บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เนื่องจากกระทู้ - คำให้การของนักบวช - คลิก ก่อนหน้านี้ดำเนินมาถึง ๑๐๐ ตอนแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ ๑๐๑ - ๒๐๐ ผู้โพสต์จึงขอยกมาไว้ในกระทู้นี้แทนครับ • อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๑ - ๑๐๐ คลิก • อ่าน "คำให้การของนักบวช" - ตอนที่ ๒๐๑ - ตอนสุดท้าย คลิก
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ ตอนที่ - ๑๐๑ - เข้าพรรษามาหลายวันแล้ว พระประเสริฐปรารภในวันหนึ่งว่า ท่านอภินันท์มาอยู่สงขลาควรจะศึกษาเรื่องเมืองสงขลาเป็นความรู้ไว้บ้างนะ ตอนนี้อยู่ว่าง ๆ ผมจะพาเที่ยวชมวัดต่าง ๆ ในเมืองสงขลาดีไหม ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับข้อเสนอของพระประเสริฐ ตกลงกันว่าจะเที่ยววัดสำคัญ ๆ ที่อยู่ใกล้วัดชัยมงคลก่อน วัดใกล้วัดชัยมงคลก็มีวัดโรงวาสซึ่งอยู่ด้านตะวันตก แต่ความสำคัญไม่มากนัก วัดสำคัญกว่านั้นคือวัดมัชฌิมาวาส และวัดโพธิปฐมาวาส ข้าพเจ้าตกลงใจเข้าชมวัดโพธิปฐมาวาสเป็นอันดับแรก วัดนี้มีเรื่องราวที่ขอสรุปข้อความจากบันทึกสาธารณะมาเสนอดังต่อไปนี้......
“วัดโพธิ์ปฐมาวาส พระอารามหลวง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ถนนไทรบุรี ตําบลบ่อยาง อําเภอเมืองสงขลา ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๒๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อพุทธศักราช ๒๒๑๐ อาณาเขตวัดกว้าง ๑๐๕ เมตร ยาว ๑๒๐ เมตร มีกําแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน มีประตูเข้าออก ๔ ประตู มีประชาชนตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ ๓ ด้าน คือด้านทิศ ตะวันตก ตะวันออก และทิศเหนือ ส่วนทางทิศใต้จดถนนกําแพงเพชร
วัดนี้เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดสงขลา ตามประวัติกล่าวว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๐ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง บริเวณที่ตั้งวัดเดิมเรียกว่าสถานที่ค้าโภค์ (หมายถึงตลาดนัด) แต่เดิมจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดโภค์ ต่อมาได้เพี้ยนเป็นวัดโพธิ์ และในสมัยพระครูสังฆโศภน (อดีตเจ้าอาวาส) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดโพธิ์ปฐมาวาส” ต่อมาได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์โดยผู้สำเร็จราชการสงขลาในขณะนั้นคือเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของเจดีย์ ๓ องค์ องค์แรกบรรจุพระธาตุพระอรหันต์ องค์ที่สองบรรจุพระธรรม และองค์ที่สามบรรจุพระพุทธรูป และนอกจากเจดีย์แล้วยังมีหอระฆัง ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป และภายในอุโบสถมีพระพุทธประธานประดิษฐานอยู่ พร้อมจิตรกรรมฝาผนังที่มีความวิจิตรงดงามมาก ตลอดถึงปริศนาธรรมที่เล่าเรื่องราวและวิถีความเป็นอยู่ของชาวสงขลาตั้งแต่สมัยโบราณ ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาสัย มีหลักฐานพงศาวดารเมืองสงขลาว่าพระยาศรีสมบัติจางวาง (บุญชิ้น ณ สงขลา) ผู้ตรวจราชการพิเศษเมืองสงขลา ได้สร้างอุโบสถและโรงธรรมไว้ กาลต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ซึ่งเป็นบุตรของพระยาศรีสมบัติจางวาง (ผู้สร้าง) ได้ทําการบูรณปฏิสังขรณ์ และสร้างศาสนสถานเพิ่มเติม ปรากฎจนถึงปัจจุบันนี้
วัดโพธิ์ปฐมาวาสขึ้นชื่อเกี่ยวกับศึกษา เพราะทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๔ ในสมัยเจ้าอาวาสคือพระครูวิจิตรคณานุรักษ์ นับว่าเจริญรุ่งเรืองมากในระยะแรก ๆ ศิลปกรรมที่สำคัญในวัดคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ ซึ่งมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระอาทิตย์ทรงรถ ผนังด้านเหนือหน้าต่างซ้ายขวาเขียนภาพเทพชุมนุม พนมมือถือดอกบัว ตรงกลางเจาะซุ้มพระและเทพชุมนุมแต่ละคู่หันหน้าเข้าหากัน กระทำนมัสการพระพุทธรูปในซุ้ม เทพชุมนุมมีแถวเดียว เหนือขึ้นไปเขียนลายดอกไม้ร่วง ผนังตอนล่างระหว่างประตูด้านหน้าเป็นภาพปริศนาธรรม ด้านหลังพระประธานเป็นภาพนรกภูมิ ผนังระหว่างช่วงหน้าต่างทั้งด้านซ้ายและขวาของพระประธานเป็นภาพปริศนาธรรม ที่ผนังส่วนนี้มีการสร้างเสาหลอกเป็นลำไผ่ครึ่งซีกนูนแทรกอยู่ตรงกลางผนัง ที่บานประตูด้านหน้ายังมีภาพเขียนพิเศษที่แตกต่างไปจากภาพเขียนที่อื่น ๆ คือภาพขบวนแห่เจ้าเซ็นอยู่ด้านซ้ายและด้านขวาเป็นภาพบ้านเรือนแบบภาคใต้ และมีภาพการลักลอบส่งเพลงยาวของหนุ่มสาว ตามแบบอย่างการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาวในสมัยโบราณของไทย ลวดลายหน้าบันพระอุโบสถหน้าจั่วส่วนบนสุดมีลักษณะคล้ายหัวพญานาค แทนช่อฟ้า รูปประธานของหน้าบันเป็นรูปพานซ้อนกันสองชั้นอยู่บนพระธรรมปิฎกเขียนว่า “พระพุทธศักราช ๒๔๖๑” ล้อมรอบด้วยใบโพธิ์ผูกกันเป็นสามช่อรวมกัน ลวดลายทั้งหมดเป็นปูนปั้นลงสีทอง”
ได้เห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถดังกล่าวแล้วข้าพเจ้าตื่นตาตื่นใจมาก โดยเฉพาะภาพขบวนแห่เจ้าเซ็น เคยได้ยินแต่ชื่อเพลงไทยว่า แขกเจ้าเซ็นเต้นตำบุด ไม่เคยเห็นการเต้นตำบุดมาก่อน เพิ่งมาเห็นในภาพนี้เอง อีกภาพหนึ่งที่ถูกใจมากคือ หนุ่มสาวลักลอบส่งเพลงยาวเกี้ยวพาราศีกัน ภาพนี้คิดว่าน่าจะเป็นวัฒนธรรมหนุ่มสาวในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา คือยุคสมัยพระนารายณ์เรื่อยมาถึงพระเจ้าบรมโกศนั่นเชียว เพราะยุคนั้นคนไทยเริ่มแต่งกลอนเพลงยาวเกี้ยวกันแล้ว จากนี้ไปดูโบราณวัตถุสถานของวัดที่ดูน่าศึกษากันต่อไป
“วัดโพธิ์ปฐมาวาส มีโบราณสถานโบราณวัถตุ และเสนาสนะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งที่มีความสําคัญทางประวัติศาสตร์และทรงคุณค่าดังนี้
เจดีย์ ๓ องค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ไม่ปรากฏหลักฐานนามผู้สร้าง องค์ประธานคือองค์กลาง มีการก่อฐานประทักษิณซึ่งแตกต่างกับเจดีย์อีก ๒ องค์ที่ไม่มี ลักษณะของเจดีย์ประธานฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานประทักษิณ ๒ ชั้น แนวพนักระเบียงประดับด้วยกระเบื้องปรุอย่างจีน องค์เจดีย์ประธานด้านบนส่วนฐานรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังย่อมุมไม้สิบสอง ฐานชั้นล่างเป็นฐานเขียงไล่ระดับกัน ถัดขึ้นมาเป็นส่วนแถบลวดบัวคล้ายอกไก่ซ้อนกัน ๒ ชั้น ระบบชุดฐานดังกล่าวเป็นระบบที่ไม่ใช่ระบบชุดฐานเดิมในอดีต ซึ่งคงเป็นรูปแบบที่สร้างขึ้นเฉพาะท้องถิ่น ต่อมาเป็นฐานบัวคลุ่มในผังย่อมุมไม้สิบสองเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ องค์ระฆังในผังกลมไม่มีบัลลังก์ ต่อขึ้นไปเป็นก้านฉัตรประดับเสาหารและมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ระหว่างเสา ต่อด้วยบัวคลุ่มเถาซ้อนกัน ๓ ชั้น และมีปลียอด เจดีย์ที่อยู่ขนาบข้างมีลักษณะเหมือนกัน ส่วนฐานรองรับองค์ระฆังอยู่ในผังย่อมุมไม้สิบสอง เริ่มต้นด้วยฐานเขียงชั้นฐานสิงห์ ขาสิงห์เป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนท้องสิงห์เป็นเส้นหยักโค้ง ถัดขึ้นมาเป็นเส้นลวดแก้ว บัวคลุ่ม องค์ระฆังและบัลลังก์อยู่ในผังกลม ต่อขึ้นไปเป็นบัวคลุ่มเถา ปลี ลูกแก้ว และปลียอด
จากลักษณะของเจดีย์ทั้ง ๓ องค์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ หรือราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ เพราะพิจารณาจากระบบฐานรองรับองค์ระฆังไม่เป็นระบบอย่างในอดีต แสดงให้เห็นถึงรูปแบบเฉพาะถิ่น มีกําแพงแก้วสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ๒ ชั้น เป็น ๒ ระดับ กําแพงแก้วชั้นในสูงกว่า ชั้นนอก มีประตูเข้าทั้ง ๔ ด้าน แต่ละด้านมีบันไดขึ้นลง ๕ ขั้น ใช้กระเบื้องสี่เหลี่ยมสีแดง ส่วนที่ประดับในซองกําแพงนั้นใช้ช่องลมเคลือบลายโปร่งสีเขียวศิลปะแบบจีน ประดับในช่องกําแพง บันไดทุกด้านขึ้นถึงฐานเจดีย์ได้ รูปทรงเจดีย์เป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ซึ่งเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น องค์เจดีย์เป็นรูประฆังคว่ําบนฐานบัวกลุ่มเหนือองค์ระฆังมีบัลลังก์ เสาและซุ้มมี ๑๒ ช่อง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ๑๒ องค์ เหนือบัลลังก์ขึ้นไป มีบัวกลุ่มซ้อนกัน ๓ ชั้น ทําเป็นปล้องไฉนถึงปลียอด และหยาดน้ําค้างหรือลูกแก้ว ส่วนฐานทําเป็นย่อมุมสิบสอง ลดหลั่นกันลงมา ๓ ชั้น ส่วนกําแพงแก้วทําเป็นสี่เหลี่ยมทั้ง ๒ ระดับ ไม่มีการย่อมุม จากลักษณะของเจดีย์ทั้ง ๓ องค์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ หรือราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ เพราะพิจารณาจากระบบฐานรองรับองค์ระฆังไม่เป็นระบบอย่างในอดีต แสดงให้เห็นถึงรูปแบบเฉพาะถิ่นสำหรับประวัติการสร้างเจดีย์ ๓ องค์นั้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด...... วันนี้นำชมวัดโพธิ์ปฐมาวาสเพียงเท่านี้ก่อน พรุ่งนี้มาต่อกันครับ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, คิดถึงเสมอ, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล, ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ชลนา ทิชากร, กรกช, น้องฮานา, malada, สายน้ำ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๐๒ - เมื่อวันวานนี้พาเที่ยวชมวัดโพธิ์ปฐมาวาสพระอารามหลวง วัดสำคัญในเมืองสงขลา กล่าวถึงจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ และพระเจดีย์ไปแล้ว ขอทำความเข้าใจในการเรียก โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ภายในวัดทั่วไปให้ทราบสักเล็กน้อย ถ้าเป็นวัดราษฎร์ทั่วไป จะเรียกโบสถ์ว่า อุโบสถ วิหารว่า วิหาร เจดีย์ว่าเจดีย์ แต่ถ้าเป็นวัดหลวงหรือพระอารามหลวง จะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ และแม้ วัดหรืออารามก็จะเรียกว่า พระอาราม กล่าวคือมีคำว่า “พระ” นำหน้าเสมอ ถ้าได้ยินคำว่า พระอุโบสถก็ให้รู้ได้ทันทีว่า โบสถ์นั้นเป็นของพระอารามหลวง ขอให้เข้าใจกันตามนี้นะครับ จากนี้ไปเที่ยวชมศาสนวัตถุในวัดโพธิ์ปฐมาวาสพระอารามหลวงในเมืองสงขลาต่อจากเมื่อวันวานนี้อีกหน่อยนะครับ
“พระอุโบสถวัดโพธิ์ปฐมาวาส มีลักษณะสถาปัตยกรรมไทย ขนาดกว้าง ๑๓. ๑๙ เมตร ยาว ๒๐.๔๙ เมตร หลังคาทรงไทยชั้นเดียว มุงกระเบื้องเคลือบดินเผาสีแดง ไม่มีช่อฟ้า-ใบระกา มีเพียงชั่วและเหงาปั้นลม มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว มีหน้าต่าง ๑๐ ช่อง หน้าบันพระอุโบสถตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปพานวางซ้อนกัน ๒ ชั้น รองรับพระอภิธรรมปิฎก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังภาพดังได้กล่าวมาแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ในรัชกาลที่ ๒ โดยพระยาศรีสมบัติจางวาง (บุญชิ้น ณ สงขลา) และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๐๒) โดยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ราว พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งมีการบันทึกปีพุทธศักราชไว้เป็นลายปูนปั้นที่หน้าบันพระอุโบสถ มีลวดลายหน้าบัน หน้าจั่วส่วนบนสุดมีลักษณะคล้ายหัวพญานาค แทนช่อฟ้า รูปประธานของหน้าบันเป็นรูปพานซ้อนกันสองชั้นอยู่บนพระธรรมปิฎก เขียนว่า “พระพุทธศักราช ๒๔๖๑” ล้อมรอบด้วยใบโพธิ์ผูกเป็นสามช่อรวมกัน ลวดลายทั้งหมดเป็นปูนปั้นลงสีทอง
ผนังด้านสกัดหน้าในพระอุโบสถเหนือกรอบประตูมีแผ่นรูปสามเหลี่ยมเขียนสีรูปต้นไม้ใหญ่เกาะอยู่บนโขดหิน ในระดับเดียวกันนี้มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ขนาบข้าง ฐานชุกชีตกแต่งด้วยลายพรรณพฤกษาและลายหินอ่อนซึ่งพบได้ในสมัยรัตนโกสินทร์ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นต้นมา ซุ้มทางด้านทิศเหนือด้านล่างกรอบเขียนรูปยักษ์กำลังแบกฐานพระพุทธรูป ส่วนซุ้มทางด้านทิศใต้เขียนรูปลิง ๒ ตัว กำลังแบกฐาน ถัดขึ้นไปด้านบนเขียนด้วยลายดอกไม้ร่วงซึ่งต่อเนื่องมาจากผนังแปร จากลักษณะดังกล่าวคงเป็นงานที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยน่าจะสร้างขึ้นโดยช่างท้องถิ่นเนื่องจากลักษณะการสร้างที่ผิดสัดส่วน
ภาพกลุ่มคนหลายเชื้อชาติ สังเกตได้จากสีผิวและการแต่งกายที่แตกต่างกัน มีทั้งแบบผมสั้น ผมยาว บางคนมีหนวดเครา บางคนผ้าแบบลายตรง บางคนนุ่งผ้าลายตาราง หน้าตามีความหลากหลายไม่ได้เขียนแบบหุ่น ผู้รู้ได้ตีความไว้ ๒ ประการ คือประการแรก อาจเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของพระมาลัยที่ต่อเนื่องมาจากช่องภาพด้านซ้าย โดยช่องภาพนี้เป็นส่วนที่กล่าวถึงช่วงกลียุคอันเป็นยุคที่ผู้คนจะไม่ละลายต่อบาปและมีการรบราฆ่าฟันกันจนตาย โลกจะเหลือเพียงผู้อยู่ในศีลธรรมที่หลบหนีจากการสู้รบไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเขาที่จะรอดพ้นจนทันยุคพระศรีอาริย์ ประการที่ ๒ ภาพนี้อาจะเป็นภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาช่วงหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบจากผู้ร้ายและโจรสลัด
