บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์ (ภาค ๑)
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ ตอนที่ - ๑ - ข้าพเจ้าเป็นลูกคนที่ ๔ ในครอบครัวเกษตรกร บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า “เต็ม” เป็นชื่อแบบไทยแท้ ชีวิตเติบโตในท่ามกลางกลิ่นโคลนสาบควาย เด็ก ๆ ลูกหลานชาวนาเริ่มการงานด้วยการเลี้ยงควายแล้วต่อด้วยการหัดไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว ไปตามประสาชาวนา บ้านของข้าพเจ้าอยู่ไกลปืนเที่ยงจากตัวเมืองสุพรรณบุรี ชนิดที่เรียกว่า “บ้านป่าขาดอน” เมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ บิดาเสียชีวิต มารดาจึงนำไปฝากไว้กับพระน้องชายของท่าน ซึ่งเป็นสมภารอยู่ที่วัดกลางหมู่บ้าน หลวงน้ารับภาระเลี้ยงดูข้าพเจ้าแทนทางบ้าน ด้วยความเมตตาปรานีตามสำนึกญาติผู้ใหญ่และสมณะวิสัยของท่าน เพราะเป็นเด็กวัดประเภท “หลานเจ้าวัด” ที่เด็กวัดด้วยกันยำเกรง ข้าพเจ้าจึงมีฐานะเป็น “หัวโจก” ของเด็กในวัดนั้นไปโดยปริยาย
ได้กล่าวแล้วว่า “บ้านอยู่ไกลปืนเที่ยง” ดังนั้นโรงเรียนประจำหมู่บ้านของข้าพเจ้าจึงเป็นโรงเรียนที่ขาดการเอาใจใส่ดูแลจากผู้บริหารบ้านเมือง สถานที่เรียนก็ใช้ศาลาวัดที่มีสภาพที่เรียกได้ว่า “โกโรโกโส” จะพังแหล่มิพังแหล่ มีครูประจำอยู่ ๒ คน คือครูใหญ่ขี้เหล้า กับ ครูน้อยขี้ยา บางวันครูท่านก็ไม่มาสอนเด็ก เด็กนักเรียนในโรงเรียนนี้ทุกคนเรียนกันสูงสุดเพียงชั้น ป.๒ สมัยนั้นเขาเรียนกันตั้งต้นด้วยชั้น เตรียม ๑ เตรียม ๒ แล้วขึ้น ป.๑ ป.๒ เป็นเพราะชั้น ป.๓ ป.๔ ไม่มีครูสอนนักเรียนในโรงเรียนนี้อย่างเพียงพอ จึงจำต้องเรียนจบเพียงชั้น ป.๒ เท่านั้น แต่อย่าดูถูกดูหมิ่นเชียวนะครับ เด็ก ป.๒ สมัยนั้นอ่าน-เขียนหนังสือไทยได้ดีกว่าชั้น ม.๓ ในสมัยปัจจุบันนี้เสียอีก
ข้าพเจ้าเรียนจบชั้น ป.๒ แล้ว ลาหลวงน้าออกจากวัดไปอยู่บ้าน เลี้ยงควายทำไร่ไถนา เที่ยวเตร่เฮฮาไปตามประสาวัยรุ่นบ้านนอกสมัยนั้น เป็นเด็กค่อนข้างจะเกเร ชอบเที่ยวหาความแปลกใหม่ ไม่ชอบความจำเจ ในเวลานั้นพี่สาวของข้าพเจ้าคนหนึ่งได้สามีเป็นคนต่างบ้านต่างเมือง และแยกจากบ้านไปอยู่บ้านสามีที่ กกม่วง-เลาขวัญ คาบเกี่ยวเขตแดนจังหวัดกาญจนบุรี ข้าพเจ้าหนีมารดาไปอยู่กับพี่สาวที่นั่น ใช้ชีวิตเป็นเด็กบ้านป่าขาดอนนานนับปี ป่าเลาขวัญสอนให้เรียนรู้การเป็นพรานป่าได้ไม่น้อยกว่าเด็กวัยรุ่นในละแวกนั้น เสียดายว่าอยู่กับพี่สาวได้ปีเศษก็ต้องหนีกลับบ้านเดิม เพราะความเป็นหนุ่มคะนองของข้าพเจ้าสร้างเรื่อง “มิดีมิร้าย” เกิดขึ้น คือลักลอบเข้าหาลูกสาวคนสำคัญของหมู่บ้าน แรก ๆ เหตุการณ์ก็ราบรื่นดี นานวันเข้าเรื่องก็ชักจะแดงขึ้น เธอบอกข้าพเจ้าว่า “น่าจะท้องแล้ว” และ “พ่อกำลังสงสัย” เห็นท่าไม่ดีจึงหนีกลับสุพรรณเสียดื้อ ๆ อย่างนั้นแหละ
ก่อนเข้าพรรษาปีนั้น หนุ่ม ๆ ในหมู่บ้านเขานัดบวช “ตามประเพณี” กันหมดทั้งหมู่บ้าน พวกเด็กวัยรุ่นเพื่อน ๆ ของข้าพเจ้าก็พากันบวชเณรหางนาคเกือบหมด ตอนนั้นข้าพเจ้ามีอายุย่างเข้า ๑๘ ขวบปีแล้ว เห็นว่าเพื่อนรุ่นพี่ รุ่นน้อง และรุ่นเดียวกันบวชจนเกือบหมด เพื่อนเล่นเพื่อนเที่ยวก็เกือบไม่มี จึงไม่อาจทนว้าเหว่อยู่ได้ ข้าพเจ้าจำต้องตัดสินใจบวชเณรหางนาคกับเขาด้วย การบวชในลักษณะนี้โบราณท่านเรียกว่า “บวชสนุกตามเพื่อน” นับเป็นวิธีหนึ่งของการบวชที่มีอยู่หลาย ๆ วิธี
การบวชทางบ้านข้าพเจ้าสมัยนั้นไม่ใช่จะบวชกันได้อย่างง่าย ๆ ต้องเข้า “โรงเรียนเตรียมบวช” เสียก่อนจึงจะบวชได้ กล่าวคือ ผู้ปกครองต้องพาผู้ที่จะบวช หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “นาค” ไปฝาก (หรือมอบ) ตัวเป็นศิษย์กับท่านสมภารวัดที่จะบวชอยู่ประจำ หรือไม่ก็วัดพระผู้เป็นอุปัชฌาย์ และขอให้ท่านกำหนดวันบวชต่อไป
วัดบ้านข้าพเจ้าไม่มีโบสถ์ (พัทธสีมา หรือ วิสุงคามสีมา) คนในหมู่บ้านต้องไปบวช ณ พัทธสีมาวัดใหม่จำปี (หัวโคก) ห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ ๘ กม. ดังนั้นพวกข้าพเจ้าผู้จะบวชจึงถือพานดอกไม้ธูปเทียนเดินทางตามผู้ปกครองเข้าวัดหัวโคก ซึ่งมี “หลวงพ่อส้ม” เป็นสมภารและเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อองค์นี้เดิมท่านชื่อส้ม บวชมานานจนได้เป็นสมภารวัดหัวโคก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับสมณะศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน ชาวบ้านมักเรียกท่านลับหลังว่า “หลวงพ่อส้มเปรี้ยว” หรือ “พระครูส้มเปรี้ยว” ท่านเป็นคนดุมากและเจ้าระเบียบ เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างหาตัวจับได้ยาก
ครั้นผู้ปกครองกล่าวมอบตัวพวกข้าพเจ้าให้หลวงพ่อส้มเสร็จแล้ว ท่านก็เรียกพระพี่เลี้ยงมาช่วยกันโกนผมให้กลายเป็นคนหัวโล้นไปทันที เมื่อโกนผมเสร็จอาบน้ำแต่งตัวให้เรียบร้อยแล้วก็สมาทาน (ถือเอา) ศีล ๕ พร้อมกันหมดทุกคน เรียกกันว่า เป็นนาคโดยสมบูรณ์ นาคทุกคนต้องเตรียมตัวบวชด้วยการท่องคำสวด (ขานนาค) ในพิธีอุปสมบท (คือบวช) ให้คล่องแคล่ว หัดเดินเข่า หัดกราบ และหัดขานนาค หัดนุ่งสบง ห่มจีวร (คือการแต่งตัวแบบพระภิกษุ) เท่านั้นยังไม่พอ ต้องท่องบทสวดที่สำคัญ ๆ เช่น คำกรวดน้ำ คำให้พร (ยถา สัพพี...) คำถวายพรพระ (อิติปิโส...พาหุง...มหาการุณิโก) คำพิจารณา (ปฏิสังขาโย...) ทำวัตรเช้าวัตรค่ำ และบทสวดมนต์ต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
หลวงพ่อส้มบอกกับผู้ปกครองพวกข้าพเจ้าว่า “ให้มันเป็นคนหัวโล้นแล้วจะได้ไม่หนีเที่ยว มีเวลาท่องหนังสือเป็นนาคเตรียมบวชได้เต็มที่” แต่การณ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่หลวงพ่อส้มกล่าว แทนที่พวกนาค (พวกข้าพเจ้า) จะเป็นคนสงบเสงี่ยมเจียมเนื้อเจียมตัว ท่อง “ขานนาค” และบทสวดต่าง ๆ ในหนังสือเจ็ดตำนาน กลับเล่น “เป็นลิงหลอกเจ้า” กับพระพี่เลี้ยงด้วยการหนีออกจากวัดไปเที่ยวตามบ้านบ้าง หยอกล้อเล่นกันแบบพิเรนทร์ ๆ บ้าง จนข้าพเจ้าเกือบจะไม่ได้บวชเสียแล้ว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕

รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ลายเมฆ, ต้นฝ้าย, มนชิดา พานิช, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ตุ้ม ครองบุญ, หยาดฟ้า, คิดถึงเสมอ, ลิตเติลเกิร์ล, ข้าวหอม, My Little Sodium, ฟองเมฆ, กรกช, สายน้ำ, ฝาตุ่ม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 หลวงพ่อส้ม วัดใหม่จำปี เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒ - วัดใหม่จำปีมีชื่อเดิมว่า “วัดหัวโคก” เพราะตั้งอยู่ใกล้ตลาดหัวโคก ที่ได้ชื่อว่า “หัวโคก” เห็นจะเป็นเพราะว่าบริเวณที่ตั้งตลาดนั้นเป็นเนินดินสูงอยู่ริมแม่น้ำสายหนึ่งมีชื่อว่าแม่น้ำท่าว้า แม่น้ำสายนี้ว่ากันว่าเป็นแม่น้ำที่ตายแล้ว ต้นน้ำเดิมเขาว่ามาจากอำเภอเดิมบางนางบวช ผ่านหนองหญ้าไซในเขตสามชุก ศรีประจันทร์ ตลิ่งชัน ที่ตั้งวัดสกุณปักษี วัดใหม่จำปี วัดท่าเสด็จ ล่องลงใต้ นัยว่าเป็นสายเดียวกันกับแม่น้ำจระเข้สามพัน บริเวณตอนบนแม่น้ำสายนี้ตื้นเขินจนกลายเป็นที่ไร่นาของชาวบ้านไปแล้ว จึงกลายเป็น “แม่น้ำด้วน” คงมีสภาพเป็นแม่น้ำอยู่ในเขตตำบลตลิ่งชันตั้งแต่วัดสกุณปักษี (วัดนกกระจอก) ลงมาถึงท่าว้า (หัวโคก) ท่าเสด็จ ดอนกำยาน เท่านั้น
หญิงสาวหญิงแก่แม่ม่ายที่บ้านอยู่ริมแม่น้ำท่าว้าหน้าวัดหัวโคกมีหลายคน พวกเธอนุ่งผ้ากระโจมอกลงมาอาบน้ำเล่นน้ำในแม่น้ำหน้าวัดตอนเย็นยันค่ำทุกวัน พวกข้าพเจ้าเป็นนาคหัวโล้นก็ถือโอกาสลงอาบน้ำที่ท่าน้ำหน้าวัดยามเย็นทุกวันเช่นกัน
แม่น้ำท่าว้า หน้าวัดหัวโคกไม่กว้างใหญ่นัก คนอยู่คนละฟากฝั่งส่งเสียงดัง ๆ ก็พูดคุยกันรู้เรื่อง ส่งภาษามือบอกใบ้ให้กันกันก็แลเห็นได้ชัดเจน ดังนั้น พวกนาคหัวโล้นในวัดหัวโคกจึงเกี้ยวพาราศีพวกสาว ๆ หน้าวัดได้อย่างสนุกสนาน บางคนถึงกับว่ายน้ำข้ามไปหาเจ้าหล่อนเลยทีเดียว คนที่ไม่มีกำลังวังชาแข็งแรง หรือว่ายน้ำไม่เก่งอย่างข้าพเจ้าก็ใช้เรืออีโปงพายข้ามไปหาพวกหล่อน
“เรืออีโปง” ทำด้วยไม้ตาลหรือต้นตาลโตนด โดยเอาทางโคนต้นเป็นหัวเรือทางปลายเป็นท้ายเรือ ขุดเอาไส้มันออกหมด ใช้ไม้กระดานแปะปิดท้ายเรือไว้ไม่ให้น้ำเข้าในลำเรือ การพายเรืออีโปงไม่เหมือนพายเรืออีแปะ เรือมาด เรือพายม้า ที่ต้อง “พาย งัด” ให้เรือแล่นตรงไปในทิศทางที่ต้องการ ส่วนเรืออีโปงต้อง “พายวาด” คือปาดซ้ายที ขวาที เรือมันจึงจะแล่นทื่อไปสู่ที่หมายได้ ข้าพเจ้าหัดพายเรืออีโปงจนพอพายข้ามแม่น้ำได้แล้ว ก็พายเรือไปหาสาวเจ้าคนที่หมายตากันไว้ นั่นแหละเป็นเหตุให้เกือบไม่ได้บวชเณรเลยทีเดียว
นาคพี่ ๆ และเพื่อน ๆ เขา “จีบสาว” กันอย่างสนุกสนาน ข้าพเจ้าก็เอาอย่างเขาบ้าง แต่คิดเพียงเล่น ๆ เจ้าหล่อนกลับคิดเอาจริง ๆ คุณพ่อเธอรู้เรื่องเข้าก็ไปฟ้องหลวงพ่อส้ม จนข้าพเจ้าถูกอบรมอย่างยกใหญ่ ร้อนถึงผู้ปกครองของต้องรีบไปรับรองความประพฤติใหม่ จึงรอดตัวได้อย่างหวุดหวิด นาครุ่นข้าพเจ้าใช้เวลาเตรียมบวชอยู่ในวัดหัวโคกนานถึง ๒ เดือน หลวงพ่อส้มจึงกำหนดวันให้บวชได้
มีความเชื่อถือสืบต่อกันมาอย่างหนึ่งว่า นาคที่ใกล้บวชมักมีเสน่ห์แรงเป็นที่พึงพอใจของเพศตรงข้าม เพราะในการท่องคำขานนาคนั้น มีคำที่เรียกกันว่า “คาถามหาเสน่ห์” รวมอยู่ด้วย นั่นก็คือ คำอ้อนวอนขออุปสมบทหรือขอบวชที่ว่า “สังฆัมภันเต อุปะสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุ มัง ภันเต สังโฆ อะนุกัมปัง อุปาทายะ” พระอาจารย์ส่วนมากมักจะให้นาคท่องบทนี้ก่อนวันบวชเพียง ๑-๒ วันเท่านั้น ด้วยเชื่อว่า หากให้ท่องเสียแต่เนิ่น ๆ แล้วนาคมักจะไม่ได้บวช เพราะคาถามหาเสน่ห์บทนี้จะไปดลใจให้สตรีเพศมาหลงรักนาคแล้วทำให้นาคต้อง “เบียดก่อนบวช” หรือ “เบียดจนลืมบวช” ไปเลยทีเดียว เรื่องนี้ข้าพเจ้าไม่ยอมรับว่า คำอ้อนวอนขออุปสมบทเป็นคาถามหาเสน่ห์ แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธหรอกครับ
หลังสงกรานต์ปีนั้น ในหมู่บ้านข้าพเจ้าจัดงานบวชวันเดียวกัน ๕ หลังคาเรือน มีนาคผู้จะบวชเป็นพระ ๖ นาค บวชเณรหางนาค ๙ คน ข้าพเจ้าบวชเณรหางนาคพี่ชาย (ลูกติดพ่อเลี้ยง) การจัดงานบวชทุกบ้านจะไม่ยอมให้น้อยหน้ากัน โดยมีลิเกคณะดัง ๆ มาแสดง มีรำวงที่จ้างนางรำวงมีชื่อจากต่างบ้านต่างเมืองมารำ หาหมอทำขวัญนาคชื่อดังมาร้องแหล่ประชันกัน หมู ไก่ ถูกเชือดมาปรุงอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อกันมากมาย บางรายถึงกับล้มวัวทำอาหารเลี้ยงกันเลยทีเดียว บางบ้านมีรำวงโต้รุ่ง ฟ้าสางจึงเลิกรา ทุกนาคเข้าขบวนแห่จากบ้านพร้อมกัน บางนาคที่มีฐานะดีหน่อยก็จ้างม้าทรงนาคมาให้นาคขี่ไปวัด ที่มีฐานะปานกลางและยากจนก็ให้นาคขี่คอเพื่อนชาย หน้าขบวนแห่นาคมีทั้งกลองยาว แตรวง เป่าระดมตีประโคมกันจนเสียงดังสนั่นลั่นทุ่ง ทั้งหญิงและชายร่วมกันรำเต้นป้อไปป้อมา เด้งหน้าเด้งหลังอยู่หน้านาคตลอดทาง ดูเป็นที่สนุกสนานครึกครื้นยิ่งนัก
ขบวนแห่นาคทั้งหมดมาถึงประตูเข้าวัดก็หยุด นาคลงจากหลังม้าและคอคน เครื่องดนตรีหยุดตีประโคม เสียงโห่ร้องเต้นรำทั้งหมดหยุดเงียบ ทุกคนเดินเข้าวัดด้วยอาการสำรวมสงบเสงี่ยมดูเคร่งขรึมเหมือนนักปฏิบัติธรรมผู้เคร่งครัด เป็นไปตามกติกาของหลวงพ่อส้มที่ท่านวางไว้ คือห้ามมิให้ใครใช้เครื่องคนตรีทุกชนิดตีประโคม โห่ร้องแห่นาค และเต้นรำหน้านาคภายในเขตวัดของท่านอย่างเด็ดขาด!
เคยมีคนดื้อรั้นในงานบวชลูกชายผู้ใหญ่บ้านผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง แห่นาคจากบ้านท่าว้าหน้าตลาดหัวโคกไปเข้าวัดโดยใช้กลองยาวตีประโคมสลับแตรวง นาคขี่ม้าทรงแต่งตัวสวยงาม เมื่อขบวนแห่นาคอันมโหฬารผ่านบ้านร้านตลาดไปถึงวัดแล้วก็แห่เข้าวัดทันที ขบวนแห่นาคเดินเวียนรอบโบสถ์ ผู้คนในขบวนมากมายทั้งเมาสุราและไม่เมาฟ้อนรำนำหน้านาค มีแตรวงเป่านำขบวน และกลองยาวตีประโคมปิดท้ายขบวน
ขณะที่วนรอบโบสถ์ได้ครึ่งรอบ แตรเป่าเพลงทำนองอัศวลีลา (ม้าย่อง) ม้าทรงก็เต้นเหยาะ ๆตามจังหวะเสียงแตร หลวงพ่อส้มในชุด “ห่มดอง” ถือไม้ตะพดคู่กายเดินปรี่ลงจากกุฏิไปยืนขวางอยู่หน้าโบสถ์ แล้วใช้ “อาญาวัด” ควงไม้ตะพดตีดะไม่เลือกหน้าว่าเป็นใคร ตะโกนด่าขับไล่เสียงดังลั่น
“มึงจะแห่ไปลงนรกขุมไหนก็ไปไป๊! วัดกูเป็นสวรรค์ ห้ามสัตว์นรกขึ้นมารบกวนโว้ย....ไป๊! มึงรีบไปก่อนที่หัวจะแตก!”
