บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๔๖ – วัดหัวเวียง เป็นวัดที่มีกุฎีที่อยู่อาศัยของพระ-เณรไม่มากนัก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อยที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านสิงห์บุรี อำเภอโพธิทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง อำเภอผักไห่ ผ่านวัดหัวเวียงลงไปประสานกับแม่น้ำน้อยสายสุพรรณ-บ้านแพน ที่ตลาดบ้านแพน แล้วไปสีกุก (อำเภอบางบาล) ลงรวมเจ้าพระยาในเขตอำเภอบางไทร ตรงหน้าวัดหัวเวียงยังมีแม่น้ำอีกสายหนึ่งไหลแยกจากแม่น้ำน้อยไปอำเภอบางบาล ดังนั้นหน้าวัดหัวเวียงจึงเป็นสามแยกของแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านทุ่งราบลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก
ข้าพเจ้าเดินทางไปอยู่วัดหัวเวียงล่าช้ากว่าเพื่อน ผู้ที่เดินทางไปก่อนก็เข้าอยู่ประจำในกุฏิต่าง ๆ เต็มไปหมด เมื่อไปถึงก็ไม่มีห้องให้เข้าอยู่แล้ว แต่ก็มีที่พักสำรองไว้หลายแห่ง มีวัดสุวรรณเจดีย์ อยู่ตรงข้ามกับวัดหัวเวียง วัดบางกระทิง อยู่เลยวัดสุวรรณเจดีย์ขึ้นไปทางเหนือ วัดทางใต้ก็มีวัดโบสถ์ วัดยวด ข้าพเจ้ากับสามเณร ๔ องค์ตกลงใจไปพักอยู่วัดโบสถ์ ด้านใต้วัดหัวเวียง ที่วัดนี้มีพระหลวงตาอยู่ประจำ ๕-๖ องค์ สมภารก็เป็นพระหลวงตาที่ไม่สนใจอะไรมากไปกว่า “เอกลาภ” สำหรับตน ท่านให้ข้าพเจ้าเข้าอยู่ในกุฏิเก่า ๆ ประตูห้องไม่มี บานหน้าต่างก็ผุใกล้จะพัง หลังคากระเบื้องมีรอยโหว่ กุฏิหลังนี้กันแดดกันลมพอได้ แต่กันฝนเห็นจะไม่ได้ ข้าพเจ้ากับเพื่อนเณรต้องจำใจอยู่ไปก่อน การเดินทางไปเรียนที่วัดหัวเวียงนั้น ถ้าไม่ลงเรือเมล์ไปก็ต้องพายเรือไป ถ้าไม่ใช้เรือก็เดินไป โดยลงเรือข้ามฟากคลองมโนราห์แล้วเดินเท้าไป ตอนลงเรือพายข้ามฟากนี่ก็เรือล่มเปียกปอนบ่อย ๆ
ทางเดินจากคลองมโนราห์ไปวัดหัวเวียงนั้น เดินไปเป็นระยะทางประมาณ ๖ กม.เศษ พวกข้าพเจ้าสมัครใจเดินเท้ามากกว่าจะใช้เรือไปทางน้ำ ทางเดินสายนี้เป็นกึ่งถนนดินกึ่งคันนาขนาดใหญ่ใช้ เดินตัดทุ่งนาจากคลองมโนราห์ตรงไปวัดหัวเวียง ระหว่างทางเดินศาลาพักร้อน ๑ หลังตั้งอยู่กึ่งกลางของระยะทางเดินเลยศาลาไปประมาณ๒๐๐ เมตร มีต้นสะตือไม้ขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านเป็นปริมณฑลร่มรื่นให้พักเหนื่อยได้เป็นอย่างดีทุกวันธรรมดา (ไม่ใช่วัดโกน วันพระ) ข้าพเจ้ากับสามเณรไสว, สุชิน, สมยศ, สายบัว ฉันเพลเสร็จแล้วก็ลงเรือข้ามคลองมโนราห์เดินเท้าในเส้นทางสายนี้ ไปเรียนหนังสือที่วัดหัวเวียงเป็นประจำพวกเราพำนักอยู่ที่วัดโบสถ์ได้เดือนเศษ ก็มีเหตุให้ต้องจากวัดนี้ไปอยู่วัดหัวเวียง
วันนั้น (จำได้ไม่ลืมเลือน) ข้าพเจ้านำพาเณรบริวารเดินทางเท้าไปเรียนหนังสือตามปกติ แต่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้น กล่าวคือ เมื่อเดินผ่านศาลาพักร้อนริมทาง แล้วผ่านต้นสะตือไปได้ประมาณร้อยเมตรเศษ เป็นระยะค่อนทางที่ใกล้จะถึงวัดแล้ว ก็พบกระบือ (ควาย) ฝูงหนึ่งมี ๓ ตัว มันเห็นพระเณรห่มผ้าจีวรสีเหลืองเข้มเดินตามกันมาเป็นกลุ่ม ก็เบิ่งตามองพร้อมกับทำท่าฮึดฮัดหันรีหันขวางเหมือนอย่างไม่พอใจ แล้วเดิน ๆ หยุด ๆ เข้าหาพวกเราอย่างประสงค์ร้าย พวกเณรเห็นดังนั้นก็หยุดยืนรีรออยู่ด้วยความหวาดกลัว ข้าพเจ้าเป็นพระและเป็นผู้นำของหมู่ จึงต้องแสดงความกล้าให้ปรากฏว่าสมกับกับเป็นผู้นำ
“ไม่ต้องกลัวมันหรอกเณร เดินตามผม ไป !”
ว่าแล้วก็ยึดอกเดินนำหน้าเณรด้วยมาดที่คิดว่า องอาจสมกับการเป็นผู้นำมากที่สุดเดินเข้าหาฝูงควายที่เดินสวนทางมา แต่เดิมนั้นควายมันเดิน ๆ หยุด ๆ ครั้นข้าพเจ้าเดินตรงไปหามัน พวกมันก็พากันวิ่งเหยาะ ๆ เข้าหาข้าพเจ้า เมื่อเห็นท่าไม่ดีก็เหลียวหลังมองดูหมู่เณร พบว่าพวกเณรกำลังพากันหันหลังกลับ “ใส่ตีนหมา” วิ่งหนีไปสู่ศาลาที่พักริมทางแล้ว ข้าพเจ้าจะทนอวดความกล้าอยู่ได้อย่างไร
วิ่ง! ซีครับ
พอหันหลังกลับวิ่งหนี เจ้ากระบือทั้ง ๓ มันก็วิ่งไล่ตามอย่างรวดเร็ว พวกเณรนั้นพากันวิ่งไปถึงศาลาริมทางหมดแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังห่างไกลศาลาอยู่มาก เห็นว่าจะหนีไปที่ศาลาไม่ทันแน่ รองเท้าฟองน้ำที่ใส่เดินทางก็หลุดกระเด็นหายไปขางหนึ่ง วิ่งถึงต้นสะตือ ความคิดก็แว่บขึ้นมาว่า “ให้ขึ้นต้นสะตือหนีควาย” จึงเข้าหาต้นสะตือ ปีนผิดปีนพลาดด้วยความลนลาน ควายตัวหน้าวิ่งเข้าขวิดทันที ข้าพเจ้าเบี่ยงตัวหลบพ้นหวุดหวิด เหลือบไปเห็นกิ่งสะตือทอดยาวอยู่ไม่สูงนัก ก็กระโดดขึ้นคว้ากิ่งไม้นั้นแล้วโหนตัวขึ้นไปนั่งบนกิ่งสะตือได้อย่างปาฏิหาริย์ พอตั้งสติได้ก็ไต่กิ่งสะตือเข้าหาลำต้น นั่งอยู่บนค่าคบไม้เพิ่มความปลอดภัยให้ตนเอง
เจ้าควาย ๓ ตัวนั่นมันเหมือนเป็นบ้าไปแล้ว พากันขวิดลำต้นสะตืออย่างดุดัน
ห่างจากต้นสะตือนั้นไปทางทิศตะวันออกไม่ไกลนัก มีโรงสีข้าวนึ่งของ “เสี่ยโอฬาร” ขนาดใหญ่ ลานตากข้าวกว้างมาก คนงานหญิงสาวหลายสิบคนกำลังทำงานกันอยู่ เห็นกระบือวิ่งไล่ขวิดพระเณรก็ยกมือ “ชี้โบ้ชี้เบ้” เอะอะโวยวาย แต่ก็ไม่มีใครมาช่วยไล่ควายให้สักคน ข้าพเจ้านั่งบนค่าคบสะตือ มองดูสถานการณ์รอบ ๆ แล้ว นึกขำตัวเอง และอายสาว ๆ โรงสีข้าวนึ่งด้วย เจ้ากระบือบ้า ๓ ตัวนั้นมันก็เฝ้าเดินวนเวียนอยู่ใต้ต้นสะตือไม่ยอมจากไป
เรื่องควายไล่ขวิดพระนี้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว ว่ากันว่าควายมันเกลียดสีเหลืองสีแดง (เพราะอะไรก็ไม่รู้) สมัยที่เป็นสามเณร ข้าพเจ้าก็เคยถูกควายไล่ขวิด แต่ไม่รุนแรงน่าหวาดเสียวเหมือนครั้งนี้ ก่อน ๆ นั้น เมื่อควายมันวิ่งเข้าหา ข้าพเจ้าถือร่มกันแดดสีดำอยู่ก็กางร่ม “พรึ่บ!” ใส่มัน มันก็ตกใจหยุดชะงักแล้วหันหลังหนีไป ครั้งเป็นเด็กอยู่บ้านที่สุพรรณบุรีเคยได้ยินได้ฟังเขาบอกเล่ากันว่า พระอาจารย์แย้ม วัดหนองหิน ถูกควายไล่ขวิด ท่านสู้ควายจนชนะ ในเรื่องบอกเล่ากล่าวว่า พระอาจารย์แย้มเดินทางจากวัดไปในกิจนิมนต์ต่างบ้านต่างตำบล พบควายดุร้ายตัวหนึ่ง วิ่งไล่ขวัดท่าน ท่านก็วิ่งหนีวนจอมปลวกหลายรอบจนเหนื่อย แล้วจึงตัดสินใจสู้ควาย เมื่อท่านหยุดชะงักฉับพลัน ควายก็หยุดชะงักเช่นกัน ท่านตัดสินใจเข้าจับสายสะพายที่สนจมูกควายไว้ มือหนึ่งกอดคอ มือที่จับสายสะพายก็ดึงกดลง เจ้าควายนั้นเมื่อถูกจับสายสะพายกดดึงก็หมดฤทธิ์ ก้มหน้านิ่งอยู่นานจนเจ้าของตามมาทันจึงช่วยพระอาจารย์แย้มได้
ตอนที่ยังเป็นสามเณรอยู่วัดหัวโคกนั้น เคยพบเห็นพระอาจารย์แย้มองค์ที่กล่าวถึงนี้ ท่านเป็นคนเชื้อชาติเขมร “ชนกลุ่มน้อย” อยู่ในตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี รูปร่างกำยำล่ำสัน ใหญ่โต ไม่ผอมเกร็งเหมือนชาวเขมรทั่วไป ผิวดำ พูดจาเสียงดัง แต่ฟังไม่ชัด เพราะสำเนียงเขมรของท่านไม่คุ้นหูคนไทย
พระเต็มนั่งแกร่วอยู่บนค่าคบต้นสะตือนานเป็นชั่วโมง สำนึกย้อนไปถึงอดีตที่เป็นลูกชาวนาเติบโตมาใน “กลิ่นโคลนสาบควาย” เลี้ยงควายจนคุ้นเคยในนิสัยใจคอของควาย เคยปีนขึ้นหลังควายตั้งแต่เป็นเด็กน้อยจนเป็นเด็กโต หัดปีนขึ้นหลังมันทางก้น โดยเหยียบโคนขาหลังถีบตัวขึ้นไปจนชำนาญ แล้วก็หัดปีนขึ้นทางด้านข้างโดยเหยียบโคนขาหน้าของมัน ถีบตัวขึ้นขี่หลังมัน และยังหัดขึ้นขี่หลังมันทางคอ โดยเหยียบโคนเขามันแล้วถีบตัวขึ้นไปทางคอ เพื่อน ๆ เคยตกหลังควาย บางคนบาดเจ็บถึงกับ “แขนคอก” ข้าพเจ้าไม่เคยตกเหมือนเพื่อน ๆ เลี้ยงควายจนรักควายมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ใช้ควายไถนา ลากคราด ลากเกวียน ลากล้อเลื่อน นวดข้าว และสารพัดที่จะใช้งานมัน นึกไม่ถึงเลยว่าวันนี้ควายจะเห็นข้าพเจ้าเป็นศัตรูคู่อาฆาต ไล่ขวิดอย่างไม่ปรานี นั่งก้มลงมองดูเจ้าควายตัวหนึ่งที่ยืนเบิ่งมองข้าพเจ้าอยู่ใต้ต้นไม้ แล้วคิดจะเอาอย่างพระอาจารย์แย้ม โดยโดดลงไปคว้าสายสะพายและกอดคอมัน แต่ก็ไม่กล้า เพราะกลัวว่าอีกสองตัวที่ยืนคุมเชิงอยู่นั้นจะเข้ามารุมขวิดเอาตาย
ผู้หญิงคนงานโรงสีข้าวนึ่งไปบอกข่าวให้มรรคทายกวัดหัวเวียงรู้ว่า ควายไล่ขวิดพระเณร และมีพระหนีขึ้นไปอยู่บนต้นสะตือ โยมแววจึงไปช่วยไล่ควายให้หนีไป ข้าพเจ้าลงต้นสะตือแล้วยืนรอเณรทั้งสี่องค์มาสมทบ เดินทางไปเข้าเรียนได้ตามปกติ
บอกเล่าเรื่องที่ถูกควายไล่ขวิดให้หลวงพ่อเจ้าคุณเทพความฟัง ท่านหัวเราะหึ ๆ ด้วยความขบขันแล้วชมว่าข้าพเจ้าเก่งที่โดดขึ้นต้นสะตือได้และว่า “คนเรานี่เมื่อเกิดความตกใจกลัวอย่างสุดขีดแล้วมักทำอะไร ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่ออย่างนี้แหละ” ก็เลยถือโอกาสกราบเรียนท่านว่า “พวกผมขอกลับมาอยู่วัดหัวเวียง ไม่อยู่วัดโบสถ์ต่อไปอีกแล้ว” เพราะไม่มีกุฏิจะพักอาศัย หลวงพ่อเจ้าคุณจึงอนุญาตให้ข้าพเจ้าพักอยู่ในโรงอุโบสถกับสามเณรสนิทอีก ๑ องค์
“เณรหนิด” มาจากวัดสุคนธาราม (กระเถิบ) อำเภอบางซ้าย เป็นคนเงียบขรึม ปากหนัก ใจเย็น เพื่อนเณรด้วยกันเรียกเขาว่า “ไอ้ที่ม” ในวงสนทนาเขาไม่เคยปริปากพูดคุย เอาแต่นั่งยิ้มฟังอยู่ข้างเดียว ไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งกับใคร จึงอยู่ร่วมโบสถ์กับข้าพเจ้าได้อย่างดี เขาพักอาศัยอยู่ตรงซอกที่ว่างหลังแท่นพระประธาน ส่วนข้าพเจ้านอนตรงซอกที่ว่างทางเดินด้านเหนือแท่นพระประธาน สำหรับซอกด้านใต้พระประธานนั้นละไว้เป็นทางเดินเข้าออกด้านหลังโรงอุโบสถ ประตูโบสถ์ด้านหลังบานเหนือตรงกับที่ข้าพเจ้าพักอยู่นั้นถูกปิดตาย /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, สายน้ำ, ลิตเติลเกิร์ล, ฝาตุ่ม, ชลนา ทิชากร, หยาดฟ้า, กรกันต์, ข้าวหอม, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลายเมฆ, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๔๗ - พระอาจารย์เส็ง ผู้ติดตามหลวงพ่อเจ้าคุณเทพมาจากกรุงเทพฯ เป็นพระอาวุโสสูงรองจากหลวงพ่อเจ้าคุณ บอกเล่าให้พวกเราฟังว่า หลวงพ่อเจ้าคุณนั้น เดิมทีเป็นคนดุ อารมณ์ร้อน อยู่สำนักวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ พระมหาเทพเป็นศิษย์ใกล้ชิดองค์หนึ่งของท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถร) และเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสำนักเรียนวัดมหาธาตุ มีเพื่อนคนสนิท (คู่หู) อยู่วัดโพธิ์ท่าเตียน ชื่อพระมหาเจีย (ป.ธ. ๙) พระมหาหนุ่มทั้งสองเป็นคนมีอารมณ์ขันชอบพูดตลก “สองแง่สองง่าม” และ “คำผวน” แต่เวลาสอนนักเรียนพระมหาเทพจะกลายเป็นคนดุที่นักเรียนพากันเกรงกลัว ต่อมาท่านย้ายจากวัดมหาธาตุไปเป็นครูสอนบาลีที่วัดประตูฉิมพลี ธนบุรี ตามคำขอของ (หลวงปู่โต๊ะ) ท่านเจ้าอาวาสวัดนั้น ว่ากันว่า เจ้าอาวาสสร้างกรงเหล็กให้พระมหาเทพเข้าไปอยู่ในกรงเหล็กขณะทำการสอนนักเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้ทำร้ายร่างกายนักเรียน ดังที่เคยปรากฏว่า “เตะก้านคอสามเณรจนสลบ” มาแล้วบ้าง “ตีเณรหัวแตก” มาแล้วบ้าง แม้กระนั้นก็ยังไม่วาย ยามโกรธขึ้นมาท่านก็จับซี่ลูกกรงเหล็กเขย่าโครม ๆ อยู่เสมอมา คำบอกเล่าของอาจารย์เส็งจะเท็จจริงอย่างไรไม่รู้ ท่านอาจจะเล่าเรื่องขู่ให้พวกเรากลัวหลวงพ่อเจ้าคุณก็ได้
แต่ที่ข้าพเจ้าได้รู้จัก ท่านไม่ดุอย่างที่เคยมีข่าวลือว่าท่านเป็นคนดุ และ พระอาจารย์เส็งก็บอกเล่าว่าท่านดุ เคยได้ฟังเรื่องราวของหลวงพ่อเจ้าคุณมาก่อนหน้านี้ว่า มีคนร้ายระดับ “ไอ้เสือ” นักฆ่านักปล้น (โจร) หนีตำรวจมาบวชอยู่กับท่านหลายคน ตำรวจตามมาพบเข้าก็ต่อว่า
“ท่านเจ้าคุณบวชโจรผู้ร้ายได้อย่างไร พวกนี้มีคดีอุกฉกรรจ์ทั้งนั้น”
“อ้าว...! ก็ข้าจับไว้ให้แล้ว ไม่ต้องเที่ยวหาให้เหนื่อย อย่างนี้ไม่ดีรึ ถ้าข้าไม่ช่วยจับไว้ให้ป่านนี้มันหนีไปไหนก็ไม่รู้?” ท่านตอบพร้อมหัวเราะหึ ๆ เจ้าหน้าตำรวจก็พากันนั่งจังงังเมื่อได้ฟังคำตอบของท่านที่มีเหตุผลสมบูรณ์ยิ่งนั้น
“เอาซี่ อยากได้ตัวไปดำเนินคดี ข้าก็จะสึกมันให้” ว่าแล้วก็เรียกพระอดีตคนร้ายนั้นมาทำการสึกให้ ตำรวจก็กราบลาด้วยความเคารพ พร้อมกับควบคุมตัวคนร้ายนั้นไป
ปีที่ข้าพจ้าไปอยู่วัดหัวเวียงนั้น มีพระอยู่ในวัยปูน หลวงน้า หลวงอา หลวงลุง หลวงตา อยู่หลายองค์ บางองค์มีอดีตเป็นนักฉกชิงวิ่งราว นักลักเล็กขโมยน้อย นักปล้น นักฆ่า ที่ทางการยังตามจับไม่ได้ บางองค์ก็ขี้เหล้าขี้ยา นักการพนัน บางองค์เลิกละนิสัยเลวร้ายได้ บางองค์ก็เบาบางลงมาก บางองค์ยังละเลิกไม่ได้ เฉพาะผู้ที่ดื่มสุราและดูดกัญชา ยังคงแอบดื่มสุรา แอบนำใบกัญชามาผสมยาสูบ มวนสูบกันเป็นประจำ หลวงพ่อเจ้าคุณท่านก็รู้ แต่ทำเป็นเหมือนไม่รู้ไม่เห็น
ทุกวันพระที่มีการทำบุญกันบนศาลาการเปรียญ หลวงพ่อเจ้าคุณเทพไม่ลงไปนั่งเป็นประธานสงฆ์เหมือนอย่างสมภารวัดทั่วไป ให้พระอาจารย์เส็งหรือไม่ก็องค์อาวุโสรอง ๆ ลงไปนั่งเป็นประธานแทน ส่วนตัวหลวงพ่อเจ้าคุณจะถือขันข้าวสุกลงไปใส่บาตรร่วมกับชาวบ้าน บางวันท่านก็ประกาศกลางศาลาว่า
“นี่พวกแกกราบไหว้พระบนอาสน์สงฆ์น่ะ เลือกไหว้เอาเน้อ! พระข้ามีหลายชนิด ขี้เหล้าขี้ยามีทั้งนั้น”
คำประกาศดังกล่าวนี้แสดงว่าท่านรู้ว่ามีพระในวัดท่านแอบดื่มเหล้าและสูบกัญชา ท่านไม่ว่ากล่าวตัวพระโดยตรง แต่ต้องการให้ประชาชนพากันติเตียนนินทา หรือ “ปรับอาบัติโลกวัชชะ” พระขี้เหล้าขี้ยาเหล่านั้น
หลวงพ่อไวย์ พระอุปัชฌายาจารย์ของข้าเจ้า เลี้ยงหมาไว้เต็มวัดดังได้กล่าวมาแล้ว ครั้นมาอยู่กับหลวงพ่อเจ้าคุณเทพก็ไม่พ้นที่จะต้องอยู่กับหมา เหมือน “หนีเสือมาปะจระเข้” นั่นเทียว หมาหลวงพ่อเจ้าคุณเทพร้ายกว่าหมาหลวงพ่อไวย์เป็นหลายเท่า เจ้าตัวโปรดของท่านมันมีชื่อว่า “ไอ้จ้อน” ไม่มีความสวยงามและน่ารักอะไรเลย ตัวเป็นโรคขี้เรื้อน ซ้ำนิสัยก็น่าเกลียด มันเฝ้าอยู่หน้าห้องหลวงพ่อเจ้าคุณตลอดเวลา ใครจะหยิบจับสิ่งของใด ๆ ที่หน้าห้องหลวงพ่อเจ้าคุณไม่ได้ มันจะโดดงับข้อมือทันที พระเณรทุกองค์ในวัดล้วนเกลียดมัน
หลวงพ่อเจ้าคุณเทพ ฉันอาหารเช้า-เพลทุกวัน “ไอ้จ้อน” และบริวาร (“ขี้เรื้อน” ทั้งนั้น) จะนั่งรายล้อมอยู่รอบตัวท่าน เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วท่านกจะ “ขุน” ข้าวหมาด้วยตนเอง “ขุนข้าว” เสร็จก็จะเอายาทารักษาโรคขี้เรื้อนให้ทุกตัว ยามเที่ยงวันก็จะอาบน้ำหมาแล้วจึงเข้าห้องสอนนักเรียน เรื่องนี้ถือเป็น “กิจวัตร” ประจำวันอย่างหนึ่งของท่านที่พึงกระทำทุกวัน พระเณรและญาติโยมที่เข้าไปหาหลวงพ่อเจ้าคุณเทพล้วนต้องกราบไหว้หมาขี้เรื้อนด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะ “ไอ้จ้อน” ที่มันนอนอยู่หน้าตักท่าน อย่างเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาข้าพเจ้าในพิธีบวชนาครายหนึ่ง
บ่ายวันนั้นขบวนนาครายหนึ่งแห่แหนมาจากต่างตำบล ขณะที่แห่นาครอบโบสถ์พระอันดับ ๒๕ รูป ที่รับนิมนต์มาก็เข้าไปนั่งประชุมพร้อมกันในโรงอุโบสถ และมีข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในจำนวน ๒๕ รูปนั้น เห็นนาคที่ผ่านพ้นประตูโบสถ์เข้ามา เป็นคนอยู่ในวัยกลางคน ดูท่าทางเด๋อด๋าชอบกล เมื่อนาคพร้อม พระอันดับพร้อม หลวงพ่อเจ้าคุณเทพก็เดินตาม “ไอ้จ้อน” เข้าสู่พิธีกรรมในโรงอุโบสถ “ไอ้จ้อน” เข้ามาดมคนโน้นทีคนนี้ที ทั้งฆราวาสและพระอันดับ ไม่เว้นแม้แต่นาค เหมือนจะสำรวจตรวจตราดูแลความเรียบร้อย สร้างความหงุดหงิดรำคาญและหวาดกลัวแก่ผู้ที่ไม่คุ้นเคยไม่น้อย หลวงพ่อเจ้าคุณเทพเข้านั่งประจำที่เรียบร้อยแล้ว พิธีอุปสมบทกรรมก็เริ่มขึ้น นาคอุ้มผ้าไตรเดินเข่าเข้าหาพระอุปัชฌาย์ วางผ้าไตรแล้วก้มลงกราบด้วยท่าเบญจางคประดิษฐ์ “ไอ้จ้อน” ที่นอนอยู่หน้าตักพลวงพ่อเจ้าคุณก็ลุกขึ้นยืนแล้วดมหัวนาค พระอันดับผู้ยังใหม่ (รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย) ไม่เคยพบเห็นภาพดังกล่าวมาก่อน ก็พากันยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ บางองค์ก็ปล่อยเสียงหัวเราะคิก ๆ ออกมา นาคหยิบผ้าไตรใส่วงแขนพนมมือแล้วกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทด้วยเสียงสั่นว่าผิด ๆ ถูก ๆ จบแล้วประเคนผ้าไตร พระอุปัชฌาย์รับผ้าไตรแล้วบอกบริขาร (สบง จีวร สังฆาฏิ..) และสอนกรรมฐาน (เกสา โลมา...) มอบผ้าไตรคืนให้นำไปนุ่งห่ม เมื่อรับผ้าไตรไปนุ่งห่มเสร็จแล้ว ก็เข้าขอไตรสรณาคมและศีล บรรพชาเป็นสามเณรต่อพระกรรมวาจาจารย์ อุ้มบาตรเดินเข่ากลับเข้าขอนิสัยต่อพระอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์บอกให้ออกไปยืนรออยู่นอกหัตถบาสสงฆ์ พระคู่สวดก็ทำการสวด ซ้อมเสร็จแล้วรายงานให้สงฆ์ทราบ พระอุปัชฌาย์เรียกเข้าให้คู่สวดซักถามท่ามกลางสงฆ์ (เรียกว่าสวดญัติ) ขณะที่นั่งคุกเข่าพนมมือกล่าวคำขออุปสมบท และตอบข้อซักถามของพระกรรมวาจาจารย์ (สวดญัติ) อยู่ท่ามกลางสงฆ์นั้น “ไอ้จ้อน” เดินดมรอบตัวอยู่หลายเที่ยว ดมนั่นดมนี่ยังแถมด้วยกัดผ้าจีวรดึงเล่นอีกด้วย