เสาติดผนังรูปต้นไผ่ ถือเป็นงานศิลปะพื้นถิ่นและถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้ ลักษณะตัวเสาทำเป็นเสานูนโค้งเป็นลำปล้องของต้นไผ่ พร้อมกับการเขียนลายให้คล้ายกับธรรมชาติ ตัวเสานี้ติดอยู่ตรงกลางของผนังระหว่างช่องหน้าต่าง และมีหน้าที่เป็นกรอบกั้นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป รูปแบบและเทคนิคการเขียนนี้คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕
ศาลาการเปรียญประดิษฐานอยู่ในกำแพงแก้ว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยพระยาศรีสมบัติจางวาง (บุญชิ้น ณ สงขลา) ผู้ตรวจราชการพิเศษเมือสงขลา และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๐๒) โดยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ราว พ.ศ. ๒๔๖๑ ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งน่าจะพร้อม ๆ กับพระอุโบสถ หน้าบันศาลาการเปรียญเป็นรูปปูนปั้นพระพุทธเจ้า
พระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักตร์ใหญ่ยาว ลักษณะอย่างหุ่น พระขนงโก่งโค้ง มุมพระโอษฐ์ยกขึ้นเล็กน้อย พระกรรณใหญ่ เม็ดพระเกศามีขนาดเล็ก รัศมีเป็นเปลวสูง พระอังสาทั้ง ๒ ข้างยกตั้งขึ้นระนาบกับพื้น ครองจีวรห่มเฉียง เรียบ มีชายสังฆาฏิขนาดใหญ่พาดอยู่ที่พระอังสาข้างซ้ายตกลงมาตรงกลางพระวรกาย ลงมาถึงพระนาภีปลายตัดตรง พระชงฆ์มีขนาดใหญ่หนา จากลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงงานช่างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับการสร้างวัด และเป็นศิลปะของช่างท้องถิ่น”
สิ่งที่น่าดูน่าชมภายในวัดโพธิ์ปฐมาวาสยังมีอีกมาก แต่ขอนำชมแต่เพียงย่อ ๆ เท่านี้นะครับ เพราะยังมีวัดที่น่าดูน่าชมอยู่ไม่ไกลกันนัก จะหาเวลาไปชมต่อ ตามแต่พระประเสริฐจะเลือกพาไป/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๐๓ - วันนี้พระประเสริฐพาไปชมวัดอีกวัดหนึ่งคือวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) ตั้งอยู่ที่ถนนไทรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ถนนสายเดียวกันกับวัดโพธิ์ปฐมาวาส นัยว่าเป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายมีเนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ทิศเหนือติดกับที่ธรณีสงฆ์ของวัด ทิศใต้ติดกับถนนมัชฌิมวิถี ทิศตะวันตกติดกับถนนไทรบุรี เป็นวัดโบราณอายุประมาณ ๔๐๐ ปี เดิมเรียกชื่อว่า วัดยายศรีจันทน์ เพราะยายศรี–จันทน์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมามีผู้สร้างวัดเลียบทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ทางทิศใต้ ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทน์ว่า “วัดกลาง” ต่อมาพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสคราวเสด็จเมืองสงขลาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงเปลี่ยนชื่อจากภาษาไทยเป็นบาลีว่า “วัดมัชฌิมาวาส” วัดนี้มีพิพิธภัณฑ์ชื่อภัทรศิลป์ เป็นที่เก็บวัตถุโบราณต่าง ๆ ซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด และอื่น ๆ อันเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา มีรายละเอียดที่พอจะสรุปมาให้ทราบดังต่อไปนี้
“ วัดมัชฌิมาวาสหรือวัดกลาง ตั้งอยู่เลขที่ ๒๒๒ หมู่ที่ ๑๑ ถนนไทรบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง อยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลสาบสงขลา สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย มีเนื้อที่ประมาณ ๑๑ ไร่ ทิศเหนือติดกับที่ธรณีสงฆ์ของวัด ทิศใต้ติดกับถนนมัชฌิมวิถี ทิศตะวันตกติดกับถนนไทรบุรี เป็นวัดใหญ่และสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดสงขลา ตามประวัติกล่าวว่าวัดมัชฌิมาวาสสร้างมาแล้วประมาณ ๔๐๐ ปี ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมวัดมัชฌิมาวาสเป็นวัดราษฎร์สร้างโดยยายศรีจันทร์คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดยายศรีจันทน์ ต่อมาประชาชนพากันเรียกว่า "วัดกลาง" เนื่องจากมีผู้สร้างวัดขึ้นทางทิศเหนือขึ้นอีกหนึ่งวัดคือวัดเลียบ และทางทิศใต้อีกหนึ่งวัดคือวัดโพธิ์ วัดยายศรีจันทน์ตั้งอยู่ระหว่างกลาง ชาวสงขลาจึงเรียกวัดยายศรีจันทน์ว่า “วัดกลาง” ครั้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส (เมื่อยังดำรงพระอิสริยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส) ได้เสด็จเมืองสงขลาทรงเปลี่ยนชื่อวัดกลางเป็นวัดมัชฌิมาวาส และเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี มีชื่อทางราชการว่าวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร มีอาณาเขตด้านทิศเหนือจรดโรงเรียนสงเคราะห์ประชา ทิศใต้จรดวัดโพธิ์ปฐมาวาส ทิศตะวันออกจรดถนนรามวิถี (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา) และทิศตะวันตกจรดถนนไทรบุรี
ดังได้กล่าวแล้วว่าวัดมัชฌิมาวาสนี้สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีเจ้าอาวาส และปูชนียบุคคลหลาย ๆ ท่านที่ช่วยดูแลปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดหายท่าน จะขอกล่าวเฉพาะบางท่านดังต่อไปนี้ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๓๘ ถึง–๒๓๔๒) เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมสน) ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ครั้งใหญ่ เช่น สร้างพระอุโบสถ และศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ในรัชกาลที่ ๒–๓ พ.ศ. ๒๓๖๐ –๒๓๗๕ พระยาวิเชียรคีรี (เถียนเส้ง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมทราย) ได้สร้างหนังสือผูกลาน คือพระวินัย ๖๖ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๘๗ คัมภีร์ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ ๘ ตู้ เจ้าอาวาสชื่อพระครูรัตนโมลี (รักษ์) (พ.ศ. ๒๓๕๘–๒๓๗๙) เมื่อเมืองสงขลาย้ายจากฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ (หัวเขาแดง) มาอยู่ฝั่งตะวันออก (แหลมสน) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาก็กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่พระอุโบสถนี้เป็นประจำปีสืบต่อมา ในรัชกาลที่ ๓–๔ พ.ศ. ๒๓๗๙ ถึง ๒๓๘๙ มีเจ้าอาวาสชื่อพระปลัดทอง และ พ.ศ. ๒๓๘๙ ถึง–๒๓๙๔ มีเจ้าอาวาสชื่อพระครูรัตนโมลี (พูน) ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔ ถึง–๒๔๐๘ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา (แหลมทราย) ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์มีการสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่แบบศิลปะไทยและจีน และสร้างศาลาการเปรียญ กุฏิเป็นคณะ หอไตรพระจอม ศาลาฤๅษี ก่อกำแพงแก้ว สร้างซุ้มประตูวัด ๔ ซุ้ม โดยออกแบบเป็นรูปทรงพระพิชัยมหามงกุฎ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงความจงรักภักดีและกตัญญูกตเวทีสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) กำลังก่อสร้างพระอุโบสถแห่งใหม่ในสมัยที่พระองค์เสด็จประพาสเมืองสงขลาใน พ.ศ. ๒๔๐๒ ถึง ๒๔๐๔ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวัดนี้ด้วยฯลฯ”
ศิลปวัตถุต่างภายในวัดคือ “ซุ้มประตูหน้าวัดได้สร้างใหม่เป็นซุ้มประตูฝรั่งผสมจีน, ซุ้มประตูเป็นรูปทรงมงกุฎที่กลางกำแพงวัดด้านละประตูรวม ๔ ประตู, บริเวณรอบ ๆ วัดทั้ง ๔ ทิศมีรูปปั้นยักษ์ (ท้าวจตุมหาราช) ตั้งอยู่บนกำแพงซึ่งยักษ์แต่ละตนจะมีชื่อแตกต่างกันไปตามคติความเชื่อ ซึ่งยักษ์แต่ละตนจะทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่มนุษย์โลกทั้งหลาย ประกอบด้วย ท้าววิรุฬหกเป็นจอมเทวดา หรือจอมกุมภัณฑ์ ผู้ปกครองกุมภัณฑเทวดาทั้งหมดอยู่ทิศใต้ ท้าวธตรฐ เป็นจอมภูต หรือจอมคนธรรพ์ ผู้ปกครองคันธัพพเทวดาทั้งหมด อยู่ทิศตะวันออก ท้าวกุเวรเป็นเจ้าแห่งยักษ์ทั้งปวงผู้ดูแลปกครองยักขะเทวดาทั้งหมด อยู่ทางทิศเหนือ ท้าววิรูปักษ์ เป็นจอมนาค เป็นผู้ปกครองนาคะเทวดาทั้งหมด อยู่ทิศตะวันตก วัดนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายโบสถ์วัดพรศรีรัตนศาสดาราม แต่ขนาดเล็กกว่า สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างหลวงในกรมช่างสิบหมู่ร่วมกับช่างประจำเมืองสงขลา ส่วนประดับของเครื่องบนหรือหลังคามีช่อฟ้า แต่ไม่มีนาคสะดุ้ง หน้าบันด้านหน้าเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร ด้านหลังเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ รอบโบสถ์มีเสารองรับชายคาโดยรอบ ระหว่างช่องเสาด้านนอกเป็นรูปจำหลักบนหินเรื่องสามก๊ก/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๐๔ - เมื่อวันวานนี้นำชมวัดมัชฌิมาวาสยังไม่หมด วันนี้มาชมกันต่อนะครับ กล่าวย้อนไปถึงเมืองสงขลาในอดีตว่า “เมืองสงขลาก็เป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นศูนย์กลางติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ จึงมีกลุ่มพ่อค้าจากต่างชาติที่มีความเลื่อมใสศรัทธาถวายปัจจัยหลากหลายเพื่อบำรุงวัดส่งผลให้วัดมัชฌิมาวาส มีสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานทั้งวัฒนธรรมไทย จีน และยูโรป สถาปัตยกรรมในวัดที่สำคัญ ๆ ได้แก่ พระอุโบสถ (ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๔), ศาลาการเปรียญ, หอไตร, กุฏิทรงเก๋งจีน, หอระฆัง, เสาธง, เจดีย์, ตุ๊กตาหินสลักแบบจีน, ศาลาฤๅษีดัดตน เป็นต้น
“วัดมัชฌิมาวาสได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ เกี่ยวกับการศึกษาหนังสือไทยนั้น สมัยเมื่อรัฐบาลยังไม่จัดการศึกษาประชาบาลเป็นทางการทั่วราชอาณาจักร การเรียนหนังสือไทยเรียกกันว่าหนังสือวัดพวกเด็กที่เข้าไปอยู่เป็นศิษย์ของพระภิกษุรูปใด พระภิกษุรูปนั้นก็สอนให้เป็นการส่วนตัวคือศิษย์ใครใครก็สอน วิธีนี้มีอยู่ทั่ว ๆ ไปในสมัยนั้น
ครั้นต่อมาพระภัทรธรรมธาดา (แจ้ง) จากวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ท่าน ได้เปิดสอนหนังสือไทยขึ้นที่โรงธรรม (ศาลาการเปรียญเก่า) โดยให้เด็กวัดทุกคน (อาจมีเด็กบ้านมาสมทบเรียนด้วย) มาเรียนรวมกันตามแผนการนโยบายการจัดการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นครั้งแรกที่การศึกษาแผนใหม่อุบัติขึ้น แต่ภายหลังโรงเรียนนี้ได้ย้ายไปทำการสอนที่ศาลชำระความ ริมจวนพระยาวิเชียรคีรี (ชม) แล้วก็กลายมาเป็นโรงเรียนมหาวชิราวุธในปัจจุบัน
สถาปัตยกรรมเด่นๆองวัดนี้ ได้แก่พระวิหาร พระเจดีย์แบบจีน เสาตะเกียบคู่ของเสาธง ใบเสมา ๘ ทิศ กําแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ศาลาฤาษี หอพระไตรปิฎก กุฏิแบบเก๋งจีน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส เป็นต้น พระอุโบสถที่ปรากฎในปัจจุบันนี้เป็นหลังใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๕ ในตระกูล ณ สงขลา เป็นผู้สร้างระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๐–๒๔๐๘ เป็นทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์โดยมีเสาหารรับหลังคาสามารถเดินได้รอบ ซึ่งเป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ โดยย่อส่วนและปรับปรุงจากแบบพระอุโบสถของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ
ส่วนประกอบของช่อฟ้ามีแต่ตัวลำยองไม่มีนาคสะดุ้ง เสารองพระอุโบสถเป็นสี่เหลี่ยมไม่มีย่อมุม หน้าบันพระอุโบสถภายนอกเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ ส่วนหน้าบันภายนอกด้านทิศตะวันตกเป็นปูนปั้น รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระอุโบสถหลังนี้ มีซุ้มหน้าต่างเป็นรูป มงกุฎอยู่ ๒ แถว ๆ ละ ๗ ซุ้ม และมีซุ้มประตูเป็นรูปทรงมงกุฎอยู่ด้าน ๆ ละ ๒ ซุ้ม
ที่หน้าบันภายในเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปราหูหน้าตรง ส่วนหน้าบันภายในเป็นปูนปั้น ด้านทิศตะวันออกเป็นรูปราหูหน้าตรง พระอุโบสถหลังนี้ไม่มีฝ้าเพดานเพราะต้องการแสดงขื่อไม้ ที่ผนังพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน มีจิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถหลังนี้เขียนเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ ภายนอกพระอุโบสถระหว่างช่วงเสาโดยรอบนั้นมีภาพจำหลักหินเป็นเรื่องราวฝีมือช่างจีน ที่หน้าซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก มีรูปจำหลักหินเป็นรูปขุนนางฝ่ายทหาร ๔ คน ในนิยายปรัมปราของจีนเรื่องลิซิบิ้น ดูได้รอบด้าน
