บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 ขอบคุณเจ้าของภาพประกอบนี้ในเน็ต เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๖ - หลวงพ่อสุข (อย่ารู้นามฉายาและวัดวาอารามของท่านเลย) อายุของท่านประมาณ ๖๒ ปี ออกบวชเมื่อมายุได้ ๔๙ ปี หลังจากที่มีภรรยา ๑ คน ลูก ๕ คน อาชีพเดิมรับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ออกบวชเพราะเกิดความเบื่อหน่ายในระบบราชการและสังคมของฆราวาส บวชแล้วเรียนพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบนักธรรมชั้นโทได้ สอบนักธรรมชั้นเอก ๓ ครั้งไม่ได้จึงเลิกสอบ เริ่มออกเดินธุดงค์เมื่อบวชได้ ๕ พรรษาแล้ว แบกกลดสะพายบาตรท่องไปเกือบทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย
หลวงพ่อเย็น อายุของท่านประมาณ ๕๘ ปี วัดของท่านอยู่ในกรุงเทพฯ บรรพชาเป็นสามเณรแต่งแต่อายุ ๑๕ ปี จนอายุครบ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุต่อโดยไม่เคยลาสิกขา ท่านเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม ๓ ประโยคตั้งแต่เป็นสามเณร ออกเดินธุดงค์ตั้งแต่บวชเป็นพระภิกษุ (พระมหา)ได้ ๒ พรรษา บุกป่าฝ่าดงท่องไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย และเข้าไปในบางพื้นที่ของประเทศพม่า-ลาวมาแล้ว
หลวงพ่อชุ่ม อายุประมาณ ๖๐ ปี บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี สติปัญญาไม่ค่อยเฉลียวฉลาด (หัวไม่ค่อยดี) จึงเรียนพระปริยัติธรรมสอบได้เพียงแค่นักธรรม ชั้นตรีเท่านั้น ท่านเป็นพระบ้านนอก เด๋อด๋าตามประสาคนบ้านนอก พูดจาเสียงเหน่อ ๆ เป็นคนใจเย็นจนดู “ทึ่ม” ไปหน่อย เคร่งครัดในระเบียบวินัยเป็นอย่างยิ่ง ท่านออกเดินทางประพฤติธุดงค์ธุดงค์ตั้งแต่บวชเป็นพระภิกษุได้ ๔ พรรษา เยือนย่ำไปค่อนประเทศไทยแล้ว
หลวงพ่อหลา อายุประมาณ ๕๕ ปี เป็นพระบ้านนอก บวชเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบบวช (ตามประเพณี) คือ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ความรู้ด้านปริยัติธรรมเป็นนักธรรมชั้นตรี แต่อ่าน-เขียนหนังสือไทยไม่ค่อยจะดี เพราะความรู้สามัญท่านเรียนไม่จบชั้น ป.๔ ท่านบอกว่าพยายามเข้าสอบนักธรรมชั้นตรีอยู่ ๕ ปี จึงสอบได้ แต่บวชได้เพียงพรรษาเดียวท่านก็ตามพระพี่เลี้ยงออกเดินธุดงค์แล้ว คาถาอาคมของหลวงพ่อหลามีถ้อยคำแปลก ๆ คือเป็นภาษาแขกปนเขมรเสียเป็นส่วนใหญ่
หลวงพ่อม้วน อายุประมาณ ๔๙ ปี มีความรู้ด้านปริยัติธรรมเป็นนักธรรมชั้นเอก บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี ครั้นอายุได้ ๑๘ ปี ก็ติดตามพระพี่เลี้ยงออกธุดงค์เดินทางไปทุกหนทุกแห่งเกือบทั่วประเทศไทย แล้วยังเลยเข้าไปในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า ลาว เขมร ท่านเล่าว่าพอบวชพระได้ ๕ พรรษาพ้นนิสัยมุตกะแล้วก็ออกธุดงค์เดินเดี่ยวไม่ให้ใครติดตาม และไม่ติดตามใคร ท่านบอกว่าได้เคยเผชิญ-ผจญ ช้าง เสือ มหิงส์ กะทิงแรด ในป่ามานักต่อนักแล้ว
หลวงพ่อเพิ่ม ข้าพเจ้าชอบเรียกท่านว่า “หลวงพ่อโย่ง” เพราะท่านมีร่างกายสูงโย่ง อายุประมาณ ๕๖ ปี เป็นพระจากที่ราบสูง (คือภาคอีสาน) มีความรู้ด้านปริยัติธรรมเป็นนักธรรมชั้นโท และเป็นพระมหาเปรียญธรรม ๔ ประโยค บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ออกเดินธุดงค์ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร (โข่ง) อายุ ๒๐ ปี ส่วนมากจะเดินทางประพฤติธุดงค์ในแถบจังหวัดภาคอีสานของไทย และประเทศลาว-เขมร ภาคกลางและภาคเหนือ ส่วนทางภาคใต้ของไทยท่านยังไม่เคย “ท่องธุดงค์” หลวงพ่อองค์นี้ท่านเป็นพระที่สร้างอารมณ์ขำขันแปลก ๆ ให้พวกเราได้หัวเราะเฮฮากันเสมอเลย
นอกจากที่กล่าวถึงมาแล้ว ยังมีหลวงพ่ออะไรต่ออะไรอีกหลายองค์ที่สนิทสนมชอบพอกับข้าพเจ้าบ้าง ชอบพอแบบไม่สนิทสนมบ้าง สำหรับหลวงพ่อทั้ง ๖ องค์ที่กล่าวชื่อมานั้น เป็นผู้ที่ชอบพอสนิทสนมกับข้าพเจ้ามากมาก หลวงพ่อสุขให้ความรู้ผมเรื่องการทำงานราชการ การมีเมียมีลูก การออกเดินธุดงค์ ตลอดจนคาถาอาคมต่าง ๆ หลวงพ่อเย็นให้ความรู้ด้านพยากรณ์ศาสตร์หรือหมอดู แม้จะมีเวลาไม่ถึง ๒๐ วัน ท่านก็สอนให้ข้าพเจ้าคำนวณหาฤกษ์ยามและทำนายชะตาราศีได้ไม่น้อย ทำให้ได้หลักและแนวทางให้ศึกษาค้นคว้าได้ต่อภายหลัง เกจิอาจารย์นอกนั้นแจกเครื่องรางของขลัง บอกคาถาอาคมให้มากบ้างน้อยบ้าง ไม่เสียทีที่ได้คบค้าสมาคมกัน
กฎของคณะกรรมการควบคุมดูแลสงฆ์ในงานนมัสการพระพุทธบาท ห้ามไม่ให้มีการแจกเครื่องรางของขลังและบอกใบ้ให้หวยอย่างเด็ดขาด ข้อห้ามสั่งกำชับเด็ดขาดก็จริง แต่ความเด็ดขาดของข้อห้ามไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม มีพระเณรฝ่าฝืนข้อห้ามกันมากมาย ทั้งนี้เพราะบรรดาญาติโยมที่เข้าหาพระนั่นแหละเป็นตัวการสำคัญ ทำให้พระเณรฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว
พระธุดงค์จะเดินทางไปไหน ๆ ก็ไม่พ้น “คนบ้าหวย” ยกเว้นแต่ไปในป่าดงพงไพรที่ห่างไกลความเจริญเท่านั่นแหละ ในบริเวณงานไหว้พระพุทธบาทนี้ผู้คนที่ไปแสวงบุญก็มักจะแสวงโชคไปพร้อมกันด้วย งานประจำปีปิดทองไหว้พระในที่ต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นมา ยังไม่เคยพบเห็นงานไหนจะมีคนมากมายเหมือนที่พระพุทธบาทสระบุรี ข้าพเจ้าเห็นพฤติกรรมของชาวพุทธที่ไปในงานไหว้พระพุทธบาท นอกจากไหว้พระปิดทองพระพุทธรูปพระพุทธบาทแล้ว ก็คือการทำบุญให้ทาน ขอพรและโชคลาภเครื่องรางของขลังจากพระเณรตามกลดพระธุดงค์ และขึ้นเขา เข้าถ้ำ เดินชมสินค้าในร้านค้าต่าง ๆ ตามอัธยาศัย
เพราะการที่ชาวพุทธซึ่งไปในงานไหว้พระพุทธบาทถือการทำบุญให้ทานเป็น “กิจที่ควรทำ” นี่แหละ เป็นเหตุให้ในบริเวณงานพระพุทธบาทมีพระภิกษุสามเณรทั้งธุดงค์และไม่ใช่ธุดงค์มีจำนวนเป็นพันเป็นหมื่นองค์ ไปเพื่อ “เป็นเนื้อนาบุญ” ให้ชาวพุทธได้ทำบุญให้ทานกันอย่างเพียงพอตามความต้องการ พร้อมกันนั้นก็มี “ขอทาน” ไปรอรับเศษเงินจากชาวพุทธผู้ใจบุญประสงค์จะให้ทานกันมากมาย พระเณรผู้โลภมาก และขอทาน จึงไปร่ำรวยจากบุญทานในงานไหว้พระพุทธบาทกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ตามกลดต่าง ๆ ของพระเณรธุดงค์จะมีญาติโยมเข้าไปหา ขอพรบ้าง ขอของขลังบ้าง ขอโชคลาภบ้าง ขอให้ทำนายชะตาราศีบ้าง เข้าไปถวายเงินโดยไม่ประสงค์ได้สิ่งใด ๆ เป็นการตอบแทนบ้าง และการที่มีผู้ใจบุญเข้าหาพระธุดงค์กันมากนี่เอ ง เป็นเหตุให้เกิดมี “อาชีพขายน้ำ-บุหรี่” ขึ้นในอาณาเขตพระธุดงค์ เขาทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งพระเณรผู้รับและคนขายน้ำขายบุหรี่ได้เงินจากผู้ใจบุญคนละมาก ๆ บางคนทำอาชีพนี้อยู่จนสิ้นเวลางานไหว้พระพุทธบาท ได้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนเลยทีเดียว
วิธีการหาเงินจากผู้ใจบุญของพระเณรธุดงค์และคนขายน้ำ-บุหรี่ เป็นวิธีการง่าย ๆ คือมีกาต้มน้ำใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยใช้ต้มน้ำ ใส่น้ำเย็น ๒ กา บุหรี่ยี่ห้อต่าง ๆ อย่างละซองหรือสองซอง คอยรอท่าคนที่เดินผ่านเข้ามาในบริเวณใกล้กลดของพระธุดงค์ ถ้าเป็น “อาม้า อาซิ้ม อาโก อากู๋ เถ้าแก่ เถ้าแก่เนี้ยะ” แล้ว ยิ่งง่ายต่อการขายน้ำ-บุหรี่ให้ โดยผู้ขายจะหิ้วกาน้ำเย็นดักหน้ากล่าวเชิญให้ “ซื้อน้ำฝนบริสุทธิ์” ถวายพระเณรของตน
“เชิญซื้อน้ำฝนบริสุทธิ์ถวายพระสักกาหนึ่งเถิดครับ ท่านอาจารย์องค์นี้ยังไม่มีน้ำดื่ม”
“เชิญซื้อบุหรี่ถวายพระสักซองซีครับ ท่านอาจารย์องค์นี้ยังไม่มีบุหรี่สูบเลย”
บางคนก็คะยั้นคะยอต้อนหน้าต้อนหลังรบเร้าให้คนซื้อของดังกล่าว ผู้ใจบุญบางท่านก็ทนความรำคาญไม่ได้ จำใจต้องซื้อถวายตามต้องการของคนขาย ถ้ามีคนเดินมาเป็นคณะกลุ่มใหญ่ด้วยแล้ว ผู้หากินกับพระก็จะกรูกันเข้าหาเสนอขายทั้งน้ำทั้งบุรี่ พอมีคนซื้อน้ำ-บุหรี่แล้ว ผู้ขายก็จะกุลีกุจอพาเข้าหาพระของตน คราวนี้แหละครับรายการ “ต้มตุ๋นนักบุญ” ก็เกิดขึ้นอย่างน่าละอายที่สุด!
หลวงพ่อหรือพระอาจารย์ที่คนหากินกับพระอ้างนั้น บางองค์วางมาดเคร่งขรึม บางองค์ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาจ๊ะจ๋า เอาอกเอาใจคนเก่ง ที่วางมาดเคร่งขรึมนั้น พอมีคนใจบุญนำน้ำ-บุหรี่เข้าไปถวายตามคำแนะนำของคนขายแล้ว ท่านจะรับด้วยอาการเชื่องช้าแล้วพูดด้วยเสียงเบา ๆ “รับพรซะหน่อยนะโยม” แล้วก็พนมมือหลับตานิ่งสักอึดใจ เปล่งเสียงพึมพำเป็นถ้อยคำในภาษาบาลี คนขายน้ำก็จะเข้าไปกระซิบผู้ใจบุญว่า “ขอของดีท่านซี องค์นี้ท่านมีดีหลายอย่าง แต่ไม่ค่อยจะให้ใคร” เมื่อถูกขอของดีจากผู้ใจบุญท่านก็จะนั่งนิ่งดูหน้าคนขอเชิงพิจารณาสักครู่หนึ่ง แล้วค่อย ๆ ล้วงมือลงในย่ามใหญ่หยิบพระเครื่อง หรือไม่ก็ตะกรุด ผ้ายันต์ อย่างใดอย่างหนึ่งออกมาให้ พร้อมพูดกำชับว่า “เก็บไว้ให้ดีนะ ของหายาก” มาถึงขั้นนี้คนใจบุญนั้นก็อดไม่ได้ที่จะต้องควักกระเป๋าถวายเงินหลวงพ่ออีกมากน้อยตามกำลังศรัทธา
สำหรับองค์ที่ไม่วางมาดเคร่งขรึม ก็มีวิธีการเรียกเงินจากกระเป๋าคนใจบุญเข้าย่ามของท่านเหมือนกัน กล่าวคือเมื่อมีคนนำกาน้ำเย็น บุหรี่ เข้าไปถวายตามคำแนะนำของคนขาย ท่านก็ปฏิสัณฐานด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน ซักถามที่อยู่ อาชีพการงาน อะไรต่ออะไรตามแต่อัธยาศัย ใครสนใจท่านก็จะพูดคุยด้วยเป็นเวลานาน บางองค์งัดเอาวิชาหมอดูออกมาว่ากันเลย คนใจบุญนั้นนอกจากจะเสียเงินซื้อน้ำฝน (ปลอม) และบุหรี่แล้ว ยังต้องควักกระเป๋านำเงินออกมาถวายพระอีกด้วย
ท่านสาธุชนทั้งหลายครับ บุหรี่กับน้ำฝนที่ญาติโยมซื้อถวายพระนั้นมันเป็นเหมือนของกายสิทธิ์ เพราะบุหรี่ซองเดียว น้ำเย็นกาเดียว ขายได้ตั้งหลายวัน คือเมื่อคนซื้อถวายพระ รับพร ถวายเงินพระ กราบลาไปแล้ว เจ้าศิษย์พระแสนกลคนนั้นก็นำน้ำกาเดิม บุหรี่ซองเดิม ถือออกมายืนจ้องจะขายให้คนต่อไปอีก ทำวนเวียนอยู่อย่างนี้ทั้งวัน
ตกเวลาค่ำว่างผู้คนเดินไปมาแล้ว พระกับคนขายน้ำ (ศิษย์กับอาจารย์) ก็จะนำเงินรายได้จากการขายน้ำและบุหรี่กับทั้งที่ผู้ใจบุญถวายพระตามคำแนะนำของคนขายน้ำ เอามารวมกันแล้วแบ่งส่วนตามที่ได้เคยตกลงกันไว้ จะได้เท่ากันหรือพระได้มากกว่า คนได้มากกว่า ก็แล้วแต่ข้อตกลง บางรายแบ่งได้ไม่เป็นตามที่ตกลงกันไว้ก็เกิดทะเลาะวิวาท จนถึงขั้น “วางมวย” กันก็มี /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, ลิตเติลเกิร์ล, คิดถึงเสมอ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), ข้าวหอม, มนชิดา พานิช, My Little Sodium, ชลนา ทิชากร
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๗ - ทำเลที่ปักกลดในวังโบราณเป็นเรื่องสำคัญของพระประเภท “อลัชชี” (ไม่มียางอาย) และพระปลอม ทำเลที่ดีคือต้องเป็นทางผ่านที่มีคนเดินมาก ถ้าอยู่ในที่ลับคนจะไม่ค่อยเข้าไปหา แต่ถ้ามีศิษย์เก่งแล้วก็มักจะชอบอยู่ในที่ลับแล้วให้ศิษย์ต้อนคนเข้าไปหา และก็มักจะได้รับลาภสักการะ (เงินทอง) ดี เพราะคนเห็นใจที่ท่านไม่ค่อยมีคนใจบุญเข้าไปถวายปัจจัยไทยทาน ที่ข้าพเจ้าพูดว่ามี “พระปลอม” นั้น ขอขยายความเพื่อความเข้าใจอันดีหน่อยนะครับ
เป็นเพราะงานไหว้พระพุทธบาทมีคนไปเที่ยว “แสวงบุญ” กันมาก จึงมีพระและคนขอทานเข้าไปเป็น “ปฏิคาหก” คือผู้รับทานกันมาก บรรดา “ปาปชน” (คนบาป) หวังประโยชน์จากงานนี้ ครั้นจะไปในฐานะคนขอทานก็เห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะร่างกายไม่พิกลพิการ คนร่างกายสมประกอบหากไปขอทานก็จะไม่มีเกียรติศักดิ์ศรี ก็เลยต้องทำตนเป็น “พระปลอม” หรือปลอมเป็นพระ โกนหัว โกนคิ้ว นุ่งเหลืองห่มเหลือง มีบริขารของพระบริบูรณ์ หัดทำกิริยาอาการให้เหมือนพระ ซึ่งก็ไมเป็นการยาก เพราะชายไทยส่วนใหญ่เคยบวชเป็นพระภิกษุมาแล้ว มีคนที่เชื่อถือได้เล่าให้ฟังว่า คนในละแวกนั้น “ปลอมเป็นพระ” หากินในงานไหว้พระพุทธบาทปีละมาก ๆ งานไหว้พระพุทธบาทในแต่ละปีจึงมีพระปลอมปนเปอยู่ในพระจริงเป็นจำนวนมากทีเดียว
การบิณฑบาตของพระเณรในงานไหว้พระพุทธบาท ได้สอดแทรกเรื่องน่ารังเกียจ น่าเกลียดน่าชังเข้าไปไว้ไม่น้อยเลยครับ ต้องขออนุญาตนำความไม่ดีไม่งามมาเปิดเผยในที่นี้สักเล็กน้อยก็แล้วกัน
คณะกรรมการสงฆ์ทำหน้าที่ควบคุมดูแลความประพฤติของพระเณรในงานนี้ ท่านได้วางกฎระเบียบเกี่ยวกับการบิณฑบาตไว้ โดยให้ออกจากที่พักพร้อมกันก็ต่อเมื่อได้ยินเสียงกลองสัญญาณ ผู้ใจบุญมาใส่บาตรในงานนี่มีเป็นพันเป็นหมื่นราย ของที่ใส่บาตรก็มีข้าวสุก ขนมแห้ง ไข่จืด ไข่เค็ม ทั้งที่เป็นฟอง ๆ และผ่าซีก ผลไม้ อาหารกระป๋อง และที่พิเศษสุดก็คือ “สตางค์” เป็นธนบัตรราคาต่าง ๆ ที่ภิกษุอลัชชี และพระปลอมชื่นชอบกันมาก
สถานที่พระเณรผู้แสวงลาภชอบไปรับบิณฑบาตกันมากที่สุด ก็คือที่เรียกกันว่า “โรงเจเก่า” เพราะที่นั่นมีคนจีนผู้ไม่ค่อยรู้เรื่องวัฒนธรรมประเพณีไทย และคนไทยเชื้อสายจีนไปไหว้เจ้าไหว้พระและใส่บาตรกันมาก พวกเขาไม่ได้นำข้าวปลาอาหารไปใส่บาตรเท่านั้นนะครับ คนจีนส่วนมากเป็นคนรวยทรัพย์สินเงินทอง และไม่ค่อยมีความลังเลสงสัยในการทำบุญให้ทาน พวกเขานิยมเอาธนบัตร (สตางค์) ใส่บาตรกันมาก และก็เพราะมีการใส่บาตรด้วยธนบัตรนี่แหละ เป็นเหตุให้พระเณรผู้แสวงลาภพากันไปเบียดเสียดยื้อแย่งรับบิณฑบาตกันในโรงเจเก่า จนโรงเจเก่าแทบจะแตก!
วันแรก ๆ ที่ข้าพเจ้าไปอยู่ในงานพระพุทธบาท ก็ออกเดินรับบิณฑบาตตามธรรมดา พระเณรธุดงค์ออกจากกลดไปกันหมดแล้ว จึงสะพายบาตรออกเดินจากกลด และไปได้ไม่ไกลหรอกครับ มีคนยืนรอใส่บาตรกันเยอะแยะ เดี๋ยวเดียวก็ได้อาหารเต็มบาตร ครั้นปิดบาตรงดการรับอาหารแล้วเดินกลับกลด มาถึงกลดก็พบผู้ใจบุญนำอาหารคาวหวานมามานั่งรอถวายที่กลดอีกหลายราย พวกเขาบอกว่า “นำอาหารมาถวายเป็นสังฆทาน” จึงต้องฉลองศรัทธาเขาไปตามธรรมเนียม บางวัน ออกจากกลดไปได้หน่อยเดียวก็มีคนมาต้อนหน้านิมนต์ให้ไปรับ “สังฆทาน” ที่บ้านที่ร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งเขาทำสำรับสังฆทานจำหน่ายแก่ผู้ใจบุญ แล้วประกาศเชิญชวนให้เป็นเจ้าภาพถวายสังฆทานพร้อมกัน คนที่ขี้เกียจไปยืนรอใส่บาตรก็จะเข้า-ร้านที่จัดพิธีสังฆทาน แล้วจ่ายเงินซื้อสำรับสังฆทานร่วมทำพิธีสังฆทาน บางคนไม่มีเวลามากพอก็นำเงินไปซื้อสำรับแล้วมอบให้เจ้าของบ้าน-ร้านค้านั้นจัดถวายพระแทนตนเอง ดังนี้ การจัดทำสังฆทานจึงกลายเป็นงานจรหรืออาชีพเสริมของคนในบริเวณพระพุทธบาทไปโดยปริยาย
วันที่ ๕ ในการออกเดินบิณฑบาตของข้าพเจ้าได้รับรู้พฤติการณ์อันแสนสุดทุเรศของผู้ได้ชื่อว่า “ศิษย์พระตถาคต” ในงานพระพุทธบาท คือข้าพเจ้าสงสัยอยากรู้จนทนไม่ไหวที่เห็นพระเณรเขาออกบิณฑบาตตั้งแต่เช้ามืดโดยไม่รักษากติกา คือที่เสียงกลองสัญญาณยังไม่ทันดังขึ้นก็แอบอุ้มบาตรออกไปทางหลังวังโบราณกันเป็นทิวแถวแล้ว ความอยากรู้อยากเห็นมันเร่งเร้าให้ต้องอุ้มบาตรเดินตามปะปนไปกับเขาในเช้ามืดวันนั้นเอง
ไปถึงบริเวณหน้าโรงเจเก่ายามใกล้แจ้งวันนั้น เห็นเนืองแน่นไปด้วยพระเณรห่มจีวรสีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีกรัก (แบบพระธุดงค์) บ้าง มีพระที่เป็นกรรมการจากกรุงเทพฯ ผู้ควบคุมดูแลความประพฤติของภิกษุสงฆ์ยืนรักษาการณ์อยู่หน้าประตู (ทางเข้า) โรงเจเก่า ๓-๔ องค์ ท่านทำหน้าที่กีดกันผลักดันห้ามปรามไม่ให้พระเณรเข้าไปในโรงเจก่อนเวลาที่กำหนดไว้ ข้าง ๆ ประตูมีเรียวหนามเล็บเหยี่ยวทำเป็นรั้วล้อมเรียงรายกันไว้ มีพระเณรส่งเสียงจอแจพูดกันจนฟังไม่ได้ศัพท์ ข้าพเจ้าพยายามเบียดเสียดเข้าไปจนใกล้ปากประตู เพราะอยากรู้ว่าพระกรรมการกับพระอาคันตุกะท่านพูดอะไรกัน
“เฮ้ย!..ยังเข้าไม่ได้ เขายังไม่ได้ตีกลองสัญญาณบอกให้เริ่มบิณฑบาต” พระกรรมการตะโกนบอกด้วยเสียงอันดัง
“ตีแล้วครับท่านกรรมการ ตีสามราเสียงดังตุ้ม ๆ ผมได้ยินเมื่อกี้นี้ครับ” พระองค์หนึ่งรูปร่างสูงใหญ่พูดออกเสียงสำเนียงอีสาน โต้ตอบพระกรรมการ ผู้ได้ยินคำพูดแล้วก็อดหัวเราะกันด้วยความขบขันไม่ได้
ความจริงเขายังไม่ได้ตีกลองสัญญาณหรอกครับ เสียงดัง “ตุ้ม ๆ” ที่หลวงพี่จากภาคอีสานท่านว่านั้นเป็นเสียงเบสของเครื่องรับวิทยุ เสียงมันดังเหมือนเสียงกลอง ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงนั้นตอนที่เดินผ่านร้านค้าใกล้ ๆ โรงเจ
“ตีแล้ว ! ตีแล้ว !...”พระเณรประสานเสียงร้องยืนยัน
“ยังไม่ตี ผมยังไม่ได้ยิน นี่มันเพิ่งตีห้ากว่า ๆ เท่านั้น” พระกรรมการตะโกนตอบ
“ยังไม่ตีกลอง ทำไมปล่อยให้พระนั่นเข้าไปรับบาตรได้เล่า?”
