Username:
Password:
บ้านกลอนน้อยฯ
ช่วยเหลือ
ค้นหา
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
บ้านกลอนน้อย - กลอนสบายๆ สไตล์ลิตเติลเกิร์ล
>>
บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา
>>
ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม
>>
เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๑)
หน้า:
1
...
4
5
[
6
]
7
ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๑) (อ่าน 29447 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #75 เมื่อ:
08, ธันวาคม, 2565, 10:27:16 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
<<<
ก่อนหน้า
ต่อไป
>>>
.
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๖ -
พระสอนมีเพื่อนพระที่เป็นชาวอำเภอวิเศษไชยชาญองค์หนึ่งชื่อพระชา พระองค์นี้เข้ากรุงเทพฯ ครั้งใดก็มาพักกับพระสอนที่วัดจันทร์นอก จึงพลอยรู้จักคุ้นเคยกับพระเต็มไปด้วย ออกพรรษาแล้วทุกปีข้าพเจ้าจะออกจากกรุงเทพฯ ไปพักอยู่ที่วัดหัวเวียงบ้าง วัดบางจักรอำเภอวิเศษไชยชาญบ้าง วัดนี้มี
หลวงพ่อพระครูหรุ่ม
เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะอำเภอวิเศษไชยชาญด้วย ข้าพเจ้าเป็นพระอาคันตุกะจากกรุงเทพฯ ไปพักที่นี่ ได้รับความสะดวกสบายหลายประการ เพราะค่านิยมของคนไทยสมัยนั้นจะเชื่อถือยกย่องคนกรุงเทพฯ พระเณรและญาติโยมที่วัดนี้ให้ความนิยมนับถือยำเกรงพระเต็มผู้ไปจากกรุเทพฯ มากทีเดียว
วัดบางจักรเป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย แม่น้ำสายนี้แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดชัยนาทไหลผ่านอำเภอในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอวิเศษไชยชาญ ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เข้าเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาผ่านพื้นที่ที่อำเภอผักไห่ ผ่านหัวเวียงลงพบกับแม่น้ำน้อยที่แยกจากแม่น้ำท่าจีนจากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่บ้านแพน อำเภอเสนา เมื่อรวมเป็นแม่น้ำสายเดียวกันแล้วก็ไหลเรื่อยลงไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางไทร ในช่วงตอนอำเภอวิเศษไชยชาญไปถึงอำเภอผักไห่ มีหมู่บ้านใหญ่ ๆ หลายหมู่บ้าน ปลาชุกชุมมาก ในพื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ดีด้วยข้าวปลาอาหาร ประชาชนอยู่ดีกินดี พระเณรในวัดต่าง ๆ ของถิ่นนี้ก็ได้รับอาหารสปาย ะ เสนาสนสปายะ และอะไร ๆ ก็สปายะหลายประการ โดยเฉพาะพระเณรวัดบางจักรดูจะมีภาษีกว่าเพื่อน เพราะเจ้าอาวาสเป็นเจ้าคณะอำเภอ ลาภสักการะก็มีมากขึ้นตามเกรดยศตำแหน่งของสมภารเจ้าวัด บ้านสามเรือนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางใต้วัดบางจักร (เป็นเขตติดต่อกับอำเภอผักไห่) ไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านนี้ทั้งหมดจึงเข้าทำบุญกันในวัดบางจักร บ้านบางจักรรวมไปถึงตลาดปากคลองขนากซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ก็ทำบุญกันที่วัดนี้ ข้าพเจ้าเป็นพระอาคันตะ (พระจรมา) ของวัดบางจักร แต่ก็เหมือนเป็นพระประจำของวัดนี้ จึงได้รับสิทธิ์ในกิจนิมนต์และอะไร ๆ อีกหลายประการตามสิทธิของพระวัดนี้ไปด้วย
พระวัดบางจักรกาลนั้นมีอยู่ประจำทั้งหมด ๑๔ องค์ ในจำนวนนั้นมีพระหนุ่มองค์เดียว คือ พระชา ผู้เป็นเลขาของหลวงพ่อพระครูหรุ่ม นอกนั้นเป็นพระหลวงน้าหลวงลุงหลวงอาหลวงตาอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป และพรรษาก็ไม่มาก เพราะท่านบวชตอนมีอายุมากแล้วทั้งนั้น มีเณรน้อยอยู่ ๒ องค์ เด็กวัดมี ๑๐ คนเศษ เด็กเหล่านั้นเป็นนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนราษฎร์ของวัด (ชื่อสัสดีอำนวยวิทย์) ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ชั้น ป.๑ - ม.๖ โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นห้องเรียน ข้าพเจ้าพักอยู่กุฏิหลวงตาเล็ก ผู้เป็นพระหลวงตาที่มีอัธยาศัยดีงาม อายุ ๖๐ เศษ เป็นคนสุขภาพแข็งแรงดี ไม่สูบบุหรี่ ไม่เป่ายานัตถุ์ รักความสะอาด กิริยามารยาทเรียบร้อยนุ่มนวล อดีตเคยรับราชการ มีลูกสาวลูกชายรับราชการทุกคน และมีครอบครัวไปหมดแล้ว ไม่มีโยมอุปัฏฐาก( ภรรยา) เพราะเสียชีวิตไปตั้งแต่ก่อนท่านบวช (เขาว่าท่านบวชอุทิศกุศลให้ภรรยา)
ความจริงคำว่า “โยมอุปัฏฐาก” ไม่น่าจะนำไปใช้กับหญิงที่เป็นภรรยาเก่าของพระภิกษุเลย เพราคำว่า “อุปัฏฐาก” ได้แก่ผู้อุปภัมภ์บำรุงดูแลพระภิกษุสามเณร ถ้าเป็นผู้ชายจะเรียกว่า “โยมอุปัฏฐาก” หากเป็นผู้หญิงจะเรียกว่า “โยมอุปัฏฐายิกา” และมักนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “โยม” ซึ่งหมายถึง พ่อ, แม่ ในทางพุทธศาสนานี้บุรุษที่มีภรรยาอยู่ เมื่อเข้ามาบวชเป็นภิกษุ ฐานะการเป็นสามีภรรยาจะต้องสิ้นสุดลง (ขาดจากการเป็นเป็นสามีภรรยา) ทันที หากหญิงนั้นยังมีเยื่อใยในภิกษุอดีตสามีอยู่ก็ให้ปวารณาตัวเข้าอุปภัมภ์บำรุงดูแลพระภิกษุสามีเก่านั้น ในนาม “โยมอุปัฏฐาก” เท่านั้น ที่กล่าวมานี่เป็นเรื่องสมัยโบราณ เดี๋ยวนี้คำเรียกหาเปลี่ยนไปโดยพระมักจะเรียกอดีตภรรยาว่า โยมภรรยา หรือ โยม สั้น ๆ มีบ้างที่เรียกว่า โยมเมีย ฝ่ายหญิงก็เรียกพระอดีตสามีว่า หลวงพี่ ยังไม่ได้ยินฝ่ายหญิงเรียกพระอดีตผัวว่า “พระสามี” หรือ “พระผัว” เลย
ก็มีบ้างนะครับที่ผัวหนุ่มเมียสาวยังอยู่ในวัยหวาน ความต้องการในเรื่องเพศสัมพันธ์มีอยู่มากตามธรรมดาของปุถุชน แต่ต้องพรากจากกันโดยสามีจำใจต้องบวช หรืออย่างไรก็ตามแต่จะอ้าง ครั้นบวชไม่นานเท่าไรโยมเมียที่ไม่ค่อยได้อุปัฏฐากพระผัวนัก ทนความว้าเหว่และแทะโลมของชายไร้ศีลสิ้นคุณธรรมไม่ได้ ก็เลยมีผัวใหม่ พระนั้นรู้ว่าโยมเมียมีผัวใหม่เสียแล้ว ก็แหกผ้าเหลืองออกมาฆ่าล้างแค้นเสียก็มี บางองค์ปลงตก เมื่อเห็นโยมเมียมีผัวใหม่โดยอ้างว่า “เราขาดจากความเป็นผัวเมียกันตั้งแต่ว่าที่คุณเข้าโบสถ์บวชแล้ว ฉันจึงมีสิทธิ์มีผัวใหม่” หักห้ามใจได้แล้วบวชไม่สึกจนตายเลยก็มี บางคนเบื่อเมียจึงบวชอยู่นานเพื่อให้เมียทนรอไม่ไหวแล้วมีผัวใหม่ ได้โอกาสจึงสึกออกมามีเมียใหม่บ้าง ถ้าเมียเก่ามาทวงสิทธิ์เขากลับใช้ข้ออ้างว่า เราขาดจากความเป็นผัวเมียกันแต่วันฉันเข้าโบสถ์บวชแล้ว อย่างนี้ก็มี ข้ออ้างดังกล่าวนี้จะฟังขึ้นหรือไม่ก็ตามแต่ตัวใครตัวมันเถิดขอรับ
อ้าว...ขอโทษที ออกนอกเรื่องไปแล้ว พรุ่งนี้ค่อยกลับเข้าเรื่องนะครับ /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ต้นฝ้าย
,
หยาดฟ้า
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
คิดถึงเสมอ
,
ข้าวหอม
,
เป็น อยู่ คือ
,
มนชิดา พานิช
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #76 เมื่อ:
09, ธันวาคม, 2565, 11:03:03 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๗ -
ในช่วงกาลที่ไปพักอยู่วัดบางจักรนั่นข้าพเจ้าสนุกมาก หลังออกพรรษาคือเดือนสิบสองถึงเดือนยี่น้ำที่นองท่วมทุ่งยังไม่แห้ง ทุ่งอ่างทอง อยุธยา ที่ข้าพเจ้าเคยอยู่จะมีน้ำท่วมทุ่งนาแล้วนอนทุ่งอยู่นานวัน จากเดือนแปดถึงเดือนยี่เลยทีเดียว ชาวบ้านย่านนั้นจะไปไหนมาไหนต้องใช้เรือพายในชีวิตประจำวัน ข้าพเจ้าชอบไปพักที่วัดบางจักรหลังสิ้นกาลทอดกฐิน คือพ้นกลางเดือนสิบสองไปแล้ว ด้วยไม่ต้องการไปมีส่วนร่วมในอดิเรกลาภของพระเณรที่วัดนี้ เรื่องกิจนิมนต์ไปงานต่าง ๆ ของพระเณรท้องที่ เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าถือสามาก ถ้าไม่เหลือจากเจ้าถิ่นแล้วข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับ จึงเป็นความดีงามอย่างหนึ่งที่พระเณรในวัดต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าไปพักพาอาศัย ต่างนิยมชมชอบพระเต็ม
การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปบางจักรของข้าพเจ้าสมัยนั้นใช้เรือเป็นพาหนะทั้งหมด เริ่มด้วยลงเรือเมล์สีแดงเลือดหมูของบริษัทสุพรรณขนส่ง ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่สองชั้น ออกจากท่าเตียนผ่านนนทบุรี ปทุมธานี ตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านลานเท ถึงบางไทรแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าลำแม่น้ำน้อ ย ไปถึงบ้านแพน อำเภอเสนา ขึ้นจากเรือเมล์แล้วลงเรือหางยาวต่อไปหัวเวียง พักอยู่วัดหัวเวียงนานพอควรแล้วลงเรือหางยาว ผ่านตาลาน ผักไห่ ไปถึงบางจักร โดยสะดวกสบายและปลอดภัย
ชาวบางจักร บ้านดาบ สามเรือน เป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีกับพระภิกษุสามเณรดีมาก ยามค่ำทุกคืนพระชานำพาข้าพเจ้าลงเรือน้อยพายออกจากวัดบางจักรไปเที่ยวแวะคุยกับคนบ้านโน้นบ้านนี้ และที่สำคัญบ้านที่พระชาพาไปนั้นต้องมีลูกสาวหรือหลานสาวด้วย อย่างนี้จะไม่ให้พระเต็มสนุกอย่างไรได้เล่า
ที่ไปคุยตามบ้านที่มีลูกสาวหลานสาวนั่นไม่ใช่ข้าพเจ้าอยากไปคุยกับสาว ๆ ดอก เรื่องการคุยจีบสาวกนะหนุงกระหนิงกระจู๋กระจี๋อะไรนั่นพระชาเขาชอบ แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบ คุยกับเขาไม่เป็น ถ้าคุยแบบโต้เถียง ถกปัญหา และอบรมสั่งสอนแล้ว ข้าพเจ้าชอบและคุยถนัดมาก ดังนั้นเวลาขึ้นบ้านที่มีลูกสาวหลานสาวแล้ว ข้าพเจ้าจะคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อแม่ปู่ย่าตายายของสาวบ้านนั้น เป็นเรื่องธรรมะธัมโมบ้าง ประสบการณ์ที่พบเห็นมาบ้าง ฟังผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านนั้นคุยเรื่องสังคมชาวบ้านเป็นเรื่องเก่า ๆ บ้าง ได้ความชำนาญในการพูดคุย และรู้เรื่องต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ส่วนพระชานั้นแยกวงไปคุยกับสาว ๆ เขารักข้าพเจ้ามากก็เพราะไม่ไปแย่งเขาคุยกับสาวนี่แหละ
หากถามว่าจริง ๆ แล้วชอบไหม ชอบซีครับ ข้าพเจ้าก็เป็นคนหนุ่มที่ใจยังชุ่มด้วยราคะกิเลส มีหรือจะไม่ชอบหญิงสาว แต่ข้าพเจ้าเป็นคนที่ไม่ทำอะไรตามใจชอบ พูดง่าย ๆ ก็คือไม่ตามใจตัวเองนั่นแหละ และยิ่งในขณะนั้นข้าพเจ้าเป็นพระภิกษุมีพระวินัยให้รักษาข้อใหญ่ ๆ ถึง ๒๒๗ ข้อ และยังมีข้อเล็ก ๆ จิปาถะอีกมากมาย วินัย วัฒนธรรมประเพณีเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าเคารพนับด้วยความจริงใจ จึงไม่ทำอะไรทวนกระแสพระวินัยและวัฒนธรรมประเพณีนิยม ความชอบหญิงสาวแม้มีมากแค่ไหนก็ถูกวินัยประเพณีกุมเก็บซ่อนไว้ในใจ อายบาปกลัวบาปจนไม่กล้าเปิดเผยออกมาให้ใคร ๆ เห็น จะว่าพระมีแต่รักคุดอย่างนั้นก็ได้
จุดที่พระชากับพระเต็มต้องไปแวะคุยแทบไม่เว้นแต่ละวันคือบ้าน “ครูศรี” (นามแฝง) แม่ม่ายลูกติด ๓ คน (แม่ม่ายทรงเครื่องก็ว่า) น้องสาวหลานสาวสวยงามอีกหลายคน ครูศรี หรือที่พวกเราเรียกว่า “พี่ศรี” จนชินปาก เป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีดีมาก คนในหมู่บ้านย่านนั้นให้ความรักนับถืออย่างล้นเหลือ ข้าพเจ้าก็รักนับถือพี่ศรีมาก เปล่านะ ไม่ใช่รักเพราะพี่ศรีเป็นแม่ม่ายสาวสวย ไม่ได้รักเพราะพี่เขามีน้องสาวหลานสาวสวยงามหลายคน แต่รักเพราะพี่ศรีเป็นคนดีมีเหตุผล คนอย่างพี่ศรีมีฐานะดี รูปร่างสวยงาม สามีตายในขณะพี่เขามีอายุไม่ถึง ๓๐ ปี มีชายหนุ่มและไม่หนุ่มมิดต่อเกาะแกะจำนวนมาก แต่พี่ศรีไม่ยอมทรยศต่อความรักที่มีต่อสามีผู้ล่วงลับ ครองความเป็นสาวม่ายอยู่กับลูกน้อยสามคน ผ่านมรสุมการรุมเกี้ยวพาราสีของหลายร้อยชายมาได้อย่างปลอดภัย ข้าพเจ้าเคยถามพี่ศรีว่า ไม่มีความคิดเรื่องรักใคร่ตามประสาปุถุชนบ้างเลยหรือ พี่เขาตอบว่ามีบ้างเหมือนกัน บางระยะมีมากเสียด้วย แต่ก็ข่มกลั้นได้ นึกถึงสามีที่ตาย นึกถึงลูกรักทั้งสามคน เอาคำว่า “ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา” มาเป็นองค์ภาวนากำจัดอารมณ์จร ดับไฟราคะเสียได้ ความคิดของผู้หญิงอย่างนี้จะไม่ให้ข้าพเจ้ารักนับถือเป็นอย่างยิ่งได้อย่างไร
คืนวันหนึ่งพระชา พระสอน (ขึ้นมาจากกรุงเทพฯ) และข้าพเจ้า พายเรือออกจากวัดบางจักรเข้าคลองขนากไปบ้านดาบ แวะบ้านพี่ศรีตามปกติ คืนนั้นมีชายหนุ่ม ๓-๔ คนนั่งคุยกันอยู่ก่อนแล้ว พ่อเห็นพระมาก็กุลีกุจอต้อนรับ ชายหนุ่มนั้นคนหนึ่งเป็นน้องชายพี่ศรี รับราชการครูอยู่ต่างถิ่น พาเพื่อน ๆ มาเยี่ยมพี่สาว พวกเขานั่งดื่มสุรากันอยู่ก่อนที่พวกเราจะไปถึง เมื่อพระขึ้นเรือนเขาก็เอาขวดสุราซ่อนไม่ให้เห็น เรานั่งคุยกันไม่นานเขาก็เอาโอเลี้ยงแก้วใหญ่ถวายองค์ละแก้ว พวกเรารับและดื่มโดยไม่ลังเล ข้าพเจ้าดื่มแล้วรู้สึกว่ารสมันประหลาดบาดคอไม่เหมือนโอ้ลี้ยงที่เคยดื่ม จึงถามว่านี่มันเป็นโอเลี้ยงอะไรรสแปลกมาก เจ้าคนถวายบอกว่าไม่ใช่โอเลี้ยงธรรมดานะครับ เป็นโอเลี้ยงผสมชาฝรั่งสูตรใหม่น่ะ พระชากับพระสอนดื่มแล้วก็ร้องอืมม..รสมันชอบกล แล้วก็ไม่สงสัยซักถามอะไร คุยไปดื่มโอเลี้ยงผสมชาฝรั่งไปจนรู้สึกมันหัว ข้าพเจ้ารู้ว่าเสียท่าเจ้าหนุ่มพวกนั้นแล้ว เชื่อว่าโอเลี้ยงนั้นไม่ได้ผสมชาฝรั่ง แต่มันเป็นผสมสุรา ได้ความรู้ใหม่ว่า กาแฟดำแก่ ๆ ใส่ลงในสุรา รสสุราไม่เปลี่ยน แต่กลิ่นสุราจะจางหายไป