ทางด้านหน้าซุ้มประตูเข้าพระอุโบสถ ด้านทิศตะวันตกมีรูปจำหลักหินเป็นรูปโลกบาลทั้ง ๔ แบบ ประดิษฐานเสมาศิลาทั้ง ๘ ทิศ โดยใบเสมาเหล่านี้ประดิษฐานอยู่บนฐานศิลาไม่มีซุ้มประกอบ ลักษณะเช่นนี้มักเรียกกันว่า “เสมานั่งแท่น” ทั้งนี้ใบเสมาขนาดเล็กเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของใบเสมาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้สังเกตได้ว่าลวดลายบนใบเสมาสลักฐานด้านล่างมีลักษณะคล้ายฐานสิงห์ที่รองรับบัวคลุ่มอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งฐานชุดดังกล่าวดูผิดสัดส่วนที่นิยมตามระเบียบไทยประเพณี แสดงให้เห็นว่าช่างจีนมิค่อยเข้าใจนัก อีกทั้งลักษณะเนื้อหินที่มีสีออกเทาอมเขียวมีจุดสีดำทั่วเนื้อหินชวนให้นึกถึงศิลาที่ใช้ในเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง ดังนั้นพอสันนิษฐานได้ว่าเสมาพร้อมฐานดังกล่าวอาจสั่งให้แกะสลักจากเมืองจีนและส่งเข้ามา
พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนปางสมาธิราบ หน้าตักกว้าง ๕๕ ซม. ประดิษฐานในบุษบก มีพุทธลักษณะแบบไทยผสมจีนเป็นพระประติมากรรมหินอ่อนขาว (alabaster) ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ ตามประวัติกล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่สั่งให้สร้างขึ้นโดยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ปั้นแบบโดยช่างไทยแล้วส่งไปแกะสลักที่ประเทศจีน สำหรับเม็ดพระศก และเกตุมาลาทำจากทองคำครอบลงบนพระเศียรอีกทอดหนึ่ง น่าสังเกตว่าส่วนครอบพระเศียรไม่มีการทำอุษณีษะ(เกศเปลวเพลิง ?) ซึ่งชวนให้นึกถึงความนิยมสัจนิยมที่ริเริ่มโดยรัชกาลที่ ๔ พระองค์ท่านให้ตัดการทำอุษณีษะแก่พระพุทธรูปเนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นลักษณะที่ไม่มีอยู่จริง
ภายในพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรม ตอนบนเป็นภาพคนธรรพ์ ถัดลงมาเป็นเทพชุมชน ผนังด้านทิศเหนือใต้ตอนกลางเป็นเรืื่องปฐมสมโพธิ ด้านทิศเหนือตอนล่างว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดก ด้านทิศใต้เป็นเรื่องทศชาติ ส่วนผนังทางทิศตะวันตกเป็นเรื่องพระแม่ธรณีบีบมวยผม เพื่อให้น้ำท่วมบรรดาพญามาร (มารวิชัย) ส่วนทางด้านทิศตะวันออกหลังพระประธานเป็นตอนที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่า เป็นเสมือนหนึ่งเข้าไปอยู่อดีตกาล ภาพที่สะท้อนเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งคติธรรมความเป็นอยู่ ตลอดถึงวิถีชีวิตและพฤติกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มคนไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย เครื่องมือเครื่องใช้ ความเชื่อ ประเพณีหรือการละเล่นต่าง ๆ”
สถาปัตยกรรมที่ประกอบด้วย จิตรกรรมและประติมากรรมของวัดกลาง มัชฌิมาวาส นี้เป็นแบบผสมผสานที่น่าดูน่าชมมาก ข้าพเจ้าดูเพลิดเพลินเจริญใจมาจนถึงตรงนี้แล้วยังไม่จบสิ้น ขอยกยอดไปชมกันต่อในวันพรุ่งนี้ดีกว่านะครับ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๐๕ - วันนี้จะพาชมภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาสเป็นลำดับไป โดยขอเริ่มต้นที่ภาพมหาชนกชาดกก่อน ภาพนี้ท่านผู้รู้ได้ให้คำธธิบายไว้ดังต่อไปนี้
“ภาพชาดกในเรื่องมหาชนกชาดกมีการเขียนภาพโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง กั้นแต่ละฉากไว้ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวนิยมตั้งแต่สมัยรักาลที่ ๓ เป็นต้นมา อีกทั้งช่างพยายามเขียนภาพอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างหลายหลังให้มีมิติมากขึ้นโดยใช้การลากเส้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นที่นิยมตั้งแต่รัชกาลดังกล่าวลงมาเช่นกัน โดยเกี่ยวข้องกับการเขียนภาพแบบเน้นสัจนิยมแบบตะวันตก การเขียนภาพทะเลและแม่น้ำมิได้เขียนเป็นลายเกล็ดปลาตัดเส้นดังแต่ก่อน หากแต่เขียนให้เห็นภาพคลื่นน้ำแบบสมจริง ลักษณะเช่นนี้เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่กลางห้องภาพมีอักษรจารึกว่า “ห้องนี้เมื่อราชาภิเศกพระมหาชนกกับพระสิมพลี” ทำให้ทราบว่าห้องภาพดังกล่าวเขียนเรื่องราวของมหาชนกชาดกซึ่งเป็นหนึ่งในทศชาติชาดก
ตามคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาบันทึกถึงเรื่องดังกล่าวว่า กษัตริย์กรุงมิถิลามีพระราชโอรส ๒ พระองค์นามว่าพระอริฏฐชนกและโปลชนก เมื่อกษัตริย์กรุงมิถิลาสวรรคตพระอริฏฐชนกได้ขึ้นครองราชย์ ต่อต่อมาโปลชนกสามารถยึดราชสมบัติจากอริฏฐชนกได้ ครานั้นพระเทวีของพระอริฏฐชนกหลบหนีรอดไปได้ ต่อมาได้มีประสูติกาล และตั้งพระนามพระโอรสว่า “พระมหาชนก” เมื่อพระมหาชนกเติบใหญ่และทราบความจริงจึงคิดไปค้าขายยังสุวรรณภูมิหาทรัพย์ตั้งตัวเพื่อกอบกู้ราชสมบัติระหว่างเดินทางด้วยเรือสำเภา เรือต้องพายุล่มลง พระองค์อดทนว่ายน้ำกลางมหาสมุทรจนในท้ายสุดนางมณเมขลาเห็นใจ จึงช่วยพระองค์ โดยการอุ้มพระองค์ไปส่งที่มิถิลา ซึ่งในขณะนั้นพระโปลชนกได้สวรรคตแล้ว เหลือแต่พระราชธิดานามว่า “สีวลีเทวี” (สิมพลีตามจารึกบนจิตรกรรม) ก่อนพระโปลชนกสวรรคตได้ตั้งปริศนาเรื่องขุมทรัพย์ไว้ หากใครแก้ไขได้ จะได้ขึ้นครองราชย์ต่อไป ซึ่งในท้ายที่สุดพระมหาชนกสามารถแก้ไขได้ทั้งหมด อำมาตย์จึงพร้อมใจเชิญพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ และอภิเษกกับสีวลีเทวี”
ชาดกเรื่องพระมหาชนกมีความพิสดารอย่างไร ใครอยากรู้ลึกกว่านี้ขอให้ไปอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระราชนิพนธ์ไว้เถิด เลื่อนจากภาพพระมหาชนกเลยไปชมภาพเนมิยราชชาดกอีกเรื่องหนี่ง ผู้รู้ท่านให้คำอธิบายไว้ดังนี้....
“ภาพชาดกในเรื่อง เนมียราชชาดก เขียนภาพเป็นโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง กั้นแต่ละฉากไว้เชนเดียวกับภาพมหาชนกชาดก ภาพแสดงฉากสวรรค์มีการเขียนภาพก้อนเมฆคล้ายแบบจีนแทรกอยู่ ซึ่งอิทธิพลจีนปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องในศิลปะไทย ที่ด้านล่างของห้องภาพนี้มีจารึกเขียนว่า “ห้วงภาพนี้พระมาตลีสารถีภาพระเนมิยะไปดูนรก” จึงทำให้ทราบว่าฉากต่าง ๆ ในห้องภาพนี้มาจากเนมียราชชาดก โดยเป็นพระชาติที่พระพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมียราช (เนมิยะ) ด้วยบุญกุศลที่พระองค์ได้บำเพ็ญมาอย่างต่อเนื่องทำให้พระอินทร์ได้ส่งราชรถพร้อมพระมาตุลี (มาตลี)ซึ่งเป็นสารถี มาเชิญพระองค์เสด็จไปยังเทวโลก แต่ก่อนเสด็จไปยังพระเทวโลกนั้น พระองค์ได้ตรัสกับมาตุลีว่าอยากทอดพระเนตรนรก พระมาตุลีจึงพาพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรนรก หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังเทวโลก ทั้งนี้ช่างได้แบ่งห้องภาพออกเป็นสองส่วนคือ ด้านบน และด้านล่าง โดยด้านบนเป็นฉากสวรรค์หรือเทวโลกแสดงด้วยภาพวิมาน และเทวดาบนก้อนเมฆ ส่วนด้านล่างคือ ฉากนรกซึ่งแสดงออกมาในรูปการทรมานผู้ประพฤติชั่วในรูปแบบต่างๆ ใน ฉากนรกปรากฏราชรถโดยมีพระเนมียราชประทับอยู่พร้อมกับมาตุลีสารถี”
ภาพนี้เพื่อให้ผู้พบเห็นเกิดความเกรงกลัวบาปที่จะนำพาไปสู่นรก ยินดีในการทำบุญด้วยการให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาอันจะนำพาไปสู่สรวงสวรรค์ เลยจากภาพเนมิยราชชาดก ไปถึงภาพพระเวสสันดรชาดกอันเป็นชาติสุดท้ายในการบำเพ็ญบารมีเพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ภาพห้องนี้ท่านผู้รู้ให้คำอธิบายไว้ว่าดังนี้
“ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถว่าด้วยเรื่องพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์สักกบรรพ และกัณฑ์มหาราช โดยเลือกฉากสำคัญเฉพาะบางฉาก มีการเขียนภาพโขดหิน ต้นไม้ กำแพงเมือง กั้นแต่ละฉากไว้ เช่นเดียวกับภาพก่อนๆ อีกทั้งเห็นได้ชัดว่าช่างพยายามเขียนภาพอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างหลายหลังให้มีมิติมากขึ้นโดยใช้การลากเส้น นอกจากนี้น่าสังเกตว่า ช่างเลือกใช้การปิดทองกับตัวละครเอกที่เป็นกษัตริย์ ชนชั้นสูง ซึ่งแสดงถึงการสืบทอดงานจิตรกรรมไทยประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ด้านล่างของห้องภาพมีการเขียนกำกับไว้ว่า “ห้วงนี้ข้างบนกันสักบัพ ใต้กันมหาราช” ซึ่งหมายถึงกัณฑ์สักกบรรพและกัณฑ์มหาราชในพระเวสสันดรชาดกรนั่นเอง
ด้านบนของห้องภาพซึ่งเขียนเล่าเรื่องกัณฑ์สักกบรรพนั้น ด้านซ้ายเป็นภาพพระเวสสันดรประทับในอาศรมพร้อมกับพระนางมัทรีประทับอยู่ทางด้านขวาของพระองค์ ด้านหน้าเรือนเขียนเป็นภาพพราหมณ์ชราซึ่งตามเนื้อเรื่องคือพระอินทร์ที่แปลงร่างมา ทูลขอพระนางมัทรีจากพระเวสสันดร ด้วยพระอินทร์ทรงเกรงว่าหากมีผู้ขอพระนางมัทรีไปพระเวสสันดรไม่มีผู้ปรนนิบัติ อาจเป็นอันตรายต่อพระโพธิญาณของพระองค์เมื่อพระเวสสันดรประทานให้แล้ว พราหมณ์ชรา (พระอินทร์) คืนพระนางมัทรีแก่พระเวสสันดร และห้ามไม่ให้ประทานนางแก่ผู้ใดอีก ด้านขวาบนของภาพประกอบด้วยพระเวสสันดร และพระนางมัทรีประทับนั่ง พนมมือเพื่อรับพรจากพระอินทร์ ๘ ประการ ก่อนพระอินทร์จะเสด็จกลับสู่สวรรค์ ด้านล่างซึ่งเขียนภาพเล่าเรื่องกัณฑ์มหาราชนั้นที่ด้านซ้ายปรากฏภาพชูชกกำลังพา ๒ กุมารกลับเมืองระหว่างเดินทางได้หลงเข้าไปในเมืองของพระเจ้าสญชัย ฉากพระเจ้าสญชัยทอดพระเนตรเห็น ๒ กุมารก็จำได้และได้ขอไถ่ตัวจากชูชกส่วนกลางภาพนั้นเป็นภาพขบวนทหารที่จะเดินทางไปรับพระเวสสันดร และพระนางมัทรีกลับพระราชวัง”
ชมภาพจิตรกรรมเรื่องมหาชนกชาดก เนมิยราชชาดก เวสสันดรชาดก เพียง ๓ ห้องก็อิ่มใจแล้ว พรุ่งยังมีสิ่งให้ชมกันอีก ติดตามไปชมกันนะครับ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๐๖ - จะพาชมวัดมัชฌิมาวาสที่ยังไม่ได้ชมและควรชมกันต่อไป เช่น “ภาพจิตรกรรมงานออกพระเมรุพระบรมศพพระพุทธเจ้า,ซุ้มประตูและหน้าต่างปูนปั้นประดับกระจก ประดับรูปวานรแบกทวารบาล ซุ้มประตูมีตุ๊กตาหินจีนตั้งประดับ” อันงดงามเกินคำบรรยาย และ พระอุโบสถของวัดที่ประดิษฐานประติมากรรมรูปบุคคลขนาบประตูทางเข้าทุกประตู”
“ประติมากรรมรูปบุคคลนี้แต่งกายชุดเกราะทหารจีนใบหน้าถมึงทึง มิใช่แสดงถึงภาพบุคคลธรรมดาทั่วไป หากแต่หมายถึงเทวดา เนื่องจากปรากฏริบบิ้นคล้องแขนทั้งสองข้างและริบบิ้นเหมือนต้องลมปลิวขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า ประติมากรรมองค์นี้น่าจะหมายถึงท้าววิรูปักษ์ซึ่งเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาล ประติมากรรมแกะสลักจากศิลากลุ่มนี้คงเป็นของนำเข้าจากจีน สังเกตได้จากการแกะสลักเครื่องทรงแบบจีนและใบหน้าที่ดูได้สัดส่วน แสดงให้เห็นว่าช่างชำนาญเป็นอย่างดี ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา สวรรค์ที่มีนามว่าจตุมหาราชิกา เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ โดยเป็นเทพผู้ปกป้องทิศทั้งสี่ แต่ละองค์มีลักษณะแตกต่างกัน สำหรับทิศตะวันตก ผู้ดูแลคือเทพวิรูปักษ์โดยมีสัญลักษณ์สำคัญคืองู
ที่เสาประตูกำแพงแก้วพระอุโบสถมีจารึกภาษาจีน เป็นจารึกที่สลักลงบนเสาหินแกรนิตที่ทำเป็นเสาประตูกำแพงแก้ว แต่ละเสามีขนาดด้านสูง ๑๗๕ เซนติเมตร กว้าง ๒๘ เซนติเมตร หนา ๖๓ เซนติเมตร มีสี่ประตู รวมแปดเสาแต่ละเสาจารึกด้วยอักษรจีนเป็นภาษาจีนเก้าคำ รวมแปดเสาเป็นคำโคลงหนึ่งบาท แปลเป็นภาษาไทยตามประตูตั้งแต่ประตูด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ถึงประตูด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ทวนเข็มนาฬิกาได้ความว่าดังนี้ ...
..."เจ้าพระยาผู้เป็นใหญ่แห่งตระกูลวู (ตระกูล ณ สงขลา) หมั่นบำเพ็ญพระคุณธรรมมุ่งจรรโลงสิ่งที่คู่ควรแก่ความเป็นมนุษย์ด้วยศรัทธา เพื่อเกียรติคุณปรากฏสืบไปภาคหน้า (เจ้าพระยา) ปฏิบัติทางที่ชอบอย่างองอาจ วางตนในทางที่ชอบ ไม่มุสาผู้อื่น ดำริ (สิ่งใด) ไม่ต้องละอายต่อฟ้า ครองตนอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาทางอย่างเคร่งครัด เมืองสงขลามีเชิงเทินเกินกว่าร้อยเชิงเทิน เป็นเมืองที่แข็งแรงมั่นคงเมืองหนึ่งแห่งภูมิภาคนี้ กำเหน็จของเจ้าเมืองสูงกว่าหมื่นเจื่อง (มาตราของจีน) เกียรติคุณกำจายทั่วทิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมา ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ (วัด) นี้พระบรมโพธิสมภารที่ทรงแผ่คือเมตตา การเสด็จมาประทับ ณ เมืองสงขลา พระมหากรุณาธิคุณที่แผ่กว้างประหนึ่งน้ำฟ้าประโลมดิน"....