ไม่ได้ตีและด่าอย่างเดียวหรอกครับ ท่านปิดโบสถ์ไม่ยอมให้ใครเข้าไปด้วย นาคลูกผู้ใหญ่รายนั้นต้องหนีกระเจิดกระเจิงยกขบวนไปวัดป่าเลไลยก์ กราบขอร้องหลวงพ่อถิร เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ เหตุการณ์ดังกล่าวถูกร้องเรียนไปถึงเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ท่านเจ้าคณะจังหวัดมีคำสั่งพักการทำ (นั่ง) หน้าที่พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อส้มไว้ ซึ่งเป็นการลงโทษทางการปกครองของคณะสงฆ์ แม้จะถูกสั่งห้ามไม่ให้นั่งเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อส้มก็ไม่ยอมยกเลิกกติกาของท่าน เพราะเห็นว่ามิได้ทำผิดพระวินัยอันเป็นพุทธบัญญัติ ผลที่สุดเจ้าคณะจังหวัดก็ยกเลิกคำสั่งห้ามนั้นเสีย ประเพณีการไม่แห่นาคเข้าโบสถ์จึงมีประจำวัดหัวโคกของหลวงพ่อส้มแต่นั้นตลอดมา /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้จากอินเตอร์เน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ต้นฝ้าย, หยาดฟ้า, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), My Little Sodium, คิดถึงเสมอ, ลายเมฆ, ข้าวหอม, มนชิดา พานิช, ตุ้ม ครองบุญ, ลิตเติลเกิร์ล, ฟองเมฆ, กรกช, ฝาตุ่ม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๓ –
ในบรรดาพระเณรที่บวชรุ่นเดียวกันนั้น ข้าพเจ้าได้รับการโปรดปรานจากหลวงพ่อส้มมากที่สุด สาเหตุมิใช่เพราะมีกิริยาเรียบร้อยนิสัยดี อ่อนน้อมถ่อมตน ปฏิบัติเอาอกเอาใจพระอุปัชฌาย์อาจารย์ หรือประจบประแจงเก่งอะไรหรอกครับ หากแต่ว่าข้าพเจ้ามีความสามารถสาธยายคำสวดต่าง ๆ เช่นบทสวดทำวัตรเช้า-ค่ำ ถวายพรพระ และตำนานได้ครบทั้ง ๗ บท (เจ็ดตำนาน) สวดมาติกาบังสุกุล (สวดศพ-ผี) บทสวดต่าง ๆ นี้มิใช่ท่องได้ตอนบวชแล้ว หากแต่ว่าท่องจำได้เมื่อครั้งเป็นเด็กวัด และมาต่อเพิ่มเติมตอนเป็นนาค ๒ เดือน
สมัยเป็นเด็กวัดนั้น ท่านสมภาร (คือหลวงน้าของข้าพเจ้า) บังคับให้เด็กวัดทุกคน “ต่อหนังสือค่ำ” คือก่อนเข้านอนทุกคืนเด็กวัดทุกคนต้องนั่งรวมกันในหอสวดมนต์ มีพระคอยบอกบทสวดมนต์ให้ท่องเป็นตอน ๆ เมื่อท่องได้จนคล่องปากและสอบทานจนถูกต้องดีแล้วก็บอกตอนใหม่ให้ท่องต่อไป จบบทหนึ่งก็ให้ท่องอีกบทหนึ่ง เวลาที่พระสวดมนต์ทำวัตรเช้า-ค่ำ เด็กวัดทุกคนก็ต้องเข้าไปนั่งข้างหลังหมู่พระสงฆ์ว่าสวดมนต์ตามพระไปด้วย
ผลของการต่อหนังสือค่ำ ทำให้จำบทสวดต่าง ๆ นั้นได้อย่างแม่นยำมั่นคง แม้เวลาจะผ่านเลยไปเป็นเวลานานก็ยังจำได้ไม่ลืมเลย ไม่เหมือนกับความจำที่ท่องได้จากตำรา ซึ่งผู้ท่องได้นั้น ๆ ถ้าไม่หมั่นสาธยายหรือสวดทบทวนบ่อย ๆ แล้วความจำนั้น ๆ ก็จะ “กลับคืนเข้าตำรา” คือหลงลืมไปหมด ส่วนการท่องจำด้วยการต่อจากปากหรือคำบอก (มุขปาฐะ) นั้น แม้จะไม่สาธยายบ่อย ๆ ความจำนั้นก็จะไม่ลืมเลือน เพราะว่ามันจำ “เข้าไส้เข้าพุง” ไปแล้ว
อย่างเช่นหลวงพ่อส้ม พระอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้า ท่านบวชเมื่ออายุครบบวช (คือ ๒๐ ปีบริบูรณ์) โดยมาจากตระกูลเกษตรกรเป็นคนบ้านนอกที่สมบูรณ์แบบ ผิวกายดำเกลี้ยง โครงร่างกระดูกใหญ่ ไม่อ้วนท้วนจนลงพุง พูดจายานคาง เสียงเหน่อ ๆ ตามแบบของชาวสุวรรณภูมิ (คนไทยหลายจังหวัดในภาคกลาง) เสียงดังฟังชัด ไม่เคยเรียนหนังสือมาก่อน เพราะในตำบลที่ท่านอยู่สมัยเป็นเด็กนั้นไม่มีโรงเรียนให้ท่านเรียน ด้วยความขยันหมั่นเพียรและมีไหวพริบปฏิภาณดีเป็นสันดาน เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้วท่านเริ่มท่องสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ด้วยการ “ต่อหนังสือ” จากพระอาจารย์จนจำได้หมดทุกตำนาน และยังพยายามหัดอ่าน-เขียนหนังสือไทยจนสามารถอ่านออกเขียนได้ มีความรู้แบบที่เรียกว่า “งู ๆ ปลา ๆ” แล้วสมัครเรียนนักธรรมชั้นตรี ด้วยการ “ต่อหนังสือ” ท่องจำแบบเรียนนวโกวาทจนจบบริบูรณ์ จำได้หมดว่า หน้าที่เท่าไร บรรทัดที่เท่าไร มีความว่าอย่างไร ใครถามก็ตอบได้หมดไม่มีผิดเพี้ยน มิใช่แต่จะท่องจำได้ทั้งหมดเท่านั้น ท่านยังเข้าใจเนื้อหาสาระของพระวินัยบัญญัติ ธรรมวิภาค และพุทธประวัติ ได้อย่างลึกซึ้งอีกด้วย แต่การสอบนักธรรมในสนามหลวงท่านมีปัญหามาก สอบตกติดต่อกันถึง ๕ ปีซ้อน เหตุที่สอบตกก็เพราะท่านเขียนหนังสือด้วยลายมือที่อ่านยาก ลายมือ “เหมือนไก่เขี่ย” ซ้ำยังเขียนสะกดการันต์ไม่ถูกอีกด้วย กรรมการท่านเห็นลายมือแล้วก็ไม่พยายามอ่าน จึงสอบตกซ้ำซาก จนปีที่ ๖ กรรมการตรวจให้คะแนนท่านสงสารจึงอนุโลมให้ท่านสอบผ่านได้เป็น “นักธรรมชั้นตรี” จากนั้นท่านก็พยายามท่องหนังสือคัมภีร์เทศน์ทั้งแบบเทศน์เดี่ยวและเทศน์คู่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ๆ ได้หมด เวลาใครนิมนต์เทศน์ท่านก็สามารถเทศน์ได้อย่างคล่องแคล่ว เสียงดังฟังชัดฉาดฉาน วางจังหวะทำนองลีลาได้อย่างเหมาะเจาะเพราะพริ้งน่าฟัง ในการเทศน์คู่ที่เรียกกันว่า “ปุจฉาวิสัชนา” ถ้าคู่เทศน์พูดนอกคัมภีร์ที่ท่านท่องมา ก็จะค้านว่าคำเทศน์นั้นไม่มีในคัมภีร์ ทำให้คู่เทศน์ต้องกล่าวแก้ตัวเป็นพัลวันทีเดียว
โดยปกติหลวงพ่อส้มเป็นคนอารมณ์ร้อน โมโหร้าย ปากร้าย ด่าคนได้อย่างเผ็ดร้อนเจ็บแสบที่สุด วันไหนอารมณ์เสียขึ้นมาก็สั่งให้ลูกศิษย์ติดเครื่องไฟฟ้าเปิดเครื่องกระจายเสียงด่ากราดตั้งแต่เด็กวัด พระ เณร และลามออกไปนอกวัดถึงชาวบ้าน แล้วก็จบลงด้วยการด่าตัวเองอย่างน่าขำขัน
“ชิบผาย...ไอ้กูก็มันก็ไม่ดี ด่ามันปาว ๆ จนปากเปียกปากแฉะ มันจะฟังหรือเปล่าก็ไม่รู้ เฮ้ย...ปิดเครื่องได้แล้วโว้ย !” เป็นอย่างนี้ทุกทีเลยครับ
แล้วก็มีเรื่องที่ชาววัดชาวบ้านโจษจันและจดจำกันได้ไม่มีวันลืม เป็นเรื่องที่หลวงพ่อส้มสร้างไว้ นั่นคือ วันหนึ่ง “เจ๊กจิ๋ว” หรือเถ้าแก่จิ๋ว พ่อค้าคนจีนในตลาดหัวโคกซึ่งอยู่บริเวณใต้วัดจำปีหรือวัดหัวโคก จัดงานทำบุญครบรอบวันตายให้ภรรยาของเขา นิมนต์พระวัดจำปี ๔ องค์ พระวัดท่าเสด็จซึ่งอยู่ทางใต้ตลาด ๕ องค์ มาสวดพระพุทธมนต์ทำบุญตอนเช้า หลวงพ่อส้มพาพระวัดหัวโคก ๓ องค์ไปถึงร้านเถ้าแก่จิ๋วก่อนพระวัดท่าเสด็จ ซึ่งก็เป็นขณะที่เถ้าแก่ไม่อยู่ในร้าน คนในร้านก็นิมนต์หลวงพ่อส้มกับพระ ๓ องค์เข้าไปนั่งในร้านก่อน เถ้าแก่จิ๋วกลับมาเห็นพระอยู่ในร้าน ๔ องค์ก็ร้องโวยวาย
“ไอ๋หยา....พะมาอยู่ในบ้างอั๊วะสี่คง คงในบ้างอั๊วะต้องตายอีกแน่ ๆ” เถ้าแก่ไม่ยอมเข้าร้าน เดินวนเวียนไปมาอยู่หน้าร้านพร้อมกับบ่นดัง ๆ ว่า “ต้องมีคงตายอีกแน่ๆ” ใครจะพูดอธิบายห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ฟัง ทั้งนี้ก็เพราะเถ้าแก่จิ๋วเป็นหนึ่งในคนจำนวนมากที่มีความเชื่อประเภท “มงคลตื่นข่าว” คือเชื่อกันว่า พระ ๔ องค์เข้าบ้านไม่เป็นมงคล เพราะพระ ๔ องค์ใช้สำหรับสวดศพ ไม่นิยมให้พระมีจำนวน ๔ องค์เข้าบ้านร้านเรือน ซึ่งจะทำให้มีคนตายได้
หลวงพ่อส้มได้ยินเสียงและเห็นอาการกิริยาของเถ้าแก่จิ๋วดังนั้น ทนนั่งนิ่งอยู่ไม่ได้ คว้าไม่ตะพดคู่มือ (ที่ท่านถือไปไหนมาไหนด้วยเสมอ) ลุกขึ้นยืนด้วยโทสะ
“เฮ้ย...ทั่นสน ทั่นเล็ก ทั่นผล กลับวัดโว้ย.....ไม่ต้องกินข้าวไอ้เจ๊กจิ๋วมันหรอก ข้าววัดเราก็มีกิน ปล่อยให้คนบ้านนี้มันตายโหงตายห่าให้หมดเถอะ ถ้ามันตายจริง ๆ ก็อย่ามาสวดให้มัน!”
หลวงพี่สนธิ หลวงพี่เล็ก และหลวงพี่ผลตกใจ นั่งมองหน้ากันเลิกลั่ก!
“ใครไม่ไปกูตีหัวแตกเดี๋ยวนี้แหละ” หลวงพ่อส้มกล่าวสำทับพร้อมกับยกไม้ตะพดขึ้นเงื้อง่า..... หลวงพี่ทั้ง ๓ องค์จำต้องลุกขึ้นเดินตามหลวงพ่อส้มกลับวัดไป ท่ามกลางความตกใจของคนที่มาร่วมงานบุญนั้น
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อส้มเป็นพระภิกษุสาวกพระพุทธเจ้าแท้จริง ไม่เชื่อถือในเรื่องความขลังความศักดิ์สิทธิ์ “มงคลตื่นข่าว” ใด ๆ และไม่เอาอกเอาใจใครที่คิดเห็นผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า./
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, My Little Sodium, ต้นฝ้าย, ลิตเติลเกิร์ล, คิดถึงเสมอ, มนชิดา พานิช, ลายเมฆ, ฟองเมฆ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), กรกช, ฝาตุ่ม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรืออีแปะ ขอบคุณรูปภาพต้นแบบจาก Internet เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๔ - ย้ายสังกัดวัดเรียนนักธรรม
ใกล้เข้าพรรษาแล้ว ข้าพเจ้าต้องลาหลวงพี่และเพื่อนเณร และกราบลาหลวงพ่อส้มพระอุปัชฌายาจารย์จากวัดใหม่จำปี (หัวโคก) เดินทางข้ามจังหวัดไปอยู่วัดมฤคทายวัน (รางเนื้อตาย) กลางทุ่งนาในเขตกิ่งอำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ก็เพราะหลวงน้าของข้าพเจ้าเห็นว่าหากให้อยู่วัดใหม่จำปีต่อไปคงไม่ “งอกงามไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา” จึงพาไปฝากเป็นศิษย์และเป็นลูกหลวงพ่อแปลกสมภารวัดรางเนื้อตายที่ท่านเคารพนับถือ หลวงพ่อแปลกรับข้าพเจ้าไว้เป็นศิษย์และเลี้ยงดูเหมือนลูกของท่าน
ดังได้ให้การมาแต่แรกแล้วว่า ข้าพเจ้า “บวชสนุกตามเพื่อน” ไม่ได้บวชเพราะเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา หรือ ซาบซึ้งในรสพระธรรมวินัยอย่างที่ใคร ๆ มักกล่าวอ้างกัน แต่ครั้นบวชเข้ามาอยู่ในร่มเงาแห่งผ้าเหลืองแล้ว ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึก “สนุกในดงขมิ้น” คือวงการของนักบวช อยากรู้อยากเห็นอยากทดลองอยากสัมผัสชีวิตนักบวชให้มากขึ้น อยากเรียนนักธรรม บาลี อยากเรียนคาถาอาคม เพราะได้พบเห็นพระภิกษุที่ท่านเป็นพระนักธรรม พระมหาบาเรียน พระอาจารย์แล้วก็อยากเป็นอย่างพวกท่านเหล่านั้นบ้าง ก็ดูมันโก้ดีนี่ครับ
วัดมฤคทายวันหรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า “วัดรางเนื้อตาย” นั้นเป็นวัดประเภท “บ้านนอก” ตั้งอยู่ริมคลองหรือลำราง (ที่มีชื่อว่า “รางเนื้อตาย”) ฝั่งตะวันตก ทุ่งนาในย่านนี้กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา การเดินทางไปสู่วัดแห่งนี้ ถ้าเป็นฤดูน้ำหลากท่วมทุ่งก็ใช้เรือยนต์ (เรือเมล์) ตามลำคลอง (หรือลำราง) ที่เริ่มจากแม่น้ำน้อยสายสุพรรณ-บ้านแพน ซึ่งแยกจากบริเวณตลาด (แพ) บ้านเจ้าเจ็ดเขตอำเภอเสนา ผ่านวัดหนองคด วัดเทพมงคล (รางไอ้ทึม) วัดมฤคทายวัน (รางเนื้อตาย) ลงไปเชื่อมคลองญี่ปุ่น (พระยาบันลือ) เขตอำเภอลาดบัวหลวง ถ้าเป็นฤดูแล้งน้ำในคลองหรือลำรางนี้จะแห้งขอด เรือยนต์ (และเรือพาย) เดินไม่ได้ ต้องนั่งเรือเมล์ที่แล่นรับ-ส่งคนโดยสารระหว่างบ้านแพน-แผงลอย โดยผ่านเจ้าเจ็ด บางซ้าย บ้านสุด (ในเขตอำเภอบางปลาม้า สุพรรณบุรี) เลยตลาดบ้านสุดไปเล็กน้อยมีคลองที่เรียกว่า “คลองขุด” ล่องลงไปทางใต้เชื่อมต่อคลองญี่ปุ่น (พระยาบันลือ) ก่อนลงไปเชื่อมต่อคลองญี่ปุ่นก็ผ่านตลาดขนาดเล็กกลางทุ่งกว้างเรียกชื่อว่า “ตลาดแผงลอย” ที่ตรงนี้เดิมเป็นที่ตั้งของวัดหนึ่ง เมื่อมีการขุดคลองผ่านจึงถูกเวนคืน เลื่อนวัดห่างออกไปทางทิศตะวันตก ชื่อวัดนี้ว่า “สุคนธาราม” แต่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “วัดกระเถิบ” ตลาดแผงลอยนี้เองเป็นท่าเรือเมล์ที่คนจากหมู่บ้านรางเนื้อตายใช้เป็นที่ขึ้น-ลงเรือในการเดินทางไปที่ว่าการกิ่งอำเภอบางซ้าย ไปบ้านแพน และแม้ไปสุพรรณบุรีในฤดูแล้ง คลองขุด ตลาดแผงลอยนี้ อยู่ห่างจากวัดมฤคทายวันประมาณ ๘ กม.เห็นจะได้
ข้าพเจ้าเกิดและโตในดินแดนบ้านป่าขาดอน แม้มาบวชเป็นสามเณรอยู่วัดใหม่จำปีที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าว้าก็ยังถือว่า “อยู่ดอน” เพราะไม่มีท้องทุ่งที่ถูกน้ำท่วม เมื่อย้ายมาอยู่ทุ่งรางเนื้อตายที่หน้าแล้งน้ำแห้งให้เดินไปไหนมาไหนได้ตามใจก็จริง แต่หน้าน้ำหลังจากที่ชาวนาเขาทำนาหว่านข้าวเปลือกกล้าจนขึ้นงอกงามแล้ว น้ำก็จะหลากนองท่วมหมดทั้งท้องทุ่ง การไปไหนมาไหนต้องใช้เรือพาย ข้าพเจ้าพายเรือไม่เป็น จึงต้องเริ่มต้นหัดพายเรือกันใหม่ เวลาออกบิณฑบาตก็ต้องใช้เรือพายไปตามละแวกบ้าน เรือพายที่ใช้กันในทุ่งนี้เป็นเรือป๊าบหรือเรืออีแปะ กับเรือบด “มือใหม่หัดพาย” อย่างข้าพเจ้าจึงต้องพบกับปัญหา “เรือล่ม” ให้ได้รับความอับอายเป็นหลายครั้ง กว่าจะเก่งทางเรือได้ก็ต่อเมื่อน้ำลดแห้งลงแล้วนั่นเทียว
เริ่มเรียนนักธรรมชั้นตรีก็พบปัญหายุ่งยากลำบากไม่น้อย การท่องการอ่านบทเรียนไม่เป็นการยาก แต่การเขียนหนังสือนี่สิข้าพเจ้าแย่มาก เพราะมือมันไม่คุ้นเคยกับดินสอปากกามาก่อน จึงเขียนหนังสือแทบไม่เป็นตัว (ดีกว่าหลวงพ่อส้มนิดหน่อยเท่านั้น) และที่ร้ายก็คือข้าพเจ้าเป็นคนขี้เกียจเขียนหนังสือชะมัดเลย ดังนั้นในปีแรกของการเข้าสอบธรรมสนามหลวงปรากฏว่า
สามเณรเต็มสอบตกอย่างไม่เป็นท่าเลยครับ
อาจารย์ผู้สอนพระปริยัติธรรมของข้าพเจ้าท่านบอกว่า ความรู้ หรือภูมินักธรรมของข้าพเจ้าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่สอบตกเพราะเขียนหนังสือไม่เป็นตัว ต้องขยันหัดเขียนหนังสือให้มากขึ้นอีกหน่อย คณะกรรมการตรวจข้อสอบท่านเป็นพระผู้เฒ่า และถือคติว่า “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ” ใครเขียนหนังสือไม่สวยงาม อ่านยาก และตัวสะกดการันต์ไม่ค่อยจะถูก ท่านกรรมการ “ผู้เฒ่า” จะไม่ยอมลงตัว “ห.” ให้ในกระดาษคำตอบนั้น (อักษร ห. นั้นท่านแปลว่า “ให้” หมายถึงสอบผ่านวิชานั้นได้ครับ)
การตรวจข้อสอบให้คะแนนสมัยนั้น เขาไม่ตรวจความถูกผิดให้คะแนนกันเป็นข้อ ๆ แล้วรวมคะแนนเหมือนสมัยนี้หรอกครับ ท่านจะรวมตรวจกันในที่เดียว ตามที่เจ้าคณะจังหวัดกำหนดให้ คณะกรรมการตรวจข้อสอบจะได้มาจากครูสอนนักธรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสมภารวัดผู้มีอายุ ตั้งเป็นคณะๆละ ๓ องค์ ประธานคณะกรรมการ (มักจะเป็นเจ้าคณะจังหวัด) จะสั่งพระเจ้าหน้าที่เคล้าคละซองบรรจุข้อสอบในแต่ละวิชา แล้วแจกจ่ายให้คณะกรรมการตรวจข้อสอบประจำโต๊ะต่าง ๆ ที่ท่านจัดไว้ ให้กรรมการทั้ง ๓ องค์ที่ประจำโต๊ะนั้น ๆ ตรวจความเรียบร้อยของซองบรรจุข้อสอบ แล้วเซ็นชื่อรับรองก่อนเปิดซองนำกระดาษใบตอบปัญหาออกมาอ่านตรวจดูความถูกต้องดีงาม ข้อสอบทั้งหมดเป็นแบบ “อัตนัย” วิชาที่สอบมีทั้งหมด ๔ วิชา คือ
๑. เรียงความแก้กระทู้ธรรม เป็นการตั้งกระทู้โดยนำเอาพุทศาสนสุภาษิตมาให้เขียนเป็นบทเรียงความอธิบายความหมายของภาษิตนั้นเช่น อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ให้อธิบายว่า ตนคืออะไร ที่พึ่งคืออะไร และตนเป็นที่พึ่งของตนนั้นอย่างไร ๒. ธรรมะ ตั้งคำถามในวิชาธรรมวิภาค เป็นข้อ ๆ ให้ตอบและอธิบายความหมายของข้อธรรม รวม ๗ ข้อ ๓. พุทธประวัติ ตั้งคำถามเรื่องพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นข้อ ๆ ให้ตอบ รวม ๗ ข้อ ๔. วินัยบัญญัติ ตั้งคำถามเรื่องอาบัติของภิกษุเป็นข้อ ๆ ให้ตอบรวม ๗ ข้อ
ใบคำตอบทุกใบจะต้องผ่านมือกรรมการทั้ง ๓ องค์ แต่ละท่านจะอ่านความในกระดาษคำตอบนั้น ๆ ถ้าเห็นว่าลายมือไม่สวยงาม อ่านยาก เขียนผิดมาก บางท่านจะไม่ยอมอ่านจนจบให้เสียเวลา ท่านจะเอาดินสอ (หมึก) สีแดงเขียนวงกลมลงบนหัวกระดาษ เป็นการแสดงว่าท่านให้สอบตกไปเลย แต่กระดาษคำตอบใบนั้นยังจะต้องไปเข้ามือกรรมการอีก ๒ ท่าน บางท่านอาจจะวงกมสีแดง บางท่านอาจจะเขียนตัว ห. แสดงว่าท่านให้สอบผ่านได้ หัวกระดาษคำตอบวิชาใดมีวงกลมสีแดง ๒ วง วิชานั้นก็ถือว่าตก ถ้ามีวงกลมแดง ๑ วงกลม อักษรตัว ห. ๒ ตัวก็ถือว่าสอบผ่าน ใครสอบผ่านได้ ๓ วิชาไม่ผ่าน ๑ วิชาก็ถือว่าสอบตก ใครได้ ๓ ห.ทั้ง ๔ วิชาถือว่าเก่งมาก
วิชาที่พระเณรสอบตกมากที่สุดคือ เรียงความแก้กระทู้ธรรม ครับ
สอบปีแรกข้าพเจ้าได้ ๒ ห. ใน ๒ วิชา ได้ ๓ ห. ใน ๑ วิชา แต่ในวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม ได้ ๓ วงกลมแดง ก็คือไม่ได้เลยสัก ห.เดียว จึงสอบตกไปอย่างน่าเสียดาย
นี่เป็นเพราะเจ้าลายมือ ”ไก่เขี่ย” ของข้าพเจ้าแท้ ๆ
“เณรไหว” นักเรียนร่วมชั้น อายุน้อยกว่าข้าพเจ้า ๑ ปี เป็นคนทุ่งรางเนื้อตาย สอบนักธรรมชั้นตรีพร้อมกัน เพียงครั้งเดียวเขาก็สอบได้ เพราะเขียนหนังสือลายมือสวยงามมาก พอประกาศผลสอบว่าเขาสอบได้ ก็เบ่งทับ ดูถูกดูหมิ่นข้าพเจ้าอย่างน่าเกลียด อันที่จริงแล้วความรู้เณรไหวสู้ข้าพเจ้าไม่ได้ สวดมนต์ข้าพเจ้าก็สวดได้มากกว่า แบบเรียนข้าพเจ้าก็ท่องได้มากกว่า แพ้เขาเพียงอย่างเดียวคือลายมือที่เขาเขียนหนังสือได้สวยงามมากกว่าข้าพเจ้า แม้สอบตกข้าพเจ้าก็ไม่ท้อแท้หมดกำลังใจ เณรไหวกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้ามุมานะหัดเขียนหนังสือจนมีลายมือสวยงามได้ใกล้เคียงกับเขา หลวงพ่อแปลกให้เณรไหวย้ายไปเรียนนักธรรมชั้นโทในสำนักเรียนวัดบางซ้ายใน และให้ข้าพเจ้าย้ายไปเรียนซ้ำนักธรรมชั้นตรีซ้ำชั้นในสำนักเรียนวัดเดียวกับเณรไหวด้วย /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, ข้าวหอม, ฟองเมฆ, มนชิดา พานิช, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), My Little Sodium, กรกช, ฝาตุ่ม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 หลวงพ่อไวย์ อินทวังโส ขอบคุณเจ้าของรูปภาพนี้จาก Internet เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๕ – วัดบางซ้ายใน เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งทิศเหนือ กึ่งกลางของหมู่บ้าน คือทางทิศตะวันตกเป็นหมู่บ้านบางซ้าย ทิศตะวันออกเป็นหมู่บ้านเต่าเล่า ทั้งสองหมู่บ้านรวมกันแล้วมีบ้านไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ หลังคาเรือน ประชากรหลายหมื่นคนทีเดียว มีแม่น้ำที่แยกสายมาจากแม่น้ำท่าจีนตรงอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ไหลผ่านบ้านสุด ไผ่กองดิน บางซ้าย เต่าเล่า เจ้าเจ็ด บรรจบกับแม่น้ำน้อยที่บ้านแพน อำเภอเสนา แล้วออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอบางไทร เดิมวัดนี้อยู่ในเขตปกครองของอำเภอเสนา ภายหลังแยกออกเป็นกิ่งอำเภอบางซ้าย และเป็นอำเภอบางซ้ายในที่สุด