มีเสียงตะโกนถาม แล้วก็มีเสียงตะโกนสนับสนุนหลายเสียง
“เออ..จริงด้วยโว้ย! เฮ้ย...มีพระขโมยบิณฑบาตในโรงเจโว้ย!” มีเสียงร้องให้พระกรรมการจับพระขโมยด้วย
เป็นความจริงอย่างหนึ่งคือพระกรรมการ (ขอสงวนนามวัดของท่าน) ก็มีความโลภอยากได้เงินกับเขาเหมือนกัน คนจีนในโรงเจเขาเอาธนบัตรใส่บาตร พระกรรมการท่านอยากได้ ก็เลยให้พระพวกเดียวกัน “กินหัวน้ำ” ด้วยการเดินรับบิณฑบาตในโรงเจก่อนที่จะปล่อยให้พระเณรอื่น ๆ เข้าไป ข้าพเจ้ามองเข้าไปในโรงเจก็เห็นห่มพระจีวรสีเหลืองประมาณ ๑๐ องค์เห็นจะได้ ชัดเจนแล้วว่าพระที่เดินรับบิณฑบาตอยู่นั้นไม่ใช่พระธุดงค์
“ เฮ้ย...ชิบผายแล้ว !” เสียงตะโกนร้องด้วยความตกใจดังขึ้น ข้าพเจ้ามองไปที่ประตูทางเข้าโรงเจอันเป็นที่มาของเสียงร้องดังกล่าว เห็นพระกรรมการองค์หนึ่งล้มลงไปนอนหงายอยู่ในกองหนามเล็บเหยี่ยวข้างปากประตู รู้ภายหลังว่าท่านถูกพระอาคันตุกะองค์หนึ่งผลักอย่างแรงจนล้มลง ไม่มีเวลาคิดอะไรแล้ว เพราะปรากฏว่าพระเณรที่อยู่ด้านข้างด้านหลังของข้าพเจ้าเบียดและผลักดันให้เดินหน้าเข้าไปในโรงเจจนฝืนยืนอยู่ไม่ได้ เสียงเฮโล จ้อกแจ้กจอแจจนฟังไม่ได้ศัพท์อื้ออึงไปหมด บางองค์นั้นบาตรที่อุ้มอยู่หลุดมือตกลงพื้นก็ก้มลงเก็บไม่ได้ เพราะถูกเบียดข้างดันหลังซุกซุนซวนเซไป บางองค์ก็ฝาบาตรตกลงพื้นก้มลงเก็บไม่ได้เช่นกัน เสียงบาตรและฝาบาตรถูกเตะกลิ้งไปบนพื้นซิเมนต์ดังเหมือนอะไรบอกไม่ถูก พวกที่ใช้บาตรมีสายโยก (สลกบาตร) ส่วนมากปลอดภัย บาตรและฝาบาตรไม่หลุดตกลงพื้นให้ใคร ๆ เดินสะดุดเตะกลิ้งไป
ข้าพเจ้าถูกคลื่นคนผู้โลภมากผลักดันเข้าไปในโรงเจอย่างทุลักทุเลเต็มที ตอนนั้นหน้าชาดิกไปจนแทบไม่รู้สึกตัวเลย ก็หน้าชาเพราะอับอายพวกเจ๊กจีนน่ะซีครับ จะไม่ให้อายได้อย่างไรล่ะ ภาพเหตุการณ์ที่พระเณรแย่งกันเข้าไปในโรงเจนั่นน่ะ พวกเขาหัวเราะกันด้วยความขบขันเหมือนได้ชมการแสดงเรื่องตลกอะไรสักอย่างหนึ่งนั่นแหละ ข้าพเจ้าเข้าไปในโรงเจได้ด้วยอาการงง ๆ ไม่รู้ว่าเข้าไปได้อย่างไร ภายในโรงเจามีบริเวณกว้าง มีผู้คนใจบุญเต็มไปหมด ข้าพเจ้ายืนมองดูพฤติการณ์ของเพื่อนนักบวชด้วยความรู้สึกสังเวชสลดใจอย่างบอกไม่ถูก /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณรูปภาพประกอบนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๘ - ภายในโรงเจมีการจัดตั้งโต๊ะวางของใส่บาตรเรียงรายเป็นรูปวงกลม ๒ แถว ให้พระเณรเดินตรงกลางรับบิณฑบาตสองข้างทาง มีเถ้าแก่ อาเสี่ย อาม้า อาซิ้ม อาซ้อ อาโก อาม่วย ฯลฯ นำอาหารคาวหวานและสิ่งของอื่น ๆ มาวางรอใส่บาตรกันอย่างมีระเบียบเรียบร้อย ที่โต๊ะหนึ่งมีอาซิ้ม น่าจะเป็นเถ้าแก่เนี้ยะที่ร่ำรวยมาก เอาธนบัตรปึกใหญ่มาใส่บาตร พระเณรเข้ารุมล้มแย่งกันยื่นบาตรรับเงิน บางองค์รับได้แล้วไม่ยอมเลิก หมุนกลับไปยื่นบาตรขอรับซ้ำอีก แย่งกันรับเวียนวนเหมือนเห็นเป็นเรื่องสนุกสนานเต็มที่ ข้าพเจ้ายืนดูด้วยความสลดใจแล้วอยากจะร้องไห้ให้กับความเลวร้ายของพวก “สี” เดียวกันกับข้าพเจ้า ภาพความเลวนั้นยังติดตาประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้
พระภิกษุรูปหนึ่งรูปร่างสูงใหญ่ อายุอยู่ในราวกลางคน กำลังยืนรับธนบัตรที่อาซิ้มใส่ ขณะนั้นมีสามเณรตัวน้อยอายุราว ๆ ๑๓-๑๔ ปี มุดเข้าไปใต้ข้อศอกท่านแล้วยื่นบาตรรับเงินบ้าง จะเป็นการจงใจหรือการบังเอิญก็ไม่รู้ ปรากฏว่าข้อศอกของพระรูปนั้นกระแทกลงบนหัวเณรค่อนข้างแรง ฝ่ายเณรน้อยนั้นก็ช่างร้ายนัก พอถูกศอกพระกระแทกหัวเท่านั้นแหละกระโดดเตะพระทันทีเลย พระรูปนั้นท่านจะนิ่งเป็นพระอิฐพระปูนได้อย่างไรกัน แต่แทนที่ท่านจะเตะถูกเณรน้อยกลับเตะไม่ถูก เพราะเณรน้อยนั้นแทรกตัวหลบเข้าไปในกลุ่มพระภิกษุเสียก่อน หลวงน้าจึงเตะถูกพระด้วยกันเข้าอย่างจัง ความโกลาหลก็จึงเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้
“ไอ๋หยา....อีอย่าทีเลาะกังน่อ เหลียวอั๊วให้เท่า ๆ กังน่อ” อาซิ้มยกมือทั้งสองชูขึ้นพร้อมกับส่งเสียงล้งเล้งห้ามปราม กว่าที่พระกรรมการจะเข้าไปห้ามปรามควบคุมสานการณ์ได้ พวกพระอลัชชีก็ประจานความชั่วอวดเจ๊กจีนไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว พระกรรมการก็ได้แต่ส่งเสียงข่มขู่
“จับสึก ! ถ่ายรูปไว้จับสึกนะ” ก็เท่านั้นเอง เอาจริง ๆ เข้าท่านก็จับใครสึกไม่ได้แม้แต่องค์เดียว
วันนั้น ข้าพเจ้าอุ้มบาตรเดินกลับกลดด้วยจิตใจอันห่อเหี่ยว ไม่ได้เปิดบาตรรับอาหารจากใครสักคนเดียว พอมาถึงกลดก็พบเห็นญาติโยมนำสำรับคาวหวานมานั่งรออยู่ที่กลด ๒-๓ คน เขาถวายสังฆทานแล้วก็ลากลับไป ข้าพเจ้าจึงได้อาหารสำรับนั้นต่อชีวิตไปได้อีกวันหนึ่ง
ไปโรงเจเก่าครั้งเดียวแล้วเข็ดจนตาย จากวันนั้นแล้วไม่กล้าย่างกรายไปขายหน้าญาติโยมอีกเลย ตื่นเช้าเมื่อพระเณรออกเดินบิณฑบาตกันหมดแล้วจึงออกเดินหนบ้าง เดินไปรับบิณฑบาตไป ดูโน่นดูนี่เรื่อยไป บางวันก็รับนิมนต์เข้าไปทำสังฆทานในบ้านในร้านที่เขาจัดถวายสังฆทานกัน ดูเหมือนที่ร้าน “ธาราเกษม” นั้นข้าพเจ้าจะรับนิมนต์เข้าไปทำสังฆทานไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง
พระเณรทั้งจริงและปลอมส่วนมากจะรับบิณฑบาตกันมาก ๆ มีลูกศิษย์ถือภาชนะเดินตามคอยถ่ายบาตรที่เต็มแล้ว บางรายก็ใช้รถเข็นลำเลียงอาหารที่ถ่ายจากบาตรกลับเข้ากลดด้วย ข้าวสุกนั้นพระเณรท่านไม่ค่อยสนใจใยดีนัก สิ่งที่ท่านสนใจคือไข่เค็มและอาหารกระป๋อง เพราะสิ่งของดังกล่าวนั้นท่านสามารถนำไปขายต่อได้ ยิ่งได้มากท่านก็นำไปขายได้มากจนสร้างความร่ำรวยได้
พระธุดงค์เก่าหลายองค์เล่าให้ว่า สมัยก่อน ๆ ชาวบ้านเขาจะนำไข่เค็มและไข่จืดต้มสุกแล้วใส่บาตรเป็นฟอง ๆ มาภายหลังรู้แกวว่าพระเณรท่านนำไปขายต่อ หรือเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีนักก็ได้ จึงมีการใส่บาตรด้วยไข่เป็นฟอง ๆ น้อยลง ทั้งไข่เค็มไข่จืดที่นำมาใส่บาตรคือไข่ผ่าซีกเสียเป็นส่วนมาก
มีพระวัยกลางคนองค์หนึ่งสมมุตติว่าท่านชื่อสินก็แล้วกัน เป็นพระนักเดินธุดงค์ คือท่านออกเดินธุดงค์จนเกือบจะถือได้ว่า “เป็นอาชีพ” และท่านผู้นี้ชอบตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ ไข่เค็มในงานพระพุทธบาทเสริมสร้างความขลังความศักดิ์สิทธิ์ให้ท่านได้มากทีเดียว ท่านจะเป็นสีสันของความเป็นคนเจ้าเล่ห์มารยาหรือเปล่าก็ช่างเถอะ แต่วิธีการของท่านน่าเรียนรู้ไม่น้อยเลยครับ
พระอาจารย์สินหรือหลวงพ่อสิน ขยันเดินรับบิณฑบาตแล้วเก็บไข่เค็มสะสมไว้เยอะ ยามอยู่ในที่ลับหรือเวลาลับตาคนท่านจะแกะเอาเฉพาะไข่แดง ผึ่งแดดผึ่งลมจนแห้งดี แล้วทำให้เป็นผงใส่อัดไว้ในกระป๋องนมผง บอกกับเพื่อนพระธุดงค์ด้วยกันว่า เห็นไข่แดงนี้เป็นของดีมีประโยชน์จะทิ้งไปก็เสียดาย ใครมีเหลือกินแล้วจะทิ้งท่านก็ขอมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงผสมกับของท่านไว้ด้วย
ดูจะเป็นธรรมดาของพระธุดงค์ เมื่อไปปักกลดที่ไหนก็มักมีคนเข้าไปหาที่นั่น
นอกจากท่านจะเป็นที่พึ่งทางใจของญาติโยมแล้ว ยังเป็นเสมือน “สื่อมวลชน” แขนงหนึ่งอีกด้วย เพราะท่านจะนำเรื่องราวข่าวสารที่ได้พบเห็นรับรู้จากที่ต่าง ๆ มาบอกเล่าให้ชาวบ้านฟัง เป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้วย
หลวงพ่อสินเป็นนักประชาสัมพันธ์และนักปฏิบัติที่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อถือและเคารพเลื่อมใสได้มากองค์หนึ่ง ท่านเป็นคนช่างจดช่างจำ บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ประกอบคติธรรมและสอดแทรกถ้อยคำคมขำขันได้เป็นอย่างดี
พระธุดงค์เกือบทั้งหมดจะถือ “เอกา” คือฉันอาหารวันละเพียงมื้อเดียว ในมื้อเดียวนั้นจะฉันตอนสาย ๆ หน่อย บางองค์ฉันรวม คือข้าว, แกง, ขนม นำลงรวมกันในบาตรแล้วเคล้าให้เข้ากัน ใช้มือเปิบเข้าปาก บางองค์ฉันแบบธรรมดาคือแยกข้าว, แกง, ขนมออกเป็นส่วน ๆ โดยข้าวอยู่ในบาตร แกง, ขนม อยู่นอกบาตร ใช้มือหยิบใส่ปาก บางองค์ฉันเฉพาะข้าว น้ำพริก ผักต้ม งดเว้นเนื้อสัตว์ทุกชนิด อย่างที่เรียกว่า กินเจ หรือ มังสวิรัติ นั่นแหละ แต่หลวงพ่อสินท่านกลับฉันอาหารไม่เหมือนใคร สร้างความอัศจรรย์ใจและความเคารพเลื่อมใสศรัทธาให้ผู้พบเห็นได้มากทีเดียว
เมื่อออกจากงานไหว้พระพุทธบาทไปแห่งหนตำบลใด หลวงพ่อสินก็ได้รับความเคารพเลื่อมใสศรัทธาที่นั่น สิ่งที่ทำให้ท่านได้รับความเคารพเลื่อมใสศรัทธามากก็คือไข่เค็ม ที่ท่านเก็บเฉพาะไข่แดงสะสมไว้ในกระป๋องนมผงนั่นเอง
อาหารหวานคาวที่ญาติโยมนำมาถวายนั้นหลวงพ่อสินรับไว้ทั้งหมด เมื่อทำพิธีถวายบูชาข้าวพระพุทธตามประเพณีแล้ว ท่านจะวางอาหารเหล่านั้นไว้เฉย ๆ ควักข้าวสุกจากบาตรใส่ในฝาบาตรทองเหลือง แล้วควักไข่แดงเค็มในย่ามใหญ่ที่ท่านพาติดตัวมานั้นออกมา ใช้ช้อนตักเค็มที่เป็นผงสีเหลืองเหมือนสีขมิ้นโรยลงบนข้าวสุกในฝาบาตร คลุกให้เข้ากันแล้วใช้มือเปิบกินอย่างเอร็ดอร่อย ญาติโยมทั้งหลายเห็นดังนั้นก็พากันเข้าใจว่าท่านเคร่งครัดมาก ฉันอาหารมังสวิรัติ โดยฉันข้าวกับขมิ้นอ้อย เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วกล่าวอนุโมทนา (ยะถา..สัพพี ให้พร) ทำพิธี “ลาข้าวพระ” แล้วบอกอนุญาตให้รับประทานกันต่อไป
พระที่ฉันข้าวกับขมิ้นอ้อยจะหาได้ที่ไหน เห็นจะมีก็แต่หลวงพ่อสินองค์เดียวเท่านั้นเอง ไม่มีใครกล้าถามท่านว่าฉันข้าวกับขมิ้นอ้อยหรืออะไร ท่านเองก็ไม่ยอมบอกว่าฉันข้าวกับอะไร ทุกคนเห็นท่านเอาผงสีเหลืองมาคลุกเคล้าข้าวฉัน ก็เดาเอาว่าเจ้าผงสีเหลืองนั้นคือขมิ้นอ้อย เมื่อไข่แดงผงหมดแล้วหลวงพ่อสินก็ออกอุบายสร้างความเคารพเลื่อมใสแก่ชาวบ้านชาวเมืองใหม่ โดยท่านงดฉันอาหารในเวลากลางวัน แต่ยามปลอดคนตอนกลางคืนท่านก็เอาขนมปังที่ซื้อซ่อนไว้ในกลดออกมาแอบฉันไม่ให้ใครเห็น ชาวบ้านชาวเมืองไม่รู้ความจริงก็พากันเข้าใจว่าท่านไม่ขบฉันอาหารใด ๆ ทั้งสิ้น จึงเกิดความเคารพเลื่อมใสเป็นทวีคูณ เรื่องราวของหลวงพ่อสินมีพิสดารอีกมากมาย นำมาบอกเล่ากันเป็นปีก็ไม่จบสิ้น
ข้าพเจ้ากับคณะออกจากงานไหว้พระพุทธบาทล่องผ่านกรุงเทพฯ ลงเรือยนต์ ๒ ชั้นสีเลือดหมูของบริษัทสุพรรณ จากท่าเตียนกลับวัดบางซ้ายใน ยุติการเดินธุดงค์สำหรับปีนั้น /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพประกอบนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๑๙ - พอกลับถึงวัดข้าพเจ้าก็กลายเป็น “เณรเด่นดัง” ของวัด พระ เณร เด็กวัด และญาติโยมให้ความเกรงอกเกรงใจไม่น้อย ตอนเย็นยามแดดร่มลมตก และตอนกลางคืน ข้าพเจ้าจะเป็น “ตัวเอก” ในวงสนทนา ใคร ๆ ก็สนใจที่จะฟังข้าพเจ้าบอกเล่าประสบการณ์เรื่องราวในการออกเดินธุดงค์ เรื่องที่บอกเล่าก็ย่อมมีจริงบ้างไม่จริงบ้างปะปนกันเป็นธรรมดา ส่วนมากก็จะ “ใส่ไข่” ในทำนอง “น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง” ยิ่งมีคนอยากฟังมากก็ยิ่ง “โม้” มากขึ้น ผู้ฟังส่วนใหญ่จะเชื่อ ส่วนหนึ่งจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง คนที่ไม่เชื่อมีเป็นส่วนน้อย เพราะในโลกนี้ “มีคนโง่มากกว่าคนฉลาด” นี่ครับ.
“การเล่นหลอกผีในวัดบางซ้ายใน”
สามเณรในวัดบางซ้ายในยุคเดียวกับข้าพเจ้ามีประมาณ ๒๐ องค์ รุ่นข้าพเจ้าเป็นรุ่นใหญ่หรือรุ่นแรกที่เป็นศิษย์หลวงพ่อไวย์ มีรุ่นน้องรอง ๆ ลงไปอีกหลายรุ่นหลายองค์ ก่อนหน้านี้เป็นยุคของ พระมหาเที่ยง สุทธิญาโณ (เพื่อนหลวงพ่อไวย์) เป็นเจ้าอาวาส ท่านไม่ได้เลี้ยงเณร เมื่อท่านลาสิกขาออกไปเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารบกแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีสามเณรศิษย์ท่านในวัดบางซ้ายในเลย หลวงพ่อไวย์มาเป็นเจ้าอาวาสแทน ท่านเริ่มจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจังด้วยการรับสามเณรมาอยู่ประจำเรียนนักธรรมและบาลี ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้เข้าอยู่ในสำนักเรียนนี้เป็นรุ่นแรก ดังนั้นเณรรุ่นน้องและพระบวชใหม่จึงมักจะเกรงและเชื่อฟังเณรรุ่นนี้ไม่น้อย โดยเฉพาะข้าพเจ้าแล้ว แม้กระทั่งเณรรุ่นเดียวกันกันเกรงใจและยกให้เป็นหัวหน้า เพราะมี “ธุดงค์” เป็นดีกรีพิเศษ และพ่วงด้วยนักธรรมชั้นโทอีกต่างหาก สามเณรอนันต์เป็นเณรรุ่นกลาง รูปร่างเตี้ยม่อต้อเป็นมะขามข้อเดียว ผิวเนื้อค่อนข้างดำ ใบหน้าใหญ่เป็นรูปกระด้ง จมูกแบน ริมฝีปากหนา คิ้วหนา ตาโต หูกาง เป็นคนประเภท “ตลกหน้าตาย” ชอบเล่นอะไรแผลง ๆ หัวเราะลงลูกคอชนิดที่เรียกว่า “หัวเราะเก้าชั้น” เขามีเรื่องวิวาทชกต่อยกับเณรและเด็กรุ่นเดียวกันเสมอ แม้สามเณรรุ่นพี่เณรอนันต์ก็ไม่เกรงกลัว ยกเว้นข้าพเจ้าเท่านั้น
ถ้าจะเปรียบเณรอนันต์เป็นช้างก็ต้องเปรียบข้าพเจ้าเป็นเหมือนควาญช้าง เพราะมีวิธีบังคับให้เขาเกรงกลัวและเชื่อฟังได้ หลวงพ่อไวย์จัดให้เณรอนันต์อยู่ประจำในกุฏิเดียวกับเณรเต็ม และให้เป็น “เณรพี่เลี้ยง” ก็ด้วยเห็นว่าสามารถบังบัญชาเขาได้นั่นเอง เขาเป็นคนกลัวผีมากที่สุด เวลากลางคืนจะอยู่คนเดียวในที่ต่าง ๆ ไม่ได้ ตรงข้ามกับข้าพเจ้าที่ไม่กลัวผีมาตั้งแต่เป็นเด็กวัดแล้ว ความเป็นคนกล้าไม่กลัวผีเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่ทำให้เณรอนันต์ยอมรับนับถือให้ข้าพเจ้าเป็นลูกพี่ของเขา
ที่วัดบางซ้ายในของข้าพเจ้า มีส้วมหรือถานพระ (เว็จกุฎี) อาคารไม้อยู่ใกล้ป่าช้าที่เอาดินมากองถมเป็นโคกสูงจนน้ำไม่ท่วมได้ในหน้าน้ำ ใช้เป็นเตาหรือเมรุเผาศพตลอดปี และในที่ใกล้ส้วมนั้นมีกุดังหรือโกดังเก็บศพตั้งอยู่ด้วย ตัวส้วมสร้างด้วยไม้เป็นอาคารที่มีใต้ถุนสูงโปร่ง มีห้องใช้ถ่ายหนักเบาหลายห้อง ทางเดินไปสู่ส้วมนี้มีสองสาย คือสายหนึ่งเป็นสะพานไม้ จากศาลาการเปรียญระยะทางยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร อีกทางหนึ่งเป็นสะพานไม้จากโคกโบสถ์เชื่อมต่อกับโคกเตาเผาศพ ผ่านกุดังไปสู่อาคารส้วมอีกทีหนึ่ง
เหตุที่ต้องใช้สะพานเป็นทางเดินไปส้วม ก็เพราะท้องที่นั้นเป็นที่ราบลุ่มมีนำท่วมขังเป็นเวลานาน วัดในลุ่มน้ำอยุธยา-สุพรรณบุรีจะมีสภาพคล้าย ๆ กันคือ มีส้วมหรือถานพระปลูกสร้างไว้ห่างไกลกุฏิและศาลาการเปรียญ เพื่อไม่ให้อุจจาระปัสสาวะส่งกลิ่นเหม็นรบกวนพระเณรและญาติโยมที่มาร่วมทำบุญในศาลาการเปรียญ ในหน้าแล้งอุจจาระที่ถ่ายออกร่วงหล่นลงสู่พื้นดินดังตุ้บ ๆ ก็จะมีหมาบ้าง หมูบ้าง ไก่บ้าง มาแย่งกันกิน ถ้าไม่มีสัตว์ดังกล่าวมากิน อุจจาระก็จะกองสุมกันเหมือนจอมปลวก มีหนอนยุบยับยั้วเยี้ย กลิ่นเหม็นตลบอบอวลอย่างน่าสะอิดสะเอียน เวลาไปนั่งถ่าย บางคนต้องกลั้นลมหายใจ แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกแหงนหน้ามองดูหลังคา ค่อย ๆ สูดลมหายใจเข้าเพื่อไม่ให้กลิ่นร้ายตามลมเข้าสู่ตัวเอง
หน้าน้ำใต้พื้นส้วมพระจะสะอาด นั่งถ่ายได้สะดวกสบาย บางคนนั่งถ่ายเพลินจนไม่อยากเลิกถ่าย อยากให้มีอุจจาระในท้องมาก ๆ จะได้นั่งถ่ายนาน ๆ ทั้งนี้ก็เพราะเวลาที่อุจจาระหล่นลงไปในน้ำดังตุ๋ม ๆ ก็จะมีปลาใหญ่น้อยพากันว่ายกรูเข้ามาแย่งกันกิน มีปลาไอ้อ้าว ปลาสังกะวาด ปลาหางแดง ปลาแปบ ปลาอะไรต่ออะไรอีกหลายชนิด พอนั่งตรงร่องแล้วปัสสาวะพุ่งลงน้ำก่อน เพียงจ๊อกเดียวปลาก็จะกรูกันมาคอยแย่งอุจจาระเป็นอาหารอันโอชะของมันแล้ว คนที่ชอบดูปลาก็นั่งถ่ายเพลินไปเท่านั้นเอง
ส้วมหลังที่พูดถึงนี้ พระเณรไม่ค่อยชอบใช้กันหรอกครับ เพราะที่กุฏิพระมีส้วมซึมตั้งคั่นอยู่ระหว่างกุฏิหลายแห่ง ส้วมไม้โบราณจึงมีไว้ให้อุบาสกอุบาสิกาที่มาทำบุญในวัดและรักษาอุโบสถที่ศาลาการเปรียญได้ใช้กัน เวลากลางคืนก็จะหาคนไปใช้ส้วมนี้ได้ยากเย็น ใครจะไปก็ต้องหาเพื่อนไปด้วย เพราะกลัวผีที่ป่าช้า เคยมีโยมบางคนบอกว่าถูกผีหลอกที่ส้วม ข้าพเจ้าไม่เชื่อ และเพราะความไม่เชื่อผีนี่แหละทำให้มีการพนันขันต่อกันขึ้น
ก็หลวงพี่บัณฑิตนั่นแหละครับเป็นตัวการ ท่านถามขึ้นในวงสนทนาว่า “ที่ว่าเณรเต็มไม่เชื่อว่าผีหลอกโยมที่ส้วมข้างป่าช้าน่ะ กล้าพิสูจน์ไหม?”
