![](http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/k.png)
- โตฎกฉันท์ ๑๒ -
โตฎกฉันท์ ๑๒ (โต-ดก-กะ-ฉัน) เป็นฉันท์ที่ตำราฉันทศาสตร์ได้ให้อัตถะไว้ว่า มีลีลาดุจนายโคบาลอันแทงโคด้วยปฏัก
๑.) รูปแบบของโตฎกฉันท์ ๑๒
หนึ่งบท จะมี ๒ บาท
แต่ละบาทแบ่งเป็น ๒ วรรค
วรรคหน้ามี ๖ พยางค์ วรรคหลังมี ๖ พยางค์
(รวมเป็น ๑๒ พยางค์ในหนึ่งบาท)
๒.) ลักษณะบังคับ ครุ –ลหุ (ดูผังด้านบนประกอบ)
ครุ-ลหุ แต่ละบาทจะมีลักษณะเหมือนกันทุกบาท คือ
ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ.................. ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ
โดยแต่ละบาทจะแบ่งจังหวะการอ่านเป็น ๓+๓ เหมือนกันทุกวรรค
๓.) ลักษณะการส่งสัมผัส (ดูผังด้านบนประกอบ)
- สัมผัสภายในบท -
คำสุดท้ายของวรรคแรก เชื่อมสัมผัสไปยังคำที่ ๓ ของวรรคที่ ๒
คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓
- สัมผัสระหว่างบท -
หากแต่งมากกว่า ๑ บท
คำสุดท้ายของบทก่อนหน้า ส่งสัมผัสไปที่คำสุดท้ายในวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป
- ตัวอย่างคำประพันธ์ -
- โตฎกฉันท์ ๑๒ -
กะถลุงและถลก มุหะหมกมนะมัว
ตะละหัวแสยะหัว ณ สยามเยอะสยอน
และกถาน่ะก็ถูก เตะกระดูกซะกระดอน
เพราะสกุลเพาะตะกอน ริกบฎรุกบิล
ขณะหมา ฯพณฯ ม้วย ก็สลวยพจน์ริน
อนุสาวริย์ศิล- (ะ)ปะหมากิติมี
สรเสริญคุณะซื่อ ซะระบือระบุปี-
-ติประกาศะกวี พิศะดูพิสดาร
บ่กระดาก ณ คดี และบ่มี อประมาณ
ทศทิศก็อุทาน ทศมณฑละหมาง
............... ฯลฯ ...............
(กถาจรดปกาศิต (สามแพร่งชีวิตคำฉันท์) : คมทวน คันธนู)
- โตฎกฉันท์ ๑๒ -
ขณะนั้นพระกุมาร ธ สดับอนุกรม
นัยะอ้างก็และสม ดุจะที่กะจะเป็น
ก็ตระหนัก ณ พระทัย เพราะจะใคร่ยละเห็น
พระบิดา ธ บำเพ็ญ สุมนัส ณ พระองค์
พระก็เอื้อนพจนา จระหาบิตุรงค์
อระออดเพราะประสงค์ ชนนีและจะพา
ผิวะมารดรขัด วจะนารถ บ่มิคลา
ก็และเห็นชิวะถ้า ละจะม้วยสิกระมัง
นุชฟังปิยะบุตร ละก็สุดจะประทัง
เพราะจะห้าม ฤ ก็รั้ง พระกุมารจะระทม
เพราะฉะนั้นวรนาง ดำริทาง ณ นิยม
จระสู่พระบรม และถวายพระกุมาร
............... ฯลฯ ...............
(กัฏฐวาหนะคำฉันท์ : ส. ศตะกูรมะ)
- โตฎกฉันท์ ๑๒ -
๐ สุรเทพทศทิศ พระมหิศรพงศ์
พระพยานวรยง พฤติยิ่งพระก็ยล
๐ และพระนางธรนี ธ ก็มีพระกมล
พระมหามหิดล ประลุด้วยสดุดี
๐ ก็ไฉนมนะเรา ฤ จะเศร้าอุระศรี
เพราะกิเลสจะมี มละกลั้วก็วิกล
๐ จะสกัดมนะกลั้น มุหะพลันนิรผล
และก็ใช้สติตน ปฏิรูปหฤทัย
๐ สิริพจน์บ่มิเผย ดุจะเลยจะละไป
วรพักตร์พระวิไล ก็มิแลสละลง
๐ ก็พระโสตมิสดับ ฤ จะรับพระประสงค์
สุรเสียงวรองค์ ธ ฉะอ้อนและอำลา
............... ฯลฯ ...............
(มหาชาติคำฉันท์ : ฉันท์ ขำวิไล)
- โตฎกฉันท์ ๑๒ -
๐ ตะละหมอขณะไข้ ตะละไฟขณะหุง
ตะละมุ้งขณะยุง กิระจาระกระหาย
๐ สุตระพรรคะทมิฬ พยุหินทะนิกาย
ละทุรนและทุราย จะกำราบก็ ฤ ยอม
๐ จะขบถทุรยศ ก็เพราะอดและเพราะงอม
อุระเกรียมอุระกรอม พิศะโรคะผจญ
๐ พระเตลง ธ จะกลับ มหะทัพมหะพล
สิจะขอรณะหน อวสานละจะลา
๐ ก็นิวัตร์บุระเขต ระบุเหตุกะพระยา-
ยมราชดุจะสา- ระรหัสธุระการ
๐ ยมราชนิก็ทูล บทะมูลมหิบาล
ณ พระโรงรชะฐาน ทนุยุทธพิชัย
............... ฯลฯ ...............
(เฉลิมเกียรติกษัตรีคำฉันท์ : กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์)
** หมายเหตุ : ในชั้นต้นนั้น ฉันท์ประเภท ๔ วรรค ที่มีลักษณะอย่างกาพย์นั้น ไม่ได้มีบังคับสัมผัสเชื่อมระหว่างวรรคหน้าและวรรคหลัง มีเพียงสัมผัสส่งระหว่างบาท และระหว่างบทเท่านั้น แต่กวีนิยมใส่เพิ่มเพื่อความไพเราะ หากอ่านในวรรณคดีหรือวรรณกรรมต่าง ๆ จะพบลักษณะนี้อยู่ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา อย่าเพิ่งประมาทว่าผู้ประพันธ์นั้นผิดพลั้งแต่ประการใด เช่น
- โตฎกฉันท์ ๑๒ -
๐ และก็เรา ฤ จะหวง และจะห้ามพระหทัย
จะพะพาหิรภัย พะพะพ้องพละกรรม
(มหาชาติคำฉันท์)
- โตฎกฉันท์ ๑๒ -
๐ ศิวแปลงวรรูป วิยหญิงยุวดี
พระอุมาพระก็มี สุมนัศนิยม
๐ ดรุสัตว์บริเวณ พะพระเวทอุดม
สละเพศพิศสม ศิวเพศพระจำแลง
(อิลราชคำฉันท์)
บ้านกลอนน้อยลิตเติลเกิร์ล
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)
![](http://www.homelittlegirl.com/uppic/i/AJ.png)
•
กลับสู่หน้า สารบัญ ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก