บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๓๑ - เราปรึกษากันว่าจะหาช่างปั้นที่ไหนมาปั้นองค์พระพุทธชินราชจำลองกันดี หลวงพี่ไฮ้มีคนที่รู้จักมากจึงปรึกษาผู้คนที่รู้กันนั้น ๆ มีผู้แนะนำว่าทหารในกองทัพภาค ๓ คนหนึ่งมียศเป็นจ่า น่าจะเป็นช่างปั้นพระพุทธชินราชจำลองได้ เพราะเขาปั้นรูปทหารไว้หลายแห่ง จ่าคนดังกล่าวชื่อ ทวี บูรณเขตต์ จึงสืบดูประวัติของจ่าท่านนี้ได้ความว่า “จ่าสิบเอกทวี บูรรณเขตต์ เกิดเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๕ ที่บ้านคลองเตาไห ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เนื่องจากครอบครัวมีฐานะไม่ดีนัก และมีพี่น้องมากท่านจึงจบการศึกษาเพียงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้วต้องช่วยพ่อแม่ทำงานต่าง ๆ ต่อมาสมัครเข้ารับราชการทหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับยศสิบตรี ตำแหน่งช่างเขียนฝ่ายยุทธโยธา ภาคทหารบกที่ ๓ จ.พิษณุโลก ในระหว่างรับราชการทหาร ท่านได้มีโอกาสไปฝึกงานการหล่อโลหะที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ทำให้ท่านได้รับความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น และรับราชการทหารเรื่อยมา” เมื่อได้ความดังนั้นจึงพากันไปพบจ่าทวีในค่ายสมเด็จพระนเรศวรฯ บอกเล่าความประสงค์ให้พี่จ่าทราบ และขอร้องให้รับทำการปั้นพระพุทธชินราชจำลอง พี่จ่าบ่ายเบี่ยงว่า ปั้นรูปพระพุทธรูปไม่เป็น เป็นแต่ปั้นรูปคน (ทหาร) เท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเราก็ถอยมาตั้งหลักหาทางให้จ่าทวีรับปั้นพระพุทธชินราชให้จงได้ มีผู้แนะนำให้ไปหาครูทิวเจ้าของ รร.ราษฎร์แห่งหนึ่งในเมืองพิษณุโลก ผู้เป็นบิดาของจ่าทวีให้ช่วยขอร้องจ่ารับงานนี้ พวกเราก็รีบไปหาครูทิว แนะนำตัวและแจ้งความประสงค์ให้ครูทราบ ครูทิวท่านก็ยินดีมาก รับปากช่วยพูดกับจ่าให้ โดยขอให้มาฟังข่าวดีในวันพรุ่ง ความสมหวังของพวกเราเริ่มเห็นรำไรขึ้นแล้ว เวลาเย็นของวันรุ่งขึ้นเราไปพบครูทิวตามนัด พบจ่าทวีมานั่งรออยู่ด้วย จ่าเป็นคนไม่พูดมาก พอเห็นหน้าพวกเราก็ยกมือไหว้แล้วกล่าวว่า ถ้าท่านไปขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดใหญ่ให้จ่าทำการวัดสัดส่วนหลวงพ่อพระพุทธชินราชองค์จริงทุกส่วนได้ ผมยินดีจะทำการปั้นพระให้เป็นองค์แรก พวกเรากลับไปปรึกษาหารือกันที่วัดอีกครั้ง
ปัญหาการไปขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดใหญ่เป็นเรื่องยากยิ่ง เพราะรู้กันทั่วไปว่าท่านเจ้าอาวาสรูปนั้นคือท่านเจ้าคุณ พระพิษณุบุราจารย์ เป็นคนประเภทเถรตรงและดุมาก ใครจะกล้าไปเข้าขออนุญาตได้เล่า ผลที่สุดข้าพเจ้าขออาสาไปเข้าพบขออนุญาตด้วยตนเอง แล้วข้าพเจ้าก็ทำใจดีสู้เสือเข้าไปขอพบท่าน เมื่อกราบและแนะนำตัวแล้ว ท่านทักว่า
“อ้อ ปลัดอภินันท์จากวังทองหรือ”
ข้าพเจ้านั่งงงไม่รู้จะตอบอย่างไร ท่านกล่าวต่อไปว่า
“เรื่องปลัดวัดวังทองนี้พระครูประพันธ์เจ้าคณะอำเภอมาปรึกษาผมแล้ว เห็นชอบด้วย ขอให้ช่วยงานพระศาสนาแบ่งเบาภาระผู้ปกครองด้วยนะ”
ข้าพเจ้าถึงบางอ้อ เข้าใจทันทีว่าหลวงพ่อพันธ์คงต้องมากราบเรียนเรื่องของข้าพเจ้าต่อเจ้าคณะจังหวัดแล้ว จึงกราบเรียนท่านว่า เรื่องวัดวังทองเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ต้องค่อย ๆ สะสางไป แต่ตอนนี้เกล้ากระผมมีเรื่องสำคัญเร่งด่วน คือการสร้างพระประธานในอุโบสถวัดเขาสมอแครง พวกกระผมลงมติเป็นเอกฉันท์ให้สร้างพระพุทธชินราชจำลอง แต่ติดขัดเงื่อนไขของช่างว่า จะต้องทำการวัดสัดส่วนพระพุทธชินราชองค์จริงโดยละเอียด เพื่อปั้นจำลองให้เท่าและเหมือนองค์จริง ทราบว่าการวัดสัดส่วนองค์พระพุทธชินราชนั้น จะต้องได้รับการอนุญาตจากพระเดชพระคุณท่านเจ้าอาวาสเสียก่อนจึงจะทำการวัดได้ กระผมจึงมากราบเรียนขออนุญาตจากพระเดชพระคุณ ขอรับ
ท่านเจ้าคุณพิษณุบุราจารย์ฟังข้าพเจ้ากราบเรียนเรื่องอย่างรวบรัดดังนั้น ก็นิ่งคิดอยู่ครูหนึ่งแล้วกล่าวว่า
“เป็นการดีไม่น้อยที่จะจำลององค์พระพุทธชินราชเป็นพระประธานในอุโบสถวัดเขาสมอแครง เพื่อให้เป็นคู่กันกับรอยพระพุทธบาทของวัดนั้น เอานะ ผมอนุญาตให้จ่าทวีเข้าทำการวัดสัดส่วนองค์หลวงพ่อชินราชได้ แต่ต้องเข้าทำการวัดตอนค่ำ หกโมงเย็นวัดจะปิดพระวิหารขอให้จ่ามาเข้าทำการวัดในเวลานั้น จนถึงเวลาประมาณสี่ทุ่มทุกวันจนกว่าจะวัดเสร็จ ให้เขามาทำการวัดได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปเลย”
ได้รับคำอนุญาตดังนั้นข้าพเจ้าคลานเข้าไปกาบแทบเท้าท่านแล้วลากลับไปที่บ้านครูทิวเพื่อแจ้งข่าวดีแก่พรรคพวกรวมทั้งจ่าทวีที่รอฟังอยู่ พวกเราต่างดีใจเหมือนได้แก้ว หลวงพี่ไฮ้ถามจ่าทวีว่า จะคิดค่าปั้นเท่าไร จ่าบอกว่าค่าแรงผมไม่คิด แต่ค่าวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดนั้นคิดว่าอย่างมากไม่เกินห้าหมื่น ท่านอาจารย์เตรียมหาเงินไว้สักห้าหมื่นก็แล้วกัน
เป็นอันว่าการสร้างพระพุทธชินราชจำลองของวัดเขาสมอแครงได้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว หลวงพี่ไฮ้เป็นประธานการหาเงินทุนสร้างพระพุทธชินราชจำลอง ท่านเริ่มจากการบอกบุญแก่ผู้ที่เคารพนับถือท่านก่อน แล้ววางงานให้พวกข้าพเจ้าจัดรถเดินสายบอกบุญ (เรี่ยไร) ไปตามสถานที่ต่าง ๆ โดยว่าจ้างรถสองแถวของพี่พ่วงวังทองออกวิ่งตะลอน ๆ ไปทั่ว ในขณะที่จ่าทวีเข้ากราบท่านเจ้าคุณพิษณุบุราจารย์แล้วเริ่มทำการวัดสัดส่วนองค์พระพุทธชินราช เวลานั้นข้าพเจ้าทำงานพร้อมกันสองงานคือ งานเทศน์ทางวิทยุ กับงานออกบอกบุญหาเงินสร้างพระพุทธชินราชจำลอง
วันหนึ่งที่บ้านโยมพุ่ม พวกสาว ๆ พูดกันหลายเสียงว่าหลวงพี่ทำงานใหญ่คือการสร้างพระพุทธชินราชจำลองคงต้องใช้เวลานานแรมปี อย่างนี้ก็กลับกรุงเทพฯ ไม่ได้แล้ว เห็นว่าต้องอยู่วังทองต่อไปอีกนานและต้องเอาบาตรมาทิ้งเหมือนคนอื่น ๆ แล้วพวกเธอก็ยกตัวอย่างบุคคลต่างถิ่นที่เป็นพระมาเที่ยววังทองเพลิดเพลินจนลืมกลับบ้าน ที่สุดก็ต้องทิ้งบาตรสึกออกมามีครอบครัว ข้าพเจ้าโต้แย้งว่า หลวงพี่ต้องไม่เป็นอย่างนั้นแน่นอน ครูน้อยถามว่า หลวงพี่ไปหาหลวงพ่อพันธ์วัดบางสะพานน่ะเดินลอดผ่านต้นมะขามใหญ่ริมแม่น้ำวังทองหรือเปล่า ข้าพเจ้าตอบตามจริงว่าก็เดินลอดผ่านไปมาหลายครั้งแล้ว เป็นไรหรือ ครูน้ำค้าตบมือฉาดร้องว่า “อยู่แน่นอน หลวงพี่กลายเป็นคนวังทองไปแล้ว” ข้าพเจ้ายื่งงงใหญ่เลย โยมพุ่มกล่าวเสริมว่า “มะขามใหญ่ต้นนั้นมีอายุเป็นร้อยปีศักดิ์สิทธิ์นัก มีคนเห็นว่าบนต้นไม้ที่มีกิ่งก้านสาขายาวใหญ่นั้น วันดีคืนดีก็มีหญิงสาวสวยยืนถ่างขาบ้าง นั่งห้อยขาบ้าง นอนเอกเขนกบ้าง อยู่ตามกิ่งใหญ่ของมะขามนั้น คนต่างถิ่นที่มาเดินลอดผ่านกิ่งมะขามใหญ่มักจะกลลับบ้านเดิมไม่ได้ ต้องอยู่วังทองตลอดไป อย่างหลวงพันธ์นั้นท่านเป็นคนนครไทย เดิมเป็นตำรวจมาวังทองและลอดผ่านต้นมะขามใหญ่ กลับนครไทยไม่ได้ จึงลาออกจากตำรวจแล้วบวชเป็นพระอยู่ขนทุกวันนี้” พวกเราฟังแล้วรู้สึกทึ่ง แต่ไม่เชื่อ วันรุ่งขึ้นจึงชวนกันไปพิจารณาดูต้นมะขามใหญ่นั้น เห็นอยู่ริมแม่น้ำวังทองในสภาพ “เป็นไม้ใกล้ฝั่ง” จึงลองวัดขนาดด้วยการจับมือสี่องค์วงรอบต้น ได้สี่คนโอบพอดี เดินเลยไปวัดบางสะพาน สนทนากับหลวงพ่อพันธ์แล้วถามถึงเรื่องที่โยมพุ่มเล่าให้ฟังนั้นเป็นเรื่องจริงไหม ท่านรับว่าจริง คืนวันหนึ่งเคยเห็นผู้หญิงอยู่บนต้นมะขามนั้น ว้าว.... /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เป็น อยู่ คือ, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เฒ่าธุลี, malada, น้องฮานา, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล, nakasamuthra
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
วัดราชธานี สุโขทัย เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๓๒ - คำว่า “เอาบาตรไปทิ้ง” เป็นคำที่ไทยภาคกลางพูดกันมาแต่โบราณแล้ว แสดงให้เห็นภาพวัฒนธรรมไทยเกี่ยวกับเรื่องราวของนักบวช คือเมื่อก่อนนี้บ้านเมืองยังไม่เจริญด้านวัตถุมากนัก พระภิกษุทุกรูปทุกองค์จะเดินทางไปไหน ๆ ก็ต้องนำบาตรของตนติดตัวไปด้วย เพราะบาตรเป็นสิ่งของสำคัญประจำตัวเช่นเดียวกับไตรจีวร ทุกเช้าต้องอุ้มหรือสะพายบาตรออกเดินรับอาหารบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรของพระภิกษุ ถ้าไปถึงที่บ้านตำบลใดพระภิกษุนั้นเกิดความรักใคร่ชอบพอหญิง (สีกา) คนใดแล้วลาสิกขาสึกออกไปอยู่กินเป็นสามีภรรยากับหญิงนั้น เขาเรียกกันว่า “ทิ้งบาตร” คือเลิกใช้บาตรอีกต่อไปแล้ว แต่พระภิกษุในสมัยข้าพเจ้าไปไหน ๆ ไม่ต้องเอาบาตรติดตัวไปด้วยแล้ว เพราะเป็นสมัยที่บ้านเมืองเราเจริญในด้านวัตถุแล้ว มีบาตรใช้มากมาย พระบวชใหม่ทุกองค์เมื่อลาสิกขาแล้วก็ทิ้งบาตรของตนไว้ตามวัด ไม่เอากลับไปบ้าน พระอาคันตุกะไปถึงวัดใดก็ขอใช้บาตรในวัดนั้น ๆ ได้ ดังนั้นคำว่า “ทิ้งบาตร” ก็นำมาใช้กับพระสมัยข้าพเจ้ามิได้ ความคิดของสาว ๆ วังทองที่ว่าข้าพเจ้าจะต้องทิ้งบาตรเสียที่วังทองนั้น คงไม่สมความคิดของพวกเธอ
พีจ่าทวีทำการวัดสัดส่วนองค์พระพุทธชินราชแล้วเสร็จในเวลาไม่ถึงเดือน เริ่มทำการปั้นองค์พระที่บริเวณมุมนอกกำแพงด้านเหนือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) พิษณุโลกนั่นเอง ข้าพเจ้าแวะเวียนไปดูความคืบหน้าในการปั้นองค์พระของท่านบ่อย ๆ ท่านบอกว่าจะปั้นแบบแยกส่วน คือ พระเศียร แขน องค์ ขา เมื่อเสร็จแล้วจึงจะประกอบเป็นองค์สมบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ก็ได้แต่พยักหน้ารับรู้ไว้เท่านั้นเอง
ในขณะที่พี่จ่าทวีเริ่มปั้นองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชจำลองนั้น พวกเราก็ออกตะเวนบอกบุญเรี่ยไรหาทุนมาเป็นค่าสร้างองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชจำลองต่อไป วันหนึ่งไปถึงตัวเมืองสุโขทัยเป็นเวลาเย็นแล้ว จึงเข้าไปในวัดราชธานีซึ่งตั้งอยู่กลางตลาดเมือง ตั้งใจจะขออาศัยพักแรมคืน จึงเข้าไปกราบท่านเจ้าอาวาส คือท่านเจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (ทิม) ที่คนทั่วไปเรียกท่านว่า “เจ้าคุณโบราณ” เพราะท่านครองพระราชทินนามพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระโบราณวัตถาจารย์” อยู่เป็นเวลานาน จนคุ้นปากคุ้นหูชาวบ้าน ข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน เมื่อเข้าไปกราบท่านแล้วบอกเล่าถึงเหตุที่มาเที่ยวบอกบุญเรี่ยไรแล้ว ท่านก็บอกยินดีด้วย คืนนั้นท่านให้นอนที่กุฏิท่านซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เก่า ก่อนนอนก็ได้สนทนาวิสาสะกัน พอทราบว่าข้าพเจ้าเป็นพระจากอยุธยา มีบ้านเกิดบิดาอยู่อำเภอผักไห่ ใกล้บ้านเดิมของท่านที่อยู่บ้านมหาดไทย อำเภอเมืองอ่างทองเขตติดต่อผักไห่อยุธยา ท่านก็ว่าเราคนบ้านเดียวกัน ถ้าไม่กลับกรุงเทพฯ และไม่ได้เรียนอะไรต่อแล้วก็มาอยู่ด้วยกันเถิด อยากจะจัดตั้งห้องสมุด แต่หาคนจัดการไม่ได้พอดีเลย ข้าพเจ้าก็ได้แต่รับปากท่านว่า ”ขอรับกระผม”
กลับจากไปบอกบุญเรี่ยไรในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ดูยอดเงินในบัญชีที่ได้จากคนใจบุญมาห้าหมื่นบาทเศษ เห็นว่าพอให้ค่าจ้างจ่าทวีแล้ว จึงยุติการออกเที่ยวบอกบุญเรี่ยไร และก็เป็นเวลาใกล้จะสิ้นเดือน ๗ แล้วด้วย จึงมอบให้หลวงพี่ไฮ้กับพระสอนสองน้าหลานเป็นผู้เก็บรักษาเงินทั้งหมดเพื่อจ่ายให้จ่าทวีต่อไป ตอนนั้นพระลิขิตขอกลับกรุงเทพฯ ก่อนเพื่อไปเรียนต่อ ยังเหลือเพียงข้าพเจ้า พระเกรียงศักดิ์ และพระสอน หลวงพี่ไฮ้เท่านั้น
ข้าพเจ้ายังมีปัญหาที่แก้ไม่หลุดคือการเทศน์ทางวิทยุ ๐๑๐ ที่ยังเทศน์กันอยู่กับพระเกรียงศักดิ์สององค์ หาพระมาเสริมเพื่อสืบต่อยังไม่ได้ เวลาก็ใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว จะทำอย่างไรกันดี ถ้ากลับกรุงเทพฯ ตามเจตนาเดิม หาคนเทศน์แทนไม่ได้ รายการนี้ก็ต้องยกเลิกไป ปรารภเรื่องนี้กับเจ้าหน้าทางสถานี ทุกคนเห็นต้องกันว่ารายการนี้ไม่ควรเลิก เพราะมีคนฟังมากมายจนสถานีนี้ก้าวขึ้นอยู่แนวหน้าของคลื่นเสียงในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร อุตรดิตถ์แล้ว ขอให้อาจารย์อยู่ทำรายการต่ออย่ากลับกรุงเทพฯ เลย
พวกสาว ๆ วังทองที่เคยปรามาสข้าพเจ้าไว้ ส่วนมากดีใจที่ข้าพเจ้าจะต้องอยู่วัดเขาสมอแครงต่อไปเพื่อจัดทำรายการเทศน์ทางวิทยุนั้น ข้าพเจ้าคิดหนักต้องการเอาชนะคำปรามาสของพวกเธอ ได้สอบถามถึงรถโดยสารประจำทางสายสุโขทัย-พิษณุโลกแล้ว ทราบว่าใช้เวลาการเดินทางไม่เกิน ๑ ชั่วโมง (ระยะทาง ๕๐ กม.เศษ) จึงคิดว่าหากเราไปอยู่กับท่านเจ้าคุณโบราณวัดราชธานี แล้วเดินทางมาเทศน์วิทยุที่พิษณุโลกไม่น่าจะมีปัญหาอะไร กะว่าทุกวันอาทิตย์ฉันอาหารเช้าแล้วเวลา ๐๘,๐๐ น,เศษ ก็นั่งรถโดยสารประจำทาง อย่างช้าถึงพิษณุโลกเวลา ๐๙.๐๐ น.เศษ ก็ทันเวลาเทศน์ตอน ๑๐.๐๐ น. จึงตกลงใจไปอยู่วัดราชธานี เมืองสุโขทัย โดยไม่บอกให้คนวังทองและเพื่อน ๆ พระรู้ล่วงหน้า
พวกสาว ๆ วังทองพากันถามอย่างเยาะ ๆ ว่า
“ใกล้เข้าพรรษาแล้ว หลวงพี่จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ วันไหนคะ พวกเราจะไปส่งที่สถานีรถไฟค่ะ”
ข้าพเจ้าก็ได้ยิ้มแทนคำตอบ ใจก็คิดว่า
“คอยดูไปเถิดแม่สาวหน้าเป็นทั้งหลาย ฉันไม่อยู่วังทองให้สมใจเธอหรอกย่ะ”
คิดดังนั้นแล้วก็ทำตนเป็นปกติ ไม่อนาทรร้อนใจอันใดเลย
วันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๘ ปี ๒๖๐๗ นั้น ข้าพเจ้าเดินทางจากวัดเขาสมอแครงเข้าอยู่วัดราชธานีเมืองสุโขทัยอย่างเงียบ ๆ โดยไม่บอกลาชาววังทองให้รู้เลย พระสอน หลวงพี่ไฮ้ พระเกรียงศักดิ์ ก็รู้ในวันเดินทางจากพวกเขาไปนั่นเอง /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ต้นฝ้าย, malada, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, ชลนา ทิชากร, ลิตเติลเกิร์ล, nakasamuthra
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน) เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๓๓ - ท่านเจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน) ที่คนทั่วไปเรียกท่านว่า “เจ้าคุณโบราณ” จัดที่ให้ข้าพเจ้าอยู่นั้นคือ กุฏิไม้โบราณ ๒ ชั้นหลังใหญ่ที่เคยใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ก่อนนั้นเป็นเรือนที่คุณหลวงสกลพลากรถวายให้เป็นกุฏิสงฆ์วัดราชธานี ท่านเจ้าคุณ (ซึ่งต่อมาข้าพเจ้าเรียกท่านว่าหลวงพ่อ) อาศัยอยู่ชั้นล่าง ให้ข้าพเจ้าอยู่ชั้นบน มีอาคารไม้ ๒ ชั้นใหญ่อีกหลังหนึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน หลังนี้เป็นอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมชื่อ โรงเรียนวินัยสาร มีหมู่กุฏิสงฆ์ตั้งอยู่เป็นวงหลังโรงเรียนวินัยสารและกุฎีสกลพลากรที่ข้าพเจ้าอยู่ ด้านหน้ากุฏิเป็นบ่อหรือสระน้ำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยผักตบชวา ในบ่อมีปลาดุกปลาช่อนปลาสวายขนาดใหญ่อยู่รวมกับปลานานาอีกมากมาย เรียกกันว่า “บ่อปลา” มีคนไปดูปลาและให้อาหารปลากันวันละไม่น้อย ใต้ถุนกุฏิและโรงเรียนมีน้ำขังอยู่และเป็นที่อาศัยของเต่า-ตะพาบเป็นจำนวนมาก ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือกุฏิเป็นที่ตั้งโรงอุโบสถหลังใหญ่ ริมบ่อปลาทางตะวันตกมีวิหารหลวงพ่อเป่าหรือหลวงพ่อเป๋า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด ด้านวิหารหลวงพ่อเป่ามีวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่เรียกชื่อว่า หลวงพ่อโต จากนั้นเป็นถนนที่ตัดผ่านวัดจากด้านใต้ไปทางเหนือ เลียบแม่น้ำยมไปถึงบางแก้วชื่อถนนราชธานี ตรงข้ามกับโบสถ์ริมถนนด้านตะวันตกมีพระพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่นั่งห้อยพระบาท มือยกซ้ายขึ้นดูเหมือนกวัก หงายมือขวา เรียกกันว่าพระประทานพร ด้านหลังพระประทานพรมีหอระฆัง ศาลาการเปรียญ และหมู่กุฏิสงฆ์วงรอบศาลานั้นซึ่งตั้งติดริมแม่น้ำยม บริเวณด้านใต้ศาลาการเปรียญมีอาคารร้านค้าเรือนไม้ เป็นตลาดธานีเดิมก่อนที่จะขยายออกไปรายรอบเป็นเหมือนกำแพงวัดราชธานี ด้านใต้วัดเป็นถนนหลวงชื่อจรดวิถีถ่อง ทอดสายข้ามแม่น้ำยมด้วยสะพานพระร่วง ยาวไปจนถึงจังหวัดตาก นี่คือสภาพของวัดราชธานีในกาลที่ข้าพเจ้าไปอยู่เมื่อปี ๒๕๐๗
ดูสภาพวัดราชธานีดังกล่าวแล้ว วัดนี้เหมือน “อกแตก” เพราะมีถนนผ่าผ่านกลางวัดไป จนดูเหมือนเป็นสองวัด ทางฝั่งฟากตะวันออกที่ข้าพเจ้าอยู่มีหอฉันหลังย่อมเป็นที่รวมฉันอาหารของพระเณรที่อยู่ทางฝั่งนี้ ทางฝั่งฟากตะวันตกมีโรงครัวและหอฉันสำหรับพระเณรฉันอาหารอีกคณะหนึ่ง ส่วนข้าพเจ้านั้น หลวงพ่อเจ้าคุณฉันอาหารรวมกับท่านที่มุมหนึ่งของอาคารโรงเรียน โดยมีแม่ครัวนำอาหารจากโรงครัวมาถวายทุกมื้อ อาหารที่แม่ครัวปรุงนั้นจัดซื้อหาผักปลาเครื่องครัวนานาโดยเงินที่ได้จากผู้ที่มากราบไหว้หลวงพ่อเป่าพระศักดิ์สิทธิ์ในวิหาร ใส่เงินลงรวมไว้ตู้รับบริจาค หลวงพ่อเจ้าคุณให้เปิดตู้นั้นเดือนละครั้ง แต่ละครั้งได้เงินบริจาคไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ บาท จะเรียกว่าหลวงพ่อเป่าเลี้ยงพระเณรวัดราชธานีก็ได้ ก่อนเข้าพรรษา ๑ วัน มีพระชาวจังหวัดอ่างทองบ้านเดียวกับหลวงพ่อเจ้าคุณ ชื่อพระไพฑูรย์ โฆสิตธมฺโม มาขออยู่ด้วยอีกองค์หนึ่ง พระองค์นี้อายุน้อยกว่าข้าพเจ้า ๑ ปี เป็นศิษย์หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ แต่ท่านไม่คล่องแคล่วเหมือนพระอาจารย์ ดูเหมือนประสาทท่านจะเฉื่อยชาอยู่สักหน่อย
เข้าพรรษาแรกที่วัดราชธานีของข้าพเจ้าฐานะพระใหม่ของวัดจึงไม่มีงานอะไรทำ หลวงพ่อเจ้าคุณมอบหมายให้คัดเลือกหนังสือจัดทำห้องสมุดของวัด โดยใช้ชั้นล่างของกุฏิสกลพลานั่นแหละ หลวงพ่อเจ้าคุณย้ายไปอยู่ตรงมุขหน้าชั้นล่างของโรงเรียน ท่านเกรงว่าข้าพเจ้าจะทำไม่ไหว จึงขอให้ พระมหาทองสุข พระมหาวีรศักดิ์ พระมหาประสิทธิ์ จากวัดไทยชุมพล มาช่วยคัดเลือกหนังสือด้วย แต่พวกเราก็จนปัญญา เพราะหนังสือที่ท่านให้คัดเลือกนั้นไม่ใช่หนังสือไทยธรรมดา แต่ส่วนมากเป็นคัมภีร์สมุดข่อย ใบลาน ที่เป็นอักษรขอมบ้าง อักษรไทยที่เขียนแบบโบราณบ้าง อย่างตำรายาที่เขียนว่า “นำพิง นำตาลิง กินกได ทาก่ได ไมหายตายแล” อ่านแล้วต้องหาความ กว่าได้ชัดๆ ว่า “น้ำผึ้ง น้ำตำลึง กินก็ได้ ทาก็ได้ ไม่หายตายแล” พวกเราพยายามทำกันอยู่เดือนกว่าก็ต้องบอกลา พระมหา ๓ รูปนั้นอ้างว่าต้องสอนนักเรียนมาก ไม่มีเวลามาช่วย ข้าพเจ้าก็บอกท่านตรง ๆ ว่าทำไม่ได้ และเวลานั้นต้องค้นคว้าวิชาการด้านศาสนาเพิ่มเติมเพื่อนำไปแสดงทางสถานีวิทยุด้วย ดังนั้นจึงขอเพลางานด้านการคัดเลือกหนังสือเก่าของหลวงพ่อไปพลางก่อน
วันอาทิตย์แรกของพรรษานั้น ข้าพเจ้านั่งรถโดยสารไปพิษณุโลกแต่เช้า หลังเทศน์ทางวิทยุเสร็จแล้ว จ่าเจ้าหน้าสถานีวิทยุก็อาสาขับรถจิ๊บไปส่งที่สุโขทัย ส่วนพระเกรียงศักดิ์ขอนั่งรถสองแถวกลับวัดสมอแครงเอง การจัดรายการวิทยุของข้าพเจ้าจึงไม่มีปัญหา วันต่อ ๆ มามีเจ้าของร้านอาหารใหญ่ใกล้วงเวียนหอนาฬิกาเมืองพิษณุโลกแจ้งแก่ทางสถานีวิทยุว่า จะขอเป็นเจ้าภาพถวายอาหารเพลแก่พระเทศน์ทุกวันอาทิตย์ พอเทศน์จบขอให้เจ้าหน้าที่นำพระไปฉันอาหารที่ร้านได้เลย เรื่องอาหารก็หมดห่วงไปอีกเปลาะหนึ่ง
วันเสาร์หนึ่งหลังเข้าพรรษาได้ประมาณครึ่งเดือน จู่ ๆ สามครูสาวจากวังทองก็โผล่หน้าเข้าไปที่กุฏิของข้าพเจ้า ทำเอาตกใจมากเลย ถามเธอว่ามาได้ยังไงเนี่ย เธอก็ว่านั่งรถเมล์มาน่ะซี หลวงพี่ทำไมหนีพวกหนูมาเฉย ๆ จะบอกลาซักคำก็ไม่มี ใจดำจังเลยนะ เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วฟังวิทยุบอกว่าอยู่วัดราชธานี เมืองสุโขทัย หนูก็พากันมาหาจนพบนี่แหละ ดูซิว่าจะหนีไปไหนได้อีก พวกเธอต่อว่าฉอด ๆ ข้าพเจ้าก็ได้แต่นั่งฟังเฉย ๆ เมื่อพวกเธอหยุดเจื้อยแจ้วกันแล้ว ข้าพเจ้าก็อธิบายเหตุผลที่จากมาให้เธอฟังจนหมดความข้องใจ แล้วฝากคำคิดถึงไปให้ญาติโยมชาววังทองทุกคนด้วย ในพรรษานี้คงไม่ได้ไปพบญาติโยมที่วังทองหรอก รอไว้ออกพรรษาแล้วจึงจะไปพบกัน หลังจากพวกเธอลากลับไปแล้วพระไพฑูรย์ถามว่าพวกเธอเป็นใคร มาจากไหน ก็บอกเล่าความเป็นมาให้ฟัง พระไพฑูรย์บอกว่า สังเกตเห็นว่าคนชื่อน้อยผู้สวยที่สุดในหมู่พวกนั้น เขาจะชอบคุณมากนะ ข้าพเจ้าก็ตอบว่า ผมไม่เคยสังเกตนะ และก็ไม่ได้คิดอะไรในเรื่องชู้สาวด้วย พระไพฑูรย์ก็หัวเราะหึ ๆ แล้วเงียบไป /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๓๔ - ในพรรษานั้นมีพระเณรจำอยู่ในวัดราชธานีทั้งหมด (ถ้าจำไม่ผิด) ประมาณ ๓๐ เป็นพระหนุ่มไม่เกิน ๑๐ รูป สามเณร ๔ นอกนั้นเป็นพระหลวงตาทั้งหมด ทางฝั่งที่ข้าพเจ้าอยู่มีพระอาวุโสสูงสุดคือหลวงพ่อเจ้าคุณ รองลงไปคือเจ้าอธิการบุญมี (เจ้าคณะตำบลธานี) พระครูสมุห์แถวผู้ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ หลวงพ่อเจ้าคุณ พระมหาคำสิงห์ และหลวงตาอีกหลายรูป ทางฝั่งศาลาการเปรียญ มีพระครูใบฎีกาเทศน์ พระธูป พระชวน พระชู พระเจริญ และหลวงตาอีกหลายรูป ข้าพเจ้าเที่ยวไปทำความรู้จักกับพระทุกองค์ พบว่ามีหลวงตาองค์หนึ่งมีความเป็นมาน่าสนใจ เขาเรียกท่านว่า พระครูเปลี่ยน สอบถามถึงปูมหลังของท่านทราบว่าหลวงตาองค์นี้เคยบวชสมัยหนุ่ม อยู่นานจนมียศตำแหน่ง เป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะอำเภอศรีสำโรง มีสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในพระราชทินนามที่ พระครูวินิจฉัยพุทธบัญญัติ (ถ้าจำไม่ผิด) ต่อมาท่านเกิดความเบื่อหน่ายในการบริหารงานปกครอง จึงลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาส ไม่มีภรรยา เพราะท่านไม่ได้ตั้งใจสึกออกไปเพื่อมีเมียมีลูกเหมือนคนอื่น แต่สึกเพราะเบื่อหน่ายในการปกครอง จึงได้แต่อาศัยญาติบ้าง บรรดาศิษย์ของท่านบ้าง ในขณะที่เป็นฆราวาสนั้นท่านนุ่งขาวห่มขาวรักษาศีล ๕ อยู่เป็นนิจ ถึงวันพระก็รักษาอุโบสถศีลเป็นประจำ ท่านตัดสินใจกลับมาบวชเป็นพระอีกได้ ๒ พรรษาแล้ว พระครูเปลี่ยนเป็นคนสุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมคนอย่างน่ารักเคารพนับถือมาก
ย้อนกลับไปดูปูมหลังของวัดราชธานีจากเอกสารเก่าได้ความมาว่า “วัดราชธานี แต่เดิม ชื่อว่า วัดป่าละเมาะ เพราะสภาพที่ตั้งล้อมรอบด้วยป่าละเมาะ ต่อมาเปลี่ยนชื่อตามสภาพที่ตั้งเป็น “วัดท่านี้” อันเนื่องด้วยมีท่าเรือข้ามฟาก ที่ใช้เป็นจุดเชื่อมค้าขายระหว่างคลองแม่รำพันจากด้านเหนือคือ เมืองเชลียง จนกระทั่งต่อมาได้กร่อนคำเป็น "วัดธานี " สืบมาจนกระทั่งสมัย “พระราชธานี” เจ้าเมืองสุโขทัยในขณะนั้น ได้ให้มีการบูรณะวัด พร้อมเปลี่ยนชื่อว่า “วัดราชธานี" สืบมาจนปัจจุบัน เป็นวัดที่มีตำนานเล่ากันมาว่า "พระยาพิชัยดาบหัก เมื่อครั้งเป็นเด็กเคยมาอาศัยอยู่กับบิดา" พร้อมกันนั้นวัดราชธานีแห่งนี้ยังเคยเป็นสาขาพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เนื่องจากวัดแห่งนี้มีการรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งในอดีตประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จฯ มานมัสการพระโบราณวัตถาจารย์ (ทิม ยสทินโน) เจ้าอาวาสในขณะนั้นด้วย”