พระสามองค์เมาเหล้าถูกชายหนุ่มเหล่านั้นช่วยกันประคองลงเรือให้พายกลับวัด โดยพระชาพายท้าย พระสอนพายหัว พระเต็มนั่งกลางเรือ พายเรือแล่นไม่ค่อยจะตรงทางนัก ดีที่น้ำไม่ไหลเชี่ยว เพราะเป็นช่วง “เดือนสิบสองน้ำทรง” พอถึงวัดเรือเทียบบันไดศาลาท่าน้ำ ข้าพเจ้าคลานขึ้นจากเรือก่อน พระสอนลุกขึ้นตรงหัวเรือยืนโยงโย่โยงหยก ข้าพเจ้าขึ้นบันไดได้ยังไม่สุดตัว ขาข้างหนึ่งยังอยู่ในเรือ พระสอนยกขาจะก้าวจากเรือ เรือเอียงวูบ พระชาที่นั่งถือพายอยู่ท้ายเรือผวา ทันใดนั้นเรือก็คว่ำลง พระสอน พระชาลงไปลอยคออยู่ในน้ำอันหนาวเย็น ส่วนข้าพเจ้าสองมือเกาะบันไดได้โดยตัวท่อนล่างแช่อยู่ในน้ำ เรียกว่าตกน้ำป๋อมแป๋มด้วยกันทั้งสามองค์นั่นแหละ พอตัวถูกแช่น้ำเย็น ๆ ฤทธิ์สุราก็จางหายไปครึ่งค่อน พวกเราช่วยกันกู้เรือขึ้นแล้วพาร่างอันเปียกปอนกลับขึ้นกุฏิ
หลวงตาเล็กเห็นสภาพของข้าพเจ้าแล้วรู้ว่าเรือล่มแน่ ถามว่าเรื่อไปล่มที่ไหนล่ะ ข้าพเจ้าบอกเล่าตามความเป็นจริง ท่านหัวเราะแล้วเตือนว่า ต่อไปต้องระวังตัวให้ดี ใครถวายน้ำดื่มอะไรอย่าผลีผลาม คืนนั้นเราหลับกันเป็นตายเลย/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ต้นฝ้าย
,
ข้าวหอม
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
เป็น อยู่ คือ
,
คิดถึงเสมอ
,
มนชิดา พานิช
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #77 เมื่อ:
10, ธันวาคม, 2565, 10:37:20 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๘ -
ในกาลที่อยู่พักอยู่บาจักรนั่นแหละ เป็นช่วงเวลาที่ข้าพเจ้ามีชื่อเสียงในวงการกลอนภูธรมาก บางคืนไปนั่งฟังรายการกวีสวรรค์ที่บ้านพี่ศรี บางคืนนอนฟังที่วัดบางจักร และบางคืนย้อนกลับไปฟังที่หัวเวียง บางจักร-หัวเวียงอยู่ในลำน้ำสายเดียวกัน นั่งเรือหางยาวไปมาหาสู่กันสะดวกสบาย ใช้เวลาเพียงชั่วโมงกว่า ๆ เท่านั้นเอง อ้อ ลืมบอกไปว่าตอนนั้นข้าพเจ้าใช้นาม
“อภินันท์ นาคเกษม”
ตามคำแนะนำของคนที่นับถือกันแล้ว จึงมีนามกำกับสำนวนกลอนของตัวเองว่า อภินันท์ นาคเกษม – เพลิน พจน์มาลย์ - เต็มดวง ณ เวียงแก้ว - จินตนา นาคเกษม และ เจน พเนจร นามหลังนี้เกิดขึ้นเพราะข้าพเจ้ามิได้อยู่ประจำเป็นที่เป็นทาง จรไปโน่นมานี่ไม่หยุดหย่อนนั่นเอง
มีวัดสำคัญตั้งอยู่ไม่ไกลบางจักรนักวัดหนึ่งชื่อ วัดนางชำ เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน “บ้านดาบ” เจ้าอาวาสเป็นพระครูชั้นประทวนชื่อ
พระครูบุญมี
มีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลอีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านเป็นพระที่ใจดีและสุภาพอ่อนโยนมาก พูดจาเรียบร้อยนุ่มนวล ยกย่องให้เกียรติผู้อื่นเสมอ มีความรู้พิเศษในทางรักษาโรคนานาตามแผนโบราณ และทางไสยวิทยาคมด้วย ท่านบอกว่าเป็นศิษย์หลวงพ่อปานวัดบางนมโค โดยมีมีดหมอของหลวงพ่อปานเป็นเครื่องยืนยัน แต่ท่านไม่ค่อยจะให้การรักษาโรคแก่ใครๆ มากนัก เพราะออกจะเป็นคนขี้อายอยู่สักหน่อย พระครูบุญมีนัยว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับ
หลวงพ่อพระครูหรุ่ม
วัดบางจักนั่นแหละ
ข้าพเจ้าว่างจากถูกเพื่อนพาไปเยี่ยมเยียนบ้านเรือนญาติโยมต่าง ๆ แล้วมักจะไปสนทนากับท่านพระครูบุญมี เพราะเราถูกอัธยาศัยกันมาก ท่านมีฝีมือชงโอวัลตินอร่อย น้ำชาดีมีให้จิบไปคุยไปอย่างเพลิดเพลิน มีพระรับใช้ใกล้ชิดท่านพระครูองค์หนึ่งชื่อ พระใหญ่ เป็นคนช่างพูด “เรียกง่ายใช้คล่อง” ชอบรับใช้ประสานงานทั่วไป เฉพาะเรื่องเป็น “พ่อสื่อพ่อชัก” นี่ท่านถนัดนักเชียว พระที่วัดนางชำนี้ก็เหมือนที่วัดบางจักร คือจะมีพระภิกษุหนุ่มอยู่ประจำก็เฉพาะในระยะเดือน ๕-๑๒ เท่านั้น คนหนุ่มลูกหลานชาวบ้านจะบวชเป็นภิกษุกันตามประเพณี ประมาณเดือน ๕ แล้วอยู่จำพรรษา ออกพรรษารับกฐินแล้วก็จะสึกหาลาเพศไปหมด คงอยู่แต่พระผู้เฒ่าไม่มากนัก พระครูบุญมีเรียกพระภิกษุลูกวัดของท่านแต่ละองค์โดยใช้คำนำหน้าว่า “คุณ” ไม่เรียกคำนำหน้าว่า “ทั่น” เหมือนสมภารเจ้าวัดส่วนมาก ที่พิเศษกว่านั้นคือ ผู้บวชนั้นมียศตำแหน่งอะไรอยู่ก่อนบวชท่านก็จะเรียกยศตำแหน่งเดิมนั้นมาต่อท้ายคำว่า “ พระ” ทุกองค์ เช่น ผู้บวชใหม่นั้นชื่อทวีเคยเป็นครูมาก่อนบวช จะเรียกเขาว่า “พระครูททวี” ตำรวจทหารมียศอะไรมาก่อนบวช ท่านจะเรียกว่า พระหมู่ พระจ่า พระผู้หมวด พระผู้พัน แล้วต่อด้วยชื่อเดิม เป็นต้น
มีพระองค์หนึ่งเป็นพระนวกะวัดนางชำ ท่านพระครูบุญมีเรียกว่า “พระพระเอก” ตอนนั้นท่านใกล้จะลาสิกขาเพราะรับกฐินแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าท่านชื่อ “เอก” มารู้ทีหลังหัวเราะจนน้ำตาเล็ดเลย เพราะรู้ว่าความจริงพระองค์นั้นชื่อ บุญเลิศ พระเอกลิเกคณะหอมหวน ร้องดี รำสวย เป็นชาวบ้านดาบ พอบวชเป็นพระอยู่วัดนางชำหลวงพ่อพระครูบุญมีเรียกท่านว่าพระพระเอกบุญเลิศ มีคนพูดล้อเล่นกับครูผู้ชายที่เป็นครูโรงเรียน ครูลิเก ครูกลองยาวว่า อยากเป็นพระครูสมัยนี้ไม่ยากเลย ครูไปบวชเป็นพระอยู่วัดนางชำซี่ บวชเสร็จออกจากโบสถ์ก็ได้เป็นพระครูเลย
บ่ายวันหนึ่งมีงานเผาศพที่วัดนางชำ ข้าพเจ้ารับนิมนต์เป็นพระอันดับสวดแจงในนามพระวัดบางจักรด้วย ในจำนวนพระอันดับสวดแจง มาติกา ๓๐ องค์วันนั้น มีพระหนุ่มเพียง ๒ องค์ คือพระชากับพระเต็ม นอกนั้นเป็นนพระผู้สูงอายุทั้งนั้น คนมาฟังพระเทศน์และสวดแจงวันนั้นหนาตามาก เพราะผู้ตายเป็นคนมีญาติพี่น้องมาก พระสวดกับคนฟังนั่งประจันหน้ากันในศาลาทำศพข้างป่าช้า ขณะพระเทศน์คนฟังก็นั่งพนมมือบ้างไม่พนมมือบ้างตามอัธยาศัย พระเทศแจงเดี่ยว (คือธรรมาสน์เดียว) ท่านอ่านตามคัมภีร์ใบลาน คนฟังเทศน์ฟังสวดส่วนมากเป็นคนสูงอายุ มีหนุ่มสาวบ้างในจำนวนน้อย พระชากับพระเต็มเป็นพระหนุ่มมาจากวัดบางจักรจึงตกเป็นเป่าสายตาของคนนั่งฟังเทศน์ เช่นเดียวกับคนสาวในศาลานั้นก็ตกเป็นเป้าสายตาของพระหนุ่มทั้งสอง ข้าพเจ้ากวาดสายตายไปทั่วศาลา แล้วสายตาก็ไปหยุดกึกอยู่ตรงร่างเด็กสาวรายหนึ่งที่นั่งพนมมือแต้อยู่ในหมู่ผู้เฒ่า
เด็กสาวคนนั้นนุ่งกระโปรงดำ ใส่เสื้อขาว คาดเข็มขัดสีแดง ผิวกายคล้ำ ไว้ผมสั้นแบบนักเรียน นัยน์ตากลมโต ที่เห็นนัยน์ตาเธอดังนั้นก็เพราะเธอเป็นเด็กที่นัยน์ตาอยู่ไม่สุขเหมือนข้าพเจ้าเลย สายตาเราประสาน (จ๊ะเอ๋) กันแบบไม่ใช่บังเอิญ พอสายตาประสานกันเธอก็ยิ้มเหมือนคนคุ้นเคยกัน ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเด็กสาวคนนี้ดูท่าทางทะเล้นอย่างไรชอบกล เราเล่นหูเล่นตากันจนพระเทศน์จบ พระอันดับก็สวดแจงรับเทศน์ แม้ในขณะสวดพระเต็มกับเด็กสาวคนนั้นก็ยังไม่วายเล่นสายตากัน จนพระใหญ่ที่นั่งชิดกันนั้นสังเกตเห็น กว่าจะเสร็จพิธีกรรม พระเต็มกับเด็กสาวคนนั้นก็นั่งกินสายตากันจนเต็มอิ่ม เราละสายตาจากกันเมื่อนำศพจากศาลาไปสู่เชิงตะกอนแล้ว
“เด็กสาวคนเมื่อกลางวันนั้นเป็นไง” หลวงตาใหญ่ถามข้าพเจ้าตอนค่ำวันนั้น
“ คนไหนครับ”
“ก็คนที่เล่นหูเล่นตากันในศาลานั่นไง”
“อ้อ ชอบมากครับ ทำไงจะติดต่อรู้จักกันได้ล่ะ”
“ไมยากหรอก เขียนจดหมายซี ผมจะเอาไปให้เขาเอง คนนี้ยังเป็นนักเรียนนะ พ่อเขาเป็นนางเอกลิเกเก่า แม่เขาดุนะ ชื่อจริงไม่รู้ รู้แต่ชื่อเล่นว่า แจ๋ว แจ๋วแว๋ว น่ะแหละ ผมรู้จักบ้านและพ่อแม่เขาดี” หลวงตาใหญ่รับอาสาเป็นสื่อให้โดยข้าพเจ้าไม่ได้ขอร้องท่านเลย
ยังไม่ดึกนัก กลับถึงวัดบางจักร เปิดวิทยุฟังรายการกวีสวรรค์ไป พร้อมกับเขียนจดหมายถึง แจ๋ว เด็กดำตาโตคนนั้น ใจมันชอบเสียแล้ว นี่กระมังที่เรียกกันว่า “รักแรกพบ” ภาพแจ๋วติดตาแน่น รอยยิ้มอันร่าเริง ดวงตากลมโตฉายแววทะเล้นล้อเลียนของเธอปรากฏในห้วงสำนึกชัดแจ๋วเหมือนชื่อเธอ หลวงตาเล็กรู้เรื่องของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าเปิดเผยให้ท่านทราบเอง ท่าหัวเราะชอบใจแล้วกล่าวว่า “เออพบคนถูกใจเสียที มาอยู่ตั้งนานแล้ว ไปเที่ยวเกือบทั่วทุกบ้านแล้วไม่เห็บอกว่าชอบใครสักที” ท่าทางความสัมพันธ์ของข้าพเจ้ากับแจ๋วคงจะเป็นไปได้ด้วยดี เพราะหลวงตาเล็กอาสาจะพาไปเที่ยวบ้านแจ๋ว ด้วยท่านกับพ่อแม่ของแจ๋วรู้จักชอบพอกันมากพอสมควร ข้าพเจ้าไม่ผลีผลามให้หลวงตาเล็กพาไปบ้านแจ๋ว บอกหลวงตาว่าขอโอกาสหน่อย รอดูว่าแจ๋วจะตอบจดหมายมาว่าอย่างไร พรุ่งนี้จะเอาจดหมายให้หลวงตาใหญ่ที่อาสาว่าจะถือไปให้เธอ จดหมายนัดพบกำหนดเวลาไว้ ๒ วัน ถ้าแจ๋วไปพบตามจดหมายนัด ค่อยไปเที่ยวบ้านเธอตามคำแนะนำของหลวงตาเล็กต่อไป./
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
มนชิดา พานิช
,
Black Sword
,
หยาดฟ้า
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ต้นฝ้าย
,
ข้าวหอม
,
คิดถึงเสมอ
,
เป็น อยู่ คือ
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
ปิ่นมุก
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #78 เมื่อ:
11, ธันวาคม, 2565, 10:17:38 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๗๙ -
ถึงวันนัด ข้าพเจ้าฉันเพลที่วัดบางจักรแล้วรีบเดินทางไปวัดนางชำ กาลนั้นเป็นเดือนมีนาคมหน้าแล้ง น้ำในคลองขนากแห้ง ใช้เรือพายไปไม่ได้ จึงเดินทางเลาะเลียบหมู่บ้านบางจักรไปบ้านดาบ ถึงวัดนางชำเข้ากราบท่านพระครูบุญมี จิบน้ำชาสนนากันพอสมควรแล้ว นอนพักในกุฏิหลวงตาใหญ่รอเวลาที่นัดพบกับแจ๋วยามเย็น
วันนั้นข้าพเจ้าได้รู้รสชาติของการรอคอยว่า มันรู้สึกกระวนกระวายใจ ร้อนอารมณ์ทุรนทุรายใจ กังวลวุ่นวายทรมานใจ ผุดลุกผุดนั่ง งุ่นง่านใจ คิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า เขาจะมาไหม มาเมื่อไร ห้ามใจไม่ให้มันคิดมาก ก็อดคิดไม่ได้ ตั้งบ่ายโมงถึง ๔ โมงเย็นวันนั้น ความรู้สึกของข้าพเจ้าว่ามันเหมือนนานเป็นปีทีเดียว คิดเตรียมคำพูดไว้พูดเมื่อพบหน้ากันคำแรกเราจะพูดว่าอย่างไร พูดว่า “สวัสดี” ก็เห็นว่ามันเชยเกินไป จะพูดว่า ยินดีที่ได้พบ ก็ไม่เข้าท่า จะพูดว่า ไปไหนมา ก็เหมือนบ้าแล้ว นัดเขามาแท้ ๆ พูดอย่างนั้นได้ไง พูดว่า “คิดถึงจังเลย” (เป็นความรู้สึกจริงๆ) ก็ดูจะโรแมนติดเกินไปกับคนที่เพิ่งพบและรู้จักกัน จะพูดว่า ฉันชอบเธอมาก ก็เป็นการพูดแบบคนบ้าแท้ ๆ ที่สุดก็คิดหาคำพูดดีที่สุดจะพูดกับแจ๋วไม่ได้
แจ๋วมาตามนัด แต่เราไม่ได้พูดจากันเลย
หลวงตาใหญ่ พระชา พระเต็ม นั่ งรอการมาของแจ๋วที่ศาลาท่าน้ำ (น้ำในคลองแห้งหมดแล้ว) ข้าพเจ้าคอยมองดูทางที่จะมาจากบ้านของแจ๋ว คิดว่าอย่างไรเธอต้องมาทางนั้น แต่แล้วก็ผิดคาดเพราะเธอมาอีกทางหนึ่ง
“ฝากด้วยหลวงน้า”
“อ้าว...ไม่คุยกันก่อนเหรอ
“ม่าย ค่ะ”
ข้าพเจ้าหันมองไปทางเสียงนั้น เห็นหลวงตาใหญ่ถือซองจดหมายสีฟ้ายืนอยู่ แจ๋วกำลังจะเดินจากไป เธอมองหน้าข้าพเจ้าแล้วยิ้มก่อนก้มหน้านิ่งอยู่ในอาการลังเลเหมือนรอฟังคำพูดของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเองก็ยืนเซ่ออ้ำอึ้งอยู่ แจ๋วเงยหน้าเม้มปากแล้วก้มหน้าเดินทางไป ครั้นเดินข้ามคลองไปฝั่งตรงข้ามแล้วหันหน้ามามองส่งยิ้มให้ ซึ่งเป็นยิ้มที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่า “เป็นยิ้มหวานกว่ายิ้มใด ๆ ของใครทั้งสิ้น” เธอโบกมือลาด้วยท่าทางที่สวยงามน่ารักมาก ความรู้สึกของข้าพเจ้ายามนั้นเหมือนเห็นมือที่โบกของเทพธิดาผู้ปรานียื่นมาประคองเอาดวงใจของข้าพเจ้าไปสู่อ้อมกอดของเธอกระนั้นเทียว
เมื่อยืนมองดูร่างอันอรชรของเธอเดินจากไปจนลับสายตาแล้ว ข้าพเจ้าขอจดหมายจากหลวงตาใหญ่ที่แจ๋วฝากไว้ รีบเปิดอ่านดูด้วยความกระหายใคร่จะรู้ว่าเป็นเขียนตอบข้าเจ้าอย่างไร
“ไม่รังเกียจไมตรียินดีรู้จัก
ยศศักดิ์ใดใดไม่ถือสา
จะคุยกันวันนี้ไม่มีเวลา
ทั้งชาวบ้านจะนินทาว่าร้ายเอา
ถ้าไม่รังเกียจเชิญหลวงพี่ไปที่บ้าน
หรือเขียนสารจารถ้อยคลายหงอยเหงา
น้องน้อยจะคอยเป็นเหมือนเช่นเงา
ติดเต้าตามพี่ทุกที่ไป”
กลอนข้างบนนี่แหละที่แจ๋วเขียนใส่ซองมาให้ข้าพเจ้า เพราะจดหมายที่ข้าพเจ้าเขียนไปให้เธอนั้นเป็น “กลอนลูกทุ่ง” ตามที่ข้าพเจ้าถนัด เธอจึงเขียนตอบมาเป็นกลอน แม้กลอนของเธอไม่เป็นอย่าง “ฉันทลักษณ์นิยม” แต่ถ้อยคำสำนวนดีมาก อ่านของเธอแล้วข้าพเจ้าก็ถือโอกาสอวดรู้แนะนำการเขียนกลอนให้เธอ และให้เธอเปิดวิทยุฟังรายการกวีสวรรค์ด้วย
“แจ๋ว” สุนันทา เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ย่อมต้องเรียนรู้เรื่องคำประพันธ์ด้านร้อยกรองคือโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มาบ้างพอสมควร บวกกับที่ลูกสาวลิเกเก่า ความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนก็ต้องมีอยู่ในสายเลือดบ้างละ บ้านดาบน่าจะเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านลิเก เพราะมีตัวแสดงและคณะลิเกดัง ๆ อยู่ในหมู่บ้านนี้มากมาย รายการกวีสวรรค์ทางวิทยุ “จทล.” จึงอ่านกลอนของแจ๋วออกอากาศบ้างในเวลาต่อมา และก็กลอนในรายการนี้แหละที่กลายเป็นสื่อนำให้ข้าพเจ้าไปเที่ยวบ้านแจ๋วได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