แน่นอนละ ในเมื่อตั้งอยู่กลางหมู่บ้านใหญ่ วัดนี้ก็ต้องเป็นวัดใหญ่ มีพระเณรมากสมฐานะของหมู่บ้านสองตำบล (บางซ้าย-เต่าเล่า) กุฏิของวัดนี้เป็นอาคารไม้เครื่องสับฝากระดานแบบบ้านทรงไทยสมัยอยุธยา ตั้งเรียงเป็นแถวยาว แถวละ ๙ หลัง มีสกัดด้านท้ายอีก ๔ หลัง ตรงกลางแถวกุฏิมีหอสวดมนต์หลังใหญ่ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีมุขแยกออกเป็นสี่มุข ศาลาการเปรียญอาคารไม้ทรงไทยบรรจุคนทำบุญได้เป็นหมื่นคนทีเดียว มีสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทอดยาวไปตามแถวกุฏิ (ด้านหน้า) เป็นรูปเกือกม้า และแยกไปศาลาการเปรียญ สิ้นสุดที่โคกโบสถ์ หน้าวัดมีศาลาท่าน้ำทรงไทย เหตุที่ต้องมีสะพานคอนกรีตถาวรก็เพราะว่าวัดนี้ตั้งอยู่ในทุ่งริมแม่น้ำ ในฤดูน้ำหลากท่วมทุ่ง น้ำจะท่วมพื้นที่ของวัดทั้งหมดเช่นเดียวกันกับบ้านเรือนสองฟากฝั่งแม่น้ำสายนี้ ไม่มีพื้นดินให้เดิน ต้องใช้เรือพายในการไปมาหาสู่กัน สะพานจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีใช้ภายในวัดทุกวัดของท้องทุ่งนี้
สมภารวัดบางซ้ายในสมัยที่ข้าพเจ้าไปอยู่นั้น ท่านเป็นพระมหาเปรียญศิษย์สำนักวัดสระเกศฯ กรุงเทพฯ บ้านเดิมท่านอยู่บ้านขนมจีน (ตอนใต้บ้านแพน) อำเภอเสนา ท่านสอบเปรียญธรรมได้ ๖ ประโยคและไม่ประสงค์จะเรียนต่อ จึงกลับไปอยู่วัดบ้านเดิมของท่าน ทางคณะสงฆ์ขอร้องให้ท่านไปเป็นสมภารวัดบางซ้ายใน และเปิดสำนักเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลีด้วย ท่านจึงไปตามความต้องการของคณะสงฆ์ สมภารวัดบางซ้ายในองค์ก่อนหน้านี้ทราบว่าท่านเป็นพระมหาเปรียญธรรม ๖ ประโยคเช่นกัน ชื่อพระมหาเที่ยง สุทธิญาโณ นัยว่าไปจากสำนักวัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพฯ ยังไม่ทันได้จัดการเรื่องการศึกษาพระปริยัติธรรมให้เข้าที่เข้าทางได้ตามต้องการ ท่านก็ตัดสินใจลาสิกขาออกไป สมัครเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารบกเสียในที่สุด สมัยนั้นพระมหาเปรียญในภูมิภาคหาได้ยากมาก พระภิกษุที่เป็นเปรียญหรือที่เรียกว่า “พระมหา” ในอำเภอเสนาและกิ่งอำเภอบางซ้ายสมัยนั้นดูเหมือนจะเพียง ๓ องค์ คือ พระมหาเทพ หรือ ท่านเจ้าคุณพระเขมเทพาจารย์ วัดหัวเวียงเจ้าคณะอำเภอเสนา พระมหาสังวาลย์ หรือ พระครูวิบูลย์ธรรมานุศาสน์ วัดกระโดงทอง และ พระมหาไวย์ อินทวังโส วัดบางซ้ายใน (ซึ่งต่อมาคือ พระครูอดุลย์วรวิทย์ เจ้าคณะอำเภอบางซ้าย และเลื่อนเป็นพระอดุลธรรมเวที เจ้าอาวาสวัดบรมวงศ์ฯ เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ที่ทั้งพระและเณรในวัดบางซ้ายในเรียกท่านด้วยความเคารพว่า “หลวงพ่อไวย์” ส่วนเจ้าคณะกิ่งอำเภอบางซ้ายสมัยนั้นก็ไม่ได้เป็นพระมหาเปรียญ ท่านเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า หลวงพ่อพระครูยิ้ม (พระครูพรหมวิหารคุณ) เจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ดใน อำเภอเสนา ซึ่งเป็นพระเถระผู้เฒ่าที่มีจริยาวัตรงดงามน่าเคารพกราบไหว้เป็นอย่างยิ่ง
หลวงพ่อไวย์ เป็นคนสุภาพ นุ่มนวล อ่อนโยน เรียกพระหนุ่มและเณรในวัดของท่านว่า “ลูก” ทุกองค์ เป็นพระนักเทศน์มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้ใครในภูมิภาค มีพระนักเทศน์ในตัวเมืองอยุธยา อ่างทอง และกรุงเทพฯ ไปมาหาสู่มิได้ขาด
สามเณรวัดบางซ้ายในรุ่นข้าพเจ้ามีไม่น้อยกว่า ๒๐ องค์ เพราะหลวงพ่อไวย์มีโครงการจัดการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลี จึงรับสามเณรเข้าสำนักไว้มาก พระหลวงตาในวัดนี้ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ส่วนพระหนุ่มนั้นจะมีมากเฉพาะในช่วงเวลาเข้าพรรษา โดยมีลูกหลานชาวบ้านในตำบลบางซ้าย-เต่าเล่าบวชเอาพรรษา เมื่อออกพรรษารับกฐินแล้วส่วนใหญ่ก็จะลาสิกขาไปทำนาตามวิถีชีวิตเกษตรกร ที่จะอยู่ศึกษาเล่าเรียนต่อนั้นมีเป็นส่วนน้อย
นอกจากเลี้ยงเณรไว้มากแล้ว หลวงพ่อไวย์ยังเลี้ยงหมา (สุนัข) ไว้มากพอ ๆ กับเณรเลยทีเดียว หมาวัดนี้ส่วนใหญ่เป็น “หมาขี้เรื้อน” เสียด้วย หมาขี้เรื้อนกับเณรไม่ค่อยจะถูกกันนัก เพราะหมามันทำท่าหยิ่งยามอยู่ต่อหน้าหลวงพ่อ ยามเมื่อหลวงพ่อไม่อยู่วัดรับนิมนต์ไปเทศน์หรือไปไหน ๆ พวกเณรจะพากันไล่เตะ-ตีหมาเป็นประจำ ก็จะไม่ให้ไล่เตะไล่ตีเจ้าพวกขี้เรื้อนนั่นอย่างไรเล่า เพราะนอกจากมันทำท่าหยิ่งยามอยู่ต่อหน้าหลวงพ่อแล้ว มันยังขี้บนสะพานตามหน้ากุฏิและหอสวดมนต์ พวกเณรต้องล้างขี้หมาทำความสะอาดไม่เว้นแต่ละวัน พวกเราก็เกลียดมันน่ะซี
มีอยู่คืนวันหนึ่ง เป็นคืนข้างแรมเดือนสิบสองน้ำยังนองเต็มทุ่งบางซ้าย อากาศค่อนข้างหนาวเย็นด้วยลมเหนือเริ่มโบกโบยมา หมาขี้เรื้อนตัวหนึ่งกำลังเบ่งขี้ตัวโก่งอยู่บนสะพานทางเดินไปศาลาการเปรียญ ข้าพเจ้าเดินขึ้นมาจากโคกโบสถ์พบเห็นเข้าพอดี ก็เลยเตะมันตกลงไปในน้ำ แล้วรีบเดินเข้ากุฏิไปนอนฟังมันว่ายน้ำป๋อมแป๋มส่งเสียงครางหงิง ๆ ด้วยความสะใจ สักครู่หนึ่ง ได้ยินเสียงคนพาเรือไปที่หมาขี้เรื้อนซึ่งกำลังร้องหงิง ๆ นั้น ข้าพเจ้าแง้มหน้าต่างดูในความมืดสลัว เห็นหลวงพ่อไวย์อุ้มหมาขี้เรื้อนขึ้นจากน้ำพร้อมกับพูดว่า “โถ...หนาวแย่เลยนะลูก ไอ้หน้าผีตัวไหนมันทำลูกตกน้ำนะ ชิงผีเปรตมาเกิดแท้ ๆ...!” เห็นการกระทำและได้ยินคำพูดของหลวงพ่อ แล้วสะอึก ตั้งแต่วันนั้นมาข้าพเจ้าไม่รังแกหมาขี้เรื้อนและหมาทั่ว ๆ ไปอีกเลย/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๔มีนาคม ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 ขอบคุณรูปภาพนี้จาก Internet เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๖ – หลวงพ่อไวย์เป็นคนรักหมาที่หาคนเทียบเทียมได้ยากมาก พวกข้าพเจ้าคิดเข้าใจกันเอาเองว่า ระหว่างหมากับเณรลูกศิษย์นั้น หลวงพ่อจะต้องรักหมามากกว่าเป็นแน่แท้เทียว
“อีตูบ” หมาไทย เพศเมีย หางชี้ สีแดง ขนเกรียน ตำราไทยเขาว่า หมาไทยแท้ต้องมีลักษณะเด่นชัด คือ “หูตั้ง หางชี้ สีเดียว” อีตูบ ผิดลักษณะหมาไทยตรงที่หูมันไม่ตั้งเท่านั้นเอง มันเป็นหมาที่ฉลาดมาก และเป็นหมาตัวเดียวในวัดนี้ที่ไม่เป็นขี้เรื้อน และมันก็เป็นหมาตัวเดียวที่พวกข้าพเจ้าไม่เกลียด ไม่รังแกมันทั้งต่อหน้าและลับหลังหลวงพ่อ ใครจะไปเกลียดมันลงคอเล่าครับ อีตูบมันประจบประแจงเป็นที่หนึ่ง ยามหลวงพ่ออยู่มันก็จะทำหยิ่งแต่พองาม ยามหลวงพ่อไม่อยู่มันจะทำตัวอ่อนน้อมสงบเสงี่ยมน่ารัก ความดีของอีตูบประการหนึ่งที่พวกข้าพเจ้าชื่นชอบมาก คือมันเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ให้พวกข้าพเจ้าเป็นอย่างดียิ่ง เพราะว่าหลวงพ่อไวย์เอากระดิ่งผูกห้อยคอมันไว้ลูกหนึ่ง เวลาหลวงพ่อเดินไปไหนมาไหน หรือ ตรวจการภายในวัด อีตูบจะวิ่งนำหน้าบ้างตามหลังบ้าง เขย่ากระดิ่งที่คอมันเสียงดังกริ๊ง ๆ ตลอดทาง
ถ้าหลวงพ่ออยู่วัด ตอนกลางคืนท่านจะเดินตรวจตราตามกุฏิทั้งวัด เพื่อจะดูว่าลูกศิษย์ของท่านองค์ใดขยันท่องหนังสือ องค์ใดขยันพูดคุย องค์ไหนขยันเล่นและนอน เมื่อรู้แล้วก็จะนำไปพูดยกย่องชมเชยและตำหนิติเตียนในที่ประชุมตามโอกาสอันควร หลวงพ่อมักจะจับผิดลูกศิษย์ของท่านไม่ได้ เพราะในขณะที่พวกข้าพเจ้านั่ง-นอนคุย เล่นกันเพลิน ๆ อยู่นั้น พอได้ยินเสียงกระดิ่งกริ๊ง ๆ จากคออีตูบก็รู้ทันทีว่าหลวงพ่อมาแล้ว ก็จะรีบแยกตัว ส่งเสียงท่องหนังสือกันแจ้ว ๆ ต้อนรับการเดินตรวจการของหลวงพ่อทุกครั้งเลย
หมาดีอายุมักสั้น เหมือนคนดีอายุมักไม่ยืนนั่นแหละครับ
อีตูบครองชีวิตความเป็นหมาสาวของมันอยู่ได้ ๒ ปีเศษ มันไม่เคยตั้งท้อง ไม่เคยมีลูก ไม่เคยเห็นมัน “ติดสัด” ช่วงเวลานั้นหลวงพ่อไวย์ไม่อยู่วัดเสียหลายวัน อีตูบมีอาการเซื่องซึม ข้าวปลาอาหารไม่ยอมกิน นอนตาปริบ ๆ ทั้งวันทั้งคืนอยู่หน้ากุฏิของข้าพเจ้า (ซึ่งติดกับกุฏิหลวงพ่อไวย์) ไม่มีใครรู้ว่ามันเป็นอะไรไป หลวงพ่อกลับจากภารกิจนิมนต์ในต่างถิ่น พอเข้านั่งข้างประตูห้องหน้ากุฏิอันเป็นที่นั่งประจำแล้ว แขกฆราวาสสองคนคือ ปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอบางซ้ายกับผู้กอง นายสิบและพลฯตำรวจอีก ๓ คนที่มารอพบอยู่ ก็เข้ากราบนมัสการ ขณะที่คณะแขกนั่งสนทนากับหลวงพ่ออยู่นั้น อีตูบรู้ว่าหลวงพ่อกลับมาแล้วมันดีใจมาก รีบวิ่งจากหน้ากุฏิข้าพเจ้าเข้าหาหลวงพ่อ แต่โยมปลิว หนึ่งในกรรมการวัดจับตัวห้ามไว้ มันร้องดิ้นรนจะเข้าหาหลวงพ่อให้ได้ หลวงพ่อเห็นเช่นนั้นก็บอกโยมปลิวให้ปล่อยมัน ครั้นโยมปลิวปล่อยตัวแล้ว แทนที่มันจะรีบวิ่งเข้าหาหลวงพ่อ มันกลับคลานช้า ๆ เข้าไป พอเข้าถึงตัวหลวงพ่อก็เอาคางของมันเกยตักหลวงพ่อแล้วนอนหลับตานิ่ง หลวงพ่อเอามือลูบหัวมันด้วยความเมตตา
อีตูบนอนนิ่ง และนอนหลับตลอดชีวิตของมัน หลวงพ่อน้ำตาไหลพรากเมื่อรู้ว่าอีตูบสิ้นใจตายเสียแล้ว!
แขกคนสำคัญของหลวงพ่อ และใคร ๆ ที่อยู่ใกล้ได้พบเห็นเหตุการณ์นั้นต่างเงียบงัน บางคนน้ำตาซึม พากันคลานออกจากกุฏิหลวงพ่อทีละคนจนหมด
พวกข้าพเจ้าได้สตางค์จากศพอีตูบคนละหลายบาท เพราะหลวงพ่อไวย์จัดการศพอีตูบเหมือนจัดการศพคน ผิดกันเพียงตรงที่หลวงพ่อให้นิมนต์เณรทั้งวัดสวดศพอีตูบ.
“หมากรุกไทยในวัด”
ดูเหมือนจะเป็นความจริงที่ว่า “วัดไหนไม่มีหมากรุกวัดนั้นเงียบเหงา” โบราณไทยท่านว่า “หมากรุกหัวแตก หมากแยกควายหาย” หมายความได้ว่า คนเล่นหมากรุกมักจะเกิดการทะเลาะวิวาทชกต่อยและตีกันจนหัวแตกก็ได้ หมายความว่า คนเล่นหมากรุกจะทำให้ความคิดแตกแยกหรือแตกฉาน ปัญญาเฉลียวฉลาด ไม่โง่เหมือนควายก็ได้ ส่วนคนเล่นหมากแยกนั้นถ้าเล่นในยามเลี้ยงควาย ควายมักจะหายเพราะเล่นเพลินจนลืมดูแลควายก็ได้ มีคำเป็นปรัชญาในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายเซ็นกล่าวว่า “มีหมากรุกควรเดินบ้าง เพื่อจางในศาสตราการฆ่าฟัน” คำนี้ช่างให้ความหมายได้ลึกซึ้งดีแท้ วัดในเมืองไทยส่วนมากจะมีหมากรุกไทย และพระเณรกับเด็กวัดส่วนมากก็จะเล่นหมากรุกเป็น วัดบางซ้ายในของข้าพเจ้าก็มีหมากรุกไทย หลวงตาหลายองค์เป็นเจ้าของกระดานหมากรุก แม้หลวงพ่อจะห้ามเล่นหมากรุก พวกข้าพเจ้าก็แอบเล่นกันเป็นประจำ ดูเหมือนว่าหลวงพ่อท่านจะห้ามเฉพาะพระหนุ่มและเณรน้อยใหญ่ไม่ให้เล่นหมากรุก ส่วนพระหลวงตานั้นท่านไม่ได้ห้าม อาจจะเป็นเพราะว่าท่านเห็นใจพระหลวงตา จึงเปิดช่องให้เล่นหมากรุกแก้เหงาได้บ้าง (ข้าพเจ้ามารู้ภายหลังว่าหลวงพ่อไวย์เป็นนักเล่นหมากรุกมีฝีมือระดับต้น ๆ ของวัดสระเกศ) พวกข้าพเจ้าไม่โง่พอที่จะเล่นหมากรุกกันลำพังพระหนุ่มและเณร ทุกครั้งที่เล่นจะต้องมีหลวงตาเจ้าของกระดานนั่ง “หน้าแป้น” เป็นเครื่องเกรงใจหลวงพ่อไวย์อยู่ด้วย และพระเณรประเภท “ลูกคุณช่างฟ้อง” ก็ไม่มี พวกข้าพเจ้าจึงแอบเล่นหมากรุกกันอย่างสบายใจเฉิบ
พูดแล้วอย่าหาว่าคุย ข้าพเจ้าเป็นนักเล่นหมากรุกมีฝีมือระดับแนวหน้าคนหนึ่งของวัด เพราะเล่นมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กวัดแล้ว พระหลวงตาที่เล่นเก่ง ๆ น่ะข้าพเจ้าไม่กลัวหรอกครับ เณรหนุ่มอย่างข้าพเจ้าเล่นหมากรุกแพ้หลวงตาก็ผิดไปละ
การเล่นหมากรุกจะให้สนุกก็ต้องมีการ “โกง” กันบ้าง พระหลวงตาทั้งหลายถูกข้าพเจ้าหลอกล่อ ยกเรือข้ามเบี้ยซะบ้าง เดินม้าตาโป่ง รุกฆาตซะบ้าง เดินโคนแบบขุนซะบ้าง เดินเบี้ยคว่ำแบบเบี้ยหงายซะบ้าง แอบเพิ่มเบี้ยเข้ามาซะบ้าง พอหลวงตาจับได้ก็ยกมือไหว้กล่าวคำขอโทษ ท่านก็ไม่ถือสาหาความอะไร หลวงตามักจะเงอะงะงุ่มง่าม ดูหมากไม่ทั่วกระดาน ถูกข้าพเจ้าเล่นโกง ๆ ให้ท่านพ่ายแพ้มาเสียนักต่อนักแล้วครับ
มีโยมวัดคนหนึ่งแก่ชื่อตาฉาว ชอบใช้เวลาว่างเข้าวัดเล่นหมากรุกกับพระเณร เดิมทีนั้นแกเล่นหมากรุกเก่งพอสมควร แต่ความชราทำให้นัยน์ตาฝ้ามัว การตัดสินใจเชื่องช้า ดูหมากไม่ทั่วกระดาน จึงกลายเป็น “คู่ซ้อม” คนหนึ่งของข้าพเจ้า และแกก็ชอบเล่นกับข้าพเจ้าเสียด้วย เพราะข้าพเจ้าเล่นกับแกแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เอาชนะแกไม่มากนัก ชนะอย่างหวุดหวิดบ้าง เสมอบ้าง แพ้แกอย่างหวุดหวิดบ้างแกก็เลยชอบใจ
วันหนึ่ง โยมฉาวนั่งเล่นหมากรุกกับข้าพเจ้าตามปกติ หลังจากแพ้ข้าพเจ้าไปหลายกระดานแล้ว เณรแถม ซึ่งเป็นเณรมีอายุรุ่นเดียวกับข้าพเจ้าก็เข้าร่วมวงด้วย เขาช่วยโยมฉาวเล่นรุมข้าพเจ้า เณรแถมมีฝีมืออยู่ในขั้น “อ่อนหัด” มือไวใจเร็ว พอเข้านั่งข้างโยมฉาวก็จับตัวโน้นเดินตัวนี้วุ่นวายไปหมด โยมฉาวห้ามไม่ค่อยทัน บางครั้งโยมฉาวจับตัวหมากได้ยังไม่ทันวางลงในตาที่จะเดิน เขาก็คว้าข้อมือไว้ร้องห้าม “อย่าเพิ่งวาง ต้องวางตานี้” โยมฉาวก็ต้องวางตามใจ
เล่นกันถึงกระดานหนึ่งนั้น หมากข้าพเจ้าเป็นรองจวนเจียนจะแพ้อยู่แล้ว เพราะถูกเณรแถมกับโยมฉาวกินเสียเกือบจะหมดตัว บังเอิญขุนของฝ่ายโยมฉาวตั้งอยู่ในตาอับ ถ้าข้าพเจ้ารุกด้วยม้าก็จะจนทันที แต่ม้าข้าพเจ้ารุกไม่ได้ เพราะมีโคนของเขายืนกันท่าอยู่ ข้าพเจ้าจึงใช้วิธีหลอกล่อ เอาเรือไปวางให้โคนขยับกินฟรี ถ้าเขาขยับโคนมากินเรือข้าพเจ้า ม้าก็จะรุกได้ทันที แผนตกเบ็ดหรือแผนล่อเหยื่อของข้าพเจ้าได้ผล พอวางเรือปุ๊บ เณรแถมก็รีบคว้าโคนกินเรือปั๊บ โยมฉาวเห็นอยู่แล้วแต่ห้ามเณรแถมไม่ทัน จะขอเดินใหม่ก็ไม่ได้ เพราะเรามีกติกา “จับตัววางตาย” ในการเล่น โยมฉาวโมโหเณรแถมมาก ยกมือเกาหัวแกรก ๆ พร้อมปล่อยคำผรุสวาท (คำหยาบ) ออกมาดัง ๆ ว่า
“ แหม...ไอ้เณรนี่มัน เซ่อ โง่ บ้า ฉิบผายเลย หมากเราชนะอยู่แท้ ๆ”
จึงเป็นอันว่าวันนั้นเราเล่นกันได้แค่นั้น โยมฉาวรู้ตัวว่าเผลอด่าเณรจนกลายเป็นการทำบาปแบบไม่รู้ตัวไปแล้ว ก็รีบลากลับบ้านด้วยความละอาย คำด่าของโยมฉาวที่ว่า “เซ่อ โง่ บ้า ชิบผาย” กลายเป็นคำด่าฮิตติดปากพระเณรในวัดบางซ้ายในไปนานวันทีเดียวครับ./
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 ขอบคุณรูปภาพนี้จาก Internet เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๗ - หลวงตาองค์หนึ่งชื่อ “เบี้ยว” เป็นพระผู้เฒ่าที่มีอายุพรรษาสูงที่สุดในวัดบางซ้ายใน อายุท่านอยู่ในรุ่นเดียวกับหลวงตาโต หลวงตาเปลี่ยน หลวงตาพัน แต่พรรษาท่านแก่กว่า เพราะบวชตั้งแต่เป็นหนุ่มอายุครบบวชไม่เคยสึก เหตุที่ท่านบวชไม่สึกเห็นจะเป็นเพราะว่าท่านเป็นคนพิการ มีแขนข้างซ้ายคดงอหรือที่เรียกกันว่า “แขนคอก” ซึ่งเป็นมาแต่เกิดแล้ว ส่วนหลวงตาองค์อื่น ๆ บวชตอนมีเมียมีลูกมีหลานแล้ว อาวุโสทางพระวินัยจึงมีน้อยกว่าหลวงตาเบี้ยว ในบรรดาพระหลวงตานั้น หลวงตาเบี้ยวมีฝีมือการเล่นหมากรุกเก่งกว่าเพื่อน พวกเรายอมยกให้ท่านเป็น “แชมป์ ”หมากรุกในวัดนี้ ข้าพเจ้ากับเพื่อนมักจะขอ “ต่อแต้ม” กับท่านบ่อย ๆ
“ต่อแต้ม” เป็นภาษาในวงการเล่นหมากรุก เห็นทีว่าจะมาจากการที่ผู้มีฝีมืออ่อนกว่าไปขอเล่นกับคนที่มีฝีมือสูงกว่า โดยขอให้คนที่เก่งกว่านั้นลดจำนวนหมากให้ เช่น ขอให้ตะแคงเรือ คือให้ใช้เรือเดินแบบเบี้ยหงาย ๑ ลำบ้าง ๒ ลำบ้าง ให้ลดเรือขาด คือให้ยกเรือออกเสีย ๑ ลำ ให้เหลือเพียงลำเดียวบ้าง ลดเรือขาด ๒ ลำบ้า ง ดูตามความเก่งของท่านผู้นั้น
“หมากรุกสู้ครู” คำกล่าวนี้ไม่ผิดหรอกครับ คนที่เล่นหมากรุกเก่ง ๆ ถ้าเล่นกับคนฝีมืออ่อนกว่าบ่อย ๆ แล้วความเก่งของผู้นั้นมักจะถอยน้อยลง ผู้มีฝีมืออ่อนกว่าก็มักจะเก่งกล้าขึ้นจนสามารถเอาชนะผู้เก่งกว่านั้นได้ เหมือนคำปรัชญาของจีนที่ว่า “คลื่นลูกหลังทยอยทับคลื่นลูกหน้า” ข้าพเจ้าเล่นหมากรุกกับหลวงตาเบี้ยว แรก ๆ ก็ขอให้ท่านลดเรือให้ ๑ ลำ พอสามารถเอาชนะท่านได้บ่อย ๆ ก็ให้เอาเรือที่ลดนั้นมาลงเป็นเบี้ยหงาย ครั้นชนะท่านได้อีก จึงให้ท่านใช้เรือ ๒ ลำ เต็มอัตราศึก แสดงให้เห็นว่าฝีมือข้าพเจ้า “สู้ครู” ได้แล้ว
ข้าพเจ้าชอบเล่นหมากรุกกับหลวงตาเบี้ยว เพราะได้เรียนรู้แต้มเด็ด ๆ จากท่านหลายอย่าง และที่สำคัญคือ เดินหมากโกงท่านได้ง่าย ก็คนแก่นี่ หลอกง่ายออกจะตายไปครับ
คืนนั้น ข้าพเจ้ากับเณรเชียรซึ่งก็เป็นนักเล่นหมากรุกฝีมือฉกาจในรุ่นหนุ่มด้วยกันทั้งคู่ ได้ร่วมมือกัน “รังแกคนแก่” โดยท้าหลวงตาเบี้ยวเล่นหมากรุกแบบเต็มกระดาน ไม่มีการลดแต้มต่อแต้มแต่ประการใด ท่านมีเลือดนักสู้อยู่เต็มตัวจึงรับคำท้าอย่างไม่ลังเล พวกข้าพเจ้าเริ่มเล่นกันตั้งแต่เวลาประมาณ ๑ ทุ่ม ผลัดกันแพ้-ชนะเป็นไปอย่างสูสี ตอนแรก ๆ มีพระเณรนั่งล้อมวงดูกันเยอะ ส่งเสียงเชียร์และแย่งกันเดินหมากอย่างสนุกสนานเฮฮา ส่วนมากจะช่วยฝ่ายข้าพเจ้าโกงหลวงตาเบี้ยว พอตกเวลาดึกพระเณรที่ช่วยโกงหลวงตาคงจะง่วงนอนจนหมดสนุก จึงพากันหายไปทีละองค์สององค์ จนที่สุดเหลือแต่เพียงหลวงตาเบี้ยวกับเณรเชียรและข้าพเจ้า ๓ องค์เท่านั้น
ยิ่งเวลาดึกมากหลวงตาเบี้ยวก็ยิ่งเล่นหมากแพ้มากขึ้น เพราะนัยน์ตาท่านเริ่มพร่ามั วอาจจะเป็นด้วยใช้สายตามากเกินไป และ ยังมีควันบุหรี่ที่ทั้งหลวงตาและพวกข้าพเจ้าสูบพ่นควันกันโขมง รอบ ๆ ตัวและบนกระดานหมากรุกเต็มไปด้วยขี้เถ้าบุหรี่ ส่งกลิ่นเหม็นอบอวล ทำให้แสบตา หลวงตาเบี้ยวเป็นคนที่มีทิฐิมานะแรงกล้ามาก ยิ่งแพ้ท่านก็ยิ่งสู้ไม่ยอมเลิกรา คงจะคิดว่า “ยอมแพ้ก็อายเด็กมัน” กระมัง ถ้าจะเปรียบเป็นนักมวย ตอนดึกมากนี่ท่านก็เหมือนแชมป์ขึ้นคานที่กลายเป็น “กระสอบทราย” ให้พวกข้าพเจ้าถลุงเล่นกันอย่างสนุกมือนั่นแหละครับ พวกเราเล่นกันเพลิดเพลินจนยามวิกาลผ่านพ้นไปอย่างไม่รู้ตัว หลวงตาเดินม้าไปวางตาริมกระดาน ข้าพเจ้าก็ยกเรือไปกดม้าหมายจะกินฟรี เณรเชียรหัวเราะชอบใจพร้อมพูดเย้าหยอก
“ไอ้ม้าแก่ตัวนี้กลายเป็นหมูไปแล้วหลวงตา”
หลวงตาเบี้ยวหยิบเรือลำเดียวของท่านที่ยังเหลืออยู่ไปกดหลังม้าของท่าน (เป็นการผูกม้า) แล้วหัวเราะตอบด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่อง
“นี่แน่ะหมู ถึงเป็นหมูก็หมูเขี้ยวตันโว้ยไอ้เณร”
ข้าพเจ้าได้ทีชักเบี้ยหงายกลับมาแยงไล่ม้าหลวงตาทันที
“เขี้ยวตันรึเขี้ยวกลวงก็รู้กันทีนี้แหละหลวงตา”
โดนเข้าตานี้หลวงตาเบี้ยวถึงกับผวาจับม้ายกขึ้นแล้วนั่งอึ้งไม่ยอมวาง
“วางตรงไหน วางตรงไหนหลวงตา อย่าเดินตาโป่งนะ ตายแหงแก๋”
เณรเชียรกล่าวสำทับพร้อมหัวเราะเสียงร่วน หลวงตาเบี้ยวค่อย ๆ วางม้าลงในตาเดิม เห็นแล้วว่ายกหนีเบี้ยหงายของข้าพเจ้าไม่ได้ ถ้ายกหนีไปเสีย เรือที่กดหลังม้าไว้ก็จะขาดลอย ต้องถูกข้าพเจ้าใช้เรือกินฟรี
“อ้าว...ไม่ไปแฮะ ม้าสปริงโว้ย ไหนล่ะว่าเป็นหมูเขี้ยวตัน เฮอะ ๆ! มันไม่ใช่หมูเขี้ยวตันอะไรหรอกโว้ยเต็ม กลายเป็นหะมาไปซะแล้ว”
เณรเชียรหยอกเย้าด้วยความคะนองปาก หลวงตาเบี้ยวมองหน้าเณรเชียรด้วยความเคียดแค้นตาขวางเชียว ในขณะที่หลวงตากำลังตัดสินใจว่าจะเดินตัวไหนดีนั้น
“หลวงตาไปกันเถอะ เขาไปกันหมดแล้ว”
ไอ้วัน ศิษย์รักของหลวงตาเบี้ยวมาสะกิดเตือน
“ไปเหร่อ ไปได้ยังไงวะ ก็เรือมันลอยมึงไม่เห็นเรอะ?”