สรุปได้ว่าวัดราชธานีเดิมเรียกกว่าวัดป่าละเมาะ ต่อมาเปลี่ยนชื่อว่าท่านี้ เพี้ยน ธานี เจ้าเมืองสุโขทัยได้ทำการบูรณะวัดแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “ราชธานี” ตามนามของท่าน วัดนี้เริ่มเจริญขึ้นเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพอใจพระสมุห์ทิม ยสทินโน วัดอนงคาราม จึงให้ส่งมาเป็นเจ้าอาวาสวัดราชธานี และตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวง (อำเภอ) เมือง ควบอำเภอกงไกรลาศและตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระครูวินัยสาร พระครูทิมได้จัดตั้งโรงเรียนสอนนักธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดสุโขทัยที่วัดนี้ ดังความในเอกสารที่บันทึกไว้ว่า “ในพรรษานั้นได้จัดตั้งโรงเรียนนักธรรมชั้นตรีขึ้น มีพระเข้าเรียน ๑๘ องค์ ต่อมาเข้าสอบที่สนามหลวงได้ ๑๐ องค์ ในปีต่อมาก็มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้น ๑ หลัง มี ๒ ชั้น ชื่อว่า “โรงเรียนวินัยสารวิทยา”
หลวงพ่อเจ้าคุณเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า สมัยก่อนนี้วัดราชธานีเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมมีความเจริญมาก นักเรียนในสำนักนี้ก้าวหน้าในการศึกษาเป็นพระนักธรรมพระเปรียญ พระมหาหลายองค์สึกออกไปรับราชการเป็นใหญ่เป็นโตหลายคน ต่อมาสำนักเรียนเสื่อมโทรมลงจนไม่มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมที่วัดราชธานีอย่างที่ข้าพเจ้าเห็นอยู่ กาลนั้นพระเณรเรียนนักธรรมกันที่วัดคูหาสุวรรณซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับวัดราชธานี และเรียนนักธรรมบาลีที่วัดไทยชุมพลที่อยู่ตอนเหนือตลาดเมืองสุโขทัย ข้าพเจ้ารับทราบข้อมูลดังนั้นแล้วรู้สึกสะท้อนใจ จึงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะฟื้นฟูสภาพโรงวินัยสารวิทยาของหลวงพ่อเจ้าคุณให้กลับคืนมาอีกได้หนอ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, malada, ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, ชลนา ทิชากร, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), คิดถึงเสมอ, nakasamuthra
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๓๕ - จะทำงานอะไรให้แก่วัดราชธานี เห็นทีต้องย้อนกลับไปดูประวัติของท่านเจ้าคุณพระราชประสิทธิคุณ (ทิม) ก่อน เพราะท่านมีความสำคัญต่อวัดราชธานีและเมืองสุโขทัยมาก เปิดปูมหลังของท่านดูพบความเป็นมาของท่านดังต่อไปนี้
ท่านเจ้าคุณ พระราชประสิทธิคุณ (ทิม) หรือ พระโบราณวัตถาจารย์ เดิม ชื่อ “ขาว” ชื่อสกุล มุ่งผล เกิดวันที่ เท่าไรไม่ปรากฏ ทราบเพียงว่า เกิดวันเสาร์ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ ที่บ้านไผ่ดำ ตำบลไผ่ดำ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง (ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็น ตำบลบางจัก ขึ้นกับ อำเภอวิเศษไชยชาญ) โยมบิดาของท่านชื่อ นายแป้น โยม มารดาของท่านชื่อ ทองอยู่ มีอาชีพทำนา มีพี่น้องรวมท้องเดียวกัน ๔ คน คือ ๑. นายปาน ๒. นางลับ ๓. นายขาว หรือ ทิม (พระราชประสิทธิคุณ) ๔. นางบุญรอด โยมมารดานั้นคลอดบุตรคนสุดท้องแล้วก็ได้ถึงแก่กรรม ต่อมาไม่ช้านาน บิดาได้นำเด็กชายขาวไปฝากพระอาจารย์อ่ำไว้ที่วัดมหาดไทย ตามคำสั่งภรรยาก่อนตายว่าให้นำเด็กชายขาวไปฝากกับพระอาจารย์อ่ำให้จงได้ เด็กชายขาวจึงอยู่วัดแต่นั้นมา
เหตุที่เด็กชายขาวจะเปลี่ยนชื่อเป็นเด็กชายทิมนั้น ก็เพราะเมื่อมารดาถึงแก่กรรมใหม่ ๆ ปู่ทวดได้อุปการะอยู่ วันหนึ่งนั่งอยู่กับปู่ทวด เด็กชายขาวซึ่งพอรู้ความแล้ว เห็นไฝเม็ดหนึ่งอยู่ที่ใต้คางของปู่ เขาจึงเอามือจับดู แล้วถามว่านี่คืออะไร? ปู่ตอบว่า “เม็ดทับทิม” เด็กชายขาวบอกว่าอยากได้ ปู่จึงยกให้ แล้วปู่ทวดจึงบอกแก่คนทั่วไปว่า ต่อไปอย่าให้ใครเรียกว่าเด็กชายขาวอีก ให้เรียกว่า เด็กชาย “ทิม” นับแต่นั้นมาเด็กชายขาว จึงมีนามใหม่ตามที่ปู่ทวดตั้งให้
ส่วน นายปาน พี่ชายนั้น โยมบิดาเอาไปฝากไว้กับ หลวงพ่อพูล พระอุปัชฌาย์ วัดประสาทบ้านแพ ตำบล ตะพุ่น (ปัจจุบันคือ ตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง) และเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ไปจำพรรษาที่วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ ได้เล่าเรียนหนังสือขอม สำหรับเด็กชายทิมนั้น เมื่อมาอยู่วัดมหาดไทย ก็ได้เล่าเรียนหนังสือไทย หนังสือขอม จนพออ่านออกเขียนได้ ต่อมาพระอาจารย์อ่ำได้ย้ายไปอยู่ที่วัดท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอวิเศษไชยชาญ เด็กชายทิมก็ได้ตามพระอาจารย์อ่ำไปอยู่ที่วัดนั้นด้วย พอออกพรรษาแล้วพระอาจารย์อ่ำก็ล่องเรือลงมาที่กรุงเทพฯ เด็กชายทิมก็ได้ติดตามอาจารย์ลงมาเยี่ยมญาติที่คลองราชบูรณะ และไปอยู่ที่วัดเสือรอด ( วัดสารอด ? ) และเข้าเรียนหนังสือ ต่อมาสอบได้ชั้น ๒ ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ คลองบางหลวงแล้ว พระพี่ชายก็มารับไปไว้ที่วัดสุทัศเทพวรารามด้วยกัน และได้บวชเณรเรียนหนังสือไทยชั้น ๓ มีพระครูเงิน เป็นครูใหญ่ เมื่อสอบไล่ชั้น ๓ แล้วก็จำต้องสึกจากเณรเพื่อกลับบ้านไผ่ดำ ที่อ่างทอง ช่วยโยมบิดาทำนาจนอายุได้ ๒๐ ปี จึงไปบวชที่วัดประสาท กับพระอุปัชฌาย์พูล, พระอาจารย์หร่ำ วัดประสาท กับพระอาจารย์แพ วัดมหาดไทย เป็นพระคู่สวด ได้ฉายาว่า ยสทินฺโน พอบวชเสร็จแล้วก็ล่องเรือลงมาอยู่วัดสุทัศน์เทพวราราม กับ พระปานผู้เป็นพี่ชายอีก พอดีใกล้เข้าพรรษาที่วัดสุทัศน์ฯ ปิดบัญชีรับพระเสียแล้ว ไม่รับอีกต่อไป พระพี่ชายจึงพาไปฝากไว้ที่วัดเทวราชกุญชร เขตดุสิต กรุงเทพฯ กับพระประสิทธิคุณ (แดง) เจ้าอาวาสวัดสมอแคลง (คือ วัดราชาธิวาสวิหาร เขตดุสิต กรุงเทพฯ) ๑ พรรษา พอออกพรรษาแล้วบรรดาพวกญาติ ๆ ได้นิมนต์ให้มาจำพรรษาที่วัดราชสิทธาราม หรือ วัดพลับ (เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี) ได้เรียนบาลีกับพระอาจารย์คง อยู่ ๒ ปี จากนั้นย้ายมาอยู่วัดอนงคาราม (เขต คลองสาน ธนบุรี) เรียนมูลกับ พระอาจารย์ดิสส์ ลูกศิษย์พระอาจารย์ช้าง แล้วเรียนบาลีธรรมบทกับพระอาจารย์ชวด และพระอาจารย์หนู จบ ๒ บั้นต้น บั้นปลาย หลังจากนั้นช่วยบอกหนังสือขอมแก่นักเรียน และนักธรรมบ้าง เป็นครั้งคราว
ต่อมาท่านเจ้าคุณพระธรรมโกษาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) เจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก ได้ตั้งเป็นฐานานุกรมที่พระสมุห์ แล้วให้ไปคอยรับเสด็จสมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่คลองบางปะกอก บางปะแก้ว ธนบุรี เมื่อสมเด็จพระมหาสมณะเจ้าฯ เสด็จถึงวัดทุ่ง (ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน) ได้มีโอกาสในการเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด สมเด็จฯ ท่านโปรดในข้อวัตรปฏิบัติของพระสมุห์ทิมเป็นอันมาก จึงได้ส่งขึ้นไปเป็นเจ้าอาวาสวัดราชธานี และเป็นเจ้าคณะแขวงเมือง จังหวัดสุโขทัย และเมื่อสมเด็จพระมหาสมณะเจ้าฯ เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ภาคเหนือครั้งใด พระสมุห์ทิมก็ได้ไปรับเสด็จทุกคราวไป ท่านได้จัดตั้งโรงเรียนนักธรรมชั้นตรีขึ้น มีพระเข้าเรียน ๑๘ องค์ ต่อมาเข้าสอบที่สนามหลวงได้ ๑๐ องค์ ในปีต่อมาก็มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้น ๑ หลัง มี ๒ ชั้น ชื่อว่า “โรงเรียนวินัยสารวิทยา”
ในระยะจัดตั้งโรงเรียนนี้ พระสมุห์ทิมได้เป็นพระครูชั้นประทวนอยู่ ๘ เดือน ก็ได้รับตราตั้งเป็นอุปัชฌาย์ แล้วได้เป็นพระครูสัญญาบัตรในพระราชทินนามว่าพระครูวินัยสาร เจ้าคณะแขวงเมืองสุโขทัย และพร้อมกับรักษาการเจ้าคณะแขวง อำเภอกงไกรลาศ (เดิมเป็นเมือง แล้วยุบเป็น อำเภอบ้านไกร จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอกงไกรลาศ) อีก ๑ แขวง รวมเป็น ๒ แขวงด้วยกัน
ในปีที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้เสด็จมาที่วัดราชธานี เห็นพระพุทธ-รูปศิลาประทับยืนสมัยทวารวดี ซึ่งมีขนาดใหญ่โต งดงาม มีพระประสงค์จะใคร่ได้ไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ พระครูวินัยสาร (ทิม) จึงถวายให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพไป สมเด็จฯ จึงสั่งให้พระยาวิชัย ประกาศ ข้าหลวงจังหวัดสุโขทัยในสมัยนั้น นำส่งกรุงเทพฯ ทางน้ำ โดยต่อแพขนาดใหญ่ แต่เดิมพระพุทธรูปศิลาองค์นี้ ได้เคยอยู่ที่วัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัยมาก่อน นับเป็นโบราณวัตถุในสมัยทวารวดีที่ชัดเจนชิ้นแรก ที่พบในเมืองเก่าสุโขทัย หลังจากพระครูวินัยสาร (ทิม) มอบพระพุทธรูปศิลาแก่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว ทรงเห็นว่า พระครูวินัยสารเป็นผู้ใฝ่ใจเก็บรักษาวัตถุโบราณเป็นอันดียิ่ง จึงทรงโปรดให้ดูแลรักษาวัดต่าง ๆ ในเขตสุโขทัย ตลอดจนสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) ด้วย ท่านเป็นผู้ที่สนใจในโบราณวัตถุ และ โบราณสถานต่าง ๆ ที่เมืองเก่าสุโขทัย เมืองเก่าสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัย) เป็นอันมาก เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้จัดการขุดลอกสระตระพังทอง ซึ่งเป็นสระใหญ่ที่สำคัญ มีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า “....ตระพังโพยสีใสกินดีดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง” เป็นครั้งแรก จากนั้นเมื่อมีทุนทรัพย์คราวใด ท่านก็พยายามลอกให้ลึกอยู่เสมอ ทำให้ราษฎรที่เมืองเก่าได้มีน้ำที่สะอาดใช้สอยตลอดมา นอกจากนี้ท่านยังได้จัดการซ่อมแซม อุดรอยที่ผู้ร้ายลักลอบขุดค้นตามเจดีย์ วัด ต่าง ๆ ทั้งในและนอกเขตเมืองเก่าสุโขทัย เช่น วัดพระบาทน้อย, วัดมหาธาตุ, วัดตระพังทอง, วัดศรีชุม, วัด-สะพานหิน เป็นต้น ในการนี้กรมศิลปากรได้ถวายเงินให้แก่ท่าน ในการดูแลรักษาโบราณสถานต่าง ๆ เป็นเงิน ปี ละ ๒๐๐ บาทด้วย ต่อมาท่านได้มอบโบราณวัตถุที่ท่านได้รวบรวมไว้ตามพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ครั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้แก่กรมศิลปากร และ กรมศิลปากรได้ประกาศรับพิพิธภัณฑ์วัดราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เป็นสาขาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ และต่อมาได้ย้ายโบราณวัตถุต่าง ๆ ไปไว้ในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง ปรากฏโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่พระราชประสิทธิคุณมอบให้ถึง ๑,๙๓๐ รายการ และในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ท่านได้มอบเพิ่มเติมอีกจำนวน ๒ รายการ ซึ่งอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง นี้ ได้จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗
จากวัดอนงคาราม ธนบุรี พระสมุห์ทิม ยสทินฺโน มาอยู่ที่วัดราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับสัญญาบัตรเป็นพระครูวินัยสาร เจ้าคณะแขวง เจ้าคณะแขวงเมืองสุโขทัย พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูวินิจฉัยพุทธบัญญัติ ตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัด สุโขทัย พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีพระราชทินนามว่า “พระโบราณวัตถาจารย์” เป็นกรรมการสงฆ์จังหวัด ตำแหน่งสาธารณูปการ และตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดพระปรางค์) อำเภอศรีสัชนาลัย ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชประสิทธิคุณ พิบูลวิริยาธิกร บุราณเจติยาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
