปฏิสาราณียกรรม คือการลงโทษให้ไปขอขมาคฤหัสถ์โดยกล่าวว่าพระเถระรุกรานชาวบ้าน ซึ่งพระเถระก็ยินยอมไปขอขมา โดยนำภิกษุอนุฑูตไปเป็นพยานด้วย เมื่อไปถึงสำนักของอุบาสก พระเถระได้ชี้แจงพระวินัยให้ฟัง และบอกให้ชาวบ้านเหล่านั้นทราบว่า การกระทำของพระภิกษุวัชชีบุตรเป็นความผิด โดยยกเอาพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงไว้ความว่า
"พระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่ได้ร้อนแรงและรุ่งเรืองด้วยรัศมีเพราะโทษมลทิน ๔ ประการ คือ หมอก ควัน ธุลี และอสุรินทราหู กำบังฉันใด ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ จะไม่มีตบะรุ่งเรืองด้วยศีล เพราะโทษมลทิน ๔ ประการปิดบังไว้ คือ ดื่มสุราเมรัย เสพเมถุนธรรม ยินดีรับเงินและทองอันเป็นเหมือนภิกษุนั้นยินดีบริโภคซึ่งกามคุณ และภิกษุเลี้ยงชีพในทางมิชอบด้วย เวชช กรรม กุลทูสกะ (ประจบเอาใจคฤหัสถ์ด้วยอาการอันผิดวินัย) อเนสนา (การหาลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควรภิกษุ) และวิญญัติ (ขอสิ่งของต่อคฤหัสถ์ผู้ที่ไม่ญาติ ผู้ไม่ใช่คนปวารณา) พร้อมด้วยกล่าวอวดอุตตริมนุษย์ธรรม อันไม่มีจริง"
เมื่อพระยสกากัณฑกบุตรชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาเข้าใจแล้ว คนเหล่านั้นเกิดความเลื่อมใสพระเถระ อาราธนาให้ท่านอยู่จำพรรษา ณ วาลิการาม โดยพวกเขาจะอุปฐากบำรุงและได้อาศัยท่านบำเพ็ญกุศลต่อไป ฝ่ายภิกษุที่เป็นอนุฑูตไปกับพระเถระ ได้กลับมาแจ้งเรื่องทั้งปวงให้ภิกษุวัชชีบุตรทราบ ภิกษุวัชชีบุตรจะใช้พวกมากบีบบังคับพระเถระด้วยการลงอุปเขปนียกรรม (ตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว) แก่ท่าน ได้พากันยกพวกไปล้อมกุฏิของพระเถระ แต่พระเถระทราบล่วงหน้าเสียก่อนจึงได้หลบออกไปจากที่นั้น
พระยสกากัณฑกบุตรพิจารณาเห็นว่า เรื่องนี้หากปล่อยไว้เนิ่นนานไป พระธรรมวินัยจะเสื่อมถอยลง พวกอธรรมวาทีอวินัยวาทีได้พวกแล้วจักเจริญขึ้น จึงได้ไปเมืองปาฐา เมืองอวันตี และทักขิณาบถแจ้งให้พระที่อยู่ในเมืองนั้น ๆ ทราบ เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไข และได้ไปเรียนให้พระสาณสัมภูตวาสี ซึ่งพำนักอยู่ ณ อโหคังคบบรรพตทราบ และขอการวินิจฉัยจากพระเถระ พระสาณสัมภูตวาสีมีความเห็นเช่นเดียวกับพระยาสกากัณฑกบุตรทุกประการ ในที่สุดพระเถระอรหันต์จากเมืองปาฐา ๖๐ รูป จากแคว้นอวัตีและทักขิณาบถ ๘๐ รูป ได้ประชุมร่วมกับพระสาณสัมภูตวาสีและพระยส กากัณฑกบุตร ณ อโหคังคบรรพต และกระทำสังคายนา ณ วาลิการามดังกล่าวช้างต้น
กลุ่มภิกษุกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในการทำสังคายนาครั้งนี้ ในเรื่องที่ลงมติว่าวัตถุ ๑๐ ประการผิด จึงเป็นผลให้ภิกษุชาววัชชีประมาณ ๗๐๐ รูป แยกตัวออกไป ไม่ยอมปฏิบัติตามหลักพระวินัยเดิมที่พระเถระผู้ใหญ่กำหนดในการทำสังคายนา และมีภิกษุอื่น ๆ ที่เห็นด้วยกับพวกภิกษุวัชชีบุตรอีก รวมแล้วประมาณ ๑๐,๐๐๐ รูป พากันจัดทำสังคายนาขึ้นใหม่ เรียกว่า “มหาสังคีติ” ประกาศชื่อของพวกตน ว่าเป็น “มหาสังฆิกะ” ซึ่งแปลว่า พวกมากหรือหมู่ใหญ่ และนี่เป็นการซ้ำรอยปฐมสังคายนา ที่พระมหากัสสปะทำและ พระปุราณเถระไม่ยอมรับ แล้วไปทำสังคายนาใหม่ในกลุ่มของพวกตน แต่คราวนี้ชัดเจนว่าภิกษุชาววัชชีตั้งกลุมของพวกตนว่า “มหาสังฆิกะ” นั่นก็คือการกำเนิดขึ้นของ มหายาน/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๘๗ - ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในฝ่ายสงฆ์เถรวาทที่ถือความตามสังคายนาครั้งที่ ๑ สืบมาถึงการสังคายนาครั้งที่ ๒ ดังกล่าวแล้วนั้น ต่อมามีการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุด มีการส่งพระสมณทูตไปประกาศพระศาสนาในนานาประเทศรวมทั้งสุวรรณภูมิที่ตั้งประเทศไทยด้วย ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาที่พระอาจารย์เจ้าคุณธรรมคุณาภรณ์บรรยายให้พวกเราฟังว่า การทำสังคายนาครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔ ที่อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย โดยมี พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน ๑,๐๐๐ รูป ดำเนินการอยู่เป็นเวลา ๙ เดือน จึงเสร็จสิ้น ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อพวกเดียรถีย์ หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวช แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ จึงได้ขอรับอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชสังคายนาพระธรรมวินัยเพื่อกำจัดความเห็นของพวกเดียรถีย์ออกไป