“กล้าซีครับ” ข้าพเจ้าตอบสวนทันทีโดยไม่ต้องคิดอะไร ท่านจึงเสนอเงื่อนไขในการพิสูจน์ว่า จะนำนมข้นหวานหนึ่งกระป๋องไปวางไว้ในโกดังเก็บศพ เวลากลางคืนตอน ๕ ทุ่มให้ข้าพเจ้าไปเอานมข้นหวานกระป๋องนั้นออกมาให้ท่านที่กุฏิ ถ้าทำได้จึงจะยอมรับว่าไม่กลัวผีจริง และจะให้นมข้นหวานอีก ๑ โหลเป็นรางวัล แต่ถ้าไปเอานมข้นหวานกระป๋องนั้นออกมาจากโกดังไม่ได้ ก็แสดงว่าเณรเต็มกลัวผี และจะต้องเสียนมข้นหวาน ๑ โหลให้หลวงพี่บัณฑิต ข้าพเจ้ารับคำท้าโดยไม่ลังเล
คืนนั้นหลวงพ่อไวย์ไม่อยู่วัด ท่านไปค้างแรมคืนที่วัดขนมจีน (สุธาโภชน์ วัดเดิมของท่าน) พวกเราก็อยู่ในในสภาพที่เรียกว่า “แมวไม่อยู่หนูระเริง” สนุกกันตามเคย พระเณรเกือบทั้งวัดสนใจเรื่องที่ข้าพเจ้ารับคำท้าพนันเข้าไปเอานมข้นหวานในโกดังเก็บศพ จึงตั้งตาตั้งใจรอดูว่าจะทำได้หรือไม่? หลวงพี่บัณฑิตไม่ยอมให้ข้าพเจ้าใช้ไฟฉาย เพียงแต่มอบเทียนไข ๑ แท่ง หัวไม้ขีดไฟสำหรับจุดเทียนไขให้ ๑ กลัก
ครั้นได้เวลาที่กำหนดนัดพนันกันไว้ ข้าพเจ้าเดินจากกุฏิผ่านศาลาการเปรียญไปโคกโบสถ์ท่ามกลางแสงดาวในคืนข้างแรม ท้องฟ้าโปร่งใส ไม่มีแสงเดือนฉาย มีเพียงดวงดาวพราวพร่างอยู่เต็มท้องฟ้า บรรยากาศไม่มืดมิดจนมองไม่เห็นหน แสงดาวระยิบระยับจากฟากฟ้าที่ส่องลงมาพอให้แลเห็นอะไร ๆ ได้อย่างเลือนราง สายลมโชยมาอ่อ ๆ เสียงเขียดร้องประสานเสียงจิ้งหรีดเรไรระงม สร้างบรรยากาศให้เยือกเย็นวังเวง ทุกครั้งที่สายลมกรรโชกจนไฟเทียนดับต้องรีบจุดใหม่ จนเกิดอาการ “ขนพองสยองเกล้า” อยู่ในภาวะที่เรียกว่า “กลัวก็ไม่ใช่ กล้าก็ไม่เชิง” คือแบบว่ามันกล้า ๆ กลัว ๆ น่ะ มือหนึ่งยกขึ้นป้องแรงลมไม่ให้พัดไฟเทียนดับอีก เดินช้า ๆ อย่างระมัดระวัง หยุดยืนตรงหน้าธรณีประตูโกดังเก็บศพ สำรวมจิตกล่าวคำพิจารณาบังสุกุลตายในใจว่า “อนิจจา วะตะ สังขารา” ไปจนจบบท ด้วยเชื่ออาจารย์ทางไสยเวทย์ท่านบอกว่าบทนี้เป็นคาถาปราบผีได้ชะงัดนัก เหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวเกิดขึ้นเมื่อเณรเต็มถึงโกดังเก็บศพ จะก้าวเข้าประตู
“ปั้ง!!!!!”
ข้าพเจ้าตกใจกับเสียงที่ดังปั้งจนหูอื้อ ขนหัวลุกซู่ ตัวชาดิก เทียนหลุดจกมือตกลงบนหลังเท้าอย่างไม่รู้ตัว ยืนจังงังอยู่ชั่วอึดใจก็มีเสียงดังปั้งปั้งบนหลังคาโกดังอีกสองสามที ข้าพเจ้าหายจากการตกใจ สติกลับคืนมาแล้ว รู้ได้ทันทีว่ามีคนเอาก้อนหินหรือก้อนดินขว้างปาใส่หลังคาเพื่อให้ข้าพเจ้าตกใจคิดว่าถูกผีหลอก ครั้นได้สติสัมปชัญญะคืนมาแล้วรู้ว่า ไม่ได้ถูกผีหลอก หากแต่เป็นพระเณรแกล้งทำเป็นผีหลอก ความกลัวก็หายไปจากความรู้สึกจนหมดสิ้น ควานหาแท่งเทียนไขบนพื้นขึ้นมาจุดไฟแล้วเดินเข้าโกดังเก็บศพ หยิบนมข้นหวานกระป๋องนั้นเดินกลับกุฏิโดยไม่สะดุ้งตกใจต่อเสียง “ปัง ๆ” ที่พวก “ผีปลอม” คือหลวงพี่บัณฑิตขว้างปาก้อนดินก้อนหินใส่หลังคาโกดังอีกหลายครั้ง
ข้าพเจ้าชนะการพนันอย่างเด็ดขาด ได้นมข้นหวาน ๑๓ กระป๋องมาชงแจกจ่ายเพื่อนเณร น้องเณรดื่มกินกันอย่างอิ่มเอมเปรมปรีดา พระบวชใหม่และสามเณรทั้งวัดพากันยกย่องให้ข้าพเจ้าเป็นคนเก่งที่สุดในวัดตั้งแต่บัดนั้น /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๐ - การกลัวผีเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน ผิดกันก็ตรงที่ใครกลัวมากกลัวน้อยกว่ากันเท่านั้น ข้าพเจ้าเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่กลัวผี ความจริงก็กลัวเหมือนกัน แต่เพราะว่ามีความกล้ามากกว่าความกลัว จึงดูเหมือนว่าไม่กลัว
เณรอนันต์เป็นคนกลัวผีชนิดที่เรียกว่า “อุจจาระขึ้นสมอง” เป็นเรื่องสร้างความรำคาญให้ข้าพเจ้ามากทีเดียว พยายามอธิบายให้เขาฟังต่าง ๆ นานาไม่ให้เขากลัวผี ปฏิเสธว่าในโลกนี้ไม่มีผี ผีเป็นเรื่องที่ไร้สาระ แต่อธิบายอย่างไร ๆ ก็มิอาจหาเหตุผลมาทำให้เขาหายกลัวผีได้ ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้อุบายอย่างหนึ่ง คือนำเอากระดูกคนตายมาแอบใส่ไว้ในปลอกหมอนที่เขาหนุนนอน เมื่อเขาหนุนหมอนที่มีกระดูกผีนั้นนานจนกระดูกในปลอกหมอนแตกละเอียดแล้ว ข้าพเจ้าก็บอกความจริงให้เขารู้ และถอดปลอกหมอนออก เทกระดูกคนตายที่เขานอนทับจนแหลกละเอียดนั้นให้เขาดู และชี้แจงให้เขาเห็นว่า คนเราตายแล้วจะเป็นผีเป็นสางหรือเป็นอะไร ๆ ก็ตามทีเถิด ล้วนไม่อาจจะมาเป็นผีเที่ยวหลอกหลอนใครได้หรอก ดูกระดูกคนตายที่ใส่ไว้ในปลอกหมอนซี เณรนอนหนุนทับเสียจนแหลกละเอียดแล้วก็ไม่เห็นสำแดงฤทธิ์เดชอะไรออกมาเลย ถูกสอนโดยแนวปฏิบัติดังกล่าวทำให้สามเณรอนันต์ได้แนวคิดใหม่ว่า นอนอยู่กับกระดูกผีแท้ ๆ ผีมันยังไม่หลอก เมื่อไม่นอนอยู่กับกระดูกผีแล้วผีมันจะมาหลอกทำไม คิดได้ดังนั้นแล้วเขาก็หายกลัวผีอย่างเด็ดขาดตั้งแต่บัดนั้น
เมื่อหายกลัวผีแล้วเณรอนันต์ก็กลายเป็น “จอมเกเร” ประจำวัดไปในที่สุด โดยเฉพาะเรื่องผี เขาเลิกกลัวผีแล้วก็ทำตัว “เป็นผีหลอกพระเณร” อย่างสนุกสนาน เณรน้อยและเด็กวัดที่ “ขวัญอ่อน” ถูกผีเณรอนันต์หลอกเสียจน “ขวัญหนีดีฝ่อ” ไปตาม ๆ กัน ข้าพเจ้าเห็นว่าเณรอนันต์กลายเป็นภัยของเพื่อนฝูง ก็คิดหาวิธีแก้ไข จนกระทั่งได้โอกาส
สามเณรประจวบ ซึ่งเป็นเณรน้อย อายุ ๑๔ ปี รูปร่างอ้อนแอ้นบอบบาง ค่อนข้างจะขี้แย ถูกเพื่อนรังแกร้องไห้แทบทุกวัน เป็นคนขี้ขลาดตาขาวและก็กลัวผีเป็นอย่างมาก เขากำลังเข้าอยู่ในข่ายที่เณรอนันต์จะเป็นผีหลอก ข้าพเจ้าทราบว่า พระเที่ยงกับเณรชุบเพื่อนร่วมกุฏิร่วมวางแผนกับเณรอนันต์จะเป็นผีหลอกเพื่อน จึงวางแผนซ้อน ให้เณรประจวบต้มน้ำร้อนด้วยเตาฟู่ คอยท่าผีเณรอนันต์ น้ำเดือดได้ครู่เดียว ผีเณรอนันต์ซึ่งเข้าใจว่าเณรจวบอยู่ในกุฏิเพียงองค์เดียว (พระเที่ยงกับเณรชุบหลบไปอยู่ในกุฏิเณรอนันต์ตามแผนการแล้ว) เขาจึงค่อย ๆ ชูบาตรที่ใช้แป้งดินสอพองเขียนคิ้วเขียนตาจนดูคล้ายหน้าผี มีผ้ามุ้งขาด ๆ คลุม โผล่ขึ้นที่หน้าต่างตรงห้องเณรจวบ พร้อมกับส่งเสียงครางฮือๆอย่างน่ากลัว เณรจวบก็ทำตามแผนที่ข้าพเจ้าแนะนำ (และนั่งแอบข้างกำกับอยู่) เณรจวบส่งเสียงร้องด้วยความตกใจกลัวพร้อมกับยกกาน้ำร้อนที่กำลังเดือดนั้นโยนใส่หัวผีทันที พอเสียงกาน้ำร้อนกระทบหัวผีดังโป้กโครม ก็มีเสียงร้องโอดโอยตามมา ข้าพเจ้ารีบหนีออกจากกุฏิเณรจวบกลับกุฏิของตนเพื่อรอดูเหตุการณ์
ผลปรากฏว่า เณรอนันต์ถูกน้ำร้อนลวกแขนขวาที่ถือบาตรชูขึ้นนั้นตลอดแขน แก้มและใบหูขวาก็ถูกน้ำร้อนลวกด้วย พระเที่ยงต้องเอายาหม่องช่วยทาตรงที่ถูกน้ำร้อนลวกให้เป็นการใหญ่ เณรอนันต์ไม่รู้ที่จะทำอย่างไรกับเณรจวบได้ เพราะรู้ตัวว่าเป็นฝ่ายผิด และเห็นว่าเณรจวบไม่มีเจตนา ทั้งนี้เพราะเณรจวบแก้ตัวว่ากำลังต้มน้ำร้อนจะชงนมฉัน ขณะที่ยกกาน้ำร้อนจะชงนม ก็ได้ยินเสียงครางและมีหน้าผีโผล่ขึ้นมาที่หน้าต่าง ตกใจกลัวมาก อารามตกใจทำให้โยนกาน้ำร้อนใส่หน้าผีไปโดยไม่ตั้งใจ คำแก้ตัวของเณรจวบเชื่อถือได้ มีหลักฐานการเตรียมชงนมอยู่ครบถ้วน ทุกคนเชื่อว่าเณรจวบพูดจริง โดยหารู้ไม่ว่ามันเป็นแผนที่เณรเต็มวางให้เณรจวบจัดการปราบผีปลอม และได้ผลเป็นที่พอใจ เณรอนันต์เลิกปลอมเป็นผีหลอกใคร ๆ ตั้งแต่บัดนั้น
เรื่องผี ๆ นี่พูดกันตลอดปีตลอดชาติก็ไม่รู้จบสิ้น ในชีวิตของข้าพเจ้าไม่เคยพบหรือถูกภูตผีปิศาจหลอกหลอนเลย พบก็แต่คนปลอมเป็นผีหลอกกันนั่นแหละ แต่ไม่กล้าปฏิเสธหรอกว่าในโลกนี้ละโลกไหน ๆ ไม่มีผี และก็ไม่ยอมรับเช่นกันว่าในโลกนี้และโลกไหน ๆ มีผีอยู่จริง เพราะแม้ไม่เคยพบเห็นผี แต่คนอื่นซึ่งเป็นคนที่เชื่อถือได้เขาเคยพบเห็น ถ้ามีใครถามว่า “ผีมีจริงหรือไม่?”
ข้าพเจ้าจะตอบว่า “ไม่รู้!” ถามว่า “ผีไม่มีใช่ไหม?” ก็ตอบได้อีกว่า “ไม่รู้! เพราะไม่เคยพบเห็น” อีกน่ะแหละ
หลวงพ่อไวย์ท่านสอนนักธรรมด้วยตนเอง พวกข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านเรื่องภูตผีปิศาจว่ามีจริงหรือไม่ ท่านก็ตอบว่า “ไม่มี” ข้าพเจ้าถาม “รุก” ท่านว่า ถ้างั้นคนตายแล้วไม่เป็นผีจะเป็นอะไร ? หลวงพ่อตอบพร้อมรอยยิ้มด้วยอารมณ์ดีว่า
“ตามตำราพระท่านว่าคนตายแล้วก็เกิดทันที ส่วนจะเกิดเป็นอะไรนั้นก็แล้วจะกรรม บางคนไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน บางคนเกิดเป็นสัตว์นรก บางคนเกิดเป็นมนุษย์ บางคนเกิดเป็นเทวดา และบางคนเกิดเป็นพรหม สำหรับท่านที่สำเร็จอรหันต์นั้นตายแล้วไม่เกิด ท่านเรียกว่า “ปรินิพพาน” คือดับหมดทั้งกิเลสและเบญจขันธ์ เหมือนไฟตะเกียงที่มอดหมดทั้งไส้และน้ำมัน ไม่สามารถจัดให้ติดอีกได้”
“งั้น ภูตผีปิศาจที่มันเที่ยวหลอกหลอนชาวบ้านชาวเมือง เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆนั้นมันคืออะไรล่ะ?” ข้าพเจ้าถามแบบ “รุกฆาต” ทันที่ท่านอธิบายจบประโยค
“เฮ่ย.....ไม่ใช่ภูตผีปิศาจอะไรที่ไหนหรอก เป็นความคิดขลาดเขลาของคนจิตอ่อนโลเล “สัญญาวิปลาส” เป็นคนขาดเหตุผล ใจเบา ไม่มีสติสัมปชัญญะขาดความใคร่ครวญ เห็นเงาอะไรในความมืด ความสลัว ได้ยินเสียงอะไรกะทันหัน ก็เกิดความตื่นตกใจกลัวคิดว่าภูตผีปิศาจมาหลอกหลอน อย่าไปเชื่อใครว่ามีผีเลยลูก เป็นชาวพุทธต้องไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว” หลวงพ่อเทศน์ซะยืดยาวเลย
ข้าพเจ้าเป็นคนประเภทที่ไม่ค่อยจะยอมแพ้คนง่าย ๆ เมื่อฟังหลวงพ่อไวย์อธิบายเหตุผลเรื่องผีไม่มีจริงจนไม่มีเหตุผลอะไรจะยกมาโต้เถียงท่านแล้ว ก็นั่งฟังท่านสอนไปเรื่อย ๆ รอคอยจังหวะพลาดของท่าน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้บ้าง ครั้นท่านพูดถึงศพของคนตายก็เผลอพูดคำว่า “ผี” ออกมา
“อ้าว ไหนหลวงพ่อบอกว่าผีไม่มีไงล่ะ ทำไมเรียกศพในโกดังว่าผีเล่า?” ข้าพเจ้ารีบขัดทันที
“ฉันก็เรียกตามชาวบ้านเขาไปยังงั้นเอง” ท่านตอบพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
เหตุเป็นเพราะว่าข้าพเจ้าไปเอานมข้นหวานในโกดังเก็บศพเวลากลางคืนได้โดยไม่ถูกผีหลอก คว้กระป๋องานมข้นหวานเป็นเดิมพันมาชงดื่มกันหวานคอไปแล้ว ทำให้เณรแถม องค์เดียวกับที่โยมฉาวด่าว่า “เซ่อ, โง่, บ้า, ชิบผายเลย” นั่นแหละครับ เขาถือว่า “มีดีอวด” บ้างเหมือนกัน อยากแสดงความเก่งกล้าสามารถอย่างเณรเต็ม จึงรับคำท้าเณรเชียรไปเอานมข้นหวานอย่างที่เณรเต็มเคยไปเอามาแล้ว
คืนนั้นเดือนไม่มืด แต่ก็ไม่สว่างเจิดจ้านัก เพราะเป็นคืนข้างขึ้น ๙ ค่ำ เณรแถมจุดเทียนไขถือเดินผ่านเตาเผาศพอย่างราบรื่น พวกเรารอดูอยู่ที่ศาลาการเปรียญ เณรแถมเดินเข้าไปในโกดังที่เปิดประตูแง้มไว้แล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าเขาคงทำสำเร็จ เพราะไม่มีใครขว้างปาก้อนอิฐก้อนดินใส่หลังคาโกดังเหมือนคราวที่ข้าพเจ้าเข้าไปตามคำท้าของหลวงพี่บัณฑิต
เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อเห็นแสงเทียนในโกดังดับวูบลง แล้วมีเสียงเณรแถมร้องโวยวายด้วยความตกใจเผ่นออกจากโกดัง แทนที่จะวิ่งไปทางโคกโบสถ์ เขากลับวิ่งไปทางส้วม เสียงพื้นสะพานไม้ที่ปูไม่แน่นหนาดังโครมคราม จากส้วมก็วิ่งไปตามสะพานไม้ที่ทอดต่อไปศาลาการเปรียญ “ตู้ม!....ช่วยด้วย !.” เสียงเณรแถมตกลงไปในน้ำเพราะเหยียบกระดานสะพานพลาด พวกข้าพเจ้าพากันไปช่วยนำร่างเณรแถมขึ้นจากน้ำ หามเข้าศาลาการเปรียญอย่างทุลักทุเล เปียกปอนไปตาม ๆ กัน เณรแถมหนาวสั่นมีสภาพเหมือน “หมาขี้เรื้อนตกน้ำ” ก็จะไม่หนาวได้ยังไง ? คืนนั้นเป็นคืนวันขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๑๒ น้ำยังนองเต็มทุ่งและค่อนข้างหนาวเย็น
เณรแถมเจ็บป่วยเป็นไข้นอนซมอยู่หลายวัน เมื่ออาการเจ็บป่วยทุเลาเบาบางลงแล้ว เขาเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในคืนนั้นว่า
“พอเข้าไปในห้องเก็บศพ เห็นกระป๋องนมข้นหวานวางอยู่บนฝาโลงศพกลางห้อง จึงตรงเข้าไปหยิบ พลันก็มีเสียงนกอะไรไม่รู้ ตีปีกบินพึ้บพั้บ ๆ และโฉบเข้าใส่ ตกใจกลัวจนเทียนไขหลุดมือ ตอนนั้นเหมือนมีใครตบหน้า เข้าใจว่าเป็นผีมาตบหน้าแน่ ๆ ยืนตะลึงตัวชาอยู่ชั่วขณะ พอรู้สึกตัวก็รีบเผ่นออกจากโกดังโดยไม่นึกที่จะหนีไปทางโบสถ์เลย”
ฟังเณรแถมเล่าแล้วข้าพเจ้าพอจะคาดเดาได้ว่า นกในโกดังเก็บศพตัวนั้น ถ้าไม่ใช่ค้างคาวก็เป็นนกเค้าแมว เณรแถมจิตใจไม่หนักแน่นพอ จึงตกใจกลัวจนขาดสติสัมปชัญญะ วิ่งตาลีตาเหลือกแล้วตกสะพานลงน้ำไปในที่สุด
พวกเราลงความเห็นกันว่า “เณรแถมเสียคนไปแล้ว” เพราะหลังจากนอนป่วยหนักอยู่นานเป็นเดือน แม้ร่างกายจะเป็นปกติ แต่จิตใจของเขาไม่เป็นปกติ กลายเป็นคนกลัวผีมากที่สุด ตกใจง่าย “บ้าจี้” ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ เหม่อลอย เรียนหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่อง เป็นคนน่าสงสารในสายตาของพวกเรามากเลย
พระเณรและญาติโยมจำนวนมากเชื่อกันว่า เณรแถมถูกผีในโกดังหลอกจน “จับไข้หัวโกร๋น” อุบาสกอุบาสิกาที่รักษาอุโบสถศีลแรมคืนที่ศาลาการเปรียญส่วนมากไม่ยอมไปใช้ส้วมข้างโกดังเก็บศพ พากันเร่ไปขอใช้ส้วมซึมตามกุฏิพระแทน ทั้งนี้ก็เพราะกลัวผีหลอกอย่างที่เณรแถมโดนมาแล้ว ส้วมนั้นก็เลยกลายเป็น “ส้วมต้องห้าม” ไปโดยปริยาย ขนาดเณรอนันต์ที่ข้าพเจ้าทำให้หายกลัวผีแล้ว ก็ยังไม่กล้าแหยมเข้าไปเลยก็แล้วกัน. /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้จากในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, หยาดฟ้า, ลิตเติลเกิร์ล, คิดถึงเสมอ, ข้าวหอม, ต้นฝ้าย, เป็น อยู่ คือ, ขวัญฤทัย (กุ้งนา), My Little Sodium, ชลนา ทิชากร, มนชิดา พานิช
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๑ - “หลอกให้ครองใหญ่ - งมหาลูกพรรษา”
วัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธในชนบทหรือบ้านนอกนั้น เมื่อถึงวันพระขึ้น,แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และแรม ๑๔ ค่ำ (ในเดือนคี่) ในช่วงเทศกาลพรรษา ญาติโยมจะนำอาหารหวานคาวเข้าวัดทำบุญกันเป็นประจำ พระภิกษุสามเณรไม่ต้องออกบิณฑบาต ส่วนในช่วงที่พ้นจากเทศกาลพรรษา ประมาณเดือน ๑-๗ พระเณรต้องออกบิณฑบาต เพราะญาติโยมจะไม่ไปทำบุญที่วัด ยกเว้นเป็นเวลาตรุษสงกรานต์ และวันมาฆะวิสาขะบูชา