ประวัติชีวิตและงานของท่านมีมากมากเกินกว่าจะกล่าวให้หมดสิ้นในเวลาอันสั้นได้ จึงขอยกมาเพียงย่อ ๆ เท่านี้ก่อนครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, เป็น อยู่ คือ, malada, ต้นฝ้าย, มนชิดา พานิช, ชลนา ทิชากร, ลิตเติลเกิร์ล, หยาดฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), คิดถึงเสมอ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๓๖ - หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณท่านเป็นคนโบราณสมนามสมณะศักดิ์ของท่าน ชอบใช้สรรพนามกับคนคุ้นเคยของท่านว่า “แก-ข้า” กับข้าพเจ้าท่านก็ใช้สรรพนามนั้น ท่านบอกเล่าให้ฟังถึงการฟื้นฟูบูรณะเมืองเก่าสุโขทัยว่า สมัยที่ท่านมาอยู่สุโขทัยใหม่ ๆ นั้น เมืองเก่าสุโขทัยเป็นป่าดงไผ่รกทึบ เจดีย์และพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ ๆ ถูกคนร้ายขุดเจาะหาสมบัตินานาในองค์เจดีย์และองค์พระจนหาดีไม่ได้ ท่านเห็นแล้วสลดใจจึงทำการซ่อมแซมตามแต่จะทำได้ และขนย้ายพระพุทธรูปน้อยใหญ่มาไว้ที่วัดราชธานี เอาใส่ระแทะลากมาตามทางเกวียน เพราะสมัยนั้นยังไม่มีถนน ทางไปมาไม่สะดวกสบายนัก เมื่อลากมาถึงแม่น้ำยมก็ต้องลงแพข้ามขึ้นวัดราชธานี เสร็จแล้วก็ขุดบ่อตรงหลังวิหารหลวงพ่อโต เอาพระเหล่านั้นจำนวนหนึ่งลงฝังดินแล้วสร้างเจดีย์ทับไว้ อีกส่วนหนึ่งฝังไว้ในวิหารหลวงพ่อโตตรงหน้าองค์พระไม่น้อยเหมือนกัน
เมืองเก่าสุโขทัยเป็นแดนกันดาร ลำน้ำแม่ลำพันในฤดูแล้งตื้นเขิน บางตอนแห้งขอด บางตอนมีน้ำเป็นห้วง ๆ พอให้ผู้คนและสัตว์บริโภคได้บ้าง ส่วนสระหรือตระพังในกำแพงเมืองนั้นตื้นเขินทั้งหมด ท่านจึงตัดสินในทำการขุดลอกตระพังทอง (ตระพังเป็นภาษาเขมรแปลว่าสระหรือบ่อขนาดใหญ่) ตระพังนี้ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ว่า “น้ำในตระพังโพยสีใสกินดีดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง” ท่านเขียนติดกันเป็นพืด นักอ่านจารึกสมัยแรกๆแบ่งวรรคว่า “น้ำในตระพังโพยสี ใสกินกินดี” คนสมัยนั้นจึงเรียกตระพังนี้ว่า “ตระพังโพยสี” ต่อมามีการชำระใหม่อ่านกันว่า “ตระพังโพย สีใส กินดี” แต่คนทั่วไปเรียกกันว่า ตระพังทอง เป็นคู่กันกับตระพังเงิน ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของวัดมหาธาตุ
หลวงพ่อเจ้าคุณเล่าว่าท่านไปเกณฑ์คนจากบ้านเกิดที่อ่างทองขึ้นมาช่วยตัดโค่นถางป่าไผ่ ทำการขุดลอกตระพังทอง ในยามนั้นมีคนป่วยตายด้วยไข้ป่าเป็นหลายคน ช่วงเลานั้นเป็นปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ ยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงพ่อเจ้าคุณจึงมีอำนาจกะเกณฑ์ไพร่มาทำงานให้ได้ ชาวบ้านในเมืองเก่าได้น้ำกินน้ำใช้จากตระพังทองก็เพราะหลวงพ่อคุณนี่เอง
เรียนถามท่านว่า ในหลวงเคยเสด็จมานมัสการหล่อเจ้าคุณที่วัดราชธานีจริงไหม ท่านรับว่าจริง เหตุที่ท่านเสด็จมาก็เพราะสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลสั่งว่า “ไปสุโขทัยอย่าลืมแวะเยี่ยมหลวงพี่ทิมด้วยนะ” ถามท่านอีกว่าสมเด็จพระราชชนนีทรงรู้จักกับหลวงพ่อเจ้าคุณได้อย่างไร ท่านก็เล่าว่า สมัยเป็นพระอยู่วัดอนงคาราม มีหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือด้วย สมเด็จพระราชชนนียังเป็นเด็กหญิงสังวาล บ้านอยู่ติดกับวัดอนงคฯ ได้สมัครเข้าเรียนหนังสือกับท่าน และเรียกท่านว่า “หลวงพี่ทิม” ตลอดมา “แม้จะมีฐานันดรศักดิ์สูงขึ้นอย่างไรก็ยังไม่ทรงลืม จึงสั่งให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแวะเยี่ยมข้า” หลวงพ่อเจ้าคุณบอกเล่าด้วยความสุขใจในอดีตอันดีงามของท่าน
อยู่วัดราชธานีได้ครึ่งพรรษารู้จักผู้คนมากขึ้น เพราะคนในสุโขทัยส่วนหนึ่งก็เปิดวิทยุ ๐๑๐ รับฟังการเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาของข้าพเจ้า พอตั้งหลักได้แล้วข้าพเจ้าก็ข้ามฟากไปวัดคูหาสุวรรณซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดราชธานี ไปหาพระองค์หนึ่งเคยรูจักกันตั้งแต่เป็นสามเณรอยู่อยุธยา ท่านชื่อพระมหาบุญเหลือ เป็นชาวจังหวัดสุโขทัย สำนักท่านอยู่วัดเศวตรฉัตร บางลำพูล่าง คลองสาน ธนบุรี ภายหลังทราบว่าท่านจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาอยู่วัดคูหาสุวรรณ เป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัยเสียด้วย เมื่อข้ามไปหาก็พบกัน หลวงพี่มหาบุญเหลือดีที่ได้พบกันและมาอยู่วัดใกล้กัน เราคุยกันอยู่นานพอสมควรแล้ว หลวงพี่มหาก็พาเข้าพบท่านพระครูเจ้าคณะอำเภอ เพื่อทำความรู้จักและปวารณาตัวให้ท่านเรียกใช้ พระครูเจ้าคณะอำเภอมีนามสมณะศักดิ์ว่า “พระครูสุขวโรทัย” ชื่อเดิมว่า “ห้อม” คนทั่วไปเรียกท่านว่าหลวงพ่อห้อม เป็นหนึ่งในศิษย์ของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ คู่กันกับพระครูสุวิชาญวรวุฒิ หรือ หลวงพ่อปี้ วัดลานหอย ที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้ไปทำความรู้จักกับท่าน
พบหลวงพี่มหาบุญเหลือแล้ว ข้าพเจ้าก็อุ่นใจที่ได้เพื่อนคู่คิด จากวันนั้นมาท่านก็พาข้าพเจ้าไปทำความรู้จักกับเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสอีกหลายตำบลหลายวัดในเขตปกครองของอำเภอเมืองสุโขทัย ได้เรียนรู้ขนบประเพณีต่าง ๆ ของสุโขทัยมากขึ้น บอกได้ว่าข้าพเจ้าเริ่มสนุกขึ้นมากแล้ว
กลางพรรษานั้น คุณนายคนหนึ่งชื่อเรณู มาพบข้าพเจ้าขณะกำลังฉันเพลอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณ คุณนายแจ้งความประสงค์ว่าขอนิมนต์พระอภินันท์เทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูชกในวันอออกพรรษาที่จะถึงนี้ ข้าพเจ้าตกใจนั่งอึ้งอยู่ คุณนายถามย้ำว่าจะรับได้ไหมคะ ข้าพเจ้าตอบตามจริงว่า ไม่ได้หรอกโยม ฉันไม่เคยเทศน์ทำนองใด ๆ เลย เทศน์แต่ธรรมะอย่างที่พระทั่วไปเทศน์กันนั่นแหละ คุณนายก็ย้อนว่า ท่านจะเทศน์อย่างไรก็ได้ขอให้เป็นเรื่องของชูชกก็แล้วกัน หลวงพ่อเจ้าคุณบอกว่า เมื่อเขามีศรัทธาเจาะจงมาอย่างนั้นก็รับปากเขาไปเถอะ อย่าขัดศรัทธาเขาเลย ข้าพเจ้าก็ต้องรับด้วยอาการนิ่ง (ดุษณีภาพ) เท่านั้นเอง /๑๓๖
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๓๗ – การถูกนิมนต์ให้เทศน์มหาชาติกัณฑ์ชูชกเป็นเรื่องใหญ่สำหรับข้าพเจ้ามากเลย เพราะไม่เคยเทศน์มหาชาติไม่ว่ากัณฑ์ใด ๆ ไม่กล้าร้องทำนองอย่างที่เขาร้องกัน มันรู้สึกกระดากปากกระดากใจอย่างไรไม่รู้ เมื่อคุณนายจากไปแล้ว หลวงพ่อเจ้าคุณแนะนำให้ไปหัดเทศน์กัณฑ์ชูชกกับ “มหามงคล” ซึ่งอยู่ห้องแถวในตลาดวัดราชธานี ท่านบอกว่าคนนี้เทศน์ชูชกได้ดีไม่แพ้ใคร “มหามงคล” เป็นใคร เป็นศิษย์อีกคนหนึ่งของหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณนั่นเอง เคยบวชเรียนในสำนักวัดราชธานีจนสอบได้เป็นพระมหาแล้วสึกออกไปมีครอบครัว หลวงพ่อเจ้าคุณฝากให้ทำงานกับกรมศิลปากร เป็นเจ้าหน้าที่รักษาดูแลวัตถุโบราณประจำพิพิธภัณฑ์ฯเมืองเก่าสุโขทัย อีกสองวันต่อมาหลวงพ่อเจ้าคุณให้คนไปตามมหามงคลมาพบ แล้วให้ช่วยสอนเทศนมหาชาติกัณฑ์ชูชกแก่ข้าพเจ้า โดยให้เริ่มสอนกันที่กุฏิของข้าพเจ้านั่นเอง มหามงคลมาวันเว้นวัน นานเข้าก็ให้ข้าพเจ้าไปหัดที่ร้านของเขาในตลาดวัดราชธานี
มหามงคลบอกเล่าให้ทราบว่า “ลูกศิษย์สำนักเรียนวัดราชธานีที่สึกออกไปมีจำนวนมาก ที่ยังอยู่ในวัดและรอบวัดก็มี มหาชิน ปลัดนวล ปลัดพริ้ง ใบฎีกาผาด เป็นต้น มหาชินนั้นเคยเป็นผู้บริหารงานเทศบาลตำบลธานี มีร้านค้าอยู่ในตลาดวัดเราทางแถบสะพานพระร่วง ปลัดนวล ปลัดพริ้ง มีร้านค้าอยู้ในอาคารสองชั้นตลาดวัดบริเวณหลังวิหารหลวงพ่อโต ส่วนใบฎีกาผาดนั้น ทำงานอยู่พิพิธภัณฑ์เมืองเก่า บ้านอยู่ถนนประพนธ์ ทุกคนไม่ใช่คนสุโขทัยธานี แต่ “เอาบาตรมาทิ้ง” ที่นี่ เขาว่าพระจากต่างถิ่นมาเดินข้ามสะพานพระร่วงที่วัดราชธานีแล้ว ส่วนมากเอาบาตรมาทิ้งแล้วตั้งรกรากที่นี่เลย ท่านอภินันท์ก็คงจะไม่รอดหรอกนะ คุณนายที่นิมนต์ท่านเทศน์กันชูชกเนี่ยมีหลานสาวกำลังรุ่นอยู่ น่าจะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ท่านก็ได้นะ เขาว่าพระนักเทศน์เป็นชูชกน่ะเวลาสึกไปจะได้เมียทั้งน้าน” พูดจบโยมมหาก็หัวเราะเอิ๊กอ้าก ทำเสียงเหมือนชูกเลย
ขณะหัดเทศน์มหาชาติทำนองกัณฑ์ชูชกกับโยมมหามงคลอยู่นั้น ข้าพเจ้าก็ถูกหลวงพี่มหาบุญเหลือพาไปรู้จักสมภารวัดบ้านกล้วย บ้านสวน ซึ่งต่อมาพระสมภารเหล่านี้สนิทชิดชอบกับข้าพเจ้ามาก จากอำเภอเมืองก็พาไปวัดศรีนิโครธาราม (กุฎีจีน) อ. ศรีสำโรง ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะอำเภอศรีสำโรง รู้จักพระมหาบุญเรืองเจ้าอาวาสวัด และเจ้าคณะอำเภอ รู้จักพระมหาเรียบ พระมหาสมบูรณ์ วัดเดียวกันนี้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักพระผู้ใหญ่ในจังหวัดสุโขทัยมากขึ้นเรื่อย ๆ
หันกลับมากล่าวถึงเรื่องการเทศน์อีกที หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณได้ให้ความรู้เรื่องประเพณีการเทศน์ในท้องถิ่นสุโขทัย-พิษณุโลกว่า ที่สุโขทัยมิใช่แต่จะมีเทศน์เฉพาะในวัดเท่านั้น มีเทศน์ตามบ้านด้วย กล่าวคือ ในช่วงฤดูการบวชนาคเขานิยมนิมนต์พระไปเทศน์ฉลองงานบวชกันที่บ้าน เทศน์แบบปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรมาสน์บ้าง เทศน์แบบที่เรียกว่า “คาบลูกคาบดอก” คือ พูดธรรมะหรือพูดอะไร ๆ ก็ได้ แล้วร้องแหล่สลับการพูด และที่นิยมกันคือการร้องแหล่กลอนสากล
ส่วนที่เทศน์กันเป็นประเพณีคือเทศน์มหาชาติในช่วงพรรษา มักจะจัดกันในวันศารท และออกพรรษา ก่อนการเทศน์มหาชาติก็จะมีเทศน์มาลัยธรรมาสน์เดียวบ้าง ๓ ธรรมาสน์บ้าง การเทศน์ ๓ ธรรมาสน์ก็ให้พระที่เทศน์สมมุติตนเป็นพระมาลัยองค์หนึ่ง พระอินทร์องค์หนึ่ง พระศรีอาริย์ องค์หนึ่ง ในเรื่องนี้พระมาลัยลงไปโปรดสัตว์นรก แล้วนำข่าวนรกมาบอกมนุษย์ ขึ้นไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พบกับพระอินทร์และพระศรีอาริยเมตไตรโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์บอกพระมาลัยว่าใครอยากไปเกิดในศาสนาพระศรีอาริย์ให้ฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรให้จบ ๑๓ กัณฑ์ ๑ พันพระคาถา เทศน์มาลัยสูตรจึงเป็นที่มาของการเทศน์มหาชาติเรื่องพระเวสสันดรชาดก เรื่องนี้จะเทศน์กันในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ รุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำจึงมีเทศน์มหาชาติ บางวัดจะเทศน์คาถาในช่วงเช้าให้จบก่อนเที่ยง หลังเที่ยงวันก็เป็นเทศน์มหาชาติทำนองไปจนกว่าจะจบ ๑๓ กัณฑ์ บางวัดเทศน์ไม่จบก็ต่อในวันแรม ๑ ค่ำอีกวันหนึ่ง
การเทศน์เรื่องมาลัยสูตรแบบสมมุติเป็นตัวละคร ๓ ธรรมาสน์นี้ ข้าพเจ้าเคยฟังสมัยเป็นสามเณรขับเรือให้หลวงพ่อไวย์ไปเทศน์ เวลาเทศน์เขาจะติดเครื่องกระจายเสียง ถ่ายทอดเสียงให้คนนอกศาลาการเปรียญได้ยินได้ฟังด้วย ข้าพเจ้าก็นอนฟังในเรือที่จอดอยู่ศาลาท่าน้ำนั่นเอง วันหนึ่งมีเทศน์เรื่องพระมาลัย ๓ ธรรมาสน์ ผู้เทศน์มีหลวงพ่อไวย์ของผม กับ พระมหาไววัดตองปุซึ่งเป็นเพื่อนกับหลวงพ่อไว และอีกองค์หนึ่งคือพระครูพิสิษฐ์วัดบางกระทิง พระครูพิสิษฐ์สมมุติตนเป็นพระมาลัย หลวงพ่อไวย์ เป็นพญายมควบกับพระอินทร์ พระมหาไว เป็นกระทาชายที่จะถวายดอกบัว ควบกับพระศรีอาริย์โพธิสัตว์ เทศน์ถึงตอนที่พระมาลัยจะขึ้นไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พบกระทาชายผู้ยากจนเที่ยวเก็บดอกบัวขาย พอรู้ว่าพระมาลัยจะขึ้นไปสวรรค์จึงอยากถวายดอกบัวไปบูชาพระเขี้ยวแก้วในจุฬามณีด้วย จึงกล่าวว่าเป็นคนยากจน มีดอกบัวดอกเดียวนี้จะถวายให้นำไปบูชาพระจุฬามณีได้ไหม พระครูพิสิษฐ์เข้าใจผิดคิดว่า พระมหาไวบอกให้อวัยวะเพศก็โกรธ ตอบว่าบัวดอกเดียวนี้เอาไปถวายโยมมารดาท่านเถิด เท่านั้นเองเรื่องก็กร่อยไปจนจบ พระเทศน์คู่นี้หมางไจกันจนนานเป็นปี ๆ เลย