ความเรื่องนี้ปรากฎในอรรถกถา มหาวิภังค์ ว่า ณ เมืองปาฏลีบุตรมีพวกเดียรถีย์ขาดลาภสักการะ นุ่งห่มผ้าเหมือนภิกษุ ปลอมบวชในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก มาแสดงลัทธิที่ผิดพุทธบัญญัติ ทำสังฆฑลให้แตกสามัคคี ทำให้สงฆ์ไม่ทำสังฆกรรมร่วมด้วยถึง ๗ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชจึงทรงโปรดให้อำมาตย์ผู้หนึ่งไประงับอธิกรณ์นี้ แต่อำมาตย์ทำเกินเลย บังคับสงฆ์ให้ลงสังฆกรรมร่วมกับเหล่าเดียรถีย์ พวกภิกษุไม่ยอม อำมาตย์จึงได้ฆ่าฟันภิกษุที่ขัดขืนเสีย ๒-๓ รูป พระเจ้าอโศกทราบเรื่องเกิดความไม่สบายใจ จึงสอบถามพวกภิกษุว่าบาปนี้จะถึงแก่พระองค์หรือไม่ ก็ไม่มีภิกษุรูปใดตอบได้ พวกภิกษุจึงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระให้วิสัชชนา พระเถระได้แก้ข้อกังขาว่าบาปเป็นเฉพาะของอำมาตย์เท่านั้น เพราะทำเกินรับสั่ง พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสอาราธนาพระเถระให้เป็นผู้ชำระสงฆ์ให้บริสุทธิ์ แล้วโปรดให้ชุมนุมสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล ทรงสอบถามพระภิกษุ เช่นว่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างไร ภิกษุที่ปลอมบวชตอบเป็นทำนอง สัสสตทิฏฐิบ้าง อุจเฉททิฏฐิบ้าง พระเจ้าอโศกก็ให้สึกไปสวมชุดขาวเป็นจำนวนมากถึง ๖๐,๐๐๐ รูป ส่วนภิกษุฝ่ายธรรมวาทีพากันตอบว่า "วิภัชวาท" ครั้นกำจัดภิกษุปลอมบวชได้แล้ว พระเจ้าอโศกจึงอาราธนาให้สงฆ์ทำอุโบสถกรรม และพระโมคคัลลีบุตรจึงถือโอกาสทำสังคายนาครั้งที่ ๓ โดยเลือกพระอรหันต์จำนวน ๑,๐๐๐ รูปเข้าร่วมทำสังคายนา ณ อโศการาม ทำอยู่ ๙ เดือนจึงเสร็จ เมื่อพระเจ้าอโศกเสวยราชย์ได้ ๘ ปี พระโมคคัลลีบุตรได้รจนาคัมภีร์อภิธรรม กถาวัตถุ เพื่อไว้โต้แย้งกับพระพุทธศาสนานิกายอื่น รักษาพระพุทธมติอันบริสุทธิ์ไว้
ส่วนในอรรถกถาพระวินัยได้กล่าวไว้คร่าว ๆ เนื้อหาข้างต้นมีรายละเอียดครอบคลุมแล้ว อาจารย์เสถียรยังได้ชี้ประเด็นต่ออีกว่า ในคัมภีร์อโศกอวทานและในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกไม่ได้มีกล่าวถึงการสังคายนาครั้งนี้ นักวิชาการตะวันตกเชื่อว่า การสังคายนาเป็นเรื่องสำคัญมาก น่าจะมีกล่าวไว้ในศิลาจารึกบ้าง แต่ศิลาจารึกก็ไม่ได้กล่าวถึงเลย จึงเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ชาวลังกาแต่งขึ้นมาภายหลัง และแท้จริงแล้วเดียรถีย์ ๖๐,๐๐๐ คน นั่นก็คือ พระภิกษุในนิกายมหาสังฆิกะ เพราะจากสิลาจารึกพระเจ้าอโศกทรงให้การอุปถัมภ์ในทุก ๆ ลัทธิศาสนา แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน ไม่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น และยุคนั้นมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก การที่มีคนปลอมบวช ๖๐,๐๐๐ คน โดยที่ทางคณะสงฆ์เองไม่สามารถหาทางป้องกันได้เลยเป็นเวลา ๗ ปี ทั้งที่มีกษัตริย์และอำมาตย์คอยให้การพิทักษ์พระพุทธศาสนาไว้ บวกกับในคัมภีร์ลังกาชอบเขียนกล่าวว่าภิกษุฝ่ายตรงข้ามว่าเป็น อธรรมวาทีบ้าง เดียรถีย์บ้าง อลัชชีบ้าง นั่นก็พอจะสรุปได้ว่า เดียรถีย์ที่ปลอมบวชตามความในพระไตรปิฎกลังกา-ไทย ก็คือ พระในนิกายมหาสังฆิกะนั่นเอง
พระไตรปิฎกลังกา-ไทยระบุว่า “เสร็จจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ แล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระทราบโดยอนาคตังสญาณว่า ภายภาคหน้า พระพุทธศาสนาจะไม่รุ่งเรืองอยู่ในชมพูทวีป แต่จะไปตั้งมั่นอยู่ในประเทศแว่นแคว้นอื่น ๆ จึงขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอโศก จัดส่งคณะสมณทูตออกเป็น ๙ สาย คือ
สายที่ ๑ คณะพระมัชฌันติกะ ไปที่แคว้นกัสมิระ และคันธาระ ปัจจุบันคือ แคชเมียร์ สายที่ ๒ คณะพระมหาเทวะ ไปมหิสมณฑล คือรัฐการ์นาตกะหรือไมซอร์ ภาคใต้ของอินเดียฝั่งตะวันตก สายที่ ๓ คณะพระรักขิตะ ไปที่แคว้นวนวาสีประเทศ อยู่ตอนเหนือของรัฐไมซอร์ภาคใต้ของอินเดีย สายที่ ๔ คณะพระธรรมรักขิตะ ไปที่แถบอปรันตกชนบทตอนเหนือของบอมเบย์ สายที่ ๕ คณะพระมหาธรรมรักขิตะ ไปแคว้นมหาราษฎร์ แถบปูนาในปัจจุบัน สายที่ ๖ คณะพระมหารักขิตะ ไปที่โยนกประเทศ หรือตอนเหนือของอิหร่าน สายที่ ๗ คณะพระมัชฌิมะ และพระมหาเถระอีก ๔ รูป ไปยังดินแดนหิมวันตะ หรือเชิงเขาหิมาลัย ประเทศเนปาลปัจจุบัน สายที่ ๘ คณะพระโสณะ กับพระอุตตระ ไปที่สุวรรณภูมิ คือเอเชียอาคเนย์ปัจจุบัน สายที่ ๙ พระมหินทเถระ ไปยังประเทศศรีลังกา ในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ จนพระพุทธศาสนาได้ปักหลักมั่นคงที่เกาะนี้จนถึงปัจจุบัน”