ได้ความชัดแล้วว่า ตระกูล ณ สงขลา เป็นคนเชื้อชาติจีนสายตระกูล(แซ่) “วู” ตระกูลนี้สร้างความเจริญให้แก่สงขลาและเมืองไทยไม่น้อยเลย โดยเฉพาะวัดกลางมัชฌิมาวาสนื้ถือได้ว่าเป็นวัดของตระกูลวูเลยทีเดียว ชมผลงานของตระกูลวู ( สงขลา) กันต่อไปครับ
“พระวิหารวัดมัชฌิมาวาสเป็นตึกก่ออิฐถือปูนแต่ภายหลังได้มีการติดตั้งประตู-หน้าต่างเพิ่มเติมเข้าไปตรงช่องเปิด เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) สร้างทับที่เดิมซึ่งเคยเป็นพระอุโบสถตั้งอยู่ในแนวกำแพงแก้วหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในเป็นโถง หน้าบันเป็นไม้จำหลักลวดลายที่สวยงาม ทางด้านตะวันตกเป็นรูปปัญจวัคคีย์ ด้านตะวันออกสืบไม่ได้ว่าเป็นรูปอะไร ฐานรอบระเบียงทำเป็นฐานปัทม์หรือชุดบัวคว่ำบัวหงาย พนักระเบียงประดับด้วยกระเบื้องปรุ แบบจีน ตัวอาคารมีบันไดทางขึ้นทั้ง ๔ ด้าน ตรงแนวเสาพาไลก่อเป็นวงโค้งเพื่อรับหลังคาปีกนกรอบอาคาร หลังคาเป็นผืนเดียวมีปีกนกรอบ ตรงหน้าบันก่ออิฐทึบ ไม่มีไขลาหน้าจั่วและไม่ประดับเครื่องลำยอง หน้าพระวิหารในกำแพงแก้วมีสิงโตหิน ๑ คู่ ซึ่งเจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างบูรณะปฏิสังขรณ์ พ.ศ. ๒๔๒๘ และบูรณะครั้งหลัง พ.ศ. ๒๔๗๒–๒๔๗๗
ศาลาการเปรียญเป็นตึกก่ออิฐถือปูนเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ มีหน้าบัน ๒ ด้านเป็นไม้แกะสลักสวยงามมาก ด้านตะวันออกแกะสลักเรื่องพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จเยี่ยมพระนางพิมพาประสูติพระราชโอรสก่อนผนวช ด้านตะวันตกแกะสลักเรื่องพุทธประวัติตอนเสด็จออกผนวช บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ เสร็จเมื่อ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นตึกคอนกรีต หลังคาทรงจั่ว หน้าบันก่ออิฐถือปูน มีลายปูนปั้น ๒ ด้าน ด้านตะวันออกจำหลักเรื่องพุทธประวัติตอนตรัสรู้ด้านตะวันตกจำหลักเรื่องพระพุทธประวัติตอนเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมวัตถุโบราณซึ่งรวบรวมมาจากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด เป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา
พระเจดีย์แบบจีนหรือถะ เป็นพระเจดีย์แบบศิลปะจีน ๑ องค์ ๗ ชั้น ย่อมุม ๖ เหลี่ยมทำด้วยหินแกรนิต เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ ๒ เป็นผู้สร้าง มีอักษรทั้งภาษาไทยและจีนจารึกไว้ที่พระเจดีย์บอกถึงผู้สร้าง เวลาสร้าง (จุลศักราช ๑๑๖๐ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๑) ตรงกับปีที่ ๑๗ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ความในภาษาไทย) และความในภาษาจีนว่า "สร้างในรัชกาลพระเจ้าเกียเข่ง (จาชิ่ง) ปีที่ ๔ (ค.ศ. ๑๗๙๙ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๒)..........
เสาตะเกียบคู่ของเสาธงก่อสร้างด้วยหินอยู่ใกล้หอระฆังในวัดมีอยู่ ๒ แห่ง คือหน้าพระวิหารและหน้าพระอุโบสถ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมเสาจำหลักลวดลายศิลปะจีนสวยงาม ฐานล่างจำหลักเป็นรูปสัตว์คู่ทั้ง ๔ ด้าน ฐานบนล่างจำหลักเป็นลายนกและเมฆ มีคำจารึกภาษาจีนความว่า “สร้างในรัชกาลพระเจ้าเกียเข่ง (จาชิ่ง) ปีที่ ๗ (ปี ค.ศ. ๑๘๐๒, ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๕) เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย ณ สงขลา) เป็นผู้สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๓๔๕”
ยังไม่หมดครับ พักสายตาไว้แค่นี้ก่อน พรุ่งนี้มาชมกันต่อ ก็แล้วกัน/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๐๗ - วันนี้มาชมวัดมัชฌิมาวาส ที่ยังไม่ได้นำชมต่อไปนะครับ ที่จะพาไปชมวันนี้เริ่มที่ ศาลาฤๅษี หรือศาลาฤๅษีดัดตน มีคำบรรยายจากท่านผู้รู้ไว้ดังต่อไปนี้...
“ศาลาฤๅษีหรือศาลาฤๅษีดัดตนเป็นศาลาทรงไทยที่สวยงามมากลักษณะศาลาจะเป็นแบบโถงทรงไทย มีสัดส่วนถูกต้องทรวดทรงหลังคาอ่อนช้อย เปิดโล่งก่อด้วยอิฐเผาสอปูนแต่ไม่โบกปูนปิดทับพื้นผิว มีช่วงเสาแบบซุ้มโค้งรอบอาคาร มีลักษณะคล้ายกันกับศาลาฤๅษีที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ สร้างสมัยพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์ ณ สงขลา) ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๐–๒๔๐๘ พร้อมกับหอระฆัง หน้าบันเป็นรูปปั้นเรื่องพุทธประวัติ ด้านตะวันออกเป็นภาพตอนพระสิทธัตถะทรงลอยถาด ด้านตะวันตกเป็นภาพนางสุชาดาถวายมธุปายาส ภายในศาลาฤๅษีที่หน้าบันทั้ง ๒ ด้านจารึกเรื่องตำรายา และจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปฤๅษีดัดตนจำนวน ๔๐ ตน แต่ละตนมีคำโคลงบรรยายประกอบรูปเขียนเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖
ที่ฝาผนังศาลาฤๅษีดัดตนมีจิตรกรรมที่เขียนตำราแพทย์แผนโบราณ และภาพฤๅษีดัดตน รวม ๔๐ ท่า แต่ละท่ามีจารึกเป็นคำโคลงสี่สุภาพอธิบาย คำโคลงเหล่านี้เลือกคัดลอกมาจากเรื่องโคลงภาพฤๅษีดัดตนที่จารึกไว้บนผนังศาลารายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ ด้านในหน้าบันของศาลาทั้งสองข้างเขียนภาพเครื่องยาไทย ตอนล่างเขียนบรรยายตัวยา สรรพคุณและวิธีใช้ และมีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่นบนผนัง มีรองพื้นเป็นภาพฤๅษีดัดตนตามตำราแพทย์แผนโบราณ บางตอนเหมือนกับภาพฤๅษีดัดตนที่พระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) แต่มีการเรียกชื่อตามภาษาท้องถิ่น ที่หน้าบันด้านในทั้งสองข้างเขียนภาพเครื่องยาไทย และโต๊ะหมู่บูชาของจีน ตอนล่างเขียนตัวอักษรบรรยายตัวยา และสรรพคุณตลอดจนวิธีใช้ยาเหล่านั้น ที่ผนังด้านข้างมีภาพฤๅษีดัดตนข้างละ ๒๐ ท่า รวม ๔๐ ท่า แต่ละท่ามีโคลงสี่สุภาพอธิบายประกอบอยู่ใต้ภาพ
หอพระไตรปิฎกหรือหอพระจอมไตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ เป็นตึกก่ออิฐปูนฐานสูงหลังคาจั่วประดับช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นตัวอย่างในการสร้างพระอุโบสถใหม่เนื่องจากฐานพระอุโบสถทำต่ำและอยู่ในที่ลุ่ม ส่วนฐานพระวิหารและศาลาการเปรียญทำสูง ที่หน้าบันของหอพระไตรปิฎกทางด้านหน้า (ทิศตะวันตก) ประดับประติมากรรมลวดลายปูนปั้น มีรูปตราจันทรมณฑล ส่วนด้านหลัง (ทิศตะวันออก) มีรูปตราสุริยะมณฑล ด้านละตรา
การเที่ยวชมวัดกลาง “มัชฌิมาวาส” พระอารามหลวงเมืองสงขลาสิ้นสุดลงตรงนี้ ต่อไปจะพาไปเที่ยวชมอะไรในเมืองสงขลาอีกบ้าง ค่อยว่ากันนะครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๐๘ - การลงอุโบสถ เป็นภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในวงการพระภิกษุ คำนี้หมายถึงการที่พระภิกษุประชุมกันในเขตสีมา (คือโรงอุโบสถ) เพื่อฟังการสวดพระปาฏิโมกข์ทุกวันพระกึ่งเดือน (คือวันกลางเดือนและวันสิ้นเดือน) พระปาฏิโมกข์กับพระโอวาทปาติโมกข์แตกต่างกัน กล่าวคือพระโอวาทปาติโมกข์นั้น ได้แก่พระพุทธวจนะที่ทรงแสดงในวันมาฆปุรณมี เป็นคำสอนทื่อกันว่าเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ส่วนพระปาฏิโมกข์ได้แก่พระวินัยที่พระพุทธองค์บัญญัติห้ามมิให้ภิกษุกระทำ เช่น เสพเมถุน ๑ ลักทรัพย์ ๑ ฆ่ามนุษย์ ๑ พูดอวดอุตริมนุสธรรม ๑ เป็นต้น ข้อห้ามเหล่านี้เรียกว่าสิกขาบทเก็บรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ ได้แก่ปาราชิกสังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ทุกกฎ ทุพพาสิต.....รวมไว้เป็นพระปาฏิโมกข์ได้ ๒๒๗ สิกขาบท ซึ่งเรียกกันว่าคือ “ศีลพระ” เป็นธรรมเนียมให้พระประชุมกันในอุโบสถเพื่อฟังการสวดพระวินัยอันเป็นพุทธบัญญัติในพระปาฏิโมกข์นี้ทุกวันพระกึ่งเดือน คำสวดนั้นสวดเป็นภาษาบาลี มีคำสวดเริ่มต้นคำหรือคำประกาศว่าดังนี้
“สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ , อัชชุโปสะโถ ปัณณะระโส , ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง ,สังโฆ อุโปสะถัง กะเรยยะ , ปาฏิโมกขัง อุททิเสยยะ.กิง สังฆัสสะ ปุพพะกิจจัง , ปาริสุทธิง อายัส๎มันโต อาโรเจถะ , ปาฏิโมกขัง อุททิสิสสามิ.ตัง สัพเพวะ สันตา สาธุกัง สุโณมะ มะนะสิกะโรมะ. ยัสสะ สิยา อาปัตติ , โส อาวิกะเรยยะ ,อะสันติยา อาปัตติยา ตุณ๎หี ภะวิตัพพัง. ตุณ๎หี ภาเวนะ โข ปะนายัส๎มันเต ปะริสุทธาติเวทิสสามิ. ยะถา โข ปะนะ ปัจเจกะปุฏฐัสสะ เวยยากะระณัง โหติ , เอวะเมวัง เอวะ รูปายะปะริสายะ ยาวะตะติยัง อะนุสสาวิตัง โหติ. โย ปะนะ ภิกขุ ยาวะตะติยัง อะนุสสาวิยะมาเนสะระมาโน สันติง อาปัตติง นาวิกะเรยยะ ,สัมปะชานะมุสาวาทัสสะ โหติ , สัมปะชานะ มุสาวาโท โข ปะนายัส๎มันโต อันตะรายิโก ธัมโม วุตโต ภะคะวะตา , ตัส๎มา สะระมาเนนะภิกขุนา อาปันเนนะ วิสุทธา เปกเขนะ สันตี อาปัตติ อาวิกาตัพพา. อาวิกะตา หิสสะ ผาสุ โหติ.”
จบคำนำหรือคำปรารภแล้วก็จะต่อด้วยข้อวินัยที่เป็นพุทธบัญญัติ คือปาราชิก ๔ สิกขาบท จะขอยกมาให้เห็นรูปคำสวดดังนี้.....
๑. โย ปะนะ ภิกขุ ภิกขูนัง สิกขาสาชีวะสะมาปันโน สิกขัง อัปปัจจักขายะ ทุพพัล๎ยัง อะนาวิกัต๎วา เมถุนัง ธัมมัง ปะฏิเสเวยยะ อันตะมะโส ติรัจฉานะคะตายะปิ , ปาราชิโก โหติ อะสังวาโส.
๒. โย ปะนะ ภิกขุ คามา วา อะรัญญา วา อะทินนัง เถยยะสังขาตัง อาทิเยยยะ , ยะถารูเป อะทินนาทาเน ราชาโน โจรัง คะเหต๎วา หะเนยยุง วา พันเธยยุง วา ปัพพาเชยยุง วา " โจโรสิ พาโลสิ มุฬ๎โหสิ เถโนสีติ,” ตะถารูปัง ภิกขุ อะทินนัง อาทิยะมาโน , อะยัมปิ ปาราชิโก โหติ อะสังวาโส.
๓. โย ปะนะ ภิกขุ สัญจิจจะ มะนุสสะวิคคะหัง ชีวิตา โวโรเปยยะ , สัตถะหาระกัง วาสสะ ปะริเยเสยยะ , มะระณะ วัณณัง วา สังวัณเณยยะ , มะระณายะ วา สะมาทะเปยยะ “ " อัมโภ ปุริสะ กิง ตุยหิมินา ปาปะเกนะ ทุชชีวิเตนะ , มะตันเต ชีวิตา เสยโยติ , ” อิติ จิตตะมะโน จิตตะสังกัปโป อะเนกะปะริยาเยนะ มะระณะวัณณัง วา สังวัณเณยยะ , มะระณายะ วา สะมาทะเปยยะ , อะยัมปิ ปาราชิโก โหติ อะสังวาโส.
๔. โย ปะนะ ภิกขุ อะนะภิชานัง อุตตะริมะนุสสะธัมมัง อัตตูปะนายิกัง อะละมะริยะญาณะทัสสะนัง สะมุทาจะเรยยะ " อิติ ชานามิ , อิติ ปัสสามีติ , ตะโต อะปะเรนะ สะมะเยนะ สะมะนุคคาหิยะมาโน วา อะสะมะนุคคาหิยะมาโน วา อาปันโน วิสุทธาเปกโข เอวัง วะเทยยะ อะชานะเมวัง อาวุโส อะวะจัง ชานามิ" อะปัสสัง "ปัสสามิ " ตุจฉัง มุสา วิละปินติ , อัญญัต๎ระ อะธิมานา , อะยัมปิ ปาราชิโก โหติ อะสังวาโส.
อุททิฏฐา โข อายัส๎มันโต จัตตาโร ปาราชิกา ธัมมา , เยสัง ภิกขุ อัญญะตะรัง วา อัญญะตะรัง วา อาปัชชิต๎วา นะ ละภะติ ภิกขูหิ สัทธิง สังวาสัง , ยะถา ปุเร , ตะถา ปัจฉา , ปาราชิโก โหติ อะสังวาโส.
ตัตถายัส๎มันเต ปุจฉามิ. กัจจิตถะ ปะริสุทธา ? ทุติยัมปิ ปุจฉามิ. กัจจิตถะ ปะริสุทธา ? ตะติยัมปิ ปุจฉามิ. กัจจิตถะ ปะริสุทธา ? ปะริสุทเธตถายัส๎มันโต , ตัส๎มา ตุณ๎หี , เอวะเมตัง ธาระยามิ.”
คัดลอกคำสวดพระปาฏิโมกข์คำบาลีมาให้อ่านพอเป็นตัวอย่างเท่านี้นะครับ พระผู้ทำหน้าที่สวดพระปาฏิโมกข์บางองค์ท่านลิ้นอ่อนขากรรไกรดี สวดคล่องว่องไวมาก ท่านสามารถสวดจบภายในเวลา ๓๐ นาที บ้างออกลิ้นแข็งขากรรไกรไม่คล่องสวดยานคางกว่าจะจบก็ใช้เวลานานเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว พระผู้ฟังนั่งพับเพียบพนมมือจนปวดเมื่อยไปหมด บางองค์สวดเร็วก็จริงแต่ไม่ชัดถ้อยชัดคำ บางองค์สวดทั้งเร็วทั้งชัดถ้อยชัดคำน่าฟังมาก การสวดพระปาฏิโมกข์นี้ภาษาชาววัดเราเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ปั่นปาฏิโมกข์” ที่เรียกคำนี้ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า น่าจะหมายถึงการสวดด้วยถ้อยคำเร็ว ๆ น่ะแหละ
วันโกนแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๘ นั้น ขณะนั่งล้อมวงฉันอาหารเช้ากันอยู่นั้น ท่านเจ้าอาวาสวัดชัยมงคลถามข้าพเจ้าว่า
“คุณอภินันท์สวดพระปาฏิโมกข์ได้ไหม ?”
