บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๙๑ - เมื่อตกปากรับคำพระเชือนว่าไปสะบ้าย้อยก็ต้องไป จะเผชิญเหตุการณ์ร้ายดีอย่างไรก็ช่างเถิด ถามเพื่อนว่าจะนั่งรถไฟจากสงขลาไปลงโคกโพธิ์ได้ไหม เขาว่าได้ แต่อย่าเลย รถไฟมันช้ามากคลานเป็นกิ้งกือ “ถึงก็ชั่งไม่ถึงก็ชั่ง” ไปรถเมล์ดีกว่า ออกเดินทางแต่เช้าถึงโคกโพธิ์ก็ไมเกินเที่ยงวัน จึงตกลงเดินทางโดยรถเมล์ตามแต่พระเชือนจะพาไป เราฉันอาหารเช้าแล้วก็นั่งรถเมล์ (บริษัทโพธิ์ทอง) ไปถึงหาดใหญ่ แล้วต่อรถเมล์ประจำทางจากหาดใหญ่ไปโคกโพธิ์ ผ่านบ้านตำบลอะไรบ้างไม่ได้จดจำ ดูเหมือนว่ารถโดยสารพาเราผ่านเขตพื้นที่อำเภอจะนะ นาทวี เทพา ระหว่างนาทวีกับเทพาอันไหนถึงก่อนจำไม่ได้แล้ว
ข้าพเจ้าเลือกที่นั่งรถตรงที่ใกล้คนขับ เพื่อต้องการซักถามภูมิประเทศที่เดินทางผ่านไปตลอดเส้นทาง พูดคุยกับเขาด้วยสำเนียงใต้ผสมกลาง ก็พอคุยกันรู้เรื่องบ้างพอสมควร พอเข้าเขตอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี คนขับรถไม่ยอมพูดด้วย ไม่ว่าภาษาใต้หรือกลาง ถามอะไรเขาก็นิ่งเฉยไปจนถึงจุดหมายปลายทาง พระเชือนพาลงจากรถเมล์หาอะไรขบฉันกันแล้วก็หารถที่จะไปอำเภอสะบ้าย้อยได้ เป็นรถจิ๊บวิลลี่ค่อนข้างเก่าหน่อย รถยังว่างอยู่ขึ้นไปนั่งรอเวลาที่รถจะออกเดินทาง มีคนหญิงชายขึ้นนั่งเต็มคันรถแล้ว เจ้าของรถก็ออกเดินทาง ข้าพเจ้าคิดว่าเราปลอดภัยแล้ว เพราะไม่มี “อีแมะ” มานั่งใกล้ชิดเลย
รถแล่นโคลงเคลง ๆ ไปตามถนนคึกฤทธิ์ที่แคบและบางตอนเป็นหลุมเป็นบ่อ มีดินลูกรังบ้างไม่มีบ้าง บางตอนมีฝุ่นมากบางตอนฝุ่นน้อย แล่นไปไม่นานก็มีคนโบกมือขอขึ้นไปด้วย ๒ คน เป็นชายล้วน ที่นั่งไม่มี หญิงที่นั่งอยู่ก่อนก็ลุกขึ้นให้ชายนั่ง แล้วเธอก็นั่งตักชาย ข้าพเจ้าเห็นแล้วก็ได้แต่ภาวนาขออย่าให้มีหญิงขึ้นรถเพิ่มมาเลย คำภาวนาคงจะไม่ขลัง ครั้นรถไปถึงหมู่บ้านหนึ่งก็มีหญิงขอขึ้นมาอีก ๓ คน คราวนี้ถึงเวรกรรมของพระเต็มกับพระเชือนแล้ว เพราะเหลือผู้ชายอยู่ ๓ พอดี พวกหล่อนก็นั่งแหมะลงบนตักชายที่เป็นฆราวาส ๑ พระเชือน ๑ พระเต็ม ๑ โดยที่พวกเราปฏิเสธมิได้
“อีแมะ” คนที่นั่งตักข้าพเจ้านั้น ตัวอ้วน ผิวคล้ำ โพกศีรษะด้วยผ้าแพรบางสีชมพู อายุหล่อนคะเนดูแล้วไม่เกิน ๓๐ ปี น้ำหนักประมาณ ๕๐-๖๐ กก.
จริง ๆ แล้วคำว่า แมะ ภาษามลายู แปลได้ว่า “แม่” หมายถึงผู้หญิง เขา เรียก แมะ เฉย ๆ แต่คนไทยเราเติมคำว่า “อี” (น้อง) เข้าไปข้างหน้าเป็น “อีแมะ” ก็น่าจะแปลเป็นไทยได้อย่างไพเราะว่า “น้องหญิง” นั่นแล
ถูกอีแมะ (น้องหญิง) ตัวโตนั่งเต็มตักแล้วรู้สึกอย่างไร ? ไม่ตระหนกตกใจหรอก เพราะได้รับคำบอกเล่าเหมือนคำเตือนไว้แล้ว ความรู้สึกจริง ๆ ตอนนั้นคือ อัดอัดมาก ตัวเธอใหญ่โตกว่าข้าพเจ้า น้ำหนักก็มากกว่าข้าพเจ้า ที่ทำให้อึดอัดมากคือกลิ่นตัวเธอ รู้สึกเป็นกลิ่นประหลาด กลิ่นตัวก็ยังพอทน แต่กลิ่นผมในผ้าคลุมของเธอนั่นซี เหลือทนจริง ๆ มารู้ทีหลังว่าหญิงอิสลามชาวใต้เธอใช้น้ำมันตานีใส่แต่งผม น้ำมันตานีนี้ไม่เหมือนเครื่องหอมไทยตามตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แต่เป็นอีกแบบหนึ่ง พจนานุกรมไทยเก็บความว่า
“น้ำมันตานี น. น้ำมันชนิดหนึ่งทำจากนํ้ามันมะพร้าวเคี่ยวกับขี้ผึ้งแท้พอเหลว ใช้แต่งผม.”
ก็ลองคิดดูเถิดว่าน้ำมันมะพร้าวเคี่ยวกับขี้ผึ้งแท้ กลิ่นมันจะออกมาประมาณใด คนใช้เขาก็ว่าหอม แต่เราไม่คุ้นเคยกับกลิ่นนี้จึงรู้ว่ามันแปร่งนักเชียว รถวิ่งไปอย่างกระโผลกกระเผลก ส่ายไปมา อีแมะก็พิงอกเราเอาหัวที่มีผมกลิ่นหืนเคลียอยู่ใกล้จมูก ข้าพเจ้าพยายามเบนหน้าหนีมันก็ไม่ค่อยพ้น พวกอีแมะดูจะสนุกกับการนั่งตักผู้ชาย คุยกันด้วยภาษายาวีของเธอ หัวเราะต่อกระซิกกันไปอย่างมีความสุข ถ้าถามว่า น้องหญิงนั่งตักอย่างนั้นไม่มีอารมณ์ทางเพศเกิดขึ้นบ้างหรือ ตอบได้เลยว่า ไม่มีอารมณ์อย่างว่านั่นเกิดเลยแม้แต่น้อยนิด จริง ๆ ด้วย สาบานให้ก็ได้เอ้า !
มีผู้ชายโบกมือข้างทางขอขึ้นรถไปด้วยอีก แต่ในรถไม่มีที่นั่งที่ยืนแล้ว เขาขอขึ้นไปนั่งบนหัวกระโปรงรถ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนั้นก็คิดจะเอาอย่างเขาบ้าง กะว่าพอรถจอดอีกทีจะลงไปขอนั่งบนหัวกระโปรงรถนั่น เสี่ยงการตกรถตายดีกว่าขาดใจตายเพราะกลิ่นน้ำมันตานีนี่
พอรถจอดที่หมู่บ้างอีกแห่งหนึ่ง มีชายวัยกลางคนลงไป ๑ หญิงขึ้นมาอีก ๑ ข้าพเจ้าขออนุญาตลงไปขึ้นนั่งบนกระโปรงหัวรถได้สมใจ พระเชือนไม่ยอมลง ทนนั่งให้อีแมะขี่ต่อไป นั่งบนกระโปรงหัวรถ หายใจโล่งจมูกโล่งอกมาก แต่เวลารถเลี้ยวต้องเกร็งตัว มือเกาะขอบกระโปรงรถแน่น รถเราผ่านหมู่บ้านไปโดยลำดับจนจะพ้นเขตอำเภอโคกโพธิ์ ต้องไต่ภูเขาเตี้ย ๆ ที่คั่นเขตแดนสะบ้าย้อย
พอรถแล่นขึ้นเนินเขา ข้าพเจ้าต้องเอาหลังพิงกรอบกระจกหน้ารถมือเกาะขอบกระโปรงแน่น พ้นสันเขาก็ต้องงุ้มตัวลงหน้าแนบกระโปรง มือเกาะขอบกระโปรงแน่นหลับตาปี๋ ภาวนาขอคุณพระคุณเจ้าช่วยคุ้มครองในขณะที่รถพุ่งตัวลงจากสันเขาอย่างน่าหวาดเสียว
เหมือนคุณพระช่วยให้ข้าพเจ้าเดินทางถึงวัดสะบ้าย้อย รอดตายได้อย่างที่เรียกว่า “เส้นยาแดงผ่าแปด” นั่นเทียว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๙๒ - เจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อยชื่อพระใบฎีกาจ้วน เป็นพี่ชายของพระเชือน รู้ว่าข้าพเจ้าเป็นพระมาจากกรุงเทพฯ ท่านก็ต้อนรับด้วยความยินดี ท่านบอกว่าเคยไปอยู่กรุงเทพฯ เรียนวิชาแพทย์แผนไทย ทั้งเภสัชโบราณและโบราณเวชในสำนักวัดพระเขตุพนฯ (วัดโพธิ์) มีความรู้ด้านยาแพทย์แผนไทยและการรักษาโรคแบบแพทย์แผนไทยพอสมควร จึงกลับบ้านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อย ข้าพเจ้าเรียกท่านว่า หลวงพี่ เพราะท่านอายุมากกว่าเกือบ ๒๐ ปีทีเดียว ท่านเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนต่อเพื่อนภิกษุทั่วไป และเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ชาวบ้านทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมไม่เลือกหน้า จึงมีคนเคารพนับถือยำเกรงไม่น้อย
วันแรกที่ข้าพเจ้าไปถึงวัดสะบ้าย้อยในเวลาประมาณ ๔ โมงเย็นแล้วนั้น รู้สึกอ่อนเพลียมาก เพราะตรากตรำในการนั่งรถเดินทางอย่างวิบากนั่นเอง หลวงพี่พระใบฎีกาจ้วนเห็นอาการไม่ดีของข้าพเจ้า จึงจัดยาให้กินชุดหนึ่งแล้วให้นอนพักผ่อนเลย คืนนั้นข้าพเจ้ามีอาการไข้ขึ้น ดีที่ยาของหลวงพี่พระใบฎีกาที่จัดให้กินก่อนนอนนั้นช่วยปะทะปะทังไว้ได้ ตื่นเช้าอาการยังไม่ดีขึ้น หลวงพี่ท่านจึงให้ต้มยาหม้ออันเป็นยาแพทย์แผนไทยให้กินต่อ โชคดีของข้าพเจ้าที่ไปพักอยู่กับพระหมอแผนไทยโบราณ อาการป่วยไข้จึงหายไปในเวลา ๓ วันเท่านั้นเอง
อำเภอสะบ้าย้อยมีความเป็นมาอย่างไร ข้าพเจ้าได้ข้อมูลมาว่าดังนี้.... “ความเป็นมา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ได้ปรากฏหลักฐานเอกสารราชการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เป็นเขตการปกครองของอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับการยกฐานเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า "กิ่งอำเภอบาโหย" ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลบาโหย โดยมีเขตการปกครอง ๕ ตำบล คือ ตำบลบาโหย ตำบลโมง ตำบลเปียน ตำบลเขาแดง และตำบลจะแหน ต่อมาได้ย้ายมาตั้งที่ตำบลโมง (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลสะบ้าย้อย) และเปลี่ยนชื่อจาก "กิ่งอำเภอบาโหย" เป็น "กิ่งอำเภอสะบ้าย้อย" เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ และมีเขตการปกครองจำนวน ๘ ตำบล (โดยเพิ่ม ๓ ตำบล คือ) ตำบลทุ่งพอ (แยกจากตำบลสะบ้าย้อย) ตำบลคูหา (แยกจากตำบลเขาแดง) ตำบลบ้านโหนด (แยกจากตำบลเปียน)