พิธีอุปสมบทเสร็จสิ้นลง พระและญาติโยมพากันออกไปจากโบสถ์หมดแล้ว ข้าพเจ้าทำหน้าเก็บอาสนสงฆ์และทำความสะอาดภายในโรงอุโบสถ ปรากฏว่าตรงที่พระบวชใหม่นั่งกลางโบสถ์นั้น มีน้ำนองอยู่บนเสื่อน้ำมัน ไม่ใช่เหงื่อของพระบวชใหม่เด็ดขาด เพราะเป็นน้ำที่มากกว่าเหงื่อ ข้าพเจ้ากล้ายืนยันได้ว่ามันเป็นน้ำปัสสาวะของพระบวชใหม่นั่นเอง ท่านคงจะกลัว “ไอ้จ้อน” จนปัสสาวะไหลเป็นแน่เทียว
มีพระผู้ใหญ่บางท่านพูดสัพยอกว่า “ไอ้จ้อนมันเป็นพระอุปัชฌาย์แทนเจ้าคุณเทพ” /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ฝาตุ่ม, หยาดฟ้า, กรกันต์, ต้นฝ้าย, ลิตเติลเกิร์ล, ข้าวหอม, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), เป็น อยู่ คือ, ลายเมฆ, มนชิดา พานิช, สายน้ำ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๔๘ - ลูกศิษย์ก้นกุฏิ (เป็นฆราวาส) ของหลวงพ่อเจ้าคุณเทพคนหนึ่ง มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับท่าน ชื่อเจิม ซึ่งใคร ๆ ก็เรียกแกว่า “ตาเจิม” ในความเห็นองคนส่วนมากเห็นกันว่า ตาเจิมเป็นคนไม่เต็มบาตร ไม่เต็มเต็ง จะว่าบ้าก็ไม่เชิง นอกกจากตาเจิมแล้วยังมีสามเณร “โค่ง” อีกองค์หนึ่งรับใช้ใกล้ชิดท่าน เณรโค่งองค์นี้ชื่อ “โตก” อายุครบบวชพระแล้วยังไม่ยอมบวช เพราะชอบที่จะเป็นสามเณร เณรโตกเป็นคน “ไม่เต็มเต็ง” ประเภทเดียวกันกับตาเจิม รวมความแล้ว หลวงพ่อเจ้าคุณเทพท่านมีอะไร ๆ ไม่เหมือนใคร มีหมาก็เป็นหมาขี้เรื้อน มีลูกศิษย์รับใช้ใกล้ชิดก็เป็นคนไม่เต็มบาตรไม่เต็มเต็ง พระลูกวัดส่วนหนึ่งก็เป็นพระขี้เหล้าขี้ยา พระนักเลง
สิ่งที่หลวงพ่อเจ้าคุณติดจนขาดไม่ได้คือ “หมาก” ท่านกินหมากเคี้ยวหยับ ๆ ไม่ขาดปาก พระอาจารย์เส็ง (ศิษย์ใกล้ชิดตัวจริง) บอกว่า หมากเป็นสิ่งที่ทำให้หลวงพ่อเจ้าคุณคลายความดุ ถ้าเลิกกินหมากก็คงจะต้องกลับไปเป็นคนดุเหมือนเดิม จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตั้งแต่มาอยู่กับท่าน ไม่เคยเห็นท่านหยุดเคี้ยวหมากเลย
เล่ากันว่าสมัยที่ท่านยังหนุ่มอยู่ เป็นพระครูเจ้าคณะอำเภอนั้น มีเรือสำปั้นติดเก๋งลำหนึ่ง เป็นเรือแจว เรือชนิดนี้ใช้ทำเป็นเรือจ้าง เวลารับกิจนิมนต์ไปต่างวัดต่างตำบลท่านก็จะนั่งเรือเก๋ง (ประทุน) ลำนี้ ให้ตาเจิมเป็นคนแจว ตาเจิมคนนี้มีบางคนรู้จักอดีตของเขาดี เล่าให้ฟังว่าเดิมเป็นคนมีฐานะดี เป็นเจ้าของโรงสีอยู่ในอำเภอผักไห่ ภายหลังติดฝิ่นติดกัญชา และติดการพนันงอมแงม ไม่ทำมาหากิน ทรัพย์สมบัติหมดไป ญาติมิตรก็พากันรังเกียจ กลายเป็นคนคิดมากจนสติไม่สมบูรณ์ ตาเจิมมาอาศัยวัดหัวเวียง และกลายเป็น “คู่บุญบารมี” หลวงพ่อเจ้าคุณเทพในที่สุด มาอยู่เป็นศิษย์ก้นกุฏิหลวงพ่อเจ้าคุณเทพแล้ว ตาเจิมก็ยังดูดกัญชาด้วยบ้องไม้ไผ่บ้าง มวนใบ (กะหรี่) กัญชาสูบบ้าง ใช้ขี้ฝิ่นผสมใบพลูมวนสูบบ้าง (เขาเล่าว่า) วันหนึ่งหลวงพ่อเจ้าคุณรับนิมนต์ไปเทศน์ที่วัดแห่งหนึ่งในเขตติดต่อกับอำเภอผักไห่ (อยู่ทางตอนเหนือของอำเภอเสนา) ตาเจิมแจวเรือทวนน้ำขึ้นไปตามลำแม่น้ำน้อยเลยวัดประดู่ไปได้ไม่ไกลนัก แกเกิดอาการ “อยาก” ดูดกัญชาจนเต็มกลั้น ละจากด้ามแจวนั่งลงท้ายเรืองัดบ้องกัญชาออกมาบรรจุเนื้อกัญชาที่หั่นใส่กระป๋องไว้แล้ว ยัดใส่พวยบ้องกัญชาจุดไฟดูดอย่างสบายอารมณ์ ปล่อยเรือลอยเท้งเต้ง ๆ ไปอย่างไม่ใยดี
“เฮ้ย..! ตาเจิม ทำไมทำยังงั้นเล่า รีบแจวเรือต่อไปเร็ว ! เดี๋ยวไม่ทันเทศน์” หลวงพ่อเจ้าคุณบ้วนน้ำหมากแล้วตะโกนสั่งกำชับ
“อยากไปเร็วก็แจวเองซี่” ว่าแล้วตาเจิมก็ถือบ้องกัญชาเข้านั่งกลางลำเรือ
หลวงพ่อเจ้าคุณเทพแทนที่จะโกรธ ท่านกลับลุกขึ้นเดินไปท้ายเรือ เปลื้องจีวรออกเคียนศีร์ษะ จัดการแจวเรือเอง โดยมีตาเจิมนั่งเอกเขนกประคองบ้องกัญชาดูดอย่างสบายอารมณ์อยู่กลางลำเรือ หลวงพ่อเจ้าคุณแจวเรือทวนน้ำขึ้นไป พบเห็นใคร ๆ ก็ร้องถามว่า “รู้จักพระครูเทพมั้ย” คนที่รู้จักก็จะหัวเราะแทนคำตอบ คนที่ไม่รู้จักหรือรู้จักแต่จำไม่ได้ ก็สั่นศีร์ษะเป็นคำตอบว่าไม่รู้จัก ท่านก็จะบอกว่า “พระองค์ที่กำลังแจวเรืออยู่นี่แหละพระครูเทพละ” พฤติกรรมดังกล่าวไม่มีใครตำหนิตีเตียนท่าน มีแต่พากันชื่นชอบในอารมณ์ขันของท่านเท่านั้น
วันหนึ่ง เวลาประมาณ ๕ โมงเย็น พระเณรพากันลงโบสถ์เพื่อ “ทำวัตรเย็น” ตามปกติ ข้าพเจ้าเดินจากกุฏิพระมหาเงินไปเข้าโบสถ์ พบหลวงพ่อเจ้าคุณกำลังเดินไปเข้าโบสถ์เช่นกัน ข้าพเจ้าเดินตามหลังท่านช้า ๆ ไปถึงข้างกำแพงโบสถ์หลวงพ่อเจ้าคุณดูเหมือนจะปวดปัสสาวะจนสุดกลั้น จึงนั่งลงข้างทางใกล้กำแพงโบสถ์ เวิกสบงจีวรขึ้นนั่งยอง ๆ ถ่ายปัสสาวะหน้าตาเฉย ข้าพเจ้าหยุดยืนรอท่านแล้วหันไปทางหลังเห็นสาว ๆ คนงานโรงสีข้าวนึ่งกลุ่มหนึ่ง ๕-๖ คนที่เลิกงานแล้วเดินทางกลับบ้าน กำลังยืนหันรีหันขวางอยู่ใกล้ ๆ บางนางก็หัวเราะคิก ๆ ที่เห็นหลวงพ่อเจ้าคุณนั่ง “ฉี่” อยู่ ทุกคนไม่กล้าเดินผ่านไป ข้าพเจ้าจึงกระแอมเสียงขึ้นเพื่อให้หลวงพ่อเจ้าคุณรู้ตัว ท่านเหลียวมามอง เมื่อรู้เห็นแล้วแทนที่ท่านจะรีบลุกขึ้นด้วยความอาย กลับพยักหน้าที่มีปากเคี้ยวหมากหยับ ๆ อยู่
“ไปเหอะ ฉันจับมันไว้แล้ว” ฟังท่านพูดซีครับ ถ้าเป็นพระองค์อื่น พระบวชใหม่ พระหนุ่ม พระผู้น้อย ทำและพูดอย่างท่านบ้าง คงถูกติเตียนนินทาเสียหายเป็นแน่ แต่ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่มีฐานะ “เป็นปาปมุตติบุคคล” หลุดพ้นจากบาปขี้ปากชาวบ้านไปเสียแล้ว
วัดหัวเวียงมีพื้นที่ของวัดเป็นบริเวณกว้างมาก ทางด้านทิศตะวันตกซึ่งถือว่าเป็นทางหน้าวัดติดแม่น้ำน้อย มีสะพาน่าน้ำสำหรับขึ้น-ลงเรือข้ามฟากและเดินทางไปมา ทั้งยังเป็นที่ลงอาบน้ำของพระเณร มีร้านกาแฟตั้งอยู่ ๑ ร้าน มีบ้านเรือนตั้งเริมน้ำรียงรายขึ้นไปทางเหนือ ทิศเหนือมีลำน้ำแยกโยงไปทางอำเภอบางบาล ริมลำน้ำสายนี้ก็มีบ้านเรือนตั้งเรียงรายไปตลอด มีที่ทำการ (สถานี) อนามัยตำบลตั้งอยู่ด้วย ๑ หลัง เหนือโบสถ์มีศาลาการเปรียญตั้งอยู่ ใกล้กันนั้นมีอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลหลังเก่าตั้งอยู่ ด้านทิศตะวันออกมีอาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลหลังใหม่ เลยไปพ้นเขตวัดมีโรงสีข้าวนึ่งและทุ่งนา ด้านทิศใต้เป็นทุ่งนาและหมู่บ้านเรียงรายไปตามลำแม่น้ำน้อย ระหว่างอาคารโรงเรียนกับหมู่กุฏิสงฆ์ด้านตะวันออกนั้นเป็นที่ว่างกว้างใหญ่ มีโรงมหรสพ (วิก-โรงหนัง) ตั้งอยู่ให้เช่าฉายภาพยนตร์และแสดงลิเก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “วิกวัดหัวเวียง”
ยามว่างจากการเลี้ยงหมา สอนหนังสือ และกิจอื่น ๆ แล้ว หลวงพ่อเจ้าคุณจะใส่อังสะลังกาตัวเดียว (อังสะที่มีรูปลักษณ์คล้ายเสื้อกั๊กแต่มีแขนซ้ายข้างเดียว) นุ่งสบงสูงคลุมเข่าเล็กน้อย เอาผ้าอาบคาดเคียนพุง ผ้าจีวรเคียนศีร์ษะ ถือพร้าหวดหญ้าเดินท่อม ๆ รอบวัด ตัดไม้ดายหญ้าไปตามความพอใจของท่าน ใครไม่รู้จักท่านก็คิดว่าเป็นพระหลวงตาแก่ ๆ องค์หนึ่งเท่านั้น
หลวงพ่อเจ้าคุณเป็นคนทันสมัย มีความรู้ดีทั้งภาษาไทย บาลี และอังกฤษ ทุกวันหลังจากฉันอาหารเช้าและทำวัตรสวดมนต์เช้าแล้ว ท่านจะเปิดสอนวิชาภาษาไทย (ท่านสอนเอง) ภาคบ่ายเมื่อฉันเพลแล้ว เปิดสอนวิชาภาษาบาลีในระดับไวยากรณ์ ตอนค่ำเปิดสอนวิชาภาษาอังกฤษ วิชานี้ไม่ไม่บังคับ ใครจะไม่เรียนก็ได้ ท่านไม่ว่า
การสอนภาษาไทยท่านเอาหนังสือไทยเก่า ๆ เช่น อักษรประโยค, สังโยคพิธาน, พิศาลการันต์, ไวพจน์พิจารณ์, จินดามณี เป็นต้น ท่านสอนสนุก ข้าพเจ้าก็เรียนสนุก แต่เพื่อนนักเรียนบางองค์เรียนไม่สนุก เพราะเขาไม่ชอบวิชาภาษาไทย หลวงพ่อเจ้าคุณบังคับให้นักเรียนบาลีทุกองค์ต้องเรียนวิชาภาษาไทย เพราะความจริงปรากฏว่าพวกที่เรียนจนสอบได้นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก แล้ว แต่ยังอ่านและเขียนภาษาไทยกันไม่ค่อยถูกต้อง จึงต้องเรียนภาษาไทยกันใหม่
“คนใช้พระยารามคำแหง ชื่อไอ้แดงตกม้าทำหน้าแหง” เป็นบทกลอนตัวอย่างที่ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งเป็นตัวอย่างคำพ้องไว้ในปกิรณัมพจนาถ หลวงพ่อเจ้าคุณเอามาเป็นบทเรียนเขียนบนกระดานดำให้นักเรียนอ่านเรียงตัว ส่วนมากจะอ่านไม่ถูกตรงคำว่า “หน้าแหง” ข้าพเจ้าชอบใจกลอนบทนี้มาก จำได้มาจนถึงวันนี้เลย ดังได้ “ให้การ” ไว้แต่ตอนต้นแล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นเด็กบ้านป่าขาดอน เรียนหนังสือในโรงเรียนเพียงแค่ชั้นประถมปีที่ ๒ มาอ่านเขียนหนังสือคล่องก็ต่อเมื่อบวชเป็นสามเณรเรียนนักธรรม ไม่เคยอ่านตำรับตำราภาษาไทยที่ไหนมาก่อน เมื่อหลวงพ่อเจ้าคุณนำตำราภาษาไทยเก่า ๆ มาสอนจึงเป็นความแปลกใหม่สำหรับข้าพเจ้า
สนุกมากกับการเรียน ตัวควบ ตัวกล้ำ คำพ้องรูป พ้องเสียง ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนรูปต่างกัน เขียนรูปเหมือนกันแต่ออกเสียงต่างกัน คำเพียงคำเดียวมีความหมายหลายอย่าง ความหมายอย่างเดียวกันแต่ใช้คำได้หลายคำ ความสำคัญของการสะกด การันต์ การผันเสียง ตามวรรณยุกต์ และอักษร การแปลงตัวของอักษรและสระ (ไม่ขอยกตัวอย่างมากล่าวให้ยืดยาว) ข้าพเจ้าชอบเรียนวิชาภาษาไทยมากกว่าภาษาบาลีครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ เมษายน ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, สายน้ำ, ต้นฝ้าย, ฝาตุ่ม, ลิตเติลเกิร์ล, หยาดฟ้า, ข้าวหอม, คิดถึงเสมอ, เป็น อยู่ คือ, ลายเมฆ, มนชิดา พานิช, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๔๙ - “เณรโค่น” ครับ มีสามเณรชื่อนี้จริง ๆ เป็นคนมีลักษณะ ร่างเตี้ย ผิวดำ ตาโต ดั้งหัก หัวโหนก สามเณรองค์นี้มีผลการเรียนอ่อนกว่าทุกองค์ เป็นคนที่ “เรียกง่ายใช้คล่อง” กว่าใครทั้งหมด และเป็นสามเณรอีกองค์หนึ่งที่หลวงพ่อเจ้าคุณเลือกไว้รับใช้ใกล้ชิดร่วมกับสามเณรโตก บรรดาศิษย์ในห้องเรียน “เณรโค่น” เป็นคนที่ถูกหลวงพ่อเจ้าคุณดุด่ามากที่สุด เวลาที่ท่านให้นักเรียนเขียนตามคำบอก และ อ่านเรื่องตามที่กำหนดให้ เมื่อเขียนตามคำบอกแล้วไม่ต้องส่งสมุดให้ท่านตรวจเสมอไป บางครั้งท่านจะให้ผู้เขียนตามคำบอกนั้น อ่าน “สเปลล์” คือ “สะกด” ตัวอักษร เป็นการอ่านทานให้ท่านเจ้าคุณอาจารย์และเพื่อนนักเรียนฟัง เณรโค่นเขียนผิด อ่านผิด เสปลล์ผิดให้หลวงพ่อเจ้าคุณดุด่า พวกเราได้หัวเราะฮากันอยู่เรื่อยไป เช่นว่า
“เจ๊กนั่งอยู่ท้ายเรือสำเภา” ที่หลวงพ่อเจ้าคุณบอกให้เขียน เณรโค่นก็เขียนว่า “เจี๊ยกนั่งยู่ไท้เลือสำเพา” แล้วสเปลล์ว่า “สระเอ จอจาน สระเอีย ยอยัก ไม้ตรี กอไก่สะกด นอหนู ไม้หันนะกาด ไม้เอก งองูสะกด ยอยักสระอู ไม้เอก สระไอไมมาลัย ทอทหาร ไม้โท สระเอ ลอลิง สระเอือ สอเสือ สระอำ สระเอ พอพาน สระอา..........” กว่าเณรโค่นจะอ่านตัวอักษรที่เขียนได้หมดพวกเราก็หัวเราะกันจนท้องขดท้องแข็งไปตาม ๆ กัน
สมัยเป็นเด็กเลี้ยงควายอยู่บ้านนอก ข้าพเจ้าเคยร่วมกับเพื่อน ๆ หัดลิเกในคณะ “สามพี่น้อง” (เง, เหงี่ยม, หงัด) ต่อกลอนลิเกมานั่งแหกปากร้องกันบนหลังควาย เป็นลิเกไม่ใช่ตัวเอกตัวรอง ได้เป็นเพียงตัวประกอบ เพราะไม่ได้ตั้งใจฝึกหัดอย่างจริงจัง คิดเพียงแค่สนุก ๆ ไปกับเขาเท่านั้น กลอนลิเกที่เคยหัดร้องยังไม่หมดไปจากความทรงจำ จึงชอบฟังชอบพูดคำที่คล้องจองกัน โดยไม่รู้หรอกว่าคำคล้องจองนั้นเป็นบท บทเป็นกลอน รู้แต่ว่า “มันเพราะดี” ความชอบคำคล้องจองเกิดขึ้นตั้งแต่เรียนนักธรรมชั้นตรี ยามที่ได้ฟังพระนักเทศน์องค์ใดที่พูดคำคล้องจองแล้วจะถูกใจมาก ตั้งใจฟังไม่เบื่อหน่าย ตอนนั้นภาษาไทยของข้าพเจ้ายังอ่อนอยู่มาก ไม่มีใครแนะนำสั่งสอนเรื่องบทกลอนมาก่อนเลย ครั้นมาได้เรียนภาษาไทยกับหลวงพ่อเจ้าคุณเทพ อ่านแบบเรียนที่เป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน วิญญาณกวีที่มีอยู่ในสันดานของข้าพเจ้าก็ฟูเฟื่องขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลวงพ่อเจ้าคุณท่านไม่ได้สอนให้ศิษย์ที่เรียนวิชาภาษาไทยของท่านแต่งกลอน ข้าพเจ้าจึงหัดแต่งกลอนด้วยตนเอง ตำราเรียนที่เป็นบทร้อยกรองนั่นแหละที่ถือเป็นครู โดยจะเอาบทกลอนที่อ่านแล้วประทับใจทั้งเนื้อหาสาระ และความไพเราะเพราะพริ้งมาดัดแปลงเสียใหม่ คงเสียงสัมผัสเดิมไว้ เช่นว่า “คนใช้พระยารามคำแหง ชื่อไอ้แดงตกม้าทำหน้าแหง” ก็แต่งแปลงใหม่ว่า “เย็นย่ำสุรีย์สลัวหัวระแหง ตาวันแดงร่วงลาคนหน้าแหง” อะไรทำนองนี้แหละครับ บทกลอนของข้าพเจ้าเขียนเองอ่านเอง มีพระเณรไม่กี่องค์ที่ขออ่านดูบ้าง เนื้อหาสาระก็วนเวียนอยู่ในเรื่องความรักความใคร่ สายลมแสงแดด ตามอารมณ์คนหนุ่ม “วัยหวาน” นั่นเอง
เกิดมาเพื่อเป็นหัวหน้ากลุ่มคนหรืออย่างไรก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหน ๆ เพื่อนก็ยกให้เป็น “หัวโจก” อยู่เรื่อย ในบรรดาพระ-เณรหนุ่มเณรน้อยในสำนักวัดหัวเวียง พระมีเป็นนักธรรมเอกอยู่ ๒ องค์ คือพระจง วัดลาดบัวหลวง ศิษย์เจ้าคณะอำเภอลาดบัวหลวง กับพระเต็ม วัดบางซ้ายใน ศิษย์เจ้าคณะอำเภอบางซ้าย หลวงพี่นันต์ วัดหัวเวียง ศิษย์เจ้าคณะอำเภอเสนา มีอายุมากกว่าพระจง พระเต็ม ๒ ปี น่าจะเป็น “หัวโจก” ของพวกเรา แต่เพราะหลวงพี่มีวิทยฐานะเป็นนักธรรมชั้นโท ยังสอบชั้นเอกไม่ได้สักที พระเต็มก็เลยถูกยกขึ้นนั่งในตำแหน่ง “หัวโจก” โดยไม่มีใครคัดค้านริษยาใด ๆ
ดังได้ให้การไปแล้วว่า พระในวัดหัวเวียงมีหลายชนิด คือชนิด “ขี้เหล้า, ขี้ยา, นักเลงนานา” เป็นเรื่องแปลกที่บรรดาพระเหล่านั้นล้วนยอมพวกข้าพเจ้าหมด ต่างองค์ต่างก็สำรวมความเป็นอยู่ องค์ที่ติดสุราก็เลิกดื่ม ที่ยังเลิกไม่ได้ก็แอบดื่มไม่ให้พวกเรารู้เห็น บางองค์ไม่แอบดื่ม แต่ดื่มให้เห็นโดยอ้างว่า “เป็นกระสายยาเพียงเล็กน้อย” องค์สูบกัญชา-ฝิ่นก็เหมือนกัน การที่พระ “ขี้” ทั้งหลายพากันกลับตัวกลับใจกลับพฤติกรรมของตน คงเป็นเพราะเกิดความละอายพวกเราก็ได้ ก่อนหน้าที่พวกข้าพเจ้าจะมาอยู่วัดหัวเวียงนั้น ทราบว่าชาวบ้านไม่ค่อยเข้าวัดทำบุญในวัดนี้กันนัก เวลาเช้าที่พระวัดนี้พายเรือออกรับบิณฑบาต ชาวบ้านสองฟากฝั่งลำน้ำทั้งสองสายก็คอยจะใส่แต่บาตรพระวัดสุวรรณเจดีย์ และวัดบางกระทิง ซึ่งพายเรือรับบิณฑบาตในเส้นทางสายน้ำเดียวกัน เพราะชาวบ้านเขาไม่เลื่อมใสพระวัดหัวเวียง ครั้นพวกข้าพเจ้าที่เจ้าคณะอำเภอต่าง ๆ ส่งมาอยู่รวมกันเพื่อเรียนบาลี และปราบพระไม่ดีจนราบคาบแล้ว ชาวบ้านก็เริ่มเลื่อมใสศรัทธาพระวัดหัวเวียงขึ้นตามลำดับ ตอนมาอยู่กันใหม่ ๆ อาหารการกินอัตคัดขัดสนมาก พอคนกลับมาเลื่อมใสมากขึ้น อาหารการกินก็ดีขึ้น แต่ยังต้องทำครัวเลียงกันอยู่ดี เพราะพวกเรามีมากเกินไป
อาหารเช้าก็พอมีขบฉัน แต่กลางวันขาดแคลนขัดสนหน่อยหนึ่ง เจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอ และเจ้าอาวาสทุกวัดที่ส่งพวกเรามาอยู่ในสำนักวัดหัวเวียง จึงช่วยกันรวบรวมอาหารแห้ง มีข้าวสาร พริก, เกลือ, กะปิ, น้ำปลา, หอม, กระเทียม, ปลาเค็ม, เนื้อเค็มและอื่น ๆ มาให้วัดหัวเวียงเป็นประจำ เพื่อให้นักเรียนบาลีได้ทำอาหารกินกัน เป็น “อาหารสปายะ” ให้กำลังในการศึกษาเล่าเรียน ดังนั้นจึงมีการตั้ง “เวรทำครัว” ขึ้นเป็นประจำทุกวัน พระเต็มกับพระจง ได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเข้าเวรทำครัว แต่ก็ให้เป็นผู้ช่วยพระอาจารย์เส็งคอยอำนวยการควบคุมดูแลการทำครัวทุกวัน