ข้าพเจ้านั่งอึ้งคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบว่า
“ผมท่องได้ตั้งแต่เป็นเณรเรียน น.ธ.โท ตอนนั้นมีพระองค์หนึ่งพิการทางสายตาอ่านหนังสือไม่เห็น ท่านให้ผมช่วยต่อคำสวดพระปาฏิโมกข์วันละอย่างน้อยหนึ่งวรรค บางวันท่านท่องได้ถึง ๑๐ วรรค ผมก็ท่องไปพร้อมกับท่านพอท่านท่องจบผมก็จบไปด้วย ตั้งแต่บวชเป็นพระนี่ผมยังไม่เคยสวดพระปาฏิโมกข์ ได้แต่ฟังผู้อื่นสวด เพราะพระสวดพระปาฏิโมกข์ในภาคกลางมีมาก จนผมไม่มีโอกาสได้สวดกับเขาครับ”
“ถ้าจะให้สวดพรุ่งนี้จะได้ไหม บังเอิญพระขันธ์ที่สวดประจำเกิดป่วยเป็นไข้หวัด ไม่กล้าฝืนใจให้ท่านสวด ถ้าคุณอภินันท์สวดได้ก็จะดี”
ข้าพเจ้ารับปากว่าจะสวดแทนพระขันธ์ แต่ขอยืมคัมภีร์พระปาฏิโมกข์ไปท่องทบทวนสักวันหนึ่งก็น่าจะสวดได้ ท่านเจ้าอาวาสก็ตกลงตามที่ข้าพเจ้ารับปาก วันและคืนนั้นข้าพเจ้าอ่านคัมภีร์พระปาฏิโมกข์ ทบทวนความจำจบไป ๕ เที่ยว รุ่งเช้าลงศาลาทำบุญก็นำคัมภีร์ไปคืนท่านเจ้าอาวาส บอกท่านว่ามั่นใจว่าจะต้องสวดได้แน่นอน
บ่ายโมงวันนั้นหลังจากเคาะระฆังสัญญาณลงโบสถ์เพื่อฟังสวดพระปาฏิโมกข์ พระภิกษุในวัดก็ร่วมประชุมพร้อมกัน ก่อนฟังสวดพระปาฏิโมกข์ พระทุกองค์ก็แสดงอาบัติ (ปลงอาบัติ) กันตามธรรมเนียม โดยข้าพเจ้าขอปลงกับท่านเจ้าอาวาสผู้มีอาวุโสสูงสุด คำแสดงอาบัติว่าเป็นภาษาบาลีดังนี้ “(พรรษาอ่อนว่า) สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ ( ว่า ๓ หน) สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ ( ว่า ๓ หน) อะหัง ภันเต สัมพะหุลา นานาวัตถุกาโย อาปัตติโย อาปัชชิง ตา ตุม๎หะ มูเล ปะฏิเทเสมิ” นี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งครับ
จากนั้นข้าพเจ้าเข้านั่งในที่สวดพระปาฏิโมกข์เรียบร้อยแล้วเริ่มสวด เป็นครั้งแรกในชีวิตรู้สึกตื่นเต้นใจสั่นนิด ๆ เหมือนขึ้นเทศน์ครั้งแรกเลยเชียว พอว่านะโมจบ ใจหายสั่น เริ่มสวดคำปรารภว่า “สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ.......” ลากเสียงช้า ๆ ก่อนแล้วเริ่มว่าเสียงกระชั้นขึ้นอันเป็นลีลาที่ข้าพเจ้าคิดว่าการสวดควรจะเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าใช้โทนเสียงระดับกลาง ไม่ทุ้มไม่แหลม เน้นความดังฟังชัดเป็นสำคัญ จบคำประกาศแล้วเข้าสู่พระวินัยบัญญัติตั้งแต่ปาราชิก ๔ สิกขาบทต่อไป “โย ปะนะ ภิกขุ ภิกขูนัง สิกขาสาชีวะสะมาปันโน....” ขณะสวดก็ส่งสายตาตรวจดูอากัปกิริยาพระผู้ฟังไปด้วย ครั้นสวดไปถึงสิกขาบทที่ ๔ อันว่าด้วยการห้ามพูดอวดอุตริมนุสสธรรมถึงตรงความว่า “สะมะนุคคาหิยะมาโน วา อะสะมะนุคคาหิยะมาโน วา” ก็เกิดอาการสะดุด เพราะนึกถึงเมื่อวันลงอุโบสถ์คราวก่อน พระขันธ์สวดล่มตรงนี้เพราะตาไปมองเห็นตะกวด (แลน) นอนอยู่บนขื่อโบสถ์ แทนที่ท่านจะสวดว่า “อะสะมะนุคคาหิยะมาโน วา” ท่านเปลี่ยนคำสุดท้ายคือ วา เป็น แลน ข้าพเจ้านึกถึงตรงนี้จึงหยุดสะอึกหยิบแก้วน้ำขึ้นมาดื่มก่อนที่จะสวดต่อไปตามปกติ จนกรระทั่งไปจบลงบริบูรณ์ด้วยเวลาประมาณ ๔๕ นาที ท่านเจ้าอาวาสและพระลูกวัดต่างก็พอใจไปตาม ๆ กัน /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๐๙ - การสวดพระปาฏิโมกข์ครั้งแรกของข้าพเจ้าถือได้ว่าประสบความสำเร็จด้วยดี จบในเวลา ๔๕ นาที เป็นเวลาที่ไม่ช้าเกินไป พระขันธ์ที่สวดประจำอยู่นั้นท่านสวดจบในเวลาไม่น้อยกว่า ๖๐ นาที ข้าพเจ้าจึงสวดจบเร็วกว่า จากวันนั้นมา ท่านเจ้าอาวาสจึงกำหนดตั้งพระขันธ์ ผู้มีอายุพรรษาแก่กว่าข้าพเจ้า ให้สวดพระปาฏิโมกข์ทุกวันพระกลางเดือน พระอภินันท์ให้สวดพระปาฏิโมกข์ทุกวันพระสิ้นเดือน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นจึงค่อยเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์
การสวดพระปาฏิโมกข์มิได้สวดแบบเหนื่อยเปล่าดอก หากแต่มีการตั้งขันกัณฑ์พระปาฏิโมกข์ใส่ปัจจัยถวายพระผู้สวดเป็นค่าเหนื่อยด้วย มากบ้างน้อยบ้างตามแต่อุบาสกอุบาสิกาที่มารักษาอุโบสถจะถวายกันตามกำลังศรัทธาของตน ข้าพเจ้าจึงมีเงินรายได้จากการเทศน์ทุกวันพระ และได้เพิ่มจากการสวดพระปาฏิโมกข์อีกด้วย การมาอยู่วัดชัยมงคลของข้าพเจ้าจึงมีรายได้ดีกว่าอยู่ภาคกลางด้วยประการฉะนี้
เด็ก ๓ คนที่อยู่กุฏิเดียวกันแม้ไม่ได้เป็นศิษย์โดยตรงก็เหมือนเป็นศิษย์ ข้าพเจ้าให้การดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี กล่าวคือ ให้เงินซื้อข้าวปลาอาหารมิได้ขาด พวกเขาหุงข้าวต้มแกงกินกันเองที่กุฏิโดยมิได้ไปยุ่งเกี่ยวกับครัวของวัด กุฏิที่ข้าพเจ้าอยู่เป็นอาคารไว้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูงแบบบ้านโบราณ พวกเขาจึงใช้ใต้ถุนเป็นที่ทำครัวหุงหาอาหารกันได้เป็นอย่างดี ตอนเย็นกลับจากโรงเรียนเขาจะหุงข้าวด้วยหม้อดิน ต้มแกงนานาด้วยหม้อดิน กับข้าวส่วนใหญ่เขาจะทำแกงส้มปลาข้างเหลืองที่ได้มาจากทะเลสาบ ผักส่วนมากจะใช้สับปะรดและผักบุ้งที่ซื้อหามาจากตลาด พริกแกงเขาตำกันเอง พริกทุกครกเขาต้องใส่ขมิ้นโขลกรวมกับข่ากระชายตามแบบฉบับของชาวใต้ ถามว่าแกงทุกอย่างทำไมต้องใส่ขมิ้น เขาตอบว่า ขมิ้นเป็นสมุนไพรอย่างดีที่ใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ปลาข้างเหลืองดูเหมือนจะเป็นที่โปรดของพวกเขา เขาหุงข้าวและแกงตอนเย็น แต่ไม่ได้กินข้าว-แกงนั้น หากแต่เก็บค้างคืนไว้ในหม้อดินนั่นเอง ตอนเช้าเขาตื่นนอนแล้วจึงกินข้าว-แกงที่ปรุงไว้แล้ว ข้าว แกง ไม่มีกลิ่นบูดด้วยสรรพคุณหม้อดินนั่นเอง
ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์มาก พระประเสริฐคุยโอ้อวดข้าพเจ้าว่า “เนื้อปลาจาระเม็ดขาวของทะเลสาบสงขลามีรสอร่อยที่สุด” ข้าพเจ้าได้พิสูจน์แล้วเห็นว่าจริงของเขา นอกจากปลาจาระเม็ดแล้วสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา ทั้งกุ้ง กั้ง หอย ปู ปลาอื่น ๆ ก็อร่อยเลิศทั้งนั้น เพราะทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลน้ำกร่อย ที่ทำให้เนื้อสัตว์นานาในทะแลนี้มีรสอร่อยกว่าที่อื่น
เย็นวันหนึ่งเป็นวันเสาร์ เด็ก ๆ เตรียมเครื่องทำอาหารกัน โดยเฉพาะมะพร้าวเขาไม่ต้องซื้อจากตลาด เพราะในวัดนี้มีมะพร้าวปลูกไว้มาก วันนั้น ณรงค์ขึ้นมะพร้าวต้นหน้ากุฏิ ทวน ตั้งก้อนเส้าติดไฟหุงข้าวอยู่ใต้ต้นมะพร้าว เชื้อ ยืนชี้มือสั่งให้ณรงค์ปลิดผลมะพร้าวจากทะลายให้หลุดหล่นลง
“ลูกนั้น ลูกโน้น นั่นไม่ใช่ ลูกทางซ้ายนั่นน่ะ นั่นแหละปลิดเลย โน่นอีก ทางขวาน่ะ”
เชื้อตะโกนเสียงสั่ง ณรงค์ก็ปลิดลูกมะพร้าวจากขั้วตามสั่ง มะพร้าวตกลงดินดังตุ้บตั้บ ๆ แล้วก็มีเสียงทวนที่นั่งเฝ้าหม้อข้าวตะโกนแทรกขึ้นมา
“มด เม็ดแล้ว” “ยังไม่หมด” ณรงค์ตะโกนตอบ
“เม็ดแล่วจริง ๆ ดูนี่ซี่” ทวนตะโกนตอบพร้อมชี้มือไปที่หม้อข้าว
“เหวอ.....” เชื้อ ส่งเสียอุทาน เมื่อมองไปเห็นหม้อข้าวเตาไฟกระจาย เพราะลูกมะพร้าวตกลงใส่หม้อข้าวแตกคาก้อนเส้า ข้าวยังไม่ทันจะสุกดีกระจายขาวเกลื่อนพื้น ณรงค์รีบลงจากต้นมะพร้าวมายืนดูสภาพหม้อข้าวก้อนเส้าเตาไฟด้วยสีหน้าสลด
ข้าพเจ้าเห็นเหตุการณ์โดยตลอด พูดปลอบใจพวกเขาว่า ไม่เป็นไรนะ เสียแล้วก็ให้มันเสียไป เชื้อ ไปซื้อหม้อใหม่มาเถอะ พูดแล้วก็ควักเงินในกระเป๋าอังสะให้เขาไปซื้อหม้อใหม่ ตั้งเตาหุงข้าวกันใหม่
ณรงค์เก็บรวบรวมมะพร้าวเข้าไปกองไว้ใต้ถุนกุฏิด้วยอาการสงบ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๑๐ - อาหารที่ขึ้นชื่อลือชาอันเป็นเอกลักษณ์ของปักษ์ใต้คือ “ข้าวยำปักษ์ใต้” ซึ่งเป็นอาหารจานเดียว ที่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการ ทานแล้วไม่อ้วน จากรายงานการวิจัยพบว่าข้าวยำปักษ์ใต้เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและเป็นสมุนไพร เพราะประกอบไปด้วยผักหลายชนิด มีไขมันอิ่มตัวจากมะพร้าวเป็นส่วนผสมด้วย (การแพทย์แผนปัจจุปันเตือนว่าต้องระมัดระวังในการรับประทาน) มีรสชาติ กลิ่น สีสัน ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้ และเป็นที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย
ข้าพเจ้าได้รู้รสข้าวยำปักษ์ใต้ที่สงขลาเมื่อวันหนึ่งมีคนนำข้าวยำห่อใส่บาตร แม่ครัววัดจัดการคลุกเคล้าใส่จานถวายพระ เห็นเป็นข้าวคลุกเคล้าอะไรแปลก ๆ ที่ไม่เคยเห็น จึงถามพระในวงฉันอาหารว่า นี่คืออะไร พระประเสริฐให้คำตอบว่านี่คือข้าวยำสงขลา ซึ่งเป็นข้าวยำอร่อยที่สุดของปักษ์ใต้ สิ่งนี้ไม่ใช่กับข้าว แต่เป็นข้าวประเภทอาหารจานเดียว มีข้าว ผสมเครื่องปรุงเสร็จแล้ว ฉันได้เลย ก็เหมือนข้าวราดแกงในภาคกลางนั่นแหละครับ ข้าพเจ้าลองใช้ช้อนตักเข้าปากเคี้ยวจำแนกรส ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ต้องกินผักไปพร้อมกันด้วยจึงจะอร่อยดี ข้าพเจ้าก็ทำตาม รู้สึกว่ารสชาติ “ หรอยจ้าน” อย่างบอกไม่ถูกเลย
หลังจากได้ลิ้มรสข้าวยำสงขลาแล้ว รสชาติก็ติดอยู่ในความรู้สึก อยากจะกินอีกหลาย ๆ ครั้ง เด็ก ๆ ที่อยู่ด้วยกันบอกว่ามีขายในตลาดหลายร้าน ถ้าพี่หลวงอยากฉันอีกเมื่อไรก็จะไปซื้อมาให้ จนเช้าวันหนึ่งเป็นวันเสาร์ เด็กสาวร้านกาแฟหน้าวัดนำข้าวยำมาถวายบอกว่า
“ณรงค์บอกแม่ว่าพี่หลวงอยากฉันข้าวยำ แม่จึงให้นำมาถวายค่ะ”
เธอไม่พูดอะไรมากไปกว่านั้นก่อนจากไป ซักถามณรงค์ได้ความว่า เขาไปกินกาแฟกันที่ร้านนั้น แล้วถามแม่ค้าเจ้าของร้านว่า ข้าวยำร้านไหนอร่อยที่สุด พี่หลวงอยากฉันข้าวยำสงขลา เท่านั้นเองเจ้าของร้านกาแฟจัดการให้ลูกสาวเอามาถวายแต่เช้าเลย จากนั้นเธอก็เอาข้าวยำมาถวายสัปดาห์ละสองสามครั้ง ข้าพเจ้าจึงศีกษาเรื่องข้าวยำจนได้ความมาว่าดังต่อไปนี้
“ข้าวยำมีส่วนประกอบด้วย ข้าวสวย มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้งหรือปลาป่น พริกขี้หนูแห้งคั่วแล้วนำมาป่น และผักชนิดต่าง ๆ ผักที่นิยมใช้ประกอบในข้าวยำ ได้แก่ สะตอหั่นฝอย ถั่วงอก ถั่วฝักยาวหั่นฝอย แตงกวา ตะไคร้หั่นฝอย ใบมะกรูดอ่อนหั่นฝอย ใบชะพลูหั่นฝอย ส้มโอฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ถั่วงอกเด็ดหาง มะนาว มะม่วงดิบสับเป็นเส้น ไข่ไก่ต้มหั่นชิ้น บางที่อาจใส่ข้าวตังทอดหรือเส้นหมี่ทอด และน้ำบูดูปรุงรส ถ้าไม่มีสะตอก็ใช้เมล็ดกระถิ่นอ่อน ฝักกระถิ่นอ่อน ยอดกระถินอ่อนแทนสะตอ (แต่ละท้องถิ่นอาจจะใส่ส่วนผสมไม่เหมือนกัน)“
น้ำบูดูเป็นตัวชูรสสำคัญของข้าวยำที่ขาดไม่ได้ น้ำบูดูนี้ได้มาจากการหมักปลาตัวเล็ก ๆ กับเกลือเม็ด โดยหมักไว้ในโอ่งหรือไห แล้วปิดผนึกอย่างดี ตากแดดทิ้งไว้อย่างน้อย ๒-๓ เดือน หรืออาจจะเป็นปี จึงจะนำมาใช้ได้ น้ำบูดูมีทั้งชนิดหวานและเค็ม ชนิดหวานใช้คลุกกับข้าวยำ ชนิดเค็มใช้ปรุงอาหารประเภทน้ำพริกเครื่องจิ้ม ข้าวยำปักษ์ใต้มีมากมายหลายสูตร ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงแต่ง
