บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๖๑ - หลังวันวิสาขบูชาปีนั้น พี่เหรียญชัย จอมสืบ มาปรึกษาข้าพเจ้าว่าไปทำข่าวที่โรงพักอำเภอกงไกรลาศ พบเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเรื่องหนึ่งกล่าวคือ ตำรวจจับอดีตนายทหารชั้นประทวนคนหนึ่งในข้อหายาเสพติดและพกพาอาวุธปืนเถื่อน เอาตัวขังไว้ในห้องขังโรงพักเป็นเวลาหลายเดือนแล้วยังไม่ได้ดำเนินคดีฟ้องร้องใด ๆ เลย ถามตำรวจก็โบ้ยกันไปมาไม่รู้ใครเป็นเจ้าของคดี มีจ่าตำรวจแก่ ๆ คนหนึ่งคอยดูแลให้ข้าวให้น้ำอยู่ไปวัน ๆ ข้าพเจ้าสนใจมากจึงให้พี่เขาพาไปดูที่โรงพักด้วยหวังจะหาทางช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้
ไปถึงโรงพักวันนั้นยามบ่ายแล้ว เห็นมีตำรวจบนโรงพักไม่กี่คน พบจ่านายสิบตำรวจ (จ.ส.ต.) เกษม สุทธาจารเกษม คนที่ให้ข่าวแก่พี่เหรียญชัย จึงซักถามความเป็นมาของผู้ต้องหารายนี้ทราบว่าชื่อ คารพ ศิริวัฒน์ มียศเป็นพันจ่าอากาศเอก เขาเป็นคนพิการ คือหลังค่อม เขาเล่าว่าเป็นทหารนักบินขณะฝึกบินในแถบจังหวัดในภาคอีสาน เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก เขารอดชีวิตได้แต่พิการจนหลังค่อม ออกจากราชการทหารท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ จนมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวพิษณุโลก สุโขทัย และถูกตำรวจจับมาขังไว้ในที่สุด คำบอกเล่าของเขาเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบเหมือนกัน จ่าเกษมเล่าว่าเขาถูกขังในสภาพ “ขังลืม” ไม่มีการสอบสวนดำเนินคดีใด ๆ จ่าได้เอาหนังสือธรรมะให้เขาอ่านเพื่อแก้เหงาไปวัน ๆ
ข้าพเจ้าขอเข้าเยี่ยมและคุยกับผู้ต้องหา จ่าก็พาไปที่ห้องขัง เอาเก้าอี้ตั้งตรงประตูห้องขังให้ข้าพเจ้านั่งคุยกับเขา พันจ่าเอกคารพเป็นคนหน้าตาผิวพรรณดี กิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อย เขาบอกว่าบิดามีบรรดาศักดิ์เป็นคุณหลวงและเป็นนายทหารอากาศยศนาวาอากาศโท เขาเป็นนักเรียนจ่าอากาศ จบจากโรงเรียนแล้วบรรจุเข้ารับราชการเป็นทหารนักบินจนมียศพันจ่าอากาศเอก แล้วจึงประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกจนร่างกายพิการ (หลังค่อม) อย่างที่เห็น เขายอมรับว่าออกจะเป็นคนเกเรอยู่สักหน่อย ดื่มสุราสูบกัญชาและฝิ่น ทำตัวแบบนักเลงแต่ไม่ข่มเหงรังแกใคร ไม่เคยลักขโมยคดโกงใคร ที่ถูกจับครั้งนี้เพราะมีฝิ่นกัญชาไว้เสพและมีปืนเถื่อนพกพาไว้ป้องกันตัวเท่านั้น
ฟังเรื่องที่เขาบอกเล่าแล้วข้าพเจ้าก็กล่าวเชิงปลอบใจเขา
“เท่าที่ถูกขังลืมอยู่นี่ ถือว่าเป็นเวรกรรมเก่าของเรามันตามมาทันก็แล้วกันนะ”
เขากราบแล้วกล่าวว่า
“กระผมสำนึกผิดชอบชั่วดีของตนที่ผ่านมาได้มากแล้วครับ”
ข้าพเจ้าหันมามองจ่าเกษมและพี่เหรียญชัย ทุกคนพะยักหน้า หันไปถามเขาว่า
“ถ้าออกจากห้องคุมขังแล้วคุณจะไปทำอะไรที่ไหนหรือ”
เขาตอบด้วยเสียงหนักแน่นว่า “อยากบวชเป็นพระครับ” จ่าเกษมถามย้ำว่า “แน่นะ”
เขาตอบยืนยันว่าอยากบวชจริง ๆ ขอบคุณลุงจ่ามากที่เอาหนังสือธรรมะมาให้ผมอ่านหลายเล่ม อ่านจนเกิดศรัทธาที่จะบวชเป็นพระจริง ๆ ครับ จ่าเกษมหันมาถามข้าพเจ้าว่าท่านช่วยหาไตรจีวรเครื่องบวชให้ได้มั้ย ผมจะเป็นเจ้าภาพบวชให้เขาเอง คิดอยู่ครู่หนึ่งก็บอกจ่าเกษมว่า
“ฉันขอไปปรึกษาหลวงพ่อห้อมหน่อย อย่างไรพรุ่งนี้ตอนสาย ๆ จะมาบอก โยมจ่าช่วยดำเนินการให้เขาพ้นจากการถูกคุมขังก็แล้วกันนะ”
เขากราบข้าพเจ้าและไหว้จ่าเกษมด้วยความดีใจ ข้าพเจ้ากับพี่เหรียญชัยจึงเดินทางกลับ
ค่ำวันนั้นข้าพเจ้าพาพี่เหรียญชัยเข้ากราบหลวงพ่อห้อม บอกเล่าเรื่องราวของพันจ่าคารพให้ท่านทราบ ท่านฟังเรื่องจบแล้วไม่คิดอะไรมาก บอกว่า
“พรุ่งนี้พาตัวมันมาบวชได้ ฉันจะเตรียมเครื่องบวชไว้ให้พร้อมเลย”
วันรุ่งขึ้นพี่เหรียญชัยรับข้าพเจ้าจากวัดราชธานีไปโรงพักกงไกรลาศ เวลา ๐๘.๓๐ น. ไปถึงโรงพักก็พบจ่าเกษมนำตัวพันจ่าคารพออกมารออยู่นอกห้องขังแล้ว ทางตำรวจเขาทำอย่างไรให้คารพพ้นโทษก็ไม่รู้เหมือนกัน ถามร้อยเวรว่าไม่ต้องเซ็นชื่อในเอกสารอะไรหรือ ร้อยเวรตอบยิ้ม ๆ ว่า
“ยังไม่เคยตั้งข้อหาอะไรมันเลยครับหลวงพี่” อ้อ อย่างนี้ก็มีด้วยนะคุณตำรวจ
ข้าพเจ้าพาคารพมาเข้าพบหลวงพ่อห้อมก่อนเที่ยงวันนั้น ท่านเอาคำขานนาคและคำขออุปสมบทให้ท่องทันที บอกว่าท่องได้วันนี้ก็จะบวชให้ในวันนี้เลย นาคคารพก็รีบท่องขานนาคและคำขออุปสมบททันที คนมีการศึกษามาดีอย่างเขาก็ไม่เป็นการยากที่จะท่องคำขานนาคและคำขออุปสมบทในเวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น เย็นวันนั้นหลวงพ่อห้อมใช้เวลาการทำวัตรเย็นจบแล้วให้เณรออกจากโบสถ์ไป ส่วนพระทั้งหมดให้อยู่ในโบสถ์เพื่อทำอุปสมบทกรรมแก่นาคคารพ โดยหลวงพ่อห้อมเป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์วรรณา กับข้าพเจ้าเป็นพระคู่สวด (พระกรรมวาจาจารย์ พระอนุสาวนาจารย์) เสร็จสิ้นการให้อุปสมบทเมื่อเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. พันจาอากาศเอกคารพเป็นพระภิกษุได้นามฉายาว่า “คารโว”
เหตุที่ข้าพเจ้าเลือกเอาหลวงพ่อห้อมเป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่เอาหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเป็นพระอุปัชฌาย์ก็เพราะคิดว่า หลวงพ่อห้อมมีความคล่องตัวในการดูแลสัทธิวิหาริก (ผู้อยู่ร่วมพระอุปัชฌาย์) ได้ดีกว่า พระคารพบวชแล้วอยู่กับหลวงพ่อห้อมที่วัดคูหาสุวรรณจนอีก ๓ วันจะเข้าพรรษา ทางวัดศรีสังวร (ท่าช้าง) อ.ศรีสำโรง (เขตติดต่ออำเภอเมืองฯ) ซึ่งมีพระอยู่จำพรรษาน้อย ทายกจึงมาขอพระจากหลวงพ่อห้อมไปอยู่วัดนี้บ้าง หลวงพ่อห้อมจึงให้พระคารพ คารโว ไปอยู่ฉลองศรัทธาญาติโยม ณ วัดนี้ จ่าเกษม พี่เหรียญชัยก็ไม่ทอดทิ้งพระคารพ จึงไปมาหาสู่อุปฐากอยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้าเองก็หมดห่วงไปเหมือนกัน /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), malada, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, มนชิดา พานิช, nakasamuthra, ลิตเติลเกิร์ล, กรกันต์, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๖๓ - สื่อสารมวลชนยุคหลังกึ่งพุทธกาล (พ.ศ.๒๕๐๐) นั้น ที่อยู่ในความนิยมของคนทั่วไปยังคงเป็นคลื่นเสียงวิทยุกับหน้าหนังสือพิมพ์ คลื่นเสียงวิทยุที่คนนิยมฟังคือเพลงลูกทุ่งลูกกรุง ซึ่งตอนนั้นข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจว่าเขาแบ่งประเภทเพลงลูกทุ่งลูกกรุงกันอย่างไร ก็ฟังไปอย่างนั้นแหละ นอกจากเพลงก็เป็นการแสดงละครวิทยุที่มีตัวแสดงให้เสียงตามเรื่องที่นักประพันธ์เขียนกันไว้แล้วเอามาเรียบเรียงเป็นบทละคร จากละครก็เป็นลิเก ซึ่งต่างจากละครตรงที่มีการร้องในทำนองต่าง ๆ ปนกันไปกับการเจรจา ส่วนละครไม่มีการร้อง มีแต่บทเจรจา แต่คนฟังก็ได้รับความบันเทิงใจกันอย่างเต็มอิ่ม ส่วนสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งมีลายลักษณ์อักษรประกอบภาพพิมพ์ลงในหน้ากระดาษ มีหนังสือพิมพ์ที่ออกวางขายตามแผงหนังสือในตลาดเป็นรายวัน รายสัปดาห์ ราย ๑๕ วัน รายเดือน ราย ๓ เดือน ตามแต่ความสะดวกของผู้จัดทำเต็มกำลังความสามารถ สื่อทั้ง ๒ ประเภทนี้ หนังสือพิมพ์จะมีอิทธิพลมากกว่าสื่อวิทยุ เพราะคลื่นเสียงฟังแล้วก็หายไป แต่หนังสือพิมพ์นั้นพิมพ์แล้วไม่หาย สามารถเปิดอ่านได้ตลอดเวลา
หนังสือพิมพ์รายวันยุคนั้นเท่าที่จำได้คือ พิมพ์ไทย ชาวไทย สยามนิกร สยามรัฐ ส่วนใหญ่เสนอข่าวและบทความหนักไปในทางการเมือง การศึกษา เศรษฐกิจและสังคม ต่อมาก็มี เดลินิวส์ ไทยรัฐ สองฉบับนี้เสนอข่าวและบทความเน้นในเรื่องอาชญากรรม เป็นข่าวแบบชาวบ้าน แนวนี้ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปสูงมาก ทางกองบรรณาธิการจึงขยายพื้นที่ข่าวให้มากขึ้น ตั้งผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ นักข่าวของแต่ละฉบับหาข่าวจากชาวบ้านด้วยตนเอง ไม่ขอข่าวจากตำรวจและหน่วยงานราชการใด ๆ ได้ข่าวจากแหล่งข่าวแล้วกลั่นกรองจนเห็นว่าถูกต้องมากที่สุดจึงส่งเข้าสำนักพิมพ์เพื่อพิมพ์เผยแผ่ต่อไป หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ-เดลินิวส์กลายเป็น “ยักษ์ใหญ่ในวงการหนังสือพิมพ์” มียอดจำหน่ายสูงคู่คี่กัน นักข่าวภูธร (ข.ต.ว.) ของจังหวัดก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลไปด้วยโดยปริยาย
นักข่าวหนังสือพิมพ์ประจำจังหวัดสุโขทัยยุคนั้น นอกจากเหรียญชัย จอมสืบ แล้วก็มี ชัยวัฒน์ ลิมปะพันธุ์, โพยม จันทรเดช (ภายหลังเปลี่ยนเป็น ดิลกคุณธรรม) ทั้งสองคนนี้มีอายุอยู่ในรุ่นเดียวกับเหรียญชัย ทุกคนทำข่าวให้หนังสือพิมพ์รายวันส่วนกลางคนละหลายฉบับ แต่มีฉบับที่เป็นหลักอยู่เพียงหนึ่ง เหรียญชัย จอมสืบ กับ ชัยวัฒน์ ลิมปะพันธุ์ มีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นหลัก โพยม จันทรเดช มีหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เป็นหลัก ข้าพเจ้าได้รู้จักนักข่าวทุกคนที่สำนักพิมพ์เสียงชนบทซึ่งเป็นศูนย์ข่าว นักข่าวได้ข่าวมาแล้วก็เอามารวมกันที่สำงานหนังสือพิมพ์เสียงชนบทก่อน แล้วจึงส่งเข้าไปส่วนกลาง ข้าพเจ้าได้เรียนรู้วิธีหาข่าว เขียนข่าว จากนักหนังสือพิมพ์เหล่านี้ น้ำหมึกจึงซึมเข้าสู่สายเลือดข้าพเจ้าโดยไม่รู้ตัว ข่าวอาชญากรรมที่เกี่ยวกับวัด (พุทธศาสนา) หลายข่าว นักข่าวได้ข่าวมาแล้วนั่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟังเพื่อให้ข้าพเจ้าเขียนเป็นข่าว ด้วยเขาเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นพระจึงน่าจะเขียนภาษาวัดได้ดีกว่าพวกนั่นเอง อ้อ ขอหน่อยบอกว่า นักข่าวทั้งสองคนนั้นมีความรู้สามัญเรียนจบเพียงแค่ชั้นประถมปีที่ ๔ เท่านั้น แต่ผู้ที่เรียนจบชั้นมัธยม ปริญญาอะไรก็หาข่าว เขียนข่าวสู้พวกเขาไม่ได้หรอก
ข้าพเจ้าเริ่มศึกษาวิถีทางของการเป็นนักข่าวจากตำราที่เหรียญชัย จอมสืบ เอามาให้อ่าน ได้หัวใจของการเขียนข่าวว่า “ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมือไร ผลเป็นอย่างไร” คำว่า “ใคร” ระบุ เพศ ยศ นาม นามสกุล อายุ ตำแหน่ง ที่อยู่ บ้านเลขที่ หมู่ที่ ตำบล อำเภอ จังหวัด ให้ชัดเจน คำว่า “ทำอะไร” ระบุพฤติกรรมของเขา เป็นผู้กระทำ หรือ ถูกกระทำ เช่นถูกปล้น ถูกฆ่า ถูกขโมย ถูกข่มขืน หรือ เป็นผู้ปล้น ผู้ฆ่า ผู้ลักขโมย ผู้ข่มขืน เป็นต้น คำว่า ”ที่ไหน” ระบุสถานที่เกิดเหตุนั้น ๆ ให้ชัดเจน คำว่า “เมื่อไร” ระบุวันเดือนปีเวลาที่เกิดเหตุนั้น ๆ ให้ชัดเจน คำว่า ”ผลเป็นอย่างไร” จะไม่ระบุก็ได้
ก่อนเสนอข่าวควรไตร่ตรองให้รอบคอบถึงผลกระทบของข่าวว่า จะเกิดผลเสียหายแก่ใครหรือไม่ เช่น เด็กหญิงถูกข่มขื่น กระทำชำเรา หากเสนอเป็นข่าวสารธารณะไปแล้ว เด็กสาวและพ่อแม่พี่น้องจะอับอายเสียชื่อเสียงหรือไม่, ข่าวฆ่ากันตาย แหล่งข่าวผู้รู้เห็นแล้วให้ข่าวแก่นักข่าว ควรไตร่ตรองให้ดีว่า ในข่าวควรเผยชื่อแหล่งข่าวคนนั้นหรือไม่ ถ้าเปิดเผยแหล่งข่าว เขาจะถูกฆ่าปิดปากหรือไม่ เรื่องแหล่งข่าวนี้ในระบอบจรรยาบรรณหนังสือพิมพ์ให้นักข่าวถือเป็นความลับอย่างเคร่งครัด และให้ยึดหลักว่า “ ทำสิ่งที่ควรทำ เว้นสิ่งที่ควรเว้น” คือข่าวใดควรปิด ข่าวใดควรเปิด มิใช่เปิดหมดทุกข่าวใครเสียหายอย่างไรก็ช่างใคร