การหุงข้าวอาจารย์เส็งกับข้าพเจ้าไม่ต้องควบคุมดูแล ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระจงกับเณรที่เป็นเวร ส่วนการทำกับข้าวต้มแกงอะไรนั้น อาจารย์เส็งท่านลงมือทำเองโดยมีเณรเวรเป็นผู้ช่วย ข้าพเจ้าไม่ต้องทำอะไรเลย คูท่าทางอาจารย์เส็งจะพอใจและภูมิใจในการทำกับข้าวของตนเองมาก เวลาฉันข้าวพวกเรามักจะรับความรำคาญจากการซักถามของอาจารย์เส็ง คือท่านจะถามองค์โน้นองค์นี้ว่า รสชาติของกับข้าวมื้อนี้เป็นอย่างไร อร่อยไหม จืดไหม เค็มไปไหม เผ็ดมากน้อยอย่างไร ใครตักกับข้าวฝีมือท่านเข้าปากที ท่านก็มักจะถามว่า รสชาติเป็นอย่างไร ถ้าใครบอกว่าอร่อยดีท่านก็ยิ้มแฉ่ง ใครบอกว่าพอกินได้ท่านจะไม่ยิ้ม บางครั้งอาจจะหน้าบึ้งเอาด้วย ทั้งยังจะพูดเชิงตำหนิว่า “ทั่นนี่ลิ้นต่ำ” และจะไม่ถามองค์นั้นไปอีกหลายวันทีเดียว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๕๐ - อยู่ในสำนักวัดหัวเวียง นอกจากจะได้เรียนวิชาภาษาไทย ภาษาบาลี และอังกฤษแล้ว หลวงพ่อเจ้าคุณเทพยังสอนศาสนพิธีต่าง ๆ เริ่มด้วยการกราบไหว้ที่ถูกต้องสวยงาม การเดินเข่าในการเข้าหาพระผู้ใหญ่ และในที่ประชุมสงฆ์ การจัดโต๊ะหมู่บูชา การสวดมนต์ เฉพาะการสวดมนต์นี้ ท่านให้เอาแบบอย่างวัดมหาธาตุฯ สำนักเดิมของท่านมาเป็นหลัก และให้ยึดถืออย่างเคร่งครัด ตอนทำวัตรเช้า-เย็นท่านนำบทพระปริตร พระสูตร บทต่าง ๆ มามาสวดซ้อม สวดให้ถูกจังหวะ ทำนอง ทีฆะ (เสียงยาว) รัสสะ (เสียงสั้น) สังโยค (สะกด) เสียง ร. ล. ให้ถูกต้องชัดเจน ถ้าสวดผิดท่านจะสั่งให้หยุดแล้วว่าให้ฟัง และให้สวดใหม่ บทขัดต่าง ๆ ที่เป็นคาถา (คำร้อยกรอง) ให้ว่าเป็นทำนอง ปัฐยาวัตร สรภัญญะ หลวงพ่อเจ้าคุณท่านสอนให้ข้าพเจ้าสวดได้หมดและยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ทุกองค์ควรทำตาม โดยท่านบอกว่า
“มีพระเต็มองค์เดียวที่สวดบทพระปริตร พระสูตรและบทขัดต่าง ๆ ได้ตามที่สอน”
เมื่อมีกิจนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ตามบ้านต่าง ๆ หากเจ้าภาพนิมนต์พระวัดหัวเวียงหลายองค์ ท่านต้องให้ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งของจำนวนพระที่ไปในงานนั้น
หลวงพ่อเจ้าคุณเคร่งครัดการสวดมนต์มิใช่แต่เฉพาะในวัดเท่านั้น แม้ไปสวดตามบ้าน ท่านก็เคร่งครัดในเรื่องจังหวะทำนองเหมือนกัน วันหนึ่งท่านรับนิมนต์ไปในงาน “ทำบุญลาน” การทำบุญอย่างนี้ชาวบ้านนิยมทำกันเมื่อเสร็จการเกี่ยวข้าว เก็บขนข้าวเข้ารวมเป็นกองที่ลานนวดข้าวแล้ว ก่อนทำการนวดข้าวก็ทำบุญฉลองข้าวฟ่อน มักจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วอังคาส (เลี้ยง) พระภิกษุสงฆ์ด้วยอาหารอันประณีต เรียกกันทั่วไปว่า “ทำบุญลาน”
วันนั้นพระเจริญพระพุทธมนต์เป็นพระวัดหัวเวียงทั้งหมด ๙ องค์ หลวงพ่อเจ้าคุณเทพเป็นประธานสงฆ์ ข้าพเจ้าเป็นพระอาวุโสต่ำสุดจึงนั่งเป็นองค์ที่ ๙ ท้ายสุด แต่ท่านสั่งให้พระเต็ม “ขัดสัคเค” คือชุมนุมเทวดาเป็นทำนองตามที่ท่านสอนให้ ข้าพเจ้าก็ว่าผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ท่านนำ “อาฏานาฏิยสูตร” มาสวดด้วย พระสูตรบทนี้สวดค่อนข้างจะยากสักหน่อย พอสวดไปได้ไม่ถึงครึ่งบท เสียงสวดเกิด “เตะ” กันขึ้น คือว่าจังหวะไม่พร้อมกัน หลวงพ่อเจ้าคุณยกมือประกอบเสียงร้องห้ามให้หยุดสวด
“หยุด ! หยุด ! หยุดสวดเดี๋ยวนี้นะ” พระก็หยุดสวดตามคำห้ามของท่าน
“ข้าสอนให้แกสวดกันยังงี้เรอะ ? สวดใหม่ !” ท่านว่าแล้วก็ขึ้นต้นบทสวดใหม่
อายละซีครับ พวกข้าพเจ้าไม่มีใครสักองค์เลยที่ไม่อาย สวดมนต์จบแล้วไม่มีใครฉันอาหารอร่อยสักองค์เดียว สำหรับข้าพเจ้าแล้ว คิดว่าน่าจะอายมากกว่าเพื่อน เพราะเป็นพระหนุ่มองค์เดียวและไม่เคยถูก “หักหน้า” อย่างนี้มาก่อน ที่สำคัญก็คือ เห็นพวกแม่ครัวสาว ๆ ซุบซิบบุ้ยใบ้กันมาทางพระหนุ่มตลอดเวลา พวกหล่อนต้องนินทาแน่ ๆ เหตุการณ์วันนั้น ยังฝังใจอยู่จนวันนี้
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนามีหลายวัน ที่นับเป็นวันสำคัญพิเศษก็มี วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ เรียกกันว่าเป็นวันวิสาขบูชา วันคล้ายวันประสูติ, ตรัสรู้, ปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เรียกว่าวันมาฆบูชา วันคล้ายวันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์สี่ (จาตุรงคสันนิบาต) ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์ ย่อคำสอนทั้งหมดเข้าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา และยังเป็นวันคล้ายวันปลงอายุสังขารของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ เรียกว่าวันอาสาฬหบูชา เป็นวันคล้ายวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงพระปฐมเทศนา คือการเทศน์ครั้งแรกหลังการตรัสรู้
เมื่อถึงวันสำคัญดังกล่าวนั้น หลวงพ่อเจ้าคุณเทพได้วางระเบียบจัดกิจกรรมไว้ ให้พระเณร อุบาสกอุบาสิกา อันเป็นพุทธบริษัทสี่กระทำร่วมกัน เริ่มด้วยการใส่บาตรทำบุญในตอนเช้า อุบาสกอุบาสิกาสมาทานอุโบสถศีล เสร็จเรื่องอาหารแล้วเข้าประชุมกันในโรงอุโบสถ ทำวัตรเช้า มีการแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องความเป็นมาของวันสำคัญนั้น ๆ จบแล้วพระภิกษุสามเณรผลัดเปลี่ยนเวียนกันเทศน์ โดยมีพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิการ่วมกันฟัง เทศน์กันจนถึงเวลาบ่ายโมงจึงหยุดเทศน์เพื่อทำสังฆกรรม สวดและฟังพระปาติโมกข์ จบแล้วก็เทศน์กันต่อไป ตกเวลาเย็นก็ร่วมกันทำวัตรค่ำ สวดพระปริตร พระสูตร และปาฐะต่าง ๆ จบแล้วพระภิกษุสามเณรก็ผลัดเวรกันเวียนเทศน์ไปตลอดคืน
การเทศน์ของพระเณรนั้น ไม่ได้เทศน์โดยปฏิภาณโวหารของผู้เทศน์ แต่ทุกองค์อ่านคัมภีร์ใบลานเทศน์ตามที่ปราชญ์ บัณฑิตไทย ทั้งพระและฆราวาสแต่งไว้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพระพุทธประวัติ และชาดกต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้ามีทศชาติเป็นต้น และมิใช่ว่าพระเณรในวัดนี้จะต้องอ่านคัมภีร์เทศน์ทุกองค์ หลวงพ่อเจ้าคุณท่านจะเลือกกำหนดให้องค์ที่อ่านหนังสือ “แตกฉาน” เท่านั้น องค์ที่ขึ้นธรรมาสน์เทศน์มากที่สุดก็คือข้าพเจ้าแหละครับ
วันมาฆบูชาปีนั้น พระเต็มเป็นตัวยืนในการ “เทศน์มาราธอน” ภายในโรงอุโบสถวัดหัวเวียงมีพื้นที่กว้างขวางพอสมควร กลางโบสถ์ยกพื้น (ไม้กระดาน)เป็นอาสน์สงฆ์ พระภิกษุสามเณรนั่งบนยกพื้นทั้งหมด อุบาสกอุบสิกานั่งกับพื้นโบสถ์ที่มีเสื่อปูลาดไว้เต็มพื้นที่ มุมฐานชุกชีของพระพุทธประธานด้านทิศเหนือ (ข้างที่หลับนอนของพระเต็ม) มีธรรมาสน์เตี้ยตั้งอยู่สำหรับให้พระเณรขึ้นนั่งเทศน์ ตอนกลางวันพระเต็มเทศน์จบไป ๓ กัณฑ์ องค์อื่น ๆ เทศน์เพียงกัณฑ์เดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าอ่านหนังสือในคัมภีร์เทศน์ด้วยความฮึกเหิม เชื่อมั่นในตนเองมาก โยมบางคนที่เป็นนักฟังเทศน์ถึงกับกล่าวชมว่า “สมกับเป็นลูกศิษย์พระมหาไวย์แท้ ๆ” อย่างนี้เรียกว่า ศิษย์ช่วยเชิดชูหน้าตาอาจารย์ได้กระมัง?
อุบาสกอุบาสิกาที่สมาทานอุโบสถศีลอยู่ประจำในโบสถ์ตลอดวันตลอดคืน มีหญิงสาวอยู่คนหนึ่ง อายุก็รุ่นราวคราวเดียวกันกับข้าพเจ้านี่แหละ เธอไม่ใช่คนสวย แต่เป็นคนงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย ลักษณะนุ่มนวลน่ารัก เป็นหลานสาวเศรษฐีใหญ่คนหนึ่งบ้านอยู่ไม่ไกลวัดนัก เศรษฐีคนนั้นชอบเข้าวัดทำบุญและรักใคร่นับถือพระเต็มเป็นพิเศษเสียด้วย หลานสาวคนงามของโยมเศรษฐีก็ชอบเข้าวัด รักษาอุโบสถศีลทุกวันพระเป็นประจำ มีคนกระซิบบอกว่าเธอชอบพระเต็มอยู่มาก เวลาข้าพเจ้าขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เธอจะนั่งฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจ ข้าพเจ้าชอบสบตาซื่อ ๆ ของเธอ เพราะสายตาของเธอให้ความอบอุ่นใจแก่ข้าพเจ้ามาก เคยพูดจากับเธอบ้างแต่ก็ไม่มากนัก ที่พูดกันไม่มากก็เพราะไม่กล้าพูดอะไร ๆ กับเธอ ด้วยรู้สึกตัวว่าใจไม่ค่อยบริสุทธิ์ต่อเธอ การที่มีสาวคนงามนั่งพนมมือฟังเทศน์อยู่ด้วย ทำให้พระเต็มเทศน์ไม่รู้จักเหนื่อยเลยก็แล้วกัน
เวลาเที่ยงคืนผ่านไปแล้ว ข้าพเจ้าอ่านคัมภีร์เทศน์จบไปเป็นกัณฑ์ที่ ๔ ลงจากธรรมาสน์นั่งพิงฐานพระประธานหลังธรรมาสน์เทศน์ ฟังพระจงเทศน์ด้วยเสียงอู้อี้น่ารำคาญจนเกิดความง่วงนอนอย่างหนัก นักเทศน์ทั้งหลายที่นั่งเรียงคิวคอยเทศน์ต่อไปก็นั่งโงกง่วงอยู่หลังธรรมาสน์ บางองค์ก็นั่ง “หลับนก” ข้าพเจ้าทนง่วงไม่ไหวจึงนอนเหยียดยาวหลับอยู่หลังธรรมาสน์นั่นเอง /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, คิดถึงเสมอ, ลายเมฆ, ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, ลิตเติลเกิร์ล, ฝาตุ่ม, มนชิดา พานิช, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๕๑ - “มาด” ของพระอาจารย์ พระนักเทศน์ สมภารเจ้าวัด สมัยนั้น นอกจากการนั่ง “จิบน้ำชา” แล้วก็มีการ “สูบบุหรี่, กินหมาก” ข้าพเจ้าไม่ใช่พระนักเทศน์ ไม่ใช่พระอาจารย์ สมภารเจ้าวัด ยังเป็นพระเด็ก ๆ เป็นเหมือนเด็กที่อยากโตเร็ว ๆ จึงเอา “มาด” ของครูบาอาจารย์มาใช้ พอว่างจากการเทศน์ก็เคี้ยวหมาก ว่างจากเคี้ยวหมากก็จิบน้ำชา สูบบุหรี่ ดังนั้น หลังธรรมาสน์เทศน์จึงมีปั้นน้ำชา พานหมากบุหรี่ กระโถนน้ำหมากตั้งอยู่ประจำนักเทศน์ได้ขบเคี้ยวตามอัธยาศัย เฉพาะหมากพลูนั้น หลานสาวคนงามของโยมเศรษฐีคนนั้นเป็นผู้จัดทำถวาย เธอจีบพลูและเจียนหมาก (สด) อย่างประณีตบรรจงตั้งแต่กลางวัน หัวค่ำยันเที่ยงคืนข้าพเจ้าเคี้ยวหมากของเธอหมดไปไม่น้อยกว่า ๕ พาน เคี้ยวอย่างอร่อย ปูนไม่กัดปาก และไม่ “ยันหมาก” (ไม่เมา) ก่อนที่จะนอนหลับพับอยู่หลังธรรมาสน์นั้น ข้าพเจ้าก็เคี้ยวหมากจนจืดแล้วอมชานไว้ในปาก เรียกว่า “หลับคาหมาก” เลยก็แล้วกัน
หลับไปนานเท่าไรก็ไม่รู้ มารู้ภายหลังว่าเพื่อนเทศน์จบไป ๓ กัณฑ์แล้ว สะดุ้งตื่นเพราะเณรไหว (คนละองค์กับเพื่อนเก่าที่รางเนื้อตาย) เทศน์จบแล้วลงจากธรรมาสน์ เดินสะดุดกระโถนที่มีน้ำหมากเกือบเต็มนั้นล้ม น้ำหมากหกรดราดศีร์ษะข้าพเจ้าและกระโถนกระดอนไปถูกศีร์ษะเณรยศที่นอนถัดพระเต็มไป น้ำหมากนองพื้นเปรอะเปื้อนตัวพระเต็มและเณรยศแดงเถือก กลิ่นคลุ้งน่าสะอิดสะเอียน เณรไหวยกมือไหว้ขอโทษขอโพยด้วยความเสียใจยิ่ง ข้าพเจ้าโมโหก็โมโห ขำก็ขำ การเดินสะดุดกระโถนหกนั้น เกิดจากเณรไหวซึ่งขึ้นเทศน์เป็นครั้งแรกในชีวิต เพื่อนเล่าให้ฟังว่า เณรไหวอ่านคัมภีร์เทศน์เสียงดังลั่นเหมือนตะโกน และสั่น ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ มือที่ถือคัมภีร์สั่นระริก เปิดคัมภีร์ไม่ค่อยถูก จนอ่านความสับสนไม่ติดต่อกัน คนฟังพากันหัวเราะด้วยความขบขัน ปรากฏว่าเขาเทศน์ไม่จบกัณฑ์ เพราะสายเชือกที่ร้อยใบลานผูกเป็นคัมภีร์นั้นเกิดพันกันยุ่ง เปิดคัมภีร์เทศน์ไม่ถูกหน้า ต้องเลิกเทศน์ “เอวัง..” เอาดื้อ ๆ รีบลงจากธรรมาสน์อย่างลนลานเหมือนรีบหลบหนีความอับอาย จนสะดุดกระโถนน้ำหมากหกกระดอนไปในที่สุด
เวลายังไม่สว่าง แต่การเทศน์ต้องยุติลง พระเต็มกับเณรยศต้องรีบไปอาบน้ำเปลี่ยนสบงจีวรใหม่ เณรโค่นช่วยเช็ดถูทำความสะอาดพื้นโบสถ์บริเวณที่นอนของข้าพเจ้า พวกเราลงความเห็นร่วมกันว่าควรยุติการเทศน์ไว้แค่นั้น เวลาที่เหลือก็ใช้เป็นช่วงการสวดมนต์ภาวนา ทำวัตรเช้า (มืด) ไปพร้อมกันทั้งพระเณรและอุบาสกอุบาสิกา จนกว่าจะได้อรุณของวันใหม่
ดังได้ให้การแล้วว่า ในวัดหัวเวียงมีโรงมหรสพประจำอยู่ ๑ โรง เป็นอาคารฝาไม้หลังคามุงสังกะสี ส่วนหลังยกพื้นเป็นเวทีแสดงลิเกและวงดนตรี ส่วนมากจะมีผู้มาเช่าฉายภาพยนตร์ นาน ๆ จึงจะมีผู้มาเช่าแสดงลิเกครั้งละไม่น้อยกว่า ๗ คืน ทางวัดเก็บค่าเช่าไม่แพงนัก ค่าเช่าที่ได้มานั้นก็ใช้จ่ายเป็นค่าอาหารเลี้ยงพระเณรในวัดทั้งหมด มีภาพยนตร์มาเข้าฉายอย่างน้อยอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่มาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในตลาดบ้านแพน แล้วจึงเร่ต่อมาฉายที่วัดหัวเวียง คนหัวเวียงและใกล้เคียงไม่ต้องลงเรือไปชมภาพยนตร์ในโรงหนังบ้านแพนให้เสียเวลา จะว่าวิกวัดหัวเวียงเป็นสาขาของโรงภาพยนตร์บ้านแพนก็ได้ ทุกครั้งที่มีภาพยนตร์มาฉาย พระเณรก็จะเข้าดูกันมาก โดยผู้จัดฉายจะขึงจอบนเวทีดูเหมือนฉากลิเก จัดกันพื้นที่ด้านข้างขวามือไว้สำรองพระภิกษุสามเณรนั่งชมกันโดยไม่ปะปนกับฆราวาส ถ้ามีลิเกมาแสดง พระเณรที่ชอบดูก็จะเข้าไปดูปะปนกับฆราวาส โดยที่ชาวบ้านจะไม่นินทาว่าร้ายใด ๆ เพราะคนส่วนใหญ่จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว
ข้าพเจ้าไม่ค่อยได้เข้าวิกดูหนังดูลิเกกับเขานัก มิใช่เพราะไม่ชอบดู แต่อายชาวบ้าน ด้วยใคร ๆ ก็รู้กันว่าพระเต็มเป็นพระระดับหัวหน้าคณะนักเรียนบาลีวัดหัวเวียง มีความรู้สูงถึงขั้นนักธรรมเอก (เถรภูมิ) แล้ว ไม่ควรทำตัวเหมือนพระบวชใหม่และเณรใหญ่น้อย จะเข้าไปดูหนังก็แต่เรื่องใหญ่ ๆ ดัง ๆ เท่านั้น ส่วนลิเกไม่ว่าคณะไหนจะไม่เข้าไปดูเลย ผู้ที่เข้าไปดูทั้งหนังทั้งลิเกไม่เคยขาดคือ “เณรโตก” คนบ๊อง ๆ บวม ๆ ที่หลวงพ่อเจ้าคุณเลือกไว้รับใช้ใกล้ชิดท่าน ลิเกทุกคณะที่มาเปิดการแสดง “เณรโตก” ต้องเข้าไปดูทุกคืน บางคืนยังไปนั่งดูแลการเก็บบัตรผ่านประตูอีกด้วย ชาวบ้านก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะคนส่วนมากรู้จักเณรองค์นี้ดี
มีลิเกคณะหนึ่งขอเช่าโรงเปิดการแสดง ๑ เดือนเต็ม นัยว่าเขาแสดงดีมีคนเข้าดูกันคืนละไม่น้อย แต่เขาไม่ได้แสดงทุกคืน เพราะมีบางคืน “หนังเร่” มาขอเช่าโรงฉายภาพยนตร์ ทางวัดให้สิทธิ์ลิเกคณะนั้นตกลงกับเจ้าของหนังเร่นั้น คณะลิเกก็เรียกเอาค่าเช่าตามความพอใจ ลิเกคณะนี้ผู้แสดงชายส่วนใหญ่จะ “ติดกัญชา” เห็นตาเจิม “ศิษย์คู่บุญ” ของหลวงพ่อเจ้าคุณไปป้วนเปี้ยนอยู่ในโรงลิเกเวลากลางวันไม่เว้นแต่ละวัน เณรโตกก็ไปป้วนเปี้ยนอยู่กับตาเจิมทุกวันด้วย ข้าพเจ้ามารู้ว่าลิเกคณะนี้ “เป็นลิเกขี้ยา” ก็ต่อเมื่อเณรโตกที่เข้าไปคลุกคลีอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนนั้น ติดกัญชาจนงอมแงมเสียแล้ว
ในบรรดานักเรียนบาลีวัดหัวเวียงนั้น มีสามเณรหนุ่มวัย ๑๙ ปีอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๐ องค์ พ้น “วัยเด็ก” เข้าอยู่ใน “วัยคะนอง” กันแล้ว ก็มักจะทำเรื่องไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นในหมู่คณะเสมอ อย่างเช่นวันหนึ่ง หลานสาวเศรษฐินีม่ายผู้เป็นโยมอุปัฏฐากหลวงพ่อเจ้าคุณเทพ นำอาหารเพลมาถวายหลวงพ่อเจ้าคุณ เด็กสาวคนนี้มีหน้าที่นำอาหารมาถวายหลวงพ่อเจ้าคุณทุกวัน บางวันก็มีเพื่อนมาด้วยเป็นสองคน บางวันก็มาคนเดียว เธอกำลังเป็นสาว “วัยขบเผาะ” หน้าตาขำคม วันนั้นเธอถวายอาหารเพลแล้วก็เดินทางกลับบ้านตามปกติ
“วันนี้แกงอะไรจ๊ะ?” เณรโตกเอียงคอถาม พร้อมฉีกยิ้มให้ด้วยไมตรี “แกงมะเหงก !” เธอตอบพร้อมสะบัดหน้าเดินกระฟัดกระเฟียดผ่านกุฏิพระมหาเงิน
“ตัดผมทรงอะไรน่ะ?” เณรนวยโผล่หน้าต่างร้องถาม “ทรงมดแดงชะเง้อ !” เธอตะคอกเสียงตอบ
“ทำไมคนสวยตอบยังงั้น?” เณรยศถามแซมขึ้นมา “บ้า ! บ้ากันทั้งวัด” แล้วเธอก็ร้องไห้รีบเดินจากไป
ก่อนหน้านี้พวกเณรก็เคยทักทายปราศรัยกับเธอ ไม่เคยเห็นเธอโกรธเคืองมาก่อน วันนี้ไม่รู้เป็นอะไรไป เณรโตกทักเธอดี ๆ กลับโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ และพาลโกรธเณรทุกองค์เลย ไม่ใช่โกรธแล้วหายโกรธเมื่อเดินกลับบ้าน แต่เธอเดินร้องไห้ไปฟ้องคุณป้า กล่าวหาว่าถูกพวกเณรรุมจีบ เกี้ยวพาราศีเธออย่างหยาบโลน เศรษฐินีโยมอุปัฏฐากหลวงพ่อเจ้าคุณเห็นหลานสาวกลับมา “ฟ้องทั้งน้ำตา” ดังนั้นก็โกรธเป็นกำลัง รีบเดินทางเข้าวัดและผลีผลามเข้าไปหาหลวงพ่อเจ้าคุณ
“อีฉันทนไม่ไหวแล้ว ท่านเจ้าคุณ” ประเคนคำพูดให้หลังจากยกมือไหว้แล้ว
“มีอะไรทนไม่ไหวอีกล่ะ?” หลวงพ่อเจ้าคุณถามยิ้ม ๆ หลังจากบ้วนน้ำหมากลงกระโถน
“ก็เณรของท่านน่ะซี ร้ายนักเชียว !”