“หลวงพี่นันท์นี่ไง ที่เขียนกลอนให้เราฟังกันทุกกคืนละ”
แจ๋วแนะนำข้าพเจ้าให้คุณพ่อคุณแม่ และทุกคนในบ้านรู้จักเมื่อคืนแรกที่หลวงตาใหญ่กับพระชาพาพระเต็มไปบ้านเธอ หลวงตาใหญ่กับพระชาเป็น “กองหนุน” แนะนำความเป็นมาของพระเต็มให้ทุกคนในบ้านรู้ว่า เป็นใคร มาจากไหน ทั้งยกยอปอปั้นถึงความดี ความสามารถมากมาย ข้าพเจ้าอายจนแทบจะหนีลงจากบ้านเลยเชียว การสรรเสริญเยินยอจนเกินความเป็นจริงข้าพเจ้าเห็นว่ามันเป็นโทษอย่างมหันต์ จึงไม่เคยยินดีกับคำเยินยอของใคร ๆ
“ผมฟังกลอนของท่านในรายการกวีสวรรค์ทุกคืนแหละ ท่านเขียนดีนะ ผมชอบแนวทางกลอนของท่านมาก”
โยมผู้ชายพูดด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง จากนั้นโยมชายโยมหญิง (พ่อ แม่ แจ๋ว) ก็คุยกับข้าพเจ้าแบบบ้าน ๆ หลายเรื่องราว และเรื่องที่คุยสนุกคือเรื่องลิเก โยมผู้ชายบอกว่า สมัยเป็นหนุ่มรุ่นหัดและแสดงลิเก ไม่ได้พระเอก แต่เป็นนางเอก ลิเกสมัยก่อนไม่มีผู้หญิงเล่น แต่ละคณะมีแต่ผู้ชาย ดังนั้นผู้ชายจึงต้องแสดงบทหญิงตามท้องเรื่อง โยมหญิงบอกว่าตอนเป็นสาวดูลิเกคณะที่โยมชายแสดงแล้วชอบ ตัวนางเอกที่แสดงได้ถึงบทบาทดีมาก ตามดูทุกครั้งที่เขาแสดง จนรู้จักแล้วรักและแต่งงานกันในที่สุด ข้าพเจ้าก็บอกเรื่องหลังบ้างว่า สมัยเป็นเด็กรุ่นหนุ่มเคยหัดลิเกเหมือนกัน อยากเป็นตัวพระแต่เขาให้เป็นตัวนางอย่างไม่เต็มใจเลย หัดอยู่พอร้องรำได้บ้าง ไม่ทันครอบครูก็เลิก เพราะเพื่อนชวนบวชเป็นเณรเสียก่อน รู้อย่างนั้นโยมชายชอบอกชอบใจหัวเราะเอิ้กอ้ากเลย
ในบ้านหลังใหญ่คืนนั้นมีวงสนทนาสองวง คือข้าพเจ้ากับโยมชายหญิงวงหนึ่ง หลวงตาใหญ่ พระชา แจ๋วและญาติพี่น้องอีกวงหนึ่ง เขาคุยกันเรื่องอะไรข้าพเจ้าไม่รู้ ครั้นถึงเวลารายการกวีสวรรค์ตอน ๔ ทุ่ม แจ๋วเร่งเสียงวิทยุให้ดังขึ้นทุกคนจึงหันมาฟังกลอนที่ ประยูร กั้นเขต อ่านให้ฟัง จบรายการกวีสวรรค์แล้วก็ลากลับวัดอย่างชื่นมื่น
ความสัมพันธ์ของข้าพเจ้ากับแจ๋วราบรื่น พ่อแม่พี่น้องของแจ๋วทุกคนไม่มีใครรังเกียจ มีแต่นิยมชมชอบ เพราะข้าพเจ้าวางตัวเป็นผู้ใหญ่ สุภาพเรียบร้อย ไม่แสดงกิริยาท่าทางเจ้าชู้กรุ้มกริ่มเหมือนชายหนุ่มทั่วไป กับแจ๋ว ข้าพเจ้าไม่เคยพูดหรือจดหมายเกี้ยวพาราสี แสดงความรักความใคร่ตามประสาหนุ่มสาวรักกันเลย มีแต่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำสั่งสอนเธอเหมือนเพื่อน เหมือนน้อง ด้วยความหวังดีและห่วงใยเธอตลอดเวลา ความรู้สึกจริง ๆ ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนั้น ความใคร่ปรารถนาด้านกามารมณ์ตามธรรมชาติของเพศคู่ มาสู่ใจข้าพเจ้าก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก
ใช่ครับ ข้าพเจ้ารักแจ๋ว เป็นความรักที่สะอาดบริสุทธิ์ แม้จะมีความใคร่เจือปนบ้างก็น้อยนิดจนดูเหมือนไม่มี ข้าพเจ้าคิดว่าแจ๋วเป็นหญิงคนแรกที่ข้าพเจ้ารักอย่างจริงใจและจริงจัง ความรักที่มีต่อเธอเป็นความรักที่ข้าพเจ้าไม่หวังผลใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่เคยบอกแจ๋วเลยว่าข้าพเจ้ารักเธอ และเธอก็ไม่เคยบอกว่ารักข้าพเจ้า แต่เราก็รู้กันอยู่แก่ใจอย่างชัดแจ้งว่ารักกัน เพราะตามันฟ้อง เราบอกรักกันด้วยสายตา ว่างั้นเถิด/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ต้นฝ้าย
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
หยาดฟ้า
,
คิดถึงเสมอ
,
เป็น อยู่ คือ
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
ข้าวหอม
,
ปิ่นมุก
,
มนชิดา พานิช
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #79 เมื่อ:
12, ธันวาคม, 2565, 11:48:51 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๐ -
ข้าพเจ้าแต่งกลอนรักได้หวานขึ้นบ้าง เพ้อฝันก็มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ก็เพราะใจมันมีคนรักเสียแล้ว สงสัยว่าดวงความรักของข้าพเจ้าคงจะขึ้นมากในระยะนั้น ดูเหมือนจะมีหญิงมารุมรักกันมากเหลือเกิน ส่วนใหญ่ก็คนในวงการกลอนภูธรนั่นแหละครับ แต่งกลอนโต้ตอบกันไปมาอย่างที่เรียกว่า “มันส์ในอารมณ์” เขาบอกว่ารักข้าพเจ้าจริงเสียแล้ว บางคนที่รู้ว่าข้าพเจ้าเป็นพระก็ชวนดื้อ ๆ ให้สึกออกไปอยู่กับเธอ อย่างนี้ก็มี ข้าพเจ้าจะรักใครอีกได้เล่าเพราะในใจยามนั้นมีแต่รักแจ๋วเต็มไปหมดแล้ว สมัยนั้นถ้าไม่เป็นพระก็คงจะมากชู้หลายเมียเหมือนเพื่อนบางคนของข้าพเจ้า ดีไม่ดีอาจจะถูกสามีขี้หึงของนักกลอนหญิงฆ่าข้าพเจ้าทิ้งไปเสียแล้วก็ได้
วันหนึ่งขณะอยู่วัดบางจักร พระลิขิตเพื่อนกันที่อยู่วัดจันทร์นอกกรุงเทพฯ ได้ส่งห่อกล่องเป็นพัสดุส่งทางไปรษณีย์ไปให้กล่องหนึ่ง หะแรกคิดว่าเพื่อนส่งยาสูบเส้นพร้อมใบจากสำหรับมวนยาสูบไปให้ ด้วยสภาพจริงของข้าพเจ้าเป็นคนติดบุหรี่ โดยติดกัญชามาก่อนบวช เมื่อบวชแล้วเลิกสูบกัญชาหันมาสูบบุหรี่แทนและสูบเรื่อยมา เวลานั้นสูบยาเส้นเล็กไม่มีกระดูกเรียกกันว่า “ยาใต้” ใช้ใบจากมวน กับบุหรี่ของโรงงานยาสูบตราเกล็ดทอง พระลิขิตเพื่อนผู้รู้ใจเห็นข้าพเจ้าไปสนุกอยู่บางจักรนาน เกรงว่าจะไม่มียาเส้นสูบจึงจัดส่งไปให้บ่อย ๆ วันนั้นพอรับกล่องพัสดุไปรษณีย์แล้วก็เปิดกล่องนั้นต่อหน้าหลวงตาเล็ก พอแกะกระดาษออกปรากฏว่ามีกลิ่นหอมระเหยออกมาจากกล่อง ข้าพเจ้าแปลกใจร้องเอ๊ะ ! ทำไมมันหอมล่ะ หลวงตาเล็กวางถ้วยน้ำชาที่กำลังยกจิบอยู่ ส่งเสียงว่า “หือ...” แล้วจ้องดูกล่องในมือข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าค่อย ๆ แกะกระดาษออก แล้วเปิดกล่องเห็นของในกล่องนั้นแล้วตกใจจนกล่องหลุดมือ ของในกล่องกลิ้งออกมา หลวงตาเล็กอุทานเสียง “เฮอะ ! ” แล้วนั่งนิ่งเงียบไป หลังจากเราหายตกตะลึงแล้ว เห็นชัดเจนว่าของที่กลิ้งออกมาจากกล่องนั้นเป็นผมเปียข้างหนึ่งผูกโบว์สีชมพู เห็นในกล่องมีจดหมายอยู่จึงหยิบออกมาอ่าน พอเห็นลายมือก็จำได้ว่าเป็นของน้องเปียสาวเขมรสูงแห่งบุรีรัมย์นั่นอง
ความกระจ่างขึ้นเมื่ออ่านจดหมายจบ จึงบอกเล่าให้หลวงตาเล็กฟัง เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า น้องเปียนักเรียนอาชีวะฯ บุรีรัมย์จดหมายขอเป็นเพื่อนพระสอนที่ประกาศหามิตรในหนังสิพิมพ์สกุลไทย แล้วข้าพเจ้าสมอ้างว่าเป็นพระสอนในนามของข้าพเจ้า เขียนจดหมายติดต่อกันมาเป็นลำดับ ในระยะหลัง ๆ ข้าพเจ้าไม่ค่อยได้อยู่ในกรุงเทพฯ จึงตอบจดหมายเธอล่าช้าไปบ้าง ออกพรรษาปีนั้นเธอจดหมายมาบอกว่า
“ปีนี้น้องเรียนจบแล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว จะตัดผมเปียทิ้ง พี่ว่าดีไหม”
จดหมายของเธอฉบับนั้นนอนรอคำตอบของข้าพเจ้าอยู่นาน เพราะตอนนั้นเรียนแปลธรรมบทอย่างหนักจนไม่มีเวลาตอบจดหมายใคร ๆ ก่อนจะเดินทางสู่บางจักรจึงตอบจดหมายเธอไปว่า
“น้องไม่ควรตัดเปียทิ้ง เอาเปียไว้เถอะ ดูเป็นเด็กน่ารักดี พี่รักละเสียดายผมเปียน้องมากนะ อย่างเพิ่งตัดทิ้งเลย”
ตอบจดหมายแล้วก็เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปบางจักร ในจดหมายน้องเปียที่แนบมากับผมเปียผูกโบว์ชมพูนั้นว่า
“น้องรอคอยจดหมายตอบพี่ตั้งนานเกือบเดือน ไม่เห็นตอบสักที รอไม่ไหวก็เลยตัดผมเปียทิ้ง พอตัดเปียแล้วจึงได้รับจดหมายตอบจากพี่ คำห้ามของพี่มันสายไปแล้วนะพี่จ๋า เมื่อพี่รักมัน น้องก็ขอมอบเปียข้างหนึ่งไว้เป็นสมบัติของพี่ อีกข้างหนึ่งน้องจะเก็บไว้ ขอให้พี่เก็บเปียข้างนี้ของน้องไว้ให้ดี เดี๋ยวนี้น้องไม่มีเปียยาว ๆ แล้วพี่ก็อย่าเลิกรักน้องนะ พี่ต้องรักน้องเหมือนตอนที่น้องมีผมเปียนะ ห้ามรังแกผมเปียของน้องด้วยนะ”
อ่านจดหมายน้องเปียแล้วอึ้ง พูดไม่ออกบอกไม่ถูก
ตอนท้ายจดหมายน้องเปียช่างฉอเลาะออดอ้อนเสียนี่กระไร ถ้าท่านผู้อ่านได้ประสบการณ์เช่นข้าพเจ้านี้ จะรู้สึกอย่างไรครับ ข้าพเจ้าเองตอนนั้นมีความรู้สึกสับสนไปหมด เก็บผมเปียใส่กล่องตามเดิมพร้องส่งจดหมายให้หลวงตาเล็กอ่านบ้าง หลังจากหลวงตาเล็กอ่านจดหมายจบแล้วท่านถอนหายใจเฮือกใหญ่ก่อนพูดว่า
“เขารักคุณมากนะเนี่ย ม่ายงั้นคงไม่ส่งผมเปียมาให้หรอก แล้วคุณจะยังไงล่ะ”
คำพูดของหลวงตาเล็กตอกย้ำให้ข้าพเจ้าคิดสับสนมากขึ้นอีก คืนนั้นนอนไม่หลับ เอากล่องผมน้องปีวางไว้ข้างหมอน กลิ่นน้ำหอมที่น้องเปียพรมใส่ผมเปียไว้ระเหยออกมาจาง ๆ เตือนความรู้สึกให้คิดมากจนหลับไม่ลง
น้องเปียคงจะรักข้าพเจ้าจริง ๆ น่ะแหละ แต่คงจะไม่รักแบบชู้สาวดอกกระมัง อาจจะรักอย่างน้องสาวคนหนึ่งรัก-นับถือพี่ชาย อย่างที่ข้าพเจ้ารักเธอแบบพี่ชายรักน้องสาวเท่านั้น เป็นความรักอย่างพรหม คือ เมตตาปรารถนาจะให้เป็นสุข เป็นรักที่บริสุทธิ์ปราศจากกามราคะ ด้วยยังไม่เคยคิดรักน้องเปียในแบบชู้สาวมาก่อน และเชื่อว่าเธอก็คงไม่คิดรักพี่ชายคนนี้แบบชู้สาวเช่นกัน แต่พอได้รับผมเปียของเธอ ประกอบกับคำพูดของหลวงตาเล็กที่ว่าน้องเปียรักข้าพเจ้ามากนะ ทำให้อดคิดเอียงไปทางชู้สาวไม่ได้ ก็จิตใจของปุถุชนคนหนุ่มนี่ครับ
ข้าพเจ้าเคยรู้รสสัมผัสทางเพศสัมพันธ์มาก่อนบวชเป็นพระบ้างแล้ว มันเป็นความสุขเสียวซ่านหวานหวามหวิวไหวในทรวงอย่างประหลาดหลายหลายจาระไนไม่ถูก ครั้นบวชเป็นพระภิกษุเหินห่างการสัมผัสรสกามคุณมาหลายปี บางคราวคิดจะหวนหากลับไปลิ้มรสมันอีก แต่ก็เป็นความคิดที่ “ไม่หมกมุ่น” จึงดำรงอยู่ในสมณะเพศได้ ๔ พรรษาแล้ว ถ้าคิดอย่างหมกมุ่นคงเปลื้องผ้าเหลืองทิ้งโผนออกจากดงขมิ้นไปแล้ว
ก็เพราะรสสัมผัสทางเพศที่เคยพบมาก่อนแล้วนั่นแหละทำให้คืนนั้นนอนไม่หลับ ปอยผมของน้องเปียใส่กล่องวางไว้ข้างหมอน กลิ่นน้ำหอมระเหยออกมาโชยเข้าจมูกเป็นเหมือนจุดเพลิงราคะให้โชนขึ้นในใจ คิดอยากให้น้องเปียมานอนข้างกาย ถ้าอาบัติทางใจเป็นได้ ละก็ คืนนั้น พระเต็มเป็นอาบัติปาราชิกแน่นอนเลยละแล้วกัน/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
คิดถึงเสมอ
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ต้นฝ้าย
,
หยาดฟ้า
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
ข้าวหอม
,
ปิ่นมุก
,
มนชิดา พานิช
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #80 เมื่อ:
13, ธันวาคม, 2565, 11:36:50 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๑ -
หลังกึ่งพุทธกาล (๒๕ พุทธศตวรรษ) คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา น่าจะพูดได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของวงการกลอน สถานีวิทยุต่าง ๆ ให้เวลาจัดรายการกลอนกันหลายคลื่น ส่วนใหญ่เป็นคลื่นของทหาร ดูเหมือนคลื่นแรกคือสถานีวิทยุ ๐๑ ดอนเมืองของทหารอากาศ ชื่อรายการ “ในโลกฝัน” ดำเนินรายการโดย นิรินธน์ ศรีรักษา สถานีวิทยุ ส.ส.ส. (เสียงสามยอด) ของตำรวจ ชื่อรายการ “เพื่อนนักกลอน” ดำเนินรายการโดย ส.เชื้อหอม - ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร เป็นต้น คลื่นเสียงในกรุงเทพฯ ไม่ปลุกเร้าอารมณ์คนภูธรเท่าที่ควร ครั้นสงั่น พูลเพิ่ม เปิดรายการกวีสวรรค์ออกอากาศทางคลื่นเสียงวิทยุจังหวัดทหารบกลพบุรีขึ้น เป็นรายการที่ปลุกเร้าอารมณ์คนภูธรนักกลอนลูกทุ่งได้มาก คนรักกลอนบ้านนอกเขียนกลอนกันอย่างผิดๆถูก ๆ แต่ก็สนุกทั้งผู้เขียนและผู้ฟังกันมาก จนมีการตั้งเป็นชมรมขึ้นในหลายแห่ง เช่นชมรมกวีศรีษ์เวียง วัดหัวเวียง ชมรมกวีศรีนารายณ์ ลพบุรี-พระพุทธบาท ชมรมนักกลอนบางบาล เป็นต้น
ชมรมนักกลอนบางบาลตั้งที่วัดโพธิ์กบเจา อำเภอบางบาล พระนครศรีอยุธยา ประธานที่ปรึกษา (หรือผู้อุปถัมภ์) ชมรมนี้คือ หลวงพ่อเมี้ยน พุทธสิริ (พระครูพุทธสิริวัฒน์) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ท่านใช้นามปากกา (นามแฝง) ในการเขียนกลอนว่า “อาจารย์ท้วม” มีพระศิลปะ พิริยะโพธิ เป็นประธาน กรรมการและสมาชิกของชมรมนี้เป็นพระภิกษุบ้าง ครูบ้าง นักเรียนบ้าง วัดนี้ได้ตั้งโรงเรียนราษฎร์ขึ้นภายวัด พระภิกษุเป็นครูสอนร่วมกับฆราวาส นัยว่าเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.๖ (ม.๖ เดิม) นักกลอนมีชื่อเสียงดังมากที่สุดของชมรม เป็นนักกลอนสาวสวย ชื่อ พวงทอง พิริยะโพธิ เขียนกลอนดีและขยันเขียนมาก
ชาวกลอนของชมรมบางบาล กับ ศรีษ์เวียง เขียนกลอนโต้ตอบกันสนุก โดยมีชาวกลอนชมกวีศรีนารายณ์ลพบุรี-พระพุทธบาท และชาวกลอนโรงงานปูนท่าหลวงเข้าสมทบ เพิ่มความครึกครื้นขึ้นเป็นอันมาก
นักกลอนพระพุทธบาท ที่ขยันเขียนมากเห็นจะเป็น สมจิต คชฤทธิ์, แก้วศิริ เจ้าของโรงโม่หินพุแค ทางโรงงานปูนก็มี สง่า พูลพงษ์ อเนก บุญโยทก เป็นต้น นักกลอนจากเมืองสุพรรณ นอกจาก ยินดี สุขนคร ก็มีสมปอง อินสุข และเพื่อนเก่าของข้าพเจ้าที่จากวัดจำปีเข้ามาอยู่วัดท่าโขลงชานเมืองสุพรรณ เพื่อนคนนี้ชื่อ สำรวย พ่วงรอดพันธุ์ มาเรียนบาลีที่วัดท่าโขลงแล้วสอบได้เป็นพระมหา เขาใช้นามแฝงว่า ส.สุพรรณ แต่งกลอนได้ดีเยี่ยม