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับการยกฐานะเป็น "อำเภอสะบ้าย้อย" และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้เพิ่มเขตการปกครองอีก ๑ ตำบลคือ ตำบลธารคีรี (แยกจากตำบลบ้านโหนด และตำบลจะแหน บางส่วน)
อาณาเขตติดต่อ ๕ อำเภอ ๒ จังหวัด ๑ ประเทศ ทิศเหนือ ติดต่อ อ.เทพา ทิศใต้ ติดต่อ อ.กาบัง จ.ยะลา ทิศตะวันออก ติดต่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี อ.ยะหา จ.ยะลา ทิศตะวันตก ติดต่อ อ.นาทวี จ.สงขลา ประเทศมาเลเซีย
คำว่า "สะบ้าย้อย" เข้าใจว่า เป็นชื่อเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่มีผลเป็นฝักคล้ายสะตอ เมื่อผลสุกเมล็ดข้างในที่หุ้มเปลือกหนาจะมีเนื้อแข็งมาก ชาวบ้านนำมาใช้ในการละเล่นชนิดหนึ่ง เรียกว่า "การเล่นสะบ้า" ซึ่งมีมากในบึงแม่สะบ้าย้อย จึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อตำบลและอำเภอจนถึงทุกวันนี้”
ส่วนประวัติความเป็นมาของวัดสะบ้าย้อยนั้น พอได้ความว่า.... “วัดสะบ้าย้อยตั้งอยู่เลขที่ ๑/๑ บ้านสะบ้าย้อย ถนนชาญนุเคราะห์หมู่ที่ ๑ ตำบลสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่วัด ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา อาณาเขตบริเวณ ด้านหน้ายาว ๑๓๐ เมตร ด้านหลังยาว ๑๖๐ เมตร ด้านข้างด้านหนึ่งยาว ๗๐ เมตร อีกด้านหนึ่ง ยาว ๑๕๘ เมตร พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถ โครงสร้างไม้ กุฏิสงฆ์จำนวน ๗ หลัง โครงสร้างเป็นอาคารไม้ ๖ หลัง และครึ่งตึกครึ่งไม้ ๑ หลัง หอระฆังกว้าง ๓.๕ เมตร สูง ๔ เมตร โครงสร้างคอนกรีต และมีหอฉัน ๑ หลัง วัดสะบ้าย้อยสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยมี ท่านขุนนิวาสวุฒิกิจ กำนันตำบลสะบ้าย้อย ร่วมกับชาวบ้าน ดำเนินการสร้างวัดนี้ขึ้น เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๘๑ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร
เจ้าอาวาส มี ๓ รูป คือ
รูปที่ ๑ พระแดง รูปที่ ๒ พระสมุห์พรหมทอง ธมฺมสฺสโร รูปที่ ๓ พระสมุห์พรหมทอง รูปที่ ๔ พระใบฎีกาจ้วน สุปัญฺโญ”
ปีที่ข้าพเจ้าไปนั้น (๒๕๐๖) พระใบฎีกาจ้วนเป็นเจ้าอาวาส ต่อจากนี้ใครเป็นเจ้าอาวาสบ้างข้าพเจ้าไม่ทราบ เพราะกลับกรุงเทพฯ แล้วไม่ได้ย้อนคืนสงขลาเลย
หายป่วยไข้แล้วหลวงพี่ใบฎีกาจ้วนขอให้ข้าพเจ้าอยู่ต่อสักพักหนึ่ง ระหว่างนั้นข้าพเจ้าออกจากวัดเดินเที่ยวไปตามหมู่บ้านใกล้ ๆ วัดซึ่งมีทั้งหมู่บ้านไทยพุทธ หมู่บ้านไทยอิสลาม ที่นี่เขาไม่เคร่งครัดเรื่องภาษาพูดเหมือนท้องที่ปัตตานี จึงพอพูดคุยกับพวกเขารู้เรื่องพอสมควร คำภาษายาวีซึ่งท่องจำได้จากกระดาษโรเนียวที่หลวงพี่ชวนวัดชัยมงคลให้มานั้น ใช้ไม่ได้ เราพูดไปไม่ตรงสำเนียงเขาไม่รู้ฟัง เขาพูดมาก็ฟังสำเนียงเขาไม่รู้ ที่พูดตรงกัน คือ “ซาลามัด” ที่แปลว่าสวัสดีนั่นแหละ
คนไทยพุทธเล่าให้ฟังว่า ผู้หญิงอิสลามที่นี่ไม่ชอบทำการงาน ชอบแต่งตัวเดินกรุยกรายอวดโฉม ตอนเย็นสามีเธอกลับจากทำงานจะหุงข้าวต้มแกงไว้กินตอนเช้า ตอนตีสี่ตีห้าผู้ชายจะเข้าป่ายางทำการกรีดยาง พวกภรรยาทั้งหลายตื่นขึ้นก็กินข้าวปลาที่สามีทำไว้ให้ กินข้าวปลาอาหารกันแล้วก็แต่งตัวที่ตนเห็นว่าสวยที่สุดแล้วออกไปนั่งจับกลุ่มคุยกัน คำที่ชอบถามกันมากที่สุดคือ “เมื่อคืนกี่ที” หมายความว่าเมื่อคืนนี้ร่วมรักกับสามีกี่ครั้ง ส่วนใหญ่พวกเธอจะตอบไม่ตรงความจริง เช่นตอบว่า ๒ บ้าง ๓ บ้าง บางคนว่า ๕ เลย พอตอบแล้วก็หัวเราะกันคิกคัก ฟังเขาว่าแล้วก็ได้แต่ปลงแหละครับ
ที่นี่ชาวไทยพุทธกับอิสลามอยู่ร่วมสังคมกันได้อย่างกลมเกลียว ไม่เอาเรื่องเชื้อชาติศาสนามาเป็นเครื่องกีดขวางความเป็นอยู่ ข้าพเจ้าสังเกตดูว่าสาว ๆ อิสลามหน้าตาสะสวยขำคมกว่าสาวไทยพุทธ เคยพลั้งปากชมว่าเขาสวยน่ารักครั้งเดียว ตามข้าพเจ้าแจเลย หลวงพี่ใบฎีกาบอกว่า เขาจะเอาหลวงน้องเป็นผัวน่ะแหละ ถ้าหลวงน้องสึกออกไปเป็นผัวเธอ ก็เท่ากับว่าสึกออกเป็นเป็นขี้ข้าเลยนะ ต้องตื่นนอนแต่เช้ามืดเข้าสวนยาง กรีดยาง เก็บน้ำยาง สารพัดที่จะต้องทำ คนอิสลามนี่นี่ถ้าหากเอาพระสึกออกเป็นผัวได้เขาจะเป็นคนที่ได้รับการยกย่องมีหน้ามีตาในสังคมของเขา เพราะสามารถ “สึกพระ” ได้ และยิ่งเป็นพระมียศตำแหน่งอย่างพี่หลวงนี่เขาก็จะมีหน้ามีตามากเลย หลวงพี่ใบฎีกาจ้วนพูดจบก็หัวเราะแบบขำขันเสียเต็มประดา/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๙๓ - เป็นเรื่องเหลือเชื่อและไม่น่าเชื่อว่าจริง คือชาวบ้านไทยพุทธบอกเล่าให้ฟังความตรงกันหลายปากว่า คนอิสลามที่นี่เขาไม่ถือสาเรื่องการมีชู้สู่ชายของหญิงที่มีผัวอยู่ด้วยกัน เมียจะมีชู้ชายอีกสักกี่คนก็ได้ ผัวจะไม่หึงไม่หวง กลับภูมิใจที่เมียของตนเป็นคนมีค่าความงามเสน่ห์แรงที่พวกผู้ชายมาชมชอบ กลายเป็นว่าเมียช่วยเพิ่มบารมีให้ผัวด้วยการมีชู้เชยชม คิด ๆ ดูแล้วก็น่าจะจริงอย่างที่เขาว่า เพราะเห็นผู้ชายอิสลามมีเมียอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาได้หลายคน หญิงก็น่าจะมีชายชู้ได้หลายคนเช่นกัน ข้าพเจ้าไม่กล้าให้ล่ามไทยพุทธพาไปสัมภาษณ์พวกเธอให้ได้ยินจากปาก “อีแมะ” ทั้งหลาย เพราะกลัวเธอจะตามติดแจเหมือนนางคนที่เคยชมเธอว่าสวยน่ารักนั่นแหละ การมีชู้ของหญิงไทย สังคมไทยถือว่าเป็นเรื่องเสียหายเลวทรามมาก จนมีการกล่าวประณามว่า เป็นนางกากี นางโมรา นางวันทอง อีกหลายนางในวรรณคดที่มีชายชู้ชมหลายคน ผู้ชายมีคู่เชยชมหลายคนกลับไม่กล่าวประณามในทางเสียหายอะไร อย่างนี้เรียกได้ว่าผู้ชายไทยเห็นแก่ตัวมากไปไหม ? อิสลามที่นี่กลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม อันที่จริงถ้าสังคมโลกีย์คิดแบบคนอิสลามดังกล่าวแล้ว คงไม่มีเรื่องตบตี ฆ่าแกง ฟ้องร้องเป็นคดีความ อันเกิดจากการหึงหวงเป็นแน่ มองมุมนี้แล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกชอบคนอิสลามขึ้นมาเลย
พักอยู่ที่วัดสะบ้าย้อยข้าพเจ้าได้รับเอกลาภจากกิจนิมนต์งานบุญต่าง ๆ แทบไม่เว้นแต่ละวัน เพราะที่นี่มีพระน้อย งานบุญศพ บุญมงคลต่าง ๆ หลวงพี่พระใบฎีกาจ้วนให้ข้าพเจ้าไปร่วมพิธีทุกงาน และที่นี่ไม่มีไวยาวัจกร “ขี้โกง” เหมือนในเมืองสงขลา ข้าพเจ้าจึงรับจับเก็บเงินใส่ย่ามไว้มาทีเดียว ใกล้กำหนดเวลาที่จะกลับสงขลาแล้ว มีงานศพ ๒ รายที่เจ้าภาพมีอันจะกินหน่อย รายหนึ่งวันเผาศพเขานิมนต์ข้าพเจ้าเทศน์อานิสงส์การทำศพ ก็เป็นอานิสงส์เผาศพที่ข้าพเจ้าเคยอ่านคัมภีร์เทศน์หลายครั้งจนจำได้นั่นแหละ วันนั้นข้าพเจ้า “เทศน์ปากเปล่า” คือไม่ต้องอ่านคัมภีร์ใบลาน พอเทศน์จบเจ้าภาพพอใจมาก นอกจากเงินในขันกัณฑ์มีเงินหลายพันบาทแล้ว ยังควักกระเป๋าเพิ่มใส่ย่ามให้อีกห้าพันบาท จากนั้นอีก ๓ วันเป็นงานศพใหญ่ เจ้าภาพให้มีเทศน์แจงสวดแจง หลวงพี่ใบฎีกาจ้วนให้ข้าพเจ้าเทศน์แจงเดี่ยวโดยอ่านตามคัมภีร์ใบลาน ท่านบอกเจ้าภาพว่าพระเทศน์องค์นี้มาจากกรุงเทพฯ อยู่ที่เมืองสงขลา อีกสองวันจะกลับไปจำพรรษาวัดชัยมงคลในเมืองแล้ว ขอให้ติดกัณฑ์เทศน์มากหน่อย งานนี้ข้าพเจ้าได้เงินเป็นหมื่นบาทเลยทีเดียว