ทำสื่อทางหนังสือพิมพ์แล้วยังไม่พอ พี่เหรียญชัยแกยังอยากทำรายการวิทยุอีกด้วย ตอนนั้นเพื่อเขาเป็นนายสถานีวิทยุ ปชส.ตาก จังหวัดตาก จึงไปขอเวลาจัดรายการกลอนสัปดาห์ละครั้ง นายสถานีคนนั้นชื่อ สุขุม ศรียะวงศ์ มอบเวลาให้จัดรายการกลอนทุกคืนวันอาทิตย์หลังข่าว ใช้ชื่อรายการว่า “สายธารใจ” เมื่อได้เวลาแล้วก็มาขอให้ข้าพเจ้าช่วยจัดทำรายการ ให้ไปขอคนอื่นช่วยเขาก็ว่าหาใครช่วยทำไม่ได้ “ท่านนี่แหละดีมี่สุด เพราะจัดรายการเทศน์ทางวิทยุอยู่แล้ว” ที่สุดข้าพเจ้าก็ต้องร่วมจัดทำรายการกับเขา ตอนแรกข้าพเจ้าจะเป็นผู้รวบรวมบทกลอนจากเพื่อนนักกลอน คัดเลือกสำนวนที่ควรออกอากาศให้พี่เหรียญชัยนำไปอ่านที่สถานีวิทยุ วิธีดำเนินรายการคือเปิดเพลงไทยเดิม บรรเลงเพลงเขมรไทรโยกดังขึ้นแล้วเบาลงคลอบทกลอนนำรายการ และเปิดเพลงบรรเลงอื่น ๆ สลับคลอบทกลอนที่อ่านทุกสำนวน รายการสายธารใจเป็นรายการกลอนภูธรรายการแรกในภาคเหนือตอนล่าง คลื่นเสียงของ ปชส. ตากแรงมาก คนในจังหวัดตาก ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร รับฟังได้ชัดเจนจึงมีคนรับฟังรายการนี้มากพอสมควร/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต |
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เป็น อยู่ คือ, ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, nakasamuthra, malada, คิดถึงเสมอ, ลิตเติลเกิร์ล, กรกันต์, มนชิดา พานิช, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๖๔ - มีความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ตอนหนึ่งว่า “เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหงเมืองสุโขไทนี้ดีในน้ำมีปลาในนามีเข้า.......” ข้อความนี้ทนายอุปถัมภ์ เหล่าไพโรจน์ สมาชิกอาวุโสของชมรมกวีศาลาลายสือไทยมักนำมากล่าวในที่ชุมนุมเสมอ ท่านภูมิใจในอดีตอันอุดมสมบูรณ์ของสุโขทัยมาก พวกเรานำความในจารึกดังกล่าวมาอภิปรายกันได้ความว่า “เมื่อชั่ว” คือสมัยหรือในรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดีอย่างไรบ้าง ในน้ำมีปลาอะไรอย่างไร ทนายอุปถัมภ์ว่า ในแม่น้ำยม แม่น้ำลำพัน แม่น้ำฝากระดาน มีปลานานาชนิด อย่างแม่นำลำพันที่มีต้นน้ำอยู่เหนือบริเวณถ้ำเจ้าราม เขตติดต่อจังหวัดตากและอำเภอเถินจังหวัดลำปางนั้น ไหลหลากผ่านวังหาดซึ่งเป็นเมืองโบราณลงมาลงแม่น้ำยมที่ธานี แม่น้ำสายนี้ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เรียกว่า แม่น้ำสำพาย ที่เรียกต่อมาว่า แม่ลำพันเพราะมีปลาชนิดหนึ่งเหมือนปลาดุกแต่มิใช่ปลาดุก เขาเรียกว่าปลาลำพัน (ไม่ใช่รำพัน) มีอยู่ในแม่น้ำสายนี้มาก แล้วหายไปเรื่อย ๆ จนสูญพันธุ์ไปแล้ว ปลาทั่ว ๆ ไปจากแม่น้ำฝากระดาน (ตำนานเมืองเหนือเรียกปานามนที) ที่มีต้นน้ำอยู่แม่มอกเมืองเถินไหลผ่านทุ่งเสลี่ยม เมืองบางขลัง คลองข้างคลองแห้งมาลงแม่นำยมแถว ๆ บางคลอง แม่น้ำยมที่มีต้นน้ำจากเทือกเขาอิงกันไหลลงผ่านเมืองแพร่มาพร้อมด้วยปลานานาชนิด
ปลาที่ขึ้นชื่อของลุ่มน้ำยมเมืองสุโขทัยคือ ปลาเค้า ปลาเนื้ออ่อน ปลากด ปลารากกล้วย ปลาหมู ปลาเงินปลาทอง ปลาสร้อย ปลาหลด ปลาตะเพียน ปลาสลิด ประหมอ ปลาช่อน ปลาดุก และอีกหลายปลาทีจาระไนไมสิ้น เฉพาะปลาเค้านั้น สมัยก่อนคนสุโขทัยจะจับกินเป็นอาหารเอาแต่ตัวใหญ่โตขนาดร้อยเหงือกด้วยเชือกยกขึ้นพาดบ่าแล้วหางลากดินเลย
คำว่า “ในนามีเข้า” หมายถึงในนามีข้าว สำเนียงสุโขทัยสั้นกระชับ ไม่ลากเสียงว่า ข้าว เหมือนปัจจุบัน ผู้รู้ให้ที่มาของคำว่า “เข้า” อันเป็นคำนามว่า หมายถึงข้าว ในจารึกสุโขทัยนอกจากจะแปลคำ “เข้า” ว่าข้าวแล้ว ยังแปลว่า “ปี” อีกด้วย เช่นในจารึกนี้ว่า “เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า” แปลว่าเมื่อข้าพเจ้าเจริญวัยใหญ่ขึ้นได้สิบเก้าปี หมายถึงอายุ ๑๙ ปี ที่มาของคำนี้ท่านว่า การทำนาของคนไทยโบราณก่อนสุโขทัยมาแล้ว ทำกันปีละครั้งเท่านั้น และมักจะทำกันในฤดูฝน เรียกกันว่า “เข้านาปี” ทำนาเข้าได้ครั้งหนึ่งก็เรียก ได้เข้า คำว่าเข้าจึงกลายเป็นปีไปด้วยประการฉะนี้ เขาว่าอย่างนี้ข้าพเจ้าก็ได้แต่ฟังและจำมาบอกเล่าอีกที สำเนียงไทยสมัยสุโขทัยที่ปัจจุบันพูดเยื้องคือไม่ตรงสำเนียงเดิมมีหลายคำเช่น น้ำ เสียงสั้น เดี๋ยวนี้พูดเยื้องเป็น น้าม เสียงยาว มิด เสียงสั้นเป็น มีด เสียงยาว พิสัง พูดว่า ผีสาง เป็นต้น
แม่น้ำยมสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นพระมาอยู่วัดราชธานีนั้น หน้าแล้งน้ำไม่แห้งขอดคลอง ตลิ่งไม่มีคันดินและพนังคอนกรีตกั้น ทุกฤดูฝนเมื่อน้ำหลากไหลลงมาจากเหนือ กระน้ำไหลเชี่ยวมีกอหญ้ากิ่งไม้ลอยมาตามกระแสน้ำ เมื่อน้ำเต็มลำคลองก็จะล้นตลิ่งไหลหลากออกท่วมท้องทุ่งนาทั่วไปจนมีสภาพ “ในน้ำมีปลา ในนามีเข้า” สมตามความในศิลาจารึก เดือนหกเดือนเจ็ดที่ฝนตกหนักข้าพเจ้าเห็นปลาดุกตัวใหญ่ขนาดเท่าแขน เพ่นพ่านขึ้นจากบ่อปลาของวัดราชธานี กระเสือกกระสนดุ๊กดิ๊กเล่นน้ำฝนอยู่ตามถนนราชธานี ถนนจรดวิถีถ่อง และถนนนิกรเกษม ไม่มีใครจับไปฆ่าไปแกง มีบ้างที่บางคนเมตตาจับมาใส่บ่อตามเดิม หรือไม่ก็จับไปปล่อยในแม่น้ำยม นอกจากปลาแล้วยังมีเต่า ตะพาบน้ำในบ่อและใต้ถุนกุฏิ ใต้ถุนอาคารร้านค้ารอบวัดเพ่นพ่านออกมาเล่นน้ำฝนกันด้วย
ทางด้านตะวันออกเมืองสุโขทัยธานีในพื้นที่บ้านหลุมตรงระหว่างรอยต่อบ้านหลุมบ้านสวนนั้น มีบึงน้ำค่อนข้างใหญ่เรียกชื่อว่า “บึงน้อย” เป็นนามคู่กับ “บึงใหญ่” ที่อยู่ด้านตะวันออกหมู่บ้านตำบลบ้านสวน บึงน้อยนี้มีถนนหลวงสาย ๙ (สิงหวัฒน์) ตัดผ่านไปจังหวัดพิษณุโลก ปีที่ข้าพเจ้ามาอยู่สุโขทัย (๒๕๐๗) นั้น บึงนี้ยังดูลึกและกว้าง เป็นที่อาศัยอยู่ของสัตว์น้ำนานาชนิด อาจจะเป็นเพราะถนนตัดผ่าบึงไปนี้เองทำให้บึงนี้ตื้นเขินขึ้นเรื่อย ๆ จนหมดสภาพความเป็นบึงไปในที่สุด
ข้าวในจังหวัดสุโขทัยนี้ปลูกและออกรวงเก็บเกี่ยวได้ในเวลาประมาณ ๓ เดือน ซึ่งทางบ้านข้าพเจ้า คือสุพรรณ อยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี นครชัยศรี เรียกว่า “ข้าวเบา” เป็นข้าวไม่ขึ้น (ทะลึ่ง) น้ำ ส่วนข้าวนาปีของภาคกลางนั้นเข้าเรียกว่า “ข้าวหนัก” เป็นข้าวขึ้นน้ำ กล่าวคือเมื่อน้ำหลากมาท่วมทุ่ง ข้าวนาปีนี้ก็จะเติบโตสูงขึ้นตามน้ำ ไม่ถูกน้ำท่วมตายง่าย ๆ จะใช้เวลานานประมาณ ๔ เดือนจึงเก็บเกี่ยวได้ ดังนั้นในภาคกลางสมัยก่อนจึงทำนาสองประเภท คือประเภทนาข้าวเบาจะทำในที่เป็นนาดอนน้ำตื่นและแห้งเร็ว ประเภทนาข้าวหนักจะทำในที่นาลุ่มน้ำลึก ข้าวสุโขทัยสมัยที่ข้าพเจ้ามาอยู่ใหม่ ๆ นั้นเขาว่ากันว่า ข้าวบ้านสวนอร่อยและดีที่สุด ก็ไม่รู้เหมือนนะครับว่า “ในนามีเข้า” ตามจารึกสุโขทัยดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นเข้าเบาหรือเข้าหนัก /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ต้นฝ้าย, nakasamuthra, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, malada, คิดถึงเสมอ, ลิตเติลเกิร์ล, มนชิดา พานิช, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กรกันต์, เป็น อยู่ คือ, เฒ่าธุลี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๖๕ - ใกล้กาลเข้าพรรษาแล้ว ได้รู้จักพระผู้ใหญ่อีกสององค์ คือ หลวงพ่อภุชงค์ พระครูคีรีมาศธรรมคุณ (หลวงพ่อใหญ่) หลวงพ่อโถม พระครูพิลาสธรรมคุณ(หลวงพ่อเล็ก) วัดวาลุการาม (โตนด) อ.คีรีมาศ หลวงพ่อภุชงค์เป็นเจ้าคณะอำเภอคีรีมาศ หลวงพ่อโถมเป็นเจ้าคณะตำบลทุ่งหลวง ทั้งสองอยู่วัดเดียวกัน ชาวบ้านนิยมเรียกท่านว่า “หลวงพ่อใหญ่หลวงพ่อเล็ก” ท่านทั้งสองมีฝีมือทางช่างไม้ ต่อโต๊ะเก้าอี้ได้อย่างสวยงาม วันนั้นท่านนำโต๊ะเก้าอี้ที่ต่อเป็นชุดรับแขกมาถวายหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณผู้เป็นอาจารย์ ๑ ชุด หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเรียกข้าพเจ้าไปให้พบทำความรู้จักกันไว้ ตอนลากลับท่านแวะเข้าในกุฏิข้าพเจ้าแล้วเห็นว่าไม่มีชุดรับแขกหลวงพ่อโถมพูดว่า “ไม่เหมาะสมฐานะเลย” หลังจากกลับไปวัดได้ ๓ วัน หลวงพ่อโถมกลับมาวัดราชธานีอีกพร้อมน้ำชุดรับแขกที่ต่อไว้อย่างดีมาให้ข้าพเจ้าอีกชุดหนึ่ง พร้อมน้ำผึ้งเขาหลวง ๙ ขวด น้ำผึ้งนั้นท่านบอกว่า คนคีรีมาศเขามีประเพณีบวชนาคในช่วงหลังสงกรานต์ถึงวันเข้าพรรษา ของถวายพระอุปัชฌาย์ คู่สวด ที่ขาดไม่ได้คือ “กรวยอุปัชฌาย์” โดยทั่วไปเขาใช้ดอกไม้ธูปเทียน แต่ชาวคีรีมาศจะใช้น้ำผึ้งป่าจากเทือกเขาหลวงประดับตกแต่งขวดทำเป็นกรวยวายอุปัชฌาย์และคู่สวด ที่วัดมีเยอะเพราะไม่ค่อยได้ฉัน จึงเก็บไว้ นาน ๆ ก็เอามาถวายพระผู้ใหญ่บ้าง น้ำผึ้งเขาหลวงนี้มีชื่อเสียงมาก ในอดีตสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่ ๗ มีจดหมายเหตุระบุเรื่องการส่งส่วยของหัวเมืองต่าง ๆ ว่า ให้ชาวคีรีมาศส่งส่วยน้ำผึ้งเป็นประจำทุกปี แสดงให้เห็นว่าน้ำผึ้งเทือกเขาหลวงนี้ดีที่สุดจนพระราชาโปรดเสวยเป็นประจำเลยทีเดียว
อำเภอคีรีมาศตั้งเป็นกิ่งอำเภอครั้งแรกชื่อกิ่งอำเภอศรีครีมาศ สำนักงานที่ว่าการอยู่ที่หมู่ ๑ .ต.ศรีคีรีมาศ (ท่าดินแดง) ต่อมาย้ายที่ตั้งและเปลี่ยนชื่อเป็นคีรีมาศ อยู่ทางตอนใต้ของ อ.เมืองสุโขทัย ด้านตะวันออกติดเขต อ.กงไกรลาศ และ บางระกำ (พิษณุโลก) ด้านทิศใต้ติดเขต อ.พรานกระต่าย (กำแพงเพชร) ด้านทิศตะวันตกเป็นเทือกเขาหลวงติดเขต อ.บ้านด่านลานหอย สมัยเมื่อปี ๒๕๐๗ นั้น ถนนหนทางไปมาทางบกไม่สะดวกสบายเลย มีถนนดินผสมทางล้อเกวียนแยกจากถนนหลวงสายสุโขทัย-ตาก จากบ้านกล้วยไปทุ่งหลวง โตนด ท่าดินแดง หลวงพ่อองค์เล็กบอกเล่าสภาพถนนหนทางให้ฟังแล้วข้าพเจ้ารู้สึกท้อที่จะไปวัดท่านในยามนั้น รับปากว่าออกพรรษาถึงหน้าแล้งแล้วจะไปหาท่านที่วัดให้จงได้เลย
บ้านโตนดเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ รองลงไปจากบ้านทุ่งหลวงที่อยู่ตอนเหนือบ้านโตนด บ้านทุ่งหลวงนั้นมีวัดประจำหมู่บ้าน ๓ วัด คือวัดบึงอยู่เหนือสุด วัดกลาง (ดุสิตาราม) อยู่ตรงกลาง และวัดลาย อยู่ใต้สุดติดเขตบ้านโตนด บ้านทุ่งหลวงเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาใหญ่ที่สุดของสุโขทัยในสมัยนั้น ดินที่เอามาทำเครื่องปั้นดินเผานั้นอยู่ในบริเวณหลังวัดบึงนั่นเอง และบึงที่ขุดเอาดินไปปั้นหม้อโอ่งและอื่น ๆ นั้น เห็นทีจะได้ไปจากทุ่งใหญ่หลังวัดบึง และทุ่งนี้น่าจะชื่อว่าทุ่งหลวงและกลายเป็นชื่อหมู่บ้านไปในที่สุด (นี่ข้าพเจ้าคิดเอาเอง) ส่วนบ้านโตนดนั้น เห็นจะเป็นเพราะมีต้นโตนด (ตาล) เป็นดงใหญ่ หมู่บ้านในดงโตนด (ตาล) จึงมีชื่อเรียกว่า บ้านโตนด สมัยที่ข้าพเจ้ามาอยู่สุโขทัยนั้น มีคนเอาน้ำตาลปึก (เป็นงบ) ขนาดถ้วยตะไลไปถวายให้ฉันกับน้ำชาตอนเย็น ๆ เขาบอกว่าเป็นตาลของบ้านโตนด ทุ่งหลวง รสชาติกลมกล่อม ไม่หวานจัด มีกลิ่นหอมต่างจากตาลทั่วไป
วัดประจำหมู่บ้านโตนดมีชื่อเป็นทางการในทะเบียนว่าวัดวาลุการาม ข้าพเจ้าถามหลวงพ่อใหญ่ (ภุชงค์) ว่า ที่นี่มีหาดทราย กองทรายหรือ ท่านถามย้อนว่า รู้ได้อย่างไรหรือ ก็ตอบท่านว่า รู้จากชื่อวัดนี่แหละครับ วาลุกา แปลว่าทรายนี่ครับ ท่านก็ตอบแบบไม่แน่ใจว่า ท่านเกิดไม่ทัน เพราะเท่าที่จำความได้ เดิมมีลำคลองเล็กไหลผ่านหมู่บ้านนี้ สมัยโบราณน่าจะมีแม่น้ำไหลมาจากเทือกเขาหลวงผ่านมาทางท่าดินแดง โตนด ไปลงแม่น้ำยมก็ได้ ถามว่าวัดนี้ตั้งมานานหรือยัง ท่านก็ชี้ให้ดูโบสถ์แล้วว่า ก็คงนานเท่าอายุโบสถ์นั้นแหละ ข้าพเจ้ามองดูอุโบสถหลังเก่าที่ทรุดโทรมมากแล้ว คะเนดูว่าอายุคงไม่น้อยกว่าร้อยปี หรืออาจถึงสองร้อยปี แสดงว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มาก หลวงพ่อใหญ่ยังอ้างนามบุคคลประกอบอายุของวัดว่า วัดนี้คหบดีบ้านโตนดคือ ขุนโนดเนาวเขตต์ เป็นกำนันเก่าให้การอุปถัมภ์บำรุงวัดนี้สืบต่อจากบรรพชนของท่านมาไม่รู้นานเท่าไร ข้าพเจ้ามิอาจสืบประวัติวัดได้ก็ยุติไว้เพียงนั้น