รายการกวีสวรรค์มีบทกลอนที่นักรักกลอนเขียนส่งไปมากจนกองเป็นพะเนิน คุณประยูรอ่านไม่หวาดไม่ไหว ยามนั้นทางสถานีวิทยุทหารม้า (สม.) สระบุรี จึงให้เวลาเป็นสนามกลอนเพิ่มขึ้นในชื่อ “มรดกกวี” มี ประสพโชค เย็นแข เป็นผู้ดำเนินรายการ ใช้นามแฝงว่า “กวิน อัศดร” คลื่นสถานีวิทยุนี้ดังกระจายไปไกลมาก เพราะกำลังส่งแรงมากกว่า จ.ท.ล. แต่คนก็ยังติดกวีสวรรค์ของ จทล. อย่างเหนียวแน่น ภายหลังประสพโชค เย็นแข ย้ายเข้าอยู่กรุงเทพฯ รายการมรดกกวีที่ สม. สระบุรีก็ยังอยู่ โดยมี ชาญ เย็นแข นักร้องดังจากเพลง “ค่าน้ำนม” พี่ชายของประสพโชคมาดำเนินรายการแทนน้อง แต่ยังใช้นามแฝงเดิมว่า ”กวิน อัศดร” อยู่เหมือนเดิม มีนักกลอนส่งผลงานไปร่วมรายการไม่น้อยเหมือนกัน
มีการพบปะสังสรรค์ของนักกลอนในยุคนั้นบ้าง โดย ประยูร กั้นเขต นำนักกลอนของชมรมกวีศรีนารายณ์ ประกอบด้วย อุทัย เก่าประเสริฐ ลพบุรี แก้วศิริ พุแค สมจิต คชฤทธิ์ พระพุทธบาทสระบุรี ไปเยือนชาวกวีศรีษ์เวียง ที่วัดหัวเวียง เราจึงได้รู้จักหน้าค่าตากันเป็นครั้งแรก อีกครั้งหนึ่งนัดพบกันที่บ้านพี่เพชรา บ้านแพน ส.เชื้อหอม ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร ชาญ เย็นแข ไปจากกรุงเทพฯ ส.สุพรรณ มาจากสุพรรณ พบกันครั้งนั้น ชาญ เย็นแข มีอายุมากกว่าเพื่อน ข้าพเจ้าเรียกเขาว่า “คุณอา” แต่เขาไม่ยอมให้เรียกอย่างนั้น บอกว่าเรียกผมแก่เกินไปแล้ว ขอให้ทุกคนเรียกว่า พี่ชาญ เถอะ พี่เขาไม่ยอมแก่เราก็เลยเรียกเขาว่าพี่ตามต้องการ
วันหนึ่งข้าพเจ้าชวนน้องเณรอุดม พบวารี น้องนักกลอนแห่งหัวเวียงลงเรือบริษัทสุพรรณขนส่ง เดินทางไปท่าช้าง เดิมบางนางบวชตามคำเชิญของพี่ยินดี สุขนคร นัดพบที่ท่าเรืออย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะ พี่เขาบอกว่าเป็นนายท่าถามใคร ๆ ก็รู้จัก พอเรือเทียบท่าข้าพเจ้าขึ้นจากเรือเดินผ่านพี่เขาไป ถามหาคนชื่อยินดี คนในท่าเรือก็ชี้ให้ดูว่า ก็ผู้หญิงใส่แว่นยืนเก้ ๆ กัง ๆ อยู่บนโป๊ะท่าเรือนั่นไงล่ะ
เห็นเธอเดินขึ้นจากท่าเรือมาด้วยความผิดหวัง น้องอุดมก็ร้องทักว่า สวัสดีพี่ยินดี เธอยืนงง ข้าพเจ้าก็บอกว่า น้องจากหัวเวียงไงล่ะ เธอยกมือทาบอกร้อง ต๊ายตาย เป็นพระก็ไม่บอก หลงไปยืนรอรับคนอยู่นั่น
พี่ยินดีนิมนต์พวกเราเข้าบ้านซึ่งเป็นอาคารห้องแถวไม้สองขั้นสองคูหา พี่เขาอยู่สองคนกับแม่ จึงจัดห้องอีกห้องหนึ่งให้เราพัก เราอยู่คุยกันเรื่องกลอนอย่างสนุกสนิทกันเหมือนพี่น้องแท้ ๆ พักอยู่ตลาดท่าช้าง ๒ คืน จึงเดินทางกลับด้วยความชื่นมื่น. /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
หยาดฟ้า
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ต้นฝ้าย
,
ข้าวหอม
,
คิดถึงเสมอ
,
เป็น อยู่ คือ
,
มนชิดา พานิช
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #81 เมื่อ:
14, ธันวาคม, 2565, 10:46:42 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๒ -
ข้าพเจ้าชอบเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง และเหมือนกันโดยรวมแต่มีข้อปลีกย่อยไม่เหมือนกันบ้าง อย่างเช่น ประเพณีในการจัดงานศพของคนตายในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งได้พบเห็นมาหลายลักษณะ สมัยเป็นเด็กวัดอยู่ในชนบทกันดารที่บ้านเกิดของข้าพเจ้า ที่นั่นชาวบ้านส่วนมากยากจน หลายครั้งที่เห็นการตายเกิดขึ้น บางศพเขาใช้เสื่อกกที่ปูนอนห่อร่างคนตายเอาปอมัด บางศพเอาไม้ไผ่มาสับเป็นไม้ฟากป็นเฝือกห่อศพ ตั้งวางไว้ในบ้าน นิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรมตอนกลางคืน และถวายอาหารเช้า วันแรก ๆ ศพยังไม่เน่าเปื่อย กลิ่นเหม็นมีไม่มาก แต่วันต่อ ๆ มาศพเน่าเปื่อยมีกลิ่นเหม็นมาก พระสวดศพกลางคืนและฉันอาหารหน้าศพตอนเช้าต้องใช้ความอดทนอดกลั้นในพิธีกรรมนั้นเป็นอย่างมาก
ข้าพเจ้าจำได้แม่นยำ เป็นเด็กวัดที่หลวงตาสั่งให้ไปเป็นเพื่อนในงานสวดศพบ้านใต้วัด คืนนั้นเป็นคืนที่ ๓ อันเป็นคืนสุดท้ายที่จะสวดศพ กลิ่นเหม็นศพรุนแรงมาก พระสวดศพมีแค่ ๓ องค์ เพราะบ้านนอกกันดารอย่างนั้นหาพระยาก หลวงตาหัวหน้าสวดท่านเป็นคนเชื้อชาติมอญ ชื่อหลวงตาหม่อง คืนนั้นท่านสวดอภิธรรมไม่จบเลยสักบทเดียว พอสวดบทแรกว่า กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา.... ท่านหยุดสวดเอามือปัดจมูกพูดมีสำเนีบงมอญว่า “เฮ่ย โยม..เหมือนชิบผายเลยว่ะ” แล้วขึ้นบทสวดต่อไป สวดได้สองสามคำ ก็หยุดร้องว่าเหม็น.. เรื่อยไปจนถึงบทสุดท้าย คนฟังก็ได้แต่หัวเราะกันเห็นเป็นเรื่องขำขัน ไม่ถือสาหาความอะไร รุ่งเช้าท่านก็ไปฉันเช้า ฉันไปบ่นเหม็นไป ข้าพเจ้าเห็นใต้ถุนบ้านตรงที่ตั้งศพนั้นมีน้ำเหลืองไหลหยดติ๋ง ๆ ลงบนกองขี้เถ้าที่อาไปกองซับน้ำเหลืองน้ำหนอง มีแมลงวันตอมเป็นฝูง มันไม่ตอมแต่น้ำเหลืองเท่านั้น บินขึ้นมาตอมสำรับกับข้าวพระด้วย พระก็ต้องทนฉันไปจนเสร็จสิ้น ข้าพเจ้ากับเพื่อนเด็กวัดต้องนั่งเอาก้านใบไม้คอยปัดแมลงวันจนเมื่อยมือ สภาพการณ์ดังกล่าวข้าพเจ้าเคยพบเห็นหลายครั้งหลายคราจนเรียกได้ว่า ชินเสียแล้ว
ถามว่าทำไมไม่เอาศพไปตั้งสวดที่วัด ก็ตอบได้ว่ามันเป็นวัฒนธรรมประเพณี ที่ว่าเมื่อคนตายลงแล้ว ญาติพี่น้องต้องตั้งศพบำเพ็ญบุญที่บ้าน เพื่อเป็นการแสดงความรักและอาลัยในผู้ตาย สวดศพที่บ้านตามกำหนดเป็นที่พอใจแล้วจึงเคลื่อนย้ายแห่ศพจากบ้านไปตั้งที่ศาลาป่าช้าวัด มีเทศน์ ๑ กัณฑ์ จะเป็นเทศน์อานิสงส์หรือเทศน์แจงก็ตามแต่ใจเจ้าภาพ จบเทศน์แล้วพระสงฆ์สวดมาติกาบังสุกุล เชิญศพขึ้นเชิงตะกอน (เดี๋ยวใช้เมรุ) ประชุมเพลิง ชาวบ้านจะถือธูปไปเผาศพด้วยตนเอง (ไม่มีดอกไม้จันทน์แจกเหมือนปัจจุบัน) รุ่งเช้าก็ทำพิธีเก็บกระดูก เป็นอันเสร็จพิธี
ประเพณีตั้งศพสวดที่บ้านของชาวชนบทเมืองสุพรรณ อยุธยา อ่างทอง จะคล้ายคลึงกัน ในแถบบางซ้าย อยุธยา ที่ข้าพเจ้าเคยอยู่สมัยเป็นสามเณรนั้น บ้านคนตายที่มีฐานะดีจะตั้งศพสวดหลายคืน บางบ้านมีสวดพระอภิธรรมแล้วต่อด้วยสวดสังคหะต่อไปจนค่อนแจ้ง บางบ้านสวดพระอภิธรรมแล้วต่อด้วยสวดพระมาลัยไปจนรุ่งแจ้ง การสวดพระมาลัยส่วนมากจะใช้ฆราวาสสวด ตอนค่อนแจ้งเขาสวดบทที่เรียกว่า “ส่งเปรต” เสียงวิเวกวังเวงมาก เสียงร้องโหยหวนเหมือนเสียงเปรตร้อง จนสุนัขได้ยินแล้วต้องหอนประสานเสียง คนฟังแล้วขนลุกเลย
การตั้งศพสวดที่บ้านสมัยที่ข้าพเจ้าโตเป็นหนุ่มแล้วนี่ไม่มีกลิ่นเหมือนอย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้น เพราะเขาเอาศพใส่โลง (หีบ) อย่างมิดชิด โดยใช้ขี้ผึ่งหรือชันยารอยตะเข็บโลงและฝาโลงกันน้ำเหลืองไหลได้เป็นอย่างดี
แถวสามเรือน บางจักร บ้านดาบ ที่ข้าพเจ้าชอบไปพักผ่อนอยู่นั้น ก็มีวัฒนธรรมประเพณีจัดงานศพคล้ายกันกับแถบบางซ้าย ต่างกันในข้อปลีกย่อย กล่าวคือ ข้าพเจ้าอยู่บางจักรไม่พบเห็นว่ามีการสวดอภิธรรมสังคหะและพระมาลัยเลย ที่แปลกออกไปจากการสวดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์คือ จะใช้พระสูตร ปาฐะ บทใดมาสวดหน้าศพก็ได้ ศพใดที่มีญาติพี่น้องมาก ฐานะทางบ้านดีมีอันจะกิน ทุกคนจะมีเจ้าภาพสวดศพมากมาย และเจ้าภาพจัดจตุปัจจัยไทยทานมาเอง พระสวดจบก็ถวายจตุปัจจัยไทยานของตนเสร็จแล้วถ้าไม่รีบกลับก็นั่งฟังสวดต่อตามอัธยาศัย ส่วนพระสวดเป็นสี่องค์ชุดเดิมบ้าง มีชุดเปลี่ยนสลับกันบ้าง สรุปแล้วงานสวดศพที่นี้ผู้ได้ดีคือพระสวด เพราะสวดจบแล้วรับทรัพย์เข้าย่ามลูกเดียว บางงานพระสวดรับสตางค์กลับวัดองค์ละหลายพันบาท ข้าพเจ้าเคยได้คืนละเกือบหมื่นบาทเลยเชียว เพราะข้าพเจ้าจำบทสวดมนต์ในเจ็ดตำนาน สิบสองตำนานได้มากกว่าเพื่อน เจ้าภาพชอบที่จำให้สวดไม่ซ้ำบทกัน ข้าพเจ้าเลือกพระเพื่อนที่จำบทสวดมนต์ได้มากบท แม้จะจำได้ไม่หมดก็ไม่เป็นไร ขอเพียงได้บ้างเท่านั้นก็พอแล้ว ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าสวดเสียงดังอยู่แล้ว จึงนำสวดจนจบทุกบท สวดผิดพลาดขาดตกอย่างไรคนฟังก็ไม่รู้
มีเรื่องเล่ากันว่า พระหลวงน้าองค์หนึ่งเป็นคนไม่รู้ค่อยหนังสือ ท่องคำสวดที่จำจากเพื่อนพระพอได้บ้าง เวลาไปสวดมนต์ไม่ว่างานใด ท่านก็สามารถไปสวดกับเขาได้ โดยทำปากขมุบขมิบ ๆ ไปจนจบทุกบท ในการสวดมาติกางานศพท่านมีคำสวดของท่านว่า “ถั่วงา ถั่วงา..” เข้าจังหวะว่า กุสะลาธัมมา (ถั่ว) อะกุสะลาธัมมา (งา)... วันหนึ่งไปสวดมาติการร่วมคณะที่มีพระเพียง ๕ องค์ ท่านว่า ถั่วงา ถั่วงา เพลินไป บทสวดหมดจบการสวดแล้ว ท่านก็ยังว่า ถั่วงา อยู่คนเดียว ญาติโยมหัวเราะกันครืนเลย /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
หยาดฟ้า
,
ต้นฝ้าย
,
ข้าวหอม
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
คิดถึงเสมอ
,
มนชิดา พานิช
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #82 เมื่อ:
15, ธันวาคม, 2565, 10:26:17 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๓ -
ในขณะที่ข้าพเจ้าอยู่วัดบางจักรนั้น วันหนึ่งพระมหาเฉลิมวัดจันทร์นอก เป็นพระเพื่อนข้าพเจ้าอีกองค์หนึ่งส่งโทรเลขไปเรียกให้กลับวัดด่วน มีเรื่องสำคัญให้จัดการ รับโทรเลขแล้วตกใจมากจึงรีบกลับกรุงเทพฯ โดยไม่บอกใคร นอกจากพระชากับหลวงตาเล็กเท่านั้น เมื่อถึงวัดจันทร์นอกไม่พบพระมหาเฉลิม พบแต่พระมหาบุญหนาเพื่อนอีกองค์หนึ่ง พระมหาเฉลิมกับบุญหนามาจากขอนแก่นอยู่กุฏิเดียวกัน เฉลิมเรียนต่อที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย บุญหนาเรียนต่อที่มหามงกุฎราชวิทยาลัย อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า
“เหลิมโทรเลขไปเรียกผมกลับมาแล้วตัวเขาหายไปไหน”
“อยู่โรงพยาบาลปากคลองสาน”
“เฮ้ย นั่นมันโรงพยาบาลรักษาคนบ้า เหลิมเป็นบ้าไปแล้วเหรอ
“เหลิมไม่บ้าหรอก โน่น” บุญหนาชี้มือไปที่กุฏิเจ้าอาวาส
“อ้าว ท่านเป็นไรไปล่ะ”
พระมหาบุญหนาบอกเล่าเรื่องราวให้ฟังว่า พระมหาประยูรเจ้าอาวาสวัดจันทร์นอกโรคประสาทกำเริบ เกิดอาการคลุ้มคลั่ง พวกพระจึงช่วยกันจับตัวพาไปรักษาที่โรงพยาบาลปากคลองสาน ตอนนี้อาการเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย มหาเหลิมต้องอยู่เฝ้าดูแล พวกเราเห็นว่าทั่นเต็มองค์เดียวที่จะช่วยได้ จึงโทรเลขเรียกกลับมา เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็รีบไปโรงพยาบาลปากคลองสารทันที ก่อนขึ้นรถไปปากคลองสารก็แวะซื้อบุหรี่เกล็ดทอง ๑ กะต้อนไปฝากท่านเจ้าอาวาสด้วย
ชื่อโรงพยาบาลปากคลองไม่ใช่ชื่อเป็นทางการ ชื่อเป็นทางการคือ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา มีประวัติความเป็นมาปรากฏอยู่ในเอกสารของโรงพยาบาลดังต่อไปนี้
“สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งโดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๒ โดยมีชื่อว่า “โรงพยาบาลคนเสียจริต” ตั้งอยู่ที่ปากคลองสาน โรงพยาบาลคนเสียจริต ทำการรักษาผู้ป่วยโดยแพทย์ประจำและแพทย์แผนไทย ต่อมามีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ประกอบกับสถานที่คับแคบ นายแพทย์ไฮเอ็ดเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ซึ่งถือว่าเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลได้เสนอให้รัฐบาลซื้อที่ดินและบ้านของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือเจ้าคุณทหาร ที่ดินของนายเปีย ราชานุประพันธ์และที่ดินใกล้เคียงของราษฎรอื่น ๆ รวมเนื้อที่ ๔๔ ไร่ครึ่ง เพื่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันฯ ในปัจจุบัน คืออยู่ที่ริมคลองสานด้านตะวันตกตอนใต้ห่างจากสถานที่เดิมประมาณ ๖๐๐ เมตร การสร้างโรงพยาบาลคนเสียจริต อยู่ภายใต้การควบคุมของพระยาอายุรเวชวิจักษ์ (หมอคาธิวส์) ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานโรงพยาบาลจิตเวชให้เป็นแบบตะวันตกอย่างแท้จริง โดยให้การบำบัดรักษาตามหลักวิชาการในสมัยนั้น พร้อมทั้งให้การดูแลผู้ป่วยด้วยความเมตตา กรุณา และมีมนุษยธรรม ในด้านสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลมีความร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม้ดอก ไม้ใบสีสวย เรือนผู้ป่วยเป็นห้องมีลูกกรงสายบัว โปร่ง ไม่มีหน้าต่าง หลังคาสังกะสีทาสีแดง
ภายหลังมีแพทย์แผนปัจจุบันคนไทยจบการศึกษามารับราชการแทนชาวต่างประเทศ ศาสตราจารย์หลวงวิเชียรแพทยาคม (นายแพทย์เถียร ตูวิเชียร) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรกซึ่งเป็นคนไทย ท่านได้ไปศึกษาวิชาโรคจิตเพิ่มเติมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา ๒ ปี ท่านตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช จึงได้เผยแพร่ความรู้ทางด้านจิตเวชด้วยการเขียนบทความ บรรยายปาฐกถาเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และเลิกหวาดกลัวผู้ป่วยจิตเวช ท่านได้เปลี่ยนชื่อ “โรงพยาบาลคนเสียจริต” มาเป็น “โรงพยาบาลโรคจิตต์ธนบุรี” ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อให้คนทั่วไปคลายความรังเกียจที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ผู้อำนวยการในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๕๐๒ ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ไทย ท่านได้พัฒนาโรงพยาบาลโดยรื้อลูกกรงเหล็กแล้วเปลี่ยนเป็นมุ้งลวดแทน เปลี่ยนชื่อเรือนที่พักของผู้ป่วยเป็นชื่อดอกไม้ เพื่อให้มีความหมายน่าชื่นใจ ในด้านการดูแลผู้ป่วยใช้หลักของความรัก ความเอาใจใส่ประดุจพ่อแม่ดูแลลูก ในด้านวิชาการท่านเป็นผู้วางรากฐานวิชาจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตในการศึกษาก่อนและหลังปริญญา ท่านได้เปลี่ยนชื่อ ”โรงพยาบาลโรคจิตต์ธนบุรี” มาเป็น “โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา” ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ตามชื่อของถนนสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งผ่านหน้าโรงพยาบาล เพื่อลดความกระดากใจของผู้มาใช้บริการ
โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ ประสาทจิตเวชศาสตร์ เป็นสถาบันฝึกอบรมทางด้านจิตเวชศาสตร์ สุขภาพจิต และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในระดับก่อนและหลังปริญญา พัฒนางานวิชาการด้านจิตเวชศาสตร์ สุขภาพจิต ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ ประสาทจิตเวชศาสตร์ และเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา” ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕”
เพราะใช้สีแดงทาสังกะสีมุงหลังคานี่แหละคือที่มาของคำว่า “หลังคาแดง” สมัยก่อนเรียกโรงพยาลนี้ว่า “อยู่บ้านหลังคาแดง” เมื่อกล่าวถึงคำนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นคนเสียจริตหรือคนบ้านนั่นเอง
ข้าพเจ้าไปพบสภาพของพระอาจารย์มหาประยูรอยู่ในเครื่องแต่งกายคนไข้ของโรงพยาบาล นุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อคอกลม พอเห็นหน้าข้าพเจ้าท่านดีใจมากร้องว่า “ทั่นเต็มมาแล้ว รีบรับผมกลับวัดเร้ว” ข้าพเจ้ายื่นกะต้อนบุรี่ให้ ท่านรีบฉีกห่อหยิบบุหรี่ออกมาเปิดซองจุดมวนยาสูบพ่นควันโขมงอย่างมีความสุข ขณะนั้นมีคนไข้ชายแต่งกายชุดสีเขียวเช่นเดียวกันเข้ามารายล้อม ท่านแจกบุหรี่ให้คนเหล่านั้นสูบกันโดยทั่วหน้า แล้วหันมากล่าวว่า
“เต็ม เอาผมออกจากโรงพยาบาลบ้านี่ทีเถอะ ผมไม่ได้บ้านะ เอาผมมาอยู่กับคนบ้าทำไม ทั่นดูซี คนพวกนี้บ้าทั้งนั้นเลย”
ข้าพเจ้ากล่าวปลอบใจว่า
“ท่านอาจารย์ไม่ได้บ้า แต่เป็นโรคปวดศีรษะรุนแรงเท่านั้น รอให้อาการเบาบางลงอีกหน่อยผมจะไปขออนุญาตหมอใหญ่พาตัวอาจารย์กลับวัดนะครับ”
มีคนไข้รายหนึ่งเข้ามานั่งยอง ๆ พนมมืออยู่ตรงหน้าพระอาจารย์ ท่านกล่าวว่า “ไหว้พระเถอะโยม” แล้วก็แสดงธรรมกถา มีคนข้ากรูกันเข้ามานั่งยอง ๆ พนมมือฟังกันไม่น้อยกว่า ๑๐ คน ปกติอยู่วัดท่านไม่ค่อยเทศน์นัก วันอุโบสถ์มีคนมารักษาศีลที่วัดท่านจะให้พระมหาเจียรเทศน์บ้าง พระเต็มบ้าง เทศน์สลับกัน แต่มาอยู่กลางคนบ้านี่ท่านเทศน์ดีมากทีเดียว หลังจากกล่าวธรรมกถาจบแล้ว ท่านหันมาทางข้าพเจ้าแล้วกล่าวว่า
“ก็ดีเหมือนกันนะ มาอยู่ที่นี่เหมือนพระมาลัยมาโปรดสัตว์นรก แต่อย่าให้อยู่นานนักนะ ผมคิดถึงวัดมาก”
ข้าพเจ้ารับปากรับคำแล้วลากกลับ และไปเยี่ยมท่านทุก ๒ วัน จากนั้นอีกประมาณ ๑๐ วัน เห็นว่าอาการท่านดีขึ้นมากแล้ว จึงขออนุญาตแพทย์ใหญ่นำตัวท่านกลับวัดตามเดิม มาอยู่วัดคราวนี้ดูท่านเรียบร้อยดี ไม่มีอาการประสาทกำเริบอีกเลย /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๑ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ข้าวหอม
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
เป็น อยู่ คือ
,
ต้นฝ้าย
,
คิดถึงเสมอ
,
มนชิดา พานิช
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #83 เมื่อ:
16, ธันวาคม, 2565, 11:15:35 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๔ -
เป็นเพราะหลงระเริงอยู่ในวงการกลอนเสียแล้ว การเรียนบาลีก็ต้องเลิกราไปโดยปริยาย ปีนั้นข้อสอบบาลีสนามหลวงท่านออกบทประณามคาถาที่พระเต็มแปลทุกวันก่อนเข้าบทเรียนในวันนั้น อาจารย์ผู้สอนบอกว่า “บทนี้เป็นบทไหว้ครู” นักเรียนทุกคนต้องไหว้ครูก่อนจึงค่อยเข้าบทเรียน ครั้นแม่กองบาลีสนามหลวงเอาบทประณามคาถามาออกเป็นข้อสอบ นักเรียนส่วนใหญ่เห็นแล้วก็ร้องว่า “หวานคอแร้ง” น้องเณรที่วัดหัวเวียงสององค์ (เป็นนักกลอนด้วยกัน สอบได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค เป็นมหาไปเรียบร้อยแล้ว แต่พระเต็มไม่ได้เป็นพระมหา เพราะไม่ได้เข้าสอบกะเขา โดยอ้างว่าอาพาธ (ป่วย) ทั้ง ๆ ที่ไม่อาพาธนั่นแหละ
ทำไมพระเต็มไม่เข้าสอบบาลีสนามหลวง ทั้ง ๆ ที่สอบสนามวัดนั้นสอบได้ที่ ๑ พระอาจารย์ผู้สอนก็หมายใจว่าพระเต็มจะต้องสอบได้เป็นพระมหา สร้างชื่อเสียงให้แก่สำนักเรียนวัดมหาพฤฒารามบ้าง แต่พระเต็มก็ทำให้อาจารย์ผิดหวัง เมื่อไม่เข้าสอบโดยอ้างว่าป่วย เบื้องลึกที่พระเต็มไม่เข้าสอบบาลีมีอยู่ว่า พระเต็มกลัวความเป็น “มหา” ทำไมจึงกลัวน่ะหรือ ด้วยคิดว่าถ้าสอบบาลีสนามหลวงต้องสอบได้เปรียญธรรมรับการแต่งตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระมหาแล้ว จะต้องสึกหาลาเพศออกไปเป็นฆราวาสแน่นอน เมื่อเป็นพระมหาแล้วลาสึกออกไปจะวางตัวลำบาก ชาวบ้านจะเรียกยศเดิมว่า “มหา” เป็น พี่มหาบ้าง น้องมหาบ้าง คุณมหาบ้าง ไอ้มหาบ้าง มหาเฉย ๆ บ้าง ตามแต่เขาจะเรียก มหาเป็นชื่อที่ใหญ่โตสัญลักษณ์ของคนดีมีศีลธรรม ต้องปฏิบัติตัวอยู่ในศีลในธรรม ไม่เป็นคนขี้เหล้าขี้ยาและเล่นการพนัน อะไร ๆ ที่เป็นความไม่ดีงาม (ทำบาป) อย่างที่ชาวบ้านเขาทำกัน มหาทำบ้างก็จะเสียชื่อมากกว่าชาวบ้านธรรมดา
คนชาวบ้านธรรมดาทอดแหหาปลาก็ไม่มีใครนินทาว่าอะไร แต่คนที่เคยบวชเรียนจนได้เป็นพระมหามาก่อนแล้ว ทอดแหหาปลาบ้างจะถูกค่อนแคะนินทาว่า “คนอะไรบวชเรียนจนเป็นมหาแล้วยังมาทอดแหหาปลากินอย่างชาวบ้านอีก อย่างนี้ไม่ใช่มหาหรอก เป็นมะแหไปแล้ว” แล้วยังมีอีกหลายคำนินทาที่ข้าพเจ้าพบเห็นคนรุ่นก่อนหน้าที่บวชเรียนเป็นพระมหาแล้วสึกออกไปมีครอบครัว หลายคนเป็นขี้เหล้าเมาหยำเป เป็นที่ดูหมิ่นแคลนของชาวบ้าน แม้ภรรยาของตนก็ด่าหยาบๆคาย ๆ เป็นเรื่องที่น่าสลดใจมาก ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเรียนบาลีแบบอยากรู้ภาษาบาลีอย่างเดียว ไม่ยอมสอบเอายศพระมหาจนกระทั่งลาสิกขาออกมานั่งให้การอยู่นี่แหละ
เห็นเพราะใช้ชื่อ
อภินันท์ นาคเกษม
แต่งกลอนอย่างแพร่หลายจนเพื่อน ๆ ในวงการกลอนไม่รู้จักชื่อ
“เต็ม”
ที่พ่อตั้งให้มาแต่เกิดเสียแล้ว เพื่อนผู้ใกล้ชิดล้วนรู้เรื่องดี จึงเสนอแนะให้ข้าพเจ้าไปขอให้ทางการปกครองเปลี่ยนชื่อในสำมโนครัวจาก เต็ม เป็น อภินันท์ เสียเลย การเปลี่ยนชื่อนี้ตอนที่ไปขอขึ้นทะเบียนทหารกองเกินที่เมืองสุพรรณ ท่านสัสดีจังหวัดบอกให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนชื่อทีหนึ่งแล้ว ท่านว่าชื่อตัวเดียวไม่ทันสมัย เปลี่ยนเป็น บุญเต็ม หรือ เต็มบุญ หรือไม่ก็เอาเป็นชื่ออื่นเลย ดีไหม ข้าพเจ้าไม่ยอมเปลี่ยน บอกว่าชื่ออย่างนี้ก็ดีแล้ว ในใบประกาศนียบัตรนักธรรมก็ใช้ว่าสามเณรเต็มอยู่แล้ว จึงขอใช้ชื่อเดิมต่อไป แต่มาคราวนี้เพื่อนมากหน้าหลายตาสนับสนุนให้เปลี่ยนชื่อด้วยอ้างว่า ชื่อเดิมไม่มีใครรู้จักแล้ว นอนคิดอยู่นานเป็นเดือนจึงตกลงใจไปที่ว่าการอำเภอยานนาวา ขอให้นายอำเภอเปลี่ยนชื่อให้ และใช้ในทะเบียนสำมโนครัวเรื่อยมาจนถึงวันนี้ แต่ลึก ๆ แล้วใจยังรักชื่อ เต็ม มากกว่าชื่อใหม่ เมื่อได้ยินใครเรียกชื่อข้าพเจ้าว่า “เต็ม” แล้วรู้สึกชื่นใจมาก
ปลายปีนั้น ๒๕๐๕ พระมหาองค์หนึ่งชื่อปาน มาจากเมืองสงขลา เคยมาเที่ยวหาวัดอยู่ในกรุงเทพฯ หลายครั้งแล้ว หลายวัดไม่รับท่าน อ้างว่าไม่มีกุฏิว่าง จึงที่มาวัดจันทร์นอกตั้งแต่ออกพรรษาหมาด ๆ ปีนั้น เมื่อปีที่แล้วท่านก็มาขออยู่อ้างว่าเพื่อศึกษาต่อในมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ แต่ไม่มีวัดไหนรับไว้ได้ จึงพยามหาวัดไม่ละเว้น พระมหาเฉลิมแนะนำให้พูดกับพระเต็มเพื่อช่วยฝากกับเจ้าอาวาส เพราะเจ้าอาวาสเกรงใจพระเต็ม มหาปานมาขอร้องข้าพเจ้าแบบวันเว้นวันเลย ในที่สุดข้าพเจ้าก็ใจอ่อน ด้วยคิดว่าไหน ๆ ก็ไม่เรียนบาลีเพื่อสอบเอายศพระมหา และไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไรแล้ว ควรสละกุฏิให้พระมหาปานอยู่อาศัยเพื่อศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ตามความปรารถนาของเขา มหาปานแนะนำให้ข้าพเจ้าไปอยู่วัดชัยมงคลเมืองสงขลา เพราะกุฏิของท่านว่างอยู่ ข้าพเจ้าลังเลใจ ความคิดหนึ่งอยากกลับไปอยู่วัดหัวเวียง ใจหนึ่งอยากไปอยู่วัดบางจักร ใจหนึ่งคิดไปยู่สงขลาเพื่อหาประสบการณ์ให้แก่ชีวิตตามประสาคนชอบเที่ยว อยากรู้อยากเห็น
ใจที่คิดอยากไปอยู่วัดบางจักรนั้นถูกยกเลิก ด้วยเหตุผลว่า หากไปอยู่วัดบางจักร จะใกล้บ้านแจ๋ว นับเป็นอันตรายต่อบรรพชิตเพศของตัวเอง ถ้าอดทนต่อความรบเร้าของใจรักไม่ได้จนต้องสึกออกไปใช้ชีวิตคู่กับแจ๋ว เห็นว่าตนเองไม่มีความพร้อมเลย ฐานะข้าพเจ้า และการศึกษาทางโลก ต่ำต้อยกว่าแจ๋วมาก แม้แจ๋วและพ่อแม่ญาติพี่น้องเขาไม่รังเกียจ แต่ข้าพเจ้ารังเกียจตัวเองที่หน้าด้านไปเกาะเขาอยู่ในสภาพของกาฝาก จึงเลิกคิดไปอยู่วัดบางจักรที่มีสภาพเหมือน “น้ำตาลใกล้มด” ที่ยากจะไว้ใจตนเอง ครั้นจะกลับไปอยู่วัดหัวเวียงเล่าก็อายเขา เพราะเข้ากรุงเทพฯ แล้วไม่ได้อะไรติดมือกลับไปเลย น้อง ๆ ที่เรียนด้วยกันในวัดหัวเวียงเขาสอบเป็นมหาเปรียญล้ำหน้าหลวงพี่เต็มไปหมดแล้ว
จึงตกลงกับพระมหาปานว่า ให้ท่านอยู่กุฏิของข้าพเจ้าที่วัดจันทร์นอก ข้าพเจ้าจะไปอยู่กุฏิพระมหาปานที่วัดชัยมงคล เมืองสงขลา เราตกลงแลกกุฏิกันอยู่ ว่างั้นเถิด /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๒ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ต้นฝ้าย
,
หยาดฟ้า
,
คิดถึงเสมอ
,
เป็น อยู่ คือ
,
ข้าวหอม
,
มนชิดา พานิช
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #84 เมื่อ:
17, ธันวาคม, 2565, 10:26:09 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๕ -
การตัดสินใจไปอยู่สงขลาของข้าพเจ้า นักกลอนสาวเล็กสาวใหญ่หลายคนทราบแล้วต่างก็คัดค้านไม่ให้ไป เพราะอยู่ไกลเกินจะเล่นกลอนกันไม่สนุกเหมือนเดิม คนที่สนิทสนมคุ้นเคยกันหลายคนก็ไม่อยากให้ไป แต่ไม่มีใครคัดค้านห้ามปรามได้ เพื่อนสนิทต่างก็รู้นิสัยใจคอของพระเต็มดีว่าเมื่อตัดสินใจทำอะไรแล้ว “เดินหน้าลูกเดียว” มีความหยิ่งทระนงดื้อรั้นมาก จนหลวงน้าไหวที่อยู่กุฏิเดียวกันตั้งฉายาพระเต็มว่า
“ไอ้เฒ่าเด็กดื้อ”
ฉายานี้เอามาจากหนังสือนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง
มังกรหยก
หนังสือเรื่องนี้พระเต็มกับพระไสวร่วมกันเช่าจากร้านหนังสือปากตรอกวัดจันทร์ใน นำมาอ่านกันจนติดอย่างงอมแงมเลย ตัวละครสำคัญที่เราเอามาล้อเล่นกันคือ
“เฮ้งเตงเอี้ยง
(
เทพมัชฌิม
หรือ กลางอิทธิฤทธิ์) ผู้ก่อตั้งสำนักช้วนจินก่า ได้รับการยอมรับว่ามีฝีมือสูงที่สุดในห้ายอดฝีมือ ภายหลังหายสาบสูญ ผู้ครอบครองคัมภีร์เก้าอิม วรยุทธ์ที่เด่นชัด เพลงกระบี่ช้วนจิน
อึ้งเอี๊ยะซือ
(
มารบูรพา
หรือ ตังเซี้ย บางฉบับใช้ ภูตบูรพา) เป็นประมุขเกาะดอกท้อ บิดาของอึ้งย้ง (ยงยี้) หรือ พ่อตาของก๊วยเจ๋ง วรยุทธที่เด่นชัด ฝ่ามือเทพกระบี่สยบผู้กล้า เพลงกระบี่ขลุ่ยหยกมังกรทะยาน ฝ่ามือปัดจุดกล้วยไม้ เพลงเตะพายุรวบใบไม้ และ ยอดวิชานิ้วดีด
อั้งชิกกง
(
ยาจกอุดร
หรือ ปักข่าย บางฉบับใช้ ขอทานเหนือ หรือ ยาจกเก้านิ้ว) ประมุขพรรคกระยาจก วรยุทธที่เด่นชัด เพลงไม้เท้าตีสุนัข (เป็นวรยุทธที่สืบทอดเฉพาะประมุขพรรคกระยาจก) และ ๑๘ ฝ่ามือพิชิตมังกร
อิดเต็งไต้ซือ
(
ราชันย์ทักษิณ
หรือ น่ำเต้ บางฉบับใช้อ๋องแดนใต้, ราชันย์ต้วน) เป็นอดีตจักรพรรดิแซ่ต้วนแห่งไต้ลี้ หรือ ต้าหลี่ วรยุทธที่เด่นชัด ดัชนีเอกสุริยันต์
อาวเอี๊ยงฮง
(
พิษประจิม
หรือ ไซตั๊ก) จ้าวแห่งการใช้พิษ ผู้อยู่เหนือพิษทั้งปวง วรยุทธที่เด่นชัด เพลงไม้เท้าอสรพิษ กระบวนท่าลมปราณคางคกพิษ
และตัวที่สร้างสีสันได้มากคือ
จิวแป๊ะทง
หรือ
เฒ่าทารก
เป็นศิษย์น้องของเฮ้งเตงเอี้ยง มีนิสัยร่าเริง บ้า ๆ บอ ๆ เหมือนเด็กทารก ต่อมาได้ไปมีสัมพันธ์กับ เอ็งโกว และมีลูกด้วยกัน 1 คน ตอนที่ต้วนตี่เฮง (อิดเต็งไต้ซือ) ให้ติดตามไปด้วยเพื่อตามหาคัมภีร์เก้าอิมที่เฮ้งเตงเอี้ยงซ่อนไว้ แต่ด้วยนิสัยของเขาจึงไม่รู้ว่าเขามีลูกกับเอ็งโกว”
ข้าพเจ้าตั้งฉายาให้หลวงน้าไหวว่า ปักข่าย หรือยาจกอุดร เพราะท่านมาจากอุตรดิตถ์ซึ่งอยู่ทางเหนือกรุงเทพฯ ท่านก็ตั้งฉายาข้าพเจ้าว่า เล่าง่วนท้ง เฒ่าทารก จิวแป๊ะทง เด็กดื้อ ดังนั้นการตัดสินใจล่องใต้ไปอยู่วัดชัยมงคล เมืองสงขลา แทนพระมหาปาน จึงไม่มีใครห้ามปรามข้าพเจ้าได้