อยู่วัดสะบ้าย้อยได้ ๑๔ วันก็กราบลาหลวงพี่พระใบฎีกาจ้วนเดินทางกลับสงขลาด้วยความรักและอาลัย ขากลับนี่สบายหน่อย นั่งบนกองยางแผ่นในรถจิ๊บเดินทางถึงโคกโพธิ์อย่างปลอดภัยไร้ “อีแมะ” มาเกี่ยวข้อง ขึ้นรถเมล์ที่โคกโพธิ์กลับสงขลา เป็นความบังเอิญหรือไรก็ไม่รู้ รถเมล์คันนั้นเป็นคันเดียวกันกับวันที่นั่งจากหาดใหญ่ไปโคกโพธิ์นั่นเอง คนขับรถเห็นหน้ากันแล้วก็ยิ้มพยักหน้าชี้มือให้ข้าพเจ้านั่งตรงเก้าอี้ตัวเดิม พอรถแล่นออกพ้นเขตอำเภอโคกโพธิ์มาได้ไม่นาน คนขับรถถามข้าพเจ้าด้วยภาษาใต้ว่า “ตนไปไหนมา” ก็ตอบให้เขาทราบว่าไปเที่ยวสะบ้าย้อย จากนั้นก็พูดคุยกันอีกหลายประโยค ข้าพเจ้าถามเขาว่าเมื่อตอนมานั้น พอเข้าเขตโคกโพธิ์เขาทำไมไม่พูดด้วย เขาบอกว่าพูดไม่ได้หรอก คนในสี่จังหวัดภาคใต้นี่เขามีชาตินิยมรุนแรง รถโดยสารทุกคันเมื่อเข้าเขตของเขาแล้ว จะแหลงใต้หรือพูดภาคกลางไม่ได้ เขาจะจำเบอร์รถไปบอกต่อ ๆ กันไปว่า รถเบอร์นี้ไม่ใช่พวกเขา ขออย่าขึ้น พวกเราจึงต้องไม่พูดภาษาไทยให้เขาได้ยินเด็ดขาด ขืนพูดแล้วจะไม่มีใครขึ้นรถ ต้องไปเดินรถสายอื่นที่อยู่นอกเขตพวกเขา พวกเขาฟังและพูดภาษาไทยได้ เวลาเข้าเขตเทพา นาทวี สะบ้าย้อย เขาจะพูดไทยกับคนไทย พอกลับเข้าเขตของเขาก็จะพูดภาษายาวีอย่างเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้า “ถึงบางอ้อ” เมื่อคนขับรถเมล์ร่ายยาวให้ฟัง ความเป็นคนชาตินิยมเท่าที่รู้เห็นมา ไม่มีใครเกินคนไทยมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้เลยครับ
กลับถึงวัดชัยมงคลแล้ว เข้ากราบรายงานเรื่องราวที่ได้ไปพบเห็นมาให้ท่านเจ้าอาวาสฟัง ท่านฟังด้วยอาการสงบตามแบบของท่าน เล่าเรื่องจบแล้วเรียนถามว่า การที่อีแมะนั่งตักผมนั้นต้องปรับอาบัติสังฆาทิเสสในข้อหาจับต้องกายหญิงไหมครับ ท่านนั่งคิดนิ่งอยู่ชั่วครู่แล้วถามข้าพเจ้าว่า “ท่านมีความกำหนัดจับต้องกายเธอไหม” ตอบท่านว่า ไม่มีความกำหนัดเลยครับ มีแต่ความรู้สึกอึดอัด ใครว่าน้ำมันตานีหอม แต่เพราะผมไม่คุ้นเคยจึงไม่รู้สึกว่าหอมเลย
“การจะเป็นอาบัติสังฆาทิเสสหรือไม่นั้นมันขึ้นอยู่กับเจตนา ถ้าท่านมีความกำหนัดอยู่จับต้องกายหญิง จึงเป็นอาบัติสังฆาทิเสส เจตนาหรือไม่ท่านก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจตนเองนะ”
ท่านเจ้าวาสตอบประโยคยาว สรุปได้ว่าท่านก็ไม่รู้ว่าข้าพเจ้าถูกอีแมะนั่งตักจะเป็นอาบัติสังฆาทิเสสหรือไม่ ต้องใช้ “เจตนาจับด้วยกำหนัด” เจตนาหรือไม่คนอื่นรู้ไม่ได้ ตนเองเท่านั้นเป็นผู้รู้ได้เอง คำตอบนี้เหมือนท่านบอกให้ข้าพเจ้าตัดสินเองว่าเป็นอาบัติสังฆาทิเสสหรือไม่
ข้าพเจ้าจึงตัดสินเองว่า ไม่เป็นอาบัติ เพราะไม่มีความกำหนัดจับต้องกายหญิงด้วยเจตนา ดังพุทธวจนะที่ว่า “เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ” นั่นแล /
# เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” (วงการสงฆ์) ยังมีต่อไปอีกยาว ยังไม่จบง่าย ๆ ดอกครับ เพราะข้าพเจ้าบรรพชาอุปสมบท คือบวชเป็นสามเณรแล้วต่อด้วยพระภิกษุ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ใส่ชีวิตนักบวชของข้าพเจ้านานถึง ๒๐ พรรษา จึงลาสิกาออกมาเผชิญเวรกรรมในฆราวาสวิสัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คำให้การของนักบวชเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิตข้าพเจ้าแลนา.
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๙๔ - ชื่อบ้าน อำเภอในจังหวัดสงขลามีแปลกหูหลายแห่ง โดยเฉพาะจะทิ้งหม้อ จะทิ้งพระ คือสทิงหม้อ สทิงพระ นี่แปลกกว่าเพื่อน ข้าพเจ้าถามทานเจ้าอาวาสด้วยความสงสัยว่าจะทิ้งหม้อ จะทิ้งพระ นี่หมายความว่าอย่างไร ท่านว่า หมายความถึงแม่น้ำ ไม่ได้หมายความว่า จะทิ้งหม้อ คือ ไม่เอาหม้อแล้ว จะทิ้งพระ คือไม่เอาพระแล้วอะไรทำนองนั้น สทิงหม้อเป็นชื่อแม่น้ำ ลำคลองเชื่อมต่อ อ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลา เป็นชุมชนเก่าแก่ แหล่งผลิตเครื่องปันดินเผ่าใหญ่ที่สุดและดีที่สุดของภาคใต้ อยากรู้เห็นของจริงก็ลองไปเที่ยวดูให้รู้เห็นแก่ตาตัวเองเถิด
ท่านเจ้าอาวาสไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเกี่ยวกับสทิงหม้อมากนัก จึงมาค้นหาข้อมูลเอาเอง ได้ความว่า สทิง คือแม่น้ำ หรือลำคลอง คำนี้เพี้ยนเป็นจะทิ้ง และ จทึง ฉทึง ชรทึง สทึง ก็มี คำนี้ เขมรว่า สทิง หมายถึงแม่น้ำ ไม่รู้เหมือนกันว่า ภาษาเขมรเข้ามาเนาอยู่สงขลาได้อย่างไร เพี้ยนเป็นไทยว่า จะทิ้งหม้อ นี่ไกลจากความหมายมากไปหน่อย นามเดิมว่า สทิงหม้อ หมายถึงแม่น้ำที่มีการปั้นหม้อด้วยดิน ที่นี่เป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาแหล่งใหญ่ของสงขลา ดังมีเรื่องราวที่พอสรุปได้ว่า
“คลองสทิงหม้อ เป็นลำน้ำที่ผ่ากลางตามแนวยาวของคาบสมุทร ปลายคลองเริ่มจากบ้านป่าขวาง ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาที่ปากคลองบ้านสทิงหม้อ ความยาวประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ผ่าน ๕ ตำบล คือ สทิงหม้อ ทำนบ รำแดง ม่วงงาม และวัดขนุน แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าบรรพบุรุษได้ขุดดินขึ้นมาปั้นหม้อ หรือคลองนี้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่คลองสทิงหม้อ (จะทิ้งหม้อ) ก็เป็นเส้นทางคมนาคม ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของพื้นที่นี้มาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปี โดยดำรงอยู่ในลักษณะคลองธรรมชาติ มีพรรณไม้สองฝั่งคลอง แน่นทึบไปด้วยลำพู โกงกาง คูระ สะแก ตาตุ้ม เม่า โพทะเล ชายโขะ หมัน พลอง เนียน มะสัง แสงขรรค์ (เล็บเหยี่ยว) ปรง และลำเท็ง ริมตลิ่งมีรากลำพูและโกงกางกั้นเป็นพนัง ปกคลุมด้วยไม้เลื้อย โดยเฉพาะหนามหมอ (เหงือกปลาหมอ) เขาคัน ปด ฯลฯ พืชพรรณเหล่านี้หลายชนิดสามารถปรุงเป็นอาหารและใช้สอยได้นานาประการ
สมัยก่อน น้ำในคลองสทิงหม้อ เป็นน้ำที่ไหลเข้ามาจากทะเลสาบสงขลา จึงเป็นน้ำเค็มตลอดประมาณ ๑๐ เดือน ส่วนในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นระยะฝนชุกจะเป็นน้ำจืด การผสมผสานจานเจือของน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ทำให้ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ชุกชุม ริมฝั่งคลองจึงมีซุ้มยกยอตั้งเป็นระยะ ๆ นอกเหนือไปจากการจมไซ ลงเบ็ดราว ทอดแห และลงล่องช้อน หรือการจับด้วยมือเปล่า
คลองสทิงหม้อเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญของพื้นที่นี้ เมื่อ ๔๕ ปีที่แล้วพื้นที่แห่งนี้ไม่มีถนนสักสาย ประชาชนสัญจรโดยการเดินไปตามคันนา หรือไปทางเรือ เริ่มจากเรือพาย หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๘๘) เริ่มมีเรือใช้เครื่องยนต์เข้ามาวิ่งในคลองสทิงหม้อ ทำให้ผู้คนในพื้นที่นี้ ตั้งแต่วัดจันทร์ ม่วงงาม บางเขียด ชะแล้ ปากรอ วัดขนุน ชิงโค ต่างหลั่งไหลมาใช้คลองสทิงหม้อเป็นเส้นทางไปยังเมืองสงขลาหลัง พ.ศ.๒๕๐๔ ทางราชการเริ่มถมเส้นทางสายโบราณจากหัวเขาแดงขึ้นไปมีจุดหมายแรกที่อำเภอระโนด การคมนาคมทางน้ำของคลองสทิงหม้อเริ่มมีคู่แข่ง ทางจังหวัดเริ่มมีโครงการที่ชัดเจนขึ้น และตัดถนนอย่างจริงจัง และมีแพขนานยนต์ให้รถข้ามฟากไปยังเมืองสงขลาได้ ทำให้รถยนต์โดยสารเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนจึงนิยมใช้บริการรถโดยสาร แม้จะต้องนั่งคลุกฝุ่นไปก็ตาม เพราะความสะดวกและรวดเร็วกว่าหลายเท่า ทำให้เรือยนต์ในคลองสทิงหม้อค่อย ๆ หายไป คลองสทิงหม้อจึงเงียบสนิท ถูกทิ้งให้รกร้างอยู่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี.......”