“มันร้ายยังไงล่ะ?” ท่านถามด้วยอาการเดิม
“ร้ายซี ก็รุมกันเกี้ยวยายอ้อยหลานสาวอีฉันเสียจนร้องห่มร้องไห้ เดินกลับบ้านแทบไม่ไหว ท่านเจ้าคุณต้องลงโทษเณรร้ายนั้นให้หนักหน่อยนะ”
“เฮ่ย....! หลานแกมันเป็นสาว เณรข้ามันเป็นหนุ่ม ไอ้หนุ่มมันก็ต้องจีบอีสาวเป็นเรื่องธรรมดา เราแก่แล้วจะไปถือสาหาความอะไรกับเรื่องของหนุ่มสาวมันเล่า?”
หลวงพ่อเจ้าคุณพูดจบแล้วก็หัวเราะอย่างขบขัน เศรษฐินีม่ายได้ฟังดังนั้นก็ร้องไห้โฮ..... ไม่กราบลาแล้ว ลุกขึ้นผลุนผลันลงจากกุฏิ เดินตุปัดตุป่องจากวัดไปด้วยความคับแค้นใจ ข้าพเจ้าคิดว่าโยมเศรษฐินีม่ายนั้นคงจะโกรธจนเลิกทำอาหารเพลถวายหลวงพ่อเจ้าคุณแล้ว แต่คิดผิดถนัด เพราะโยมนั้นยังคงทำอาหารให้หลานสาวนำมาถวายเพลเหมือนเดิม ทุกวันหนูอ้อยหลานสาวของโยมจะนำอาหารไปพร้อมกับเพื่อนสาว หรือไม่ก็เพื่อนชายไปด้วย เพื่อป้องกันการ “แทะโลม” ด้วยวาจาของเณร
เรื่องของสามเณรที่มีความประพฤติเกเรร้ายกาจนี่ ดูเหมือนจะมีอยู่ทั่วไป อย่างสามเณรองค์หนึ่งชื่อ “ปอด” ก่อนจะมาอยู่วัดหัวเวียงเขาร้ายกาจพอสมควร ข้าพเจ้ารู้ได้เพราะเพื่อนของเขาเล่าให้ฟัง และก็ถามเขาว่าจริงหรือไม่ ? เขายอมรับว่าเป็นความจริง ตามนั้นยุคสมัย “กึ่งพุทธกาล” นั้น คนชนบท คือใน “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” มีพระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, สุพรรณบุรี, ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยนาท, นครสวรรค์, ปทุมธานี, นครปฐม เป็นต้น มีค่านิยมในการบันเทิงด้วยการชมนาฏดนตรี (ลิเก) ในงานต่าง ๆ เช่น งานประจำปีของวัด งานบวชนาค งานฉลองเสนาสนสงฆ์ งานโกนจุก แม้งานแก้บน ก็นิยมจัดให้มีแสดงลิเก รองจากลิเก ก็เป็นภาพยนตร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น “หนังขายยา” วงดนตรีลูกทุ่งเริ่มสอดแทรกเข้ามาด้วย ส่วนลำตัด เพลงฉ่อย ละครชาตรี โขน นั้นมีน้อยเต็มที เพราะคนนิยมดูกันน้อยนัก
งานประจำปีของวัดต่าง ๆ ที่ถือว่ายิ่งใหญ่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็มี วัดบางนมโค (วัดหลวงพ่อปาน) วัดเกาะ วัดทางหลวง วัดลาดบัวหลวง และวัดบางซ้ายใน ทุกวัดต้องมีลิเกชื่อดังมาแสดงเป็นหลักของงาน ลิเกที่เรียกว่า “ดัง” ในยุคสมัย ต้องเป็นลิเกที่แสดงออกอากาศทางสถานีวิทยุต่าง ๆ หรือไม่ก็ “อัดแผ่นเสียง” จนมีชื่อเสียงติดหูคนฟังแล้ว เช่น ทองใบ รุ่งเรือง, เสนาะน้อย เสียงทอง, บุญส่ง จารุวิจิตร, บุญเชิด ท่วมศิริ, รำพึง ณ อยุธยา, ประยงค์ ลูกบางแก้ว, ขุนแผน ลูกปราจีน, หอมหวล, จันทร์แรม เป็นต้น
วัดไหนจัดงานโดยไม่หาลิเกวิทยุมาแสดง ชาวบ้านจะพูดนินทากันว่า “จัดงานกระจอกมาก” ค่าจ้างลิเกวิทยุมาแสดงนั้นคืนละไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท ถ้าคณะที่มีปี่พาทย์, เครื่องไฟพร้อม จะแพงขึ้นถึงคืนละสามหมื่นบาททีเดียว วัดลงทุนจ้างลิเกมาแสดงมักจะไม่ขาดทุน เพราะจะเก็บค่าชมจากคนดูด้วย บางวัดก็หาลิเกมาแสดงประชัน แข่งขันกัน อย่างวัดลาดบัวหลวงของพระจงนั้น จัดงานประจำปีในเทศกาลลอยกระทง บางปีจัดติดต่อกันถึง ๕-๗ คืนทีเดียว หาลิเกมาแสดงประชันกันชนิดที่เรียกว่า “ถึงพริกถึงขิง” มีเดิมพันการแสดงเป็นเงินสดกันด้วย วัดนี้ได้เปรียบตรงที่มีพื้นดินคันคลอง (พระยาบันลือ) ผ่านวัด ไม่ถูกน้ำท่วม จึงใช้เป็นที่จัดงานได้ดีกว่าวัดอื่น ๆ ที่ถูกน้ำท่วมพื้นที่หมด พื้นที่วัดที่ถูกน้ำท่วมนั้นจะปลูกสร้างโรงลิเกในน้ำยกพื้นสูงพ้นน้ำประมาณหนึ่งศอก คนดูลิเกก็ใช้เรือพาย เป็นเรือเล็กบ้างใหญ่บ้างจอดเรียงรายหน้าโรงลิเก หนุ่มสาวดูลิเกกันไปจีบกันไป สนุกไปตามประสาวัฒนธรรมประเพณีชาวลุ่มน้ำ
การแสดงลิเกประชันกันนั้นมี ๒ แบบ คือประชันกันแบบเผชิญหน้า หรือซึ่ง ๆ หน้า ในคืนและเวลาเดียวกัน กับ ประชันลับหลัง คือแสดงกันคนละคืน(คนละเวลา) ใครแสดงก่อนหรือหลังแล้วแต่จะตกลงกัน หากตกลงกันไม่ได้ก็ใช้วิธีจับสลาก กรรมการผู้ตัดสินว่าใครแพ้ใครชนะคือประชาชนคนดูทั่วไปคณะใดมีคนดูมากกว่าก็ชนะไป ตัววัดว่าคนดูมากหรือน้อยได้แก่ “ตั๋วเงินค่าผ่านประตู” เข้าชมการแสดง
งานประจำปีของวัดในน่านน้ำวัดหนึ่งมีลิเกประชันกัน และเป็นการประชันแบบซึ่ง ๆ หน้า โรงลิเกปลูกห่างกันพอสมควร เณรปอด จอมพิเรนที่ชอบกลั่นแกล้งคน ก็กลั่นแกล้งคณะลิเกที่เขาไม่ชอบ คืนนั้นบรรดา “ลูกทุ่ง” ทุกวัยทั้งหลายทั้งปวงพากันพายเรือ แจวเรือ เข้าวัดดูลิเกกันแน่นขนัด ลิเกแสดงไปได้ไม่นานนัก คนดูที่เนืองแน่นหน้าโรงลิเกคณะดังที่มีแววว่าจะชนะนั้น พากันพายเรือออกจากหน้าโรงทีละลำสองลำ เหลือจอดดูอยู่เพียงเล็กน้อย ที่สุดก็เป็นฝ่ายแพ้ไป
เหตุที่ลิเกคณะเก่งนั้นพ่ายแพ้ก็เพราะ สามเณรปอดกับไอ้ฉ่ายเด็กวัด หนึ่งเณรหนึ่งเด็กร่วมกันกลั่นแกล้ง โดยเอาไหกระเทียมใส่น้ำอุจจาระปัสสาวะเก็บไว้ แล้วกวาดจับตั๊กแตนขังไว้จำนวนมาก เมื่อถึงวันประชันลิเก ก็เอาตั๊กแตนหลายร้อยตัวใส่ลงในไหกระเทียมที่หมักอุจจาระปัสสาวะ ปิดปากไหนำไปซ่อนไว้หลังโรงลิเกคณะที่เขาไม่ชอบ พอเปิดการแสดงก็แอบไปเปิดฝาไห ตั๊กแตนในไหนั้นเมื่อเห็นแสงไฟก็พากันบินออกจากไห ไปเกาะตามเนื้อตามตัวผู้คนที่จอดเรือรายเรียงอยู่หน้าโรงลิเกนั้น แล้วใครจะทนเหม็นอยู่ได้เล่า ก็ต้องพาย แจว เผ่นหนีไปเป็นธรรมดา ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเรื่องหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่สามเณรปอดเล่นพิเรนทร์ ๆ กลั่นแกล้งผู้คน /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, มนชิดา พานิช, สายน้ำ, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, หยาดฟ้า, คิดถึงเสมอ, ลิตเติลเกิร์ล, ข้าวหอม, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลายเมฆ, ฝาตุ่ม, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๕๒ - มีเรื่องไม่น่าเชื่อที่ข้าพเจ้าพบเห็นด้วยตนเองเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้สงสัยอยู่จนทุกวัน คือหลาน (ห่าง ๆ) เจ้าของโรงสีข้าวนึ่งใกล้วัดหัวเวียงคนหนึ่ง เข้าพิธีมงคลสมรสกับชายหนุ่มมีฐานะดี นิสัยใจคอดี ความรู้ดี ร่างกายแข็งแรงดี เขาชอบพอกันกับข้าพเจ้าพอสมควร วันทำพิธีแต่งงานนิมนต์ข้าพเจ้าไปเจริญพระพุทธมนต์ด้วย พิธีแต่งงานเขาไม่จัดใหญ่โตอะไร ไม่มีงานเลี้ยง ไม่มีการ “แห่ขันหมาก” ทั้ง ๆ ที่ฐานะของเจ้าบ่าวเจ้าสาวเขาดีพอที่จะจัดงานใหญ่โตอย่างไรก็ได้ แต่เพราะเจ้าภาพเป็นบัณฑิต จึงจัดพิธีอย่างเรียบง่าย นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ถวายภัตตาหารเพียง ๕ องค์ เป็นพระวัดหัวเวียง ๔ องค์ วัดสุวรรณเจดีย์ ๑ องค์
พระวัดหัวเวียง ๔ องค์ไปถึงบ้านงานก่อน พระวัดสุวรรณเจดีย์ยังไปไม่ถึง จนเวลาสายแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าจะรอไม่ไหว โยมเจ้าของโรงสีซึ่งเป็นใหญ่ในงานบอกว่า
“พระสี่องค์ก็ครบองค์สงฆ์แล้ว อีกองค์หนึ่งยังมาไม่ถึงก็ช่างเถิด เราทำพิธีสงฆ์ให้เจริญพรพุทธมนต์ไปก่อน องค์ที่ ๕ นั้นมาถึงเมื่อไหร่ให้เข้าพิธีเมื่อนั้นก็แล้วกัน”
มีบางคนค้านว่า “พระสี่องค์สำหรับสวดศพ ไม่ใช่งานแต่งงาน” แต่คนส่วนใหญ่ในงานนั้นเห็นด้วยกับโยมผู้ใหญ่นั้นว่าให้เริ่มทำพิธีไปได้เลย เพราะพระสี่องค์ครบ “องค์สงฆ์” ตามวินัยนิยมแล้ว ดังนั้น พิธีกรรมทางศาสนาจึงเริ่มขึ้น พระอาจารย์เส็งเป็นประธานสงฆ์ ให้ศีลจบแล้ว โยมแววกล่าวอาราธนาพระปริตร หลวงตาเล็กผู้นั่งในอันดับที่สองจะตั้งพัด “ขัดสัคเค....” ชุมนุมเทวดาตามระเบียบ ท่านกลับส่งพัดให้หลวงตากรอผู้นั่งลำดับที่สาม หลวงตากรอไม่ยอมขัดสัคเค... ท่านส่งพัดให้พระเต็มซึ่งเป็นพระอาวุโสน้อยที่สุดนั่งอยู่อันดับที่สี่องค์สุดท้าย แล้วข้าพเจ้าจะส่งพัดต่อไปให้ใครได้เล่า ?
ตกอยู่ใน “ภาวะจำยอม” ข้าพเจ้าตั้งพัดขัดสัคเคโดยที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนเลย ทำนอง “ขัดสัคเค...” ที่หลวงพ่อเจ้าคุณเทพสอนให้นั้น ก็เคยว่าแต่ในโรงอุโบสถ ไม่คุ้นเคยว่าในงานพิธีใด ๆ จึงอดประหม่าไม่ได้เหมือนกัน หลานสาวคนงามของโยมเศรษฐีที่ต้องตาต้องใจข้าพเจ้านั้นเธอก็มานั่งอยู่ตรงหน้าด้วย
ข้าพเจ้าเริ่มว่าบทชุมนุมเทวดาตามทำนองที่หัดไว้ด้วยเสียงสั่น ๆ เล็กน้อย เอาใจจดจ่อกำหนดวรรคตอนและท่วงทำนองไม่ให้ผิดได้ ด้วยเห็นว่ามี “นักฟัง” นั่งอยู่ข้างหน้าหลายคน ว่าไปถึงตอนที่ว่า “มุนิระวะวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ” แล้วก็เกิดลืมเนื้อท่อนที่จบเสียสนิท คิดไม่ออกว่าคำต่อไปคืออะไร จึงเอื้อนทำนอง “ลากยาว......” พร้อมกับคิดหาข้อความต่อไป แต่ก็คิดไม่ได้ จึงยกแก้วน้ำเย็นขึ้นดื่มอึกหนึ่ง ยังคิดไม่ได้อีก คนฟังชักนั่งมองหน้ากันเลิ่กลั่กแล้ว ข้าพเจ้ายกกระโถนขึ้นขากถุยน้ำลายลงกระโถนอีกที คราวนี้นึกได้ ว่ าท่อนจบนั้นคือ “ธัมมัสสะวะนะกาโล....อะยัมภะทันตา.....” จึงบรรจงว่าตอนจบ ให้จบลงด้วยความโล่งอกโล่งใจของคนที่นั่งเอาใจช่วยพระเต็มอยู่ตลอดเวลา
การเจริญพระพุทธมนต์วันนั้นเป็นไปได้ด้วยความอัตคัดเต็มที พระอาจารย์เส็งต้นเสียงท่านขึ้นบทสวดเสียงสูง หลวงตาเล็กกับหลวงตากรอรับเสียงต่ำ ข้าพเจ้าพยายามรับเสียงระดับพระอาจารย์เส็ง เสียงสวดจึงดังอยู่ทางหัวแถวกับท้ายแถว ตรงกลางมีเสียงแก้บ ๆ เหมือนเสียงเป็ดตัวผู้ เมื่อสวดจบลง เจ้าภาพยกอาหารมาตั้งเตรียมกล่าวคำถวายทานและประเคน พระหนุ่มองค์หนึ่งจากวัดสุวรรณเจดีย์ก็ “โผล่” มา เป็นพระอาวุโสน้อย บวชภายหลังข้าพเจ้าสองเดือนเศษ จึงให้นั่งต่อท้ายสุด ท่านแก้ตัวว่า “หลวงพ่อพระครู (ใบฎีกา) เจ้าอาวาสท่านลืม นึกได้ก็สายแล้ว จึงให้พระมาแทน” โยมก็ไม่ว่าอะไร นิมนต์ท่านฉันภัตตาหารทันที งานมงคลสมรสผ่านไปท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนที่ “เชื่อมงคลตื่นข่าว” ถือในเรื่องโชคลาง
เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อครับ เจ้าบ่าวคนนั้นแต่งงานแล้วอยู่กับคู่สมรสได้ประมาณ ๓ เดือนเศษ เขาก็เสียชีวิตโดยที่ไม่เจ็บป่วยอะไรเลย เขาเสียชีวิตอย่างไรหรือครับ?
“ตกบันไดคอหักตาย !”
พวก “ปากหอยปากปู” พูดกันว่า เขาตายเพราะอาถรรพณ์ในพิธีแต่งงานบันดาลให้เป็นไป คือในพิธีเจริญพระพุทธมนต์นั้นใช้พระสวดเพียง ๔ องค์ เหมือนสวดศพ
ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นความบังเอิญ หรือความซุ่มซ่าม ประมาทเลินเล่อของเขามากกว่า หรือใครจะเชื่อ “ปากหอยปากปู” ก็ตามใจ.....