หลวงพ่อภุชงค์กับหลวงโถมพระสองพี่น้องคู่นี้ องค์พี่นิสัยออกจะกระเดียดไปข้างนักเลง องค์น้องนิสัยอ่อนโยนลักษณะเปี่ยมไปด้วยเมตตาปรานี องค์พี่ชอบดื่มน้ำชาที่ไม่ใช่ชาจีน แต่เป็นชาที่เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งคือ ว่านสังกรณี ท่านว่าว่านนี้บำรุงกำลังร่างกายดีนักแล ส่วนองค์น้องนั้นชอบเคี้ยวหมากไม่ขาดปาก ข้าพเจ้าคบค้าสมาคมคุ้นเคยกับท่านทั้งสองมาก มีเวลาว่างก็มักจะนั่งรถสองแถว (รถคอกหมู) ลุยฝุ่นไปนอนคุยจิบน้ำชาสังกรณีกับท่านที่วัดโตนดเสมอ พระสององค์นี้ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นเป็นพระราชาคณะ และมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย โดยองค์พี่ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดต่อจากหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณก่อน องค์น้องเป็นเจ้าคณะจังหวัดต่อจากพระสุธรรมธีรคุณ (มหาดำรงค์) ภายหลังจากที่ข้าพเจ้าลาสิกขาแล้ว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๖๖ - โรงเรียนปริยัติธรรมแผนกนักธรรมเปิดเรียนแล้วปรากฏว่ามีนักเรียนทั้งพระภิกษุสามเณรวัดราชธานีและวัดคูหาสุวรรณรวมกันเป็นจำนวน ๓๒ องค์ หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยในฐานะเจ้าสำนักเรียนเป็นประธานทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ท่านกล่าวถึงความเป็นมาของโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดราชธานีที่ท่านเป็นผู้ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดสุโขทัย นักเรียนในสำนักเรียนนี้เรียนจบหลักสูตรได้ดิบได้ดีเป็นจำนวนมาก นานมาก็เสื่อมลงตามหลักธรรมที่ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรปรวนไป นักเรียนลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนหมดไป โรงเรียนเราสลบไปหลายปี เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้โรงเรียนนี้กำลังฟื้นขึ้นมาแล้ว ขอให้ครูอาจารย์และนักเรียนช่วยกันทะนุบำรุงโดยผู้สอนตั้งใจสอนพระธรรมวินัยแก่ผู้เรียนเป็นอย่างดี นักเรียนก็ขอให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างดี เพื่อเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้วัฒนาถาวารสืบไปนานเท่านาน คำกล่าวเปิดเรียนของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงย่นย่อพอได้ใจความ ที่ท่านกล่าวนั้นมีมากกว่านี้ เช่น ยกบุคคลที่เป็นศิษย์สำนักเรียนวัดราชธานีลาสิกขาออกไปรับราชการมีตำแหน่งเป็นเจ้านายใหญ่โตหลายท่าน นักเรียนใหม่ฟังโอวาทของท่านแล้วเกิดความฮึกเหิมในอันที่จะศึกษาเล่าเรียนกันมากทีเดียว
จบคำให้โอวาทในการเปิดเรียนแล้วหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณก็มอบหมายให้ข้าพเจ้าทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแทนท่านต่อไป ข้าพเจ้ากล่าวปฐมนิเทศเริ่มด้วยการแนะนำให้นักเรียนรู้จักอาจารย์ของโรงเรียน คือ พระเจ้าอธิการบุญมีเป็นอาจารย์สอนวิชาวินัย พระมหาคำสิงห์เป็นอาจารย์สอนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม พระไพฑูรย์เป็นอาจารย์สอนวิชาพุทธประวัติ และข้าพเจ้าเป็นอาจารย์สอนวิชาธรรมวิภาค วิชานักธรรมทุกขั้นมีอยู่ ๔ วิชา คือ กระทู้ ธรรมะ พุทธะ วินัย ทุกวิชาที่นักเรียนเรียนกันนั้นจำเป็นต้องท่องจำแบบเรียนมากบ้างน้อยบ้าง ถ้าไม่ท่องจำแบบเรียนแล้วจะเรียนไม่รู้เรื่อง เหมือนคนเดินทางถ้าจำทางไม่ได้ก็จะไปไม่ถูก กลับบ้านไม่ถูก อะไรทำนองนั้น
วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรมนั้นสิ่งที่ต้องท่องจำ เช่น อตฺตานํ นาติวตฺเตยฺย.บุคคลไม่ควรลืมตน อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย อปฺปมตฺตา น มียนฺติ ผู้ไม่ประมาท ย่อมไม่ตาย กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว น หิ สาธุ โกโธ ความโกรธไม่ดีเลย อกฺโกเธน ชิเน โกธํ.พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ อสาธุ สาธุนา ชิเน พึงชนะคนไม่ดี ด้วยความดี ชิเน กทริยํ ทาเนน.พึงชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ สจฺเจนาลิกวาทินํ พึงชนะคนพูดปด ด้วยคำจริง วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ การเลือกให้ อันพระสุคตทรงสรรเสริญ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว นำสุขมาให้ ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจาริ ธรรมแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เย ปมตฺตา ยถา มตา ผู้ประมาทแล้ว เหมือนคนตายแล้ว ทุกฺโข พาเลหิ สงฺคโม สมาคมกับคนพาล นำทุกข์มาให้.” อย่างนี้เป็นต้น พุทธภาษิตเหล่านี้ท่องจำได้มากยิ่งดี
วิชาพุทธประวัติ มีประเด็นที่จะต้องจดจำให้แม่นมั่นคือสักกชนบท และ ศากยวงศ์ ชื่อนครกบิลพัสดุ์ และเทวทหะ อันเป็นเมืองพี่เมืองน้องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า นามบุคคลสำคัญทางฝ่ายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ เช่น สีหหนุ สุทโธทนะ เป็นต้น จำวันประสูติ สถานที่บำเพ็ญความเพียร ชื่ออาจารย์ ชื่อปัญจวัคคีย์ วันและสถานที่ตรัสรู้ ตรัสรู้ การแสดงปฐมเทศนา ที่ใด เมื่อไร วันวิสาขบูชาอาสาฬหบูชา มาฆบูชา ชื่อพระอัครสาวก สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน และปฐมสังคายนาย เป็นต้น สำคัญคือต้องจำเรื่องราว ลำดับความให้ดี
วิชาธรรมวิภาค วิชานี้นักเรียนต้องท่องจำให้มากโดยเริ่มตั้งแต่หมวด ๒ ไปจนจบ คิหิปฏิบัติ เช่น ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง ๑. สติ ความระลึกได้ ๒ . สัมปชัญญะ ความรู้ตัว. ธรรมเป็นโลกบาล คือคุ้มครองโลก ๒ อย่าง ๑. หิริ ความละอายแก่ใจ ๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัว ธรรมอันทำให้งาม ๒ อย่าง ๑. ขันติ ความอดทน ๒. โสรัจจะ ความเสงี่ยม บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง ๑. บุพพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน ๒. กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และตอบแทน เป็นต้น ท่องจำตัวบทคือหัวข้อนี้ไว้ให้แม่นยำ คำอธิบายไม่ต้องท่อง เพียงแต่ทำความเข้าใจก็พอแล้ว
วิชาวินัย นักเรียนต้องท่องจำให้แม่นยำเริ่มตั้งแต่ “อนุศาสน์ ๘ อย่าง นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกนิสสัย มี ๔ อย่าง คือ เที่ยวบิณฑบาต ๑ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ๑ อยู่โคนไม้ ๑ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๑ กิจที่ไม่ควรทำ เรียกอกรณียกิจ มี ๔ อย่าง คือ เสพเมถุน ๑ ลักของเขา ๑ ฆ่าสัตว์ ๑ พูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน ๑ กิจ ๔ อย่างนี้ บรรพชิตทำไม่ได้ สิกขาของภิกษุมี ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ความสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย ชื่อว่า ศีล ความรักษาใจมั่น ชื่อว่าสมาธิ ความรอบรู้ในกองสังขาร ชื่อว่าปัญญา อาบัตินั้นว่าโดยชื่อ มี ๗ อย่าง โทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม เรียกว่า อาบัติ อาบัตินั้นว่าโดยชื่อ มี ๗ อย่าง คือ ปาราชิก ๑ สังฆาทิเสส ๑ ถุลลัจจัย ๑ ปาจิตตีย์ ๑ ปาฏิเทสนียะ ๑ ทุกกฎ ๑ ทุพภาสิต ๑” แล้วท่องจำศีล ๒๒๗ ข้อตั้งแต่ปาราชิก ๔ ไปจนจบเสขิยวัตร
จบการปฐมนิเทศ นักเรียนหลายองค์บอกว่าไม่มีหนังสือแบบเรียน ข้าพเจ้าจึงแจ้งโยมมหากระจ่าง ลพเกิด ทนายสันต์ อัมพวะศิริ ทนายพร สุทธิประดิษฐ์ ให้ท่านทราบ ผู้อุปถัมภ์ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็ได้เงินไปซื้อหนังสือแบบเรียนนักธรรมชั้นตรีจากร้านโยมหาเลื่อน อินทรโชติ (โรงพิมพ์สกุลไทย) มาถวายพระเณรนักเรียนได้ครบถ้วน ข้าพเจ้าเริ่มให้มีการสอนวันแรกด้วยวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม วันที่ ๒ วิชาพุทธประวัติ วันที่ ๓ วิชาธรรมวิภาค วันที่ ๔ วิชาวินัย จบแล้วเริ่มต้นใหม่ เวียนไปอย่างนี้ เพื่อมิให้นักเรียนเบื่อหน้าผู้สอนและวิชาที่เรียน /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๖๗ - การเรียนการสอนนักธรรมชั้นตรีเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เพราะว่านักเรียนในห้องเดียวกันมีพื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน บางคนเรียนทางโลกมาไม่จบชั้น ป.๔ อ่านออกเขียนได้ในระดับ “งู ๆ ปลา ๆ” บางคนเรียนจบชั้นประถมศึกษา บางคนจบชั้นมัธยมศึกษา บางคนอยู่ในเมือง บางคนมาจากชนบท สำเนียงภาษาพูดไม่เหมือนกัน เมื่อมาเรียนร่วมกันก็ทำให้ครูผู้สอนยุ่งยากในการใช้สำนวนภาษาธรรมวินัยสอนพวกเขา คนที่มีการศึกษาสูงหน่อยพูดไปเขาเข้าใจง่าย คนพื้นฐานการเรียนต่ำไม่เข้าใจ ต้องจ้ำจี้จ้ำใจอธิบายซ้ำซากจนคนที่มีพื้นฐานการศึกษาสูงกว่าเกิดความหงุดหงิดรำคาญ ครูอาจารย์ต้องพยายามหาทางประนีประนอมให้พวกเขาเรียนร่วมกันได้เป็นอย่างดี
พระองค์หนึ่งอายุใกล้ ๔๐ ปีแล้ว บวชเมื่ออายุ ๓๐ ปีเศษ ชื่อพระหลา เป็นคนซื่อจนค่อนไปข้างเซ่อ ข้าพเจ้ามอบหมายให้คอยปฏิบัติดูแลรับใช้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ ท่านสมัครเข้าเรียนนักธรรมชั้นตรีด้วย พื้นฐานการเรียนทางโลกท่านต่ำอยู่ในขั้นพออ่านออกเขียนได้เท่านั้น ความป้ำ ๆ เป๋อ ๆ เซ่อซ่าของท่านสร้างความขบขันแก่นักเรียนในห้องเสมอมา อายุพระหลามากกว่าข้าพเจ้าสิบกว่าปีจึงต้องเรียกท่านว่า “หลวงพี่” ตามวัฒนธรรมประเพณีไทย มิใช่หลวงพี่หลาพูดสำเนียงภาษาสุโขทัยเท่านั้น แม้แต่การเขียนหนังสือของท่านก็เขียนตามสำเนียงสุโขทัยและเขียนสะกดการันต์ใส่วรรณยุกต์ไม่ถูกต้องด้วย อาจารย์บุญมี พระมหาคำสิงห์ พระไพฑูรย์ ดุท่านเรื่องการเขียนหนังสือเป็นประจำ แต่ข้าพเจ้าไม่ดุเพราะสงสารและเห็นใจท่าน นึกย้อนไปถึงสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นสามเณรบ้านป่าขาดอน เขียนหนังสือลายมือเหมือนไก่เขี่ย สะกดการันต์ไม่ถูกต้อง สอบนักธรรมชั้นตรีครั้งแรกตกไม่เป็นท่าเลย ดังนั้นเมื่อเห็นหลวงพี่หลาเขียนหนังสือผิดก็จะสอนท่านทุกครั้งไป แม้จะผิดซ้ำซากก็ทนสอนซ้ำซาก หลวงพี่หลาจึงรักและนับถือข้าพเจ้ามาก
วันหนึ่งเป็นวิชาวินัย เจ้าอธิการบุญมีเข้าสอนเป็นปกติ หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเรียกพระสมุห์แถวเลขาฯ เจ้าคณะจังหวัดและข้าพเจ้าไปนั่งปรึกษางานคณะสงฆ์ที่ห้องพักของท่านซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องเรียนนั้นเอง ขณะปรึกษาหาทางออกคดีพระผู้ใหญ่สองรูปที่ค้างคาอยู่ตั้งแต่เจ้าคณะจังหวัดองค์ก่อน ได้ยินเสียงเจ้าอธิการบุญมีเอะอะโวยวายด่าว่าหลวงพี่หลาดังออกมาจากห้องเรียน หลวงพ่อเจ้าคุณบอกให้ข้าพเจ้าเข้าไปดู เห็นหลวงพี่หล้านั่งก้มหน้านิ่งอยู่ ถามอาจารย์บุญมีได้ความว่า หลวงพี่หลาเขียนหนังสือตอบคำถามอ่านไม่รู้เรื่อง จึงขอดูสมุดตอบปัญหาวินัย ที่ถามว่า สเตกิจฉา อเตกิจฉา คืออะไร อธิบาย หลวงพี่หลาเขียนตอบว่า
“ซะเตกี๊ดฉ่า อาบั๊ดที๋แก๊ไข่ได๋ อ๊ะเตกั๊ดฉ่า อาบั๊ดที๋แก๊ไข่ไม๊ได๋ ซะเตกี๊ดฉ่าได๋แก๋สั่งคาทิเส๊ด ปาจี๊ดตี เป็นต๋น อะเตกี๊ดฉ่า ได๋แก๋อาบั๊ดปาลาชิก.....”