ผู้ชายไทยนิยมบวชเมื่อทำนาทำไร่เสร็จแล้ว คือช่วงประมาเดือน ๖ และอยู่จำพรรษาจนรับอนุโมทนากฐินแล้วจึงลาสิกขา เรียกกันว่า “บวชเอาพรรษา” ประเพณีหรือกิจวัตรของพระภิกษุสามเณรทุกวัดในชนบทนั้น ตอนเย็น คือเวลาดวงอาทิตย์ลอยยลงต่ำใกล้จะตกดินทุกวัน จะมีเวรยามตีกลอง, ระฆัง ที่เรียกกันว่า “ย่ำค่ำ” เป็นสัญญาณให้พระภิกษุสามเณรครองผ้าให้เรียบร้อยลงไปรวมกันในโรงอุโบสถ หรือไม่ก็หอสวดมนต์ เพื่อสวดมนต์ซึ่งเรียกกันว่า “ทำวัตรค่ำ” ครั้นสวดมนต์จบแล้วก็ตีกลอง, ระฆังอีกครั้ง บอกให้ญาติโยมทางบ้านรู้ว่า พระได้ทำวัตรค่ำจบแล้ว เพื่อผู้ใจบุญทั้งหลายรู้แล้วจะได้ยกมือขึ้นจบเหนือศีร์ษะอนุโมทนาบุญเป็น “ปัตตานุโทนามัย” (บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา) หลังจากนั้นพระภิกษุสามเณรก็จะท่องบ่นสวดมนต์และท่องทวนแบบเรียนพระปริยัติธรรมไปจนกว่าจะง่วงแล้วจำวัด (นอน) ในที่สุด
ตอนเช้ามืดเวลาประมาณตีสี่ตีห้า พระ-เณรที่เข้าเวรยามก็จะตีระฆังปลุกให้พระภิกษุตื่นลุกขึ้นครองผ้าเข้าประชุมที่หอสวดมนต์หรือโรงอุโบสถเพื่อสวดมนต์ ซึ่งเรียกว่า “ทำวัตรเช้า” แล้วท่องบ่นทบทวนบทสวดมนต์และแบบเรียนพระปริยัติธรรมที่ท่องได้แล้ว จนได้เวลาอรุณขึ้น จึงเปลื้องผ้าครองและออกบิณฑบาต บางวัดไม่มีการทำวัตรเช้าในตอนเช้ามืด หากแต่จะทำวัตรเช้าในเวลาหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว โดยเมื่อพระภิกษุตื่นลุกขึ้นครองผ้าไตรแล้วก็ท่องทบทวนบทที่ท่องได้แล้วนั้น ๆ ให้คล่องขึ้น ว่ากันว่าการท่องหนังสือตอนเช้ามืดจะทำให้จำได้มั่นคงยากที่จะลืมเลือน เพราะตอนเช้ามืดตื่นนอนใหม่ ๆ จิตใจจะบริสุทธิ์ สงบ ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย เมื่อมีอะไร ๆ เข้าไปสู่จิตใจก็จำได้ดี ด้วยว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้าสู่ความรู้สึกตอนเช้ามืดนั้น “เป็นความประทับใจ” จนยากที่จะลบเลือน อันนี้เป็นอุบายของพระอาจารย์รุ่นโบราณท่านวางไว้ แต่ทว่าคนรุ่นหลัง ๆ มักไม่ใคร่รับรู้เจตนาของท่านโบราณาจารย์ดังกล่าวข้างต้น ส่วนมากจะถือกันว่า การตื่นลุกขึ้นครองผ้าไตรในตอนเช้ามืดนั้น เป็นความขลังความศักดิ์สิทธิ์ เป็นบุญกุศลพิเศษและเป็นประเพณี บางคนก็เข้าใจผิดไปว่าเป็นพระพุทธบัญญัติ จึงถือทำกันอย่างเคร่งครัด จนเกิดเรื่องขำขันขึ้นเสมอมา
การครองผ้าไตรหมายจึงถึง การนุ่งสบง ห่มจีวร พาดผ้าสังฆาฏิ ซึ่งเป็น “ไตรครอง” รวม ๓ ผืน ส่วนผ้าสบงจีวรอื่น ๆ ถ้ามีมากหรือน้อยก็ตาม ถือว่าเป็น “อดิเรกจีวร” หรือผ้าอาศัย จะไม่ใช้ครองในพิธีสำคัญ ๆ เช่น ทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น ในการลงอุโบสถฟังสวดพระปาติโมกข์ และในพิธีสังฆกรรมต่าง ๆ มีการ “นั่งอันดับนาค” เป็นต้น ในที่บางแห่งและบางองค์ถือว่า “ไตรครอง” คือผ้าไตรที่อุ้มเข้าหาพระอุปัชฌาย์ในวันบวชนั้นเป็น “ผ้าไตรอันศักดิ์สิทธิ์” เมื่อบวชแล้วต้องรักษาไว้อย่างอย่างดี บางองค์พับเก็บไว้บนหัวนอน เณรและฆราวาสจะเตะต้องมิได้ ถ้าแตะต้องแล้วจะถือว่า “ผ้าไตรขาด” ต้องให้เณรหรือฆราวาสกราบผ้าแล้วประเคนให้พระเจ้าของ และเจ้าของจะต้องทำการพินทุอธิษฐานใหม่จึงจะใช้เป็น “ไตรครอง” ต่อไปได้ สมัยเป็นเด็กวัดข้าพเจ้าเคยถูกพระบวชใหม่ผู้เคร่งครัด ด่า ตี ให้กราบผ้าไตรและประเคนผ้าไตรมาแล้ว
สมัยเป็นสามเณรอยู่วัดบางซ้ายใน มีพระบวชใหม่องค์หนึ่ง ท่านชื่อพระทวี เป็นผู้เคร่งครัดต่อประเพณีมาก ทั้งยังเป็นพระประเภท “หัวอ่อน” เชื่อฟังคนอื่นง่าย จึงมักถูกพระบวชเก่า (ผู้อาวุโส) หลอกให้ท่านทำอะไร ๆ แบบพิเรน ๆ หลายอย่างจนข้าพเจ้ารู้สึกสงสารท่านมาก หลวงพี่บัณฑิตนั่นแหละตัวการสำคัญ ท่านเป็นพระอาวุโสสูง มีความรู้ด้านปริยัติธรรมเป็นนักธรรมชั้นโท (เป็นศิษย์มหาเที่ยง) ชอบหลอกพระเณรเช่นหลอกผีข้าพเจ้า เป็นต้น พระทวีเป็นอีกองค์หนึ่งที่หลวงพี่บัณฑิตหลอกให้ทำอะไรผิดจนเป็นเรื่อง “โจ๊ก” ขึ้นเมื่อพูดว่า “พระบวชใหม่ต้องครองใหญ่ ไม่อย่างนั้นก็เหมือนไม่ได้บวช” หลวงพี่บัณฑิตปรารภปูพื้นหลอกพระทวี
“ครองใหญ่” เขาทำกันอย่างไรครับหลวงพี่?” พระทวีถามด้วยความอยากรู้และอยากทำ
“ก็ต้องครองผ้าไตรพร้อมเครื่องบริขารน่ะซี” หลวงพี่ตอบเรียบ ๆ
“บริขารมีอะไรบ้างครับ” พระทวีถามต่อด้วยความกระตือรือร้น
“อ้าว ! ไม่รู้หรอกเร๊อะ ? บริขารก็มี กล่องเข็ม มีดโกน บาตร ประคดเอว ประคดอก เสื่อ มุ้ง หมอน และของใช้อื่น ๆ เท่าที่มี” หลวงพี่แจกแจงเรื่อย ๆ ตามเคย พระทวีก็นั่งฟังด้วยอาการสงบเสงี่ยม
“ทำอย่างไรบ้างครับ” พระทวีถามหลังจากนั่งคิดนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง
“ไม่ยากหรอก ก็นุ่งสบงครองแล้วเอาสบงอาศัยทั้งหมดที่มีอยู่นุ่งทับ เอาจีวรอาศัยเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดซ้อนกับจีวรครอง แล้วห่มเฉวียงบ่า พาดสังฆาฏิ และห่มทับด้วยมุ้ง แล้วหุ้มด้วยเสื่อหรือพรม ใช้ผ้าประคดอกรัดให้แน่น เสร็จแล้วเอาบาตรใส่สลกติดสายโยกสะพาย มือซ้ายถือพัด (ตาละปัด) ยกขึ้นบังหน้า เดินเข้าไปกราบพระอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ (คู่สวด) เป็นอันเสร็จพิธี ถ้าใครครองใหญ่ได้อย่างที่ว่าแล้ว ถือว่าได้บวชเป็นพระโดยสมบูรณ์” หลวงพี่บัณฑิตท่านอธิบายวิธีการเสียยืดยาว
อีก ๓ วันต่อมา เรื่องฮาใน “ดงขมิ้น” ที่วัดบางซ้ายในของข้าพเจ้าก็เกิดขึ้น เวลาประมาณตีห้าของคืนนั้น พระทวีลุกขึ้นจากที่นอนเมื่อเสียงระฆังปลุกดังกังวานขึ้น จัดแจงแต่งตัวด้วยการ “ครองใหญ่” ตามที่หลวงพี่บัณฑิตแนะนำ โดยมีเณรแถมเป็นผู้ช่วยจัดการครองใหญ่ให้จนเสร็จเรียบร้อย
เมื่อครองใหญ่เสร็จแล้ว ก็ไปเข้าหาพระสมุห์สาย รองเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์และครูสอนพระปริยัติธรรม ท่ามกลางสายตานับสิบคู่ที่แอบมองอยู่ พระอาจารย์สายครองผ้าตามปกติเสร็จแล้วก็นั่งเป่ายานัตถุ์อยู่หน้ากุฏิของท่าน แลเห็นพระทวีครองใหญ่เดินตัวแข็งทื่อเข้าหาท่านก็ตกใจ ถือกล้องยานัตถุ์ยกค้างนั่งนิ่งอยู่ พระทวีเข้าไปถึงตรงหน้า จะนั่งลงกราบก็นั่งไม่ได้ เพราะเสื่อที่ห่มพันตัวอยู่ทำให้ตัวแข็งเป็นไม้ท่อน ก็เลยทำท่ายงโย่ยงหยกเหมือน “เจ๊กยืนไหว้เจ้า”
“จะบ้าเรอะ ? ไป๊.....ออกไปบ้าที่อื่น ! เดี๋ยวก็ซัดด้วยขวดยานัตถุ์หัวร้างข้างแตกไปเลย อะไร บวชมาตั้งครึ่งค่อนพรรษาแล้วยังโง่ให้เขาหลอกเอาได้นี่”
พระอาจารย์สมุห์สายส่งเสียงดังลั่นหลังจากหายตกตะลึงและรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว พระเณรหลายองค์ที่แอบดูอยู่อดกลั้นเสียงหัวเราะไม่ไหวก็พากันส่งเสียง “ก๊าก! ฮา....” ออกมา ทำให้พระอาจารย์สมุห์สายโมโหมากขึ้น จึงด่ากราดด้วยคำหยาบที่ไม่อาจนำมาเปิดเผยได้ พระทวีรู้สึกตัวว่าถูกหลอกถูกต้ม ทั้งโกรธทั้งอาย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ เณรแถมต้องย้ายกุฏิไปอยู่หลังอื่น เพราะเห็นว่าถ้ายังขืนอยู่ร่วมกุฏิเดียวกับพระทวีคงมีอันเป็นไปอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นแน่ พระทวีกลายเป็นคนเงียบขรึมไม่สมาคมกับใคร ๆ จนกระทั่งลาสิกขา (ไม่ใช่ลาสิกขาบท) ออกไปตามประเพณี เรื่องนี้เณรแถมบอกเล่ารายละเอียดให้ฟังภายหลังว่า เมื่อเสียงระฆังดังขึ้น พระทวีรีบปลุกให้เณรลุกขึ้นช่วยครองใหญ่ให้ ขณะที่ช่วยอยู่นั้นต้องกลั้นหัวเราะเสียจนเจ็บท้องแทบตาย ริมฝีปากห้อเลือดเพราะเม้มแรงเกินไป ไม่งั้นก็คงต้องปล่อยเสียงก๊ากจน “กลแตก” ไปแล้ว
เรื่องการ “ครองใหญ่” ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรเลย เป็นเรื่องที่มีเกิดขึ้นใน “ดงขมิ้น” เสมอมา คือพระบวชใหม่มักไม่รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของการเป็นอยู่อย่างพระภิกษุ ก็มักจะถูกพระเก่าหลอกหยอกล้อเล่นเป็นธรรมดา มีเรื่องเล่าว่าบางแห่งมีการครองใหญ่เข้าหาพระอุปัชฌาย์ที่ท่านเป็นคนดุมาก ถูกตีหัวแตกหัวโนไปก็มี นอกจากพระเก่าจะหลอกพระใหม่ให้ครองใหญ่แล้ว ยังเล่นสนุกด้วยการหลอกให้ทำอะไร ๆ อีกหลายอย่าง เช่นพระเฉลิมกับพระประหยัดตกเป็นเหยื่อหลวงพี่บัณฑิตอีกจนได้ ท่านถูกหลอกให้งม “ลูกพรรษา” ในแม่น้ำ และพระประหยัดค้นหา “ลูกพรรษา” ในกอไผ่ครับ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้จากในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๒ - “ลูกพรรษาของพระก็มีด้วย?”
ที่ปลายสายประคดเอว (ก็เข็มขัดพระนั่นแหละครับ) สมัยก่อนนี้มีกระดูกหรืองาช้าง กลึงกลมแบนแล้วเจาะรูตรงกลางเหมือนสตางค์แดงผูกห้อยไว้ ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ความหมายหรือประโยชน์การใช้สอย ถามใคร ๆ ก็ไม่ได้ความหมายที่แท้จริงว่าเขามีไว้ทำอะไร ประคดเอวทุกสายไม่มีเจ้ากระดูกรูปกระดุมหรือสตางค์แดงหรอกครับ บางสายมี บางสายก็ไม่มี คงจะเป็นไปตามความพอใจของร้านค้าขายผ้าไตรกระมัง? พระบวชเก่าที่เป็นคนขี้เล่น เรียกเจ้ากระดูกนี้ว่า “ลูกพรรษา” และเรียกเพี้ยนไปเป็น “ลูกประสา” ก็มี หลวงพี่บัณฑิตมีลูกพรรษาติดปลายประคดเอวของท่านห้อยต่องแต่งอยู่ ๒ ลูก
วันหนึ่งเป็นวันข้างแรมแก่ ๆ ของเดือนสิบสองน้ำกำลังนองเต็มตลิ่ง ลมกำลัง “โยก” คำว่า “ลมโยก” ก็หมายความว่า ลมพัดจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของ “ลมหนาว” ของเหมันตฤดู พอลมเริ่มโยกน้ำก็เริ่มลดลง ข้าวในท้องทุ่งนาที่ออกรวงตั้งชูอยู่นั้นก็เริ่มค้อมรวงลงและเริ่มสุกมีสีเหลืองอร่ามอยู่ในระดับที่เรียกว่า “เป็นข้าวเม่า” คือสุกพอที่จะให้เกี่ยวไปคั่วตำเป็นข้าวเม่าแล้ว
เวลาใกล้ค่ำวันนั้น พระ-เณรประมาณ ๗-๘ องค์นั่ง “ซดน้ำชา” แกล้มน้ำตาลเคี่ยว (เหมือนตังเม) อยู่หน้ากุฏิหลวงพี่บัณฑิตใกล้ริมแม่น้ำที่ไหลผ่านหน้าวัด หลวงพี่บัณฑิตเป็นผู้ทำการเคี่ยวน้ำตาลปี๊บด้วยตนเองจนเหงื่อไหลไคลย้อย พระ-เณรเหล่านั้นไม่ต้องช่วยท่านทำ มีหน้าที่เพียงนั่งฉันน้ำตาลซดน้ำชากันอย่างเดียว พอเคี่ยวน้ำตาลเสร็จท่านก็ลงบันไดข้างกุฏิไปอาบน้ำดำผุดดำว่ายอยู่ครู่หนึ่งก็ขึ้นมา เดินตัวสั่น ๆ ซี๊ดปากแสดงอาการหนาว รีบเปลี่ยนผ้าอาบน้ำที่เปียกออก หยิบสบงแห้งมานุ่ง และหยิบประคดเอวมาคาดอย่างชำนิชำนาญ
“ เอ๊ะ ! นั่นลูกอะไรครับหลวงพี่?” พระเฉลิมเห็น “ลูกพรรษา” ที่ปลายสายประคดเอวของหลวงพี่บัณฑิตจึงร้องถามด้วยความสงสัยใคร่รู้
“ อ้าว! คุณยังไม่มีกะเขาหรอกเรอะ?” หลวงพี่บัณฑิตทำหน้าฉงน
“ไม่มีครับ ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักด้วย” พระเฉลิมตอบด้วยใบหน้าเหรอหรา “ไอ้นี่คือ “ลูกพรรษา” พระที่บวชได้พรรษาแล้วต้องมีไอ้ลูกอย่างนี้” หลวงพี่บัณฑิตตอบพร้อมกับมองหน้าพระทุกองค์ในที่นั้นพร้อมกับขยิบตาเป็นความหมายให้รู้กันว่าต้องช่วยกันโกหกพระเฉลิม พระเฉลิมก็เป็นพระประเภท “ซื่อ,เซ่อ,โง่” อีกองค์หนึ่งแหละครับ หันไปถามใคร ๆ เขาก็บอกว่าจริงอย่างที่หลวงพี่บัณฑิตว่า พระทุกองค์ที่บวชได้ ๑ พรรษาแล้วจะต้องได้ลูกพรรษา บางองค์ผูกไว้ปลายสายประคดเอว บางองค์ก็เก็บไว้ในที่มิดชิด ถือกันว่าเป็นของสำคัญที่หาได้ยาก พระเฉลิมได้ฟังคำยืนยันจากเพื่อนพระด้วยกันดังนั้นก็เชื่ออย่างสนิทใจ
“แล้วผมจะหาลูกพรรษานี้ได้จากไหนล่ะครับ?” ถามด้วยความกระตือรือร้นอยากได้
“อยู่ในแม่น้ำหน้าวัด ลูกนี้ผมงมได้ตรงบริเวณบันไดศาลาท่าน้ำนั่นแหละ กว่าจะได้มาต้องไปดำน้ำงมหาตั้งแต่เช้ามืดก่อนเวลาได้อรุณ ถ้าโชคดีเมื่อดำน้ำลงไปครั้งเดียวก็ได้ ถ้าโชคไม่ค่อยดีก็ต้องดำน้ำลงไปงมหาหลายครั้งหน่อยจึงจะได้ ลูกนี้ผมดำน้ำถึง ๓ ครั้งจึงได้” หลวงพี่บัณฑิตตอบพร้อมชูลูกพรรษาให้ดู
วันรุ่งขึ้น ยามเช้าได้เวลาออกบิณฑบาตพวกข้าพเจ้าออกบิณฑบาตกันตามปกติ เห็นพระเฉลิมกำลังดำน้ำผลุบโผล่ ๆ อยู่บริเวณหน้าบันไดศาลาท่าน้ำ ต่างก็อมยิ้มโดยไม่พูดจาทักทายอะไร เพราะรู้เรื่องอยู่แล้วว่าหลวงพี่บัณฑิตหลอกให้ท่านงมหาลูกพรรษา พระบางองค์ที่ไม่รู้เรื่อง เห็นพระเฉลิมดำน้ำอยู่ก็ไม่สงสัยด้วยคิดว่าท่านลงอาบน้ำเช้าธรรมดา จนกระทั่งพระเณรกลับจากบิณฑบาต พระเฉลิมก็ยังไม่ขึ้นจากน้ำ ท่านดำน้ำงมหาลูกพรรษา จนหน้าซีดปากดำเพราะความหนาว หลวงตาโตกลับจากบิณฑบาตมาเห็นเข้าก็ถาม “ทำไมทั่นอาบน้ำนานจัง ?”
“ผมยังงมหาลูกพรรษาไม่ได้เลยครับ” พระเฉลิมตอบด้วยเสียงสั่น ๆ
หลวงตาโตฟังแล้วก็หัวเราะด้วยความขบขันแกมสงสาร และรู้ได้ทันทีว่าพระเฉลิมถูกหลอกเข้าให้แล้ว
“ขึ้นจากน้ำเถอะ เดี๋ยวหนาวตาย ฉันจังหันแล้วไปเอาที่ผม ผมมีอยู่หลายลูก” หลวงตานึกสนุกขึ้นมาบ้าง จึงบอกให้พระเฉลิมไปเอาลูกพรรษาที่ท่านหลังจากฉันข้าวเช้าแล้ว พระเฉลิมจึงรีบขึ้นจากน้ำด้วยความดีใจ
หลวงตาโตเป็นพระผู้เฒ่าที่บวชนาน มีอาวุโสสูงเป็นอันดับ ๕ ของวัดบางซ้ายใน จึงมีความรู้ในเรื่องราว “แวดวงดงขมิ้น” มากพอสมควร เรื่อง “ลูกพรรษา” นี้ท่านก็รู้ว่ามีการหลอกให้หากันมาจนไม่รู้ว่านานเท่าไร และยังหลอกกันได้อยู่เรื่อย ๆ เมื่อฉันอาหารเช้าแล้วท่านก็เตรียมมอบ “ลูกพรรษา” ให้พระเฉลิม เมื่อพระเฉลิมเข้าไปหา ท่านก็ห่มจีวรเฉวียงบ่า พาดผ้าสังฆาฏิ รัดผ้าประคดอกเรียบร้อย นั่งพับเพียบอยู่กลางห้องนอน พระเฉลิมห่มผ้าไม่เรียบร้อยท่านก็ให้กลับไป “ห่มดอง” เหมือนอย่างท่าน แล้วเอาดอกไม้ธูปเทียนใส่พานหรือฝาบาตรเข้ามารับ “ลูกพรรษา” พระเฉลิมทำตามสั่งแล้วท่านจึงมอบลูกพรรษาให้ ๑ ลูก
พระเฉลิมดีใจมาก ผูกลูกพรรษาไว้ที่ปลายสายรัดประคดแล้วเดินอวดเพื่อนพระบวชใหม่ด้วยกันไปรอบวัดเลยทีเดียว
ดังได้กล่าวแล้วว่าวัดบางซ้ายในเป็นวัดใหญ่ที่สุดในอำเภอบางซ้าย (ขณะนั้นเป็นกิ่งอำเภอที่แยกจากอำเภอเสนา) มีพระเณรอยู่ประจำไม่น้อยกว่า ๕๐ องค์ ดังนั้น พระเฉลิมจึงต้องเดินอวดลูกพรรษาไปทุกกุฏิกว่าจะครบก็เหนื่อยไม่น้อยเลย ผลของการเดินอวดลูกพรรษาของพระเฉลิมเป็นเหตุให้มีเพื่อนพระบวชใหม่ด้วยกันอีกองค์หนึ่งตกเป็นเหยื่อถูกหลอกแบบ “พลอยฟ้าพลอยฝน” ไปด้วย
พระประหยัดเป็นชาวบ้านเต่าเล่าที่บวชพร้อมกันกับพระเฉลิม ตอนที่เดินอวดลูกพรรษานั้นพระเฉลิม “โม้” ว่างมได้ในแม่น้ำหน้าวัด พระประหยัดหลงเชื่อจึงทำตามอย่างพระเฉลิม เสียเวลางมหาอยู่หลายวันก็ไม่ได้ หลวงพี่บัณฑิตเห็นว่าพระประหยัดลงไปงมหาลูกพรรษาหลายครั้งหลายวันแล้วก็ไม่ได้ จึงคิดหาวิธีกลั่นแกล้งพระใหม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง
“ลูกพรรษาในแม่น้ำเขางมได้กันไปจนหมดแล้วคุณประหยัด อย่าลงไปงมหาให้เหนื่อยเปล่าเลย” หลวงพี่บัณฑิตท่านเริ่มต้นหลอกอย่างนั้น
“แล้วผมจะหาที่ไหนได้ล่ะครับหลวงพี่” พระประยัดถามขณะลอยคออยู่ในน้ำ
“เห็นจะต้องไปเอาในกลางกอไผ่ข้างส้วม ริมเตาเผาศพโน้นเสียแล้วหละคุณ” หลวงพี่บัณฑิตตอบด้วยใบหน้าที่ขรึม ๆ
“ทำไมมันไปอยู่ในนั้นเล่าครับ?”