อาจารย์เสถียร โพธินันทะ เชื่อว่าอธรรมวาที เดียรถีย์ อลัชชี ที่ระบุในพระไตรปิฎกลังกา-ไทยนี้ พอจะสรุปได้ว่า เดียรถีย์ที่ปลอมบวชก็คือ ภิกษุที่เรียกตัวเองว่า มหาสังฆิกะ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๒ นั่นเอง มิใช่เดียรถีย์อะไรมาปลอมบวชเลย หากแต่สงฆ์ฝ่ายเถรวาท (เชื้อสายพระมหากัสสปะ) ไม่ยอมรับและยังกล่าวประณามว่า เป็นพวกอธรรมวาทีบ้าง อลัชชีบ้าง เดียรถีย์บ้าง และพระภิกษุคณะมหาสังฆิกะนี้เองต่อมาได้ชื่อว่า “มหายาน” ได้ไปเผยแผ่พุทธศาสนาตามคติของตนให้เจริญรุ่งเรืองใน พม่า ธิเบต จีน มองโกล เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ซึ่งจะติดตามเรื่องมากล่าวเพื่อการศึกษากันต่อไป /๑๘๗
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๘๘ - มีข้อน่าสังเกตว่าในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ ๒ นั้นมิได้กล่าวสรุปว่ารวบรวมพระธรรมวินัยเป็นหมวดได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ความมาปรากฏในพระไตรปิฎกฉบับลังกา-ไทย และในการสังคายนาครั้งที่ ๓ มีการเพิ่มเติมความในสังคายนาครั้งที่ ๑,๒ กล่าวคือ “ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระอภิธรรมไว้ด้วย” แสดงว่า ในการสังคายนาครั้งที่ ๑,๒ นั้น มีปิฎกเพียง ๒ คือ วินัยปิฎก สุตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎกเพิ่งมีในการสังคายนาครั้งที่ ๓ นี้เอง และในอินเดียไม่เรียก “ไตรปิฎก” มาเรียกกันในลังกา-ไทย เท่านั้น
ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทโดยมีพระไตรปิฎกเป็นแนวทางจากลังกาเข้าสู่ไทย กล่าวว่า เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ก็มีการส่งคณะทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ มีดังนี้ พระมหินทเถระ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกา และพระโสณเถระ,พระอุตตรเถระ นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิ (เมืองอู่ทอง) มีการทำสังคายนาครั้งที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖ ในอินเดียเกิดที่ชาลันธร หรือบางหลักฐานคือกัษมีร์ ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ ซึ่งเป็นการสังคายนาของนิกายมหายาน ฝ่ายเถรวาทจึงไม่ยอมรับว่าเป็นการสังคายนา แต่ยอมรับว่าพระมหินทเถระทำในลังกาโดยปรารภเพื่อให้พระพุทธศาสนามั่นคงในลังกา
และมีการทำสังคายนาที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ ที่อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท ประเทศศรีลังกา ว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๕ โดยมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน การทำสังคายนาครั้งนี้เพื่อต้องการจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นครั้งแรกที่มีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เดิมนั้นเมื่อสังคายนาเสร็จก็ให้สวดสังวัธยา ท่องจำกันไว้ถ่ายทอดด้วยปากต่อปาก จนผิดเพี้ยนไปมาก พระรักขิตมหาเถระจึงให้มีการจารึกเป็นลายลักอักษรไว้เพื่อป้องกันการผิดเพี้ยนไป แต่ภาษาลายสือที่จารึกนั้นเป็นภาษาสิงหลทั้งหมด
มีปัญหาในการนับครั้งการสังคายนาในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกันเองก็ยังนับครั้งการสังคายนาไม่ตรงกัน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
ประเทศศรีลังกา นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก ๓ ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายกระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยการสังคายนาครั้งนี้เป็นที่รู้กันเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น, ประเทศพม่า นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และนับการสังคายนาครั้งที่ ๒ ที่ลังกาเป็นครั้งที่ ๔ และนับการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก ๒ ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายหรือครั้งที่ ๖ ในพม่ า มีชื่อเรียกว่าฉัฏฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ การทำสังคายนาครั้งนี้ทำขึ้นเนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรร ษ เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคำแปลเป็นภาษาพม่า โดยได้เชิญพุทธศาสนิกชนจากหลายประเทศเข้าร่วมพิธี โดยเฉพาะจากประเทศ พม่า ศรีลังกา ไทย ลาว และกัมพูชา, ประเทศไทย นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และครั้งที่ ๑-๒ ที่ลังกา