แม่น้ำ ลำคลอง คือที่มาของคำว่า สทิง จทึง ด้งกล่าวแล้ว ส่วนคำว่า หม้อ มาต่อท้ายคำสทิง คงจะแปลว่า “หม้อน้ำ” ไม่ได้ เพราะหม้อคือภาชนะเครื่องปั้นดินเผามิใช่ปั้นเพื่อใส่น้ำอย่างเดียว ยังใช้เป็นเครื่องหุงข้าวต้มแกงด้วย หม้อในที่นี้จึงควรเป็นเครื่องปั้นดินเผาทุกชนิด ซึ่งพอจะค้นหาความเป็นมาของหม้อจากคลองนี้ได้ว่า
“สทิงหม้อ แหล่งปั้นดินเผาสงขลา เป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นอัตลักษณ์ของผู้คนที่มีอยู่ในชุมชนมาอย่างช้านาน เพิ่งจะถูกลบเลือนไปบ้างเมื่อไม่นานมานี้ จนเสมือน “ทิ้งทำหม้อ” ให้หายไปจากสทิงหม้อ อันเคยเป็นชุมชนโบราณในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คงเหลือเพียงร่องรอยของความเป็นเมืองท่า อีกทั้งยังมีแหล่งเครื่องปั้นดินเผาเครื่องใช้ในครัวเรือน โดยเฉพาะหม้อข้าวหม้อแกงดินเผา สวด และหวดนึ่งข้าวเหนียว ให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เครื่องปั้นดินเผาในสทิงหม้อที่ไม่เหมือนใคร กล่าวคือ เนื้อดินอันเป็นตัวของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะมีสีและความละเอียดต่างจากเครื่องปั้นแหล่งสำคัญ เช่น ปากเกร็ด นนทบุรี ลักษณะรูปแบบที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่นี่มี ๓ ชนิด คือ หม้อหุงต้ม หม้อสวดหรือสวดและเพล้ง สีผิวเป็นสีแดงเรื่อคล้ายสีหมากสุก เข้มกว่าสีของเครื่องปั้น จากซอยโรงอ่าง อำเภอเมืองปัตตานี ทั้งลายที่นี่เป็นของตนเอง ที่รับเข้ามาดัดแปลงเลียนแบบลวดลายจนมั่นใจได้ว่าเป็นของตนเอง ได้แก่ ลายก้านมะพร้าว ลายดอกจิก ลายดอกพิกุล ลายคิ้วนาง และลายลูกคลื่น ลายที่รับเข้ามาและดัดแปลงเลียนแบบมีลาย สิ่งเหล่านี้ยังบ่งบอกถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและตัวกระจายวัฒนธรรม เครื่องปั้นสทิงหม้อได้กระจายไปตามฝั่งทะเลด้านตะวันออก (อ่าวไทย) และฝั่งทะเลสาบสงขลาเกือบทั่วบริเวณภาคใต้ เครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อมีบทบาทเกี่ยวกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนใต้อย่างมาก คือ การหุงต้ม เครื่องใช้ในครัว เช่น หม้อ กระทะ เตาหุงข้าว ต้มแกง เป็นต้น”
เก็บข้อมูลต่าง ๆ ของสทิงหม้อได้พอสมควรแล้ว ชักขวนพระที่เป็นชาวสทิงหม้อในวัดชัยมงคลองค์หนึ่งไปเป็นเพื่อนเที่ยวชมสทิงหม้อ โดยไปทางเรือยนต์ ด้วยอยากชมทะเลสาบสงขลาด้วย เมื่อไปถึงสทิงหม้อ เวลานั้นไม่พบเห็นโรงงานปั้นเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ในความคาดคิดไว้ แต่เห็นร่องรอยซากของหม้อไหและภาชนะนานาที่แตกหัก ทั้งบนดินและจมดินอยู่ไม่น้อย โรงปั้นยังมียู่บ้างก็เป็นแบบครัวเรือน ได้พูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเป็นผู้รู้หลายท่าน รวมทั้งสมภารบ่อปาบซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ประจำตำบลสทิงหม้อ นัยว่าสร้างมาแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ.๒๒๖๙ (๒๙๒ ปีมาแล้ว) เดิมที่นี่คือเมืองสิงหนคร อันเป็นที่ตั้งเมืองสงขลา มีความตามประวัติเมืองสงขลาว่า
"เมืองสิงหนคร" เมืองโบราณอันเก่าแก่ของสงขลา เล่ากันว่าเมื่อครั้งเจ้าพระยากรุงทองสร้างเมืองสทิงพระ ได้มีเมืองสิงหนครเป็นเมืองจัตวา มีนามว่า "เมืองคชราชา” ตำนานที่มาของชื่อเมืองก็มีเรื่องเล่าอยู่ว่า เมื่อครั้งเจ้าพระยากรุงทองได้เดินล่องป่าไปยังทิศใต้ ได้พบกับช้างลักษณะดี ตรงตามลักษณะพราหมณ์ จึงนำช้างเชือกนั้นมาผูกเป็นช้างประจำเมือง ต่อมามีการตั้งชื่อเมืองตามช้างเชือกนั้นว่า "คชราชา" ซึ่งแปลว่า "ช้างของพระราชา" ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๙ ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ไม่ปรากฏชื่อของเจ้าเมืองในยุคแรกเริ่ม แต่ปรากฏครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๑๔๖ นั่นคือ ต่วนกูดะโต๊ะ โมกอลล์ (ดาโต๊ะ โมกอล) ที่ปกครองเมืองสิงขระนครในช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๑๔๖ – ๒๑๖๓ ตามที่ได้มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ของสยามและชาวต่างชาติ โดยมีการพูดถึงเจ้าเมืองสงขลาหัวเขาแดงว่าเป็นชาวมุสลิมจากดินแดนชวา
ในระยะแรกเจ้าเมืองสิงขระนครยอมเป็นเมืองขึ้นกับอยุธยา โดยทำกิจการแลกเปลี่ยนสินค้าระดับนานาชาติทำการค้าขายกับประเทศมหาอำนาจอย่าง อังกฤษ โปรตุเกส ฝรั่งเศส จีน อินเดีย และฮอลันดา บันทึกประวัติศาสตร์ของหลาย ๆ ประเทศ ได้มีการกล่าวถึงเมืองสิงขระนครเอาไว้ เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ดินแดนแห่งนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุด นานาประเทศหวังที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้าแบบผูกขาดกับเมืองสิงขระนคร เมืองสิงขระนครได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเดินหน้าอย่างรวดเร็ว และเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจต่อผู้ค้านานาประเทศ เมืองสิงขระนครได้สร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่สุดขึ้น มีการสร้างกำแพงเมือง ป้อมปืนใหญ่ และประตูเมือง จนทำให้สิงขระนครได้ชื่อว่า เมืองท่าที่มีป้อมปราการแข็งแรงที่สุดในภาคใต้
ภายหลังกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแผ่นดิน สุลต่านสุไลมานจึงประกาศอิสรภาพจากกรุงศรีอยุธยาและสถาปนาตนเองเป็น "สุลต่าน" เป็นรามาธิบดีแห่งสิงขระนคร ในช่วงสมัยของพระเจ้าปราสาททอง โดยพระองค์ได้ส่งทัพมาตีเมืองสิงขระนครหลายครั้งหลายครา แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากเมืองแห่งนี้มีป้อมปราการที่แข็งแรง และตั้งอยู่ชัยภูมิที่เหนือกว่า แต่ในที่สุดเมืองแห่งนี้ก็ถูกตีแตกโดยกองทัพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีพระบรมราชโองการยุบเมืองสุลต่าน ณ หัวเขาแดง กวาดต้อนกองกำลังและชาวบ้านลงเรืออพยพไป สิ้นความรุ่งเรืองเมืองสิงขระนครในที่สุด ก่อนที่จะย้ายตัวเมืองสงขลามาอยู่ด้านตะวันออกของปากอ่าวทะเสสาบสงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเทศบาลนครสงขลาในปัจจุบัน”
ความเจริญรุ่งเรืองของสทิงหม้อในนามสิงขระนครเสื่อมลงเมื่อตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา เหลือเพียงซากความเจริญทิ้งไว้ที่สทิงหม้อนี่เอง/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๙๕ - อยู่สทิงหม้อหนึ่งวันได้รู้เห็นความเป็นอยู่ของชาวสทิงหม้อพอสมควร ที่นี่มีต้นทับทิมปลูกไว้มากมาย ผลโต รสชาติดี คืนนั้นสมภารวัดบ่อปาบกล่าวว่า เมืองสิงหขระนครเป็นเมืองตรีของเมืองสทิงพระ เมื่อมาถึงเมืงสทิงหม้อแล้วควรไปให้ถึงสทิงพระซึ่งเป็นเมืองใหญ่งกว่าสทิงหม้อ ว่าแล้วท่านก็บอกเล่าประวัติย่อ ๆ ของเมืองสทิงพระให้ฟังดังต่อไปนี้
“ เมืองสทิงพระ เป็นบ้านเมืองเก่าแก่มีมาแต่ครั้งโบราณ มีวัดวาอารามโบราณมากมาย เป็นดั่งศูนย์กลางของพุทธศาสนาอีกเมืองหนึ่ง มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งในรูปแบบโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย ตามนิทาน ตำนาน เรื่องบอกเล่า เล่าเป็นมุขปาฐะสืบทอดมานั้น มักจะพูดถึงเรื่องการนำพระธาตุและพระพุทธรูปมาทิ้งไว้ในแม่น้ำ จึงเรียกว่า "จะทิ้งพระ" และเพี้ยนมาเป็น "สทิงพระ" แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ยังมีอีกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารและคำสันนิษฐานทางโบราณวัตถุ เช่น ซากกำแพงเมือง ระบุว่าเมืองแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองพัทลุงเก่า ส่วนคำว่า "จะทิ้งพระ" นั้น ได้จากหลักฐานและเอกสารเก่าแก่ ท่านเขียนไว้ว่า ชื่อ "จะทิ้งพระ" มาจากภาษาเขมรโบราณ เรียกว่าเมืองแห่งนี้ว่า “ฉทิงพระ” หรือ “จทิงพระ” ที่แปลว่า "แม่น้ำพระ" หรือ "คลองพระ" นั่นเอง ทุกวันนี้ คนจะทิ้งพระก็พูดแทนตัวเองว่าเป็นคน "สทิงพระ" ไปแล้ว
ที่มาของคำว่า “จะทิ้งพระ” มีตำนานกล่าวไว้ว่า “เมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา และ เจ้าฟ้าชายทันทกุมาร เป็นพระธิดาและพระโอรสของพระเจ้าโกสีหราชกับพระนางมหาเทวี ครองเมืองนครทันตะปุระ (ในประเทศอินเดีย) กาลนั้นเมืองทันตะปุระเกิดศึกสงคราม พระเจ้าโกสีหราชพ่ายแพ้จนถึงกับสิ้นพระชนม์ในสนามรบ เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าฟ้าชายทันทกุมาร จึงได้นำพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า หลบหนีออกจากเมืองทันตะปุระตามคำสั่งของพระชนก ลงเรือสำเภามุ่งสู่เกาะลังกา (ประเทศศรีลังกา) แล้วเดินทางผ่านหมู่เกาะอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย เข้าสู่ช่องแคบมะละกา มาออกอ่าวไทย จุดมุ่งหมายเพื่อนำพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุในพระเจดีย์ที่เมืองนครศรีธรรมราช... เมื่อล่องเรือสำเภามาถึงท่า เมืองพาราณศรี (เมืองสทิงปุระ ซึ่งเป็นเมืองพัทลุงเก่า) ตรงหาดมหาราชในปัจจุบัน เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา และเจ้าฟ้าชายทันทกุมาร ได้แวะจอดเรือเพื่อหาน้ำจืดดื่ม และสรงน้ำ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จขึ้นมาพักผ่อน ณ วัดแห่งนี้ และวางพระธาตุไว้ที่ฐานเจดีย์ เมื่อพักผ่อนหายจากเหน็ดเหนื่อย ทรงเดินทางกลับขึ้นเรือสำเภา ต่อไปยังเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งสองพระองค์ก็ลืมพระธาตุไว้... เจ้าฟ้าหญิงเหมชาลานึกได้ก็ตกพระทัย จึงถามเจ้าฟ้าชายทันทกุมาร น้องชายว่า... "น้องจะทิ้งพระธาตุเสียแล้วหรือ" คำ ๆ นี้เลยกลายเป็นชื่อเรียกสถานที่ วัด บ้าน ชุมชน สืบต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบันว่า... จะทิ้งพระ คำนี้นานมาก็กร่อนเป็น “สทิงพระ สทิงปุระ”