ข้าพเจ้าหัดทำนองเทศน์กัณฑ์ชูชกตั้งแต่ต้นไปจนถึงตอน “ทวงทอง” แล้วก็ไม่หัดด่อ เพราะคิดว่าจะเทศน์แบบใหม่ไม่ต้องว่าตามตัวหนังสือที่เป็นคำร่ายยาวแบบโบราณ จะเทศน์แบบการบรรยายเล่าเรื่องชูชกตั้งแต่ต้นไปจนจบความในกัณฑ์นี้ คิดแผนการเทศน์ไว้อย่างนี้โดยไม่บอกโยมมหามงคลและใคร ๆ ให้รู้เลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
วัดไทยชุมพล (วัดบางแก้ว) เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๓๘ - ข้าพเจ้าห่างเหินวงการกลอน เว้นวรรคการเขียนกลอนไปนานเดือน เพราะวุ่นอยู่กับงานทางวิทยุและปรับตัวเองเพื่อทำงานด้านศาสนา ที่สุโขทัยมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งออกเป็นรายล๊อตเตอรี่ วางจำหน่ายในจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดตากชื่อหนังสือพิมพ์เสียงชนบท เจ้าของบรรณาธิการเป็นอดีตพระมหาเปรียญธรรม ๕ ประโยค ชื่อ สุเทพ เสาวแสง ข้าพเจ้าอ่านข่าวและคอลัมน์ในฉบับแล้วสนใจคอลัมน์บัญชรกลอนของเขา จึงเขียนกลอนสำนวนหนึ่งให้เด็กนำไปมอบ บก.หนังสือพิมพ์นี้ซึ่งตั้งอยู่ติดกำแพงวัดคูหาสุวรรณ ด้านถนนจรดวิถีถ่อง วันหนังสือพิมพ์ออกพบว่ากลอนของข้าพเจ้าได้รับการตีพิมพ์ รู้สึกดีใจมาก จึงเริ่มหันมาเขียนกลอนอีก
เย็นวันหนึ่งข้าพเจ้าเอาบทกลอนใส่ย่ามเดินข้ามสะพานพระร่วงไปโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์เสียงชนบท ที่นี่ได้พบและรู้จักมหาสุเทพ บก.เสียงชนบท จึงทราบว่าเป็นชาวจังหวัดอุทัยธานี แล้วยังได้พบรู้จักกับนักกลอนอีกสองคนคือ เหรียญชัย จอมสืบ และ ประเสริฐ นุตาลัย คนชื่อเหรียญชัย จอมสืบ เป็นชาวอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มาเป็นครูประชาบาล ช่วยราชการบนศาลากลางจังหวัดสุโขทัยในหน้าที่ประชาสัมพันธ์จังหวัด (สมัยนั้นยังไม่มีตำแหน่งประชาสัมพันธ์จังหวัดอย่างเป็นทางการ) คนชื่อประเสริฐ นุตาลัย มีอดีตเป็นพระมหาเปรียญธรรม ๕ ประโยค ชาวกรุงเทพฯ มาเป็นข้าราชการประจำสำนักงานสรรพากรจังหวัดสุโขทัย คนรักกลอนเมื่อพบกันก็คุยกันสนุกถูกคอ ทั้งสองคนนี้มีอายุมากกว่า ข้าพเจ้าจึงเรียกเขาว่าพี่ นับถือเขาเหมือนพี่ชายแต่นั้นมา
เหรียญชัย จอมสืบ นอกจากจะเป็นข้าราชการครูประชาบาลแล้ว ยังเป็นนักข่าวส่งข่าวให้หนังสือพิมพ์รายวันส่วนกลางหลายฉบับ เป็นคนไม่อยู่นิ่ง จึงคิดทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา เมื่อรู้จักกันแล้วพี่เหรียญชัยก็มาเป็นแขกประจำที่กุฏิของข้าพเจ้า เอาหนังสือวิทยาสารซึ่งเป็นหนังสือที่เสนอข่าวบทความเกี่ยวกับเรื่องการศึกษามาให้ข้าพเจ้าอ่านเพิ่มพูนความรู้ด้วย หนังสือวิทยาสารเป็นวารสารที่ออกเป็นรายปักษ์ (หรือรายเดือนจำไม่ได้แล้ว) มีคอลัมน์เกี่ยวกับ กลอน โคลง ฉันท์ กาพย์ ให้คนรักการกวีเขียนส่งไปลงพิมพ์กันตามสนุกใจสบายอารมณ์ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร เป็นบรรณาธิการ ครูอาจารย์เป็นสมาชิกอ่านกันทั่วประเทศ เรียกได้ว่าหนังสือวิทยาสารมีอิทธิพลในวงการครูอาจารย์มากทีเดียว ข้าพเจ้าเริ่มเขียนกลอนส่งไปลงในหนังสือพิมพ์วิทยาทั้งแต่นั้นเรื่อยมา
เวลานั้นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยชื่อ นายเชื่อม ศิริสนธิ ท่านคือคนที่เรียกเหรียญชัย จอมสืบ จากโรงเรียนประชาบาลขึ้นมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์จังหวัด ด้วยท่านเห็นว่าจังหวัดจะทำอะไรที่ไหน เมื่อไร ผลเป็นอย่างไร ถ้าทำไปโดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ การทำและผลของการทำก็จะไร้คุณค่า นอกจากจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารของจังหวัดแล้ว ยังให้ติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการต่างของจังหวัดอีกด้วย พี่เหรียญชัยเหมาะสมที่จะทำหน้าที่นี้จริง ๆ เพราะเขาเป็นคนชอบสอดรู้สอดเห็น และอาสาทำโน่นทำนี่อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เรื่องบางอย่างไปรับปากเขามาแล้วแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เข้ามาหาข้าพเจ้าให้ช่วยคิดแก้ปัญหาให้ เป็นอย่างนี้บ่อย ๆ คำว่า “พ่อเมือง” เกิดขึ้นจากความคิดของเหรียญชัย จอมสืบ เขาเรียกท่านผู้ว่าเชื่อมว่า “พ่อเมือง” เพราะท่านทำตัวเป็นพ่อของชาวบ้านชาวเมืองมากกว่าจะเป็นเจ้านาย เขาส่งข่าวไปลง น.ส.พ.ส่วนกลางทุกข่าวที่มีชื่อท่านเจ้าเมืองเชื่อม จะใช้คำว่า “พ่อเมือง” ไม่ใช่คำว่า เจ้าเมือง หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นักข่าวทั่วไปเห็นนามนี้แล้วก็ชอบใจพากันเรียกเจ้าเมืองของตนว่า “พ่อเมือง” กันเกร่อไปเลย
ระบบระเบียบราชการใด ๆ ข้าพเจ้าไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลย ยอมรับว่าข้าพเจ้าอ่อนด้อยในความรู้เรื่องราชการและสังคมชาวบ้านมาก พี่เหรียญชัยคนนี้แหละทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้ในระบบระเบียบราชการและสังคมชาวบ้านมากขึ้น ในเวลานั้นวัดราชธานีเสื่อมโทรมในทุกด้าน เฉพาะความสัมพันธ์กับส่วนราชการผู้ใหญ่บนศาลากลางจังหวัด หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณท่านไม่ชอบด้วยสาเหตุที่ข้าพเจ้าทราบจากปากของท่าน ประการแรกคือทางศึกษาธิการจะทำโฉนดที่ดินของวัดด้านทิศใต้ถนนจรดวิถีถ่องให้เป็นที่ดินของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้สืบเนื่องมาแต่เดิมที่ทางวัดจัดตั้งโรงเรียนขึ้นในที่ดินของวัดตรงนั้น ต่อมาโรงเรียนนั้นเจริญเติบโตขึ้นเป็นโรงเรียนมัธยมในการควบคุมดูแลของศึกษาธิการจังหวัด แล้วศึกษาฯก็จะออกโฉนดเป็นของศึกษาฯ หลวงพ่อเจ้าคุณไม่ยินยอมจึงมีการฟ้องร้องกันยังโรงศาล วัดชนะคดี โรงเรียนต้องย้ายไปตั้งอยู่ที่ รร.อุดมดรุณีในปัจจุบัน นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่วัดราชธานีกับทางจังหวัดเมินหมางต่อกัน อีกประเด็นหนึ่งคือการตัดขยายถนนจรดวิถีถ่องจากเมืองสุโขทัย เชื่อมต่อกับถนนสาย ๙ (สิงหวัฒน์) ไปพิษณุโลก หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณเข้าใจผิดคิดว่าเจ้าเมือง เชื่อม ศิริสนธิ เป็นตัวการฮุบที่ดินบางส่วนของวัด จึงโกรธแค้นไม่ยอมดีด้วย ข้าพเจ้ามาอยู่ภายหลังสืบรู้เรื่องประเด็นหลังแล้ว เห็นว่าหลวงคุณเข้าใจผิดไป พยามอธิบายให้ท่านเข้าใจและหายโกรธเคืองเจ้าเมืองเชื่อม ท่านก็เฉยเสีย
ยังไม่ได้กล่าวถึงพระสำคัญสำหรับข้าพเจ้าองค์หนึ่งคือ พระมหาดำรง เจ้าอาวาสวัดไทยชุมพล (บางแก้ว) ซึ่งสมัยนั้นเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมดีที่สุด พระองค์นี้เป็นชาวบ้านสวนบวชแล้วเข้าไปอยู่สำนักวัดอนงคาราม ธนบุรี สอบเปรียญธรรมได้ ๓ ประโยค ไม่เรียนต่อจึงกลับมาอยู่วัดไทยชุมพล ท่านสนใจในการศึกษาจึงปรับปรุงโรงเรียนปริยัติธรรมของวัดให้เจริญขึ้น ทั้งยังปรับปรุงโรงเรียนประชาบาลของวัดให้เจริญขึ้นด้วย หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดไทยชุมพลแล้วไม่นาน ท่านได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่ประเทศอินเดียเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมเป็นเวลา ๓ ปี จึงกลับมา ท่านเป็นพระที่ทันสมัย เป็นนักเทศน์ที่มีคนนิยมชมชอบมาก พระมหาทองสุข วีรศักดิ์ และประสิทธิ์ ผู้ไปช่วยข้าพเจ้าคัดเลือกหนังสือที่วัดราชธานีนั้นเป็นศิษย์ของท่านอยู่วัดนี้ ตอนนั้นพระมหาดำรงค์ได้รับการตั้งสมณะศักดิ์แล้วมีพระราชทินนามว่า พระครูสุภัทรธีรคุณ ข้าพเจ้ากับท่านถูกอัธยาศัยกัน จึงไปสนทนากับท่านแบบวันเว้นวัน ได้รู้เรื่องเจ้าคุณโบราณและเรื่องเก่า ๆ ในสุโขทัยจากท่านมากมาย จึงเรียกท่านว่าหลวงพี่ด้วยความนับถือตลอดมา/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๓๙ – หลวงพี่มหาดำรงค์เป็นพระที่ข้าราชการผู้ใหญ่ของจังหวัดสุโขทัยให้ความเคารพนับถือกันมาก ข้าพเจ้าเข้าไปรู้จักมักคุ้นกับท่านจึงพลอยให้ได้รู้จักข้าราชการผู้ใหญ่ในจังหวัดสุโขทัยตามท่านไปด้วย ในจำนวนข้าราชการผู้ใหญ่นั้น มีท่านหนึ่งที่หลวงพี่มหาดำรงนำให้ข้าพเจ้าได้รู้จักและเป็นที่เคารพนับถือกันมาจนท่านละจากโลกนี้ไป ท่านคือคนที่พี่เหรียญชัย จอมสืบ เรียกว่า “พ่อเมือง” คือ เชื่อม ศิริสนธิ นั่นเอง ท่านผู้นี้มีชาติภูมิเป็นชาวเมืองใดไม่ทราบ เท่าที่รู้คือ แขนขวาท่านขาดสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะเป็นนายอำเภอบางพลี จ.ฉะเชิงเทรา ลงไปตรวจค้นเรือลักลอบขนอาวุธเกิดระเบิดขึ้นจนแขนขวาขาด จากนั้นท่านเป็นนายอำเภอใ ด ปลัดจังหวัดใดไม่ปรากฏ ทราบแต่ว่าระหว่างปี ๒๔๙๓-๒๔๙๕ นั้น ท่านเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม และในปี ๒๔๙๕ นั้นเองท่านย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ถึงปี ๒๕๐๐ จึงย้ายจากจังหวัดสุโขทัย ไม่ทราบว่าไปดำรงตำแหน่งอะไรที่ไหน จนถึงปี ๒๕๐๕ จึงกลับมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยอยู่จนเกษียณอายุราชการ ท่านเป็นผู้ว่าฯ ที่คนสุโขทัยให้ความเคารพนับถือมากทีเดียว
พ่อเมืองสุโขทัย เชื่อม ศิริสนธิ ริเริ่มให้มีการเผยแพร่ข่าวกิจกรรมต่าง ๆ ของจังหวัดสู่ประชาชนให้มากที่สุดด้วยการให้ เหรียญชัย จอมสืบ จัดทำวารสารเผยแผ่งานของจังหวัดเป็นนิตยสารรูปเล่มหนังสือยกชื่อหนังสือว่า สุโขทัยสาร ออกเป็นรายเดือน ข้าพเจ้าจึงได้รู้จักนักวิชาการที่เหรียญชัยเชิญมาเขียนเรื่องลงในนิตยสารนี้หลายคน เช่นทนายอุปถัมภ์ เหล่าไพโรจน์ อยู่ในกลุ่มประวัติศาสตร์โบราณคดี เป็นต้น ข้าพเจ้าช่วยดูแลเรื่องในกลุ่มศาสนาวัฒนธรรมรวมทั้งบทกวีด้วย
ในกลุ่มการศึกษานั้น พี่เหรียญชัยรวบรวมครูและคณะศีกษานิเทศน์เข้ามร่วมเขียนกันหลายคน เช่นครูนิมิต ภูมิถาวร เป็นต้น สำหรับครูนิมิตคนนี้อยู่อำเภอศรีสำโรง เป็นเพื่อนรักของพี่เหรียญชัย กุฏิของข้าพเจ้าเป็นเสมือนกองบก.ย่อยเพราะเป็นที่รวมของนักเขียน คนที่มักมาพบปะกันที่กุฏิสกลพลากรซึ่งมีพี่เหรียญเป็นตัวยืนนั้นก็คือ ครูนิมิต พี่มหาประเสริฐ ทนายอุปถัมภ์ ไป ๆ มา ๆ กุฏิข้าพเจ้าดูจะกลายเป็นที่ชุมนุมประวัติศาสตร์โบราณคดีไปแล้ว เพราะอาจารย์อุปถัมภ์จะชวนสนทนาแต่เรื่องประวัติศาสตร์ และก็เป็นเรื่องที่ถูกใจพี่มหาประเสริฐมากด้วย ข้าพเจ้าไม่มีความรู้เรื่องประวัติโบราณคดีมาก่อนก็ได้เริ่มเรียนรู้คราวนี้เอง หนังสือเกี่ยวกับประวิศาสตร์โบราณคดีและศิลาจารึกที่กุฏิข้าพเจ้ามีพร้อมให้เปิดอ่านวิพากย์วิจารณ์กัน ทีนี้ก็สนุกกันเลย
ใกล้จะถึงกาลออกพรรษาซึ่งก็ใกล้เวลาที่ข้าพเจ้าจะต้องเทศน์มหาชาติแล้ว พี่มหามงคลก็ติวทำนองการเทศน์กัณฑ์กันชูชกให้ทุกวัน การพูดยานคางทำเสียงสั่น ๆ อย่างคนแก่ของชูชกนั้นข้าพเจ้ายังทำไม่ได้ อารย์ทนายอุปถัมภ์ก็แนะนำว่า “ท่านลองเลียนเสียงท่านเจ้าคุณโบราณดูซี” ทุกคนฟังแล้วหัวเราะครืน แล้วร้องว่า “ใช่เลย” พี่มหามงคลก็เห็นด้วย เ พราะโดยปกติแล้วหลวงพ่อเจ้าคุณท่านพูดเสียงสั่น ๆ อย่างคนแก่อยู่แล้ว ข้าพเจ้าจึงพยายามเลียนเสียงของท่านในบทที่ชูชกเจรจา คนหนุ่มวัยเบญจเพศอย่างข้าพเจ้านี่ ทำเสียงพูดให้เป็นสำเนียงคนแก่วัยเจ็ดสิบแปดสิบปีไม่ใช่ของง่ายเลย
ครูนิมิตพูดกระเซ้าข้าพเจ้าว่า
“เขาว่าพระนักเทศน์ชูชกนี่สึกแล้วมักได้เมียเด็ก ถ้าจะจริงนะ ดูตัวอย่างมหามงคลซี เมียยังเด็กอยู่เลย สวยด้วยหละ”
คำพูดครูนิมิตเรียกเสียฮาได้อย่างดัง ๆ เลย จริงของครูนิมิตด้วย ภรรยาพี่มหามงคลดูวัยน่าจะเด็กกว่าสามีไม่น้อยกว่า ๑๕ ปีทีเดียว ข้าพเจ้าจึงถามขึ้นลอยๆว่า
“ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น”
พี่มหาประเสริฐกล่าวว่า “อ้าว...ท่านก็ดูอีตาชกตามเรื่องซี ได้อมิตดาเด็กสาวคราวหลานเป็นเมีย”
อ้อ...เป็นอย่างนี้นนี่เอง ทุกคนลงความเห็นพร้อมกันตรงคำว่า “อ้อ”...