แต่ในหนังสือสังคีติยวงศ์ หรือประวัติแห่งการสังคายนาของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ได้นับเพิ่มอีก ๔ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ ในลังกา โดยพระพุทธโฆสะได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถา ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎก ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ ในลังกา โดยพระกัสสปเถระเป็นประธานรจนาอรรถกถาต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎก ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนาเช่นกัน ครั้งที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ ในประเทศไทย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา ครั้งที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ในประเทศไทย โดยการอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
การทำสังคายนาครั้งที่ ๕ ในลังกา ซึ่งมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน ได้ทำการจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยภาษาสิงหลนั้น ต่อมา พระพุทธโฆสะ ในประเทศไทยมักเรียกว่า พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระคันถรจนาจารย์เถรวาทผู้มีชีวิตอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ผู้เป็นศิษย์พระเรวตเถระ ได้รับคำสั่งอาจารย์ให้ไปแปลพระไตรปิฎกฉบับภาษาสิงหลเป็นภาษาลี ทำให้พระไตรปิฎกภาษาบาลีในลายลักษณ์อักษรแพร่หลายกาลต่อมา พระพุทธโฆสะองค์นี้ในเมืองไทยรู้จักกันดีในนามว่า พระพุทธโฆษาจารย์ /๑๘๘
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๘๙ - เรียนรู้พระพุทธศาสนาตามคัมภีร์พระไตรปิฎกของคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทกันพอสมควรแล้ว คราวนี้ไปเรียนรู้พุทธศาสนาในฝ่ายอาจาริยวาทหรือมหายานกันบ้าง เริ่มที่แผ่นดินจีนก่อน คือ “พระพุทธศาสนาในประเทศจีนส่วนใหญ่เป็นนิกายมหายาน ซึ่งมีประเพณี คำสอน และหลักความเชื่อที่แตกต่างจากนิกายเถรวาท เช่น เถรวาทเชื่อว่ามีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว แต่มหายานเชื่อว่ามีพระพุทธเจ้ามากมายมหาศาลเปรียบเสมือนเม็ดทรายบนชายหาด หรือการปรับกฎระเบียบต่าง ๆ และความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ แต่โดยเนื้อแท้แล้วทั้งสองนิกายก็มุ่งสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ แสวงหาการหลุดพ้น ในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ (พ.ศ. ๖๐๐) ได้มีการก่อตั้งนิกายมหายาน (ในอินเดีย) อย่างเห็นได้ชัด ก่อนที่จะเผยแพร่เข้าสู่ประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ธิเบต ฯลฯ
มีหลักฐานว่าพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ตั้งแต่ ๒๑๗ ปีก่อน ค.ศ. (คือราว พ.ศ. ๓๒๖) แต่ตามที่ปรากฏหลักฐานในทางราชการ ค้นได้ว่าเมื่อ พ.ศ. ๖๐๘ พระจักรพรรดิมิ่งตี่ แห่งราชวงศ์ฮั่น ทรงส่งคณะทูต ๑๘ คนไปสืบศาสนา ณ เมืองโขตาน (ปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซินเกียงประเทศจีน ในสมัยโบราณ โขตานเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดีย เมื่อคณะฑูดจำนวน ๑๘ คนเดินทางกลับได้พาพระกาศยปมาตังคะ และพระธรรมรักษ์ รวมทั้งคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่งกลับมาด้วย ครั้นมาถึงจักรพรรดิมิ่งตี่ (เม่งเต้) ได้สถาปนาวัดแป๊ะเป้ยี่หรือวัดม้าขาวขึ้น เพื่อเป็นที่อาศัยของพระทั้งสองรูป โดยตั้งชื่อวัดว่าม้าขาว เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ม้าขาวที่บรรทุกพระคัมภีร์มา ในช่วงแรกยังเป็นการนับถือกันในวงแคบ มีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงนับถือตามลัทธิขงจื้อหรือลัทธิเต๋าอยู่ จนเมื่อโม่งจื้อ นักปราชญ์ผู้มีความสามารถได้แสดงให้เห็นถึงความจริงของพระพุทธศาสนา จึงทำให้มีผู้คนเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในยุคนั้นยังเป็นไปอย่างไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับพระจักรพรรดิว่าให้ความนับถือศาสนาใด เมื่อมาถึงสมัยราชวงศ์เหนือ-ราชวงศ์ใต้ พระโพธิธรรมหรือที่คนไทยรู้จักในชื่อของ หลวงจีนตั๊กม้อ ซึ่งเป็นพระสังฆปรินายก องค์ที่ ๒๘ ที่เชื่อกันว่าสืบต่อมาจากพระมหากัสสปะในสมัยพุทธกาล ได้จาริกมายังประเทศจีน และได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิเหลียงหวู่ตี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นองค์ศาสนูปถัมภกที่สำคัญของจีน แต่ภายหลังที่ท่านได้แสดงธรรมและสนทนาธรรมแล้ว ก็รู้ว่าองค์จักรพรรดิมิอาจที่จะเข้าใจธรรมขั้นสูงได้ เพราะความเชื่อในสมัยนั้นเชื่อว่าพระพุทธศาสนาเป็นเพียงการทำบุญ สร้างวัดวาอาราม และการพิมพ์พระคัมภีร์เผยแพร่เท่านั้น จึงเดินทางจากมาจนถึงวัดเส้าหลิน ณ ภูเขาซงซาน เขตแดนของราชวงศ์เว่ยเหนือ และสถาปนาแนวคิดทางฌานขึ้น (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เซน) นอกจากนี้มีตำนานเล่าว่าเมื่อท่านนั่งสมาธินาน ๆ จึงรู้สึกปวดเมื่อยและทำให้การทำสมาธิไม่ต่อเนื่อง จึงสังเกตท่าทางของสัตว์ต่าง ๆ เช่น นกกระเรียน เสือ และนำมาฝึกเป็นวิชาต่อสู้ ภายหลังจึงเกิดแนวคิดการถ่ายทอดตำแหน่งผ่านทางจีวรและบาตร
ครั้นถึงสมัยราชวงศ์เว (หรือ วุยก๊ก ในสมัยสามก๊ก) พระพุทธศาสนาก็ได้เป็นศาสนาประจำชาติของจีนตั้งแต่รัชกาลของพระจักรพรรดิพระองค์แรกนี่เอง พระภิกษุผู้ทรงเกียรติคุณเป็นปราชญ์หลายท่าน เช่น กุมารชีวะ เป็นต้น ได้เดินทางเข้ามาจากอาเซียกลางและอินเดีย ช่วยแปลพระคัมภีร์ รจนาอรรถกถา และเผยแพร่สั่งสอนธรรมแก่ประชาชนอย่างแพร่หลายกว้างขวาง ลัทธิอมิตาภะ ก็ได้เข้ามาเผยแพร่ในสมัยนี้ด้วย เหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งคือ พระโพธิธรรม ได้นำพระพุทธศาสนานิกาย ฉาน (บาลีว่า ฌาน, สํสกฤตว่า ธยาน, ญี่ปุ่นว่า เซน) เข้ามาเผยแพร่ในจีนจนพระพุทธศาสนาในประเทศจีนได้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากราชวงศ์ถังและราชวงศ์ต่อ ๆ มาโดยลำดับ ต่อมาได้มีผู้นำลัทธิลามะ (พระพุทธศาสนานิกายหนึ่งแบบในทิเบต) เข้ามาเผยแพร่ในจีนเหนือ และทางฝ่ายอาณาจักรได้สนับสนุนลัทธินั้น พิธีกรรมต่าง ๆ ก็เจริญแพร่หลายออกหน้า ส่วนศาสนธรรมที่แท้ก็เลือนรางจืดจางไปจากความสนใจ
ลำดับเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในประเทศจีน
๑. สมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ. ๓๔๒ - ๗๖๓),
พ.ศ. ๔๒๓ พระเจ้าบู่ตี่ ทรงได้รับรายงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอาณาจักรกุษาณ (อินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ), พ.ศ. ๖๐๘ พระเจ้ามิ่งตี่ หรือ เม่งตี่ ทรงส่งทูต ๑๘ คนไปสืบศาสนาในปัจจิมทิศ ทูตกลับมาพร้อมด้วยพระกาศยปะมาตังคะ ใน พ.ศ. ๖๑๐ ทรงสร้างวัดถวายชื่อวัดแปะเบ๊ยี่ (วัดม้าขาว) พระกาศยปะมาตังคะ แปล “พระสูตรพุทธวจนะ ๔๒ บท” เป็นสูตรแรก, พ.ศ. ๖๙๘ พระเจ้าฮ่วงตี่ โปรดให้หล่อพระพุทธรูปครั้งแรก (เป็นพระพุทธรูปทองแดง), พ.ศ. ๗๓๔ ในสมัย พระเจ้าเฮี่ยนตี่ พระพุทธศาสนาเริ่มแพร่หลายเข้าสู่ภาคใต้ของจีน และมีปราชญ์ชื่อ โม่วจื้อ เขียนคำบรรยายแสดงหลักธรรมเปรียบเทียบกับลัทธิเต๋า เป็นข้อเขียนแสดงหลักธรรมเรื่องแรกของชาวจีน
๒. สมัยสามก๊ก (พ.ศ. ๗๖๓ - ๘๐๘)
พ.ศ. ๘๐๐ ในรัชกาล พระเจ้าฮุ่ยตี่ มีการแปลคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร ในปีต่อมา (๘๐๑) มีการอุปสมบทพระภิกษุจีนรูปแรก (ก่อนหน้านี้ราชการห้ามชาวจีนอุปสมบท พระเจ้าโจผี เป็นผู้ทรงยกเลิกข้อห้ามนี้),
๓. สมัยราชวงศ์จิ้น (พ.ศ. ๘๐๘ - ๙๖๓)
พ.ศ. ๘๕๓ ในรัชกาล พระเจ้าไว่ตี่ มีพระภิกษุชาวอาเซียกลางชื่อโฟเถอเตง จาริกมายังนครโลยาง นำหลักธรรมนิกายมนตรยานเข้ามาเผยแพร่ และมีการบวชภิกษุณีรูปแรกของจีน, พ.ศ. ๙๑๕ ในรัชกาล พระเจ้าเฮาบูตี่ ประเทศเกาหลีส่งทูตมาขอพระพุทธรูปและพระคัมภีร์ เป็นแรกเริ่มที่พระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่เกาหลี, พ.ศ. ๙๓๔ มีพระภิกษุชื่อ ฮุ่ยเอี้ยง เริ่มประกาศหลักธรรมในนิกายสุขาวดี ณ ภูเขาโลซาน, พ.ศ. ๙๔๒ ในรัชกาล พระเจ้าอ่านตี่ หลวงจีนฟาเหียน (ฮวบเฮี้ยน) ออกจาริกไปสืบศาสนาในชมพูทวีป, พ.ศ. ๙๔๔ พระกุมารชีวะ จากแคว้นกุฉะหรือกูจา มาถึงนครเชียงอาน ปฏิบัติศาสนกิจอยู่จนถึงมรณภาพ ใน พ.ศ. ๙๕๖,
