บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๔๖ - ตลอดพรรษากาลปีนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้ติดตามดูความคืบหน้าในการปั้นองค์พระพุทธชินราชจำลองของจ่าทวีเลย เมื่อไปอยู่ประจำที่วัดราชธานีเมืองสุโขทัยแล้ว เรื่องราวทางวัดเขาสมอแครงก็ให้หลวงพี่ไฮ้กับพระสอน สองน้าหลานเป็นผู้รับผิดชอบดูแลไป เพราะเรื่องทางสุโขทัยที่เกี่ยวพันกับข้าพเจ้ามีมากจนยากที่จะปลีกตัวไปช่วยงานทางวัดเขาสมอแครงได้ ครั้นออกพรรษาพอมีเวลาว่างแล้ว ก็ไปนอนค้างที่วัดเขาสมอแครงบ้าง มิใช่ตั้งใจจะไปนอนค้างที่วัดนี้โดยตรง หากแต่มีงานเทศน์ที่พระเกรียงศักดิ์รับนิมนต์ให้เทศน์คู่กับข้าพเจ้าไว้หลายแห่ง ก่อนถึงวันเทศน์ก็ไปนอนรอเวลาที่วัดเขาสมอแครงบ้าง เทศน์เสร็จแล้วก็ไปนอนพักที่วัดนี้เพื่อจะต้องไปเทศน์วัดอื่นอีกบ้าง บางคืนก็ไม่ได้ไปนอนที่วัด เพราะโยมพุ่มบ้านถนนโค้งวังทองนิมนต์ให้ไปบ้าน คุยกับชาววังทองจนดึกดื่นแล้วนอนเสียที่บ้านโยมพุ่มเลย พวกสาว ๆ วังทองก็มานั่งล้อมวงคุยทุกคืนที่ข้าพเจ้าไป
หลวงพี่ไฮ้เล่าให้ฟังว่าไปติดตามงานการปั้นองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชจำลองหลายครั้ง เป็นเรื่องแปลกมาก จ่าทวีปั้นพระพักตร์เสร็จแล้ว ดูด้วยตาเราและทุกคนเห็นว่าเหมือนองค์จริงอย่างไม่มีที่ติ แต่พอถ่ายรูปเอาภาพมาเทียบดูแล้วกลับไม่เหมือนองค์จริง จ่าต้องทุบทิ้งแล้วปั้นใหม่ ครั้นปั้นเสร็จแล้วถ่ายรูปเอาภาพไปให้ดูที่วัดเทียบกับภาพองค์จริงดู เห็นว่าเหมือนมากจนไม่มีที่ติ ไปดูของจริงที่ปั้นกลับเห็นว่าไม่เหมือนองค์จริง จ่าทวีต้องทุบปั้นใหม่อีก จนถึงวันนี้ยังปั้นได้ไม่เหมือนองค์จริงเลย ฟังคำบอกเล่าอย่างนั้นข้าพเจ้าจึงไปดูการปั้นของจ่าทวีซึ่งตั้งโรงปั้นอยู่มุมกำแพงวัดด้านเหนือติดแม่น้ำน่าน พี่จ่าก็เล่าให้ฟังอย่างที่หลวงไฮ้บอกเล่า ข้าพเจ้ารู้สึกว่าแปลกมาก หลังจากกล่าวให้กำลังใจพี่จ่าทวีแล้ว ก็เข้าวัดไปกราบคารวะหลวงพ่อเจ้าคุณพระพิษณุบุราจารย์เรียนให้ท่านทราบว่า ไม่ได้เข้าอยู่วัดวังทองตามประสงค์ของหลวงพ่อพระครูประพันธ์ศีลคุณ เพราะหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณวัดราชธานีขอร้องให้ไปช่วยงานท่านที่สุโขทัย หลวงพ่อเจ้าคุณพิษณุฯ ก็ได้แต่พูดว่าเสียดาย เมื่อพูดถึงการปั้นพระพุทธชินราชจำลอง ท่านก็บอกว่าแปลกมาก ได้รู้ได้เห็นเรื่องนี้มาตลอด เพราะทวีนิมนต์ให้ไปดูที่โรงปั้นและเอาภาพมาให้ดูด้วยหลายครั้งแล้ว
การเทศน์ทางวิทยุ ๐๑๐ ของข้าพเจ้ายังเป็นไปโดยปกติ ทุกวันอาทิตย์จะนั่งรถเมล์โดยสารจากสุโขทัยแต่เช้าทันเวลาเทศน์ เมื่อเทศน์จบจ่าทหารอากาศก็ให้นั่งรถจิ๊ปไปส่งที่ร้านอาหารผู้ปวารณาถวายอาหารเพลไว้ ฉันหารเสร็จบางวันก็ไปส่งที่วัดราชธานี บางวันก็ส่งที่วัดเขาสมอแครง บางวันก็ส่งที่วัดใหญ่ (พระศรีรัตนมหาธาตุ) เพื่อพบหลวงอาแช่ม (พระราชรัตนมุนี) ตามที่ท่านสั่งไว้ว่าขอให้ไปพบท่านอย่างน้อยเดือนละครั้ง ไปแต่ละครั้งท่านจะให้รายการเทศน์แทนท่าน หนึ่งแห่งบ้างสองแห่งบ้าง รายการที่ไปแทนท่านนั้นมีแต่เทศน์อย่างเดียว ไม่มีกิจนิมนต์อื่นเลย
พระนักเทศน์ทุกองค์จะต้องมีสมุดจดรายการรับนิมนต์เทศน์และงานทำบุญอื่น ๆ ประจำตัวไว้คนละ ๑ เล่ม ส่วนใหญ่เป็นปฏิทินประจำปีนั้น ๆ ข้าพเจ้ายังไม่มีปฏิทิน มีแต่สมุดพกเล่มเล็ก ๆ เพราะเป็นผู้น้อยและใหม่ในวงการ เวลาพบพระนักเทศน์ด้วยกันก็จะเปิดสมุดพกดูว่ามีรายการเทศน์วันใดที่ไหนบ้าง บางท่านก็จดรายละเอียดลงไปด้วยว่าเป็นงานอะไร ใครเป็นเจ้าภาพ ใครเป็นคนนิมนต์ เดินทางไปถึงที่ได้อย่างไร บางองค์สมุดปฏิทินแทบจะไม่มีวันว่างเลย อย่างหลวงอาแช่มของข้าพเจ้านี่ บางวันมีกิจนิมนต์เทศน์ตั้ง ๓ รายการ ดังนั้นเมื่อไปพบท่านแล้ว ท่านก็ให้เปิดสมุดดูรายการนิมนต์ วันใดที่ข้าพเจ้าว่าง ท่านก็ให้รับเทศน์แทนท่านที่รับไว้ ๒-๓ แห่ง เลือกเอาว่าจะไปเทศน์แห่งใด เป็นอย่างนี้เองรายการเทศน์ของข้าพเจ้าจึงมีที่พิษณุโลกมากกว่าที่สุโขทัย
พระนักเทศน์มีชื่อเสียงดังในพิษณุโลก-สุโขทัยหลายองค์ที่ข้าพเจ้าเคยเทศน์คู่กับท่าน บางองค์เทศน์แบบ “น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง” มีแต่น้ำแทบไม่มีเนื้อเลย กล่าวคือ ท่านเทศน์นอกเรื่อง เช่นพอเริ่มเทศน์ ท่านในฐานะเป็นนักเทศน์เก่าและชื่อดัง อาวุโสมากกว่าข้าพเจ้า ท่านจึงถืออภิสิทธิ์นี้เป็นผู้เริ่มนำในการเทศน์ ซึ่งผิดแบบแผนที่ครูอาจารย์ของข้าพเจ้าถือปฏิบัติกันมา คือผู้ทำหน้าที่วิสัชนา (ตอบ) จะเป็นผู้เริ่มต้นว่าอานิสงส์หน้าธรรมาสน์จบแล้วจะสมมุติตำแหน่งให้ใครเป็นผู้ถาม ใครเป็นผู้ตอบ นี่ท่านเป็นผู้ถามโดยที่ยังไม่ได้รับสมมุติให้เป็น “พระสักรวาที” (ผู้ถาม) เลย ท่านว่านำดุ่ยไป คำเทศน์ของท่านก็ไม่มีสารธรรมอะไร ล้วนกล่าวยกย่องชมเชยเจ้าภาพที่จัดให้มีเทศน์ ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ใช้เวลาเยินยออยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วตั้งคำถามให้เพียงคำเดียวให้ข้าพเจ้าตอบ ท้ายคำถามท่านบอกให้อธิบายโดยพิสดารจนจบด้วย แล้วท่านก็นั่งเคี้ยวหมากบ้าง สูบบุหรี่บ้าง ฟังข้าพเจ้าอภิปรายขยายความไปจนจบ ท่านยะถาสัพพีแล้วลงจากธรรมาสน์ไปรับขันกัณฑ์เทศน์พร้อมกับข้าพเจ้า สภาพการณ์อย่างนี้ข้าพเจ้าพบหลายครั้งจนไม่อยากเทศน์ด้วยเลย เวลารับนิมนต์เทศน์จะถามว่า เทศน์กับใคร เขาบอกว่าเทศน์กับองค์นั้น ข้าพเจ้าจะบอกว่าไม่ว่างทันที /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ต้นฝ้าย, คิดถึงเสมอ, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เฒ่าธุลี, เป็น อยู่ คือ, malada, หยาดฟ้า, ลายเมฆ, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๔๗ - หลวงพี่พระมหาบุญเหลือ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย ขอให้ข้าพเจ้าไปเป็นเพื่อนติดต่องานราชการคณะสงฆ์กับเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ซึ่งอยู่ที่อำเภอสวรรคโลก ก็นึกแปลกใจว่าทำไมเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยจึงอยู่ที่อำเภอสวรรคโลก เรียนถามหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณได้ความว่า เมืองสุโขทัยกับเมืองสวรรคโลกมีปัญหาในการเป็นเมืองซ้ำซ้อนกัน สวรรคโลกเคยเป็นจังหวัด สุโขทัยเป็นอำเภอในปกครองของจังหวัดสวรรคโลก เมืองสุโขทัยเคยเป็นจังหวัดโดยยุบจังหวัดสวรรคโลกลง เป็นอำเภอในปกครองของจังหวัดสุโขทัย ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดจึงเปลี่ยนแปลงไม่ทันเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน (ปี ๒๕๐๗) เจ้าคุณพระสวรรควรนายก เคยเป็นเจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลก เมื่อจังหวัดถูกยุบเป็นอำเภอ ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลกของท่านจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ปกครองดูแลการคณะสงฆ์ทั้งจังหวัดสืบมา ได้ความดังนั้นข้าพเจ้าจึงพลิกปูมความเป็นมาของจังหวัดนี้ได้ความดังต่อไปนี้ .....
“เมืองสวรรคโลก” เดิมตั้งอยู่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยยังเป็นราชธานี มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงในนาม “เมืองศรีสัชนาลัย” ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณ พ.ศ. ๑๙๙๔ พระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา ได้ยกทัพมายึดเมืองศรีสัชนาลัย และได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “เมืองเชียงชื่น” ต่อมา พ.ศ. ๒๐๑๗ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตีเมืองเชียงชื่นคืนได้สำเร็จ และได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “เมืองสวรรคโลก” นับแต่นั้นมา
ในสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองสวรรคโลกเคยถูกพม่าเข้าตีบ่อยครั้ง เจ้าเมืองสวรรคโลกจึงตัดสินใจย้ายที่ตั้งเมืองมาตั้งอยู่ที่บ้านท่าชัย (ในเขตตำบลศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน) ต่อมาราว พ.ศ. ๒๓๗๙ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมืองสวรรคโลกมีปลัดปกครองนามว่า “นาค” ได้นำงาช้างเนียมไปถวายพระเจ้าอยู่หัวจนเกิดความดีความชอบขึ้น จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระยาสวรรคโลก” มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิชิตภักดี ซึ่งก็คือต้นตระกูลวิชิตนาคในปัจจุบัน ได้ใช้บ้านพักหรือจวนที่บ้านวังไม้ขอนเป็นที่ว่าการเมืองสวรรคโลก ดังนั้นเมืองสวรรคโลกจึงย้ายมาจากบ้านท่าชัย มาตั้งรกรากที่เมืองสวรรคโลกใหม่ (สวรรคโลกปัจจุบัน) นับแต่นั้นมา
วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบจังหวัดสุโขทัย ให้อยู่ในความปกครองของจังหวัดสวรรคโลก มีอำเภออยู่ในความปกครอง ๕ อำเภอ และ ๒ กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอสุโขทัยธานี อำเภอหาดเสี้ยว (อำเภอศรีสัชนาลัย) อำเภอสวรรคโลก อำเภอบ้านไกร (อำเภอกงไกรลาศ) อำเภอคลองตาล (อำเภอศรีสำโรง) กิ่งอำเภอลานหอย (อำเภอบ้านด่านลานหอย) กิ่งอำเภอโตนด (อำเภอคีรีมาศ) และต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ กระทรวงมหาดไทยได้เปลี่ยนชื่อ “จังหวัดสวรรคโลก” ให้เป็น “จังหวัดสุโขทัย” ฐานะของจังหวัดสวรรคโลกจึงถูกลดให้เป็นอำเภอสวรรคโลกนับแต่นั้นมา
เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยในขณะนั้นมีนามและประวัติเท่าที่ข้าพเจ้าหาได้คือ “พระสวรรควรนายก นามเดิมว่า ทองคำ จิตรธร เกิดปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ที่หลังวัดสวรรคาราม ตำบลในเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โยมบิดาชื่อ กำนันหนุน โยมมารดาชื่อ นางสายบัว จิตรธร บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อเข้ารับการศึกษาตามระบบการศึกษาดั้งเดิมพร้อมทั้งได้มีโอกาสไปศึกษาและจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ โดยมี พระเทพโมลี (แพ ติสฺสเทโว) สมณศักดิ์ในขณะนั้น ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "โสโณ" จบการศึกษานักธรรมชั้นเอกแล้วกลับมาอยู่วัดที่บ้านเกิด เป็นเจ้าอาวาสวัดกลาง (สวรรคาราม) สมณศักดิ์ที่ได้รับคือ พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูสวรรค์วรนายก ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสวรรควรนายก ธรรมสาธกวินัยวาที สังฆปาโมกข์ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็น พระราชาคณะเสมอชั้นราช ในราชทินนามเดิม ตำแหน่งที่ได้รับคือ พ.ศ. ๒๔๕๐ เป็น เจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลก พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็น เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย” นับได้ว่าท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัด ๒ จังหวัดคือ สวรรคโลก-สุโขทัย ดำรงตำแหน่งอยู่ยาวนานมากทีเดียว
ในวันที่ข้าพเจ้าไปเข้าพบนั้นท่านมาอายุ ๘๗ ปีแล้ว ร่างกายดูทรุดโทรมมาก ที่ชำรุดมากคือหู เวลาพูดกับท่านต้องส่งเสียงดัง ๆ ข้าพเจ้าไม่ทราบความนี้จึงพูดกับท่านด้วยเสียงปานกลาง ท่านเอียงหูเข้ามาใกล้ ๆ พร้อมพูดว่า “ว่าอะไรนะ พูดดัง ๆ หน่อยซิ ฉันหูไม่ค่อยจะดี” ดังนั้นจึงต้องพูดกับท่านด้วยเสียงตะโกน อย่างคนไม่มีสัมมาคารวะกระนั้นแหละ
ท่านเจ้าคุณทองคำ (สวรรควรนายก) เป็นผู้ใส่ใจในโบราณวัตถุเช่นเดียวกับเจ้าคุณโบราณ จึงเก็บรวบรวมพระพุทธรูปและเครื่องปั้นดินเผาไว้มาก และจัดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่วัดท่านนั้นเอง ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านได้รับการยกขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยกิตติมศักดิ์ (ปัจจุบันตำแหน่งนี้เรียกว่าที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด) และในเดือนตุลาคม ๒๕๐๘ นั้นท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยวัยชรา /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๔๘ - วันหนึ่งรับนิมนต์ไปเทศน์ ๒ ธรรมาสน์งานวันมาฆบูชา ที่วัดท่าเกษมในเขตอำเภอสวรรคโลก คู่เทศน์เป็นพระมหาเจ้าอาวาสวัดคลองกระจง ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ถึงวันเทศน์ก็ไปพบและทำความรู้จักกันที่วัดท่าเกษม ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดคลองกระจงนั่นเอง ท่านชื่อพระมหาประคอง อายุมากกว่าข้าพเจ้าประมาณ ๕ ปี จึงเรียกท่านว่าหลวงพี่ตามวัฒนธรรมประเพณีไทย ขณะฉันอาหารเพลเราก็คุยกันถึงแนวทางที่จะเทศน์ไปด้วย พี่มหาประคองอาวุโสสูงกว่าก็ให้ทำหน้าที่เป็นพระสกรวาที (ผู้ถาม) ข้าพเจ้าอาวุโสต่ำกว่าก็รับหน้าที่เป็นพระปรวาที (ผู้ตอบ) การเทศน์แบบถาม-ตอบ (ปุจฉา-วิสัชนา) ถ้าเป็นคู่ที่รู้ใจกันหรือรู้แนวทางกันก็จะเทศน์ได้สนุก ผู้ฟังก็จะได้ความรู้มาก ถ้าคู่เทศน์ไม่รู้ใจกันก็เทศน์ไม่สนุก หรือถ้าคู่เทศน์องค์หนึ่งมีความคิดต้องการจะข่มคู่เทศน์เพื่อเอาตนดีเด่นกว่าคู่เทศน์ ก็ไม่สนุก คู่เทศน์องค์หนึ่งเก่งองค์หนึ่งไม่เก่งก็ไม่สนุก ดังนั้นก่อนเทศน์พระเทศน์ที่ดีจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน บอกแนวทางของกันและกันจนเข้าใจกันดีแล้วจึงขึ้นธรรมาสน์เทศน์ตอไป
การเทศน์ที่สุโขทัยสมัยนั้นจำแนกได้เป็น ๔ อย่างคือ เทศน์เดี่ยวด้วยการอ่านคัมภีร์ใบลาน, เทศน์คู่แบบคาบลูกคาบดอก, เทศน์คู่แบบ ยกบุคคลเป็นที่ตั้ง (บุคลาธิษฐาน) เทศน์คู่แบบธรรมะล้วน ๆ (ธรรมาธิษฐาน) เทศน์แบบยกบุคคลเป็นที่ตั้งเป็นที่นิยมกันมาก บางทีก็ให้เทศเรื่องสมมุติเป็นตัวบุคคล (เหมือนลิเกละคร) เช่นเทศน์เรื่องมฆมาณพ เป็นต้น ถ้าพระเทศน์เก่งด้วยกันจะสนุกทั้งผู้เทศน์และผู้ฟัง