ในขณะข้าพเจ้ากำลังสนุกอยู่ที่วัดหัวเวียง เรียนวิชาภาษาไทย ภาษาบาลี กับท่านเจ้าคุณ พระเขมเทพาจารย์ (เทพ เขมเทโว) ก็มีบุคคลที่เคารพนับถือกันมากคนหนึ่ง เป็นชาวบางซ้าย ไปอยู่กรุงเทพฯ นานปีมาแล้ว แต่ไป ๆ มา ๆ ระหว่างกรุงเทพฯ-บางซ้าย บ้านที่กรุงเทพฯ ของโยมคนนี้อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดจันทร์นอก ในสวนบางคอแหลม ทราบว่าวัดนี้เป็นวัดเล็ก ๆ ด้านหน้าติดแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านข้างขวาติดคลองบางคอแหลม ยังไม่เจริญนัก ไฟฟ้า น้ำประปา ไม่มีใช้ การคมนาคม นอกจากใช้เรือจ้าง (เรือแจว) เรือยนต์ ที่ท่าเรือถนนตกแล้ว ก็ต้องเดินตามสะพานไม้และคันดิน ลัดเลาะตามร่องสวนออกสู่ถนนใหญ่ชื่อว่า เจริญกรุง
วัดจันทร์นอกมีเจ้าอาวาสเป็นพระมหาเปรียญ ๘ ประโยค ที่ทางวัดมหาธาตุฯท่าพระจันทร์ส่งไป พระภิกษุสามเณรในวัดนี้เป็นชาวอีสานเกือบทั้งหมด มีภาคกลางเพียงเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นชาวบางพลี สมุทรปราการ กับพระชาวสวนใกล้วัดนั้นองค์หนึ่ง เจ้าอาวาสปรารภกับโยมบุญช่วยชาวบางซ้ายบ้านหน้าวัดว่า อยากได้พระเณรคนภาคกลางมาอยู่เป็นเพื่อนบ้าง โยมบุญช่วยก็รับปากว่าจะหาพระจากอยุธยามาอยู่ด้วยสักองค์หนึ่ง
แล้วบุญหรือบาปก็ไม่รู้มาหล่นทับข้าพเจ้า เมื่อถูกเลือกให้จากวัดหัวเวียง ไปอยู่วัดจันทร์นอกโดยไม่มีการทาบทามมาก่อนเลย
ความจริง ใจข้าพเจ้าไม่คิดอยากเข้าอยู่ในกรุงเทพฯ เลย ตอนบวชเป็นเณรใหม่ ๆ ก็เคยมีผู้ชวนให้ไปอยู่วัดพระเชตุพนฯ บ้าง วัดประยุรวงศ์ฯ บ้าง วัดอินทรวิหารบ้าง แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมไปอยู่ ด้วยกลัวอดอาหาร เพราะได้ฟังเขาคุยกันว่า พระเณรในกรุงเทพฯ บิณฑบาตไม่ค่อยได้อาหาร ฟังแล้วก็เลยกลัว แม้ตอนหลัง ๆ นี่ความกลัวอดอาหารในกรุงเทพฯ หายไปแล้ว ก็ยังไม่คิดอยากเข้าอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ดี
ด้วยเห็นแก่หน้าโยมบุญช่วยที่เคารพนับถือกัน ข้าพเจ้าจึงยอมเข้ากรุงเทพฯ ไปอยู่วัดจันทร์นอก ส่วนศึกษาเล่าเรียนนั้น ตกลงว่าจะเรียนบาลีต่อในสำนักเรียนวัดมหาพฤฒาราม (วัดตะเคียน) ย่านสี่พระยา ด้วยคิดว่าเดินทางไปมาได้สะดวกที่สุด มีทั้งรถเมล์และรถรางให้โดยสารฟรี
เพื่อนพระเณรและญาติโยมพอรู้ว่าข้าพเจ้าจะลาจากวัดหัวเวียงเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ ต่างก็พากันบ่นเสียดายไม่อยากให้จากไป ท่านเจ้าคุณพระเขมเทพาจารย์บอกว่าเสียดายมาก กำลังขอใบแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักเรียนคณะสงฆ์อำเภอเสนา โดยจะให้สอนนักธรรมชั้นเอก ซึ่งในเวลานั้นขาดครูสอนนักธรรมชั้นนี้ แต่จำต้องปล่อยให้ข้าพเจ้าเข้ากรุงเทพฯ ไปด้วยความเสียดาย พระภิกษุเต็มอำลาภูธรไปเป็นพระกรุงเทพฯ เข้าอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีที่ต่างจากบ้านนอกเป็นอย่างมาก อนาคตของพระภิกษุเต็มจะเป็นอย่างไร ทำไมจึงต้องเปลี่ยนชื่อเดิมที่พ่อตั้งว่า เต็ม เป็น อภินันท์
มีประสบการณ์สนุกตื่นเต้นมากมายที่ได้จากวงการภิกษุสงฆ์ (ในดงขมิ้น) ทั้งในด้านการศึกษาเล่าเรียน การปฏิบัติศาสนกิจ พฤติกรรมอำพรางนานาที่ชาวบ้านส่วนมากไม่รู้เห็น
ที่ให้การมาทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมพระและชาวบ้านภูธรเท่านั้น
ยังมีเรื่องราวเกี่ยวพันกันระหว่างพระภิกษุสงฆ์กับชาวบ้านที่เป็นสังคมเมืองอีกมากมายนัก ข้าพเจ้าจะนำมาให้การอีกในโอกาสต่อไป./
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, คิดถึงเสมอ, ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, ลิตเติลเกิร์ล, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ลายเมฆ, ฝาตุ่ม, มนชิดา พานิช, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๕๓ - จากภูธรเข้าอยู่ในนครบาล
ข้าพเจ้ามอบตัวเป็นศิษย์เรียนบาลีกับหลวงพ่อเจ้าคุณเขมเทพาจารย์อยู่เพียง “นามต้น” ก็มีอันต้องจากวัดหัวเวียงไปด้วยความอาลัย ทั้งนี้ มีเหตุให้ต้องจากสังคมวัดหัวเวียงที่ให้ความอบอุ่นและสนุกสนาน การเปลี่ยนแปลงชีวิตบ้านนอกเกิดขึ้นเมื่อญาติของพระซึ่งข้าพเจ้ารัก-นับถือมากที่วัดบางซ้ายในคนหนึ่งอยู่กรุงเทพฯ เขาคุ้นเคยกับเจ้าอาวาสวัดที่บ้านซึ่งเขาอยู่นั้น ได้พูดฝากฝังข้าพเจ้ากับเจ้าอาวาสให้พระเต็มไปอยู่วัดนั้น โดยที่ข้าพเจ้าไม่รู้เรื่องด้วยเลย เจ้าอาวาสท่านรับและจัดกุฏิไว้คอยแล้วจึงมาบอกให้รู้ เป็นอันต้อง “ตกบันไดพลอยโจน” หากไม่ไปอยู่วัดนั้นก็จะทำให้ผู้ฝากฝังคนนั้นเสียหน้า ขาดความเชื่อถือไป
วัดจันทร์นอก คือวัดที่พระเต็มต้องจากวัดหัวเวียงเข้ากรุงเทพฯ ไปอยู่สำนักวัดนี้ เป็นวัดเล็ก ๆ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงปากคลองบางคอแหลม การคมนาคมไป-มาวัดนี้ไม่ค่อยสะดวกนัก ส่วนใหญ่จะใช้เรือเมล์และเรือแจว (เรือจ้าง) ขึ้น-ลงที่ท่าถนนตก หากไม่ลงเรือก็ต้องเดินเท้าเข้าในตรอกวัดจันทร์ใน แล้วแยกออกผ่านสวนตามทางอันคดเคี้ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นสะพานไม้กระดานแคบ ๆ เวลาเดินสวนทางกันก็ต้องเอี้ยวตัวหลบกัน ถ้าใครเดินซุ่มซ่ามก็มักจะตกท้องร่องสวนได้
วัดนี้จึงเป็นวัด “สะเทินน้ำสะเทินบก” อยู่สภาพกึ่งความเจริญกึ่งความกันดาร ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ กุฏิที่สมภารท่านจัดให้อยู่เป็นอาคารไม้ยอดแหลมฝากระดานแบบบ้านทรงไทยโบราณ กลางคืนต้องใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดจุดให้แสงสว่าง น้ำก็ต้องใช้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัด และในลำคลอง (บางคอแหลม) เล็ก ๆ ที่ไหลผ่านข้างแถวหมู่กุฏิทางด้านทิศตะวันตก จากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเรือกสวนขึ้นไปทางวัดจันทร์ใน ตรงวัดจันทร์นอกนี้ มีบ้านพักเรือนแถวตั้งเรียงรายอยู่จำนวนมาก และมีวัดอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่ริมคลองด้านตะวันตก ตรงข้ามกับวัดจันทร์นอก ชื่อ วัดอินทร์บรรจงทรงวาด ในบริเวณวัดจันทร์นอกมีสถานีตำรวจและบ้านพักข้าราชการตำรวจประจำสถานีตำรวจบางคอแหลมตั้งอยู่ใกล้ ๆ แถวกุฏิพระด้านตะวันออก สถานีตำรวจแห่งนี้มีหน้าที่หลักในการตรวจตราดูแลแม่น้ำเจ้าพระยา เก็บศพคนตายที่ลอยน้ำมาไว้ชันสูตร โดยใช้เรือลากจูงศพมาผูกมัดไว้ในแม่น้ำหน้าสถานีตำรวจ (ก็ศาลาหน้าวัดจันทร์นอกนั่นแหละ) หลังสถานีตำรวจมีศาลาการเปรียญของวัดและอาคารเรียนโรงเรียนวัดจันทร์นอก (รร.ขนาดเล็ก) โรงอุโบสถของวัด เป็นลำดับไป
กุฏิแบ่งเป็นสองห้องนอน ข้าพเจ้าอยู่ห้องหนึ่งให้พระบวชใหม่อยู่ห้องหนึ่ง พระองค์นี้มีอายุมากแล้ว ชื่อไสว เรียกท่านว่าหลวงน้าไหว เป็นชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ พระเณรในวัดนี้ส่วนมากเป็นคนที่มาจากภาคอีสาน มีภาคใต้อยู่องค์เดียว ภาคเหนือมี ๑ องค์ ภาคกลางมีเพียงเจ้าอาวาส (คนอำเภอบางพลี) หลวงน้าเปีย (คนข้างวัดนั่นเอง) และพระเต็ม รวม ๓ องค์เท่านั้น
ข้าพเจ้าสมัครใจเรียนบาลีในสำนักเรียนวัดมหาพฤฒาราม (วัดตะเคียน) อยู่แถวสี่พระยา บางรัก มีพระเณรเรียนในสำนักนี้ห้องละร่วม ๕๐ องค์ แทนที่จะเรียนต่อจากที่เคยเรียนในสำนักวัดหัวเวียงแล้ว พระเต็มกลับเริ่มเรียนในชั้น “นามต้น” ใหม่เพราะเห็นว่าสนุกดี พระเณรที่เรียนร่วมชั้นมาจากทั่วทุกภาคของประเทศ จากภาคอีสานดูเหมือนจะมีมากกว่าเพื่อน
การเดินทางไปเรียน บางวันก็รอลงเรือเมล์ที่ผ่านหน้าวัดไปถนนตก บางวันก็เดินตามสะพานไม้ในตรอกที่แคบและคดเคี้ยว ออกสู่ถนนเจริญกรุง นั่งรถเมล์ชื่อ “ร.ส.พ.” เป็นสายที่ ๑ ต้นทางออกจากท่าน้ำถนนตก ปลายทางสุดที่วัดโพธิ์ท่าเตียน บางวันก็ขึ้นรถรางต้นทางที่ถนนตกปลายทางสุดที่ศาลหลักเมือง รถดังกล่าวแล่นผ่านวัดมหาพฤฒาราม ขาไปขึ้นรถไม่ยากเพราะเป็นต้นทางที่รถยังว่างอยู่ แต่ขากลับจะยากหน่อย เพราะเป็นระยะกลางทางที่รถไม่ค่อยว่างนัก ส่วนใหญ่ขากลับข้าพเจ้าจะเลือกขึ้นรถรางเพราะขึ้นง่ายกว่ารถยนต์
เรื่องอาหารการกินที่วัดจันทร์นอกค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ไม่อดอยาก ข้าพเจ้าเลือกออกบิณฑบาตทางลำน้ำโดยใช้เรือพายเป็นพาหนะ เรือพายที่วัดนี้ส่วนใหญ่เป็นเรือขนาดเล็ก นั่งพายได้คนเดียว มีเรือขนาดใหญ่ (แบบเรือยาวแถวอยุธยา) อยู่ลำหนึ่ง ทอดลำขึ้นคานทิ้งไว้ไม่มีใครใช้ เพราะมันยาวดูเก้งก้าง ไม่คล่องตัวในการเลี้ยวลัดและหนักแรงในการพาย ข้าพเจ้าตกลงใจใช้เรือลำนี้ออกบิณฑบาตเพราะเห็นว่ามันใหญ่คงไม่ล่มง่ายนัก
กุฏิข้าพเจ้าตั้งอยู่ริมคลอง “บางคอแหลม” เวลาน้ำลดลงคลองนี้จะแห้ง บางวันน้ำลดลงตอนเช้าพระเณรต้องเข็นเรือลงคลองออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับความลำบากพอสมควร พระเต็มพายเรือเลาะริมน้ำเจ้าพระยาไปทางทิศตะวันออก หลวงน้าเปียพระร่วมคณะของข้าพเจ้าพายเรือออกบิณฑบาตไปทางทิศตะวันตก บ้านเรือนตามริมแม่น้ำเจ้าพระยามีค่อนข้างหนาแน่น และมีคนใส่บาตรกันมาก ดังนั้นเรือหลวงน้าเปียกับเรือของพระเต็มจึงมีอาหารกลับวัดวันละมาก ๆ ดีกว่าเดินบิณฑบาตที่ได้อาหารน้อยกว่า
สายน้ำในแม่เจ้าพระยาไหลขึ้นลงค่อนข้างจะรุนแรง เวลาน้ำขึ้นต้องออกแรงพายเรือทวนกระแสน้ำไปอย่างหนัก เวลาน้ำลดลงก็ต้องพายเรือทวนกระแสน้ำกลับหนักเช่นกัน บางวันพายเรือเหนื่อยแทบขาดใจ ไม่ใช่แต่ต้องสู้กับสายน้ำที่ไหลขึ้นไหลลงเท่านั้ น คลื่นระลอกในแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการพายเรือบิณฑบาตด้วย คลื่นระลอกนั้นเกิดจากเรือเมล์ที่แล่นเร็ว-แรง คลื่นร้ายกาจเกิดจากเรือปลา เป็นเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกปลาสดจากทะเล รีบเร่งไปส่งขึ้นสะพานปลาแถวยานนาวา คลื่นระลอกของเรือชนิดนี้ใหญ่โตมาก ต้องคอยระวังพายเรือโต้คลื่นให้ดี ถ้าไม่ดีก็จะถูกคลื่นใหญ่ซัดจนเรือล่มลงได้ ข้าพเจ้าเคยถูกคลื่นใหญ่ซัดเรือล่มเป็นหลายครั้ง บางวันกำลังรับบิณฑบาตอยู่ที่หัวสะพานบ้านผู้ใจบุญ เรือปลาแล่นมา ทำให้คลื่นใหญ่ซัดเรือกระแทกหัวสะพานโครม เรือพลิกคล่ำ โยมที่ใส่บาตรตกน้ำลงไปลอยคอพร้อม ๆ กับพระ ทั้งบาตรและถ้วยโถโอถามใส่อาหารหวานคาวจมน้ำหายไปสิ้น เรื่องอย่างนี้ทั้งข้าพเจ้าและพระเณรที่บิณฑบาตทางเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาผจญกันมานักต่อนักแล้ว
ข้าพเจ้าฉันอาหารรวมกันเป็นคณะที่หน้ากุฏิเจ้าอาวาส มีพระภิกษุ ๕ องค์ คือเจ้าอาวาส (พระมหาประยูร ป.ธ.๘) คนบางพลี สมุทรปราการ หลวงน้าเปีย ซึ่งเป็นพระเจ้าถิ่น พระเต็ม หลวงน้าไสว เป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ พระมหาเจียร เป็นคนปักษ์ใต้ (มาจากภูเก็ต) สามเณร ๖ องค์ คือเณรเครือ, เณรใหญ่, เณรอุทัย, เณรบุญศรี, เณรเกตุ ,เณรสร้อย เณรเครือเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ ผิวคล้ำ เป็นนักเพาะกาย ชอบเล่นกล้าม ตอนเย็นกลับเรียนหนังสือเขาจะแวะเข้ายิมเพาะกายตรงปากตรอกวัดจันทร์ใน ดูเขาเล่นกล้ามแล้วจำมาทำที่ป่าจากหลังกุฏิ ซึ่งเขาทำบาร์เดี่ยว, บาร์คู่ไว้ ทั้ งยังมีลูกเหล็กสำหรับยกออกกำลังกายด้วย เณรเครือมีกล้ามเนื้อขึ้นเป็นมัด ๆ ทั้งแขน, ขา, อก, หลัง เวลาเดินต้องกางแขน หุบไม่ลงเพราะกล้ามปีกข้างมันค้ำแขน สามเณรส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนนักธรรมบาลี แต่เขาเรียนมัธยม ๓,๖,๘ ในรูปแบบ “กวดวิชา” ที่วัดสุทัศน์บ้าง วัดโพธิ์บ้าง ตามแต่ใจชอบ
ข้าพเจ้าเรียนบาลีในชั้นนามต้นได้ไม่นาน จะเป็นเพราะเรียนมาก ท่องหนังสือมาก หรือคิดอะไร ๆ มากก็ไม่รู้ ทำให้เกิดอาการปวดศีร์ษะมาก ปวดจนร้าวไปถึงกระบอกตาทั้งสองข้าง ปวดหนัก ๆ เข้าก็ทำให้นัยน์ตาพร่ามัว จนนัยน์ตาข้างขวามืด มองอะไรไม่เห็น ข้างซ้ายเห็นไม่แจ่มใส ไปหาหมอตาที่โรงพยาบาลสิริราช หมอใหญ่ที่นั่นส่งให้ไปที่โรงพยาบาลสงฆ์ นพ. ประสิทธิ์ สำราญเวทย์ จักษุแพทย์โรงพยาบาลสงฆ์ สั่งรับไว้เป็นคนไข้ใน ต้องนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลสงฆ์ โดยอยู่ประจำในตึก ๑ นานเป็นเดือนเลยทีเดียว
โรงพยายามบาลสงฆ์จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลกับคณะสงฆ์ซึ่งมีพระสังฆนายกเป็นประธาน มีความเห็นร่วมกันให้จัดตั้งขึ้นตรงริมถนนศรีอยุธยา ใกล้สี่แยกศรีอยุธยา พญาไท เพื่อแยกการรักษาพยาบาลสงฆ์ออกจากหมู่ฆราวาสมาเป็นสัดส่วนของหมู่สงฆ์ นอกจากรัฐบาลจะจัดตั้งงบประมาณมาดำเนินการทั้งด้านบุคคลากรบริหารงานและเวชภัณฑ์แล้ว ทางคณะสงฆ์ยังบอกบุญเรี่ยไรหาเงินทุนมาสมทบทุนสนับสนุนด้วยตลอดเวลา/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), คิดถึงเสมอ, ลิตเติลเกิร์ล, ฝาตุ่ม, หยาดฟ้า, สายน้ำ, มนชิดา พานิช, เป็น อยู่ คือ, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๕๔ - เรื่องราวในโรงพยาบาลสงฆ์เมื่อยุคสมัยหลัง “กึ่งพุทธกาล” ทำให้คนประเภท “เทวนิยม” ได้รู้เห็นสิ่งไม่ดีไม่งามของพระเณรแล้ว คลายความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาไปมาก ข้าพเจ้าเองเป็นคนไม่ใช่ประเภท “เทวนิยม” ก็ยัง “เสียความรู้สึก” ไปเป็นอย่างมากด้วย
พระภิกษุสามเณรที่เข้าไปรับการตรวจรักษาเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลสงฆ์ ทั้งที่เป็นคนไข้นอกและคนไข้ใน ล้วนได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก ตอนกลางวันจะมีผู้ใจบุญพากันไปขอเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสามเณร พระเณรที่ไปตรวจรักษาไม่ต้องกังวลในเรื่องการฉันอาหารเพล ได้เวลา ๑๑ นาฬิกา แพทย์จะพักการตรวจรักษานิมนต์พระเณรไปฉันภัตตาหารเพลที่หอประชุมใหญ่ของโรงพยาบาล การณ์นี้ปรากฏว่ามีพระเณรที่ไม่ได้เข้าไปตรวจรักษาโรคจำนวนไม่น้อยที่ไปในหมู่คนไข้นอกเพื่อร่วมฉันภัตตาหารเพลด้วยประสงค์เอกลาภ เพราะเจ้าภาพที่เข้าไปเลี้ยงอาหารเพลพระสงฆ์นั้น มีบางรายที่จัดเงินใส่ซองถวายพระเณรทุกองค์ที่ไปฉันเพลด้วย
“คนไข้นอก” คือภิกษุที่มีอาการอาพาธ (เจ็บป่วย) ไม่มากจนต้องถึงกับต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น มีญาติโยมให้การอุปถัมภ์บำรุงเพียงแค่ถวายภัตตาหารเพลและถวายปัจจัยบ้างไม่มากนัก แต่ “คนไข้ใน” คือภิกษุที่อาพาธ (เจ็บป่วย) หนักถึงขั้นที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น มีญาติโยมอุปถัมภ์บำรุงด้วยอาหารและปัจจัย (เงิน) มาก จึงมีภิกษุอยากเป็น “คนไข้ใน” กันนัก เหตุที่ญาติโยมให้การอุปถัมภ์บำรุงภิกษุอาพาธที่โรงพยาบาลสงฆ์กันมาก ก็เพราะทางคณะสงฆ์ร่วมกันนำเอาพระพุทธพจน์ที่ว่า “การอุปัฏฐากภิกษุสงฆ์ผู้เป็นไข้ เท่ากับอุปัฏฐากพระพุทธองค์” ออกเผยแผ่ทางสื่อต่าง ๆ มาก จึงทำให้ผู้ใจบุญทั้งหลายพากันปฏิบัติบำรุงภิกษุอาพาธเพื่อเป็นการ “ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า” การเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเช้า-เพล ที่โรงพยาบาลสงฆ์ มิใช่ว่า จู่ ๆ ก็เข้าไปถวายได้ ต้องมีการจองล่วงหน้าครับ
เจ้าภาพที่ถวายอาหารเช้า-เพลแด่พระภิกษุสามเณรที่เป็น “คนไข้ใน” นอนพักแรมรักษาตัวอยู่ตามตึกสงฆ์อาพาธต่าง ๆ นั้น จะขึ้นไปถวาย (ประเคน) อาหารด้วยมือตนเอง (เรียกภาษาพระว่า “อังคาสด้วยมือ”) บางรายเมื่อประเคนถาดอาหารแล้ว ก็ถวายดอกไม้ธูปเทียนและปัจจัย (เงิน) ด้วย บางวันก็มีผู้มีฐานะดีไปเข้าเยี่ยมพระภิกษุสามเณรอาพาธตามตึกต่าง ๆ และถวายปัจจัยมากบ้างน้อยบ้างตามแต่กำลัง พระเณรที่ไปนอนรักษาตัวอยู่นั้น บางองค์ก็อยู่นานเป็นเดือน ได้รับเงินที่ญาติโยมนำไปถวายมากเป็นจำนวนหมื่นบาททีเดียว จึงมีพระเณรผู้ต้องการเอกลาภปรารถนาข้าไปเป็น “คนไข้ใน” ของโรงพยาบาลสงฆ์ มีบางองค์อยากเป็นคนไข้ในจนน่าเกลียด เสแสร้งเป็นป่วยหนักไปนั่งซมแซ่วอยู่หน้าห้องตรวจโรค พยาบาลนำตัวเข้าห้องตรวจ แพทย์ตรวจแล้วไม่พบว่าอาพาธถึงขั้นที่ต้องนอนโรงพยาบาล ก็จ่ายยาให้นำกลับไปฉันที่วัด ท่านไม่ยอมกลับ แกล้งนอนซมอยู่ที่ตึกอำนวยการ จนที่สุดทางโรงพยาบาลต้องรับตัวไว้เป็นคนไข้ในสมปรารถนาของเขา ข้าพเจ้าจึงตั้งชื่อโรคให้พระที่แกล้งป่วยเพื่อเข้านอนโรงพยาบาลนั้นว่า “โรคโลภเอกลาภ” เป็นโรคที่รักษาให้หายไปได้ยาก เพราะมันเป็นโรคที่ฝังแน่นอยู่ในสันดาน สิ่งที่ช่วยบรรเทาโรคนี้ได้คือ “ลาภสักการะ” เมื่อได้ลาภสักการะสมความอยากแล้วก็มีอาการสดชื่นดีขึ้น