๔. สมัยราชวงศ์เหนือและใต้ (พ.ศ. ๙๖๓ - ๑๑๒๔) ประกอบด้วยราชวงศ์ สุง หรือ ส่อง ชี้ เลี้ยง และ ตั้น ในภาคใต้ กับเผ่าทั้ง ๕ ในภาคเหนือ,
พ.ศ. ๙๖๒ – ๙๙๐ ในระหว่างการรุกรบโจมตีระหว่างแคว้น ได้มีการประหารพระสงฆ์ ทำลายพระพุทธรูปและพระคัมภีร์อย่างร้ายแรงหลายครั้ง เริ่มแต่ที่นครเชียงอานเป็นต้นไป” ฯลฯ
* พระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ ที่พระภิกษุจีนนำจากอินเดียสู่จีนนั้น ก็น่าจะเป็นพระไตรปิฎกที่คณะสงฆ์ “มหาสังฆิกะ” ได้ทำสังคายนารวบรวมพุทธวจนะตามที่พวกตนจำไว้ แล้วถ่ายทอดสู่ศิษย์และบริพารของตน ซึ่งทางฝ่ายเถรวาทไม่ยอมรับนั่นเอง อ่านบันทึกย่อเรื่องพุทธศาสนา (มหายาน) ในเมืองจีนแล้ว เห็นได้ว่าดำรงอยู่ในสังคมคนจีนได้อย่างยากเย็นไม่น้อย เรื่องยังไม่หมดแค่นี้ครับ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของเรื่องและภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๙๐ - วันนี้ให้ดูบันทึกย่อเรื่องพระพุทธศาสนาในจีนกันต่อนะครับ ท่านบันทึกเรื่องราวเรียงปีพุทธศักราชและราชวงศ์จีนไว้ดีมาก ดังต่อไปนี้
“พ.ศ. ๙๘๔ มีอุบาสกเผาตนเป็นพุทธบูชาครั้งแรก อนึ่ง นับแต่ พ.ศ. ๙๔๕ เป็นต้นมา ได้มีการตั้งพระสงฆ์ให้มีตำแหน่งในทางราชการ เป็นเหตุให้พระสงฆ์เข้ายุ่งเกี่ยวพัวพันกับกิจการบ้านเมืองไปด้วย
พ.ศ. ๑๐๓๘ รัชกาลพระเจ้าเม่งตี่ มีการสร้างถ้ำพระพุทธรูป โดยสลักภูเขาทั้งลูกเป็นถ้ำ ทำเป็นพระพุทธรูปและเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา เป็นแบบฉบับของพุทธศิลป์ต่อมา
พ.ศ. ๑๐๕๓ ในรัชกาล พระเจ้าบู่ตี่ ได้สถิติดตามการสำรวจว่ามีวัด ๑๓,๐๐๐ วัดเศษ ในนครโลยาง (ลั่วหยาง) มีภิกษุและภิกษุณี ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูปเศษ พระชาวต่างประเทศ ๓,๐๐๐ รูปเศษ
พ.ศ. ๑๐๕๕ พระเจ้าบู่ตี่ ทรงเสวยเจ และขอให้พระสงฆ์เลิกฉันเนื้อสัตว์ ทำให้เกิดประเพณีพระสงฆ์จีนถือมังสวิรัติจนถึงทุกวันนี้ พระเจ้าบู่ตี่ ซึ่งครองราชย์แต่ พ.ศ. ๑๐๔๖ ถึง ๑๐๙๒ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระศาสนาอย่างแรงกล้า และทรงพยายามดำเนินนโยบายทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้า มีการก่อสร้างวัดวาอารามที่สวยงามใหญ่โต และเกิดประเพณีทางพุทธศาสนาแบบจีนหลายอย่าง
พ.ศ. ๑๐๖๓ หรือ ๑๐๖๙ พระโพธิธรรม จาริกจากอินเดีย ถึงนครโลยางแล้วขึ้นไปอยู่จำพรรษาในภาคเหนือ ตั้งพุทธศาสนานิกาย ฉาน หรือ ธยาน (ญี่ปุ่นเรียก เซน) และเป็นปฐมประมุขแห่งนิกายนั้น
พ.ศ. ๑๐๙๖ ในรัชกาลพระเจ้าง่วนตี่ พระภิกษุอินเดียชื่อปรมิตร จาริกมาเผยแพร่นิกายธรรมลักษณ์ และในระยะเดียวกัน พระพุทธศาสนาได้แพร่จากเกาหลีเข้าสู่ญี่ปุ่น
พ.ศ. ๑๑๑๘ – ๑๑๒๓ รัชกาลพระเจ้าซวนตี่ เป็นระยะเวลาแห่งการทำลายล้างพระพุทธศาสนา เริ่มแต่ในแคว้นจิว ให้ยกเลิกพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า ต่อมาแคว้นจิวยกทัพเข้ามาโจมตีแคว้นชี้ได้ แล้วทำลายพระพุทธศาสนา ด้วยการบังคับให้พระสงฆ์ลาสิกขา ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูป ยึดวัด ๔๐,๐๐๐ วัด ทำลายพระพุทธรูป เอาทองคำและทองแดงไปทำทองแท่งและเหรียญกษาปณ์ ท้ายสุดจึงอนุญาตให้มีการนับถือพระพุทธศาสนาและลัทธิเต๋าใหม่อีก แต่ให้ถือภิกษุเป็นโพธิสัตว์แต่งตัวอย่างสามัญชน ไม่ต้องครองจีวร
กล่าวโดยสรุป ระยะเวลาประมาณ ๓๖๐ ปีที่ประเทศมีแต่ความแตกแยกระส่ำระสาย รบราฆ่าฟันกัน นับแต่สิ้นราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมานี้ กลับเป็นระยะเวลาที่พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรมของจีน ตลอดจนคงเป็นพลังช่วยให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติในที่สุด ดังจะเห็นได้ในสมัยต่อไป
* สมัยราชวงศ์ซุย (พ.ศ. ๑๑๒๔ – ๑๑๖๑)
พ.ศ. ๑๑๒๔ พระเจ้าบุ่นตี่ ทรงรวบรวมประเทศจีนทั้งภาคเหนือและภาคใต้ทั้งหมดเข้าได้เป็นอันเดียวกัน พระองค์มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ครั้นขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โปรดให้พระสงฆ์กลับครองจีวรตามเดิม ทรงแต่งตั้งประมุขสงฆ์ และโปรดให้สร้างวัดขึ้นใหม่ทั่วประเทศโดยเฉพาะ ณ ภูเขาแห่งที่สวยงาม กับให้มีที่นาประจำสำหรับบำรุงวัด ให้ทำสารบาญรายชื่อพระสูตรรวบรวมพระไตรปิฎกขึ้นให้เรียบร้อย
สมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ - ๑๔๕๐)
พ.ศ. ๑๑๖๓ พระเจ้าเกาโจ มีพระบรมราชโองการกำหนดเดือน ๑ เดือน ๕ เดือน ๙ ตลอดเดือนและวันที่ ๑, ๘, ๑๔-๑๕, ๑๘, ๒๓-๒๔, ๒๘-๒๙-๓๐ ของทุกเดือนเป็นวันอุโบสถ ห้ามการประหารชีวิต ตกปลา ล่าสัตว์ ตามวินัยของมหายาน ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติธรรมของชาวพุทธจีนมาจนปัจจุบัน และในปีต่อมาก็ได้ทรงสละพระราชวังเดิมให้เป็นวัด
พ.ศ. ๑๑๗๒ ในรัชกาลพระเจ้าถังไทจง พระถังซัมจั๋ง (บางทีเรียก หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือยวนฉาง) ออกจาริกไปสืบศาสนาในชมพูทวีป กลับมาถึงจีนใน พ.ศ. ๑๑๘๘ ทรงอาราธนาให้สถิต ณ เมืองโลยาง ทรงอุปถัมภ์ในการแปลพระสูตรมากมายที่นำมาจากอินเดีย พระถังซัมจั๋งได้เขียนบันทึกการเดินทางชื่อ “บันทึกแคว้นตะวันตก” ไว้ อันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมากมาย และได้ปฏิบัติศาสนกิจต่อมาจนถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๐๘ ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง
พ.ศ. ๑๑๘๕ พระเจ้าถังไทจง โปรดเกล้าฯ ยกพระราชธิดาบุ่นเซ้ง ให้อภิเษกสมรสกับกษัตริย์ทิเบต เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่ประเทศทิเบต พระนางบุ่นเซ้งทรงริเริ่มสร้างอักษรทิเบตขึ้นตามแบบอักษรอินเดียที่ใช้เขียนภาษาสันสกฤต และทรงสร้างสรรค์ความเจริญแก่ทิเบตเป็นอันมาก จนชาวทิเบตยกย่องเป็นพระแม่เจ้าตราบถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๑๒๑๔ ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง หลวงจีนเต่าซวนผู้ริเริ่มนิกายวินัย ได้ถึงมรณภาพและในปีเดียวกัน หลวงจีนอี้จิง (งี่เจ๋ง) ออกจาริกไปอินเดีย และพักที่สุมาตราหลายปี กลับถึงจีนใน พ.ศ. ๑๒๓๘ พระนางบูเจ็กเทียน เสด็จไปรับถึงนอกประตูวัง หลวงจีนอี้จิงพูดได้หลายภาษา แปลคัมภีร์พระวินัยและพระสูตร และประพันธ์หนังสือเรื่อง “ประวัติสงฆ์จีนจาริกไปอินเดีย” และ “พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในเกาะแถบทะเลใต้” ท่านถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๕๕
พ.ศ. ๑๒๑๘ หลวงจีนเว่ยหล่างหรือฮุยเหนิง ได้รับตำแหน่งเป็นประมุของค์ที่ ๖ ของนิกายเซน และถึงมรณภาพใน พ.ศ. ๑๒๕๕ (ปีเดียวกับหลวงจีนอี้จิง)
พ.ศ. ๑๒๕๒ พระเจ้าตงจง โปรดให้มีการสอบคัดเลือกผู้ที่จะบวชเป็นครั้งแรก และต่อมาใน พ.ศ. ๑๒๕๘ พระเจ้าเฮี่ยนจงก็โปรดให้พระที่ไม่ศึกษาปริยัติธรรมลาสิกขา ๑๒,๐๐๐ รูป เพราะมีผู้บวชเพื่อหลีกเลี่ยงการงานมาก และทรงห้ามการสร้างวัดหล่อพระพุทธรูปและคัดพิมพ์พระสูตรโดยไม่ได้รับอนุญาต (ต่อมาใน พ.ศ. ๑๓๐๒ ผู้จะบวชจะต้องสวดพระสูตรได้ ๑,๐๐๐ หน้า หรือเสียค่าบวชให้หลวง ๑๐๐,๐๐๐ อีแปะ)
พ.ศ. ๑๒๖๐ โปรดให้ต้อนรับพระศุภกรสิงห์ แห่งนิกายมนตรยาน ซึ่งจาริกมาจากอินเดีย เข้ามาพำนักในพระราชวัง ทรงแต่งตั้งเป็นประมุขสงฆ์ หลังจากนี้ก็มีพระวัชรโพธิ และพระอโมฆวัชระ เป็นกำลังสืบงานเผยแพร่ต่อมาอีก เป็นเหตุให้นิกายมนตรยานเริ่มเจริญแพร่หลาย
พ.ศ. ๑๓๗๔ ในรัชกาลพระเจ้าบุ่นจง มีเหตุการณ์น่าสนใจคือ มีรับสั่งให้ภิกษุและภิกษุณีที่บวชโดยไม่ได้รับอนุญาตจากราชการยื่นคำขอใหม่ ในการนั้นมีผู้ยื่นคำขอถึง ๗๐๐,๐๐๐ รูปเศษ และต่อมาใน พ.ศ. ๑๓๘๑ โปรดให้ทุกวัดมีโบสถ์บูชาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นประเพณีมาจนบัดนี้
พ.ศ. ๑๓๘๕ ได้เริ่มมีการทำลายล้างพระพุทธศาสนา โดย พระเจ้าบู่จง ผู้ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋า ทรงแต่งตั้งนักบวชเต๋าเป็นเสนาบดี แล้ววางแผนทำลาย โดยเริ่มให้มีการโต้วาทะหน้าพระที่นั่งระหว่างพระภิกษุกับนักบวชเต๋า ใน พ.ศ. ๑๓๘๙ แต่ฝ่ายเต๋าปราชัย ไม่สมพระทัยจึงทรงจัดการเองโดยพลการ คือ ให้ภิกษุและภิกษุณีลาสิกขา ๒๖๐,๐๐๐ รูป ริบที่ดินของสงฆ์ ยุบวัด หลอมพระพุทธรูป เผาคัมภีร์ เป็นต้น เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมแต่นั้นมาอีกหลายร้อยปี (การทำลายล้างหยุดเมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน โดยใน พ.ศ. ๑๓๙๑ พระเจ้าซวนจงทรงห้ามการทำลายวัด นำประมุขลัทธิเต๋ากับพวกก่อการไปประหารชีวิต และให้มีการบวชพระได้อีกโดยสอบความรู้ ออกบัตรอนุญาตอุปสมบทให้ และให้มีการปฏิสังขรณ์วัดเฉพาะวัดใหญ่ ๆ)