ข้าพเจ้าอ่านไปหัวเราะไป อ่านไม่จบ บอกอาจารย์บุญมีว่า หลวงพี่หลาก็ตอบถูกความแล้วนี่ครับ
“ถูกบ้าบออะไรผมอ่านไม่รู้เรื่องเลย” อาจารย์บุญมีว่างั้น
ข้าพเจ้าก็บอกให้หลวงพี่หลาอ่านความที่ท่านเขียนตอบนั้น ให้ฟัง ท่านก็อ่านในสำเนียงสุโขทัย
อาจารย์บุญมีฟังแล้วยิ้มออกมาได้ ร้อง “เออ ถูกแล้ว แกต้องเขียนภาษาไทยกลางซี่ เขียนอย่างนี้ต่อให้สอบเป็นร้อยครั้งก็ไม่ได้”
ข้าพเจ้าออกจากห้องเรียนกลับไปเล่าให้หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณฟัง ท่านหัวอย่างขำขันเสียเต็มประดา
มีพระหนุ่มองค์หนึ่งชื่อสมยศ เป็นลูกคนเดียวของหญิงม่าย บ้านเนินกระชายอำเภอกงไกรลาศเขตติดต่ออำเภอเมืองสุโขทัย ตั้งใจมาบวชเพื่อเรียนนักธรรมโดยเฉพาะ เขาเคยเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ เรียนแก้และประกอบเครื่องรับวิทยุย่านปากคลองตลาด และทำงานเป็นลูกจ้างอยู่กรุงเทพฯ จนอายุครบบวชจึงกลับบ้าน แม่ของเขาเป็นคนเข้าทำบุญประจำที่วัดราชธานี จึงนำมาฝากหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเพื่อบวชเรียน ข้าพเจ้าเป็นพระอนุสาวนาจารย์ในวันบวช เมื่อบวชแล้วเขาขออยู่กุฏิเดียวกับข้าพเจ้าเพื่อปฏิบัติดูแลอาจารย์อย่างใกล้ชิด ชั้นบนกุฏิสกลพลากรที่ข้าพเจ้าครองอยู่นั้น แบ่งที่นอนเป็น ๓ ส่วน คือข้าพเจ้านอนอยู่ส่วนริมด้านตะวันตก ตรงกลางพระสมยศนอน ริมด้านตะวันออกพระไพฑูรย์นอน ส่วนชั้นล่างมีสามเณรอยู่ ๔ องค์
ทุกเช้าพระเณรนักเรียนจะต้องตื่นแต่มืด ท่องและทวนหนังสือแบบเรียนนักธรรมก่อนออกเดินบิณฑบาตยามได้อรุณ พระสมยศตื่นแล้วลุกเก็บที่นอนลงไปนั่งท่องหนังสือกับเณรที่ชั้นล่างบ้าง ที่ใต้ซุ้มกระดังงาริมบ่อปลาบ้าง พอข้าพเจ้าตื่นลุกจากที่นอนลงไปเข้าห้องน้ำชั้นล่างด้านหลังของกุฏิ พระสมยศจะรีบขึ้นชั้นบนเก็บมุ้งและที่นอนของข้าพเจ้าไว้เรียบร้อย เอาบาตรของข้าพเจ้ามาเตรียมไว้ ได้เวลาออกเดินบิณฑบาตเขาส่งบาตรให้ข้าพเจ้า แล้วอุ้มบาตรของตัวเองเดินตามหลังในแถวข้าพเจ้าไป ตอนค่ำลงเขาจะปูที่นอนและกางมุ้งที่นอนให้ข้าพเจ้า ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน
พระสมยศมีความขยันหมั่นเพียรในการเรียนมากกว่านักเรียนทุกองค์ เขาท่องหนังสือแบบเรียนนวโกวาทใกล้จะจบเล่มแล้ว ภายหลังมีพระเก่าในวัดบางองค์แนะนำให้ท่องบทสวดมนต์ในหนังสือเจ็ดตำนานให้ได้มาก ๆ เพื่อจะได้รับนิมนต์ไปสวดมนต์ตามงานต่าง ๆ อย่างพวกเขาบ้าง ข้าพเจ้าเห็นเขาท่องสวดมนต์เจ็ดตำนานก็ถามเย้าหยอกเขาว่า คิดจะหากินทางสวดมนต์เหรอ เขาปฏิเสธ จึงให้ข้อคิดแก่เขาว่า บทสวดมนต์ไม่เหมาะแก่การเรียนนักธรรม ท่องสวดมนต์ได้มากก็ไม่เป็นความรู้เรื่องพระธรรมวินัย เหมาะสำหรับพวกศรัทธาจริตที่ยึดมั่นถือมั่นในศีลพรตงมงายในเรื่องไสยศาสตร์ ไม่ใช่แนวทางพุทธ ส่วนบทแบบเรียนนักธรรมเป็นตัวบทพระธรรมวินัยอันเป็นพุทธวจนะโดยตรง เมื่อท่องจำตัวบทได้ตีความตัวบทแตกแล้วสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งยามเป็นพระและฆราวาส เขาเชื่อฟังข้าพเจ้าแล้วหันมาท่องแบบเรียนอย่างจริงจังต่อไป/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
หลวงพ่อบาง (พระครูประศาสน์พุทธิคุณ) เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๖๘ - มีคดีทางการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยค้างคาจากเจ้าคณะจังหวัดองค์ก่อนรอการชำระอยู่ ๒ เรื่อง ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ที่หนักหนาสาหัสมาก กล่าวคือมีพระครูเจ้าคณะตำบลองค์หนึ่งถูกกล่าวหายักยอกฉ้อโกงทรัพย์ องค์หนึ่งเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะอำเภอถูกกล่าวหาเป็นปฐมปาราชิก ทั้งสองท่านนี้ถูกพักตำแหน่งไว้ในระหว่างที่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง คณะกรรมการสอบสวนกันอย่างยืดเยื้อยาวนาน จนกรรมการบางองค์มรณภาพไปแล้วบ้าง ลาสิกขาไปบ้าง คดีทั้งสองท่านนั้นยังหาข้อยุติไม่ได้ ตำแน่งเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอจึงว่างลงโดยปริยาย ครั้นเปลี่ยนเจ้าคณะจังหวัดใหม่ พระอดีตเจ้าคณะตำบล อดีตเจ้าคณะอำเภอ จึงร้องเรียนขอให้รื้อฟื้นคดีใหม่ หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเรียกทนายความที่รับใช้งานอยู่คือ ทนายกระจ่าง ลพเกิด (อดีตพระมหาเปรียญ ๕ ประโยค) ทนายสันต์ (บุญมี) อัมพวะศิริ ทนายบุญธรรม (พร) สุทธิประดิษฐ์ มาปรึกษาหารือทางด้านคดีความตามกฎหมายทางบ้านเมือง พระครูสุขวโรทัย (ห้อม) รองเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย พระครูสุภัทรธีรคุณ (ดำรงค์) เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย และข้าพเจ้า ปรึกษาหารือในด้านพระธรรมวินัยและกฎหมาย (พรบ.) คณะสงฆ์ ด้วยหมายจะให้คคีนี้สิ้นสุดลงเสียที
คดีแรกพระครูประศาสน์พุทธิคุณ (บาง) วัดคุ้งวารี ต.ย่านยาว อ.สวรรคโลก ในขณะที่เกิดคดีท่านเป็นเจ้าคณะตำบลเมืองบางขลัง ยามนั้นวัดคลองแห้งตั้งอยู่หมู่ ๑ ตำบลเมืองบางคลังที่ท่านปกครองดูแลอยู่มีสภาพทรุดโทรม ท่านจึงเข้าไปบูรณะบำรุงดำเนินการก่อสร้างโรงอุโบสถขึ้น ในการนี้ท่านได้สร้างวัตถุมงคลเพื่อหาเงินมาเป็นทุนก่อสร้าง ภายหลังเกิดการขัดแย้งกับเจ้าอาวาสจนถึงกับมีการฟ้องร้องกันขึ้น เจ้าอาวาสกล่าวหาว่าท่านยักยอกเงินของวัดคลองแห้งไป ทางเจ้าคณะจังหวัด (พระสวรรควรนายก) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและสั่งพักงานในตำแหน่งเจ้าคณะตำบลของท่านไว้ คณะสงฆ์ที่เป็นกรรมการสอบท่านตัดสินให้ท่านเป็นฝ่ายผิด ท่านไม่ยอมรับ เรื่องคาราคาซังอยู่หลายปีจนเปลี่ยนเจ้าคณะจังหวัดองค์ใหม่ เจ้าอาวาสวัดคลองแห้งได้เข้าร้องเรียนเจ้าคณะจังหวัดองค์ใหม่ให้บังคับพระครูประศาสน์พุทธิคุณยอมรับผิด เป็นคดีแรกที่หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเรียกประชุมปรึกษาหารือกัน พวกเราอ่านสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการชุดเก่าแล้ว เห็นว่าการสอบสวนยังไม่รอบด้าน มีจุดบกพร่องหลายอย่าง คณะที่ปรึกษาจึงมอบหมายให้ข้าพเจ้าไปดำเนินการรวบรวมข้อมูลมาให้มากที่สุดเพื่อร่วมกันพิจารณาดำเนินการต่อไป
ข้าพเจ้าเป็นพระเด็กไม่มีใครรู้จัก ทนายสันต์บอกว่าเหมาะมาก หากให้ไปสืบเสาะหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ที่วัดคลองแห้ง การเดินทางไปวัดคลองแห้งสมัยนั้นเป็นเรื่องลำบากมาก เพราะไม่ทีถนน ไม่มีรถยนต์ ต้องเดินเท้าลัดทุ่งจากสวรรคโลกไปบางขลัง ออกเดินทางแต่เที่ยงวันไปถึงวัดคลองแห้งจนเวลาใกล้ค่ำ ที่วัดมีพระองค์เดียวคือองค์ที่เป็นเจ้าอาวาสกับสามเณรองค์หนึ่ง เด็กวัดอีกสองสามคน เจ้าอาวาสชื่อ ปทุม อายุ ๔๐ เศษ เป็นคนผิวคล้ำร่างเตี้ยล่ำสันบึกบึน ข้าพเจ้าบอกท่านว่ามาเที่ยวดูบ้านดูเมือง ไม่พูดถึงเรื่องที่มาสืบหาข้อมูลเลย คืนนั้นนอนในกุฏิว่างหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย
รุ่งขึ้นหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว ข้าพเจ้าไปเที่ยวเดินดูรอบ ๆ วัดและอุโบสถที่ยังสร้างไม่เสร็จ กลับขึ้นกุฏิพบญาติโยมหลายคนมานั่งคุยอยู่กับพระอาจารย์ปทุม จึงนั่งร่วมวงสนทนากับเขาด้วย พูดเปรย ๆ ว่า วัดนี้อาณาบริเวณกว้างขวางดีจังเลยนะ เสียดายเสนาสนสงฆ์ดูทรุดโทรมคร่ำคร่าไปหน่อย โยมผู้ชายคนหนึ่งบอกว่า
“ชาวบ้านที่นี่ฐานะยากจนครับ ทำนาได้ข้าวไม่พอขาย หาเงินสร้างวัดก็ยาก ท่านก็เห็นแล้ว่าโบสถ์เราสร้างคาราคาซังไว้หลายปีแล้ว”
พอโยมชายพูดอย่างนั้นก็เข้าทางข้าพเจ้าเลย “อ้อ... ดูท่าโบสถ์หลังนี้หากสร้างเสร็จคงสวยงามมากเลยโยม”
พระอาจารย์ปทุมกล่าวโพล่งขึ้นมาว่า “ ถ้ามหาบาง (พระครูประศาสน์พุทธิคุณ) ไม่เชิดเงินไปป่านนี้ก็เสร็จไปแล้ว”
ข้าพเจ้าแสร้งทำเป็นไม่รู้เรื่องมาก่อน “อ้าว...มหาบางเป็นใคร มาเอาเงินวัดนี้ไปได้อย่างไรล่ะ”
คราวนั้นทั้งพระอาจารย์ปทุมและโยมทั้งหลายก็กล่าวถึงเรื่องการสร้างโบสถ์คาราคาซังหลังนี้เป็นฉาก ๆ
พระอาจารย์ปทุมนำเอกสารมาให้ดูมากมาย ข้าพเจ้าก็ซักไซ้ไล่เลียงตั้งแต่ต้นที่พระครูประศาสน์พุทธิคุณเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นประธานสร้างอุโบสถจนถึงจัดทำวัตถุมงคลเหรียญรูปของท่านให้ประชาชนเช่าบูชารวบรวมเงินเป็นทุนก่อสร้างโบสถ์ ครั้นเกิดความขัดแย้งกับสมภารและกรรมการวัด ท่านไม่พอใจจึงนำวัตถุมงคลที่สร้างขึ้นทั้งหมดไปไว้ที่วัดคุ้งวารีของท่าน การสร้างโบสถ์ก็หยุดชะงักแต่นั้นมา ได้ความอีกว่า เงินลงทุนในการสร้างวัตถุมงคลนั้น พระครูประศาสน์ฯ เป็นคนออกสำรองทั้งหมด ข้าพเจ้ากล่าวกับพวกเขาว่าพระครูบางทำไม่ถูก ขอเอกสารบางอย่างไปเป็นหลักฐานร้องเรียนเจ้าคณะจังหวัดต่อไป
อยู่วัดคลองแห้ง ๔ วันเพื่อเก็บข้อมูลจากชาวบ้านจนเป็นที่พอใจแล้ว ข้าพเจ้าก็กลับวัดราชธานี นำเรื่องที่ได้ไปประสบพบมาและเอกสารบางอย่างมอบให้คณะที่ปรึกษาหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ ทนายสันต์ชมว่าข้าพเจ้าทำงานได้รอบคอบรัดกุมดีมาก แล้วเราก็ถกกันในประเด็นที่ว่า พระครูประศาสน์ฯ นำวัตถุมงคลและเงินค่าวัตถุมงคลจากวัดคลองแห้งมาไว้วัดคุ้งวารี ถือว่าท่านยักยอก ฉ้อโกง ขโมย ชิงทรัพย์ เป็นอาบัติปาราชิกตามคำฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ได้คือ พระครูประศาสน์ฯ เป็นผู้ออกเงินทุนทำวัตถุมงคลเองทั้งหมด เพียงแต่ใช้สถานที่และชื่อวัดคลองแห้งเท่านั้น ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า วัตถุมงคลและเงินที่ได้จากการเช่าซื้อวัตถุมงคลนั้น ควรเป็นของพระครูประศาสน์ฯ โดยชอบธรรม จึงไม่ควรปรับอาบัติปาราชิก
หลังจากมีคำตัดสินออกมาว่าพระครูประศาสน์ฯ ไม่ผิด จึงมีคำสั่งให้กลับเข้าตำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลตามเดิม ข้าพเจ้านำคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดไปมอบให้พระครูประศาสน์ฯ ที่วัดคุ้งวารี และขอร้องให้ท่านกลับไปดำเนินการก่อสร้างอุโบสถวัดคลองแห้ง นำวัตถุมงคลและเงินรายได้ทั้งหมดไปไว้ที่วัดคลองแห้ง ท่านยอมทำตามคำขอของข้าพเจ้า จึงเป็นที่พอใจของสมภารและคณะกรรมการวัดคลองแห้ง เมื่อทั้งสองฝ่ายปรองดองกันได้แล้ว งานนี้ก็เสร็จสิ้นไปด้วยดี/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๖๙ - วันสารทไทยปีนั้น ทางวัดราชธานีจัดให้มีเทศน์เรื่องมาลัยสูตรเทศนา ๓ ธรรมาสน์ โดย พระวัดราชธานี ๒ องค์คือ พระเจ้าอธิการบุญมี กับข้าพเจ้า นิมนต์มาจากวัดคูหรสุวรรณ ๑ องค์ คือพระใบฎีการวง ก่อนขึ้นธรรมาสน์เทศน์เราคุยตกลงกันว่า เจ้าอธิการบุญมีรับตำแหน่งเป็นพระมาลัย เพราะท่านมีอาวุโสสูงสุด ข้าพเจ้ารับตำแหน่งเป็นพญายมราชและพระอินทร์ พระใบฎีการวงรับตำแหน่งเป็นพระศรีอาริย์โพธิสัตว์และกระทาชายที่ถวายดอกบัวแก่พระมาลัย หลวงพี่พระครูสมุห์แถวเตือนข้าพเจ้าล่วงหน้าว่าอาจารย์บุญมีชอบเทศน์ข่มคู่เทศน์ ควรระวังไว้ให้ดี ข้าพเจ้าจึงโน้ตย่อชื่อนรกขุมใหญ่และบริวาร กับชื่อวสี ๕ ใส่กระดาษซ่อนในหลืบสังฆาฏิขึ้นไปบนธรรมาสน์ด้วย เพราะจำชื่อได้ไม่แม่นยำนัก เผื่ออาจารย์บุญมีถามก็จะตอบได้ถูกต้องทั้งหมด
ตามปกติการเทศน์กลางคืนพระจะเริ่มขึ้นธรรมาสน์ตอนสองทุ่ม แต่วันนั้นพวกเราขึ้นธรรมาสน์กันตั้งแต่เวลาทุ่มครึ่ง โยมสุข พลาวงศ์ หัวหน้าทายกบอกว่าวันนี้มีคนมาฟังเทศน์มากและพร้อมเพรียงกันแล้ว ขอนิมนต์พระเทศน์ขึ้นเทศน์ก่อนสองทุ่มเลยเถอะ พวกเราก็ตามใจโยม เมื่อหัวหน้าทายกจุดเทียนบูชาธรรม และอาราธนาธรรมจบ พระใบฎีการวงก็เริ่มเทศน์อานิสงส์หน้าธรรมาสน์ แล้วสมมุติตัวแสดงตามธรรมเนียม เจ้าอธิการบุญมีผู้รับตำแหน่งพระมาลัยก็ดำเนินเรื่องตามประวัติพระมาลัยเถระ ว่าจะลงไปโปรดสัตว์นรก นำข่าวจากนรกขึ้นมาบอกเล่าให้ชาวโลกมนุษย์ทราบ และขึ้นไปบนสวรรค์ นำข่าวจากสวรรค์ลงมาบอกชาวบ้าน มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับพระโมคคัลาน์ วันนั้นพระมาลัยลงไปโปรดสัตว์นรก และพบสนทนาธรรมกับพญายมราช
ข้าพเจ้าผู้รับหน้าที่เป็นพญายมก็กล่าวทักทายตามธรรมเนียมว่า ท่านเป็นใครมาจากไหน มาทำไมในนรกนี้ ในบทปฏิสันถารคือการต้อนรับนี้ โดยปกติที่พระนักเทศน์รุ่นครูอาจารย์ท่านใช้เล่นกันเป็นที่สนุก คือเมื่อพญายมถามดังกล่าวข้างต้น พระมาลัยจะตอบว่าชื่อพระมาลัย จะมาโปรดสัตว์นรก พญายมจะร้อง อ้อ.. นึกว่าจะมาให้ตัดสินคดี แล้วก็หยอกล้อกันก่อนจะเข้าเรื่อง แต่เทศน์วันนั้นพระอาจารย์บุญมีท่านทื่อเกินไป ไม่มีลูกเล่นอะไรเลย ข้าพเจ้าพยายามให้ท่านเล่นนอกเรื่อง ท่านก็ไม่ยอม มิหนำซ้ำยังว่าข้าพเจ้าเป็นนักเทศน์วิทยุอะไรไม่เข้าท่าเสียเลย มาถามนอกเรื่องไม่สมภูมินักเทศน์วิทยุ แล้วท่านก็พล่ามของท่านไปโดยไม่ยอมฟังเสียงข้าพเจ้า จนโยมริ้วแม่ครัวของวัดทนไม่ได้ ลุกขึ้นไปยืนตรงหน้าบันไดธรรมาสน์ส่งเสียงตะโกนว่า “หลวงตามีหยุดก่อน ๆๆ ให้ท่านมหาองค์โน่นเทศน์บ้าง” นั่นแหละท่านจึงหยุดพูด