ทางสันนิษฐานทางโบราณคดีว่า สทิงพาราณศรี เป็นชื่อเมืองโบราณสองฝั่งทะเลที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน เป็นที่ตั้งของเมืองพัทลุงในอดีต ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาค ๑๕ บันทึกไว้ว่า... ”เมืองพัทลุงได้ตั้งมาก่อนสุโขทัย ตัวเมืองตั้งอยู่ที่สทิงพารณสี เจ้าเมืองชื่อพระยากรุงทอง ได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ และก่อพระเชตุพนวิหารขึ้น พร้อมกับวัดเขียนบางแก้วและวัดสทิงปุระ”
ฟังนิทานหรือตำนานเมืองสทิงพระสทิงหม้อแล้ว พอจะสรุปได้ว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญของเมืองคือพระเจ้ากรุงทองแห่งเมืองสทิงพระ ทรงสร้างพระมหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เข้าหญิงเจ้าชายสองพี่น้องนำหนีภัยสงครามมา ทิ้ง (ลืม) ไว้ ณ วัดนี้ และยังนำช้างลักษณะดี (ช้างเผือก ?) ผูกประจำเมืองให้นามว่า “คชราชา” ที่ตรงนั้นต่อมาเป็นเมืองสิงหขระ (สทิงหม้อ ) ทั้งสทิงพระ สทิงหม้อ คือเมืองพัทลุงเก่าแก่มีมาแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย โดยพระยาธรรมรังคัลร่วมกับพระครูอโนมทัสสี เมื่อจุลศักราช ๗๙๙ หรือปี พ.ศ. ๑๕๔๒ ต่อมาได้รับการบูรณะขี้นมาใหม่ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรสแห่งกรุงศรีอยุธยา ตามตำนานพระนางเลือดขาวกล่าวว่า เจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสีเป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้น หากจะพูดว่า สทิงพระ ให้กำเนิดเมืองพัทลุง สทิงหม้อ ให้กำเนิดเมืองสงขลา ก็คงไม่ผิดนักดอกนะครับ
ปัจจุบัน (วันที่ข้าพเจ้าไปเยือน) สทิงพระยังมีวัตถุพยานคือ ศาสนวัตถุสถาน ได้แก่วัดจะทิ้งพระที่ประกอบด้วย เจดีย์พระมหาธาตุ หรือเจดีย์พระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นเจดีย์รูประฆังคว่ำ หรือรูปโอ่งคว่ำแบบลังกา มีปลียอดแหลมอย่างเช่นพระบรมธาตุเจดีย์ที่นครศรีธรรมราช แต่ต่างกันที่ไม่มีรัตนบัลลังก์ เจดีย์มหาธาตุมีความสูงจากฐานถึงยอด ๒๐ เมตร ฐานกว้างด้านละ ๑๗ เมตร ฐานเดิมของเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ต่อมาในสมัยอยุธยา ได้มีการบูรณะเพิ่มเติมฐานเป็นแบบย่อมุมไม้ยี่สิบ ทั้ง ๔ ทิิศจะมีซุ้มพระ ประดับทิศละ ๑ ซุ้ม โดยประสมประสานสถาปัตยกรรมสมัยศรีวิชัยเข้ามา เช่น ทำเป็นมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดทำเป็นสถูปมีเจดีย์บริวาร ๔ มุม ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างเจดีย์คือพระเจ้ากรุงทองแห่งเมืองสทิงพระ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๕๔๒ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๔๗๗ เจดีย์พระมหาธาตุชำรุดทรุดโทรมมาก ได้มีการบูรณะองค์เจดีย์ขึ้นใหม่แต่ก็ยังคงลักษณะเดิมไว้
วิหารพระพุทธไสยาสน์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าวิหารพ่อเฒ่านอน เป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างโดยการก่ออิฐถือปูน สันนิฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. ๕) หน้าบันวิหารบริเวณด้านหน้าประดับด้วยปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ตอนล่างมีรูปยักษ์แบกเทวดา และลายไทย ส่วนด้านล่างมีรูปยักษ์แบกเทวดา และลายไทย นอกนี้ก็มีอุโบสถ หอระฆัง เป็นต้น
ข้าพเจ้าได้ชมวัดจะทิ้งพระ กราบพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธไสยาสน์ (พ่อเฒ่านอน) แล้วเดินทางกลับวัดชัยมงคลเมืองสงขลาโดยเรือยนต์ตามเส้นทางเดิมด้วยความประทับใจ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๙๖ - ได้เล่าให้ฟังแล้วว่า ข้าพเจ้าเดินทางไปเที่ยวชมเมืองเก่าสงขลา คือสทิงหม้อ เมืองเก่าพัทลุง คือสทิงพระ ทั้งสองเมืองนี้เดิมเป็นเมืองพี่เมืองน้องเหมือนพี่น้องท้องเดียวกัน นักโบราณคดีลงความเห็นว่าที่นี่คือเมืองพัทลุงเก่า ต่อมาเนืองสทิงพระย้ายไปทางตะวันตกองทะเลสาบ ตั้งเป็นเมืองพัทลุงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนสิงหม้อมีชื่อเดิมว่าสิงหขระปุระ-สิงหนคร ต่อมาย้ายข้ามเขาหัวแดงไปฝั่งอ่าวไทย เป็นเมืองสงขลาแหลมสน นักประวัติศาสตร์ปัจจุปันแยกนามเมืองนี้ออกตามยุคว่า “เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง (ก่อนพุทธศตวรรษ ที่ ๒๒ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓) ,เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน, เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง” กล่าวคือเมืองสงขลา ที่ตั้งอยู่สทิงหม้อ สทิงพระนั้น เรียกว่าเมืองสงขลาฝั่งเขาหัวแดง เมืองสงขลาที่ย้ายข้ามจากเขาหัวแดงมาตั้งอยู่ริมอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เรียกว่าเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน เพราะตั้งอยู่ ณ บริเวณแหลมสน สมิหลา วัดชัยมงคลที่ข้าพเจ้าไปพนักอยู่นั้นคือ เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง ซึ่งเป็นตัวเมืองปัจจุบัน
บ่อยางแยกออกเป็นสองเขต คือบ่อยางเขต ๑ กับเขต ๒ วัดชัยมงคลอยู่บ่อยางเขต ๒ ส่วนเขต ๑ นั้นเป็นย่านการค้าชุมชนใหญ่ที่เคลื่อนย้ายมาจากสงขลาฝั่งแหลมสน สมิหลา มีประวัติยาวนานตามความเรียงของสงขลาดังต่อไปนี้
“ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา มีประวัติความเป็นมาและมีอายุยืนยาวกว่า ๒๐๐ ปี โดยดูได้จากความเก่าแก่ของตึก อาคาร และบ้านเรือน ย่านเมืองเก่าแห่งนี้มีถนนที่สำคัญด้วยกัน ๓ สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม
ถนนนครนอก จะเป็นถนนที่ติดกับฝั่งทะเลสาบ ว่ากันว่าในอดีตบริเวณนี้เป็นท่าเทียบเรือเพื่อการค้าขายและขนส่งสินค้าจากต่างประเทศ ดูได้จากการมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันที่แห่งนี้ได้ชื่อว่า หับ โห้ หิ้น หรือที่ชาวสงขลาเรียกกันว่า โรงสีแดง โรงสีข้าวแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณริมทะเลสาบสงขลา มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกกิจการไปเนิ่นนานแล้ว สถานที่แห่งนี้ได้กลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่ เพื่อจะได้รู้ถึงประวัติ ความเป็นมา และวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต จนถึงปัจจุบัน
ถนนนครใน เป็นถนนที่อยู่ตรงกลางระหว่างถนนนครนอกและถนนนางงาม ถนนนี้มีสถานที่สำคัญ เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการอนุรักษ์ เสริมสร้างคุณค่า บ้านนครในเป็นบ้านไม้จีนแบบโบราณ และบ้านตึกสีขาว ภายในจะเป็นการจัดแสดงของเก่า การอนุรักษ์ของเก่าให้ได้ชมกัน
ถนนนางงาม เดิมชื่อ ถนนเก้าห้อง หรือเรียกว่า ย่านเก้าห้อง ถนนเส้นนี้เกิดจากการตัดถนน เพื่อเป็นเส้นทางในการประกอบพิธีสมโภชเสาหลักเมือง ถนนนางงามนี้มีสถานที่สำคัญ คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ศาลเจ้าพ่อกวนอู ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสงขลาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยสายเชื้อจีน
ถนนทั้งสามสายนี้มีเอกลักษณ์ทางด้านสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย ซึ่งก็ได้เกิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมจีน สถาปัตยกรรมชิโนยูโรเปียน สถาปัตยกรรมผสม และสถาปัตยกรรมร่วมสมัย สถาปัตยกรรมเหล่านี้ต่างก็มีความงดงามที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ย่านเมืองเก่าสงขลาแห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ สถาปัตยกรรม วั ฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี โดยมีการเล่าเรื่องราวจิตรกรรมผ่านฝาผนังของอาคารและบ้านเรือน เพื่อสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตของคนในท้องถิ่น และเพื่อเป็นสถานที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมจังหวัดสงขลาอีกด้วย
นอกจากเราจะได้ชมสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมแล้ว ย่านเมืองเก่าสงขลายังมีอาหารการกินที่หลากหลาย ทั้งอาหารคาวหวาน อาหารไทย อาหารจีน ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้าน สุกี้ยากี้นครใน ข้าวสตูเกียดฟั่ง ก๋วยเตี๋ยวหางหมู ก๋วยเตี๋ยวใต้โรงงิ้ว โรตีนางงาม ไอติมโอ่ง ขนมไข่เตาถ่าน คือมีหลากหลายร้านให้เลือกซื้อเลือกชิมอย่างมากจริง ๆ รวมไปทั้งการขายของฝากพื้นเมืองที่หารับประทานได้ยากมีให้เลือกซื้ออีกด้วย มาเที่ยวที่นี่ที่เดียวได้ครบเลย ทั้งอิ่มอก อิ่มใจ อิ่มท้อง และสถานที่แห่งนี้ยังสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวได้มากมายทีเดียว”
ถนนสามสาย คือนครนอก นครใน นางงาม ถือได้ว่าเป็นหัวใจของเมืองสงขลา ด้วยเป็นย่านเศรษฐกิจของเมืองนี้ ข้าพเจ้าชอบไปเดินดูโน่นดูนี่อย่างเพลิดเพลินเจริญใจ อาคารบ้านเรือนร้านค้าเก่า ๆ น่าดูน่าชม ดูไม่รู้เบื่อ เขาว่าถนนนครในเป็นถนนที่มีคนผู้ดีมีเงินอาศัยอยู่มาก นายทุนเงินกู้ทั้งหลายก็อยู่ในถนนสายนี้มากกว่าถนนสายอื่น เห็นจะจริงอย่างเขาว่า เพราะมีพระนวกะ (บวชใหม่) องค์หนึ่งของวัดชัยมงคล กล่าวยืนยันว่าจริงแท้แน่นนอน