หลังสงกรานต์ปี ๒๕๐๖ นั้น ข้าพเจ้าเดินทางจากกรุงเทพฯ ทางรถไฟโดยขบวนรถด่วน มีเพื่อนพระ ๓-๔ องค์ไปส่งที่สถานีหัวลำโพง รถไฟไทย (รฟท.) เคลื่อนออกจากหัวลำโพงผ่านสามเสน บางซื่อ ข้ามลำน้ำเจ้าพระยา (สะพานพระราม ๖ ไปโดยลำดับ ข้าพเจ้านั่งมองดูตึกรามบ้านช่องทิวทัศน์ต่าง ๆ ด้วยความเพลิดเพลิน ถึงบ้าน สถานีรถไฟชื่ออะไรก็จดจำไว้ทุกสถานี จนไปถึงหาดใหญ่ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟอีกแห่งหนึ่ง เป็นสถานีสุดท้ายปลายทางของของข้าพเจ้า จึงลงจากรถไฟแล้วขึ้นรถเมล์เหลืองเดินทางต่อจากหาดใหญ่เข้าตัวเมืองสงขลา ความจริงจะต่อรถไฟขบวนรถธรรมดาจากหาดใหญ่เข้าสงขลาก็ได้ แต่ต้องรอเสียเวลาหน่อย ข้าพเจ้าเลือกนั่งรถเมล์ สะดวกและรวดเร็วกว่า ถึงวัดชัยมงคลแล้วเข้าพบเจ้าอาวาสพร้อมหนังสือฝากจากพระมหาปาน พระมหาเหี้ยงเจ้าอาวาสจึงจัดให้เข้าอยู่ในกุฏิพระมหาปาน ซึ่งเป็นกุฏิไม้ชั้นเดียว ๒ ห้อง มีเด็กนักเรียน ๓ คนอยู่ประจำห้องหนึ่ง เจ้าอาวาสมอบหมายให้ข้าพเจ้าปกครองดูแลเด็กทั้ง ๓ คนนั้น
ณรงค์ นักเรียนชั้น ม.ศ. ๕ (ม. ๘ เดิม) โรงเรียนวชิราวุธ เป็นชาวจังหวัดพัทลุง
ทวน นักเรียนชั้น ม.ศ ๓ (ม. ๖ เดิม) โรงเรียนวชิราวุธ เป็นชาว อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
เชื้อ เรียนชั้น ป.ว.ส. วิทยาลัยเทคนิคสงขลา เป็นชาว อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช บ้านเดียวกันกับทวน
เด็กทั้ง ๓ ดูมีสง่าราศีขึ้นเมื่อได้เป็นเด็กอยู่ในปกครองของพระที่มาจากกรุงเทพฯ เพราะค่านิยมของคน ตจว. สมัยนั้นนิยม (เห่อ) คนกรุงเทพฯ เหมือนกันทุกหนทุกแห่ง
เมื่อถึงจังหวัดสงขลามีที่อยู่แน่นอนแล้ว ข้าพเจ้ารีบเขียนจดหมายถึงเพื่อน ๆ ที่เคยติดต่อกันทั้งโดยส่วนตัวและโดยทางจดหมาย พร้อมเขียนกลอนส่งให้กวีสวรรค์ตามปกติ สำนวนกลอนทั่วไปใช้นามแฝงในที่อยู่เดิม คือชมรมกวีศรีษ์เวียง อ. เสนา พระนครศรีอยุธยา สำนวนที่ใช้ชื่อจริง จะใช้ที่อยู่ว่า สวนอัมพวัน บ่อยาง เมืองสงขลา เพราะรอบ ๆ กุฏิข้าพเจ้านั้น มีต้นมะม่วงรายรอบอยู่หลายต้น กลอนที่ใช้ชื่อจริงเป็นกลอนยาวชื่อ นิราศสงขลา เริ่มต้นว่า “จะร่ำปางทางไกลไปสงลา ระยะทางยาวเหลือเบื่อคณนา ขอยกมาเพียงย่อพอได้ความ ขึ้นรถไฟหัวลำโพงมุ่งลงใต้......” แล้วก็เขียนถึงชื่อสถานีรถไฟ บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดต่าง ๆ ที่รถไฟพาผ่านไปขนถึงหาดใหญ่ และนั่งรถเมล์ต่อจนถึงวัดชัยมงคลในเมืองสงขลา ทุกสถานที่ข้าพเจ้าจดชื่อใสกระดาษกันลืมไว้ จึงเขียนได้ไม่ตกหล่น สำนวนกลอนของข้าพเจ้าไม่ไพเราะเพราะพริ้งอะไรนัก เป็นสำนวนโวหารทื่อ ๆ แบบเด็กบ้านนอกที่ด้อยการศึกษา แต่เขียนด้วยความจริงใจ เขียนแล้วก็ส่งให้คุณประยูร กั้นเขต อ่านออกอากาศในรายการกวีสวรรค์ทุกคืน กลอนนิราศสงขลานี้ทำให้คนฟังรายการจำชื่อ
อภินันท์ นาคเกษม
จนชินหู คุณประยูรตัดตอนอ่านออกคืนละ ๑๐ บทกลอน ทุกคืนทุกคืน/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๓ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
หยาดฟ้า
,
คิดถึงเสมอ
,
เป็น อยู่ คือ
,
ต้นฝ้าย
,
ข้าวหอม
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #85 เมื่อ:
18, ธันวาคม, 2565, 10:39:55 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๖ -
วัดชัยมงคลเป็นวัดไม่ใหญ่โตนัก ตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา มีปูชนียสถานวัตถุสำคัญคือ พระบรมธาตุเจดีย์ และพระพุทธไสยาสน์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวสงขลาและชาวใต้ทั่วไป บริเวณวัดกว้างขวาง มีพระเณรอยู่ประจำไม่ถึง ๒๐ องค์ เจ้าอาวาสเป็นพระมหาเปรียญธรรม ๔ ประโยค อัธยาศัยดี สงบเสงี่ยมเรียบร้อย พูดน้อย ยิ้มมาก มาอยู่วัดนี้ใหม่ ๆ รู้สึกอึดอัดใจในเรื่องการใช้ภาษาสื่อสารกัน เราพูดไปเขาฟังรู้เรื่องดี แต่เขาพูดมาเราฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง คนสงขลาพูดเร็วและเสียงห้วน ฟังเขาไม่ทัน พวกเด็ก ๆ ที่อยู่ด้วยกัน กลับจากเรียนในตอนเย็น ข้าพเจ้าพยายามพูดคุยกับพวกเขาด้วยภาษาใต้ เพื่อให้เกิดความชำนาญในการฟังการพูดภาษาใต้ เด็ก ๆ เขาก็ไม่ค่อยพูดด้วย เพราะเขากระดากอาย คนสงขลาและจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคใต้ มักไม่ค่อยพูดออกสำเนียงภาษาไทยภาคกลาง เพราะเขากระดากอาย ใครพูดสำเนียงภาษาภาคกลางจะถูกกล่าวหาว่า “ดัดจริต” เป็นอย่างนั้นไป
มีประวัติความเป็นมาของวัดชัยมงคลจากเอกสารพิมพ์ดีดบันทึกไว้ดังต่อไปนี้
“วัดชัยมงคล เดิมชื่อวัดโคกเสม็ด เพราะตั้งอยู่บนเนินทรายที่มีต้นเสม็ดจำนวนมาก สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลาเขียนบอกเล่าไว้ว่า ตามคำบอกเล่าของคนรุ่นก่อน ๆ ทราบว่าวัดนี้พระอาจารย์ชัย พระภิกษุชาวกลันตันเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อราวปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๔ สร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดเพชรมงคล ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดชัยมงคล โดยพระอาจารย์ชัยเป็นผู้สร้างวัดชัยมงคล และพระอาจารย์เพชรเป็นผู้สร้างวัดเพชรมงคล พระภิกษุทั้ง ๒ รูปนี้ เป็นเพื่อนสนิทกัน และเป็นชาวกลันตันด้วยกัน (สมัยกลันตันยังเป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรไทย)
ในเอกสารประวัติวัดชัยมงคล ซึ่งเป็นเอกสารพิมพ์ดีดสำเนา ได้กล่าวถึงประวัติการสร้างพระเจดีย์หรือพระบรมธาตุวัดชัยมงคล ซึ่งบอกไว้ว่าอ้างมาจาก “หนังสือประวัติพระบรมธาตุ” แต่งโดยคุณหมออิ่ม ศิษย์ของอาจารย์นะ ติสสโร โดยกล่าวว่า อาจารย์นะ ติสสโร มีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้พระบรมสารีริกธาตุมาไว้เป็นที่สักการบูชาของชาวเมืองสงขลา จึงได้เดินทางไปถึงประเทศลังกา เพื่อแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุ ได้โดยสารเรือกลไฟไปเป็นเวลา ๑๕ วัน ๑๕ คืน จึงถึงประเทศลังกา เมื่อไปถึงประเทศลังกาท่านได้ไปพักอาศัยอยู่กับสมเด็จพระสังฆราชวัดถูปารามตลอดเวลา ๓ เดือน ได้ถือโอกาสไปนมัสการปูชนียสถานทั่วประเทศ และท่านได้ทราบจากสมเด็จพระสังฆราชวัดถูปารามว่า ที่บ้านเศรษฐีท่านหนึ่งมีพระธาตุอยู่หลายผอบ หากอาจารย์นะไปแจ้งความประสงค์ต่อเศรษฐีผู้นั้นเขาคงให้ เพราะนอกจากเศรษฐีผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนาแล้ว ยังรู้จักและมีความนิยมนับถือท่านอาจารย์นะอยู่แล้วด้วย อาจารย์นะทราบข่าวก็ดีใจรีบไปหาเศรษฐีผู้นั้น แจ้งความประสงค์ให้ทราบว่าการมาประเทศลังกาครั้งนี้ นอกจากมานมัสการปูชนียสถานแล้ว ยังมีความประสงค์ที่สำคัญมาก คือเพื่อต้องการแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนที่เมืองไทย
ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้น ก็บอกว่าพระธาตุของตนมีอยู่ ๔ ผอบ คือ พระบรมสารีริกธาตุ ๑ ผอบ พระธาตุพระโคคลาน ๑ ผอบ พระธาตุพระสารีบุตร ๑ ผอบ และพระธาตุพระอานนท์ ๑ ผอบ จะถวายอาจารย์นะไปสัก ๑ ผอบ แต่ให้อาจารย์นะได้ตั้งจิตอธิษฐานถึงบารมีพระพุทธองค์ และในที่สุดก็จับได้ผอบพระบรมสารีริกธาตุสมความปรารถนา ฝ่ายท่านเศรษฐีเมื่อเห็นว่าท่านอาจารย์นะ จับถูกผอบพระบรมสารีริกธาตุ เกิดความเสียดายจนน้ำตาร่วงพรูออกมาอย่างไม่รู้ตัว เนื่องจากเป็นมรดกประจำสกุลตกทอดมาหลายชั่วอายุคน ประกอบกับท่านเศรษฐีมีความเคารพหนักแน่นต่อพระบรมสารีริกธาตุมาก ย่อมมีความอาลัยเสียดายเป็นธรรมดา เมื่ออาจารย์นะเห็นว่าท่านเศรษฐีร้องไห้จึงบอกว่า เมื่อโยมยังมีความอาลัยอยู่อาตมาก็จะไม่ขอเอาไป ขอคืนกลับให้ตามเดิม ท่านเศรษฐีจึงพูดว่าขอพระคุณเจ้าจงอัญเชิญไปเมืองไทยเถอะ พระบรมสารีริกธาตุปรารถนาจะเสด็จไปกับท่านแล้ว พร้อมกับสั่งว่า เมื่อท่านกลับไปถึงเมืองไทยแล้ว ขอให้สร้างพรสถูปเจดีย์เป็นแบบถูปารามสำหรับบรรจุ เพราะพระบรมธาตุนี้ได้มากจากพระเจดีย์ถูปารามเมื่อครั้งทำการปฏิสังขรณ์ใหม่ พร้อมกับมอบภาพพระเจดีย์ถูปารามให้มาด้วย และสั่งว่าให้สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ทางทิศตะวันตกของพระเจดีย์ด้วย
เมื่อท่านอาจารย์นะได้พระบรมสารีริกธาตุสมความตั้งใจแล้ว ได้กราบลาสมเด็จพระสังฆราชและลาท่านเศรษฐีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพร้อมด้วยต้นโพธิ์ทอง ๓ ต้น เดินทางกลับประเทศไทย โดยท่านเศรษฐีฝากให้โดยสารมากับเรือสินค้าของชาวฝรั่งเศส เรือมาแวะขนถ่ายสินค้าที่เมืองท่าสิงคโปร์เป็นเวลาหลายวัน พอดีอาจารย์นะได้พบกับพ่อค้าคนจีนซึ่งไปติดต่อซื้อสินค้าจากเรือที่ท่านโดยสารมา สอบถามได้ความว่าชื่อ เส้ง เป็นจีนฮกเกี้ยน อยู่ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อาจารย์นะจึงได้ขอโดยสารเรือมาขึ้นที่เมืองสงขลา วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ท่านอาจารย์นะถึงเมืองสงขลาและขึ้นจากเรือถึงวัดชัยมงคล เมื่อตอนบ่ายวันเดียวกัน ประชาชนชาวเมืองสงขลาเมื่อทราบข่าวการกลับมาของอาจารย์นะ พร้อมกับนำพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย ต่างก็พากันหลั่งไหลเข้าสู่วัดชัยมงคลอย่างล้นหลาม เพื่อบูชานมัสการพระบรมสารีริกธาตุ และได้มีการจัดงามสมโภชขึ้นเป็นเวลา ๗ วัน เสร็จงานสมโภชแล้ว อาจารย์นะก็ได้ชักชวนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายช่วยกันทำการก่อสร้างพระสถูปเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นทรงลังกา แบบถูปารามตามคำท่านเศรษฐีสั่งทุกประการ และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันวิสาขบูชา ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๙”
อ่านประวัติความเป็นมาของวัดนี้แล้วก็เห็นได้ว่าไม่ใช่วัดธรรมดาทีเดียว สร้างปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ลุมาถึงปี ๒๕๐๖ คือปีที่ข้าพเจ้าเข้าไปอาศัยอยู่นั้นมีอายุได้ ๑๑๒ ปี ปีนั้นเครื่องอุปโภคยังมีไม่พร้อม คือมีไฟฟ้าใช้แล้ว น้ำประปายังไม่มี ต้องใช้น้ำในบ่อกรุ เอาเชือกผูกหูถังหย่อนลงในบ่อตักน้ำดึงขึ้นมาอาบกินกัน แต่น้ำในบ่อสะอาดไม่แพ้น้ำประปา เพราะดินที่นั่นเป็นดินทรา ย กรองน้ำให้สะอาดได้ดีมาก เรื่องน้ำดื่ม อาบ ใช้สอยนานา ข้าพเจ้าชินมาตั้งแต่เกิด ใช้น้ำบ่อน้ำคลอง แม่น้ำ มาตลอด วัดชัยมงคลดูจะดีกว่าวันจันทร์นอกตรงที่มีกระแสไฟฟ้าใช้นี่แหละ วัดจันทร์นอกไม่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้าเลย/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๔ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ต้นฝ้าย
,
เป็น อยู่ คือ
,
ข้าวหอม
,
หยาดฟ้า
,
มนชิดา พานิช
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
ลิตเติลเกิร์ล
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #86 เมื่อ:
19, ธันวาคม, 2565, 10:38:11 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๗ -
กิจวัตรประจำวันของข้าพเจ้าอันดับแรกคือ ออกเดินหนรับบิณฑบาต (โปรดสัตว์) ที่เมืองสงขลานี้ก็เหมือนพระในกรุงเทพฯ คือต่างองค์ต่างอุ้มบาตรเดินไปตามที่ตนเห็นควร ไม่เดินเรียงแถวตามลำดับอาวุโสเหมือนพระในชนบทแถบที่ข้าพเจ้าเคยอยู่ เพราะพระในเมืองมีหลายวัดหลายองค์ไม่รู้ว่าใครมีอาวุโสมากน้อยกว่ากัน จึงป่วยการที่จะมัวนับเรียงลำดับอาวุโสกัน คนใส่บาตรก็ใส่กันตามกำลังศรัทธาและฐานะของตน บางรายมีข้าวสุกใส่บาตรอย่างเดียวโดยไม่มีกับข้าว บางรายมีข้าวสุก กุ้งต้ม กุ้งเผา ปลาจืดปลาเค็มปิ้ง ทอด ต้ม แกง ขนมหวาน ผลไม้นานา เมื่อกลับถึงวัดแล้ว ข้าวปลาอาหารที่ได้จากการรับบิณฑบาต นำไปรวมในคณะท่านเจ้าอาวาส ที่คณะมีโรงครัว แม่ครัวและเด็ก ๆ ช่วยนำอาหารที่พระนำมารวมกันนั้นแยกใส่ภาชนะ จัดเป็นสำรับเรียบร้อย และทางโรงครัวยังปรุงอาหาร คือต้มแกง เสริมของที่ได้จากการบิณฑบาตอีกด้วย เรื่องอาหารการขบฉันจึงไร้ปัญหา เรียกว่า “อาหารสปายะ” ไม่เดือดร้อนอะไร
สงขลามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นที่รู้จักกันมากในสมัยนั้นคือ ย่านเมืองเก่าสงขลา เป็นย่านวิถีชีวิตชุมชนไทย-จีนดั้งเดิม ตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา, เขาตังกวน เป็นภูเขาสูงโดดเด่นตั้งอยู่ใกล้ปากทะเลสาบสงขลา ด้านบนมีองค์เจดีย์พระธาตุเก่าแก่สร้างมาแต่สมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช, หาดสมิหลา อยู่ทางเหนือตัวเมืองสงขลาติดทะเลอ่าวไทย เป็นหาดทรายที่สงบขาวสะอาดสวยงามมาก ข้าพเจ้าสนใจหาดสมิหลาเป็นพิเศษ จึงไปเที่ยวชมหาดสมิหลาเป็นอันดับแรกที่ไปอยู่สงขลา ที่ชายดาดนั้นมีโรงแรมสมิหลาซึ่งเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ มองออกไปในทะเลแลเห็นเกาะสองเกาะชัดเจน เกาะนั้นคือ เกาะหนูเกาะแมวอันมีชื่อเสียงโด่งดัง เลาะริมหาดทรายชายทะเลไปทางซ้ายมือจนถึงปากทะเลสาบที่เรียกว่า “แหลมสน” มีสวนสนอันร่มรื่นสวยงาม หาดทายขาวสะอาดยาวจากแหลมสนเลื้อยไปทางโรงแรมสมิหลาเรื่อยลงไปเก้าเส้ง ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหาดทรายชาวสะอาดบริสุทธิ์อย่างนี้มาก่อนเลย