พระภิกษุเป็น “คนไข้ใน” ด้วยความจำใจ หมอให้พักรักษาตัวอยู่ในตึก ๑ ชั้น ๑ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าใกล้ถนนศรีอยุธยา พระเณรที่อยู่ตึกนี้มีอาการอาพาธไม่หนักหนาสาหัสนัก คือป่วยเป็นโรคตา, หู, คอ, จมูก อยู่ร่วมกัน ส่วนชั้นบน (ชั้น ๒) เป็นคนไข้โรควัณโรค (ที.บี.) กับโรคมะเร็ง พวกที่เป็นโรค คอ, จมูก บางองค์ก็เป็นโรคมะเร็งด้วย ข้าพเจ้าเป็นโรคตาไม่เกี่ยวกับคอ, จมูก ยังไม่มีแผนกนี้ จึงต้องอยู่ร่วมกับผู้เป็นโรคมะเร็งไปโดยปริยาย
แม้ตึกที่ข้าพเจ้าพักรักษาตัวอยู่นั้นเป็นตึกผู้ป่วยที่ไม่หนักหนาสาหัส สภาพความเป็นอยู่ของพวกเราก็ไม่เจริญหูเจริญตาเจริญใจอะไรเลย หลวงตาหลายองค์เป็นโรคมะเร็งที่คอ หายใจทางจมูกไม่ได้ หมอเจาะที่ลำคอตรงใต้ลูกกระเดือกใส่หลอดสำหรับให้หายใจแทนจมูก บางองค์ถูกผ่าตัดช่องปากเวิกริมฝีปากขึ้นเพื่อสูบน้ำหนองออกจากโพรงจมูก หมอบอกว่า “รักษาไซนัส” บางองค์ผ่าตัดช่องท้อง รักษาปอด ลำไส้ อะไรก็ไม่รู้ หลังผ่าตัดแล้วมานอนพักฟื้นในตึกนี้ แต่ละองค์นอนพะงาบ ๆ กลิ่นยาสลบหรือยาอะไรก็ไม่รู้ระเหยลอยลมมาจากผู้ที่ผ่าตัดใหม่ ๆ เป็นกลิ่นที่ชวนผะอืดผะอมมาก จนข้าพเจ้าต้องหนีออกไปอยู่นอกห้องเป็นเวลานาน รอจนกว่ากลิ่นจะละเหยหายไป
บางคืนข้าพเจ้าตื่นนอนตอนดึกได้ยินเสียงร้องครวญคราง เสียงกรน เสียงเพ้อ ของผู้ร่วมตึกอาพาธแล้วเกิดอาการขนพองสยองเกล้าอย่างบอกไม่ถูก มันมีความรู้สึกว่าเหมือนพลัดหลงเข้าไปนอนอยู่ในป่าช้าผีดิบ บางคืนตื่นขึ้นเห็นบุรุษพยาบาลช่วยกันยกศพหลวงตาใส่เตียง (หรือรถ) พยาบาล เข็นไปห้องดับจิต บางคืนเตียงข้าง ๆ มีหลวงตานอนพะงาบ ๆ ครางเบา ๆ ต้องลุกขึ้นนั่งเฝ้าดูใจท่านจนกระทั่งท่านสิ้นใจไปต่อหน้า เพราะไม่กลัวผีอยู่แล้ว จึงไม่กลัวที่เห็นพระเณรเพื่อนผู้ป่วยนั้น ๆ ตายไปต่อหน้าต่อตาแทบทุกวันทุกคืน
อาการป่วยของพระเต็มไม่เหมือนใคร ๆ คือนัยน์ตาจะมองอะไรไม่ค่อยเห็นก็ต่อเมื่อเวลาที่ปวดหัว ครั้นอาการปวดบรรเทาลง นัยน์ตาก็จะมองเห็นอะไร ๆ จนเกือบเป็นปกติ หมอให้กินยาหลังอาหารเช้าวันละ ๑ เม็ด ฉีดยาตอนตี ๕-๖ โมงเช้าวันละ ๑ เข็ม พยาบาลในตึกสงฆ์อาพาธทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นบุรุษพยาบาลที่มาจากทหารเสนารักษ์ หัวหน้า (ตึก) พยาบาลเป็นผู้หญิง บุรุษพยาบาลบางคนนิสัยหยาบคาย ชอบดุ ตะคอกข่มขู่พระเณรผู้เป็นคนไข้ใน บางคนนิสัยดี (จนเกินไป) รับใช้พระเณรทุกสิ่งอย่าง มีบุรุษพยาบาลที่ข้าพเจ้าชอบเขามากคนหนึ่งชื่อ “จำลอง” เป็นคนอ้วนท้วนสมบูรณ์ ฝีมือการฉีดยาของเขายอดเยี่ยมมาก บางวันข้าพเจ้ายังไม่ทันตื่นนอนเขาก็ฉีดยาเสร็จไปหมดแล้ว พอตื่นนอนก็เรียกให้เขามาฉีดยา เขาบอกว่าฉีดแล้ว ข้าพเจ้าไม่เชื่อ เพราะไม่มีความรู้สึกเลย พระเตียงข้าง ๆ ที่เห็นเหตุการณ์กล่าวยืนยันจึงยอมเชื่อว่าเขาฉีดแล้วจริง ๆ จุดที่ฉีดยาของข้าพเจ้าคือฉีดเข้ากล้ามเนื้อตรงตะโพก จำลองตัวอ้วนแต่มือเบามาก ปักเข็มฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อเหมือนยุงกัด วิธีการฉีดของเขาคือ เอาเข็มแหลมคมปักลงบนจุดกำหนดที่กล้ามเนื้อ แล้วเดินยาพร้อม ๆ กับหมุนเซริงไปด้วย น้ำยาจะกระจายแผ่ซ่านไปทั่ว ทำให้ไม่เจ็บปวด เขาสอนวิธีการฉีดยาให้ข้าพเจ้า ขั้นต้นก็หัดฉีดเข้ากล้าม (เพราะฉีดง่าย) มีพระเณรผู้ป่วยหลายองค์ยอมให้ข้าพเจ้าฉีดโดยการกำกับดูแลของ “หมอจำลอง” พระเต็มจึงกลายเป็นผู้ช่วยของเขาไปในที่สุด
ข้าพเจ้าเป็นคนไข้ในอยู่ตึกสงฆ์อาพาธนานเป็นเดือนแล้ว ไม่มีทีท่าว่าจะได้ออกจากโรงพยาบาล เพราะ นพ.ประสิทธิ์ สำราญเวช ผู้เป็นเจ้าของคนไข้ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่สั่งให้ออกจากโรงพยาบาลสักที มีอยู่คราวหนึ่ง ข้าพเจ้าทนคิดถึงวัดไม่ไหว จึงหนีออกจากโรงพยาบาลกลับวัด แต่พอนอนอยู่วัดได้เพียงคืนเดียว ก็เกิดอาการปวดหัวรุนแรงจนนัยน์ตามืดลงอีก เพื่อนพระต้องนำส่งกลับกลับเข้าโรงพยาบาลเป็นคนไข้ของหมอประสิทธิ์ตามเดิม
พระภิกษุสามเณรจากทั่วประเทศเดินทางเข้าขอรับการตรวจรักษาไข้ในโรงพยาบาลสงฆ์แห่งนี้ มีวันละหลายร้อยองค์ เป็นพระปลอมก็มี ครั้นเข้าเป็นคนไข้ในอยู่อยู่โรงพยาบาลนานวันเข้า ก็มักจะมีพฤติกรรมไม่สู้ดีนัก ทางคณะสงฆ์จึงต้องตั้งพระกรรมการไปคอยตรวจตราดูแล ในตอนเช้าพระกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งนั้นจะเปลี่ยนเวรกันไปนั่งประจำอยู่ที่ตึกอำนวยการ พระภิกษุสามเณรที่มาเป็นคนไข้นอกทุกองค์ต้องยื่น (แสดง) หนังสือสุทธิ (บัตรประจำตัวของพระ-เณร) ต่อแผนกเวชระเบียนของโรงพยาบาล ถ้าหนังสือสุทธิไม่ถูกต้อง บกพร่องอย่างใด พระกรรมการที่มานั่งเป็นประธานอยู่ก็จะแก้ไขปัญหาให้ พระ-เณรบางองค์มีหนังสือสุทธิไม่เรียบร้อย เช่น เจ้าอาวาสยังไม่เซ็นชื่อรับรองการเข้าอยู่ในวัดนั้น ๆ หรือเจ้าอาวาสเซ็นรับรองแล้ว แต่เจ้าคณะอำเภอยังไม่เซ็นและประทับตรารับรอง เจ้าหน้าที่ก็จะนมัสการให้พระกรรมการทราบเพื่อแก้ไข
พระกรรมการบางองค์ท่านดุชะมัดเลย เคยเห็นท่านดุพระ-เณรแล้ว นึกอยากจะท้าท่าน “ดวลกำปั้น” นักเชียว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๕๕ - นพ.เกษม ที่พระเณรเรียกท่านว่า “หมอเสม” เป็นหมอที่พระ-เณรในโรงพยาบาลสงฆ์รู้จักท่านมากที่สุด จะเรียกว่าท่านเป็น “ขวัญใจ” ของคนไข้ในโรงพยาบาลนี้เลยก็ได้ เป็นคนมีอัธยาศัยไมตรีดี พูดจานิ่มนวล วินิจฉัยโรคเก่ง สั่งยาได้ถูกต้องตรงกับการรักษาโรคมากที่สุด แต่หมอมีโรคประจำตัวที่น่าสงสารมาก คือท่านเป็นโรคหืด แม้ตัวหมอเป็นโรคหืด แต่ก็ตรวจรักษาโรคหืดให้พระ-เณรได้ บางวันฝนตก หมอเสมเป็นหมอเวร เดินตรวจคนไข้ทั่วทุกตึก ละอองฝนหนาวเย็นทำให้โรคหืดของหมอกำเริบ เห็นหมอนั่งหอบแล้วก็สงสารท่านมาก
พระ-เณรที่อยู่ตึกอาพาธ ๒ ส่วนมากจะมานอนอยู่เป็นแรมเดือน บางองค์หมอไม่ได้สั่งให้ฉันอาหารในเวลาเย็น (วิกาล ตั้งแต่เที่ยงวนไปจนรุ่งวันใหม่) ท่านก็ให้บุรุษพยาบาลบ้าง นักการบ้าง ไปซื้ออาหารมาให้ฉันในเวลากลางคืน อ้างว่าหิวมาก ร้ายกว่านั้น บางองค์ยังดื่มสุราเสียเลยก็มี บุรุษพยาบาลและหมอไม่รู้จะห้ามปรามอย่างไร ไล่ให้ออกไปจากโรงพยาบาลเสียก็ทำไม่ได้ เพราะบางองค์ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวนั้น ขาหักเดินยังไม่ได้ กระดูกซี่โครงหักกระดูกยังเชื่อมไม่สนิท
มีพระกรรมการอยู่องค์หนึ่ง เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมหิรัญบัตร (รองสมเด็จพระราชาคณะ) เป็นที่ พระธรรมวโรดม (ปุ่น ปุณณสิริ) ที่ใคร ๆ เรียกท่านว่า เจ้าคุณป๋า อยู่สำนักวัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน พระเจ้าคุณองค์นี้พระ-เณรทั่วประเทศรู้จักชื่อเสียงกิตติคุณของท่านดี ผู้ที่มานอนป่วยอยู่โรงพยาบาลสงฆ์เกรงกลัวท่านมาก องค์ใดทำอะไรไม่ดี หมอและบุรุษพยาบาลมักจะขู่ว่า “เดี๋ยวจะฟ้องเจ้าคุณป๋า” พระ-เณรนั้น ๆ มักจะกลัว ไม่กล้าทำอะไรผิดข้อห้าม วันไหน “เจ้าคุณป๋า” (ต่อมาท่านได้เป็นสมเด็จพระวันรัต และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ คนก็ยังชอบเรียกท่านว่า “สมเด็จป๋า” “สังฆราชป๋า”) มาเป็นกรรมการที่โรงพยาบาลสงฆ์ หลังจากนั่งเป็นประธานที่ตึกอำนวยการจนหมดเวลาแล้ว จะเดินขึ้นเยี่ยมตามตึกสงฆ์อาพาธทั้งหมด พระเณรที่นั่งจับกลุ่มคุยกันอยู่ ได้ยินบุรุษพยาบาลบอกว่า “เจ้าคุณป๋ามาแล้ว” พระเณรก็จะรีบแยกวงกลับไปอยู่ตามเตียงของตนทันที บางองค์ก็นั่งอย่างสงบเสงี่ยม บางองค์ก็นอนนิ่งอยู่บนเตียง บางองค์ทำกิริยาป่วยหนักใกล้จะตายทีเดียว ท่านเจ้าคุณป๋าเดินตรวจตราไปตามเตียงต่าง ๆ เห็นเตียงใดมีพระหนุ่มและเณร ท่านก็จะดูเฉย ๆ ครั้นถึงเตียงพระหลวงตา ท่านก็จะหยุดถามด้วยเสียงดัง เหมือนขู่ตะคอก เช่นว่า
“เป็นอะไร? บวชมานานหรือยัง? รักษาเนื้อรักษาตัวนะ อย่าประพฤติตัวเหลวไหลเลอะเทอะนะ”
หลวงตาบางองค์เกิดอาการกลัวจนตัวสั่น อ้าปากตอบอะไรไม่ได้ บุรุษพยาบาลคนหนึ่งบอกเล่าให้ฟังว่า เหตุที่ “เจ้าคุณป๋า” แสดงอาการไม่ชอบพระหลวงตาก็เพราะได้รู้เห็นพระหลวงตาที่มาจากบ้านนอกส่วนมากจะเป็นผู้บวชต่อเมื่อมีอายุมาก ทำการงานอะไรไม่ไหวและ “หมดที่พึ่ง” แล้ว เข้ามาบวชด้วยหวังอาศัยวัดหากิน บางองค์ละโมบโลภมาก สะสมอาหาร ของกินของใช้ให้ลูกหลานของตน เป็นพระไม่เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัย ไม่บำเพ็ญสมถะวิปัสสนากรรมฐาน มีความประพฤติปฏิบัติผิดพระธรรมวินัย สร้างความเสื่อมเสียแก่วงการพระพุทธศาสนา ดังนั้น เมื่อท่านเจ้าคุณ “ป๋า” พบเห็นพระหลวงตานอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลสงฆ์ จึงมักสอบถามดังกล่าว
ข้าพเจ้าออกจากโรงพยาบาลสงฆ์กลับไปอยู่วัดได้ก็ต่อเมื่อมีอาการดีขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์ที่ไว้วางใจได้แล้ว แม้กระนั้นแพทย์ก็ยังนัดให้เข้าโรงพยาบาลในระยะแรก ๆ ๑ สัปดาห์ครั้ง ๑๕ วันครั้ง ๑ เดือนครั้ง ๓ เดือนครั้ง ๖ เดือนครั้ง จนแน่ใจว่าปลอดภัยแล้วจึงงดการนัดตรวจดูอาการ ออกจากโรงพยาบาลแล้วหมอแนะนำให้ออกกำลังกายมาก ๆ ในช่วงเวลาเย็น เพื่อเกิดความอ่อนเพลียจะได้นอนหลับง่าย ไร้ความคิดวิตกกังวล สุขภาพพลามัยจะได้แข็งแรงสมบูรณ์ ท่านให้เหตุผลอย่างน่าฟังและเชื่อถือได้ว่า พระเณรฉันอาหารดี ๆ ทั้งนั้น เมื่อฉันอาหารดี ๆ แล้วไม่มีการออกกำลังกาย วิตามิน โปรตีน จากอาหารเหล่านั้นมันไม่กระจายไปในร่างกาย แต่มันไปรวมกันเป็นกลุ่มกระจุกอยู่ในส่วนหัว ซึ่งผิดธรรมชาติ พระเณรจึงมักเป็นโรคปวดศีร์ษะกันมาก คำอธิบายของหมอดังกล่าวนี้ถูกต้องหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ข้าพเจ้าก็เชื่อหมอ ทุกวันที่เลิกเรียนกลับถึงวัดตอนเย็น ๆ เวลาใกล้ค่ำ หรือ โพล้เพล้ จะทำการออกกำลังกายด้วยการเล่นบาร์เดี่ยว บาร์คู่ ที่เณรเครือทำไว้ในป่าจากริมลำคลองหลังกุฏิของข้าพเจ้านั่นเอง
ข้าพเจ้าเล่นบาร์เสียจนกล้ามเนื้อแขนและอกขึ้นเป็นมัด ๆ เลยก็แล้วกัน
พระเณรส่วนมากที่อยู่ในกรุงเทพฯ พากันเรียน “กวดวิชา” ม.๓ ม.๖ และ ม.๘ แล้วสอบเทียบ บ้างก็เรียนวิชาภาษาอังกฤษ และสมัครสอบวิชาครูในชุด ครู ป. พป. และ พม. เรียนจบแล้วก็ลาสิกขา (สึก) ออกไปเรียนต่อในระดับปริญญาบ้าง หางานทำตามฐานานุรูปบ้าง พระเพื่อน ๆ หลายองค์ชวนข้าพเจ้าเรียนอย่างเขา แต่ข้าพเจ้าไม่เรียน ด้วยมีความคิดเห็นว่า วิชาสามัญอันเป็นวิชาของทางโลกนั้น พระเณรไม่ควรเรียนแข่งลูกหลานชาวบ้าน เพราะขอข้าวชาวบ้านกินอยู่ไปวัน ๆ แล้วยังไปเรียนวิชาแข่งลูกหลานชาวบ้าน ซ้ำเมื่อเรียบจบแล้วยังสึกออกไปแย่งตำแหน่งงานของลูกหลานชาวบ้านทำเสียอีกด้วย เป็นการที่ไม่สมควรทำ
แต่มารู้ได้ใสภายหลังว่า ความคิดเห็นดังกล่าวนั้นเป็นความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีพระเณรหลายองค์ที่มุ่งมั่นเรียนแต่นักธรรม บาลี สอบได้เป็นพระมหาเปรียญธรรมประโยคสูง ๆ พอหมดบุญที่จะอยู่ในเพศบรรพชิตแล้วสึกออกไปเป็นฆราวาส กลายเป็น “ตัวตลก” ในสังคมชาวบ้าน ส่วนองค์ที่เรียนวิชาทางโลกนั้น เมื่อสึกออกไปแล้วก็ไปเป็นคนฉลาดแบบชาวบ้าน ทำงานทางราชการมียศตำแหน่งใหญ่โต ไม่เป็น “คนโง่” ของสังคม
ข้าพเจ้ายังคิด “แบบโง่ ๆ” มากกว่านั้นอีก คือเรียนแต่วิชาบาลีอย่างเดียว ไม่ยอมเข้าสอบความรู้ในสนามหลวงเพื่อรับวิทยฐานะเป็นเปรียญธรรม เพราะไม่ต้องการเป็น “พระมหา” ด้วยกลัวว่าเมื่อสอบเปรียญธรรมได้เป็นพระมหาแล้ว ถ้าสึกออกไปเป็นฆราวาสวางตัวลำบาก สมัยที่ยังเป็นสามเณรนั้น เคยคิดอยากเป็น “ท่านมหา” ด้วยเห็นว่ามันโก้ดี แต่ตอนที่สึกจากเณรไปเป็นฆราวาสเตรียมตัวบวชเป็นพระภิกษุ ได้ลิ้มรสโลกียวิสัยแล้วชักจะติดรสฆราวาส ครั้นบวชเป็นพระภิกษุแล้วก็คิดจะสึกหาลาเพศไปลิ้ม “โลกียรส” อีก แต่ก็ “กล้า ๆ กลัว ๆ” ในการไปผจญภยันตรายในสังคมสัตวโลก “กลางทะเลบาปอันกว้างใหญ่ไพศาล”
การเรียนบาลีของข้าพเจ้าจึงเป็นการเรียนด้วยหวังให้มีความรู้ในภาษาบาลีบ้างเท่านั้น ไม่ปรารถนาจะเป็น พระมหา เลยแม้แต่น้อย ประมาณตนเองได้ว่า ถ้าสอบความรู้ในสนามหลวง (อย่างเป็นทางการ) ก็คงจะสอบเป็นเปรียญได้ได้ไม่เกิน “เปรียญโท” (๖ ประโยค) เท่านั้น สมัยก่อน ผู้ที่สอบเป็นเปรียญธรรม ๖ ประโยค เมื่อสึกออกไปแล้วสามารถสมัครเข้ารับราชการเป็นอนุสาสนาจารย์ทหารได้ แต่มาสมัยข้าพเจ้านี่ เขาไม่รับผู้เป็นเปรียญธรรม ๖ ประโยคเป็นอนุศาสนานาจารย์แล้ว จะเอาวุฒิ ๖ ประโยคไปสมัครเข้าทำงานอะไรก็ไม่ได้ตำแหน่งดี เพราะเทียบวิชาทางโลกให้ต่ำมาก/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๕๖ - การเป็นท่านมหานั้น มิใช่จะเป็นกันได้ง่าย ๆ พระภิกษุสามเณรจะต้องเรียนนักธรรมสอบได้เป็นนักธรรมชั้นตรี แล้วจึงมีสิทธิเรียนภาษาบาลีและสอบเอาวุฒิเปรียญธรรมประโยค ๓ แล้วได้มีสิทธิ์รับพระราชทานสมณะศักดิ์ตั้งให้เป็น “พระมหา” วิชาภาษาบาลีเป็นวิชาที่เรียนได้ยากมาก ต้องท่องจำแบบเรียนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คนที่เรียนเก่งเรียกว่า “หัวดี” ที่สุด ต้องใช้เวลาเรียนอย่างน้อย ๒ ปี จึงจะมีความรู้พอที่จะสอบเอาวุฒิเปรียญธรรม ๓ ประโยค ตามปกติแล้วจะต้องเรียนไวยากรณ์บาลี เริ่มตั้งแต่ นาม, กิริยา, อาขยาต...ฯ ไปจนจบ ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า ๑ ปีเต็ม แปลธรรมบทบั้นต้น (กอง ๑) ธรรมบทบั้นปลาย(กอง ๒) อีก ๑-๒ ปี จึงสอบเอาวุฒิเปรียญธรรมประโยค ๓ ถ้าสอบได้ก็จะได้เป็นท่านมหา มีพัดยศที่ได้รับพระราชทาน
นักเรียนบาลีเข้าสอบความรู้ในสนามหลวง (ของทางการคณะสงฆ์ไทย) แต่ละปีมีจำนวนมาก แต่สอบได้เป็นเปรียญธรรมปีละไม่มากนัก บางองค์สอบครั้งเดียวได้เป็นท่านมหา บางองค์สอบ ๒ ครั้งจึงได้ บางองค์สอบแล้วสอบเล่าเฝ้าแต่สอบ ซ้ำถึง ๑๐ ครั้งจึงสอบได้ก็มี บางองค์ท่านมีความรู้มาก แปลภาษาบาลีเก่งกว่าท่านมหา ๙ ประโยคเสียอีก แต่ก็สอบไม่ได้จนเลิกสอบไปด้วยความ “หมดอาลัยตายอยาก” อย่างนี้ก็มี
พระมหา เป็นชื่อ “สมณะศักดิ์” หรือ “ยศพระ” ที่มิใช่ได้มาเพราะความดีความชอบ หากแต่ได้มาด้วยการเล่าเรียนภาษาบาลีจนสอบเป็นเปรียญธรรมได้ ๓ ประโยคขึ้นไป โดยเมื่อสอบได้เป็นเปรียญธรรม ๓ ประโยคแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งสมณะศักดิ์เป็นที่ พระมหา มีพัดยศประดับเครื่องหมายชั้น หรือ “ประโยค” มีประโยค ๓ เป็นอันดับแรก ไล่ไปจนถึงประโยค ๙ อันเป็นชั้นสูงสุด ผู้ที่สอบได้ประโยค ๓-๔ อยู่ในระดับขั้น “เปรียญตรี” ผู้สอบได้เปรียญ ๕-๖ อยู่ในระขั้นเปรียญโท ผู้สอบได้ประโยค ๗-๙ อยู่ในขั้นระดับเปรียญเอก พระภิกษุที่สอบได้ประโยค ๓ ได้รับพระราชทานตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระเปรียญแล้วจะเรียกว่า พระมหา ส่วนสามเณรจะเรียกว่า “สามเณรเปรียญ” ต่อเมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้วจึงเรียก “พระมหา” ในภายหลัง พระมหาที่ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสแล้ว ไม่เรียกว่า “มหา” หากแต่เรียกว่า “นาย......เปรียญ” แต่ว่าค่านิยมของชาวบ้านมักเรียกอดีตพระมหาว่ามห า หรือแม้ผู้บวชนาน ๆ พูดเก่งเทศน์เก่งชาวบ้านก็มักเรียกว่ามหา โดยไม่ยอมรับรู้ระเบียบการคณะสงฆ์ในเรื่องดังกล่าวนี้
สมณะศักดิ์หรือยศพระภิกษุในคณะสงฆ์ไทย ที่ได้มาด้วยความดีความชอบในการประพฤติปฏิบัติตนและศาสนกิจ โดยไม่ต้องเรียนและสอบได้เป็นเปรียญธรรมเหมือน “พระมหา” นั้น มีหลายตำแหน่ง เริ่มจากสมณะศักดิ์หรือยศในประเภทฐานานุกรม คือ พระใบฎีกา พระสมุห์ พระปลัด ซึ่งเจ้าคณะอำเภอ และพระราชาคณะชั้นสามัญ (เจ้าคุณ) เป็นผู้มีสิทธิ์ตั้งให้ พระครูใบฏีกา พระครูสมุห์ พระครูปลัด พระครูสังฆรักษ์ ซึ่งพระราชาคณะชั้นราชขึ้นไปเป็นผู้มีสิทธิ์ตั้งให้ นอกจากนี้ยังมีพระครูมีชื่อต่าง ๆ ที่ระบุในประกาศตั้งสมณะศักดิ์ของพระราชาคณะชั้นธรรม ชั้นหิรัญบัตร ชั้นสมเด็จพระราชาคณะอีกส่วนหนึ่ง
พระครูประทวน เป็นสมณะศักดิ์ที่ทางการคณะสงฆ์พิจารณาแต่งตั้งให้ ส่วนมากจะเป็นพระภิกษุผู้เฒ่าบวชนานจนได้เป็นสมภารเจ้าวัด บางองค์เป็นถึงเจ้าคณะตำบลแต่ยังไม่ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร จึงพิจารณาตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน โดยใช้คำว่า “พระครู” แล้วต่อด้วยนามเดิมและฉายาของท่านผู้นั้น เช่น “พระครูส้ม สุนันโท เป็นต้น
