บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๖๑ - ข้าพเจ้ายิ้มอย่างสะใจที่ได้ใช้วาทะต้อนตือจนวิญญาณร้ายในร่างทรงหนีกระเจิดกระเจิงไปได้ แต่บรรดาศิษย์หลวงพ่อทวดล้วนไม่พอใจเป็นอย่างมาก นายตำรวจยศพันเอกนายหนึ่งถามพระเต็มด้วยเสียงไม่พอใจว่า
“ทั่นไม่เชื่อหรือว่าเข้าทรงจริง” “อาตมาเชื่อ” พระเต็มตอบอย่างไม่สะทกสะท้าน
“เชื่อแล้วทำไมทั่นจึงซักไซ้จนหลวงพ่อรำคาญหนีไปแล้ว” เขาถามแบบคาดคั้น พระเต็มจึงตอบตามหลักธรรมของพุทธศาสนาให้เขาเข่าใจ
“อาตมาเชื่อว่า การเข้าทรงครั้งนี้เป็นการเข้าทรงจริง แต่ไม่เชื่อว่าหลววงพ่อทวดมาเข้าร่างทรง เพราะ หลวงพ่อทวดเป็นพระเถระที่บำเพ็ญภาวนาจนบรรลุฌานสมาบัติ ผู้ที่ได้ฌานนั้นเมื่อตายแล้ว ก็ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม ถ้าบรรลุรูปฌาน ๔ จะเกิดในชั้นรูปพรหม หากบรรลุอรูปฌาน ๔ จะเกิดในชั้นอรูปพรหม สวรรค์ชั้นพรหมโลกสูงกว่าสวรรค์ชั้นกามาพจร ท่านเป็นพรหมแล้วจะไม่กลับมาสู่มนุษยโลกได้ อย่าว่าแต่เทพชั้นพรหมเลย แม้แต่เทวดาในสวรรค์กามาพจร ชั้นดาวดึงส์ ดุสิต ยามานิมมานรดี ปรนิมมิตสวัตตี ท่านก็ไม่ลงมาสู่มนุษยโลก เมื่อครู่ท่านก็ได้ยินแล้วไม่ใช่หรือ หลวงพ่อทวดท่านว่าบรรลุฌานแล้ว อาตมาเชื่อว่าหลวงพ่อทวดท่านไปอยู่บนสวรรค์ชั้นพรหมโลกแล้ว จึงไม่ลงมาเข้าร่างทรงใครได้อีก"
“งั้น ที่เข้าทรงเมื่อตะกี้นี้เป็นใครล่ะ” มีคนหนึ่งถามต่อ
ข้าพเจ้าตอบในเชิงสันนิษฐานว่า
“อาจจะเป็นภูตผีปิศาจที่เรียกกันว่า “สัมภเวสี” คือผู้ที่ยังแสวงหาที่เกิดไม่ได้ เห็นคนเชิญหลวงพ่อทวดมาประทับทรง เขารู้แน่แล้วว่าหลวงพ่อทวดไม่ลงจากพรหมโลกมาแน่ ๆ ก็เลยสวมรอยเข้าร่างทรงแอบอ้างเป็นหลวงพ่อทวด หลอกคนเล่นไปงั้นเอง”
ตอบตามสันนิษฐานที่เห็นว่าเป็นจริงอย่างนี้แล้วทุกคนในที่นั้นเงียบไม่มีใครแย้ง ทั้งที่บางคนไม่พอใจแต่หาคำโต้แย้งไม่ได้
พิธีประทับทรงหลวงพ่อทวดคืนนั้นก็สิ้นสุดลงด้วย บางคนไม่พอใจพระเต็ม บางคนพอใจ บางคนก็ยังแคลงใจในการประทับทรง เพราะได้ฟังคำซักถามและคำอธิบายดังกล่าวข้างต้น
หลวงน้าไหวไม่พอใจอาจารย์เต็มเหมือนกันแต่ไม่มากนัก กลับถึงวัดแล้วต่างคนต่างเข้านอน โดยหลวงน้าไหวเก็บความไม่พอใจไว้ ข้าพเจ้าก็เก็บความพอใจที่ได้ชัยชนะวิญญาณเร่ร่อนในร่างทรงนั้นไว้ในใจ นอนกระหยิ่มจนหลับสบายไปเลย
รุ่งขึ้นหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว หลวงน้าไหวก็ทำการซักฟอกข้าพเจ้าเรื่องที่ผ่านมาเมื่อคืน กล่าวหาว่าข้าพเจ้าทำลายพิธีการสำคัญของเขา ข้าพเจ้าก็ว่าไม่มีเจตนาทำลายพิธีนั้น ข้อซักถามทั้งหมดนั้นเป็นความอยากรู้จริง ๆ ด้วยเชื่อว่าดวงวิญญาณที่เข้าร่างทรงนั้นไม่ใช่หลวงพ่อทวด เพื่อให้หลวงน้าไหวเข้าใจหลักธรรมในพุทธศาสนาเรามากขึ้น จึงนำเอาหลักปริยัติธรรมว่าด้วยเรื่องฌานในหนังสือธรรมวิภาคปริเฉทที่ ๒ แบบเรียนในหลักสูตรนักธรรมชั้นโทที่หลวงไหวกำลังเรียนอยู่มาอธิบายให้ฟัง
ฌาน คือการเพ่งอารมณ์จนจิตเป็นสมาธิ พูดง่าย ๆ คือการทำใจให้นิ่งอยู่กับที่จุดใดจุดหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านไปหลายอารมณ์ เช่น เอาดวงไฟมาเป็นเป้าหมายเพ่งเล็งแล ใจจับมั่นที่ดวงไฟ ภาวนาว่า ไฟ ๆๆๆๆๆ จนใจจับนิ่งอยู่กับดวงไฟ ไม่คิดไปอย่างอื่นนอกจากดวงไฟเท่านั้น เมื่อใจจับนิ่งอยู่กับไฟแล้วชื่อว่าจิตเป็นสมาธิ การเอาไฟมาเป็นจุดเพ่งนี้นักปฏิบัติเรียกว่า “เพ่งเตโชกสิณ” เป็นหนึ่งในหลาย ๆ กสิณซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมเรียกการเพ่งกสิณนี้ว่า เป็นการเจริญสมถกัมมัฏฐาน คืออุบายที่ทำใจให้สงบ โดยการเอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นอารมณ์ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ และซากศพต่าง ๆ
เมื่อใจเพ่งติดอยู่กับวัตถุใดวัตถุหนึ่ง เช่นติดอยู่กับดวงไฟ ก็จะเกิดนิมิต คือเครื่องหมายขั้นแรกเป็นอุคคหนิมิต คือนิมิตติดตา ลืมตาขึ้นก็มองเห็นดวงไฟ หลับตาลงก็เห็นดวงไฟ จากนั้นก็เป็นปฏิภาคนิมิตคือนิมิตเทียบเคียง ไม่ต้องเอาดวงไฟมาตั้งเพ่งอยู่เฉพาะหน้า ก็สามารถทำนิมิต คือดวงไฟให้เกิดขึ้นในอารมณ์ได้ เมื่อนึกถึงไฟดวงไฟก็เกิด ผู้ที่ได้เตโชกสิณจนเป็นปฏิภาคนิมิตบางคนเล่นกสิณเพลินจนลืมกินลืมนอน มัวแต่ปั้นรูปดวงกสิณเล่นตามใจนึก ย่อให้เล็กก็ได้ ขยายให้ใหญ่ก็ได้ ดึงเข้ามาใกล้ ๆ ก็ได้ ผลักให้ออกไปไกล ๆ ก็ได้ ส่วนมากพวกฤษีชอบเล่นเตโชกสิณ อย่างฤษีตาไฟ เป็นต้น การเจริญสมถกัมมัฏฐานจนใจได้นิมิตเป็นอัปปนาสมาธิ คือสมาธิแน่วแน่แล้ว เรียกว่าได้ฌาน
ฌาน มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่าฌานสมาบัติมีอยู่ ๘ ขั้น แบ่งเป็นรูปฌาน ๔ ขั้น อรูปฌาน ๔ ขั้น ผู้ที่ได้รูปฌาน ที่ ๑ มีอารมณ์ ๕ คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุขเอกัคตา รูปฌาน ที่ ๒ อารมณ์วิตกหมดไป รูปฌานที่ ๓ อารมณ์วิตก วิจารณ์ ปีติ หมดไป รูปฌานที่ ๔ อารมณ์ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข หมดไป คงอยู่เพียงอารมณ์เดียวคือ เอกัคตา ครั้นได้อรูปฌาน (องค์ฌานที่ ๑) อารมณ์วิตก วิจารณ์ปีติสุข เอกัคตา หมดไป คงมีแต่ วิญญาณันจายตนะ ... จนถึงอรูปฌานที่ ๔ มีแต่เนวสัญญานาสัญญายตนะ อันเป็นองค์ฌานสุดท้ายของอรูปฌานสมาบัติ
ผู้ที่ได้รูปฌานขั้นใดขั้นหนึ่ง ถ้าตายก่อนที่ฌานเสื่อมจะต้องไปเกิดในสวรรค์ชื่อพรหมโลกชั้นรูปพรหม ถ้าได้อรูปฌานชั้นใดขั้นหนึ่งแล้วตายในขณะฌานไม่เสื่อมต้องเกิดในสวรรค์ชั้นอรูปพรหม คือพรหมไม่มีรูป
ที่ว่ากันว่า “ฌานเสื่อม” นั้นเป็นไปได้ เพราะฌานเป็นเรื่องของโลกกิยวิสัย เรียกว่าโลกิยฌาน แต่ถ้าพระอริยะเจ้าตั้งแต่พระโสดาขึ้นไปได้ฌานใดฌานหนึ่งแล้ว ฌานนั้นจะไม่เสื่อม เพราะเป็นโลกุตรฌาน ถ้ายังไม่สำเร็จพระอรหันต์ ตายแล้วก็ไปเกิดบนสวรรค์พรหมโลกในชั้นสุทธาวาส ๕ และสำเร็จอรหันต์ นิพพานในที่สุด... /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เป็น อยู่ คือ, ลิตเติลเกิร์ล, คิดถึงเสมอ, ฝาตุ่ม, ต้นฝ้าย, ลายเมฆ, หยาดฟ้า, สายน้ำ, ข้าวหอม, ชลนา ทิชากร, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กรกันต์, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๖๒- การได้ฌานในขณะที่เป็นปุถุชนนั้นเรียกว่า “ฌานโลกีย์” ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ ผู้ที่บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานเพื่อให้บรรลุโลกิยฌานขั้นใดขั้นหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องบวชในศาสนาใด ๆ ฆราวาสขี้เหล้าขี้ยาก็สามารถทำได้ และเมื่อทำได้แล้ว ก็สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ความขลังศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ นานา เช่น อยู่ยงคงกระพัน หายตัว ดำดิน เหาะเหินเดินอากาศ เป็นต้น
ชมพูทวีป (ประเทศอินเดีย เนปาล ปากีสถาน บังคลาเทศ) ในยุคอุปนิษัทก่อนกาลตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น พวกพราหมณ์ที่ออกบวชเป็นฤษี โยคี ชฎิล นักพรตต่าง ๆ และพวกที่ไม่ออกบวชจำนวนมาก ต่างก็ได้ฌานโลกีย์กันตามกำลังความสามารถในการปฏิบัติบำเพ็ญ มีอาจารย์เจ้าลัทธิหลายท่านตั้งสำนักสอนศิษย์และบำเพ็ญเพียรจนตนเองบรรลุฌานโลกีย์ มีอิทธิฤทธิ์ปรากฏขื่อเสียงเลื่องลือชา เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป อย่างเช่นกาฬเทวินดาบสหรือกบิลดาบสแห่งหิมวันตประเทศ คราเมื่อพระนางสิริมหามายาประสูติพระโอรสได้ ๕ วัน ท่านมหาดาบสผู้นี้ทราบข่าวด้วยฌานโลกีย์ของท่าน จึงเหาะจากป่าหิมพานต์มาเข้าเยี่ยมและทำนายว่า พระกุมารโอรสพระนางสิริมหามายานั้น ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิราช ถ้าออกบวชจะเป็นศาสดาเอกของโลก คำทำนายของท่านเป็นจริง พระกุมารนั้นต่อมาออกบวชและเป็นพระบรมศาสดาที่เราเคารพนับถือกันอยู่ทุกวันนี้
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะสละราชสมบัติออกบวชนั้น ทรงเสด็จจาริกแสวงหาอาจารย์ผู้บรรลุฌานในสำนักต่าง ๆ เพื่อศึกษาหาทางพ้นทุกข์ หลายสำนักที่ทรงเข้าไปศึกษาแล้ว เห็นว่าไม่ใช่วิชาความรู้ที่ทำให้พ้นทุกข์ได้ ก็ลาออกไปหาอาจารย์สำนักใหม่เป็นหลายสำนัก จนไปถึงสำนักของผู้สำเร็จฌานโลกีย์ชั้นสูงคือ อาฬารดาบสผู้บรรลุรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ (ฌานสมาบัติ ๗) กับ อุทกดาบสผู้บรรลุรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ (ฌานสมาบัติ ๘) ซึ่งถือกันว่า เป็นฌานสมาบัติสูงสุดในโลก
สิทธัตถะมหาบุรุษศึกษาวิชาในสำนักนี้จนจบฌานสมาบัติ ๘ ในเวลาไม่นานนัก เมื่อจบแล้วทรงพิจารณาเห็นว่าฌานสมาบัติ ๘ อันเป็นวิชาสูงสุดในโลกที่พระองค์ศึกษาจบนั้น มิใช่ทางปฏิบัติอันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เพราะครั้นตายแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกที่เป็นอรูปพรหมนานเป็นกัปป์กัลป์ เมื่อฌานเสื่อมหมดอายุแล้วก็เคลื่อนย้าย (จุติ) เวียนว่ายในวัฏสงสาร เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา พรหม เกิดตาย ๆ ไปตามกรรม เสวยทุกข์ไม่รู้สุดสิ้น เห็นว่าปรมาจารย์ทั้งสองไม่สามารถสอนแนวทางให้หลุดพ้นไปจากทุกข์ได้ จึงลาออกจากสำนักไปแสวงหาแนวทางพ้นทุกข์ด้วยพระองค์เอง
มีภิกษุในพุทธศาสนาหลายรูปที่บรรลุฌานโลกีย์แล้วก็เสื่อม อย่างเช่น พระเทวทัต ท่านผู้นี้ออกบวชไม่นานนักก็บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานจนบรรลุฌานสมาบัติ ๘ แต่ไม่บรรลุอริยผลประการใด ท่านสำคัญผิดคิดว่าฌานสมาบัติที่ได้นั้นเป็น “ธรรมวิเศษ” มีความมักใหญ่ใฝ่สูง อยากดำรงตำแหน่งศาสดาแทนพระพุทธเจ้า แสดงอิทธิฤทธิ์ดำดินไปโผล่ในพระตำหนักอชาตศัตรูกุมาร เนรมิตให้มีงูพิษพันกาย อชาตศัตรูกุมารเกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า ถวายตนเป็นศิษย์จนถูกพระเทวทัตยุแหย่ให้ฆ่าพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา กระทำ “ปิตุฆาต” ชิงราชสมบัติจนสำเร็จ ส่วนพระเทวทัตนั้นกระทำประทุษร้ายพระพุทธเจ้าหลายประการไม่สำเร็จ เมื่อใจเป็นบาปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ใจก็เศร้าหมอง ฌานสมาบัติก็เสื่อม พระเทวทัตก็สิ้นฤทธิ์ ต่อมาถูกแผ่นดินสูบลงนรกดังเป็นที่ทราบดันแล้ว
มีเรื่องเล่าในพระสูตรเกี่ยวกับการเสื่อมของโลกิยฌานอีกหลายเรื่อง อย่างเรื่องหนึ่ง พระภิกษุขอเรียนกรรมฐานแล้วทูลลาพระพุทธองค์เข้าป่าบำเพ็ญธรรม เจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้ฌานสมาบัติ ครั้นออกพรรษาแล้วเข้าฌานเหาะมาหมายใจเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เหาะมาถึงกลางทาง ได้ยินเสียงสตรีร้องเพลงเสียงหวานไพเราะจับใจ แทนที่จะเหาะล่วงเลย กลับเหาะวนไปเวียนมาในที่นั้น ฟัง ๆ เสียงเพลงไปเกิดอารมณ์กำหนัดยินดีในเสียงนั้น อารมณ์กำหนัดเกิดมากขึ้นทำให้อารมณ์ฌานเสื่อมไป ภิกษุนั้นหมดฤทธิ์ร่วงหล่นลงดินนอนนิ่งเหมือนสิ้นใจ
ข้าพเจ้าอธิบายธรรมพร้อมยกนิทานประกอบให้หลวงน้าไหวฟัง แล้วถามว่า หลวงน้าเชื่อว่าดวงวิญญาณหลวงพ่อทวดมาเข้าทรงในร่างเจ้าบ๋อยโรงหนังนั้นจริง ๆ หรือ ท่านก็ตอบแบบอ้อมแอ้ม
“ก็ลักษณะท่าทางมันน่าเชื่อนี่นา”
“แล้วหลวงน้าเชื่อหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเปล่าล่ะ ?”