“อ๋อ...เจ้าลูกพรรษานี่นอกจากมันจะอยู่ในน้ำแล้ว ยังมีอยู่ในปล้องกระทู้ไม้ไผ่กลางกอ ต้องถางหนามไผ่เข้าไปตัดกระทู้ไผ่แก่ ๆ เอาออกมาผ่าดู บางกระทู้มีลูกเดียว บางกระทู้ก็มีหลายลูก ถ้าไปถางหนามไผ่ตัดกระทู้ได้ลูกพรรษาในเวลากลางคืน ลูกพรรษานั้นจะมีความขลังความศักดิ์สิทธิ์มาก ถ้าได้กลางวันก็จะมีความขลัง-ศักดิ์สิทธิ์น้อยหน่อย” หลวงพี่ท่านอธิบายเสียยืดยาวเลย
วันรุ่งขึ้น ฉันอาหารเช้าเสร็จแล้วพระประหยัดถือมีดโต้ (อีโต้) เล่มงามไปถางเรียวหนามไผ่ข้างป่าช้าเพื่อหาลูกพรรษา ท่านไม่กล้าไปในเวลากลางคืนเพราะกลัวผีหลอก เพลแล้วพระประหยัดก็ไม่ยอมกลับมาฉันอาหารเพลที่กุฏิ หลวงตาชื้นพระพี่เลี้ยงของท่านจึงให้เด็กเที่ยวตามหา เด็กไปพบเห็นเมื่อกอไผ่ถูกถางทำลายไปครึ่งกอแล้ว เมื่อเด็กบอกว่าหลวงตาให้มาตามไปฉันเพล ท่านก็กลับไปอาบน้ำด้วยอาการอันหมกมุ่นกังวล
“ท่านไปถางกอไผ่ทำไม?” หลวงตาชื้นถามในขณะฉันอาหาร
“ถางเอาลูกพรรษาครับ”
“บ้า..! ทั่นนี่บ้าแล้ว ลูกพรรษาพันเสออะไรนั่นมีที่ไหนเล่า”
“หลวงพี่บัณฑิตบอกว่ามีในปล้องกระทู้ไม้ไผ่กลางกอครับ
“ทั่นนี่ บวชได้ตั้งพรรษาหนึ่งแล้วยังโง่ให้เขาหลอกเล่นได้” หลวงตาชื้นดุด้วยความโมโห พระร่วมคณะพากันหัวเราะคิกคัก พระประหยัดรู้ตัวว่าถูกหลอกก็มีทั้งโกรธทั้งอาย นั่งนิ่งอั้นอยู่ กินอาหารไม่ลง วางช้อนแล้วลุกขึ้น เดินเข้าห้องเก็บตัวเงียบอยู่เป็นเวลานาน พระประหยัดมิได้โกรธเคืองคั่งแค้นหลวงพี่บัณฑิตเท่านั้น ยังฝังความพยาบาทอาฆาตลงลึกในใจท่านอีกด้วย ไม่ยอมพูดจากับหลวงพี่บัณฑิต แม้แต่หน้าก็ไม่อยากมอง เดินสวนทางกันท่านก้มหน้ารีบเดินผ่าน มึนตึงอยู่กระทั่งสึกหาลาเพศไป ตอนแต่งงานก็ห้ามเจ้าภาพฝ่ายหญิงไม่ให้นิมนต์หลวงพี่บัณฑิตไปในงานพิธีมงคลสมรสของเขา เรียกว่า “แค้นไปจนวันตาย” งั้นเถิดครับ./
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๓ - “เริ่มต้นการเป็นนักเทศน์”
วัดบางซ้ายใน มีชาวบ้านสองตำบลรวมกันทำบุญในเทศกาลพรรษาจนศาลาการเปรียญหลังใหญ่เต็มไปด้วยผู้คนใจบุญ ถ้าเป็นวันใหญ่ ๆ จะมีคนไปร่วมทำบุญกันเป็นหมื่นคนจนล้นออกนอกศาลา มีอุบาสกอุบาสิการักษาอุโบสถศีลตอนกลางวัน ๒๐๐-๓๐๐ คน แรมคืน (ค้างคืน) ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ คน ส่วนใหญ่เป็นคนมีอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป ชายหนุ่มไม่มี ส่วนหญิงสาวมีแทรกอยู่พอประปราย ซึ่งก็เป็นญาติมิตรพระบวชใหม่ และลูกหลานผู้เฒ่าทั้งหลายที่ไปอยู่เป็นเพื่อนนั่นแหละครับ
เหตุที่มีคนรักษาอุโบสถศีลกันมาก ก็เพราะคนที่นั่นมีอาชีพทำนามากถึง ๙๐% พอทำนาเสร็จน้ำก็เข้าท่วมทุ่ง คนว่างงานเป็นช่วงเวลาเข้าพรรษาพอดี อยู่บ้านว่าง ๆ ก็เปล่าประโยชน์ จึงหันหน้าเข้าวัดปฏิบัติธรรมกันตามกำลังความสามารถของตน
ทุกวันพระในพรรษา วัดบางซ้ายในมีประเพณีการ “เทศน์ไตรมาส” โดยกรรมการวัดจะจัดพิมพ์ “ฎีกากัณฑ์เทศน์” ให้ผู้มีจิตศรัทธาจับสลากว่าใครจะได้เป็นเจ้าภาพขันกัณฑ์เทศน์ในวัน, เวลาใด เตรียมจัดขันกัณฑ์เทศน์ไปตั้งและฟังเทศน์กันในศาลาการเปรียญตามกำหนดวันเวลานั้น พระเทศน์ก็เป็นพระในวัดบางซ้ายในนั่นเอง ไม่มีพระนอกวัดมาเทศน์ พระองค์ใดเทศน์ เครื่องกัณฑ์-ปัจจัยที่ติดกัณฑ์เทศน์ก็ถวายเป็นสิทธิ์เฉพาะองค์นั้น ปีใดมีพระจำพรรษามากก็จะจัดเวลาให้เทศน์ในตอนกลางวัน วันพระละหลายกัณฑ์ เครื่องกัณฑ์เทศน์นอกจากปัจจัย (สตางค์) แล้ว ก็มีนมข้นหวาน น้ำอ้อย น้ำตาล ข้าวสาร พริก เกลือ กะปิ น้ำปลา กล้วย ต้นอ้อย บุหรี่ หมาก พลู และอื่น ๆ ตามแต่เจ้าของกัณฑ์จะหามาถวาย เฉพาะปัจจัยนั้นเขานิยมเอาแบ๊งค์เสียบปลายไม้ปักเป็นธงมากน้อยตามกลังศรัทธา
วิธีการเทศน์ก็ให้พระผู้เทศน์จับสลากโดยไม่เรียงลำดับอาวุโส องค์ใดจับได้วันเวลาใดก็เทศน์ตามวันที่จับได้นั้น ดูไม่เป็นการยากสำหรับผู้เทศน์ เพราะกำหนดให้อ่านคำเทศน์ตามใบลานที่ทางวัดจัดให้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นปุคคลาธิษฐาน คือมีเรื่องราวประกอบธรรมะ เช่นว่า พระเจ้าสิบชาติ บ้าง ฎีกาพาหุง บ้าง มงคลสูตร บ้าง เปตวัตถุ บ้าง วิมานวัตถุ บ้าง ฯลฯ สำนวนเทศน์เป็นเทศนาโวหาร ศัพท์แสงเป็นภาษาบาลีสันสกฤตลดรูปเสียส่วนใหญ่ พระบวชใหม่ที่ไม่คุ้นภาษาธรรมแล้วอ่านไม่ค่อยถูก ส่วนมากก็อ่านไปโดยที่ตนเองไม่เข้าใจในเรื่องและถ้อยคำที่ตนอ่านนั้น ๆ ก็ในเมื่อผู้อ่านไม่เข้าใจ ผู้ฟังก็พลอยไม่เข้าใจไปด้วย แต่ญาติโยมก็ทนฟังกันได้ เพราะเขาอยากได้บุญ ดังนั้นจึงมีการแจกคัมภีร์เทศน์ให้พระเทศน์ได้อ่านล่วงหน้าก่อนถึงวันเทศน์อย่างน้อย ๑ สัปดาห์ เพื่อให้ทุกองค์อ่านทำความเข้าใจ เวลาเทศน์จริงจะได้ไม่อ่านแบบตะกุกตะกักสร้างความรำคาญแก่ผู้ฟัง
ช่วงเวลาเช้า หลังจากตักบาตรทำบุญและพระฉันอาหารเสร็จแล้ว “พระเถระ” คือพระผู้ใหญ่ มีเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ครูสอนพระปริยัติธรรม องค์ใดองค์หนึ่งจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์เป็นองค์แรก เรียกกันว่า “เทศน์กัณฑ์อุโบสถ” ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันเป็นต้นไปถึงเวลาประมาณสี่โมงเย็น เป็นช่วงเวลาที่ “เทศน์กัณฑ์ไตรมาส” ปีใดมีพระจำพรรษามากการเทศน์ไตรมาสก็จะเลยไปถึงเวลากลางคืนด้วย ปีใดมีพระน้อยเวลากลางคืนไม่มีกัณฑ์เทศน์ไตรมาส ก็จัดให้มีเทศน์พิเศษ โดยจัดตั้งขันกัณฑ์เทศน์รวมขึ้นไว้กลางศาลาตั้งแต่เวลาเช้าของวันพระนั้น ใครมีศรัทธาจะเอาเงินติดกัณฑ์เทศน์เท่าไหร่ก็ไปใส่ขันรวมกันไว้ ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น บางคนมีเงินน้อยก็ติดกัณฑ์เทศน์เพียง ๑ บาท บางคน ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท ไปจนถึง ๑๐๐ บาทก็มี ผู้เทศน์ไม่ใช่พระภิกษุ แต่เป็นสามเณรในวัด ขันกัณฑ์เทศน์พิเศษนี้บางคืนมีสตางค์ติดกัณฑ์เทศน์มากถึง ๕๐๐-๖๐๐ บาททีเดียวครับ
การเทศน์โดยอ่านหนังสือในคัมภีร์ใบลานนี้ ดูแล้วไม่น่าจะยาก แต่กลับเป็นเรื่องยากสำหรับผู้เทศน์ไม่น้อย บางองค์เดินขึ้นธรรมาสน์แล้วสั่นไปทั้งตัว หูอื้อตาลาย นั่งเป็นใบ้ไปเลยก็มี บางองค์เทศน์แบบตะโกนเสียงหลงสั่นรัวจนฟังไม่รู้เรื่อง บางองค์อ่านหนังสือผิด ๆ ถูก ๆ ทั้ง ๆ ที่ก่อนเทศน์จริงได้อ่านทบทวนอยู่หลายวันจนคล่องปากแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะเกิดความเกร็ง ตื่นเต้น ประหม่า และกลัวจะเทศน์ได้ไม่ดี ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้ฟังนั่นเอง
ข้าพเจ้าขึ้นธรรมาสน์เทศน์ครั้งแรกก็เกิดการประหม่าไม่แพ้ใครเหมือนกัน เวลาประมาณ ๑ ทุ่มคืนวันหนึ่ง เป็นเวรเทศน์ของสามเณรเต็ม ข้าพเจ้าห่มจีวรเฉวียงบ่าเรียบร้อย ผุดลุกผุดนั่งรอคอยเวลาขึ้นเทศน์อยู่ในกุฏิด้วยความกระวนกระวายใจ พอได้ยินระฆังเป็นสัญญาณให้ขึ้นเทศน์ได้ ก็ออกจากกุฏิเดินตัวปลิว มีพระเณรหลายองค์เดินตามไปนั่งฟังบนอาสน์สงฆ์
คืนนั้นเป็นคืนวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ (เรียกกันว่าวันพระใหญ่) มีอุบาสกอุบาสิการักษาอุโบสถอยู่แรมคืนที่วัดจำนวนมาก คะเนดูว่ามีประมาณ ๓๐๐ คน ข้าพเจ้าเดินเข้าศาลาอย่างขลาด ยกเท้าก้าวขึ้นบนอาสนสงฆ์แทบไม่ไหว จนต้องใช้มือขวายันพื้นช่วย กราบพระประธานบนอาสนสงฆ์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์โดยมีพระเณรกราบตาม เรียบร้อยแล้วนั่งรอให้หัวหน้าอุบาสกจุดเทียนส่องธรรมข้างธรรมาสน์ตามประเพณี เมื่อ “เทียนส่องธรรม” ถูกจุดขึ้นแล้ว ก็กราบพระพุทธรูปประธานอีกครั้ง ลงจากอาสน์สงฆ์ด้วยความรู้สึกเบาหวิว เดินตัวปลิวไปด้วยอาการใจสั่น มือสั่น ขาสั่น เมื่อถึงเชิงบันไดก็ใช้สองมือเกาะตัวนาคที่เป็นราวบันไดพาดขึ้นสู่ธรรมาสน์คล้ายกับคลานขึ้นไป นั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าอุบาสกกล่าวคำเป็นภาษาบาลีว่า “พรัหมา จะโลกา......” ซึ่งถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยก็ได้ความว่า สหัมบดีผู้เป็นใหญ่ในพรหมโลกยังอาราธนาให้พระพุทธองค์แสดงพระธรรมเทศนา ข้าพเจ้าขออาราธนาพระคุณเจ้าจงแสดงพระธรรมเทศนาอนุเคราะห์ข้าพเจ้าด้วยเถิด อะไรทำนองนั้น จบคำอาราธนาธรรม ข้าพเจ้าก็จับคัมภีร์เทศน์ยกขึ้นจบพนมมือตั้งกลางอก มีความรู้สึกว่าหัวของข้าพเจ้ามันพองโตจนคับธรรมาสน์เลยเชียว พอตั้งสติได้ก็นึกถึงหลวงพ่ออาจารย์ไวย์ ด้วยคิดว่า เรามีอาจารย์เป็นพระนักเทศน์ที่เก่งกล้ามีชื่อเสียงโด่งดัง เราเป็นศิษย์มีครูดี จะไปกลัวอะไร เมื่อคิดได้ดังนั้นความประหม่าขลาดกลัวก็หายไปดังปลิดทิ้ง เริ่มเทศน์ด้วยการตั้งนะโม ๓ จบ แล้วอ่านคำบาลีที่เรียกว่า “จุลนีบท” ชัดถ้อยชัดคำ เสียงดังกังวานก้องศาลา อ่านความในคัมภีร์ได้คล่องแคล่วไม่ติดขัด การเทศน์ครั้งแรกของข้าพเจ้าถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ญาติโยมผู้ฟังพออกพอใจมาก จนเป็นที่ยอมรับกันว่า บรรดาเณรและพระบวชใหม่ในวัดบางซ้ายใน สามเณรเต็มเทศน์เก่งที่สุด.
เรื่อง “ฮา” ในดงขมิ้น คือสังคมพระเณรมีให้เล่าสู่กันฟังได้ไม่รู้จักสิ้น แม้ในเรื่องการเทศน์สอนคนซึ่งเป็นเรื่องดีงามก็ยังมีการกลั่นแกล้งหลอกลวง สร้างความสนุก ความอับอายขายหน้าให้แก่กันจนได้
พระไปล่ รับแจกคัมภีร์เทศน์ล่วงหน้าให้ฝึกซ้อมเป็นเวลาเดือนเศษ ท่านตั้งอกตั้งใจอ่านทบทวนวันละหลายเที่ยว ด้วยหวังว่าจะเทศน์ให้ญาติโยมชอบอกชอบใจ ได้รับคำชมเหมือนองค์อื่นบ้าง บางวันท่านถึงกับซ้อมใหญ่ โดยขอร้องให้พระเณรและเด็กวัดไปนั่งฟังบนศาลา ตัวท่านขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ทำเหมือนจริงทุกอย่าง ครั้นถึงวันเทศน์ก็ให้ “เด็กชายกลิ้ง” ลูกศิษย์ของท่าน ถือห่อคัมภีร์เทศน์ขึ้นไปไว้บนธรรมาสน์ เด็กชายกลิ้งแบกห่อคัมภีร์เทศน์เดินผ่านหน้ากุฏิหลวงพี่สมพงศ์ ครูสอนพระปริยัติธรรม หลวงพี่ก็ขอยืมห่อคัมภีร์เทศน์นั้นเข้าไปดูในกุฏิ อ้างว่าขอตรวจดูก่อน แล้วก็ส่งคืนให้นำไปไว้บนธรรมาสน์ได้เลย
วันนั้นพระไปล่เดินขึ้นธรรมาสน์ด้วยความมั่นอกมั่นใจ เมื่อหัวหน้าอุบาสกอาราธนาธรรมจบท่านก็คลี่ห่อคัมภีร์เทศน์แล้วนั่งนิ่ง มองดูคัมภีร์เทศน์ด้วยความงุนงงสงสัย จะไม่ให้ท่านงุนงงได้อย่างไรล่ะครับ ก็คัมภีร์เทศน์ในมือท่านขณะนั้น ไม่ใช่คัมภีร์ที่ท่านอ่านจนช่ำชองนั้นเสียแล้ว เพราะหลวงพี่สมพงษ์นั่นแหละครับ กลั่นแกล้งด้วยการเปลี่ยนคัมภีร์เทศน์ที่เด็กชายกลิ้งถือไปไว้บนธรรมาสน์ ทำให้พระไปล่ต้องนั่งอึ้งนิ่งอยู่เป็นนานจนโยมสีนวลต้องร้องเตือน
“ว่าไงล่ะท่าน จะเทศน์ก็เทศน์ไปเลยซี่ โยมรอฟังอยู่”
พระไปล่ตกอยู่ในภาวะอย่างนั้นก็ต้อง “ตกบันไดพลอยโจน” เสียแล้ว ท่านพยายามอ่านหนังสือในคัมภีร์ที่ไม่เคยอ่าน ตะกุกตะกักผิด ๆ ถูก ๆ ท่ามกลางความหงุดหงิดรำคาญของผู้ฟัง กว่าจบลงได้ก็ใช้เวลาไปนานประมาณ ๒ ชั่วโมงทีเดียว ความรู้สึกของพระไปล่เห็นจะไม่ต้องบอกหรอกครับว่า เกิดความเคืองแค้น ความอับอาย โหมเข้าสู่จิตใจของท่านรุนแรงเพียงใด
กรรม คือการกระทำใด ๆ ของคน ย่อมมีผลสนองเสมอ ผิดแต่ว่าจะได้รับผลช้าหรือเร็วเท่านั้น พระไปล่เคืองแค้นหลวงพี่สมพงษ์มากจนผูกใจเจ็บว่า “แค้นนี้ต้องชำระ” จึงหาโอกาสแก้แค้นให้สาสมใจ จนวันหนึ่งถึงเวรหลวงพี่สมพงษ์เทศน์กัณฑ์อุโบสถ พระไปล่แอบเอาคัมภีร์ไปเปลี่ยนคัมภีร์หลวงพี่สมพงษ์เป็นการแก้แค้น แต่ไม่สำเร็จ ปรากฏว่าหลวงพี่สมพงศ์อ่านคัมภีร์ได้คล่องแคล่วไม่ตะกุกตะกักเหมือนพระไปล่ เพราะท่านบวชมานานเกิน ๑๐ พรรษาแล้ว ความรู้ด้านปริยัติธรรมท่านก็สอบได้เป็นนักธรรมชั้นโทและเป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรีอีกด้วย การอ่านหนังสือเทศน์ของท่านจึงคล่องแคล่วโดยไม่ต้องซ้อมอ่านมาก่อน เทศน์จบแล้วหลวงพี่สมพงษ์ยังมาพูดเยาะเย้ยพระไปล่เป็นการเพิ่มความโกรธแค้นอีกด้วย ข้าพเจ้ารู้สึกหมั่นไส้หลวงพี่สมพงษ์มาก ก็เลยวางอุบายช่วยให้พระไปล่แก้เผ็ดให้จนได้/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๑ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๔ - “เริ่มต้นการเป็นนักเทศน์ ๒”
หนึ่งเป็นวันพระใหญ่ที่สำคัญ คือแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ เป็นวันประเพณีตรุษไทย มีคนมาทำบุญและอยู่ฟังเทศน์ไตรมาสเวลาบ่ายโมงกันมาก วันนั้นเป็นเวรเทศน์ของพระประยูร แต่ท่านไม่กล้าเทศน์ด้วยตนเอง จึงขอให้หลวงพี่สมพงษ์ช่วยเทศน์แทน หลวงพี่สมพงษ์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ด้วยความมั่นใจเช่นเคย หัวหน้าอุบาสกอาราธนาธรรมจบแล้วท่านก็หยิบห่อคัมภีร์เทศน์ที่เตรียมไว้คลี่ผ้าห่อคัมภีร์ออกแล้วก็ผงะ หันซ้ายหันขวา ทำหน้าล่อกแล่ก ยกคนโทน้ำเทใส่แก้วดื่มอั้ก ๆ แล้วบ้วนปาก หยิบหมากพลูในพานใส่ปากเคี้ยวหยับ ๆ บ้วนน้ำหมากแล้วกระแอมกระไอ ไม่ตั้งนะโมเริ่มเทศน์ซักที โยมสีนวลทนนั่งรอฟังไม่ไหวต้องร้องเตือนตามประสาคนใจร้อน
“เมื่อไรจะเทศน์ซะทีเล่าท่านมหา?”
ความจริงหลวงพี่สมพงศ์ไม่ได้เป็นพระมหา เพราะท่านยังไม่ได้เรียนภาษาบาลี และยังไม่ได้เข้าสอบเปรียญธรรมเลย ผู้ที่ได้เป็นพระมหานั้นจะต้องสอบเปรียญธรรมได้ ๓ ประโยค และได้รับการตั้งสมณะศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจ เมื่อเห็นพระภิกษุองค์ใดบวชนาน พูดเก่ง เทศน์เก่ง ก็มักจะเรียกว่าท่านมหา ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้องเลย
วันนั้นหลวงพี่สมพงศ์ประสบกับการแก้แค้น รับผลกรรมที่ทำไว้กับพระไปล่อย่างสาสมและสาหัสทีเดียว พอโยมสีนวลร้องเตือนให้เทศน์ แทนที่ท่านจะเริ่มต้นว่านะโม....กลับจับตาละปัดขึ้นตั้งบังหน้าแล้วว่า “ยะถา วาริวะหา......สัพพี ติโย....” ซึ่งเป็นบทอนุโมทนาหลังการเทศน์จบลง อนุโมทนาจบก็ลงจากธรรมาสน์ ไม่ยอมขึ้นนั่งรับเครื่องกัณฑ์เทศน์บนอาสน์สงฆ์ตามธรรมเนียม รีบเดินก้มหน้ากลับกุฏิทันทีโดยไม่มีการเหลียวหลัง ท่ามกลางความงงงันของญาติโยมที่นั่งฟังเทศน์อยู่เต็มศาลา เพราะไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นแก่หลวงพี่สมพงษ์ ข้าพเจ้านั่งอยู่บนอาสน์สงฆ์ไม่งงงันสงสัยอะไร ด้วยรู้เรื่องเบื้องหลังเป็นอย่างดี ส่วนพระไปล่ไม่ได้ลงไปดูผลบนศาลา ท่านนั่งคอยฟังข่าวอยู่ในกุฏิของหลวงพี่บัณฑิต ซึ่งคอยจะขึ้นเทศน์เป็นองค์ต่อไป เมื่อเห็นหลวงพี่สมพงศ์เดินก้มหน้าจากศาลามากุฏิผ่านมาก็ออกไปยืนเย้าเยาะ
“เอ๊ะ ! หลวงพี่ วันนี้ทำไมเทศน์จบเร็วนักล่ะ? แหม...ทำยังกะเป็นกามนิตหนุ่มเชียว”
“บ้า..! อย่ามายั่วนะ” หลวงพี่สมพงศ์ตะคอกใส่ แล้วก้มหน้าเดินเข้ากุฏิไปทันที
หลวงพี่บัณฑิต รับเทศน์แทนพระเฉลิม ท่านถือห่อคัมภีร์เทศน์ด้วยตนเองขึ้นศาลาเพื่อเทศน์เป็นองค์ต่อไป ญาติโยมถามก่อนขึ้นธรรมาสน์ว่า เ มื่อตะกี้ทำไมพระสมพงศ์จึงไม่ยอมเทศน์? หลวงพี่บัณฑิตไม่รู้เรื่องเบื้องหลัง ได้ฟังคำถามก็รู้สึกงุนงงเหมือนกัน พอขึ้นธรรมาสน์เทศน์จึงรู้สาเหตุที่หลวงพี่สมพงศ์ไม่ยอมเทศน์
“ไอ้นี่เองแหละโยม ที่ทำให้ทั่นสมพงษ์ไม่ยอมเทศน์น่ะ..” หลวงพี่บัณฑิตพูดเสียงดังพร้อมกับหยิบคัมภีร์เทศน์ชูขึ้นให้ญาติโยมดู
“ไอ้นั่นมันเป็นยังไงท่าน?” โยมสีนวลถามซื่อ ๆ
“มันคือคัมภีร์เทศน์อักษรขอมน่ะซีโยม ยังงี้แล้วทั่นสมพงศ์จะเทศน์ได้เรอะ อ่านไม่ออกซักตัวเดียว” ทั้งพระเณรและโยมรู้ความจริงก็หัวเราะกันครืนเลย
“พระสมพงษ์โดน “ขอมดำดินเล่นงานเข้าแล้ว” ” โยมปลิวพูดพร้อมหัวเราะหึ ๆ
ข้าพเจ้าเองแหละครับ บอกให้พระไปล่เอาคัมภีร์เทศน์อักษรขอมไปแอบเปลี่ยนคัมภีร์เทศน์อักษรไทยของหลวงพี่สมพงษ์ เพราะเห็นว่าถ้าเอาคัมภีร์เทศน์อักษรไทยไปแอบเปลี่ยน ท่านก็อ่านได้อีกตามเคย หลวงพี่ท่านเรียนหนังสือธรรมมีความรู้พอ ๆ กันกับข้าพเจ้านี่ ข้าพเจ้าเองถ้าโดนอักษรขอมก็ม่อยกระรอกไปเหมือนกัน
ตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งสอบนักธรรมชั้นเอกได้ และลาสิกขา (สึก) ไปในที่สุด หลวงพี่สมพงษ์ไม่ยอมเทศน์อีกเลย แม้แต่การพูดคุยถึงเรื่องเทศน์ท่านก็ไม่ยอม
รูปแบบการเทศน์ในสมัยนั้นมีสองอย่าง คือเทศน์โดยอ่านคำในคัมภีร์ใบลาน, กระดาษข่อย และหนังสือยกที่เขาพิมพ์เป็นเล่มใหญ่ ๆ มีทั้งการเทศน์เดี่ยว คือว่าองค์เดียว กับเทศน์คู่ คือตั้งแต่สององค์ขึ้นไป ซึ่งก็มีทั้งการอ่านคำตามคัมภีร์ใบลานที่ผู้รู้แต่งไว้ (ทั้งเทศน์เดี่ยวและเทศน์คู่) อีกอย่างหนึ่งคือไม่ต้องอ่านหนังสือ หากแต่ใช้ปฏิภาณไหวพริบโวหารของตนเอง พูดตามความจำความคิดความเข้าใจในเรื่องและข้อธรรมที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา เทศน์โดยวิธีหลังนี้ ชาวบ้านเรียกกันว่า “เทศน์ปากเปล่า” ครับ