หลวงตาเบี้ยวถามงง ๆ เหมือนคนละเมอ
“อ้าว ! ก็ไปบิณฑบาตกันซีครับ ผมจัดเรือรอคอยอยู่นานแล้ว”
“อ้อ งั้นเหร่อ...ฝากไว้ก่อนเถอะวะไอ้เณร”
หลวงตาเบี้ยวลุกขึ้นเดินโซเซห่มจีวรโดยไม่มีการล้างหน้าล้างตารีบลงเรือออกบิณฑบาตทันที ข้าพเจ้ากับเณรเชียรก็ล้างหน้าแปรงฟันห่มจีวรลงเรือออกบิณฑบาตเหมือนกัน
การออกบิณฑบาตของพระเณรในวัดสองฟากฝั่งแม่น้ำนั้นไม่ต้องอุ้มบาตรเดินเหมือน “พระเดินหน” เพราะการคมนาคมในย่านนั้นเขาใช้เรือเป็นพาหนะ เรือที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเรือพาย เรือแจว และเรือยนต์ พระเณรบิณฑบาตก็ต้องใช้เรือพาย เรือพายของพระเณรมีนั้น ๓ ลักษณะ คือเรือแบบสำปั้นเล็ก ๑ เรือรูปแบบผสมเรือมาดและพายม้าไม่มีชื่อเรียก เรือลักษณะนี้ชาวบ้านจะไม่ใช้ เพราะถือว่าเป็นเรือสำหรับวัดที่พระเณรและเด็กวัดเรียกกันว่า “เรือยาว” ๑ และเรือบดขนาดใหญ่และเล็ก ๑ เรือแบบสำปั้นและเรือบดนั้นจะตั้งวางบาตรและถ้วยโอสำหรับใส่อาหารคาวหวานไว้ข้างหน้า พระหรือเณรนั่งกลางลำ มีพระอาวุโสน้อยหรือเณร-เด็กนั่งพายท้าย ส่วนเรือยาวนั้นจะมีเด็กนั่งพายตอนหัว ๑-๒ คน แล้วตั้งบาตร ๑-๓ ลูกไว้หน้าพระ ๑ องค์กลางลำเรือ มีถ้วยโอสำหรับใส่อาหารคาวหวานวางเรียงไว้เป็นกลุ่ม และมีพระอาวุโสน้อยหรือเณร-เด็กนั่งพายท้าย
คนใส่บาตรจะนั่งคอยพระอยู่บนหัวสะพานหน้าบ้านของตน บางบ้านที่ใส่บาตรประจำ (เป็นขาประจำว่างั้นก็ได้) แม้คนจะไม่ลงมาคอยที่หัวสะพาน พระเณรก็มักจะจอดเรือคอยจนกว่าจะมีคนถือขันข้าวลงมาใส่บาตร หรือไม่ก็มีคนลงมาบอกว่า “วันนี้ใส่บาตรไม่ทันแล้ว” จึงจะพายเรือเลยไป
การรับบิณฑบาตและใส่บาตร (หรือตักบาตร) นั้น ผู้ใส่บาตรจะตักข้าวจากขันใส่ลงในบาตรที่ตั้งไว้ข้างหน้าพระในเรือ ถ้าหัวสะพานอยู่สูงเกินที่คนจะก้มลงใส่บาตรได้ พระท่านก็จะใช้ฝาบาตรยื่นขึ้นไปรับข้าวจากคนใส่แล้วเทใส่บาตรอีกทีหนึ่ง หรือไม่ก็ยกบาตรขึ้นรับข้าว เรือบิณฑบาตของพระเณรจะพายเรียงตามลำดับอาวุโสของผู้บวชก่อน-หลัง โดยถือเอาองค์ที่นั่งเป็นประธานในเรือเป็นสำคัญ ไม่มีการรับบิณฑบาตตัดหน้ากันหรือข้ามอาวุโสเป็นอันขาด
วัดบางซ้ายใน เป็นวัดใหญ่ มีพระเณรมาก เรือบิณฑบาตแบ่งเป็น ๒ สาย คือสาย (ตำบล) เต่าเล่าทางทิศตะวันออกสายหนึ่ง สาย (ตำบล) บางซ้าย ทางทิศตะวันตกสายหนึ่ง ในแต่ละสายมีเรือไม่น้อยกว่าสายละ ๑๐ ลำ พายสลับรับบิณฑบาตทั้งสองฝั่งลำน้ำ พระที่มีอาวุโสสูงย่อมได้เปรียบในการรับบิณฑบาต เพราะคนใส่บาตรมักจะมีกับข้าวและของหวานใส่บาตรน้อยกว่าข้าวสุก เรือพระลำหน้า ๆ จึงได้อาหารคาวหวานก่อนเรือลำหลั งๆ ส่วนผู้มีอาวุโสน้อยพายเรืออยู่ข้างหลังมักจะได้ข้าวและกับข้าวเล็กน้อย บางองค์ได้เพียงข้าวสุกเท่านั้น จึงมีคำเล่ากล่าวกันว่า “ข้างหน้ามั่งคั่ง ข้างหลังกินค.....” นั่นแหละครับ
คืนที่หลวงตาเบี้ยวกับข้าพเจ้าเล่นหมากรุกโต้รุ่งกันนั้น ปรากฏว่า บ้านหลังแรกที่พระในสายของข้าพเจ้าไปรับบิณฑบาต (สายบางซ้าย) เป็นบ้านของโยมสม ผู้มีอันจะกินซึ่งเป็นขาประจำ พระเณรต้องไปจอดเรือคอยทุกวัน พวกเราไปจอดเรือเรียงคอยกันอยู่ตามเคย หลวงตาเบี้ยวเป็นผู้อาวุโสสูงสุดของพระสายนี้จึงจอดเรือสำปั้นเล็กของท่านรอคอยอยู่ที่หัวสะพานเลยทีเดียว วันนั้นคนในบ้านโยมสมตื่นสายผิดปกติ หลวงตาเบี้ยวจอดเรือรอคอยนั่งหลับตานิ่งเหมือนเข้าฌาน ไอ้วันจับเสาสะพานไว้ไม่ให้เรือลอยออกห่างหัวสะพาน คุณระเบียบสาวรุ่นวัยขบเผาะ หลานสาวโยมสมถือขันข้าวลงมาที่หัวสะพานใส่บาตรแทนโยมสม เธอยกขันข้าวขึ้นจบเหนือหัวตามประเพณี ตักข้าวจะใส่บาตร หลวงตาเบี้ยวนั่งนิ่งไม่เปิดฝาบาตรสักที จนคุณระเบียบต้องร้องเตือน
“เปิดซี่หลวงตา”
“เปิดไม่ได้โว้ย เรือลอย” หลวงตานั่งหลับตาตอบ
ไอ้วันเห็นท่าไม่ดีจึงเอาพายกระแทกพื้นเรือกระตุ้นเตือนให้หลวงตารู้สึกตัว หลวงตาเบี้ยวรู้สึกตัว ได้สติแล้วเปิดฝาบาตรช้า ๆ ให้คุณระเบียบใส่บาตรด้วยอาการเขิน ๆ ฝ่ายคุณระเบียบก็ใส่บาตร ๓ ทัพพีด้วยอาการงวยงง เพราะไม่รู้เบื้องหลังของคำว่า “เปิดไม่ได้โว้ย เรือลอย” ที่หลวงตาโพล่งออกมา
คำพูดของหลวงตาเบี้ยวที่ว่า “เปิดไม่ได้ เรือลอยโว้ย” นั้น กลายเป็นเรื่องขำขันในวงสนทนาของพระเณรและญาติโยมเป็นเวลานานวันทีเดียว หลวงตาเบี้ยวได้เปิดเผยถึงที่มาของคำพูดนั้นว่า เช้าวันนั้นท่านง่วงมาก เพราะไม่ได้นอนทั้งคื น ขณะจอดเรือรอรับบิณฑบาต ท่านก็นั่งหลับและฝันไปว่าเล่นหมากรุกกับเณร ถึงตาสำคัญที่ม้าของท่านถูกเรือเณรกดจะกิน ท่านเอาเรือของท่านมาผูกไว้ แล้วเณรเอาเบี้ยหงายมาแยงม้าตัวนั้น ท่านยกม้าหนีไม่ได้ เพราะเรือของท่านที่ผูกม้านั้นก็เป็น “เรือลอย” ไม่มีตัวผูก ถ้ายกม้าหนี ก็จะถูกเรือเณรกินเรือของท่านฟรี ครั้นไม่ยกม้าหนีก็จะถูกเบี้ยหงายเณรกินม้าตัวนั้น ขณะที่ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดีนั้นก็ได้ยินเสียงบอกให้เปิดบาตร เข้าใจว่ามีเสียงบอกให้เปิดม้าหนีเบี้ยไป ท่านจึงโพล่งออกมาว่า “เปิดไม่ได้โว้ย เรือลอย...”/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๘ – เรื่องขำขันในวงการหมากรุกมีมากมาย คุยกันไม่รู้จักจบสิ้น คนที่เล่นหมากรุกเป็นแล้วจะรู้รสชาติของมันว่าเป็นอย่างไร สนุกตื่นเต้นเร้าใจอย่าบอกใครเชียวครับ สถานที่เล่นหมากรุกที่สนุก ๆ ของข้าพเจ้ามี ๒ แห่ง คือที่วัดบางซ้ายในกับวัดมฤคทายวัน หรือรางเนื้อตาย ข้าพเจ้ามักเดินทางกลับไปพักผ่อนที่วัดเดิมคือรางเนื้อตาย ซึ่งอยู่กลางทุ่งนาอันกว้างใหญ่ หน้าแล้งน้ำแห้งเดินไปไหนมาไหนได้สะดวกสบาย ไม่ต้องใช้เรือพายเหมือนที่บางซ้าย แต่หน้าน้ำก็ต้องใช้เรือพาย เพราะน้ำท่วมทุ่งเต็มไปหมดเลย
ครูฉิ่ง เป็นครูโรงเรียนวัดรางเนื้อตาย แกชอบเล่นหมากรุกมากที่สุด มีชั่วโมงว่างการสอนและพักเที่ยงวัน ครูจะหลบจากศาลาวัดที่เป็นโรงเรียนเข้ากุฏิพระเล่นหมากรุกกับพระเณร ข้าวกลางวันก็ไม่ยอมกิน บางวันเล่นเพลินจนครูใหญ่ต้องให้เด็กมาตามไปสอนนักเรียน วันปิดเรียนครูก็มักหนีภรรยาเข้าวัดเล่นหมากรุกกับพระเณรเป็นประจำ โรงเรียนวัดรางเนื้อตายไม่มีอาคารเรียนเป็นของตนเอง จึงอาศัยศาลาการเปรียญของวัดเป็นที่เรียน วันโกนคือ ๗ ค่ำ ๑๔ ค่ำเปิดเรียนเพียงครึ่งวัน วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ปิดเรียนเพื่อใช้ศาลาเป็นที่ทำบุญของญาติโยม การหยุดเรียนวันโกนวันพระนับเป็นวิถีชีวิตของชาวพุทธที่น่าชื่นชม ซึ่งปัจจุบันไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว เพราะถูกวันสำคัญของคริสต์ ที่อ้างว่าเป็นสากลเข้ามากลืนกินไปเสียสิ้น
วันโกนหนึ่ง ครูฉิ่งปล่อยนักเรียนกลับบ้านแล้วก็เข้ากุฏิหลวงตาเปรม กระแซะข้าพเจ้าที่กำลังนั่งเล่นหมากรุกกับหลวงตาเปรมอยู่ ชี้บอกให้ข้าพเจ้าเดินหมากบ้าง แย่งเดินหมากบ้าง พร้อมกับพูดจายั่วยวนจนหลวงตาเปรมรำคาญ
“แน่จริงก็เข้านั่งหน้าแป้นซีวะไอ้ครู” หลวงตาเปรมร้องท้าครูฉิ่ง “ได้เลยหลวงตา เณรเต็มถอยออกไป” ครูฉิ่งรับคำท้า
ข้าพกระเถิบออกนั่งริมกระดานให้ครูฉิ่งเข้านั่งหน้าแป้นแทน หลวงตาเปรมเดินหมากรุกไม่เก่งเท่าไหร่หรอก แต่เป็นคนเสียงดัง ชอบพูดข่มขู่คู่ต่อสู้ ฝีมือครูฉิ่งก็พอฟัดพอเหวี่ยงกันกับหลวงตาเปรมนั่นแหละครับ
วันนั้นหลวงตาเปรมนั่งโขกหมากรุกกับเณรเต็มมานานแล้ว สมองชักจะมึน ๆ เพราะการเล่นที่ผ่านมานั้นหลวงตาแพ้เสียเป็นส่วนมาก พอมาเล่นกับครูฉิ่งจึงมีแต่แพ้กับเสมอเท่านั้น
“รุกแม่มันเข้าไป” หลวงตาโขกหมากรุกลงกระดานแรง ๆ พร้อมกับส่งเสียงสำทับดัง ๆ หลังจากถูกครูฉิ่ง “โขลก” เสียย่ำแย่
“รุกแม่มันเข้าไป ไอ้ครูมันจะแน่ซักแค่ไหนวะ” ทุกครั้งที่หลวงตาเปรมรุกขุนของครูฉิ่ง จะรุกด้วยม้าด้วยเรือด้วยโคนหรือแม้แต่เบี้ย ท่านจะต้องใช้คำเดียวกันนั้นกำกับการรุกด้วยทุกครั้งไป แรก ๆ ครูฉิ่งได้ฟังคำกำกับการรุกของหลวงตาเปรมแล้วก็หัวเราะร่วน พอเล่นไปหลายกระดานเข้า ครูฉิ่งเริ่มมีอาการหูแดง หน้าแดงด้วยพิษสงของความโมโหโทโสตามประสาปุถุชน อันการเล่นหมากรุกนั้น มีความโมโหโทโสเป็นทูตแห่งความพ่ายแพ้ ใครโมโหง่าย โกรธง่าย ก็พ่ายแพ้คู่ต่อสู้ง่าย เพราะความโมโหโทโสมันทำให้หูอื้อตามัวความคิดตื้อตัน ทำให้เดินหมากผิดพลาดไปหมด ครูฉิ่งก็เช่นกัน พอถูกหลวงตาเปรมรุกไปด่าแม่ไป อารมณ์โมโหโทโสก็เกิดขึ้น ครั้นจะด่าตอบไปก็ด่าไม่ได้ เพราะท่านเป็นพระ และยังมีฐานะเป็นพี่ชายของหลวงพ่อแปลกสมภารวัดด้วย ครูฉิ่งเดินหมากด้วยการกระแทกตัวหมากรุกลงกระดานแรงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการระบายโทสะ แล้วครูก็ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หลวงตาเปรมมากขึ้น “รุกแม่มันเข้าไป ไอ้ครู” หลวงตารุกแล้วตามด้วยคำเดิม
“รุกหยั่งทั่นนั่นแหละ” ครูฉิ่งกระแทกหมากรุกตอบอย่างเหลืออด
“รุกหยั่งกูน่ะ รุกยังไงวะไอ้ครู” หลวงตาเอียงคอถามยียวน
“อ้าว...ก็ทั่นรุกแม่ผม ผมก็รุกโยมแม่ทั่นบ้างน่ะซี” ครูฉิ่งตอบพร้อมจ้องหน้าหลวงตาเปรมอย่างสะใจ
“ยังงี้มันหาเรื่องเตะกันนี่หว่า ใช่มั้ยไอ้เณร” หลวงตาหันมาถามข้าพเจ้า
“เอ๊า...พ่อคุณ จะแดกข้าวหรือแดกหมากรุก” ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะตอบหลวงตาเปรมก็มีเสียผู้หญิงดังแหวขึ้น
พี่ละอองภรรยาครูฉิ่งนั่นเอง เข้ามาขัดจังหวะ ก่อนที่หลวงตาเปรมกับครูฉิ่งจะต่อยตีกัน วงหมากรุกจึงแตกก่อนที่จะมีใครหัวแตก ครับ
..........................................