พระครูสัญญาบัตร เป็นสมณะศักดิ์ที่พระราชทานให้พระภิกษุผู้บวชได้ ๑๐ พรรษาขึ้นไป มีตำแหน่งทางการปกครองตั้งแต่ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงขึ้นไปจนถึงเจ้าคณะอำเภอ เป็นยศที่พระราชทานชื่อหรือ “พระราชทินนาม” เช่น พระครูวิจารณ์ธรรมกิจ เป็นต้น พระครูสัญญาบัตรนี้แบ่งออกเป็น พระครูชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ชั้นพิเศษ และยังแยกออกเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ อีกด้วย
พระราชาคณะ (เจ้าคุณ) ซึ่งแบ่งออกเป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ, ชั้นราช, ชั้นเทพ, ชั้นธรรม, ชั้นหิรัญบัตร (หรือชั้นพรหม) รองสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะชั้นสามัญจะต้องเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกหรือชั้นพิเศษก่อน จึงจะเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาชั้นสามัญ เป็นพระมหาเปรียญธรรม ๗ ประโยค (เปรียญเอก) ๑ เป็นพระครูปลัดมีชื่อของพระราชคณะชั้นธรรมขึ้นไป ๑ (มีชื่อเฉพาะไม่เหมือนกัน) จะได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญโดยไม่ต้องผ่านการเป็นพระครูสัญญาบัตร พระราชาคณะชั้นสามัญเช่น พระปริยัติโกศล ชั้นราชเช่น พระราชรัตนมุนี ชั้นเทพเช่น พระเทพโมลี ชั้นธรรมเช่น พระธรรมคุณาภรณ์ ชั้นรองสมเด็จหรือชั้นพรหม ซึ่งจะจารึกนามลงในแผ่นเงินจึงเรียกว่า “ชั้นหิรัญบัตร” เช่น พิมลธรรม, พระศาสนโสภณ, พระอุบาลีคุณูปมาจารย์, พระธรรมวโรดม เป็นต้น ชั้นสูงขึ้นไปเรียกว่า สมเด็จ จารึกชื่อลงในแผ่นทอง เรียกว่า “สมเด็จพระราชาคณะ” เช่น สมเด็จพระวันรัต, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์, สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นต้น สมณะศักดิ์ชั้นสูงสุดคือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ มีเพียงพระองค์เดียว
พระภิกษุผู้ที่จะได้รับตั้งสมณะศักดิ์ ในระดับฐานานุกรมและพระครูชั้นประทวน ไม่จำกัดวิทยฐานะ แต่ต้องบวชนานไม่น้อยกว่า ๓ พรรษา (มียกเว้นบ้าง) ส่วนใหญ่จะตั้งผู้บวชนานได้ ๕ พรรษาแล้ว พระครูสัญญาบัตรนั้นก็ไม่จำกัดวิทยาฐานะ แต่กำหนดการบวชไว้ว่าไม่ต่ำกว่า ๕ พรรษา ส่วนใหญ่จะตั้งให้ผู้ที่บวชเป็นขั้นพระเถระคือมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป พระราชาคณะชั้นสามัญนั้นจะเลื่อนขึ้นจากพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกหรือชั้นพิเศษ ซึ่งไม่กำหนดวิทยฐานะเช่นกัน แต่ถ้าไม่เลื่อนจากพระครูสัญญาบัตรขึ้นไป ก็มีกำหนดวิทยาฐานะไว้ คือต้องเป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยคเป็นอย่างน้อย และมีตำแหน่งอย่างน้อยเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง และมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป พระมหา ๓-๖ ประโยค จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรก่อน จึงค่อยเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะ กฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์และความเหมาะสม
พระมหาและพระครูสัญญาบัตร พระราชาคณะ ถ้าจะลาสิกขา ต้องถวายพระพรลาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก หาไม่แล้วจะมีความผิด /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๕๗ - ข้าพเจ้าเรียนบาลีโดยไม่หวังสมณะศักดิ์ยศตำแหน่งใด ๆ ในคณะสงฆ์ไทย จึงมักจะเกเรโรงเรียนเสมอ บางวันออกจากวัดแทนที่จะตรงไปโรงเรียนกลับเถลไถลไปวัดโน้นวัดนี้ คุยกับเพื่อนพระเณรทั้งที่เป็นเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่สนุกเฮฮาไปตามเรื่อง บางวันนั่งเรียนอยู่ดี ๆ ก็เกิดความเบื่อหน่ายในการฟังอาจารย์สอน และรำคาญเพื่อนนักเรียนที่อ่านแปลธรรมบทด้วยสำเนียง ทำนองเทศน์ธรรมวัตร ที่ฟังแล้วง่วงนอน พออาจารย์เผลอก็รีบหลบออกจากห้องเรียน นั่งรถเมล์ชมโน่นชมนี่ไปตามเรื่อง
รถเมล์กรุงเทพฯ ที่พระเณรโดยสารจะนั่งเก้าอี้ข้างหน้าได้ก็มีแต่รถ ร.ส.พ. กับรถ บ.ข.ส .(บางสาย) นอกนั้นเขาจัดให้นั่งเก้าอี้ยาวท้ายสุดของตัวรถเพียงแถวเดียวเท่านั้น พระเณรจึงประสบปัญหาในการโดยสารรถเมล์มาก อาจเป็นเพราะว่าเขาไม่เก็บค่าโดยสารพระเณร (นั่งฟรี) พระเณรก็เลยอ้างสิทธิ์เลือกนั่งตามใจชอบไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วรถเมล์ทุกสายจะมีคนโดยสารแน่นรถตอนช่วงเช้ากับช่วงเย็น (เลิกงาน) พระเณรจะขึ้นโดยสารได้ก็ตรงต้นทางปลายทาง ตอนกลางทางขึ้นได้ยาก ต้องยืนรอให้เก้าอี้ยาวท้ายรถว่างจึงขึ้นได้ บางทีเก้าอี้ยาวท้ายรถว่าง พระเณรก็หมดสิทธิ์ขึ้นไปนั่ง เพราะมีผู้หญิงนั่งอยู่คนหนึ่ง พระเณรจะขึ้นไปนั่งเก้าอี้ตัวเดียวกับผู้หญิงไม่ได้ บางทีผู้ชายผมยาวนั่งอยู่คนเดียว พระเณรเห็นเป็นผู้หญิงก็ไม่กล้าขึ้นไปนั่ง พอรถออกจากป้ายจึงรู้ว่าไอ้หมอนั่นเป็นผู้ชาย ก็สายไปเสียแล้ว
ข้าพเจ้าชอบนั่งเก้าอี้ตัวหน้า เพราะรถที่นั่งประจำคือ ร.ส.พ. สาย ถนนตก-ท่าเตียน ออกจากวัดจันทร์นอกเดินลัดสวนไปขึ้นรถ ร.ส.พ. ต้นทางที่ถนนตกไม่ไกลนัก รถแล่นผ่านวัดลาดบัวขาว วัดราชสิงขร พระยาไกร ไปวัดยานนาวา ตามถนนเจริญกรุง ผ่านบางรัก ถึงสี่พระยา แล้วก็ถึงวัดตะเคียน (มหาพฤฒาราม) ลงรถหน้าพอดี เลิกเรียนแล้วจะขึ้น ร.ส.พ. ตรงหน้าวัดตะเคียนกลับวัดไม่ได้ เพราะคนโดยสารเต็มเอี้ยด ก็หาทางสะดวกด้วยการเดินเล่น ๆ ไปทางวงเวียน ๒๒ กรกฎา แล้วขึ้นรถเมล์สายรอบเมืองที่วิ่งวนซ้ายไปตามถนนกรุงเกษมไปเข้าถนนสามเสนตรงสี่แยกเทเวศร์ ไปถึงบางลำพูแล้วแยกไปทางถนนพระอาทิตย์ เลาะแม่น้ำเจ้าพระยาไปธรรมศาสร์ ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ถึงท่าเตียน ก็ลงจากรถสายนี้ ขึ้น ร.ส.พ. ต้นทางกลับถนนตก นั่งเก้าอี้ตัวหน้าสบาย ๆ ได้พูดคุยกับคนขับรถ ซึ่งพวกเขามีประสบการณ์มีเรื่องเล่าให้ฟังสนุกๆมีความรู้มากมาย
มี พ.ข.ร. คนหนึ่ง ข้าพเจ้าถามเขาว่า โยมขับรถมานานแล้วเนี่ย เคยขับชนคนบ้างไหม เขาตอบว่าไม่เคยขับรถชนคนหรือสัตว์ต่าง ๆ เลยเพราะมีคาถาภาวนาเป็นประจำ ถามเขาว่า คาถาว่ายังไง เขาบอกอย่างไม่ปิดบังว่า ในการขับรถทุกเที่ยวต้องภาวนาว่า “พระ เจ๊ก เด็ก หมา” ว่าในใจซ้ำ ๆ กันไปตลอดทางเลย
เอ๊ะ ! ไม่เห็นเป็นบทคาถาอะไรเลยนี่ ข้าพเจ้าอุทาน งุนงง
“เป็นซีครับ นี่แหละคาถาที่ผมใช้ภาวนาในการขับรถ ขลังนักเชียว รถที่ขับไม่เคยชน ไม่เคยเหยียบ (ทับ) แม้กระทั่งหมา” เขาพูดอวดความขลังของคาถา
“ พระ เจ๊ก เด็ก หมา” ข้าพเจ้าพูดทวนคาถาของเขาอย่างไม่เข้าใจ เขาหันมาสบตาข้าพเจ้าแว่บหนึ่งแล้วยิ้ม ก่อนจะอธิบายให้ฟังต่อไปว่า
“พระ เณร คนจีน เด็ก หมา” พวกนี้เวลาเดินข้ามถนนหรือเดินในถนนไม่ระวังดูแลว่ารถจะชนจะทับตัวเองเลย นึกจะข้ามถนนตรงไหนก็ข้าม นึกจะเดินถนนตรงไหนก็เดิน คนขับรถผู้ไม่ประมาทจะต้องคอยระวัง “พระ เจ๊ก เด็ก หมา” นี้ให้ดี หากไม่ระวังละก็ อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่เชื่อท่านคอยสังเกตดูเถอะ” เขาอธิบายพร้อมหัวเราะตบท้ายด้วยความขบขัน
จริงของเขาแฮะ ข้าพเจ้าใช้เวลาสังเกตอยู่หลายวัน พบเห็นพระ เณร คนจีน เด็ก และสุนัข ข้ามถนนกันตามใจชอบ ไม่รู้จักรักษากฎจราจร เหมือนไม่รู้ไม่ชี้อะไรกับการจราจรเลย มิหนำซ้ำ มีพระหลวงตาบางองค์ คนจีนแก่ ๆ บางคน พยายามยกมือให้รถหยุดรับตรงที่ไม่มีป้ายจอด ดูเผิน ๆ ก็เป็นเรื่องขำขัน แต่มองให้ลึกลงไปก็ขำไม่ออก
“เพื่อนคู่หู” ของข้าพเจ้าที่เรียนบาลีอยู่ด้วยกันมี ๒ องค์ จะว่าเป็นเพื่อนก็ไม่ถนัดนักหรอก เพราะทั้งสองนั้นมีอายุมากกว่าข้าพเจ้า ๓-๔ ปี ข้าพเจ้าเรียกสรรพนามเขาว่า หลวงพี่ องค์หนึ่งเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ มาอยู่วัดบางขวางย่านวัดพระยาไกร อีกองค์หนึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี เข้ามาอยู่วัดราชสิงขร ใกล้กับวัดบางขวาง เดินทางตามถนนสายเดียวกันกับข้าพเจ้า องค์ที่เป็นชาวอุบลราชธานีนั้นมีบุคลิกลักษณะน่าขำขัน ร่างกายใหญ่โต ศีรษะล้าน ตาโต นิสัย “บ๊องๆ” ท่านชื่อบุญเลิศ องค์ที่เป็นชาวอุตรดิตถ์ เป็นคนร่างใหญ่ผิวคล้ำ ลักษณะนิสัยทึ่ม ๆ ซื่อ กระเดียดไปทางเซ่อ ท่านชื่อ ชะลอ
หลวงพี่เลิศ หลวงพี่ลอ หัวไม่ค่อยดี ต้องคอยอาศัยข้าพเจ้าช่วยบอกช่วยแนะในการเรียนตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์จนถึงชั้น (แปล) ธรรมบท พระเต็มเป็นนักเรียนเก่งองค์หนึ่งในห้องเรียน หลวงพี่ทั้งสองจึงชอบคบค้าคลุกคลีด้วย และข้าพเจ้าก็ชอบนิสัยใจคอท่าน บางวันข้าพเจ้ากับหลวงพี่ลอขึ้นรถรางกลับวัด หลวงพี่เลิศไม่ยอมขึ้นรถรางกลับด้วย ท่านบอกว่าไม่ทันใจ เพราะรถรางจะค่อย ๆ คลานไปตามรางเหล็กริมถนนเจริญกรุง แล่นเร็วไม่ได้ ด้วยมีรถยนต์วิ่งทับเส้นทางเต็มไปหมด รถรางจึงต้อง “คืบคลาน” ไปช้า ๆ บางทีก็จอดแช่รอหลีกอยู่เป็นเวลานานครึ่งค่อนชั่วโมงทีเดียว บางวันหลวงพี่เลิศรอขึ้นรถ ร.ส.พ.ป้ายหน้า รร. สตรีมหาพฤฒาราม (วัดตะเคียน) ข้าพเจ้ากับหลวงพี่ลอไม่ยอมรอ จึงขึ้นรถรางที่คืบคลานผ่านตึกนายเลิศไป หลวงพี่เลิศยืนรอรถนานจนทนไม่ไหวก็เดินกลับผ่านสี่แยกสี่พระยาไปทันรถรางที่บางรัก รถรางจอดแช่รอขบวนที่ที่สวนมาตรงนั้น (รอหลีก) หลวงพี่เลิศเดินมาทันแทนที่ท่านจะขึ้นรถรางด้วย ท่านกลับเดินผ่านโบกมือส่งเสียงว่า “ไอ้น้องโว้ย...พี่ไปก่อนเน้อ...” แล้วก็เดินนำหน้ารถรางไป ท่ามกลางสายตาของชาวบ้านชาวเมือง
วันหนึ่งฝนตกหนัก ข้าพเจ้ากับหลวงพี่ลอหนีโรงเรียนไปเที่ยวแถวเวิ้งนครเกษม เดินไปตามถนนเจริญกรุงไปพอเหงื่อแตกก็ถึงที่หมาย เที่ยวเดินดูของเก่ากันตามร้านในเวิ้ง เพราะหลวงพี่ลอท่านชอบของเก่า เดินไปพบ “เต่าฟู่” ที่ร้านแห่งหนึ่ง เตาชนิดนี้ใช้น้ำมันกาดใส่ในเตาแล้วสูบลมเข้าไป ให้ลมฉีดน้ำมันขึ้นหัวเตา เอาไฟจุดก็จะติดขึ้นมีเสียงดังฟู่ ๆ เราก็เลยเรียกมันว่าเตาฟู่ พระนิยมใช้เป็นเตาต้มน้ำร้อนชงชา มีที่เร่งที่หรี่ให้ไฟแรงไฟเบาได้ตามใจชอบ หลวงพี่ลอถามราคา เถ้าแก่บอกว่า ราคา ๑๕๐ บาท หลวงพี่บอกว่าพระไม่มีตังค์ขอราคา ๕๐ ได้มั้ย ต่อไปต่อมาจนที่สุดเขายอมขายให้ในราคา ๕๐ บาท หลวงพี่ลอมีเงินเพียง ๑๐ บาท หันมากระซิบขอยืมข้าพเจ้า ๔๐ บาท แต่ข้าพเจ้าก็มีเพียง ๒๐ บาทเท่านั้น หลวงพี่ลอก็หน้าเสีย ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ข้าพเจ้าพิจารณาดูเห็นเตาทองเหลืองนั้นมีสภาพเก่าแล้ว จึงบอกให้เถ้าแก่ลองจุดไฟให้ดูก่อน บังเอิญเหลือเกินที่เตาฟู่ลูกนั้นนมหนูตัน จุดไฟไม่ติด ข้าพเจ้าได้โอกาสก็บอกให้เถ้าแก่แก้ไข (ซ่อม) เตาใหม่ให้จุดติดดีเสียก่อน ขณะที่เขากำลังแก้ไขอยู่นั้น ก็สะกิดชวนหลวงพี่ลอให้เดินดูของตามร้านอื่น ๆ ไปพลางก่อน เดินห่างออกจากร้านนั้นไปไกลทุกที ๆ จนในที่สุดก็เดินออกพ้นจากเวิ้งนครเกษมเข้าย่านเยาวราช ไม่กลับไปดูเตาฟู่นั้นเลย เถ้าแก่เจ้าของร้านนั้นจะด่าพวกเราหรือเปล่าก็ไม่รับรู้ละ
เดินจากเวิ้งนครเกษมาตามฟุตบาทถนนเยาวราช ฝนตกหนักเพิ่งขาดเม็ดไปไม่นาน น้ำยังท่วมถนนอยู่ ลุยน้ำที่บางตอนน้ำลึกถึงข้อเข่าจนต้องถลกจีวรสบงขึ้นเดินช้า ๆ ลุยไปตามริมถนนบ้าง ขึ้นบนฟุตบาทบ้าง หลวงพี่ลอเดินลุยน้ำนำหน้าข้าพเจ้าไปหน่อยเดียวก็ตกลงไปในท่อน้ำที่เขาเปิดฝาท่อทิ้งไว้ น้ำท่วมจนมองไม่เห็นปากท่อ พลวงพี่ตกลงไปครึ่งค่อนตัว พวก “อาหมวย” เห็นก็พากันร้องวี้ดว้ายด้วยความตกใจตามประสาผู้หญิง ข้าพเจ้าช่วยจับแขนหลวงพี่ลอดึงขึ้นจากท่ออย่างทุลักทุเล แล้วพาเข้าไปในร้านค้าข้างถนน ขออนุญาตเจ้าของร้านเดินผ่านออกไปทางหลังร้านเพื่อจัดการ “บิด” สบงจีวรให้สะเด็ดน้ำ อาเฮียเจ้าของร้านถามข้าพเจ้าว่า
“ลื้อเดิงโสงคงทามมายเปียกฝงคนเลียว”
“ไม่ได้เปียกฝน แต่เพื่อนตกลงไปในท่อน้ำ” ข้าพเจ้าตอบ
“ไอ๋หยา เซ่อซ่าชิกหายเลย” อาเฮียด่าด้วยเสียงกลั้วหัวเราะขบขัน
หลวงพี่ลอกลับจากหลังร้านมาได้ยินพอดี ก็อายจนปั้นหน้าไม่ถูก วันต่อมาข้าพเจ้าบอกเล่าให้พระเณรเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นฟัง เพื่อน ๆ พากันหยอกล้อว่า “หลวงพี่ลอหลอกเจ๊กให้แก้เตาฟู่แล้วหนีมาไม่ยอมซื้อ ผลบาปมันเลยบันดาลให้คนโกหกเดินตกท่อระบายน้ำ” เรื่องนี้หลวงพี่ลอโกรธพระเต็มนานเป็นเดือนทีเดียว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๕๘ - สมัยนั้นวัดดอนยานนาวา เป็นวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ดังจาก “ป่าช้าวัดดอน” ไม่พอ ยังเพิ่มความดังจาก “หลวงพ่อนกกระเต็น” ซึ่งดังอยู่ในสังคมชาวบ้านผู้ชอบเล่นหวยใต้ดิน ส่วนในสังคมพระ เณรกรุงเทพฯ นั้นวัดนี้ดังจาก “มวยตู้” พระเณรส่วนมากในกรุงเทพฯ ธนบุรี (สมัยนั้น) ชอบดูมวยทางทีวี. ที่ถ่ายทอดสดจากเวทีมวยราชดำเนินและเวทีลุมพินีในวันเสาร์วันอาทิตย์ ทุกเย็นวันเสาร์อาทิตย์จะมีพระเณรจากวัดต่าง ๆ ทั้งฝั่งพระนครและธนบุรีพากันไปดูมวยทาง ทีวี. ที่วัดดอนจำนวนมาก มี “มวยตู้“ ให้ดู ๒ แห่ง คือที่กุฏิเจ้าอาวาส กับกุฏิพระลูกวัดอยู่ติดกับบ้านเรือนชาวบ้าน ข้าพเจ้าชอบดูที่กุฏิเจ้าอาวาส เพราะเห็นว่าห้องโถงกว้างขวางดี แต่เมื่อรู้จักเพื่อนฝูงมากขึ้น เพื่อนบอกว่ากุฏิเจ้าอาวาสดูมวยไม่สนุก ต้องดูที่กุฏิพระลูกวัด ที่นั่น “มันส์มาก” ก็ลองไปดูตามเพื่อน
สนุกจริง ๆ ด้วยแหละครับ
มีพระเณรหลายสิบองค์เบียดเสียดกันดู ที.วี. (มวยตู้) จอที่นี่แน่นขนัด ส่วนใหญ่เป็นพระเณรชาวตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) พูดจาและส่งเสียงเชียร์มวยกันด้วยภาษาสำเนียงอีสาน ข้าพเจ้าเป็นคนภาคกลางที่พอฟังสำเนียงภาษาอีสานได้ เพราะมีเพื่อนเป็นคนภาคนั้นมาก จึงส่งเสียงเชียร์มวยผสมผสานกับพวกเขาได้สนุก พระเณรที่ดูมวยตู้นี้ส่วนมากไม่ห่มจีวร ใส่แต่อังสะตัวเดียว เพราะถือว่าท่านอยู่ในวัดของท่าน ส่วนพระเณรที่มาจากวัดอื่นห่มจีวรคลุมสะพายย่ามทางบ่าซ้าย บ้างก็เวิกจีวรขึ้นพาดไหล่ขวา บางองค์เอาจีวรจีบพาดบ่าบ้าง คาดเอวบ้าง รวมความว่านักดูมวยทั้งหมดไม่ห่มจีวรให้เรียบร้อยเลยก็แล้วกัน
นักมวยที่ขึ้นชกทั้งสองเวทีนั้น ส่วนมากเป็นคนทางภาคอีสาน จึงเรียกเสียงเชยร์จากผู้ชมทางที.วี.ได้มาก
“บักห่าเตะซี่ ศอกซี่บักห่า ต่อยซีโว้ย บักห่ามัวจ้องทำไม กอดคอตีเข่าเลย อย่ายั่นมัน เอาเลย ๆๆๆ”
เสียงตะโกนใส่จอเคล้าเสียงเฮฮากันอย่างสนุกสนาน เรื่องสมณะสารูปไม่ต้องไปหาในที่นี้ เพราะจะไม่พบเห็นแม้แต่น้อย
มารู้ทีหลังว่า พระเณรที่ส่งเนียงเชียร์มวยกันเมามันนั้น ส่วนใหญ่เขาเล่นพนันขันต่อกันด้วย แต่พนันกันในวงเงินไม่มากนัก เพราะพระเณรส่วนใหญ่ก็ไม่มีเงินมาก เขาพนันขันต่อกันด้วยอ้างว่าให้เกิดความ “มันส์” ในการชมการเชียร์เท่านั้น ไม่ได้หวังร่ำรวยอะไรเลย ใครเล่นฝ่ายไหนก็จะส่งเสียงเชียร์ฝ่ายนั้น เมื่อฝ่ายของตนตกเป็นรองก็มักจะส่งเสียงด่าด้วยความไม่พอใจ ฝ่ายที่เป็นต่อก็จะส่งเสียงหนุนและพูดทับถมฝ่ายตรงข้าม จึงมักจะได้ยินเสียงตะโกนว่า
“หมัดขวา.... หมัดซ้าย ...เตะขวา ...เต๊ะซ้าย...เข่าเลยโว้ย...ศอกเลย...เอาให้ตาย บักห่า....ไอ้เซ่อ....” ดังลั่นตามจังหวะที่นักมวยใช้อาวุธหมัดเท้าเข่าศอกเข้าห้ำหั่นกัน ที่มีคำกล่าวว่า “นิสัยคนไทยชอบการพนัน” เห็นจะไม่ผิดนัก
นักมวยดัง ๆ สมัยนั้นก็มี ศักดิ์น้อย ส.โกสุม, จิ้งหรีดทองมหาสารคาม, อดิศักดิ์ แขวงมีชัย, สายเพชร, ศักดา, กุมารทอง, แดนชัย, เดชฤทธิ์, นำศักดิ์, เขียวหวาน, บุกเดี่ยว แห่งค่ายยนตรกิจ, วิชาญ ส.พินิจศักดิ์, อดุลย์ ศรีโสธร, ราวี เดชาชัย, สมพงษ์ เจริญเมือง, อิศรศักดิ์ พันท้ายนรสิงห์, พรชัย ส.ท่ายาง, ธานี พยัคฆโสภณ, พายัพ สกุลศึก, อภิเดช ศิษย์หิรัญ เป็นต้น แต่ว่ามวยดังเหล่านี้ไม่ค่อยได้ดูกันบ่อยนัก เพราะเป็นมวยทำเงินให้ผู้จัด เขามักจัดให้ชกกันในวันอื่นที่เป็นรายการใหญ่ ไม่มีการถ่ายทอดสดทางที.วี. มวยทางที.วี. เป็นมวยใหม่ ๆ ที่กำลังไต่บันได้ไปสู่ความดัง และมวยเก่าที่กำลังหรี่ดับเหมือนดาวร่วงนั่นแหละ
มวยไทยสมัยนั้นชกกันด้วยศิลปะมวยไทย ใช้ชั้นเชิงลวดลายแม่ไม้มวยไทยเข้าชิงชัยกัน ไม่ค่อยใช้พละกำลังเข้าหักหาญกันอย่างมุทะลุบ้าระห่ำ พระเณรนักดูมวยตู้วัดดอนมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ การพนันขันต่อก็มีมากตามมา เมื่อมีการพนันก็มีการโกงจนเกิดการทะเลาะชกต่อยกันขึ้นหน้าจอที.วี. ข่าวดังไปถึงพระผู้ใหญ่ฝ่ายปกครอง จึงมีคำสั่งห้ามปรามออกมา ทำให้บรรยากาศมวยตู้วัดดอนซบเซาไป พระเณรเหล่านั้นส่วนมากย้ายสถานที่ไปดูตามวัดต่าง ๆ ที่มีทีวี. และเปิดให้ดูมวย สถานที่ ”ดัง” ขึ้นมาแทนวัดดอนยานนาวาคือ วัดดาวคะนอง ที่ท่านพระครูสมภารวัดนี้ชอบดูมวยมาก นั่นแหละ