วันนั้นข้าพเจ้ากับหลวงพี่มหาประคองเทศน์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เพราะเป็นการเทศน์ด้วยกันครั้งแรก สังเกตดูเห็นว่าพระองค์นี้ “เก่งธรรมาสน์เตี้ย” คือคุยเก่ง เป็นนักเทศน์แบบประจบประแจงคนฟัง ยกยอญาติโยม และคู่เทศน์ หลังจากที่ข้าพเจ้าว่าอานิสงส์หน้าธรรมาสน์สมมุติตำแหน่งหน้าที่ในการเทศน์จบแล้ว ท่านก็กล่าวอารัมภบทซ้ำความที่ข้าพเจ้ากล่าวไปแล้ว และชมว่าข้าพเจ้าเป็นพระเก่งอย่างนั้นดีอย่างนี้ ข้าพเจ้าอายจนอยากจะลงธรรมาสน์หนีไปเลย เสียเวลากล่าวคำเยินยอญาติโยมและคู่เทศน์ไปมากมายแล้วจึงเข้าเรื่องถามความเป็นมาของวันมาฆบูชาให้ข้าพเจ้าอธิบายโดยพิสดาร
ดูท่าทีของคู่เทศน์แล้วเห็นว่าเป็นพวก “น้ำท่วมทุ่ง” จึงกล่าวสาระของเรื่องให้มากที่สุด โดยเริ่มเล่าความตั้งแต่ ความในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถามหาปทานสูตร ระบุว่าหลังจากพระพุทธเจ้าเทศนา "เวทนาปริคคหสูตร" (หรือทีฆนขสูตร) โปรดทีฆนขอัคคิเวสสนโคตร ณ ถ้ำสูกรขาตา เชิงเขาคิชฌกูฎ จบแล้ว ทำให้พระสารีบุตรได้บรรลุอรหัตตผล จากนั้นพระองค์ได้เสด็จทางอากาศไปปรากฏ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วทรงประกาศโอวาทปาติโมกข์แก่พระภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป โดยจำนวนนี้เป็นบริวารของชฏิลสามพี่น้อง ๑,๐๐๐ รูป และบริวารของพระอัครสาวก ๒๕๐ รูป และความในคัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่า การประชุมสาวกครั้งนั้นเป็น "องค์ประกอบอัศจรรย์ ๔ ประการ" คือ วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ พระภิกษุทั้ง ๑,๒๕๐ องค์นั้น ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา ๖ พระภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ปลงผมด้วยมีดโกน เพราะพระพุทธเจ้าประทาน "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ด้วยพระองค์เอง ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ดังกล่าวแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน
ข้าพเจ้าแสดงเรื่องราวมาถึงตรงนี้ก็หยุดเพื่อเปิดจังหวะให้คู่เทศน์ซักถาม มีหลายประเด็นที่น่าซักถาม เช่น เขาคิชฌกูฏ ถ้ำสูกรขาตา พระสารีบุตรบรรลุอรหันต์ จำนวนพระอรหันต์ จาตุรงคสันนิบาต เป็นต้น แต่ท่านไม่ซักถาม กลับไปกล่าวชมข้าพเจ้าว่า “เทศน์ได้ดีมาก โยมนิมนต์พระมาถูกแล้ว อย่างนี้ไม่เสียกัณฑ์เทศน์เปล่า แล้วจากนั้นเรื่องราวเป็นอย่างไร เทศนาต่อไปอีกทีครับ” ข้าพเจ้ารู้สึกเซ็งเลย จึงเทศนาต่อไปอีกว่า
“พระพุทธเจ้าเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว เป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาติโมกข์" หลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย จึงตรัสพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น ใจความพระพุทธพจน์คาถาแรกทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น คาถาที่สองทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" คือ การไม่ทำบาปความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง ส่วนนี้ของโอวาทปาติโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาติโมกข์เท่านั้น คาถาสุดท้าย ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ๖ ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร, การไม่ทำร้ายใคร , การมีความสำรวมในปาติโมกข์ทั้งหลาย, การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ,การรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด และบำเพ็ญเพียรในอธิจิต”
ถึงตรงนี้ก็หยุดรอคำถาม ท่านไม่ซักถามอะไรเลย คงกล่าวชมเชยอีกครั้ง ข้าพเจ้าหมดปัญญาที่จะให้ท่านซักถามอะไรในเรื่องโอวาทปาติโมกข์ เทศน์วันนั้นจบลงด้วยความจืดชืด กลับจากเทศน์แล้ว ค่ำวันนั้นนั่งคุยกับหลวงพ่อเจ้าคุโบราณ เล่าให้ท่านฟังว่าไปเทศน์คู่กับพระมหาประคองมา ท่านหัวเราะแล้วบอกว่า “มหาคองมันเทศน์ธรรมะไม่เป็น ตีกระทู้ธรรมไม่แตก แกไปเทศน์กับมันได้ยังไง คนนี้เป็นคนไม่ดีอย่าไปคอบค้าสมาคมนะ”
คำว่า “ตีกระทู้ธรรมไม่แตก” ของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ เป็นคำที่ดีมาก ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่าหลวงพี่มหาประคองและพระนักธรรมนักเทศน์อีกหลายองค์ “ตีกระทู้ธรรมไม่แตก” เช่นคำว่า “ สังขาร” ถามคืออะไร ก็จะตอบง่าย ๆ ว่าคือร่างกายเท่านั้น ความหมายที่มากกว่านี้ตอบไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้ง ถ้าตีกระทู้แตกจะอธิบายคำว่าสังขาร แยกแยะออกไปได้อย่างพิสดาร เช่นว่า สังขารที่มีใจครอง สังขารที่ไม่มีใจครอง สังขารคือบาปบุญ เป็นต้น การจะตีกระทู้ธรรมให้แตก ต้องเป็นคนชอบฟัง ชอบคิด หาเหตุผล ค้นคว้าเรื่องราวต่าง ๆ สำคัญคือต้องเป็นคน “ละเอียดลออ รอบคอบ คงที่คงทาง แม่นยำ มั่นคง“ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, ลายเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), malada, ลิตเติลเกิร์ล, มนชิดา พานิช, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๔๙ - ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นั้น ทางการคณะสงฆ์ได้ยกฐานะท่านเจ้าคุณพระสวรรควรนายก (ทองคำ) จากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์ แล้วแต่งตั้งท่านเจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (ทิม) วัดราชธานี ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยจึงต้องย้ายจากวัดสวรรคาราม อ.สวรรคโลกมาตั้งที่วัดราชธานีตามตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด พระเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดก็ต้องมีการแต่งตั้งองค์ใหม่แทนองค์เก่า ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณไปตรวจรับเอกสารทางราชการคณะสงฆ์ แล้วขนย้ายมาวัดราชธานีพร้อมนำตราประจำตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมาด้วย เอกสารทั้งหมดข้าพเจ้าให้เก็บไว้ในกุฏิหลวงพี่พระครูสมุห์แถว ผู้ซึ่งเป็นผู้บริหารงานปกครองวัดราชธานีตามคำสั่งหลวงพ่อเจ้าคุณมาโดยตลอด
ในการแต่งตั้งพระเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยนั้น ทั้งพระและกรรมการวัดหลายท่านเสนอให้ตั้งข้าพเจ้าเป็นเลขาฯ เจ้าคณะจังหวัด แต่ข้าพเจ้าปฏิเสธ อ้างว่ายังเป็นพระผู้น้อยอยู่ (ตอนนั้นบวชได้ ๖ พรรษาแล้ว) และอีกอย่างหนึ่งข้าพเจ้าอ้างว่ามีงานอื่น ๆ ที่ต้องเดินทางไปโน่นไปนี่ ไม่สะดวกในการอยู่ประจำทำงานในตำแหน่งเลขาฯ เมื่อปฏิเสธไปอย่างนี้ก็มีบางท่านเสนอให้ตั้งพระครูสุภัทรธีรคุณ (มหาดำรงค์) วัดไทยชุมพลเป็นเลขาฯ หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณไม่เห็นด้วย ท่านอ้างว่าจะให้มหาดำรงทำหน้าที่อื่นที่คิดไว้แล้ว ข้าพเจ้าจึงเสนอให้ตั้งพระครูสมุห์แถวเป็นเลขาฯ หลวงพี่พระครูสมุห์ก็ปฏิเสธ อ้างว่าไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะทำหน้าที่นี้ ข้าพเจ้าก็ขอให้ท่านรับตำแหน่งไว้ ส่วนการงานด้านเอกสารและการติดต่อประสานงานใด ๆ นั้นข้าพเจ้าจะช่วยทำให้จนสุดความสามารถ ที่สุดพระครูสมุห์แถวก็ยอมรับเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย ทนายกระจ่าง ทนายสันต์ ผู้สนับสนุนข้าพเจ้า กล่าวว่า
“ถ้าอย่างนั้น พระครูสมุห์แถวเป็นเลขาฯ พระอภินันท์เป็นเลแขนก็แล้วกัน”
เรียกเสียงฮาจากที่ประชุมไม่น้อย คำว่า “เลแขน” ไม่รู้โยมทนายคิดขึ้นมาได้อย่างไร และจากนั้นข้าพเจ้าก็เป็นเลแขนของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณตลอดมา
แม้อายุหลวงพ่อเจ้าคุณขึ้นเลขแปดแล้ว ท่านก็ไม่ยอมแพ้วัยชรา พอรับตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยได้ไม่ทันถึงเดือน ก็สั่งให้ข้าพเจ้าทำกำหนดการตรวจเยี่ยมวัดทั้งจังหวัด ข้าพเจ้าทำกำหนดตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยมเป็นอำเภอแรก อำเภอนี้อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสุโขทัย ด้านตะวันตกติดเขตอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ด้านเหนือติดเขตอำเภอศรีสัชนาลัย ด้านตะวันออกติดเขตอำเภอสวรรคโลก ด้านใต้ติดเขตอำเภอบ้านด่านลานหอยและอำเภอเมือง มีพระครูสุจิตสีลาจารย์ (ต๊วน) วัดต้นหัด (สวัสดิการาม) อ.สวรรคโลก เป็นเจ้าคณะอำเภอ เหตุที่ต้องแต่งตั้งพระนอกเขตเป็นเจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยมนั้นนัยว่า หาพระที่เหมาะสมในอำเภอทุ่งเสลี่ยมไม่ได้ พระครูสุจิตสีลาจารย์ (หลวงพ่อต๊วน) เป็นคนใจดีและไม่ค่อยสนใจในระเบียบการปกครองนัก วันที่ข้าพเจ้าพาหลวงพ่อเจ้าคุณไปตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยมนั้น ไปแวะที่วัดต้นหัดก่อน เพื่อบอกให้เจ้าคณะอำเภอทราบว่าเจ้าคณะจังหวัดจะไปตรวจเยี่ยมวัดในทุ่งเสลี่ยม เมื่อเข้าไปในวัดต้นหัดได้ยินเสียงระนาดดังอยู่ทางกุฏิเจ้าอาวาส เดินเข้าใกล้เห็นพระครูต๊วนใส่อังสะตัวเดียวกำลังนั่งตีระนาดเล่นอย่างเพลิดเพลินเจริญใจ หลวงพ่อเจ้าคุณยังนั่งอยู่ในรถจิ๊ปไม่ยอมลง ข้าพเจ้าเดินไปใกล้ ๆ เรียกชื่อท่านพระครูดัง ๆ ท่านหยุดตีระนาด หันมามองอย่างคนแปลกหน้า เพราะเรายังไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ข้าพเจ้ารายงานตัวว่ามากับเจ้าคณะจังหวัดองค์ใหม่ จะไปตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยม ขณะนี้ท่านนั่งอยู่ในรถนั่น ท่านพระครูต๊วนรีบลุกขึ้นคว้าจีวรห่มแล้วลงจากกุฏิไหว้หลวงพ่อเจ้าคุณแล้วนิมนต์ให้ขึ้นกุฏิ แต่หลวงพ่อเจ้าคุณไม่ไม่รับนิมนต์ บอกว่าจะรีบไป วันหลังค่อยมาใหม่ ท่านพระครูเล่นระนาดต่อไปตามสบายเถิด แล้วเรียกข้าพเจ้าขึ้นรถเดินทางไปโดยไม่สนใจท่านพระครูเจ้าคณะอำเภอเลย พอรถเคลื่อนออกจากวัดหลวงพ่อเจ้าคุณหัวเราะด้วยความขบขัน แล้วกล่าวว่า “มีพระแบบนี้เป็นเจ้าคณะอำเภอท่านจะปกครองหัววัดได้ยังไง” ก็น่าคิดครับ
วัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยมสมัยนั้นมีไม่มากนัก เพราะเป็นอำเภอใหม่ คนจากต่างถิ่นเริ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาปักหลักทำมาหากิน ส่วนใหญ่จะมาจากอำเภอเถิน และอำเภออื่น ๆ ในจังหวัดลำปาง วัดที่ข้าพเจ้ากำหนดจะพาหลวงพ่อเจ้าคุณไปตรวจเยี่ยมก็มี วัดกลางดง ตำบลกลางดง วัดหัวฝาย ตำบลกลางดง วัดม่อนศรีสมบุรณาราม ตำบลเขาแก้วศรีสมบูรณ์ วัดท่าชุม ตำบลทุ่งเสลี่ยม วัดทุ่งเสลี่ยม ตำบลทุ่งเสลี่ยม วัดวังธาร ตำบลทุ่งเสลี่ยม วัดเหมืองนา ตำบลทุ่งเสลี่ยม วัดท่าต้นธงชัย ตำบลไทยชนะศึก วัดแม่ทุเลา ตำบลไทยชนะศึก วัดเขาแก้วชัยมงคล ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล วัดสามหลัง ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล วันแรกก็แวะวัดเขาแก้วชัยมงคลวัดสามหลัง วัดแม่ทุเลา วัดท่าต้นธงไชย วัดเหมืองนา ไปพักที่วัดทุ่งเสลี่ยม
วัดทุ่งเสลี่ยมกาลนั้นมีพระสมุห์ธนิต เป็นเจ้าอาวาส วัดนี้เป็นเป้าหมายที่หลวงพ่อเจ้าคุณตั้งใจมา เพราะมีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งเป็นพระนาคปรกแกะสลักด้วยหินทรายอายุเก่าแก่มาก เรียกกันว่า “หลวงพ่อศิลา” บ้าง “หลวงพ่อค้างคาวบ้าง” หลวงพ่อเจ้าคุณเคยจะนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของท่าน (วัดราชธานี) แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้เอาไป วันนั้นไปค้างแรมคืนที่วัดทุ่งเสลี่ยม ชาวบ้านรู้ว่าท่านไปก็บอกข่าวให้ชาวทุ่งเสลี่ยมรู้ว่าหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณจะมาเอาหลวงพ่อค้างคาวอีกแล้ว จึงพากันมารวมตัวอยู่ในวัดทุ่งเสลี่ยมจำนวนมาก พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวอยู่บนศาลาการเปรียญ ทางวัดทำห้องลูกกรงเหล็กล้อมไว้อย่างแข็งแรง ข้าพเจ้าขอเปิดประตูห้องเข้าไปดูใกล้ ๆ และถ่ายรูปภาพไว้ ได้พูดคุยกับกรรมการวัดและชาวบ้านผู้เฒ่าที่รู้เรื่องความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้ ได้ความว่า
เดิมหลวงพ่อศิลาประดิษฐานอยู่ในถ้ำเจ้าราม (ศิลาจารึกหลักที่ ๑ เรียกว่าถ้ำพระราม) เขตติดต่อ อ.บ้านด่านลอนหอย ศรีสำโรง ทุ่งเสลี่ยม มีพระธุดงค์เข้าไปพบจึงนำความมาบอกชาวบ้าน คูบาวัดแม่ปะหลวง อ.เถินรู้ความ จึงมาชวนคูบาวัดทุ่งเสลี่ยม พาชาวบ้านจำนวนมากไปอัญเชิญออกมาจากถ้ำที่เต็มไปด้วยมูลค้างคาวและค้างคาวเป็นล้าน ๆ ตัว ในระหว่างทางที่อัญเชิญหลวงพ่อศิลาใส่เกวียนเดินทางมาทุ่งเสลี่ยมนั้นหยุดพักแรมเป็นทอด ๆ ค่ำลงจะมีค้างค้าวเป็นฝูงบินมาวนเวียนรอบองค์พระเป็นเวลานานแล้วจากไป คูบาวัดแม่ปะหลวงต้องการเอาหลวงพ่อองค์นี้ไปไว้วัดแม่ปะหลวง แต่เมื่อมาถึงทุ่งเสลี่ยมเกวียนเกิดชำรุดเดินทางต่อไปไม่ได้ ท่านจึงให้คูบาวัดทุ่งเสลี่ยมรักษาดูแลไว้ที่วัดนี้ ด้วยเชื่อกันว่าหลวงพ่อศิลาต้องการอยู่วัดทุ่งเสลี่ยม ทุกวันโกนวันพระจะมีค้างคาวเป็นฝูงใหญ่บินมาวนเวียนรอบองค์ท่านแล้วจากไป เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก ชาวบ้านจึงเรียกหลวงพ่อศิลาว่า หลวงพ่อค้างคาว อีกนามหนึ่ง อิทธิปาฏิหาริย์หลวงพ่อศิลาที่ชาวบ้านบอกเล่านั้นมีมากมายจนบรรยายไม่หมดสิ้น
ชาวบ้านพากันมาชุมนุมขอร้องไม่ให้หลวงพ่อเจ้าเอาหลวงพ่อศิลาของเขาไป หลวงพ่อเจ้าคุณบอกชาวบ้านว่าอยากจะเอาไปเก็บรักษาไว้ เพราะกลัวโจรขโมยจะมาเอาไปเสีย ชาวบ้านยืนยันว่าจะตั้งเวรยามป้องกันรักษาดูแลหลวงพ่อศิลาไว้เป็นอย่างดี รับรองไม่สูญหายแน่ ๆ ข้าพเจ้าเห็นว่าอย่างไรเสียชาวบ้านก็ไม่ยอมให้เอาหลวงพ่อศิลาไปแน่นอน จึงบอกหลวงพ่อเจ้าคุณว่า อย่าเอาของเขาไปเลย กระผมถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานแล้ว ท่านนิ่งคิดอยู่นานก่อนจะพะยักหน้ารับอย่างเนือย ๆ /๑๔๙