มหาชาติแปลว่าชาติใหญ่ ชาติสุดท้ายในการบำเพ็ญบารมีของโคตมพระพุทธเจ้า เป็นการบำเพ็ญ “ทานปรมัตถบารมี” เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ทรงบริจาคทานตั้งแต่วันประสูติเลยทีเดียว เรื่องนี้แต่เดิมแต่งเป็นคำร้อยกรองภาษาบาลีเรียกว่า “คาถาพัน” ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปประทับ ณ เมืองพิษณุโลกเพื่อทำศึกสงครากับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาเชียงใหม่ ยามว่างการรบพระองค์ทรงแปลคาถาพันบาลีเป็นคำร่ายภาษาไทยให้ชื่อว่า ”มหาชาติคำหลวง” จัดเป็นกัณฑ์ ๆ ได้ ๑๓ กัณฑ์ มีชื่อเรียกเรียงกันดังนี้คือ “กัณฑ์ทศพร; กัณฑ์หิมพานต์; กัณฑ์ทานกัณฑ์; กัณฑ์วนปเวศน์; กัณฑ์ชูชก; กัณฑ์จุลพน; กัณฑ์มหาพน; กัณฑ์กุมาร; กัณฑ์มัทรี; กัณฑ์สักกบรรพ; กัณฑ์มหาราช; กัณฑ์ฉกษัตริย์; กัณฑ์นครกัณฑ์”
กัณฑ์ใหญ่ ๆ ที่คนนิยมฟังกัน ก็คือ “ทานกัณฑ์” ว่าด้วยการบริจาคทานของพระเวสสันดร จนชาวเมืองเคืองแค้นพากันขับไล่ให้ออกจากเมือง “กัณฑ์ชูก” ที่กล่าวถึงชูชกนักขอทาน ที่ขอจนมีเงินทองมากมาย เอาไปฝากกับเพื่อนพราหมณ์ไว้นานแล้วกลับมาทวงคืน แต่เพื่อนไม่มีให้ เพราะเอาไปใช้จ่ายหมดไปกับการกินและเล่นการพนัน ถึงยกลูกสาววัยรุ่นให้เป็นค่าทอง “กัณฑ์กุมาร, กันมัทรี, กํณฑ์มหาราช” ก็ล้วนเป็นกัณฑ์ใหญ่ที่คนชอบฟังกัน พระเทศน์กัณฑ์อื่นๆยกวันกัณฑ์ชูชกต้องเป็นคนเสียงดี แต่ชูชกไม่ต้องเสียงดีนัก เป็นกัณฑ์ที่ให้ความสนุก “ ตลกโปกฮา” เสียมากกว่า/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ต้นฝ้าย, malada, คิดถึงเสมอ, ชลนา ทิชากร, ลิตเติลเกิร์ล, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๔๐ – วัดราชธานีมีงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญงานหนึ่งที่จัดเป็นงานของจังหวัดเลยทีเดียว นั่นคืองานเทโวฯ วันออกพรรษา กิจกรรมที่สำคัญของงานนี้คือการแข่งเรือยาวในแม่น้ำยมช่วงตอนจากสะพานพระร่วงไปถึงหน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ส่วนกิจกรรมทางศาสนาคือการตักบาตรเทโวฯ ที่มีขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ ทางบกนั้นเริ่มตั้งแต่บ้านลานลานหอย (สมัยนั้นเป็นกิ่งของอำเภอเมืองสุโขทัย) ส่วนทางน้ำเริ่มตั้งแต่บ้านเตว็ดในเขตอำเภอศรีสำโรง ทั้งสองขบวนแห่มารวมกันที่วัดราชธานีเมืองสุโขทัย งานนี้เริ่มจัดขึ้นโดยหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ เฉพาะการแข่งเรือยาวนั้นท่านบอกว่าเอาแบบอย่างมาจากภาคกลาง โดยจังหวัดอ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยานั้น มีการแข่งขันเรือยาวกันเป็นประจำทุกปี ท่านจึงเอาแบบอย่างนั้นมาเริ่มจัดขึ้นที่วัดราชธานี นำเรือยาวใหญ่ขนาด ๖๐ ฝีพายลำหนึ่งขึ้นมาจากจังหวัดอ่างทอง ให้ชื่อเรือลำนี้ว่า “ขุนพลเฒ่า” ตอนที่ข้าพเจ้ามาอยู่วัดราชธานีเรือลำนี้ปลดระวางแล้ว ขึ้นคานอยู่ใต้ถุนศาลาการเปรียญของวัดนี่เอง
ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่ข้าพเจ้ามาอยู่สุโขทัยนั้น การคมนาคมทางบกมีเพียงถนนสิงหวัฒน์ (ชาวบ้านเรียกว่าสายเก้า) เชื่อมต่อสองจังหวัดคือสุโขทัย-พิษณุโลก กับ ถนนจรดวิถีถ่อง ต้นทางจากจังหวัดตากเข้าจังหวัดสุโขทัย ผ่านบ้านด่านลานหอย เมืองเก่า เมืองสุโขทัยธานี วกขึ้นเหนือผ่านอำเภอศรีสำโรงไปสิ้นสุดที่อำเภอสวรรคโลก ทางน้ำนั้นแม้มีแม่น้ำลำพันผ่านเมืองเก่าลงมาลงน้ำยมที่เมืองธานีก็ไม่ได้ใช้กันแล้ว คงมีแต่แม่น้ำยมสายเดียว แม่น้ำยมมีต้นกำเนิดที่เทือกเขาอิงกันในเขตจังหวัดพะเยา ไหลผ่านจังหวัดแพร่ลงมาศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย ลงไปกงไกรลาศ บางระกำผ่านเขตพิษณุโลก พิจิตรไปลงรวมกับลำน้ำน่านในเขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ หน้าน้ำทุกปีน้ำจะไหลหลากจากเหนือลงมาเต็มล้นลำน้ำแม่ยม แล้วหลากนองเข้าท่วมท้องทุ่ง หล่อเลี้ยงนาข้าวให้งอกงามไพบูลย์ ปลานานาชนิดในท้องที่จังหวัดสุโขทัยตั้งแต่ศรีสัชนาลัยลงมาถึงบางระกำพิษณุโลก อุดมสมบูรณ์มาก จึงสมกับคำในศิลาจารึกว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” สมัยนั้นข้าวของตำบลบ้านสวนอร่อยที่สุดในสุโขทัย ในกาลออกพรรษานั้นน้ำในลำน้ำยมเต็มตลิ่ง ดังนั้นการแข่งขันเรือยาวของงานเทโวฯเมืองสุโขทัยจึงสนุกที่สุด
ก่อนจะถึงงานเทโวฯ วันออกพรรษาก็มีวันพระใหญ่อยู่ ๑ วัน คือวันศารทไทยแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ วันเช่นนี้มีขนมสำคัญอย่างหนึ่งที่คนไทยในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง (หรือภาคกลางตอนบน) จะต้องทำกันคือกระยาสารท ทำขึ้นจาก ข้าวตอก ถั่วลิสง งาขาว ข้าวเม่า แบะแซ น้ำตาล กะทิ ที่สุโขทัยนิยมใช้ น้ำอ้อย หรือน้ำผึ้ง แทนน้ำตาล ข้าพเจ้าเห็นว่า กระยาสารทสุโขทัยทำอร่อยกว่าทุกแห่งที่เคยกินมา
วันศารทที่วัดราชธานีปีนั้นจัดให้มีเทศน์พิเศษตามภาษาชาวบ้านเรียกวา เทศน์มิลินท์ ชื่อที่ถูกต้องคือ มิลินทปัญหา เป็นการโต้ตอบปัญหาธรรมระหว่างพระยามิลินท์กับพระนาคเสน มีที่มาของเรื่องอยู่ว่า
“มิลินทปัญหา, นาคเสนภิกษุสูตร หรือ ปัญหาพระยามิลินท์ เป็นเอกสารทางศาสนาพุทธช่วง ๑๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชจนถึงคริสต์ศักราช ๒๐๐ อ้างถึงบทบันทึกการสนทนาระหว่างพระนาคเสน นักบวชทางพุทธศาสนา กับพระยามิลินท์ หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ ๑ แห่งแบ็กเตรีย กษัตริย์ชาวโยนก (คือชาวกรีก) ผู้ครองกรุงสาคละ (ปัจจุบันคือเมืองซีอัลโกต ประเทศปากีสถาน) โดยเนื้อหาจะกล่าวถึงการปุจฉาวิสัชนาเกี่ยวกับปัญหาหลักธรรมต่าง ๆ ตั้งแต่หลักธรรมพื้นฐานไปจนถึงหลักธรรมชั้นสูงคือการบรรลุนิพพาน มิลินทปัญหาได้รับการยกย่องอย่างมากในประเทศพม่า โดยถูกรวมไว้ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีหมวดขุททกนิกาย ส่วนฉบับย่อถูกรวมไว้ในพระคัมภีร์ของนิกายมหายานฉบับภาษาจีน ในประเทศไทยเพิ่งมีการแปลมิลินทปัญหา จากภาษาสิงหลเป็นไทยครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้แปล”
การเทศน์มิลินท์ต้องเทศน์แบบปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรมาสน์ ปีนั้นทางวัดมอบหมายให้พระเจ้าอธิการบุญมี กับ ข้าพเจ้า เป็นคู่เทศน์ หลวงพ่อเจ้าคุณกำชับให้เทศน์ถามตอบกันตามแบบในเรื่องนั้น ห้ามออกนอกเรื่อง พวกเราคือเจ้าอธิการบุญมีกับข้าพเจ้าจึงต้องถือหนังสือเรื่องมิลินทปัญหาขึ้นไปอ่านโต้ตอบกันบนธรรมาสน์ นักเทศน์ทั้งหลายว่าการเทศน์แบบนี้จืดชืดไปหน่อย ผู้ฟังก็ฟังยากด้วย เพราะภาษาเขียนไม่เหมือนภาษาพูด การเทศน์จบลงด้วยความเรียบร้อย ทางวัดถวายเงินพระเทศน์องค์ละ ๑๐๐ บาท ที่เหลือจากกัณฑ์เทศน์นอกนั้นมอบสมทบเป็นทุนโรงครัวของวัดทั้งหมด/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, หยาดฟ้า, ชลนา ทิชากร, ลิตเติลเกิร์ล, ต้นฝ้าย, malada, มนชิดา พานิช, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๔๑ - งานเทโวฯ ออกพรรษาปีนั้นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น ก่อนถึงวันงานมีหัวหน้าคณะลิเกต่าง ๆ มาติดต่อขอเช่าโรงลิเกในตลาดวัดราชธานี เพื่อเปิดการแสดงแบบเก็บค่าผ่านประตูเข้าชม โรงลิเกมีโรงเดียวเมื่อมีหลายคณะมาขอเช่าแสดง จึงต้องมีการประมูลแข่งกัน ข้าพเจ้าเป็นคนใหม่จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนี้ เพียงแต่รับรู้ด้วยการดูอยู่ไม่ห่าง เขาว่าลิเกที่มาปิดวิกแสดงในตลาดวัดได้กำไรปีละไม่น้อย เพราะคนมาเที่ยวงานกันมาก นอกกำแพงวัดทางด้านเหนือมีโรงหนังของขุนประพนธ์ ตั้งเวทีรำวงไว้หน้าโรงหนัง ข้ามสะพานพระร่วงไปฝั่งตะวันตก ก็มีโรงหนังไตรรัตน์อยู่ด้านหลังวัดคูหาสุวรรณ เขาว่าโรงหนังทั้งสองแห่งนี้จะฉายหนังคืนละหลายรอบจนตลอดคืน รำวงก็ว่ารำกันจนค่อนแจ้งเลยทีเดียว
วันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๑ เป็นวัดแรกของงานเทโวฯ และเป็นวันแรกของการเทศน์มหาชาติ วันนั้นทางวัดราชธานีจัดให้มีการเทศน์คาถาพันทั้งวันเพื่อไม่ให้ไปกินเวลาการเทศน์มหาชาติในวันขึ้น ๑๕ ค่ำอันเป็นวันมหาปวารณา ค่ำวันขึ้น ๑๔ ค่ำนั้นปรากฏว่ามีผู้คนหลั่งไหลมาเที่ยวงานเทโวฯ เดินในตลาดเมืองสุโขทัยเข้าวัดราชธานี กราบไหว้หลวงพ่อเป่าในวิหารแล้วเดินชมร้านค้าในบริเวณวัด ก่อนเดินเลยออกไปทางโรงหนังประพนธ์บ้างโรงหนังไตรรัตน์บ้าง บางส่วนก็เข้าวิกลิเก ทางวัดไม่ได้จัดกิจกรรมบันเทิงใด ๆ เลย รายได้ของวัดก็มีเพียงค่าประมูลโรงลิเก กับการปิดทองหลวงพ่อเป่าและค่าเช่าที่ร้านค้าเท่านั้นเอง คนมาเที่ยวกันมากมาย เอาเงินไปให้โรงหนังประพนธ์กับไตรรัตน์จากการดูหนังและเล่นรำวงนอกวัดนั่นเอง ข้าพเจ้าเห็นจุดด้อยของวัดตรงนี้แล้วจดจำไว้
วันรุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำ ประชาชนทำบุญกันตามประเพณี พระสงฆ์ลงศาลาแล้วทายกนำไหว้พระรับศีล พระสงฆ์สวดถวายพรพระ ชาวบ้านใส่บาตรที่ตั้งเรียงไว้บนโต๊ะระเบียงศาลา นำสำรับปิ่นโตอาหารคาวหวานตั้งวางหน้าพระภิกษุสามเณรบนอาสนสงฆ์ เสร็จแล้วทายยกกล่าวนำถวายภัตตาหาร ขณะที่พระภิกษุสงฆ์เริ่มฉันภัตตาหารนั้น พระผู้ที่รับนิมนต์เทศมหาชาติกัณฑ์แรกคือ ทศพร ก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ทันที พระฉันอาหารเช้าเสร็จพระเทศน์มหาชาติกัณฑ์แรกก็จบลงด้วย ครั้นพระสงฆ์อนุโมทนา (ยะถา สัพพี..) ลงจากศาลาไป ชาวบ้านที่ไม่ประสงค์จะฟังเทศน์ต่อก็กลับบ้าน ที่จะฟังเทศน์ก็อยู่เพื่อฟังมหาชาติจนจบ ๑๓ กัณฑ์ เวลาประมาณ ๔ โมงเช้า การเทศน์มหาชาติก็เริ่มต่อด้วยกัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนประเวศ ๓ กัณฑ์นี้ใช้เวลาเทศน์ยาวไปถึงบ่าย ๒ โมง
ข้าพเจ้าขึ้นเทศน์กัณฑ์ชูชกอันเป็นกัณฑ์ที่ ๕ เมื่อเวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ก็รู้สึกใจสั่น ๆ อยู่เหมือนกันแหละ พอทายกกล่าวคำอาราธนาจบ ข้าพเจ้าก็ตั้งนะโมด้วยเสียงสั่น ๆ แบบเสียงหลวงพ่อเจ้าคุณโบราณ แล้วเดินคาถาคำร่ายมหาชาติคำหลวงของห้องสมุดวชิรญาณว่า “๏ ตทา กลิงฺครฏฺเฐ ทุนฺนวิฏฺฐพฺราหฺมณคามวาสี ชูชโก นาม พฺราหฺมโณ ดูกรสงฆ์ในกาลนั้น ยังมีพราหมณผู้หนึ่งชื่อชูชก อยู่ในบ้านนอกซอกซอน เป็นพฺราหมณ์จร ในบ้านพราหมณ์ทั้งหลาย อันธะหมายชื่อทุนวิฐ ชิดเมืองกาลิงคราษฎร์นั้น ภิกฺขาจริยาย กหาปณสตํ ลภิตฺวา แลพราหมณ์นั้นได้ทองร้อย กระสาปน เป็นลาภด้วยเดินขอทาน ทุกวันวารแก่มหาชนทั้งหลาย บมิขาดเลย เอกสฺมึ พฺราหฺมณกุเล ฐเปตฺวา ก็ฝากทองนั้นไว้แก่ประยูรพราหมณฺผู้หนึ่งนั้น ปุน ธนํ ปริเยสนตฺถาย คโต พราหมณ์ขี้ไร้ ย่ามได้จึงจะไปแสวงหาสิน ด้วยขืนขีนขอ เอาเล่าแล ตสฺมึ จิรายนฺเต ในเมื่อชีชูชกเฒ่ามหัลกอการ ไปแวนนานจรลํ่าแล พฺราหฺมณกุลํ กหาปณํ วลญฺเชตฺวา อันว่าตระกูลพราหมณ์จำหน่ายจ่ายทอง เฒ่าทั้งผองร้อยกระสาปน ร้ายกว่าพราหมณ์ประดาบนั้นโสดแล ปจฺฉา อิตเรน อาคนฺตฺวา โจทิยมาโน ภายหลังมาจึงพราหมณ์ชูชก พกมาทวงทอง ตนทั้งผองร้อยกระสาปน แก่พราหมณนั้น กหาปเณ ทาตุํ อสกฺโกนฺโต พราหมณ์สับปลับสับปลี้ บมิอาจที่จะใช้หนี้ทอง พราหมณ์ทั้งผองร้อยกระสาปนนั้นได้ โสดเลย อมิตฺตตาปนํ นาม ธีตรํ ตสฺส อทาสิ จึ่งจะให้ลูกสาวศรีมีนามอมิตตดา แก่พราหมณ์ชรานั้นเปนเมีย เพราะว่าจ่ายสินเขาเสีย หาจะจำนำจะใช้ให้บมิได้นั้น โสดเลย โส ตํ อาทาย กลิงฺครฏฺเฐ ทุนฺนวิฏฺฐ นาม พฺราหฺมณคามํ คนฺตฺวา วสิ ชูชกก็พาอมิตตดานั้นไป อยู่ในบ้านหมู่พราหมณ์ อันชื่อทุนวิษฐติดตรมวล หมู่มหาชนชาวกาลิงคราษฎร์นั้น อมิตฺตตาปนา สมฺมา พฺราหฺมณํ ปฏิชคฺคติ อันว่าอมิตดาก็อยู่บำเรอเชอภักดิ์ งานพราหมณ์หนักมันก็เอา งานพราหมณ์เบามันก็สู้ บมิอาจเยียชู้ ทำคดคู้แก่พราหมณ์ ผดุงโดยตามทุกเมื่อเลย.....”