ยังมีคู่ปรับหลวงตาเปรมในวงหมากรุกสนามวัดรางเนื้อตายอีกคนหนึ่ง คือ เณรชุบ คนที่พวกเราเรียกเขาว่า “ไอ้โฉ่” มีฝีมือในระดับปานกลาง แต่ฝีปากในการพูดยั่วเย้าคู่ต่อสู้ของ “ไอ้โฉ่” เหลือร้ายนักเชียว
วันนั้นเณรชุบเข้านั่งหน้าแป้นโจ้หมากรุกกับหลวงตาเปรมอยู่ที่มุมเฉลียงหอสวดมนต์ ด้วยลีลาการเล่นเช่นเดียวกันกับหลวงตา คือเดินหมากไปใช้เสียงข่มขู่ไป
“จะไปทางไหนไอ้(ห)ม้าแก่” เณรชุบทิ่มเบี้ยไล่ม้าพร้อมร้องถาม
“จะไปไหนไอ้โค(น)เฒ่า” เอาเม็ดแยงโคนแล้วร้องถามอย่างย่ามใจ
“รุกเข้าไปไอ้ขุนเปรมชรา” เณรชุบคุกคามหนักเข้าไปอีก
“เออ...ไม่ถึงทีมึงบ้างก็แล้วไปวะไอ้โฉ่”
หลวงตาเปรมเดินขุนหนีพร้อมกล่าวคำอาฆาต เณรชุบหัวเราะร่วนแล้วพูดเกทับไปต่าง ๆ นานาเป็นการยั่วโทสะ พอหลวงตาเปรมโมโหก็เดินหมากเปะปะ เณรชุบจึงเอาชนะได้อย่างสบาย
“นี่แน่ะ รุกแม่มันเข้าไป ไอ้เณร” หลวงตาได้ทีรุกบ้าง
“โฮ่ย...รุกยังงี้หนีสบายมาก รุกทำไมให้เสียแรงเปล่า” เณรชุบพูดยั่วเมื่อถูกหลวงตาเปรมรุกบ้าง
ยามหลวงตาเปรมจับม้าหมากรุกยกขึ้นสูงค้างอยู่นานไม่ยอมวาง เณรชุบก็จ้องมองตาหมากในกระดานด้วยกลัวว่าหลวงตาจะโกง โดยวางม้าเอาตามใจชอบ ซึ่งเป็นวิธีการโกงหมากรุกอีกอย่างหนึ่ง แต่แทนที่หลวงตาเปรมจะวางม้าลงในตาใดตาหนึ่ง ท่านกลับกระแทกหมากรุกลงบนหัวเณรชุบเสียงดังโป๊ก! เณรชุบนั่งงงเป็นไก่ถูกเดือยตาแตก หัวแตกเลือดไหลอาบแก้มแดงเถือกกองเชียร์ซึ่งมีข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า พากันตกตะลึงจังงัง นึกไม่ถึงว่าหลวงตาเปรมท่านจะทำกับเณรชุบอย่างนั้น เมื่อหายจากการตกใจแล้วจึงช่วยกันห้ามเลือด ข้าพเจ้าช่วยเช็ดเลือด หลวงพี่เจียมเอายาแดงมาใส่แผลให้ เณรไหวเอาผ้าจีวรเก่า ๆ ที่ไม่ใช้แล้วมาฉีกเป็นริ้วพันแผลให้
หลวงตาเปรมกลับเข้ากุฏินั่งซดน้ำชาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เณรชุบออกเดินบิณฑบาตไม่ได้หลายวัน เพราะอายญาติโยม ด้วยข่าวการเล่นหมากรุกเลือดที่หลวงตาเปรมทำตามตำราที่ว่า “หมากรุกหัวแตก” เป็นข่าวดังไปทั้งตำบลเลย
เรื่องหลวงตาเปรมเอาม้าหมากรุกโขกหัวเณรชุบแตก ไม่เป็นคดีความอะไร เพราะหลวงตาเปรมเป็นพระพี่ชายของหลวงพ่อแปลกผู้เป็นสมภารวัดนี้ จึงเป็นที่กรงอกเกรงใจพระเณรและญาติโยมพอสมควร และดูเหมือนเณรชุบจะรู้ว่าตนเองเป็นฝ่ายผิดที่กล่าวคำพูดล่วงเกินหลวงตาเปรมรุนแรงเกินไป เขาจึงเป็นฝ่ายเงียบ พวกเรา (รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย) มีความเห็นเข้าข้างหลวงตาเปรม ไม่ใช่เพราะหลวงตาเป็นพี่ชายหลวงพ่อแปลกหรอกครับ แต่เพราะพวกเราเห็นว่า “ไอ้โฉ่” คือเณรชุบนั่น กระเซ้าเย้าแหย่หลวงตาเปรมหนักข้อเกินไป อย่างคำว่า “รุกเข้าไปไอ้ขุนเปรมชรา” อย่างนี้ หลวงตาเปรมไม่โกรธก็ผิดความเป็นปุถุชนไปละ
เณรชุบไม่กล้าเล่นหมากรุกกับหลวงตาเปรมตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ใคร ๆ คะยั้นคะยอให้เล่นอย่างไร เขาก็ไม่ยอม คงจะเข็ดจนตายแหละครับ./
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๙ - เป็นนักสวดศพ (ผี)
ข้าพเจ้าเรียนและสอบได้เป็นนักธรรมชั้นโทแล้ว เณรไหวสอบนักธรรมชั้นเอกตกแล้วหมดอาลัยใน “ดงขมิ้น” จึงลาสิกขาออกไปทำนาตามสถานะเดิม ข้าพเจ้ายังสนุกสนานอยู่ใน “ดงขมิ้น” ไม่สิ้นอาลัย การเขียนหนังสือของข้าพเจ้าลายมือสวยงามไม่อายเพื่อนฝูงแล้ว วิทยฐานะนักธรรมชั้นโทในบ้านนอกสมัยนั้นจัดอยู่ในระดับสูงพอควร สมภารวัดบ้านนอกส่วนมากมีวิทยฐานะเป็นแค่นักธรรมชั้นตรีเท่านั้นเอง ข้าพเจ้าเป็นเณรนักธรรมโท จึงมีวิทยฐานะสูงกว่าสมภารในอำเภอบางซ้ายหลายวัดทีเดียว แถมยังเป็นลูกศิษย์ข้างกุฏิเจ้าคณะอำเภอเสียอีก พระสมภารทั้งหลายจึงพากันนิยมยกย่องเณรเต็มมากเป็นพิเศษ พระเณรทุกวัดที่มีวิทยฐานะต่ำกว่าก็ให้ความยำเกรงนับถือเณรเต็มไม่น้อย จะไปไหนมาไหนก็สะดวกสบาย แม้พระเณรที่มีวิทยาฐานะนักธรรมโทเท่าก็ยำเกรง เพราะเณรเต็มสอบได้เป็นอันดับที่ ๑ ของอำเภอ และเป็นศิษย์ใกล้ชิดเจ้าคณะอำเภอ บางครั้งข้าพเจ้าก็อด “กร่าง” ไม่ได้เหมือนกัน
“ลูก (ศิษย์) สมภารหลานเจ้าวัด” ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ
คนบ้านนอก (จะเรียกว่าชนบทหรือภูธรก็ตามใจ) เวลามีการตายเกิดขึ้น เขานิยมจัดพิธีศพที่บ้านผู้ตาย โดยนิมนต์พระภิกษุสามเณรไปสวดศพที่บ้าน กำหนดวันสวดว่ากันไปตามฐานะ คนมีฐานะไม่ดีและมีญาติน้อยก็จะตั้งศพสวดเพียง ๓ คืนเป็นอย่างมาก ถ้ามีฐานะดีและญาติมากก็มักจะตั้งศพสวดถึง ๗ คืน เสร็จแล้วจึงนำศพไปเผาที่วัดกันตามธรรมเนียม วันเผาศพก็จัดพิธีที่วัดก่อนเผา ถ้าคนมีฐานะดีก็ให้มีเทศน์แจง ๑ ธรรมาสน์บ้าง ๓ ธรรมาสน์บ้าง เป็นแจงธรรมดามีพระนั่งอันดับสวดแจงตั้งแต่ ๕๐ องค์ขึ้นไปบ้าง เป็นแจงห้าร้อย คือมีพระนั่งอันดับสวดแจง ๕๐๐ องค์บ้าง คนมีฐานะไม่ดีก็จัดเพียงให้มีเทศน์อานิสงส์หน้าศพ มีพระสวดมาติกาบังสุกุลเท่านั้น การเทศน์อานิสงส์หน้าศพภาษาชาววัดเขาเรียกกันว่า “อานิสงส์แซงแซว” ที่มาของคำว่า “อานิสงส์แซงแซว” ก็คือคัมภีร์เทศน์ (ใบลาน) คัมภีร์หนึ่งสำหรับพระอ่านเทศน์หน้าศพมีชื่อว่า “อานิสงส์การเผาศพ” ใจความพรรณนาว่าการเผาศพคนตายมีญาติหรือไม่มีญาติก็ตาม ผู้เผาศพย่อมได้อานิสงส์ (ผลตอบแทน) มีเป็นอเนกประการ ถ้าเผาศพไม่มีญาติได้อานิสงส์มากกว่าศพมีญาติ อย่าว่าแต่เผาศพคนด้วยกันเลย เคยมีคนยากจนคนหนึ่งเห็นนกแซงแซวนอนตายอยู่ข้างทางเดิน เกิดจิตเป็นกุศลขึ้นจึงทำการเผาซากนกแซงแซวตัวนั้น ครั้นเขาถึงกาลสิ้นชีพแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนางฟ้า ๕๐๐ เป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์แห่งการเผาซากศพนกแซงแซวนั้นแล
คัมภีร์เทศน์งานศพนี้แหละครับ เป็นภาษาสแลงที่พระท่านเรียกกันว่า “อานิสงส์แซงแซว” พระเทศน์ที่ใช้ปฏิภาณโวหารของตนเองไม่ได้ ก็จะใช้คัมภีร์ใบลานที่ว่านี้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ พระบางองค์ท่านเป็นคนประเภท “เถรตรง” อ่านหมดทุกตัวอักษรที่มีอยู่ในใบลานนั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวพิมพ์หรือตัวเขียน บางคัมภีร์จะมีชื่อคนสร้างคัมภีร์ คือบริจาคเงินซื้อคัมภีร์ถวายวัดแล้วเขียนชื่อผู้บริจาคเงินไว้ข้างหน้าคัมภีร์บ้าง ข้างหลังบ้าง ตามแต่สะดวกมือผู้เขียน
หลวงตาเปรม องค์เดียวกันกับผู้เล่นหมากรุกแล้วชอบด่าแม่คู่ต่อสู้นั่นแหละครับ ท่านเป็นคนประเภท “เถรตรง” เคยเทศน์อานิสงส์แซงแซวปล่อยไก่ตัวเบ้อเริ่มเทิ่มเลย
เรื่องก็มีอยู่ว่า ในงานศพตาจ้อยผู้มีฐานะไม่สู้ดีนัก แต่มีญาติมิตรมาก ตายและเผาในช่วงเวลาที่พระผู้ใหญ่ในวัดติดกิจนิมนต์ที่อื่นหมด เจ้าภาพก็เลยต้องนิมนต์หลวงตาเปรมซึ่งเป็นพระผู้มีอาวุโสสูงสุดในวัดยามนั้น ให้เทศน์อานิสงส์หน้าศพตาจ้อย หลวงตาเปรมท่านบวชตอนอายุมากแล้ว ไม่เคยเทศน์มาก่อนเลย ครั้นจะไม่รับเทศน์ก็อาย ด้วยพระเณรและญาติโยมจะเยาะเย้ยว่าไม่มีความรู้ความสามารถ ท่านจึงแข็งใจรับนิมนต์ขึ้นเทศน์
ได้เวลาเทศน์ พระเณรผู้สวดมาติกาบังสุกุลลงไปนั่งอาสน์สงฆ์บนศาลาการเปรียญ หลวงตาเปรมเดินตามสะพานไม้จากกุฏิไปศาลาการเปรียญ ข้าพเจ้าดูลักษณะการเดินของท่านแล้ว เห็นแกว่ง ๆ อย่างไรชอบกล เข้าไปในศาลาแทนที่ท่านจะขึ้นหัวอาสน์สงฆ์กราบพระพุทธรูปที่เป็นประธานแล้วจึงขึ้นธรรมาสน์เทศน์ แต่หลวงตากลับเดินผ่านหน้าพระเณรและญาติโยมลิ่วไปขึ้นธรรมาสน์เทศน์เลยทีเดียว (อันนี้ผิดธรรมเนียมประเพณี) พวกญาติโยมในศาลาก็ไม่มีใครทักท้วง เพราะส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดอะไรกันนัก บางพวกอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจ บางพวกอยู่ในอาการมึนเมาด้วย “น้ำเปลี่ยนนิสัย” (ก็คือสุราอันว่าเหล้านั่นแหละ) พอหลวงตาเปรมขึ้นธรรมาสน์นั่งเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าทายกวันนั้นคือ โยมอินทร์ ก็กล่าวนำกราบไหว้พระแล้วอาราธนาศีล ๕ ว่ากันตามศาสนพิธี หลวงตาเปรมจัดพัด (ตาลปัตร) ขึ้นตั้งบังหน้าโดยหันด้านหน้าพัดเข้าหาตนเอง หันด้านหลังออกไปทางญาติโยม กล่าวคำให้ศีล ตั้งนะโมเสียงสั่น ๆ ด้วยความประหม่า ให้ศีลไปได้ถึงข้อ ๔ คือ มุสาวาทาเวระมะณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ ท่านก็กล่าวคำสรุปว่า อิมานิ ปัญจะสิกขาปะทานิสีเลนะสุคะติงยันติ.... จบเอาดื้อ ๆ
โยมฟ้อนซึ่งมีอดีตเป็นสมภารวัดเก่า ฟังหลวงตาเปรมให้เบญจศีลไม่ครบ ๕ ข้อก็ทักท้วงขึ้นทันที
“อีกข้อหนึ่งซี่หลวงตา”
ท่านรู้ตัวทันทีว่าให้ศีลไม่ครบ ๕ ข้อ ก็รีบกล่าวแก้ไขในฉับพลัน
“เอาแค่สี่ข้อก็รักษาไว้ให้ได้เถอะวะโยม ข้อที่ ๕ สุราเมรัยอย่าเอาไปเลย มันรักษายาก”
อย่างนี้เรียกว่าหลวงตาเปรมท่านแก้ตัวไปได้อย่าง “น้ำขุ่น ๆ” เลยทีเดียวครับ
คนฟังที่พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็พากันหัวเราะฮาครืน หลวงตาเปรมจึงเทศน์ในบรรยากาศที่คนฟังหัวเราะกันคิกคัก เพราะนึกขำการแก้ตัวเรื่องการให้ศีลไม่ครบไปอย่างน้ำขุ่น ๆ ฝ่ายหลวงตาก็เข้าใจว่าคนฟังหัวเราะเพราะชอบใจในการเทศนาของท่าน ก็เลยอ่านคัมภีร์เทศน์อานิสงส์แซงแซวเสียงอ่อนเสียงหวาน (ทำนองเสนาะของการเทศน์) ผิดบ้างถูกบ้างไปตามเรื่อง แล้วท่านก็ปล่อยไก่เอาตอนจบว่า
“ดั่งที่...ได้..แส....ดง...มา...ก่อ..ซ้มควน...แก่เวลา.......ขอยุดติพระธัมมะเทดสะหนาลง..คงไว้..แต่เพียง...เถ่านี....เอ่..วัง..กิ่ม...นังสือผ่อยิ้ม....เค้าสร้าง....” อันที่จริงการเทศน์ก็ต้องจบลงว่า “เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้” แค่นั้น ที่หลวงตาเปรมอ่านว่า “เอวังกิ่ม หนังสือพ่อยิ้มเขาสร้าง” นั้นก็เพราะคนสร้างคัมภีร์หรือบริจาคเงินซื้อคัมภีร์ถวายเป็นสมบัติของวัดนั้นมีชื่อว่า พ่อยิ้ม หลวงตาเปรมก็ใช้ปฏิภาณของท่านต่อเติมเอาตามความเข้าใจ เป็นการอ่านครบถ้วนหมดทุกตัวอักษรที่มีอยู่ในคัมภีร์ใบลานนั้น และก็ได้ผลคือเรียกเสียงฮาจากคนฟังได้มากมายทีเดียว/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๘มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๐ - ท่านผู้เจริญครับ การโอ้อวดของคนเรานี่มันห้ามยาก แก้ยาก เช่น อวดร่ำรวย อวดรู้ อวดยศศักดิ์ อวดเกียรติ อวดบารมี จิปาถะ และมิใช่ว่าจะอวดกันเฉพาะในขณะยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แม้ตายแล้วก็ยังอดอวดกันไม่ได้ อย่างการจัดงานศพนี่แหละครับ บางคนก่อนตายสั่งสามีภรรยาลูกหลานให้จัดการศพยังงั้น ยังงี้ เช่นว่ากำหนดให้เอาศพใส่โลงอะไร ตั้งศพสวดไว้กี่วัน สวดศพยังไง นิมนต์พระวัดไหนบ้าง มีเครื่องดนตรีอะไร คณะไหน มาบรรเลงในงาน นิมนต์ท่านมหา พระครู เจ้าคุณ องค์ไหนมาเทศน์ มีเทศน์แจงธรรมดาหรือแจง ๕๐๐ เทศน์แจงกี่ธรรมาสน์ เวลาเผาให้เอาไปเผาวัดไหน ถ้าเป็นคนจีนก็จะสั่งให้ทำกงเต๊กอย่างไร ศพใส่โลงอะไร ทำฮวงจุ้ยที่ไหน อย่างไร เป็นต้น คนที่ไปในงานเผาศพก็มักจะเห็นว่าพิถีพิถันในการแต่งกาย เหมือนจะไปประกวดประชันกันกระนั้นเทียว
พระท่านว่าคนห่วงใยศพตนเองดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นคนมีบุญน้อย แม้จะบริจาคทานมากมาย ทำความดีก็มาก แต่เมื่อตายแล้วจะไปเกิดได้ไม่ไกลจากซากศพตนเอง เพราะมีจิตผูกพันในศพของตัวเอง จึงเป็นเหมือน “ปู่โสมเฝ้าศพ” ว่างั้นเถิด!
การสวดศพในชนบททางภาคกลางคือ อยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ที่ข้าพเจ้าอยู่นั้น ถ้าคนตายมีฐานะดีเขาจะจัดให้มีการสวด “สังคะหะ” หรือ “อภิธรรมมัตถะสังคะหะ” พ่วงท้ายการสวดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ และจะจบด้วยการสวดพระมาลัย ซึ่งสวดโดยคฤหัสถ์ พระเณรที่สวดอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ สวดมาติกา บังสุกุล ไม่ต้องหัด บวชนานวันหน่อยก็สวดได้ เพราะบทสวดเหล่านั้นนักบวชท่านถือว่า “เป็นเครื่องมือหากิน” เวลามีงานศพ องค์ที่สวดบทดังกล่าวไม่ได้ก็ไปนั่งร่วมอันดับทำปากขมุบขมิบ ๆ ก็สอบผ่านแล้ว แต่การสวดสังคะหะจะมีผู้สวดเพียง ๔ องค์ นั่งทำปากขมุบขมิบ ”ตีกิน” ไม่ได้เป็นอันขาด ผู้สวดต้องบวชนานหน่อย อย่างน้อยก็ ๑ พรรษา และบวชนานอย่างเดียวก็สวดสังคะหะไม่ได้ จะต้องฝึกหัดให้ชำนาญเสียก่อน บทสวดไม่จำเป็นต้องท่องจำให้ได้ เพราะมีคัมภีร์เป็นอักษรไทยพิมพ์ตัวโต ๆ ให้เปิดอ่านในขณะสวด เรียกว่า “กางตำราสวด” งั้นเถิด ทำนองการสวดสังคะหะก็ต้องหัด มีหลายทำนอง คือ สรภัญญะ กบเต้น ช้างประสานงา ทำนองมอญ ทำนองแขก ทำนองจีน ทำนองเขมร ทำนองลาว เปลี่ยนทำนองทุกปริเฉท จนครบ ๙ ปริเฉท
ข้าพเจ้าสอบนักธรรมชั้นโทได้แล้ว เห็นพระเณรท่านสวดสังคะหะมีคนนิยมชมชอบมาก และได้ปัจจัย (สตางค์) มาก ก็อยากได้อยากเป็นเหมือนเขาบ้างจึงร่วมหัด สวดสังคะหะกับหลวงพี่บัณฑิต ซึ่งเป็นพระองค์เดียวในวัดบางซ้ายในที่สวดสังคะหะได้ โดยมีผู้ร่วมหัดสวดอีก ๒ องค์คือ เณรเชียร “เพื่อนซี้” ของข้าพเจ้า กับหลวงพี่แพร รวมทั้งหลวงพี่บัณฑิตผู้เป็นหัวหน้าได้ ๔ องค์ ครบคณะพอดี พวกเราฝึกหัดซักซ้อมกันจนเห็นว่าพอใช้ได้แล้ว จึงรับนิมนต์สวดสังคะหะตามบ้านต่าง ๆ ในละแวกนั้น สมัยนั้นอำเภอบางซ้ายทั้งอำเภอจึงมีพระสวดสังคะหะได้คณะเดียวคือคณะวัดบางซ้ายในของข้าพเจ้า
พระสวดศพหรือสวดผีที่สวดอภิธรรมดูจะเป็นธรรมดา ชาวบ้านไม่ค่อยสนใจนัก แต่พระสวดสังคะหะนี่ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะเณรหนุ่มอย่างข้าพเจ้ากับเณรเชียร (ที่เขาว่ากันว่ารูปหล่อ) ไปสวดบ้านไหน ๆ พวกสาว ๆ แม่ครัวชอบแอบมองซุบซิบกันและชะม้ายชายตามองด้วยอาการที่เห็นแล้ววาบหวามความรู้สึกดีแท้ บางคืนพวกข้าพเจ้าสวดกันผิด ๆ พลาด ๆ เพราะไม่ค่อยจะมองตำรา ที่เปิดกางไว้ข้างหน้า มัวแต่ส่งสายตาไปเกาะเกี่ยวสายตาสาวรุ่นสาวแก่แม่ม่ายแม่ครัว ที่พวกหล่อนชะเง้อชะแง้แลมองบ้าง ชมดชม้อยคอยมองบ้าง บางอนงค์นางที่ใจกล้าและออกจะแก่นแก้วสักหน่อย ก็จะยกจานข้าวชามแกงถ้วยขนมชูขึ้นให้ดู แล้วพยักหน้าทำทีว่าเชิญชวน (นิมนต์) ให้ร่วมรับประทาน (ขบฉัน) กิริยาอาการดังกล่าวจะไม่ทำให้เณรหนุ่มอย่างพวกข้าพเจ้าใจแตกฟุ้งซ่านได้อย่างไรเล่าครับ?
แล้วคณะสวดศพของข้าพเจ้าก็เจอดีเข้าจนได้
งานศพบ้านผู้มีอันจะกินรายหนึ่งผู้คนไปร่วมงานกันมากมีการสวดสังคะหะ ๓ คืน กำหนดสวดคืนละ ๓ ปริเฉท คืนแรกผ่านไปด้วยความชื่นมื่น ที่ว่า “ชื่นมื่น” ก็เพราะสาวรุ่นสาวแก่ แม่ม่ายแม่ร้าง แม่สามีเผลอ มากหน้าหลายตา พวกหล่อนนั่งมองพระสวดสังคะหะกันตรง ๆ บ้าง แอบเมียงมองบ้าง แม่สาวตาหวานทั้งหลายหล่อนเล่นสายตากับพวกข้าพเจ้าอย่าง “มันในอารมณ์” โดยเฉพาะเณรเชียรซึ่งรูปหล่อกว่าเพื่อน มีสาว ๆ เล่นสายตากับเขามากกว่าใคร ข้าพเจ้าต้องคอยเอาศอกกระทุ้งสีข้างเขาบ่อย ๆ เพราะไอ้เณรหนุ่มเพื่อนข้าพเจ้ามองสาวแล้วส่งสายตาเกี้ยวกันเพลินจนลืมสวด
คืนวันสุดท้ายของการสวดศพ พวกข้าพเจ้าก็เล่นสายตากับเจ้าหล่อนทั้งหลายอีกตามเคย เจ้าภาพเห็นว่าพระสวดศพมาเป็นคืนที่ ๓ แล้วเสียงชักจะแหบแห้ง จึงสั่งให้แม่ครัวทำ “น้ำอัฏฐบาน” ถวาย น้ำอัฏฐบานเป็นน้ำที่คั้นจากผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งใน ๘ ชนิด ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทำดื่มได้ในเวลาวิกาล เช่นน้ำมะม่วง กล้วยละว้า มะนาว เป็นต้น ที่แม่ครัวทำให้พวกข้าพเจ้าดื่มคืนนั้นเป็นน้ำมะนาวปรุงด้วยน้ำตาลทราย เกลือ พริก มีรสเปรี้ยวปนหวาน เค็ม เผ็ด น้ำชนิดนี้พระนักสวดถือว่าเป็นเหมือนดั่งยาวิเศษ ทำเสียงให้ใส ดื่มแล้วชุ่มคอดีนักเชียว
พวกแม่ครัวปรุงน้ำอัฏฐบานเป็นพิเศษ พวกข้าพเจ้าดื่มกันด้วยความอร่อยลิ้นอร่อยใจ เพราะมีแม่ครัวหน้าแฉล้มแช่มช้อยสายตาหวานวาบหวามเป็นของแกล้มน้ำอัฏฐบานด้วย พวกเธอแสดงกิริยาเย้ายวนยั่วยุให้พวกข้าพเจ้าดื่มน้ำอัฏฐบานมาก ๆ บางนางยกแก้วชูแล้วพยักหน้าท้าทายให้ดื่มแข่งกับหล่อน ครั้นเห็นพวกข้าพเจ้ายกแก้วน้ำอัฏฐบานขึ้นจิบ-ดื่ม บางนางก็ยกหัวแม่มือชูแสดงว่า “ยอด ! ยอด!” แล้วหัวเราะต่อกระซิกกันอย่างสนุกสนาน เหมือนรื่นเริงใจที่เห็นพวกเราดื่มน้ำอัฏฐบานรสน้ำมือเธอ
ตามปกติ การสวดจบแต่ละบทแล้วพักสวด ปี่พาทย์มอญประโคมบรรเลงเพลงคั่นการสวด พระสวดทำนองอะไรปี่พาทย์ก็จะเล่นเพลงทำนองนั้น ตกดึกคืนนั้นปี่พาทย์เล่นเพลงเหมือนคนขี้เมา ตะโพนออกไปทางหนึ่ง ระนาดเอกออกอีกทางหนึ่ง ระนาดทุ้มก็ไปทางหนึ่ง เดี๋ยวเข้ากันเดี๋ยวแยกจากกัน เป๋ไปเป๋มา ข้าพเจ้ารู้สึกคอแห้งมาก จึงกระซิบถามเณรเชียร
“คอแห้งไหม?”
“อย่าว่าแต่คอเลย เหงือกก็แห้งว่ะ” เณรเชียรตอบเสียงแหบแห้ง
สมองของข้าพเจ้าชักมึนงง หนังตาหนักอึ้งจะหลับท่าเดียว ปี่พาทย์บรรเลงจบเพลงลงไปด้วยความรำคาญของผู้ฟัง ไม่จบด้วยเสียง “อีแร้งแกงไก่” (ข้าพเจ้าได้ยินเสียงอย่างนั้น) คือเสียง “เก่ง เกง เก๊ง ๆๆๆ” ตามแบบของการบรรเลงเพลงของปี่พาทย์มอญ
ปี่พาทย์จบบรรเลงเพลงแล้วพระต้องขึ้นบทสวดใหม่ แต่คืนนี้อะไร ๆ มันก็ผิดไปหมด หลวงพี่บัณฑิตหัวหน้าคณะสวดศพของเราท่านไม่ยอมขึ้นบทสวดใหม่ ข้าพเจ้านั่งรอรับเสียงสวดอยู่นาน จึงชะโงกหน้าดูเห็นท่านนั่งหลับตานิ่งเหมือน “เข้าฌาน” จึงสะกิดเณรเชียรที่นั่งเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” บอกให้เขาสะกิดบอกต่อหลวงพี่แพรให้เตือนหลวงพี่บัณฑิต หลวงพี่แพรนั่งอยู่ “คอสอง ”ติดกับหัวหน้าจึงสะกิดบอกให้สวดได้แล้ว หลวงพี่บัณฑิตลืมตาเหลียวมองเห็นพวกเราตั้งตาลปัตรเตรียมพร้อมสวดอยู่แล้วก็รีบคว้าตาลปัตรตั้งขึ้นบทสวดต่อ
“นะโมตัสสา ระหันตัสสะ.....” อันเป็นบทเริ่มต้นสวดใหม่ หลวงพี่แพรเห็นหลวงพี่บัณฑิตขึ้นบทสวดผิด ก็ไม่ยอมรับเสียงสวดต่อ ท่านขึ้นเสียงบทสวดใหม่เป็นบทในปริเฉทที่ ๕ ซึ่งสวดผ่านไปแล้ว
คืนนั้นเป็นคืนอัปยศของพวกข้าพเจ้าไปอย่างช่วยไม่ได้ เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของพวกข้าพเจ้าที่สวดสังคะหะไม่จบ ปริเฉทที่ ๙ อันเป็นบทสุดท้ายของการสวดนั่นแหละครับ พวกข้าพเจ้าสวดกันชนิด “ล่มแล้วล่มอีก” เพราะหูอื้อ ตาลาย สมองมึนงง ตัดสินใจอะไรไม่ถูก รู้สึกว่าตัวเบาหวิวเหมือนลอยอยู่ในอากาศ ทั้งนี้ก็เพราะเดชฤทธิ์หรือพิษสงกัญชาที่ดื่มกินเข้าไปมากเกินปริมาณ
มารู้ความจริงเอาภายหลังว่า แม่ครัวตัวดีทั้งหลายที่เล่นสายตากับพวกข้าพเจ้านั่นแหละครับ เจ้าหล่อนต้ม “กะหรี่กัญชา” เอาน้ำมาทำเป็นน้ำอัฏฐบาน แล้วก็มานั่งออลอยหน้าลอยตาส่งภาษาใบ้คะยั้นคะยอยั่วยุให้พวกข้าพเจ้าดื่มกันเสียจนเต็มคราบ ไม่เมาตายคาที่ก็นับว่าบุญแล้ว
โยมนวลเห็นท่าไม่ดี สอบถามได้ความจริงว่าพวกแม่ครัว “มอมกัญชา” พระสวดและพวกปี่พาทย์ จึงรีบรวบรัดให้เจ้าภาพถวายปัจจัยไทยทาน แล้วให้ไอ้ทิดทั้งหลายช่วยกันประคองพระสวดสังคะหะลงเรือนำส่งกลับวัด ข้าพเจ้าต้องนอนอมน้ำตาลปี๊บแก้ปาก-คอแห้งตลอดคืน รุ่งขึ้นทั้งวันพวกข้าพเจ้าสะลึมสะลือ เอาแต่นอนท่าเดียว ข้าวปลาอาหารไม่สนใจจะขบฉัน เขาว่าการเมากัญชาที่กินปนกับน้ำและอาหารนั้นมันจะ “เมาชนขวบ” คือเมาตั้งแต่เวลาที่กินวันนั้นไปจนถึงเวลาที่กินของอีกวันหนึ่ง เมานานกว่าการสูบควันมากนัก เห็นจะจริงอย่างเขาว่า เพราะพวกข้าพเจ้าเมาตั้งแต่คืนวันที่สวดศพไปจนถึงเที่ยงคืนของวันรุ่งขึ้นทีเดียว ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ข้ าพเจ้าไม่กล้าดื่มน้ำอัฏฐบานที่โยมทำถวายในงานสวดศพอีกเลย เข็ดจริง ๆ ครับ/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๑ - คราวหนึ่ง หลวงพี่บัณฑิตรับนิมนต์ไปสวดสังคะหะในท้องที่อำเภอเดิมบางนางบวช (บ้านเดิมของหลวงพี่บัณฑิต) จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการสวดประชัน คู่ประชันคือ “คุณชี” หรือ “นางชี-แม่ชี” (แล้วแต่จะเรียก) ในกรุงเทพฯ วิธีการสวดประชันคือ ให้สวดซ้ำกันในแต่ละปริเฉท โดยพระเป็นฝ่ายสวดนำก่อน คุณชีสวดตาม ตั้งแต่ปริเฉทที่ ๑ ไปจนจบปริเฉทที่ ๙ เริ่มแต่หัวค่ำยันสว่างแจ้ง บทสวดบาลีต้องว่าตามคำเดิม จะต่อเติมเสริมแต่งไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ แต่บทภาษาไทยที่เรียกว่า “บทกล่อม” ต่อท้ายคำบาลีทุกปริเฉท สามารถต่อเติมเสริมแต่งได้ตามใจชอบ
“เป็นมวยคนละชั้น” เขาว่ากันอย่างนั้น
คุณชีเป็นนักสวดมาตรฐานมีความเชี่ยวชาญชำนาญกว่าพวกข้าพเจ้ามากนัก คำบาลีที่สวดก็ราบเรียบเสียงเยือกเย็นออกไปในทางขรึมขลัง บทกล่อมที่เป็นภาษาไทยก็โศกเศร้าซึ้งใจ คนฟังที่อารมณ์อ่อนไหวมากก็ร่ำไห้สะอึกสะอื้น คนอารมณ์อ่อนไหวน้อยหน่อยก็จะน้ำตาซึม คนใจแข็งก็ตั้งใจฟังอย่างสงบ เมื่อจบบทสวดก็จะถอดหายใจเฮือกใหญ่ พวกข้าพเจ้าสวดทั้งคำบาลีและภาษาไทย (บทกล่อม) ทั้งหมด คนฟังเขารู้สึกเฉย ๆ ไม่มีปฏิกิริยาอะไร ก็รู้กันแน่ชัดว่า “พระสวดแพ้ชี” อย่างสิ้นเชิง
หลวงพี่บัณฑิตหัวหน้าคณะสวดของข้าพเจ้าแค้นใจมากที่สวดแพ้ “คุณชี” จึงคิดหาทางหรือวิธีการเอาชนะ “คุณชี” ให้ได้ ถ้ามีโอกาสประชันกันอีก กรรมก็มาตกที่ข้าพเจ้าซึ่งเป็นนักสวด “คอสี่” คือนั่งอยู่ในอันดับที่สี่ (สุดท้าย) โดยหลวงพี่ให้ข้าพเจ้าหัดสวดเสียงทำนองมอญ เดิมทีเสียงข้าพเจ้าอยู่ในระดับสูงออกเสียงที่ริมฝีปาก ท่านก็ให้หัดออกเสียงจากลำคอ ปรับระดับเสียงให้ต่ำลง เสียงใหญ่ห้าวขึ้น ตรงกันข้ามกับเสียงเณรเชียรที่เล็กแหลมกังวานหวาน เรียกว่าทำเสียงหลวงพี่ทั้งสองเป็นเสียงตัวพระ เสียงเณรเชียรเป็นเสียงตัวนาง เสียงข้าพเจ้าเป็นเสียงตัวโกง งั้นเถิด!
การทำทำเสียงออกจากลำคอเป็นเสียงทุ้มกังวานนั้น ทำได้ยากมาก หลวงพี่บัณฑิตไปจำความมาจากใครหรือตำราไหนก็ไม่รู้ เอามาทำกับข้าพเจ้า โดยบังคับให้กลืนกล้วยน้ำว้าสุก ครั้งแรก ๆ ทีละครึ่งลูก ต่อมาก็ให้กลืนทั้งลูก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลำคอกว้างแล้วเสียงจะได้ใหญ่ขึ้น ก็ลองหลับตาคิดดูเถิดว่าการกลืนกล้วยน้ำละว้าทีละครึ่งลูก ทีละลูกนั้น มันทรมานแค่ไหน ? ตอนทำใหม่ ๆ นั้นลำคอข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บระบมไปหลายวันทีเดียว ผลที่ได้คือเสียงห้าวใหญ่ขึ้นนิดหน่อย ยังไม่เป็นที่พอใจของหลวงพี่บัณฑิต ท่านจึงเปลี่ยนวิธีที่ให้ข้าพเจ้ากลืนกล้วยน้ำละว้ามาเป็นการกลืนเปลวมันหมู เอาเปลวมันหมูสด ๆ มาก้อนโตเกือบเท่ากำปั้น ใช้ด้ายเหนียวผูกให้แน่น จุ่มน้ำร้อนพออุ่น ๆ แล้วใส่ปากให้ข้าพเจ้ากลืนลงคอ ลงไปถึงคอหอยท่านก็ดึงด้ายเอาเปลวมันออกมาจุ่มน้ำอุ่นใหม่ แล้วให้กลืนลงไปอีก ทำอยู่อย่างนี้หลายครั้งหลายครา ข้าพเจ้าอ้วกแตกไม่รู้กี่หน ไม่ขาดใจตายไปก็นับเป็นบุญแล้ว
กลืนกล้วยน้ำละว้าเป็นลูก ๆ ก็แล้ว กลืนเปลวมันหมู ชักออก-กลืนลง ๆ ก็แล้ว เสียงของข้าพเจ้าก็ยังไม่เป็นที่พอใจของหลวงพี่บัณฑิต ท่านจึงหันมาใช้วิธีใหม่ที่ทารุณยิ่งนัก คือจับข้าพเจ้าลงน้ำในแม่น้ำหน้าวัด ตอนแรกอยู่ในระดับน้ำตื้น ให้ดำลงไปแล้วส่งเสียงโห่จนเต็มเสียง แล้วเลื่อนตำแหน่งให้ลึกลงไป ๆ ข้าพเจ้าต้องดำลงไปเองบ้าง ถูกหลวงพี่บัณฑิตจับกดลงไปบ้าง ส่งเสียงโห่ใต้น้ำอยู่หลายเวลาจนเป็นหวัดงอมแงมเลย และการถูกจับกดลงไปโห่ในน้ำนี่แหละ ทำให้ข้าพเจ้าเป็นหวัด หรือ ไซนัส เรื้อรั้งมาเป็นเวลานับสิบ ๆ ปีทีเดียว
ข้าพเจ้าหัดสวดสังคะหะสำเนียงทำนองมอญได้ปีกว่าแล้ว ยังไม่มีโอกาสแก้แค้น “คุณชี” ยังไม่มีใครนิมนต์สวดประชันกันสักที พวกข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าได้พบกันอีกต้องชนะแน่นอน วิธีการเอาชนะ “คุณชี” ที่หลวงพี่บัณฑิตวางแผนไว้คือ เมื่อคณะคุณชีสวดด้วยเสียงและทำนองโศกเศร้าเรียกน้ำตาจากคนฟังได้ แต่พวกเราทำอย่างคุณเธอไม่ได้ก็ต้อง “เช็ดน้ำตาให้คนฟัง” สวดออกไปในทางตลกขบขันให้คนฟังหัวเราะ เรียกว่า “หัวเราะทั้งน้ำตา” นั่นเอง
แล้ววันที่พวกเรารอคอยก็มาถึง ญาติพี่น้องผู้ตายซึ่งมีฐานะอยู่ในระดับเศรษฐีมีหน้ามีตาในหลายตำบลของอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี นิมนต์คณะสวดของข้าพเจ้าไปสวดประชันกับ “คุณชี” คณะเดียวกับที่ข้าพเจ้าเคยสวดแพ้มาแล้ว เหมือนฟ้าจงใจให้เราพบกันอีกครั้ง ความจริงก็ไม่ใช่ “ศัตรูที่พบกันในทางแคบ” อะไรทำนองนั้นหรอกครับ โยมที่นิมนต์ก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้พวกเราไป “ล้างแค้น” คุณชีคณะนั้น แค้นอะไรก็ไม่มี ที่ผมพูดว่า ”ล้างแค้น” ก็พูดเล่นโก้ ๆ ไปยังงั้นเอง ความจริงพวกเราไม่ได้แค้นคุณชีเลย เพียงแต่เราไม่ยอมแพ้พวกเธอเท่านั้นแหละ
คืนนั้นเราเริ่มสวดประชันกันอย่างเรียบ ๆ จนไปถึงบทกล่อมที่คุณชีเธอสวดกล่อมให้คนฟังร้องไห้กันงืดงาดจบลงแล้ว คณะของข้าพเจ้าก็สวดต่อด้วยทำนองสำเนียงมอญ แต่แทนที่จะเป็นมอญเศร้าตามฟอร์มของมอญ กลับเป็น “มอญร่าเริง” โดยนำเอาการสวดสหัสนัยบทสุดท้ายที่ว่าด้วยความเป็นใหญ่ คือ “อธิปเตยย” (อธิปไตย) ขึ้นต้นว่า “ทุกคะปะต้อยปะตอง.....ช้อน....เตี่ยติป๊ะตอยยอง.... หวี่รีเหยี่ยติป๊ะตอยยอง.....ต่าลาวี่มองสา...ติป๊ะตอยยอง.....” แล้วก็ผันมาเป็นภาษาไทยว่า “ทุกขา...ปะฏิปทาทัณทาภิญญา...ฉันทาธิปะเต้ยยัง...แม่ชีคนหัวมีผัวรึยัง.....วิริยา..ธิปะเต้ยยัง แม่ชีคนรอง มีท้องรึยัง.....จิตตาธิปะเต้ยยัง..แม่ชีคน ที่สามน่าหม่ำเสียจัง วิมังสาธิปะเต้ยยัง แม่ชีคนที่สี่ รักพี่เณรหรือยัง .....เท่านี้แหละครับ คนฟังหัวเราะกันฮาตึงเลย
การร้องข้อความดังกล่าวไม่ใช่จะร้องพร้อม ๆ ทุกคำนะครับ เราร้องกันในวิธีที่เรียกว่า “ลูกล้อลูกขัด” (ลูกเล่นลูกขัดก็ว่า) เช่น ร้องพร้อมกันว่า “ฉันทาธิปะเต้ยยัง..” คอที่หนึ่ง-สอง หยุดเสียง เณรเชียรซึ่งเป็นคอสาม ร้องเดี่ยวว่า “แม่ชีคนหัว...” คอสี่คือผมก็ร้องต่อว่า “มีผัวรึยัง” หลวงพี่สององค์เป็นพระจะร้องถามคุณชีอย่างนั้นไม่ได้ โยมจะหาว่า “เกี้ยวหญิง” ถูกปรับอาบัติสังฆาทิเสสเลยทีเดียว ดังนั้นหน้าที่ร้องถามคุณชีว่า “มีผัวรึยัง มีท้องรึยัง น่าหม่ำเสียจัง รักพี่เณรรึยัง” จึงเป็นหน้าที่เณรเชียรกับเณรเต็มที่ไม่มีอาบัติสังฆาทิเสสค้ำคอ ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ พวกเราสวดวนเวียนในบทเดิม แต่เปลี่ยนคำไทยแทรกเข้าไปอีก คือหลังจากร้องถามคุณชีแล้ว ก็ลามเข้าไปในครัว ตั้งคำถามให้คล้องจองกับคำสวดบาลี เช่นว่า “ฉันทิปะเต้ยยัง...คนอยู่ในครัว..มีผัวแล้วรึยัง” เล่นเอาแม่ครัวบางนางเต้นออกมาจากในครัวแล้วลอยหน้าลอยตาร้องว่า “ยังไม่มีเลยจ้า...” ก็ฮาครืนกันอีกรอบ
คืนนั้นปรากฏว่า “คุณชี” สวดแพ้พวกเราอย่างราบคาบ ไม่สามารถสวดให้คนฟังร้องไห้ได้อีกต่อไป เพราะพวกเราทำให้คนฟังหัวเราะกันจนหุบปากไม่ลงเสียแล้ว อีกประการหนึ่ง “คุณชี” เธอยังเป็นสาวที่อยู่ในวัยใส พอถูกพวกเรา “สวดเกี้ยว” เอาอย่างว่า ก็อายจนสวดเสียงแทบไม่ออก มองค้อนคู่แข่งไม่รู้กี่ตลบเลยก็แล้วกัน
การที่พระสวดประชันชีอย่างนี้ ภาษานักสวดเขาเรียกกันว่า “ปล้ำชี” เช่นพูดว่า “คืนนี้ผมไม่อยู่วัดจะต้องไปปล้ำชีที่....” ก็เป็นอันรู้กันว่า จะต้องไปสวดสังคะหะประชันคุณชี อย่าข้องใจเลยที่ข้าพเจ้าบอกเล่า (ให้การ) มาว่า ดื่มน้ำอัฏฐบานผสมน้ำกัญชา เล่นหูเล่นตากับสีกาแม่ครัว ส่อเสียดและจีบคุณชี ศีลขาดจนไม่เป็นสามเณรไปเสียแล้วกระมัง?
พฤติกรรมดังกล่าวนั้น พระภิกษุท่านต้องอาบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ แสดงคืนได้ การแสดงอาบัติหรือปลงอาบัติของพระภิกษุ คือการ “สารภาพบาป” กันนั่นเอง
เมื่อพระภิกษุทำการใด ๆ ที่ก้าวล่วงสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีโทษปรับเป็น ทุกกฎ ปาจิตตีย์ เป็นต้น ท่านก็จะสารภาพความผิดแก่เพื่อนพระภิกษุด้วยกัน ด้วยการนั่งหันหน้าเข้าหากัน จะนั่งยอง ๆ หรือนั่งคุกเข่า หรือนั่งพับเพียบ ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก องค์ที่มีอาวุโสน้อยกว่านั่งก้มศีร์ษะต่ำลง องค์อาวุโสมากกว่าไม่ต้องก้มศีร์ษะ องค์อาวุโสน้อยกว่ากล่าวคำสารภาพผิด (บาป) ก่อน องค์อาวุโสมากกว่ากล่าวคำสารภาพทีหลัง คำกล่าวนั้นว่าเป็นภาษาบาลี คือ “สัพพาตา อาปัตติโย.....” แปลความได้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมได้ก้าวล่วงสิกขาบทฝ่าฝืนข้อห้ามของพระพุทธเจ้าแล้ว อย่างนี้ ๆ ขอท่านจงรับรู้ความผิดของกระผมด้วย ผู้รับรู้ก็ตอบว่า เออ รู้ละ ๆ ต่อไปอย่าได้กระทำอีกนะ ผู้สารภาพก็รับปากว่า ขอรับกระผมจะไม่กระทำผิดอีกแล้ว..” อย่างนี้เป็นต้น อาบัติหรือโทษนั้นก็เป็นอันระงับไป แต่ถ้าล่วงอาบัติสังฆาทิเสสข้อใดข้อหนึ่ง สารภาพความผิดอย่างนั้นไม่ได้ ต้องสารภาพท่ามกลางสงฆ์ตั้งแต่ ๒๐ องค์ขึ้นไป และสารภาพกันในสีมาด้วย เมื่อสารภาพแล้วก็กลายเป็น “พระนักโทษ” ต้องอยู่กรรม ซึ่งภาษาพระวินัยเรียกว่า “อยู่ปริวาสกรรม” ตามวินัยบัญัติกำหนดประมาณ ๑๕ วัน จึงจะพ้นผิดได้เป็นพระภิกษุสมบูรณ์ตามเดิม การแสดงอาบัติหรือสารภาพบาปเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้เรามักจะเห็นพระท่านสารภาพกันในเวลาที่จะสวดทำวัดเช้า-วัดค่ำ บ้าง ก่อนทำสังฆกรรมบ้าง ที่หน้าโบสถ์ก็มี ในโบสถ์ก็มี มีคำพูดขำ ๆ ของพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งท่านกล่าวว่า
“เห็นพระนั่งยอง ๆ สององค์หันหน้าเข้าหากันพนมมือแต้ รู้ได้แน่ว่าท่านปลงอาบัติ ถ้านั่งยอง ๆ องค์เดียว นั่นท่านเยี่ยวรดวัด”
ถ้าต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งในสี่ข้อ ไม่ต้องแสดงอาบัติ เพราะพ้นภิกษุภาวะ (คือศีลขาดหรือขาดศีล) หมดความเป็นภิกษุตามพระวินัยบัญญัติแล้ว /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้จากในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๒ - ส่วนสามเณรไม่มีอาบัติ ตามศัพท์แล้วสามเณรแปลว่า “เหล่ากอแห่งสมณะ” คำว่า “สมณะ” แปลว่า “ผู้สงบ” สามเณรจึงเป็นเหล่ากอของผู้สงบ คือสงบกาย วาจา ใจ นั่นเอง คุณชาย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านแปลคำสามเณรไว้น่าฟังว่า “สามเณรคือคนครึ่งวัดครึ่งบ้าน” คือจะเป็นคนบ้านก็ไม่ใช่ จะเป็นคนวัดก็ไม่เชิง มีสภาพเหมือนคนที่กำลังก้าวเท้าเข้าวัด เท้าข้างหนึ่งล่วงเข้าธรณีประตูวัดแล้ว อีกเท้าหนึ่งยังไม่ข้ามธรณีประตูวัด
เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ในปัจจุบันว่า พระภิกษุมีศีล ๒๒๗ คือถือวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ๒๒๗ สิกขาบท ส่วนสามเณรมีศีล ๑๐ ข้อ โดยความเป็นจริงแล้วศีลของพระภิกษุที่มีมาในพระปาติโมกข์ไม่ถึง ๒๒๗ ข้อ เพราะ อนิยต ๒ ข้อ กับ อธิกรณสมถะ ๗ ข้อ เป็นลักษณะการตัดสินอธิกรณ์ ไม่ควรนับเป็นศีล แต่ถ้าจะว่าโดยอนุโลมก็ได้ และศีลหรือสิกขาบทนอกพระปาติโมกข์ยังมีอีกนับไม่ถ้วน ส่วนศีลของสามเณรนั้น ที่จริงก็มี นาสะนังคะ ๑๐ ข้อ ทัณฑะกรรม ๑๐ ข้อ และเสขิยวัตรอีก ๗๕ ข้อ รวมเป็น ๙๕ ข้อ
สามเณรศีลขาดแล้วสามารถต่อใหม่ได้ ส่วนพระภิกษุศีลขาดแล้วขาดเลยไม่สามารถต่อใหม่ได้ บวชใหม่ก็ไม่ได้ และศีลของพระภิกษุที่จะขาดนั้นก็มีเพียง ๔ ข้อ คือ ล่วงละเมิดปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งในจำนวน ๔ ข้อนั้น เป็นเพราะว่าสามเณรศีลขาดแล้วต่อใหม่ได้นี่แหละคุณชายคึกฤทธิ์ท่านจึงว่าสามเณรเป็นคนครึ่งบ้านครึ่งวัด ก็เห็นจริงอย่างท่านว่า ข้าพเจ้าและเพื่อนสามเณรล้วนศีลขาดและต่อศีลกันบ่อย ๆ พวกเรามักต่อศีลกันทุกวันโกน เพราะหลวงพ่ออุปัชฌาย์ท่านกำหนดให้สามเณรต้องต่อศีลทุกเย็นวันโกน คือ ๗ ค่ำ ๑๔ เพื่อให้มีศีลสมบูรณ์ในวันพระที่มีญาติโยมมาทำบุญในวัด ท่านเหตุผลว่า
“วันพระจะมีญาติโยมทำบุญกันมาก สามเณรเป็นปฏิคาหก คือผู้รับสิ่งของจากญาติโยมผู้เป็นทายกทายิกา (ผู้ให้ชาย-หญิง) ดังนั้น สามเณรต้องมีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ด่างพร้อยขาดวิ่น เพื่อทานของทายกทายิกาจะได้มีผลมาก ไม่เป็นการทำบุญสูญเปล่า อย่าหลอกลวงให้ญาติโยม “ไหว้ผิด” เขาไหว้สามเณรก็ให้ถูกสามเณร ไม่ใช่ไหว้สามเณรแต่ไปถูกเด็กวัด สามเณรถ้าศีลขาดเสียแล้ว ก็กลายเป็นเด็กวัดธรรมดาเท่านั้นเอง”
การต่อศีลของสามเณรนั้นไม่มีความยุ่งยากอะไร ไม่เหมือนตอนบวชเป็นสามเณร กล่าวคือตอนบวชเป็นสามเณรนั้นต้องมีพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชา แต่ตอนศีลขาดแล้วต่อศีลใหม่ไม่ต้องมีพระอุปัชฌาย์ ต่อกับพระภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ พวกข้าพเจ้านิยมต่อศีลกันเป็นหมู่คณะ คือมีสามเณรกี่องค์ก็รวมตัวเข้าไปพร้อมกันในอุโบสถหรือกุฏิพระภิกษุองค์ใดองค์หนึ่ง นุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อย กราบพร้อมกันแล้วกล่าวคำขอสมาทานศีล ๑๐ พร้อมกันว่า “เอสาหังภันเต สะระณะสีลัง ยาจามิ ฯลฯ” พระท่านกล่าวคำให้ศีล พวกสามเณรว่าตามจนจบ เท่านี้ก็เป็นสามเณรอันสมบูรณ์ได้แล้ว
เขาว่ากันว่าในสมัยโบราณ สามเณรไทยกินข้าวรวมกับเด็กวัด จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะข้าพเจ้าเกิดไม่ทันครับ.