ข้าพเจ้าจึงรู้ละว่าพระอาจารย์บุญมีอยากเทศน์ทางวิทยุเหมือนข้าพเจ้าบ้าง เมื่อถูกโยมริ้วห้ามอย่างนั้นท่านได้สติ หันมาเข้าเรื่องถามว่า นรกมีเท่าไร อะไรบ้าง ถามตามแบบเรียนนักธรรมเลย ข้าพเจ้าจึงตอบว่า ตั้งใจจะมาถามเพียงเท่านี้เอง ไม่คิดจะสนทนาปราศรัยอะไรกับโยมบ้างเลยหรือ เอาเถอะไม่คุยก็ไม่เป็นไร ฟังและจำไว้ให้ดีนะครับพระคุณเจ้า นรกในปกครองดูแลของโยมน่ะ ที่จัดเป็นขุมใหญ่มีทั้งหมด ๘ ขุม มีบริวารขุมละ ๔ รวมเป็น ๑๖ ขุม จะเอาชื่อนรกทั้งหมดก็ได้ โยมจะบอกให้ดังต่อไปนี้ นรกขุมใหญ่ คือ ๑. สัญชีวะ แปลว่า คืนชีวิตขึ้นเอง คือ สัตว์นรกในขุมนี้ถูกตัดเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่ แล้วก็กลับคืนชีวิตขึ้นมาเองอีก รับการทรมานอยู่ร่ำไป ๒. กาฬสุตตะ แปลว่า เส้นดำ คือสัตว์นรกในขุมนี้ถูกขีดเป็นเส้นดำที่ร่างกาย เหมือนอย่างตีเส้นที่ต้นซุงเพื่อจะเลื่อย แล้วถูกผ่าด้วยขวานเป็น ๘ เสี่ยง ๑๖ เสี่ยง. ๓. สังฆาฏะ แปลว่า กระทบกัน คือ มีภูเขาเหล็กคราวละ ๒ ลูก จากทิศที่ตรงกันข้าม เลื่อนเข้ามากระทบกันเอง บดสัตว์นรกให้ร่างแหลกละเอียดจาก ๔ ทิศ ก็เป็นภูเขา ๔ ลูกเลื่อนเข้ามากระทบกันตลอดเวลา, ๔. โรรุวะ แปลว่า ร้องครวญคราง คือ มีเปลวไฟเข้าไปทางทวารทั้ง ๙ เผาไหม้ในสรีระ จึงร้องครวญครางเพราะเปลวไฟ (ชาลโรรุวะ) บางพวกถูกหมอกควันด่าง (กรด) เข้าไปละลายสรีระ จนละเอียดเหมือนแป้ง จึงร้องครวญครางเพราะหมอกควัน (ธูมโรรุวะ), ๕. มหาโรรุวะ แปลว่า ร้องครวญครางมาก คือเป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าขุม ๔, ๖. ตาปนะ แปลว่า ร้อน ได้แก่ให้นั่งเสียบตรึงไว้ด้วยหลาวเหล็กบนแผ่นดินเหล็กแดงลุกเป็นไฟร้อนแรง บ้างก็ถูกต้อนขึ้นไปบนภูเขาเหล็กแดงเป็นไฟลุกโพลง ถูกพัดตกลงมาถูกเสียบด้วยหลาวเหล็กที่โผล่ขึ้นมาจากแผ่นดินเหล็กแดง, ๗. ปตาปนะ แปลว่า ร้อนสูงมาก คือ เป็นที่ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าตาปนะ ๘. อวีจิ แปลว่า ไม่มีระหว่าง คือ ไม่เว้นว่าง บางทีเรียก มหาอวีจิ แปลว่า อเวจีใหญ่ เปลวไฟนรกในนรกขุมนี้ลุกโพลงเต็มทั่วไปหมด ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง สัตว์นรกในขุมนี้ก็แน่นขนัดเหมือนยัดทะนาน ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง แต่ก็ไม่เบียดเสียดกันอย่างวัตถุ ต่างถูกไฟไหม้อยู่ที่เฉพาะตนๆ และความทุกข์ทรมานของสัตว์นรกขุมนี้ ก็บังเกิดขึ้นสืบเนื่องกันไป ไม่มีระหว่างหรือเว้นว่าง ฉะนั้น จึงเรียกว่า อวีจิ หรือ อเวจี ซึ่งมีคำแปลดังกล่าว เครื่องทรมานในนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุมนี้ มีเหล็ก เช่น พื้นแผ่นดินเหล็กและเครื่องอาวุธเหล็กต่างๆ มีไฟ คือ เหล็กนั่นแหละลุกเป็นไฟร้อนแรง มีภูเขาเหล็กที่กลิ้งมาบด และมีหมอกควันชนิดเป็นกรด หรือด่าง ในขุมนรกที่ ๑ และที่ ๒ มีนายนิรยบาล หรือยมบาล คือ ผู้รักษานรก เป็นผู้ทำการทรมานสัตว์นรกแต่นรกขุมที่ลึกลงไปกว่านั้น ในอรรถกถาสังกิจจชาดก กล่าวว่าไฟ เหล็ก เช่น เครื่องอาวุธต่าง ๆ เป็นต้น บังเกิดขึ้นทรมานสัตว์นรกเอง
นรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุม มีนรกเล็กบริวารใน ๔ ด้าน ด้านละ ๔ ขุม เป็น ๑๖ ขุม รวมนรกบริวารของนรกใหญ่ทั้ง ๘ ขุม ได้ ๑๒๘ ขุม รวมนรกใหญ่อีก ๘ ขุมเป็น ๑๓๖ ขุม นรกบริวารเหล่านี้มีชื่อบอกไว้ชัดเจนทุกขุม โยมขออนุญาตไม่บอกชื่อทั้งหมดให้เยิ่นเย้อยืดยาวไปหรอกนะ ขอให้พระคุณเจ้าจดจำชื่อแต่ขุมใหญ่ ๆ นำไปบอกชาวโลกให้รู้ไว้ เตือนพวกเขาว่าอย่าทำบาปจนตกลงมาอยู่ในนรกเหล่านี้เลย เอาละ นิมนต์พระคุณเจ้ากลับขึ้นไปเมืองมนุษย์เถิดขอรับ ข้าพเจ้าหมดสนุกก็เลยไล่พระอาจารย์บุญมีกลับไป ท่านก็เดินเรื่องกลับมนุษยโลก นำข่าวจากเมืองนรกขึ้นมาบอกแก่ชาวมนุษย์แล้วจะขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่อไปตามเรื่องนี้
พระอาจารย์บุญมีดำเนินเรื่องขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ระหว่างทางพบกระทาชายผู้ยากจนเที่ยวเก็บดอกบัวไปขาย รู้ว่าพระมาลัยจะไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงฝากดอกบัวขึ้นไปบูชาพระเขี้ยวแก้วในพระจุฬามณีเจดีย์ด้วย ตอนนี้ข้าพเจ้ามารับหน้าที่เป็นพระอินทร์ ครั้นพระมาลัยขึ้นไปพบพระอินทร์จึงทำการปฏิสันถารเช่นเดียวกับพญายมราชที่ต้อนรับพระมาลัย นิมนต์ให้พระเถระนั่งแล้ว กล่าวว่า
“ตั้งแต่โยมเป็นพระอินทร์สืบต่อจากสมพรเทพบุตรเป็นต้นมา เคยมีพระเถระขึ้นมาที่นี่องค์แรกคือพระมหาโมคคัลลานเถระ องค์ที่สองก็คือพระคุณเจ้านี้และ ขอเรียนถามว่าพระคุณเจ้าขึ้นมาได้อย่างไร“
อาจารย์บุญมีได้ฟังคำถามแล้วนิ่งอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง จึงถามย้ำว่า ตอบโยมได้ไหมว่าพระคุณเจ้าขึ้นมาได้อย่างไร สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ไกลจากโลกมนุษย์มากนะ พระคุณเจ้าต้องผ่านสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาขึ้นมาไกลโขเลยเชียว
ท่านตอบไม่ค่อยเต็มเสียงว่า “อาตมาเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสแล้วก็เหาะเหินเดินอากาศขึ้นมาบนสวรรค์ได้นะมหาบพิตร”
อ้อ อย่างนั้นเหรอ พระสารีบุตร พระโกณฑัญญะ พระมหากัสสปะ พระอุบาลี พระอานนนท์ พระอสีติมหาสาวกทั้งหลายนั้นเป็นพระอรหันต์ไหม”
ข้าพเจ้าถามลองเชิง ท่านก็ตอบว่า ล้วนเป็นพระอรหันต์ จึงถามแบบรุกฆาตว่า
“แล้วทำไมพระอรหันต์เหล่านั้นจึงไม่เห็นขึ้นมาบนสวรรค์ของโยมเลย ก็มีแต่พระมหาโมคคาลานะกับพระคุณเจ้าเท่านั้นเอง พระคุณเจ้าขึ้นมาได้ด้วยอะไรกันแน่”
ถูกคำถามนี้เข้า ท่านนั่งนิ่งงัน ข้าพเจ้ารู้แล้วว่าท่านตอบไม่ได้จึงสำทับไปว่า
“จนแต้มแล้วใช่ไหมอาจารย์ อย่างนี้ภาษาหมากรุกของโยมน้อยเรียกว่า จนกลางกระดาน” (ข้าพเจ้ากล่าวหยอกเย้าโดยพาดพิงคนช่วยงานวัดที่ชื่อน้อย ว่างงานก็นั่งเฝ้ากระดานหมากรุก) คนฟังที่รู้ความนัยก็หัวเราะกันคิกคัก
ครั้นท่านไม่ตอบข้าพเจ้าก็ถือโอกาสสำทับให้รู้จักหลาบจำว่า “เป็นนักเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา ไม่ควรคิดเอาชนะคะคานคู่เทศน์ ที่ควรคือมุ่งถามตอบกันให้ได้ความถูกต้องเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นสำคัญ อันที่จริงผมไม่ได้ตั้งใจถามให้อาจารย์จนคำตอบ คำถามนี้เป็นแบบเรียนนักธรรม อาจารย์เรียนผ่านมาแล้วคงจะลืม ไม่เป็นไรนะ ผมจะเฉลยเอง คือ พระที่จะเข้าฌานแล้วขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้นั้น จะต้องชำนาญในวสี ๕ ประการ คือ “๑. อาวัชชนวสี ความชำนาญในการนึกถึงปฐมฌานได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา ๒. สมาปัชชนวสี ความชำนาญในการเข้าฌาน คือให้ฌานจิตเกิดได้ ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา ๓. อธิษฐานวสี ความชำนาญในการให้ฌานจิตเกิดดับสืบต่อนานมากน้อย ณ สถานที่และขณะตามที่ปรารถนา ๔. วุฎฐานวสี ความชำนาญในการออกจากฌานได้ ณ สถานที่ และขณะตามที่ปรารถนา ๕. ปัจจเวกขณวสี ความชำนาญในการนึกถึงองค์ฌานแต่ละองค์ได้ ณ สถานที่และขณะ ตามที่ปรารถนา” พระอรหันต์องค์ใดได้ฌานและชำนาญในวสี ๕ ประการนี้ย่อมสามารถขึ้นสวรรค์ดาวดึงส์ได้ ดังเช่นพระมหาโมคคัลลานะ และพระมาลัย
เมื่อสำทับพระอาจารย์บุญมีแล้วก็แก้เก้อให้ท่านว่า
“เอาละ โยมไม่กล่าวอะไรมากกว่านี้ดอก โน่นพระศรีอาริย์โพธิสัตว์ลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว นิมนต์พระคุณเจ้าสนทนากับท่านตามสบายเถิด”
จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของพระใบฎีการวงในตำแหน่งพระศรีอาริย์สนทนากับพระมาลัย ฝากพระมาลัยให้บอกแก่ชาวมนุษย์ว่าหากอยากเกิดทันศาสนาพระศรีอาริยเมตไตยขอให้หมั่นทำบุญกุศลสั่งสมไว้ และให้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์ ๑ พันคาถา ให้จบในวันเดียว พระมาลัยก็รับปากพระศรีอาริย์โพธิสัตว์แล้วลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นำข่าวมาบอกลาวมนุษยโลก
หลังจบการเทศน์วันนั้น พระใบฎีการวงไปเที่ยวคุยกับเพื่อนพระทั่วไปว่า “ท่านนันท์เทศน์เก่งมากจำแบบแม่นยำ นรกขุมใหญ่ขุมเล็กมีเท่าไรบอกชื่อได้หมด และที่ร้ายกว่านั้นยังถามต้อนอาจารย์บุญมีจนคำตอบคาธรรมาสน์เลย” ข้าพเจ้าจึงกลายเป็นพระนักเทศน์ที่น่าเกรงขามในการเทศน์คู่เพราะข่าวการถามไล่อาจารย์บุญมีจนคำตอบคาธรรมาสน์นั่นเอง พระองค์นี้ปกติเป็นคนแม่นแบบ ชอบถามให้คู่เทศน์จนมาเสียนักต่อนักแล้ว ขนาดพระมหาแปดประโยคท่านยังถามเสียจนลงธรรมาสน์หนีไปเลย /๑๖๙
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๗๐ - มีเรื่องเหลือเชื่อเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง ถ้าท่านอ่านคำให้การของข้าพเจ้านี้มาทั้งแต่ต้นจนมาถึงตอนที่ข้าพเจ้าจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาพักอยู่วัดเสมอแครงอำเภอวังทอง คงจำได้ว่า พวกสาว ๆ ชาววังทองปรามาสข้าพเจ้าว่าจะต้อง “เอาบาตรมาทิ้งที่วังทอง” สาเหตุหนึ่งที่พวกเธอเชื่ออย่างนั้นเพราะเคยเดินลอดซุ้มต้นมะขามใหญ่ริมแม่น้ำวังทอง ข้าพเจ้าไม่เชื่อ จึงพาเพื่อน ๆ สี่องค์ไปจับมือกันเป็นวงโอบรอบลำต้นมะขามใหญ่นั้น เรื่องนี้ข้าพเจ้าลืมไปแล้วเพราะมีงานให้ทำที่สุโขทัยมากไปนั่นเอง
กลางพรรษาปีนั้น ครูน้อย ครูน้ำค้าง จากวังทองไปเยี่ยมเยียนข้าพเจ้าที่วัดราชธานี แจ้งข่าวร้ายสำหรับชาววังทองให้ข้าพเจ้าทราบพร้อมกล่าวโทษพวกข้าพเจ้า คือกล่าวหาว่าไปโอบรอบต้นมะขามใหญ่เมื่อปีที่แล้ว เป็นเหตุให้ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์สำคัญของชาวบ้านวังทองล้มลงไปแล้ว
ซักถามเธอก็ได้ความว่า
“เมื่อก่อนวันสารทนี้มีฝนตกใหญ่ ลมพายุพัดแรงต้นมะขามใหญ่ทนแรงลมไม่ไหวจึงโค่นล้มลง ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านวังทองหลายคนพากันร้องห่มร้องไห้ด้วยความเสียดาย บางคนก็กล่าวโทษหลวงพี่กับเพื่อนที่ไปโอบรอบต้นมะขาม ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์เสื่อมไปจนต้านลมฝนไม่ได้เหมือนก่อน ไม้ต้นนี้อยู่มานานเป็นร้อยปีไม่เคยเป็นไร พอหลวงพี่กับเพื่อน ๆ ไปโอบรอบแล้วจึงมีอันเป็นไป”
ฟังเธอบอกเล่าแล้วก็อึ้งอยู่
“หลวงพี่คงดีใจละซี ที่ไม่ต้องเอาบาตรไปทิ้งที่วังทอง เพราะต้นมะขามใหญ่ล้มลงไปแล้ว” ครูน้อยเธอว่างั้น
“เรื่องนี้โทษหลวงพี่ไม่ได้หรอกนะ ต้องโทษลมฝนนั่นแหละจ้ะ” ข้าเจ้าตอบแบบไม่เต็มเสียง
“หนูก็เชื่อว่า หลวงพี่นี่แหละคือตัวการณ์ที่ทำให้ต้นมะขามใหญ่ของเราล้มลง” ครูน้ำค้างเสริมครูน้อยอีกเสียงหนึ่ง
“แล้วหลวงพ่อพันธ์ว่าไงล่ะ” ข้าพเจ้าถามถึงพระครูประพันธ์ศีลคุณเพื่อเบี่ยงประเด็น
“หลวงพ่อท่านให้คนตัดรากตัดกิ่งมะขามไปไว้ที่วัด ส่วนต้นใหญ่ยังไม่เห็นมีใครจัดการอย่างไร” ครูน้อยตอบอู้อี้
“อ้อ งั้นก็ดีแล้ว กลับไปนี่น้อยไปหาหลวงพ่อพันธ์ขอรากมะขามมาให้หลวงพี่บ้างนะ” ข้าพเจ้าคิดว่าหลวงพ่อพันธ์คงเอารากและกิ่งมะขามไปทำอะไรทางสายไสยศาสตร์เป็นแน่ จึงคิดว่าจะขอรากมะขามมาแกะทำเป็นปลัดขิกบ้าง แต่ไม่ยอมบอกพวกเธอว่าจะเอารากมะขามใหญ่มาทำอะไร
# ในช่วงเวลานั้นปรากฏว่าพระสมภารเจ้าวัดต่าง ๆ หลายวัดไปมาหาสู่กับข้าพเจ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่นหลวงพี่มหาประคอง วัดคลองกระจง หลวงพี่มหาธวัธ วัดตระพังทอง หลวงพี่พระครูใบฎีกาประคอง วัดกำแพงงาม (บ้านกล้วย) เฉพาะมหาประคองกับมหาธวัชนั้น ข้าพเจ้าดูทางออกว่าท่านอยากจะขอร่วมเทศน์ในรายการวิทยุของข้าพเจ้า เพียงแต่ท่านยังไม่กล้าพูดขอเท่านั้นเอง แต่ถ้าพูดขอข้าพเจ้าก็จะบ่ายเบี่ยงเสีย เพราะรู้แนวทางเทศน์ของท่านแล้ว เห็นว่าไม่เหมาะที่จะเทศน์ในกำหนดเวลาที่จำกัดได้ เพราะท่านเป็นนักเทศน์ประเภท “ไม่รู้เวลา” เช่นเดียวกันกับเจ้าอธิการบุญมีนั่นแหละ การเทศน์ทางวิทยุนั้นต้องตั้งกำหนดเวลา คือไม่เทศน์เกินเวลาที่กำหนด พระบางองค์เทศน์ตามใจชอบ พูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง คือมีแต่น้ำไม่มีเนื้อ หรือที่เรียกว่า “ไร้สาระ” นั้นเอง ดังที่มีเรื่องเล่าว่า
“มีพระองค์หนึ่งเป็นนักเทศน์ประเภท ไม่รู้เวลา ท่านเป็นพระที่มีความรู้มาก ท่องจำแบบธรรมะได้แม่นยำจนสามารถนำไปเทศน์ปากเปล่าได้โดยไม่ต้องอ่านคัมภีร์ วันหนึ่งรับนิมนต์เทศน์ในงานศพ ซึ่งเขามีกำหนดการว่าจะต้องเผาศพในเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง พระองค์นั้นเริ่มเทศน์ตั้งแต่เวลาบ่ายโมง เวลาเทศน์ท่านนั่งหลับตาเพื่อให้มีสมาธิในการนำคำและความที่จำมาเทศน์นั้น การหลับตาเทศน์เป็นโทษของนักเทศน์ที่ร้ายแรง นักเทศน์ที่ดีต้องลืมตามองดูผู้ฟังโดยรอบ ให้รู้อากัปกิริยาผู้ฟังว่าพอใจไม่พอใจอย่างไร ถ้าเห็นว่าคนฟังพอใจก็ว่าเรื่อยไป หากเห็นว่าคนฟังไม่พอใจ จะเปลี่ยนแนวเทศน์หรือ “เอวัง” คือจบการเทศน์ก็แล้วแต่จะตัดสินใจ