จบคำร่ายยาวในตอนนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็กลับเป็นตัวของตัวเอง เล่าความตามท้องเรื่องว่า บรรดาพราหมณา พราหมณี คือพราหมณ์ชายหญิงในหมู่บ้านทุนวิษฐ์ก็เกิดการทะเลาะกันด้วยเหตุที่ “ชูชกพานางอมิตตดาไปอยู่บ้านทนวิษฐะ นางอมิตตดาได้ปฏิบัติชูชกในหน้าที่ภรรยาที่ดีทุกประการ เมื่อชายในบ้านนั้นเห็นเข้า ก็พากันสรรเสริญ แล้วดุว่าภรรยาของตนที่เกียจคร้าน เอาแต่เที่ยวเล่น สู้นางอมิตตดาเป็นเด็กกว่าก็ไม่ได้ ครั้นหญิงทั้งหลายในบ้านนั้นถูกสามีตำหนิแทนที่จะรู้สึกตัว กลับพากันเคียดแค้นชิงชังนางอมิตตดาชักชวนกันไปด่าว่านางอมิตตดาที่ท่าน้ำอย่างสาดเสียเทเสีย หมายจะให้นางอมิตตดาหนีไปเสีย หรือไม่ก็ควรประพฤติตนเข้าแบบของตน นางอมิตตดาเสียใจ จะเอาแบบชาวบ้านนั้นก็ไม่ชอบ เพราะไม่เคยอบรมมา คับอกคับใจ ในที่สุดเทวดาดลใจให้บอกชูชกไปขอชาลีกัณหาสองกุมาร พระโอรสของพระเวสสันดรมาเป็นทาสช่วงใช้ เมื่อถูกเมียสาวขอแกมบังคับเช่นนั้น ก็ต้องฝืนใจไปพระนครสีพี เมืองของพระเวสสันดร เพราะความลุกลี้ลุกลนใคร่จะเดินทางไปให้ถึงพระเวสสันดรโดยเร็ว ทำให้ชูชกขาดความรอบคอบไม่เหมือนคราวก่อน ๆ ที่เดินทางมาขอทาน เห็นกลุ่มชนที่ใดเป็นถามถึงที่อยู่ของพระเวสสันดรพร้อมทั้งแนวทางที่จะเดินไปให้ถึงที่หมาย
ชาวเมืองสีพีเกลียดหน้านักขอทานเป็นทุนอยู่แล้ว ดังนั้นก็พาโลรี่เข้าใส่ชูชก ด่าว่าเจ้ามาเบียดเบียนพระเวสสันดรด้วยให้ท้าวเธอพระราชทานจนเกินไป ถึงลูกขับไล่พระชายาและพระโอรสให้ออกไปอยู่วงกต แล้วเจ้ายังจะกลับมาเอาอะไรอีก พากันถือไม้ค้อนก้อนดินขับไล่ชูชกเข้าป่าไป ชูชกหนีชาวเมืองสีพีขับไล่ไปทางเขาวงกตขณะเดินเลาะลัดไป ถูกสุนัขของเจตบุตรไล่ล้อม ได้หนีขึ้นต้นไม้ นั่งบนคาคบร้องไห้รำพันถึงคุณพระเวสสันดร
ฝ่ายเจตบุตร เจ้าของสุนัขติดตามมา เห็นชูชกอยู่บนต้นไม้ก็แน่ใจว่าชูชกจะมาร้าย คงจะไปขอพระนางมัทรีหรือพระโอรสเป็นแน่ ก็คิดฆ่าเสีย จึงเดินเข้าไปใกล้พลางน้าวหน้าไม้ขึ้น พร้อมกับร้องสันทับว่า แน่พราหมณ์พวกแกเบียดเบียนพระเวสสันดรด้วยพระราชทานเกินไป ฉะนั้น ข้าจะไม่ไว้ชีวิตแก จะยิงแกให้ตายด้วยหน้าไม้นี้ ชูชกตกใจกลัวตาย จึงได้อุบายหลอกเจตบุตรพร้อมด้วยการขู่ว่าช้าก่อนเจตบุตร ข้าเป็นพราหมณ์เป็นราชทูต ซึ่งใคร ๆ ไม่ควรจะฆ่า ดูก่อนเจตบุตร บัดนี้ชาวเมืองสีพีหายขัดเคืองแล้ว พระชนกก็ปรารถนาจะพบพระเวสสันดรปิโยรส ท้าวเธอให้ข้าฯ เป็นราชทูตมาเชิญพระเวสสันดรกลับ ฉะนั้นเจ้าจงบอกแก่ข้าว่า พระเวสสันดรอยู่ที่ไหน เจตบุตรหลงเชื่อในคำลวงชูชก จึงผูกสุนัขทั้งหลายแล้วให้ชูชกลงจากต้นไม้ให้นั่งที่มีใบไม้ลาดให้โภชนาหารกิน แล้วก็บอกทางให้ไปพบพระเวสสันดร
ข้าพเจ้าเล่าความในกัณฑ์ชูชกแล้วเลยเข้าไปในกัณฑ์จุลพน เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจความต่อเนื่องกันแล้วก็จบลงในเวลาไม่เกิน ๑ ชั่วโมง ในการเล่าเรื่องนั้นได้แทรกคติธรรม และอารมณ์ขันบางอย่างด้วย เช่นว่า คนแก่มีเมียสาวก็เป็นอย่างนี้และ สาว ๆ ทั้งหลายอยากสบายก็ควรหาสามีแก่อย่างชูชกนะ อย่างนี้เป็นต้น/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๔๒ - วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันเทโวโรหณะ ขบวนแห่บกแห่น้ำของหลวงเจ้าคุณที่จัดเตรียมไว้พร้อมตั้งแต่เมื่อคืน ก็พากันเคลื่อนออกจากที่ ขบวนแห่ทางบกจากเมืองเก่า ผ่าน บ้านนา บ้านขวาง บ้านกล้วย เข้าเมืองสุโขทัยธานี ขบวนแห่ทางน้ำเคลื่อนจากบ้านเตว็ดลงมาท่าช้าง บางคลอง ปากแคว บางแก้ว ถึงวัดราชธานี ในขบวนมีพระภิกษุสามเณรอุ้มบาตรรับอาหารบิณฑบาต ประชาชนสองข้างทางทั้งทางบกทางน้ำนำอาหาร ข้าวสุกของคาวหวาน ข้าวต้มมัดใต้ ข้าวต้มลูกโยน ผลไม้นานา ใส่บาตรกันตามรายทางที่ขบวนแห่ผ่าน มีศิษย์พระคอยถ่ายของที่เขาใสบาตรจนเต็มแล้วนั้นลงในกระบุงตะกร้าที่เตรียมไปเป็นอันมาก ในขบวนแห่ทางบกนั้น มีพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรเนื้อสีเงินสูงประมาณ ๓-๔ ศอก เป็นประธานของขบวนนี้ ข้าพเจ้ามิได้ไปในขบวนดังกล่าว ด้วยคอยจัดการรับอยู่ที่ศาลาการเปรียญ ซึ่งก็มีญาติโยมมาร่วมงานบุญใส่บาตรเทโวฯจนเต็มวัดเช่นกัน
ของที่ประชาชนใส่บาตรในขบวนแห่ทางบกทางน้ำและรวมทั้งที่วัดราชธานี กรรมการวัดเอามากองบนศาลาการเปรียญด้านหลังอาสนสงฆ์ “แม่เจ้าโวย กองเป็นภูเขาเลากาเลย” หลวงพ่อเจ้าคุณสั่งให้คัดแยกข้าวสุก ข้าวต้มมัด ผลไม้ ออกเป็นส่วน ๆ แล้วให้นำไปมอบผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสุโขทัย กับเรือนจำสวรรคโลก เพื่อแจกจ่ายนักโทษในเรือนจำกินโดยทั่วหน้ากัน ดูท่าทีหลวงพ่อเจ้าคุณท่านมีความสุขมากเลย ข้าพเจ้ามองดูด้วยความเสียดาย ไม่ใช่เสียดายที่หลวงพ่อเจ้าคุณนำไปแจกจ่ายผู้ต้องขังในเรือนจำ แต่เสียดายที่ชาวบ้านเสียของโดยไม่ควรจะเสีย เสียดายเศรษฐกิจชาวบ้านที่เสียไปอย่างไม่คุ้มค่า เพราะทราบว่าอาหารที่นำไปแจกจ่ายผู้ต้องขังในเรือนจำนั้น พวกเขากินกันไม่หวาดไหว เหลือทิ้งขว้างไปไม่น้อย ส่วนเหลือจากการแจกจ่ายที่วัดนี่ก็บูดเน่าทิ้งไปมากมาย จนข้าพเจ้าแอบนินทาเงียบ ๆ ว่า งานนี้ชื่อว่า “ตักบาตรเททิ้ง” หาใช่ตักบาตรเทโวฯ ไม่
ถึงเวลาน้องเพลวันนั้น ในลาดเมืองสุโขทัยธานีคลาคล่ำไปด้วยผู้คน เด็กผู้ใหญ่ชายหญิงพากันมาเพื่อดูการแข่งเรือในลำน้ำยม ร้านอาหารเครื่องดื่มขายดิบขายดี ส่วนสินค้าอื่น ๆ ก็มีผลพลอยได้ ถามว่าทำไมคนจึงมาเที่ยวงานเทโวฯ กันมากนัก คำตอบอยู่ที่ว่า เพราะตลอดเวลาสามสี่เดือนที่ผ่านมาไม่มีการจัดงานเทศกาลใด ๆ เลย งานเทโวฯ จึงเป็นงานแรกที่ให้ความสนุกสนานรื่นเริงกัน จากงานนี้ก็จะมีงานกฐินกันทุกวัดแล้ว กว่าจะถึงงานกฐินผ้าป่าก็ขอสนุกกับงานเทโวฯ ก่อน
ถึงเที่ยงวันริมตลิ่งสองฟากฝั่งแม่น้ำยมตั้งแต่สะพานพระร่วงไปถึงบริเวณหน้าศาลพระแม่ย่าแน่นขนัดไปด้วยผู้คน พวกเขามารอดูการแข่งขันเรือยาวที่จะเริ่มทำการแข่งขันกันในเวลาประมาณบ่ายโมง ข้าพเจ้าไม่คิดสนุกพอที่จะไปดูกับเขาดอก เพราะคุ้นกับการใช้เรือ พายเรือ มาตั้งแต่อยู่วัดบางซ้ายใน วัดหัวเวียง ลุ่มน้ำเจ้าพระยามามากพอแล้ว
งานเทโวฯ ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย กรรมการวัดสรุปผลอันเป็นเงินรายได้ของวัดราชธานี ได้จากการให้เช่าโรงลิเก การให้เช่าที่ตั้งร้านค้าภายในวัด และการจำหน่าย ดอกไม้ธูปเทียนทองสักการะปิดทองหลวงพ่อเป่า รวมทั้งสิ้นเป็นเงินเก้าพันสี่ร้อยบาทเศษ ผิดคาดมาก ข้าพเจ้าเห็นคนมาเที่ยวกันเป็นแสนแน่นถนนทุกสายในตัวเมือง คิดว่าจะได้เงินเข้าวัดอย่างน้อยก็หลายหมื่นบาท ทราบว่าโรงหนังทั้งสองโรงโกยเงินเข้ากระเป๋าเป็นแสน หักเป็นกำไรได้หลายหมื่นบาท จึงรำพึงอยู่ว่า “วัดเราตีงูให้กากินแท้ ๆ” /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๔๓ – ออกพรรษาแล้วเป็นช่วงเวลาของ “กาลทาน” คือการทอดกฐิน มีกำหนอดเวลาให้ทอดกฐินได้ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ถ้าทอดก่อนและหลังกำหนดนี้ไม่เป็นกฐิน (แต่เป็นผ้าป่า) และวัดทุกวัดจะรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น อันที่จริงการทำผ้ากฐินเดิมทีนั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุกระทำกันเอง ต่อมาพวกอุบาสกอุบาสิกาจัดหาผ้าถวายเป็นกฐินทาน ด้วยถือว่าได้บุญมหาศาล เป็นความเชื่อที่ไม่มีใครคัดค้าน จึงทำกันเรื่อยจนเป็นวัฒนธรรมประเพณีสืบมาจนถึงวันนี้ ผลดีของกฐินคือพระภิกษุได้รับอานิสงส์ตามพระพุทธานุญาตแล้วยังได้เอกลาภจตุปัจจัยไทยทานจากญาติโยมอีกด้วย พระภิกษุนักเทศน์ในเมืองไทยก็ได้เอกลาภพิเศษจากการรับนิมนต์เทศน์เรื่องกฐินทานจากญาติโยมที่เป็นเจ้าภาพจัดทอดกฐิน ได้จตุปัจจัยไทยทานที่เป็นกัณฑ์เทศน์ มากบ้างน้อยบ้างตามฐานศรัทธาของเจ้าภาพนั้น ๆ
ข้าพเจ้าได้ชื่อว่าเป็นนักเทศน์เต็มตัวก็เมื่อมาอยู่วัดราชธานีนี่เอง รับเทศน์งานกฐินในวัดบ้างในหมู่บ้านบ้าง เป็นการเทศน์แบบปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรมาสน์ สถานที่เทศน์ส่วนใหญ่เป็นในท้องที่จังหวัดพิษณุโลก เพราะคนนิมนต์เทศน์ส่วนมากฟังรายการเทศน์ทางวิทยุ ๐๑๐ ไปนิมนต์ที่วัดเขาสมอแครงอันเป็นที่ตั้งสภาธรรมวิจารณ์ พระเกรียงศักดิ์กับพระสอนเป็นผู้รับไว้บ้าง เดินทางมานิมนต์ที่วัดราชธานีบ้าง บางรายบอกว่าให้เทศน์คู่กับพระกิตติวัณณะ ภิกขุ วัดเขาสมอแครง บางรายให้เทศน์คู่กับพระนักเทศน์ในจังหวัดพิษณุโลก การนิมนต์สองแห่งนี่ออกจะยุ่งหน่อย เพราะเป็นคนละที่ ถ้าเกิดเทศน์ในวันเดียวกัน ก็แบ่งภาคไปไม่ได้ สมัยนั้นการสื่อสารด้วยโทรศัพท์ยังไม่มี จึงยากที่จะเคลียวันเวลาเทศน์ ส่วนใหญ่ถ้าวันซ้ำกันข้าพเจ้าก็ต้องสละคู่เทศน์ที่วัดเขาสมอแครงให้พระเกรียงศักดิ์เทศน์คู่กับพระสอน ทำให้โยมผิดหวัง เพราะพระสอนท่านอ่อนหัดไปหน่อย
พระนักเทศน์ธรรมะล้วน ๆ เวลานั้นในจังหวัดสุโขทัยที่ข้าพเจ้ารู้จักก็มี พระครูสุขวโรทัย (หลวงพ่อห้อม) วัดคูหาสุวรรณ เจ้าคุณมุนินทรานุวัตร์ วัดพระปรางค์ สององค์นี้เป็นรุ่นใหญ่ รองลงมาก็มีพระครูปลัดสวง (พระครูอุทัยสุขวัฒน์) วัดบางคลอง พระมหาดำรง (ครูสุภัทรธีรคุณ) วัดไทยชุมพล เจ้าอธิการบุญมี วัดราชธานี พระใบฎีการวง วัดคูหาสุวรรณ พระมหาประคอง วัดคลองกระจง พระมหาธีรพงษ์ วัดเบญจมบพิตร (วัดไทยชุมพล) นอกนั้นเป็นนักเทศน์ประเภท “คาบลูกคาบดอก” คือเทศน์ธรรมะไปร้องแหล่ไป ชาวบ้านส่วนมากชอบแบบนี้ ส่วนในจังหวัดพิษณุโลกที่ข้าพเจ้ารู้จักก็มี พระราชรัตนมุนี (แช่ม) วัดพระศรีรัตยมหาธาตุ พระพิศาลธรรมภาณี วัดลาดกระบัง เจ้าคุณสององค์นี้เป็นรุ่นใหญ่ รองลงมาก็มีพระปลัดวัลลพ วัดราษฎร์บูรณะ พระครูธรรมจักรสุนทร วัดธรรมจักร พระครูนิยมสีลาจารย์ (เอียง) วัดทามะปรางค์ พระครูวิธานเรขกิจ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระมหาเกษม พระมหาสุรศักดิ์ พระมหาสว่าง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นอกนั้นก็เป็นนักเทศน์ประเภท “คาบลูกคาบดอก” เช่นกัน
พระนักเทศน์ระดับอาวุโสองค์แรกของพิษณุโลกที่ข้าพเจ้าเข้าไปทำความรู้จักคือท่านเจ้าคุณพระราชรัตนมุนี พระองค์นี้ทราบมาว่าท่านมาจากสำนักวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสำนักเดียวกันกับหลวงพ่อไวย์ของข้าพเจ้า ครั้นเข้าพบแล้วกราบรายงานตัวว่าเป็นใครมาจากไหน ท่านสนใจถามว่าก่อนจากกรุงเทพฯ มานี่เคยอยู่ที่ไหน ใครเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็เรียนท่านไปตามความเป็นจริง ท่านตบเข่าผางร้องว่า
“เฮ้ย เป็นลูกศิษย์มหาไวย์เหรอ รู้มั้ยฉันกับมหาไวย์เป็นเพื่อนรักกันมาก “เจ้านี่มันลิงล้างกัน” ตอนเรียนอยู่ด้วยกันที่วัดสระเกศน่ะ มหาไวย์ซนเป็นลิงเลย ตอนสอบประโยค ๕ ได้แล้วจะกลับบ้านที่วัดขนมจีน อยุธยา ไม่ขอเรียนต่อแล้ว ฉันต้องเอาหมากรุกล่อให้อยู่เรียนต่อจนจบประโยค ๖”
ท่านเล่าความหลังของหลวงพ่อไวย์กับท่านให้ฟังอย่างยืดยาว หลังจากบอกเล่าเบื้องหลังจบแล้วข้าพเจ้าก็กล่าวว่า เมื่อเป็นเพื่อนรักของหลวงพ่อไวย์กระผมขอเรียกท่านว่าหลวงพ่อนะครับ ท่านร้อง “เฮ้ย ! ไม่ได้ เรียกหลวงพ่อมันแก่เกินไป เรียกหลวงอาก็แล้วกันนะ ฟังดูหนุ่มหน่อย” จากนั้นข้าพเจ้าก็กลายเป็นหลานหลวงอาแช่ม ไปมาหาสู่จนเป็นคนคุ้นเคยกันเรื่อยมา มีงานเทศน์บางงานของท่าน ท่านก็ให้ข้าพเจ้าไปเทศน์แทนอยู่บ่อย ๆ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๔๔ - เหรียญชัย จอมสืบ เป็นตัวการวิ่งเต้นประสานงานรวบรวมนักกลอนในจังหวัดสุโขทัย ซึ่งส่วนมากเป็นครูบาอาจารย์ให้รวมกลุ่มกันจัดตั้งชมรมนักกลอนขึ้น ใช้ชื่อว่าชมรมกวี “ศาลาลายสือไท” มีนายสุธรรม วงศ์โดยหวัง ปลัดจังหวัดเป็นประธานชมรม ทานสุธรรมเป็นชาวสวรรคโลก อดีตเป็นพระมหาเปรียญ ลาสิกขาไปศึกษาวิชากฎหมายต่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธก.) จบแล้วสมัครเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย เจริญก้าวหน้าในชีวิตข้าราชการจนสุดท้ายดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดสุโขทัย เป็นคนพูดง่ายใจดี แม่นยำในตัวบทกฎหมายมาก และที่สำคัญคือท่านเป็นนักกลอนฝีมือดีคนหนึ่งด้วย นักกลอนที่รวมกลุ่มตั้งชมรมนี้เท่าที่ยังจำได้ก็มี ทนายอุปถัมภ์ เหล่าไพโรจน์ ประเสริฐ นุตาลัย เหรียญชัย จอมสืบ ครูนิมิต ภูมิถาวร ครูทองเจือ สืบชมพู ครูสมศรี ภูมิประพัฒน์ เป็นต้น ข้าพเจ้าเข้าร่วมชมรมนี้ด้วย ถามว่า ทำไมจึงใช้ชื่อว่า ศาลาลายสือไท ได้คำตอบว่า “ลายสือไท” เป็นคำในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ท่านจารึกไว้ว่า “เมื่อก่อนลายสือไทนี้บ่มีพ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจแลใส่ลายสือไทนี้ลายสือไทนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้” ความจารึกที่ตัวอักษรติดกันเป็นพืดนี้อ่านแยกวรรคตอนแล้วได้ความว่า เมื่อก่อนนี้ลายสือคืออักษรหรือหนังสือไทยยังไม่มี พ่อขุนรามคำแห่งทรงคิดประดิษฐ์ขึ้นใช้ในสมัยของพระองค์ หนังสือไทยจึงมีเพราะพ่อขุนฯทรงคิดประดิษฐ์ไว้ให้ใช้กัน ดังนั้นจึงใช้คำว่า “ลายสือไท” เป็นชื่อชมรมกลอนของเรา