การเทศน์โดยอ่านคัมภีร์ แม้จะอ่านได้คล่องแคล่วไม่ติดขัดตะกุกตะกัก เสียงและจังหวะในการอ่าน วรรคตอน ถ้อยคำชัดเจนอย่างเดียวนั้น ยังไม่ได้ชื่อว่า “เป็นนักเทศน์” หรือแม้จะท่องคำในในคัมภีร์จนจำได้หมดแล้วก็ว่าตามที่ท่องได้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่า “เป็นนักเทศน์” อีกน่ะแหละ เพราะถ้อยคำสำนวนนั้นมิได้เกิดจากความคิดความเข้าใจตนเอง เป็นการเทศน์แบบ “นกแก้วนกขุนทอง” เหมือนสวดมนต์ให้คนฟัง
ผู้ที่จะได้ชื่อว่า “เป็นนักเทศน์” จะต้องเป็นผู้ที่สามารถแสดงได้ด้วยถ้อยคำสำนวนของตนเองซึ่งเรียกว่า “เทศน์โดยปฏิภาณ” หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “เทศน์ปากเปล่า” นั่นแหละครับ
การเทศน์ปากเปล่าไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ผู้เทศน์จะต้องเป็นคนมีความจำมาก แม่นยำ รู้มาก เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ง่ายและรวดเร็ว คำที่เทศน์ต้องมีเหตุผลที่สามารถทำให้ผู้ฟังมีความเห็นคล้อยตามได้ หรือหักล้างโต้แย้งได้ เรื่องหรือถ้อยคำที่ยกมากล่าวนั้น ต้องมีหลักฐานอ้างอิง ไม่ใช่พูดแบบลอย ๆ เรื่องหลักฐานนี่ก็ต้องท่องจำกันละครับ แบบเรียนพระปริยัติธรรมต่าง ๆ ตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ไปจนเปรียญธรรมประโยค ๓-๙ รวมทั้งพระไตรปิฎก คัมภีร์ในพระสูตร เช่น ขุททกนิกาย ทีฆนิกาย มหาวรรค จุลวรรค บริวารวรรค ในชั้นอรรถกถา ฎีกา รวมไปถึงทั้งพระวินัย พระอภิธรรม อะไร ๆ ใครท่องจำได้มากแม้พูดอธิบายไม่เก่งก็จะได้เปรียบในการเทศน์ เพราะเป็นคนมีหลักฐานมากนั่นเอง
คืนหนึ่ง สามเณรวิเชียร ซึ่งเป็น “ศิษย์ก้นกุฏิ” (เณรอุปัฏฐาก) ของหลวงพ่อไวย์เป็นเวรเทศน์ ถือหนังสือ “ทศชาติ” เล่มหนาใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มไปขึ้นธรรมาสน์บนศาลาการเปรียญ หนังสือเล่มนี้รวมพิมพ์เรื่องชาดกใหญ่ ๆ อยู่ ๑๐ เรื่อง เริ่มตั้งแต่เรื่องเตมีย์ไปจบลงที่เรื่องพระเวสสันดร แต่ละเรื่องล้วนยืดยาว เณรวิเชียรเทศน์เรื่องอะไรข้าพเจ้าไม่ทราบหรอก รู้แต่เพียงว่าเขาอ่านเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มเทศน์ตั้งแต่ ๒ ทุ่ม ไปจบเอาตอนเที่ยงคืน กว่าจะจบได้ก็เล่นเอาคนฟังย่ำแย่ไปตาม ๆ กัน คนฟังจะไม่ย่ำแย่ยังไงล่ะครับ คนที่เคร่งครัดก็นั่งพนมมือฟังจนหลังขดหลังแข็ง ปวดเมื่อยขาจนชาดิก กลับการพับเพียบขวา-ซ้ายไปมาเพื่อบรรเทาความปวดเมื่อย บางคนหมอบฟุบลงกับพื้นกระดาน บางคนไม่ได้หมอบเฉย ๆ หากแต่หมอบจนหลับไปเลยก็มี
โยมปลิว โยมสอน และอีกหลายคนทนนั่งฟังไม่ไหว เพราะเมื่อยจนสุดทน จึงหลบออกไปนอกศาลา พบกับข้าพเจ้าที่สะพานทางเข้าหอสวดมนต์ โยมปลิวบ่นว่า “ไม่ไหว ขืนเทศน์ยังงี้บ่อย ๆ คนฟังตายแน่ ๆ”
“ไอ้ข้างล่างเต็มทน ไอ้ข้างบนก็เต็มที” โยมสอนพูดต่อ
“เป็นไงโยมสอน ที่โยมว่านั่นน่ะ” ข้าพเจ้าสอดคำถามขัดขึ้นก่อนที่โยมปลิวจะพูดต่อไป
“ก็...เณรเชียรน่ะซี เทศน์ประสาห่าเหวอะไรก็ไม่รู้ นี่เกือบจะเที่ยงคืนแล้ว ยังเทศน์พล่ามไปไม่จบเลย
ไอ้ข้างล่างคือ คนฟังนั่งกันเมื่อยจน “เต็มทน ” แล้ว ส่วนข้างบนก็ “เต็มที” คือเณรเชียรนั่งก้มหน้าอ่านคัมภีร์เทศน์โดยไม่ดูเหนือดูใต้ ตะบี้ตะบันอ่านคัมภีร์อยู่นั่นแหละ แย่เต็มที”
โยมปลิวตอบและอธิบายแทนโยมสอน /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๒ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๕ - ฟังคำของโยมทั้งสองวิจารณ์เณรเชียรแล้ว ทำให้หวนคิดถึงหลวงพ่อไวย์ที่ให้คำสอนในระดับนักธรรมชั้นโทของท่านว่า “เป็นนักเทศน์อย่าให้เกินเวลา เป็นนักศรัทธาอย่าให้เกินกำลัง” โดยมีอธิบายว่า การเทศน์และเป็นนักเทศน์ที่ดีนั้น ไม่ใช่อ่านคล่อง พูดคล่อง เสียงดี เหตุผลดี หลักฐานแม่นยำมั่นคงเท่านั้น สิ่งสำคัญของนักเทศน์คือ ต้องเป็นผู้รู้เวลาและรู้บริษัท กล่าวคือต้องดูว่าเวลาไหนควรเทศน์มาก เวลาไหนควรเทศน์น้อย เรื่องที่เทศน์ควรเลือกให้ถูกต้องเหมาะสมกับสถานที่และบุคคล ไม่เอาเรื่องที่เป็นมงคลไปเทศน์ในงานที่ไม่เป็นมงคล หรือเรื่องไม่เป็นมงคลไปเทศน์ในงานมงคล เช่นไม่เอาเรื่องการมงคลสมรสไปเทศน์ในงานทำศพ เป็นต้น
พระบางองค์เทศน์ไม่รู้บริษัท คือ คนฟัง ว่ามีความเป็นอยู่เป็นอย่างไร พอเริ่มเทศน์ก็นั่งหลับตาเทศน์ (ใช้ปฏิภาณโวหาร) ว่าคำอรรถคำแปลเจื้อยแจ้วไปตามความรู้และอารมณ์ ที่อยากแสดงอวดความรู้ความสามารถของตน ญาติโยมที่นั่งพนมมือฟัง ก็ฟังกันพอเป็นกิริยาบุญ “รู้มั่งไม่รู้มั่ง” ก็นับว่าเป็นบุญแล้ว เมื่อนั่งพับเพียบฟังนาน ๆ ก็รู้สึกเมื่อยขบ พลิกไปพลิกมาก็ไม่หาย พระท่านก็นั่งหลับตาเทศน์ไม่ยอมลืมตาขึ้นดูโยมว่าปวดเมื่อยกันมาก เมื่อทนนั่งฟังต่อไปไม่ไหว ก็ลุกหนีไปทีละคนสองคนจนหมดศาลาแล้ว ท่านก็ยังหลับตาเทศน์ให้เสาศาลาฟังต่อไปด้วยความมันในอารมณ์จนจบ ครั้นจบด้วย “เอวัง......” พอลืมตาขึ้นมองไม่เห็นใครอยู่ในศาลาแม้แต่คนเดียว ท่านก็อุทานออกมาว่า “แหม........โยมคนสุดท้ายจะกะแหล่มแอมไอให้อาตมารู้สึกตัวหน่อยก็ไม่ได้”
บางองค์ก็เอาเรื่องสวรรค์นรกมาเทศน์สอนคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูง ท่านมิได้ประยุกต์คำเทศน์ให้เหมาะแก่กาลสมัย ดันทุรังอ่านตามสำนวนโวหารเดิมที่บางคำตนเองก็ไม่เข้าใจ อย่างนี้เป็นการยัดเยียดความเชื่อถือให้คนฟัง ยกนิทานชาดกเล่าเรื่องนกพูดจาปราศรัยกับคน นกเทศน์สอนคน พอเทศน์จบมีนักศึกษาหนุ่มถามว่า สมัยก่อนนกพูดกับคนได้ นกเทศน์สอนคนได้ สมัยนี้ทำไมจึงไม่เห็นมีคนพูดกับนกและนกเทศน์สอนคน? ถูกถามอย่างนี้ท่านก็จนปัญญา ตอบไม่ได้ อายเด็กไปนานเลยก็แล้วกัน นี่ก็เป็นอุทาหรณ์การเทศน์ไม่รู้เวลาและไม่รู้บริษัท
ส่วนนักศรัทธาไม่รู้กำลังนั้น ท่านหมายเอาผู้บริจาคเงินทองและสิ่งของทำบุญ บางคน “หน้าใหญ่ใจโต” บริจาคเงินทองสิ่งของทำบุญเป็นการเอาหน้า หวังได้ชื่อเสียง เห็นใครบริจาคก็บริจาคบ้าง บางที่ในครอบครัวตนเองไม่ค่อยจะมีกินมิใช้ อยู่อย่างอัตคัดขัดสน แต่ก็ยังเที่ยวไปบริจาคให้ปรากฏชื่อเสียงในสังคมว่า“เป็นคนใจบุญ” บางทีไม่มีเงิน ก็ขอยืมของคนอื่นมาบริจาค แม้จะเดือดร้อนในภายหลังก็ยอม บางคนจัดงานบวชลูกหลานแต่ละทีก็จัดอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อมีหน้ามีตาทั้ง ๆ ที่ฐานะการเงินไม่ดี จึงหยิบยืมคนอื่นมาลงทุนจัดงาน พองานเสร็จก็นั่งกอดเข่าปรึกษากันว่าจะไปหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้เขา? ลูกชายบวชเป็นพระจนสึกมาแล้วก็ยังหาเงินใช้หนี้เขาได้ไม่หมดเลย อย่างนี้เรียกว่า “เป็นนักศรัทธาไม่รู้กำลัง” ซึ่งมีให้เห็นอยู่ในสังคมนี้เสมอมา”
หลังจากสามเณรวิเชียร “เทศน์มาราธอน” จนคนฟังเอือมระอาไปตาม ๆ กันแล้ว ต่อมาอีกสองวันพระ ก็ถึงเวรเณรเต็มเทศน์กลางคืนบ้าง และก็ต้องเทศน์เรื่องชาดกในหนังสือทศชาติ ที่เณรเชียรและใคร ๆ ยังไม่ได้เทศน์ โดยผู้จัดเวรเทศน์กำหนดให้ข้าพเจ้าเทศน์เรื่องพระมหาชนกชาดกครับ
ข้าพเจ้าเดินถือหนังสือทศชาติเล่มเดียวกับที่เณรเชียรถือไปเทศน์ ญาติโยมเห็นแล้วถึงร้อง “โอ้โฮ!” ออกมาพร้อม ๆ กัน บางคนรีบกราบพระแล้วคลานออกไปจากศาลาก่อนที่ข้าพเจ้าจะเทศน์ เพราะกลัวว่าจะต้องอยู่ในสภาพ “ข้างล่างเต็มทน” เหมือนคืนก่อนหน้านี้ โยมแจงใจกล้าถึงกับร้องบอกเณรเต็มว่า “เอาครึ่งเรื่องก็พอแล้วเณรเต็ม” ข้าพเจ้าก็ได้แต่ตอบด้วยการยิ้ม ไม่มีใครรู้ความในใจและแผนการเทศน์ของข้าพเจ้าหรอก
หลวงพ่อไวย์มีเรือเก๋งขนาดเล็กอยู่ลำหนึ่ง ไว้สำหรับเดินทางไปเทศน์และกิจอื่น ๆ ส่วนใหญ่ข้าพเจ้ามักได้รับใช้ท่านในการขับเรือลำนี้ นำพาท่านและพระนักเทศน์เพื่อน ๆ ของท่านไปเทศน์ตามวัดต่าง ๆ เวลาพระเทศน์บนศาลาเขาจะติดเครื่องขยายเสียงให้ดังมากที่สุดเท่าที่จะดังได้ เณรเต็มมักจะนั่งบ้างนอนบ้างอยู่ในเรือเก๋งหน้าศาลาวัด ฟังเสียงหลวงพ่อไวย์และพระเพื่อน ๆ ของท่านเทศน์กัน ฟัง ๆ แล้วอยากเป็นนักเทศน์เสียเต็มประดา จนถึงกับตั้งความหวังว่าจะต้องเป็นพระนักเทศน์ให้ได้ และจะต้องเทศน์ให้ดีกว่าพระเพื่อนหลวงพ่อไวย์ด้วย จึงแอบจดจำถ้อยคำลีลาวิธีการเทศน์ของหลวงพ่อและเพื่อนของท่านบางองค์ที่เทศน์ดีมากนั้นไว้ และคืนนี้โอกาสที่ข้าพเจ้ารอคอยได้มาถึงแล้ว
สามเณรเต็มสร้าง “ปาฏิหาริย์” ให้ญาติโยมบนศาลาการเปรียญเห็น และเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จในการเทศน์ แทนที่ข้าพเจ้าจะเปิดหนังสือออกอ่านอย่างที่สามเณรวิเชียรทำ ข้าพเจ้ากลับไม่เปิดหนังสือ หากแต่ปิดปกเรียบร้อยแล้วยกขึ้นจบเหนือศีร์ษะ ลดลงมาประนมมือประคองตั้งไว้กลางอก ว่า “นะโม......จุลลนีบท” จนจบแล้วเล่าเรื่องพระมหาชนกตั้งแต่ต้นจนจบ รวบรัดตัดใจความด้วยภาษาไทยง่าย ๆ แบบชาวบ้าน เณรเต็มอ่านเรื่องพระมหาชนกในหนังสือนี้จบไปหลายเที่ยว จดจำเนื้อหาสาระใจความสำคัญได้ แล้วจับเอามาบอกเล่าให้โยมฟังตามความรู้ความเข้าใจของตนเอง นับเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเทศน์แบบปฏิภาณหรือ “เทศน์ปากเปล่า” ใช้เวลาไม่เกินชั่วโมงก็จบบริบูรณ์ ญาติโยมฟังแล้วชอบใจ เพราะฟังรู้เรื่องดีกว่าฟังการอ่านในสำนวนเทศนาโวหาร และตั้งแต่นั้นมา ข้าพเจ้าพยายามเทศน์ปากเปล่าเสมอ เว้นแต่ว่าจะมีความจำเป็นจึงอ่านคัมภีร์เป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น./
- อ่านต่อพรุ่งนี้ครับ เณรเต็มจะออกเดินธุดงค์อีกแล้ว -
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๓ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้จากในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๖ - “เดินธุดงค์ลงปักษ์ใต้”
ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ สามเณรเต็มสอบนักธรรมชั้นเอกได้แล้ว มีความรู้อยู่ในชั้น “เถรภูมิ” อันเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาด้านพระปริยัติแผนกธรรม อายุเข้าเกณฑ์ที่ต้องอุปสมบทเป็นภิกษุพอดี แต่ยังไม่อยากบวชเป็นพระภิกษุ เพราะเห็นว่าเป็นสามเณรรักษาศีลมีเพียง นาสนังคะ ๑๐ ข้อ ทัณฑกรรม ๑๐ ข้อ กับเสขิยวัตรอีก ๗๕ ข้อ รวมเป็น ๙๕ ข้อเท่านั้นสบายมาก ส่วนพระภิกษุต้องรักษาสิขาบท (ศีล) ที่มีในพระปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อ นอกพระปาติโมกข์อีกนับไม่ถ้วน เพราะมีเป็นหมื่น ๆ พระธรรมขันธ์เลยก็ แล้วกัน ที่สำคัญสามเณรศีลขาดแล้วต่อใหม่ได้ พระภิกษุเมื่อล่วงละเมิดอาบัติใหญ่ (ปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งใน ๔ ข้อ) เป็นอันว่าศีลขาดแล้ว จะต่อใหม่ไม่ได้ แม้สละเพศบรรพชิตแล้วขอบวชใหม่อีกก็ไม่ได้ ขื่นแอบไปบวชในที่ไม่มีใครรู้ ก็ไม่เป็นพระภิกษุต่อไปได้
ฃ้าพเจ้าอยากเป็นสามเณรต่ออีกสักปีหนึ่ง แต่ญาติโยมก็เตรียมจะพิมพ์การ์ดแจกเชิญญาติมิตรที่เคารพนับถือร่วมงานบวช คอยอยู่แต่ว่าเณรเต็มจะบวชในเดือนไหนเท่านั้นเอง ข้าพเจ้าหาทางให้หลบพ้นการบวชเป็นพระภิกษุด้วยการออกเดินประพฤติธุดงค์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไปด้วยกัน ๒ องค์กับหลวงพี่บัณฑิต โดยมีเป้าหมายลงภาคใต้ของประเทศไทย
หลังจาก “ขึ้นธุดงค์” กับหลวงพ่อโบ้ยวัดมะนาว พระอาจารย์องค์เดิมของข้าพเจ้าแล้ว หลวงพี่บัณฑิตก็พาออกเดินทางจากตัวเมืองสุพรรณบุรี ไปทางอำเภออู่ทอง ตัดเข้าอำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม การออกเดินธุดงค์เที่ยวนี้หลวงพ่อโบ้ยไม่ได้มอบพระให้ไปแจกเหมือนคราวก่อน ท่านบอกว่าได้บรรจุไว้ในท้องพระพุทธรูปองค์ใหญ่ของท่านหมดแล้ว ข้าพเจ้าจึงไม่มีพระเครื่องรางของขลังอะไรแจกชาวบ้านเหมือนพระองค์อื่น ๆ แต่ก็มีธรรมะที่ชอบ “เทศน์นอกธรรมาสน์” แจกจ่ายให้ชาวบ้านที่สนใจจะพูดคุยกันในเรื่องธรรมะ ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
เดินทางถึงหมู่บ้านสระยายโสม ซึ่งเป็นหมู่บ้านตำบลใหญ่ ประชาชนส่วนมากเป็นไทยทรงดำ หรือ “ลาวโซ่ง” ปักกกลดที่ชายทุ่งใกล้หมู่บ้าน บริเวณนั้นเป็นนาข้าวที่เก็บเกี่ยวหมดแล้ว เ หลือแต่ซังข้าวหนาทึบนุ่มนิ่มน่านั่ง-นอนเล่น เราปักกลดห่างกันชั่วขว้างก้อนดินตก ไม่มีใครมานั่งคุยกับข้าพเจ้า เพราะคงจะเห็นว่าเป็นเพียงสามเณรหนุ่ม และเป็นลูกน้อง ไม่ใช่หัวหน้าคณะธุดงค์ ที่กลดหลวงพี่บัณฑิตมีญาติโยมไปนั่งล้อมวงพูดคุยด้วยหลายคน
คืนนั้น ข้าพเจ้าจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับได้ไม่ลืมเลือนจนถึงวันนี้ มันเป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง และคงจะจำไหตลอดชีวิตนั่นแหละครับ
ข้าพเจ้าสวดมนต์จบก็นั่งขัดสมาธิภาวนา...”อะระหัง ๆๆๆ” ดวงตาทั้งสองข้างหลับสนิท ขณะจิตเข้าสู่สมาธิในตอนนั้น ก็มีความรู้สึกว่ามีอะไรมาพาดท่อนขาขวา จึงลืมตาดู เห็นชัดว่าเป็นอะไรแล้วก็ตกตะลึงตัวแข็ง กลั้นลมหายใจค่อย ๆ ผ่อนลมออกและค่อย ๆ สูดเข้าช้า ๆ เพื่อไม่ให้ร่างการกระเทือนเคลื่อนไหวแม้แต่น้อย
ใช่เลย ! เจ้าสิ่งที่พาดท่อนขาขวาของข้าพเจ้านั่นมันคือ “งูเห่า” ตัวดำมะเมื่อมใหญ่ขนาดเท่าแขน มันคงจะเลื้อยออกมาจากรูข้างที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ แล้วขึ้นมาพาดตัก จากนั้นมันค่อย ๆ เลื้อยจากตักทางขวาไปทางซ้าย ลงจากตักหาทางออกจากกลด ข้าพเจ้าพยายามนึกถึงคาถากันงูบทสั้น ๆ แต่ก็นึกไม่ได้สักบทเดียว นึกได้เฉพาะบทยาวที่ว่า “นันโท ปะนันทะภุชคัง.....” ในฎีกาพาหุงที่ว่าด้วยพระพุทธเจ้าผจญกับพญานันโทปนันทนาคราช ทรงได้ชัยปราบพญานาคเจ้าแห่งงูเสียราบคาบ ท่านว่าใครภาวนาคาถาบทนี้จะป้องกันและกำหลาบสัตว์พิษร้ายนานาชนิดได้
คนเรานี่ เมื่อตกอยู่ในภาวะคับขันอันตราย หรือ คับแค้น เศร้าโศก เสียใจ มักจะทำ, พูด, คิดอะไร ๆ ไม่ได้ แม้ได้ก็ไม่ค่อยถูก ขณะนั้นข้าพเจ้าเองก็เป็นเช่นนั้น แม้จะนึกถึงบทนันโทได้ แต่ก็ว่าคาถาบทนี้ไม่ถูก ขึ้นว่า “นันโท...” แล้วก็ว่าต่อไปไม่ได้ ขึ้นล้ม ๆๆ ไม่รู้กี่หน งูเลื้อยผ่านตักไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ พอตั้งสติได้ก็เห็นมันเลื้อยเลาะตีนมุ้งข้างหลังแล้ว ตอนนั้นต้อง “ทำใจสู้งู” พยายามยกมือขวาขึ้นช้า ๆ ค่อย ๆ เอนตัวไปข้างหลัง เอามือจับผ้ามุ้งตรงกลางยกให้ตีนมุ้งเวิกขึ้น งูมันเห็นช่องทางที่ตีนมุ้งเปิดจึงรีบเลื้อยออกไปทันที เมื่องูมันเลื้อยออกไปแล้วข้าพเจ้าก็รีบปิดกันตีนมุ้งอย่างหนาแน่นเพื่อไม่ได้งูมันกลับเข้ามาอีก คืนนั้นไม่กล้านอน กลัวว่างูมันจะกลับมาเห็นตีนหรือมือผมไปติดมุ้งตุงอยู่ มันอาจจะโกรธที่กลับเข้ารูไม่ได้แล้วกัดข้าพเจ้าเสียด้วยความโกรธของมันก็ได้ จึงต้องใช้วิธีหลับนกหรือหลับลิง คือนั่งพิงเสากลดหลับ ๆ ตื่น ๆ ไปตลอดทั้งคืน
รุ่งเช้าแล้วข้าพเจ้าก็รวบมุ้งรวมมัดกับเสากลดตรวจดูพื้นดินในบริเวณที่เป็นปริมณฑลของกลด พบว่ามีรูอยู่ใต้กอซังข้าว ๑ รู เชื่อได้ว่าเป็นรูปูที่งูเข้าไปอาศัยอยู่แทนปู แสดงว่าข้าพเจ้า “ปักลดคร่อมรูงู” ซึ่งก็เป็นความผิดของข้าพเจ้าเอง การปักกลดคร่อมรูงูเห่า นับว่าเป็นการผจญภัยอันน่าหวาดเสียวสำคัญที่สุดสำหรับข้าพเจ้า
คิดย้อนเมื่อสมัยเป็นวัยรุ่นก่อนบวชเณร ข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบเล่นทำร้ายงูด้วยความเกลียดชังมัน พบที่ไหนไม่ว่าเป็นงูอะไร ต้องเอาไม้ไล่ทุบไล่ตีที่นั่น ถ้าเป็นงูเห่าหากพบมันลำพังคนเดียวก็จะใช้ไม้ปลายแหลมหรือไม่ก็ฉมวกแหลม พุ่งแทงส่วนหางของมันให้ติดพื้นดิน แล้วล่อให้มันแผ่แม่เบี้ยขู่ฟ่อ ๆ ล้อเล่นมันจนหมดแรงแล้วจึงทุบให้ตายสนิท ไม่ยอมปล่อยให้มีชีวิตอยู่รอดได้ เพราะกลัวการ “ตีงูให้หลังหัก” ถ้าข้าพเจ้ามีสองคนก็จะเล่นโดยวิธีที่หวาดเสียวสักหน่อย ให้เพื่อนคนหนึ่งหลอกล่อให้มันชูคอแผ่แม่เบี้ยฉกใส่ คนหนึ่งคอยจ้องจับหาง หลอกกันไปล่อกันมา ทำให้งูพะวงหน้าพะวงหลังไม่รู้จะฉกกัดคนไหนดี พอมันเผลอคนที่อยู่ทางหางก็คว้าจับหางมันได้แล้วกระตุกเบา ๆ พอให้กระดูกหลังมันเคลื่อน แล้วจับยกขึ้นจากพื้น มันจะเลี้ยวฉกกัดไม่ได้แล้ว เพราะตัวมันอ่อนปวกเปียก จากนั้นก็เหวี่ยงควงเป็นวงกลมเหนือศีร์ษะสักพักหนึ่งแล้ววางลง เห็นมันยังกระดุกกระดิกได้อยู่ อีกคนหนึ่งก็จับหางขึ้นเหวี่ยงเล่นบ้าง ทำอยู่อย่างนี้ สนุกสนานจนสาแก่ใจแล้วจึงทุบมันทิ้ง “ให้กากิน”