“เชื่อซี ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านี่นา จะไม่เชื่อได้ยังไง”
“ ถ้าหากดวงวิญญาณหลวงพ่อทวดมาเข้าร่างคนทรงจริง ก็แสดงว่าก่อนตาย ฌานหลวงพ่อท่านเสื่อมไปแล้ว อิทธิฤทธิ์ใด ๆ ก็หมดไปแล้ว จึงไม่ไปเกิดบนพรหมโลก กลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนหาที่เกิดไม่ได้ น่าสงสารท่านนะ”
หลวงน้าไหวไม่มีข้อโต้แย้ง และตั้งแต่วันนั้นหลวงน้าไหวไม่ชวนพระอาจารย์เต็มไปร่วมพิธีประทับทรงอีกเลย ส่วนตัวท่านก็ทราบว่าแอบไปร่วมพิธีบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ได้ไปร่วมด้วยความเชื่อถือเหมือนก่อน หากแต่ไปคอยจับผิดเขามากกว่า
การทรงเจ้าเข้าผีเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าไม่คิดเห็นว่า เหลวไหล โกหกหลอกลวง โดยสิ้นเชิง แต่ไม่เชื่อว่าวิญญาณของผู้ถูกเอ่ยอ้างนั้น ๆ จะมาเข้าทรงจริง โดยเฉพาะคนที่ทำความดี ทำบุญกุศล และบรรลุฌานใดฌานหนึ่งแล้ว ไม่เชื่อว่า “หมอผี” เรียกร้องหรือเชิญให้ให้มาเข้าร่างทรงได้ง่าย ๆ เพราะท่านเหล่านั้นเมื่อตายแล้วเกิดบนสวรรค์ เป็นเทพ เป็นพรหม ทันที ไม่เป็นผีเร่ร่อนหาที่เกิดให้ใครเชิญเข้าร่างทรงหลอกลวงชาวบ้านเลย
ข้าพเจ้าคิดว่าวิญญาณที่รับเชิญมาประทับทรง หรือที่มา (ยัดเยียด) เข้าร่างใคร ๆ อย่างที่เรียกว่า “ผีเข้าเจ้าสิง” นั้น เป็นเรื่องของดวงวิญญาณผู้ที่อยู่ในภพภูมิต่ำประเภท “สัมภเวสี” (แสวงหาที่เกิด) หรือเทวดาชั้นต่ำ ภูต ผีปิศาจ ภุมเทวดา รุกขเทวดา อากาศเทวดา เป็นต้น เท่านั้น หาใช่ผู้วิเศษทรงฤทธิ์ล้ำเลิศอะไรไม่ เพราะการประทับทรง หรือทรงเจ้าเข้าผี เป็นไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง ทางพุทธศาสนาจึงถือว่าเป็น “เดรัจฉานวิชา” คือความรู้ที่ไม่ล่วงพ้นไปจากวังวนแห่งความทุกข์อย่างเด็ดขาด ทำให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไม่สิ้นสุด /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฝาตุ่ม, เป็น อยู่ คือ, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, คิดถึงเสมอ, ข้าวหอม, ชลนา ทิชากร, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กรกันต์, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๖๓ -
“ฝังรูปฝังรอย”
ในแวดวงไสยศาสตร์จะได้ยินได้ฟังเรื่องราวการทำเสน่ห์ยาแฝด ปล่อยคุณไสย เสกหนังควายเนื้อหมู ตะปู เข้าท้องศัตรู ฝังรูฝังรอยให้คนรักหลงใหลคลั่งไคล้จนเสียสติ และอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งอัศจรรย์ใจให้เห็นอยู่เสมอ ข้าพเจ้าเคยเห็นพระอาจารย์บางองค์รดน้ำมนต์ เสกน้ำมนต์ให้คนไข้ดื่มกินแล้วปรากฏว่ามีตะปูไหลหลุดออกมาจากร่างกายคนไข้ บางคนมีน้ำมันไหลซึมออกมาจากร่างกาย เป็นที่รู้กันว่าคนนั้นถูกกระทำ หรือถูกคุณไสยจากอาจารย์หมอผีที่จงใจบ้างไม่จงใจบ้าง
กาลนั้น มีหญิงสาวคนนึ่งเป็นไทยอิสลาม ทำงานอยู่องค์การโทรศัพท์ บ้านอยู่กรุงเทพฯแถว ๆ เพลินจิต เธอป่วยทางจิตที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หาย อาจารย์ไสยศาสตร์หลายสำนักรักษาไม่หาย ญาติจึงนำมาให้พระอาจารย์ใบฎีกาจำปีวัดจันทร์ในทำการรักษา พระอาจารย์องค์นี้อายุอ่อนกว่าหลวงน้าไหวประมาณ ๓ ปี ข้าพเจ้าเรียกท่านว่าหลวงพี่ เป็นคนที่มินิสัยใจคอค่อนข้างนักเลง พูดจาโผงผาง ออกเดินธุดงค์ทุกปี จึงคุ้นเคยกับหลวงน้าไหวแล้วพลอยคุ้นเคยกับพระเต็มไปด้วย หญิงสาวอิสลามคนที่เป็นคนไข้ของพระอาจารย์จำปีนั้น ไม่รู้ว่าใครเป็นคนพามาให้หลวงพี่จำปีรักษามาสองเดือนเศษแล้ว หลวงน้าไหวเล่าให้ฟังว่า หลวงพี่จำปีระดมอาจารย์ที่เป็นเพื่อนฝูงนักเดินธุดงค์ด้วยกันมาช่วยกันรักษา อาการป่วยของเธอยังไม่มีอะไรดีขึ้น อาการที่เป็นคือ “คุ้มดีคุ้มร้าย” ยามดีก็ทำงานได้เป็นปกติ ยามร้ายก็ปวดหัวซึมเซาทำท่าจะตายเอาเสียให้ได้ ผลการวินิจฉัยของอาจารย์ไสยศาสตร์ทุกอาจารย์ลงความเห็นว่ าเธอถูกกระทำคุณไสย มีผีอยู่ในร่างกายของเธอ เป็นผีร้ายที่ไล่อย่างไรก็ไม่ออก
วันหนึ่งข้าพเจ้าตามคำชักชวนหลวงน้าไหวไปร่วมขบวนการขับผี เห็นรูปร่างหน้าคนไข้แล้วใจหนุ่มของข้าพเจ้าก็อดเร่าร้อนด้วยเพลิงสิเนหาไม่ได้ ผิวเนื้อ หน้าตา ทรวดทรงองค์เอวของสาวอิสลามคนนั้นเป็นที่ต้องตาถูกใจมาก ข้าพเจ้าชอบนัยน์ตาแขกไหนแต่ไรมาแล้วนี่ครับ เห็นเธอนั่งสงบเสงี่ยมไม่ปรากฏอาการป่วยเลย ไม่อยากเชื่อว่าเป็นคนป่วยไข้ทางไสยศาสตร์ที่มีผีสิงอยู่ในร่างกาย
วันนั้นมีอาจารย์มาชุมนุมร่วมกันขับไล่ผีให้ออกจากร่าง “สาวแขก” ๕ องค์ นับพระเต็มด้วยเป็น ๖ องค์ หลวงพี่จำปีกล่าวในขณะฉันอาหารเพลว่า วันนี้ต้องไล่ผีร้ายออกจากร่างสาวให้ได้ เวลาประมาณบ่ายโมงเศษ หลวงพี่จำปีนำคณะอาจารย์ทำพิธีขับไล่ผีในร่างสาว เริ่มทำน้ำมนต์ ข้างบาตรน้ำมนต์มีพานใส่ด้ายสายสิญจน์ มีดหมอ หวายลงอักขระขอม ไข่ไก่สด หม้อดินขนาดเล็ก สาวผู้เป็นคนไข้นั่งเท้าแขนลอยหน้าดูพระอาจารย์ ๕ องค์ที่นั่งล้อมบาตรน้ำมนต์และอุปกรณ์ไล่ผีร่วมกันสวดมนต์คาถาปลุกเสกน้ำและอุปกรณ์โดยมีข้าพเจ้านั่งอยู่ใกล้ ๆ เมื่อเสกเป่าน้ำและอุปกรณ์เสร็จแล้ว หลวงพี่จำปีนำขันน้ำมนต์ออกไปตั้งที่ระเบียงกุฏิ พยักหน้าเรียกคนไข้สาวพร้อมส่งเสียงห้วน ๆ
“ มานี่ “ “จะทำไมเหรอ” เธอลอยหน้าถาม
“มา จะอาบน้ำให้” “เอ้า ..อาบก็อาบ”
“นั่งตรงนี้ หันหน้าไปทางตะวันออก เหยียดเท้าทั้งสองไปข้างหน้า”
การขับไล่ผีออกจากร่างสาวเริ่มขึ้นเมื่อเธอนั่งเข้าที่ตามคำสั่งเรียบร้อยแล้ว หลวงพี่จำปีตักน้ำมนต์ในบาตรเติมลงในถังน้ำที่เตรียมไว้แล้ว เริ่มราดรดน้ำมนต์ลงบนศีรษะและร่างกายของเธอ เธอก็แสดงอาการสยิวส่งเสียงร้อง “ยื้ยย์” ทุกครั้งที่ถูกน้ำมนต์รดราด
“กลัวมั้ย” หลวงพี่ถามในขณะรดน้ำมนต์และคนไข้มีอาการสั่น “ไม่กลัว กลัวทำไม” หล่อนตอบเสียงห้วน ๆ
“ไอ้นี่ล่ะกลัวมั้ย” หลวงพี่หยิบมีดหมอในพานมาจี้ที่ศีรษะเธอ “ไม่กลัว กลัวทำไม” หล่อนตอบคำเดิม
“อันนี้ล่ะกลัวมั้ย” หลวงพี่หยิบหวายลงอักขระขอมในพานมาพาดคอเธอ “โอ๊ย...กลัวแล้ว..มึงจะทำไมกู..” หล่อนร้องแสดงอาการเจ็บปวดและโกรธ
“กลัวก็ออกไปเร็ว ๆ ไม่ออกไปจะตีให้ตายเลย” หลวงพี่เอาหวายนั้นจี้ไปตามตัว พร้อมพูดขู่ขับไล่ “โอ๊ย...กลัวแล้ว กูออกไปไม่ได้ มึงจะให้กูออกทางไหนเล่า”
หลวงพี่จำปีหยิบไข่ไก่ในพานกับสายสิญจน์มา เอาสายสิญจน์ข้างหนึ่งพาดคอเธอ อีกข้างหนึ่งพันรอบไขไก่ แล้วหลับตาเสกคาถาบริกรรม เรียกวิญญาณร้ายในร่างสาวนั้นออกและเข้าอยู่ในฟองไข่
“โอย....กลัวแล้ว....อย่าทำกู..ชิบผาย..มึงจะให้กูออกทางไหน”
ผีในร่างนั้นร้องครวญครางสลับคำค่าทอเสียงดังบ้างเบาบ้าง ข้าพเจ้าฟังเสียงและดูอาการกิริยาของเธอแล้วรู้สึกว่าไม่เป็นการเสแสร้งแต่งจริตมารยา
พระอาจารย์ทั้งหลายรวมทั้งหลวงน้าไหว เวียนกันราดรดน้ำมนต์ ร่างสาวได้แต่ทำตัวสยิวแล้วหัวเราะฮิ ๆ บอกว่าเย็นสบายดี แต่พอพระอาจารย์องค์ใดหยิบหวายมาจี้ตามตัวเธอก็ร้องโอย กลัวแล้ว เป็นเรื่องแปลกที่ประจักษ์แก่ตาคือ ข้าพเจ้าลองเอาหวายนั้นมาจี้บ้าง เธอก็ร้องว่ากลัวแล้ว ๆ และแลเห็นเหมือนสิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ใต้ผิวหนังเธอ พอเอาหวายจี้ท่อนแขนก็จะมีก้อนเนื้อนูนวิ่งจากบนลงล่างแล้วหายไป จี้หัวเข่าก็วิ่งลงไปถึงข้อเท้าแล้วหายไป ในขณะที่ลูกหนูวิ่งนั้นเธอก็ร้อง “กลัวแล้ว ออกไปไม่ได้”
ข้าพเจ้าคิดถึงตำราว่าด้วยการฝังรูปฝังรอยจึงเสนอความเห็นว่า ผีตัวนี้คงจะถูกผูกหุ่นด้วยยันต์เกราะเพชร ใส่กล่องเหล็กฝังดินตามตำรา “ฝังรูปฝังรอย” เป็นแน่ ทุกท่านเห็นด้วย หลวงพี่จำปีกล่าวว่า คนทำคุณไสยนี้มันคงต้องเอาขี้ผึ้งผสมผงกระดูกผีปั้นเป็นหุ่นแล้วเอาสายสิญจน์พัน ภาษาไสยเรียกว่า “ใส่เกราะ” เพื่อป้องกันการขับไล่ผีออกจากร่างคนที่ถูกกระทำ ต้องค้นหาที่ฝังหุ่นนั้นให้เจอแล้วขุดขึ้นมาทำลายเสียจึงจะแก้ได้
วันนั้นพระอาจารย์ทั้งหลายไม่สามารถขับไล่ผีออกจากร่างสาวได้ ฝ่ายขับไล่อ่อนเพลีย ผู้ถูกขับไล่ก็อ่อนเพลีย จึงพักรบไว้ก่อน โดยฝ่ายขับไล่จะหาผู้ที่ชำนาญในการนั่งทางใน ให้ดูว่าคนทำคุณไสยนี้ฝังรูปฝังรอยไว้ที่ใด เพื่อจะได้ไปขุดทำลายเสีย
อีกหลายวันต่อมา ผู้เชี่ยวชาญการนั่งทางในตรวจพบตำแหน่งที่คนทำฝังรูปฝังรอยแล้ว หลังจากตรวจอาการและซักถามสาวเจ้าจึงทราบว่า เธอเคยไปเมืองสงขลา ถูกหมอผีในจังหวัดนั้นเอากระดูกชายอิสลามที่ตายไปแล้วมาป่นบดละเอียดใส่อาหารให้เธอกินส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งผสมขี้ผึ่งปั้นเป็นหุ่นชายหญิงกอดกัน เอาด้ายตราสังผูกข้อมือผูกข้อเท้าใส่กล่องเหล็กเสกเป่าผนึกแน่น แล้วฝังไว้ใต้ต้นไทรทางทิศตะวันตก สถานที่นี้อยู่ตรงเขตติดต่อหาดใหญ่ สงขลา จะต้องไปขุดเอาหีบเหล็กนั้นขึ้นมาทำลายหุ่นขี้ผึ้งเสียก่อนจึงจะไล่ผีในร่างนี้ออกได้
เรื่องก็เป็นดังที่อาจารย์ทางในนั้นกล่าว หลังจากไปค้นหารูปรอยที่ฝังนั้นพบ ขุดขึ้นมาทำลายแล้ว หลวงพี่จำปีก็เรียกผีในร่างสาวออกจากร่างเข้าอยู่ในฟองไข่ไก่ แล้วถ่วงน้ำไป หญิงสาวคนนั้นก็หายป่วยเป็นปกติในที่สุด. /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, ชลนา ทิชากร, ลายเมฆ, ข้าวหอม, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฝาตุ่ม, สายน้ำ, กรกันต์, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๖๔ - “ปลัดขิก เครื่องรางของขลัง”
คำว่า “ปลัด” ในคำให้การต่อไปนี้ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชประจำกระทรวง ประจำจังหวัด อำเภอ และพระฐานานุกรมแต่อย่างใด หากว่าหมายถึงวัตถุแกะสลักเป็นรูปจำลองอวัยวะเพศชาย ที่เรียกชื่อเต็ม ๆ ว่า “ปลัดขิก” หรือ ”ไอ้ขิก” และ “ขุนเพ็ด” เป็นเครื่องรางของขลังทางไสยศาสตร์ชนิดหนึ่ง ส่วนมากจะทำด้วยไม้มงคลเช่น คูนตายพราย ราชพฤกษ์ตายพราย มะยมตายพราย เขาควาย หิน ดินเผา กัลปังหา เป็นต้น สำหรับกัลปังหาเป็นของหายาก จึงมีจำนวนน้อย เท่าที่รู้เห็นมาก็เป็นของหลวงพ่ออี๋แห่งวัดสัตหีบ จังหวัดชลบุรีนั่นแหละ
มีข้อที่สังเกตตั้งไว้ว่า ถ้าใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องรางของขลังแล้วมักจะเรียกกันว่า “ปลัดขิก” หากไม่เป็นเครื่องรางของขลังก็มักจะเรียกกันว่า “ไอ้ขิก” ส่วนที่ทำเป็นอันหรือตัวใหญ่ ๆ ไว้ตามศาลเจ้านั้นจะเรียกกันว่า “ขุนเพ็ด” บ้าง ดอกไม้เจ้าแม่บ้าง เจ้าแม่ที่เฮี้ยน ๆ ส่วนมากจะชอบให้ลูกช้าง (คือคนที่เคารพนับถือ) บูชาด้วย “ขุนเพ็ด” แทนดอกไม้ จึงมักจะเห็นรูปจำลองอวัยวะเพศชายตั้งวางเกะกะอยู่ตามศาลเจ้าแม่ทั้งหลาย
ทำไมนักไสยศาสตร์จึงถือว่ารูปจำลองอวัยวะเพศชายเป็นเครื่องรางของขลัง เป็นปัญหาที่ตอบให้รวบรัดชัดเจนได้ยาก ผู้รู้บางท่านอธิบายว่า “ปลัดขิก” วิวัฒนาการมาจาก “พระศิวลึงค์” โดยความเชื่อของคนในชมพูทวีป (มีอินเดียเป็นศูนย์กลาง) ว่า พระศิวะเป็นเทพเจ้าผู้มีมหิทธานุภาพยิ่ง เป็นผู้สร้างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในโลก มีผู้เคารพนับถือพระศิวะมาก และได้สร้างจำลองอวัยวะเพศของพระศิวะซึ่งเรียกกันว่า “ศิวลึงค์” ไว้เป็นที่เคารพสักการบูชาแทนองค์พระศิวะผู้เป็นเจ้า คนในสมัยนั้นไม่นิยมปั้นรูปตัวบุคคลที่คนเคารพนับถือ มักจะจำลองอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งบุคคลที่เคารพนับถือนั้น เช่น รอยเท้า และอวัยวะเพศ มีรอยเท้าพระราม รอยพระพุทธบาท ศิวลึงค์ และ พระโยนีแห่งอุมาเทวี เป็นต้น
ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลราม หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ มีพระศิวลึงค์แกะสลักด้วยหินแท่งใหญ่ตั้งโด่ชี้ฟ้าอยูในบริเวณเขตพุทธาวาส ๑ อัน (หรือจะเรียกว่าตัว?) พระศิวลึงค์หรือปลัดขิกใหญ่อันนี้เขาว่ามีความขลังศักดิ์สิทธิ์นัก สตรีที่ไม่มีลูกอยากได้ลูก แอบเข้าไปบนบานอ้อนวอนขอลูกจากท่านศิวลึงค์แล้วมักได้สมปรารถนา มีบางนางใจกล้าจนถึงขนาดปีนขึ้นไปนั่งคร่อมบนหัวท่านปลัด นัยว่าเพื่อให้ท่านเสกเป่าลูกเข้าท้องนาง เขาว่าสมความปรารถนาไปหลายรายเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้กระมังจึงปรากฏว่ามีคนเอาทองคำเปลวไปปิดองค์ท่าน และเอาผ้าแพรเยื่อไม้หลายสีไปผูกคล้ององค์ท่านเต็มไปหมด