ตอนกลางวันหลังจากฉันอาหารเพลแล้วข้าพเจ้าชอบไปเที่ยวแหลมสน ไปนั่งฟังเสียงคลื่นลมที่ไม่รุนแรง อากาศสบาย นั่งดูเกาะหนูเกาะแมวมันวิ่งไล่กันในคลื่นทะเลสีคราม คิดอะไรเพลิน ๆ จนจมอยู่ในภวังค์แว่วเสียงเพลงสงขลาที่ชรินทร์ นันทนาคร ขับร้อง หลายเพลง ข้าพเจ้าชอบฟังเพลงลูกกรุงมากกว่าเพลงลูกทุ่ง นักร้องชายที่ชอบฟังเสียงเขา คือ ชรินทร์ นันทนาคร ครูเอื้อ สุนทรสนาน รายนี้เพิ่งชอบฟังต่อเมื่อน้องเปียส่งผมเปียมาให้ ตอนนั้นเพลง “หนึ่งน้อยปอยผม” ของครูเอื้อกำลังดังขึ้นมาพอดี ส่วนสุเทพ วงศ์คำแหง ทะนงศักดิ์ ภักดีเทวา ก็ชอบฟังรอง ๆ ลงไป นักร้องหญิงที่ชอบฟังมากก็มี รวงทอง ทองลั่นทม เพ็ญศรี พุ่มชูศรี มัณฑนา โมรากุล และอีกหลายคน เสียดายสมัยนั้นข้าพเจ้าไม่มีวิทยุทรานซิสเตอร์หิ้วไปเปิดฟังที่สวนสนด้วย จึงต้อง “เข้าภวังคจิต” ฟังในจินตนาการเพลินไป
ตื่นจากภวังค์ก็จะเดินเลาะริมหาดมาทางเขาตังกวน นั่งพักชมเกาะหนูเกาะแมวอีกมุมหนึ่ง เวลาบ่ายมากแล้วก็เดินล่องลงใต้ บางวันถึงบริเวณวิทยาลัยเทคนิคก็ขึ้นจากหาดทรายเดินกลับวัด บางวันก็ไปถึงหัวนายแรงเก้าเส้ง นั่งรับลมชมวิว ดูเรือชาวประมงแล่นไปมาอย่างเพลิดเพลิน จนตะวันย่ำสนธยาจึงเดินกลับวัด บางวันเมื่อปลอดคนก็จะนอนกลิ้งเกลือกเล่นบนหาดทรายขาวสะอาด ปล่อยให้ปูลมตัวน้อย ๆ ที่ขาวสะอาดเหมือนเม็ดทรายขึ้นไต่ขาไต่แขน และหน้าตาอย่างมีความสุข สมัยนั้นที่หาดทรายนี้ไม่มีคนพลุกพล่าน (เดี๋ยวนี้ยังเหมือนก่อนอยู่หรือเปล่าไม่รู้) พ้นหาดทรายขึ้นมามีพงหญ้า เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่กันจำนวนมาก อันเต่านา เต่าป่า เต่าทะเล จะวางไข่ในสภาพเดียวกัน กล่าวคือ ขุดดินเป็นหลุมแล้ววางไข่ในหลุมนั้นหลุมละหลายฟอง (ไม่น้อยกว่า ๑๐ ฟอง) เสร็จแล้วคุ้ยดินกลบหลุมเกลี่ยเรียบร้อยไม่ให้ใครเห็นร่องรอย มีบางวันข้าพเจ้าเดินขึ้นจากหาดทรายย่ำพงหญ้ากลับวัด เหยียบหลุมไข่เต่าทำให้ไข่แตกไปหลายฟอง ทำอย่างไรได้ล่ะ เพราะไม่รู้ ไม่มีเจตนา รู้สึกเสียใจมาก ยามค่ำก็สวดมนต์เจริญภาวนาแผ่เมตตา ขออโหสิกรรมจากลูกเต่าเหล่านั้น คราวต่อไปเวลาเดินย่ำพงหญ้าจะระมัดระวังเป็นอย่างดี
ขอกล่าวถึงพระหนุ่มองค์หนึ่งชื่อว่า “เชือน” เป็นชาวกิ่งอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา มาอยู่วัดชัยมงคลก่อนข้าพเจ้า ๑ ปี เขาสอบนักธรรมชั้นตรีได้แล้วจึงเข้ามาเรียนนักธรรมชั้นโทต่อในเมืองสงขลา ผลการสอบนักธรรมโทของเขายังไม่ผ่าน ต้องเรียนซ้ำชั้น กุฏิพระเชือนอยู่ใกล้กับกุฏิของข้าพเจ้า กุฏิของพระวัดนี้ปลูกเป็นแถว ๒ แถว คือฟากเหนือกับฟากใต้ ฝากเหนือมีหลายหลัง ฟากใต้มี ๓ หลัง หลังแรกเป็นตึกใหญ่ ๒ ชั้นของพระมหาแฉล้ม ต่อมาคือที่พระเชือนอยู่ ต่อด้วยกุฏิของพระมหาปานที่ข้าพเจ้าไปอยู่แทน จากกุฏิที่ข้าพเจ้าอยู่ก็เป็นบ่อน้ำที่พวกเราใช้อุปภาคบริโภคกัน พระเชือนทำความคุ้นเคยกับข้าพเจ้าแล้วขอให้ข้าพเจ้าช่วยสอนนักธรรมชั้นโทให้ พระเต็มจึงต้องกลายเป็นอาจารย์ของพระเชือนไปโดยปริยาย พระองค์นี้มีผิวดำร่างกายกำยำล่ำสัน ลักษณะทื่อมะลื่อ เป็นคนหัวอ่อนว่านอนสอนง่ายก็จริง แต่ “หัวทึบ” คิดเข้าใจอะไรเชื่องช้า ความดีมีอยู่อย่างหนึ่งคือจำแม่น ถ้าจำอะไรได้แล้วจะไม่ลืม ข้าพเจ้าสอนวิชาธรรมะต้องอธิบายทบทวนซ้ำซากจน “ปากเปียกปากอแฉะ” เขาจำหัวข้อได้แต่ไม่เข้าใจความหมาย กว่าจะเข้าใจได้ข้าพเจ้าต้องใช้ความพยายามอธิบายมากทีเดียว พระเชือนนี่แหละที่ทำให้ข้าพเจ้าฟังสำเนียงและพูดภาษาปักษ์ใต้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และก็เขานี่แหละทำให้ข้าพเจ้าอารมณ์เสียบ่อย ๆ คือบางวันขณะที่คิดแต่งกลอนเพลิน ๆ เขาก็มักไปนั่งใกล้ ๆ ถามโน่นถามนี่เกี่ยวกับวิชาความรู้บ้าง เรื่องราวในกรุงเทพฯ และเมืองต่าง ๆ ในภาคกลางบ้าง บางครั้งต้องดุและไล่เขาให้ออกไปห่าง ๆ จนพ้นความรำคาญ
จังหวัดสงลาและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ ชาวพุทธ คือ ภิกษุอุบาสกอุบาสิกาจะเคร่งครัดในวินัย ขนบธรรมเนียมประเพณีมาก โดยเฉพาะเรื่องการรับจับต้องเงินทองของพระภิกษุเขาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก พระภิกษุแม้จะใช้เงินทองเหมือนชาวบ้าน แต่จะไม่จับต้องเงินทองด้วยมือตนเอง ถ้าพระจับใช้จ่ายด้วยมือตนเองแล้วจะถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรง ชาวบ้านบางคนบางพวกกล่าวหาว่า “พระศีลขาด” ไปเลย ความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้มีโทษปรับเป็นเพียงอาบัติปาจิตตีย์เท่านั้น โดยมีพุทธบัญญัติเป็นสิกขาบทในนิสสัคคียปาจิตตีย์ว่า
“ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคียปาจิตตีย์”
ความตามพุทธบัญญัติสิกขาบทนี้ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความให้มากเรื่อง หรือจะ
"เลี่ยงบาลี"
คลิก
อย่างไรก็ไม่พ้นผิดความในพุทธบัญญัตินี้ อย่างเช่นที่มีการใช้ใบปวารณาแทนเงินทอง แล้วอ้างว่าใบปวารณาไม่ใช่เงินทอง แม้ไม่ผิดในประเด็นที่ว่า “รับเองก็ดีใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี” แต่ก็ต้องผิดในประเด็นที่ว่า “หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน” นั่นแล
เงินทองเป็นนิสสัคคีย์ หรือ วัตถุอนามาส คือเป็นของที่ไม่ควรแตะต้อง ถ้าพระภิกษุจับต้อง หรือให้คนอื่นจับต้องแทน และแม้ยินดี ก็ต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์ จะต้องเสียสละไปเสียก่อนจึงจะแสดงอาบัติตก
พระภิกษุปักษ์ใต้ และชาวพุทธปักษ์ใต้ และภิกษุในนิกายธรรมยุติทั่วประเทศ ท่านจะไม่จับต้องทองและเงิน แต่ใช้ผู้อื่นรับแทน และยังยินดีเงินทองที่เขาเก็บไว้ให้ท่าน โดยถือว่าไม่ผิดพระวินัยข้อนี้ ข้าพเจ้าคิดเห็นเป็นเรื่องขันมาก/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๕ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
หยาดฟ้า
,
ต้นฝ้าย
,
เป็น อยู่ คือ
,
ข้าวหอม
,
มนชิดา พานิช
,
คิดถึงเสมอ
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
ลิตเติลเกิร์ล
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #87 เมื่อ:
20, ธันวาคม, 2565, 11:35:22 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๘ -
เรื่องเกี่ยวกับพระภิกษุจับต้องทองและเงินนี้ สมัยเป็นสามเณรอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า พระภิกษุบางองค์ไม่หยิบจับเงินทองต่อหน้าคนอื่น แต่เมื่อลับตาคนอื่นแล้วก็หยิบจับนับเก็บแบบ “คนหน้าไว้หลังหลอก” แล้วเล่าเรื่องพระภิกษุสองสหายต่างนิกายว่า มีภิกษุองค์หนึ่งบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี เรียนนักธรรมจบชั้น น.ธ.เอก สอบบาลีได้เปรียญ ๕ ประโยค อุปสมบทเป็นภิกษุต่อแล้วครองสมณะเพศอยู่ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ (เจ้าคุณ) ชั้นราช เป็นผู้เคร่งครัดในสิกขาวินัยมาก ท่านเจ้าคุณรูปนี้ (เป็นพระธรรมยุตินิกาย) ไมยอมจับต้องเงินทองทั้งต่อหน้าและลับหลังคนอื่นเด็ดขาด
ท่านเจ้าคุณองค์นี้มีคนที่รักใคร่ชอบพอกันมากคนหนึ่ง เคยบวชอยู่คนละนิกายกัน แต่สนิทสนมกันเพราะเรียนบาลีในสำนักเดียวกันและอัธยาศัยต้องกัน ทั้งสองสอบบาลีได้เป็นพระมหาด้วยกัน ต่อมาพระมหาภิกษุในมหานิกายลาสิกขาออกไปรับราชกรจนได้ความดีความชอบมีบรรดาศักดิ์เป็น “คุณพระ” แม้ลาสิกขาออกไปรับราชการแล้วก็ยังไปมาหาสู่กับพระอดีตสหายธรรมนั้นสม่ำเสมอ โดยทั้งสองมีบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าคุณ” ด้วยกัน คือท่านหนึ่งเป็นเจ้าคุณทางพระ ท่านหนึ่งเป็นเจ้าคุณทางคฤหัสถ์
วันหนึ่งเจ้าคุณคฤหัสถ์ไปเยี่ยมเยือนพระเจ้าคุณที่วัดตามปกติ ไปถึงกุฏิไม่เห็นมีใครอยู่ในบริเวณนั้นเลย ประตูห้องพักพระเจ้าคุณเปิดแง้มไว้ เจ้าคุณคฤหัสถ์จึงย่องไปดูที่ประตู เห็นพระเจ้าคุณกำลังเอาก้านธูปเขี่ยเหรียญกษาปน์และธนบัตรชนิดต่าง ๆ นับจำนวนง่วนอยู่องค์เดียว เห็นชัดว่าท่านเคร่งครัดในพระวินัยมาก แม้ลับตาคนก็ไม่ยอมใช้มือจับต้องเงินทองเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย ครั้นเอาก้านธูปเขี่ยนับครบถ้วนแล้วก็เอาก้านธูปกวาดเหรียญลงกระป๋อง เอาก้านธูปคีบธนบัตรใส่ที่เก็บ เจ้าคุณคฤหัสถ์มีอารมณ์ขัน รีบลงจากกุฏิแล้วเดินกลับขึ้นมาใหม่ ทำทีว่าเพิ่งมาถึงเป็นเวลาที่พระเจ้าคุณเปิดกุฏิออกมาพอดี
เจ้าคุณคฤหัสถ์เข้าไปกราบเมื่อพระเจ้าคุณนั่งเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองทักทายโอภาปราศรัยกันเป็นอันดี สนทนากันด้วยเรื่องสัพเพเหระได้สักครู่หนึ่ง เจ้าคุณคฤหัสถ์ก็เลียบเคียงถามปัญหาที่ข้องใจ
“ท่านเจ้าคุณครับ กระผมสงสัยว่าเวลาคนตายเขาเอาด้ายตราสังมัดมือมัดเท้าแล้วยกศพใส่โลง เอาด้ายสายสิญจน์ผูกมือศพโยงออกจากโลง ให้พระที่สวดบังสกุลจับด้ายสายสิญจน์นั่งอยู่ไกลห่างจากศพอย่างนี้ ถือว่าพระที่ชักบังสกุลนั้นจับต้องถูกศพไหมครับ” คุณพระคฤหัสถ์ถามแบบนักมวยที่ส่งหมัดแย้ปใส่คู่ต่อสู้
“ เอ๊ะ ! คุณพระนี่ถามยังไง ก็ต้องถือว่าพระนั้นถูกต้องร่างซากศพซี เพราะสายสิญจน์นั้นผูกติดร่างซากศพโยงออกมาจากโลง พระจับสายสิญจน์ก็เหมือนจับต้องซากศพนั่นแหละ ของมองเห็น ๆ กันอยู่อย่างนี้ คุณพระก็เคยบวชเรียนจนสอบได้เป็นมหาเปรียญมาแล้ว ไม่น่าจะสงสัยในปัญหา “หญ้าปากคอก” อย่างนี้เลยนี่นา” พระเจ้าคุณตอบด้วยเสียงกลั้วหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
“เอ....ท่านเจ้าคุณขอรับ ถ้างั้น การที่พระเอาก้านธูปเขี่ยนับ และคีบจับธนบัตรใส่กล่องเก็บ ก็น่าจะถือได้ว่าพระจับต้องเงินทองน่ะซีขอรับ ท่านเจ้าคุณ” คุณพระคฤหัสถ์ถามด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส
แต่พระเจ้าคุณไม่ยอมยิ้มรับ ทำหน้าบึ้งตึงและร้องออกมาคำเดียวว่า “บ้า” แล้วลุกพรวดเดินเข้าห้องปิดประตูปัง คุณพระคฤหัสถ์ส่งเสียงตามหลังไปว่า
“กระผมขอกราบลาเลยนะขอรับ” ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาพระเจ้าคุณกับเจ้าคุณคฤหัสถ์ก็ขาดไมตรีต่อกัน เพราะเรื่องจับเงินทอง หรือ ปัจจัย กลายเป็นเรื่อง “บาดใจ” ท่านน่ะเอง
ข้าพเจ้าไปรู้เห็นพระเมืองใต้ไม่จับเงินทอง แต่ให้คนอื่นจับเก็บแทนต่อหน้าคนอื่น แล้วไปขอจับเก็บเองในที่ลับหลังคนอื่นแล้ว คิดถึงคำว่า “ลิงหลอกเจ้า” รู้สึกขำขันมาก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าหลีกเลี่ยงความผิดไม่พ้น ก็ยังพยายามหลีกเลี่ยงอยู่นั่นแหละ อย่างเรื่องที่นำมาบอกเล่าข้างบนนี้จะเรียกว่าท่าน “ซื่อบื้อ” หรือฉลาดแกมโกงกันแน่
สำหรับข้าพเจ้าแล้วไม่ยอมเลี่ยงบาลีวินัย จึงจับจ่ายใช้สอยเงินทองด้วยมือตนเอง ใครมาชี้หน้าว่าผิดเป็นอาบัติก็ยอมรับผิดอย่างหน้าชื่นตาบาน ด้วยถือว่าเงินทองเป็นวัตถุอนามาส คือเป็น นิสสัคคีย์ จับต้องแล้วเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ดังนั้นเมื่อหยิบจับรับมาเท่าไหร่ ก็เสียสละด้วยการใช้จ่ายให้หมดไปเท่านั้น จะเก็บไว้เป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์ทำไมให้อาบัติเกาะกินเปล่า ๆ
เรื่องนี้เห็นทีว่าจะต้องพูดกันอีกยาวครับ/
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๖ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ข้าวหอม
,
หยาดฟ้า
,
ต้นฝ้าย
,
คิดถึงเสมอ
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
เป็น อยู่ คือ
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
มนชิดา พานิช
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #88 เมื่อ:
21, ธันวาคม, 2565, 11:46:08 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๘๙ -
เรื่องการรับจับหยิบเงินทองทำความยุ่งยากหงุดหงิดใจแก่ข้าพเจ้าไม่น้อยเลย เวลาไปในกิจนิมนต์งานบุญต่าง ๆ เช่น สวดศพบ้าง เจริญพระพุทธมนต์ในพิธีมงคลต่าง ๆ บ้าง เมื่อเสร็จพิธีแล้วหรือตัวแทนเจ้าภาพจะกล่าวคำปวารณาว่า
“ข้าพเจ้าขอถวายปัจจัยสี่มีมูลค่า (ระบุจำนวนเงิน) ได้มอบไว้แก่ไวยาวัจกรของท่านแล้ว ถ้าพระคุณเจ้ามีความประสงค์จงเรียกเอาจากไวยาวัจกรเทอญฯ”
บางรายมีใบปวารณาบัตรเขียนใส่ของถวาย (เครื่องไทยทาน) ข้าพเจ้าเจอหลายครั้งที่ได้ฟังตาคำปวารณาโดยไม่ได้ปัจจัยตามคำปวารณานั้น เพราะไม่รู้ว่าใครคือไวยาวัจกรผู้ที่รับเงินจากเจ้าภาพแทนข้าพเจ้า ในหมู่คนก็ย่อมมีคนซื่อไม่ซื่อ คนกลัวบาปไม่กลัวบาป อยู่รวมปะปนกันเป็นธรรมดา บางคนรับเงินจากเจ้าภาพแล้วก็นำไปให้พระที่วัด บางคนรับเงินจากเจ้าภาพแล้วออกไปรอพระอยู่ที่ประตูบ้านเจ้าภาพ ครั้นพระออกมาจะกลับวัดเขาก็เอาเงินนั้นใสย่ามพระเลย บางคนรับเงินมาแล้วก็ทำเป็นลืม พระบางองค์ก็กล้าทวงถาม บางองค์ไม่กล้าทวงถาม ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับไวยาวัจกรนั่นเอง