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๕๐ - ออกจากวัดทุ่งเสลี่ยมไปวัดกลางดงและอีกหลายวัดแล้วย้อนกลับมาพักแรมคืนที่วัดเหมืองนา เจ้าอาวาสวัดนี้สมัยนั้นท่านมีนามเดิมว่า “แก้ว” ต่อเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรจึงได้นามว่า พระครูรัตตนโชติคุณ (แก้ว โชติโก) เป็นพระที่ข้าพเจ้าหมายตาไว้ว่าจะให้เป็นเจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม แทนพระครูสุจิตสีลาจารย์ที่ไม่เอาธุระดูแลงานปกครองคณะสงฆ์เลย และหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณก็ไม่พอใจ ดูท่าว่าท่านคงจะปลดพระครูต๊วนออกจากตำแหน่งเป็นแน่ วัดเหมืองนานี้มีความเป็นมาอย่างไร อ่านความตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่มีบันทึกไว้ดังต่อไปนี้นะครับ
“เหมืองนา” มาจากการทำฝายทดน้ำและทำลำเหมืองส่งน้ำไปยังนาของตนเอง จึงได้เกิดเป็นชื่อหมู่บ้าน “บ้านเหมืองนา” ตั้งแต่ก่อนปี ๒๔๖๓ เป็นต้นมา ที่มาของเรื่องนี้เกิดจากนายแสน อุดม มีแนวความคิดที่จะตั้งหมู่บ้านขึ้น ซึ่งเดิมนายแสน อุดม ผู้นี้เป็นชาวบ้านแม่วะ อ. เถิน จ. ลำปาง ได้มาพบพื้นที่แห่งนี้เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การสร้างหมู่บ้านทำนา จึงได้กลับไปยังบ้านแม่วะ และชักชวนชาวบ้านมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ ครั้งแรกมาอาศัยอยู่บริเวณทุ่งปู่พื้น ต่อมาเห็นว่าบ้านนี้ขาดแคลนน้ำในการทำนาจึงพากันไปสร้างฝายทดน้ำที่บ้านหัวฝาย และทำเหมืองส่งน้ำมายังนาของตน ต่อมาได้ขยายหมู่บ้านและได้สร้างวัดขึ้น ให้ชื่อว่า วัดเหมืองนา เดิมตั้งอยู่ที่บ้านพักครูในปัจจุบัน พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านได้สร้างศาลาที่พักสงฆ์ไว้ให้ เพื่อให้พระสงฆ์ที่เดินสัญจรได้พักอาศัย และเป็นที่ทำบุญของชาวบ้าน ปี ๒๔๗๐ ชาวบ้านได้สร้างกุฏิชั่วคราวและได้นิมนต์พระพรหมเสน จากอำเภอเถิน มาเป็นเจ้าอาวาส ปี ๒๔๗๖ พระพรหมเสน ลาสิกขา พระกันทาเป็นเจ้าอาวาสแทน ปี ๒๔๗๘ คณะศรัทธาได้ย้ายวัดมาอยู่ในบริเวณวัดเหมืองนาปัจจุบัน ได้ทำการเปิดสอนโรงเรียนนักธรรมขึ้น และในปีเดียวกัน พระกันทาได้มรณภาพ พระบุญชู ธมฺมจาโร ได้เป็นเจ้าอาวาสแทน และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวด ชื่อหมวดบุญชู ท่านได้มรณภาพ ปี ๒๔๘๖ และพระจันทร์ จนฺทโร เป็นเจ้าอาวาสแทน ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลทุ่งเสลี่ยม และเป็นฐานานุกรม นามว่า พระใบฏีกาจันทร์ ท่านได้ลาสิกขาในปี ๒๔๙๓ ในปีเดียวกัน เจ้าคณะจังหวัดได้แต่งตั้งพระแก้ว โชติโก (ปัจจุบันคือพระครูรัตนโชติคุณ) เป็นเจ้าอาวาส ต่อมาวัดเหมืองนารับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๔”
ทุ่งเสลี่ยมเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย เดิมเป็นส่วนหนึ่งของตำบลนาทุ่ง อำเภอสวรรคโลก จัดตั้งเป็นตำบลทุ่งเสลี่ยมในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ และจัดตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอทุ่งเสลี่ยมใน พ.ศ. ๒๕๐๐ และยกฐานะเป็นอำเภอทุ่งเสลี่ยม ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ อำเภอนี้เป็นประตูสู่อารยธรรมล้านนา คำว่า "ทุ่งเสลี่ยม" เป็นภาษาล้านนา หมายถึง ทุ่งสะเดา คนพื้นบ้านออกเสียงว่า โต้ง – สะ – เหลี่ยม “โต้ง” คือ “ทุ่ง” “เสลี่ยม” มาจากคำว่า “สะเลียม” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไป มีรสขม ดอกและใบรับประทานได้ ก็คือสะเดานั่นเอง อำเภอทุ่งเสลี่ยมเคยมีต้นสะเดามากมาย ต่อมามีคนเขียนผิดจากสะเลียม เป็น “เสลียม” จึงต้องอ่านว่า สะ – เหลียม ซึ่งเป็นวิธีอ่านอักษรนำ บ้านโต้งสะเลียมจึงเป็นบ้านโต้งเสลียม (สะเหลียม) ทุ่งเสลี่ยมขณะนั้นอยู่ในเขตการปกครองของตำบลนาทุ่ง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสวรรคโลก คนบ้านทุ่งเสลี่ยมส่วนใหญ่มาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ใช้ภาษาล้านนา ครั้นเข้าอยู่ในปกครองของสุโขทัย จึงพยายามพูดเหมือนคนไทยภาคกลางและสุโขทัย เมื่อเขียนตามคำบอกออกเสียง สะ – เหลี่ยม จึงเขียนว่า “เสลี่ยม” ตามสำเนียงไทยภาคกลาง แต่ชาวสุโขทัยก็ออกเสียงว่า “ทุ่งซะเหลียม” เรื่องสำเนียงภาษานี่ข้าพเจ้าออกจะสับสนมาก สำเนียงภาษาสุโขทัยแท้ ๆ ข้าพเจ้ายังฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเลย มาเจอภาษาล้านนาที่ทุ่งเสลี่ยมก็ยิ่งยุ่งยากกันใหญ่
ท่านพระครูแก้ว (พระครูรัตนโชติคุณ) มีรายการรับนิมนต์งานทำบุญบ้านรายหนึ่ง เมื่อเจ้าคณะจังหวัดไปตรวจวัดและพักที่วัดเหมืองนา ท่านจึงขอนิมนต์หลวงพ่อเจ้าคุณกับข้าพเจ้าไปเจริญพระพุทธมนต์ฉันเช้าในงานนั้นด้วย ข้าพเจ้าได้รู้เห็นบุญพิธีของชาวล้านาเป็นครั้งแรกแปลกไปจากพิธีบุญของไทยภาคกลาง กล่าวคือ เมื่อพระเข้านั่งประจำที่เรียบร้อยและญาติโยมพร้อมแล้ว หัวหน้าทายกก็จุดธูปเทียนแล้วกล่าวนำไหว้ กราบพระ อาราธนาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์ทั้งนั้นเจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วถวายภัตตาหาร พระสงฆ์ฉันภัตตาหารอิ่มแล้ว ถวายจตุปัจจัยไทยทาน พระสงฆ์กล่าวอนุโมทนา (ยะถา สัพพี) เป็นอันเสร็จพิธีบุญ ของล้านนาก็คล้าย ๆ กันนั่นแหละ แต่พิธีการเขาเยิ่นเย้อมาก กล่าวคำบาลีในสำเนียงล้านนาแล้วไม่พอ ยังกล่าวคำแปลเป็นสำเนียงภาษาล้านนาอีกด้วย กว่าจะจบก็นานมาก เจริญพระพุทธมนต์จบก็เป็นเวลา ๙ โมงกว่า ยกอาหารมาตั้งหน้าพระให้พระเห็นแล้วท้องร้องจ๊อก (เพราะหิวจัดเลย) แทนที่จะประเคนให้พระฉัน ทายกกลับกล่าวคำถวายอาหารแบบของเขา เริ่มด้วยการชุมนุมเทวดา ว่าสัคเคแปลในสำเนียงล้านนา ถวายอาหารก็แปลในทำนองเดียวกันอีก พระจะเป็นลมตายเพราะหิว ข้าพเจ้าตั้งใจไว้ว่าจะไม่ยอมรับนิมนต์ไปในงานพิธีบุญของชาวล้านนาอีกเลย เข็ดจริง ๆ
วันนั้นออกจากวัดเหมืองนา แวะวัดเล็ก ๆ อีก ๒ วัด หลวงพ่อเจ้าคุณท่านมีอารมณ์ขัน เรียกพระที่มีอยู่เพียงองค์เดียวในวัดมาพบ แล้วเอ่าคัมภีร์เทศน์ที่เป็นอักษรล้านนา (คำเมือง) บอกพระนั้นอ่านเทศน์ให้ฟัง ท่านก็เทศน์แบบล้านนา “นะโม ตัสซะ ภะคะวะโต๋ อาระฮะโต๋....” หลวงพ่อเจ้าคุณนั่งฟังด้วยอาการแย้มยิ้มจนกระทั่งท่านอ่านจบด้วยคำว่า “สะเด๊ด” หลวงพ่อเจ้าคุณถามข้าพเจ้าว่า มันว่าอะไรตอนจบน่ะ ข้าพเจ้าบอกว่า “สะเด๊ด” คือจบแล้ว หรือ “นั่นแล” ไงล่ะครับ ท่านก็หัวเราะด้วยความขบขัน บ่ายมากแล้วขึ้นไปบนวัดเขาแก้วชัยมงคล พบพระครูนิตย์ (บรรพตรัตนคุณ) เจ้าอาวาส ทราบว่าจะทำพิธีผูกพัทธสีมาอีก ๒ เดือนข้างหน้า หลวงพ่อเจ้าคุณบอกว่าจะมาทำพิธีผูกพัทธสีมาด้วยตนเอง ให้ข้าพเจ้าจดไว้ ข้าพเจ้าถามว่าเพราะอะไรหรือครับ ท่านว่าไม่ไว้วางใจ กลัวเขาจะทำไม่ถูกวิธีตามพระวินัย... วันนั้นจบการตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอทุ่งเสลี่ยม แล้วเดินทางกลับวัดราชธานีด้วยประสบการณ์ที่ดีมาก /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เป็น อยู่ คือ, malada, ลายเมฆ, ลิตเติลเกิร์ล, มนชิดา พานิช, คิดถึงเสมอ, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๕๑ - ช่วงเวลาที่ชาวพุทธในท้องถิ่นต่าง ๆ จะจัดงานบุญพิธีมีพระธรรมเทศนาประกอบงานบุญนั้น ๆ คือระยะตั้งแต่ออกพรรษาเป็นต้นไปจนถึงใกล้เข้าพรรษาอีกปีหนึ่ง และจะมีจัดกันมากคือในช่วงเดือน ๓-๗ งานบุญระยะนี้ส่วนมากเป็นงานบวช นิยมจัดงานที่บ้าน นอกจากจะมีการทำขวัญนาคโดยหมอทำขวัญที่เป็นฆราวาสแล้ว ก็ยังมีการ “เทศน์สอนนาค” โดยพระนักเทศน์ที่เทศน์แบบคาบลูกคาบดอก (เทศน์ไปร้องไป) บ้าง เทศน์ธรรมะบ้าง ส่วนมากจะเป็นการเทศน์ ๒ ธรรมาสน์ (ปุจฉา-วิสัชนา) นี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือการเทศน์ฉลองพระบวชใหม่ เป็นการแจงถึงอานิสงส์ของการบวช นิยมเทศน์ ๒ ธรรมาสน์ อย่างหลังนี้ไม่นิยมนิมนต์พระเทศน์แบบคาบลูกคาบดอก เพราะเจ้าภาพต้องการฟังธรรมะเนื้อ ๆ นอกจากเทศน์งานบวชแล้วก็มีเทศน์งานทำบุญอุทิศผู้วายชนม์ ทำบุญบ้านอีกด้วย
การทำบุญอุทิศแก่ผู้วายชนม์นั้น นิยมนิมนต์พระมาเทศน์แจง คำว่า “แจง คือขยายความ กระจายความ” โดยทั่วไปหมายถึงการเทศน์เรื่องปฐมสังคายนาย มีแจง ๒ ธรรมาสน์บ้าง ๓ ธรรมาสน์บ้าง เทศน์แจง ๒ ธรรมาสน์เป็นการเทศน์แบบปุจฉา-วิสัชนา คือองค์ถามจะถามเรื่องความเป็นมาของการสังคายนายครั้งแรกเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร อย่างไร แล้วจะซักถามเรื่องในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม การเทศน์แจง ๓ ธรรมาสน์นั้น สมมุติองค์หนึ่งเป็นพระกัสสป มีหน้าที่ในการซักถาม องค์หนึ่งเป็นพระอุบาลี มีหน้าที่ในการตอบเรื่องพระวินัย องค์หนึ่งเป็นพระอานนท์ มีหน้าที่ในการตอบเรื่องพระสูตร พระอภิธรรม การเทศน์แจง ๓ ธรรมาสน์นี้ พระทั่วไปเทศน์ได้ เพราะมีคัมภีร์ใบลานที่พระนักเทศน์เก่าท่านแต่งและทางโรงพิมพ์คัดลอกลงพิมพ์ไว้โดยละเอียด ข้าพเจ้าเคยอ่านมาตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร จำความได้ดีทีเดียว
วันตรุษปีนั้น (๒๕๐๘) ข้าพเจ้าได้รับการนิมนต์เทศน์แจง ๓ ธรรมาสน์ในงาน “แจงรวมญาติ” วัดคุ้งยางใหญ่ บ้านสวนซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่อันดับหนึ่งของอำเภอเมืองสุโขทัย คำว่าแจงรวมญาติคือคนที่ประสงค์จะทำบุญอุทิศให้ญาติพี่น้องผู้วายชนม์ จะนำกระดูกและชื่อมาตั้งรวมกันที่วัดจัดพิธีสวดอภิธรรม มีมหรสพสมโภช รุ่งขึ้นถวายอาหารบิณฑบาต แล้วมีเทศน์แจง พระที่เทศน์แจงกับข้าพเจ้าในวันนั้นเป็นพระนักเทศน์ระดับแนวหน้าของสุโขทัย คือพระครูปลัดสวง วัดบางคลอง พระครูสุภัทรธีรคุณ( มหาดำรง) วัดไทยชุมพล ข้าพเจ้ารูจักกับท่านค่อนข้างดีก็จริง แต่ยังไม่เคยเทศน์คู่กับท่านเลย ก่อนเทศน์ก็มีการพูดคุยตกลงกันว่า พระครูสุภัทรธีรคุณ รับหน้าที่เป็นพระมหากัสสป พระครูปลัดสวง รับหน้าที่เป็นพระอุบาลี ข้าพเจ้าอาวุโสอ่อนกว่าเพื่อนรับหน้าที่เป็นพระอานนท์ และว่าอานิสงส์หน้าธรรมาสน์ อันนี้เป็นไปตามธรรมเนียมของการเทศน์ทั่วไป
งานบุญพิธีใหญ่ ๆ สิ่งที่ขาดไม่ได้ประการหนึ่งคือ ดนตรีไทย ในที่ทั่วไปก็ใช้เครื่องปี่พาทย์ มีน้อยครั้งที่ใช้มโหรี เครื่องสาย ดนตรีไทยจะบรรเลงเป็นระยะ ๆ ถ้าเป็นเทศน์มหาชาติเขาก็กำหนดเพลงไว้ว่ากัณฑ์ทศพรให้บรรเลงเพลงอะไร จำได้ว่ากัณฑ์ชูชกให้ให้บรรเลงเพลงเซ่นเหล้า ส่วนเทศน์ทั่วไปไม่กำหนดชื่อเพลง ที่จำจนคุ้นคือ รับพระ ส่งพระ เวลาพระจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์ก็บรรเลงเพลงรับพระ เทศน์จบลงธรรมสาสน์ก็บรรเลงเพลงเพลงส่งพระ วันนั้นไม่เหมือนวันไหนที่ข้าพเจ้าเคยประสบมา กล่าวคือ พอได้เวลาเทศน์ พวกเราลงจากกุฏิขึ้นศาลาการเปรียญ ได้ยินเสียงดนตรีที่แปลกหูมาก ไม่เคยได้ยินไม่เคยเห็นมาก่อน เสียงปี่ดังเจื้อยแจ้วกับเสียงคล้ายเคาะกระบอกไม้เคล้าเสียงฉาบ กรับ โหม่ง ในจังหวะเร้าใจ กราบพระบนอาสน์สงฆ์แล้วนั่งคอยความพร้อมอยู่ เมื่อพร้อมแล้วลงจากอาสน์สงฆ์เดินขึ้นธรรมาสน์ ดนตรีวงนั้นก็บรรเลงขึ้น ข้าพเจ้าเดินแทบไม่เป็นเลย เพราะใจไปจับจังหวะเสียงดนตรีนั่น มาทราบภายหลังจากเทศน์จบแล้วว่าเครื่องดนตรีนั้นชื่อว่า วงมังคละ เครื่องดนตรีประกอบด้วย “ปี่ กลองโกร๊ก กลองยืน กลองหลอน ฆ้อง ๓ ใบ ฉาบกรอ ฉาบใหญ่ ฉิ่ง และกรับ” เป็นเครื่องดนตรีโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราธานีโน้นแล้ว
การเทศน์วันนั้นข้าพเจ้าไม่เกร็ง ไม่กลัวคู่เทศน์ เพราะนึกถึงครูนักเทศน์คือหลวงพ่อมหาไวย์และนักเทศน์ระดับแนวหน้าในภาคกลางที่ข้าพเจ้าลักจำลีลาลูกเล่นของพวกท่านไว้มากพอที่จะนำมาใช้อวดคู่เทศน์ได้ จึงเริ่มการเทศน์ตามแนวคัมภีร์ใบลานที่อ่านมาจนช่ำชอง ดัดแปลงลีลาถ้อยคำทำนองเป็นของตัวเอง กล่าวอานิสงส์การเป็นเจ้าภาพจัดให้มีเทศน์แจงพอสมควรแล้ว ก็สมมุติองค์แสดงตามแบบเป็นไปด้วยความราบรื่น หยุดรอโอกาสที่จะแสดงในหน้าที่พระอานนท์ต่อไป
หลวงพี่พระครูสุภัทรธีรคุณผู้รับหน้าที่เป็นพระมหากัสสปดำเนินเรื่องกล่าวความเป็นมาของการทำปฐมสังคายนายแล้วซักถามเรื่องพระวินัยเริ่มตั้งแต่ปฐมปาราชิกสิกขาบทไปจนจบ หลวงพี่พระครูปลัดสวง ก็ตอบตามแบบ การถามตอบก็มีลูกล้อลูกเล่นแก้ง่วงคนฟังบ้างตามสมควร พระนักเทศน์คู่นี้เป็นคู่เทศน์กันมานานจนรู้ทางหนีทีไล่กันอยู่ ข้าพเจ้านั่งฟังเก็บเกี่ยวความรู้จากท่านไว้ได้ไม่น้อย เมื่อจบจากการถามเรื่องพระวินัยอันเป็นพระพุทธบัญญัติแล้ว หลวงพี่พระครูสุภัทรธีรคุณก็หันมาถามเรื่องพระสูตรกับพระอานนท์ ถึงความเป็นมาของพรหมชาลสูตร ข้าพเจ้าชี้แจงว่า พรหมชาลสูตร สูตรว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ (หรือข่ายแห่งพรหมม) มีที่มาว่า พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เดินทางอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา มีปริพพาชก ( นักบวชนอกศาสนา) ชื่อสุปปิยะ พร้อมด้วยศิษย์ชื่อพรหมทัตมาณพ เดินทางมาข้างหลัง สุปปิยะ ปริพพาชก ติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ศิษย์กล่าวสรรเสริญ เมื่อถึงเวลากลางคืนภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันถึงเรื่องศิษย์อาจารย์กล่าวแย้งกันเรื่องสรรเสริญ ติเตียนพระรัตนตรัย พระผู้มีพระภาคทรงทราบจึงตรัสเตือนมิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย มิให้ยินดีหรือเหลิงเมื่อมีผู้สรรเสริญ แล้วตรัสว่า คนอาจกล่าวชมเชยพระองค์ด้วยศีล ๓ ชั้น คือศีลอย่างเล็กน้อย ศีลอย่างกลาง ศีลอย่างใหญ่..