พระประเสริฐ (รท.ประเสริฐ ศิริครินทร์) ก่อนบวชท่านเป็นข้าราชการกระทรวงมหาไทย มีตำแหน่งเป็นปลัดอำเภอ ท่านเล่าว่าเกิดและโตในตระกูลผู้ดีเก่าย่านถนนนครใน เรียนจบชั้นมัธยมจาก รร. วชิราวุธสงขลา แล้วไปเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ ม.จุฬาฯ จบปริญญาตรีแล้วสมัครเข้ารับรับราชการทหารเหล่าม้าที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ยศ รท. แล้วเห็นว่าอนาคตคงไม่ได้เป็นนายพล จึงโอนไปเป็นปลัดอำเภอ ปีนั้น (คือปีที่ข้าพเจ้าไปอยู่สงขลา) เขาลาบวชเอาพรรษา จึงได้รู้จักชอบพอกัน เขาพาข้าพเจ้าไปเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องในย่านถนนนครนอก นครใน และนางงาม หลายบ้านหลายคนจึงรู้แจ้งว่าพี่น้องในตระกูล ศิริครินทร์ ของพระประเสริฐ เป็นนายทุนเงินกู้ มีฐานอยู่ในขั้นเศรษฐีทีเดียว
พระประเสริฐบอกว่า คนสงขลาไม่ชอบใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย อยู่อาคารร้านค้าเป็นตึกรามเก่า ๆ ดูซอมซ่อ ไม่ตกแต่งให้หรูหราเหมือนชาวหาดใหญ่ ที่เขาสร้างและตกแต่งอาคารร้านค้าหรูหราสวยงามให้คนเห็นแล้วตื่นตาตื่นใจ แต่ว่าเงินที่เขาสร้างความสวยงามให้แก่ตลาดหาดใหญ่นั้น เป็นเงินกู้จากสงขลาทั้งนั้น นักธุรกิจการค้าชาวหาดใหญ่นั่งรถเก๋งมาขอกู้เงินจากชาวสงขลา แต่ชาวสงขลานั่งรถเมล์โดยสารไปเก็บดอกเบี้ยจากลูกหนี้ชาวหาดใหญ่ เรื่องนี้เป็นความจริง พระประเสริฐยืนยัน /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 ตนกู อับดุล ราห์มาน เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๙๗ - อยู่วัดชัยมงคลได้ประมาณ ๒ เดือนเศษ ข้าพเจ้าเริ่มคุ้นกับสถานที่และบุคคลมากขึ้น โดยเฉพาะกับพระประเสริฐ ปลัดอำเภอลาบวช ท่านอยู่กุฏิเดียวกับพ่อหลวงเซ่ง โดยพ่อหลวงเซ่งองค์นี้เป็นพระบวชเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านเป็นคนในตระกูลผู้ดีสงขลา และเข้าไปเรียนที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ เพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกับท่านคนหนึ่งต่อมาเป็นบุคคลสำคัญของพระเทศมาเลเซีย คือท่าน ตุนกู อับดุล ระฮ์มัน (ตนกู อับดุล ราห์มาน) นายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งมาเลเซีย ท่านเล่าว่าเป็นเพื่อนรักกันมากจึงไปมาหาสู่กับตนกู อับดุล ราห์มาน เป็นประจำตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ข้าพเจ้ากับพ่อหลวงเซ่งคุยกันถูกคอ เพราะอัธยาศัยต้องการ วันหนึ่งพระประเสริฐกล่าวชักชวนว่า ก่อนเข้าพรรษาเราไปเยี่ยมเยือนท่านตนกู อับดุล ราห์มัน กันดีไหม พ่อหลวงเซ่งตกปากรับคำว่าก็ดีเหมือนกัน จึงนัดวันเดินทางไปด้วยกัน ๓ องค์
พ่อหลวงเซ่งจัดการเรื่องวิธีการเดินทางไป อิโปห์ เมืองหลวงของรัฐเปรัก นั่งรถยนต์ไปผ่านด่านไทยมาเลเซียที่สะเดาอย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร ตอนนั้นท่านนายกรัฐมนตรีตนกู อับดุล ราห์มานพำนักอยู่ที่เมืองอิโปห์ พ่อหลวงเซ่งพาเราเข้าพบอย่างสะดวกสบายมาก ท่านต้อนรับเราเป็นอย่างดี พ่อหลวงเซ่งแนะนำว่าข้าพเจ้าเป็นคนไทยภาคกลาง จากกรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่วัดชัยมงคลสงขลา ท่านนายกตนกูสนทนากับข้าพเจ้าด้วยภาษาไทยชัดเจน ท่านบอกว่าเข้าไปเรียนที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ตั้งแต่เป็นเด็ก จึงรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยดีพอสมควร ท่านว่ากำลังสร้างวัดพุทธขึ้นบนเนินเขาเตี้ย ๆ ในเมืองอิโปห์วัดหนึ่ง อยากได้พระภิกษุไทยมาอยู่ประจำเป็นหลักสักองค์ “ใต้เท้า (เรียกสรรพนามข้าพเจ้าว่าใต้เท้า) ถ้าไม่ติดภารกิจใดในเมืองไทย กระผมขอนิมนต์มาอยู่วัดที่สร้างใหม่นี้ได้ไหม” พ่อหลวงเซ่งรีบสนับสนุนให้ข้าพเจ้ารับปากท่านนายกฯ ทันที
พระประเสริฐถามแทรกขึ้นว่า “จะไม่มีปัญหาเรื่องศาสนาอิสลามกับพุทธหรือ เพราะชาวมาเลส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามอยู่แล้ว”
ท่านนายกฯ ตอบว่า “ไม่เป็นปัญหา เพราะคนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่นับถือศาสนาพุทธและถือเจ้ามากกว่าอิสลาม ชาวมาเลที่ถือศาสนาอิสลามก็ไม่เคร่งครัดนัก ถ้าใต้เท้ายินดีมาอยู่ที่นี่ ก็จะให้เป็นเจ้าอาวาสและทำเรื่องให้ใต้เป็นคนสองสัญญาชาติคือไทย มาเลเซีย เข้าออกไทยมาเลเซียได้อย่างสะดวกสบายเลย”
ได้คำตอบอย่างนั้น พระประเสริฐก็เห็นดีด้วย ท่านเป็นปลัดอำเภอ เรียนจบปริญญาทางรัฐศาสตร์ จึงรู้เรื่องการโอนสัญชาติดี จึงสนับสนุนให้ข้าพเจ้ารับปากเป็นสมภารวัดใหม่ของท่านนายกตนกู แต่ข้าพเจ้ายังไม่กล้าตัดสินใจ ท่านนายกตนกูบอกว่า “ไม่เป็นไรครับใต้เท้า ยังไม่ต้องรีบรับปากวันนี้หรอก กลับไปจำพรรษาที่สงขลาแล้วคิดใคร่ครวญให้ดี ออกพรรษาแล้วะถ้าตกลงปลงใจก็ให้หลวงเซ่งพามาหาโยมได้เลย”
พ่อหลวงเซ่งก็รับว่าถ้าข้าพเจ้าตกลงใจมาอยู่อิโปห์ก็จะพามา ถ้าไม่ตกลงก็จะหาพระองค์อื่นมาแทน ท่านนายกตนกูบอกว่าดีแล้ว ถ้าหาพระมาอยู่ไม่ได้หลวงเซ่งก็มาอยู่ด้วยกันนะ หลวงพ่อเซ่งตอบรับด้วยเสียงหัวเราะ ฮ่าๆ ครั้นพักอยู่อิโปห์ได้ ๓ คืน พ่อหลวงเซ่งก็พากลับวัดชัยมงคลโดยข้าพเจ้าพกพาปัญหาหนักใจกลับมาด้วย
จริง ๆ แล้วใจอยากจะไปอยู่อิโปห์ แต่ไม่อยากเป็นสมภารวัด เพราะการเป็นสมภารเจ้าวัดนั้นต้องแบกรับภาระมากเกินไป ไหนจะปกครองดูแลและอบรมสั่งสอนพระเณรเด็กวัดและทายกทายิกา ไหนจะต้องบูรณะซ่อมแซมก่อสร้างเสนาสนะสงฆ์ ไหนจะต้องสอนพระปริยัติธรรมให้ความรู้ด้านปริยัติศาสนาแก่พระภิกษุสามเณร อะไรต่อมิอะไรอีกจิปาถะ ภาระดังกล่าวข้าพเจ้าเห็นว่าตนเองคงจะรับไม่ไหวแน่ และที่สำคัญสุดก็คือ ข้าพเจ้าไม่คิดจะอยู่ในผ้าเหลืองจนตาย
ในเรื่องการเขียนกลอนข้าพเจ้าเพลาลง เพราะใช้เวลาหมดไปกับการท่องเที่ยวมากกว่าจะคิดเขียนกลอน สิ่งสำคัญคือแรงจูงใจในการเขียนกลอนอ่อนกำลังลง อยู่วัดชัยมงคลไม่มีวิทยุฟังรายการกลอนเหมือนอยู่ภาคกลาง หลังกลับจากอิโปห์ ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ถ้าเหงาก็น่าจะเอาวิทยุของมหาปานที่ฝากไว้ไปฟังแก้เหงาได้นะ สบโอกาสดังนั้นจึงเอาเครื่องรับวิทยุของมหาป่านไปเปิดฟังทั้งวันทั้งคืน แต่คลื่นเสียงวิทยุที่สงขลารับฟังได้ไม่มากนัก ส่วนใหญ่คนสงขลาจะฟังวิทยุสถานี ว.ป.ถ.หาดใหญ่ของทหารสื่อสาร คลื่นส่งแรงมาก สถานีวิทยุ จ.ท.ล. ของทหารลพบุรี รับฟังได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะระยะทางไกลเกินไป ข้าพเจ้าพยายามให้เด็กที่เรียนวิทยาลัยเทคนิคช่วยจูนเสียงให้ ดีที่เวลากลางคืนอากาศอำนวยให้พอรับฟังรายการกวีสวรรค์ได้ จึงได้แรงจูงใจในการเขียนกลอนเพิ่มขึ้น พระประเสริฐเคยแต่งกลอนสมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ จึงร่วมฟังรายการและเขียนกลอนส่งบ้าง แม้ไม่มากนัก ก็พอคลายเหงาได้บ้าง/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๙๘ - กลอนและเพื่อนนักกลอนนี่แหละเป็นตัวการที่ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจไปอยู่อิโปห์ พระประเสริฐกลายเป็นเพื่อนคู่หูของข้าพเจ้า ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ เขาให้ความรู้ทางสังคม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และอื่น ๆ มากกมายที่ข้าพเจ้าไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลย ส่วนข้าพเจ้าก็ให้ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา พระธรรมวินัยแก่เขา เกี่ยวกับประเทศมาเลเซียนั้นพระประเสริฐได้รวบรวมข้อมูลมาให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้อย่างย่อดังต่อไปนี้
“ วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐ : ประเทศมาเลยเซีย (Malaysia) ได้รับเอกราชจากอังกฤษ หลังจากที่ถูกยึดเป็นอาณานิคมมาตั้งแต่ปี ๒๓๒๙ มีเมืองหรือรัฐในปกครองทั้งสิ้น ประกอบด้วย ๑๓ รัฐ แบ่งการปกครองออกเป็น ๒ ส่วน คือมาเลเซียตะวันตก บริเวณคาบสมุทรมาเลย์ ประกอบด้วย ๑๑ รัฐ และส่วนของมาเลเซียตะวันออกมี ๒ รัฐ อยู่ติดกับประเทศบรูไนและอินโดนีเซีย เมืองหลวงคือกัวลาลัมเปอร์ มีประชากรหลากหลายทางเชื้อชาติ โดยประกอบด้วยชาติพันธุ์มาเลย์ จีน อินเดีย ชนพื้นเมือง ไทยและอื่น ๆ ประชากร ๕๕% นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ ๒๕% ศาสนาคริสต์ ๑๓% และฮินดูอีก ๗% ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการ ใช้เงินสกุลริงกิต รัฐธรรมนูญของมาเลเซียได้บัญญัติให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ พร้อมให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม อาทิ ได้รับเงินอุดหนุนทางด้านการศึกษา สาธารณะสุข การคลอดบุตร งานแต่งงานและงานศพ มาเลเซียปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดี (Yang-diPertuan Agong) เป็นประมุข ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากเจ้าผู้ปกครองรัฐ ๙ แห่ง และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลสหพันธรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ แร่ดีบุก (อันดับหนึ่งของโลก) สินค้าการเกษตรโดยเฉพาะยางพารา และข้าวเจ้า”
ดินแดนนี้ในตำนานไทยเรียกว่าแหลมมลายู สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีไทย มีข้อความจารึกไว้ในแท่งศิลาว่าอาณาเขตของสุโขทัยจากศรีธรรมราชมีทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว หมายถึงแหลมมลายูทั้งหมดนี้อยู่ในเขตปกครองของสุโขทัยด้วย ต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ดินแดนแถบนี้ก็อยู่ในปกครองของกรุงศรีอยุธยาเป็นบางครั้งบางคราว ตกมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อังกฤษได้เข้ามาครอบครองดินแดนนี้ไว้ทั้งหมด หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชาวมลายูรวมตัวกันเรียกร้องความเป็นเอกราชให้แก่พวกตน โดยมี ตนกู อับดุล ราห์มาน เป็นหนึ่งในผู้นำการเรียกร้องเอกราช จนที่สุดอังกฤษก็ยอมให้เอกราชแก่พวกเขาเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้นมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ตนกู อับดุล ราห์มาน จึงได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก อยู่ในตำแหน่งมาถึงปีนี้ (๒๕๐๖) นานได้ ๖ ปีแล้ว