กิจกรรมของชมกวีศาลาลายสือไท นอกจากการแต่งบทกวีเป็น ร่าย กาพย์ โคลง ฉันท์ กลอน แล้ว ก็มีการวิเคราะห์ วิพากย์ วิจารณ์ และค้นคว้าเรื่องราวของวรรณคดีประวัติศาสตร์โบราณคดี วัฒนธรรมประเพณีไทยอีกด้วย นำเอาความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ และอีกหลายหลักที่มีการอ่าน แปล โดยนักวิชาการของกรมศิลปากรมาพูดถึงกันในเชิงวิเคราะห์ เช่นความว่า “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง ....” เป็นต้น พี่มหาประเสริฐได้นำความในศิลาจารึกหลักที่ ๒ วัดศรีชุมมาประกอบเรื่องให้รู้ความเป็นมาของนาม “ศรีอินทราทิตย์” ว่า เดิมทีท่านผู้นี้มีนามว่า “บางกลางท่าว” เจ้าเมืองบางยาง (นครไทย) ได้ร่วมกับขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด (ยังไม่ทราบแน่ชัดคือเมืองใด) ยกพลมาขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงที่ยึดครองเมืองสุโขทัยอยู่ ครั้นขอมสบาดฯ พ่ายหนีไป ขุนผาเมืองเข้าเมืองสุโขทัยได้แล้วมอบให้ขุนบางกลางท่าวครอง พร้อมมอบนามศรีอินทรปตินทราทิตย์ของตนให้สหายด้วย ความที่พี่มหาประเสริฐนำมาประกอบเรื่องดังกล่าวนี้เป็นความในศิลาจารึกหลักที่ ๒ ซึ่งพบ ณ วัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย อ่านความแล้วน่าจะถือว่าเป็นเรื่องเริ่มต้นประวัติศาสตร์ไทย
ข้าพเจ้าเป็นคนมีความรู้น้อย เรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีไทยนี่ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย เวลาเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการก็ได้แต่ฟังท่านผู้รู้อภิปรายกัน แล้วจดจำเก็บเกี่ยวความรู้นั้นมากองสุมไว้ในตน โดยปกตินิสัยของข้าพเจ้าเป็นคนชอบฟังชอบคิดมากกว่าพูดเพ้อเจ้อ (เหมือนบางคน) ถือตามปราชญ์ที่ท่านกล่าวว่า “คนพูดมากเสียเปรียบ คนฟังมากได้เปรียบ” เห็นจริงด้วยว่าคนพูดมากเสียความรู้ คนฟังมากได้ความรู้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงชอบฟังเพื่อเอาความรู้จากผู้พูด
เกี่ยวกับพระนามเดิมของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์นั้น ข้าพเจ้าถามในที่เสวนาว่า “บางกลางท่าว” แปลว่า หรือหมายความอะไร ได้ฟังคำอภิปรายจากท่านผู้รู้ว่า คำว่า บางกลาง เป็นคำไทยปัจจุบันชัดเจนแล้ว คำว่า “ท่าว” คำนี้บางทีก็ว่า “ท้าว” เป็นคำไทยโบราณ มีใช้มาก่อนยุคพ่อขุนรามคำแหงเสียอีก คำนี้แปลว่า “ใหญ่” และพูดเพี้ยนเป็น ท้าวบ้าง เท้าบ้าง เฒ่าบ้าง เถ้าบ้าง ถ่าวบ้าง เช่นพูดถึงปลาตัวใหญ่ว่าปลาหยางท่าว (ปลาอย่างใหญ่) คนเป็นใหญ่เป็นหัวหน้าก็เรียกว่า เฒ่าเถ้า เช่น ผู้เฒ่า เถ้าแก่ เป็นต้น ข้าพเจ้าฟังดังนั้นก็แปลความเอาเองว่า บางกลางท่าว คือเป็นใหญ่ท่ามกลางหมู่ชน นั่นแล
เมืองบางยางรู้แน่นอนแล้วว่า คือนครไทย อำเภอหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน ส่วนเมืองราดของขุนผาเมืองนั้นยังชี้ชัดลงไปไม่ได้ว่าคือเมืองอะไร ผู้รู้ในชมรมกวีศาลาลายสือไทเชื่อตามนักวิชาการเดิมว่า คือเมืองศรีเทพในจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีบางกลุ่มชนว่าเมืองราดคือหล่มสักนั้นเห็นจะผิดไปถนัดเลย เพราะในจารึกหลักที่ ๑ นั้นระบุว่า เมืองที่เลยไปจากสรลวงสองแฅว (พิษณุโลก) คือเมืองลุมบาจายสคา อยู่ตรงตำแหน่งหล่มเก่า หล่มสักพอดีเลย ข้าพเจ้าเริ่มสนุกกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยจากความในศิลาจารึกสุโขทัยเสียแล้ว/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๔๕ - เป็นความคิดของท่านเอง หรือมีใครไปแนะนำก็ไม่ทราบ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดคูหาสุวรรณ (วันครู ๒๕๐๔) สำราญ สุดจิตต์ มานิมนต์ข้าพเจ้าให้เข้าไปช่วยสอนวิชาศีลธรรมแก่นักเรียนชั้นประถมฯ ตอนปลายสัปดาห์ละครั้ง โรงเรียนนี้สมัยนั้นเป็นโรงเรียนใหญ่มีเด็กนักเรียนหลายพันคน เป็นเด็กนอกเขตเทศบาลเมืองเสียสวนมาก มีเด็กจากโตนด ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จากเมืองเก่า บ้านนา บ้านขวาง บ้านกล้วย นั่งรถสองแถว (มักเรียกกันว่ารถคอกหมู) เข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้ารับนิมนต์แล้วก็ปรึกษาพี่เหรียญชัย กับครูนิมิต เพื่อวางแนวการสอนให้ เพราะไม่เคยสอนเด็กมาก่อน เขาก็บอกว่าท่านเคยสอนพระเณรอย่างไรก็ควรสอนเด็กอย่างนั้นแหละ
ข้าพเจ้าคิดค้านคำของครูนิมิกับครูเหรียญชัย เพราะการสอนพระเณรนั้นสอนามหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก แต่จะเอาหลักสูตรนักธรรมนั้นมาสอนเด็กไม่ควรเลย เคยอ่านหนังสือวิชาครูเพื่อสอบเอาวุฒิครูมาบ้าง จึงคิดใช้หลักการสอนในวิชาครูนั้นมาดัดแปลงใช้ในการสอนศีลธรรมแก่เด็ก ตกลงใจว่าจะนำธรรมะในหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีที่ว่าด้วย “คิหิปฏิบัติ” คือธรรมะสำหรับคฤหัตถ์ (ชาวบ้านทั่วไป) กับธรรมะในมงคลสูตร มาสอนเด็กจึงจะสมควร และแทนที่จะสอนตามลำดับหมวดธรรม คือเริ่มตั้งแต่หมวด ๔ ก็จะนำเอาเอาเรื่องทิศในหมวด ๖ มาสอนเป็นการชิมลางก่อน
วันแรกที่เริ่มสอนข้าพเจ้าขอสอนเฉพาะนักเรียนชั้น ป.๗ ก่อน และให้นำนักเรียนทุกห้องมารวมกันในห้องประชุม เพราะหากจะให้ไปสอนทุกห้องในวันเดียวกันคงไม่ไหวแน่ แต่ทางอาจารย์บอกว่าถ้าอย่างนั้นขอให้นักเรียนชั้นประถมปลายทั้งหมดมารวมกันในห้องประชุมเลย พระอาจารย์สอนแบบอบรมนักเรียนเป็นการเริ่มต้นก็ได้ ข้าพเจ้าก็ตกลงตามนั้น เด็กชั้นประถมปลายชายหญิงมีจำนวนรวมกันเป็นร้อย เข้าห้องประชุมแล้วข้าพเจ้าก็เริ่มทำการสอนตามแบบที่คิดไว้
“สวัสดีนักเรียนทั้งหลาย วันนี้เป็นวันแรกที่อาจารย์จะเริ่มสอนวิชาศีลธรรมแก่พวกเธอ ขอให้นั่งฟังกันอย่างสบาย ๆ ขอเพียงอย่าคุยกัน และอย่านั่งหลับก็แล้วกันนะ”
จากนั้นก็เริ่มนำเข้าสู่บทเรียน
“นักเรียนทั้งหลายรู้จักทิศมั้ย ทิศที่หมายถึงทางน่ะ ไม่ใช่พี่ทิดที่สึกไปจากพระนะ ใครรู้จักทิศทางบ้างยกมือขึ้น“
นักเรียนยกมือพรึบทั้งห้อง
“อ้อ รู้จักกันทุกคนแล้วนะ ขอถามอีกทีว่ามีกี่ทิศ“ นักเรียนตอบว่า ๔ ทิศพร้อมกัน ถามต่อว่าทิศอะไรบ้าง นั กเรียนตอบว่าทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ดีมาก นักเรียนทุกคนเก่ง กล่าวชมนักเรียนแล้วก็เข้าเรื่อง ทิศที่นักเรียนรู้จักนั้นเป็นเรื่องของภูมิศาสตร์ที่ทุกคนต้องรู้ไม่งั้นจะเดินหลงทิศทางจนกลับบ้านไม่ถูก แต่ในทางพุทธศาสนาเรามีทิศมากกว่านั้น อยากรู้มั้ยว่า มีทิศอะไรบ้าง “อยากรู้” นักเรียนตอบเป็นเสียงเดียวกัน
อยากรู้ก็ตั้งใจฟังและจดจำนะ จะเล่านิทานให้ฟัง ในสมัยพุทธกาลมีคนในวรรณะพราหมณ์ครอบครัวหนึ่ง มีลูกคนเดียวเป็นชาย ชื่อว่าสิงคาลมาณพ อยู่มานางพราหมณีภรรยาตายลง พราหมณ์หัวหน้าครอบครัวเลี้ยงดูลูกชายจนเติบใหญ่ ไม่นานนักเขาป่วยใกล้ตายจึงเรียกลูกชายไปนั่งใกล้ ๆ แล้วสั่งว่ า เมื่อพ่อตายไปแล้วขอให้ลูกทำตามคำสั่งพ่อเพื่อความสุขความเจริญของลูก คือขอให้ทำการไหว้ทิศทั้งหลายเป็นประจำทุกวัน ครั้นพราหมณ์นั้นสิ้นชีวิตแล้ว สิงคาลหนุ่มก็ทามคำสั่งพ่ออย่างเคร่งครัด ทุกเช้าเขาตื่นนอนก็ลงจากเรือนไปทำการกราบไหว้ทิศทั้งสี่เป็นประจำ วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินบิณฑบาตโปรดสัตว์ผ่านไปเห็นเขากำลังไหว้ทิศอยู่ ทรงหยุดดูแล้วถามว่าพ่อหนุ่มทำอะไรหรือ เขาก็ตอบว่ากำลังไหว้ทิศตามคำสั่งพ่อ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ไหว้ทิศทั้งสี่อย่างนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไร เรามีทิศที่ไหว้แล้วได้ประโยชน์มากกว่า ทิศของเรามี ๖ ทิศที่ไหว้แล้วได้ประโยชน์คือ
“๑. ปุรัตถิมทิส คือ ทิศเบื้องหน้า มารดาบิดา มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อบุตร ๕ ประการ ๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๔. หาคู่ครองที่สมควรให้ ๕. มอบทรัพย์ให้ในสมัย. บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดาด้วยสถาน ๕ ดังนี้ ๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ ๒. ช่วยทำกิจของท่าน ๓. ดำรงวงศ์สกุล ๔. ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน.
๒. ทักขิณทิส คือ ทิศเบื้องขวา ครูอาจารย์ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อศิษย์ ๕ ประการ ๑. แนะนำดี ๒. ให้เรียนดี ๓. บอกศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง ๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย. ศิษย์พึงบำรุง ครูอาจารย์ด้วยสถาน ๕ ดังนี้ ๑. ด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๒. ด้วยเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๓. ด้วยเชื่อฟัง ๔. ด้วยอุปัฏฐาก ๕. ด้วยเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ.
๓. ปัจฉิมทิส คือ ทิศเบื้องหลัง บุตรภรรยา มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อสามี ๕ ประการ ๑. จัดการงานดี ๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี ๓. ไม่ประพฤตินอกใจสามี ๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ ๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง. สามีพึงบำรุงภรรยาด้วยสถาน ๕ ดังนี้ ๑. ด้วยยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา ๒. ด้วยไม่ดูหมิ่น ๓. ด้วยไม่ประพฤตินอกใจ ๔. ด้วยมอบความเป็นใหญ่ให้ ๕. ด้วยให้เครื่องแต่งตัว.
๔. อุตตรทิส คือ ทิศเบื้องซ้าย มิตรสหาย มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อเพื่อน ๕ ประการ ๑. รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๒. รักษาทรัพย์ของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๓. เมื่อมีภัย เอาเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๔. ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ ๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร. กุลบุตรพึงบำรุงมิตรสหายด้วยสถาน ๕ ดังนี้ ๑. ด้วยให้ปัน ๒. ด้วยเจรจาถ้อยคำไพเราะ ๓. ด้วยประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๔. ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ ๕. ด้วยไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความเป็นจริง
๕. เหฏฐิมทิส คือ ทิศเบื้องต่ำ บ่าวไพร่ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อนาย ๕ ประการ ๑. ลุกขึ้นทำการงานก่อนนาย ๒. เลิกทำการงานทีหลังนาย ๓. ถือเอาแต่สิ่งของที่นายให้ ๔. ทำการงานให้ดีขึ้น ๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญในที่นั้นๆ. นายพึงบำรุงบ่าวไพร่ด้วยสถาน ๕ ดังนี้ ๑. ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๒. ด้วยให้อาหารและรางวัล ๓. ด้วยรักษาพยาบาลในเวลาเจ็บไข้ ๔. ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน ๕. ด้วยปล่อยในสมัย
๖. อุปริมทิส คือ ทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์ มีหน้าที่จะต้องอนุเคราะห์ต่อกุลบุตร ๖ ประการ ๑. ห้ามไม่ให้กระทำความชั่ว ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม ๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๕. ทำสิ่งที่เคยได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ๖. บอกทางสวรรค์ให้. กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยสถาน ๕ ดังนี้ ๑. ด้วยกายกรรม คือ ทำอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา ๒. ด้วยวจีกรรม คือ พูดอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา ๓. ด้วยมโนกรรม คือ คิดอะไร ๆ ประกอบด้วยเมตตา ๔. ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู คือ ไม่ได้ห้ามเข้าบ้านเรือน ๕. ด้วยให้อามิสทาน”
สิงคาลมาณพฟังแล้วเห็นด้วยเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงกราบแทบเท้าพระพุทธองค์แล้วกล่าวคำแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เรื่องสิงคาลมาณพจบแล้ว นักเรียนสงสัยอะไรในเรื่องนี้บ้างไหม สงสัยก็ถามได้เลย อาจารย์ขอให้หลักการฟังไว้อย่างหนึ่งว่า “ฟังแล้วคิด คิดแล้วถ้าสงสัยให้ไต่ถาม” มีนักเรียนหลายคนถามเรื่องพระพุทธเจ้าว่า เป็นถึงพระพุทธเจ้าแล้วทำไมต้องเดินบิณฑบาตด้วย เป็นคำถามซื่อ ๆ ที่น่ารักมาก ก็เลยตอบอธิบายถึงเรื่องพุทธกิจเสียยืดยาว เท้าความไปถึงพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาที่ถามพระพุทธองค์ ทำนองเดียวกันนี้ เด็ก ๆ ซักถามกันจนสิ้นสงสัยแล้ว ก็ปิดชั่วโมงสอนด้วยความพอใจของพวกเขา /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|