งูเขียว งูสายม่าน เป็นงูขนาดเล็กไม่มีพิษร้ายแรงอะไร เป็นของเล่นที่สนุกสนานของพวกข้าพเจ้ามาก พวกเราเป็นลูกชาวนาและเป็นเด็กเลี้ยงควาย มีวิธีการเล่นอะไร ๆ ที่พิลึกพิเรนทร์หลายอย่าง งูเขียวกับงูสายม่านเป็นงูที่หาง่ายในท้องถิ่น ทุกจอมปลวกที่มีต้นไม้มักจะมีงูชนิดนี้อาศัยอยู่มาก พอหาพบเราก็จับหางมันกระตุกเบา ๆ จนกระดูกเคลื่อน ดึงลงมา “ควงสว่าน” เหวี่ยงเควี้ยว ๆ ในท่าของโคบาลเหวี่ยงบ่วงบาศจะคล้องคอวัวยังงั้นเทียว เมื่อมันสลบแน่นิ่งไปแล้ว เราก็เอาหัวมันหมกขี้ควายสด ๆ (ยังเปียกอยู่) สักพักหนึ่งมันก็จะพื้นขึ้นและแข็งแรงแล้วมีสภาพเหมือนบ้าคลั่ง มันเลื้อยปราด ๆ ไล่กัดพวกเรา พวกเราก็เฮฮา บ้างวิ่งหนีบ้างวิ่งไล่ แล้วจับหางมันยกขึ้นเหวี่ยงจนสลบไปอีก เอาหัวไปหมกขี้ควาย แล้วมันก็ฟื้นขึ้นมาให้พวกเราได้เล่นมันอีก เล่นกันจนเบื่อแล้วก็ปล่อยมันเข้าป่าไป บางตัวถูกพวกเราเล่นกันจนตายไปเลยก็มี
เพราะเคยทำกรรมไม่ดีกับงูไว้มาก ทำให้ข้าพเจ้ากลัวงูเสมอมา กลัวมันจะแก้แค้นที่เคยเล่นทรมานพวกมันมาก่อนนั่นแหละครับ การที่งูเห่าเลื้อยออกจากรูมาพาดตักขณะที่นั่งเจริญกรรมฐานดังที่เล่าให้ฟังนี้ ที่มันไม่กัดนั้นจะเป็นเพราะคาถาของข้าพเจ้าขลัง หรือเพราะอานิสงส์การประพฤติธุดงค์ของก็ไม่รู้ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จะปักกลดที่ใดต้องตรวจดูพื้นที่บริเวณที่จะลงหลักปักกลดอย่างละเอียดทุกครั้ง เพราะกลัวจะพบเหตุการณ์เดิมเข้าอีก
หลวงพี่บัณฑิตพาข้าพเจ้าแบกกลดเดินวัดความยาวของถนนที่ราดลูกรังสู่เมืองนครปฐม แรมคืนระหว่างทางประมาณ ๔ วันก็ถึงเมืองนครปฐม โดยผ่านภยันตรายอันน่าหวาดเสียวมาได้ด้วยเขตแดนระหว่างสุพรรณบุรี-นครปฐม คืออำเภออู่ทองติดต่อกับกำแพงแสนนั้น บางช่วงตอนเป็นป่าที่มีเสือร้ายอาศัยอยู่ บางแห่งมีบ้านเพียง ๒-๓ หลังคาเรือนเท่านั้น ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าเคยพบเสือร้ายชนิด “ลายพาดกลอน” เข้ามายุ่มย่ามอยู่ในบริเวณที่พวกข้าพเจ้าปักกลดแรมคืน ฟังแล้วก็กลัว ต้องนั่งภาวนาคาถาอาคมอดตาหลับขับตานอนทั้งคืน จะไม่ให้กลัวอย่างไรเล่า ก็เสือมันเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่รู้จักบุญบาป ไม่รู้จักพระรู้จักเจ้าอะไร ถ้ามันหิวขึ้นมามันก็กินได้ทั้งพระทั้งเณรนั่นแหละ ผ้าเหลืองและศีลของข้าพเจ้าคงป้องกันเสือร้ายไม่ได้หรอกครับ
ในที่สุดหลวงพี่บัณฑิตก็พาข้าพเจ้าแบกกลดเดินทางถึงองค์พระปฐมเจดีย์ได้อย่างปลอดภัย เข้าปักกลดในบริเวณลานพระปฐมเจดีย์ตรงที่เป็นสนามหญ้าสะอาดสะอ้าน คืนนั้นนอนหลับสบาย ไม่ต้องสะดุ้งหวาดกลัวภัยอันตรายเหมือนตอนที่นอนตามชายทุ่งชายป่าในแถว ๆ อู่ทอง กำแพงแสน ซึ่งเต็มไปด้วยพิษภัยแห่งสัตว์ร้ายนานา
เป็นครั้งแรกในชีวิตของข้าพเจ้าที่มีโอกาสได้ไหว้พระปฐมเจดีย์ ปูชนียวัตถุสำคัญทางพระพุทธศาสนาของคนไทย ประวัติหรือเรื่องราวของพระปฐมเจดีย์นี้ ข้าพเจ้าได้ความรู้จากตำราและปากของผู้รู้ท่านบอกเล่าให้ฟังมาหลายแง่หลายมุม จึงสนใจและปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้เยือนและกราบไหว้บูชาสักครั้งหนึ่งให้จงได้ ความปรารถนาของข้าพเจ้าได้เสร็จสมในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ นี้เอง /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๔ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๗ - ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในช่วงหลังพุทธปรินิพพานได้ประมาณ ๓๐๐ ปีเศษ เมื่อเสร็จสิ้นการสังคายนายครั้งที่ ๓ แล้ว กล่าวไว้ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป (อันได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เนปาล ในปัจจุบัน) ผู้เป็นเจ้าภาพใหญ่ในการทำสังคายนาย ได้จัดส่งพระสมณะทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ๘ สาย รวม ๘ คณะ มีคณะที่ประสบความสำเร็จงดงาม ๒ คณะคือ คณะของพระมหินทเถระ (อดีตโอรสพระเจ้าอโศก) ผู้เป็นหัวหน้าคณะไปประเทศลังกา สามารถปลูกฝังพระพุทธศาสนาในลังกาได้อย่างมั่นคง กับพระโสณะ พระอุตตระ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะไปยังดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งก็สามารถปลูกฝังพระพุทธศาสนาลงในดินแดนสุวรรณภูมิอย่างมั่นคงได้ไม่แพ้ในประเทศลังกา
สุวรรณภูมิ คือแหลมทองหรือแผ่นดินทอง อันได้แก่ดินแดนที่เป็นประเทศไทย พม่า ลาว เขมร ญวน ในปัจจุบัน มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ทอง พระโสณะ พระอุตตระ พาคณะธรรมทูตเดินทางจากอินเดียมาทางทะเล ขึ้นบกที่เมืองอู่ทองแล้วเริ่มประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ ชาวพุทธได้ร่วมกันสร้างพระมหาสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงมอบให้พระโสณะ พระอุตตระ อัญเชิญมายังสุวรรณภูมิด้วย ขณะที่สร้างพระมหาสถูปเจดีย์นั้นนครปฐมเป็นเพียงเมืองท่าของเมืองอู่ทอง สันนิษฐานกันว่า คณะธรรมทูตของพระโสณะมาขึ้นบกและประกาศศาสนา ณ เมืองท่าอู่ทองแห่งนี้เป็นครั้งแรก จึงได้สร้างพระมหาสถูปเจดีย์ขึ้นเป็นที่ระลึกแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ชาวพุทธได้กราบไหว้บูชา ปรากฏเป็นหลักฐานมาจนตราบเท่าวันนี้ เรื่องนี้ เท็จจริงประการใด ไม่มีเวลามากพอที่จะอธิบายครับ
ออกจากนครปฐม มีผู้เลื่อมใสศรัทธาซื้อตั๋วรถไฟถวาย ให้หลวงพี่บัณฑิตกับข้าพเจ้านั่งรถไฟไปเพชรบุรี การแบกกลดสะพายบาตร หิ้วกาน้ำ แถมสะพายย่ามใหญ่ขึ้นรถไฟ ดูพะรุงพะรังเหมือน “ไอ้บ้าหอบฟาง” แทนที่จะมีคนรังเกียจกลับได้รับการต้อนรับจากคนในตู้รถไฟเป็นอย่างดี หลายคนกุลีกุจอช่วยรับกลดรับบาตรจัดวางบนชั้น (หิ้ง) เก็บสัมภาระ และจัดเก้าอี้ให้นั่งอีกด้วย พระธุดงค์ในความรู้สึกของชาวบ้านเขาคิดเห็นกันว่า “ไม่ใช่พระธรรมดา หากแต่เป็น พระศักดิ์สิทธิ์” เขาจึงให้ “อภิสิทธิ์” พระธุดงค์เหนือกว่าพระธรรมดาและบุคคลทั่วไป
ลงรถไฟที่สถานีเพชรบุรีแล้วหลวงพี่บัณฑิตพาเดินขึ้นเขาวังและเขาอะไรอีกหลายแห่ง ปักกลด ถอนกลด วนเวียนอยู่ในเมืองเพชรบุรีหลายแห่ง ข้าพเจ้าไม่รู้อนาคตในการเดินทางของตนเองเลย ถึงเวลาเดินทางทุกครั้งหลวงพี่บัณฑิตจะเป็นผู้บอกอย่างกะทันหันว่าให้ถอนกลดเดินตามท่านไป เวลาปักกลดปฏิบัติธรรมทุกแห่ง เราไม่ได้พูดคุยกัน ด้วยต่างคนต่างอยู่ เพราะกลดอยู่ห่างกันมาก สังเกตดูเห็นว่าที่กลดของหลวงพี่บัณฑิตจะมีญาติโยมไปนั่งล้อมวงสนทนาปราศรัยกันมาก แต่ที่กลดของข้าพเจ้านาน ๆ จะมีคนมาคุยด้วยสักคนสองคน และข้าพเจ้าเป็นฝ่ายนั่งฟังเขาพูดคุยมากกว่าที่จะพูดคุยกับเขา ที่เมืองเพชรบุรีนี้ข้าพเจ้าฟังคนเขาพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง สำเนียงภาษาของเขาก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน จึงไม่คุ้นหู ว่ากันว่าชาวเมืองเพชรบุรีมีสำเนียงภาษาเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน อย่างคำว่า “ไม่ใช่” เขาจะพูดว่า “ใช่ไม่” และ “ไม่ถูก” ก็พูดว่า “ถูกไม่” เอาคำปฏิเสธไว้ท้ายทั้งหมดวางรูปประโยคเหมือนบาลีไวยากรณ์เลยครับ
อยู่ในเมืองเพชรบุรีพอสมควรแก่เวลาแล้ว หลวงพี่บัณฑิตก็พาแบกกลด “เดินนับหมอนรถไฟ” จากเพชรบุรีล่องลงใต้ จุดหมายปลายทางวันนั้นคือสถานีรถไฟห้วยเสือ จำไม่ได้หรอกว่าระยะทางไกลห่างจากเพชรบุรีเท่าไร ที่เดินทางต่อไปสถานีห้วยเสือก็เพราะหลวงพี่บัณฑิตกับนายสถานีรถไฟแห่งนี้รู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่สมัยนายสถานีรถไฟผู้นี้อยู่แถว ๆ อยุธยา เมื่อทราบว่าเขาได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นนายสถานีรถไฟห้วยเสือ ท่านจึงหวังไปแวะเยี่ยมเยือน ทั้งหลวงพี่บัณฑิตและข้าพเจ้าไม่เคยรู้จักสถานีห้วยเสือมาก่อน จึงเดินตามทางรถไฟแบบ “เดาดุ่มสุ่มหาไป”
รสชาติของการเดิน “นับหมอนรถไฟ” เป็นอย่างไร ก็เพิ่งได้ลิ้มรสคราวนั้นเอง ข้าพเจ้าห่มจีวรเฉวียงบ่า (ห่มดอง ไม่คลุมสองไหล่) แบกกลดสะพายบาตรและย่ามใหญ่ หิ้วกาน้ำ สองเท้าเปลือยเปล่า (เพราะพระธุดงค์เกือบทุกองค์จะไม่สวมรองเท้า และพระบ้านนอกสมัยนั้นส่วนมากก็ไม่สวมรองเท้าเหมือนชาวบ้านนั่นแหละ) เดินเหยียบย่ำหมอนรองรางรถไฟที่วางระยะห่างกันเป็นระเบียบ เท้าที่ก้าวย่างเหยียบบนไม้หมอนนั้นต้องอยู่ในระยะเดียวกัน ไม่สั้นไม่ยาว ถ้าก้าวยาวเกินไปก็จะเหยียบไม่ตรงไม้หมอนรถไฟ ก้าวสั้นเกินไปก็เหยียบไม่ตรงไม้หมอนรถไฟอีก หากก้าวพลาดก็จะเหยียบถูก้อนหินที่ทั้งร้อนทั้งแหลมคม ต้องเจ็บระบมฝ่าเท้าไปเท่านั้นเอง ยามกลางวันอากาศร้อนแดดเปรี้ยง ๆ อย่างนั้น อย่าว่าแต่หินบนทางรถไฟร้อนเลย แม้กระทั่งไม้หมอนมันก็ร้อนครับ วันนั้นจึงเป็นการเดินทางที่ทุกข์ทรมานเป็นที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้า
ร้อนแดดร้อนเท้าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากเข้าก็ลงจากทางรถไฟ เข้าไปอาศัยร่มไม้ข้างทาง ใช้ผ้าอาบน้ำปูพื้นนอนหนุนกลดหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย เมื่อพักเอาแรงได้หน่อยแล้วก็ออกเดินทางต่อไปในสภาพเดิม จนเวลา “บ่ายควาย” (คือย่างเข้ายามเย็น) จึงแลเห็นทิวไม้สนรำไรอยู่เบื้องหน้า คาดเดาเอาว่าคงจะเป็นสถานีรถไฟห้วยเสือ ขณะนั้นมีชายคนหนึ่งเดินสวนทางมา เขานุ่งกางขาสั้น (ขาก๊วย?) ใส่เสื้อสีดำแขนยาว มีผ้าขาวม้าคาด (เคียน) พุง มีดเหน็บใส่ฝักขัดหลัง ตามแบบฉบับของลูกทุ่งในชนบททั่วไปของภาคกลาง พอเข้ามาใกล้กันข้าพเจ้าก็ถามเขา
“โยม..สถานีห้วยเสือยังอยู่อีกไกลไหม?”
แทนที่ชายคนนั้นจะตอบในทันทีทันใด เขากลับแก้ผ้าขาวม้าที่ดาดพุงออกแล้วพาดเฉวียงบ่า ค่อย ๆ นั่งลงยอง ๆ ยกมือพนมตั้งข้อศอกบนหัวเข่า กล่าวคำตอบด้วยความนอบน้อม
“นิมนต์...ไกลไมครับ”
ข้าพเจ้าฟังคำตอบแล้วโมโหจนพูดอะไรไม่ถูก ก็จะไม่ให้โมโหได้ยังไงล่ะ ถามว่าสถานีห้วยเสือยังอยู่อีกไกลไหม เขากลับตอบเหมือนถามย้อนว่า “ไกลไหม” ข้าพเจ้าอยากเอากลดฟาดหัวเขาเสียเหลือเกิน ยังไม่ทันที่จะแสดงอะไรออกมา หลวงพี่บัณฑิตก็ถามเขาพร้อมชี้มือไปข้างหน้า
“ที่เห็นทิวต้นสนโน่นคือห้วยเสือใช่ไหม?”
“นิมนต์..ใช่แล้วครับ” เขาตอบน้ำเสียงสุภาพด้วยอาการเคารพนบนอบ
ข้าพเจ้าถึง “บางอ้อ” เมื่อฟังคำตอบนั้น รู้ความหมายที่เขาตอบข้าพเจ้านั้นได้ทันทีว่า “ไกลไมครับ” คือ “ไม่ไกลครับ” เพิ่งรู้ว่าคนเมืองเพชรเขามีความเคารพนับถือพระสงฆ์มาก เวลาพูดกับพระก็จะใช้คำสุภาพโดยขึ้นต้นว่า “นิมนต์” ไม่ทราบว่าเขานำคำนี้มาในความหมายอะไร ทางบ้านข้าพเจ้าใช้ความหมายของคำว่า “นิมนต์” ว่า “เชิญ” เช่น “นิมนต์พระมาสวดพระพุทธมนต์” ก็หมายความว่า “เชิญพระมาสวดพระพุทธมนต์” หรือไม่ก็ใช้ในทางท้ายทาย เช่นว่า “เชิญเลย” เป็นการท้าให้ฟ้อง ให้ด่า ให้ตี คือการประชดประชัน เป็นต้น
ข้าพเจ้าเดินไปถึงสถานีรถไฟห้วยเสือด้วยอาการกระปรกกะเปลี้ยในเวลาที่ตะวันยอแสงลงมากแล้ว เห็นดงตาลบริเวณหน้าสถานีรถไฟเป็นที่ร่มรื่นดี จึงตกลงใจเข้าไปปักกลดอยู่ในดงตาลนั้น และคืนนั้นก็ “นอนหลับเป็นตาย” รุ่งเช้าออกเดินบิณฑบาตได้เฉพาะใกล้ ๆ สถานีรถไฟ เพราะฝ่าเท้าระบมจนเดินไกล ๆ ไม่ได้ /
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๕ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๘ - หลวงพี่บัณฑิตได้พบกับนายสถานีรถไฟด้วยความดีใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย นายสถานีขอร้องให้เราปักกลดอยู่นาน ๆ เป็นที่ถูกใจข้าพเจ้ามาก เพราะอยากพักผ่อนนาน ๆ จนกว่าเท้าจะหายระบมแล้วจึงค่อยเดินทางต่อ ตกลงหลวงพี่บัณฑิตรับปากพักอยู่ที่นั่น ๔ วัน ยามเย็นในแต่ละวันมีญาติโยมนำน้ำตาลสดมาถวายวันละมาก ๆ ข้าพเจ้าดื่มจนเอียนเลยทีเดียว พระธุดงค์ซะอย่างสบายไปทุกอย่างแหละครับ ผ้าสบงจีวร นุ่งห่มเพียงผืนเดียวโดยไม่ต้องซักน้ำ กลิ่นเหม็นสาบเหม็นสางด้วยเหงื่อไคลก็ไม่มี จะเป็นเพราะอำนาจสีกรักที่ย้อมผ้านุ่งห่มหรืออานิสงส์ธุดงค์ก็ไม่รู้เหมือนกัน
นายสถานีรถไฟห้วยเสือถวายตั๋วรถไฟให้คณะของเราเดินทางต่อไปลงที่สถานีรถไฟหัวหิน หลวงพี่บัณฑิตพาไปปักกลดในบริเวณสนามอันกว้างขวางของโรงแรมรถไฟหัวหิน ข้าพเจ้าตื่นตาตื่นใจกับทะเลและหาดทรายที่ได้พบเห็นเป็นครั้งแรก สำหรับข้าพเจ้าเลือกที่ปักกลดอยู่ใต้ต้นข่อยใหญ่ที่เขาดัดและตัดเป็นพุ่มสวยงาม สถานที่สะอาดสะอ้านร่มรื่นดีมาก หลวงพี่บัณฑิตท่านมีลูกศิษย์ทำงานอยู่ที่โรงแรมรถไฟและสถานีรถไฟหลายคน จึงเหนี่ยวรั้งให้หลวงพี่ท่านปักกลดอยู่นานถึง ๖ วัน ตอนกลางวันคนที่ว่างงานก็จะพาหลวงพี่กับข้าพเจ้าไปเที่ยวหลายแห่ง เช่นเขาตะเกียบ เขาไกรลาศ เขาเต่า เป็นต้น ในช่วงเวลานั้นยังไม่ถึงฤดูกาลท่องเที่ยว ผู้คนจึงไม่พลุกพล่าน ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปเดินเล่นตามหาดทราย ชื่นชมกับความของธรรมชาติได้อย่างสมใจ
วันที่ ๓ ของการพักแรมคืน มีคนทำงานรถไฟครอบครัวหนึ่งนำเด็กหญิงอายุ ๓ ขวบมาถวายเป็นลูกสาวข้าพเจ้าคนหนึ่ง เหตุที่เขานำลูกสาวมาถวายก็เพราะว่า เด็กป่วยไม่ทราบสาเหตุ ผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก หมอที่ไหน ๆ ก็รักษาไม่หาย นอนซมอยู่จนมีอาการใกล้จะตายแล้ว หมอดูทำนายว่าจะต้องยกให้เป็นลูกพระธุดงค์เด็กจึงจะหายป่วยและมีชีวิตยืนยาว พ่อแม่เด็กก็จำต้องเชื่อหมอดู จึงนำเด็กมาถวาย ข้าพเจ้ารับไว้ด้วยการใช้ด้ายแดง-ขาว เสกด้วยคาถามงคลจักรวาลผูกข้อมือและคล้องคอเด็ก แล้วเปลี่ยนชื่อให้เสียใหม่ให้เป็นมงคลนาม
(ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อนะครับ หลังจากที่ข้าพเจ้าเดินธุดงค์ต่อไปปักษ์ใต้ตามเป้าหมายของหลวงพี่บัณฑิตแล้ว กลับมาแวะเยี่ยมเยียนชาวหัวหินอีก ปรากฏว่าเด็กหญิงลูกสาวของข้าพเจ้านั้น หายจากการเจ็บป่วย อ้วนท้วนสมบูรณ์ดี ป่านนี้คงเติบโตเป็นสาวมีครอบครัวและ “ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง” ไปแล้วกระมัง อนาคตลูกสาว (นอกไส้) คนแรกของข้าพเจ้าจะเจริญรุ่งเรืองหรือตกอับอย่างไรหรือไม่ อย่างไร ไม่ได้ติดตามดูเลย)
ออกจากหัวหินผมก็มุ่งล่องลงใต้ โดยแบกกลดเดินเท้าไปบ้าง นั่งรถไฟบ้าง สะเปะสะปะไปตามเรื่อง ถ้ามีใครซื้อตั๋วรถไฟถวายก็นั่งรถไฟ ถ้าไม่มีก็เดิน เพราะตัวข้าพเจ้าเองไม่มีสตางค์ติดตัวเลย ในขณะประพฤตติธุดงค์นี่เคร่งครัดมาก ไม่รับเงินรับทองสิ่งของมีค่าใด ๆ ไม่สวมใส่รองเท้า ไม่ฉันข้าวเกิน ๑ มื้อ (ตอนอยู่วัดไม่เคร่ง แอบหุงข้าวกินตอนกลางคืนบ่อย ๆ ใครรู้แล้วอย่าพูดไปนะ บาปไม่รู้ด้วย) ไม่กล้าทำอะไร ๆ ที่ละเมิดข้อห้ามของพระพุทธเจ้าและข้อห้ามของหลวงพ่อโบ้ย อาจารย์ใหญ่ของข้าพเจ้า มีความรู้สึกว่าเดินทางไปไหน ๆ และทำอะไร ๆ หลวงพ่อโบ้ยท่านจะรู้หมด เหมือนท่านเข้าฌานติดตามดูพฤติกรรมของลูกศิษย์ทุกองค์ ตอนออกธุดงค์ครั้งแรกเมื่อกลับวัดแล้วไปกราบท่านที่วัดมะนาว ท่านถามว่า ไปที่นั่นที่โน่นเป็นอย่างไร? เรียนถามท่านว่า หลวงพ่อรู้ได้อย่างไรว่าผมไปที่นั่นที่โน่น “ฉันรู้ก็แล้วกัน” ท่านตอบเพียงสั้น ๆ แค่นั้นก็ทำให้ข้าพเจ้า “หงอ” ท่านเสียแล้ว
“ได้รู้เล่ห์เกจิอาจารย์”
บริเวณหน้าสถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์ มีลานหญ้าที่ประดับป่าละเมาะกึ่งรื่นรมย์กึ่งแห้งแล้ง ที่นั่นมีพระธุดงค์ปักกลดอยู่ก่อนแล้วองค์หนึ่ง หลวงพี่บัณฑิตพาข้าพเจ้าเข้าไปปักกลดอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ได้เห็นที่กลดของพระธุดงค์องค์นั้นมีคนเข้าไปหาไม่ขาดสาย บางคนออกจากกลดพระนั้นแล้วก็มาที่กลดข้าพเจ้า พูดคุยกันตามแบบฉบับ คือตอบคำถามว่า มาจากไหน จะไปไหน การเดินทางเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นก็ว่ากันด้วยไสยศาสตร์ ภูตผีปิศาจนานา ลงเอยด้วยด้วยกล่าวถึงชื่อเสียงเรียงนามของหลวงพ่อเกจิอาจารย์ทั้งหลายในอดีตและปัจจุบัน ก่อนจากไปก็มักจะกระซิบขอเลขเด็ด สองตัว สามตัว เผื่อว่าจะมีโชคดี
พระองค์ที่ปักกลดอยู่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะไปถึงนั้น รู้จากคนที่มาคุยกับข้าพเจ้าว่าท่านมีชื่อว่า “หลวงพ่อโม” เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองเวทย์วิทยาคม มีพระเครื่องและเครื่องรางของขลังแจกชาวบ้านมากมาย เฉพาะตะกรุดสาลิกาซึ่งดีในทางเมตตามหานิยมนั้น ก่อนที่ท่านจะมอบให้ใคร ๆ ท่านจะเอาน้ำบริสุทธิ์ใส่ขันลงหินประมาณค่อนขัน แล้วทำน้ำมนต์โดยใช้เทียนขี้ผึ้งที่ควักออกมาจากย่ามใหญ่ของท่าน นั่งหลับตาเสกเทียนอยู่ครู่หนึ่งจึงจุดเทียนพร้อมกับว่าคาถาพึมพำ ๆ พอเทียนหยดลงน้ำก็ปรากฏว่าน้ำเดือดพล่านอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อทำน้ำมนต์เสร็จแล้วก็จะนำตะกรุดเงินดอกเล็ก ๆ ที่ห่อไว้ด้วยผ้าแดงจำนวนมาก ค่อย ๆ หยิบขึ้นโปรยลงในน้ำมนต์ ปรากฏว่าตะกรุดเหล่านั้นไม่จมน้ำ ลอยฟ่องแล้ววิ่งวนหาที่เกาะเกี่ยว ส่วนมากจะวิ่งเข้าหากันแล้วเกาะกันแน่นเป็นคู่ ๆ เป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านยิ้มอย่างพอใจแล้วกล่าวว่า “สาลิกาทั้งคู่เสร็จแล้ว” ใครต้องการก็รีบแบมือแย่งกันยื่นขอรับด้วยความเลื่อมใสศรัทธา หลวงพ่อโมจะหยิบใส่มือให้คนละ ๑ คู่ ใครจะนำไปใส่ตลับขี้ผึ้งพกติดตัว หรือจะใส่ในดวงตาตนเองก็ได้ตามใจชอบ