ดูปูมหลังของมาเลเซียแล้วก็ไม่น่าแปลกใจหรอกที่ ตนกู อับดุล ราห์มาน จะมาเป็นเด็กนักเรียน รร.เทพศิรินทร์ ที่กรุงเทพฯ เพราะสมัยนั้นหลายเมืองของมาเลย์ขึ้นอยู่ในปกครองของสยามประเทศ เด็ก ๆ ที่หวังความก้าวหน้าจึงพากันเข้ามาเรียนกันในกรุงเทพฯ เหมือนกับเขาเป็นคนของสยามประเทศนั่นเอง
คนเมืองสงขลาเมื่อปี ๒๕๐๖ นั้น ที่เป็นชาวพุทธล้วนใจบุญสุนทรทาน เข้าวัดทำบุญกันทุกวันพระ เฉพาะที่วัดชัยมงคลนั้นใช้ศาลารายรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์เป็นที่ให้ทานรักษาศีลฟังธรรมกัน ด้วยที่วัดนี้ไม่มีศาลาการเปรียญเหมือนวัดในภาคกลาง แต่ศาลารายรอบพระมหาธาตุเจดีย์ก็กว้างขวางพอที่จะใช้แทนศาลาการเปรียญหลังขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี
ทุกวันพระแปดค่ำสิบห้าค่ำ จะมีทายกทายิกาทุกเพศทุกวัย นำอาหารหวานคาวมาทำบุญกันมากบ้างน้อยบ้างตามแต่โอกาสอำนวย ถวายอาหารพระรับพรตามประเพณีแล้ว ใครมีเวลาว่างจะอยู่รักษาอุโบสถฟังธรรมก็อยู่วัดต่อ ใครไม่ว่างมีการงานอะไรก็กลับไปทำธุรการงานของตนต่อไป
คนที่อยู่รักษาอุโบสถฟังธรรมเจริญภาวนาแต่ละวันพระมีไม่มากนัก ทางวัดจัดให้มีการแสดงธรรมวันละ ๓ เวลา คือเช้า บ่าย ค่ำ ภาคเช้าจะเริ่มการแสดงธรรมเวลาประมาณ ๐๙.๓๐ น.เป็นต้นไป ภาคบ่ายจะเริ่มเวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นต้นไป ภาคค่ำจะเริ่มเวลา ๑๙.๐๐ น. เป็นต้นไ ป พระที่แสดงธรรมก็เลือกเอาพระในวัดนั่นเอง โดยให้พระที่จะแสดงธรรมนั้นเลือกเรื่องในคัมภีร์เทศน์ (ใบลาน) ที่ทางวัดมีอยู่มากมายนั้น เอามาอ่านให้ทายกทายิกาฟัง บางองค์มีการเตรียมตัวดี เลือกคัมภีร์เทศน์ไปอ่านทบทวนดูก่อนนำขึ้นสู่ธรรมาสน์เทศน์ บางองค์ไม่ได้เตรียมตัวเลย พระประเสริฐบอกว่าพระเทศน์แต่ละองค์อ่านหนังสือให้ฟังตะกุกตะกักน่าเบื่อหน่ายรำคาญมาก ดูเหมือนพระจะไม่เต็มใจเทศน์ เพราะเห็นมีคนฟังน้อย บางวันก็มีคนฟังเยง ๕ คน เท่านั้นเอง
วันพระหนึ่งใกล้จะถึงวันพระใหญ่เข้าพรรษาแล้ว ข้าพเจ้ารับเวรเทศน์ตอนเช้า เลือกคัมภีร์เทศน์เป็นแบบนิทานธรรมคือ “วิมานวัตถุ” เล่าเรื่องคนทำคุณงานความดีอะไรตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นไหน คัมภีร์เทศน์นี้ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่ามีมากกึงร้อยเล่มหรือไม่ แต่เห็นมีอยู่ในตู้พระธรรมของวัดเต็มเลย วันนั้นข้าพเจ้าอ่านคัมภีร์เทศน์อย่างเต็มเสียง ชัดถ้อยชัดคำ วางจังหวะทำนองอย่างภาคกลาง สังเกตดูกิริยาคนฟังเห็นเขาตื่นตัวตั้งอกตั้งใจฟังกันมาก ท่านเจ้าอาวาสนั่งฟังเป็นประธานสงฆ์อยู่ก็ฟังด้วยความตั้งใจ พอเทศน์จบลงจากธรรมาสน์ พระประเสริฐเข้ามายกมือไหว้กล่าวชมว่า “ต้นเทศน์ดีมาก อยากฟังอย่างนี้ต่ออีกครับ” หัวหน้าทายกก็คลานเข้ามายกมือไหว้กล่าวว่า ตอนบ่ายขอให้เทศน์เรื่องอย่างนี้ต่อได้ไหมครับ ท่านเจ้าอาวาสเห็นดีด้วยจึง ขอให้ข้าพเจ้าเทศน์ทั้งภาคบ่ายและภาคค่ำเลย ข้าพเจ้าจึงต้องไปเลือกคัมภีร์ใบลานเรื่องวิมานวัตถุหลายเล่มมาเตรียมไว้เทศน์ต่อ ข่าวการอ่านคัมภีร์เทศน์ด้วยลีลาพระภาคกลางของข้าพเจ้าแพร่ไปในหมู่คนใจบุญทั่วไป ทำให้เขาอยากฟังกันอีก
วันพระต่อมาเป็นวันพระใหญ่คือวันอาสาฬหบูชา ภาคเช้าท่านเจ้าอาวาสขอให้ข้าพเจ้างดเทศน์เรื่องวิมานวัตถุไว้ก่อน จะขอให้หลวงพี่พระมหาแฉล้มเทศน์เรื่องอาสาฬหบูชา หลวงพี่มหาแฉล้มขอตัวอ้างว่าท่านเป็นหวัดอยู่ไม่อาจแสดงธรรมได้ ท่านเจ้าอาวาสถามพระอาวุโสองค์อื่น ๆ ว่าใครจะแสดงธรรมเรื่องอาสาฬหบูชาได้บ้างไหม ปรากฏว่าทุกองค์เงียบงันอยู่ ที่สุดท่านก็หันมาทางข้าพเจ้า
“คุณอภินันท์เทศน์ได้ไหม”
ข้าพเจ้าตอบว่า “ยังไม่เห็นคัมภีร์เทศน์เรื่องนี้เลย ถ้าจะต้องเทศน์ก็ขอใช้ความจำจากพระพุทธประวัตินำมาเล่าให้ฟังในแบบเทศน์พอจะได้ครับ”
พระเชือน กับพระประเสริฐ ก็กล่าวสนับสนุนว่า “เทศน์ปากเปล่าได้ก็ดีซีครับ”
ท่านเจ้าอาวาสเห็นด้วยจึงตกลงให้ข้าพเจ้าเทศน์ปากเปล่าเรื่องอาสาฬบูชา แต่ข้าพเจ้าขอเปลี่ยนเวลาเทศน์ คือภาคเช้าขอเทศน์ตามคัมภีร์เรื่องวิมานวัตถุว่าด้วยรักษาศีลแล้วตายไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ ส่วนภาคบ่ายต้องลงอุโบสถฟังสวดพระปาฏิโมกข์กันตามธรรมเนียม การเทศน์ปากเปล่าเรื่องอาสาฬหบูชาขอยกไปแสดงภาคค่ำ ก่อนการเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ จะแสดงเรื่องราวความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชาต่อไป ก็เป็นอันตกลงกันตามนี้/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๙๙ - อันที่จริงการเทศน์ปากเปล่าโดยไม่อ่านคัมภีร์ใบลานนั้น ข้าพเจ้าเคยเทศน์มาตั้งแต่สมัยเป็นสามเณรอยู่วัดบางซ้ายใน ดังที่เคยให้การไว้แล้ว จึงไม่เป็นการยากที่จะมาเทศน์ปากเปล่าเรื่องวันอาสาฬหบูชาที่วัดชัยมงคลนี้ การเรียนนักธรรมชั้นตรี โท เอก วิชาที่ข้าพเจ้าชอบและได้ผลการเรียนยิ่งคือ วิชาพุทธประวัติ อนุพุทธประวัติ และพุทธานุพุทธประวัติ เรื่องวันวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชา เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าจำได้ดีจนสามารถนำไปพูดให้คนฟังเข้าใจเรื่องได้ไม่ยากเลย
บ่ายโมงวันนั้นพระภิกษุวัดชัยมงคลทุกองค์ลงอุโบสถ คือเข้าประชุมพร้อมกันในอุโบสถเพื่อประกอบสังฆกรรมสวด ฟังพระปาฏิโมกข์ อุโบสถวัดชัยมงคลกาลนั้นโรงอุโบสถเก่ามาก หลังไม่มีเพดาน พระสวดปาฏิโมกข์ได้ในวัดนี้มีองค์เดียว พิธีการสวดและฟังพระปาฏิโมกข์จะเหมือนกันทุกวัด คือมีธรรมาสน์เล็กตั้งตรงหน้าพระประธาน พระภิกษุจะนั่งล้อมวงในรูปเกือกม้า ข้างธรรมาสน์สวดพระปาฏิโมกข์จะมีโต๊ะเล็กวางหนังสือพระปาฏิโมกช์สำหรับตรวจทาน มีภิกษุหูไวตาไวนั่งอ่านคำสวดตามเสียงที่พระสวดนั้นทุกคำมิให้คลาดเคลื่อนขาดตกแม้แต่น้อย ถ้าสวดผิด หรือตกคำ ก็จะทักให้หยุดแล้วสวดตรงนั้นใหม่ ขณะทำสังฆกรรมนี้ห้ามอนุปสัมบันคือฆราวาสเข้าไปในเขตอย่างเด็ดขาด แม้ภิกษุที่มิได้เข้าร่วมแต่ต้นก็ห้ามเข้าหลังจากเริ่มทำสังฆกรรมนั้น ถ้าขณะสวดมีคนนอกเข้าไปถือว่าสังฆกรรมนั้นเสีย ต้องเริ่มต้นทำกันใหม่
วันนั้นพระสวดท่านสวดไปแหงนมองหลังคาโบสถ์สอดส่าสายตามองไป เห็นตะกวดตัวหนึ่งนอนอยู่บนขื่อ ปากที่สวดคำบาลีของท่านก็พลั้งคำออกไปว่า “แลน” พระที่ตรวจทานยกมือขึ้นร้องว่า “หยุด ไหนแลนไหน หามีไม่” ผู้สวดก็ยกมือชี้ไปบนหลังคาว่า “โน่น แลนโน้น” ทุกองค์มองตามมือชี้เห็นแลน (ตะกวด–เหี้ย) นอนแลบลิ้นอยู่ก็พากันหัวเราะ การสวดพระปาฏิโมกข์วันนั้นต้องยุติลงเพียงแค่นั้น เจ้าอาวาสท่านว่า “สังฆกรรมเสียไปแล้ว” นี่ก็เป็นประสบการณ์แปลกสำหรับข้าพเจ้า
ใกล้ค่ำวันนี้อากาศโปร่งเย็นสบาย มีผู้คนพากันทยอยเข้าวัดชัยมงคลเพื่อร่วมบุญพิธีอาสาฬหบูชากันเป็นร้อยคนทีเดียว ข้าพเจ้าเตรียมตัวเรียบร้อยพร้อมอยู่ที่กุฏิจนได้เวลาประมาณ ๑๘.๔๐ น. จึงเดินทางกุฏิไปที่ประกอบพิธีอาสาฬหบูชา ณ ศาลารายรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์ ทางวัดจัดตั้งเครื่องกระจายเสียงรอบพระมหาธาตุเจดีย์ทั้งสี่ทิศ ก่อนพิธีกรรมจะเริ่มขึ้นทายกได้ประกาศให้ประชาชนทราบกำหนดการว่า กำหนดการเดินเวียนเทียนรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์ประมาณ ๒๐.๓๐ น. ก่อนการเวียนเทียนจะมีพระธรรมเทศนาเรื่องวันอาสาฬหบูชา แสดงโดยพระอภินันทภิกขุ จากกรุงเทพฯ ที่มาจำพรรษา ณ วัดชัยมงคลนี้ ขอเชิญทุกท่านร่วมฟังพระธรรมเทศนาโดยพร้อมเพรียงกัน สถานที่ภายในธรรมสภาศาลานี้หากไม่พอเพียง ก็ขอให้ทุกท่านหาที่นั่งที่ยืนภายนอกฟังจากเครื่องกระจ่ายเสียงได้ตามสบาย
ข้าพเจ้าเริ่มเทศนาเวลาประมาณ ๑๙.๒๐ น. ทายกนำไหว้พระสมานทานศีลแล้วอาราธนาธรรม ข้าพเจ้าเริ่มเทศน์ตามแบบของตนเอง ว่านะโมสามจบแล้วต่อด้วย พุทธังสะระณัง คัจฉามิ ธัมมังสะระณัง คัจฉามิ สังฆังระณัง คัจฉามีติ. ณ บัดนี้อาตมภาพจักแสดงเทศนาเรื่องวันอาสาฬหบูชา เพื่อเป็นเครื่องเจริญศรัทธาท่านสาธุชนทั้งหลาย ที่พากันมาน้อมรำลึกถึงคุณพระรตนตรัยในวันอาสาฬบูชา อันเป็นวันคล้ายวันที่สมเด็จเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ยังพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรให้เป็นไป จนเกิดพระสังฆรตนะขึ้นในวันนี้เป็นครั้งแรก เรื่องราวโดยพิสดารเป็นอย่างไรอาตมะจะขอพักไว้ ในวันนี้จักขอนำมาแสดงโดยย่นย่อพอได้ใจความดังต่อไปนี้
ครั้นกล่าวอารัมภบทจบแล้วก็เริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่สิทธัตถะมหาบุรุษออกผนวชได้ ๖ ปี จนเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชร า ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แล้วเสวยวิมุติสุขอยู่รอบบริเวณนั้น ๖ สัปดาห์ ทรงรำพึงถึงถึงผู้ที่จะรับสดับพระธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วตกลงพระทัยจะเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ฤๅษีทั้งห้าคือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ที่เคยอยู่ปฏิติดูแลพระองค์ขณะบำเพ็ญเพียรทางกาย แล้วหมดหวังจึงพากันหลีกไปสร้างอาศรมอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะ (ป่าเป็นที่ตกไปแห่งฤๅษี) มฤคทายวัน (ป่าสงวนไว้เลี้ยงเนื้อ) จึงเสด็จพุทธเนินไปโดยลำดับ จนถึงอาศรมปัญญจวัคคีย์ในเพลาเย็นของวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ เมื่อเหล่าปัญจวัคคีย์มองเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ก็นัดหมายกันว่าจะไม่ทำการลุกต้อนรับ ไม่ให้ทำการอภิวาทและไม่รับบาตรจีวร แต่ให้ปูอาสนะไว้ ถ้าทรงประสงค์จะนั่งก็นั่ง แต่ถ้าไม่ประสงค์ก็แล้วไป