หลวงพี่พระครูฯ ถามว่า “มีศีลเล็ก ศีลกลาง ศีลใหญ่ด้วยหรือ ไหนลองว่ามาซิ” ข้าพเจ้าก็ตอบตามแบบที่ว่าด้วย จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล โดยละเอียด ท่านก็ซักเป็นข้อ ๆ ไปจนจบ มีความยืดยาวมาก ไม่อาจนำมาแสดงในที่นี้ได้ สรุปลงตรงที่ว่า “ความจริงซึ่งมีอยู่คู่กับหมู่สัตว์เรียกว่า “โลกธรรม” มีอยู่ ๘ ประการคือ ๑. มีลาภ ๒. เสื่อมลาภ ๓. มียศ ๔. เสื่อมยศ ๕. สรรเสริญ ๖. นินทา ๗. สุข ๘. ทุกข์” พระพุทธองค์ตรัสว่าไม่ควรยินดี เมื่อมีลาภ มียศ ได้รับคำสรรเสริญ มีสุข และมิควรเสียใจ เมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และมีทุกข์ โดยให้พิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา มันเป็นของไม่เที่ยง ย่อมสลายไปในที่สุด
จบการเทศน์แล้วหลวงพี่พระครูปลัดสวง กล่าวชมว่า “ทั่นนันท์นี่เทศน์เก่ง สมกับที่เป็นนักเทศน์ภาคกลางที่มาจากดงนักเทศน์” ข้าพเจ้าก็ได้แต่กล่าวขอบคุณเท่านั้นเอง /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เป็น อยู่ คือ, malada, หยาดฟ้า, คิดถึงเสมอ, ลายเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๕๒ – วัดราชธานีเป็นวัดเปิด กล่าวคือมีถนนตัดผ่านกลางวัดดังได้กล่าวไปแล้ว ดังนั้นทั้งคนทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ จักรยาน สามล้อ คนเดินเท้าผ่านเข้าออกทั้งวันทั้งคืน รอบวัดมีอาคารร้านค้าเป็นอาคารไม้เก่าแก่มีอายุหลายสิบปี ตั้งเรียงรายเป็นเสมือนกำแพงวัด อาคารร้านค้าดังกล่าวตั้งอยู่ในที่ดินของวัด จึงเป็นของวัดโดยนิตินัย วัดจัดเก็บค่าเช่าได้จากอาคารร้านค้านั้นปีละไม่น้อย
ภายในวัดฟากฝั่งตะวันออกของถนนราชธานี มีบ่อปลาที่ประชาชนเข้าไปดูปลาและให้อาหารปลากันวันละไม่น้อยเช่นกัน ด้านเหนือของบ่อปลามีทางเดินเป็นถนนคอนกรีตเล็ก ๆ จากวิหารหลวงพ่อเป่าไปหมู่กุฏิสงฆ์ด้านตะวันออก ซึ่งรวมทั้งกุฏิของข้าพเจ้าและโรงเรียนวินัยสารที่หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณพักรับแขก ใกล้กุฏิของข้าพเจ้ามีต้นกระดังงาจีนหรือการเวกเลื้อยเป็นพุ่มใหญ่ร่มรื่น ใต้ซุ้มกระดังงานั้น หลวงพ่อเจ้าคุณท่านให้วางตั้งโต๊ะเป็นม้ายาวไว้สองข้างทางเดิน สถานที่ตรงนี้จึงกลายเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนในของคนที่มาดูปลา และมาติดต่อพระสงฆ์องค์เจ้า กับเป็นที่นั่งเล่นของพระเณร ข้าพเจ้าใช้เป็นที่รับแขกคนที่ไม่คุ้นเคย และนั่งเล่นยามว่างทั้งกลางวันและกลางคืน
ส่วนฟากฝั่งตะวันตกของถนนราชธานีด้านหลังองค์พระพุทธประทานพร เป็นศาลาการเปรียญหลังใหญ่แวดล้อมด้วยกุฏิสงฆ์ และเป็นที่พักอาศัยของคนไร้บ้าน ขี้เหล้าขี้ยาและคนวิกลจริต (คนบ้า) นอนกันอยู่ใต้ถุนศาลานี้ไม่น้อยเลย ข้าพเจ้าเห็นหญิงวิกลจริตวัยประมาณสามสิบปีเศษที่มานอนอยู่ใต้ถุนศาลาการเปรียญบ้าง นอนให้คอสะพานพระร่วงฝั่งวัดราชธานีบ้าง ได้ทราบว่าเธอถูกคนขี้เหล้าขี้ยาและคนถีบรถสามล้อ “กลัดมัน” ชำเราจนตั้งครรภ์ ยามท้องเธอหายจากวิกลจริตกลับเป็นคนปกติ ครั้นคลอดลูกแล้วเธอก็วิกลจริตอีก เป็นอย่างนี้อยู่อย่างซ้ำซาก จึงปรึกษาท่านสุธรรม วงศ์โดยหวัง ปลัดจังหวัดสุโขทัย ว่าจะช่วยหญิงคนนี้ได้อย่างไรบ้าง ท่านปลัดสุธรรมจึงปรึกษาในกรมการจังหวัด แล้วตกลงให้ฝ่ายประชาสงเคราะห์รับไปดูแลในที่สุด
มีชายคนหนึ่ง “บ้าเหมือนไม่บ้า” เขาเป็นชายร่างใหญ่ลักษณะดี มีอายุอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ อาศัยนอนอยู่แถวศาลาการเปรียญ คนในเมืองสุโขทัยรู้จักเขาเพียง “ตาฟุ้งบ้า” น้อยคนที่จะรู้ความเป็นมาของเขา การแต่งตัวของเขาดูเผิน ๆ ก็เหมือนพระหลวงตาองค์หนึ่ง เพราะเขานุ่งผ้าสบงของพระเป็นประจำ ข้าพเจ้าถามหลวงพ่อเจ้าคุณถึงความเป็นมาของตาฟุ้ง หลวงพ่อเจ้าคุณเล่าว่า เดิมทีสมัยยังหนุ่ม ตาฟุ้งเป็นพระนักเทศน์มหาชาติ รูปงาม เทศน์เก่งที่สุดคือกัณฑ์กุมาร หาตัวจับยาก อยู่มาเขานิมนต์ไปเทศน์ทางกำแพงเพชร กลับมาแล้วกลายเป็นคนเหม่อลอยแล้ววิกลจริตไป เขาว่ากันว่าตาฟุ้งถูกคู่เทศน์กระทำคุณไสย์ใส่ให้เป็นคนบ้าไปตั้งแต่หนุ่มจนแก่เขาเป็นอยู่ในสภาพนี้ ก็แสดงว่าตาฟุ้งยังเป็นพระอยู่ใช่ไหม ข้าพเจ้าถามด้วยความสงสัย หลวงพ่อเจ้าคุณหัวเราหึ ๆ ก่อนตอบว่า “ก็มันบ้า ใครจะสึกให้มันได้เล่า” ใช่เลย ตาฟุ้งยังเป็นพระ แต่เป็นพระบ้า พอผมยาวมาก ช่างตัดผมในตลาดก็จัดการเอาปัตตาเลี่ยนไถผมจนเลี่ยนโล้นดูเหมือนพระ มีคนต่างถิ่นที่ไม่รู้จักตาฟุ้งมาในวัดราชธานีพบเห็นก็ยกมือไหว้ด้วยเข้าใจว่าเป็นพระบ่อยมาก
เป็นเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่งว่ายุงไม่กัดกินเลือดตาฟุ้ง ในวัดราชธานีมียุงชุมมาก เพราะน้ำขังอยู่ในบ่อปลาและใต้ถุนกุฏิพระ เป็นที่เพาะลูกน้ำกำเนิดยุง ซุ้มกระดังงาใกล้กุฏิข้าพเจ้าก็มียุงมากทั้งกลางวันและกลางคืน เวลาไปนั่งพักผ่อนและพูดคุยกันต้องคอยปัดยุงที่มันมาตอมกินเลือด ตาฟุ้งแกชอบไปนั่งใต้ซุ้มกระดังงานี้ ข้าพเจ้าก็ชอบไปนั่งคุยกับแก บางวันก็ขอให้แกร้องแหล่เทศน์มหาชาติกัณฑ์กุมาร แกแหล่เพราะมากทีเดียว บอกให้แกลองแหล่กัณฑ์อื่น ๆ บ้าง แกก็ร้องให้ฟังนิด ๆ หน่อย ๆ แต่พอให้ร้องกัณฑ์ชูชกบ้างแกโบกมือไม่ยอมแหล่ แสดงว่าแกไม่ชอบชูชก ขณะคุยกันนั้นข้าพเจ้าต้องคอยปัดยุงที่มันมาตอดนิดตอดหน่อยจนอยู่ไม่สุข แต่ตาฟุ้งนั่งเฉย ถามแกว่ายุงไม่ตอมไม่กัดแกเหรอ แกก็ว่า ไม่มีเลย สังเกตดูก็จริงของแก ไม่เห็นยุงมาตอมเนื้อตัวของแกเลย ยุงมันไม่กินเลือดคนบ้า แปลกจริง ๆ พับผ่าซี่
เย็นวันหนึ่งข้าพเจ้านั่งอยู่ใต้ต้นกระดังงาที่เก่า ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องโหวกเหวกโวยวายอยู่ทางเหนือโบสถ์ จึงเดินไปดู เห็นตาฟุ้งยืนเซ่ออยู่ข้างห้องน้ำที่ล้อมด้วยสังกะสีหลังร้านช่างไม้ เมียสาวช่างไม้ยืนชี้หน้าตาฟุ้งร้องว่า “บ้า ๆๆๆ ตาฟุ้งบ้า ไปให้พ้นนะ” จึงเดินไปใกล้ถามว่าอะไรกันล่ะ ก็ตาฟุ้งบ้านี่ซิ ฉันเข้าห้องน้ำอยู่ พอเปิดประตูออกมา ตาฟุ้งยืนที่หน้าประตูแล้วบอกฉันว่า “ขอล่อทีนะ” บ้าแท้ ๆ ข้าพเจ้ารู้สึกขำขันมาก รีบจับมือแกจูงจากมาท่ามกลางเสียงด่าของเธอ เมื่อพาแกกลับมานั่งใต้ซุ้มกระดังงาแล้วถามว่า ทำไมแกไปขอเอาเขาดื้อ ๆ อย่างนั้นล่ะ แกบอกว่า “ก็มันเพลินดี” แสดงว่าแกเคยไปเที่ยวผู้หญิงมาบ้างแล้ว คิดรำพึงในใจว่า “เป็นพระบ้านี่ก็ดีนะ ทำผิดวินัยก็ไม่เป็นอาบัติ”
มีเรื่องขำขันเกี่ยวกับหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ คือเวลาบ่ายแก่ ๆ วันหนึ่ง ข้าพเจ้านั่งอยู่กับตาฟุ้งใต้ซุ้มกระดังงา วันนั้นหลวงพ่อเจ้าคุณนุ่งสบงใส่อังสะเหมือนหลวงตาทั่วไปที่อยู่ในวัดไม่ต้องห่มจีวร ท่านถือไม้กวาดไปกวาดลานพระพุทธประทาพรและถนนบริเวณนั้น ตามปกติท่านจะทำอย่างนั้นแบบวันเว้นวัน ขณะที่ท่านกำลังกวาดลานอยู่นั้น ก็มีชายวัยใกล้เคียงกับท่านคนหนึ่งเดินเข้ามา แสดงอาการอ่อนน้อมแล้วถามว่า “ท่านเจ้าคุณโบราณอยู่กุฏิไหนครับ” ท่านหยุดกวาดลานมองหน้าชายคนนั้นครู่หนึ่งแล้วชี้มือมาทางที่ข้าพเจ้ากับตาฟุ้งนั่งยู่ คล้ายจะบอกว่าอยู่กุฏิโน้น ชายคนนั้นทำท่าคำนับแล้วเดิน มาทางกุฏิหรือโรงเรียนวินัยสารที่หลวงพ่อเจ้าคุณพักอยู่ พอเดินมาถึงซุ้มกระดังงา เห็นตาฟุ้งนั่งอยู่กับข้าพเจ้า เขาเข้าใจว่าตาฟุ้งคือเจ้าคุณโบราณ จึงนั่งคุกเข่ากราบอย่างงาม ตาฟุ้งเห็นเช่นนั้นแทนที่จะห้าม กลับยกขาขึ้นนั่งไขว่ห้างวางท่าใหญ่โต ชายคนนั้นกราบแล้วกล่าวว่าท่านเจ้าคุณสยายดีหรือขอรับ ไม่เจอกันนานจนจำเกือบไม่ได้แน่ะ หลังจากหายตกตะลึงแล้ว ข้าพเจ้าถามว่า โยมมาจากไหนเนี่ย เขาว่ามาจากกรุงเทพแถบฝั่งธน เคยอยู่กับท่านเจ้าคุณโบราณ หลังจากท่านขึ้นมาสุโขทัยแล้วไม่ได้เจอกันเลย แต่ก็ติดตามข่าวคราวท่านอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้มีเวลาว่างจึงขึ้นมาเยี่ยมเยือนท่าน ข้าพเจ้าจึงบอกความจริงว่า พระองค์ที่กวาดลานวัดอยู่นั่นและคือท่านเจ้าคุณโบราณ คนนี้ไม่ใช่หรอกโยม เขารู้เช่นนั้นก็ตบอกผาง ปัดโธ่ เล่นตลกกับเพื่อนจนได้แหละนะ จากนั้นก็รีบลุกขึ้นเดินไปหาหลวงพ่อเจ้าคุณ ต่อว่าต่อขานกันอยู่ครู่หนึ่ง ก็พากันเดินกลับมาที่พักของหลวงพ่อเจ้าคุณ ทราบต่อมาว่าชายคนนั้นเป็นเพื่อนพระอยู่วัดอนงคารามด้วยกัน ลาสิกขาออกไปรับราชการ มีความชอบจนได้บรรดาศักดิ์เป็นท่านขุน นับว่าตาฟุ้งมีวาสนาดี แม้จะเป็นคนครึ่งดีครึ่งบ้าก็มีท่านขุนมากราบไหว้ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), malada, ลิตเติลเกิร์ล, มนชิดา พานิช, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๕๓ – การคมนาคมในสมัยเมื่อปี ๒๕๐๗ ถนนหนทางที่ยังไม่ดีมีมากนัก ชนบทของจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลกมีความคล้ายกันมาก บางแห่งข้าพเจ้าเดินทางไปเทศน์ด้วยความลำบาก เพราะไม่ใช่คนพื้นที่ ไม่รู้จักบ้านและถนนหนทางที่จะไป รับนิมนต์แล้วก็ต้องไป อย่างเช่นไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก พระเกรียงศักดิ์คู่เทศน์ทางวิทยุของข้าพเจ้าเป็นผู้รับนิมนต์โดยที่เขาเองก็ไม่รู้จักสถานที่ ผู้ไปนิมนต์ที่วัดเขาสมอแครงนั้นบอกว่า หมู่บ้านนี้อยู่เลยอำเภอบางระกำไปหน่อยเดียว เป็นหมู่บ้านที่ตั้งใหม่ ชาวบ้านเป็นคนที่เคลื่อนย้ายมาจากหลายังหวัดในภาคอีสาน ตั้งหลักฐานกันมั่นคงดีแล้วก็อยากมีวัดประจำหมู่บ้าน (จำไม่ผิด) คือหนองกุลาของพวกเขา สร้างกุฎีสงฆ์และศาลาที่บำเพ็ญบุญขึ้นแล้ว กำลังทำเรื่องขอตั้งวัดให้ถูกต้องเป็นทางการ ยังขาดทุนทรัพย์ที่จะดำเนินการต่อไป คณะกรรมการหมู่บ้านจึงจัดให้มีเทศน์รวบรวมเงินเป็นทุนสร้างวัดต่อไป เขาว่าอย่างนั้น พระเกรียงจึงรับนิมนต์และยืนยันว่าอภินันทภิกขุ ไปเทศน์ได้แน่นอน
วันนั้นนัดพระเกรียงศักดิ์พบกันที่ท่ารถบางระกำในเมืองพิษณุโลก แล้วนั่งรถเมล์ไปด้วยกัน ถึงวัดบางระกำเวลา ๑๐.๓๐ น. ลงจากรถถามทางที่จะไปบ้านหนองกุลาสถานที่เทศน์จนได้ความชัดแล้ว เดินเท้าไปตามถนนดินลูกรังออกจากตลาดบางระกำไปทางทิศตะวันตก เดินไปไม่นานถนนลูกรังก็หมด กลายเป็นทางล้อเกวียนเป็นหลุมเป็นบ่อ เดิน ๆ ไปบางตอนเป็นห้วงน้ำตื้น ๆ ต้องถอดรองเท้าเดินลุยน้ำลุยโคลน ทางเป็นดังกล่าวหลายช่วงตอน ทนเจ็บฝ่าเท้าเดินไปจนถึงบ้านหนองกุลาในเวลาเที่ยงวันเศษ พบว่ามีชาวบ้านมาชุมนุมกันอยู่ในวัดสร้างใหม่นั้นไม่น้อยกว่าร้อยคน พวกเขาดีใจที่เห็นว่าพระเทศน์มาแล้ว แต่ข้าพเจ้าไม่ดีใจ เพราะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปหมดทั้งกาย นั่งลงแล้วเขาเอาน้ำมาล้างเท้าและเช็ดเท้าให้ บางคนก็นวดเฟ้นเท้าอย่างเอาอกเอาใจ ให้พวกเรานอนพักสักครู่แล้วค่อยว่ากัน
ครั้นหายเหนื่อยแล้วลุกขึ้นพร้อมที่จะเทศน์ เขาจัดสำรับกับข้าวคาวหวานมาวางเพียบ หัวหน้าทายกกล่าวว่านิมนต์ฉันอาหารก่อนนะครับจะได้มีแรงเทศน์ ข้าพเจ้าควักนาฬิกาพกในย่ามออกมาดู เห็นเวลาแล้วบอกเขาว่า ฉันไม่ได้หรอก เลยเวลาเพลมาจนจะถึงบ่ายโมงแล้ว หลายคนในที่นั้นประสานเสียงกันว่า “ฉันได้ครับ” หัวหน้าทายกกล่าวอย่างผู้รู้ดีว่า “อาบัติปาจิตตีย์มันเล็กน้อยครับ บี้มดตาย ตบยุงตาย ก็เป็นอาบัติตัวเดียวกับฉันอาหารในเวลาวิกาลนี่แหละ คนที่นี่เขาไม่ถือสาหาความกันหรอกครับ” ข้าพเจ้ามองหน้าพระเกรียงศักดิ์เชิงปรึกษา เขาพะยักหน้ารับ จึงต้องฉันอาหารตามความประสงค์ของพวกเขา วันนั้นอาหารของเขาอร่อยมาก อาจเป็นเพราะเหนื่อยและหิวนั่นแหละ ทำให้อาหารอร่อย
ข้าพเจ้าเริ่มเทศน์ปุจฉา-วิสัชนากันเมื่อเวลาบ่ายเกือบสองโมงแล้ว วันนี้เราเทศน์ถามตอบกันเรื่องสวรรค์ ว่าสวรรค์คืออะไร อยู่ที่ไหน ดีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะได้ไปเกิดในสวรรค์ คำถามหัวข้อใหญ่มีเท่านี้ แต่คำตอบและคำซักแทรกมีมากมาย เราถามตอบ ขัดแย้งกันอย่างสนุกถูกอกถูกใจคนฟัง ว่ากันเพลินไปจบเอาตอนบ่ายเกือบห้าโมงเย็นเลยทีเดียว จบการเทศน์แล้วกรรมการวัดเขาตรวจนับจำนวนเงินที่ติดกัณฑ์เทศน์ได้ห้าหมื่นบาทเศษ ส่วนใหญ่มาจากซองฎีกาที่เขาแจกไปทั่วหมู่บ้านนั้นและหมู่บ้านใกล้เคียง เงินทั้งหมดนั้นข้าพเจ้ากับพระเกรียงศักดิ์ไม่รับใส่ตน ให้เขาเก็บสมทบทุนสร้างวัดต่อไป แต่ทายกก็ขอเจียดมาถวายเป็นค่าเดินทางของพวกเราองค์ละ ๑๐๐ บาท