พฤติกรรมที่ไวยาวัจกรรับเงินจากเจ้าภาพแล้วไม่ยอมถวายพระต่อ เป็นตัวอย่างที่ข้าพเจ้ายกมาอธิบายให้เพื่อนพระด้วยกันฟังบ่อย ๆ ชี้ให้เห็นโทษของการที่พระไม่รับเงินทองด้วยตนเอง ใช้ให้คนอื่นรับแทน เอกลาภนั้นก็ไม่ถึงมือตน ทานของเจ้าภาพนั้นย่อมไม่ประสบความสำเร็จ เพราะพระไม่ได้รับทานนั้น ซ้ำทำให้พระเกิดความวิตกกังวลใจ ไม่สบายใจ เกิดบาป (ความเศร้าหมอง) เป็นมลทิน (สนิม) เกาะกินใจ ถ้ารับด้วยมือตนเองเก็บไว้ใช้จ่ายด้วยมือตนเอง ความวิตกกังวลใจก็จะไม่มีเหมือนให้ผู้อื่นรับเงินแทนตน
คำพูดอภิปรายให้เห็นโทษของการให้ผู้อื่นรับเงินทองแทนตน ไม่มีผลเปลี่ยนปลงพฤติกรรมดังกล่าวได้เลย เพราะเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ฝังรากลึกอยู่ในความรู้สึกของชาวใต้ไปเสียแล้ว ลำพังชาวพุทธน่ะไม่เท่าไหร่หรอกครับ แต่ชาวมุสลิมคือคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามนั่นซีเป็นสำคัญที่ทำให้พระภิกษุในภาคใต้ไม่กล้ารับเงินทองด้วยตนเอง เพราะอิสลามิกชนจะคอยจับผิดพระภิกษุซึ่งเป็นคู่แข่งทางศาสนา เขาพบเห็นพระภิกษุทำอะไรไม่ดีไม่งามก็จะพากันติเตียนนินทา เช่น พระภิกษุหยิบจับรับเงินทอง เมื่อเห็นแล้วก็จะกล่าวหาว่า “พระศีลขาดแล้ว ทำไม่ดีแล้ว ไม่เป็นพระแล้ว ไม่ควรเคารพนับถือแล้ว” อย่างนี้เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธทั้งที่เป็นพระภิกษุและอุบาสกอุบาสิกาจึงคอยระมัดระวัง ไม่ทำอะไรที่เป็นจุดอ่อนให้ “คู่แข่ง” ทางศาสนากล่าวโจมตีได้ การกล่าวโจมตี ติเตียนนินทาจากคนนอกพุทธศาสนาดังกล่าว เป็นเหตุให้พระภิกษุทางใต้ต้องเคร่งครัดต่อวินัย ไม่หยิบจับรับเงินทองต่อหน้าผู้คน ต่อเมื่อเดินทางออกพ้นภาคใต้เข้าสู่ภาคกลางและภาคอื่น ๆ แล้ว ก็มิได้เคร่งครัดเลย
ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่า สังคมบีบบังคับให้พระภิกษุภาคใต้เข้าอยู่ในสภาพที่ต้องทำตัวเป็นคน “หน้าไหว้หลังหลอก” อยู่ต่อหน้าคนอื่น (ที่ไม่ใช่พระภิกษุ) จะไม่หยิบจับเงินทอง เมื่อลับตาคนและอยู่ในหมู่ของพวกตนก็หยิบจับเงินทองอย่างหน้าตาเฉย พูดได้ว่า “ความนิยมของสังคม” มีอำนาจอิทธิพลมากกว่า “ความถูกต้อง” หรือเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น
เพราะคนปักษ์ใต้ไม่นิยมให้พระภิกษุจับต้องเงินทอง ข้าพเจ้าเดินทางขึ้นรถลงเรือก็สะดวกสบาย ในสัปดาห์หนึ่ง ๆ เดินทางไปเที่ยวหาดใหญ่ไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง นั่ งรถเมล์เหลืองไป-กลับฟรี เด็กกระเป๋ารถเดินเก็บค่าโดยสารรถมาถึงข้าพเจ้าถามว่า “เด็กอยู่ไหน” หรือ “มีเด็กไหม” ข้าพเจ้าสั่นศีรษะปฏิเสธ เขาก็เดินผ่านเลยไปไม่ยอมเก็บค่าโดยสาร ด้วยเข้าใจว่าพระไม่จับเงินทองจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าโดยสารเล่า
ข้าพเจ้าก็เลยนั่งรถฟรี แต่การซื้อสิ่งของที่ตลาดหาดใหญ่ ข้าพเจ้าหยิบเงินจ่ายค่าสินค้าค่อนข้างเป็นปกติ เพราะคนในตลาดหาดใหญ่ไม่ค่อยเคร่งครัด มีบ้างที่เคร่งครัด เพราะเขาเป็นชาวใต้แท้ ไปซื้อของเขาจะถามหาเด็กคือลูกศิษย์ว่าอยู่ไหน ด้วยคิดว่าเด็กจะต้องเป็นคนจ่ายเงินแทนพระ เมื่อตอบว่าไม่มีเด็กเขาก็ส่ายหน้าบอกว่าพระซื้อเองไม่ได้ เขาไม่ขาย แม้จะยื่นย่ามให้เขาควักเอาเงินในย่ามเขาก็ไม่ยอม ก็ต้องเดินดูของร้านอื่นต่อไป ที่นี่ หาดใหญ่มีคนจากภาคกลางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าไปอยู่ทำมาค้าขายกันมาก ผู้ ที่ไม่ใช่คนใต้แท้ ๆ จะไม่เคร่งครัดในเรื่องห้ามพระหยิบจับเงินทอง จึงไม่มีปัญหาอะไรกับพระที่ไปซื้อสินค้าพวกเขาด้วยมือพระเอง
อ้อ ไม่ได้นั่งรถฟรีทุกเที่ยวหรอก มีบางเที่ยวนั่งฟรีไม่ได้ เพราะเด็กกระเป๋ารถเดินมาถึงก็แบมือขอเงินเอาดื้อ ๆ เหมือนกัน ข้าพเจ้าควักกระเป๋าสตางค์ในย่ามยื่นให้เขาเปิดหยิบเงินค่าโดยสารเอาเอง บางครั้งก็หยิบสตางค์ยื่นให้เขาโดยตรงเลย การที่ยื่นกระเป๋าสตางค์ให้เขาเปิดหยิบเงินนั้น มีพระบางองค์เคยถูกเขาหยิบเงินออกจากกระเป๋าเกินราคาค่าโดยสารและสิ่งของบ่อย ๆ บางองค์ทักท้วงทวงคืน บางองค์ก็ไม่กล้าทักท้วง ต้องมองดูเขาโกงไปตาปริบ ๆ ข้าพเจ้ายังไม่เคยถูกโกง ถ้าถูกโกงก็คงยอมไม่ได้ดอก
สรรพนามของพระภิกษุที่คนเมืองใต้เขาใช้เรียกกันส่วนมากคือ “ใต้เท้า” และ “ต้น” เรียกอย่างคุ้นเคยคือ “พ่อท่าน พ่อหลวง พี่หลวง” พระที่เคยมีลูกเมียมาก่อนแล้วจะเรียกว่า “พ่อหลวง” (คือหลวงพ่อ) ถ้าบวชมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ไม่เคยมีลูกเมียมาก่อนจะเรียกว่า “พ่อท่าน” (ท่านพ่อ) หลวงพี่ก็เรียก “พี่หลวง - พี่ท่าน” ชาวบ้าน เรียกพระทั่วไปว่า “ตน-ต้น” คำนี้ได้ยินใหม่ ๆ ก็งง ตามหาที่มาของสรรพนามนี้อยู่นานจึงรู้ว่า ตนหรือต้นคำนี้มาจาก “ต้นพุทธบริษัท” กล่าวคือสาวกของพระพุทธเจ้าเรียกว่าพุทธบริษัทมี ๔ หมู่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุเป็นต้นของพุทธบริษัท เขาจึงเรียกพระภิกษุว่า “ตน-ต้น” ถ้าเรียกด้วยความเคารพยกย่องในขณะสนทนากันจะเรียกสรรพนามว่า “ใต้เท้า” ข้าพเจ้าไปอยู่สงขลาถูกเรียกว่า “ใต้เท้า” เหมือนกัน อันที่จริง “ใต้เท้า” คำนี้ ทางฝ่ายบ้านเมืองเขาใช้เรียกข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่คุณพระขึ้นไป การที่คนใต้เรียกพระภิกษุว่า “ใต้เท้า” ก็หมายถึงว่าเขายกย่องพระภิกษุสูงเทียบเท่า คุณพระ พระยา อะไรนั่นเทียว /
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๗ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
หยาดฟ้า
,
เป็น อยู่ คือ
,
ต้นฝ้าย
,
คิดถึงเสมอ
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
มนชิดา พานิช
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
บ้านกลอนน้อยฯ
เลขาคุณอภินันท์
จำนวนผู้เยี่ยมชม:
39046
ออฟไลน์
ID Number: 202
จำนวนกระทู้: 3127
|
|
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
«
ตอบ #89 เมื่อ:
22, ธันวาคม, 2565, 10:47:37 PM »
บ้านกลอนน้อยฯ
Permalink:
Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก...
- คำให้การของนักบวช -
โดย เต็ม อภินันท์
~~~~~~~~~~~~~~~~~
- ๙๐ -
ย้อนกลับไปดูประสบการณ์ตอนเริ่มต้นชีวิตที่เมืองสงขลา ข้าพเจ้าเข้าอยู่วัดชัยมงคลได้ประมาณ ๑๐ วันก็ถูกนิมนต์ไปสวดอภิธรรมศพบ้านใกล้ ๆ วัด พระสวดศพ ๔ องค์ตามระเบียบพิธีมาตรฐานทั่วไป ไม่รู้ว่าใครอาวุโสมากน้อยกว่ากัน ข้าพเจ้าเป็นพระใหม่จึงขอนั่งสวดเป็นองค์ลำดับที่ ๔ (ท้ายสุด) การสวดทางภาคกลางเรา พระจะสวดเต็มเสียง แต่วันนั้นพระ ๓ องค์แรกสวดเหมือนไม่เต็มเสียง และดูจะสวดไม่คล่อง ออกเสียงผิด ๆ ถูก ๆ ฟังไม่ค่อยชัด เหมือนเสียงคนบ่นอะไรอุบ ๆ อิบ ๆ แต่ข้าพเจ้าซึ่งนั่งท้ายสุดสวดเหมือนพระภาคกลางคือสวดเต็มเสียง ดังและฟังชัด จนเสียงกลบเสียง ๓ องค์หน้าจนหมด คนฟังล้วนชอบอกชอบใจ และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาข้าพเจ้ากลายเป็นพระหัวหน้าสวดศพตามบ้านทั้งใกล้และไกลวัดในย่านนั้น
ในเมืองสงขลาเมื่อมีคนตายลง เขาเอาศพตั้งไว้ที่บ้านเหมือนภาคกลางที่ข้าพเจ้าเคยอยู่ ในการสวดศพเขานิยมนิมนต์พระหลายวัด อย่างน้อยก็ ๓ วัดมาสวดเป็นชุด ๆ พระจะสวดตั้งแต่หัวค่ำไปยันค่อนแจ้ง บางบ้านก็สวดกันยันแจ้งเลย บางคืนข้าพเจ้าโมโหมากเมื่อถูกปลุกยามดึกดื่นค่อนคืนให้ไปสวดศพ ไม่ไปก็ไม่ได้ คนนิมนต์ไม่ยอมกลับไป จะเฝ้ารอและส่งเสียงเอะอะให้รำคาญไม่เป็นอันนอน ถูกปลุกไปสวดในขณะง่วงนอนก็ยังไม่ร้ายเท่ากับที่สวดแล้วถูกไวยาวัจกร “เบี้ยว” ค่าสวดนั่นหรอก
การสวดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ก็เป็นเรื่องธรรมดา พระวัดชัยมงคลอยากสวดพระอภิธัมมัตถสังคหะบ้าง แต่ไม่มีหัวหน้าฝึกหัดให้ พระชวนซึ่งเป็นพระอาวุโสสูงในวัดนี้ปรารภให้ฟังบ่อย ๆ ข้าพเจ้าก็เลยอาสาช่วยฝึกหัดให้ คัดเลือกพระเสียงดีได้ ๕ องค์ฝึกหัดซักซ้อมกันอย่างจริงจัง ตามแบบที่ใช้สวดกันในภาคกลาง ซึ่งข้าพเจ้าสวดดั้งแต่สมัยเป็นสามเณร ทำนองสวดสังคหะที่สงขลากับทางภาคกลางส่วนใหญ่จะไม่เหมือนกัน
ข้าพเจ้าฝึกซ้อมศิษย์อยู่เดือนเศษ ๆ ก็รับนิมนต์สวดศพเป็นครั้งแรก พระศิษย์ยังไม่กล้าไปสวดโดยลำพัง ข้าพเจ้าจึงเอาไป ๓ รวมกับข้าพเจ้าเป็น ๔ องค์ครบสำรับ เริ่มแรก ๆ ศิษย์ทั้ง ๓ ประหม่าจนเสียงสั่น แต่พอขึ้นปริเฉทที่ ๒ ก็หายประหม่า คนฟังที่ไม่เคยตั้งใจฟัง ไม่สนใจฟังพระสวดสังคหะมาก่อน พอได้ยินเสียงสวดที่มีท่วงทำนองแปลก ๆ ไม่เหมือนพระสงขลาสวดกันมาแต่เดิม พวกเขากันหันกลับมาสนใจฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ผลการออกงานสวดครั้งแรก ได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากชาวบ้านมาก เรียกว่า “ดัง” มากก็แล้วกัน คืนนั้นสวดจบทายกกล่าวคำถวายจตุปัจจัยแล้ว ไวยาวัจกรรับเงินจากเจ้าภาพมาใส่ย่ามพระทุกองค์ทันที ตั้งแต่นั้นมาพระสวดสังคหะชุดของวัดชัยมงคลจะถูกนิมนต์ไปสวดศพมากกว่าชุดของวัดอื่น แรก ๆ ข้าพเจ้าก็เป็นหัวหน้านำสวด เมื่อเห็นว่าพระลูกศิษย์มีความชำนาญพอแล้ว ก็ปล่อยให้พวกเขาไปสวดกันเอง
ประมาณต้นเดือน ๗ ปีนั้น พระเชือนชักชวนให้ข้าพเจ้าไปเที่ยวบ้านเขาที่อำเภอสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นอำเภอสุดเขตสงขลาติดต่ออำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เห็นว่ายังมีเวลาก่อนเข้าพรรษาอยู่เดือนเศษ จึงตกลงใจไปกับเขา ก่อนเดินทางไปมีเพื่อนพระบอกเตือนว่า ไปที่นั่นเขาไม่ค่อยพูดภาษาไทยกันนะ เขาจะพูดภาษายาวีเป็นส่วนใหญ่ พระชวนเอาตำราพูดภาษายาวีที่เป็นอักษรพิมพ์ดีด พิมพ์ลงกระดาษไขถ่ายโรเนียวมาให้ชุดหนึ่ง สอนคำพูดที่ใช้พูดกันประจำวัน เช่น ข้าว น้ำ กิน นอน เป็นต้น ก็ท่องจำได้หลายคำอยู่เหมือนกัน
ก่อนเดินทางไปสะบ้าย้อย พระเชือนบอกว่าอาจารย์ต้องเตรียมตัวให้ดีนะ ถามว่าต้องเตรียมเอาอะไรไปบ้างล่ะ เขาบอกกว่าไม่ใช่เตรียมของใช้อะไรหรอก แต่ต้องเตรียมตัวทำใจเมื่อตอนนั่งรถจากโคกโพธิ์ไปสะบ้าย้อยนั่นแหละ เขาบอกว่า ต้องนั่งรถจิ๊บวิลลี่ไปตามถนนคึกฤทธิ์ (ถนนที่สร้างในชนบทตามโครงการของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรี) รถจิ๊บนี้ไม่ใช่รถโดยสาร แต่เป็นรถที่ชาวสวนยางบรรทุกยางพาราจากสวนไปขายที่โคกโพธิ์ เขาออกจากสะบ้าย้อยแต่เช้า ขายยางเสร็จก็กลับ ขากลับนี้เขารับคนโดยสารเอาค่าน้ำมันด้วย เรานั่งรถเมล์ประจำทางจากสงขลาไปถึงโคกโพธิ์แล้ว ต้องนั่งรถจิ๊บต่อไปสะบ้าย้อย
“ตอนนี้แหละท่านเอ๊ย..” พระชวนกล่าวต่อพร้อมหัวเราะ
“มันเป็นไรหรือหลวงพี่ “ พระชวนอายุมากกว่าข้าพเจ้าเกือบ ๒๐ ปี จึงเรียกท่านว่าหลวงพี่
“ผมไปเจอมากับตัวเองแล้ว.....”
“เจออะไรเหรอ น่ากลัวมั้ย”
“เจออีแมะละซี น่ากลัวมาก”
“อีแมะ คืออะไรครับ “
“อ้าว...อีแมะก็คือผู้หญิงอิสลามน่ะซี จะเล่าให้ฟังนะ คือว่าพวกผู้หญิงอิสลามในแถบ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส นั่น เขานับถือศาสนาอิสลาม มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งเวลานั่งโดยสารรถยนต์ ถ้ามีคนนั่งเต็มที่นั่งหมดแล้ว พวกเขาจะให้ผู้หญิงนั่งตักผู้ชาย ผมไปเจออีแมะนั่งตักมาแล้ว ฮ่ะ ๆๆๆ”
“เราเป็นพระเขาจะกล้านั่งตักเหรอ “
“พระก็เป็นผู้ชาย เขานั่งตักผู้ชาย โดยไม่ถือว่าเราเป็นพระหรอก ที่พระเชือนบอกให้น้องหลวงเตรียมตัวน่ะ ก็คือเตรียมไปให้อีแมะนั่งตักนั่นเอง ฮ่ะ ๆๆๆ”
ฟังหลวงพี่ชวนบอกเล่าแล้วข้าพเจ้าขนลุกเลย /
<<<
ก่อนหน้า
ต่อไป
>>>
เต็ม อภินันท์
ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย
๘ มิถุนายน ๒๕๖๕
ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม :
Black Sword
,
ลิตเติลเกิร์ล
,
ต้นฝ้าย
,
คิดถึงเสมอ
,
มนชิดา พานิช
,
ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
,
เป็น อยู่ คือ
บันทึกการเข้า
..
สารบัญบทกลอนคุณ "อภินันท์ นาคเกษม"
..
หน้า:
1
...
4
5
[
6
]
7
ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
บ้านกลอนน้อย ลิตเติลเกิร์ล - มยุรธุชบูรพา
-----------------------------
=> อ่านข้อกำหนด กฎระเบียบต่าง ๆ - สมาชิกใหม่ ทักทาย แนะนำตัวที่นี่
=> ห้องกลอน คุณอภินันท์ นาคเกษม
=> ห้องกลอน คุณคนบอ มือสี่
=> สารบัญกลอน สมาชิกนักกลอน
-----------------------------
ห้องเรียน
-----------------------------
=> ห้องเรียนรู้คำประพันธ์ ประเภทกลอน
=> ห้องเรียนฉันท์
=> ห้องเรียน กลบท
=> ห้องเรียน โคลงกลบท
=> ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท
=> ห้องศึกษา กาพย์ โคลง ร่าย
=> ห้องหนังสือ บ้านกลอนน้อย
=> ห้องฟัง การขับ เสภา และอื่น ๆ
-----------------------------
คำประพันธ์ แยกตามประเภท
-----------------------------
=> กลอน ร้อยกรองหลากลีลา
=> คำประพันธ์เนื่องในโอกาสพิเศษต่าง ๆ
=> กลอนธรรมะ-สุภาษิต-ปรัชญา-คำคม
=> กลอนเปล่าสบาย ๆ
=> กลอนจากที่อื่น และจากกวีที่ชื่นชอบ
=> โคลง-กาพย์-ฉันท์-ร่าย-ลิลิต
=> กลบท
=> นิยาย-เรื่องสั้น-บทความ-ความเรียง-เรื่องเล่าทั่วไป
=> ห้องนั่งเล่นพักผ่อน
===> เส้นคั่นสวย ๆ
===> รูปภาพน่ารัก
กำลังโหลด...