สูตรการทำข้าวยำแบบครบเครื่องเต็มสูตรนั้นพอที่จะประมวลมาได้ดังนี้คือส่วนผสม ประกอบด้วยกุ้งแห้งป่น (หรือปลาป่นก็ได้), เส้นหมี่ขาว,ซีอิ๊วดำ, ข้าวตังทอด, มะพร้าวคั่ว, มะนาว หรือ มะม่วงเปรี้ยว, พริกป่น, น้ำบูดู (น้ำข้าวยำสำเร็จรูป) ข้าวสวย, ผักต่าง ๆ คือ ถั่วฝักยาว, ถั่วพู, ตะไคร้, ใบมะกรูด, ใบบัวบก, ใบชะพลู, ถั่วงอก, ส้มโอ, ดอกไม้พวงชมพู หรือ ดอกอัญชัน, ดอกดาหลา หรือ ดอกชมพู่ม่าเหมี่ยว, แตงกวา, ผักกาดขาว และผักกินดิบอื่นตามชอบ รายละเอียดวิธีการปรุงนั้นอย่างไรไม่ขอกล่าวถึงให้มากความ
มีคำกล่าวอยู่ว่า “ข้าวยำสงขลา ขนมลานคร” หมายความว่าข้าวยำอันเป็นเอกลักษณ์ของปักษ์ใต้นั้น อร่อยเป็นเลิศหรืออร่อยที่สุดคือข้าวยำของจังหวัดสงขลา ส่วนขนมลาที่นิยมทำกันในเทศกาลเดือนสิบนั้น ว่ากันว่าขนมลาของนครศรีธรรมราชอร่อยมากกว่าเพื่อน เจาะลึกลงไปอีกว่า ถิ่นที่ทำขนมลาอร่อยที่สุดของเมืองนครคือ คนในอำเภอปากพนัง แต่ขนมชนิดนี้ก็อยู่ในวงแคบ ๆ ไม่เหมือนข้าวยำซึ่งมีทั่วทุกจังหวัดของปักษ์ใต้ และในทุกจังหวัดนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่า ข้าวยำสงขลาอร่อยกว่าเพื่อน ไม่เชื่อก็ลองไปกินดูแล้วจะติดใจเหมือนพระเต็ม /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๑๑ - กีฬายอดนิยมของปักษ์ใต้คือการชนโค จังหวัดสงขลามีสนามชนโคมากที่สุดของภาคใต้ จากกาสำรวจของสื่อพบว่า สนามชนโคใหญ่ ๆ ที่ “บูม” ในภาคใต้มี ๒๘ แห่ง จังหวัดสงขลามีมากที่สุด ความเป็นมาของกีฬาชนโคมีอย่างไร ขอนำความรู้เรื่องการชนโคจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี มาแนะนำพอสังเขปดังต่อไปนี้
“ชนวัว หรือ กีฬาชนโค เป็นกีฬาพื้นเมืองของภาคใต้ สำหรับในประเทศไทยอาจเป็นความนิยมที่เริ่มมาจากการเลี้ยงวัวไว้บริโภคของชาวมุสลิม แต่พื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ปรากฏความนิยมอยู่บ้างเช่นกัน ซึ่งการแข่งเพื่อความสนุกสนานนี้อาจมีให้พบเห็นได้จนถึงประเทศลาว การแข่งขันกระทำโดยการปล่อยวัวหนุ่มที่แข็งแรงให้พ้นจากคอก ให้วัวผู้ทั้งสองฝ่ายตรงรี่เข้าปะทะกัน ใช้พละกำลังและอาวุธคือเขาเข้าต่อสู้ สัตว์ทั้งสองต้องใช้กำลังยืนหยัดต่อสู้ไม่ยอมถอยเพื่อชัยชนะ ส่วนใหญ่ของผู้ชมที่รายรอบรอชมการชนวัวนั้น ล้อมรอบกันแน่นขนัดก็เพื่อต้องการเห็นชัยชนะและกำลังความแข็งแกร่งของวัวผู้ตัวที่ชนะ บางคนก็เลือกที่จะชมร่างกายที่สวยงามของวัวซึ่งเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา แต่ส่วนใหญ่มักเพิ่มการพนันขันต่อ เพื่อเพิ่มการลุ้นและการเชียร์วัวตัวที่ชอบได้มากยิ่งขึ้น วัวที่นิยมใช้แข่งขันเป็นวัวที่มีรูปร่างบึกบึนกำยำ เขา ส่วนหัว ลำตัว และขาหน้า ต้องแข็งแรง เมื่อวิ่งเข้าปะทะหัวชนกัน เสียงดังสนั่น เมื่อตัวใดตัวหนึ่งไม่ยอมถอยหรือวิ่งหนี ก็ต้องชนกันจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดแรงหรือได้รับบาดเจ็บจนพ่ายแพ้ไป ลานชนโคนิยมใช้ลานดินที่กว้างและทำคอกล้อมหรือทำให้มีคันดินล้อมรอบไว้เป็นสนาม การชนวัวมักเล่นเป็นการพนันเช่นเดียวกับการเล่นการแข่งขันกีฬาไก่ชน”
เรื่องราวข่าวสารการชนโคทางภาคใต้ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมาเสมอแต่ไม่เคยได้ดูได้ชม คิดว่าไม่น่าจะสนุกสนานอะไร เพราะเติบโตมากับวัวควายในไร่นา ระหว่างวัวกับควายข้าพเจ้ารักควายมากกว่า และคุ้นเคยกับควายมากกว่าวัว เพื่อน ๆ เขาขี่วัวกัน แต่ข้าพเจ้าไม่เคยขี่ เพราะไม่ชอบที่ขนหนังวัวมันลื่น ไม่เหมือนควาย วัวทางบ้านข้าพเจ้าเขานิยมใช้เทียมล้อเทียมเกวียนลากเลื่อน ไม่นิยมใช้ไถนาเหมือนควาย ข้าพเจ้าไม่ชอบวัวอีกอย่างหนึ่งคือ วัวมันดื้อ หากมันไม่ยอมทำงานมันจะนอนนิ่งใช้ไม้เรียวตีให้ลุกมันก็ไม่ลุก เขาว่ากันว่าบางตัวมันดื้อขนาดเอาฟางสุมตัวมันแล้วเอาไฟจุดลุกโพลงจนหนังมันไหม้ก็ไม่ยอมลุก เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่ข้าพเจ้ายังไม่ได้พิสูจน์ แต่ความดื้อของมันนั้นเชื่อได้เลย เคยเห็นมันชน (ขวิด) กันบ่อย ๆ แต่ก็ไม่ดุเดือดรุนแรงอะไรนัก
ที่สงขลา วันหนึ่งข้าพเจ้าได้ชมการชนโคของปักษ์ใต้ หลังเที่ยงวันของวันนั้นเป็นวันเสาร์ ข้าพเจ้าเห็นผู้คนหลายสิบคนมายืนเกะกะอยู่ใกล้กำแพงวัดชัยมงคลด้านทิศเหนือ เด็กของข้าพเจ้าก็ไปอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย จึงเดินไปดูเพื่อให้รู้ว่าเขาไปทำอะไรกัน เดินถึงกุฏิพ่อหลวงเซ่ง เห็นพระประเสริฐยืนชะเง้ออยู่ที่หน้าต่างกุฏิ ถามพ่อหลวงเซ่งก็ได้ความว่าวันนี้เขานัดชนโคกันที่สนามเหนือวัดเราเวลาประมาณบ่ายโมง คนพวกนี้ไม่มีตังค์ซื้อตั๋วเขาชมในสนาม หรือมี แต่อยากดูฟรี จึงมายืนรออยู่ข้างกำแพงวัดนี่แหละ เดี๋ยวพอได้เวลาชนโคเขาก็จะปีนกำแพงวัดขึ้นไปดูบ้าง ขึ้นต้นไม้ดูบ้าง คุณเคยดูการชนโคไหม อยากดูก็ลองปีนต้นไม้ขึ้นดูซี สนามชนโคด้านใต้อยู่ติดกำแพงวัดเละแหละ ขึ้นดูบนต้นไม้จะเห็นชัดเจน
ฟังพ่อหลวงเซ่งว่าอย่างนั้นก็มีความอยากดูขึ้นมาทันที จึงเลือกต้นไม้หลังกุฏิพ่อหลวงเซ่งแล้วปีนขึ้นไปนั่งบนคาคบที่เหมาะ ๆ พอนั่งเข้าที่พระประเสริฐก็ปีนต้นไม้ตามขึ้นมาพูดว่า “ขอดูด้วยนะต้น” สนุกละ ได้เพื่อนดูด้วยแล้ว มองไปในสนามเห็นอัฒจันทร์ด้านเหนือสนามมีคนนั่งเต็มแน่นขนัดเลย แสดงว่าคนชาวใต้นิยมชมชอบในกีฬาชนโคมากทีเดียว พระประเสริฐบอกว่าวันนี้เขากำหนดขนโคกัน ๓ คู่ โดยคู่แรกกับคู่สุดท้ายมีเดิมพันกันในหลักแสน ส่วนคู่ที่ ๒ ซึ่งเป็นคู่เอกมีเดิมพันกัน ๕ ล้านบาท
เสียงกลองสัญญาณ ตุ้ม ตุ้ม ตุ้ม ดังขึ้น วันชนคู่แรกนำเข้าสู่สนามแข่งขัน ข้าพเจ้าตั้งตาดูตามความตั้งใจ เมื่อพี่เลี้ยงนำวัวเข้าเผชิญหน้ากันแล้วปล่อยทั้งคู่ให้เป็นอิสระ ทั้งคู่ไม่มีการยืนเบิ่งดูเชิงอะไรกันเลย พอพี่เลี้ยงปล่อยมือมันก็ปรี่เขข้าชนกันเหมือนโกรธแค้นกันเป็นแรมปี หัวชนแล้วดันกันไปดันกันมา ส่ายหัวชิงการได้เปรียบในการงัดเสยจากล่างให้คู่ต่อสู้พลาดท่าเสียที การชนกันอย่างนี้เห็นได้ว่าแรงใครดีก็ชนะไปในที่สุด คู่แรกผ่านไปด้วยความมันในอารมณ์ของคนดูรอบสนาม คู่ที่ ๒ ซึ่งเป็นคู่เอกถูกนำเข้าสนาม ท่ามกลางเสียงเชียร์ลั่นสนาม เป็นวัวสีแดงกับสีดำ รูปร่างบึกบึนทะมัดทะแมง เห็นกล้ามเนื้อขาหน้าขาหลังเป็นมัด ๆ โหนกคอสวยงาม เงินเดิมพันห้าล้านสมัยนั้นมิใช่น้อย บวกกับเงินเสมอนอก คือนักพนันทั้งหลายใช้พนันขันต่อกันอีกก็หลายล้านทีเดียว เมื่อวัวประเขากันกลองก็ตีให้จังหวะเร่งเร้าให้คนชมระทึกใจ
ผลการชนของคู่เอกคือฝ่ายแดงชนะ ข้าพเจ้าดูแล้วไม่นึกสนุกอย่างที่เขาสนุกกัน หากแต่รู้สึกสลดใจที่เห็นโคชนกันอย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนอาฆาตแค้นกันมาแต่ชาติปางก่อน พยายามทำความรู้สึกว่ามันเป็นกีฬา แต่การต่อสู้ที่ใช้กำลังความรุนแรงอย่างไม่มีศิลปะ ใจข้าพเจ้าไม่ยอมรับว่ามันเป็นกีฬา รู้สงสารนักกีฬามากครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
- ๑๑๒ - การเล่นที่ให้ความบันเทิงแก่คนไทยสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือการร้องรำทำเพลง เช่นในภาคกลางก็มีเพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด ลิเก และ รำโทน หรือรำวง เวลาล่วงเลยพ้นกึ่งพุทธกาลคือ พ.ศ. ๒๕๐๐ มาแล้วปรากฏว่า รำวง เป็นการบันเทิงที่ได้รับความนิยมชมชอบคู่กันกับลิเก งานวัดใดมีลิเกมาแสดงก็ต้องมีเวทีรำวงมาตั้งประชันด้วยเสมอ ข้าพเจ้าลงไปอยู่เมืองสงขลาปี ๒๕๐๖ ก็พบว่าที่สงขลามีรำวงเป็นมหรสพยอดนิยมเหมือนกัน ลองย้อนไปดูความเป็นมาของการรำวงหน่อยนะครับ
“รำวง เดิมเรียกกันว่า “รำโทน” เกิดขึ้นจากชาวบ้านในชนบทที่ว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ ไม่รู้จะทำอะไรก็หาความสนุกรื่นเริงกัน โดยเอาครกตำข้าวมาคว่ำกลางลานบ้าน จุดใต้หรือตะเกียงน้ำตั้งวางบนก้นครก มีโทนหรือกลองโทนสำหรับตีให้จังหวะ แล้วชักชวนชายหญิงมาเดินรำเวียนรอบครกนั้น ท่ารำใครจะรำอย่างไรก็ว่ากันไปตามใจชอบ ไม่มีมาตรฐานอะไร ความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทยมีอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว จึงมีบางคนคิดคำคล้องจองกันขึ้นเป็นบทเพลงประกอบท่ารำขึ้นหลายเพลง ไม่พิถีพิถันในเรื่องถ้อยคำและสัมผัสวรรคตอนแต่อย่างใด เนื้อหาของเพลงจะออกมาในลักษณะกระเซ้าเย้าแหย่การหยอกล้อของหนุ่มสาวเชิญชวน ตลอดจนการชมโฉมความงามของหญิงสาวเป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อความสนุกสนานในการเล่นเท่านั้น ต่อมามีเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการรำคือ ฉิ่ง ฉาบ และโทน ใช้ตีประกอบจังหวะ การฟ้อนรำจะมีเสียงโทนเป็นหลักตีตามจังหวะหน้าทับ จึงเรียกการฟ้อนรำชนิดนี้ว่า “รำโทน”
เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๓ ชาวบ้านนิยมเล่นรำโทนอย่างแพร่หลาย ศิลปะชนิดนี้จึงมีอยู่ตามท้องถิ่นและพบเห็นได้ตามเทศกาลต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากนี้เอง จึงได้มีผู้คิดแต่งบทร้องและทำนองเพลงขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ก็ยังคงจังหวะหน้าทับของโทนไว้เช่นเดิม บทร้องและทำนองแปลก ๆ ที่มีเกิดขึ้นมาใหม่โดยปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นบทเพลงที่ขาดการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ไม่ปรากฏว่า ใครเป็นผู้แต่งบทร้องและทำนอง
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยถูกญี่ปุ่นเข้ามายึดครอง ประเทศพันธมิตรใช้เครื่องบินมาโจมตี กลางคืนต้องปิดแสงไฟไม่ให้พันธมิตรเห็นแสงแล้วจะทิ้งระเบิดลงมา การรำโทนจึงต้องงดเว้นการเล่นไว้ ต่อเมื่อสงครามสิ้นสุดลงจึงฟิ้นคืนกลับมาใหม่ เพลงที่นิยมสมัยแรก ๆ นั้นได้แก่เพลง ใกล้เข้าไปอีกนิด ช่อมาลี ตามองตา ยวนยาเหล่ เป็นต้น ต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงและพัฒนาการรำ “รำโทน” ขึ้นใหม่ให้มีระเบียบแบบแผนมีความประณีตงดงามมากขึ้น ทั้งทางด้านเนื้อร้อง ทำนอง ตลอดจนเรื่องการแต่งกาย เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๗ กรมศิลปากรได้ประพันธ์บทร้องขึ้นใหม่ ๔ เพลง คืองามแสงเดือน, ชาวไทย, รำซิมารำ, คืนเดือนหงาย และได้กำหนดวิธีการเล่น ตลอดจนท่ารำและการแต่งกายให้มีความเรียบร้อยสวยงามอย่างศิลปะของไทย