เทศน์เสร็จสิ้นแล้วเดินทางกลับยังไม่ได้ เพราะเวลาใกล้ค่ำเสียแล้ว จึงนอนค้างคืนที่วัดหรือสำนักสงฆ์บ้านหนองกุลานั้นคืนหนึ่ง คุยกับทายกและกรรมการวัดก่อนนอนแล้วทราบว่าหัวหน้าทายกและกรรมการหลายคนเป็นนักบวช ทายกเป็นอดีตพระมหาเปรียญ ๕ ประโยค คนอื่น ๆ เป็นอดีตพระมหาบ้าง พระนักธรรมบ้าง มิน่าล่ะเขาจึงรู้ระเบียบวินัยพระเป็นอย่างดี รุ่งขึ้นฉันอาหารเช้าเสร็จแล้วเดินเท้ากลับในทางเดิมจนถึงวัดบางระกำ ขออนุญาตพระที่วัดนั้นล้างเท้าที่เปื้อนโคลน แล้วก็รอเวลารถเมล์ออกจากบางระกำเข้าเมืองพิษณุโลก และต่อไปวัดเขาสมอแครง วังทอง การเดินทางมหาวิบากไปเทศน์ที่หนองกุลาครั้งนี้ ข้าพเจ้าจำได้จนตายเลยก็แล้วกัน /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๕๔ - ผู้บริหารงานปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากพระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยแล้ว พระครูสุขวโรทัย (ห้อม อมโร) วัดคูหาสุวรรณ เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย พระครูสุภัทรธีรคุณ (ดำรงค์ พทฺธญาโณ) เจ้าอาวาสวัดไทยชุมพล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย สำหรับหลวงพ่อห้อม อมโร องค์นี้ท่านเป็นชาวบ้านสวน อ.เมืองสุโขทัย และเป็นศิษย์หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณคู่กับหลวงพ่อปี้ (พระครูสุวิชาญวรวุฒิ) วัดลานหอย ต่างกันที่กาลนั้นหลวงพ่อปี้เป็นพระเกจิอาจารย์มีชื่อเสียงโด่งดัง ส่วนหลวงพ่อห้อมเป็นนักปกครองและนักเทศน์ ไม่สนใจเรื่องไสยศาสตร์มากนัก ซ้ำยังตำหนิหลวงพ่อปี้ว่าสร้างเหรียญรูปตัวเองแจกคนทั่วไป เป็นเรื่องไม่ดี ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กเกินกว่าที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้ ก็ได้แต่ฟังไว้เท่านั้น
หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณยังตรวจเยี่ยมวัดในจังหวัดสุโขทัยไม่ครบถ้วน ยามนายสมเจ้าของและคนขับรถว่าง และข้าพเจ้าว่างวันใด ท่านก็จะชวนไปตรวจเยี่ยมวัดต่อ วัดที่ท่านต้องการไปตรวจเยี่ยมนั้นจะเลือกวัดที่อยู่นอกเมืองซึ่งห่างไกลความเจริญ ส่วนวัดในเมืองจะละเว้นไว้ วันหนึ่งไปตรวจวัดในท้องที่อำเภอสวรรคโลก ออกพ้นตลาดเมืองสวรรคโลกไปไม่ไกลนักเป็นบริเวณไร่อันกว้างใหญ่ที่เขาเรียกกันว่าไร่ขุนเพ่ง หลวงพ่อคุณโบราณต้องการไปที่นั้น ท่านบอกว่าในพื้นที่แถบนั้นเป็นเมืองโบราณ มีอายุสมัยทวาราวดีเลยทีเดียว ท่านอยากไปดูวัดที่ทราบว่ามีอยู่บ้าง ข้าพเจ้าไม่เคยรู้เรื่องโบราณจึงได้แต่ตามท่านไป ดูซากวัดร้างหลายแห่งจนไปถึงวัดแห่งหนึ่งเป็นวัดเก่า แต่ไม่มีเจดีย์ โบสถ์เก่าแก่อะไรเหลืออยู่แล้ว มีแต่กุฏิสงฆ์สมัยใหม่อยู่สามหลัง ศาลาหลังหนึ่ง มีพระหลวงตาเฝ้าวัดอยู่องค์เดียว
จำชื่อวัดได้เลา ๆ ว่า “ไม้แดง” หรือ “แม่น้ำเก่า” อะไรนี่แหละ ที่จำได้แม่น ๆ คือพระหลวงตาองค์นั้นชื่อหลวงตา “กรอ” เราไปถึงวัดนี้เวลาประมาณบ่าย ๔ โมงเห็นจะได้ หลวงตากรอเห็นรถจิ๊ปพาพระหลวงตากับพระหนุ่มเข้าไปจอดในวัดดังนั้น ก็ลงจากกุฏิมาต้อนรับ หลวงพ่อเจ้าคุณยังไม่ขึ้นกุฏิ แต่เดินดูบริเวณวัดนั้น แลเห็นร่องรอยความเก่าแก่ของสถานที่นั้นอย่างชัดเจน ท่านเล่าว่าบริเวณนี้เป็นเมืองโบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้ว สมัยเมื่อประมาณเกือบพันปีมาแล้วมีแม่น้ำยมไหลผ่านพื้นที่นี้ ซึ่งเป็นเมืองยุคก่อนสุโขทัย ดูเหมือนสายน้ำจะเลี้ยวตรงบริเวณบ้านป่ากุมเกาะ ไหลผ่านตัวเมืองทางนี้ไปทางคลองมะพลับ แล้วเลี้ยวคดโค้งไปมาผ่านเขตแดนพิษณุโลกไปถึงบางระกำโน้น ต่อมาแม่น้ำยมเปลี่ยนทางไหลลงไปวังไม้ขอนผ่านคลองตาลลงไปธานี แล้วไปรวมกับแม่ยมสายเก่าที่บางระกำ แม่น้ำยมสายเก่าจึงตื้นเขินเหลือแต่เพียงชื่อว่า “ แม่น้ำเก่า” อย่างที่เห็นนี่แหละ
เดินดูบริเวณวัดจนทั่วแล้วก็ขึ้นกุฏิ หลวงตากรอที่กำลังต้มน้ำร้อนด้วยเตาฟืนแล้วใส่กาชง เอาเถาวัลย์เปรียงย่างไฟจนหอมแล้วใส่กาชงแทนใบชาจีน ชงน้ำชาไปท่านบ่นไปว่าอยู่บ้านนอกหาชาจีนกินเหมือนในเมือง ไม่ได้ต้องใช้เถาวัลย์เปรียงบ้าง รางแดงบ้าง ใบไม้อื่น ๆ บ้าง จัดการเรื่องน้ำชาเสร็จหลวงตาก็เข้ามานั่งคุย ถามหลวงพ่อเจ้าคุณว่า มาจากไหนหรือครับ ข้าพเจ้าตอบแทนว่ามาจากเมืองสุโขทัย ท่านร้องอ้อ แล้วถามต่อว่าอยู่วัดอะไรล่ะ “วัดราชธานี” ข้าพเจ้าตอบแทนหลวงพ่อเจ้าคุณอีก หลวงตาร้องอ๋อ วัดนี้ผมรู้จัก เคยไปบ่อย ๆ มีบ่อปลาใหญ่มาก เจ้าอาวาสวัดนี้ชื่อเจ้าคุณโบราณ ท่านเป็นคนดุมาก ผมเคยเข้าไปกราบท่านหลายครั้งแล้ว ข้าพเจ้าถามท่านว่า หลวงตาจำท่านเจ้าคุณโบราณได้ไหม ท่านว่าจำได้ซี เข้าไปกราบท่านตั้งหลายครั้งแล้วทำไมจะจำไม่ได้ล่ะ หลวงพ่อเจ้าคุณฟังแล้วก็หัวเราะหึ ๆ ข้าพเจ้ากลั้นหัวเราะไม่อยู่จนปล่อยก้ากออกมา ท่านหันมามองข้าพเจ้าเหมือนจะถามว่าขำอะไรเหรอ ข้าพเจ้าจึงบอกความจริงให้หลวงตาทราบว่า องค์ที่นั่งอยู่นี่แหละคือเจ้าคุณโบราณ ท่านเลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราชชื่อ พระราชประสิทธิคุณ ปีนี้ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยแทนเจ้าคุณสวรรควรนายกแล้ว วันนี้มาตรวจเยี่ยมวัดในอำเภอสวรรคโลก หลวงตากรอทราบดังนั้นก็ตกใจที่ “จุดไต้ตำตอ” รีบลุกขึ้นเข้าไปในห้องห่มจีวรเฉวียงบ่าเรียบร้อย ออกมากราบหลวงพ่อเจ้าคุณพร้อมกล่าวขออภัยที่ไม่ทราบ หลวงพ่อเจ้าคุณก็มิได้ถือสาหาความอะไร คืนนั้นนอนค้างแรมที่วัดหลวงตากรอ ฟังหลวงตาเล่าเรื่องคนที่เป็นเสือร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะเสือแมว ข้าพเจ้าฟังจนหลับไปเลย
รุ่งเช้าฉันอาหารแบบ “ตามมีตามเกิด” แล้วลาหลวงตากรอ หลวงตาเอาพระเครื่องเนื้อดินเผาองค์เล็ก ๆ ขนาดนิ้วหัวแม่มือที่ได้จากซากวัดเก่า ๆ ในย่านนั้น โดยชาวบ้านที่ขุดถางที่ทำไร่ทำนากัน พระอะไรบ้างจำได้ไม่หมด ที่ยังจำได้คือพระดอนลาน โป่งมะขาม ไม่มีหน้าไม่มีตาเลยสักองค์เดียว ท่านเอามาถวายหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณที่ข้าพเจ้าประมาณดูในห่อผ้านั้นคงไม่น้อยกว่าร้อยองค์ทีเดียว จากหลวงตากรอแล้วก็เลยไปวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม ตำบลศรีนคร ที่นี้เป็นเมืองโบราณอีกแห่งหนี่งตามความที่บันทึกกันไว้ว่า “ศรีนครมีอายุทางโบราณคดีสมัยยุคประวัติศาสตร์ตอนปลาย ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการตั้งชุมชนอยู่บริเวณเขาเขน เขากา ชุมชนบ้านบึงเหนือ เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว พื้นที่ดังกล่าวได้มีการส่งผ่านอารยธรรมของอินเดีย ซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น ร่วมกาลสมัยท่ามกลางนครหรือเมืองที่เลื่องชื่ออันเป็นที่รู้จักทั่วไป เช่น เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) เมืองบางขลัง เมืองพิชัย เป็นต้น เดิมศรีนครเป็นเพียงหมู่บ้านแห่งหนึ่งของตำบลนครเดิฐซึ่งขึ้นตรงกับอำเภอสวรรคโลก และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้แบ่งพื้นที่ตำบลนครเดิฐตั้งเป็น ตำบลศรีนคร จากนาม "นครเดิฐ" สู่นาม "คลองมะพลับ" และมาเป็นนาม "ศรีนคร " ในที่สุด”
ข้าพเจ้าได้รู้จักเมืองโบราณที่มีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ปี อีกเมืองหนึ่งคือ นครเดิมหรือนครเดิฐ ในบริเวณเขาเขน เขากา นี่เอง นอนค้างแรมที่วัดราษฎร์ศรัทธาธรรมคืนหนึ่ง รุ่งเช้าฉันอาหารแล้วไปดูที่ตั้งเมืองนครเดิฐ เขาเขน เขากา แล้วเดินทางกลับวัดราชธานีในที่สุด /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๕๕ - ข้าพเจ้าเตรียมเปิดสอนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมที่วัดราชธานี เป็นการพลิกฟื้นการเรียนการสอนที่สลบซบไปนานหลายปีให้กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง สำรวจดูพระที่มีภูมินักธรรมหลายองค์ที่คิดว่าพอจะสอนนักธรรมได้ ทางฟากฝั่งตะวันตกที่ข้าพเจ้าเรียกว่าคณะศาลาการเปรียญมีพระนักธรรมชั้นเอก ๑ องค์ นักธรรมชั้นโท ๑ องค์ นักธรรมชั้นตรี ๒ องค์ ถามท่านว่าจะสอนนักธรรมชั้นตรีได้ไหม ทุกองค์ปฏิเสธว่าสอนไม่ได้ เพราะไม่เคยสอน ทางฟากฝั่งตะวันออกมีพระนักธรรมชั้นเอก ๔ องค์ พระมหาเปรียญธรรม ๔ ประโยค ๑ องค์ ทุกองค์รับว่าสอนนักธรรมได้ ยกเว้นพระครูสมุห์แถว เลขานุการเจ้าคณะจังหวัด ท่านขอตัวไม่สอน จึงเป็นอันว่ามีพระที่จะสอนนักธรรมได้ ๔ องค์ คือเจ้าอธิการบุญมี พระมหาคำสิงห์ พระไพฑูรย์ และข้าพเจ้า ๔ องค์ ก็พอดีกับวิชาตามหลักสูตรนักธรรม เราแบ่งหน้าที่กันสอนคนละวิชา เจ้าอธิการบุญมีขอสอนวิชาวินัย พระไพทูรย์ขอสอนวิชาพุทธประวัติ พระมหาคำสิงห์ขอสอนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม เหลือวิชาธรรมวิภาค ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้สอน
พระเจ้าอธิการบุญมี เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา ได้มาอยู่วัดราชธานีตั้งแต่สมัยยังหนุ่มจนถึงปีนั้น (๒๕๐๘) อายุท่านประมาณ ๗๐ ปีแล้ว ทางการคณะสงฆ์แต่งตั้งท่านให้เป็นเจ้าคณะตำบลธานี ตำแหน่งเจ้าคณะตำบล เมื่อเทียบกับทางบ้านเมืองก็เท่ากับกำนัน ถ้าไม่มีสมณศักดิ์จะเรียกว่า “เจ้าอธิการ” ส่วนเจ้าอาวาสนั้นเทียบทางฝ่ายบ้านเมืองก็คือผู้ใหญ่บ้าน ถ้าไม่มีสมณศักดิ์จะเรียกว่า “เจ้าอาวาส” ดังนั้นพระบุญมีไม่มีสมณศักดิ์ เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลจึงต้องเรียกท่านว่า “เจ้าอธิการบุญมี” ทางเจ้าคณะจังหวัดเคยเสนอขอสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรหลายครั้งแล้วยังไม่ได้ เคยถามพลวงพ่อห้อมซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองอยู่สมัยนั้นว่า ทำไมเจ้าอธิการบุญมีจึงไม่ได้เป็นพระครูสัญญาบัตรเช่นเจ้าคณะตำบลอื่น ๆ ท่านบอกว่าอาจารย์บุญมีเป็นคนแข็งกร้าว ดื้อรั้น เข้ากับใครไม่ค่อยได้ จึงต้องอยู่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
เจ้าอธิการบุญมีเป็นพระที่มีความจำดีมากองค์หนึ่ง ท่านเป็นนักเทศน์ที่ชอบเอาชนะคู่เทศน์ด้วยหลักฐานตามตำรา ไม่มีสำนวนโวหารไหวพริบปฏิภาณอย่างนักเทศน์ที่ดีทั่วไป จึงไม่ค่อยมีใครนิมนต์ท่านเทศน์ ว่ากันว่าสมัยนั้นมีพระมหาเปรียญ ๘ ประโยคองค์หนึ่งอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นนักเทศชื่อดังมาเทศน์ในสุโขทัย และเทศน์คู่ปุจฉา-วิสัชนากับเจ้าอธิการบุญมี ถูกเจ้าอธิการบุญมีงัดตำราขึ้นมาถามจนพระมหารูปนั้นตอบไม่ได้ ลงธรรมาสน์หนีไปเลย ที่เป็นจุดด้อยของท่านอีกอย่างหนึ่งคือเป็นคนหูค่อนข้างตึง เขาเล่าให้ฟังอย่างนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้นิสัยของท่านดีขึ้นอีกหน่อย วิตกอยู่เหมือนกันว่าท่านจะสอนวิชาวินัยแก่พระนักเรียนได้อย่างไรหนอ? ปกติของเจ้าอธิการบุญมีอย่างหนึ่งคือ ทุกยามค่ำของวันโกนและเช้ามืดของวันพระ ท่านจะขึ้นไปบนศาลาการเปรียญ ให้เจ้าหน้าที่คุมเครื่องเสียงของวัดเปิดเครื่องกระจายเสียง แล้วท่านก็จะพูดโฆษณาชักชวนให้คนมาทำบุญ คำที่ท่านพูดเริ่มต้นจนทุกคนจำกันได้หมดคือ “เสียงที่ลอยเวียนวนอยู่ในอากาศขณะนี้เป็นเสียงบุญจากวัดราชธานี......” แล้วก็พูดพล่ามไปตามใจคิดของท่านจนน่ารำคาญ บางวันหลวงพ่อเจ้าคุณต้องให้คนไปปิดเครื่องกระจายเสียงเลยก็มี
ข้าพเจ้านึกแปลกใจอยู่ว่า พระในจังหวัดสุโขทัยเรียนนักธรรมและสอบความรู้ได้ชั้นตรี โท เอก หลายองค์ แต่ส่วนมากท่านสอบได้วุฒินักธรรมแล้วสอนนักธรรมไม่ได้ วัดคูหาสุวรรณมีพระนักธรรมเอก ๒ เป็นฐานานุกรมเจ้าคณะอำเภอที่พระสมุห์องค์หนึ่ง พระใบฎีกาองค์หนึ่ง แต่ท่านก็ไม่ยอมสอนนักธรรม แม้หลวงพี่มหาบุญเหลือท่านก็ไม่ยอมสอนนักธรรม อ้างว่าไม่เคยสอน หลวงพ่อห้อมท่านเคยสอนมาก่อน แต่เลิกสอนไปเมื่อมีตำแหน่งบริหารงานปกครองคณะสงฆ์มากขึ้น ในปีที่ข้าพเจ้าจะเปิดสอนนักธรรมที่วัดราชธานีนั้น หลวงพ่อห้อมสนับสนุนเต็มที่โดยการจะให้พระเณรวัดคูหาสุวรรณมาร่วมเรียนที่วัดราชธานีด้วย กำหนดเปิดการเรียนการสอนก่อนวันเข้าพรรษา ๑ สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อให้พระบวชใหม่ปีนั้นได้เข้าเรียนโดยทั่วกัน
เมื่อมีการเตรียมเปิดโรงเรียนนักธรรมล่วงหน้าเป็นเวลาหลายเดือนอย่างนั้น ทำให้มีญาติโยมนำเด็ก ๆ มาบวชเณรเพื่อนเรียนนักธรรมที่วัดราชธานีจำนวนหนึ่ง นาคที่จะบวชพระเอาพรรษาปีนั้นมาขอบวชอยู่วัดราชธานีอีกจำนวนหนึ่ง พระครูสมุห์แถวเลขาฯ วัดและเลขาฯ เจ้าคณะจังหวัดต้องรับภาระในการดูแลด้านสวัสดิการและปกครองพระเณรของวัดเพิ่มมากขึ้น ข้าพเจ้ารับผิดชอบเฉพาะบริหารการศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น ไม่หนักหนาอะไร จึงทำงานตามปกติคือเทศน์ทางวิทยุ สอนศีลธรรมนักเรียนวัดคูหาสุวรรณ และรับนิมนต์เทศน์ทั่วไป