สมัยเป็นเด็กและเป็นสามเณร ข้าพเจ้าได้เห็นได้ฟังเรื่องปลัดขิก และประวัติปลัดขิกของอาจารย์วัดหนึ่งในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านทำด้วยหินมีขนาดเท่าหัวแม่มือ เขาเล่าว่าตัวปลัดขิกของพระอาจารย์ท่านนี้อยู่ในสระน้ำหน้าโบสถ์ ใครอยากได้ต้องเอาเบ็ดไปนั่งตกในสระน้ำ ปลัดขิกจะกินเบ็ดเหมือนปลา พอวัดติดเบ็ดขึ้นมาพ้นน้ำแล้วปลาจะกลายเป็นปลัดขิก แต่ถ้าตกลงน้ำก็จะกลายเป็นปลาเหมือนเดิม
ดังนั้นคนที่ไปตกปลัดขิกต้องใช้ความสามารถคือรวดเร็วเป็นพิเศษ พอรู้สึกว่าปลากินเบ็ดแล้วต้องรีบวัดคันเบ็ดเอาปลาขึ้นพ้นน้ำมาอยู่บนดินทันที จึงจะได้ท่านปลัดขิกสมใจ บางคนไปนั่งตกปลาปลัดขิกนานเป็นวัน ๆ ก็ไม่ได้เลยสักตัวเดียว บางคนก็ได้เป็นหลายตัว ถือว่าเป็นโชคดี คนที่ไม่ได้ก็ถือว่าอับโชคนั่นแหละ
ปลัดขิกที่นิยมใช้เป็นเครื่องรางของขลังในทางเมตตามหานิยม จังงัง แคล้วคลาด และ อยู่ยงคงกระพัน จะใช้เชือกด้ายร้อยรูทางโคนแล้วคาดเอวให้หัวห้อยลงดิน ว่ากันว่าปลัดขิกจะขลังมากขึ้นถ้าเจ้าของจะคาดเอวไปเที่ยวสำนักโสเภณี ในขณะปฏิบัติการจองเวรอันสุนทร ให้รูดองค์ปลัดไปไว้ข้างหลัง ครั้นปฏิบัติกามกิจเสร็จแล้วให้รีบรูดกลับมาไว้ข้างหน้าให้องค์ท่านปลัดขิกได้สัมผัสอวยวะเพศหญิงนางนั้น หรือแม้จะมีเพศสัมพันธ์กับหญิงใด ๆ ก็ขอให้เอาปลัดขิกไปร่วมด้วย จะเพิ่มความขลังในทางเมตตามหานิยมมากขึ้นเป็นทวีคูณ ไม่ทราบเหมือนกันว่าความดังกล่าวนี้เท็จจริงประการใด ข้าพเจ้าไม่อยากเชื่อว่าปลัดขิกท่านจะพิเรนทร์พิลึกพิลั่นปานนั้น
เป็นเรื่องแปลกสำหรับปลัดขิกอย่างหนึ่งคือ ใครมีปลัดขิกติดตัวไปไหน ๆ แม้จะมีเสน่ห์มหานิยมก็ตาม (ถ้าขลัง) แต่มักจะเป็นที่ติเตียนนินทาของบรรดาสุนัขทั้งหลายทั่วไปเลย คือสุนัขทั้งเชื่องและดุร้ายเห็นแล้วจะพากันเห่ากรรโชกไม่ละเว้น สุนัขที่ดุร้ายบางตัววิ่งเข้าใส่เหมือนดังมันตั้งใจจะกัด แต่ก็กัดไม่ได้ บางตัววิ่งชนขาอ้างปากกัดไม่ขึ้น บางตัววิ่งเข้าถึงตัวคนที่พกพาปลัดขิกแล้วก็หยุดชะงักตรงหน้าเหมือนถูกนะจังงัง ไม่รู้เป็นไรสุนัขจึงไม่ชอบคนพกพาปลัดขิกติดตัว นี่ถ้าคนนั้นเป็นขโมยคงเข้าไปลักของใครไม่ได้ เพราะสุนัขเป็นมันจะเห่ากรรโชกให้เจ้าของทรัพย์รู้เป็นแน่
คาถาปลุกเสกปลัดขิกค่อนข้างไปทางหยาบโลน ข้าพเจ้าจำได้ไว้ ๒ บท นอกนั้นหยาบโลนเกินกว่าจะจดจำไว้ บทหนึ่งอาจารย์สุขศิษย์คนล่าสุดของหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบท่านสอนให้จำไว้ว่า “ นะหัวโต โมหัวแดง ทิ่ม ๆ แทง ๆ หัวแดงหัวโต” อีกบทหนึ่งไม่รู้เป็นของใคร มีหลายอาจารย์ท่านใช้กัน แม้หลวงพี่จำปีวัดจันทร์ในก็ใช้บทนี้ (ต้องขออภัยที่ไม่อาจนำมาเผยแผ่ตรงนี้ ด้วยเพราะถ้อยคำหวาดเสียวเหลือเกิน / ผู้โพสต์)
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเคยเข้าร่วมพิธีปลุกเสกปลัดขิกของพระอาจารย์ใบฎีกาจำปีในอุโบสถวัดจันทร์ใน ท่านเอาปลัดขิกกองสุมบนผ้าขาวหลายร้อยตัวตรงหน้าท่าน ในมือจับปลัดขิกมือละ ๓ ตัว นั่งขัดสมาธิหลับตา ภาวนาทำปากขมุบขมิบ แล้วมีเสียงดังขึ้นพึมพำเบา ๆ และดังขึ้นเรื่อย ๆ ร่างที่นั่งขัดสมาธิเริ่มสั่นเทิ้มพร้องเสียงดัง.... เมื่อถึงขั้นสุดท้ายหรือสุดยอด หลวงพี่เอามือทั้งสองที่ถือกำปลัดขิกนั้นชนกัน ภาวนาย้ำคำว่า มึงตำกูกูตำมึง ๆๆๆๆ ด้วยเสียงอันดังและหัวปลัดขิกนั้นชนกันแรง ๆ สุดท้ายท่านลุกพรวดขึ้นกระโดดเต้นหยองแหยงพร้อมกับเอาหัวปลัดขิกชนกันสลับขึ้นลง จนเหนื่อยหรือความขลังถึงสุดขีดแล้วก็ไม่ทราบ ท่านนั่งลงภาวนาเอาหัวปลัดขิกชนกันเสียงดังเป๊ก เป็นอันเสร็จพิธีปลุกเสก ข้าพเจ้านั่งดูพฤติกรรมนั้นแล้วอดหัวเราะไม่ได้ แต่ก็ไม่วิพากย์วิจารณ์อะไรให้เป็นที่ระคายเคืองท่านผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ต้นฝ้าย, ลายเมฆ, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช, เป็น อยู่ คือ, ฝาตุ่ม, เฒ่าธุลี, กรกันต์, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 หลวงพ่ออี๋-วัดสัตหีบ เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๖๕ - ในบรรดาปลัดขิกเห็นจะหาโด่งเท่าของหลวงพ่ออี๋ (พระครูวรเวทมุนี) วัดสัตหีบได้ยาก ส่วนใหญ่ปลัดขิกของท่านทำด้วยกัลปังหาสีดำ มีเรื่องเล่าถึงอภิหารปลัดขิกของท่านเหมือนนิยายว่า มีหญิงคนหนึ่งไปกราบท่านด้วยความเคารพ ตอนกราบลาท่านมอบกระดาษห่อวัตถุมงคลให้ห่อหนึ่ง หญิงคนนั้นรับแล้วถือมาลงเรือเมล์กลับบ้านถึงกลางทางนึกอยากรู้ว่าของที่หลวงให้มานั้นเป็นอะไร คลี่ห่อกระดาษออกแล้วเห็นปลัดขิกก็ตกใจและรังเกียจจึงโยนทิ้งน้ำไป ปลัดขิกนั้นได้แสดงอภินิหารว่ายน้ำตามเรือไปติด ๆ นางและใคร ๆ ในเรือเห็นเช่นนั้นก็ต่างแลตะลึง หายจากตกตะลึงแล้วนางก็รีบคว้าจับปลัดขิกนั้นมาเทินหัวด้วยความเคารพเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง
หลวงพ่ออี๋ (ขื่อน่ารัก) มรณภาพไปแล้ว ในวงการทหารเรือและชาวบ้านชาวเมืองในแถบทะเลตะวันออกและใกล้เคียงยังเคารพนับถือท่านอยู่ไม่เสื่อมคลาย ลูกศิษย์ของหลวงพ่ออี๋ที่เป็นพระอาจารย์มีชื่อเสียงที่คนเคารพนับถือกันว่า เก่งในการทำและปลุกเสกปลัดขิก เช่น หลวงพ่อหิน หลวงพ่อหอม อีกหลายท่านในแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก ข้าพเจ้าได้รู้จักคุ้นเคยพระลูกศิษย์หลวงพ่ออี๋องค์หนึ่งชื่อทองสุข หนุนภักดี ท่านมีวิทยาคุณสูงไม่น้อย แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก เรารักกันเพราะท่านไปวัดรางเนื้อตาย (มฤคทายวัน) วัดที่ข้าพเจ้าเคยอยู่และบวชเป็นพระที่นั่น กลับไปกราบเยี่ยมหลวงพ่อแปลก พบครั้งแรกเห็นว่าท่านเป็นพระที่มีอะไรแปลก ๆ ในความคิดของข้าพเจ้าว่าท่านเป็นคนประเภทที่เรียกว่า ไม่ค่อยเต็มเต็งนัก
หลวงพ่อทองสุขเป็นคนร่างเล็ก ท่านบอกเล่าประวัติให้ฟังว่าเป็นลูกคนที่ ๓ ของคุณพระในตระกูลหนุนภักดี เป็นน้องคนละแม่ของ พล.ต.ท.ฉัตร หนุนภักดี เดิมท่านรับราชการเป็นทหารเรือ มียศเป็นนายเรือโท เป็นศิษย์หลวงพ่ออี๋เช่นเดียวกับทหารเรือทั่วไป บวชหลังจากที่ออกศึกรบกันแล้วถูกยิงจนไส้ขาด รอดตายมาได้เพราะบารมีหลวงพ่ออี๋ เมื่อรักษาตัวจนหายดีแล้ว จึงลาออกจากราชการทหาร บวชอยู่กับหลวงพ่ออุปัฌาย์อี๋วัดสัตหีบ เล่าเรียนวิชาอาคมจากหลวงพ่ออี๋จนหมดสิ้น จากนั้นออกเดินธุดงค์ขึ้นเหนือลงใต้ไปทั่วประเทศไทย ยามว่างจากธุดงค์ก็ท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ จนมาพบหลวงพ่อแปลกวัดรางเนื้อตาย แล้วอัธยาศัยต้องกัน จึงอยู่ช่วยงานหลวงพ่อแปลกหาเงินสร้างโรงอุโบสถของวัดที่ยังไม่มี
ท่านบอกว่าหลวงพ่ออี๋ก่อนมรณภาพไม่สมบัติอะไรมอบให้เลย มีแต่ปลัดขิกตัวใหญ่เท่าแขนเด็ก ทำด้วยไม้คูนตายพรายตัวเดียว ท่านร้อยสายประคดเอวติดตัวไว้เป็นของรักของหวงที่สุด
ปลัดขิกหลวงพ่อทองสุขแสดงอนิหารให้ข้าพเจ้าเห็นหลายครั้ง กล่าวคือ คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยมาหา ท่านวินิจฉัยว่าถูกกระทำคุณไสย จึงทำน้ำมนต์โดยใช้ปลัดขิกตัวใหญ่นั้นใส่ลงไปในถังน้ำมนต์ ปลัดขิกนั้นมีอาการเหมือนปลาช่อน “ดำผุดดำว่าย” ในน้ำมนต์ขณะที่ท่านกล่าวคาถาบริกรรมพึมพำ ๆ เสร็จแล้วตักน้ำมนต์ราดรดคนไข้ ไล่ผีจากคุณไสยออกไปจากร่างคนไข้นั้นได้อย่างง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ
อีกอย่างหนึ่งปลัดขิกบวกคาถาของหลวงพ่อทองสุข ช่วยให้หญิงท้องแก่ใกล้คลอดดื่มกินแล้วจะคลอดบุตรได้ง่ายมาก จึงมีหญิงท้องแก่มาขอน้ำมนต์นี้กันมาก หลวงพ่อท่านจะทำน้ำมนต์ใส่โอ่งไว้สองโอ่ง โอ่งหนึ่งสำหรับหญิงท้องแก่ อีกโอ่งหนึ่งสำหรับคนทั่วไปดื่มรักษาโรคนานา
ท่านปลัดขิกใหญ่ของหลวงพ่อทองสุกช่างทะเล้นนัก เวลามีแขกสตรีมาหานั่งสนทนากับหลวงพ่อ ท่านจะจับเลื่อนคุณปลัดรูดไปไว้ข้างหลัง เมื่อคุยไป ๆ ปลัดตัวนั้นก็เลื่อนมาข้างหน้าแล้วโผล่หัวเสนอหน้าให้แขกเหรื่อเห็น ท่านต้องรูดกลับไปข้างหลังเป็นหลายครั้ง สภาพของหลวงพ่อทองสุขยามอยู่ในวัดท่านจะแต่งตัวตามสบาย ไม่ชอบห่มจีวรรับแขกเหมือนพระอาจารย์ทั่วไป ท่านใส่อังสะลังกาตัวเดียว อย่างดีก็เอาจีวรจีบแล้วพาดบ่าไว้เท่านั้น ปลัดขิกจึงมีโอกาสโผล่หน้าให้ใคร ๆ เห็นเสมอ บางวันท่านนอนหลับ (จำวัด) ข้าพเจ้าเอาแป้งไปทาหัวปลัดขิกของท่านเล่น เมื่อถูกแป้งทาหัวท่านปลัดขิกก็ผงกหัวหงึกหงัก ๆ ดูเหมือนกิ้งก่า สนุกดี
แปลก ..บางครั้งมีคนเอาน้ำใส่ขันมาขอให้หลวงพ่อทองสุขทำน้ำมนต์ให้เพื่อรักษาโรคปวดหัวตัวร้อน หรือเพื่ออาบเป็นมงคลไล่เสนียดจัญไร ท่านนั่งคุยจ้อเรื่องโน้นเรื่องนี้ไม่เสกเป่าทำน้ำมนต์ให้สักที จนแขกแสดงอาการกะวนกระวายเพราะรอนาน พระเต็มกล่าวเตือนให้ทำน้ำมนต์ ท่านกลับบอกว่ากำลังทำอยู่ แล้วก็เป่าพรวดร้องว่า เอ้า เสร็จแล้ว เอาไปได้ บางทีท่านจับขันน้ำมนต์แล้วว่าคาถา “อิติปิ โส ภะคะวา...ดัง ๆ ไปจนจบ บางทีก็ว่าบทกรวดน้ำ อิมินา....บางทีว่าคำบังสุกุล อนิจจา.... ทำน้ำมนต์ไม่น่าขลัง แต่ก็ขลัง ข้าพเจ้าเคยถามหลังจากแขกเอาน้ำมนต์ไปแล้วว่า ทำไมจึงทำนำมนต์ด้วยบทกรวดน้ำ บังสุกุลอย่างนั้น ท่านตอบว่า
เรากรวดน้ำให้เขาแล้ว เขาก็สิ้นเวรสิ้นกรรมไป ส่วนบทบังสุกุลท่านตอบว่า เราพิจารณาปลงเสียแล้วมันก็แล้วกันไป เวรภัยก็จะไม่มี นี่ก็แปลกดีนะ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เป็น อยู่ คือ, ต้นฝ้าย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, หยาดฟ้า, คิดถึงเสมอ, ฝาตุ่ม, เฒ่าธุลี, กรกันต์, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๖๖ - ความประหลาดของหลวงพ่อทองสุขมิใช่เพียงที่กล่าวเท่านั้น ข้าพเจ้ามาทราบภายหลังว่า ท่านรับปากหลวงพ่อแปลกหาเงินสร้างโรงอุโบสถวัดมฤคทายวันให้สำเร็จเรียบร้อย อุโบสถของวัดนี้มีใช้ทำสังฆกรรมได้แล้วก็จริง แต่โรงอุโบสถใช้ไม้ทำฝาพอกันแดดลมฝนได้เท่านั้น หลวงพ่อแปลกต้องการทำผนังก่ออิฐถือปูนเช่นโรงอุโบสถของวัดทั่วไป หลวงพ่อทองสุขรับปากว่าจะหาเงินมาทำต่อให้ดังความประสงค์ของหลวงพ่อแปลก จึงเริ่มทำการรักษาคนไข้ตามวิธีการของท่าน คือทำน้ำมนต์รักษาโรค ตรวจโรคด้วยการนั่งทางใน ให้คนไข้นั่งหันหลังให้พนมมือเหยียดสองเท้าตรง หลวงพ่อท่านมีกระดาษดินสอ ในกระดาษนั้นวาดภาพลายเส้นเป็นโครงร่างคน เมื่อคนไข้นั่งเข้าที่เรียบร้อยแล้ว ท่านก็นั่งบริกรรมเพ่งดูร่างคนไข้นั้น พบเป็นบาดเจ็บด้วยโรคอะไรตรงไหนก็เอาดินสอทำเป็นจุดนั้นตามภาพโครงร่างในกระดาษ ตรวจเสร็จแล้วถามว่ามีอาการอย่างนี้อย่างนั้นไหม เมื่อคนไข้รับว่าใช่ ก็เขียนใบสั่งยาให้ไปทำกิน ยาทุกขนานต้องใส่น้ำตาล บางทีก็สั่งให้กินนั่นกินนี่อย่างง่าย ๆ เช่น เป๊ปซี่ น้ำส้ม น้ำหวาน ไข่ไก่ ผักต่าง ๆ ดูแล้วไม่น่าจะเป็นยารักษาโรคได้ แต่คนไข้กินตามสั่งแล้วโรคหายอย่างไม่น่าเชื่อ ค่าตรวจรักษาคิดเพียงคนละ ๕ บาท หลังจากเขากินยาตามสั่งหายจากโรคแล้วก็นำเงินมาถวายสมทบทุนสร้างโรงอุโบสถ จนหลวงพ่อแปลกสร้างโบสถ์ไปได้ครึ่งหลังในเวลาเพียง ๓ เดือนเท่านั้น
ออกพรรษาและเป็นช่วงปิดภาคการเรียนบาลีแล้ว ปีนั้นดูเหมือนจะเป็น พ.ศ. ๒๕๐๔ ข้าพเจ้าเดินทางออกจากวัดจันทร์นอกไปวัดมฤคทายวัน ไปเข้าร่วมขบวนการหาเงินกับหลวงพ่อทองสุข (เพื่อสร้างโรงอุโบสถหลังที่ให้กำเนิดพระเต็ม) ด้วยความอยากรู้อยากเห็นตามประสาคนวัยหนุ่มนั่นแหละครับ
ข่าวการรักษาโรคแบบประหลาดของหลวงพ่อทองสุขแพร่กระจายไปไกลถึงอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี จึงมีทายกวัดหนึ่ง (จำได้เลา ๆ ว่าชื่อหัวป้อม) มาขอนิมนต์ไปตั้งกองรักษาโรคที่วัดนั้น อยู่ในเขต อ. ศรีประจันต์ ติดต่อกับอำเภอดอนเจดีย์ พระเต็มทำหน้าที่เป็นเสมียนวาดหุ่น (โครงร่างคน) และจดตัวยาตามคำบอกหลวงพ่อทองสุข การวาดหุ่นคนก็วาดอย่างง่าย ๆ เอาดินสอวาดส่วนหัวเป็นวงกลมลากเส้นคอเส้นเดียว ส่วนลำตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขีดเส้นแยกสองแขนสองขา เท่านี้ก็เป็นหุ่นที่ใช้ได้แล้ว เมื่อมีคนไข้มาให้หลวงพ่อตรวจ ก็เขียนชื่อนามสกุลคนไข้นั้นลงในแผ่นกระดาษที่มีรูปหุ่นให้ถือไว้ รอคิวเข้าตรวจต่อไป ครั้นคนไข้นั่งพนมมือเหยียดเท้าตรงหันหลังให้หลวงพ่อทองสุขแล้ว ท่านนั่งหลับตาบริกรรมด้วยคาบลม (เหมือนเพ่งกสิณ) เห็นพิรุธในร่างกายนั้นตรงใด ตรงไหนพิการเจ็บป่วย ก็จะเอาดินสอก๊อปปี้สักหุ่นตรงนั้นเป็นจุดเครื่องหมาย ตรวจเสร็จก็จะสั่งให้พระเต็มจดบอกตัวยาให้คนไข้ไปหาเอาตามพื้นบ้าน หรือซื้อตามร้านค้า ปรุงรับประทานตามกำหนด ยาทุกขนานของท่านต้องใส่น้ำตาลทรายแดงบ้าง น้ำตาลทรายกรวดบ้าง น้ำตาลทรายขาวบ้าง น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลปึกบ้าง ท่านว่าที่ต้องใส่น้ำตาลก็เพื่อทำให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น บางโรคก็เป็นยาที่ทำได้ง่าย เช่นสั่งให้รับประทานถั่วเขียวต้มน้ำตาล ถั่วดำต้มน้ำตาล เป็นต้น คนไข้กินยาตามคำสั่งท่านแล้วส่วนมากหายเจ็บป่วยอย่างน่าอัศจรรย์