วันนั้นพระเทศน์ท่านหลับตาว่าไปตามใจชอบ จนเวลาบ่าย ๓ โมงแล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ เจ้าภาพกระซิบปรึกษากันแล้วตกลงให้ยกศพออกจากศาลาไปตั้งที่เชิงตะกอนเรียบร้อย แล้วให้เด็กไปเคาะเสาศาลาดัง ๆ ท่านลืมตาขึ้นมองไม่เห็นคนฟังเลยสักคนจึงรู้สึกตัว กระแอมเสียงแล้วพูดว่า “แหม..โยมคนสุดท้ายจะไปแล้ว ส่งเสียงกระแอมสักคำก็ไม่ได้”
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ที่นักเทศน์รุ่นครูบาอาจารย์นำมาสอนพระรุ่นน้อง ๆ ให้จำไว้ว่า “เป็นนักเทศน์ต้องรู้เวลา” ให้ถือคำนี้เป็นจรรยาบรรณของนักเทศน์นักพูดเลยทีเดียว อาจารย์ของข้าพเจ้าย้ำเสมอว่า พระธรรมกถึก คือ ผู้กล่าวสอนธรรม ผู้แสดงธรรม นักเทศน์ จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการคือ
๑. แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ ๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ ๓ ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง ๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ ๕ ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น การเทศน์หรือการสอนนั้นให้ใช้รูปแบบการสอนครบทั้ง ๔ ประการได้แก่
๑. สันทัสสนา คือ การอธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง ๒. สมาทปนา คือ การชักจูงใจให้เห็นจริง ๓. สมุตเตชนา คือ การเร้าใจให้แกล้วกล้าบังเกิดกำลังใจ ๔ สัมปหังสนา คือ การชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง แบบที่ ๔. นี้ พระนักเทศน์นิยมใช้มากกว่าแบบอื่น เพราะง่ายกว่าแบบที่ ๑-๓ ที่ต้องใช้ศิลปะในการพูด ส่วนแบบที่ ๔ นี้จะใช้นิทานตลก คำพูดเป็นมุขตลก ให้คนฟังขำขันสนุกสนานรื่นเริง เช่นเรื่องที่เล่าว่า พระนั่งหลับตาเทศน์นั้นแล/๑๗๐
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๗๑ - วันสารทไทยผ่านพ้นไปแล้ว วัดราชธานีมีงานใหญ่ใกล้จะถึงงานหนึ่งคือเทโวโรหณะ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการจัดงานของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ ค่ำวันหนึ่งจึงพร้อมด้วยพระครูสมุห์แถวเลขาฯ เจ้าคณะจังหวัด เข้าไปนั่งปรึกษาหารือกับหลวงพ่อเจ้าคุณในการที่จะจัดงานเทโวฯ ข้าพเจ้าขอให้เปลี่ยนรูปแบบการแห่น้ำแห่บกที่เคยทำมาเสียเถิดเพราะเกิดประโยชน์น้อยนัก หลวงพ่อเจ้าคุณถามว่า
“แกจะให้ทำอย่างไรลองว่ามาซิ”
ข้าพเจ้าก็กล่าวถึงรูปแบบวิธีการที่คิดไว้ว่า ขบวนแห่ยังคงมีเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนมาจัดขบวนแห่กันในตลาดเมืองสุโขทัย โดยขอเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาชายหญิงจากโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม โรงเรียนอุดมดรุณี วิทยาลัยอาชีวะ แต่งตัวเป็นเทพบุตรเทพธิดา และเนรยิกสัตว์ เดินเป็นขบวนตามถนนสายสำคัญในตลาดธานี ให้ชาวบ้านเห็นภาพมนุษย์สวรรค์และนรกตามตำนาน “พระเจ้าเปิดโลก” ในวันเทโวฯ หลังขบวนแห่ก็เป็นพระภิกษุสามเณรอุ้มบาตรเดินรับบิณฑบาต ของที่ใส่บาตรให้งดอาหารคาวหวานเสีย ประกาศให้ประชาลนนำข้าวสารอาหารแห้งและผลไม้มาใส่บาตรกัน ส่วนอาหารคาวหวานที่ทำบุญกันตามปกตินั้น ให้นำสำหรับกับข้าวขึ้นศาลาการเปรียญ เมื่อกล่าวโครงงานดังนั้น หลวงพ่อเจ้าคุณค้านว่า
“ข้าไม่เห็นด้วย เพราะการแห่น้ำแห่บกเป็นประเพณีเก่าที่ทำกันมานานแล้ว”
จึงเรียนถามท่านว่า “ประเพณีนี้ใครเป็นคนคิดทำขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร”
ท่านก็ว่า “ข้าคิดทำมานานกว่าสามสิบปีแล้ว”
จึงถามท่านอีกว่า “ตามตำนานกล่าวว่า วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ที่ประตูเมืองสังกัสสนครนั้น ชาวเมืองถวายการต้อนรับพระพุทธองค์ด้วยการจัดขบวนแห่ทางน้ำทางบกหรือครับ”
ท่านนิ่งอึ้งไปครู่หนึ่งแล้วตอบว่า “ไม่มี”
จึงกล่าวต่อความอีกว่า “ประเพณีแห่น้ำแห่บกของหลวงพ่อเป็นการทำผิดตำนาน หลวงพ่อคิดทำขึ้นเองก็ควรจะแก้ไขเองนะครับ”
ท่านหันไปถามพระครูสมุห์แถวว่า “พระครูแถวว่าไงล่ะ”
พระครูสมุห์แถวก็ตอบว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอของข้าพเจ้า ท่านจึงตกลงให้เปลี่ยนรูปแบบตามทีเสนอไป และมอบหมายให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ด้วยเกรงว่าท่านจะเปลี่ยนใจจึงขอให้ท่านเขียนคำมอบอำนาจให้ข้าพเจ้าจัดงานเทโวฯ แทนท่าน โดยมีพระครูสมุห์แถวลงชื่อเป็นพยาน
ที่เกรงว่าท่านจะเปลี่ยนใจก็เพราะมีแผนจะเชิญข้าราชการผู้ใหญ่ของจังหวัดสุโขทัย อันมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกรมการจังหวัดเข้ามาร่วมเป็นกรรมการจัดงานนี้ หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณท่านไม่ชอบข้าราชการผู้ใหญ่ของจังหวัด โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด เพราะเคยทะเลาะกันถึงขั้นฟ้องร้องถึงขั้นโรงศาลมาแล้ว และบาดหมางกันเรื่อยมา แม้จะเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งไปหลายคนแล้วก็ตามทีเถิด
ปีนั้น พ่อเมืองเชื่อม ศิริสนธิ เกษียณอายุราชการแล้วทางการได้แต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่มาแทน ชื่อ สมาส อมาตยกุล แต่ปลัดจังหวัดยังเป็นคนเดิม คือ(มหา) สุธรรม วงศ์โดยหวัง ข้าพเจ้าพอจะคุ้นเคยกับท่านปลัดสุธรรมอยู่แล้ว จึงไปปรึกษาเรื่องการจัดงานเทโวฯ กับท่านที่บ้านพัก เล่าความให้ท่านฟังแล้วท่านเห็นด้วย จึงร่างแผนงานขึ้นโดยให้งานนี้เป็นใหญ่ของจังหวัด คณะกรรมการจัดงานมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ปลัดจังหวัดเป็นรองประธาน กรมการจังหวัดทุกหน่วยงาน นายอำเภอเมือง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม อุดมดรุณี อาชีวะเป็นกรรมการ เมื่อร่างแผนงานขึ้นแล้วก็ทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ในนามผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย
เมื่อเป็นคำสั่งแต่งตั้งของผู้ว่าราชการจังหวัด กรรมการทุกคนต้องยอมรับและปฏิบัติตามหน้าที่ซึ่งมอบหมายให้ ปลัดสุธรรมจึงเรียกประชุมคณะกรรมการที่ผู้ว่าฯ แต่งตั้งร่วมกับกรรมการวัดที่ศาลาการเปรียญวัดราชธานี ข้าพเจ้ากล่าวความเป็นมาของวันเทโวโรหณะตามตำนาน (เพราะไม่มีในพระสูตร) ที่มีอยู่ในปกรณ์พระอภิธรรมว่า ในพรรษาที่ ๗ หลังการตรัสรู้นั้น พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปประทับจำพรรษา ณ ดาวดึงส์สวรรค์เพื่อโปรดพระพุทธมารดา (สันตุสิตเทพบุตร) แสดงพระอภิธรรมเป็นเวลา ๓ เดือน พระพุทธมารดาได้บรรลุพระโสดาบัน เป็นการแทนคุณค่าน้ำนมได้หมดสิ้นแล้ว ถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ เสด็จจากดาวดึงส์ลงสู่มนุษยโลก ณ ประตูเมืองสังกัสส์ แขวงพาราณสี มีพระและประชาชนไปรอเฝ้ารับเสด็จอยู่อย่างเนืองแน่น พระพุทธองค์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ “เปิดโลก” ให้มนุษย์ สวรรค์ นรก ได้แลเห็นกัน นี้เป็นที่มาของ โวโรหณะ
วันเทโวฯ นี้วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศมักจัดงานเป็นที่ระลึกกันจนเป็นวัฒนธรรมประเพณีไทย สำหรับจังหวัดสุโขทัยเรานี้ วัดราชธานีจัดงานเป็นประจำทุกปี ด้วยการจัดขบวนแห่ทางบกทางน้ำดังเป็นที่ทราบกันแล้วนั้น มาถึงปีนี้จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดขบวนแห่เสียใหม่โดยยกเลิกการแห่ทางบกทางน้ำ มาแห่ขบวนกันทางบกในเมือง รูปขบวนแห่นั้นจะขอใช้นักเรียนระดับมัธยมแต่งตัวเป็นเทพบุตร เทพธิดา เหมือนเทวดานางฟ้าจากสวรรค์ แวดล้อมลงมาส่งพระพุทธองค์ พร้อมกันนั้นก็ให้อีกหมู่หนึ่งแต่งกายเป็นเปรต สัตว์นรก แสดงภาพสัตว์นรกที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดให้เห็น เรื่องนี้ต้องขอความร่วมมือจากท่านอาจารย์ใหญ่รับจัดตกแต่งขบวนตามที่เห็นสมควร เมือกล่าวความเป็นมาของวันเทโวฯ และรูปแบบการจัดงานแล้ว ก็มีการแบ่งหน้าที่กัน รร.สุโขทัยวิทยาคมให้แต่งเป็นเทพบุตร รร.อุดมดรุณีให้แต่งเป็นเทพธิดา รร.อาชีวะฯให้แต่งเป็นเปรตรูปสัตว์ต่าง ๆ ให้แต่ละโรงเรียนไปคิดแบบการแต่งกายตามที่เห็นสมควร
เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังไม่ทันที่ประธานจะกล่าวปิดประชุม กรรมการวัดบางคนกล่าวถามขึ้นมาว่า
“ทางวัดจะปิดถนนราชธานีที่ผ่านวัด เก็บค่าผ่านประตูเข้าชมงานนี้ได้ไหม”
ท่านปลัดสุธรรมตอบว่า ถนนเป็นของวัดทางวัดย่อมมีสิทธิ์ปิดได้อยู่แล้ว คำตอบนี้เองที่สร้างความปวดเศียรเวียนหัวแก่ข้าพเจ้ายิ่งนัก เหตุเพราะว่า โรงลิเกในตลาดวัดที่เคยให้ประมูลปิดวิกกันมาทุกปีนั้น ปีนี้ก็ได้ผู้ประมูลและทำสัญญากันไปแล้ว ถ้าทางวัดปิดถนนเก็บค่าผ่านประตู ทางคณะลิเกเขาไม่ยอมแน่นอน ทางกรรมการวัดขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้เจรจาบอกเลิกสัญญาเช่า เปลี่ยนเป็นทางวัดว่าจ้างลิเกมาแสดงไม่ปิดวิก หัวหน้าคณะยอมแล้วแต่หุ่นส่วนเขาไม่ยอ ม ตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าจ้างคณะนั้นมาแสดง ก็ต้องจ้างเขามาแสดงอีกคณะหนึ่ง กรรมการวัดอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าลิเกสองคณะที่วัดจะจ้างนั้นเป็นลิเกไม่ดัง เรียกคนเข้าวัดไม่ได้ ขอให้เอาลิเกที่กำลังดังมากคือ คณะถวัลย์ถาวร มาแสดงดีกว่า เราถกเถียงกันอยู่เป็นนาน ผลสุดท้ายก็ต้องว่าจ้างลิเกมาแสดงประชันกันถึง ๓ คณะเลยทีเดียว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๗๒ - ขณะที่ข้าพเจ้ามัวยุ่งอยู่กับการจัดงานเทโวฯ นั้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไม่น่าจะเกิด คือพระสมยศ “ศิษย์ก้นกุฏิ” ของข้าพเจ้า อยู่ ๆ ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เช้าวันนั้นเขาไม่ได้ถือบาตรมาคอยส่งให้ข้าพเจ้าแล้วออกเดินบิณฑบาตไปด้วยกัน หากแต่เอาบาตรตั้งวางไว้บนโต๊ะข้างประตู ซึ่งเขาเคยทำในบางวันที่เขาจะเดินบิณฑบาตไปกับหมู่พระเพื่อนอีกสายหนึ่ง โดยปกติพระวัดราชธานีจะเดินรับบิณฑบาตเป็น ๔ สาย คือสายเหนือเดินออกทางประตูเหนือไปตามถนนราชธานีเลียบริมแม่น้ำยมไปถึงโรงสีแล้วเลี้ยวขวาเข้าตลาดวนกลับเข้าวัด อีกสายหนึ่งออกทางประตูเหนือเช่นกัน แต่พ้นประตูแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนถึงวงเวียนหอนาฬิกาแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนจรดวิถีถ่อง ถึงหน้าสำนักงานเทศบาลแล้วเลี้ยวขวากลับ อีกสายหนึ่งออกทางประตูทิศใต้ไปตามถนนจรดวิถีถ่อง ถึงวงเวียนหอนาฬิกาเลี้ยวขวาไปตามถนนสิงหวัฒน์เลยโค้งอินทรีย์แล้วเลี้ยวกลับ สายสุดท้ายออกทางประตูทิศใต้ข้ามถนนจรดวิถีถ่องไปตามถนนนิกรเกษมเลียบลำน้ำแม่ยม เดินไปถึงหน้าบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วเลี้ยวกลับ พวกเราจะเดินเรียงแถวตามระบบอาวุโสเป็นระเบียบเรียบร้อย
พระเณรจะเดินหนรับบิณฑบาตไม่ประจำทางเสมอไป ด้วยบางองค์มีความคิดว่าจะโปรดญาติโยมให้ทั่วถึงจึงเปลี่ยนเส้นทางเดินบ่อย ๆ ข้าพเจ้าเองก็เคยเปลี่ยนเส้นทางตามความคิดนั้น แต่จะเดินสายถนนนิกรเกษมมากกว่าทุกสาย เพราะเดินสบายและไม่ไกลนัก วันนั้นคิดว่าพระสมยศคงจะเดินสายถนนสิงหวัฒน์ ส่วนข้าพเจ้าเดินสายถนนนิกรเกษม กลับจากบิณฑบาตขึ้นไปชั้นบนกุฏิ เห็นมุ้งข้าพเจ้ายังกางอยู่ก็นึกแปลกใจว่าทำไมพระสมยศไม่เก็บที่นอนหมอนมุ้งข้าพเจ้าอย่างที่เคยทำ ลงไปดูที่หอฉันก็ไม่เห็นเขามาร่วมฉันข้าวตามปกติ ถามใคร ๆ ก็บอกว่าไม่รู้ไม่เห็น ขึ้นไปหาดูบนคณะศาลาการเปรียญก็ไม่พบ ถามใคร ๆ ก็บอกไม่รู่ไม่เห็น ฉันอาหารเช้าเสร็จแล้วข้าพเจ้าก็ให้พระเณรออกตามหาไปตามวัดต่าง ๆ ที่เขาเคยไป คือวัดคูหาสุวรรณ วั ดไทยชุมพล วัดพระพายหลวง ส่วนข้าพเจ้าไปวัดคลองกระจง ด้วยคิดว่าเขาจะไปที่นั่น เพราะระยะหลัง ๆ นี้พระมหาประคองไปหาข้าพเจ้าที่กุฏิบ่อย ๆ และคุ้นเคยกับพระสมยศด้วย แต่ทุกวัดที่ไปตามหานั้นไม่พบร่องรอย
คราวนี้ก็วุ่นวายกันไปทั้งวัดทั้งบ้านเลยทีเดียว หลวงพี่มหาประคองเย้าหยอกข้าพเจ้าว่ าดูแลลูกศิษย์ก้นกุฏิอย่างไรให้เขาหายไปได้ คงจะมัววุ่นวายอยู่กับการจัดงานเทโวฯ ละซี ข้าพเจ้ารู้สึกเครียดจึงไม่ตอบโต้อะไร กลับวัดแล้วมาคิดทบทวนพฤติกรรมที่ผ่านมาของพระสมยศ ระยะหลัง ๆ ดูเขาเคร่งขรึมไม่ค่อยพูดจา ท่องทวนหนังสือ อ่านหนังสืออย่างเอาจริงเอาจัง เวลาข้าพเจ้าสอนธรรมะ อธิบายความหมายของหัวข้อธรรมต่าง ๆ เขาจะนั่งจ้องปากข้าพเจ้า เคยถามเขาว่าทำไมต้องนั่งจ้องดูปากอาจารย์ เขาบอกว่าต้องการจะจำทุกคำพูดของอาจารย์ไว้พูดให้ได้เหมือนอาจารย์ ต้องห้ามไม่ให้เขาคิดทำอย่างนั้น ขอให้ฟังแล้วคิดทำความเข้าใจ สงสัยก็ให้ไต่ถามจนได้คำตอบที่สิ้นสงสัย เมื่อเข้าใจดีแล้วก็สามารถพูดได้ตามความเข้าใจนั้น อาจจะพูดได้ดีกว่าอาจารย์เสียอีก การท่องหรือจดจำคำพูดของใคร ๆ โดยที่ตนเองไม่เข้าใจคำพูดนั้น ๆ แม้จะนำไปพูดได้ก็เหมือน “นกแก้วนกขุนทอง” คือพูดได้แต่ไม่เข้าใจความหมายของคำพูดนั้น ครั้นไม่ได้พูดนาน ๆ ก็ลืม แต่ถ้าเข้าใจคำพูดนั้น ๆ แล้วจะไม่ลืมเลย ที่อาจารย์พูดสอนนักเรียนได้นี้เพราะเข้าใจความหมายของข้อธรรมที่พูดดีแล้ว พูดอีกกี่ครั้งก็ไม่ผิดความหมาย แม้คำพูดอาจจะแตกต่างไปบ้างก็อยู่ในความหมายเดียวกัน “หัวใจในการศึกษาเล่าเรียนคือ พยายามทำความเข้าใจในเรื่องที่เรียน” ไม่ใช่มุ่งจำแบบเรียน ข้าพเจ้าหันไปมองนักเรียนทุกองค์ในห้องแล้วกล่าวย้ำว่าขอนักเรียนทุกองค์จำคำที่กล่าวแก่พระสมยศนี้ไว้ เพื่อใช้เป็นแนวทางการเรียนเรียนต่อไป