แต่ครั้นพระองค์เสด็จถึงต่างก็ลืมกติกาที่ตั้งกันไว้ พากันลุกขึ้นและอภิวาทกราบไหว้ และนำน้ำล้างพระบาท ตั่งรองพระบาท ผ้าเช็ดพระบาทมาคอยปฏิบัติ พระพุทธเจ้าได้เสด็จประทับบนอาสนะ ทรงล้างพระบาทแล้ว เหล่าปัญจวัคคีย์ก็เรียกพระองค์ด้วยถ้อยคำตีเสมอ คือเรียกพระองค์ว่า อาวุโส ที่แปลว่า ผู้มีอายุ โดยไม่มีความเคารพ พระองค์ตรัสห้ามและทรงบอกว่าพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว จะแสดงอมตธรรมให้ท่านทั้งหลายฟัง เมื่อท่านทั้งหลายตั้งใจฟังและปฏิบัติโดยชอบก็จะเกิดความรู้จนถึงที่สุดทุกข์ได้ เหล่าปัญจวัคคีย์ก็กราบทูลคัดค้านว่า เมื่อทรงบำเพ็ญทุกรกิริยายังไม่ได้ตรัสรู้ เมื่อทรงเลิกเสียจะตรัสรู้ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าก็ยังตรัสยืนยันเช่นนั้น และเหล่าปัญจวัคคีย์ก็คงคัดค้านเช่นนั้นถึง ๓ ครั้ง พระพุทธองค์จึงตรัสให้ระลึกว่า แต่ก่อนนี้พระองค์ได้เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้หรือไม่ เหล่าปัญจวัคคีย์ก็ระลึกได้ว่า พระองค์ไม่เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ยินยอมเพื่อจะฟังพระธรรม พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นว่า เหล่าปัญจวัคคีย์พากันตั้งใจเพื่อจะฟังพระธรรมของพระองค์แล้ว จึงได้ทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศนาครั้งแรก โปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ พระองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนานี้ในวันรุ่งขึ้นจากที่เสด็จไปถึง คือ ได้ทรงแสดงในวันเพ็ญของเดือน อาสาฬหะ หรือ เดือน ๘
ทรงยกอริยสัจจ์สี่ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการที่พระองค์ค้นพบ ได้แก่ “ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นสภาพสภาพที่ทนได้ยาก ซึ่งมีทั้งทุกข์ประจำและทุหข์จรมาสู่ตน ๑, ทรงค้นพบสิ่งที่ทำให้ทุกข์เกิดเรียกว่าสมุทัย อันได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ คือความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ คือความอยากไม่เป็นโน่นไม่เป็นนี่ ๑, ทรงค้นพบ ความดับทุกข์ เรียกว่านิโรธ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง ๓ ได้อย่างสิ้นเชิง ๑, ทรงค้นพบวิธีปฏิบัติที่ไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ เรียกว่ามรรค ประกอบด้วยแปดประการ คือ ๑ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ ๕. สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพชอบ ๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ และ ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ข้อปฏิบัตินี้เรียกว่าทางสายกลาง
ข้าพเจ้าได้อธิบายความย่อแห่งธรรมจักรด้วยภาษาชาวบ้าน ตัดคำบาลีออกไปเพื่อไม่ให้คนฟังรำคาญ แล้วสรุปว่าเมื่อจบพระธรรมเทศนา โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระอริยะเจ้าขั้นพระโสดาบันแล้วทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้สำเร็จเป็นภิกษุองค์แรกในโลก ดังนั้นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ (เดือนอาสาฬหะ) จึงเป็นวันที่พระรตนะเกิดขึ้นครบ ๓ ดวง คือพระพุทธรตนะ พระธรรมรตนะ พระสังฆรตนะ จึงถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธควรน้อมใจแสดงความเคารพสักกาบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พร้อมเพรียงกัน/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๐๐ - จบการแสดงธรรมเทศนาในเวลาประมาณ ๒๐.๒๐ น. ใช้เวลาไม่มากเกินไปนัก เทศน์จบแล้วข้าพเจ้าขออนุญาตท่านเจ้าอาวาสใช้เครื่องกระจายเสียพูดประชาสัมพันธ์เรื่องพิธีเวียนเทียนให้ประชาชนทราบต่อไป ขณะนั้นเห็นว่ามีประชาชนในศาลารายรอบพระมหาธาตุเจดีย์เต็มไปหมด มองออกไปภายนอกก็มีผู้คนหนาตามาก จึงกล่าวถึงเหตุผลในการเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชาเพิ่มเติมจากที่เทศน์ไปแล้วอีกหลายประการ เช่นว่า การเดินเวียนเทียนรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์ให้เวียนเป็นประทักษิณสามมรอบ คำว่าประทักษิณคือเวียนขวา โดยให้สิ่งที่เคารพนับถือ เช่น พระเจดีย์ ต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นต้น อยู่ทางขวามือของตน
ขณะเดินเวียนรอบนั้นในมือควรถือเครื่องสักการะ มีดอกไม้ธูปเทียนเป็นต้น หรือไม่มีเครื่องสักการะก็ได้ เดินเวียนรอบแรกให้กล่าววาจาสรรเสริญพระพุทธคุณว่า อิติปิ โส ภะคะวา... ไปจนจบบทแล้วขึ้นต้นสวดใหม่ซ้ำ ๆ ไปจนจบรอบ ขึ้นรอบสองให้กล่าวสรรเสริญพระธรรมคุณว่า สวากขาโต.... จบบทแล้วขึ้นต้นใหม่ว่าซ้ำ ๆ ไปจนจบรอบ ขึ้นรอบสามให้กล่าวสรรเสริญพระสังฆคุณว่า สุปะฏิปันโน... ซ้ำ ๆ ไปจนจบรอบ ถ้าว่าออกเสียงไม่ได้ก็ให้ว่าในใจ หรือไม่ก็ให้ระลึกถึงคุณพระพุทธในรอบที่ ๑ ระลึกถึงคุณพระธรรมในรอบที่ ๒ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ในรอบที่ ๓ เดินด้วยอาการสำรวมไม่พูดคุยกัน และให้ระวังมือที่ถือธูปจะไปจี้ถูกคนอื่นหรือเทียนหยดใส่คนอื่น จนบุญกลายเป็นบาปไป
มรรคนายกมากระซิบบอกข้างหลังว่า ทางวัดจัดดอกไม้ธูปเทียนไว้จำหน่ายด้านหน้าองค์พระ จึงประกาศออกไปว่าใครไม่มีดอกไม้ธูปเทียน หรือมีแล้วต้องการเพิ่มเติมก็ขอเชิญด้านหน้าองค์พระ ทางวัดจัดมาเป็นชุดวางจำหน่ายแล้ว การซื้อดอกไม้ธูปเทียนของวัดเป็นส่วนหนึ่งในการทำบุญของตน และนำดอกไม้ธูปเทียนนั้นไปเวียนเทียนบูชาก็เป็นการเพิ่มบุญอีกส่วนหนึ่งให้แก่ตน ครั้นประกาศออกไปอย่างนี้ปรากฏว่าดอกไม้ธูปเทียนที่ทางวัดจัดไว้จำหน่ายหมดสิ้นไปในเวลาอันรวดเร็ว
ได้เวลาเวียนเทียนตามกำหนดแล้ว ท่านเจ้าอาวาสกล่าวนำถวายสักการะอาสาฬบูชา แล้วเดินนำพระภิกษุสามเณรตามด้วยอุบาสกอุบาสิกาและประชาชนที่มาร่วมพิธี การเดินเวียนเทียนเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยจนครบสามรอบ คะเนดูว่าคนที่มาร่วมเดินเวียนเทียนคืนนั้นน่าจะมากถึงห้าร้อยคนทีเดียว เงินรายได้จากการจำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน หัวหน้าทายกแจ้งคราว ๆ ว่าประมาณห้าพันบาท ส่วนเงินที่ติดกัณฑ์เทศน์ประมาณหมื่นหกพันบาทเศษ เขาเอาผ้าห่อนำมาถวายข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่รับ บอกให้นำเข้าเป็นเงินกองกลางของวัดไปทั้งหมดเลย เจ้าอาวาสค้านว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเป็นเงินติดกัณฑ์เทศน์ที่ท่านเทศน์ จึงควรเป็นของท่านเก็บไว้ใช้จ่ายเอง ข้าพเจ้ายืนกรานไม่ยอมรับ ทั้งพระและทายกก็ช่วยกันพูดขอให้รับ ผลที่สุดข้าพเจ้าหาทางออกด้วยการรับไว้ แล้วมอบคืนไปโดยอ้างว่าเป็นเงินของข้าพเจ้าขอถวายวัดด้วยศรัทธาเลื่อมใสอย่างจริงใจ เรื่องจึงจบลงด้วยดี
การเทศน์ปากเปล่า (หรือเทศน์โดยปฏิภาณ) ของข้าพเจ้าประสบความสำเร็จด้วยด้วยดี และถือว่าข้าพเจ้าเริ่มเป็นนักเทศน์อย่างจริงจังตั้งแต่วันนั้น วันต่อ ๆ มาข้าพเจ้าถูกทางวัดผูกขาดให้เทศน์ในวัดเป็นประจำทุกวันพระทั้ง ๓ เวลา ข้าพเจ้าก็นำคัมภีร์ใบลานที่เป็นเรื่องชาดกต่าง ๆ มาอ่านทำความเข้าใจ ถึงเวลาเทศน์ก็นำคัมภีร์นั้นไปอ่านเริ่มต้นเพื่อให้เห็นว่าเรื่องที่เทศน์นั้นมิใช่ข้าพเจ้าคิดเอาเอง พออ่านเข้าเรื่องแล้วก็เล่าความไปตามคัมภีร์นั้น และอธิบายความที่ยากแก่การเข้าใจให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายขึ้น ด้ วยเหตุนี้จึงมีคนเข้ารักษาศีลฟังธรรมในวัดชัยมงคลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นที่พอใจของท่านเจ้าอาวาสมาก
คนในเมืองสงขลาที่เป็นศรัทธาของวัดชัยมงคลเริ่มรู้จักข้าพเจ้ามากขึ้น ชักจะวางตัวลำบากมากขึ้นด้วยหละ ข้าพเจ้าชอบเดินหาซื้อของใช้ด้วยตนเอง สิ่งของที่ใช้มากหน่อยคือ กระดาษ ปากกา ก็ซื้อมาเขียนกลอนนั่นแหละครับ มีร้านขายเครื่องเขียนร้านหนึ่ง คนขายของที่เข้าใจเป็นลูกสาวเจ้าของร้าน เห็นข้าพเจ้าไปซื้อของทีไร เธอไม่ยอมรับเงิน จัดของให้ตามต้องการแล้วบอกว่า “ถวายค่ะ” ทำให้ข้าพเจ้าเจิ่นไป ไม่กล้าเข้าไปซื้ออีก
ร้านกาแฟปากทางเข้าวัดชัยมงคล ร้านนี้ทำให้ข้าพเจ้าติดค้างน้ำใจอยู่มาก ทางหรือถนนเข้าวัดชัยมงคล ถนนเพชรมงคล มีร้านกาแฟค่อนข้างโอ่โถง ลู กค้าหนาทุกวัน บางวันข้าพเจ้าเดินบิณบาตรทางทิศตะวันตกวัดผ่านร้านนี้ ข้ามทางรถไฟ ผ่านวัดโรงวาสเข้าไปในเมือง แล้วเดินกลับทางเดิม จะพบเด็กสาวยืนรอใส่บาตรอยู่เสมอ บางวันข้าพเจ้าเปลี่ยนเส้นทางเดินออกไปในหมู่บ้านทางเหนือวัดบ้าง ใต้วัดบ้าง ตอนเย็นเด็กสาวคนนี้จะนำกาแฟบ้าง โอวัลตินบ้าง มาถวายที่กุฏิ บอกว่า “แม่ให้นำมาถวายค่ะ” แล้วเธอก็ไม่ได้พูดอะไรมากไปกว่านั้น มารู้ภายหลังว่า คุณแม่เธอที่มักเข้าวัดฟังเทศน์ยามค่ำบ่อย ๆ แล้วเลื่อมใสศรัทธาข้าพเจ้า วันไหนข้าพเจ้าเดินผ่านร้านไปรับบิณฑบาตก็จะเตรียมอาหารให้ลูกสาวรอใส่บาตรก่อนไปโรงเรียน และตอนเย็นกลับจากโรงเรียนก็ให้นำเครื่องดื่มไปถวายที่กุฏิ เป็นอย่างนี้นี่เอง
เรื่องนี้พระประเสริฐ พ่อหลวงเซ่ง รู้เห็นก็ตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าของร้านกาแฟนี้จองตัวพระอภินันท์ไว้เป็นลูกเชยแน่เลย
ข้าพเจ้าก็ได้แต่ตอบว่า “เหลวไหลน่า...” /
สำหรับเรื่องราวแวดวงในดงขมิ้น “คำให้การของนักบวช” ได้ดำเนินมาถึง ๑๐๐ ตอนแล้ว ในตอนต่อไปที่ ๑๐๑ ผู้โพสขอตัดยกไปเป็นอีกกระทู้หนึ่ง โดยวางลิงก์เชื่อมโยงไว้ให้ผู้สนใจอ่านสามารถ คลิก >> ที่นี่ << เข้าอ่านต่อได้ครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเนต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|