คนไข้ประเภทหนึ่งที่หลวงพ่อทองสุขรับรักษาแล้วทำความยุ่งยากวุ่นวายให้ท่านและคณะไม่น้อย คือคนสติไม่ดี (ก็คนบ้านั่นแหละ) คุ้มดีคุ้มร้าย มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผู้ชายมีน้อยและไม่ค่อยมีปัญหา คนไข้หญิงมีมากกว่าชายและมีปัญหามาก หญิงที่สติไม่ดีส่วนมากเป็นเด็กหญิงสาวรุ่น เลือดลมไม่ดีจึงทำให้สติไม่ดีไปด้วย หลวงพ่อรดน้ำมนต์ให้บ้าง ให้กินยาบ้าง อาการดีขึ้นแต่ไม่หายขาด ญาติยังไม่ให้กลับบ้าน ให้อยู่วัดใกล้หลวงพ่อเพื่อสะดวกในการรักษาดูแล จึงมีเด็กสาวเป็นคนไข้ประจำหรือคนไข้ภายในของหลวงพ่ออยู่ในวัดนั้น คนไข้เหล่านี้สติไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว ปัญหายุ่งยากจึงต้องมีขึ้นเป็นธรรมดา บางคนเหมือนเธอ “บ้าผู้ชาย” เห็นหนุ่มชาวบ้านและพระหนุ่มเณรหนุ่มแล้วทำตาหวานเยิ้ม ยิ้มยั่วยวนชวนใคร่ พูดจาพาดพิงเมถุนธรรมอย่างโจ่งแจ้ง กลางค่ำกลางคืนบางคืนนางก็เที่ยวเคาะประตูห้องนอนพระเณร กวนใจให้พระเณรหนุ่มคิดฟุ้งซ่านไปในทางอกุศลกรรม บางครั้งกวนข้าพเจ้าจนเกือบตบะแตก ถ้าไม่คิดว่าหล่อนเป็นบ้าแล้วละก็คงเอาตัวไม่รอด
มีชายคนหนึ่งอายุ ๒๐ ปีเศษ รูปร่างสูงใหญ่ ชื่อเป็งสูน เป็นลูกชาวจีน บ้านอยู่ไม่ไกลวัดนั้นนัก เขาเป็นคนสติไม่ดีมาประมาณ ๓ ปีแล้ว หลวงพ่อรดน้ำมนต์บ้างให้กินยาบ้าง อาการดีขึ้นเรื่อย ๆ เขาไม่กลับไปนอนบ้าน อยู่เป็นลูกศิษย์วัดพร้อมกับรักษาตัวไปด้วย สาเหคุการเสียสติของเขาเท่าที่แม่เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นลูกคนโตของครอบครัว จบการศึกษาแค่ชั้น ม.๓ เตี่ยซึ่งมีอาชีพขับรถบรรทุกเสียชีวิตลง เป็งสูนจึงเลิกเรียนหนังสือเพื่อดำเนินกิจการสืบแทนเตี่ย โดยจ้างคนขับรถบรรทุกขนส่งสินค้า มีเขาติดรถควบคุมดูแลทุกเที่ยว จนในที่สุดเขาเลิกจ้างคนขับรถ เป็นคนขับรถเสียเอง วันหนึ่งเขาขับรถบรรทุกสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดหนองคาย รถผ่านดงพญาเย็นเทือกเขาใหญ่ในยามค่ำคืน ถึงแถวกลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีรถชนคนนอนตายอยู่กลางถนน เขาไม่ทันสังเกตเห็นจึงขับรถทับซ้ำไป มารู้เอาตอนที่ตำรวจโคราชสกัดจับได้ ถูกตั้งข้อหาว่าขับรถชนคนตาย หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเขาเป็นโชเฟอร์ตีนผี เขาเสียใจ คิดมากจนเสียสติไปในที่สุด ข้าพเจ้าชอบคุยกับเป็งสูนในยามที่เขามีอารมณ์ดี สติสัมปชัญญะเป็นปกติ ได้ฟังประสบการณ์ในการรับจ้างบรรทุกสิ่งของไปในที่ต่าง ๆ เพลินเลย
ที่วัดนี้มีคนมีคนป่วยไข้หลายชนิดจากหลายหมู่บ้าน หลายตำบล หลายอำเภอ มาขอให้หลวงพ่อทองสุขตรวจรักษาวันละไม่น้อยกว่า ๕๐ คน บางวันมีมากถึง ๓๐๐ คน ข้าพเจ้าทำหน้าที่เสมียนเขียนชื่อคนไข้และจดชื่อตัวยาจนมือปวดเมื่อยไปทั้งแขน หลวงพ่อทองสุขหนักกว่าข้าพเจ้าเสียอีก เพราะต้องนั่งทำจิตเป็นสมาธิเพ่งดูความบกพร่องต่าง ๆ ในร่างกายคนไข้ โดยใช้ “คาบลม” คือ สูดลมหายใจเข้าแรงและยาวแล้วกลั้นลมหายใจนิ่งไว้ในสมาธิจิต เพ่งดู จึงบรรลุผล บางวันท่านคร่ำเคร่งหนักตรวจดูโรคคนไข้ทั้งวัน พอตกตอนเย็นปิดรับการตรวจรักษาแล้ว ล้มตัวนอนแผ่อย่างคนหมดเรี่ยวแรง พอฟื้นตัวขึ้นก็นั่งเอาสำลียอนหูทั้งสองข้าง เพราะหูอื้อ ฟังอะไรไม่ค่อยได้ยิน บางวันเห็นมีเลือดแดงติดสำลีออกมาอย่างชุ่มโชก ข้าพเจ้าสันนิษฐาน (คิดเอาเอง) ว่าเลือดออกในรูหูเพราะท่านใช้คาบลมและกลั้นลมหายใจมากเกินไป เส้นโลหิตฝอยในรูหูแตก เลือดไหลออกมา เป็นที่น่ากลัวและน่าสงสารไม่น้อย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฝาตุ่ม, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, เฒ่าธุลี, ต้นฝ้าย, กรกันต์, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๖๗ - พระที่อยู่ประจำในวัดนี้มีเพียง ๔ องค์ และเป็นพระหลวงตาทั้งหมด องค์ที่เป็นสมภารมีอายุประมาณ ๖๐ ปีเศษ ทุกองค์ไม่มีความรู้ด้านปริยัติธรรมเท่าที่ควร หนังสือไทยก็พออ่านออกเขียนได้เท่านั้น บางองค์อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย บทพระสูตรและปาฐะหรือบทสวดมนต์ต่าง ๆ ท่านก็ว่าได้ เพียงที่ต่อจากปากองค์อื่นไม่มากนัก เรียกว่า “พอยาไส้” คือพอจะสวดในพิธีต่าง ๆ เช่นงานศพ มีอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ มาติกา บังสกุล ส่วนสวดแจงนั้นบางองค์ว่าไม่ได้เลย บางองค์ก็พอกล้อมแกล้มพลอยเขาไป บทสวดในงานมงคลต่าง ๆ ก็ว่าได้ไม่มากนัก ข้าพเจ้าเป็นพระหนุ่มองค์เดียวที่ไปอาศัยอยู่ชั่วคราวในวัดนั้น มีฐานะเป็นพระอาคันตุกะคือพระจรที่ร่วมคณะหลวงพ่อทองสุขทำหน้าที่เลขาฯ ของหลวงพ่อ จึงเป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้านทั่วไป ใคร ๆ ก็อยากใกล้ชิดสนิทสนมด้วย รายได้ของข้าพเจ้ามีมากขึ้นไม่ใช่จากการทำหน้าที่เลขาพระหมอ เพราะเงินที่ได้จากการตรวจโรคคนไข้ (คนละ ๕ บาท) นั้น มีกรรมการวัดรางเนื้อตายที่ร่วมคณะเราเป็นคนเก็บเข้าบัญชีวัดไว้ทุกบาททุกสตางค์ไม่ตกหล่นเลย ข้าพเจ้าได้เงินเข้าย่ามจากกิจนิมนต์ต่าง ๆ บ้านใดทำบุญพิธีอะไรในละแวกบ้านตำบลนั้นก็ล้วนแต่นิมนต์พระเต็มไปเจริญพุทธมนต์ และเทศน์อานิสงส์งานบุญนั้นเสมอ เพราะข้าพเจ้าสวดมนต์เก่งอ่านคัมภีร์เทศน์คล่องเสียงดังฟังชัด คนชอบฟัง
ถ้าไม่เป็นพระภิกษุ ข้าพเจ้าคงเป็นคน “มากชู้หลายเมีย” เสียแน่เลย เพราะในยามที่อยู่วัดนั้น มีหญิงสาวหลายคนเข้ามาทำความสนิทสนมคุ้นเคย ให้เลศนัยเชิงชู้สาว ทำให้พระเต็มจิตใจไหวหวั่นไปตามธรรมดาของปุถุชน แต่ก็มิได้ล่วงละเมิดระเบียบวินัยอันใด อาจจะเป็นเพราะหญิงสาวเหล่านั้นมิใช่คู่บุญคู่กรรมของข้าพเจ้า จึงไม่มีนางใดถูกตาถูกใจให้เลือกเป็นเป็นคู่ครองเลย ราคาสินสอดในการแต่งงานของคนพื้นบ้านนั้นก็ว่ากันว่าแพงลิบลิ่วทีเดียว
มีหญิงสาวคนหนึ่ง อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้า บ้านอยู่ไม่ไกลวัดนัก รูปร่างหน้าตาอยู่ในเกณฑ์สวยงามพอใช้ กิริยามารยาทเรียบร้อยนุ่มนวลน่ารัก มีน้องสาวคนหนึ่ง สวยคม แต่ออกจะเปรี้ยวไปหน่อย คนพี่เข้าวัดทุกวันและต้องหาโอกาสสนทนากับพระเต็มทุกวัน ตอนค่ำเป็นเวลาพักผ่อนของหลวงพ่อทองสุขแล้วก็นิมนต์พระเต็มไปเที่ยวบ้านบ่อย ๆ พ่อแม่พี่น้องของเธอก็นิยมชมชอบพระเต็มมาก เพราะสนทนากันถูกอัธยาศัยดี
วันหนึ่งข้าพเจ้ารับนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ในงานพิธีมงคลสมรสที่บ้านซึ่งอยู่ทางเหนือวัด เจ้าสาวเป็นคนร่างใหญ่ผิวดำคล้ำ ทางฝ่ายเจ้าบ่าวนั้นรูปร่างเหมือนพระเอกลิเกผิวเนื้อดำพอ ๆ กับเจ้าสาวนั่นแหละ ทั้งสองฝ่ายเป็นชาวนาที่มีฐานะดีพอ ๆ กัน ขณะที่ฉันอาหารนั้น เขายกขันหมากมาตั้งกลางห้องต่อหน้าพระสงฆ์ เถ้าแก่ได้ประกาศให้ญาติทั้งสองฝ่ายทราบว่า ฝ่ายเจ้าบ่าวมอบสินสอดให้ฝ่ายเจ้าสาว มีเงินสดหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท ทองคำหนัก ๑๕ บาท แหวนเพชร ๑ วง บ้านเป็นเรือนไทยเครื่องสับฝากระดาน ๑ หลัง นา ๑๕ ไร่ เมื่อเถ้าแก่ทั้งสองฝ่ายย้ำข้อตกลงกันแล้ว ก็เปิดห่อขันหมากต่อหน้าพระสงฆ์ท่ามกลางญาติพี่น้องทั้งสองฝ่าย มอบเงินสดให้พ่อแม่เจ้าสาว เจ้าบ่าวสวมแหวนให้เจ้าสาว จากนั้นก็ร่วมกันหลังน้ำพุทธมนต์อวยพรแก่คู่บ่าวสาว เป็นเสร็จพิธี
คืนวันเดียวกันนั้นก็ไปบ้านหญิงสาวคนที่คุ้นเคยกัน พ่อแม่พี่น้องของเธอเข้าล้อมวงคุยด้วยเช่นเคย ข้าพเจ้าเล่าเรื่องที่ไปงานแต่งงานเมื่อเช้านี้ แล้ววิจารณ์ว่ารูปร่างหน้าตาเจ้าสาวไม่สมราคาสินสอดทองมั่นเลย เรียกราคาแพงอย่างนี้ออกจะโหดเกินไปนะ ถ้าเป็นฉันหากอยากได้สาวที่นี่สักคน ไปขายไร่ขายนาวัวควายหมดก็ยังได้เงินไม่พอเป็นสินสอดให้เจ้าสาวได้หรอก คนที่นี่ดูเหมือน “ขายนาแถมลูกสาว” นะ
ข้าพเจ้าสรุปคำวิพากย์ด้วยคิดว่าเป็นคำพูดเป็นตลกขบขัน ให้คนฟังนึกสนุกเท่านั้น แต่โยมผู้ชายพ่อบ้านนั้นดูเหมือนจะไม่สนุกขบขันด้วย พูดโต้ตอบด้วยสีหน้าขรึมและเวียงดังหนักแน่น
“ผมเห็นด้วยที่ท่านว่า เหมือนขายนาแถมลูกสาว ส่วนมากคนพื้นนี้เขาเรียกสินสอดกันตามฐานะ มีนาให้ ๑๐ ไร่ จะเรียกเงินสินสอด ๑ แสนบาทขึ้นไป มีบางรายที่สมบัติมากมาย เรียกสินสอดกันเป็นสิบล้านเลย แต่สำหรับผมแล้วไม่เคยคิดทำอย่างนั้น ลูกสาวผมมี ๒ คน ถ้าเขารักใครชอบใคร และใครคนที่รักลูกผมจริงแล้วมาสู่ขอ ผมยกให้โดยไม่คิดค่าสินสอดทองมั่นใด ๆ เลยแม้สักสตางค์แดงเดียว จะจัดงานแต่งให้เสียอีกด้วยซ้ำไป”
คำตอบโต้ของโยมผู้ชายดังกล่าวทำให้คนในวงสนทนาพากันหัวเราะฮา.... ลูกสาวคนโตยกมือปิดหน้าลุกขึ้นวิ่งลงบันไดบ้านไปด้วยความเขินอาย พระเต็มก็หัวเราะแหะ ๆ พูดอะไรไม่ออก แล้วลากลับวัดในที่สุด
รุ่งขึ้นเช้าสาวเจ้าคนที่ใคร ๆ ก็มองเห็นว่าชอบพระเต็มนั้น นำอาหารไปถวายพระที่วัดตามปกติ หลังจากพระฉันอาหารเช้าเสร็จและอนุโมทนาแล้ว เธอจัดเก็บปิ่นโตเข้าเถาเตรียมกลับบ้าน ก่อนจากเธอพูดกับพระเต็มเบา ๆ ว่า “เมื่อคืนนี้พ่อพูดอะไรก็ไม่รู้”
เธอไม่รู้หรอกว่าคำพูดของพ่อเธอเมื่อคืนนี้ ทำให้พระเต็มนอนไม่หลับทั้งคืน คิดฟุ้งซ่านวุ่นวายใจไปหมด ความหมายที่โยมผู้ชายพูดว่า จะยกลูกสาวให้คนที่ลูกสาวรักและเขารักลูกสาวนั้น ใคร ๆ ฟังก็รู้ความหมายว่าเขาจะยกลูกสาวให้พระเต็มฟรี ๆ คนหนุ่มวัย ๒๓ ปีเศษอย่างพระเต็ม จะไม่ให้คิดมากอย่างได้เล่า
ข้าพเจ้ายังไม่เคยรักผู้หญิงอย่างจริงจัง แม้ก่อนบวชเป็นพระจะเคยมีเพศสัมพันธ์กับหญิงมาบ้างแล้วก็ตามทีเถิด แต่มันเป็นไปด้วยความใคร่ตามธรรมชาติระบายอารมณ์ใคร่ตามกิเลสกามเท่านั้น หาใช่ความรักไม่ ความรักกับความใคร่ในความคิดของข้าพเจ้าแยกออกเป็นคนละอย่างกัน รักคือความเมตตาปรารถนาจะให้เขาเป็นสุข ใคร่คือความกำหนัดปรารถนาจะเอาเขามาเป็นของตน
แน่ละ “ลำเจียก” หญิงสาวงามแห่งศรีประจันต์คนที่พ่อของเธอพูดให้รู้เป็นนัย ๆ ว่า ยินดียกให้ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้รักเธอ แต่นิยมชมชอบเธอที่เป็นคนมีน้ำใจงามเท่านั้น /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เฒ่าธุลี, ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, กรกันต์, ฝาตุ่ม, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๖๘ - “เมื่อถูกสาวลาวจับตัว”
หลวงพ่อทองสุขปักหลักตรวจรักษาโรคภัยไข้เจ็บนานาอยู่ที่วัดกลางทุ่งในชนบทอำเภอศรีประจันต์นานถึง ๓ เดือนเศษ กิติศัพท์ขจรไกลไปถึงอำเภอหันคาจังหวัดชัยนาท มีทายกคณะกรรมการวัดเนินขามพากันมาขอร้องอ้อนวอนให้ไปโปรดชาวเนินขามบ้าง หลวงพ่อทองสุขรับปากและนัดวันให้มารับไป เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการวัดเนินขามเอารถจิ๊บวิลลี่ ๓ คันมารับ หลวงพ่อให้พระเต็มเดินทางล่วงหน้าไปองค์เดียวก่อนโดยรถจิ๊บคันเดียว ขนสัมภาระไปด้วย วันรุ่งขึ้นรถจิ๊บอีก ๒ คันก็พาหลวงพ่อและคณะตามไป
ทางไปเนินขามเป็นไปได้ด้วยความลำบากไม่น้อย รถออกจากศรีประจันต์ผ่านสามชุก เดิมบางนางบวช หันคา จนถึงเนินขาม ถนนเป็นคันคลอง บางตอนขาดเป็นห้วง ๆ รถวิ่งลำบากมาก เมื่อหมดถนนคันคลอง รถผ่านทุ่งนาป่าละเมาะตามทางเกวียน บางตอนชนติดคันนา คนขับดับเครื่งยนต์ ไปไม่ได้ต้องลงจากรถช่วยกันยกรถข้ามคันนา แล้วติดเครื่องรถแล่นต่อไป เพราะออกเดินทางจากศรีประจันต์เป็นเวลาเย็นแล้ว พอเลยสามชุกก็มืดค่ำ ดีที่เป็นคืนข้างขึ้นเดือนหงาย พวกเราสนุกหวาดเสียวกับการเดินทางมาก รถถูกขับให้แล่นและถูกยกข้ามคันนาจนไปถึงวัดเนินขามเป็นเวลาเกือบเที่ยงคืน พอเข้าวัด แทนที่รถจะจอดตรงหน้าบันไดกุฏิ เจ้าคนขับกลับปล่อยให้รถแล่นเอื่อยไป (ปล่อยเกียร์ว่าง) ชนต้นขนุนข้างกุฏิ พระเต็มถามว่าทำไมแกไม่เบรก เขาตอบหน้าตาเฉยว่า รถไม่มีเบรก ฟังคำตอบแล้วใจหายวาบ คิดว่าเรารอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์แท้ ๆ