“เป็นอาจารย์สอนเรื่องธุดงค์”
การเดินทางประพฤติธุดงควัตรสมัยเป็นสามเณร (ดังที่ให้การไปแล้ว) กลายเป็นบารมีองพระเต็มตอนเป็นพระอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่น้อย กล่าวคือ พระไสว อายุ ๕๐ ปีเศษ บวชตอนแก่ พระเต็มเรียกท่านว่า “หลวงน้าไหว” พรรษาแรกที่ท่านบวชเป็นพระใหม่อยู่ในการดูแลของพระเต็มนั้น ไปเรียนนักธรรมชั้นตรีในสำนักวัดจันทร์ใน เมื่อกลับจากโรงเรียนตอนค่ำพระเต็มจะทบทวนการเรียน (ก็สอนซ้ำนั่นแหละ) ให้ท่าน เมื่อสอบนักธรรมชั้นตรีได้แล้วก็เรียนต่อนักธรรมชั้นโท
ในหลักสูตรนักธรรมชั้นโทวิชาธรรมวิภาคนั้นมีเรื่อง “ธุดงค์ ๑๓” เป็นแบบเรียน พระเต็มสอนเรื่องธุดงควัตรตามหลักทฤษฎี (ปริยัติ) และเล่าเรื่องการเดินธุดงค์ที่เป็นประสบการของตน (ปฏิบัติ) หลวงน้าไหวสนใจและตื่นเต้นกับประสบการของพระธุดงค์มาก ปีนั้นออกพรรษาและสอบธรรมสนามหลวงแล้วยังไม่ทันรู้ผลสอบ หลวงน้าไหวขอออกเดินธุดงค์ โดยเป็นอันเตวาสิกของพระอาจารย์ธุดงค์องค์หนึ่งซึ่งอยู่ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา
เพราะหลวงน้าไหวเพิ่งบวชได้เพียงสองพรรษา ไม่อาจออกเดินธุดงค์เพียงลำพังได้ ด้วยมีกติกาอยู่ว่า ผู้ที่จะออกเดินธุดงค์โดยลำพังนั้นต้องมีอายุพรรษาได้ ๕ (นิสัยมุตตกะ) ขึ้นไป ถ้าบวชไม่ครบ ๕ พรรษา หากออกธุดงค์ต้องมีอาจารย์นำพาไปและคอยควบคุมดูแล
ออกเดินธุดงค์ครั้งแรกหลวงน้าไหวกลับมาเที่ยวคุยฟุ้งไปทั้งวัด มิหนำซ้ำยังคุยข่มพระที่ไม่เคยออกดินธุดงค์ แต่กับพระเต็มท่านไม่กล้า มีแต่อ่อนน้อมถ่อมตน บอกเล่าประสบการและขอคำแนะนำเพิ่มเติม โดยถือว่าพระเต็มเป็นอาจารย์ธุดงค์ของท่าน พระอาจารย์เต็มก็บอกคาถาอาคมต่าง ๆ และวิชาหมอดูให้อย่างไม่ปิดบังอำพราง
หลวงน้าไหวติดใจในการออกเดินธุดงค์ ออกพรรษาแล้วก็ออกเดินธุดงค์อีก จนพระไสวกลายเป็นพระอาจารย์ไสว หลังจากเดินธุดงค์ได้ ๒ ปี กุฏิพระเต็มมีแขกมาไม่ขาด ส่วนมากเขามาหาพระอาจารย์ไหว มีพวกผู้หญิงสาวแก่แม่ม่ายมาขอให้อาจารย์ไหวพยากรณ์โชคชะตาราศีให้ พระเต็มสอนให้หลวงน้าไหว “ดูหมอ” ตามตำราเลข ๗ ตัว ทักษาพยาการณ์ ซึ่งมีข้อปลีกย่อยมากมาย
ขึ้นชื่อว่าการดูหมอ (หรือหมอดู) แล้วคนส่วนใหญ่จะชอบให้หมอ ดูเรื่องโชคชะตาราศีความดีร้าย คู่ครอง สำหรับข้าพเจ้าแล้วคิดว่าการดูหมอหรือให้หมอดูเป็นเรื่องสนุก ได้ฟังเรื่องแปลก ๆ จากคนที่มาให้หมอดูแล้วเล่าให้หมอฟัง นักจิตวิทยาถือว่าวิชาหมอดูเป็นอย่างหนึ่งของจิตวิทยา สรุปว่าข้าพเจ้าไม่เคยเชื่อหมอดู และก็ไม่ปฏิเสธหมอดูด้วย
หลวงน้าไหวเป็นหมอดูซื่อ ๆ ไม่ใช่นักจิตวิทยา คำทำนายของท่านจึงมักโผงผางตรงไปตรงมา บางครั้งท่านกล้าทำนายอย่างมั่นใจว่า “ถ้าไม่จริงตามทำนายจะเผาตำราทิ้งเลย” พระเต็มต้องเตือนท่านเมื่อแขกไปแล้วว่า “อย่าพูดอย่างนั้นอีก” แต่ท่านก็อดเผลอพูดไม่ได้
เป็นหมอดูได้ปีกว่า ๆ หลวงน้าไหวก็เลื่อนฐานะขึ้นเป็นหมอสะเดาะเคราะห์ ทำพิธีรับพระส่งพระ รดน้ำมนต์ เข้าขั้น “เกจิอาจารย์” ไปในที่สุด/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, ลิตเติลเกิร์ล, ข้าวหอม, คิดถึงเสมอ, ฝาตุ่ม, เป็น อยู่ คือ, ชลนา ทิชากร, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๕๙ - ทุกครั้งที่หลวงน้าไหวกลับจากการเดินธุดงค์ จะมีพระเครื่องติดย่ามกลับมามากมาย แม้ไม่ไปธุดงค์ท่านก็โคจรออกต่างจังหวัดไปเยี่ยมเยือนพระอาจารย์ต่าง ๆ ที่ท่านพบรู้จักกันในขณะออกเดินธุดงค์ ไม่ได้ไปมือเปล่า ท่านนำพระเครื่องติดมือไปด้วย เอาไปแลกเปลี่ยนพระเครื่องบ้าง ขอพระเครื่องบ้างและเครื่องรางของขลังจากพระอาจารย์เหล่านั้นบ้าง จนเพื่อนพระในวัดจันทร์นอกพากันพูดล้อท่านว่า พระอาจารย์ไหวบ้าพระเครื่อง
หลวงน้าไหวจะบ้าพระเครื่องหรือไม่ เป็นการยากที่จะตัดสินได้ ข้าพเจ้าเองไม่กล้าใช้คำว่า “บ้า” มานำหน้า “พระเครื่อง” เพราะเห็นว่าพระเครื่องเป็นของดี “บ้า” เป็นของไม่ดี ไม่ควรจะนำองไม่ดีมารวมกับของดี ข้าพเจ้าสนใจพระเครื่องไม่น้อยเหมือนกัน ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องพระเครื่องมากนัก ครั้นหลวงน้าไหวสะสมพระเครื่องจนได้ชื่อว่า “นักเลงพระเครื่อง” หรือ “เล่นพระเครื่อง” พระเต็มก็เลยพลอยเล่นและศึกษาประวัติและความเป็นมาของพระเครื่องไปกับหลวงน้าไหวด้วย
พระพิมพ์หรือพระเครื่องมีหลายแบบหลายเนื้อหลากที่มา ที่เล่นกันทั่วไปก็มีพระเนื้อดินเผา เนื้อชินเงินชินตะกั่ว เนื้อผง เนื้อว่าน พระเนื้อดินเผาที่นิยมกันคือ พระนางพญาพิษณุโลก พระรอดลำพูน พระขุนแผนสุพรรณบุรี พระซุ้มกอ พระลีลาท่งเศรษฐี กำแพงเพชร เป็นต้น เนื้อชินก็มี พระร่วงรางปืนสุโขทัย พระหูยานลพบุรี พระท่ากระดาน เมืองกาญจน์ฯ พระพิมพ์ต่าง ๆ กรุวัดราชบูรณะอยุธยา เป็นต้น พระเนื้อผงก็มี สมเด็จวัดระฆัง บางขุนพรหม เกศไชโย เป็นต้น
นักเลงพระเครื่องทุกคนต้องมีอุปกรณ์สำคัญคือกล้องส่องพระ แว่นขยาย เพื่อส่องขยายดูเนื้อและสนิม ความสมบูรณ์ของพระ หลวงน้าไหวใช้แว่นขยายดูลายมือของท่านส่องพระ ยามว่างจากแขกเหรื่อท่านจะเอาพระออกมานั่งส่องดูอย่างพินิจพิเคราะห์ อย่างเอาจริงเอาจัง บางวันตื่นนอนล้างหน้าแปรงฟันแล้ว เอาพระมาส่องดูก่อนออกบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตก็ส่องดูพระก่อนฉันอาหารเช้า ฉันอาหารเสร็จแล้วก็ส่องดูพระอีก จนดูเป็นกิจวัตรของท่านเลย
บางทีหลวงน้าไหวส่องดูเนื้อพระแล้วร้องออกมาด้วยความอิ่มเอมใจว่า “เฮ้ย องค์นี้แร่ซะเลยว่ะ แหมองค์นี้เนื้อกังไสเชียวนะ” จนบางครั้งเพื่อนพระก็พากันหยอกล้อตอนที่เห็นท่านกำลังส่องพระว่า “องค์นี้แร่ซะมั้ย องค์นี้เนื้อกังไสมั้ย ?” ถูกหยอกล้ออย่างไรท่านก็ไม่โกรธเคือง กลับยิ้มด้วยความพอใจเสียอีก ข้าพเจ้าไม่เคยขัดคอขัดใจท่าน ดังนั้นจึงได้รับมอบพระจากท่านเรื่อย ๆ บางองค์เป็นพระเก่าของแท้ท่านส่องดูแล้วเข้าใจว่าเป็นของใหม่ไม่แท้จึงมอบให้พระเต็ม บางทีก็เอาพระเก่าของแท้มาขอแลกเปลี่ยนพระของข้าพเจ้า (ที่เป็นของใหม่) เป็นอย่างนี้เสมอมา
ยุคนั้น หลวงพ่อทวดกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง ฉายา “เหยียบน้ำทะเลจืด” ของท่านเป็นหลักประกันในความขลัง-ศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างดี พ่อท่านทิม เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ปัตตานี เป็นต้นเหตุแห่งความดังของหลวงพ่อทวด พระพิมพ์เนื้อว่านรูปเหมือนหลวงพ่อทวดที่พ่อท่านทิมทำขึ้นนั้น ราคาแพงจนคนฐานะอย่างพระเต็ม “สุดเอื้อม” เพราะความโด่งดังของหลวงพ่อทวดนี่แหละ ทำให้พระมหา (ขอสงวนนาม) องค์หนึ่งแห่งวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ สร้างความร่ำรวยให้แก่นเองได้อย่างง่ายดาย
จะไม่ให้ร่ำรวยอย่างไรได้เล่า ท่านมหาจัดสร้างหลวงพ่อทวดเนื้อว่าน หรือว่านผสมดินก็ไม่รู้ ลงทุนองค์ละไม่กี่สตางค์ แต่ให้บูชาองค์ละไม่ต่ำกว่า ๑๐ บาท นัยว่าสร้างเป็นจำนวนหลายแสนองค์ วันที่จัดทำพิธีปลุกเสก (ไม่น่าจะเรียกพุทธาภิเษกเพราะไม่ใช่พระพุทธรูป) ที่วัดมหาธาตุ คืนนั้นมีภาพยนตร์ฉายฉลองตลอดคืน เสร็จพิธีปลุกเสกตอนแจ้ง ปรากฏว่าประชาชนแห่เข้าไปขอบูชากันอย่างแน่นขนัดเป็นโกลาหล เงินไหลเข้ากระเป๋าท่านมหาเหมือนน้ำป่าบ่าไหลเลยเชียว
สมัยนั้นทุกซอกทุกมุมของกรุงเทพฯ และนอกกรุงเทพฯ ทั่วไป ถ้าพูดกันถึงความขลังความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ล้วนพูดถึงหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดเสมอ ประวัติหลวงพ่อทวดนั้นกล่าวกันว่า ท่านเป็นพระราชาคณะองค์หนึ่งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไทย เป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ คุณวิเศษประการหนึ่งของท่านคือ สามารถเหยียบน้ำทะเลที่เค็มให้เป็นน้ำจืดเพื่อบริโภคดื่มกินได้ เพียงนี้ก็เหลือกินแล้ว คุณวิเศษอื่น ๆ ไม่ต้องกล่าวถึงให้มากความ
คนส่วนใหญ่ไม่มีใครปฏิเสธที่จะเป็นสานุศิษย์หลวงพ่อทวด เพียงแค่ทำรูปเหมือนของท่านด้วยเนื้อว่าน เนื้อดิน เนื้อโลหะ ให้สานุศิษย์บูชาไว้ติดตัวยังไม่หนำแก่ใจของสานุศิษย์ จึงมีผู้ริเริ่มจัดทำพิธี “ประทับทรง” เชิญดวงวิญญาณหลวงพ่อทวดมาประทับในร่างของบุคคลต่าง ๆ ผู้ที่ทำพิธีประทับทรง คนผู้นี้จะเรียกว่าอาจารย์หรือพ่อมดหมอผีก็ตามแต่จะเรียกกัน ยุคนั้นมีคนทำหน้าที่เป็นร่างทรงในกรุงเทพฯ จำนวนมาก ดวงวิญาณหลวงพ่อทวดถูกเชิญเข้าประทับทรงทั้งกลางวันกลางคืน จนดูเหมือนจะไม่มีเวลาว่างเว้นเลย บางวันประทับทรงพร้อมในเวลาเดียวกันเป็นหลายแห่ง ดูเหมือนท่านแยกดวงวิญญาณออกเป็นเสี่ยง ๆ ได้อย่างนั้นแหละ
ที่บ้านหลังหนึ่งในซอยวัดจันทร์ใน (สาธุประดิษฐ์) เป็นบ้านของอาจารย์ทรัพย์สิน เดิมเป็นอาจารย์ไสยศาสตร์ ตั้งศาลพระภูมิ เป็นมรรคนายก ชอบปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ภายเกิดเบื่อหน่ายในฆราวาสจึงออกบวชภายหลังหลวงน้าไหว ๑ ปี อยู่สำนักวัดจันทร์ในใกล้บ้าน แม้จะบวชเป็นพระแล้ว ที่บ้านของท่านก็เป็นเหมือนสำนักที่ชุมนุมทำพิธีทางไสยศาสตร์อยู่เหมือนเดิม อาจารย์ทรัพย์สินมักจะนั่งเป็นประธานให้คำแนะนำสานุศิษย์ของท่านที่บ้านหลังนี้ในเวลาค่ำคืนเสมอ
ในขณะที่หลวงพ่อทวดกำลังดังอยู่ในกรุงเทพฯ มีอาจารย์สำนักต่าง ๆ อัญเชิญดวงวิญญาณของท่านมาประทับทรงกันนั้น สำนักของอาจารย์ทรัพย์สินก็ไม่เว้นที่จะจัดทำพิธีประทับทรงหลวงพ่อทวดด้วย หลวงน้าไหวกับอาจารย์ทรัพย์สินชอบพอกันมาก ทุกครั้งที่มีพิธีประทับทรงหลวงพ่อทวดที่สำนักอาจารย์ทรัพย์สิน หลวงน้าไหวต้องเข้าร่วมพิธีด้วย และยังนำเรื่องที่พบเห็นในพิธีนั้นมาบอกเล่าให้ข้าพเจ้าฟังอย่างละเอียด ดูท่านเลื่อมใสศรัทธาอย่างจริงใจ จนวันหนึ่งท่านขอร้องให้พระอาจารย์เต็มของท่านไปเข้าร่วมในพิธีนั้นด้วย ข้าพเจ้าไม่ค่อยเชื่อในเรื่องการทรงเจ้าเข้าผีอยู่แล้ว พยายามบ่ายเบี่ยงไม่ไปร่วมพิธี เมื่อสุดที่จะบ่ายเบี่ยงได้ก็จำใจไปร่วมพิธีนั้น/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๖๐ - ณ บ้านไม้ ๒ ชั้นอันเป็นสำนักขออาจารย์ทรัพย์สิน ค่ำวันนั้นมีสานุศิษย์หลวงพ่อทวดมาชุมนุมคับคั่ง ข้าพเจ้าเดินตามหลวงน้าไหวเข้าร่วมพิธีในห้องโถงชั้นบน อาจารย์ทรัพย์สินและใคร ๆ ก็ต้อนรับด้วยความยินดี เพราะหลวงน้าไหวเคยคุยอวดไว้ว่า พระอาจารย์เต็มเป็นอาจารย์ธุดงค์ของท่าน และมีความรู้เรื่องไสยศาสตร์มากองค์หนึ่ง ทุกคนจึงยินดีที่ได้พบและรู้จักข้าพเจ้า ในบรรดาสานุศิษย์หลวงพ่อทวดที่อยู่ในห้องโถงนั้น มีพ่อค้าระดับอาเสี่ยใหญ่หลายคน นายทหารยศตั้งแต่นายร้อยถึงนายพล นายตำรวจนายร้อยนายพันอีกหลายนาย ข้าราชการพลเรือนผู้ใหญ่หลลายท่า น อาจารย์ทรัพย์สินแนะนำให้รู้จัก ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าท่านใดชื่อยศตำแหน่งอะไร ก็ได้ยิ้มพยักหน้ารับไปอย่างนั้นเอง
เวลาประมาณสองทุ่มเห็นจะได้ ร่างทรงเป็นชายหนุ่มนุ่งขาวห่มขาวเดินออกมาจากห้องเล็ก นั่งลงบนอาสนะซึ่งเป็นเบาะปูพรมกลางห้องโถงเพื่อทำพิธีเชิญดวงวิญญาณหลวงพ่อทวดมาประทับทรง ร่างทรงคนนี้เป็นเด็กหนุ่มอายุประมาณ ๑๙-๒๐ ปี นัยว่าเป็นเด็กทำงานอยู่ในโรงภาพยนตร์สาธร เขานั่งบนอาสนะด้วยอาการกิริยาสำรวม ดูน่าเลื่อมใสศรัทธา ทุกคนในห้องล้วนนั่งเงียบกริบอยู่ในอาการสำรวมเคารพยำเกรง บุรุษหนุ่มผู้เป็นร่างทรงไม่พูดจาทักทายใครทั้งสิ้น นั่งขัดสมาธิพนมมือหลับตาบริกรรมอยู่ประมาณ ๕ นาทีแล้วถอนหายใจแรง ๆ ร่างเริ่มสั่นน้อย ๆ แล้วทวีความสั่นแรงขึ้น หลังที่ตั้งตรงอยู่นั้นเริ่มงอลง ใบหน้าที่เต่งตึงเปลี่ยนเหี่ยวย่น ร่างที่สั่นหยุดนิ่งลืมตาขึ้น อันเป็นที่รู้กันว่า หลวงพ่อทวดได้เข้าประทับร่างทรงนั้นแล้ว
ลักษณะรูปร่างหน้าตาเด็กหนุ่มกลายเป็นคนแก่หง่อม ยกมือที่สั่นน้อย ๆ รับประเคนป้านน้ำชาและพานหมากจากลูกศิษย์ที่คลานเข้าประเคนด้วยความเคารพ หยิบหมากพลูในพานเงินใหญ่ใส่ปากเคี้ยวอย่าเอร็ดอร่อย พอเริ่มเคี้ยวหมากคำแรกเท่านั้นแหละครับ หมากพลูในพานเงินใบใหญ่พร่องหมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะหลวงพ่อท่านเล่นเคี้ยวหมดคำต่อคำไม่ยอมให้ขาดปาก น้ำหมากก็ไม่ยอมบ้วนทิ้ง บรรดาสานุศิษย์ทยอยคลานเข้าหาขอให้ร่างทรงนั้นเป่าขม่อมด้วยความเคารพศรัทธา แต่ละคนมีน้ำหมากและกากหมากจากการเป่าของหลวงพ่อทวดติดหัวแดงเถือก แทนที่เขาจะปัดทิ้งหรือเช็ดออกด้วยความรังเกียจ กลับชอบใจด้วยคิดว่าหลวงพ่อโปรดปรานเขามากจึงพ่นน้ำหมากใส่หัวให้ บางคนเอาผ้าเช็ดหน้าปูแผ่ให้ร่างทรงนั้นบ้วนน้ำหมากใส่มือแล้วประทับรอยฝ่ามือลงบนผ้าเช็ดหน้าของเขา เก็บผ้าเช็ดหน้านั้นไว้เป็นเสมือนผ้ายันต์เครื่องรางของขลังอันศักดิ์สิทธิ์ อาจารย์ทรัพย์สินเอาผ้าขาวทำเป็นผ้าเช็ดหน้าให้ร่างทรงหลวงพ่อทวดประทับรอยฝ่ามือหลายผืน แล้วมอบให้พระอาจารย์เต็มผืนหนึ่ง ข้าพเจ้าก็รับไว้แบบว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” ในใจแล้วไม่คิดเลื่อมใสศรัทธาเลย
จะว่าข้าพเจ้ามีความคิดอิจฉาริษยาเด็กโรงหนังร่างทรงหลวงพ่อทวดก็คงจะใช่ เพราะตอนนั้นคิดว่า “แหม ไอ้เด็กโรงหนังคนนี้มันยอดมาก สามารถบ้วนน้ำหมากรดหัวเศรษฐี นายร้อยนายพันนายพลได้ คนรวยคนใหญ่คนโตนี่ทำไมโง่งมงายกันนักนะ เราเป็นพระแท้ ๆ อย่าว่าแต่บ้วนน้ำหมากใส่หัวเขาเลย แค่เป่าลมปากใส่หัวเขาก็ยังไม่ต้องการ” จึงคิดน้อยใจอยู่ครามครัน
นายทหารยศพันเอกที่เป็นหัวหน้าคณะศิษยานุศิษย์ในที่นั้น เริ่มนำสนทนาซักถามหลวงพ่อทวดในร่างทรง หลวงพ่อไม่พูดมาก ส่วนใหญ่จะพักหน้ารับคำถามที่ถามนำของศิษย์แล้วส่งเสียง “อือออ..” หนักเข้าก็พูดมากขึ้น เสียงพูดก็สั่นเครือเหมือนเสียงคนแก่อายุ่ไม่ต่ำกว่าแปดสิบปี ข้าพเจ้ารู้สึกหมั่นไส้ตอนที่ศิษย์หัวโจกถามว่า
“หลวงพ่อครับ ผมกับสานุศิษย์ทั้งหลายของหลวงพ่อจะทอดกฐินสามัคคีหาเงินสร้างศาลาหน้าวัดที่จังหวัดประจวบฯ หลังหนึ่ง ให้ชื่อศาลาที่จะสร้างว่าศาลาหลวงพ่อทวด จะสำเร็จไหมครับ”
“ อือออ...สำเร็จซี ถ้าใช้ชื่อข้าต้องสำเร็จแน่ ๆ” ร่างทรงหลวงพ่อทวดพูดด้วยเสียงสั่น ๆ และดังมาก พร้อมพยักหน้าหงึกหงัก
พอหลวงพ่อทวดบอกว่าสำเร็จเท่านั้นแหละ บรรดาสานุศิษย์ในที่นั้นต่างก็ออกปากขอบริจาคเงินร่วมสมทบทุนกันคนละตั้งแต่ ๕๐๐ บาทขึ้นไปจนถึง ๕๐,๐๐๐ บาท คืนนั้นได้เงินที่ศิษย์ร่วมกันบริจาคสร้างศาลาหลวงพ่อทวด ๖ แสนบาทเศษ แสดงให้เห็นว่าคนมีศรัทธาในหลวงพ่อทวดนั้นแรงกล้ายิ่งนัก
ตลอดเวลาที่มีการประทับทรงหลวงพ่อทวดนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่เฉย ๆ ไม่พูดจาอะไรเลย ดูเหตุการณ์ด้วยความสลดสังเวชใจ นายทหารคนที่เป็นหัวหน้าศิษย์หลวงพ่อทวดนั้นคะยั้นคะยอขอให้ข้าพเจ้าสนทนากับหลวงพ่อทวดบ้าง ร่างทรวงหลวงพ่อก็พยักหน้าชวนให้สนทนาด้วย ข้าพเจ้านึกหมั่นไส้อยู่แล้ว พอได้โอกาสอย่างนั้นก็ถามแบบเทศน์ปุจฉา-วิสัชนาเสียเลย
“หลวงพ่อครับ สมัยที่หลวงพ่อมีชีวิตอยู่นั้นเหยียบน้ำทะเลจึดจริงไหมครับ” ข้าพเจ้าถามแบบปูพื้นไปก่อน “จริงซี” หลวงพ่อตอบเสียงหนักแน่น
ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อก็ต้องบรรลุฌานใดฌานหนึ่งน่ะซี” หยอดคำถามต่อ “อ๊ะ ก็ต้องยังงั้นซี” ท่านตอบอย่างวางภูมิ
“หลวงพ่อได้รูปฌานหรืออรูปฌานครับ” ถามรุกเข้าไปอีกที “อ้า..รูป..รูปฌาน” หลวงพ่อตอบแบบตะกุกตะกัก
“ตามตำราท่านว่า ผู้ที่ได้รูปฌาน เมื่อสิ้นชีวิตจากมนุษย์แล้วก็ต้องไปเกิดในสวรรค์ชั้นรูปพรหม ถ้าได้อรูปฌานก็ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นอรูปพรหม ใช่ไหมครับ” ข้าพเจ้าถามแบบคาดคั้น เอ้อ ใช่ๆๆๆ” หลวงพ่อรับคำถี่ ๆ โดยหารู้ไม่ว่าได้กระโจนลงหลุมพรางแล้ว
“ถ้าอย่างนั้น เป็นเวรกรรมอะไรของหลวงพ่อเล่าครับ ได้ฌานและมรณภาพแล้ว แทนที่จะไปบังเกิดในพรหมโลกเสวยสุขอยู่ในฌานที่ตนได้ แต่ดวงวิญญาณของหลวงพ่อกลับล่องลอยวนเวียนอยู่ในมนุษย์โลก ถูกมนุษย์คนโน้นคนนี้เชิญเข้าประทับทรงจนไม่มีเวลาว่างเว้น และบางเวลาก็ต้องแบ่งภาคดวงวิญญาณไปเข้าประทับทรงพร้อมกันตั้งหลายร่างหลายแห่ง หลวงพ่อจะตอบได้ไหมว่าเป็นเวรกรรมอะไรของหลวงพ่อครับ”
ข้าพเจ้าจบคำถามด้วยยิ้มแบบเหยียด ๆ หลวงพ่อไม่ตอบ แต่จ้องหน้าคนถามด้วยแววตาเขียวปัดและดุดัน นิ่งอยู่ชั่วครู่แล้วหงายหลังลงบนอาสนะดวงวิญญาณลอยออกจากร่างทรงไปในที่สุด/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|