วิธีการเล่นนั้นจะเล่นรวมกันเป็นวง และเคลื่อนย้ายเวียนกันไปเป็นวงทวนเข็มนาฬิกา และด้วยเหตุนี้เองจึงได้เปลี่ยนชื่อ “รำโทน” เสียใหม่มาเป็น “รำวง” ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่อีก ๖ เพลง คือ ดวงจันทร์วันเพ็ญ, ดอกไม้ของชาติ, หญิงไทยใจงาม, ดวงจันทร์ขวัญฟ้า, ยอดชายใจหาญ, บูชานักรบ มอบให้กรมศิลปากรบรรจุท่ารำไว้เป็นแบบมาตรฐาน ส่วนทำนองนั้นรับผิดชอบแต่งโดยกรมศิลปากรและกรมประชาสัมพันธ์ เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องสุภาพ ใช้คำง่าย ทำนองเพลงง่าย มุ่งให้เห็นวัฒนธรรมของชาติเป็นส่วนใหญ่ การแสดงจะใช้ผู้แสดงหญิงชายไม่น้อยกว่า ๕ คู่ เรียกรำวงนี้ว่า “รำวงมาตรฐาน” สืบมาจนถึงปัจจุบัน”
บนเวทีรำวงที่จัดกันตามวัดและบ้านในชนบทยุคหลังกึ่งพุทธกาล แม้ทางรัฐบาลจะให้กรมศิลปากรออกแบบท่ารำ เนื้อร้อง และทำนองรำวงออกมา แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้าน ช่วงนั้นอารยธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทย คนไทยก็รับเอามาใช้ทั้งดุ้นบ้าง เอามาดัดแปลงใช้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องจังหวะลีลาเพลงนั้นเป็นที่นิยมกันมากคือ คาลิปโซ่, ช่าช่าช่า หรือ สามช่า, ออฟบิท, เป็นต้น อีกเพลงหนึ่งเป็นเพลงไทยเดิม ชื่ออัศวลีลา หรือม้าย่อง จังหวะนี้ไอ้หนุ่มทั้งหลายชอบเต้นกันมาก นัยว่ามันเร้าใจน่ะ
สำหรับการแต่งกายของนางรำ เรียกได้ว่าล้ำยุคมาก ทุกนางนุ่งกระโปรงสั้นบานจ้าให้เห็นขาอ่อนถนัดตา จะเรียกว่าเป็นชุด “ปลุกใจเสือป่า” ก็ได้ ถ้าแต่งกายเรียบร้อยนางรำก็ขายไม่ออก เพราะในยุคที่กล่าวถึงนี้ เป็นยุคที่การรำวงมิใช่การเล่นเพื่อสนุกเหมือนยุคปู่ตาย่ายายแล้ว เป็นยุคของธุรกิจการค้า นางรำต้องหัดเต้นให้เป็นทุกจังหวะ แล้วจึงออกงานรับจ้างมารำ ดนตรีประกอบการรำก็ต้องจ้างมา คนที่จะขึ้นไปรำเต้นกับนางบนเวทีต้องซื้อบัตรตามราคาที่กำหนด รำเพลงเดียวจบรอบ ใครจะเต้นรำต่อก็ต้องซื้อบัตรใหม่ หรือไม่ก็เหมารำเป็นรอบ ๆ ไป นางรำกับวงดนตรีได้เพียงค้าจ้าง เงินรายได้จากการขายบัตร พวงมาลัย ที่เหลือจากค่าจ้างเท่าไรก็เป็นของผู้จัดการแสดงทั้งหมด
งานรำวงในภาคกลางสมัยนั้นมักจะมีเรื่องทะเลาะวิวาทระหว่างชายด้วยกัน เหตุเพราะแย่งนางรำนั่นเอง มีไม่น้อยผู้ชายที่ไปรำวงนั้นต้องดื่มสุราเมรัยเพื่อย้อมใจให้เกิดความกล้า ถือกันว่า พอเมาแล้วหน้ามันด้านไม่อายใคร เต้นแร้งเต้นกาได้ทุกท่าทาง บางงานผู้จัดคิดแผลง ๆ จัดเป็น “รำวงเข้าถ้ำ” คือด้านหลังเวทีจะทำทางเดินเป็นทางลับมืดสลัว เข้าทางขวาออกทางซ้าย พอเต้นรำไปใกล้จะจบรอบแล้ว นางรำก็จะเต้นนำเข้าถ้ำ เจ้าหนุ่มก็รำป้อตามเข้าไป ได้กอดนางบ้างไม่ได้กอดบ้าง สนุกไปตามประสาของเขา
ข้าพเจ้าเล่าเรื่องรำวงให้พ่อหลวงเซ่งฟังโดยมีพระประเสริฐนั่งร่วมสนทนาอยู่ด้วย พ่อหลวงเซ่งกล่าวหลังจากฟังข้าพเจ้าเล่าจบแล้วว่า
“ทางภาคกลางเก็บเงินเฉพาะคนที่จะขึ้นเวทีเต้นกับนางรำเท่านั้น แต่ที่นี่เขาปิดล้อมสถานที่มีรำวง เก็บเงินค่าผ่านประตูเข้าไปชมกันเลย ส่วนใครจะขึ้นเวทีเต้นกับนางรำต้องเสียเงินอีกทอดหนึ่ง ใช่มั้ยคุณประเสริฐ”
พระประเสริฐรับว่าใช่ และกล่าวต่อไปว่า ที่หาดใหญ่มีเจ้าของกิจการรำวง (หัวหน้าคณะ) อยู่หลายวง รู้จักเจ๊คนหนึ่งเป็นหัวหน้าคณะรำวง วงใหญ่มาก เธอมากู้เงินโยมแม่ไปทำทุนจึงรู้จักชอบพอกันอยู่ พ่อหลวงเซ่งจึงบอกว่าพาคุณอภินันท์ท่านไปรู้จักบ้างซี่ ได้ครับ พระประเสริฐรับคำทันที
พระประเสริฐพาข้าพเจ้านั่งรถโดยสารไปหาดใหญ่ในวันต่อมา ลงรถเมล์แล้วเดินข้ามทางรถไฟไปบ้านเจ๊หัวหน้าคณะรำวง อยู่ทางตอนใต้วัดโคกสมานคุณ อาเจ๊ดีใจที่พระประเสริฐไปเยี่ยมเยือน หลังจากแนะนำตัวให้รู้จักกันแล้ว ข้าพเจ้าก็ซักถามเรื่องการทำธุรกิจรำวงของอาเจ๊ ได้ความว่าเธอตั้งคณะรำวงมาได้ประมาณ ๖ ปี กิจการดีพอสมควร ปัจจุบันสาวนางรำอยู่ประมาณ ๑๐๐ คน นางรำมาจากภาคเหนือบ้าง อีสานบ้าง ภาคกลางบ้าง มีคนพื้นที่เป็นส่วนน้อย เธอต้องติดต่อหานางรำมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัญหาใหญ่ที่เธอพบคือ นางรำของเธอมักจะถูกอาเสี่ยหิ้วไปเลี้ยงอยู่เรื่อยเลย ต้องคอยหาเพิ่มเติม....
“ถูกหมาคาบไปกิน” ? /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๑๓ - สมัยนั้นสื่ออย่างดีที่สุดของสังคมไทยคือคลื่นเสียงจากสถานีวิทยุต่าง ๆ และหนังสือพิมพ์รายวันรายสัปดาห์และรายอื่น ๆ ข้าพเจ้าอยู่สงขลาไม่ค่อยได้อ่านหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นของหายากสักหน่อย ที่ได้อ่านมากก็เห็นจะเป็นหนังสือนิยายกำลังภายใน เรื่องมังกรหยกที่กิมย้งแต่ง ป.พิศนาคะ แปล กับเรื่องกระบี่จอมภพ จำชื่อคนแต่งไม่ได้ จำได้แต่ ว. ณ เมืองลุง แปล พระประเสริฐอ่านนิยายจีนดังกล่าวนี้และหาเช่ามาจากร้านหนังสือในตลาด ข้าพเจ้าพลอยได้อ่านไปด้วย อันที่จริงเรื่องมังกรหยกนี่ข้าพเจ้าอ่านตั้งแต่อยู่วัดจันทร์นอกดังที่ให้การไปแล้ว แต่เรื่องนี้ยาวมากไม่จบง่าย ๆ จึงอ่านต่อที่เมืองสงขลาอีก เรื่องกระบี่จอมภพ ที่ ว. ณ เมืองลุง แปล นั้นเป็นคนละแนวกับมังกรหยก ผู้แต่งจินตนาการล้วน ๆ ไม่อิงประวิศาสตร์เหมือนมังกรหยก กำลังภายในลึกล้ำพิสดาร ปรัชญาธรรมลึกซึ่ง ข้าพเจ้าชอบคำโศลกของหลวงจีนและนักพรตที่กล่าวกันในเรื่อง เช่นว่า “พฤกษาสูงร้อยวาพันวา ใบของมันก็ร่วงหล่นลงโคนต้น” ท่านอุปมาชีวิตคนแม้จะสูงด้วยยศศักดิ์ ตำแน่ง ทรัพย์สินเพียงไร สุดท้ายก็ต้องตกลงสู่ดินกลายเป็นปุ๋ยไป อย่างนี้เป็นต้น
สื่อด้านคลื่นเสียงนั้นนอกจากรายการกวีสวรรค์ของวิทยุ จ.ท.ล. ลพบุรีแล้ว ที่สงขลาก็มีเพียงสถานีวิทยุประจำถิ่น (ว.ป.ถ.) หาดใหญ่ ของทหาร ดูเหมือนสถานีเขาจะตั้งอยู่ที่ คอหงส์ รายการอะไร ๆ ก็ไม่น่าฟังสำหรับข้าพเจ้าเลย มีรายการเดียวที่ฟังประจำทุกเช้าวันเสาร์ คือถ่ายทอดเสียงการแสดงธรรมแบบ ปุจฉา-วิสัชนา ทางคลื่นเสียง ว.ป.ถ. ทหารสิ่อสารกรุงเทพฯ การเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา (ถาม-ตอบ) ออกกาศทางสถานีวิทยุนี้ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการแสดงธรรมของพระสงฆ์ไทย จัดโดยสภาธรรมกถึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ประธานสภาพระธรรมกถึกคือท่านเจ้าคุณ พระรัตนเวที เจ้าคุณองค์นี้เป็นใคร มาจากไหน ดูประวัติย่อ ๆ ของท่านหน่อยนะ
ท่านมีนามเดิมว่า หวอยฮั้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น กมล เกิดเมื่อวันที่ ๗ พ.ค.๒๔๖๗ ลูกชาวไร่ชาวนา ต.บางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดห้วยจรเข้เมืองนครปฐม เมื่อปีพศ.๒๔๘๐ มีพระครูอุตตรการบดี (สุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วมาจำพรรษาที่วัดพระงาม สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก จากนั้นเอยู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในปกครองของสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตตเถร) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เพื่อเรียนบาลีต่อ พ.ศ.๒๔๘๖ สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยคแล้วกลับไปอุปสมบทที่วัดพระงาม เมื่อพ.ศ.๒๔๘๗ โดยมี สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอมรเวที (ปุ่น ปุณณสิริ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (กมล กมโล) เป็นพระอาจารย์ให้ศีล ได้รับฉายาว่า โกวิโท
อุปสมบทแล้วเรียนบาลีต่อในวัดพระเชตุพนฯจนสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค สอบเทียบวิชาการทางโลกได้ ม.๘ และวุฒิครู พม. ท่านเป็นผู้ริเริ่มเปิดการเรียนการสอนการเรียนทางโลกในวัดโพธิ์ เปิดโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ เป็นการเพิ่มเติมจากการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรมและบาลี ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ พระอารามหลวง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวัดพระเชตุพนฯ ให้เจริญทันสมัยในทุกด้าน เท่านั้นยังไม่พอ ท่านยังเป็นผู้บุกเบิกวัดไทยในต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ วัดไทยในลอสแองเจลิส ว่ากันว่าฉายา หลวงเตี่ย ที่เรียกขานกันติดปากนั้น ผู้ที่เรียกคนแรก คือ ปราโมทย์ ดิลกมนกุล หรือ โกยี เจ้าของตลาดบางกอกมาร์เก็ต ตลาดไทยใหญ่ที่สุดในนครลอสแองเจลิสนั่นเอง
“หลวงเตี่ย” ที่เรียกกันจนติดปากเป็นพระนักเทศน์ฝีปากดีองค์หนึ่งในยุคนั้น เป็นคนมีหัวคิดก้าวหน้า จึงจัดตั้งสภาพระธรรมกถึกขึ้น เพื่อรวบรวมพระนักเทศน์ไว้เป็นกลุ่มก้อน มีการประชุมวิจัยวิจารณ์ธรรมะข้อธรรมต่าง ๆ วางหลักแบบแผนให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ต่างคนต่างคิดต่างแสดงให้เกิดความสับสนแก่ผู้ฟัง สมัยนั้นข้าพเจ้าเป็นพระเด็ก ๆ ไม่มีโอกาสเข้าร่วมในสภานี้ ก็มีแต่ระดับครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้านั่นแหละร่วมอยู่ในสภานี้ แม้กระนั้นข้าพเจ้าก็ทำตัวเป็น “ครูพักลักจำ” องค์ใดลีลาการเทศน์ดีก็จำไว้ ถามอย่างไร ตอบอย่างไรดี ก็จำไว้ เมื่อถึงเวลาก็จะนำไปใช้ตามแบบอย่างของท่าน
ปีนั้นทางวัดโรงวาสซึ่งอยู่ใกล้กับวัดชัยมงคลจัดงานใหญ่ มีโนราห์เติมเป็นโนราห์ชื่อดังมาแสดง และที่พิเศษไปกว่านั้นคือ มีเทศน์ปุจฉา-วิสัชนา ๒ ธรรมาสน์ โดยนิมนต์พระจากสภาพระธรรมกถึกวัดพระเชตุพนฯลงไปแสดงด้วย งานนี้ข้าพเจ้าพลาดไม่ได้เด็ดขาด ไม่ใช่อยากไปดูโนราห์ชื่อดังดอก แต่อยากไปพบปะพระธรรมกถึกที่มาจากกรุงเทพฯ น่ะ พระประเสริฐถามว่าพระเทศน์มาจากกรุงเทพฯ ในพรรษาอย่างนี้พรรษามิขาดหรือ ข้าพเจ้าก็อธิบายให้เขาฟังตามหลักพระวินัยว่า ในพระวินัยมีหลักปฏิบัติขิงภิกษุอยู่จำพรรษาจะไปแรมคืนที่อื่นได้ไม่เกิน ๗ วัน โดยการทำสัตตาหะ เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” คือธุระเป็นเหตุให้ภิกษุออกจากวัดในระหว่างพรรษาได้ ๗ วัน ได้แก่
๑. ไปเพื่อพยาบาลสหธรรมิกหรือมารดาบิดาผู้เจ็บไข้ ๒. ไปเพื่อระงับสหธรรมิกที่กระสันจะสึก ๓. ไปเพื่อกิจสงฆ์ เช่น ไปหาทัพพสัมภาระมาซ่อมวิหารที่ชำรุดลงในเวลานั้น ๔. ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของทายกซึ่งส่งมานิมนต์เพื่อการบำเพ็ญกุศลของเขา และธุระอื่นจากนี้ที่เป็นกิจจะลักษณะอนุโลมตามนี้ได้
พระเทศน์จากกรุงเทพฯมาสงขลาเพื่อบำรุงศรัทธาของญาติโยมจากวัดมาไม่เกิน ๗ วัน จึงไม่ผิด พรรษาไม่ขาด