“ออกเดินทางประพฤติธุดงค์”
ตอนที่เรียนนักธรรมชั้นโทนั้น ในหลักสูตรวิชาธรรมวิภาคกำหนดให้เรียนเรื่องกัมมัฏฐานทั้งส่วนที่เป็นสมถะกัมมัฏฐาน คือที่ตั้งแห่งความสงบใจ กับ วิปัสสนากัมมัฏฐานที่ตั้งแห่งการเรืองปัญญา ผลของการทำใจให้เป็นสมาธิได้แล้วนั้นมีมากมาย ผู้มีอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ล้วนเกิดจากการทำใจให้เป็นสมาธิได้ บรรดาคาถาอาคมขลังศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนั้นก็ล้วนเกิดจากใจเป็นสมาธิทั้งสิ้น
คนวัยหนุ่มมักคึกคะนองอยากเก่งเป็นธรรมดา ข้าพเจ้าสนใจเรื่องคาถาอาคม ความขลังความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ เสาะหา ค้นคว้าตำราไสยศาสตร์ แสวงหาอาจารย์ไสยศาสตร์ เรียนคาถาอาคมชนิดที่เรียกว่า “หลงใหล” เลยก็แล้วกัน ตำราคาถาเวทย์มนต์ต่าง ๆ ข้าพเจ้าเก็บสะสมไว้เยอะ จดจำจากใครต่อใครไว้ก็มาก ขนาดคาถาหัวใจ ๑๐๘ ก็ยังท่องได้จนหมดสิ้น
ปีกึ่งพุทธกาล ที่เรียกกันเป็นทางการว่า “ยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ” คือพุทธศักราช ๒๕๐๐ นั้น ข้าพเจ้ามี “ปีกกล้าขาแข็ง” ขึ้นมาก ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองเต็มเปี่ยมจนล้นใจเสียแล้ว ครั้นหลวงพี่บัณฑิตชักชวนออกเดินทางประพฤติธุดงค์ โดยมีหลวงพี่แพรไปด้วย ข้าพเจ้าก็ตอบตกลงทันที
การออกเดินทางประพฤติธุดงควัตรไม่ใช่ว่าพระภิกษุสามเณรจะทำกันได้ทุกองค์ เพราะเป็นการกระทำที่ยากยิ่ง ข้าพเจ้าเตรียมอุปกรณ์สำหรับใช้ในการออกเดินทางประพฤติธุดงค์ ที่สำคัญก็มีบาตร, กาน้ำ, ย่ามใหญ่, กลด คือร่มใหญ่มีมุ้งคลุม ใช้ผ้าสองผืนคือ จีวร, สบง ส่วนพระท่านมี ๓ ผืน คือจีวร, สบง, สังฆาฏิ นอกนั้นก็มีของใช้เบ็ดเตล็ด เช่น มีดโกน กล่องเข็ม ด้าย เป็นต้น
มีอุปกรณ์เดินทางประพฤติธุดงค์ครบแล้วไม่ใช่จะเดินทางกันได้เลยนะครับ ต้องมี “การขึ้นธุดงค์” กับพระอาจารย์ธุดงค์ที่มีชื่อเสียงเสียก่อนจึงเดินทางได้ เรื่องอาจารย์ธุดงค์นี้ถือว่ามีความสำคัญมาก ผู้ที่เป็นพระอาจารย์ธุดงค์จะต้องเป็นพระที่เจนจัดในการออกเดินทางประพฤติธุดงค์ ท่านจะมีประสบการณ์บอกเล่าหรือแนะนำลูกศิษย์ในการเดินทางเข้าป่าเข้าดงและผ่านไปตามท้องถิ่นชนบทต่าง ๆ ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร พร้อมกับให้คาถาวิทยาคมต่าง ๆ เพื่อใช้ในการออกเดินทางประพฤติธุดงค์ คือ คาถาอธิษฐานแผ่นดินคาถาปักกลด คาถากางกลด คาถาผูกสายกลด (อัพโพกาศ) คาถาถอนกลด คาถาประจุแผ่นดิน เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นพระอาจารย์บางท่านยังสามารถให้การคุ้มครองป้องกันอันตรายแก่ศิษย์ในขณะออกเดินทางประพฤติธุดงค์อีกด้วย
หลวงพี่บัณฑิตพาหลวงพี่แพรกับข้าพเจ้าไปสมัครเป็นศิษย์ “ขึ้นธุดงค์” กับ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นถิ่นของไทยพวนหรือลาวพวน หลวงพ่อโบ้ย เป็นพระภิกษุชราผู้มักน้อย บวชเป็นสามเณรตั้งแต่เด็ก นัยว่าชาติภูมิท่านเกิดในประเทศลาวแล้วเข้ามาอยู่เมืองไทย เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วท่านออกเดินทางประพฤติธุดงค์ไปในถิ่นต่าง ๆ ในประเทศไทย ลาว เขมร พม่า จนกระทั่งชราภาพมากแล้วจึงหยุดการเดินทาง ประพฤติธุดงค์อยู่กับวัด และท่านก็ไม่ยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสด้วย เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง พระเครื่องรางของขลังท่านเป็นที่นิยมของคนทั่วไป เช่นพระมเหศวร เป็นต้น ท่านเป็นพระที่มีความเรียบง่าย เสมอต้นเสมอปลาย มักน้อย สันโดษ ธุดงควัตรที่ท่านไม่ยอมขาดการประพฤติคือ “การบิณฑบาต” ท่านออกเดินรับบิณฑบาตเช้าทุกวัน แม้ฝนตกท่านก็เดินกรำฝนไปตามทางเดินหลังหมู่บ้านที่เคยเดิน กลับจากบิณฑบาตแล้วจะนำข้าวสุกที่ได้มาใส่บาตรพระที่วัดอีกต่อหนึ่ง เป็นการ “เฉลี่ยลาภให้เพื่อนภิกษุด้วยกัน” ท่านติดหมาก ต้องเคี้ยวหมากเป็นประจำจนปากท่านแทบไม่ว่าง ใครไปก้มหัวให้ท่านเป่าขม่อมละก็ ท่านจะพ่นน้ำหมากใส่หัวให้ด้วยทุกคน
นอกจากจะ “ติดหมาก” แล้วหลวงพ่อโบ้ยยังติดน้ำชาซึ่งเป็นชาจีนอีกด้วย การดื่มน้ำชาของหลวงพ่อไม่เหมือนใคร และยังไม่เคยเห็นใครเหมือนท่าน คือท่านไม่รินน้ำชาจากกาหรือป้านใส่ถ้วยชาหรือแก้วน้ำแล้วดื่มหรือจิบเหมือนใคร ๆ เวลาดื่มท่านก็ยกป้านน้ำชาเอาพวยป้านจ่อปาก กระดกก้นป้านให้น้ำชาร้อน ๆ ไหลเข้าปากท่านเลย ดังนั้นพวยป้านหรือกาน้ำชาของท่านจึงมีคราบน้ำหมากจับแดงหนาเปอะเลยทีเดียว ข้าพเจ้าอัศจรรย์ใจมากที่เห็นบางครั้งท่านยกป้านน้ำชาขึ้นเอาพวยใส่ปากอมแล้วดื่มน้ำชาอั้ก ๆ โดยไม่รู้สึกร้อนเลย เพราะมีความเคารพยำเกรงมากแม้สงสัยมากก็ไม่กล้าถามท่าน
พระธุดงค์รุ่นที่ข้าพเจ้าไปรอเวลา “ขึ้นธุดงค์” กับหลวงพ่อโบ้ยวัดมะนาวนั้น มีทั้งพระภิกษุสามเณรรวม ๑๗ องค์ เราพักอยู่ที่วัดมะนาว ๓ คืน เพื่อศึกษาวิธีการเดินธุดงค์และประพฤติธุดงควัตรกับหลวงพ่อโบ้ย แม้ข้าพเจ้าจะเรียนเรื่องธุดงค์ ๑๓ ตามตำราในหลักสูตรนักธรรมชั้นโท ทั้งยังได้ฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ และอ่านตำราที่หลายอาจารย์เขียนอธิบายไว้หลายแง่หลายมุมแล้วก็ตาม ยังถือว่าไม่มีความรู้มากพอ เพราะทั้งนั้นเป็นความรู้ในตำราที่เป็นทฤษฎี ผู้สอนผู้เขียนอาจจะว่าตามความรู้สึกนึกคิดของท่านมากกว่าประสบการณ์ที่ได้จากการประพฤติปฏิบัติ จึงต้องศึกษาข้อปลีกย่อยจากหลวงพ่อโบ้ย ซึ่งเป็นความรู้จากประสบการณ์ของท่าน ได้รายละเอียดเพิ่มเติมจากหลวงพ่อโบ้ยซึ่งท่านสอนตามประสบการณ์ที่ท่านได้พบเห็นมาจากการปฏิบัติด้วยตัวท่านเองบ้าง ได้จากพระนักเดินธุดงค์หลายองค์ผู้เป็นศิษย์หลวงพ่อโบ้ยที่มาขึ้นธุดงค์อีก บอกเล่าประสบการณ์ให้ฟังบ้าง เป็นความรู้นอกตำราเรียนที่หาได้ยากยิ่ง
เมื่อหลวงพ่อโบ้ยอนุญาตให้ “ขึ้นธุดงค์” ได้แล้วข้าพเจ้าตื่นเต้นมาก นักธุดงค์ในรุ่นทั้ง ๑๗ องค์ มีสามเณรเพียง ๕ องค์ พระภิกษุหนุ่ม ๗ องค์ นอกนั้นเป็นพระภิกษุวัยกลางคนและชราภาพ ทั้งหมดเข้าทำพิธี “ขึ้นธุดงค์” ในโรงอุโบสถวัดมะนาวนั่นเอง พอถึงตอนกล่าวคำสมาทานธุดงค์ว่า “ฉันนังปะฏิขิปปามิ รุกขะมูลิกังคังสะมาทิยามิ” ข้าพเจ้าว่าด้วยเสียงสั่นใจหวิวอย่างไรบอกไม่ถูก
พิธีการขึ้นธุดงค์จบลงเมื่อเวลาประมาณ ๔ โมงเย็น หลวงพ่อโบ้ยมอบพระเครื่องแก่พวกข้าพเจ้าคนละหนึ่งพันองค์ เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาองค์ขนาดหัวแม่มือ ใต้องค์พระมีรูปสัตว์ในตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ คือ ไก่, โค, เต่า, นาค, ราชสีห์ บางองค์ขี่ไก่ บางองค์ขี่โค บางองค์ขี่เต่า บางองค์ขี่นาค บางองค์ขี่ราชสีห์ หลวงพ่อสั่งว่าขอให้แจกจ่ายแก่ญาติโยมทั่วไป ห้ามรับเงินทองเป็นสิ่งตอบแทน (ห้ามขายนั่นแหละ) เป็นอันขาด ข้าพเจ้ารับพระเครื่องนั้นไว้ด้วยความจำใจ ที่ว่าจำใจรับก็เพราะรู้สึกว่า พระดินเผาตั้งพันองค์หนักไม่น้อยเลย ไหนจะต้องแบกกลด สะพายบาตร หิ้วกาน้ำ อีรุงตุงนังก็หนักมากพออยู่แล้ว ยังต้องมาเพิ่มน้ำหนักจากพระเครื่องอีก จึงไม่เป็นเรื่องที่น่ายินดีเลยครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๐มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๓ - พอออกจากวัดมะนาวก็เจอปัญหาหนักใจเสียแล้ว หลวงพี่บัณฑิตหัวหน้าคณะไม่ได้ร่วมเดินทางด้วย ท่านให้ข้าพเจ้ากับหลวงพี่แพรผู้ไม่เคยออกเดินธุดงค์เลย พากันเดินทางตัดทุ่งสุพรรณบุรีมุ่งสู่ทุ่งบางซ้าย นัดแนะให้พวกข้าพเจ้าปักกลดรอคอยอยู่ตามหลังหมู่บ้านในละแวกวัดบางซ้ายนอก-บางซ้ายใน ส่วนตัวท่านเดินทางไปทางเหนือตัวเมืองสุพรรณบุรีเพื่อโปรดญาติโยมของท่านก่อน ข้าพเจ้ากับหลวงพี่แพร ลงเรือข้ามฟากจากวัดมะนาวได้ก็แบกกลดสะพายบาตร ย่ามใหญ่และหิ้วกาน้ำ เดินตัดทุ่งไปทางประตูน้ำบางยี่หน พลบค่ำก่อนถึงประตูน้ำ หาทำเลทุ่งนาใกล้หมู่บ้านปักกลดแรมคืนกันอย่างทุลักทุเล
ปักกลดครั้งแรกหลวงพี่แพรกับข้าพเจ้าตื่นเต้นพอ ๆ กัน เรากะระยะปักกลดห่างกันชั่วขว้างก้อนดินตก ว่ากันตามระเบียบเปี๊ยบเลยก็แล้วกัน ความที่ตื่นเต้นของข้าพเจ้าทำให้ว่าคาถาอธิษฐานแผ่นดินผิด ๆ ถูก ๆ อธิษฐานแผ่นดินเสร็จก็ปักกลด ขณะตอกหลักกลดก็ว่าคาถาปักกลดอีกบทหนึ่ง เมื่อตอกหลักเสร็จ เอาด้ามเสากลดสวมลงกับหลักแล้วขึงสายอัพโพกาศ (ไม่ใช่สายอากาศ) ซึ่งมี ๓ สาย โยงจากยอดกลด ปลายสายปักลงดินให้กลดมั่นคงในการต้านลม ตรงนี้ก็ต้องว่าคาถาอีก คาถาทุกบทล้วนท่องได้มาใหม่ ๆ และใช้เป็นครั้งแรก บวกกับความตื้นเต้น ใครไม่ว่าผิด ๆ ถูก ๆ ก็เก่งเกินไปละครับ
เมื่อกางกลดได้สักพักหนึ่ง ก็มีชาวบ้านประมาณ ๑๐ คนเห็นจะได้ พากันเข้ามาพูดคุยโดยมีน้ำตาลปึกและน้ำอ้อยงบมาถวายหลวงพี่แพรและข้าพเจ้าด้วย และก็เริ่มวิสาสะด้วยคำถามง่าย ๆ จากชาวบ้านก่อนว่า “ท่านมาจากไหน จะไปไหน?” ข้าพเจ้าก็ตอบตรง ๆ แบบประหยัดคำพูดไม่อธิบายอะไรให้ยืดเยื้อ ก่อนลากลับมีโยมบางคนกระซิบขอเลข ๓ ตัว ๒ ตัว ข้าพเจ้าก็ปฏิเสธ อ้างว่าเพิ่งออกธุดงค์วันแรก ไม่รู้อะไรเลย
ปีนั้น “กึ่งพุทธกาล” คือพุทธศักราช ๒๕๐๐ ที่ทางการบัญญัติศัพท์เรียกกันว่า “๒๕ พุทธศตวรรษ” หวยเถื่อนหรือหวยใต้ดินกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในสังคมคนไทยระดับกลางและระดับล่าง พระเณรเถรชีคนในวัด ญาติโยมคนนอกวัดมักเล่นกันทั้งนั้น อาจารย์ให้หวยมีทั้งพระทั้งผี เจ้าพ่อเจ้าแม่ ต้นไม้ใหญ่สัตว์ประหลาดต่าง ๆ มากมาย พระพุทธรูปบางองค์ ต้นไม้บางต้น ถูก “คนบ้าหวย” ขูดขัดถูหาตัวเลขกันเสียจนเป็นมันเลื่อมเลย พระเกจิอาจารย์ดัง ๆ เช่น หลวงพ่อนอท่าเรือ, หลวงพ่อเสืออยุธยา, หลวงพ่อนกกระเต็นวัดดอน เป็นต้น ล้วนกลายเป็นขวัญใจ “คนบ้าหวย” ทั้งนั้น ชาวบ้านเห็นพระธุดงค์เหมือนเทวดาลงมาโปรด พากันเข้านั่งรุมล้อมขอหวยด้วยความหวังลม ๆ แล้ง ๆ
อาจารย์หรือพระบางองค์ท่านก็ “บ้า” ไปตามชาวบ้าน ใครมาขอหวยท่านก็จะให้ด้วยการบอกตัวเลขตรง ๆ บ้าง บอกใบ้ให้บ้าง ถ้าไม่บอกให้เลข ชาวบ้านก็จะหาวิธีขอด้วยการถามว่า ท่านอาจารย์ฝันอะไรบ้าง บางคนก็นั่งเฝ้าดูอาการกิริยาของพระอาจารย์ว่า ท่านจับสิ่งของอะไร พูดอะไร แล้วเอาไปคิดเป็นเลขหวย ก่อนออกเดินธุดงค์ข้าพเจ้าเองก็เคยไปเที่ยวหาอาจารย์หวย ขอเลข ขอใบ้ท่านมาเล่นหวยกับเขาเหมือนกัน บรรพชิตเพศ แต่งเครื่องแบบของนักบวช แต่จิตใจก็เป็นเหมือนปุถุชน (คนที่หนาแน่นด้วยกิเลส) ดังนั้น พระเณรจึงอยากร่ำรวยเหมือนชาวบ้านทั่วไปนั่นแหละครับ แต่ตอนออกเดินธุดงค์นี่ข้าพเจ้า “เปลี่ยนไป” มีความเคร่งครัดในสมณะสารูปมาก ญาติโยมมาขอหวยก็ไม่ยอมให้ แต่จะมีใครจับคำพูดและกิริยาอาการของไปคิดเป็นเลขหวยบ้าง ข้าพเจ้าไม่รู้จริง ๆ
คืนแรกของการออก “ชิมรสธุดงค์” ปักกลดใกล้หมู่บ้านในเขตอำเภอบางปลาม้า เวลาตกดึกแล้วขาวบ้านที่มานั่งล้อมกลดสนทนาปราศรัยด้วยความหวังในเลขหวย พากันลากลับไปหมดแล้ว ข้าพเจ้าจุดธูปเทียนปักพื้นดินข้างกลด ทำการไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน ทำสมาธิภาวนา คำภาวนาในการทำสมาธิของข้าพเจ้าก็ทำตามที่หลวงพ่อโบ้ยสอนให้ทำ คือภาวนาพุทธคุณในบทว่า “อะระหัง” เป็นอารมณ์ การสวดมนต์ก่อนนั่งสมาธิภาวนานั้น ข้าพเจ้าเริ่มสวดตั้งแต่เจ็ดตำนานเลยไปจนถึงสิบสองตำนาน ว่าหมดทุกบทที่ท่องจำได้ โดยหวังว่าบทพระพุทธมนต์ต่าง ๆ ที่สาธยายนั้น จะเป็นมนต์คุ้มกันภัยอันตรายให้ เพราะไม่รู้ว่าบทไหนจะขลังอย่างไร จึงระดมสวดเสียทั้งหมด ก็เหมือนคนที่นิยมพระเครื่องรางของขลังนั่นแหละครับ เอาพระพิมพ์หลายองค์มาไว้กับตัวเพราะไม่แน่ใจว่าองค์ไหนจะขลังในทางคงกระพันชาตรีหรือเมตตามหานิยม โชคลาภ ก็เอามาเลี่ยมคล้องคอเป็นพวงใหญ่เลย
หลังจากนั่งทำสมาธิภาวนาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ใช้ผ้าอาบน้ำฝนเป็นผ้าปูนอนบนซังข้าว นอนเอาหัวหนุนก้อน “ขี้แต้” (คือโขดดิน) เป็นคืนแรกในชีวิตที่นอนในสภาพดังกล่าว ลมหนาวในคืนข้างแรมเดือนยี่โชยโกรกละเลียดทุ่งนาที่เต็มไปด้วยซังข้าว พร้อมน้ำค้างพร่างพรม ดวงเดือนคืนข้างแรมทอแสงเคล้าสายหมอก อากาศเย็นยะเยือก มีไออุ่นที่ดินคายออกมาให้พอบรรเทาความหนาวได้บ้าง มุ้งถูกลมพัดแรงจนเชิงชายปลิวปะทะเสากลด ข้าพเจ้าลุกขึ้นเอาบาตร กาน้ำ ขวานตอกเสากลด ย่ามใหญ่ และฝาบาตรใส่เทียนไข วางทับตีนมุ้งกันไม่ให้ลมพัดปลิวอีก แล้วล้มตัวลงนอนภาวนาคำว่า “อะระหัง ๆๆๆๆๆๆๆ” จนหลับไป สะดุ้งตื้นตอนค่อนคืนไดยินเสียง “โฮก ๆๆๆ!” ใจหายวาบ นอนนิ่ง ตัวชา ใจคิดไปว่าเสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงเสือร้าย เพราะเคยได้ยินได้ฟังเขาเล่ากันว่า พระรุกขมูลหรือพระธุดงค์มักจะพบการทดลองวิชาอาคม ความขลังจากนักไสยศาสตร์เสมอมา นักนิยมวิชาไสยศาสตร์ที่ว่านี้มีทั้งพระและฆราวาส เป็นชาวพุทธบ้าง อิสลามบ้าง พระธุดงค์บางองค์ถูกเขาลองวิชาจนมรณภาพ (ตาย) ไปก็มี เสียสติป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ไปก็มี พระธุดงค์ที่ถูลองวิชาจนประสบสภาพดังกล่าวส่วนมากเป็นพระออกธุดงค์ใหม่ ๆ อย่างหลวงพี่แพรกับข้าพเจ้านี่แหละ
ได้ยินเสียง “โกรก ๆ...โฮก ๆ” ก็คิดเอาว่าคงจะถูกใคร “ลองวิชา” โดยการแปลงร่างเป็นเสือมาทำร้ายเสียแน่แล้ว!