การสอนศีลธรรมนักเรียนนั้น ข้าพเจ้าขอให้พระไพฑูรย์ช่วยสอนอีกคนหนึ่ง พระไพฑูรย์องค์นี้มีความรู้ดี เป็นชาวจังหวัดอ่างทองบ้านเดียวกับหลวงพ่อเจ้าคุณ ก่อนจะขึ้นมาอยู่สุโขทัยท่านอยู่กับหลวงพ่อปัญญานันทะ วัดชลประทานฯหัดแสดงปาฐกถาอยู่นานปี แต่ท่านเป็นค่อนข้าง “ทึ่ม” ไปหน่อย ไม่มีไหวพริบปฏิภาณมากนัก จึงลาหลวงพ่อปัญญานันทะขึ้นมาอยู่วัดราชธานีในปีเดียวกับข้าพเจ้า มาถึงวัดนี้หลังข้าพเจ้า ๕ วัน หลวงพ่อเจ้าคุณให้อยู่กุฏิเดียวกับข้าพเจ้า อยู่ร่วมกันจนคุ้นเคยแล้วเห็นว่าน่าจะช่วยงานสอนได้ จึงขอให้ไปช่วยสอนศีลธรรมนักเรียน วันหนึ่งเขากลับมาจากการสอนนักเรียนแล้วพูดกับข้าพเจ้าว่า ไม่อยากสอนนักเรียนแล้ว ถามว่า ทำไมละ เขาก็เล่าให้ฟังว่า เล่านิทานชาดกเรื่อง สามสหาย ช้าง ลิง นกกระทา ในติตติรชาดก ว่าด้วยความเคารพอ่อนน้อม จบแล้วนักเรียนหญิงถามว่า สมัยก่อนสัตว์ต่าง ๆ ทำไมมันพูดกันรู้เรื่อง แม้คนกับสัตว์ก็พูดกันรู้เรื่อง สมัยนี้ทำไมพูดกันไม่รู้เรื่องเลย ถามบ้า ๆ เราเทศน์ให้คนฟังมาเยอะแล้วไม่เห็นมีใครสงสัยอย่างนี้เลย จึงถามเขาว่า แล้วท่านตอบเด็กว่าไงล่ะ ไม่ตอบหรอก บอกเด็กว่าเอาเรื่องนี้ไว้ถามอาจารย์อภินันท์เถอะ เป็นอย่างนั้นไปได้นี่เพื่อนเรา ถามห้องเรียนที่เขาทิ้งปัญหาไว้นั้น แล้ววันต่อ ๆ มาข้าพเจ้าจึงเข้าไปสอน ถามเด็กว่ามีนักเรียนสงสัยเรื่องสัตว์ คน พูดกันได้รู้เรื่องอย่างไรใช่ไหม นักเรียนขานรับพร้อมกันว่าใช่แล้ว อาจารย์ไพฑูรย์ไม่ยอมตอบคำถามนี้ บอกให้รอถามอาจารย์อภินันท์ค่ะ
ข้าพเจ้าจึงอธิบายถึงเรื่องภาษาที่สื่อสารให้รู้กัน เริ่มจากสายตาที่มองดูกันแล้วรู้ความหมายของกันและกัน ว่าชอบหรือไม่ชอบ รักใครเกลียดโกรธ สายตาจะบอกให้รู้หมด อาการกิริยาแสดงออกให้รู้ เช่น พยักหน้า สั่นหัว เมินหน้า หน้ายิ้มแย้มแจ่มใส หน้าบึ้งขึงเคียด แสดงออกเป็นเสียงต่าง ๆ และขีดเขียนเป็นลายเส้น (ลายสือ) เหล่านี้เรียกว่าภาษาที่แสดงออกทางกาย และวาจา แล้วพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ สัตว์เดรัจฉาน แปลว่าผู้ไปขวาง ๆ คือเดินสี่เท้าบ้าง เลื้อยคลานบ้าง บินบ้าง ว่ายน้ำบ้าง สัตว์มนุษย์คือคน เดินด้วยสองเท้ายืนตัวตรง สัตว์ทั้งสองหมู่นี้เดิมพูดภาษาเดียวกัน เริ่มจากสายตา อาการกิริยา แล้วเสียง สมัยดึกดำบรรพ์นานมาเป็นล้าน ๆ ปีนั้น สัตว์มีจำนวนมากนักและรวมกันอยู่ พูดคุยกันรู้เรื่องด้วยภาษาเดียวกันดังกล่าวแล้ว ต่อมาโลกเจริญขึ้น สัตว์ประเภทมนุษย์ (แปลว่าผู้มีใจสูง) ฉลาดกว่าสัตว์เดรัจฉาน จึงพัฒนาภาษาของตนขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ในแต่ละกลุ่มก็สร้างภาษาขึ้นมาใช้ในกลุ่มของตน เช่น ลาว เขมร มอญ จีน ฝรั่งเป็นต้น สัตว์เดรัจฉานพัฒนาภาษาตามไม่ทัน ปัจจุบันจึงพูดภาษาเสียงกับคนไม่รู้ แต่อาการกิริยา สายตายังใช้สื่อสารกันได้อยู่ นักเรียนสามารถพูดกับหมา แมว ด้วยสายอาการกิริยา รู้เรื่องไหม สาเหตุที่สัตว์กับคนพูดกันไม่ได้ อาจารย์คิดว่า คนรังแกสัตว์มากไป มันก็เลยไม่อยากพูดด้วย เมื่อไม่พูดด้วยนาน ๆ ก็เลยพูดไม่ได้ คิดอย่างนี้ถูกผิดอย่างไร พวกเธอก็ลองไปคิดดูเองก็แล้วกันนะ ข้าพเจ้าอธิบายรายละเอียดมากกว่าที่นำมาเขียนนี้มากนัก เปิดโอกาส ให้พวกเขาซักถามกันจนพอใจแล้วจบรายการ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
ีเรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๕๖ – พระเกรียงศักดิ์คู่ (หู) เทศน์ทางวิทยุของข้าพเจ้ารับเทศน์ในที่ทุรกันดารอีกครั้งที่บ้านท่าหมื่นราม อำเภอวังทอง คนที่มานิมนต์บอกว่าที่นี่เป็นหมู่บ้านใหญ่อยู่ใกล้ถ้ำหินสวยงาม มีหินงอกหินย้อยดูพรายพราวเหมือนเพชรพลอยหลากสี มีธารธารน้ำไหลใสสวย ป่าไม้ร่มรื่นชื่นเย็น พระเกรียงศักดิ์อยากไปชมความงามตามที่เขาพรรณนาจึงรับนิมนต์ไปเทศน์ก่อนสงกรานต์ ๓ วัน เดินทางโดยรถประจำทาง (สองแถว) วังทอง-ท่าหมื่นราม ออกจากตลาดวังทองบ่ายมากโขแล้ว เขาบอกให้ไปนอนค้างคืนก่อนถึงวันเทศน์ ไปตามเส้นทางสายวังทอง-สากเหล็ก เป็นถนนดินลูกรัง บางตอนเป็นหลุมเป็นบ่อ ผ่านดงดินทอง หนองคล้า ถึงวัดตายม เลี้ยวซ้ายไปบ้านท่าหมื่นราม ทางช่วงตอนนี้น่าจะเป็นทางเกวียนมากกว่าถนน ผู้โดยสารรถทั้งพระและฆราวาสเนื้อตัวมอมแมมด้วยฝุ่นดินลูกรัง เมื่อไปถึงวัดท่าหมื่นรามแล้วต้องรีบเปลื้องจีวรให้เขาสะบัดฝุ่นออกผึ่งแดดลมไว้ อาบน้ำล้างคราบฝุ่นให้เรียบร้อยแล้วพักผ่อนคลายความอ่อนเพลีย
บ้านท่าหมื่นรามยามนั้นมีสภาพเป็น “บ้านป่าขาดอน” อันบริสุทธิ์ที่ยังไม่ถูกอารยธรรมสมัยใหม่เข้าไปทำลายมากนัก ชาวบ้านล้วนมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง มีบ้านเรือนหลายร้อยหลังคาเรือน ประชากรมีประมาณหมื่นคนทีเดียว แม้จะเป็นหมู่บ้านเก่าและใหญ่ แต่ความเจริญด้านเครื่องอุปโภคบริโภคยังเข้าไปไม่ถึงเท่าที่ควร วัดวาอารามยังรอการอุปถัมภ์บำรุงอยู่อย่างค่อนขัดสน ข้าพเจ้าฟังชาวบ้านบอกเล่าเรื่องของถ้ำท่าหมื่นรามอันน่าอัศจรรย์พันลึก คิดอยากรู้อยากเห็นแล้วนอนหลับไป
รุ่งขึ้นเช้าตื่นนอนด้วยความสดชื่น ฉันอาหารแบบบ้าน ๆ แล้วเตรียมเรื่องที่จะเทศน์ในบ่ายวันนั้น ตกลงกันว่าจะเทศน์ปุจฉา-วิสัชนากันในเรื่องที่มาของสงกรานต์ตามตำนาน โดยข้าพเจ้าเป็นผู้ซักถาม พระเกรียงศักดิ์เป็นผู้ตอบ เล่าเรื่องตามตำนานที่ว่า
“เศรษฐีฐานะร่ำรวยคนหนึ่ง ไม่มีบุตร จึงไปบวงสรวงขอบุตรกับพระอาทิตย์ และพระจันทร์ แต่รอหลายปีก็ไม่มีบุตรสักที จนกระทั่งถึงฤดูร้อนปีหนึ่ง เศรษฐีได้นำข้าวสารซาวน้ำ ๗ สี หุงบูชารุกขพระไทร พร้อมเครื่องถวาย และการประโคมดนตรี โดยได้ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร พระไทรได้ฟังก็เห็นใจ จึงไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้เศรษฐี ต่อมาเศรษฐีได้บุตรชาย และตั้งชื่อว่า "ธรรมบาลกุมาร" ธรรมบาลกุมารเป็นคนฉลาดหลักแหลม จนมีชื่อเสียงร่ำลือไปไกล ทำให้ท้าวกบิลพรหมทราบเรื่องจึงลงมาท้าทายปัญญ า โดยได้ถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร ให้เวลา ๗ วัน หากฝ่ายใดแพ้จะต้องตัดศีรษะบูชา ท้ายที่สุดธรรมบาลกุมารสามารถตอบปัญหาได้ ท้าวกบิลพรหมจึงต้องเป็นฝ่ายตัดศีรษะ
วางโครงเรื่องที่จะเทศน์กันเสร็จแล้วก็พักผ่อนตามสบาย บ่ายโมงถึงเวลาเทศน์เราก็ขึ้นเทศน์กัน วันนั้นมีคนฟังมานั่งฟังเทศน์กันเต็มศาลาเลยทีเดียว อาจจะเป็นเพราะเขาอยากเห็นหน้าค่าตาของพระเทศน์ที่ได้ฟังเสียงทางวิทยุเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ก็ได้ เห็นคนมานั่งฟังกันมากอย่างนั้น พวกเราก็มีกำลังใจจึงเทศน์ถามตอบกันอย่างสนุก ข้าพเจ้าซักถามตั้งแต่เศรษฐีไม่มีบุตรเพราะทำเวรกรรมอะไรไว้ พระเกรียงฉลาดตอบ โดยเลี่ยงกรรมเก่าแต่เอากรรมใหม่ คือ หลักวิทยาศาสตร์มาตอบอธิบายจนเอาตัวรอดได้ มาถึงเรื่องธรรมบาลกุมารก็ให้พระเกรียงศักดิ์กล่าวตามตำนานที่ปรากฎในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ โดยย่อว่า ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้ที่รู้ภาษานกแล้ว เรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ซึ่งในขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่งว่า เป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง ข่าวธรรมบาลกุมารแสดงมงคลแก่มนุษย์ได้ทราบไปถึงกบิลพรหม จึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ สัญญาไว้ว่ า ถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ปัญหานั้นว่า ข้อ ๑.เช้าราศีอยู่แห่งใด ข้อ ๒.เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ข้อ ๓. ค่ำราศีอยู่แห่งใด ธรรมบาลขอผลัด ๗ วัน ครั้นล่วงไปได้ ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรี ๒ ตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไร สามีจึงบอกว่า ปัญหาว่าเช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่า จะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า ธรรมบาลเรียนรู้ภาษานกดียู่แล้วได้ฟังดังนั้นก็จดจำไว้
ครั้นรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาร ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งไว้ในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้แล้ว แห่ทำประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่าง ๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการชื่อภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมุลาด ลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ พระองค์ ครั้นถึงครบกำหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์นางเทพธิดาเจ็ดองค์ จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ซึ่งลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น เราสมมติเรียกว่า นางสงกรานต์ มีชื่อต่าง ๆ ดังนี้ ทุงษ, โคราค, รากษส, มัณฑา, กิริณี, กิมิทา และ มโหทร”
ปล่อยให้พระเกรียงศักดิ์เล่าความตามตำนานยืดยาวแล้ว มาถามเรื่องนางสงกรานต์ว่า วันสงกรานต์ตรงกับวันอาทิตย์นางสงกรานต์จะชื่ออะไร พระเกรียงศักดิ์ก็ตอบเรียงไปได้ไม่ตกหล่น จากนั้นก็ถามเรื่องกำหนดเวลาของสงกรานต์ ถามเรื่องข้อควรปฏิบัติเกี่ยวกับสงกรานต์ และอื่น ๆ อีกพอสมควร แล้วสรุปความโดยผู้ถาม พอสมควรแก่เวลาก็ เอวัง..... จบการเทศน์เวลาบ่าย ๓ โมงเศษเพื่อเอาเวลาที่เหลือไปเที่ยวชมถ้ำอันสวยงามต่อไป
เขาพาไปชมถ้ำหินงอกกหินย้อยสีชมพู และดูอะไร ๆ ที่เขาอยากจะอวดเราและเท่าที่เราจะเดินดูไหว กลับเข้าวัดจนเวลาโพล้เพล้แล้ว คืนนี้ต้องนอนค้างแรมที่วัดท่าหมื่นรามคืออีกหนึ่ง เพราะรถเข้าออกที่นี่มีสองสามคัน เช้าจะออกไปตลาดอำเภอวังทอง บ่ายสามสี่โมงจึงกลับเข้าหมู่บ้านนี้ สรุปว่าพระที่จะไปเทศน์ที่วัดท่าหมื่นรามต้องไปนอนค้างคืนก่อนเทศน์ ๑ คืน เทศน์จบแล้วต้องนอนค้างที่วัดอีก ๑ คืน จึงจะมีรถกลับ ข้าพเจ้าไปเทศน์ที่วัดนี้ครั้งแรกและครั้งเดียว แล้วไม่ได้ไปอีกเลย ทราบข่าวว่าต่อมาวัดนี้เจริญสวยงามมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๕๗ – โดยปกติแล้ว ข้าพเจ้าชอบเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณีสังคมชุมชนต่าง ๆ ดังนั้นการรับนิมนต์ไปเทศน์ในที่ต่าง ๆ จึงเป็นความพอใจ บอกพระเกรียงศักดิ์ที่ประจำอยู่สภาธรรมวิจารณ์วัดเขาสมอแครงว่า ถ้ามีคนมานิมนต์ไปเทศน์ในที่ไกลให้รับไว้เลย แม้จะเดินทางไปมาลำบากหน่อย อย่างที่ไปท่าหมื่นราม หนองกุลา อะไรนั่นก็ไม่ว่ากัน เพราะว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี เมื่อเปิดไฟเขียวให้อย่างนั้น พระเกรียงศักดิ์ก็รับนิมนต์โดยไม่เลือกที่ซึ่งจะไป
เป็นครั้งแรกที่เดินทางไปอำเภอหล่มเก่าจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อพระเกรียงศักดิ์รับนิมนต์เทศน์ที่บ้านวังบาล อำเภอหล่มเก่าอันเป็นสถานที่ไม่รู้จักไม่เคยไป รู้แต่ว่าให้นั่งรถโดยสารประจำทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก เมื่อถึงหล่มสักแล้วให้ต่อรถไปหล่มเก่าและบ้านวังบาน คนนิมนต์บอกว่าเป็นหมู่บ้านตำบลใหญ่มาก มีวัดในตำบลนี้หลายวัด วัดที่จะไปเทศน์ชื่อวัดศรีฐานปิยาราม ขอให้เดินทางไปนอนค้างแรมที่วัดก่อนเทศน์ ๑ คืน
ก่อนถึงเวลาเทศน์ ๑ วัน ข้าพเจ้ากับพระเกรียงศักดิ์ก็นั่งรถประจำทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก เป็นรถบัสขนาดใหญ่บรรทุกคนโดยสารได้ ๓๐-๔๐ คน พวกเราไม่มีอภิสิทธิ์ในการเลือกที่นั่ง จึงได้เก้าอี้ด้านขวามือค่อนไปข้างท้ายรถ เพราะอยากดูวิวทิวทัศน์ข้างทาง จึงขอนั่งชิดหน้ต่างทางขวามือ แต่พระเกรียงศักดิ์ไม่ยอม เขาบอกว่าอยากดูเหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงต้องยอมตามใจเพื่อน เก้าอี้ข้างหน้าสามแถวมีชนชาวเขา (เราเรียกเขาว่าแม้ว) เป็นหญิงล้วนนั่งอยู่ ๕ คน ดูหน้าตาพวกเขาแล้วประมาณอายุได้ว่าเกิน ๕๐ ปีไปแล้วทั้งนั้น รถออกจากพิษณุโลกเลยวังทองแล้วทางเริ่มขึ้นเขาตั้งแต่วังนกแอ่นไป แก่งซอง ทรัพย์ไพรวัลย์ สามแยกบ้านแยง พอเลยสามแยกบ้านแยงไปก็เกิดเรื่องที่คาดไม่ถึง กล่าวคือหญิงชาวเขาที่นั่งชิดหน้าต่างข้างหน้าพระเกรียงศักดิ์นั้นเธอมีอาการเมารถอย่างหนัก โผล่หน้าออกหน้าต่างแล้วอ้วกออกมา รากของเธอกระจายตามสายลมหวนเข้าหน้าต่างรถข้างหลัง สาดสายเต็มหน้าพระเกรียงศักดิ์เลย เสียงคนร้องวี้ดว้าย คนขับรถชะลอรถแล้วหยุดดูเหตุการณ์ พระเกรียงศักดิ์ถูกอ้วกใส่เต็มหน้าอย่างนั้นก็ทนไม่ได้ต้องอ้วกออกมาบ้าง ดีที่รถหยุดแล้วเขาจึงชะโงกหน้าออกไปอ้วกนอกรถ ไม่อย่างนั้นข้าพเจ้าคงเปียกเปื้อนอ้วกของเขาแน่ ๆ เลย เสียเวลาเช็ดล้างอ้วกเป็นเวลานานจึงเดินทางต่อไปได้
รถเดินหน้าขึ้นเขาสูงตามทางขึ้นลงโค้งคดน่าหวาดเสียวมาก ดีที่ชาวเขานั้นหายเมารถแล้ว ไม่อย่างนั้นคงอ้วกใส่เพื่อนอีก เทือกเขาสูงที่ต้องผ่านไปนั้นเรียกว่าแค้มป์สน-เขาค้อ ทิวทัศน์สวยงาม ข้าพเจ้าตื่นตาตื่นใจมาก ไปถึงหล่มสักได้โดยสวัสดิภาพแล้วจับรถต่อไปหล่มเก่าซึ่งก็อยู่ไม่ไกลกันนัก เข้าหมู่บ้านตำบลวังบาลไปถึงวัดศรีฐานเวลาประมาณบ่ายสี่โมงเห็นจะได้ มีกรรมการวัดผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนมาต้อนรับและสนทนาปราศรัยด้วยตั้งแต่ยามเย็นไปจนถึงประมาณ ๓ ทุ่ม ข้าพเจ้าฟังสำเนียงภาษาของเขาไม่ค่อยรู้เรื่องนัก เขาพูดไม่เหมือนชาวอีสานที่ข้าพเจ้าค่อนข้างจะคุ้นอยู่ โยมที่เป็นหัวหน้าบอกว่าสำเนียงภาษาของคนที่นี่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพวกเขา คือ “ลาวหล่ม-เลย” หมายถึงชาวหล่มสัก หล่มเก่า ด่านซ้าย เมืองเลย จะพูดสำเนียงภาษาเดียวกัน ได้ข้อมูลบ้านวังบาลจากพวกเขาพอสรุปได้คือ