ที่นี่วัดเนินขาม เป็นวัดประจำหมู่บ้านเนินขาม ตำบลเนินขาม อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท หมู่บ้านใหญ่ ตำบลใหญ่ มีเขตติดต่ออำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ประชากรมีอาชีพทำนาเป็นหลัก อยู่อย่างสงบสุขไม่มีโจรผู้ร้ายรบกวน ประชากร ๙๙ เปอร์เซ็นต์เป็นคนมีเชื้อชาติลาวเวียง คือคนลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว คนบ้านนี้ใช้นามสกุล “ศรีเดช” กับ “ทาเอื้อ” เป็นส่วนมาก
ข้าพเจ้าฟังสำเนียงภาษาลาวเวียงพอรู้เรื่องและพูดได้บ้าง เพราะบ้านเดิมอยู่ใกล้พวกลาวเวียง คือบ้านหนองกุฏิ จร้า บ้านโข้ง บ้านขาม ในเขตอำเภออู่ทอง อพยพหรือถูกกวาดต้อนมาจากนครเวียงจันทน์สมัยที่เจ้าอนุเป็นขบถ เคยรู้จักและเป็นเพื่อนคบค้าสมาคมกับลาวเวียงหลายคน จึงฟังเขาพูดและพูดกับเขาพอได้บ้าง
เจ้าอาวาสวัดเนินขามเป็นพระครูสัญญาบัตร (จำนามสณศักดิ์ท่านไม่ได้) นามเดิมของท่านว่า “ ชุณห์” พระครูชุณห์เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าคณะตำบล เป็นคนมีอารมณ์ดีมาก พูดจาฉะฉานเสียงดังฟังชัด พบกันวันแรกก็คุยกันอย่างสนุกถูกคอ ยิ่งรู้ว่าข้าพเจ้าเป็นพระมาจากกรุงเทพฯ เรียนจบนักธรรมชั้นเอก กำลังเรียนบาลีถึงขั้นแปลธรรมบทกอง ๒ แล้ว ท่านก็ยิ่งนิยมชมชอบมากขึ้น
ลาวเวียง ลาวพวน ในจังหวัดสุพรรณบุรีและชัยนาท เขาไม่กินข้าวเหนียวเหมือนทางเหนือและอีสาน หากแต่กินข้าวเจ้าเหมือนคนไทยทั่วไปในภาคกลางและภาคใต้-ตะวันออก เรื่องอาหารการกินของพวกเราจึงไม่มีปัญหาอะไร พระครูชุณห์จัดกุฏิให้พวกเรานอนพักอาศัย จัดศาลาการเปรียญหลังใหญ่ใต้ถุนสูงให้เป็นที่รับตรวจรักษาโรคทั่วไป ศาลาหลังนี้จุคนนั่งทำบุญได้เป็นหมื่นคนทีเดียว หลวงพ่อทองสุขขออนุญาตพักอาศัยกินนอนอยู่บนศาลานี้ ท่านอ้างว่าขี้เกียจเดินขึ้นลงไปกุฏิที่จัดให้นั้น
คนลาวไม่ค่อยเคร่งครัดต่อระเบียบวินัยของพระเท่าไรนัก การล่วงละเมิดข้อพุทธบัญญัติหรือสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพระเณร เขาถือว่าไม่เป็นเรื่องสำคัญ เช่นบี้มด ตบยุงตาย ฉันอาหารในเวลาค่ำคืนเห็นเป็นเรื่องผิดเล็กน้อย การเที่ยวเตร่เฮฮาของพระเณรก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา จึงปรากฏว่าชาววัดกับชาวบ้านมีความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นกันเองมาก ข้าพเจ้าและพวกศิษย์หลวงพ่อทองสุข มีพระ ๓ องค์ เณร ๒ องค์ ฆราวาส ๕ คน จึงสนิทสนมคุ้นเคยกับชาวบ้านเนินขามได้รวดเร็ว
ที่วัดเนินขามนี้มีชาวบ้านมาขอตรวจรักษาโรคและรับน้ำมนต์กันมากกว่าที่ศรีประจันต์ เพราะมีหมู่บ้านตำบลใหญ่ ๆ ใกล้เคียงเนินขามมาก และนอกจากคนในอำเภอหันคาแล้ว ก็มีคนจากอำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอบ้านไร่ อุทัยธานี มารับการตรวจรักษาโรคด้วย ท่านพระครูชุณห์เจ้าอาวาสมอบหมายให้พระเต็มเป็นหัวหน้าในพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ เช่น สวดศพ เทศน์งานศพ เจริญพุทธมนต์ในงานมงคลต่าง ๆ พวกพระที่ร่วมงานสวดและชาวบ้านชอบ เพราะพระเต็มตัดทอนพิธีกรรมที่เยิ่นเย้อ และบทสวดที่ยาว ๆ ให้สั้นลงกว่าเดิมแต่ก็ไม่เสียรูปแบบ กิจนิมนต์ตามบ้านแม้จะมีมาก แต่เงินรายได้ไม่มากเหมือนที่ศรีประจันต์ เพราะชาวนาศรีประจันต์มีฐานะการเงินดีกว่าชาวบ้านเนินขาม
ข้าพเจ้าไปอยู่เนินขามในช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ ชาวลาวเวียงเขาเล่นกันอย่างไรบ้าง ไม่ได้ไปเที่ยวดูเขาเล่นกันหรอก แต่ก็ถูกชาวบ้านมาเล่นด้วยชนิดที่ทำให้ข้าพเจ้า “อกสั่นขวัญหาย” ไปเลยทีเดียว/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กรกันต์, ฝาตุ่ม, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๖๙ - วันสรงน้ำพระ เขานิมนต์พระเณรนั่งเก้าอี้เรียงแถวกลางลานวัด นิมนต์ข้าพเจ้าลงไปนั่งร่วมกับพระเณรให้เขาสรงน้ำด้วย แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบที่จะให้ใคร ๆ สรงน้ำจึงขอตัวไม่ลงไปร่วมด้วย พวกเขาไม่ยอม ต้องการให้พระเต็มลงไปร่วมสรงน้ำด้วยให้ได้ มีหญิงสาวใหญ่สาวน้อยทั้งโสดและไม่โสด (ทราบภายหลังว่า) สาวแม่ม่ายเป็นหัวหน้าพาพวกรูขึ้นบนศาลาการเปรียญ ตรงเข้าจับตัวพระเต็มต่อหน้าหลวงพ่อทองสุข พวกเขาเปลื้องจีวรพระเต็มออกจนเหลือแต่สบงและอังสะลังกาโดยไม่ฟังเสียงร้องห้ามของหลวงพ่อทองสุขและข้าพเจ้า เขาช่วยกันหามร่างพระเต็มลงไปนั่งเก้าอี้กลางลานวัดจนได้ ชาวบ้านหญิงชายเฮฮาร่วมกันสรงน้ำพระอย่างสนุกสนาน ข้าพเจ้าตกใจจนคิดอะไรไม่ออกบอกอะไรไม่ถูก บางคนเอาน้ำแข็งใส่แช่น้ำจนเย็นเจี๊ยบราดรดตัวพระเณรทุกองค์ พระเต็มโดนหนักกว่าเพื่อน หนาวจนสั่นเลย พอรดน้ำจนสาแก่ใจกันแล้ว เขาก็เอาขมิ้นผสมดินสอพองเหลืองอ๋อยมา ชโลมทาทั่วตัวพระเต็มและอีกหลายองค์ แล้วเอาน้ำใสสะอาดมาสรงล้างขมิ้นดินสอพองออก เอาแป้งหอม น้ำอบไทย ชโลมทาอีกที กว่าจะเสร็จพิธีสรงน้ำอันพิลึกพิลั่นนั้นพระเต็มก็ปางตายนั่นแหละ
หลังงานสรงน้ำพระผ่านไปได้ ๓ วัน พวกชาวบ้านซึ่งนำโดยคณะสตรีกลุ่มที่ร่วมกันจับตัวข้าพเจ้าลงไปสรงน้ำนั้น ถือพานดอกไม้ธูปเทียน มาทำพิธีขอขมาโทษข้าพเจ้าและพระภิกษุสามเณรทุกองค์ที่ได้ล่วงเกินในพิธีสรงน้ำวันก่อนนั้น หลังจากพระเณรอภัยโทษให้แล้วก็เป็นเสร็จพิธี พิธีกรรมอย่างนี้เป็นวัฒนธรรมประเพณีของเขาที่ทำกันทุกปี สืบทอดจากบรรพชนมายาวนานแล้ว
การที่สตรีจับต้องกายภิกษุอย่างที่ข้าพเจ้าถูกจับไปสรงน้ำนั้น บางท่าน (ที่ไม่รู้จริง) อาจจะเข้าใจว่า “พระศีลขาด” หรือไม่ก็ต้องอาบัติอย่างหนัก ด้วยมีพระวินัยเป็นพุทธบัญญัติไว้ว่า “ภิกษุมีความกำหนัดอยู่จับต้องกายหญิงต้องสังฆาทิเสส” ผู้เป็นอาบัติสังฆาทิเสสนี้ต้องอยู่กรรม ที่เรียกว่าปริวาสกรรมจึงจะพ้นโทษได้ ถ้าไม่อยู่กรรมจะปลงอาบัติไม่ตก อาบัติสังฆาทิเสสนี้มีทั้งหมด ๑๓ ข้อ เป็นอาบัติหนักรองลงมาจากอาบัติปาราชิกที่ผู้ต้องแล้วขาดจาก (ศีลขาด) ความเป็นภิกษุทันที
ขณะถูกผู้หญิงจับตัวนั้น ข้าพเจ้าไม่มีความกำหนัดจับต้องกายพวกเธอเลยสักนางเดียว ความรู้สึกตอนนั้นมีแต่ตกใจกลัว แม้หากพวกเธอบางนางจะมีความกำหนัดจับต้องกายข้าพเจ้า ก็เป็นเรื่องของเธอไม่เกี่ยวกับข้าพเจ้า อันการที่ภิกษุจะต้องเป็นอาบัติสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒ คือ การจับต้องกายหญิงนี้ มิใช่ว่าจะต้องอาบัติกันได้ง่าย ๆ มีข้อแม้อยู่หลายประการ ข้อสำคัญคือจะต้อง “มีความกำหนัดอยู่ แล้วจับต้องกายหญิงด้วยความกำหนัดนั้น” ถ้าไม่มีความกำหนัดก็ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส
ก็แหละอาการที่จะต้องอาบัตินั้น ท่านว่าไว้ด้วยอาการ ๖ อย่างคือ “ต้องด้วยไม่ละอาย ๑ ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ ๑ ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลง ๑ ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ๑ ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ๑ ต้องด้วยลืมสติ ๑”
เห็นพระถูกตัวหญิง หญิงถูกตัวพระ แล้วคิดเอาเองว่า “พระศีลขาด” หรือต้องอาบัติสังฆาทิเสสเลยไม่ได้ เพราะถ้าพระกับหญิงถูกต้องกายกันแล้วพระศีลขาดหรือเป็นอาบัติสังฆาทิเสส พระก็จะถูกกลั่นแกล้งด้วยแผน “นารีพิฆาต” ให้ศีลขาด (ปาราชิก) หรือเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมกันไม่รู้จักจบสิ้น ใครไม่ชอบพระองค์ใดก็ให้หญิงไปจับเนื้อต้องตัว พระองค์นั้นก็จบสิ้นกันเท่านั้นเอง สรุปให้เข้าใจง่ายว่า อาบัติของพระต้องเกิดจากการกระทำของพระ มิใช่พระเป็นฝ่ายถูกกระทำ
สมัยเป็นสามเณรเรียนนักธรรมชั้นตรีที่สำนักเรียนวัดบางซ้ายในนั้น หลักสูตรในชั้นเรียนนี้กำหนดให้เรียนวิชาวินัยบัญญัติที่มีมาในพระปาติโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท เริ่มเรียนจากชื่ออาบัติหนักที่สุดเรียกว่า ปาราชิก ๔ ข้อ แล้วถึงสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ ที่เราเรียนกันสนุกในสังฆาทิเสสนี่แหละ ข้อ ๑ ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนต้องสังฆาทิเสส ข้อนี้มียกเว้นไว้ว่าฝันแล้วเคลื่อนโดยไม่รู้ตัว พอถึงข้อ ๒ คือ ภิกษุมีความกำหนัดอยู่จับต้องกายหญิงต้องสังฆาทิเสส ข้อนี้มีนัยะให้วินิจฉัยกันมาก ข้าพเจ้าให้คำจำกัดความสังฆาทิเสสว่า สังฆาทิเสสคือเศษของสงฆ์ อาจารย์สมุห์สายบอกว่า เณรเต็มนี่มันคิดแผลง ๆ
การจับต้องกายหญิงแล้วเป็นอาบัติสังฆาทิเสสนั้น จะต้องจับถูกต้องด้วยความกำหนัดปรารถนาเมถุนเท่านั้น ถ้าไม่กำหนัดก็ไม่เป็นสังฆาทิเสส อาจารย์ผู้สอนวินัยท่านสอนเน้นอย่างนี้ คำว่ากำหนัดพจนานุกรมไทยท่านเก็บไว้และแปลว่า ความใคร่ในกามคุณ ก็ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกว่า ความใคร่คือความปารารถนาหรือต้องการ กามคุณ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส อารมณ์อันเป็นที่น่าปรารถนา ข้าพเจ้าชอบแปลเอาความง่าย ๆ ว่า กำหนัดก็คือยินดี นั่นแหละ
ท่านสมุห์สายอาจารย์สอนวิชาวินัยบัญญัติ แยกแยะการจับต้องกายออกไปอีกว่า จับต้องตรงไหนเป็นกาย ตรงไหนไม่ใช่กาย ไม่รู้เหมือนกันว่าท่านเอาเหตุผลอะไรจากไหนมาแบ่งส่วนของกายว่า เส้นผมไม่ใช่กาย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกาย ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องเส้นผมบนศีรษะหญิง ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่ต้องเป็นอาบัติถุลลัจจัย (เบากว่าสังฆาทิเสส) ตั้งแต่ข้อเท้าลงไปถึงปลายเท้า ตั้งแต่ข้อมือลงถึงปลายนิ้วมือเป็นส่วนของกาย ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่เป็นอาบัติถุลลัจจัย
“ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จูบแก้มหญิงโดยไม่จับต้องกาย เป็นอาบัติสังฆาทิเสสไหมครับอาจารย์”
สามเณรวิเชียรถามทะลุกลางปล้องขึ้นมา อาจารย์ท่านมองค้อนแล้วตอบสั้น ๆ ว่า “ทะลึ่ง” แล้วเสียงเฮฮาของนักเรียนในห้องก็ดังกลบเสียงด่าพึมพำของพระอาจารย์ไปเสียสิ้น เมื่อเสียงหัวเราะฮาสงบเงียบแล้ว ข้าพเจ้าถามท่านด้วยความสงสัยจริงใจว่า การที่ผู้หญิงนำของมาถวายพระภิกษุจะด้วยความเคารพเลื่อมใสศรัทธา หรือด้วยใจรักในเชิงชู้สาวก็ตาม ภิกษุนั้นใช้ผ้าปูบนพื้นรับประเคนของ ขณะที่หญิงนั้นวางของลงบนผ้า ภิกษุผู้ถือผ้ารับประเคนของนั้นเกิดความกำหนัดขึ้นในใจอย่างรุนแรง หญิงนั้นก็เกิดความกำหนัดเช่นกัน ต่างคนต่างประสานสายตากันแสดงความหมายให้รู้ความกำหนัดในใจนั้น อย่างนี้จะถือว่าภิกษุมีความกำหนัดถูกต้องกายหญิงและเป็นอาบัติสังฆาทิเสสไหม
อาจารย์หัวเราะร่วนอย่างอารมณ์ดีแล้วตอบว่า อย่างนั้นไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส แต่เป็นถุลลัจจัย เพราะผ้าที่ปูรับประเคนของนั้นเป็นของเนื่องด้วยกาย ข้าพเจ้าถามต่อว่า ถ้าหญิงนำอาหารใส่ถาดมาประเคน ภิกษุไม่ใช้ผ้าปูรับ แต่ใช้มือจับถาดที่อยู่ในมือหญิงพร้อมกับเกิดความกำหนัดล่ะ เป็นสังฆาทิเสสไหม ท่านตอบกลั้วเสียงหัวเราะว่า “อย่าว่าแต่จับถาดเลยเณร จับถูกนิ้วมือฝ่ามือด้วยความกำหนัดก็ไม่เป็นสังฆาทิเสส เพราะนั่นเป็นของเนื่องด้วยกาย แต่เป็นภาพไม่ดีไม่งามภิกษุไม่ควรทำ“
ถ้าอย่างนั้น ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกอดรัดร่างกายหญิงที่สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด ไม่ถูกเนื้อเลย ภิกษุนั้นก็ไม่เป็นสังฆาทิเสสใช่ไหม เพราะจับกอดเสื้อผ้าที่เป็นของเนื่องด้วยกายเท่านั้น ข้าพเจ้าทิ้งคำถามตูมลงไป นักเรียนพระเณรทั้งห้องส่งเสียงฮาครืน พระอาจารย์สมุห์ทุบโต๊ะโครมคว้าขวดและกล้องยานัตถุ์ลุกเดินจากห้องเรียนไปด้วยอาการุปัดตุป่อง ความสงสัยของข้าพเจ้าก็ยังค้างคาใจมาจนบัดนี้
สรุปได้ว่า การจับต้องกายหญิงผิดวินัยเป็นอาบัติสังฆาทิเสสนั้น มีนัยดังได้กล่าวมาแล้ว ส่วนการที่ภิกษุ ตบ ชก ต่อย เตะ หญิงด้วยความโกรธ ท่านว่าไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสสเหมือนกัน เห็นไหมว่าภิกษุจะต้องอาบัติสังฆาทิเสสเพราะจับต้องกายหญิง เป็นได้ยากเพียงไร
