กลบทอักษรดอกไม้พวงคำน้อง (พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)
๐-------------------------๐
นิจจาเอ๋ย กระไรเลย ไม่เคยเหน
นิจจาเอ๋ย กระไรน่า น้ำตากระเด็น
นิจจาเอ๋ย กระไรเปน ได้เช่นนี้
แค้นใจเจบ ใจงม หลงลมฬ่อ
แค้นใจเจบ ใจหนอ ไม่ภอที่
แค้นใจเจบ ใจหนอ เพราะเชื่อดี
แค้นใจเจบ ใจกระจี้ บัดสีใจ
อ่อ...กระไรนี้ดอกหฤๅชายไม่อายหน้า
กระไรนี้ดอกหฤๅกล้าสัญญาได้
กระไรนี้ดอกหฤๅสัตย์สบัดไป
กระไรนี้ดอกหฤๅใจช่างไม่คิด
เสนาะเหลือเมื่อยามรักษอักษรสาร
เสนาะเหลือเมื่อยามหวานฉะหวานสนิท
เสนาะเหลือเมื่อยามชังไม่หวังมิตร
เสนาะเหลือเมื่อยามจิตรจะผิดกัน
น้ำคำช้ำเจบแสบแยบหยิบยก
น้ำคำช้ำเจบอกเพราะหกหัน
น้ำคำช้ำเจบใจดั่งใครฟัน
น้ำคำช้ำเจบอั้นแค้นตันทรวง
เถิดจะไม่ละปากจะฝากหยาบ
เถิดจะไม่ละหลาบจะจาบจ้วง
เถิดจะไม่ละภักตร์จะตักตวง
เถิดจะไม่ละล้วงจะล่วงเกิน
เพราะเชื่อชู้รู้พูดจึ่งพูดเพราะ
เพราะเชื่อชู้รู้เหาะจึงเหาะเหิร
เพราะเชื่อชู้รู้ขมจึงงมเพลิน
เพราะเชื่อชู้รู้ประเชินต้องเมิลรักษ
ถึงตายเปนได้เหนสัตย์สลัดหาย
ถึงตายเปนได้เหนลายลิ้นชายประจัก
ถึงตายเปนได้เหนเวทวิเศศนัก
ถึงตายเปนได้เหนภักตร์คนลักลับ
เปนไรมีดีแล้วนางช่างพรางแผล
เปนไรมีดีแล้วแม่จงแร่หรับ
เปนไรมีดีแล้วชายทำคล้ายคลับ
เปนไรมีดีแล้วลับหลับตาภ้อ
ถนอมกล่อมเลี้ยงนุชให้สุดหย่าง
ถนอมกล่อมเลี้ยงนางขี้นห้างหอ
ถนอมกล่อมเลี้ยงหล่อนสู้งอนง้อ
ถนอมกล่อมเลี้ยงหนอภอเพียงใจ
เกิดเปนหญิงจริงชั่วชาติเดียวเถิด
เกิดเปนหญิงจริงอย่าเกิดในชาติใหม่
เกิดเปนหญิงจริงจนยุบลไว้
ชื่อ
ดอกไม้พวงพู่จงรู้เอย ฯ
(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)
ใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ มีโคลงอธิบายวิธีถอดไว้ดังนี้ ๏ ดอกไม้พวงพู่ร้อย..........กรองงาม
กะทู้หนึ่งสี่วรรคสาม..........วรรคบ้าง
ต้นวรรคร่วมเรียงความ........ปลายแยก ความเฮย
ไว้เช่นเป็นกลอ้าง.............อ่านแจ้งจงเห็น ฯ
(กรมหมื่นไกรสรวิชิต : ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฯ)
** จากโคลงของท่านกรมหมื่นไกรสรวิชิตที่อธิบายวิธีถอดกลบทดอกไม้พวงคำน้องนี้ไว้ ตีความได้ว่า
ในกลบทนี้ ใน ๑ บทนั้น ต้นวรรคนั้นมีการใช้กระทู้หน้าวรรคร่วมกันแล้วแยกปลายวรรคออกต่างหาก (ความเห็นส่วนตัว คำที่ว่าสามวรรคบ้างสี่วรรคบ้าง สามวรรคอาจหมายถึงบทที่ ๑ ซึ่งบทที่หนึ่งของกลอนนั้น สามารถเว้นวรรคแรกแล้วขึ้นวรรคสองได้เลย ) เมื่อพิจารณาจากเหตุผลนี้ กับสำนวนกลอนต้นแบบ จึงได้ความหมายการกำหนดว่า
กลบทดอกไม้พวงคำน้อง (ดอกไม้พวงพู่ร้อย) : พิจารณาโดยรวมเห็นว่า มีเพิ่มจากกลอนทั่วไป คือ
๑.) ให้มีคำซ้ำเป็นกระทู้ยืน ๔ คำด้านหน้า "ทุกวรรค" ในบทเดียวกัน
๒.) เมื่อขึ้นบทใหม่ให้เปลี่ยนกระทู้ยืนใหม่อีก เปลี่ยนสลับกระทู้ยืนไปทุกบท จนจบเนื้อความที่แต่ง
** กลบทนี้มีที่มาปรากฏอยู่ทั้งในตำรา "กลบทศิริวิบุลกิตติ์" และ "จารึกวัดพระเชตุพนฯ"
*** หมายเหตุ : กลบทดอกไม้พวงพู่ร้อย เดิมเรียกกลบทนี้ว่า
"ดอกไม้พวงคำน้อง"-๐ กลบทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ๐- • กลบท บุษบงแย้มผกา คลิก
• กลบท บัวบานกลีบขยาย คลิก
• กลบท ทศประวัติ คลิก ผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้ครับผม
...-๐ Black Sword (หมู มยุรธุชบูรพา) ๐-...

•
กลับสู่หน้าห้องเรียน กลอนกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องศึกษา ภาพโคลงกลบท คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กาพย์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน กลอน คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน โคลง คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ฉันท์ คลิก •
กระโดดสู่ห้องเรียน ร่าย คลิก 