“ที่นี่เป็นชุมชนเก่าแก่กว่า ๑๐๐ ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำน้ำพุงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก มีการอนุรักษ์พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเล่าเรื่องวิถีชีวิตประวัติความเป็นมาของชุมชน ผ้าซิ่นมัดหมี่ หัวแดงตีนก่าน มีความโดดเด่นในเรื่องของการเป็นชุมชนคุณธรรม ผู้สูงวัยในละแวกนี้จะมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมทอผ้าพื้นเมือง ซึ่งปกติชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นชาวไร่ชาวนาและทอผ้าเป็นอาชีพเสริม โดยสืบสานการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษ และถ่ายทอดให้ลูกหลานได้เรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ขั้นตอนการทอผ้า จะเริ่มจากการอิ้วฝ้าย เอาเม็ดออก นำมาดีดฝ้าย ล้อฝ้าย เข็นฝ้าย ให้เป็นเปียฝ้ายเก็บไว้เป็นระเบียบ และนำมาใส่กรงเพื่อกวักฝ้าย ทำเป็นเส้นยืน หรือทำเป็นหลอดด้าย เพื่อให้เป็นเส้นพุ่งในการทอ โดยผ้า ๑ ผืนจะใช้เวลาในการทอราว ๓ วัน บริเวณแห่งนี้เป็นที่ตั้งบ้านเมืองดั้งเดิม เป็นชุมชนมั่นคงมาช้านาน โดยมีชื่อว่า เมืองลุ่มหรือเมืองหล่มและเมืองหล่มสัก เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เชื้อสายเดียวกันกับคนลาวหลวงพระบางที่ได้มาอยู่อาศัยแผ่ขยายครอบคลุมต่อเนื่องลงมาในพื้นที่ทางใต้ทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทย รวมถึงแถบแม่น้ำป่าสักตอนบน คนหล่มมีวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาของตนเอง ที่มีอิทธิพลจากวัฒนธรรมล้านช้าง คนหล่มคือคนที่คนไทยเคยเรียกว่า ลาวพุงขาว ภาษาที่ใช้พูดกันก็เป็นแบบลาวหลวงพระบาง แม้จะมีสำเนียงหางเสียงต่างกันไปบ้างในแต่ละสถานที่ ภาษาหล่มนี้มีเอกลักษณ์ที่ฟังไพเราะ มีโทนเสียงงดงาม นุ่มนวลเหมือนภาษาล้านนา แต่ศัพท์จะเป็นแบบภาษาอีสาน ชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ ในหล่มเก่าก็มีความแปลกและน่าสนใจถึงความหมายและที่มา เช่น หินกลิ้ง หินฮาว โจะโหวะ วังเวิน วังบาล ท่าผู ภูผักไซ่ ปาผา ทับเบิก นาแซง นาเกาะ แก่งโตน สงเปลือย ศิลา ตาดกลอย เป็นต้น” คำขวัญของบ้านวังบาลที่ข้าพเจ้าจำได้คือ “วังบาล ข้าวสารขาว สาวงาม มะขามหวาน”
พระเกรียงศักดิ์ขอยืมสบง จีวร พระที่วัดนั้นใช้ก่อน เพราะชุดของท่านเปรอะเปื้อนอ้วกของชาวเขา ต้องซักตากไว้ทั้งคืน วันรุ่งขึ้นพวกเราฉันอาหารเช้า-กลางวัน เป็นอาหารแบบชาวบ้านทั่วไป คือ ข้าวเหนียว ซุปหน่อไม้ ลาบ ก้อย ฉันอาหารแล้วพักผ่อนรอเวลาขึ้นเทศน์ตอนบ่ายโมง ข้าพเจ้ารู้สึกง่วงอย่างผิดปกติ จึงหลับไปนานเท่าไรไม่รู้ ใกล้เวลาบ่ายโมงแล้วพระเกรียงศักดิ์ปลุกให้ตื่น จึงตื่นขึ้นแบบงัวเงียสะลึมสะลือ เขามองดูหน้าเห็นหน้าข้าพเจ้าบวม ก็ตกใจถามว่าเป็นอะไรไป ข้าพเจ้าบอกว่าไม่รู้ โยมหัวหน้าทายกเข้ามาดู เห็นอาการอย่างนั้นก็รู้ว่าข้าพเจ้าเมาข้าวเหนียวเสียแล้ว เรื่องเมาเข้าเหนียวนี่ข้าพเจ้าเคยได้ยินเขาพูดกัน ตัวเองไม่เคยเมา ตอนอยู่กรุงเทพฯ เพื่อนพระทางอีสานพาไปเที่ยวบ้า นก็กินข้าวเหนียวแบบพวกเขากินหลายครั้งครา ไม่เคยเมาเลย แต่ทำไมจึงมาเมาข้าวเหนียววังบาลได้ก็ไม่รู้
ทายกประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่าพระเทศน์เมาข้าวเหนียว ยังขึ้นเทศน์ตามเวลาไม่ได้ พวกโยมผู้หญิงพากันหัวเราะพร้อมพูดว่า “พระบักไทย” ตกลงบ่ายวันนั้นเทศน์ไม่ได้ ต้องเลื่อนเวลาไปเทศน์ตอนเย็นถึงกลางคืน อาการเมาข้าวเหนียวของข้าพเจ้าไปหายเป็นปกติเอาตอนบ่ายสามโมงกว่า ๆ วันนั้นเราเทศน์กันแบบสนุก ๆ พูดหยอกล้อกันบ้าง ตอนหนึ่งข้าพเจ้ากล่าวถึงคำขวัญของบ้านวังบาล พระเกรียงศักดิ์ก็หยอกว่า
“พระคุณเจ้าคงจะติดใจตรง “ข้าวสารขาวสาวงาม” นี่เอง ก็เลยเมาข้าวเหนียวน่ะ“
คนฟังพากันหัวเราครืนเลย ข้าพเจ้าก็ตอบว่าติดใจตรงข้าวสารขาวนี่แหละ ไปอีสานฉันข้าวเหนียวไม่รู้กี่เมืองไม่เคยเมา ทำไมมาเมาข้าวสารวังบาลได้นะ พระเกรียงศักดิ์ก็หยอกเย้าต่อว่า
“คงเพราะสาวงามวังบาลทำเสน่ห์ใส่ให้เอาบาตรมาทิ้งที่วังบาลละซี”
เรียกเสียงฮาได้อีก ข้าพเจ้าก็กล่าวด้วยความจริงใจว่า
“ท่านปรววาทีครับ ขอบอกด้วยความจริงใจนะ ทุกวันนี้ผมมองดูผู้หญิงเหมือนมองดูดอกไม้ เห็นพวกเธอเป็นสิ่งสวยงามสำหรับประดับโลก เช่นเดียวกับดอกไม้เป็นสิ่งสวยงามประดับหล้า ไม่เคยคิดจะเด็ดมาดอมดมเลย” จากนั้นก็กล่าวสรุปพระธรรมเทศนาจบเทศน์ในเวลาสามทุ่มเศษ/๑๕๗
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๕๘ - หลวงพี่ไฮ้ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดเขาสมอแครงปรึกษาว่า อยากจัดเทศน์หาเงินสมทบทุนสร้างหลวงพ่อพระพุทธชินราชจำลองเพิ่มเติม เพราะที่เก็บรวบรวมไว้นั้นดูท่าจะไม่พอ ขอให้ข้าพเจ้าจัดเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก ๖ ธรรมาสน์ ซึ่งเรียกกันว่า “หกกษัตริย์” ข้าพเจ้าไม่เคยเทศน์เรื่องอย่างนี้จึงรับว่าจะขอปรึกษาพระนักเทศน์เรื่องทำนองนี้ในจังหวัดสุโขทัยก่อน หลวงพี่มหาบุญเหลือจึงพาไปพบหลวงพี่พระครูใบฎีกาประคองวัดกำแพงงาม (บ้านกล้วย) ผู้ที่เคยเทศน์เรื่องทำนองนี้ ท่านบอกว่าไม่ยากหรอก จัดหน้าที่ให้พระเทศน์เป็นพระเจ้ากรุงสัญชัย ๑ พระนางผุสดี ๑ พระเวสสันดร ๑ พระนางมัทรี ๑ ชาลี ๑ กัณหา ๑ ส่วนอื่นเช่น ชูชก อมิตตดา พรานเจตบุตร พระอินทร์ นั้นก็แบ่งหน้าที่จากตัวหลัก คือ พระนางผุสดีนั้น หมดหน้าที่แล้วให้รับหน้าที่เป็นชูชกอีกตำแหน่งหนึ่ง ตัวอื่น ๆ ก็แบ่งหน้าที่กันไปตามความเหมาะสม ข้าพเจ้าว่างานเทศน์นี้จะหาเงินเข้าวัด พระเทศน์นั้นจะถวายเฉพาะค่ารถเดินทางเท่านั้น ท่านจึงแนะนำว่า ตัวท่านจะรับหน้าที่เป็นเจ้ากรุงสัญชัย กับพระอินทร์ ขอให้ข้าพเจ้ารับหน้าที่พระนางผุสดีกับชูชก และให้ไปนิมนต์พระมหาธวัชวัดตระพังทองที่เขาถนัดเทศน์เป็นตัวมัทรีมาร่วมเป็นมัทรีกับอมิตดาด้วย ส่วนพระเวสสันดรนั้นควรให้พระเกรียงศักดิ์รับหน้าที่ไป ตัวสำคัญก็มีเท่านี้ ส่วนที่ไม่สำคัญก็ให้พระมหาบุญเหลือรับหน้าที่เป็นชาลี พระไพฑูรย์เป็นกัณหา ก่อนเทศน์ก็ให้ซักซ้อมทำความเข้าใจกันเสียหน่อย ถามว่าทำไมจึงให้ข้าพเจ้าเป็นตัวผุสดี/ชูชก ท่านว่า เพราะเป็นตัวเอกของเรื่อง ต้องเอาคนที่จำแม่นและดำเนินเรื่องได้ไม่สับสน คุณอภินันท์ดูจะคล่องตัวกว่าเพื่อ น คำตอบนี้ทำให้คิดถึงคำของพี่มหามงคลที่หัดเทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูชกให้ ท่านว่าเป็นเป็นชูชกแล้วต้องเป็นตลอดไป ตกว่าลงเราจะเทศน์ “หกกษัตริย์” กันตามที่หลวงพี่พระครูใบฎีกาประคองเสนอแนะนั้น หลวงพี่ไฮ้จัดพิมพ์ใบฎีกาใส่ซองกัณฑ์แจกจ่ายไปทั่วในวังทองและในเมืองพิษณุโลก ทั้งยังให้ออกข่าวการเทศน์หกกษัตริย์ทางสถานีวิทยุด้วย
พระเทศน์เรื่องคือสมมุติเป็นตัวบุคคลตามเรื่องที่เทศน์คราวนี้มีสององค์ที่เคยเทศน์บ่อย ๆ คือ พระครูใบฎีกาประคองวัดกำพงงาม ท่านไม่ถนัดในการปุจฉา-วิสัชนา แต่ถนัดในการเทศน์เรื่อง พระมหาธวัชวัดตระพังทอง เมืองเก่า องค์นี้ข้าพเจ้าไม่รู้จักมาก่อน ทราบว่าท่านเคยเป็นพระนักเทศน์มหาชาติเก่งในกัณฑ์มัทรี ถนัดในการเทศน์เรื่องและปุจฉา-วิสัชนาก็ไม่เป็นรองใคร ต่อมาท่านลาสิกขา ออกไปมีครอบครัวอยู่หลายปีแล้วกลับมาบวชใหม่ได้ ๔ พรรษาแล้ว จึงมีอาวุโสทางพรรษาอ่อนกว่าข้าพเจ้า ๒ ปี ในปีนั้นท่านรักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตระพังทอง และจะได้เทศน์ร่วมกับข้าพเจ้าเป็นครั้งแรก
ถึงวันเทศน์ปรากฏว่าวัดเขาสมอแครงมีผู้คนเดินทางมารวมกันจนล้นศาลา ต้องอาศัยตามหน้ากุฏิและร่มไม้ชายคารอบ ๆ ศาลา ทางวัดจัดตั้งเครื่องกระจายเสียอย่างดีให้คนที่อยู่ในบริเวณวัดฟังเทศน์กันได้อย่างทั่วถึง ฉันอาหารเพลเสร็จแล้ว เรา ๖ องค์เข้าประชุมกันในห้องเจ้าอาวาส แบ่งหน้าที่กัน ปกติแล้วผู้รับตำแหน่งพระนางกัณหาควรจะกล่าวอานิสงส์หน้าธรรมาสน์แล้วสมมุติตำแหน่งหน้าที่ผู้เทศน์ แต่พระไพฑูรย์บอกว่าเป็นผู้ใหม่หัดเทศน์จึงไม่รับหน้าที่นี้ เกี่ยงกันไปมาก็มาตกที่ข้าพเจ้า เราวาพล็อตเรื่องกันว่า เริ่มที่พระอินทร์ประทานพรสิบประการประแก่นางผุสดีแล้วว่าตามลำดับกัณฑ์จนจบนครกัณฑ์ นัดแนะกันเรียบร้อยก็ถึงเวลาขึ้นเทศน์
ข้าพเจ้าออกจากห้องเป็นคนสุดท้าย เพื่อน ๆ ที่ออกไปก่อนก็ขึ้นนั่งธรรมมาสน์ก่อน ธรรมาสน์ที่นั่งเทศน์มีสำเร็จรูปตัวเดียว พระเกรียงศักดิ์ผู้รับหน้าเป็นพระเวสสันดรขึ้นนั่งธรรมาสน์นั้น อีก ๕ ที่ เป็นโต๊ะเขียนหนังสือนักเรียนเอามาเรียงติดกันแล้วปูลาดด้วยเสื่อสาดทับด้วยพรม มีหมอนขวานและกระโถน พานหมากพลูบุหรี่พร้อมสรรพ ข้าพเจ้าเดินแหวกญาติโยมตรงไปขึ้นธรรมาสน์ที่ยังเหลืออยู่ตัวเดียวทางด้านตะวันตกของศาลา พอขึ้นไปแล้วก็หมุนตัวเพื่อนั่งให้เรียบร้อย มือท้าวลงตรงริมโต๊ะแล้วพลาดตกลงจากธรรมาสน์ถูกสำรับเปล่าของโยมดังโครม โยมหญิงร้องกันวี้ดว้ายด้วยความตกใจ ข้าพเจ้าเด้งดีดตัวกลับขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์ได้อย่างปาฏิหาริย์ที่ไม่น่าเชื่อ
เป็นความสะเพร่าของคนจัดตั้งธรรมาสน์ที่ใช้เสื่อผืนใหญ่ไม่พับให้พอดีกับพื้นโต๊ะแต่ปูเลยขอบโต๊ะออกไปมาก เป็นความไม่รอบคอบของข้าพเจ้าที่ไม่ลองกดพื้นดูก่อน กรรมการชายมาขอให้ลงจากธรรมาสน์ก่อน แล้วเขาจัดปูลาดอาสนะใหม่ จึงให้ขึ้นนั่งอย่างปลอดภัย ไม่เผลอท้าวพื้นพลาดตกลงไปอีก ข้าพเจ้าว่าอานิสงส์หน้าธรรมาสน์ เมื่อกล่าวสมมุติใครเป็นตัวอะไรแล้ววกมากล่าวสมมุติตัวเองว่า “ส่วนอาตมภาพเป็นผู้มีสติปัญญาน้อย ไม่เชี่ยวชาญชำนาญในการเทศน์เรื่อง มาขึ้นเทศน์ครั้งแรกก็ตกธรรมาสน์เกือบคอหักตาย.... (ถึงตรงนี้ญาติโยมส่งเสียงหัวเราะฮา)...... จึงขอรับตำแหน่งหน้าที่เป็นพระนางผุสดีมารดาพระบรมโพธิสัตว์ กับอีกตำแหน่งหนึ่งซึ่งสำคัญคือพราหมณ์เฒ่าชูขกยอดอัจฉริยะทางขอทาน.... (มีเสียงหัวเราะฮาอีก)...... อันที่จริงก็ไม่อยากเป็นเฒ่าชูชกหรอกนะ แต่ตำแหน่งดี ๆ ที่เป็นตัวพระเอกนั้นเพื่อนเขาครองหมดแล้ว....(เสียงหัวเราะฮาอีก).... ดังนั้นขอญาติโยมทั้งหลายพึ่งตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดก เพื่อสั่งสมบุญไว้นำพาไปเกิดให้ทันในศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรยตามกำลังศรัทธา ซึ่งพระคุณเจ้าที่รับหน้าที่เป็นพระอินทร์จะได้ประทานพรสิบประการแก่ผุสดีเทพธิดาให้ไปเกิดในเมืองมนุษย์ต่อไปก็มี ณ กาละบัดนี้....
พระครูใบฎีกาประคองวางตำแหน่งเจ้ากรุงสญชัยไว้ มาทำหน้าที่เป็นพระอินทร์ทราบว่าผุสดีเทพธิดาหมดอายุบนสวรรค์จะต้องจุติ (เคลื่อน) ไปจากสวรรค์ จึงตรัสเรียกให้มาพบแล้วแจ้งให้ทราบ และว่าต้องการพรอะไรจะประทานให้ นางเทพธิดาจึงขอพร ๑๐ ประการคือ
“ขอให้ได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้าสีวีราช แห่งนครสีพี ขอให้มีจักษุอันดำสนิท ดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ ขอให้มีคิ้วดำสนิท ขอให้มีนามว่า ผุสดี ขอให้มีพระโอรสทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทั้งหลาย และมีใจบุญ ในเวลาทรงครรภ์ ขออย่าให้ครรภ์นูนปรากฏอย่างสตรีสามัญ ขอให้มีถันอันงาม ในเวลาทรงครรภ์ก็อย่ารู้ดำ และต่อไปก็อย่าให้หย่อนยาน ขอให้มีเกศาดำสนิท ขอให้มีผิวงาม ขอให้ทรงอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้ ท้าวสักกเทวราชก็ทรงประสามพรให้เป็นที่สมประสงค์แห่งพระนาง”
จากนั้นพระครูใบฎีกาผู้รับตำแหน่งพระเจ้ากรุงสญชัยก็ดำเนินเรื่องไปตามท้องเรื่องในกัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนประเวศ หลวงพี่มหาธวัชซึ่งแสดงเป็นตัวมัทรีร้องแหล่หญิงม่ายได้ไพเราะมาก เรื่องดำเนินไปจนพระเวสสันดรเข้าสู่เขาวงกต จึงกล่าวถึงชูชก ข้าพเจ้าเริ่มด้วยคาถา “ตทา กลิงครัฐเฐ....ตามแบบที่ พี่มหามงคลสอนให้ จบแล้วแล้วพูดเสียงสั่น ๆ เหมือนเสียงหลวงพ่อคุณโบราณว่า
“ทีนี้แหละจะกล่าวถึงพราหมณ์ขอทานเฒ่านามชูชกทที่เกิดมาพร้อมด้วยลักษณะบุรุษโทษ ๑๘ ประการคือ.. มีข้อเท้าทั้งสองใหญ่และคด เล็บมือและเล็บเท้าทั้งหมดคุคหงิกงอ นมทั้งคู่หย่อนยานลงไปไม่เท่ากัน ริมฝีปากบนยาวยื่นกว่าริมฝีปากล่าง น้ำลายไหลอยู่ตลอดเวลา ฟันเขี้ยวงอกดุจเขี้ยวหมูป่า จมูกหักและแฟบลง ท้องป่องเป็นกระเพาะดุจหม้อน้ำ เส้นหลังไหล่คดโง้งงอ กระบอกตาลึกข้างหนึ่ง หนวดเคราเป็นเส้นแข็งดุจเส้นลวด ผมสีเหลืองดังใบลานแห้ง ตามร่างกายมีเส้นเอ็นขึ้นทั่วไปเห็นได้ชัดเจน มีจุด ไฝ ฝ้า ปานดำด่างทั่วร่างกาย มีลูกนัยน์ตาเหลืองเหล่ เหลืองดุจแมวกราว มีร่างกายคดโค้งทั้งเอวทั้งไหล่ มีเท้าโกง ๑ ข้าง และไม่เท่ากัน ตามร่างกายมีขนขึ้นแข็งดุจแปลงขนหลังหมูป่า” .......บอกลักษณะดังกล่าวแล้วถามผู้ว่าฟังว่า “รูปหล่อมากไหมล่ะโยม” ก็มีเสียงฮาขึ้นมาทั้งศาลา มีเสียงหญิงบางคนร้องว่า “ไม่เหมือนตัวจริงเลยค้า....”