การที่ข้าพเจ้าถูกหญิงรุมจับตัวไปสรงน้ำดังกล่าวแล้วนั้น ไม่ต้องเป็นอาบัติสังฆาทิเสส เพราะมิได้มีความกำหนัดจับต้องกายหญิงเหล่านั้น และหญิงเหล่านั้นก็ไม่มีเจตนาแส่ไปในทางบาปอกุศลเลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, หยาดฟ้า, คิดถึงเสมอ, กรกันต์, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฝาตุ่ม, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๗๐ - ใกล้เวลาที่จะต้องย้ายสถานที่จากวัดเนินขามแล้ว ข้าพเจ้าพบปัญหาหัวใจที่ค่อนข้าจะหนักอีก ก็เรื่องผู้หญิงยิงเรือนั่นแหละครับ เป็นพระนี่ก็แปลกนะ เนื้อตัวอะไรก็ไม่ได้แต่ง หัวก็โล้น ทำไมจึงมีผู้หญิงชอบนักหนาก็ไม่รู้ นี่ถ้าหากให้พระมีภรรยาได้เหมือนชาวบ้านแล้ว พระแต่ละองค์คงจะมีภรรยาไม่รู้กี่คนเลยก็แล้วกัน
บ้านโยมทอง (ขอใช้นามสมมุติ) อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านเนินขาม มีลูกสาว ๓ คน (เรียกว่าสามใบเถานั่นแหละ) คนโต อายุ ๑๙ คนรองอายุ ๑๗ คนเล็กอายุ ๑๕ อวบอัดทั้งสาม่สาวเลย ไว้ผมยาวดำสลวยตัดกับผิวขาวเหลือง คนเล็กถักผมเปียน่ารัก แต่ละสาวมีลักยิ้มบุ๋มที่แก้มซ้ายทุกคน ข้าพเจ้ารับคำชวนไปเที่ยวที่บ้านครูทองในเวลาค่ำอาทิตย์ละหลายคืนจนมีความคุ้นเคยกันมาก เหตุที่ไปเที่ยวบ้านครูทองบ่อย ๆ ก็เพราะคุยกันถูกคอสนุกและได้ความรู้จากครู ทุกคนในบ้านครูทองก็มีอัธยาศัยไมตรีดียิ่งนัก ประการสำคัญอีกอย่างคือบ้านครูทองเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านเบื้องตะวันออกของวัด เป็นบ้านเรือนไทยหลังใหญ่ติดกันสามหลังมีหอกลางชานเรือนเชื่อมคิดกันหมด บ้านนี้มีผู้คนไปมาหาสู่กันประจำ เวลาข้าพเจ้าไปนั่งคุยที่บ้านนี้มักจะมีคนจากบ้านอื่นมานั่งฟังและร่วมวงสนทนาด้วยหลายคน ไปบ้านครูทองบ้านเดียวก็เหมือนกับไปหลายบ้าน เพราะไปบ้านครูทองที่อยู่ทางตะวันออกวัดเป็นประจำ จนโยม ๆ ทางทิศตะวันตกของวัดมาพูดจากระแนะกระแหนว่า
“สาวตะวันตกหน้าไม่ขาวเหมือนสาวตะวันออก พระเจ้าจึงไม่ชอบไปเที่ยวบ้านสาวตะวันตก”
ข้าพเจ้าฟังคำกระแนะกระแหนตัดพ้อแล้วก็ได้แต่หัวเราะแหะ ๆ เท่านั้นเอง
คืนวันหนึ่ง ไปเที่ยวบ้านครูทองตามปกติเป็นคืนที่ปลอดแขกเหรื่อ ไม่มีคนบ้านอื่นมาคุยด้วย ลูกสามสามคนของครูทองมานั่งร่วมวงสนทนา คุยกันไปสักครูหนึ่งโยมครูถามตรง ๆ เว้าซื่อ ๆ ตามแบบของคนลาวนั่นแหละครับ
“ลูกสาว ๓ คนของผม ระเบียบ มณฑา รจนา ท่านชอบคนไหนเลือกเอาได้เลย ผมยินดียกให้”
ข้าพเจ้าถูกถามซื่อ ๆ อย่างนั้นก็อายจนรู้สึกหูร้อนฉ่าหน้าชาดิก ไม่กล้ามองหน้าสามสาวนั้น ก็นั่งก้มหน้านิ่งอยู่
“ว่าไงล่ะ เลือกเอาไปเลย”
โยมทองเตือนเมื่อเห็นข้าพเจ้านั่งก้มหน้านิ่ง จึงพยายามทำใจให้กล้าเงยหน้าขึ้นมองสามสาวช้า ๆ เห็นแต่ยิ้มน้อย ๆ ของสาวเจ้า สบสายตากันแล้วเธอยิ้มกันด้วยความขวยเขิน ข้าพเจ้ารู้สึกสะทกสะท้าน ใจวาบหวิวหวามไหวในความรู้สึก
“ลูกสาวของผมมันไม่สวยไม่งามเลยสักคนหรือไง”
โยมทองพูดทำลายความเงียบขึ้น ข้าพเจ้ารู้สึกอึดอัดใจ คิดสับสนหาคำตอบที่ดีไม่ได้ หันไปมองดูโยมแช่มภรรยาโยมทองที่นั่งฟังอยู่อีกทางหนึ่ง ก็เห็นโยมแช่มนั่งมองดูด้วยอาการอยากได้ยินคำตอบ
“สวยงามทั้งสามคนเลยโยม....” ข้าพเจ้าตอบด้วยเสียงเบาหวิว
“สวยสามคน แต่ท่านมีสิทธิ์เลือกเอาคนเดียวเท่านั้นนะ คนไหนดี”
“เลือกไม่ได้หรอกโยม” ข้าพเจ้าตอบเสียงดังขึ้นเป็นปกติ เพราะตั้งสติได้แล้ว
“ทำไมเลือกไม่ได้เล่าท่าน” โยมแช่มถามแทรกขึ้นมาบ้าง
“ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกคนไหน” ข้าพเจ้าตอบด้วยความรู้สึกจริงใจ เพราะใจจริงแล้รู้สึกชอบเธอทั้งสามคนนั่นแหละ แต่ละคนสวยงามน่ารักไปคนละแบบ
“ไม่ได้ ไม่ได้ เอาหมดสามคนไม่ได้” โยมทองพูดย้ำคำว่า ไม่ได้ ๆ ด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ ระเบียบ พี่สาวใหญ่เบือนหน้าเหม่อมองออกไปนอกบ้าน มณฑา พี่รองนั่งก้มหน้าแกะเล็บมือเล่น มีแต่รจนาน้องเล็กนั่นแหละ นั่งมองจ้องหน้าข้าพเจ้าตาแป๋วและยิ้มอย่างไร้เดียงสา จนข้าพเจ้าเกือบจะพลั้งปากว่า “เลือกรจนา” เสียแล้ว
“ถ้างั้น ท่านไปนอนคิดตัดสินใจดูก่อนก็แล้วกัน” โยมทองสรุปเรื่องในคืนนั้น
ข้าพเจ้าไม่ได้ไปบ้านโยมทอง ๓-๔ วันเพราะอาย ไม่กล้าเผชิญหน้าสาว “สามใบเถา” ด้วยตัดสินใจเลือกคนหนึ่งคนใดไม่ได้ ให้คำตอบโยมทองไม่ได้ กลางคืนนอนไม่หลับ กลางวันทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม มีอาการเหม่อลอยแทรกซ้อนเข้ามาในงานที่ทำ ใบหน้าอ่อนหวานประดับลักยิ้ม ดวงตาใสซื่อ แย้มยิ้มอย่างไร้เดียงสาของสาว “สามใบเถา” ผุดโพลงอยู่ในสำนึกแทบตลอดเวลา ท่านพระครูชุณห์กับหลวงพ่อทองสุขดูเหมือนจะรู้เรื่องของข้าพเจ้าดี พระในคณะเราบอกว่าในเวลากลางคืนท่านพระครูชุณห์ขึ้นไปคุยกับหลวงพ่อทองสุขแทบทุกคืน นัยว่าไปสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กันในเรื่องคาถาอาคม ในคืนที่ข้าพเจ้าไม่ไปบ้านโยมทองนั้น พระครูชุณห์พูดหยอกล้อว่า “พระเต็มเห็นทีจะเอาบาตรมาทิ้งที่เนินขามเสียแน่แล้ว” ข้าพเจ้าก็ได้แต่ยิ้มแหย ๆ หลวงพ่อทองสุขกล่าวเสริมว่า ”จะบ้าหรือเปล่าที่รักและจะเอาทีเดียวทั้งสามคนน่ะ”
หลายวันเข้าโยมทองก็มาหาที่วัดบอกข้าพเจ้าว่า คนทางหมู่บ้านเขาคิดถึงกันมากนะ หาเวลาไปเยี่ยมเยือนเขาบ้างซี ข้าพเจ้าจึงไปบ้านโยมทองคืนนั้นเป็นครั้งสุดท้าย ไปอย่างไม่มีความสง่าผ่าเผยเหมือนก่อนเลย เพราะใจมันขลาดหวาดหวั่นอย่างไรไม่รู้ บอกไม่ถูก ระเบียบกับมณฑา ก็ไม่ค่อยมองหน้า ดูเคอะเขินอย่างไรชอบกล มีแต่รจนาน้องนุชสุด้องนั่นแหละที่กล้าสู้หน้าข้าพเจ้า การยิ้มแย้มตลอดกิริยาท่าทางอื่น ๆ ของรจนาแสดงออกด้วยซื่อบริสุทธิ์ ไม่มีมารยาสาไถยเจือปนให้เห็น คิดว่าเธอคงจะยังไม่รู้เรื่องของความรักความใคร่เลยก็ได้
ข้าพเจ้าบอกทุกคนว่าวันนี้จะมาบอกลาญาติโยมทั้งหลายว่าจะเดินทางไปอยุธยาและกลับเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อไปแล้ว กำหนดเดินทางจากเนินขามในเช้าวันมะรืนนี้ พรุ่งนี้ไม่มาบ้านโยมทองนะ ขอถือโอกาสลาทุกคนเลย มีเวลาว่างเมื่อไรจะกลับมาอีก ขอให้ทุกคน “อยู่ดีมีแรง” โดยทั่วกันเถิด
และแล้วคณะหลวงพ่อทองสุขดินทางจากวัดเนินขาม ไปแวะพักที่วัดมะขามล้ม อำเภอบางปลาม้าตามคำขอของชาวบ้านที่นั่นก่อนไปวัดรางเนื้อตาย โดยข้าพเจ้าติดค้างหนี้สินทางใจของโยมทองและสาว “สามใบเถา” แห่งเนินขาม กล่าวคือยังให้คำตอบโยมทองไม่ได้ เพราะตกลงใจไม่ได้จริง ๆ เวลาผ่านมาจนถึงวันนี้นานนับสิบปีแล้ว ถ้ามีใครมาคาดคั้นถามข้าพเจ้าว่า ระหว่าง ระเบียบ มณฑา รจนา ลูกสาวอดีตครูใหญ่นั้น จะเลือกคนไหน ข้าพเจ้าก็ยังตอบไม่ได้ คงจะตอบไม่ได้ไปนานจนตายเลยนั่นแล/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, เป็น อยู่ คือ, หยาดฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, คิดถึงเสมอ, ฝาตุ่ม, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๗๑ - ดังได้กล่าวแล้วว่า “ฌานโลกีย์” เมื่อเกิดขึ้นแก่คนสามัญทั่วไปแล้วย่อมเสื่อมหายไปได้ บรรดาเกจิอาจารย์ที่มีคาถาอาคมขลังมีอิทธิฤทธิ์นานาด้วยอำนาจฌานโลกีย์ที่ได้ หากมิได้บรรลุอริยผลเป็นพระอริยะเจ้าชั้นโสดาบันขึ้นไป ฌานนั้นมักเสื่อมคลายอิทธิฤทธิ์หมดความขลังไปได้
ขอแทรกคำอธิบายเรื่องนี้สักหน่อยนะครับ คำว่าพระอริยะเจ้า หรืออริยบุคคล และอริยะสงฆ์นั้น ปัจจุบันมีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนกันมาก จึงปรากฏคำพูดและข้อเขียนยกย่องพระภิกษุในฝ่ายวิปัสสนาธุระหลายรูปว่า หลวงพ่อองค์นี้ หลวงปู่องค์นั้น เป็นพระอริยะสงฆ์อยู่เสมอ พระอริยะเจ้าหรืออริยะสงฆ์ในความเป็นจริงคือท่านผู้ละกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน (สังโยชน์พัวพัน, ผูกรัด ๑๐) เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เท่านั้น เมื่อบรรลุเป็นพระอริยะดังกล่าวแล้วท่านไม่บอกใคร เพราะคุณธรรมขั้นอริยะนี้รู้ได้เฉพาะตน พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยห้ามมิให้ภิกษุอวดอุตริมนุษย์ธรรมที่มีในตน ถ้าอวดโดยไม่มีในตนจะต้องเป็นอาบัติปราราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ ถ้าบรรลุเป็นพระอริยะแล้วอวดใคร ๆ เรียกว่า อวดอุตรมนุสสธรรมที่มีในตน ท่านปรับเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ดังนั้นพระอริยะจะไม่พูดบอกใครว่าบรรลุธรรมขั้นอริยะตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เพราะมีพระวินัยห้ามไว้
ส่วนหลวงพ่อหลวงปู่ที่คนมักเรียกท่านว่า พระอริยะสงฆ์นั้น ท่านจะเป็นพระผู้บรรลุธรรมขั้นพระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอรหันต์หรือไม่ ปุถุชนอย่างเราไม่อาจล่วงรู้ได้ บางองค์ท่านอาจจะบรรลุธรรมขั้นพระอริยะจริง บางองค์ก็ไม่บรรลุ เป็นแต่ปุถุชนที่เคารพนับถือท่านกล่าวยกย่องท่านไปเอง
คำว่า “พระอริยะเจ้า” หมายถึง “ผู้ไปจากกิเลสเพียงดังว่าข้าศึก” หรือ “ผู้ประเสริฐบริสุทธิ์” แบ่งออกเป็นแปดบุคคลคือ ผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค ๑ ผู้บรรลุโสดาปัตติผล ๑ ผู้บรรลุสกทาคามิมรรค ๑ ผู้บรรลุสกทาคามิผล ๑ ผู้บรรลุอนาคามิมรรค ๑ ผู้บรรลุอนาคามิผล ๑ ผู้บรรลุอรหัตมรรค ๑ ผู้บรรลุอรหัตผล ๑ การบรรลุถึงในที่นี้หมายถึงการละกิเลสในสังโยชน์ ๑๐ ข้อ ได้เป็นขั้น ๆ ในบุคคล ๘ ที่เป็นพระอริยะเจ้านี้ ย่อลงเป็นพระอริยบุคคล ๔ เรียกว่า พระโสดาบัน คือผู้ละสังโยชน์กิเลสได้ ๓ ข้อ, พระสกทาคามีคือผู้ละสังโยชน์กิเลส ๕ ข้อ, พระอนาคามีคือผู้ละสังโยชน์กิเลสได้ ๗ ข้อ ทำให้เบาบางลงอีก ๒ ข้อ, พระอรหันต์คือผู้ละสังโยชน์กิเลสได้สิ้นเชิง และท่านยังย่อพระอริยบุคคล ๔ ลงเหลือเพียง ๒ คือ พระเสขบุคคล พระอเสขบุคคล พระอริยเสขบุคคล คือพระผู้ยังต้องศึกษาเพื่อละกิเลสต่อไป มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอริยอเสขบุคคล คือพระผู้ไม่ต้องศึกษาเพื่อละกิเลสอีกแล้ว เพราะท่านละกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ได้แก่พระอรหันต์
การบรรลุธรรมวิเศษเริ่มตั้งแต่เป็นพระโสดาบันขึ้นไป ถือว่าบรรลุอุตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์ พระพุทธเจ้าห้ามมิให้ภิกษุพูดอวดหรือแสดงอวดใคร ๆ พระอริยะเจ้าทุกองค์จะไม่มีการอวดอุตริฯ ทั้งที่มีจริงและไม่มีจริงในตน ธรรมนี้เป็นปัจจัตตัง คือรู้ได้เฉพาะตน คนอื่นที่เป็นปุถุชนรู้ด้วยไม่ได้ พระอริยะจึงรู้ภาวะของพระอริยะ ปุถุชนคือคนที่ยังหนาไปด้วยกิเลสอย่างเรา ๆ นี้ไม่อาจล่วงรู้ หรือพยากรณ์ได้ว่าพระองค์ใดเป็นพระอริยะ
พระอริยะเจ้าผู้อยู่ในขั้นพระโสดาบันเมื่อสิ้นชีพแล้วไปบังเกิดในสวรรค์ และเวียนว่ายกลับสู่มนุษย์ได้อีกไม่เกิน ๗ ชาติก็สำเร็จอรหันต์นิพพานในที่สุด พระสกทาคามีเมื่อสิ้นชีพแล้วไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นรูปพรหมแล้วสำเร็จอรหันต์ นิพพานในที่สุด พระอนาคามีเมื่อสิ้นชีพแล้วไปบังเกิดในชั้นพรหมสุทธาวาส ๕ แล้วสำเร็จอรหันต์นิพพานในที่สุด พระอรหันต์เมื่อสิ้นชีพแล้วปรินิพพาน คือดับสนิทไม่มีอะไรเหลือแล้ว
คำว่านิพพาน แปลตรง ๆ ว่า “ความดับ” มี ๒ อย่าง คืออุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ (คือมีชีวิตอยู่) อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ กล่าวคือการละกิเลสได้หมดสิ้นเป็นความกับกิเลสแล้ว แต่ชีวิตยังไม่ดับ ชื่อว่าอุปาทิเสสนิพพาน และ ละกิเลสหรือดับกิเลสได้หมดสิ้น และ ดับชีวิตด้วย ชื่อว่าอนุปาทิเสสนิพพาน คือปรินิพพานนั่นเอง
เห็นพระองค์ใดมีความสำรวมกายวาจาเรียบร้อย ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อุดมไปด้วยคุณธรรม มีอิทธิปาฏิหาริย์ ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ถูกใจปุถุชน ก็อย่าด่วนยกย่องเรียกท่านว่าเป็นพระอริยะเจ้า เป็นการสร้างมลทินมัวหมองแก่ท่าเปล่า ๆ
หลวงพ่อทองสุขไม่ใช่พระอริยะเจ้า แม้ท่านจะสามารถนั่งหลับตาเห็นโรคต่าง ๆ ในร่างกายคน เหมือนมีตาทิพย์ และจ่ายยารักษาโรคได้ เวทย์มนต์คาถาขลังศักดิ์สิทธิ์มากเพียงไร แต่เพราะท่านไม่สำเร็จธรรม คือยังไม่ละกิเลสสังโยชน์ได้ตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไป ฌานที่ท่านได้นั้นจึงเป็นฌานโลกีย์ที่เสื่อมสิ้นไปได้