หลังจากพระสมยศหายตัวไป ๒ วัน โยมแม่และญาติ ๆ พาคนทรงเจ้ามาที่วัดราชธานี ทำพิธีเข้าทรงในวิหารหลวงพ่อเป่า เพื่อให้ตรวจดูว่าพระสมยศไปอยู่ที่ไหน หลังจากเจ้าเข้าประทับทรงแล้วก็ซักถามกัน เจ้าในร่างทรงบอกว่าท่านไม่ได้หายไปไหนหรอก อยู่ในวัดนี้แหละ พวกแกเดินข้ามหัวไปมาอยู่ทุกวัน พอเจ้าบอกอย่างนั้น พวกเราก็ช่วยกันค้นดูทุกซอกทุกมุมของกุฏิข้าพเจ้าและโรงเรียนปริยัติธรรม โดยเฉพาะใต้บันไดขึ้นชั้นบนซึ่งเป็นห้องเก็บของนั้นค้นกันละเอียดเลย ค้นหาเท่าไรก็ไม่พบแม้แต่เงา แม้กระนั้นก็ค้นหาต่อไปไม่สิ้นความหวัง เพราะคำพูดของเจ้าองค์นี้เขาว่าเชื่อถือได้แน่
ตอนบ่ายของวันที่สี่ในการหายตัวไปของพระสมยศ ก็พบว่าร่างเขาลอยอืดขึ้นมาจากบ่อปลาที่มีดงผักตบชวาหนาแน่น หลังจากตำรวจรับแจ้งความแล้วก็รีบมานำศพขึ้นจากบ่อ พ.ต.ต. สุภรณ์ ผดุงชีวิตร์ ผู้กองเมืองสุโขทัยทำการชันสูตรพลิกศพ พบว่าพระสมยศห่มผ้าจีวรเรียบร้อยแบบห่มดอง คือห่มจีวรเฉวียงบ่าพาดผ้าสังฆาฏิรัดประคตอกแน่น ใช้ผ้าอาบน้ำฝนผูกแขนตรงข้อมือติดกัน ในมือมีร่มกันแดดด้วย ตรวจดูทั่วร่างกายไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย ไร้รอยฟกช้ำและบาดแผลใด ๆ ผู้กองสุภรณ์ลงความเห็นว่าเขาฆ่าตัวตายด้วยการผูกข้อมือติดกันแล้วเดินลงบ่อปลาให้จมน้ำตาย ข้าพเจ้าข้องใจว่าเขาผูกข้อมือตัวเองได้อย่างไร ผู้กองจึงทำให้ดูว่าผูกได้อย่างไร ขณะนั้นพระไพฑูรย์นำสมุดเรียนของพระสมยศที่อยู่ในที่นอนเขามาให้อ่าน ข้อความที่เขาเขียนไว้หลายหน้ากระดาษในข้อความเดียวกันคือ “เสียใจในการเรียน น้อยใจในการศึกษา” ผู้กองสุภรณ์อ่านดูแล้วกล่าวว่า สาเหตุการตายอยู่นี่เอง เขาฆ่าตัวตายเพราะเรื่องการเรียนนี่เอง
ข่าวการลงไปตายในบ่อปลาของพระสมยศ พี่เหรียญชัย จอมสืบ หัวหน้านักข่าวหนังสือพิมพ์ถามข้าพเจ้าว่าข่าวนี้เอาลง ไทยรัฐ เดลินิวส์ พิมพ์ไทย ดีไหม ข้าพเจ้าตอบว่าแล้วแต่พวกพี่ ๆ เถิด สำหรับฉันแล้วไม่อยากให้เป็นข่าวใหญ่เลย และแล้วข่าวนี้ก็ไม่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะพวกพี่ ๆ นักข่าวเขาเห็นใจข้าพเจ้านั่นเอง คิดถึงเรื่องนี้แล้วข้าพเจ้ายังรู้สึกเสียใจไม่หาย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๗๓ - การทำงานร่วมกับคนหมู่มากมันยากยุ่งนุงนังสร้างความปวดหัวแกคนเป็นหัวหน้างาน เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าจัดงานใหญ่เกินตัว คณะกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการที่จังหวัดแต่งตั้งไม่มีปัญหาอะไร เพราะทุกคนทำตามระเบียบแบบแผนที่กำหนด แต่กรรมการวัดที่เป็นขาวบ้านนี้มากเรื่อง ไม่ยึดระเบียบแบบแผนอะไร คิดว่าอะไรดีที่คนชอบก็จะเอาอย่างนั้น เราตกลงกันว่าให้ปิดถนนราชธานีเก็บค่าผ่านประตูเข้าเที่ยวชมงานเทโวฯ ในบริเวณวัด ลิเกคณะที่ประมูลปิดวิกนั้นให้ยกเลิก เปลี่ยนเป็นว่าจ้างเขาแสดง และให้ว่าจ้างลิเกคณะถวัลย์ถาวรที่กำลังเป็นที่นิยมตามคำเรียกร้องจากกรรมการวัดกลุ่มหนึ่ง แต่นายนุ่มซึ่งเป็นหุ้นส่วนลิเกคณะที่ประมูลปิดวิกนั้นไม่ยินยอม จึงจำต้องว่าจ้างเขาแสดงอีกคณะหนึ่ง หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณบ่ายเบี่ยงว่าไม่มีโรงให้นายนุ่มแสดง เขาก็รั้นจะแสดงให้ได้ โดยขอสร้างโรงเองตรงลานว่างเหนือองค์พระประธานพร ที่ตรงนั้นเป็นกองไม้ไผ่ป่าที่หลวงพ่อเจ้าคุณสั่งซื้อมากองไว้จะทำอะไรของท่านก็ไม่รู้ นายนุ่มขอซื้อไม้ไผ่นั้นสร้างโรงลิเก มีข้อแม้ว่าหลังจบการแสดงแล้วจะจ่ายเงินค่าไม่ไผ่ให้ ตกลงมหรสพในงานปีนั้นมีเพียงลิเกแสดงประชันกัน ๓ คณะ สำหรับการเทศน์มหาชาติในงานนี้ตกลงกันว่าเงินกัณฑ์เทศน์ทั้งหมดเอาเข้าเป็นเงินกองกลางของวัด กว่าจะเคลียร์ให้จบกันได้ข้าพเจ้ากินยาแก้ปวดหัวไปหลายขนานเลย
งาน ๓ คืนมีคนเที่ยวกันคึกคักตั้งแต่คืนแรก คนเที่ยวสนุกกันที่โรงหนังทั้งสองโรงซึ่งอยู่นอกวัด เพราะมีภาพยนตร์ไทยและรำวงโต้รุ่ง ส่วนภายในวัดมีลิเก ๓ โรงประชันคนซื้อบัตรผ่านประตูเข้าชมกันไม่มากเท่าที่ควร ที่ผิดคาดของกรรมการวัดที่ว่าลิเกคณะถวัลยถาวรวัยรุ่นนั้นจะมีคนดูมาก กลับสู้คณะนายนุ่มไม่ได้ เปิดการแสดงวันแรกนายนุ่มนำนักแสดงรำถวายมือหน้าวิหารหลวงพ่อเป่าก่อน ในเรื่องของเขาที่แสดงนั้นพระเอกแสดงบทร้ายตบตีนางเอกจริง ๆ คนดูชอบใจยิ่งนัก คณะที่แสดงในวิกเก่ามีคนดูโหรงเหรง ส่วนคณะถวัลย์ถาวรแสดงในโรงเยื้อง ๆ หน้าโบสถ์เหนือกุฏิข้าพเจ้านั้น ก็มีคนชมกันพอประมาณ คนวิพากย์กันว่าวัดจัดงานสู้โรงหนังไม่ได้เลย น่าจะมีภาพยนตร์กลางแปลงสักจอก็ไม่มี คืนที่ ๒ คนเข้าเที่ยวในวัดมากหน่อยเพราะตอนกลางวันมีการแข่งเรือยาว รอบแรกตอนบ่ายถึงเวลาเย็น คนส่วนหนึ่งชมการแข่งขันเรือยาวแล้วไม่กลับบ้าน อยู่เที่ยวงานกลางคืนต่อเลย คืนนั้นจบการแสดงลิเกนายนุ่มแอบไปขอเบิกเงินจากพระครูสมุห์แถวเป็นค่าจ้างการแสดงไปส่วนหนึ่งก่อน
รุ่งเช้าวันแรม ๑ ค่ำอันเป็นวันเทโวฯ ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญของงาน พระเณรฉันข้าวต้มบนศาลาการเปรียญแต่ยามรุ่งอรุณ นักเรียนที่แต่งตัวเป็นเทพบุตรเทพธิดาและสัตว์นรกเข้ามารวมตัวเต็มพร้อมอยู่ในวัด ครั้นพระเณรฉันอาหารเสร็จแล้ว ขบวนแห่เทโวฯ ก็เริ่มขึ้น นำโดยแตร (วงดุริยางค์ของโนรงเรียน) ตามด้วยกลองยาว เทพบุตรเทพธิดาคละกัน เปรต สัตว์นรก พระเณรอุ้มบาตร พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เคลื่อนออกจากประตูวัดทางทิศเหนือ ไปตามถนนที่มีประชาชนถือข้าวสารอาหารแห้งผลไม้ยืนรอคอยใส่บาตร ขบวนเทพบุตรเทพธิดานั้นมีขันเงินขันทองขาดใหญ่เพื่อรับบริจาคเงินจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคด้วย ที่สร้างความฮือฮาแก่ผู้ชมขบวนแห่คือขบวนโลกนรก ที่นักเรียนแต่งตัวเป็นเปรตรูปสัตว์ต่าง ๆ (เหมือนผีตาโขนในปัจจุบัน) ขบวนแห่เทโวฯ เดินเวียนเป็นประทักษิณรอบตลาดกลับเข้าวัดทางประตูด้านทิศใต้ ตลอดทางมีคนใส่บาตรมากมาย กรรมการวัดจัดคนคอยถ่ายของในบาตรออกใส่กระบุงตะกร้าลำเลียงเข้าวัดอย่างไม่หวาดไหว
ขบวนแห่เทโวฯ ผ่านไปด้วยดีเป็นที่พออกพอใจองคนทั่วไป ของที่ได้จากขบวนแห่ก็มีข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ อาหารแห้งนั้นมีปลากระป๋อง ผักดอกกระป๋อง ปลาย่างปลาเค็มเนื้อเค็ม เป็นต้น ที่ขาดไม่ได้คือข้าวต้มมัดและข้าวต้มลูกโยน ข้าพเจ้าดูของที่ได้จากการตักบาตรเทโวฯ แล้วลงจากศาลาการเปรียญกลับกุฏิ พบตัวแสดงลิเกคณะนายนุ่มมานั่งรอพบอยู่เกือบ ๑๐ คน พอเห็นข้าพเจ้าเข้าห้องโถงแล้วพวกเขาคลานเข้าหา บางคนก็ร้องไห้ ถามว่าเป็นอะไรไปหรือ ตัวนางลิเกคนมีอายุหน่อยกล่าวแทนพวกเขาว่า นายนุ่มเอาเงินค่าตัวแสดงลิเกหนีไปแล้ว ข้าพเจ้าตกใจมาก เมื่อซักไซ้ดูแล้วก็ได้ความว่า พวกเขารับว่าจ้างจากนายนุ่มแสดงลิเกงานนี้มาจากหลายที่ด้วย มาจากกำแพงเพชรก็มี พิจิตร พิษณุโลกก็มี เมื่อคืนนี้หลังลาโรงแล้วนายนุ่มกล่าวว่าจะเบิกเงินวัดมาจ่ายค่าตัวให้สักส่วนหนึ่งก่อน แล้วเขาก็หายหน้าหายตาไปเลย พวกเราเชื่อว่าเขาต้องหลบหนีไปแล้ว เพราะทราบมาว่าเขาเคยทำอย่างนี้บ่อย ๆ ฟังดังนั้นแล้วจึงไปหาหลวงพี่พระครูสมุห์แถวผู้รักษาเงินวัด ถามแล้วได้ความว่า ตอนหลังเที่ยงคืนนายนุ่มมาหา บอกว่าขอความกรุณาจ่ายค่าตัวแสดงล่วงหน้าด้วย เพราะนักแสดงทุกคนไม่มีเงินใช้กันเลย เขามาอ้อนวอนขอเบิกแค่ ๗๐% พรุ่งนี้จึงค่อยขอเบิกทั้งหมด ตัวลิเกเหล่านั้นบอกว่าคืนสุดท้ายนี้ไม่แสดงแล้ว เพราะนายนุ่มผู้เป็นนายโรงคงจะไม่กลับมาแน่นอน พวกดิฉันจะกลับบ้านแต่ไม่มีเงินค่าเดินทาง แม้ค่ากินก็ไม่มี ขอความกรุณาหลวงพี่ช่วยด้วย ถามเขาว่านายนุ่มตกลงว่าจ้ามาแสดงคนละเท่าไหร่ เมื่อเขาบอกค่าตัว จึงปรึกษากับหลวงพี่พระครูสมุห์แถวแล้วจ่ายค่าตัวเขาไปคนละ ๒ คืน เป็นการฟาดเคราะห์ไปที ค่าไม้ไผ่ของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณที่นายนุ่มขอซื้อทำโรงลิเกก็สูญไปด้วย คืนที่ ๒ เหลือลิเกแสดงเพียง ๒ โรงก็แล้วกันไป
สรุปผลที่ได้จากการจัดงานเทโวฯ ปีนั้น อาหารแห้งเข้าโรงครัวเก็บสะสมไว้เลี้ยงพระทั้งวัดได้เกือบตลอดปี ข้าวสารแบ่งเข้าโรงครัวไว้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งขายทอดตลาดได้เงินเข้าวัด ๗,๐๐๐ บาท ได้เงินจากบาตรเทพบุตรเทพธิดาสองพันบาทเศษ ส่วนรายได้จากการเก็บค่าผ่านประตูนั้นได้ไม่พอจ่ายค่าจ้างลิเก รวมรายได้อื่น ๆ แล้วเป็นผลกำไรเข้าวัดหนึ่งหมื่นเก้าพันสี่ร้อยบาทเศษ เป็นปีแรกที่วัดจัดงานแล้วมีกำไร ไม่ขาดทุนเหมือนทุกปีที่จัดมา หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณฟังรายงานสรุปผลได้ดังกล่าวแล้วพอใจมาก ประกาศให้กรรมการวัดรับรู้และว่าในปีต่อ ๆ ไปให้จัดรูปแบบนี้
การใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้งที่ข้าพเจ้านำมาใช้กับงานนี้ก็ได้จากความคิดของหลวงพ่อไวย์พระอุปัชฌยาจารย์ของข้าพเจ้า ซึ่งท่านริเริ่มจัดขึ้นที่วัดบางซ้ายใน พระนครศรีอยุธยา ทราบว่าทางเหนือนี้ยังไม่มีวัดใดจัดอย่างนี้มาก่อน หลังจากที่ข้าพเจ้าจัดที่วัดราชธานีแล้ว วัดต่าง ๆ ในจังหวัดสุโขทัยก็ถือเป็นแบบอย่างนำไปปรับปรุงใช้กับสืบมา งานชิ้นนี้เป็นงานที่ข้าพเจ้าภูมิใจมาก /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๗๔ - ปีนั้นพระมหาประคองวัดคลองกระจงจัดงานจุลกฐินขึ้นที่วัดของท่าน มาขอให้ข้าพเจ้าไปช่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ (เป็นโฆษก) ในงาน งานจุลกฐินเขาจัดทำกันอย่างไรไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อนเลย เป็นแต่รู้เรื่องในตำราเท่านั้นเอง อยากรู้อยากเห็นสัมผัสงานด้วยตนเองจึงรับปากไปช่วยงานนี้ ก่อนถึงงานก็เตรียมตัวฟื้นความรู้เรื่องจุลกฐินตามตำราเพื่อจะได้ทำการประชาสัมพันธ์ได้ถูกต้อง ความจริงเรื่องผ้ากฐินคือผ้าที่สำเร็จด้วยไม้สะดึง (คือกรอบไม้) เป็นเรื่องของพระภิกษุโดยตรง กล่าวคือภิกษุต้องแสวงหาผ้ามาทำการ กะ ตัด เย็บ ย้อม เป็นจีวร คำว่าจีวรคือผ้านุ่ง (อันตรวาสก) หรือสบง ผ้าห่ม (อุตราสงค์) และสังฆาฏิ (ผ้าพาด) รวมเรียกว่าไตรจีวร ผ้ากฐินนี้เป็นผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีครบ ๓ ผืน ต่อมาชาวบ้านเห็นพระภิกษุทำผ้ากฐินกันด้วยความลำยาก จึงจัดทำเป็นผ้ากฐินแล้วนำมาถวายเป็นสังฆทานในหมู่สงฆ์ เรียกกันว่า “ทอดกฐินทาน” จำเนียรกาลผ่านมาเป็นเวลานานนับพันปี พระภิกษุทำผ้ากฐินกันเองไม่เป็นแล้ว เพราะญาติโยมทำสำเร็จรูปแล้วนำมาถวายจนเป็นประเพณีสืบมา
ตามตำนานกล่าวถึงการทำ “จุลกฐิน” คำนี้เรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าว่า "ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ โปรดให้ทำจุลกฐิน" เค้ามูลของการทำจีวรให้เสร็จในวันเดียว ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งให้คณะสงฆ์ในวัดพระเชตวันร่วมมือกันทำผ้าไตรจีวรเพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย
สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ (เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำผ้ากฐินมาถวาย) ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน ๑๒ (หมดฤดูกฐิน) มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่าง ๆ เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชนในการร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