พอคิดว่ามี “เสือวิชา” มาคุกคามเท่านั้นแหละ ความหวาดกลัวมันวิ่งกรูกันมาจากไหนก็ไม่รู้ แล้วจู่โจมเข้าจับหัวใจของข้าพเจ้าโยนเล่นกันอย่างสนุกมือไปเลย ใจของข้าพเจ้าเต้นไม่เป็นจังหว ะ คิดท่องคาถาอะไรไม่ได้เลยสักบทเดียว ความหวาดกลัวมันอุดหนทางปัญญาความคิดจนตันไปหมด นอนตัวแข็งทื่อไม่กล้ากระดุกกระดิก แม้แต่จะหายใจแรง ๆ ก็ไม่กล้า ดวงตาทั้งสองข้างก็ไม่กล้าลืมขึ้น เพราะกลัวว่าจะพบภาพเสือร้าย
อากาศกลางดึกหนาวเย็นยะเยือกก็จริง แต่ตอนนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่ามันร้อนอบอ้าวจนเหงื่อแตกออกทั่วกาย คิดว่าชีวิตคงจบสิ้นเสียเป็นแน่แท้ อย่างน้อย ๆ ถ้าคน “บ้าวิชา” จะกรุณาก็อาจจะทำให้ข้าพเจ้ากลายเป็นเณรบ้า ๆ บอ ๆ ไปองค์หนึ่งเท่านั้นเอง
ข้าพเจ้านอนนิ่งปล่อยใจให้เตลิดเปิดเปิงไปในกระแสธารแห่งความกลัวนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ สะดุ้งผวาขยับกายได้ก็ต่อเมื่อกระแสลมกระโชกแรงมากจนฝาบาตรที่ใส่เทียนไขวางทับตีนมุ้งนั้น ถูกตีนมุ้งสะบัดกระเด็นมาตบหน้าข้าพเจ้าฉาดใหญ่ ตีนมุ้งเปิดโล่ง ข้าพเจ้าทะลึ่งลุกขึ้นด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูกว่ากลัวหรือไม่
นั่งนิ่งส่งสายตามองฝ่าสายหมอกออกไปในทุ่งกว้าง ไม่เห็นร่างเสือร้ายตรงหน้า ค่อย ๆ เหลียวซ้ายแลขวามองไปรอบกลดก็ไม่พบเห็นอะไร มีแต่กลดหลวงพี่แพรปักตะคุ่มขาวอยู่ใต้เงาจันทร์ ความกล้าค่อย ๆ คืบคลานมาสู่ความรู้สึก ความกลัวค่อย ๆ ล่าถอยไป สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัวเกิดขึ้น ความโง่เขลาเบาปัญญาหมดไป คาถาอาคมบทต่าง ๆ ก็คิดได้ท่องได้หมด
ข้าพเจ้าจัดการกันตีนมุ้งใหม่ เอาเทียนไขใส่ฝาบาตรทับตีนมุ้งเหมือนเดิม แล้วนั่งดูมุ้งที่ถูกลมพัดหนักเบาเป็นระยะ ๆ เห็นเทียนไขในฝาบาตรกลิ้งไปมาตามแรงลมกระพือมุ้งดังโกรก ๆ จึงรู้ได้ชัดว่า เจ้าเสียงโฮก ๆ เหมือนเสียงเสือร้องก็คือเสียงเทียนไขกระทบฝาบาตร
เพราะลมพัดมุ้งพะเยิบพะยาบนี่เอง ไม่ใช่เสียงเสือสางแม่นางโกงที่ไหนหรอกครับ เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็นอนหลับสบาย /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๒มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๔ -
ตื่นเช้ากล่าวคำสมาทานธุดงค์อีกครั้งแล้วออกบิณฑบาต โดยมีหลวงพี่แพรนำหน้าเดินเลียบเลาะไปตามริมรั้วหมู่บ้าน พอเดินไปจนเห็นว่าไกลพอสมควรแล้วจึงย้อนกลับกลด มาถึงกลดก็พบญาติโยมทายกทายิกานำอาหารหวานคาวนั่งรอถวายอีกนับสิบคนทีเดียว หลวงพี่แพรกับข้าพเจ้าฉันอาหารโดยวิธีเดียวกันคือ เอาข้าวสุก อาหารคาว มีต้ม แกง เป็นต้น และของหวานทุกชนิด ใส่บาตรแล้วคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน ใช้มือเปิบเข้าปาก ด้วยอาการสำรวมตามเสขิยวัตรบัญญัติ รสชาติของอาหารรวม (หรือสำรวม) ที่กินมื้อแรกเป็นรสแปลก มีเปรี้ยว เค็ม เผ็ด หวาน มัน ผสมกัน อร่อยไปอีกแบบหนึ่ง ข้าพเจ้ากินเต็มที่ไม่กล้ากินน้อยเพราะกลัวหิวตอนเย็น ก็ขนาดที่กินวันละ ๒ มื้อตอนอยู่วัด ตกเวลาค่ำยังหิวจนต้องแอบกินข้าวค่ำกันบ่อย ๆ ตอนออกเดินธุดงค์นี่กินมือเดียว “ก็ต้องล่อกันให้พุงกางละครับ”
ฉันอาหารอิ่มแล้ว “ยะถา สัพพี...” ให้พรญาติโยม (ภาษาพระเรียกว่า อนุโมทนา) ตามธรรมเนียม หลวงพี่แพรกับข้าพเจ้าก็ควักพระพิมพ์ดินเผาของหลวงพ่อโบ้ย ออกจากย่าม แจกญาติโยมตามคำสั่งของหลวงพ่อ ข้าพเจ้าแจกให้คนละหลาย ๆ องค์ด้วยตั้งใจจะแจกให้หมดเร็ว ๆ จะได้ไม่ต้องใส่ย่ามสะพายให้หนักต่อไป พวกญาติโยมพอรู้ว่าเป็นพระหลวงพ่อโบ้ยก็พากันรับไว้ด้วยความดีใจ เพราะเขามีความเคารพเลื่อมใสหลวงพ่อมากอยู่แล้ว มีบางคนที่บ้าหวยก็นับจำนวนองค์พระที่ผมแจกออกเป็นตัวเลขแล้วไปซื้อหวยใต้ดิน และเหมาเอาว่าข้าพเจ้า “บอกใบ้ให้หวย” นั่นแหละ แจกพระเสร็จแล้วก็บอกลาญาติโยมที่บ้าหวยและไม่บ้าหวยทั้งหลายนั้น ว่าคาถาเก็บมุ้ง คาถาถอนสายอัพโพกาศ คาถาถอนกลดแล้วสะพายบาตร สะพายย่ามใหญ่ หิ้วกาน้ำ แบกกลดยืนเหยียบหลุมรอยที่ปักกลด ว่าคาถาประจุแผ่นดิน เสร็จแล้วเดินทางจากทุ่งบางปลาม้ามุ่งหน้าสู่ทุ่งบางซ้ายโดยยึดแนวหมู่บ้านตามริมแม่น้ำสายสุพรรณบุรีบ้านแพนเป็นหลักในการเดินทาง
ทุ่งสุพรรณบุรีเป็นทุ่งมีเขตติดต่อกับทุ่งอยุธยารวมกันเป็นทุ่งใหญ่กว้างไกลสุดสายตา ยามนั้น ชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วบ้างยังไม่แล้วเสร็จบ้าง บางตอนน้ำแห้งสนิท บางตอนแห้งพอหมาด ๆ บางตอนนั้นยังมีน้ำขังเฉอะแฉะ พวกข้าพเจ้าต้องเดินแบกกลดสะพายบาตร บุกลุยเลนตมและซังข้าวผ่านบ้านคลองโมง องครักษ์ ไผ่กองดิน บ้านสุด บ่อหัวกรวด พ้นเขตสุพรรณบุรี เข้าเขตอยุธยา ใช้เวลาเดินทาง ๔ วัน ๔ คืน ด้วยเหตุการณ์เป็นปกติ ไม่พบเรื่องตื่นเต้นอะไร ข้าพเจ้าเริ่มปรับตัวได้ ผิวเนื้อที่ถูกแดดลมเริ่มดำคล้ำเข้ากับสีกรักของสบง จีวรที่นุ่งห่ม คุ้นกับ “การนอนกับดินกินกับทราย” มากขึ้น ที่ไม่ดีก็คือฝ่าเท้าทั้งสองถูกเปลือกหอยบาดเป็นแผลหลายแห่ง แข้งขาทั้งสองถูกซังข้าวบาดเป็นแผลลายไปหมด พวกชาวบ้านที่พบเห็นพวกข้าพเจ้าแล้ว เขาพาก็กันตื่นเต้นมาก เพราะนาน ๆ ทีจึงจะมีพระธุดงค์เดิน “ลุยทุ่ง” มาโปรดพวกเขาสักครั้ง
ชาวบ้านส่วนมากเขาเรียกพระธุดงค์อย่างพวกข้าพเจ้าว่า “พระหัสดง” ได้ยินครั้งแรก ๆ ก็งง และนึกขำขันที่เขาเรียกผิด แต่พอมีเวลาว่าง ๆ นั่งนึกคิดดู ก็เห็นว่าเขาน่าจะเรียกถูกเหมือนกัน เพราะว่าพระธุดงค์จะแบกกลดสะพายบาตรหิ้วกาน้ำออกเดินทางในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาดวงอาทิตย์ตก พอดวงอาทิตย์อัศดง คือตกดิน ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หัสดง” พระธุดงค์ก็จะหยุดเดิน ปักกลดแรมคืน นั่งสวดมนต์ภาวนาไปตามกิจหรือภาระที่ตั้งใจรับปฏิบัติ
วันแรกที่แบกกลดเดินลุยทุ่งถึงถิ่นของตนเอง หลวงพี่แพรกับข้าพเจ้ามีความเห็นตรงกัน คือปักกลดอยู่ห่างจากวัดบางซ้ายในประมาณ ๓ กิโลเมตร โปรดญาติโยมชาวบางซ้าย โดยจะไม่ถอนกลดจนกว่าหลวงพี่บัณฑิตกลับจากสุพรรณบุรีจะมาสมทบแล้วพาออกเดินทางต่อไป
ญาติโยมเห็นพระธุดงค์มาปักกลดอยู่ในทุ่งหลังหมู่บ้าน ก็ออกมาดูด้วยความตื่นตาตื่นใจ เพราะนาน ๆ จึงจะเห็นมีพระธุดงค์ “มาโปรด” สักที แต่พอรู้เห็นว่าพระธุดงค์ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้คือพระแพรซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ในละแวกนั้น กับเณรเต็มศิษย์ใกล้ชิดพระมหาไวย์วัดบางซ้ายในนี่เอง เท่านั้นแหละข่าวก็แพร่ออกไปตามบ้านอย่างรวดเร็ว ทุกคนกล่าวชื่นชมกันว่า หลวงพี่แพรกับเณรเต็มเก่ง ที่กล้าสามารถออกเดินธุดงค์ และประพฤติธุดงค์ซึ่งพระเณรน้อยองค์ยากที่จะทำได้
โยมบางคนที่สนิทสนมกับข้าพเจ้าชนิดที่เรียกว่า “รู้ไส้รู้พุง” กันอย่างดี ก็พูดหยอกล้อ กระเซ้าเย้าแหย่ เช่นว่า “จะเอากลดเอาบาตรไปทิ้งเสียเน้อ....!” ความหมายก็คือ เดินธุดงค์ไปแล้วจะพบหญิงสาวมาชอบพอและชวนสึกอยู่กินกับเธอเสีย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พระธุดงค์พบกันบ่อย ๆ และเรียกกันว่า “ถูกธิดาพญามารผจญ” พระธุดงค์หลายองค์ออกธุดงค์แล้วหายเงียบไป โผล่กลับมาอีกทีก็อุ้มลูกจูงเมียมากราบสมภารเสียแล้ว แสดงว่าพ่ายแพ้ธิดาพญามาร ตกเป็นทาสเมียทาสลูกไปโดยปริยาย สาว ๆ ที่เคย “เล่นหูเล่นตา” กันหลายคนรู้ว่าเณรเต็มออกเดินธุดงค์มาปักกลดอยู่หลังหมู่บ้านก็พากันออกมาเยี่ยมเยือน ถามถึงเรื่องราวที่ได้พบเห็นในการเดินทาง บางคนก็ถามว่านั่งสมาธิได้เห็นเลขอะไรบ้างไหม? บางนางที่คะนองปากก็ว่า “พี่เณรอย่าเอาบาตรไปทิ้งที่อื่นนะ สงสารสาวบางนี้บ้าง” บางนางก็กระเซ้าเย้าแหย่ว่า “พี่เณรอย่าไปนานนะ รู้มั้ยใครทางนี้เขาคิดถึงมากน่ะ” คำพูดหยอกเย้าของแต่ละคนสร้างความรู้สึกสับสนในใจของข้าพเจ้ามาก ใจหนึ่งคิดว่า “ธิดาพญามารมาผจญเราแล้ว! เราจะต้องต่อสู้เอาชนะธิดาพญามารให้ได้ ดาหน้าเข้ามาเถิดนางตัณหา นางราคา นางอรดีเอ๋ย เราไม่กลัวเจ้า เพราะเราเป็นศิษย์พระตถาคตเจ้า” คิดแล้วก็นั่งยิ้มไม่โต้ตอบคารมใคร ๆ ซึ่งคิดเห็นว่าทำถูกและดีที่สุดแล้ว
คืนนั้นข้าพเจ้า “นอนกะดิน” หลังหมู่บ้านใกล้วัดของตัวเองหลับอย่างมีความสุข ความกระหยิ่มยิ้มย่องลำพองใจ ที่ได้จากคำยกย่องชมเชยจากญาติโยมมีมาก จนความสำคัญตนเองว่า “เป็นผู้เลิศกว่าใคร” เกิดขึ้นในความรู้สึกรุนแรงจนห้ามไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่รู้จากตำราเรียนว่าความสำคัญตนดังกล่าวเป็น “มานะ” อกุศลธรรมที่ไม่มีความดีงามเลย พระพุทธองค์สอนให้ละทิ้งและทำลายมันเสีย แต่ข้าพเจ้ากลับปล่อยให้มันเกิดพอกพูนขึ้นในใจเหมือน “ดินพอกหางหมู” นั่นเทียว ด้วยตระหนักว่า มันเป็นธรรมดาของคนที่อยู่ในวัยรุ่นคะนอง เด็กหนุ่มเด็กสาว “วัยหวาน” เมื่อได้รับคำชมเชย สรรเสริญเยินยอก็มักเหิมเกริม เด็กหนุ่มเสียคนเพราะถูกคนอื่นยกยอปอปั้นมานักต่อนัก เด็กสาวเสียสาวเสียตัว เสียผู้เสียคน เพราะคำหวานป้อยอ มีมากทุกยุคทุกสมัยเช่นกัน จึงพยามยามข่มใจเมื่อถูกคำชมรุมเร้าอารมณ์
ข้าพเจ้ากับหลวงพี่แพรปักกลดรอหลวงพี่บัณฑิตอยู่ ๖ วัน ตลอดเวลาที่รอคอยจะมีญาติโยมเพื่อนฝูงเวียนกันมาเยี่ยมเยือนผมไม่ขาด ตอนเย็นและตอนหัวค่ำพระเณรในวัดออกไปคุยสารพัดเรื่อง และก็อดที่จะกระเซ้าเย้าแหย่ไม่ได้ หลวงพี่บางองค์ท่านล้อว่าเณรเต็มเป็น “ลิงล้างก้น” มีความหมายว่า เดิมข้าพเจ้าอยู่วัดร่วมกับเพื่อนฝูงเป็นเณรที่ซุกซนไม่แพ้ใคร ๆ แต่พอออกธุดงค์กลับกลายเป็นเณรที่เคร่งครัดสำรวมกายวาจาเรียบร้อยน่าเลื่อมใส น่าเคารพศรัทธาได้อย่างไม่น่าเชื่อ เรื่องนี้ข้าพเจ้าเองก็นึกอัศจรรย์ใจตนเองเหมือนกัน! ความรู้สึกคึกคะนองทะลึ่งตึงตังของข้าพเจ้าไม่รู้มันหดหายไปไหนหมด ในใจมีแต่ความละอายต่อบาปและกลัวต่อบาปทุจริต ไม่กล้าพูดกล้าทำในสิ่งไม่ดีไม่งามนานา ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะอานุภาพของธุดงควัตรที่สมาทานมาประพฤติอยู่ก็ได้ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๓มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๕ - หลวงพี่บัณฑิตเดินทางจากสุพรรณบุรีมาสมทบกับพวกข้าพเจ้าที่บางซ้าย แล้วพาออกเดินทางต่อ โดยมุ่งหน้าไปนมัสการ (ไหว้) พระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี เดินลัดทุ่งบางซ้ายผ่านเจ้าเจ็ด บ้านแพน บางบาล เข้าสู่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ปักกลดอยู่ในวังโบราณที่รกครึ้มด้วยต้นพุทราเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน มีโยมผู้ใจบุญซื้อตั๋วรถไฟถวายให้ขึ้นรถไฟเดินทางไปลงที่สถานีรถไฟบ้านหมอ แล้วแบกกลดเดินเท้าต่อไป ถึงพระพุทธบาทวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ เป็นเวลาใกล้วันไหว้พระพุทธบาทที่กำหนดไว้คือ “กลางเดือน ๓” หลวงพี่บัณฑิตพาพวกเราเข้าไปในวังโบราณ ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งคณะกรรมการจัดงานนมัสการพระพุทธบาทกำหนดให้พระธุดงค์ปักกลดรวมอยู่ด้วยกัน
ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นตาตื่นใจกับภาพและบรรยากาศที่ได้สัมผัสพบเห็น เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ไปพระพุทธบาท ดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ในความรู้สึกของชาวพุทธ
สมัยนั้นพุทธศาสนิกชนในจังหวัดภาคกลางแห่งประเทศไทยคนไหนได้ไปไหว้พระพุทธบาท (ท่าเรือ) จังหวัดสระบุรีแล้ว จะคุยอวดเพื่อนได้อย่างภาคภูมิ ข้าพเจ้ามีความปรารถนาจะไปนมัสการพระพุทธบาทตั้งแต่บวชเป็นสามเณรใหม่ ๆ แล้ว ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้นมัสการพระพุทธบาทสมปรารถนาก็ต้องตื่นตาตื่นใจ และตื่นเต้นเป็นธรรมดา แม้ยังไม่ถึงกำหนดงานนมัสการรอยพระพุทธบาท แต่ก็มีร้านค้าผู้คนไปเที่ยวเต็มรอบบริเวณตลาดอำเภอพระพุทธบาท บนภูเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทก็มีผู้คนเดินขึ้นลงและเข้าถ้ำกันอย่างเนืองแน่น พระธุดงค์จากทุกสารทิศเดินทางไปปักกลดในบริเวณวังโบราณเต็มพืดไปหมด สถานที่ไม่พอให้ปักกลด จึงล้นออกไปปักกลดกันในบริเวณที่เรียกว่า “ท้ายพิกุล” นอกวังโบราณ แน่นขนัดไปหมดเหมือนกัน กลดพระธุดงค์ที่ปักกางอยู่ในวังโบราณและท้ายพิกุลนั้น ถ้าขึ้นไปยืนมองลงมาจากภูเขาพระพุทธบาทแล้วจะเห็นเป็นเหมือนกับดอกเห็ดบานเต็มพื้นที่สวยงามมากทีเดียว
ข้าพเจ้ากับหลวงพี่แพร หลวงพี่บัณฑิต ปักกลดอยู่ใต้ต้นพุทราในวังโบราณ ได้พบพระภิกษุที่รู้จักชอบพอกันมาก่อนหลายองค์ ซึ่งออกเดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ในวังโบราณเช่นกัน บางองค์อยู่ใกล้กัน บางองค์อยู่ไกลกัน การปักกลดในสถานที่นี้พระธุดงค์ท่านไม่ถือกฎเกณฑ์ที่ว่าต้องปักกลดห่างกันในระยะชั่วขว้างก้อนดินตก เพราะสถานที่ไม่อำนวยให้ทำตามกฎเกณฑ์นี้ บางองค์ “เก็บธุดงค์” บางอย่างเหลือไว้ประพฤติเพียง “ถือผ้าสามผืน, ถือการบิณฑบาต” เท่านั้น
พระธุดงค์ที่ปักกลดอยู่ในบริเวณพระพุทธบาทยามงานนมัสการพระพุทธบาทนี้มีหลายประเภท ข้าพเจ้าได้รู้ได้เห็นพฤติกรรมของพระบางประเภท ทั้งที่เป็นพระธุดงค์และพระไม่ประพฤติธุดงค์ ซึ่งไปในงานแล้วสลดใจ เสื่อมศรัทธาในพระสงฆ์องค์เจ้าไปมากเลยทีเดียว จากปีนั้นมาถึงปีนี้ (ที่กำลังให้การฯอยู่นี่) เป็นเวลานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว พฤติกรรมย่ำยีคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระภิกษุบางองค์กระทำกันในงานนมัสการพระพุทธบาทนั้นยังมีอยู่ ข้าพเจ้าไม่ได้ไปดูไปเห็น แต่ก็ติดตามฟังข่าวจากผู้ที่ไปพบเห็นมาบอกเล่า ก็เหมือน ๆ กับสมัยที่ได้ไปสัมผัสมาด้วยตนเองนั่นแหละครับ
ท่านสาธุชนทั้งหลายโปรดอย่าหาว่าข้าพเจ้านำความชั่วของพระธุดงค์ที่นั่นมาประจานกันในที่นี้เลย ข้าพเจ้าคิดว่า หากนำความไม่ดีไม่งามนั้น ๆ มาเปิดเผยแล้ว อาจจะมีคนดีมีความสามารถเข้าไปช่วยแก้ไข ขจัดความไม่ดีไม่งามนั้น ๆ ให้หมดไปก็ได้ และต่อไปนี้ข้าพเจ้าขอใช้เวลาเล่าเรื่องไม่ดีไม่งามของพระหลาย ๆองค์ที่ได้พบเห็นในงานนมัสการพระพุทธบาทให้ท่านฟังกันยืดยาวสักหน่อย สำหรับท่านที่รู้เห็นมาแล้ว ก็ฟังเพื่อเป็นการทบทวนความจำก็แล้วกัน ส่วนท่านที่เป็นบุคคลประเภท “ศรัทธาจริต” (มีความเชื่อเป็นปกติ) ได้ฟังเรื่องพระทำไม่ดีแล้วก็อย่าด่วนสิ้นศรัทธาในพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าเสียเลย เพราะมันเป็นเพียงความประพฤติผิดส่วนตัวของภิกษุ ไม่ใช่ส่วนรวมของพระสงฆ์สาวกพระพุทธเจ้า
“ภิกษุอลัชชีที่พระพุทธบาท”
อรุณแห่งมาฆมาส คือเริ่มต้นเวลากลางวันของเดือนสามปีนั้น ประมาณ ๐๕.๓๐ น. เห็นจะได้ เป็นเวลาได้ “อรุณ” ที่ทางกรรมจัดงานฯกำหนดให้พระธุดงค์และพระอาคันตุกะ (พระที่จรมาจากวัดอื่นๆ) ออกเดินรับบิณฑบาต หรือ “โปรดสัตว์” (หรือใครจะเรียกว่าขอทานกิตติมศักดิ์ก็ตามเถอะ) ในบริเวณงานงานพระพุทธบาทได้แล้ว
คำว่า อรุณ เป็นที่รู้ความหมายกันในวงการนักบวชว่า “เวลาเริ่มต้นของวันใหม่” การจะรู้ว่าได้อรุณหรือยัง หรืออรุณขึ้นหรือยัง ท่านให้ดูใบไม้อ่อนเป็นเกณฑ์ ถ้ามองเห็นใบไม้อ่อนหรือใบหญ้าชัดเจน ก็แสดงว่าได้เวลาอรุณแล้ว หรือไม่อย่างนั้น ท่านก็ให้เหยียดแขนยื่นออกไปข้างหน้า แล้วทอดสายตาดูลายเส้นบนฝ่ามือ ถ้ามองเห็นเส้นลายมือของตนชัดเจนดีแล้ว ก็ให้ถือว่านั่นได้เวลาอรุณแล้ว วิธีการดูเวลาอรุณนี้ใช้กันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
กติกาของคณะกรรมการสงฆ์ในงานไหว้พระพุทธบาท ท่านกำหนดให้พระเณรทั้งที่ธุดงค์และอาคันตุกะออกจากที่พักเดินรับบิณฑบาตได้ตั้งแต่เวลาอรุณขึ้นเป็นต้นไป แต่ในบริเวณงานพระพุทธบาทตามห้างร้านและหมู่บ้านทุกถนนหนทางมีแสงไฟฟ้าสว่างจ้าไปทั่ว จะใช้กฎเกณฑ์ในการ “วัดอรุณ” ดังกล่าวนั้นหาได้ไม่ ครั้นจะใช้นาฬิกาบอกเวลาว่า ๐๖.๐๐ น. หรือ ๐๖.๓๐ น. ก็ไม่ได้ เพราะนาฬิกาแต่ละเรือนอาจจะเดินไม่ตรงกัน ความลักลั่นจะเกิดขึ้นได้ ท่านจึงให้ถือเอานาฬิกาของวัดพระพุทธบาทเป็นหลัก เมื่อได้เวลาที่กำหนดแล้วก็ให้เจ้าหน้าที่ “ตีกลองสัญญาณ” ให้พระทั้งหมดถือเอาเสียงกลองบอกสัญญาณเป็นหลักในการ “ออกเดินหนโปรดสัตว์” ไปตามถนนหนทางสถานที่ต่าง ๆ ในบริเวณงาน กลองที่ใช้เป็นสัญญาณ “บอกอรุณ” เป็นกลองขนาดใหญ่มาก ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของวัด เมื่อกลองลูกนี้ถูกตีขึ้นแล้ว เสียงจะดังกังวานไปทั่วบริเวณงานพระพุทธบาททีเดียว
เจ้าเป็นคนใหม่ของงานพระพุทธบาท จะทำอะไรก็ต้องคอยดูและทำตามคนเก่า กลดของข้าพเจ้ากับหลวงพี่แพรอยู่ติดกัน ส่วนหลวงพี่บัณฑิตท่านอยู่ในกลุ่มพวกเก่าของท่าน อยู่ห่างจากข้าพเจ้ามาก ในกลุ่มของหลวงพี่บัณฑิตนี้มารู้ทีหลังว่าทุกท่านล้วนแต่เป็นพระธุดงค์ที่คร่ำหวอดกับการออกธุดงค์มาแล้ว แต่ละองค์ได้ชื่อว่า “คณาจารย์” หรือ “เกจิอาจารย์” ด้วยกันทั้งนั้น หลวงพี่บัณฑิตเมื่อเข้าไปอยู่ในกลุ่มดังกล่าวแล้วก็อยู่ในรุ่น “ปลายแถว” หรือ ระดับ “ซือตี๋” เท่านั้นเอง ท่านให้เหตุผลในการแยกจากข้าพเจ้าไปปักกลดอยู่ในกลุ่ม “เกจิอาจารย์” นั้น ก็เพื่อไปขอวิทยาคมเพิ่มเติม จะได้ใช้ในการเดินธุดงค์หลังจากสิ้นสุดงานพระพุทธบาทแล้ว ท่านยังให้ความหวังกับข้าพเจ้าและหลวงพี่แพรอีกว่า จะถ่ายทอดวิทยาคมที่ได้จากเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ให้อีกด้วย กลุ่มคณาจารย์หรือเกจิอาจารย์นั้นข้าพเจ้าเรียกกันลับหลังท่านว่า “กลุ่มเสือสิงห์กระทิงแรด”
ข้าพเจ้ามักเดินเมียงไปหาหลวงพี่บัณฑิตด้วยจุดประสงค์ต้องการไปรู้จักบรรดาเกจิอาจารย์ในกลุ่มคณาจารย์นั่นเอง การเดินเมียงไปเมียงมาของข้าพเจ้าไม่เสียเวลาเปล่า เพราะได้รู้จักเกจิอาจารย์หลายองค์ ได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ที่ท่านประสบมาแล้วบอกเล่าให้ฟัง บางองค์ก็สอนวิชาอาคมให้ด้วยความเมตตา ดูเหมือนว่าข้าพเจ้าจะเป็นเณรที่น่ารักสำหรับเกจิอาจารย์ทั้งหลาย เพราะทำตัวเรียบร้อย “เรียกง่ายใช้คล่อง” แสดงความเฉลียวฉลาดให้ปรากฏเสมอ
ตามกลดพระเกจิอาจารย์ทั้งหลายนั้น ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน จะไม่ว่างเว้นขาดจาก “แขก” ทั้งพระเณรและญาติโยมต่างก็เข้าไปหาพระเกจิอาจารย์กันไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่ก็เข้าไปขอ “ของดี” คือพระเครื่อง ตะกรุด ผ้ายันต์ และที่พิเศษสุดก็คือ “เลขหวยใต้ดินสองตัวสามตัว” อีกทั้งขอให้ท่านทำนายโชคชะตาราศีด้วย พระเครื่อง ตะกรุด ผ้ายันต์ ข้าพเจ้าได้จากพระเกจิอาจารย์น้อยใหญ่ไม่น้อยเหมือนกัน และที่พิเศษคือ ได้เรียนรู้วิชา “หมอดู” ทั้งดูลายมือและคำนวณตัวเลขจากพระหมอดูหลายองค์ที่มาในงานไหว้พระพุทธบาทนี่เอง /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๔มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|