ด้วยสาเหตุใดข้าพเจ้าไม่ทราบ ตอนที่มาอยู่วัดมะขามล้ม กลางหมู่บ้านลาวพวน อำเภอบางปลาม้าเมืองสุพรรณนี่ หลวงพ่อทองสุขตรวจรักษาโรคไม่ได้ดีเหมือนก่อน บางวันดูโรคไม่เห็น ใจไม่เป็นสมาธิ คาถาอาคมไม่ขลัง เพราะฌานของท่านเสื่อมเสียแล้ว ท่านไม่ยอมบอกว่าท่านเสื่อม ข้าพเจ้าสังเกตดูรู้เอง อยู่กับท่านสองต่อสองคืนหนึ่ง ข้าพเจ้าพูดกับท่านอย่างตรงไปตรงมาว่า หลวงพ่อฌานเสื่อมเสียแล้วใช่ไหม ท่านก็ยอมรับว่าจริง ฌานเสื่อมเสียแล้ว จึงปรึกษาหารือกันแล้วตกลงว่าควรเลิกตรวจรักษาโรคเสียที เมื่อสลายกองตรวจรักษาโรค หลวงทองสุขให้กรรมการวัดรางเนื้อตายที่ไปเป็นผู้จัดการด้านการเงินนั้น นำเงินที่ได้ทั้งหมดกลับไปมอบหลวงพ่อแปลกเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารอุโบสถตามความประสงค์ต่อไป ส่วนตัวหลวงพ่อทองสุขนั้นบอกข้าพเจ้าว่า จะเข้าไปอยู่ในถ้ำตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อบำเพ็ญฌาน เจริญกรรมฐานต่อไป เราจากกันที่วัดบ้านมะขามล้ม แล้วข้าพเจ้าไม่ได้พบและไม่ได้ข่าวหลวงพ่อทองสุขอีกเลย สิ่งที่ได้จากท่านไว้เป็นที่ระลึกคือคาถาปลุกปลัดขิก “นะหัวโต โมหัวแดง ทิ่ม ๆ แทง ๆ หัวแดงหัวโต” เท่านี้จริง ๆ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, ฝาตุ่ม, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๗๒ - “เขาว่าข้าพเจ้าบ้ากลอน”
สมัยนั้น สถานีวิยุกระจายเสียงจังหวัดทหารบกลพบุรี (จทล.) เป็นสถานีวิทยุที่ประชาชนคนภูธร (บ้านนอก) นิยมเปิดเครื่องรับฟังกันมาก แม้ไม่มีรายการละครเหมือนวิทยุในกรุงเทพฯ แต่ก็มีรายการลิเก เพลงไทยสากลทั้งลูกทุ่งลูกกรุงให้ฟังกันตั้งแต่เช้ามืดยันเที่ยงคืน มีรายการยอดฮิตคือ “เพลงตามคำขอ” ดำเนินรายการโดย แวน กัจฉปางกูร มีแฟนรายการเขียนจดหมายขอเพลงให้ตนเองและคนโน้นคนนี้ฟัง ผู้ดำเนินรายการอ่านชื่อเพลงและชื่อผู้ขอให้คนอื่นฟัง กว่าได้ฟังเพลงก็ต้องฟังชื่อแฟนรายการยืดยาว จนรายการนี้เป็นเสมือนสื่อรักหนุ่มสาวนักฟังเพลงไปในที่สุด ข้าพเจ้าไม่ชอบฟังนัก เพราะเบื่อที่จะรอฟังเพลงเมื่อฟังรายชื่อคนขอเพลงจนจบก่อน
รายการที่ข้าพเจ้าชอบฟังมากที่สุดคือรายการ “กวีสวรรค์” มีทุกคืนเวลา ๓-๔ ทุ่ม ผู้ริเริ่มจัดและดำเนินรายการนี้ชื่อ สงั่น พูลเพิ่ม มี ประยูร กั้นเขต เป็นผู้ช่วย เขานำบทกวีเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ซึ่งมีผู้เขียนส่งให้อ่านออกอากาศ ผู้อ่านกลอนในรายการนี้เสียงดี จังหวะลีลาการอ่านน่าฟัง เพลงนำรายการ (ไตเติล) เป็นปี่พาทย์บรรเลงเพลงชื่อ “ลาวญวนเคล้า” ต่อด้วยบทกวีของท่าน น.ม.ส.ว่า
“สรวงสวรรค์ชั้นกวีรุจีรัตน์ ผ่องประภัสร์พลอยหาวพราวเวหา พริ้งไพเราะเสนาะกรรณวรรณนา สมสมญาว่าสวรรค์ชั้นกวี”
เวลาอ่านบทกวีจะมีเสียงดนตรีไทย ปี่พาทย์บ้าง เครื่องสายบ้าง มโหรีบ้าง เปิดคลอเสียงเบา ๆ สร้างบรรยากาศให้คนในชนบทเปิดเครื่องวิทยุนอนฟังเพลิน ๆ ก่อนนอน ข้าพเจ้าอยู่กรุงเทพฯ รับฟังรายการนี้ได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะคลื่นเสียงวิทยุในกรุงเทพฯ มีมาก คอยเบียดคลื่นเสียงของ จทล. ให้ขาดหายเป็นช่วง ๆ
ออกพรรษาและว่างจากการเรียนแล้ว ข้าพเจ้าจะจากวัดจันทร์นอกไปอยู่วัดหัวเวียง เพราะที่นั่นได้รับไมตรีอันอบอุ่นจากญาติโยมและเพื่อนสหธรรมิกด้วยกันมาก พวกน้องเณรที่เรียนบาลีรุ่นเดียวกันก็ยังคงเรียนอยู่ที่เดิม จากกรุงเทพฯ ก็ไปร่วมเล่นร่วมเรียนกับพวกนั้น ด้วยเหตุนี้แหละทำให้พระเต็ม “บ้ากลอน” รักกลอน เขียนกลอนไม่รู้เลิกรา โดยปกตินิสัยเป็นคนรักการอ่านและชอบเขียนกลอนอยู่แล้ว การเขียนหรือแต่งกลอนของข้าพเจ้าไม่มีครูอาจารย์สั่งสอน หากแต่เขียนตามแบบกลอนที่อ่านจากหนังสือตำราภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และนิราศต่าง ๆ ของสุนทรภู่นั่นแหละ ไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอนเหมือนคนอื่นเขา มีเพียง “ครูพักลักจำ” แล้วแต่งให้เพื่อนพระเณรอ่านกันเล่นสนุก ๆ ไปเท่านั้น
พวกน้องเณรวัดหัวเวียงคะยั้นคะยอให้ข้าพเจ้าส่งบทกลอนไปรายการกวีสวรรค์วิทยุ จทล. บ้าง บางองค์ลงแรงคัดลอกกลอนที่หลวงพี่เต็มแต่ง เพื่อให้ส่งไปรายการนี้ ข้าพเจ้าไม่เต็มใจที่จะส่ง ด้วยไม่แน่ใจว่าผู้ดำเนินรายการจะอ่านออกอากาศให้หรือไม่ ยามนั้นพี่เพชรา นางผดุงครรภ์สถานีอนามัยตำบลหัวเวียงซึ่งตั้งอยู่ในวัด ช่วยพวกน้องเณรคะยั้นคะยอให้ส่งอีก จึงตัดสินใจคัดลอกบทกลอนที่เห็นว่าดีที่สุดในจำนวนหลายสิบสำนวนนั้นส่งไปรายการกวีสวรรค์ โดยใช้นามปากกาที่พี่เพชราตั้งให้ว่า “เต็มดวง ณ เวียงแก้ว” แล้วพวกเราก็รอฟังกันด้วยใจจดจ่อ ๔ วันหลังจากส่งบทกลอนไปทางไปรษณีย์ ข้าพเจ้าและพวกน้องเณรพากันดีใจมาก เมื่อได้ฟังคุณสงั่น พูลเพิ่ม อ่านกลอนของ “เต็มดวง ณ เวียงแก้ว“ ออกอากาศและกล่าวชมว่าเขียนได้ไพเราะเพราะพริ้งดีมากอีกด้วย
คืนนั้นนอนไม่หลับ พอฟังรายการกวีสวรรค์จบแล้วรีบเขียนกลอนใหม่ได้อีก ๓ สำนวน และบรรจงคัดลอกด้วยลายมือที่คิดว่าสวยงามที่สุด ใส่ซองเตรียมส่งในวันรุ่งขึ้น
ข้าพเจ้าพบความสุข ความเอิบอิ่มใจ เป็นความสุขที่แปลกใหม่ จิตใจเบิกบาน เป็นความสุขที่ได้จากการแต่งกลอน และฟังกลอนเราที่เขาอ่านออกอากาศทางวิทยุให้คนนับหมื่นนับแสนได้ยินได้ฟัง ชื่อที่ลงกำกับท้ายสำนวนกลอนแม้จะเป็นเพียงนามแฝง (นามปากกา) แต่พวกน้องเณรและเพื่อนฝูงที่วัดหัวเวียงก็รู้กันดีว่าเจ้าของกลอนนั้น ๆ เป็นของหลวงพี่เต็ม
กลอนของข้าพเจ้าได้รับการอ่านออกอากาศทุกคืน คืนละหนึ่งสำนวน บางคืนมีสองสำนวน โดยใช้นามแฝงคนละนาม เป็นสำนวนชายบ้างสำนวนหญิงบ้าง คนอ่านก็ไม่รู้ว่ากลอนที่อ่านนั้นเป็นของของข้าพเจ้าทั้งหมด เพราะลายมือไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะพี่ผู้หญิงที่มีบ้านอยู่ในวัดชอบอ่าน-ฟังกลอน เธอช่วยคัดลอกกลอนสำนวนหญิงของข้าพเจ้าส่งไปเอง ด้วยคัดลอกกลอนมาก ๆ เข้า พี่สาวคนนั้นก็เริ่มแต่งเองได้ ข้าพเจ้าตั้งนามปากกาให้พี่สาว (นอกไส้) คนนั้นว่า “สมฤดี ศรีษ์เวียง” พี่เขาแต่งกลอนได้ช้า กว่าจะเสร็จแต่ละสำนวนก็นานถึง ๓-๔ วันเลยเชียว ผิดกับพี่สาวที่เป็นนางผดุงครรภ์ พี่เพชรา แต่งกลอนได้เร็วกว่าพี่สมฤดี พี่สาวคนนี้ใช้นามว่า “เพชรา ณ เวียงแก้ว“ เป็นคู่กับกับ เต็มดวง ณ เวียงแก้ว เราเริ่มจับกลุ่มแต่งกลอนกันสนุกสนานแล้ว/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, คิดถึงเสมอ, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, ต้นฝ้าย, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ฝาตุ่ม, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๗๓ - คนเขียนกลอนส่งรายการกวีสวรรค์มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการเขียนกลอนโต้ตอบกันหลากหลายเรื่อง ส่วนมากเป็นทำนอง “จีบกัน” ระหว่างชายหญิงสนุกมาก ดูเหมือนจะเขียนกลอนกันแบบลูกทุ่ง และ “มวยวัด” คือทั้งคนเขียนคนอ่านเหมือนไม่รู้เรื่องฉันทลักษณ์ของกลอนว่ามีกฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง รู้เพียงเอาถ้อยคำมาเรียงร้อยให้คล้องจองกันเหมือนกลอนลิเก เพลงพื้นบ้านต่าง ๆ ก็ใช้ได้แล้ว กลอนในรายการนี้ส่วนมากจะออกรสในทาง นารีปราโมทย์ -พิโรธวาทัง -ศัลลาปังคพิสัย ส่วน เสาวรจนี -หังสนัยวาที มีบ้างไม่มากนัก
รสของกวีตามตำราท่านกล่าวไว้ ประกอบด้วย “เสาวรจนี - นารีปาโมทย์ - พิโรธวาทัง - ศัลลาปังคพิสัย - หังสนัยวาที”
กวีรสของ “เสาวรจนี” คือกลอนที่เขียนพรรณนาชมโฉมชมความงาม ทั้งความงามของบุคคลและบรรยายความงามของธรรมชาติ ท้องนาป่าเขาลำเนาไพร สายลมแสงแดด ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมศาสนาประเพณี ไม่สอดใส่อารมณ์รักใคร่ โกรธเกลียดเคียดแค้นชิงชังเข้าไปในกลอนกวีนั้น.
กวีรสของ “นารีปราโมทย์” คือกลอนที่เขียนสอดใสอารมณ์รักใคร่เพ้อฝัน กระเง้ากระงอดออดอ้อน หวานชื่นรื่นรมย์ เป็นรสที่ให้ความกำหนัดยินดี.
กวีรสของ “พิโรธวาทัง” เป็นกลอนที่สอดใส่อารมณ์โกรธ เคียดแค้น เสียดสี สาปแช่ง ชิงชัง หยาบกร้าน ก้าวร้าว ดุดัน.
กวีรสของ “ศัลลาปังคพิสัย” เป็นกลอนที่สอดใส่อารมณ์เศร้าโศก คับแค้น ลำเค็ญ ผิดหวัง.
กวีรสของ “หังสนัยวาที” เป็นกลอนที่ออกรสในทางสนุกสนาน ตลกขบขัน รื่นเริงหรรษาฮาเฮ.
ตัวอย่างกลอนมีรสเป็นเสาวรจนี
“แต่ปางหลังยังมีบุรีรัตน์ แดนอุดมสมบัติไม่ขัดสน น้ำมีปลานามีข้าวทั่วด้าวดล ประชาชนแล้วดีมีศีลธรรม”
ตัวอย่างกลอนมีรสเป็นนารีปราโมทย์
“ยลแย้มยิ้มพริ้มเพราะเสาวลักษณ์ สุดจะหักห้ามใจมิให้หลง มนต์รักมอมเมาใจให้งวยงง วุ่นพะวงเวียนคะนึงถึงแต่เธอ”
ตัวอย่างกลอนมีรสเป็นพิโรธวาทัง
“เจ้าเลวทรามต่ำช้าไร้ค่ามนุษย์ ดั่งเจ้าผุดจากนรกขึ้นลอยหน้า แสนชิงชังเกินคำจำนรรจา ไปเถิดอย่าเห็นหันกันอีกเลย”
ตัวอย่างกลอนมีรสเป็นศัลลาปังคพิสัย
“เปิดหม้อเข้าเศร้าใจไร้เข้าสุก เปิดกระปุกเปล่าใจไร้เข้าสาร ทนทุกข์ยากกรากกรำทำการงาน จนดักดานตาปีไม่มีกิน”
ตัวอย่างกลอนมีรสเป็นหังสนัยวาที
“โอมมหาละลวยคนสวยเอ๋ย อย่าเชือนเฉยโปรดจงหลงรักฉัน หาไม่แล้วจะเล่นบททศกัณฐ์ ฉุดไปปั่นปลุกปล้ำให้หนำใจ”
ในกลอนแต่ละรสนั้น ให้ความสุขแก่วิญญาณที่ปฏิพัทธ์กวีไม่เหมือนกัน ส่วนมากจะชอบรสของกลอนรักหวานชื่นรื่นเริง (นารีปราโมทย์) กับรสผิดหวังคับแค้นเศร้าซึม (ศัลลาปังพิศัย) และรสเคียดแค้นชิงชัง (พิโรธวาทัง) และดูเหมือนว่าจะแต่งง่ายด้วย
ข้าพเจ้าเขียนกลอนรักหวานชื่นเพ้อฝันไม่เป็น จะว่าใจไม่มีความรักหรือไม่รู้จักความรักก็ไม่เชิง ในกลอนรักของข้าพเจ้ามักจะแทรกความเศร้าผิดหวังลงไปด้วยเสมอ ที่ชอบเขียนจะเป็นทำนองสั่งสอนแฝงปรัชญาเข้าไปในกลอนรัก เสมือนตนเองเป็นปรมาจารย์ที่มีประสบการณ์อย่างโชกโชนในเรื่องของความรักกระนั้นเทียว แต่ความจริงแล้วไม่ประสีประสากับเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ นักหรอก/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฝาตุ่ม, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช, ลิตเติลเกิร์ล, ข้าวหอม, หยาดฟ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๗๔ - ความรัก จะว่าเป็นเรื่องของความเพ้อฝันก็คงไม่ผิดนัก เพราะจินตภาพเรื่องราวของความรัก ปฏิกิริยาในเรื่องของความรัก สวยงามอ่อนหวานนุ่มนวลละมุนละไมเกินที่จะบรรยายให้ถูกต้องหมดสิ้นได้ คนไม่เคยมีความรัก ไม่มีคนที่รัก ไม่เคยสัมผัสรสรัก ไม่เคยถูกคนที่รักหักอกให้ผิดหวั ง ก็สามารถรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานจนบรรยายออกมาเป็นคำร้อยกรองได้
ความคิดฝันที่เป็นความสุขสดชื่นสมหวังในความรัก และความเจ็บปวดรวดร้าวอันเกิดจากผิดหวังในความรัก เป็นเรื่องที่คนแต่งกลอนสามารถจินตนาการสร้างความรู้สึกออกมา เขียนให้คนอ่านคนฟังคิดเห็นเป็นเรื่องจริงจังตามไปด้วย จะว่าคนเขียนกลอนมีจิตใจเต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหวรวนเรไม่แน่นอนก็ได้
คนแต่งกลอนแต่งนวนิยายและนิยายอิงประวัติศาสตร์กับจินตนิยาย ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือสร้างเรื่องให้คนอ่านคนฟังเห็นเป็นเรื่องจริงตามที่เขียน และให้ความบันเทิงใจแก่ผู้อ่านผู้ฟังนั้น ถ้างานเขียนชิ้นนั้นดาลใจให้ผู้อ่านผู้ฟังคล้อยตามไปกับข้อเขียนนั้นได้ ถือว่างานเขียนชิ้นนั้นประสบความสำเร็จ คนเขียนก็ได้ความภูมิใจเป็นเครื่องตอบแทน ท่านว่างานเขียนกับงานแสดงมีความเหมือนกันตรงจุดที่ว่า คนเขียนสมารถเขียนให้คนอ่านคล้อยตามได้ถือว่าประสบความสำเร็จ คนแสดงสามารถสวมวิญญาณตัวละครแล้วแสดงได้สมบทบาท ให้คนชมเห็นเป็นจริงได้แล้วถือว่าการแสดงนั้นปะสบความสำเร็จ
มีหญิงสาวอายุมาก (ก็สาวแก่นั่นแหละ) คนหนึ่ง เธอเขียนกลอนออกรสเป็นศัลลาปังคพิสัยได้ดีมาก ข้าพเจ้าและคนอ่านคนฟังส่วนมากอ่านและฟังแล้วเกิดความรู้สึกสงสารจับใจ กลอนของเธอแต่ละสำนวนมีแต่ความเศร้าโศก ตัดพ้อต่อว่าด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ คับแค้นใจ ผิดหวังร่ำไป ต่อมาข้าพเจ้าได้รู้จักตัวจริงของเธอภายหลัง ปรากฏว่าเธอเป็นคนมีฐานะดี เรียนจบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมต้น ไม่ได้เรียนต่อเพราะพ่อแม่เห็นว่าเป็นหญิง ไม่จำเป็นต้องเรียนสูงนัก (ตามคติคนจีนสมัยนั้น) ให้ช่วยพ่อแม่ค้าขาย หัดทำงานบ้านการเรือนในหน้าที่แม่บ้านมาก ๆ ดีกว่า อายุ ๓๐ เศษแล้วยังไม่มีชายใดมาสู่ขอเป็นคู่ครอง ไม่เคยออกงานสังคมกับเพื่อนฝูง (เพราะ เตี่ย ม่า ไม่อนุญาต) แต่เธอเขียนกลอนแต่งบรรยายเรื่องความผิดหวังในรักได้กินใจเหลือเกิน กลอนของเธอแต่ละสำนวนจะใช้เวลาคิดแต่งความเขียนคำไม่น้อยกว่า ๕ วัน (ความยาว ๖ บทกลอน) เธอเปิดเผยว่าที่แต่งกลอนได้ช้า ก็เพราะเธอต้องปรุงแต่งอารมณ์ใส่เข้าในคำกลอนโดยแต่งไปร้องไห้ไป อย่างนี้ก็มีจริง ๆ ด้วย