พิธีการจัดงานจุลกฐินเขาว่าแต่ละวัดมีรายละเอียดต่างกันไปตามความนิยมองแต่ละแห่ง คณะบุคคลที่จัดทำผ้าจุลกฐินในจังหวัดสุโขทัยมีแห่งเดียวคือชาวบ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย ปี่นั้นพระมหาประคองได้เชิญ (หรือว่าจ้าง) ชาวบ้านหาดเสี้ยวมาจัดทำผ้าจุลกฐิน หัวหน้าคณะชื่อนางสาวน้ำเชื่อม วงศ์วิเศษ (ลูกสาว พล.ท.ปุ่น วงศ์วิเศษ) พร้อมลูกทีม มีทั้งสาวแก่แม่ม่ายเกือบร้อยคน ล้วนแต่เป็นคนมีฝีมือในการดีดฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอผ้า ชาวบ้านหาดเสี้ยวนี้เป็นไทยพวนซึ่งบรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองพวนประเทศลาว ชาวบ้านหาดเสี้ยวปลูกเรือนใต้ถุนสูงเพื่อตั้งเครื่องทอผ้า อุปกรณ์การทอผ้าของเขาประกอบด้วย หูก ฟืม กง อัก หลักตีนกง หลา กระสวย หลอดใส่ด้าย หลอดด้ายค้น อิ้ว เครื่องสำหรับแยกฝ้าย ตะลุ้ม ใช้สำหรับดีดฝ้ายหรือยิงฝ้ายให้เป็นปุย โดยใช้ไม้กง ดีดฝ้ายหรือยิงฝ้ายในตะลุ้มให้เป็นปุย ไม้ล้อมฝ้าย ใช้พันฝ้ายกับไม้บนพื้นไม้เรียบเพื่อนำไปเข็นด้วยหลา หลา (ไม้ปั่นด้าย) ใช้เข็นฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย หลังจากดีดหรือยิงให้เป็นปุยและล้อมให้เป็นแท่งกลมแล้วนั้น นำไปเข็นใส่หลอดเหล็กแหลมเพื่อนำไปม้วนใส่เปียให้เป็นไจ จึงนำไปกวักเพื่อขึ้นด้ายยืนหรือย้อมสีตามธรรมชาติ หรือสำหรับใส่หลอดไม้ไผ่ขนาดเล็กเพื่อกรอเส้นด้ายใส่ในกระสวยเพื่อทอผ้า เปีย เครื่องมือสำหรับพันด้ายหลังจากเข็นแล้วให้เป็นไจ เพื่อนำไปกวักหรือนำไจด้ายไปใส่กับกง (ระวิง) กรอกับหลอดไม้ไผ่เพื่อนำไปใส่กับกระสวยทอผ้า กง (ระวิง) เครื่องมือสำหรับใส่ไจฝ้ายเพื่อนำไปกวักและขึ้นไจฝ้าย หรือใช้กรอเส้นด้ายกับหลอดไม้ไผ่ ใช้ประกอบกับกวัก ๒ ใบตั้งคู่กัน รวมกับใช้ในปั่นด้าย บ๊าเหง็น โครงไม้ที่ตั้งได้สำหรับใส่กวักฝ้าย และนำฝ้ายที่เป็นไจใส่ไว้ในระวิง โดยวิธีการนั่งหมุนกวักโดยใช้ไม้หมุนที่กวัก มือจับเส้นด้ายที่ออกมาจากระวิงพันกับกวัก กวัก อุปกรณ์สำหรับกวักเส้นด้ายที่เป็นไจแล้วเพื่อไปขึ้นด้ายยืน โดยสอดใส่กับบะเหง็น แล้วใช้ไม้ไผ่ขนาดเล็กพอกำได้เป็นอุปกรณ์สำหรับหมุนกวักรับเส้นด้าย ให้รับกับกวักหรือเป็นเครื่องมือสำหรับติดระวิง เฝือ (ม้าเดินด้าย) สำหรับนำไปโยงเส้นด้ายขึ้นด้ายยืนโดยความยาวของเฝือแต่ละช่วงทอผ้าได้ ๑ ผืน เฝือ ๑ อัน สามารถโยงเส้นด้ายได้ความยาวประมาณ ๔๕ เซนติเมตร ฟืม เครื่องมือสำหรับทอผ้าเป็นซี่ๆคล้ายหวี สำหรับสอดเส้นด้ายยืนหรือไหมยืนใช้กระทกทำให้ด้ายสอดแน่น ความยาวของฟืมจะเป็นตัวกำหนดความกว้างของผ้าทอ กี่ โครงสร้างหลักเป็นรูปทรงไม้สี่เหลี่ยม มีส่วนประกอบให้การทอผ้าตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จหลายอย่าง ยังมีอีกหลายอย่าง แต่ขอกล่าวเพียงเท่านี้นะ
พี่น้ำเชื่อมพร้อมผู้ร่วมงานนำอุปกรณ์การปั่นฝ้ายทอผ้าไปตั้งที่วัดคลองกระจงอย่างครบครัน งานเริ่มตั้งแต่เช้าโดยทางวัดจัดจำหน่ายปุยฝ้าย ให้ประชานทั่วไปซื้อติดตามกิ่งไม้ที่ตั้งไว้ในวัดทำประหนึ่งว่าเป็นดอกฝ้ายพร้อมให้เก็บไปทำด้ายทอผ้า ข้าพเจ้าทำหน้าที่โฆษณา (ชวนเชื่อ) ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านซื้อปุยฝ้าย คนของคณะทอผ้าก็เก็บปุยฝ้ายที่ติดตามกิ่งไม้ไปทำการปั่นดีดเพื่อทอเป็นผ้าตามกรรมวิธีของเขา ปุยฝ้ายที่นำมาขายให้คนซื้อติดกิ่งไม้ขายหมดก็พอดีกับที่ถูกเก็บไปทำเป็นด้ายทอผ้า ข้าพเจ้าหยุดโฆษณา เข้าไปดูเขาปั่นด้ายทอผ้าแล้วพักผ่อนออกมแรงไว้ทำงานต่อตอนค่ำ หลวงพี่มหาประคองให้ทำหน้าเป็นโฆษกที่ร้านสอยดาวอยู่จนดึกดื่นค่อนคืนไปแล้ว ทนง่วงไม่ไหวจึงหลบหนีขึ้นไปเข้านอนในห้องโถงใหญ่ อากาศค่อนข้างหนาวเย็นจึงเอาผ้านวมคลุมโปงหลับไปโดยไม่รู้เลยว่าเขาทอผ้ากันเสร็จตอนใด
หลับไปนานเท่าไรไม่รู้ ตกใจตื่นเมื่อได้ยินเสียงวีดว้ายของผู้หญิงที่ดึงผ้านวมออกไปแล้วเห็นพระนอนอยู่กับเพื่อนหญิงของเธอ รีบลุกพรวดขึ้นถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นหรือ หญิงที่นอนนั้นก็รีบลุกขึ้นอย่างงง ๆ ถามกันไปมาก็ได้ความว่า ตอนที่ข้าพเจ้าขึ้นมานอนนั้นในห้องไม่มีใคร และไม่รู้ว่าเขาจัดไว้ให้พวกช่างทอผ้านอน หญิงคนนั้นบอกว่าใกล้สว่างแล้วหนูหมดหน้าที่ก็ขึ้นมานอนด้วยความง่วง ล้มตัวลงนอนแล้วนึกว่านอนกับเพื่อน จึงดึงผ้านวมมาห่มและหลับไปไม่รู้หรอกว่านอนกะใคร ที่แท้ก็เป็นหลวงพี่น่ะเอง หนู่กราบขอขมาด้วยค่ะ เธอพูดจบก็กราบปลก ๆ
“เอาละ มันเป็นบาปเป็นกรรมองหลวงพี่เอง เซ่อซ่ามานอนผิดที่ ขออย่าให้เป็นบาปเป็นกรรมต่อกันเลยนะ”
ข้าพเจ้าพูดจบก็รีบเดินจากพวกเธอไปกุฏิเจ้าอาวาส เล่าเรื่องให้หลวงพี่อมหาประคองฟัง พระสุบินถามว่า “ท่านกอดเขาหรือเปล่าล่ะ”
นั่งคิดอยู่ครู่หนึ่งเป็นการทบทวนความจำ “ไม่รู้เรื่องเลย มารู้สึกตัวเอาตอนที่อีกคนหนึ่งมาดึงผ้านวมแล้วร้องขึ้นนั่นแหละ คงไม่ได้กอดได้จับเพราะหลับสนิทไปเลย”
ข้าพเจ้าอบด้วยความเชื่อมั่น
“งั้นก็แล้วกันไป” หลวงพี่อมหาประคองว่า
การทอผ้าจุลกฐินสำเร็จเรียบร้อยก่อนรุ่งอรุณตามกำหนด งานจุลกฐินก็ผ่านไปด้วยดี จากวันนั้นเป็นต้นมา พี่มหาประคองก็พาข้าพเจ้าไปเที่ยวเยี่ยมเยือนโยมน้า โยมพี่ โยมน้องชาวบ้านหาดเสียวบ่อย ๆ น.ส.น้ำเชื่อม พี่สาวที่น่ารักนับถือของข้าพเจ้ามีน้องชายบวชเป็นพระ สอบได้เป็นมหาเปรียญองค์หนึ่ง ชื่อสาย พระมหาสายเกิดปีเดียวกับข้าพเจ้า จึงเป็นอันว่าพี่น้ำเชื่อมมีพระน้องชายสององค์เลย บางครั้งไปเที่ยวหาดเสี้ยวก็นอนค้างคืนบ้านพี่น้ำเชื่อม แต่ถ้าไปองค์เดียวก็ไปนอนค้างคืนที่กุฏิพระครูบวรธรรมานุศาสน์ เจ้าอาวาส จนพวกเรากลายเป็นคนคุ้นเคย (ญาติ) กันไปในที่สุด /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๗๕ - เป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกลงในความรู้สึกองคนไทย ตั้งแต่กลางสมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือเชื่อถือกันว่าประเพณีการลอยกระทงของไทยกำเนิดที่กรุงสุโขทัยตามความในตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือตำนานนางนพมาศ แต่เดิมมาข้าพเจ้าก็เชื่อถือเช่นนั้น ด้วยความเชื่อถือตามคตินี้เอง ชาวชมรมกวีศาลาลายสือไทยจึงรวมหัวคิดฟื้นฟูประเพณีลอยกระทงขึ้น สมัยนั้นมีการจัดงานลอยกระทงเป็นงานใหญ่ที่วัดตระพังทอง เมืองเก่า ส่วนตามวัดวาอารามทั่วไปก็จัดกันพอเป็นกิริยาบุญ ไม่ค่อยใหญ่โตอะไรนัก เพราะความเชื่อที่ว่ากำเนิดพิธีลอยกระทงอยู่ที่กรุงสุโขทัยของพระร่วงเจ้า จึงควรจัดงานกันที่เมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งในสมัยนั้นวัดตระพังทองมีสระขนาดใหญ่ที่หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณทำการขุดลอกไว้ ส่วนสระอื่น ๆ เช่นตระพังเงิน ตระพังตะกวน ตระพังช้างเผือก ล้วนตื้นเขินไม่มีน้ำให้จัดพิธีลอยกระทงได้ ทางชมรมกวีศาลาลายสือไทยจึงตกลงจัดงานลอยกระทงกันที่ตระพังทอง เมืองเก่าสุโขทัย
รูปแบบการจัดงานไม่มีอะไรต่างจากที่ทางวัดจัดกันมาแต่เดิม เพียงแต่เพิ่มการแสดงตำนานเรื่องนางนพมาศเข้าไป ปีนั้นทางชมรมฯ ขอยืมเรือยาวของวัดราชธานีสองลำไปประกอบการแสดง มีการเล่นสักวาเรื่องนางนพมาศ เห่เรือเรื่องลอยกระทง ผู้เล่นสักวา เห่เรือ ประกอบด้วย อุปถัมภ์ เหล่าไพโรจน์ สุธรรม วงศ์โดยหวัง เหรียญชัย จอมสืบ ทองเจือ สืบชมพู สมศรี ภูมิประพัทธ์ และอีกหลายคนที่จำชื่อไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าเป็นภิกษุมีสภาพเป็น “คนวงนอก” และในวันนั้นไม่ได้อยู่สุโขทัย หากแต่ไปเทศน์งานลอยกระทงในท้องที่จังหวัดพิษณุโลก และพักอยู่วัดเขาสมอแครงนานถึง ๔ วัน กลับสุโขทัยก็ได้ฟังข่าวจากเหรียญชัย จอมสืบ ว่างานสนุกและผ่านไปได้ด้วยดี
กาลนั้นข้าพเจ้ายังไม่เคยอ่านตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือตำนานนางนพมาศฉบับหอสมุดแห่งชาติ (ของกรมศิลปากร) มาก่อน ได้ยินได้ฟังเขาบอกเล่าอย่างไรก็จำไว้เท่านั้น เวลารับนิมนต์เทศน์เรื่องลอยกระทงก็จะกล่าวถึงแต่ว่าเป็นการลอยกระทงไปสักการะรอยพระพุทธบาท ณ ริมฝั่งน้ำนัมทานที ซึ่งก็มิได้ระบุว่าอยู่แห่งหนตำบลใด บ้าง และกล่าวถึงการลอยกระทงเกิดจากตำนานพื้นบ้านเรื่องพญากาเผือกหรือพระเจ้า ๕ พระองค์ บ้าง นัยว่าเรื่องพญากาเผือก หรือพระเจ้า ๕ พระองค์เป็นตำนานของชาวรามัญ (มอญ) เล่ากันสืบมาจนแพร่หลายไปทั่วภูมิภาคของไทย เรื่องนี้มีความพิสดารซึ่งพอจะย่นย่อมาบอกเล่าได้ดังต่อไปนี้
# “ในสมัยต้นปฐมกัป มีพญากาเผือก ๒ ตัวผัวเมียทำรังอยู่ที่ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา อันเป็นธรรมชาติสถานที่รื่นรมย์ ในเวลาต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ทรงปฏิสนธิเกิดในครรภ์แม่พญากาเผือกพร้อมกันถึง ๕ พระองค์ เมื่อครบทศมาสแม่กาเผือกก็เกิดออกไข่ ณ ที่รังต้นมะเดื่อจำนวน ๕ ฟอง แม่กาเผือกคอยเฝ้าฟักดูแลรักษาไข่ด้วยความทะนุถนอมเป็นอย่างดี ครั้นอยู่มาวันหนึ่งพญากาเผือกได้ออกไปหากินถิ่นแดนไกลถึงสถานที่หนึ่งอันอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร จึงเพลินหากินอาหาร จนมืดค่ำ พอดีฝนตกฟ้าคะนองพายุใหญ่พัดกระหน่ำจนทำให้มืดครึ้มทั่วไปหมด พญากาเผือกหาหนทางออกไม่ถูก จึงหลงในบริเวณสถานที่นั้น แล้วพักอยู่คืนหนึ่ง รุ่งอรุณจึงรีบบินกลับสถานที่พัก ปรากฏว่ากิ่งไม้มะเดื่อที่ทำรังอยู่ได้ถูกลมพายุใหญ่ พัดหักหล่นลงไปในแม่น้ำ แม่กาเผือกตกใจรีบบินถลาหาลูกไข่ทั้ง ๕ ในแม่น้ำ แต่หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ พยามหาไปในทุกสถานที่จนเหนื่อยอ่อนเมื่อยล้า ด้วยความโศกเศร้าเสียใจในความรักลูกอย่างสุดซึ้ง จึงไม่สามารถระงับความอาลัยทุกข์ได้ ในที่สุดก็สิ้นใจไป ด้วยอานิสงส์ที่มีความเมตตารักลูกอันบริสุทธิ์จึงไปเกิดอยู่แดนพรหมโลก ชั้นสุธาวาสมีนามชื่อว่า “ฆฏิกาพรหม” จักได้เป็นผู้ถวายอัฏฐะบริขารบวชแก่ลูกทั้ง ๕ พระองค์เมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ส่วนไข่ทั้ง ๕ ได้ถูกลมพัดตกน้ำไหลไปในสถานที่ต่าง ๆ คือ ไข่ฟองที่ ๑ มีไก่เก็บไปดูแลรักษา ฟองที่ ๒ แม่นาคราชเก็บไปดูแลรักษา ฟองที่ ๓ แม่เต่าเก็บไปดูแลรักษา ฟองที่ ๔ แม่โคเก็บไปดูแลรักษา ฟองที่ ๕ แม่ราชสีห์เก็บไปดูแลรักษา ในกาลเวลาต่อมาพระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ ก็ประสูติออกจากไข่ปรากฏเป็นมนุษย์ รูปร่างสวยสดงดงามทั้ง ๕ พระองค์ในเวลาเดียวกันตามลำดับของแม่เลี้ยงทั้ง ๕ ที่นำไข่ไปเก็บดูแลรักษา ครั้นเจริญเติบโตอยู่กับแม่เลี้ยงดัวยความกตัญญู จึงรู้ทำหน้าที่ทุกอย่างทดแทนบุญคุณแม่เลี้ยงเป็นอย่างดีจนถึงอายุได้ ๑๒ ปี ด้วยบุญกุศลเก่าหนุนส่ง ก็มีจิตคิดที่จะออกบวชบำเพ็ญเนกขัมบารมีเป็นฤๅษีอยู่ในป่า จึงได้อำลาแม่เลี้ยงของตนเหมือนกันทั่ง ๕ พระองค์
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ พระองค์ เมื่อออกบวชเป็นฤๅษีได้บำเพ็ญเพียรพระกัมมัฏฐานจนสำเร็จฌาน อภิญญาสมบัติ จึงสามารถเหาะไปหาอาหารผลไม้ด้วยฤทธิ์ทุกพระองค์ อยู่มาวันหนึ่งได้เหาะไปหาอาหารผลไม้ และบำเพ็ญเพียรธรรมที่ป่าดอยสิงกุตตระ ณ ใต้ต้นนิโครธอันร่มเย็นด้วยกิ่งไม้สาขาใหญ่ด้วยเหตุปัจจัยในกุศลบารมีธรรม ฤๅษีทั้ง ๕ ได้มาพบกัน ณ ที่นี้โดยไม่ได้นัดหมายรู้จักกันมาก่อน จึงสอบถามความเป็นมาของกันและกัน จึงได้รู้แต่ว่า แต่ละองค์มีแต่แม่เลี้ยง แม่ที่แท้จริงอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ฤๅษีทั้ง ๕ จึงได้ร่วมกันตั้งสัจจะอธิฐาน ขอให้ได้พบแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง ด้วยอำนาจสัจจะอธิฐานธรรมอันบริสุทธิ์ของฤๅษีทั้ง ๕ จนดังก้องไปถึงพรหมโลก เป็นเหตุให้ท้าวฆฏิกาพรหมซึ่งเป็นแม่กาเผือกทราบเหตุการณ์ทั้งหมด จึงจำแลงเพศเป็นแม่กาเผือก มาปรากฏอยู่เบื้องหน้า ฝ่ายฤๅษีทั้ง ๕ ก็รู้ด้วยญาณทัศนะทันทีว่าเป็นแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง จึงสอบถามแม่กาเผือกถึงความเป็นมาตั้งแต่ต้นว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร แม่กาเผือกจึงเล่าความเป็นมาเรื่องหนหลังตั้งแต่ต้นจนตายมาเป็นพรหมลูกฤๅษีทั้ง ๕ ได้ทราบ เมื่อลูกฤๅษีได้ทราบเหตุเช่นนั้นแล้้ว ก็รู้สึกสลดสังเวชใจเป็นอย่างยิ่ง และสำนึกในบุญสร้างคุณอันใหญ่หลวงของแม่กาเผือก จึงน้อมกราบแทบเท้าฆฏิกาพรหมผู้เป็นแม่ที่ให้กำเนิดชีวิตลูก ได้สร้างบุญบารมีพระโพธิญาณ และกราบขอสัญลักษณ์อนุสรณ์ของแม่กาเผือกผู้เอาไว้บูชา แม่กาเผือกจึงประทานผ้าฝ้ายเป็นด้ายฟั่นรูปตีนกาสัญญลักษณ์อนุสรณ์ของแม่กาเผือกให้ลูกฤๅษีทั้ง ๕ ไว้ใช้เป็นไส้ประทีปจุดบูชาทุกวันพระ และต่อมาเป็นประเพณีจุดประทีปตีนกาบูชาแม่กาเผือก ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ลอยกระทง เป็นตำนานสืบไว้ในโลกตลอดกาลนาน เมื่อแม่กาเผือกฆฏิกาพรหมประทานสัญลักษณ์ไว้ให้ลูกฤๅษีโพธิสัตว์ทั้ง ๕ แล้ว ก็อาลูกกลับวิมานของตนบนพรหมโลก ตามเดิม”
นี่คือที่มาของของประเพณีการลอยกระทงตามตำนานพระเจ้า ๕ พระองค์ที่ข้าพเจ้าจำมาเทศน์ในงานลอยกระทง ซึ่งต่างไปจากตำนานนางนพมาศของสุโขทัย พระเจ้า ๕ พระองค์ตามตำนานนี้คือ พระกกุสันโธพุทธเจ้า, พระโกนาคมโนพุทธเจ้า, พระกัสสโปพุทธเจ้า, พระศากยมุนีโคดโมพุทธเจ้า (องค์ปัจจุบัน), พระอริยเมตตริโยพุทธเจ้า (ในอนาคต)
ตามตำนานนี้บอกชัดเจนว่า ลอยกระทงเพื่อบูชาคุณนางพญากาเผือกพระมารดาของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพรหมนามว่าฆฏิกา อยู่บนสวรรค์ชั้นพรหมสุทธาวาส รอที่จะถวายอัฏฐบริขารพระเจ้าองค์ที่ ๕ นี่เป็นเพียงคติหนึ่งของประเพณีการลอยลอยกระทง/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ กันยายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|