แล้วข้าพเจ้าก็เล่าเรื่องชูชกเที่ยวออกขอท่านได้เงินมากมายไม่กล้าเก็บไว้กับตัวกลัวถูกปล้น จึงเอาไปฝากพราหมณ์ฉิมผู้เป็นเพื่อนไว้ แล้วเดินเที่ยวขอทานเรื่อยไป แล้วอยู่ ๆ ก็คิดถึงทองที่ฝากเพื่อน จึงย้อนกลับมาทวงทอง ตรงนี้กลับไปพูดเสียงสั่น ๆ อีก พระครูใบฎีกากลับมารับหน้าที่เป็นพราหมณ์ฉิมพระมหาธวัชมาเป็นพรามหณี เจรจาเรื่องทองร้อยกษาปน์กันอยู่ครู่หนึ่ง พราหมณ์ผัวเมียไม่มีทองใช้คืนจึงเรืยกอมิตตดาลูกสาวออกมา แล้วยกให้ชูชกเป็นค่าทอง ชูชกก็พาอมิตตดาไปบ้านทุนวิฐ ตอนนี้มหาธวัชมารับหน้าที่เป็นอมิตตดาอีกตำแหน่งหนึ่ง ก็ร้องแหล่ชูชกพานางอมิตดา.....และพราหมณ์ตีเมีย นางอมิตตดาขอให้ชูชกไปขอสองกุมารมาคนรับใช้ ชูชกกิดินทางไปจนถึงเขาวงกต เรื่องไปจบลงตรงนครกัณฑ์
ขอสรุปเอาว่าการเทศน์วันนี้จบลงด้วยดี พระเทศน์ด้วยกันบอกว่าไม่น่าเชื่อว่าข้าพเจ้าแสดงบทบาทของชูชกได้เหมือนมาก หลวงพี่มหาธวัชบอกว่าเคยเทศน์หกกษัตริย์มากนับเป็นสิบครั้งแล้ว ยังไม่เห็นใครเทศน์เป็นตัวชูชกได้ดีเท่านี้เลย วันนั้นได้เงินรวมขันกัณฑ์เทศน์ให้หลวงพี่ไฮ้หลายหมื่นทีเดียว
กลับไปถึงวัดราชธานีแล้ว สุขภาพร่างกายของข้าพเจ้าก็ยังเป็นปกติ แต่พอตกกลางคืนเวลานอนรู้สึกปวดแขนขวา รุ่งเช้าเกลียวหลังด้านขวาและแขนขวาเจ็บปวดระบมมาก คงจะเป็นเพราะตอนตกจากธรรมาสน์ที่ข้าพเจ้าเอาแขนขวาลงยันพื้นแล้วสะปริงตัวเด้งขึ้นบนธรรมาสน์นั่นเอง จึงเดินข้ามฟากไปหาหลวงพี่มหาบุญเหลือที่วัดคูหาสุวรรณ เล่าอาการให้ฟัง ท่านบอกว่าอย่างนี้ต้องไปหาหมอ จึงพากันไปโรงพยาบาลสุโขทัย พบหมอใหญ่พงศ์ชัย สุคันธวยัคฆ์ เล่าเรื่องให้ฟัง หมอหัวเราะบอกว่าไม่เป็นไร ฉีดยาให้เข็มหนึ่งพร้อมยากินอีกหนึ่งชุด พักผ่อนอยู่วัด ๓ วันก็หายเป็นปกติ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๕๙ - การตกธรรมาสน์ในการเทศน์ที่วัดเขาสมอแครงของข้าพเจ้า เป็นข่าวดังในวงการนักเทศน์จังหวัดพิษณุโลก-สุโขทัย ทำให้พระเทศน์ต่างก็ระวังตัวในการขึ้นธรรมาสน์เทศน์ ถ้าเป็นธรรมาสน์ที่จัดทำขึ้นชั่วคราวต้องระวังเป็นพิเศษ เวลาขึ้นต้องเอามือจับขอบที่นั่งดูว่า เขาปูอาสนะเลยขอบโต๊ะหรือไม่ ถ้าเป็นธรรมาสน์สูงที่มีบันไดนาคพาดขึ้นก็จะจับบันไดเขย่าดูก่อนขึ้นไป ว่ามีความมั่นคงหรือไม่ ข้าพเจ้านี่แหละที่ต้องระวังตัวมากกว่าใคร ๆ ตกเพียงครั้งเดียวจำจนตายเลยก็แล้วกัน
ปีนั้นหลวงพ่อห้อมวัดคูหาสุวรรณท่านจัดงานมุงหลังคากระเบื้องอุโบสถของวัดใหม่ เนื่องจากกระเบื้องหลังคาเก่าซึ่งเป็นกระเบื้องดินเผามีอายุมาก ที่ชำรุดร่วงหล่นแล้วหากระเบื้องชนิดเดียวกันมุงแทนไม่ได้ ท่านจึงเปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบแบบใหม่ หลวงพี่มหาบุญเหลือขอให้ข้าพเจ้าที่หายจากอาการเจ็บปวดร่างกายไปช่วยงานในแผนกโฆษณาประชาสัมพันธ์ในงานนี้ พร้อมกันนั้นก็นิมนต์พระเพื่อน ๆ จากวัดเศวตรฉัตรที่ท่านเคยอยู่จากกรุงเทพฯ ขึ้นมาช่วยอีกหลายองค์ ที่รู้จักและจำได้คือหลวงพี่เยี่ยม องค์นี้เป็นพระที่ทำพิธีสะเดาะเคราะห์มีคนเคารพนับถือมากองค์หนึ่ง หลวงพี่มหาวิชัย องค์นี้เป็นพระโหร ผูกดวงดูดวงเก่ง เวลาดูดวงทำนายโชคเคราะห์แล้วจะแนะนำให้ทำพิธีรับ-ส่งโชคเคราะห์ หรือรับพระส่งพระ โดยจะให้หลวงพี่เยี่ยมรับจัดให้ ทั้งคู่จึงอยู่ในฐานะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ข้าพเจ้าไม่ชอบวิธีการอย่างนี้แต่ก็จำนิ่งไว้ โดยถือว่า “ธุระมิใช่”
การจัดงานมุงกระเบื้องหลังคาโบสถ์ท่านจัด ๓ วัน วิธีการที่ทำคือมีรูปหุ่นเทวดาอุ้มกระบุงหรือตะกร้าเหมือนพระอุ้มบาตร ๓ องค์ เอาเชือกผูกโยงใช้รอกชักขึ้นไปบนหลังคาโบสถ์ ตรงกลาง ๑ หัว ๑ ท้าย ๑ ผู้บริจาคเงินซื้อกระเบื้องแล้วใส่กระบุงหรือตะกร้าของเทวดานั้น ชักรอกขึ้นไปให้ช่างรับแล้วมุงหลังคา อันนี้ไม่ยุ่งยากอะไรนัก
พิธีการที่ทำเพื่อจูงศรัทธาใจของผู้คนคือ เอาแผ่นกระเบื้องเคลือบนั้นให้หลวงพี่มหาวิชัยเขียนดวงชะตาของผู้บริจาคเงินซื้อกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์นั้นลงในแผ่นกระเบื้อง เมื่อซื้อแผ่นกระเบื้องแล้วก็แจ้งชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิด หลวงพี่มหาก็ทำการผูกดวงเขียนลงในแผ่นกระเบื้องนั้น ให้เจ้าของดวงนำไปใส่กระบุงหรือตะกร้าที่เทวดาทีอุ้มซึ่งมีด้ายสายสิญจน์ผูกโยงติดอยู่ แล้วถือต้นด้ายสายสิญจน์นั้นไว้จนแผ่นกระเบื้องนั้นจะถูกชักรอกขึ้นไปบนหลังคาโบสถ์และมุงจนเสร็จ ได้ชื่อว่าผู้บริจาคเงินซื้อแผ่นกระเบื้องนั้นได้มุงหลังคาอุโบสถ์ด้วยตนเองแล้ว พิธีการอย่างนี้หลวงพี่เยี่ยมเป็นผู้คิดทำขึ้น ปรากฏว่ามีประชาชนร่วมพิธีกรรมนี้เป็นจำนวนมาก หลวงพี่มหาบุญเหลือให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อตลอดงาน
ในการซื้อแผ่นกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์นั้น ยังจำได้ว่า มีของที่เหมือนจะเป็นของแถมอย่างหนึ่ง คือ พระพิมพ์สมเด็จเนื้อดินเผา ที่หลวงพ่อห้อมทำขึ้นมาจากแผ่นกระเบื้องเก่าที่แตกหัก ทุกคนที่บริจาคเงินซื้อแผ่นกระเบื้องล้วนได้รับพระสมเด็จองค์หนึ่ง จะเก็บไว้กับตัวหรือใส่ตะกร้าขึ้นไปไว้บนเพดานโบสถ์ก็ได้ การพูดโฆษณาชักชวนให้คนทำบุญส่วนมากผู้พูดมักจะพูดคำเพราะ ๆ ให้คนฟังฟังกันเพลิน ๆ บอกว่าทำบุญอย่างนี้จะได้บุญอย่างนั้น ได้ไปอยู่บนสวรรค์มีวิมานแก้ววิมานทองมีนางฟ้านางสวรรค์เป็นบริวารเท่านั้นเท่านี้ เป็นต้น ส่วนข้าพเจ้าไม่พูดโฆษณาอย่างนั้น เพราะเห็นเป็นเรื่องเพ้อฝันแบบลมๆแล้ง ๆ เหมือนการโกหกหลอกลวงพวกศรัทธาจริตให้หลงเชื่อจนยอมเสียเงินเสียทองไป
ข้าพเจ้าจะพูดในสิ่งที่เห็น เช่นการซื้อกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ จะพูดอธิบายให้คนฟังรู้ความเป็นมาว่า โบสถ์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ขยายความว่าโบสถ์คือสถานที่ภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมมีชื่อตามภาษาพระวินัยว่า สีมา มีสองประเภทได้แก่ พัทธสีมา คือ ลักษณะหนึ่งของสีมาหรือเขตแดนที่สำหรับภิกษุทำสังฆกรรม โดยสีมาหรือเขตแดนสำหรับกำหนดสถานที่ประชุมสงฆ์ อีกประเภทคือ "อพัทธสีมา" คือ เขตที่กำหนดไว้ตามปกติของบ้านเมือง เช่น เขตตำบล ในการกำหนดเขตพัทธสีมานั้น ในเขตนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารก็ได้ เพราะเป็นเขตสำหรับการประชุมสังฆกรรม แต่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้มีตัวอาคารสำหรับประชุมได้ เรียกว่า อุโปสถัคคะ หรือ โบสถ์ ซึ่งต่อมาการสร้างโบสถ์จะสร้างภายในสีมาหรือเท่ากับสีมา การผูกสีมาจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการสร้างโบสถ์ การกำหนดเขตพื้นที่ผูกนั้น พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สงฆ์กำหนดเขตเอาเอง แต่กำหนดให้สมมติสีมาไม่เล็กกว่าการจุภิกษุ ๒๑ รูป ให้นั่งหัตถบาสกันได้ เพราะสังฆกรรมที่ต้องการสงฆ์มีจำนวนมากที่สุด ๒๐ รูป และห้ามมิให้สมมติสีมาใหญ่เกินกว่าสามโยชน์ พัททธสีมานี้มีอยู่ ๓ ชนิด ได้แก่ ขัณฑสีมา คือ สีมาผูกเฉพาะโรงอุโบสถ มหาสีมา คือ สีมาผูกรอบวัด สีมาสองชั้น คือ สีมาที่มีขัณฑสีมาอยู่ภายในมหาสีมา นทีปารสีมา คือ สีมาที่สมมติคร่อมฝั่งน้ำ
สังฆกรรมที่พระสงฆ์ต้องทำในสีมามีหลายอย่าง เช่นให้การอุปสมบทกุลบุตร พระจะบวชนอกสีมาไม่ได้ โบราณท่านเรียกโรงอุโบสถว่า สังฆมาตา คือที่ให้เกิดภิกษุสงฆ์ สมัยก่อนสีมาไม่มีโรงอุโบสถก็ได้ แต่สมัยนี้โรงอุโบสถมีความจำเป็นมาก ฝนตกแดดออกพระสงฆ์ก็ทำสังฆกรรมกันได้ โรงอุโบสถที่คลุมสีมาของวัดคูหาสุวรรณนี้สร้างกันมานานปีแล้ว กระเบื้องมุงหลังคาเก่าและแตกชำรุดจนหลังคากันฝนไม่ได้ ทางวัดจำเป็นต้องซ่อมแซมใหม่ ดังนั้นจึงต้องจัดหากระเบื้องอย่างดีมาเปลี่ยนเอากระเบื้องเก่าออก แล้วใช้กระเบื้องใหม่นี้แทน กระเบื้องเคลือบอย่างดีนี้ราคาแพง จึงต้องขอบอกบุญญาติโยมช่วยกันบริจาคทุนทรัพย์ซื้อกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ เสมือนเป็นการซ่อมสร้างโรงอุโบสถให้เป็นสังฆมาตาที่สมบูรณ์เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุสงฆ์สืบอายุพระศาสนาให้ยืนยาวต่อไป ข้าพเจ้าจะพูดโฆษณาในทำนองนี้ตามแต่สถานการณ์ ถ้าเป็นงานสร้างกุฏิ สร้างศาลา ก็จะพูดถึงความสำคัญและความจำเป็นของสิ่งก่อสร้างนั้น ๆ โดยมิต้องอ้างเอาสวรรค์วิมานนางฟ้าอะไรมาล่อให้หลงเลย /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๖๐ - จากการที่ข้าพเจ้าเข้าไปสอนศีลธรรมแก่นักเรียนชั้นประถมปลายโรงเรียนวัดคูหาสุวรรณนั่นเอง ทางยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดสุโขทัยจึงดำริที่จะเปิดสอนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น บุคคลที่เป็นตัวตั้งตัวตีคือนายสำราญ พร้อมภูล เศรษฐการจังหวัดสุโขทัย (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นพาณิชย์จังหวัด) เป็นเลขาธิการ มหาสุธรรม วงศ์โดยหวัง ปลัดจังหวัดสุโขทัย เป็นนายกฯ ตั้งคณะกรรมการบริหารโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น ใช้อาคารเรียนวัดไทยชุมพล (ดำรงประชาสรรค์) เป็นห้องเรียน ครูอาจารย์ผู้สอนประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านพุทธศาสนาที่เป็นฆราวาสและพระภิกษุ ซึ่งมีพระครูสุภัทธรธีรคุณ (มหาดำรงค์) เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย และข้าพเจ้าเป็นหลัก ครั้นทางจังหวัดเปิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นดังนั้น ข้าพเจ้าจึงงดการไปสอนศีลธรรมในโรงเรียนวัดคูหาสุวรรณเสีย หันมาทำงานให้แก่ยุวพุทธิกสมาคมจังหวัดสุโขทัยอย่างจริงจัง
เปิดสอนนักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์มีสภาพเหมือน “ตาบอดคลำช้าง” กล่าวคือทางยุวพุทธิกสมาคมไม่มีหลักสูตรแบบเรียนใด ๆ ทางพระก็ไม่มีหลักสูตรแบบเรียนใด ๆ เช่นกัน มีนักเรียนซึ่งส่วนมากเป็นนักเรียนชั้นม.๔ - ม.๘ เรียนรวมในห้องเดียวกันเหมือนเปิดประชุมอบรม ที่ดูเป็นหลักเป็นฐานหน่อยก็คือมีบัญชีรายชื่อนักเรียน มีการเรียกชื่อนักเรียนตามบัญชีให้นักเรียนขาน “มาครับ มาค่ะ” จากนั้นผู้สอนก็พูดเรื่องพุทธศาสนาไปตามความรู้ความคิดของตน ซึ่งเป็นการผิดหลักการเรียนการสอนในโรงเรียน ข้าพเจ้าเคยรู้เห็นการเรียนการสอนในโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ ซึ่งมหาจุฬาลงกรณ์ฯ เปิดสอน แต่ก็ยังไม่เข้ารูปเข้ารอยนัก เพราะเป็นของใหม่ในเวลานั้น จึงนำมาปรึกษาหารือว่าเราควรจะเอาแบบอย่างเขามาใช้กัน
ทางคณะกรรมการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของเรามอบหมายให้ท่านสำราญ พร้อมภูล เลาขาฯ ไปศึกษาโครงสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่เขามีอยู่แล้วในกรุงเทพฯหลายแห่งมาปรับใช้ ท่านเลขาฯ รับปากแล้วก็มัวโอ้เอ้อยู่อ้างว่างานราชการของตนมีมาก ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป พระครูสุภัทรธีรคุณกับข้าพเจ้าก็คิดทำกันเองโดยนำธรรมะในส่วนคิหิปฏิบัติมาสอนนักเรียนไปพลาง ๆ นักเรียนของเราเข้าเรียนโดยไม่มีเครื่องแบบ ให้แต่งตัวกันตามสบาย ผู้ปกครองนักเรียนไม่รู้ว่าลูกหลานของตนไปเรียนหรือไปเที่ยวที่ไหน เรื่องนี้เป็นปัญหามากทีเดียว จึงเสนอให้กำหนดเครื่องแบบการแต่งกายนักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น ท่านเลขาฯสำราญค้านอย่างหัวชนฝา อ้างว่าเป็นการสร้างภาระสิ้นเปลืองแก่ผู้ปกครองเพิ่มขึ้น ฝ่ายพระเราก็หมดกำลังใจจะทำงาน ปล่อยให้ฝ่ายยุวพุทธิกสมาคมทำกันไปแบบไม่มีเป้าหมายอะไร
ข้าพเจ้าวางแผนสอนนักธรรมในสำนักเรียนวัดราชธานีต่อไป โดยหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณสั่งเลขาฯ ให้ออกใบตราตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมจังหวัดสุโขทัย และ ใบตราตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) นาคที่เข้ามาบวชในวัดราชธานีทุกนาคปีนั้นข้าพเจ้าเป็นพระกรรมวาจาจารย์ เพื่อเป็นพระอาจารย์สอนปริยัติธรรมในพรรษานั้นด้วย ก่อนถึงวันเข้าพรรษานับดูแล้วจะมีพระบวชใหม่ที่ข้าพเจ้าเป็นคู่สวดอยู่วัดราชธานีไม่น้อยกว่า ๑๐ องค์ ที่บวชก่อนข้าพเจ้าเป็นพระกรรมวาจาจารย์อีก ๖ องค์ สามเณรมาบวชเรียนนักธรรมไม่น้อยกว่า ๑๕ องค์ รวมพระเณรวัดคู่หาสุวรรณที่จะเดินข้ามฟากมาร่วมเรียนอีกไม่น้อยกว่า ๑๐ องค์ จึงมีนักเรียนไมน้อยกว่า ๓๑ องค์
พระหลวงตาอีกหลายองค์ในวัดนี้ข้าพเจ้าบอกให้เข้าไปนั่งฟังการสอนในห้องเรียนด้วยก็ได้ แต่ตอนค่ำเวลาประมาณ ๑ ทุ่มทุกคืน ขอให้เข้าประชุมกันในโรงอุโบสถเพื่อเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐาน ข้าพเจ้าจะสอนกรรมฐานตามแบบเรียนนักธรรมชั้นโทเป็นหลัก โดยกล่าวนำเรื่องว่ากรรมฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งการงาน หรือ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงาน หมายถึง อุบายวิธีสำหรับการฝึกจิตเพื่อให้เหมาะแก่การงาน คำว่าการงานในที่นี้หมายถึงงานคือการกำจัดกิเลสเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จของงานคือความพ้นทุกข์ แบ่งตามวิธีการฝึกออกเป็น ๒ ประเภท คือ สมถกรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ ได้แก่การฝึกจิตโดยการตั้งสติให้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ลมหายใจ ด้วยการบริกรรมจนจิตสงบนิ่งอยู่กับสิ่งนั้น ไม่ฟุ้งซ่าน จนเกิดเป็นสมาธิตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูง เมื่อจิตสงบแนบแน่นจนเกิดเป็นฌาน ก็จะสามารถกำจัดนิวรณ์อันเป็นตัวปิดกั้นคุณงามความดีเสียได้ ผลสูงสุดที่จะได้จากการฝึกสมถกรรมฐานก็คือสมาบัติ ๘ ซึ่งถือเป็นผลระดับโลกิยธรรม ผู้สำเร็จกรรมฐานนี้สาทารถแสดงฤทธิ์เดชนานาได้ตามต้องการ
วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา คือการฝึกจิตให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งปวง เพื่อให้จิตคลายอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย และหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส ผลสูงสุดที่พึงหวังได้จากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็คือ การบรรลุอรหัตตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
เมื่อกล่าวนำให้รู้เรื่องกรรมฐานแล้ว จึงสอนเรื่องการนั่งสมาธิภาวนาในส่วนสมถกรรมฐานก่อน โดยให้เอาพุทธคุณองค์ที่ว่า “พุทโธ” มาเป็นองค์ภาวนา หายใจเข้าว่า “พุธ” หายใจออกว่า “โธ” พุทโธ ๆ ๆ ๆ ๆ....... ให้ความรู้สึกจับอยู่ที่คำว่าพุทโธนี้ไม่คิดซ่านไปในเรื่องอื่น อันที่จริงอารมณ์ (เครื่องยึดหน่วงของจิต) ที่จะเอามาเป็นองค์ภาวนานั้นมีหลายอย่าง เช่น พุทธคุณ ๑๐ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ รวมเป็น ๔๐ องค์ เท่าที่เอาพุทธคุณองค์ “พุทโธ” มาให้พระหลวงตาภาวนากันนั้นด้วยเห็นว่าน่าจะถูกจริตมากที่สุด หลวงตาหลายองค์ชอบมาก งานนี้เห็นว่าจะไปด้วยดีทีเดียว /๑๖๐
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|