สมัยห้าราชวงศ์ หรือ หงอโต้ว (พ.ศ. ๑๔๕๐ – ๑๕๐๓)
พ.ศ. ๑๔๕๙ มีพระรูปหนึ่ง ลักษณะอ้วนร่าเริง จาริกเผยแพร่พระศาสนา ครั้นถึงมรณภาพมีผู้เชื่อว่าท่านเป็น พระเมตไตรย์โพธิสัตว์ ทำให้เกิดความนิยมสร้างรูปของท่านเป็น พระอ้วน สมบูรณ์ ร่าเริง ถือถุงย่ามใบหนึ่ง ไว้ที่หน้าวัดจีน ถือเป็นพระที่ให้ความสุข ความมั่งมี และให้บุตร
พ.ศ. ๑๔๙๙ มีการทำลายพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่อีก โดย พระเจ้าซีจง แห่งแคว้นจิว ทรงกวดขันการบวช ยึดและยุบวัดที่ไม่มีพระบรมราชโองการให้สร้าง หลอมพระพุทธรูปตามวัดเอาไปทำเงินตรา และบังคับราษฎรให้ขายพระพุทธรูปและเครื่องบูชาที่เป็นทองแดงให้แก่ราชการทั้งหมด
สมัยราชวงศ์สุง หรือ ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓ - ๑๘๒๓)
พ.ศ. ๑๕๐๔ พระเจ้าเกาโจ้ว เริ่มทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เช่น โปรดให้สร้างวัด ณ สถานที่ที่เคยมีการรบใหญ่ ทรงส่งราชทูตไปอาราธนาพระสูตรจากเกาหลีและอินเดีย และใน พ.ศ. ๑๕๑๖ โปรดให้แกะไม้แผ่นพิมพ์พระไตรปิฎกรวม ๑๓๐,๐๐๐ แผ่น หลังจากนั้นมาได้มีผู้มีคุณสมบัติบวชมากขึ้น การศึกษาธรรมวินัยเจริญขึ้น มีพระจาริกมาจากอินเดีย และพระจีนจาริกไปอินเดียมากขึ้น ปรับปรุงประเพณีพิธีกรรม และส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ปรากฏว่า ใน พ.ศ. ๑๕๗๘ (รัชกาลพระเจ้ายินจง) มีภิกษุ ๓๘๐,๐๐๐ รูป ภิกษุณี ๔๘,๐๐๐ รูป
พ.ศ. ๑๖๑๒ ราชการเริ่มหารายได้จากการบวชพระ โดยการขายบัตรอุปสมบท ทำให้การบวชเป็นการซื้อขาย คนมีศรัทธาแต่ไม่มีเงินไม่มีโอกาสบวช เป็นเหตุหนึ่งแห่งความเสื่อมของการศึกษาธรรมวินัย ต่อมาใน พ.ศ. ๑๖๘๙ ถึงกับให้พระภิกษุต้องเสียภาษีทุกรูป เว้นแต่อายุครบ ๖๐ ปีหรือพิการ และใน พ.ศ. ๑๖๙๕ ก็ให้นำผลประโยชน์จากที่นาสวนของวัดไปบำรุงโรงเรียนหลวงแทน
พ.ศ. ๑๖๖๑ พระเจ้าฮุยจง ทรงเลื่อมใสลัทธิเต๋ามาก และทรงบีบคั้นพระพุทธศาสนา โปรดให้ทุกอำเภอมีศาลเจ้าของเต๋า เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้เข้าลัทธิเต๋า เช่น เรียกพระนามพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ เป็น "เซียน” เปลี่ยนชื่อวัดเป็นศาลเจ้า ถวายเครื่องครองพระพุทธรูปเป็นแบบเต๋า เป็นต้น จนถึง พ.ศ. ๑๖๖๕ จึงโปรดให้พระพุทธศาสนาคืนสู่ฐานะเดิม คืนนาสวนที่ยึดไปให้แก่วัด และในที่สุด พ.ศ. ๑๖๖๘ ก็ให้เลิกนับถือลัทธิเต๋า
พ.ศ. ๑๖๘๗ ในรัชกาลพระเจ้าเกาจง พระฮวบฮุ้น เรียบเรียงหนังสือ "ศัพท์พุทธศาสนา” ขึ้น เป็นประโยชน์ในการศึกษามาก และใช้กันแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน (ก่อนหน้านี้เคยมีพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิเรียบเรียงหนังสือสำคัญคล้ายกันขึ้นมาแล้วหลายคราว เรียกชื่อว่า “การออกเสียงและความหมายของศัพท์ในพระไตรปิฎก” คือ ใน พ.ศ. ๑๓๕๑ จำนวน ๑๐๓ เล่ม ใน พ.ศ. ๑๔๘๓ จำนวน ๔๘๐ เล่ม และใน พ.ศ. ๑๕๑๒ เรียก “ศัพท์ในพระไตรปิฎก” ๖๖๐ เล่ม)
โดยสรุป ในราชวงศ์นี้ กษัตริย์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตมีศรัทธาในพระศาสนาดี พระพุทธศาสนาฟื้นฟูขึ้นมาพอสมควร แต่เพราะราชการมัวพะวงกับการหารายได้แม้จากวัด เพื่อใช้ในการป้องกันราชวงศ์จากอริราชศัตรู ความเจริญจึงไม่มีเท่าที่ควร”
# จากบันทึกย่อซึ่งเป็นจอดหมายเหตุพระพุทธศาสนาในจีนข้างต้น ให้เราได้ทราบเรื่องสำคัญหลายเรื่อง เช่น การตั้งพระภิกษุมีตำแหน่งทางการเมือง ,การสลักภูเขาทั้งลูกเป็นถ้ำพระพุทธรูป, พระเจ้าบู่ตี่เสวยเจ ขอให้พระฉันเจ เลิกกินเนื้อสัตว์ (มังสวิรัติ) เป็นครั้งแรกและสืบมาจนถึงวันนี้, พระโพธิธรรมจากอินเดียเข้าไปตั้งนิกาย ฉาน ฌาน ธยาน เซน ในจีน, พุทธศาสนามหายานแพร่เข้าสู่เกาหลี ญี่ปุ่น, เรื่องพระถังซัมจั๋งไปสืบศาสนาในอินเดีย บันทึกถึงเรื่องราวไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์โลก, พระนางบุ่นเช้งนำพุทธมหายานเข้าไปตั้งในทิเบต, พ.ศ. ๑๒๑๔ ในรัชกาลพระเจ้าถังเกาจง หลวงจีนอี้จิง (งี่เจ๋ง) ออกจาริกไปอินเดีย และพักที่สุมาตราหลายปี มีหลักฐานในไทยเราว่าหลวงจีนรูปนี้มาพักอยู่ที่ไชยาและบันทึกเรื่องราวของไทยไว้มาก น่าจะเป็นผู้นำนิกายมหายานมาเผยแผ่ในไทย อินโดฯ และกัมพูชาด้วย แต่ไม่มีในบันทึกย่อของจีนฉบับนี้ /๑๙๐
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของเรื่องและภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|