ข้าพเจ้ามีชื่อเสียงโด่งดังในวงการนักฟังวิทยุภูธร (บ้านนอก) จึงมีน้องเณรวัดหัวเวียงหลายองค์หัดเขียนกลอนตามอย่างหลวงพี่เต็ม คนที่ปลูกบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่วัดชายหญิงหลายคนก็หัดแต่งกลอนเขียนส่งรายการกวีสวรรค์ บางคืนพวกเราไปรวมกันที่บ้านพี่สมฤดี ศีรษ์เวียง เพื่อฟังรายการกวีสวรรค์บ้าง บางคืนไปรวมกันที่สถานีอนามัยหัวเวียงข้างศาลาการเปรียญของวัดบ้าง ที่สถานีอมัยมีคนเขียนกลอนสองคน คือพี่หมอศิริ หัวหน้าสถานีอนามัย กับพี่เพชรา นางผดุงครรภ์ พวกเราจึงสุขสนุกไปตามประสาคนบ้ากลอน ฟังรายการจบแล้วก็แยกย้ายกลับไปนอนฝันกันย่างมีความสุก บางคืนฟังรายการกลอนจบแล้วไม่นอน เรามีสมุดกองกลาง ๑ เล่ม ดินสอปากกาพร้อมให้คิดเขียนกลอนลงสมุดกลอนต่อสัมผัสกันเพลินไปเลย
เพชรา ณ เวียงแก้ว ที่พวกเรา พระเณร เรียกเธอว่า “พี่หมอ” มีพี่ชายบวชเป็นพระมหาบาเรียน จึงมีความคุ้นเคยกับพระเณร มีอายุแก่กว่าพระเต็ม ๒ ปี รุ่นเดียวกับพี่สาวของพระเต็ม ข้าพเจ้ามีความรู้สึกรักและนับถือ “พี่หมอ” เป็นพี่สาวแท้ ๆ กลอนของเพชราเป็นกลอนรักหวานปนเศร้า นามแฝง เพชรา ณ เวียงแก้ว ที่พี่หมอตั้งขึ้นเอง โด่งดังในรายการกวีสวรรค์มากเหมือนกัน
เมื่อคนในตำบลหัวเวียงเขียนกลอนส่งรายการกวีสวรรค์มากขึ้นเรื่อย ๆ ชื่อหัวเวียงจึงติดหูคนฟังวิทยุ จทล. ลพบุรี พวกเราจึงรวมตัวตั้งชมรมกวีขึ้น ใช้ชื่อว่า “ชมรมกวีศีรษ์เวียง” ดูเหมือนจะเป็นชมรมแรกในภูธร ต่อนั้นไม่นาน สมจิตร คชฤทธิ์ แห่งพระพุทธบาทสระบุรี แก้วศิริ พุแค อุทัย เก่าประเสริฐ ประยูร กั้นเขต แห่งลพบุรี ก็รวมตัวกันกับเพื่อน ซึ่งเป็นแฟนรายการกวีสวรรค์ จัดตั้ง “ชมรมกวีศรีนารายณ์” จากนั้นก็มีการจัดตั้งชมรมกวีในภูธรอีกหลายชมรมตามมาเป็นแถวเลย
กลอนที่เขียนกันสนุกในอารมณ์คนเขียนและสนุกในอารมณ์คนฟังรายการกวีสวรรค์ เห็นจะไม่มีอะไรเกินกว่าการเขียนโต้ตอบกัน เป็นผลให้คนฟังและคนเขียนติดตามรับฟังรายการนี้ติดพันกัน คนเขียนคอยฟังว่าเมื่ออบโต้ไปอย่างนั้นแล้ว ฝ่ายโน้นจะโต้ตอบว่าอย่างไร (คนฟังก็คิดเช่นนั้น) เมื่อฝ่ายโน้นตอบโต้มาแล้ว ก็จดจำประเด็นสำคัญในกลอนนั้น รีบเขียนตอบโต้ไปทันที กลอนที่เขียนโต้อบกันนั้นเป็นเรื่องความรักบ้าง ปริศนาธรรมบ้าง ปรึกษาปัญหาชีวิตบ้าง ปัญหาหัวใจบ้าง คำที่โต้ตอบกันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนรุนแรงอย่างกลอนลำตัด เพลงฉ่อย ก็มี แต่คุณประยูร ผู้ดำเนินรายการจะไม่ยอมอ่านออกอากาศดอกครับ
ดูเหมือนว่าข้าพเจ้าจะมีคนเขียนโต้ตอบมากกว่าใคร ๆ คู่โต้ตอบที่สำคัญของข้าพเจ้าเป็นสาวสุพรรณนาม “ยินดี สุขนคร” อยู่ตลาดท่าช้าง อำเภอเดิมบางนางบวช แดนเสื้อฝ้าย จอมโจรผู้ยิ่งใหญ่และยิ่งยงแห่งเมืองสุพรรณนั่นเอง สำนวนกลอนของเขา ส่วนมากออกมาในรสพิโรธวาทัง แดกดัน กระแนะกระแหน ประชดประชัน กระฟัดกระเฟียด เจ้าแง่เจ้างอน. ข้าพเจ้าเป็นคนไม่ชอบให้ใครเอาอกเอาใจ ออเซาะ อออดอ้อน อยู่แล้ว กลอนของเขาตรงกับนิสัยข้าพเจ้าพอดี ก็เลยเขียนตอบโต้กันสนุกไปเลย
ด้วยวัยใกล้เบญจเพสของข้าพเจ้า ไฟอารมณ์ความคิดกระตือรือร้นในเรื่องต่าง ๆ จึงมีมาก ดังนั้นเมื่อ “บ้ากลอน” เสียแล้ว ในวันหนึ่ง ๆ จึงเขียนกลอนได้ไม่น้อยกว่า ๓ สำนวน ความยาวของกลอนตั้งแต่ ๘ บทขึ้นไป (เพราะกลอนตอบโต้ต้องใช้ความยาวมาก) จนพี่สมฤดีมักอุทานเสมอว่า
“อื้อฮื้อ..ไปเอาความคิดที่ไหนมาเขียนได้มากมายอย่างนี้”
เป็นเพราะเขียนกลอนวันละหลายสำนวนนี่แหละ จำเป็นต้องตั้งนามปากกา ใช้นามแฝงเพิ่มขึ้น ตอนนั้นนาม “นันท์ นาคเกษม” ติดหูคนฟังแล้ว เพิ่มนามใหม่อีกว่า ”เพลิน พจน์มาลย์” ใช้กับสำนวนหญิงอีกนามว่า “จินตนา นาคเกษม” และอีกหลายนามที่ลืมไปแล้ว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๗๕ - แดน เวียงเดิม เป็นนามแฝงของน้องเณรองค์หนึ่ง นามนี้โด่งดังในรายการกวีสวรรค์พอสมควรเหมือนกัน คนนี้ชอบแต่งกลอนกลบทที่ชื่อ "กบเต้นต่อยหอย" คลิก กลบทนี้ข้าพเจ้าก็ชอบ แต่แต่งได้ไม่ดีเท่าน้องแดน เวียงเดิม แบบอย่างกลบทนี้พวกเรายึดถือตามหนังสือศิริวิบูลกิตติ์ ของหลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ซึ่งรวมแบบกลอนกลบทต่าง ๆ คลิก มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และจากจารึกวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เฉพาะกลอนกลบทกบเต้นต่อยหอยนั้นตามแบบมีอยู่ว่า
“ถ้าพอมีที่ผู้มาว่ากาขาว คำที่กล่าวข่าวที่กลั่นนั้นเชื่อได้ จัดว่าหญิงจริงว่าอย่าได้เชื่อใจ แน่จะกลับนับจะไกลจงเกลียดกลัว...”
นอกจากกลบทกบเต้นต่อยหอยแล้ว ยังมีกลบทอีกหลายแบบที่พวกเรานำมาแต่งกัน
กลอนเกี้ยวพาราสีหรือกลอนจีบกันน่ะเหร่อครับ พระเขียนกลอนประเภทนี้เยอะเลย ข้าพเจ้าเองก็เขียนไปกะเขาด้วยเหมือนกัน มีคำถามกันว่า พระเขียนกลอนรักเกี้ยวหญิงเป็นอาบัติไหม มีพระพุทธบัญญัติเป็นวินัยของพระภิกษุอยู่ว่า “ภิกษุมีความมีความกำหนัดอยู่พูดเกี้ยวหญิงต้องสังฆาทิเสส” พระอาจารย์บางท่านว่า การเขียนกลอนเกี้ยวหญิงไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส เพราะเขียนเกี้ยวไม่ได้พูดเกี้ยว พูดอย่างนี้ก็เหมือน "เลี่ยงบาลี" คลิก ประเด็นนี้เห็นจะต้องอภิปรายกันหน่อย เพื่อกันมิให้ผู้ไม่รู้จริงทั้งหลายผลีผลามพูดปรับอาบัติพระง่าย ๆ เป็นบาปกรรมไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
คำว่า เกี้ยว ท่านให้คำหมายจำกัดความว่า ได้แก่ “การพูดพาดพิงเมถุนธรรม” คำว่า “เมถุนธรรม” ได้แก่การร่วมรัก เสพสังวาส หรือ มีเพสสัมพันธ์ อะไรนั่นแหละ ภิกษุพูดเกี้ยวหญิงแล้วต้องเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าพูดโดยไม่มีความกำหนัด เช่นพูดว่าเธอสวยมาก น่ารักมาก ฉันรักเธอมาก อย่างนี้ไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าพูดด้วยความกำหนัดตามรู้สึกว่า เธอสวยน่าเสพเมถุนมาก ขอเสพเมถุนเธอได้ไหม อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ถือว่ามีความกำหนัดอยู่พูดเกี้ยวหญิงด้วยความกำหนัดนั้น ต้องเป็นอาบัติสังฆาทิเสสแน่นอน
ถ้ามีความกำหนัดอยู่แล้วเขียนกลอนเกี้ยวล่ะ เป็นสังฆาทิเสสไหม ? คำถามนี้ต้องวินิจฉัยให้รอบคอบหน่อย สมมุติเอานะว่า ขณะที่ภิกษุเขียนกลอนเกี้ยวหญิงด้วยความกำหนัดนั้น หญิงยังไม่ได้อ่านจึงไม่รู้ว่าพระเขียนกลอนเกี้ยว อย่างนี้พระนั้นไม่ควรจะเป็นอาบัติสังฆาทิเสส และเมื่อเขียนเกี้ยวด้วยความกำหนัด แล้วส่งสารนั้นไปให้หญิง แต่ความกำหนัดของท่านหมดไปก่อนสารนั้นไปถึงหญิง อย่างนี้ท่านก็ไม่ควรจะเป็นอาบัติ (เพราะความกำหนัดที่เคยมีนั้นไม่อยู่แล้ว) สิกขาบทนี้บัญญัติไว้ว่า “มีความกำหนัดอยู่พูดเกี้ยวหญิง” เท่านั้น พระภิกษุพูดเรื่องรัก เขียนกลอนรัก โดยไม่เกี้ยว ย่อมไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสสด้วยประการฉะนี้
เท่าที่สังเกตดูกลอนรักที่เขียน ๆ กันนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส ไม่ค่อยมีใครเขียนเกี้ยว (พาดพิงเมถุนธรรม) แม้จะออดอ้อนวอนขอรักกันบ้างก็ไม่ถึงกับเกี้ยวตามภาษาวินัยนี้ มีแต่พูดแบบเฉี่ยวไปเฉี่ยวมาไม่พูดตรง ๆ เป็นเพียงให้รู้กันอยู่นัย ๆ เท่านั้น ข้าพเจ้าไม่ถนัดเขียนกลอนรัก และก็ไม่กล้าเขียนกลอนรักด้วย มันกระดากใจจนคิดเขียนไม่ออก แม้เพียงความคิดก็ยังอายไม่กล้าคิด ด้วยหิริโอตัปปะมีอิทธิพลอยู่เหนือจิตใจมากทีเดียว
ข้าพเจ้าเอยู่วัดจันทร์นอกได้สองปี ก็มีพระภาคกลางเข้าอยู่ด้วยเพิ่มขึ้นองค์หนึ่ง พระองค์นี้บ้านเดิมอยู่อำเภอพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี บวชเป็นพระแล้วไปอยู่วัดบางจักร อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง ชื่อว่า พระสอน (ขอสงวนฉายาและนามสกุล) พระองค์นี้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระเต็ม และมีบทบาทสำคัญเกี่ยวพันกับพระเต็มมากทีเดียว พระสอนมีอะไรขำ ๆ ชอบทำอะไรแผลง ๆ เพื่อนพระเขาเรียนบาลีเป็นหลัก เรียนกวดวิชาทางโลกเป็นส่วนประกอบ แต่พระสอนเรียนกวดวิชา ม.๓ ม.๖ ม.๘ เป็นหลัก ภาษาอังกฤษเป็นส่วนประกอบ เขาสอบได้ใบประกาศของกระทรวงศึกษาฯจริง ๆ เพียงแค่ชั้น ม.๓ ส่วน ม.๖ นั้นได้มาจากการซื้อใบสุทธิของโรงเรียนราษฎร์แห่งหนึ่ง เขาสอบวิชาครู พ.กศ. ได้ ๔ ชุด นอกนั้นซื้อเอาโดยไม่ต้องสอบ ภาษาอังกฤษของเขาพูดกับฝรั่งมังค่าได้รู้เรื่องค่อนข้างดี
สมัยนั้น (ยุคกึ่งพุทธกาล) การประกาศหามิตร (เพื่อน) ทางหน้าหนังสือพิมพ์เป็นที่นิยมกันมาก พระสอนลงประกาศหามิตรในคอลัมน์หนังสือพิมพ์สกุลไทยรายสัปดาห์ พอหนังสือพิมพ์ฉบับที่มีชื่อเขาประกาศหามิตรนั้นออกวางตลาดได้สัปดาห์เดียว ปรากฏว่าบุรุษไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งให้เขาวันละไม่ต่ำกว่า ๑๐ ฉบับ แสตมป์ไปรษณีย์ติดซองจดหมายสมัยนั้นดวงละ ๒๕ สตางค์เท่านั้น จึงไม่มีใครเสียดายเงินค่าแสตมป์ส่งจดหมาย พระสอนรับจดหมายไปรษณีย์แล้วเปิดอ่านเพลินไปเลย บ่ายวันหนึ่งข้าพเจ้าเข้าไปในห้องพระสอน เห็นเขานอนเอามือก่ายหน้าผาก ข้างที่นอนมีซองจดหมายที่เปิดอ่านแล้วบ้าง ยังไม่ได้เปิดอ่านบ้าง วางอยู่ก่ายกองไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ฉบับ พอเห็นข้าพเจ้าเข้าไปหา เขารีบลุกขึ้นนั่งมองหน้าเพื่อนด้วยดวงตาละห้อย
“เต็มช่วยแบ่งไปบ้างซีเพื่อน ผมตอบไม่ไหวแล้ว” เขากล่าวด้วยอาการท้อแท้
“จะดีรื้อ...เขาเขียนมาถึงทั่นแล้วผมจะเอาไปตอบได้ยังไงล่ะ”
“เอาไปเถอะ จดหมายนี่ส่วนมากเขาจะถามมาว่า ชื่อนี้เป็นชื่อจริงหรือปลอม ทั่นก็เอาไปตอบว่าเป็นชื่อปลอม และบอกชื่อของทั่นว่าเป็นชื่อจริง ให้เขาจดหมายติดต่อกับทั่นในชื่อจริงก็สิ้นเรื่อง เอานะช่วยกันหน่อย”
ถูกคะยั้นคะยอขอร้องอย่างนั้นข้าพเจ้าก็นั่งร่วมวงเลือกจดหมายที่เขียนมาถามว่า ชื่อนี้เป็นชื่อจริงหรือปลอม เลือกฉบับที่ลายมือสวยงามอ่านง่ายไว้เป็นเพื่อน ๕ ฉบับ ทุกฉบับที่เลือกไว้นั้น เจ้าของเป็นนักเรียนมัธยมปลายบ้าง นักเรียนอาชีวะบ้าง จากบุรีรัมย์คนหนึ่ง นครราชสีมาคนหนึ่ง ลำปางคนหนึ่ง พิษณุโลกคนหนึ่ง สุราษฎร์ธานีคนหนึ่ง การตอบจดหมายของข้าพเจ้าไม่เหมือนเพื่อน ๆ ที่เขียน “จีบ” กัน ข้าพเจ้าเขียนสนทนากันในเชิงวิทยาสาระ คือให้และขอความรู้แก่กันและกัน ในด้านสังคม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ปรัชญา บอกเล่าประสบการณ์ของกันและกัน ข้าพเจ้าชอบที่จะเขียนทางเชิงแนะนำสั่งสอนแบบผู้ใหญ่ ให้คำแนะนำสั่งสอนผู้น้อย ไม่คิดจะเขียนจดหมายในเชิงหาคู่ชู้สาวตามความนิยมของคนสมัยนั้น
นักเรียนสาวจำนวน ๕ คนที่เขียนจดหมายติดต่อกับข้าพเจ้านั้น ๔ คนมีปัญหาในครอบครัว คนหนึ่งแม่ตายพ่อมีเมียใหม่ คนหนึ่งพ่อกับแม่แยกกันอยู่คนละทางโดยเธออยู่กับแม่ คนหนึ่งพ่อแม่ไม่มี (ตาย) เธออยู่กับป้า-ลุงเชย คนหนึ่งพ่อขี้เมาไม่ทำการงาน แม่ค้าขายหารายได้เลี้ยงครอบครัว พวกเธอมีปัญหามากมายให้ข้าพเจ้าต้องตอบแก้ ก็เลยต้องทำหน้าที่ปลอบใจให้คำแนะนำแข่งกับ “ศิราณี” (ถนอม อัครเศรณี) ที่เขียนแก้ปัญหาปลอบใจใคร ๆ อยู๋ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จนมีมีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นนั่นเทียว
คนเดียวที่ไม่มีปัญหาครอบครัวจะต้องปรึกษาข้าพเจ้า เธอเป็นนักเรียนอาชีวะบุรีรัมย์ เด็กคนนี้เขียนจดหมายคุยสนุก สอนให้ข้าพเจ้ารู้ภาษาเขมรหลายคำ เพราะเธอเป็นคนมีเชื้อสายเขมรสูง บ้านอยู่อำเภอสะตึก ส่งภาพในชุดนักเรียนมาให้ ๑ ใบ เป็นเด็กผมยาวถักเปียสวยงาม หน้าตาเธอแม้ไม่สวย แต่คมขำน่ารักดี ปกติแล้วข้าพเจ้าเห็นเด็กหญิงไว้ผมเปีย เด็กชายไว้เปีย โก๊ะ แกละ แล้วจะชื่นชอบรักและเอ็นดูเสมอมา ดังนั้น อารีย์ เด็กสาวผมเปียจากบุรีรัมย์คนนี้จึงเป็นคนที่ข้าพเจ้าชื่นชอบมาก /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|