ข้าพเจ้าฟังคำบอกเล่าถึงความขลังของหลวงพ่อโมแล้ว มีความรู้สึกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เรื่องการทำตะกรุดสาลิกาหรือ “หงส์ทองทั้งคู่” เป็นของขลังทางเมตตามหานิยมนั้น เคยได้ยินเขาเล่าให้ฟัง และยังได้เห็นหลวงพี่บัณฑิตเคยทำให้ดู เขาใช้แผ่นเงินบาง ๆ ลงเลขยันต์อักษรขอมเป็นหัวใจสาลิกาหรือหงส์ทองอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วม้วนกลมเป็นดอกเล็ก ๆ บางคนใส่เข้าไปในดวงตาทั้งคู่ ซึ่งก็ไม่รู้สึกเคืองหรือเจ็บแสบเลย แต่ส่วนมากจะใส่ตลับขี้ผึ้งสีปากเอาไว้สำหรับสีปากก่อนที่จะไปเจรจาความใด ๆ กับใครๆ หรือไม่ก็พกติดตัวเดินทางไปไหนมาไหน ด้วยเชื่อถือกันว่าจะโชคดีและปลอดจากภยันตรายทั้งปวง
การทำตะกรุดดังกล่าวไม่ยุ่งยากนัก เพียงแต่ตัดแผ่นเงินออกเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ใช้เหล็กจารลงอักขระเลขยันต์แล้วม้วนแผ่นเงินให้เป็นหลอดกลมเรียบร้อยในขนาดเท่า ๆ กัน สุดท้ายก็ทำพิธีปลุกเสกด้วยการนำตะกรุดทั้งหมดใส่ลงในบาตรหรือขันน้ำมนต์ ใส่นำบริสุทธิ์ (ซึ่งถ้าได้น้ำฝนก็จะดี) ลงไปค่อนบาตรหรือขัน แล้วนั่งสมาธิภาวนารวมพลังจิตลงไปในตะกรุดให้เกิดความขลังความศักดิ์สิทธิ์ ท่านว่าต้องเสกจนกระทั่งตะกรุดที่ก้นบาตรหรือขันน้ำนั้นลอยขึ้นเหนือน้ำแล้ววิ่งเข้าหากัน จับคู่เป็นคู่ ๆ จึงจะประสบความสำเร็จ แต่มีพระเกจิน้อยองค์ที่จะทำอย่างนั้น ส่วนมากเมื่อทำตะกรุดเสร็จแล้วก็จะบริกรรมปลุกเสกโดยไม่ต้องใส่บาตรหรือขันน้ำมนต์ หลวงพี่บัณฑิตเคยเอาตะกรุดสาลิกาลอยน้ำให้ข้าพเจ้าดู ก็เห็นว่ามีลอยน้ำบ้างไม่ลอยบ้าง ความขลังของตะกรุดนั้น ข้าพเจ้าก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง
อยากรู้ว่าหลวงพ่อโมทำตะกรุดสาลิกาขลังจริงหรือไม่ ข้าพเจ้าก็ลองเข้าไปทำตัวเป็นศิษย์ของท่าน ตอนแรกเข้าไปกราบท่าน ท่านก็ยกมือพนมรับการกราบ ข้าพเจ้าก็บอกท่านว่าเป็นสามเณร ท่านก็ว่าไปเป็นไร พระรับไหว้เณรก็ได้
เรื่องนี้มีระเบียบปฏิบัติเป็นวัฒนธรรมประเพณีสำหรับพระภิกษุสามเณรในเมืองไทย เกี่ยวกับการแสดงความเคารพระหว่างกันอยู่ว่า พระภิกษุผู้มีอาวุโสน้อยกว่า (อายุการบวชน้อยกว่า) จะต้องแสดงความเคารพกราบไหว้พระภิกษุผู้มีอาวุโสสูงกว่า (อายุการบวชมากกว่า) ผู้มีอาวุโสสูงกว่าจะต้องพนมมือรับผู้กราบไหว้นั้นเป็นไปตามคำว่า “วันทะโก ปฏิวันทะนัง” คือผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ (ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยจะยึดถือระเบียบประเพณีดังกล่าว หากแต่จะถือระเบียบใหม่ว่า องค์ที่มียศตำแหน่งต่ำกว่าจะต้องแสดงความเคารพกราบไหว้องค์ที่มียศตำแหน่งสูงกว่า) ส่วนสามเณรนั้นมีแต่ต้องทำความเคารพกราบไหว้พระภิกษุแม้บวชเพียงชั่วโมงเดียว และพระภิกษุนั้นไม่ต้องพนมมือรับการกราบไหว้ของสามเณร/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๖ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
รายนามผู้เยี่ยมชม : Black Sword, สายน้ำ, หยาดฟ้า, เป็น อยู่ คือ, ฝาตุ่ม, มนชิดา พานิช, ข้าวหอม, ลิตเติลเกิร์ล, คิดถึงเสมอ, ต้นฝ้าย, ขวัญฤทัย (กุ้งนา)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๒๙ - ข้าพเจ้าเป็น “สามเณรโค่ง” อายุ ๒๑ ปีแล้ว ตัวโตเท่า ๆ กับพระ จึงมักจะได้รับการพนมมือไหว้จากพระเสมอ หลวงพ่อโมไม่รู้ว่าข้าพเจ้าเป็นสามเณร หลังจากพนมมือรับไหว้แล้วจึงรู้ ก็เห็นท่านทำท่าเขิน ๆ ปล่อยเลยตามเลย และญาติโยมในที่นั้นก็ไม่รู้เรื่องระเบียบปฏิบัติของพระเณรด้วย เรื่องจึงผ่านไปด้วยดี
หลังจากที่สนทนาวิสาสะกันจนรู้ว่าเป็นใคร มาจากไหน จะไปไหนแล้ว ข้าพเจ้าก็นั่งดูหลวงพ่อโมทำพิธีแจกตะกรุดสาลิกาลิ้นทองตามถนัดของท่านด้วยอาการกิริยาน่าเลื่อมใสไม่น้อย ตะกรุดของท่านดอกใหญ่กว่าของหลวงพี่บัณฑิตและพระเกจิองค์อื่นที่เคยเห็น การม้วนเป็นหลอดกลมก็ไม่เรียบร้อย บิด ๆ เบี้ยว ๆ มีแง่แหลมคม ไม่น่าเชื่อว่าตะกรุดหลอดเท่าก้านไม้ขีดไฟของท่านจะลอยน้ำและวิ่งเข้าจับคู่กันได้ แต่ก็ต้องเชื่อ เพราะเห็นมันลอยน้ำและวิ่งเข้าหากันเกาะติดกันเป็นคู่ ๆ พอเอาก้านธูปเขี่ยให้แยกออกจากกัน มันก็วิ่งเข้าหากันอีก
ตอนหยิบตะกรุดใส่มือศิษย์ ท่านจับมือผู้รับแล้วทำปากขมุบขมิบ ๆ เป็นคาถาอะไรฟังไม่รู้ แต่ตอนจบท่านว่า “ประสิทธิ เต...” พวกฆราวาสคลานเข้าไปแบมือรับตะกรุดกันเป็นแถวจนหมดทุกคน เหลือข้าพเจ้าซึ่งเป็นสามเณรนับเป็นคนสุดท้าย เมื่อรับกันครบทุกคนแล้ว หลวงพ่อโมก็พูดกำชับว่า “ตะกรุดนี้ถ้าเอาใส่ดวงตาแล้วห้ามแลมองของลับสตรี ถ้ามองแล้วตะกรุดจะอันตรธาน (หาย) ไปทันที” ข้าพเจ้ารับมาแล้วก็เอากระดาษห่อไว้ ไม่กล้าใส่ในดวงตาหรอกครับ กลัวแง่คมของตะกรุดจะตำตาบอดน่ะ
นอกจากตะกรุดสาลิกาหรือหงส์ทองทั้งคู่แล้ว หลวงพ่อโมยังมีของขลังอีกอย่างหนึ่ง คือน้ำมนต์เดือด ข้าพเจ้าเห็นกับตาตนเอง หลวงพ่อโมทำน้ำมนต์แจกชาวบ้าน คือเมื่อมีใครเอาน้ำใส่ขันไปขอให้ท่านทำน้ำมนต์ให้แล้ว ท่านก็จะควักเทียนขี้ผึ้งในย่ามใหญ่ของท่านออกมา เสกเทียนเสียงพึมพำ ๆ แล้วก็จุดเทียน หยดน้ำตาเทียนลงในขันน้ำพร้อมกับว่าคาถาพึมพำงำงึมที่ใครก็ฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อน้ำตาเทียนหยดลงถูกน้ำในขันก็ปรากฏว่าน้ำเดือดพล่านขึ้นมาทันที
ข้าพเจ้านั่งสังเกตดูหลวงพ่อโมทำน้ำมนต์อยู่ ๒ วัน ด้วยความเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ครึ่งที่ไม่เชื่อก็คือ ไม่เชื่อว่าคาถาอาคมหลวงพ่อจะทำให้น้ำมนต์เดือดได้ คิดทบทวนหาเหตุผลจนได้เค้ามูลว่า ทุกครั้งที่ท่านทำน้ำมนต์ ท่านจะล้วงเอาเทียนขี้ผึ้งในย่ามของท่านออกมาเสกและจุดไฟ ส่วนเทียนที่ชาวบ้านเอามาถวายนั้นท่านเก็บไว้จุดต่างตะเกียงในเวลาค่ำคืน โดยอ้างว่า เทียนไขใช้ทำน้ำมนต์ไม่ได้ ต้องใช้เทียนขี้ผึ้งบริสุทธิ์ หนัก ๑ บาท ข้าพเจ้าจึงแน่ใจว่าเลศนัยของน้ำมนต์เดือดต้องอยู่ที่เทียนขี้ผึ้งของท่านนั่นเอง
รุ่งขึ้นวันที่ ๓ ข้าพเจ้าคอยจ้องขโมยเทียนของท่านเพื่อเอาไปพิสูจน์ให้จงได้ โอกาสเป็นของข้าพเจ้าเมื่อหลวงพ่อโมทำน้ำมนต์เสร็จแล้ว เหลือเทียนครึ่งเล่มวางไว้ข้างย่าม ท่านลุกออกจากกลดไปถ่ายอุจจาระ ฝากข้าพเจ้าให้เฝ้ากลดของท่านไว้ ข้าพเจ้าก็เลยหยิบเทียนครึ่งเล่มนั้นใส่ย่ามของข้าพเจ้าไว้ พอท่านกลับมาก็รีบลาท่านกลับกลดตัวเองทันที
กลับไปถึงกลดก็เอาเทียนหลวงพ่อโมชำแหละดูข้างใน พบว่าใส่เทียนมีผงขาว ๆ เหมือนเกลือป่นผสมอยู่ ลองเอาจุ่มน้ำก็ปรากฏว่าน้ำเดือดพล่าน ได้ความจริงว่าท่านเอาด้ายดิบคลุกโซดาไฟทำเป็นไส้เทียน เมื่อน้ำตาเทียนที่ปนเปื้อนโซดาไฟหยดลงในน้ำ จึงมีปฏิกิริยาเหมือนน้ำเดือด เป็นอันรู้แน่ชัดแล้วว่าน้ำมนต์เดือดเพราะอะไร จากนั้นก็พิสูจน์ตะกรุดสาลิกาที่ได้มานั้น โดยการคลี่แผ่นเงินออกดูข้างใน พบว่ามีเทียนขี้ผึ้งหรือขี้ผึ้งสีปากอยู่ในรูตะกรุดจำนวนมาก ขี้ผึ้งในรูหลอดตะกรุดเป็นสาเหตุให้น้ำไม่ไหลเข้าไปในรูหลอดตะกรุด เมื่อน้ำไม่เข้าไปในรู ตะกรุดนั้นก็ไม่จมน้ำ ธรรมชาติของเบาที่ลอยน้ำก็ต้องวนหาที่เกาะที่เกี่ยว ดังนั้นตะกรุดที่ลอยน้ำมันจึงวิ่งเข้าหากัน
น้ำมนต์เดือดและตะกรุดลอยน้ำเกาะกันเป็นคู่ ๆ หาใช่เพราะหลวงพ่อโมมีคาถาอาคมขลังไม่ แต่มันเป็นการเล่นกลของท่านต่างหาก บัดนั้นข้าพเจ้าจึงคิดเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “หลวงพ่อโม้” และวางแผนจะเปิดโปงของท่านให้ชาวบ้านรู้จะได้หายโง่งมงายกันเสียที ยังไม่ทันที่จะได้เปิดโปงวิธีการหลอกชาวบ้านของหลวงพ่อโม้ ท่านก็มาหาขาพเจ้าที่กลดด้วยใบหน้าที่เรียกกันว่า “บอกบุญไม่รับ” เลยก็แล้วกัน
“ไอ้เณร เอ็งเอาเทียนของข้ามาเรอะ?” ท่านตะคอกถามด้วยเสียงดุดัน
“ครับ..ผมเอามาครึ่งดอก” ข้าพเจ้าตอบตามความจริง
“เอามาทำไมวะ?”
“ก็เอามาพิสูจน์ความจริงน่ะซีครับ” ตอบแบบยั่วยวน
“ความจริงอะไรของเอ็ง?”
“ความจริงที่ว่า หลวงพ่อโม้ หลอกลวงชาวบ้านไงล่ะ ผมรู้หมดแล้ว น้ำมนต์เดือดเพราะโซดาไฟ ตะกรุดลอยน้ำเพราะขี้ผึ้ง ไม่ใช่เพราะคาถาอาคาขลังของหลวงพ่อโม้เลย”
“ไอ้ ๆๆๆ ระยำ!” หลวงพ่อโม้พูดติดอ่าง ยกมือที่สั่นระริกชี้หน้าข้าพเจ้าด้วยความโกรธอย่างสุดขีด ยืนหันรีหันขวางอยู่เดี๋ยวหนึ่งก็เดินตัวปลิวกลับกลด พอดีในเวลานั้นไม่มีใครมาหาท่านและข้าพเจ้าเลย จึงไม่มีใครรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนนั้นถ้าเตะได้แกคงเตะข้าพเจ้าแน่ ๆ ดีที่ข้าพเจ้าตัวใหญ่กว่าแก และกำลังเป็นหนุ่มแน่น ซึ่งแกเสียเปรียบทุกประตูเลยไม่กล้าทำอะไร
จากนั้นประมาณ ๒ ชั่วโมงเห็นจะได้ หลวงพ่อโม้ถอนกลดเดินทางออกไปจากที่นั้นโดยไม่รู้ว่าท่านไปที่ใด พวกญาติโยมที่เคารพเลื่อมใสไม่รู้สาเหตุอะไร บางคนบ่นเสียดายในการด่วนจากไปของท่าน บางคนเร่มาคุยและถามถึงหลวงพ่อโม ข้าพเจ้าก็เล่าให้เขาฟัง บางคนเชื่อที่บอกเล่า บางคนก็ไม่เชื่อ ฝ่ายหลวงพี่บัณฑิตเมื่อทราบเรื่อง ท่านก็ดุข้าพเจ้า และห้ามไม่ให้กลั่นแกล้งใครอีก ก็รับปากโดยใจไม่ยอมรับ ด้วยยึดในหลักการว่า “จะไม่ยอมปล่อยให้คนถูกหลอกลวงจากพวกอลัชชีเดียรถีทั้งหลายง่าย ๆ เลย”/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๗ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
บ้านกลอนน้อยฯ
|
Permalink: Re: เรื่องราวแวดวงดงขมิ้น : คำให้การของนักบวช โดย เต็ม อภินันท์
 เรื่องราวในแวดวง “ดงขมิ้น” ที่น่ารู้จาก... - คำให้การของนักบวช - โดย เต็ม อภินันท์ ~~~~~~~~~~~~~~~~~ - ๓๐ - ปักกลดอยู่ที่สถานีรถไฟประจวบฯ เป็นเวลาอันสมควรแล้ว หลวงพี่บัณฑิตก็พาเดินทางต่อ ผ่านท้องถิ่นต่าง ๆ ไปจนกระทั่งถึงเมืองชุมพร พอไปถึงชุมพรนี่ข้าพเจ้าเริ่มฟังคนไทยพูดไทยไม่รู้เรื่องแล้ว เพราะสำเนียงภาษาของคนชุมพรเป็นสำเนียงภาษา “ปักษ์ใต้” ข้าพเจ้าจึงกลายเป็น “คนใบ้” กลาย ๆ ไปเสียเลย
มีเรื่องหนึ่งที่เหมือนกับเป็นความลับหรือเรื่องลึกลับ เพราะเป็นเรื่องที่ถูกปิดบังอำพรางไว้เป็นส่วนตัวของแต่ละคน ถ้าพูดเปิดเผยออกสู่สาธารณะ คนส่วนมากอาจจะว่าข้าพเจ้า “ไม่ควรพูด” แต่ข้าพเจ้ากลับคิดเห็นว่า “ควรพูด” เพื่อให้ใคร ๆ เห็นความเป็นธรรมดาสามัญของผู้ทรงเพศนักบวช ความรู้สึกนึกคิดของผู้อยู่ในเพศนักบวช (ทุกศาสนา) ซึ่งยังไม่บรรลุมรรคผลชั้นสูงสุด (อรหันต์) ก็เหมือนกับบุคคลที่เป็นปุถุชนทั่วไปนั่นเอง ผิดกันแต่ที่นักบวชมีวินัย (ศีล) ที่คอยกีดกันไม่ให้ทำอะไร ๆ ได้ตามใจต้องการ มีโอกาสทำบาป (ชั่ว) ได้น้อยกว่าคนที่ไม่ได้ถือบวชเท่านั้น
หลวงพี่บัณฑิตพาขึ้นนั่งรถไฟจากชุมพรล่องลงใต้ ตู้โดยสารรถไฟชั้น ๓ วันนั้นมีคนโดยสารไม่มากนัก ข้าพเจ้านั่งอย่างสบาย เพราะเก้าอี้แถวทางซ้ายตัวที่นั่งนั้นไม่มีใครมานั่งด้วย เก้าอี้ตรงหน้าก็ว่าง หลวงพี่บัณฑิตท่านนั่งแถวขวามือก็นั่งองค์เดียวเช่นกัน ถัดจากหลวงพี่บัณฑิตไปมีเก้าอี้ที่หันหน้าขึ้นมาทางทางข้าพเจ้าตัวหนึ่ง เก้าอี้ตัวนั้นมีปัญหาสำหรับข้าพเจ้ามาก เพราะมีหญิงสาว (มีสามีแล้วหรือยังไม่รู้) แต่งตัวชะเวิบชะวาบหวามหวิวนั่งอยู่เพียงคนเดียว
หญิงสาวและสวยข้าพเจ้าเคยพบเห็นมามาก อารมณ์ใคร่ (ราคะ) ก็เกิดเมื่อเห็นหญิงสาวสวยเป็นธรรมดาของเด็กหนุ่มทั่วไปนั่นแหละ นับแต่ออกเดินธุดงค์มานี่ได้พบหญิงสาวสวยหลายคน แต่อารมณ์ใคร่ (ราคะ) ทางเพศยังไม่เคยเกิดขึ้น อาจจะเป็นด้วยการเจริญธรรมในข้อสติสัมปชัญญะมีอยู่ในใจข้าพเจ้าอย่างสม่ำเสมอก็ได้ ทำให้ระลึกได้และรู้สึกตัวอยู่ว่า “กำลังบำเพ็ญบุญบารมี” เป็นนักแสวงบุญ ไม่ใช่การท่องเที่ยวแสวงหารูปรสกลิ่นเสียงตามประสาบุรุษเพศทั่วไป
วันนั้นเห็นทีว่าจะเป็นวันร้ายของข้าพเจ้า จึงอดไม่ได้ที่จะชำเลืองมองสตรีที่นั่งแถวขวามือเบื้องหน้าของข้าพเจ้าบ่อย ๆ บางครั้งหญิงสาวคนนั้นก็ชม้ายมองดูข้าพเจ้าด้วยใบหน้าและสายตาที่ยิ้มยวน สัมผัสที่ดวงตาของข้าพเจ้าสร้างความรู้สึกเสียววูบซาบซ่านเข้าไปในใจจนตัวชา เรือนร่างอันอวบอั๋นผิวขาวเหลืองของเธอที่คลุมไว้ด้วยเสื้อผ้าสีแดงลายขาวดูเปล่งปลั่ง อกอูมอั๋นที่ถูกเสื้อรัดเสียจนดูว่าสองถันของเจ้าหล่อนจะถลันทะลักออกมา สองขาอ่อนขาวที่ยกก่ายไขว้กันจนกระโปรงสั้นถลกขึ้นให้เห็นถนัดตา ภาพดังกล่าวมันเป็นเหมือนน้ำมันเชื้อเพลิงที่สาดใส่ไฟราคะที่คุกรุ่นอยู่ในใจของข้าพเจ้าให้ลุกโชติโชนขึ้น
พยายามทำใจไม่ให้คิดกำหนัดในรูปกายหญิงสาวที่เห็นอยู่เบื้องหน้า คิดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เล่าเรียนมา เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสตรี นึกเท่าไรก็นึกไม่ได้ ที่ได้บ้างก็เป็นเพียงลางเลือน ไม่สามารถนำมาดับไฟราคะในใจได้
“ อิตถี มะลัง พรัหมะจะริยัสสะ = หญิงเป็นมลทินต่อพรหมจรรย์”
พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนั้น คำว่าพรหมจรรย์ แปลตามตัวตรง ๆ ก็คือ ความประพฤติอย่างพรหม ไม่ได้หมายถึงมีคุณธรรมของพรหมคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรอกครับ ท่านหมายถึงการถือศีล และคำว่าศีลก็หมายถึงความเป็นปกติกายวาจา คือ รักษากายวาจาให้เรียบร้อย ที่ว่าสตรีเป็นมลทินต่อพรหมจรรย์ ก็หมายถึง สตรีเป็นเครื่องเศร้าหมองของศีล ก็น่าจะหมายถึงสตรีเป็นเครื่องทำลายความเรียบร้อยของกายวาจานั่นเอง ผู้หญิงคนนั้นแม้จะสร้างความเร่าร้อนในใจด้วยเพลิงความใคร่ (ราคะ) แต่ก็ไม่ได้ทำลายศีลจนกายวาจาของข้าพเจ้าขาดความเรียบร้อยไปได้
พยายามปลงว่า “อิมัง ปูติ กายัง” ร่างกายนี้เป็นของเน่าเปื่อยสกปรก หาความสวยงามยั่งยืนมิได้ นับวันแต่จะทรุดโทรมเหี่ยวเฉาและแตกสลายไปในที่สุด” แต่ ”ใจมาร” มันก็คิดขัดแย้งขึ้นมาว่า “ก็ตอนนี้มันยังไม่สกปรกหย่อนยานเน่าเปื่อยนี่หว่า” ฝ่าย “ใจเทพ” ก็เตือนสติว่า “สตรีคือศัตรู” ฝ่าย “ใจมาร” ก็เถียงว่า “ถ้าโลกนี้ไม่มีสตรี บุรุษจะอยู่ได้อย่างไร โลกนี้ต้องมีสิ่งที่เป็นคู่กัน เช่น ดินคู่กับฟ้า ปลาคู่กับน้ำ ทรามคู่กับดี ชีคู่กับเถร ที่ไร้คู่เกะกะก็คือพระกับเณร อดข้าวเย็นเสียจนงอม ผอมหัวโต โธ่เอ๋ยเวร” ฟัง “ใจมาร” มันว่าเข้าซี ก็น่าฟังนะครับ
ข้าพเจ้านั่งคิดฝันเพลิดเพลินใน “กามรส” นานเท่าไรไม่รู้ หลวงพี่บัณฑิตเดินผ่านมาจะไปเข้าห้องน้ำ ท่านบอกว่า อีก ๓ สถานีก็จะถึงปลายทางที่ต้องลงรถแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายไม่อยากลงจากรถไฟ เพราะ “ใจมาร” มันเหนี่ยวรั้งให้คิดอยากนั่งดูหญิงสวยคนนั้นต่อไปอีกนานที่สุดเท่าที่จะนานได้
ให้ตายเถอะ ! ใกล้จะถึงสถานีรถไฟที่จะลงแล้ว แต่ข้าพเจ้าลุกขึ้นยืนไม่ได้ เพราะ “ไอ้นั่น” มันตื่นตัวเต็มที่ แข็งโด่อย่างน่าชัง ก็พระ-เณรทุกองค์น่ะไม่ได้นุ่งกางเกงในเหมือนฆราวาสเขานี่ ถ้า “ไอ้นั่น” มันตื่นตัวแล้วไม่มีอะไรกดทับมันไว้ เวลายืน-เดินจะเป็นอย่างไร ลองหลับตานึกดูเถิด ข้าพเจ้านั่งเอาย่ามใหญ่กดทับมันไว้จนมันโงไม่ขึ้น แต่พอยกย่ามออกมันก็ดีดผึงขึ้นมาอีก หาวิธีทำให้มันอ่อนตัวนอนสงบเสงี่ยมเป็นปกติ ขั้นแรกก็เอานิ้วใส่ปากกัดแรง ๆ เพื่อให้เจ็บ มันจะได้หดตัว มันก็ไม่ยอมหด เอาเล็บหยิกใบหูจนเจ็บมันก็ยังไม่ยอมหด แม้เอาหน้าแข้งเตะเก้าอี้ตรงหน้าอย่างแรงจนหน้าแข้งโป มันก็ยังไม่ยอมหดอีกน่ะแหละ หมดวิธีที่จะทรมานตนให้เจ็บปวดเพื่อให้มันยอมหด จนปัญญาขึ้นมาก็หันหน้ามองออกไปทางหน้าต่างรถไฟ ไม่ยอมมองหญิงคนนั้นอีก ควักบุหรี่ออกจากย่ามมาสูบระบายอารมณ์ เอาก้านไม้ขีดมาแยงจมูกเล่นเพราะมันจั๊กจี้ดี พอจมูกมันคันก็จามออกมา ๓-๔ ที ติด ๆ กัน
“คุณพระช่วย !” ไม่รู้ว่า“ไอ้นั่น” มันหดแล้วนอนสงบนิ่งไปตั้งแต่เมื่อไร อย่างนี้ต้องเรียกได้ว่า “คุณพระช่วย” แท้ ๆ เทียว
ก็เป็นอันว่า ข้าพเจ้าได้ค้นพบวิธีปราบ “ไอ้นั่น” ที่มันคึกคะนองให้สงบราบราบลงได้ด้วยการแยงจมูกให้คันจนจาม ออกมานี่เอง ใครจะจำไว้ใช้ก็เชิญเลย ถือว่าเป็นวิทยาทานจากข้าพเจ้าก็แล้วกัน/
เต็ม อภินันท์ ณ อาศรมลายสือไท เมืองสุโขทัย ๘ เมษายน ๒๕๖๕ ขอบคุณเจ้าของภาพนี้ในเน็ต
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|