ข้าพเจ้าไปวัดโรงวาสยามค่ำคืนนั้นเพื่อดูว่าพระเทศน์ที่มาเป็นใครบ้าง ก็ได้พบพระครูบุศย์ (พระครูโสภณธรรมาจารย์) วัดดาวดึงษาราม คู่เทศน์องค์หนึ่งของหลวงพ่อไวย์ พระอุปัชฌายาจารย์ของข้าพเจ้า ท่านจำได้ร้องทักว่า “เณรเต็มมาได้ยังไงเนี่ย” ข้าพเจ้ากราบท่านแล้วบอกเล่าความเป็นมาให้ท่านทราบ ที่ท่านเรียกข้าพเจ้าว่า “เณรเต็ม” เพราะท่านไปเทศน์แถวบางซ้าย เสนา บ่อย ๆ ข้าพเจ้าเป็นเณรขับเรือรับส่งท่านเป็นประจำจนคุ้นหน้าคุ้นตากันดี พระอีกองค์หนึ่งที่มาเป็นคู่เทศน์ของท่านวันนั้นเป็นพระครูเหมือนกัน ชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว เพราะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ท่านพระครูบุศย์ (ต่อมาเป็นพระราชาคณะชั้นเทพก่อนมรณภาพ) ท่านเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาเก่ง ถนัดในหน้าที่การเป็นผู้ถาม ถามซอกแซกน่าฟัง คนฟังชอบใจมาก ข้าพเจ้าลักจำลูกเล่นท่านไว้ไม่น้อยเหมือนกัน หลังจากคุยฟื้นความหลังกันพอสมควรแล้ว ข้าพเจ้ากราบลาให้ท่านพักผ่อนเพื่อเตรียมเทศน์ในวันรุ่งขึ้น
ออกจากที่พักพระนักเทศน์แล้ว แวะดูโนราห์ที่เริ่มการแสดงพอดี โนราห์เติมในยุคนั้นเขาว่าเป็นโนราห์ชั้นดีที่สุด ดังคำกลอนที่ว่า “แลโนราห์สาวสวย แลหลวยกระบี่ แลโนราห์ชั้นดี ต้องโนราห์เติม” บ้านโนราห์เติมอยู่จังหวัดตรัง รูปหล่อ ร้องดี รำดี ข้าพเจ้าได้เห็นครั้งนั้นเพียงครั้งเดียว ส่วนโนราห์หลวยสาวสวยนั้น เขาว่าสวยนักหนาบ้านอยู่จังหวัดกระบี่ เสียดายที่ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้ดูเลย
วันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าไปวัดโรงวาสอีกเพื่อฟังเทศน์โดยมีพระประเสริฐไปด้วย เทศน์วันนั้นคนฟังเขาว่าเทศน์ดี แต่ข้าพเจ้ารู้ว่าเทศน์กร่อย ๆ อย่างไรไม่รู้ พระคู่เทศน์ของพระครูบุศย์อ่อนไปหน่อย ตอบไม่ตรงคำถามเท่าที่ควร จนพระครูบุศย์ต้องประคองด้วยวิธีการถามนำอยู่ตลอดเวลา ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้ตอบจะตอบได้ดีกว่านั้นซะอีก วันนั้นเทศน์จบแล้วทางวัดจัดการส่งท่านนั่งรถด่วนกลับกรุงเทพฯ เลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๑๔ - เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ของไทยเป็นพืชผักผลไม้ชนิดหนึ่งคือ “สะตอ” ก่อนที่ข้าพเจ้าจะไปอยู่เมืองสงขลาไม่เคยรู้จักสะตอเลย พอไปอยู่สงขลาจึงรู้จักชื่อและรสชาติของสะตออันเป็นอาหารเลิศรสของคนชาวปักษ์ใต้ ก่อนจะคุยกันถึงเรื่องสะตอ ขอทำความรู้จักกับสะตอสักหน่อยเป็นไร ความต่อไปนี้ขอคัดย่อจากหนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน และขอขอบคุณเจ้าของเรื่องคือผู้เขียนประจำกอง บก. เทคโนโลยีชาวบ้านไว้ที่นี้ด้วย
“สะตอ พืชท้องถิ่นที่อยู่คู่ภาคใต้มาช้านาน ด้วยความอร่อยล้ำมีกลิ่นเฉพาะตัว ใครกินแล้วกลิ่นติดปากอยู่นาน ผนวกกับปัจจุบันสะตอสามารถปลูกได้ในภาคอื่นนอกจากภาคใต้ จึงเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจปลูกกันไว้รอบรั้วบ้าน สะตอมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามแต่ละจังหวัด เช่น จังหวัดชุมพร หรือสุราษฎร์ธานี เรียกว่า “สะตอ” หรือ “กะตอ” หรือตามแต่ละท้องถิ่นในภาคใต้ สายพันธุ์สะตอที่ปลูกอยู่ในภาคใต้คือ พันธุ์สะตอข้าว สะตอดาน ลำต้นค่อนข้างสูง ประมาณ ๒๐-๓๐ เมตร เปลือกหนาสีน้ำตาล ผิวเรียบ มีรากแก้วช่วยพยุงลำต้น เมล็ดสะตอเกิดจากรังไข่ที่ผสมแล้ว เมล็ดมีสีเขียวเรียงตามแนวขวางกับฝักเมล็ดมีรูปร่างรี สะตอหนึ่งฝักมีเมล็ดประมาณ ๗-๒๐ เมล็ด ลักษณะใบของต้นสะตอก้านทางใบมีลักษณะเป็นคู่ บริเวณส่วนของก้านทางใบมีใบขนาดเล็กเป็นรูปพาย ผลดิบของสะตอนำมารับประทานเป็นอาหารได้ โดยต้องสังเกตสะตอที่มีฝักแก่ซึ่งเมล็ดจะไม่อ่อนมากเมื่อนำมารับประทานแล้วมีรสชาติที่อร่อยกว่าสะตออ่อน นำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น เป็นผักเหนาะ (ผักทานคู่กับแกง) สะตอผัดกุ้ง สะตอผัดหมู หรือสะตอดอง นอกจากสะตอสามารถนำมาประกอบอาหารได้แล้ว ภายในเมล็ดของสะตอยังให้คุณค่าทางสารอาหารมากมาย เช่น ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้ปัญหาโรคไต ช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หากรับประทานสะตอแล้ว ผู้รับประทานมีกลิ่นปากสามารถแก้ได้ด้วยการรับประทานมะเขือเปราะตามลงไปจะสามารถดับกลิ่นของสะตอลงได้”
ไม่มีจังหวัดไหนของภาคใต้ที่ไร้สะตอ เพราะสะตอได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ไม่เสื่อมคลายในทุกเวลาและสถานที่ของภาคใต้ พ่อหลวงเซ่งกับพระประเสริฐกล่าวยืนยันตรงกันว่า สะตอของอำเภอรัตภูมิจังหวัดสงขลารสชาติอร่อยที่สุด ข้าพเจ้าไม่โต้แย้ง เพราะยังกินสะตอไม่ครบทุกพื้นที่ของปักษ์ใต้ และเพิ่งจะรู้จักสะตออย่างงู ๆ ปลา ๆ เท่านั้น ที่สำคัญก็คือยังไม่ชอบรสสะตออย่างที่คนใต้เขาชอบกัน
พ่อหลวงเซ่งให้ความรู้เรื่องสะตอว่า “การกินสะตอนั้น ยอดอ่อนและเมล็ดกินเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือแกล้มกับอาหารรสจัดได้ และยังนำมาปรุงเป็นอาหารได้อีกหลายชนิด แกงกะทิ ผัดเห็ดใส่กุ้ง ผัดเปรี้ยวหวาน แล้วยังนำมาดองเก็บไว้กินนาน ๆ ได้”
ได้ความรู้เรื่องสะตอพอสมควรละ ลักษณะของฝักจะไม่จำ ขอจำแต่เพียงกลิ่นก็พอ ถ้ากลิ่นฉุนจัดก็คือสะตอดาน กลิ่นฉุนน้อยคือสะตอข้าว ในระยะแรก ๆ ข้าพเจ้าจะเลือกกินสะตอข้าวที่มีกลิ่นฉุนน้อยไปก่อน นาน ๆ จึงกินสะตอดานที่มีกลิ่นฉุนแรง นานวันเข้ารสสะตอก็เริ่มติดลิ้น รู้สึกชอบขึ้นมาละ กินสด ๆ ที่ผสมข้าวยำบ้าง จิ้มน้ำพริกกะปิบ้าง กินสุกที่เขาผัดใส่กุ้ง ใส่ไก่ ใส่หมู บ้าง ใส่แกงเหลืองบ้าง ก็อร่อยไปอีกแบบหนึ่ง
ออกจะเชื่อที่ท่านว่า คุณประโยชน์และสรรพคุณทางยาของสะตอคือ เมล็ดสะตอ กินป้องกันโรคเบาหวาน ขับปัสสาวะ ช่วยให้เจริญอาหาร คุณค่าทางอาหารของเมล็ดสะตอ ๑๐๐ กรัมประกอบด้วย พลังงาน แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส Vitamin B ๑ Vitamin A Vitamin C Advertisements.......
ข้าพเจ้าเห็นว่าผลเสียของสะตออยู่ที่กลิ่น คือเมื่อกินสะตอแล้วกลิ่นของเขาจะติดปากติดคอเป็นเครื่องยืนยันให้คนอื่นรู้ว่ากินสะตอมาแล้ว และไม่เท่านั้น กลิ่นอุจจาระปัสสาวะก็มีกลิ่นสะตอด้วย.../
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๒)
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๑๕ - เมื่อวันวานได้กล่าวถึง “สะตอ” เอกลักษณ์หนึ่งของปักษ์ใต้ วันนี้จะขอกล่าวถึงผลไม้ของปักษ์ใต้อีกชนิดหนึ่งซึ่งมีไม่มากนัก ข้าพเจ้าลงไปอยู่เมืองสงขลานานเกือบ ๑ ปี ได้กินผลไม้ชนิดนี้ไม่เกิน ๓ ครั้ง เขาว่าผลไม้ชนิดนี้เป็นคู่แฝดกับขนุน แต่ไม่ใช่ขนุน มีชื่อว่า “จำปาดะ” กลิ่นแรง รสหวานจัด เป็นทั้งอาหารและยาด้วย “จำปาดะ” คืออะไร ลองค้นคว้าเรื่องของเขาดูนะครับ
“จำปาดะ เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของภาคใต้อีกชนิดหนึ่ง มีปลูกกันทั่วไปในจังหวัดภาคใต้ของไทย และยังเลยเข้าไปในมาเลเซียด้วย ในไทยทราบว่าจังหวัดสตูลปลูกมากถึง ๑,๐๐๐ ไร่ มีทั้งหมด ๗ สายพันธุ์ ส่งขายทั่วไทย ไปไกลถึงต่างประเทศ ด้วยรสชาติที่ดี มีเอกลักษณ์ หวานฉ่ำชื่นใจ มัดใจคนไทยจนถึงรัฐเปอร์ลิส เพื่อนบ้านจากมาเลเซีย ซื้อขายกินกันทุกปีไม่เคยขาด ถูกอกถูกจนไม่พอส่งขาย จำปาดะจะออกผลผลิตมากในช่วงหน้าฝน ผลสามารถทำอาหารได้หลากหลาย มีกลิ่นเฉพาะตัว ทั้งกินเป็นผลไม้สด ชุบแป้งแล้วทอดซึ่งเป็นที่นิยมในภาคใต้ของไทย สิงคโปร์และมาเลเซีย เมล็ดอย่างเดียวนำไปต้มให้สุก หรือใส่ในกับข้าวเช่นแกงไตปลา ผลอ่อนต้มกับกะทิใช้เป็นผัก และแกงได้ ต้นเป็นไม้เนื้อสีเหลืองหรือน้ำตาลใช้ทำเครื่องเรือนและต่อเรือ เปลือกของลำต้นใช้ฟั่นเชือก
ขนุนกับจําปาดะมองเผิน ๆ อาจมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง ความจริงเป็นคนละสายพันธุ์กัน มีวิธีสังเกตที่เห็นได้ชัดคือ ผิวของผลจำปาดะจะเรียบกว่าขนุน ส่วนขนุนผิวจะมีหนามเล็กน้อย มาดูข้อแตกต่างอื่น ๆ อีกนะครับ ขนาดของผลจำปาดะจะเล็กกว่าขนุน ลักษณะของเปลือกนอกเมื่อสุกจะไม่สวยเหมือนขนุน เปลือกจะบางและปอกง่ายกว่าขนุน และไม่มียวงมีใยเหนียวหนืดเป็นยางมาคั่นระหว่างเมล็ดเหมือนขนุน เนื้อจะนิ่มเละ ไม่แข็งกรอบเหมือนขนุน และจะเหนียวเคี้ยวไม่ค่อยขาด ไม่เหมือนขนุนที่เคี้ยวง่าย รสชาติจะมีรสหวานจัด มีน้ำเยอะและหวานกว่าขนุน กลิ่นจะแรงกว่าขนุน (น้อง ๆ ทุเรียนเลยทีเดียว) คุณค่าทางโภชนาการคือเป็นผลไม้ที่เนื้อมีรสหวานกินแล้วรู้สึกสดชื่น มีวิตามินเอที่บำรุงสายตา เส้นใยของเนื้อจะช่วยขับไขมันออกจากร่างกายได้ เมื่อนำมาชุบแป้งทอดที่ใส่มะพร้าวขูดรวมไปด้วย จะได้ไขมันมากทั้งจากมะพร้าวและน้ำมันที่ใช้ทอด ถ้ากินเกินประมาณอาจทำให้เจ็บคอและร้อนในได้ วิธีการปอกง่ายมาก แค่ใช้มีดกรีดจากขั้วลงมาจนสุดผล แล้วก็ใช้มือแบะออก เนื้อจำปาดะก็จะปลิ้นหลุดออกมาทั้งพวงเลย และให้จับที่ขั้วดึงทีเดียวให้เปลือกหลุดออก จะได้ยวงติดกันออกมาเป็นพวงอย่างง่ายดาย
สรรพคุณจำปาดะท่านว่า ช่วยบำรุงร่างกาย (เนื้อผลสุก), มีวิตามินเอสูง จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี, เปลือกไม้มีสรรพคุณที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและช่วยรักษาโรคมาลาเรียได้, เส้นใยของผลสามารถช่วยขับไขมันและสารพิษออกไปจากร่างกายได้, ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (เนื้อผลสุก), ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เนื้อผลอ่อน), ช่วยฝาดสมาน (เนื้อผลอ่อน), เมล็ดช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอดและช่วยบำรุงร่างกายได้ (เมล็ด), ในมาเลเซียมีการใช้รากเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรแบบดั้งเดิมที่ใช้สำหรับหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร”
จำปาดะ มีถิ่นกำเนิดในแหลมมลายูนี่เอง จึงมีชื่อในภาษามลายูว่า cempedak (เจิมเปอดะก์) เมื่อพูดถึงจำปาดะ ๑ ลูก นั่นหมายถึงผลใหญ่ทั้งผล เมล็ดนำไปต้มให้สุก แล้วใส่ในอาหารต่าง ๆ เช่น แกงไตปลา ยุม (เนื้อที่หุ้ม ๑ เมล็ด) อ่อนต้มกะทิเป็นผักเกล็ดหรือนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทแกง นอกจากเนื้อจำปาดะทอดที่หอมหวานแล้ว เมล็ดจำปาดะด้านในก็อร่อยไม่แพ้กัน กลิ่นของจำปาดะทอดสุกนั้น ช่างยั่วยวนจิตใจยิ่งนัก การเลือกซื้อจำปาดะนั้นเขาขึ้นอยู่กับดวงล้วน ๆ คือผ่าออกมาแล้วด้านในจะมีกี่ยุม (ยวง) จึงมีคำกล่าวว่า “ซื้อจำปาดะก็เหมือนกับซื้อหวย” เพราะบางครั้งผ่าออกมาเจอเนื้อจำปาดะแค่สามยุม (ยวง) ดีที่ราคาไม่แพงมากนัก /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|